วิสุทธิมรรค_07_ฉอนุสสตินิทเทส

อยู่ในระหว่างปรับสำนวน

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)

อนุสสติ 10 ประการ

(หน้าที่ 329)

ฉอนุสสตินิทเทส ปริจเฉทที่ 7

ต่อจากอสุภกัมมัฏฐานนิทเทส ข้าพเจ้าจะนิทเทสอนุสสติกัมมัฏฐาน 10 แต่ละอย่างดังนี้:

  • อนุสสติ คือ สติที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ นั่นเอง,
  • อีกอย่างหนึ่ง อนุสสติ คือ สติอันสมควรแก่กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา เพราะเป็นสติที่เป็นไปในฐาน (10 อย่างมีพุทธคุณเป็นต้น) อันควรที่จะเป็นไป.

1. พุทธานุสสติ คือ สติเกิดขึ้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าบ่อยๆ. คำนี้เป็นชื่อของสติอันมีพระพุทธคุณ(คุณธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า)เป็นอารมณ์.

2. ธัมมานุสสติ คือ สติเกิดขึ้นระลึกถึงพระธรรมบ่อยๆ. คำนี้เป็นชื่อของสติอันมีพระธรรมคุณเป็นอารมณ์ มีความเป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว (สวากฺขาโต) เป็นต้น.

3. สังฆานุสสติ คือ สติเกิดขึ้นระลึกถึงพระสงฆ์บ่อยๆ. คำนี้เป็นชื่อของสติอันมีพระสังฆคุณเป็นอารมณ์ มีความเป็นผู้ปฏิบัติดี (สุปฏิปนฺโน) เป็นต้น.

4. สีลานุสสติ คือ สติเกิดขึ้นระลึกถึงศีลบ่อยๆ. คำนี้เป็นชื่อของสติ อันมีคุณแห่งศีลเป็นอารมณ์ มีความเป็นของไม่ขาดเป็นต้น.

5 จาคานุสสติ คือ สติเกิดขึ้นระลึกถึงการบริจาคบ่อยๆ. คำนี้เป็นชื่อของสติอันมีคุณแห่งการบริจาคเป็นอารมณ์ มีความเป็นผู้เสียสละอย่างเด็ดขาดเป็นต้น.

6. เทวตานุสสติ คือ สติเกิดขึ้นระลึกถึงเทวดาทั้งหลายบ่อยๆ. คำนี้เป็นชื่อของสติอันมีคุณคือศรัทธาเป็นต้นของตน โดยตั้งเทวดาทั้งหลายไว้ในฐานเป็นพยาน เป็นอารมณ์.

7. มรณานุสสติ คือ สติเกิดขึ้นระลึกถึงมรณะบ่อยๆ. คำนี้เป็นชื่อของสติอันมีความขาดแห่งชีวิตินทรีย์เป็นอารมณ์.

(หน้าที่ 330)

8. สภาพรู้รูปกายต่างๆ มีผมเป็นต้น หรือสภาพรู้ในกาย ชื่อว่า กายคตา 1). กายคตานั้นด้วย สติด้วย ชื่อว่า กายคตสติ แทนที่ท่านจะกล่าวว่า กายคตสติ กลับกล่าวเสียว่า กายคตาสติ เพราะไม่ทำรัสสะ. คำนี้เป็นชื่อของสติ อันมีนิมิตคือชิ้นส่วนของกายมีผมเป็นต้นเป็นอารมณ์.

9. อานาปานสติ คือ ความระลึกเกิดขึ้นปรารภลมหายใจเข้าและลมหายใจออก. คำนี้เป็นชื่อของสติอันมีนิมิตคือลมหายใจเข้าและลมหายใจออกเป็นอารมณ์.

10. อุปสมานุสสติ คือ ความระลึกเนือง ๆ เกิดขึ้นปรารภความสงบ(จากทุกข์ทั้งปวง). คำนี้เป็นชื่อของสติอันมีนิพพานอันเป็นที่สงบทุกข์ทั้งปวงเป็นอารมณ์.

(หน้าที่ 331)

พุทธานุสสติกถา

วิธีเจริญพุทธานุสสติกัมมัฏฐาน

ในอนุสสติ 10 ประการนี้ อันโยคีบุคคลผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหว มีความประสงค์เพื่อที่จะเจริญพุทธานุสสติเป็นประการแรก พึงไป ณ ที่อันสงัด หลีกเร้นอยู่ ณ เสนาสนะอันสมควร แล้วพึงระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเนือง ๆ โดยนัยที่มาในพระบาลีอย่างนี้ว่า

พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น –

1. อิติปิ อรหํ เป็นพระอรหันต์ แม้เพราะเหตุนี้

2. อิติปิ สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แม้เพราะเหตุนี้

3. อิติปิ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ แม้เพราะเหตุนี้

4. อิติปิ สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดี แม้เพราะเหตุนี้

5. อิติปิ โลกวิทู เป็นผู้ทรงรู้แจ้งโลก แม้เพราะเหตุนี้

6. อิติปิ อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกชั้นยอดเยี่ยม แม้เพราะเหตุนี้

7. อิติปิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ทรงเป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย แม้เพราะเหตุนี้

8. อิติปิ พุทฺโธ ทรงเป็นพุทธ แม้เพราะเหตุนี้

9. อิติปิ ภควา ทรงเป็นภควา แม้เพราะเหตุนี้

ด้วยประการฉะนี้

(หน้าที่ 332)

อนุสสรณนัย

นัยสำหรับระลึกเนือง ๆ ในพระพุทธคุณเหล่านั้น ดังนี้ คือ โยคีบุคคลย่อมระลึกเนือง ๆ ว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ แม้เพราะเหตุนี้ (อธิบายว่า ให้ยกเอาคำว่า อิติปิ ที่แปลว่า แม้เพราะเหตุนี้ มาประกอบเข้ากับพุทธคุณทั้ง 9 บท)

ในพุทธคุณ 9 นั้น โยคีบุคคลย่อมระลึกเนือง ๆ ว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงได้พระนามว่า พระอรหํ เป็นประการแรก เพราะเหตุเหล่านี้ คือ เพราะเป็นผู้ไกล 1 เพราะเป็นผู้กำจัดอริทั้งหลาย 1 เพราะเป็นผู้หักซึ่งกำทั้งหลาย 1 เพราะเป็นผู้ควรแก่ไทยธรรมทั้งหลายมีปัจจัยเป็นต้น 1 เพราะเป็นผู้ไม่มีที่ลับในการกระทำบาป 1

1. ข้อว่าเป็นผู้ไกล

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชื่อว่าเป็นผู้ไกล คือทรงดำรงอยู่ในที่ไกลแสนไกลจากสรรพกิเลสทั้งหลาย เพราะเป็นผู้ทรงกำจัดเสียแล้วซึ่งกิเลสทั้งหลายพร้อมทั้งวาสนาด้วยพระอริยมรรค เพราะเหตุนั้นจึงทรงได้พระนามว่า อรหํ เพราะเหตุเป็นผู้ไกล

พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด ไม่ทรงประกอบด้วยกิเลสอันใด และไม่ทรงประกอบด้วยโทษสิ่งใด พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้เป็นพระนาถะของโลก เป็นผู้ไกลจากกิเลสและโทษเหล่านั้น เพราะเหตุนั้นจึงทรงปรากฏพระนามว่า อรหํ

2. ข้อว่าเป็นผู้กำจัดอริทั้งหลาย

อนึ่ง อริ คือกิเลสทั้งหลายเหล่านั้น อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงกำจัดแล้วด้วยพระอริยมรรค เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า อรหํ แม้เพราะเหตุเป็นผู้กำจัดซึ่งอริทั้งหลาย แม้เหตุที่อริทั้งหลาย อันได้แก่กิเลสมีราคะเป็นต้น แม้ทุก ๆ อย่างอันพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระนาถะของโลก ทรงกำจัดแล้วด้วยศาสตราคือพระปัญญา ฉะนั้น พระองค์จึงทรงปรากฏพระนามว่า อรหํ ฉะนี้

(หน้าที่ 333)

3. ข้อว่าเป็นผู้หักซึ่งกำทั้งหลาย

อนึ่ง สังสารจักรนี้ใด มี ดุม สำเร็จด้วยอวิชชาและภวตัณหา มี ซี่กำ สำเร็จด้วยอภิสังขารมีปุญญาภิสังขารเป็นต้น มี กง สำเร็จด้วยชรามรณะ เอา เพลา อันสำเร็จด้วยอาสวสมุทัยสอดเข้าแล้ว ประกอบเข้าใน ตัวรถ คือภพทั้งสาม แล่นไปตลอดกาลไม่มีเบื้องต้นและที่สุด

กำทั้งหลายในสังสารจักรนั้นทุก ๆ ซี่ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นยืนอยู่บนพื้นปฐพีคือศีล ด้วยเท้าทั้ง 2 คือวิริยะ ณ ควงพระศรีมหาโพธิ์ ใช้มือถือขวานคือพระพุทธญาณอันทำกรรมให้สิ้นสูญ ทรงหักราญแล้ว เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า อรหํ แม้เพราะเหตุที่ทรงหักซึ่งกำทั้งหลาย

อีกประการหนึ่ง สังสารวัฏอันมีเบื้องต้นและที่สุดรู้ไม่ได้ เรียกว่า สังสารจักร แหละสังสารจักรนั้น มีอวิชชาเป็นดุม เพราะเป็นมูลเหตุ ชราและมรณะเป็นกง เพราะเป็นปลายเหตุ ปฏิจจสมุปบาทธรรมที่เหลือ 10 ประการเป็นกำ เพราะมีอวิชชาเป็นมูลเหตุ และเพราะมีชราและมรณะเป็นปลายเหตุ

ในบรรดาปฏิจจสมุปบาทธรรมเหล่านั้น ความไม่รู้ในทุกข์ (ทุกขอริยสัจ) เป็นต้น ชื่อว่า อวิชชา

อวิชชาในกามภพเป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลายในกามภพ

อวิชชาในรูปภพเป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลายในรูปภพ

อวิชชาในอรูปภพเป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลายในอรูปภพ

สังขารทั้งหลาย ในกามภพเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิวิญญานในกามภพ

ในภพ 2 นอกนี้ก็มีนัยเช่นนี้

ปฏิสนธิวิญญาณ ในกามภพ เป็นปัจจัยแก่นามรูปในกามภพ

ในรูปภพก็เหมือนกัน

ส่วนในอรูปภพ ปฏิสนธิวิญญาณ เป็นปัจจัยแก่นามอย่างเดียว

นามรูป ในกามภพ เป็นปัจจัยแก่อายตนะ 6ในกามภพ

นามรูป ในรูปภพ เป็นปัจจัยแก่อายตนะ 3 ในรูปภพ

นาม ในอรูปภพ เป็นปัจจัยแก่อายตนะ 1 ในอรูปภพ

อายตนะ 6 ในกามภพ เป็นปัจจัยแก่ผัสสะ 6 ในกามภพ

อายตนะ 3 ในรูปภพเป็นปัจจัยแก่ผัสสะ 3 ในรูปภพ

อายตนะ 1 ในอรูปภพเป็นปัจจัยแก่ผัสสะ 1 ในอรูปภพ

ผัสสะ 6 ในกามภพเป็นปัจจัยแก่เวทนา 6 ในกามภพ

ผัสสะ 3 ในรูปภพเป็นปัจจัยแก่เวทนา 3 ในรูปภพนั้นนั่นแหละ

(หน้าที่ 334)

ผัสสะ 1 ในอรูปภพ เป็นปัจจัยแก่ผัสสะ 1 ในอรูปภพนั้นนั่นแหละ

เวทนา 6 ในกามภพเป็นปัจจัยแก่กองตัณหา 6 ในกามภพ

เวทนา 3 ในรูปภพ เป็นปัจจัยแก่กองตัณหา 3 ในรูปภพนั้นนั่นแหละ

เวทนา 1 ในอรูปภพ เป็นปัจจัยแก่กองตัณหา 1 ในอรูปภพนั่นแหละ

ตัณหานั้น ๆ ในภพนั้น ๆ เป็นปัจจัยแก่อุปาทานนั้น ๆ

ธรรมทั้งหลายมี อุปาทาน เป็นต้น เป็นปัจจัยแก่ธรรมทั้งหลายมี ภพ เป็นต้น

ถาม - ข้อนี้ อย่างไร ?

ตอบ - บุคคลบางคนในโลกนี้คิดว่า เราจักบริโภคซึ่งกามคุณทั้งหลาย ดังนี้แล้ว ก็ประพฤติทุจริตด้วยกาย ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติทุจริตด้วยใจ เพราะมีกามุปาทานเป็นปัจจัย เขาย่อมบังเกิดในอบาย เพราะความบริบูรณ์แห่งทุจริต กรรมอันเป็นเหตุ ให้บังเกิดในอบายนั้นของบุคคลนั้น เป็น กรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่บังเกิดเพราะกรรมเป็น อุปปัตติภพ ความบังเกิดแห่งขันธ์ทั้งหลายเป็น ชาติ ความแก่หง่อมแห่งขันธ์ทั้งหลายเป็น ชรา ความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลายเป็น มรณะ

อีกบุคคลหนึ่ง ปรารถนาว่า เราจักเสวยสวรรค์สมบัติ ดังนี้แล้วจึงประพฤติสุจริตเหมือนอย่างนั้นนั่นแล เขาย่อมบังเกิดในสวรรค์เพราะความบริบูรณ์แห่งสุจริต คำว่า กรรมอันเป็นเหตุให้บังเกิดในสวรรค์นั้นแห่งบุคคลนั้น กรรมภพ เป็นต้น ก็นัยเดียวกันนั้นนั่นเทียว

อนึ่ง อีกบุคคลหนึ่ง ปรารถนาว่า เราจักเสวยสมบัติในพรหมโลก ดังนี้แล้วก็เจริญเมตตากัมมัฏฐาน เจริญกรุณากัมมัฏฐาน เจริญมุทิตากัมมัฏฐาน เจริญอุเบกขากัมมัฏฐาน เขาย่อมไปบังเกิดในพรหมโลก เพราะความบริบูรณ์แห่งการเจริญกัมมัฏฐาน คำว่า กรรมอันเป็นเหตุให้บังเกิดในพรหมโลกนั้นของบุคคลนั้นเป็น กรรมภพ เป็นต้น ก็นัยเดียวกันนั่นแล

อีกบุคคลหนึ่ง ปรารถนาว่า เราจักเสวยสมบัติในอรูปภพ ดังนี้แล้วก็เจริญสมาบัติทั้งหลาย มีอากาสานัญจายตนสมาบัติเป็นต้น เหมือนอย่างนั้นนั่นแล เขาย่อมไปบังเกิดในอรูปภพนั้น ๆ เพราะความบริบูรณ์แห่งการเจริญสมาบัติ กรรมอันเป็นเหตุให้

(หน้าที่ 335)

บังเกิดในอรูปภพนั้นของบุคคลนั้นเป็น กรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่บังเกิดเพราะกรรมเป็น อุปปัตติภพ ความบังเกิดแห่งขันธ์ทั้งหลายเป็น ชาติ ความแก่หง่อมแห่งขันธ์ทั้งหลายเป็น ชรา ความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลายเป็น มรณะ ฉะนี้ แม้ในการประกอบความทั้งหลายซึ่งมี อุปาทานที่เหลือเป็นมูล ก็นัยเดียวกันนี้

ความรู้ในการกำหนดปัจจัยอย่างนี้ว่า อวิชชาเป็นเหตุ สังขารเป็นผลเกิดแต่เหตุ แม้อวิชชาและสังขารทั้ง 2 นั้นก็เป็นผลเกิดแต่เหตุ นี้เป็น ธรรมฐิติญาณ ความรู้ในการกำหนดปัจจัยว่า อวิชชาเป็นเหตุ สังขารเป็นผลเกิดแต่เหตุ แม้อวิชชาและสังขารทั้ง 2 นั้นก็เป็นผลเกิดแต่เหตุ ทั้งในกาลเป็นอดีต ทั้งในกาลเป็นอนาคต เป็น ธรรมฐิติญาณ นักศึกษาพึงทำทุก ๆ บทให้พิสดารโดยนัยนี้ ด้วยประการฉะนี้นั่นเทียว

ในบรรดาธรรมเหล่านั้น อวิชชากับสังขารจัดเป็น สังเขป อัน 1 วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ และเวทนา จัดเป็น สังเขป อัน 1 ตัณหา อุปาทานและภพ จัดเป็น สังเขป อัน 1 ชาติ ชราและมรณะ จัดเป็น สังเขป อัน 1 แหละในสังเขปเหล่านั้น สังเขป ต้นจัดเป็น อดีตอัทธา (อดีตกาล) 2 สังเขปกลางจัดเป็น ปัจจุบันอัทธา (ปัจจุบันกาล) ชาติ ชราและมรณะ จัดเป็น อนาคตอัทธา (อนาคตกาล) อนึ่ง ในบรรดาธรรมเหล่านั้น โดยที่ถือเอาอวิชชาและสังขาร ก็เป็นอันถือเอาตัณหา อุปาทานและภพด้วย ดังนี้ ธรรม 5 อย่างนี้ จัดเป็น กรรมวัฏในอดีต ธรรม 5 มีวิญญาณเป็นต้นจัดเป็น วิปากวัฏในปัจจุบัน โดยที่ถือเอาตัณหา อุปาทานและภพ ก็เป็นอันถือเอาอวิชชาและตัณหาด้วย ดังนั้น ธรรม 5 อย่างนี้ จัดเป็น กรรมวัฏในปัจจุบัน เพราะเหตุที่ธรรม 5 มีวิญญาณเป็นต้น ท่านแสดงไว้โดยอ้างเอาชาติ ชราและมรณะ ธรรม 5 เหล่านี้จัดเป็น วิปากวัฏในอนาคต ธรรมเหล่านั้นโดยอาการจึงเป็น 20 อนึ่งในบรรดาธรรมเหล่านั้นระหว่างสังขารกับวิญญาณจัดเป็น สนธิ อัน 1 ระหว่างเวทนากับตัณหาจัดเป็นสนธิอัน 1 ระหว่างภพกับชาติจัดเป็นสนธิอัน 1 พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ทรงเห็น ทรงรู้ ทรงแทงตลอด ซึ่งปฏิจจสมุปบาทธรรมอันมีสังเขป 4 อัทธา 3 อาการ 20 สนธิ 3 ด้วยประการฉะนี้

(หน้าที่ 336)

ความรู้นั้น ชื่อว่า ญาณ เพราะอรรถว่ารู้ ชื่อว่า ปัญญา เพราะอรรถว่ารู้โดยประการต่าง ๆ ด้วยเหตุนั้น ความรู้ในการกำหนดปัจจัย ท่านจึงเรียกว่าธรรมฐิติญาณ พระผู้มีพระภาคครั้นทรงรู้ธรรมเหล่านั้นด้วยธรรมฐิติญาณนี้ตามความเป็นจริง แล้วทรงเบื่อหน่ายในธรรมเหล่านั้น คือทรงสำรอก ทรงหลุดพ้น ชื่อว่า ทรงหัก คือทรงรื้อ ทรงทำลาย ซึ่งกรรมทั้งหลายแห่งสังสารจักร อันมีประการดังกล่าวมาแล้วนี้ พระผู้มีพระภาคทรงได้พระนามว่า พระอรหํ เพราะทรงหักกำแห่งสังสารจักรทั้งหลาย แม้ด้วยประการอย่างนี้

เพราะเหตุที่กำทั้งหลายแห่งสังสารจักร อันพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเป็นนาถะของโลก ทรงทำลายแล้วด้วยดาบคือพระญาณ ฉะนั้น พระองค์จึงถูกเฉลิมพระนามว่า พระอรหํ

4. ข้อว่าเป็นผู้ควรแก่ปัจจัยเป็นต้น

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคย่อมควรซึ่งปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้น และควรซึ่งการบูชาชั้นพิเศษ เพราะพระองค์ทรงเป็นทักขิไณยบุคคลชั้นยอด แหละเพราะเหตุนั้นนั่นแล เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายชั้นมเหศักดิ์เหล่าหนึ่งเหล่าใดนั้น ย่อมไม่ทำการบูชา ณ ที่อื่น ๆ เป็นความจริง ท้าวสหัมบดีพรหมได้บูชาพระตถาคตเจ้า ด้วยพวงแก้วขนาดเท่าเขาสิเนรุ แหละเทวดาทั้งหลายชั้นอื่น ๆ และมนุษย์ทั้งหลายมีพระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าโกศลเป็นต้น ก็ได้ทรงบูชาตามควรแก่กำลัง อนึ่ง แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชก็ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์จำนวน 96 โกฏิ สร้างพระอารามอุทิศไว้ในชมพูทวีปทั่วไปถึง 84,000 แห่ง ไม่ต้องพูดถึงการบูชาชั้นพิเศษอื่น ๆ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงได้พระนามว่า อรหํ แม้เพราะเหตุที่ทรงเป็นผู้ควรแก่ปัจจัยเป็นต้น

เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคผู้เป็นนาถะของโลกพระองค์นี้ ย่อมสมควรซึ่งการบูชาชั้นพิเศษพร้อมทั้งปัจจัยทั้งหลาย ฉะนั้น พระองค์ผู้เป็นพระชินเจ้า จึงทรงสมควรต่อพระนามอันนี้ คือ พระอรหํ ในโลก ซึ่งเป็นพระนามที่สมควรแก่ความหมาย

(หน้าที่ 337)

5. ข้อว่าไม่มีที่ลับในการทำบาป

อนึ่ง พวกคนพาลแต่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตจำพวกใดจำพวกหนึ่งในโลก ย่อมทำบาปในที่ลับ เพราะกลัวเสียชื่อเสียง ฉันใด พระผู้มีพระภาคนั้นย่อมไม่ทรงกระทำเหมือนอย่างนั้น ในกาลไหน ๆ ฉะนั้น พระองค์จึงทรงได้พระนามว่า พระอรหํ แม้เพราะเหตุไม่มีที่ลับในการทำบาป

เพราะเหตุที่ขึ้นชื่อว่าที่ลับในการทำบาปทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคผู้คงที่ ฉะนั้น พระองค์จึงทรงปรากฏพระนามว่า พระอรหํ เพราะไม่มีที่ลับนั้น

พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมุนีพระองค์นั้น เพราะเหตุเป็นผู้ไกล 1 เพราะเหตุเป็นผู้กำจัดอริคือกิเลสทั้งหลาย 1 เป็นผู้หักกำแห่งสังสารจักร 1 เป็นผู้ควรแก่ไทยธรรมทั้งหลายมีปัจจัยเป็นต้น 1 ไม่ทรงกระทำบาปทั้งหลายในที่ลับ 1 บัณฑิตจึงถวายพระนามว่า พระอรหํ คือเป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุนั้น

ก็แหละ พระผู้มีพระภาคทรงได้พระนามว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ เพราะเหตุที่เป็นผู้ตรัสรู้สรรพธรรมทั้งหลายโดยชอบด้วย ด้วยพระองค์เองด้วย เป็นความจริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสรู้สรรพธรรมทั้งหลายโดยชอบด้วย ด้วยพระองค์เองด้วย คือตรัสรู้ธรรมทั้งหลายที่ควรรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง โดยความเป็นธรรมอันควรรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ตรัสรู้ธรรมทั้งหลายที่ควรกำหนรรู้ โดยความเป็นธรรมอันควรกำหนดรู้ ตรัสรู้ธรรมทั้งหลายอันควรละ โดยความเป็นธรรมอันควรละ ตรัสรู้ธรรมทั้งหลายอันควรทำให้แจ้ง โดยความเป็นธรรมอันควรทำให้แจ้ง ตรัสรู้ธรรมทั้งหลายอันควรเจริญ โดยความเป็นธรรมอันควรเจริญ

แหละด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสไว้ว่า –

สิ่งที่ควรรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง เราได้รู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง สิ่งที่ควรละเราได้ละแล้ว สิ่งที่ควรทำให้แจ้งเราทำให้แจ้งแล้ว และ

(หน้าที่ 338)

สิ่งที่ควรเจริญเราได้เจริญแล้ว ดูก่อนพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้ตรัสรู้

  1. (ปิยรูปสาตรูป 60) อีกประการหนึ่ง จักษุ เป็นทุกขสัจ ตัณหาเก่าอันเป็นสมุฏฐานโดยความเป็นมูลเหตุแห่งจักษุนั้น เป็นสมุทยสัจ ความไม่ดำเนินไปแห่งจักษุและตัณหาทั้งสอง เป็นนิโรธสัจ ปฏิปทาที่เป็นเหตุรู้นิโรธ เป็นมัคคสัจ พระผู้มีพระภาคตรัสรู้สรรพธรรมทั้งหลายโดยชอบด้วยพระองค์เองด้วย แม้โดยการยกขึ้นทีละบท ๆ อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้ แม้ในโสตะ, ฆานะ, ชิวหา, กายและมโนทั้งหลาย ก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้ อายตนะ 6 มีรูปเป็นต้น กองแห่งวิญญาณ 6 มีจักษุวิญญาณเป็นต้น ผัสสะ 6 มีจักษุสัมผัสเป็นต้น เวทนา 6 มีจักษุสัมผัสสชาเวทนาเป็นต้น สัญญา 6 มีรูปสัญญาเป็นต้น เจตนา 6 มีรูปสัญเจตนาเป็นต้น กองแห่งตัณหา 6 มีรูปตัณหาเป็นต้น วิตก 6 มีรูปวิตกเป็นต้น วิจาร 6 มีรูปวิจารเป็นต้น
  2. ขันธ์ 5 มีรูปขันธ์เป็นต้น
  3. กสิณ 10
  4. อนุสสติ 10
  5. สัญญา 10 ด้วยอำนาจแห่งอุทธุมาตกสัญญาเป็นต้น
  6. อาการ 32 มีผมเป็นต้น
  7. อายตนะ 12
  8. ธาตุ 18
  9. ภพ 9 มีกามภพเป็นต้น
  10. ฌาน 4 มีปฐมฌานเป็นต้น
  11. อัปปมัญญา 4 มีเมตตาภาวนาเป็นต้น
  12. อรูปสมาบัติ 4
  13. และองค์แห่งปฏิจจสมุปบาท (12) โดยปฏิโลมมีชาติและชราเป็นต้น โดยอนุโลมมีอวิชชาเป็นต้น นักศึกษาพึงประกอบเข้าโดนนัยนี้นั่นแล

การประกอบความบทหนึ่งในธรรมเหล่านั้น (มีตัวอย่าง) ดังต่อไปนี้ คือ ชรา และมรณะ เป็นทุกขสัจ ชาติ เป็นสมุทยสัจ ความสลัดออกซึ่งทุกขสัจและสมุทยสัจแมัทั้ง 2 เป็นนิโรธสัจ ปฏิปทาเป็นเหตุรู้แจ้งซึ่งนิโรธสัจ เป็นมัคคสัจ พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ คือทรงรู้โดยอนุโลม ทรงรู้โดยปฏิโลม ซึ่งสรรพธรรมทั้งหลายโดยการยกขึ้นทีละบท ๆ อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า ก็แหละ พระผู้มีพระภาคทรงได้ พระนามว่า สัมมาสัมพุทโธ เพราะเหตุที่เป็นผู้ตรัสรู้สรรพธรรมทั้งหลายโดยชอบด้วยพระองค์เองด้วย ฉะนี้

(หน้าที่ 339)

ก็แหละ พระผู้มีพระภาคทรงได้พระนามว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เพราะเหตุ ที่พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาทั้งหลายด้วย ด้วยจรณะด้วย ใน 2 ประการนี้ วิชชา 3 ก็ดี วิชชา 8 ก็ดี ชื่อว่า วิชชา วิชชา 3 นักศึกษาพึงทราบโดยนัยที่ตรัสไว้ในภยเภรวสูตร วิชชา 8 พึงทราบโดยนัยที่ตรัสไว้ในอัมพัฏฐสูตร นั่นเถิด จริงอยู่ ในอัมพัฏฐสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสวิชชา 8 โดยกำหนดเอาอภิญญา 6 บวกด้วยวิปัสสนาญาณและมโนมยิทธิธรรม 15 ประการนี้คือ สีลสังวร 1 ความรักษาทวารที่อินทรีย์หก 1 ความรู้จักประมาณในโภชนะ 1 การประกอบความเพียร 1 สัทธรรมเจ็ด 1 รูปาวจรฌานสี่ 1 พึงทราบว่า จรณะ จริงอยู่ ธรรม 15 ประการนี้เท่านั้น ตรัสว่าเป็น จรณะ เพราะเหตุที่เป็นทางดำเนินไปสู่ทิศอมตะของพระอริยสาวก สมดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนมหานามะ อริยสาวกในศาสนานี้ ย่อมเป็นผู้มีศีล ดังนี้ เป็นอาทิ คำทั้งหมดพึงทราบโดยนัยที่ตรัสไว้ในมัชฌิมปัณณาสกนั่นเถิด

พระผู้มีพระภาค ทรงประกอบแล้ว ด้วยวิชชา 8 นี้ และจรณะนี้ ด้วยเหตุนั้นพระองค์จึงทรงได้พระนามว่า วิชชาจรณสัมปันโน

ในสมบัติ 2 ประการนั้น วิชชาสมบัติ ยังความเป็นพระสัพพัญญูของพระผู้มีพระภาคให้บริบูรณ์ จรณสมบัติ ยังความเป็นผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคให้บริบูรณ์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงทราบสิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ ของสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยพระสรรพพัญญุตญาณแล้ว ทรงชักนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทรงเว้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ด้วยความเป็นผู้ทรงประกอบด้วยพระมหากรุณา เหมือนดังศาสดาอื่น ๆ ที่สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะนั้น ด้วยเหตุนั้น พระสาวกทั้งหลายของพระองค์จึงเป็นผู้ปฏิบัติดี ไม่เป็นผู้ปฏิบัติชั่ว เหมือนอย่างพวกสาวกของศาสดาทั้งผู้มีวิชาและจรณะวิบัติ ซึ่งมีแต่ทำตนให้เดือดร้อนเป็นต้น

(หน้าที่ 340)

พระผู้มีพระภาคทรงได้พระนามว่า สุคโต เพราะมีการทรงดำเนินไปงามอย่างหนึ่ง เพราะเสด็จไปสู้ฐานะอันดีอย่างหนึ่ง เพราะเสด็จไปโดยชอบอย่างหนึ่ง เพราะตรัสโดยชอบอย่างหนึ่ง

จริงอยู่ แม้การดำเนินไป ท่านเรียกว่า คตะ แหละการดำเนินไปนั้นของพระผู้มีพระภาค เป็นการงาม คือบริสุทธิ์ หาโทษมิได้

ก็แหละ การดำเนินไปงามนั้น ได้แก่อะไร ?

ได้แก่อริยมรรค จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคนั้น เสด็จไปไม่ละทิศอันเกษมด้วยการดำเนินไปนั้น จึงทรงได้พระนามว่า สุคโต เพราะมีการดำเนินไปงาม ด้วยประการฉะนี้

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคนั้น เสด็จไปสู่ฐานะอันดี คือฐานะอันไม่ตายได้แก่พระนิพพาน จึงทรงได้พระนามว่า สุคโต แม้เพราะเป็นผู้เสด็จไปสู่ฐานะอันดี ด้วยประการฉะนี้

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคนั้น เสด็จไปโดยชอบ คือไม่เสด็จกลับมาสู่กิเลสทั้งหลายที่ทรงละแล้วด้วยมรรคนั้น ๆ อีก สมดังคำที่พระสาลีบุตรเถระกล่าวไว้ว่า กิเลสเหล่าใด ที่ทรงละแล้วด้วยโสดาปัตติมรรค พระผู้มีพระภาคไม่มา ไม่คืนมา ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก ดังนั้น จึงทรงได้พระนามว่า สุคโต กิเลสเหล่าใดที่ทรงละแล้วด้วยอรหัตมรรค พระผู้มีพระภาคไม่มา ไม่คืนมา ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก ดังนั้น จึงทรงได้พระนามว่า สุคโต

อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จไปโดยชอบ คือทรงทำแต่ประโยชน์ เกื้อกูลและความสุขแก่โลกทั้งปวง ด้วยพระสัมมาปฏิบัติ โดยทรงบำเพ็ญพระบารมี 30 ทัศ นับจำเดิมแต่บาทมูลแห่งพระทีปังกรพุทธเจ้า ตราบเท่าถึงประเทศเป็นที่ผ่องใสแห่งพระโพธิญาณ คือ เสด็จไปอย่างไม่เข้าไปสู่ริมทางเหล่านี้ คือ สัสสตทิฏฐิ 1 อุจเฉททิฏฐิ 1 กามสุขัลลิกานุโยค 1 อัตตกิลมถานุโยค 1 จึงทรงได้พระนามว่า สุคโต แม้เพราะเสด็จไปโดยชอบ ด้วยประการฉะนี้

(หน้าที่ 341)

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคนั้น ย่อมตรัสโดยชอบ คือตรัสแต่พระวาจาที่สมควร ในฐานะอันสมควร จึงทรงได้พระนามว่า สุคโต แม้เพราะตรัสโดยชอบ ด้วยประการฉะนี้

ในอธิการนี้มีสูตรสาธกดังต่อไปนี้ คือ –

ตถาคตรู้วาจาใด อันไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ทั้งวาจานั้นไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่เจริญใจของคนอื่น ๆ ตถาคตไม่ตรัสวาจานั้น

ตถาคตรู้วาจาใด เป็นของจริงของแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ทั้งวาจานั้นไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่เจริญใจของคนอื่น ๆ แม้วาจานั้นตถาคตก็ไม่ตรัส

อนึ่ง ตถาคตรู้วาจาใด เป็นของจริง เป็นของแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่เจริญใจของคนอื่น ๆ ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้จักกาลในอันที่จะใช้วาจานั้น

ตถาคตรู้วาจาใด อันไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ ของคนอื่น ๆ ตถาคตไม่ตรัสวาจานั้น

ตถาคตรู้วาจาใด แม้เป็นของจริงของแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจของคนอื่น ๆ แม้วาจานั้นตถาคตก็ไม่ตรัส

อนึ่ง ตถาคตรู้วาจาใด เป็นของจริง ของแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ทั้งวาจานั้นเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจของคนอื่น ๆ ข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลในอันที่จะใช้วาจานั้น

นักศึกษาพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงได้พระนามว่า สุคโต แม้เพราะตรัสโดยชอบ ด้วยประการดังพรรณนามานี้

(หน้าที่ 342)

ก็แหละ พระผู้มีพระภาคทรงได้พระนามว่า โลกวิทู เพราะเป็นผู้รู้แจ้งโลกแม้โดยทุก ๆ ประการ เป็นความจริง พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงรู้แจ้ง ทรงเข้าพระทัย ทรงทะลุปรุโปร่ง ซึ่งโลกโดยทุก ๆ ประการ คือ โดยสภาวะ ได้แก่ความเป็นจริง โดยสมุทัย ได้แก่เหตุเป็นแดนเกิด โดยนิโรธ ได้แก่ความดับ โดยนิโรธุบาย ได้แก่อุบาย บรรลุถึงซึ่งความดับ

เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า - ดูก่อนอาวุโส ณ ที่สุดของโลกใดแล สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ณ ที่สุดของโลกนั้น เราไม่กล่าวว่า เป็นสิ่งที่จะพึงรู้พึงเห็น บรรลุถึงด้วยการเดินไป ดูก่อนอาวุโส แหละครั้นยังไม่ได้บรรลุถึงซึ่งที่สุดของโลก เราไม่กล่าวว่า ได้ทำถึงซึ่งที่สุดของทุกข์ ดูก่อนอาวุโส ก็แต่ว่า เราบัญญัติเอา โลก ความเกิดขึ้นแห่งโลก ความดับแห่งโลก และปฏิปทาอันส่งให้ถึงซึ่งความดับแห่งโลก ตรงที่กเฬวรากอันยาวประมาณวา ซึ่งมีสัญญามีใจครองนี้นั่นเทียว

ในกาลไหน ๆ บุคคลไม่พึงบรรลุถึงซึ่งที่สุดของโลกด้วยการเดินไป อนึ่ง ครั้นยังไม่บรรลุถึงซึ่งที่สุดของโลก ที่จะพ้นจากทุกข์หามีไม่

เพราะเหตุฉะนั้นแหละ ท่านผู้มีปัญญาหลักแหลม รู้แจ้งโลก ถึงซึ่งที่สุดของโลก อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว สงบแล้ว รู้ที่สุดของโลกแล้ว จึงไม่ปรารถนาซึ่งโลกนี้และโลกหน้า

อีกนัยหนึ่ง โลกมี 3 อย่างคือ สังขารโลก 1 สัตว์โลก 1 โอกาสโลก 1 ในโลก 3 นั้น สังขารโลก นักศึกษาพึงทราบในอนาคตสถานว่า โลกหนึ่ง คือ สัตว์ทุกจำพวกดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร สัตว์โลก พึงทราบในอนาคตสถานว่า ว่าโลกเที่ยงบ้าง ว่าโลกไม่เที่ยงบ้าง โอกาสโลก พึงเห็นในอนาคตสถานว่า

พระจันทร์และพระอาทิตย์หมุนรอบตัว ทำทิศทั้งหลายให้สว่างอยู่ โดยที่มีประมาณเท่าใด โดยที่มีประมาณเท่านั้น โลกมีจำนวนตั้ง 1,000 อำนาจของท่านย่อมปกแผ่ไปในโลกเหล่านั้น

(หน้าที่ 343)

พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งโลกทั้ง 3 นั้น โดยทุก ๆ ประการ จริงอย่างนั้น แม้สังขารโลก พระผู้มีพระภาคนั้นทรงรู้แจ้ง โดยทุก ๆ ประการอย่างนี้ว่า โลกหนึ่ง คือสัตว์ทุกจำพวกดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร, โลก 2 คือ นาม 1 รูป 1, โลก 3 คือเวทนา 3 อย่าง, โลก 4 คืออาหาร 4 อย่าง, โลก 5 คืออุปาทานขันธ์ 5, โลก 6 คืออายตนะใน 6, โลก 7 คือวิญญาณฐิติ 7, โลก 8 คือโลกธรรม 8, โลก 9 คือสัตตาวาส 9, โลก 10 คืออายตนะ 10, โลก 12 คืออายตนะ 12, โลก 18 คือธาตุ 18,

อีกประการหนึ่ง โดยเหตุที่พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงทราบอาสยะ ทรงทราบอนุสัย ทรงทราบจริต ทรงทราบอธิมุติ ของสัตว์แม้ทุกหมู่เหล่า ทรงทราบสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในดวงตามาก ผู้มีอินทรีย์แก่ ผู้มีอินทรีย์อ่อน ผู้มีอาการดี ผู้มีอาการเลว ผู้ที่จะสอนให้รู้ได้ง่าย ผู้ที่จะสอนให้รู้ได้ยาก ผู้ควรรู้ ผู้ไม่ควรรู้ ดังนั้น พระองค์จึงชื่อว่า ผู้ทรงรู้แม้สัตว์โลกโดยประการทั้งปวง

ก็แหละ สัตว์โลกพระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งด้วยประการใด แม้โอกาสโลกพระองค์ก็ทรงรู้แจ้งด้วยประการนั้น จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคนั้นทรงทราบว่า จักรวาลหนึ่งโดยส่วนยาวและส่วนกว้าง ประมาณ 1,203,450 โยชน์ โดยรอบปริมณฑลทั้งหมด ประมาณ 3,610,350 โยชน์ ในจักรวาลนั้นมีแผ่นดินอันนี้กล่าวโดยความหนาประมาณ 240,000 โยชน์ แผ่นดินนั้นมีน้ำตั้งอยู่บนลมรองรับไว้ โดยความหนาประมาณ 480,000 โยชน์ มีลมดันขึ้นสู่นภากาศรองไว้ โดยความหนาประมาณ 960,000 โยชน์ นี้เป็นความดำรงอยู่ของโอกาสโลก

แหละในจักรวาลอันดำรงอยู่อย่างนี้นั้น มีภูเขาสิเนรุ เป็นภูเขาที่สูงที่สุด หยั่งลงในมหาสมุทร 84,000 โยชน์ สูงขึ้นไปก็เท่ากันนั้น

มีภูเขาใหญ่ทั้งหลาย คือ 1. ภูเขายุคันธระ 2. ภูเขาอิสินธระ 3. ภูเขากรวีกะ 4. ภูเขาสุทัสสนะ 5. ภูเขาเนมินธระ 6. ภูเขาวินตกะ 7. ภูเขาอัสสกัณณะ อันวิจิตรไปด้วยรัตนะนานาชนิดราวกะว่าภูเขาทิพย์ หยั่งลึกลงไปและสูงขึ้นไปโดยประมาณกึ่งหนึ่ง ๆ แต่ภูเขาสินเนรุนั้นตามลำดับ ภูเขาใหญ่ทั้ง 7 นั้นอยู่โดยรอบภูเขาสิเนรุ เป็นที่อยู่ของท้าวมหาราชทั้ง 4 เทวดาและยักษ์อาศัยอยู่แล้ว

(หน้าที่ 344)

มี ภูเขาหิมวา สูง 500 โยชน์ ยาวและกว้าง 3,000 โยชน์ ประดับด้วยยอด 84,000 ยอด

มีต้นชมพูชื่อ นคะ วัดโดยรอบลำต้น 15 โยชน์ ลำต้นสูง 50 โยชน์ กิ่งยาว 50 โยชน์ แผ่กิ่งออกไปโดยรอบได้ 100 โยชน์ สูงขึ้นไปก็เท่านั้น ด้วยอานุภาพแห่งต้นชมพูนั้น โลกจึงประกาศว่า ชมพูทวีป

แหละประมาณแห่งต้นชมพูนั้นใด ประมาณนั้นนั่นแล เป็นประมาณของต้นจิตรปาฏลีของพวกอสูร เป็นประมาณของต้นสิมพลีของครุฑ เป็นประมาณของต้นกระทุ่มในอปรโคยานทวีป เป็นประมาณของต้นกัปปพฤกษ์ในอุตตรกุรุทวีป เป็นประมาณของต้นซึกในปุพพวิเทหทวีป เป็นประมาณของต้นปาริจฉัตตกะบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยเหตุนั้นแลท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

ต้นไม้เกิดประจำภพ คือต้นปาฏลี 1 ต้นสิมพลี 1 ต้นชมพู 1 ต้นปาริจฉัตตกะของพวกเทวดา 1 ต้นกระทุ่ม 1 ต้นกัปปพฤกษ์ 1 เป็น 7 ทั้งต้นซึก 1

ภูเขาจักรวาล หยั่งลึกลงไปในมหาสมุทร 82,000 โยชน์ สูงขึ้นไปก็เท่ากันนั้น ภูเขาจักรวาลนี้ ต้องล้อมโลกธาตุทั้งหมดนั้นไว้

ในโลกธาตุนั้น วงกลมแห่งพระจันทร์ 49 โยชน์ วงกลมแห่งพระอาทิตย์ 50 โยชน์ ภพดาวดึงส์ 10,000 โยชน์ ภพอสูร อเวจีมหานรก และชมพูทวีปเหมือนกัน อปรโคยานทวีป 7,000 โยชน์ ปุพพวิเทหทวีปเหมือนกัน อุตตรกุรุทวีป 80,000 โยชน์

แหละในโลกธาตุนั้น ทวีปใหญ่ทวีปหนึ่ง ๆ มีเกาะเล็กเกาะน้อยทวีปละ 500 เกาะ สิ่งทั้งหมดแม้นั้น นับเป็นจักรวาลอันหนึ่ง นับเป็นโลกธาตุอันหนึ่ง ในระหว่างแห่งจักรวาลเหล่านั้น มีโลกันตริกนรกอันหนึ่ง ๆ

พระผู้มีพระภาค ทรงรู้แจ้ง ทรงทราบ ทรงทะลุปรุโปร่ง ซึ่งจักรวาลอันไม่มีที่สุด ซึ่งโลกธาตุอันไม่มีที่สุด ดังพรรณนามานี้ ด้วยพระพุทธญาณอันไม่มีที่สุด แม้โอกาส-

(หน้าที่ 345)

โลก พระผู้มีพระภาคก็ทรงรู้แจ้งโดยทุกประการเหมือนอย่างนั้น แม้ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคทรงได้พระนามว่า โลกวิทู เพราะเป็นผู้รู้แจ้งโลกโดยทุก ๆ ประการ

ก็แหละ บุคคลผู้ยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคนั้นย่อมไม่มี เพราะไม่มีใคร ๆ ที่ประเสริฐกว่าพระองค์โดยคุณทั้งหลาย เป็นความจริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคนั้นทรงครอบงำเสียซึ่งชาวโลกทั้งสิ้น แม้ด้วยพระคุณคือศีล แม้ด้วยพระคุณคือสมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นผู้ไม่มีผู้เสมอเป็นผู้ไม่มีผู้เหมือน เป็นผู้ไม่มีผู้เปรียบ เป็นผู้ไม่มีผู้ทัดเทียม เป็นผู้ไม่มีบุคคลเทียบเคียง แม้ด้วยพระคุณคือศีล แม้ด้วยพระคุณคือสมาธิ ปัญญาวิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แต่ว่าเรามองไม่เห็นบุคคลอื่นที่สมบูรณ์ด้วยศีลยิ่งกว่าเราตถาคต ในโลกพร้อมทั้งเทวโลกพร้อมทั้งมารโลก ฯลฯ ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ดังนี้เป็นต้น นักศึกษาพึงกล่าวความพิสดาร พระสูตรทั้งหลาย เช่นอัคคัปปสาทสูตร เป็นต้น และพระคาถาทั้งหลายเช่นพระคาถาว่า น เม อาจริโย อตฺถิ เป็นต้น นักศึกษาพึงกล่าวให้พิสดารเถิด

พระผู้มีพระภาคทรงได้พระนามว่า ปุริสทมฺมสารถิ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ทรงขับ อธิบายว่า ทรงฝึก ทรงนำไป ซึ่งบุรุษผู้ควรฝึกทั้งหลาย บทว่า ปุริสทมม ในคำว่า ปุริสทมฺมสารถิ ได้แก่ดิรัจฉานบุรุษบ้าง มนุษยบุรุษบ้าง อมนุษยบุรุษบ้าง ที่ยังไม่ได้ฝึกแต่ควรเพื่อจะฝึก เป็นความจริง แม้ดิรัจฉานบุรุษทั้งหลาย ที่พระผู้มีพระภาคทรงฝึกแล้ว ทรงทำให้หมดพิษสงแล้ว ทรงให้ดำรงอยู่ในสรณะศีลทั้งหลายแล้ว เช่น พญานาค ชื่อ อปลาละ พญานาคชื่อ จูโฬทระ พญานาคชื่อ มโหทระ พญานาคชื่อ อัคคสิขะ พญานาคชื่อ ธูมสิขะ พญานาคชื่อ อรวาฬะ และช้างชื่อ ธนปาลกะ เป็นต้น แม้มนุษยบุรุษทั้งหลาย เช่น สัจจกนิคัณฐบุตร อัมพัฏฐมาณพ โปกขรสาติพราหมณ์ โสณทันตพราหมณ์ และ กูฏทันตพราหมณ์ เป็นต้น แม้อมนุษยบุรุษทั้งหลาย เช่น

(หน้าที่ 346)

อฬวกยักษ์ สูจิโลมยักษ์ ขรโลมยักษ์ และ ท้าวสักกเทวราช เป็นต้น ซึ่งพระผู้มีพระภาค ทรงฝึกแล้ว ทรงแนะนำแล้ว ด้วยวินโยบายทั้งหลายอันวิจิตร

อนึ่ง พระสูตรนี้ความว่า ดูก่อนเกสี เราย่อมแนะนำบุรุษที่ควรฝึกทั้งหลาย ด้วยวิธีละเอียดบ้าง ย่อมแนะนำด้วยวิธีหยาบบ้าง ย่อมแนะนำทั้งด้วยวิธีละเอียดและวิธีหยาบบ้าง ดังนี้เป็นต้น นักศึกษาพึงยกมาบรรยายให้พิสดารในเรื่องฝึกบุรุษที่ควรฝึกนี้

อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงสอนคุณอันอัศจรรย์ มีปฐมฌานเป็นต้น ให้แก่ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ซึ่งมีศีลบริสุทธิ์แล้วเป็นต้น และทรงสอนมัคคปฏิปทาชั้นสูงขึ้นไป ให้แก่พระอริยเจ้าทั้งหลายลำดับพระโสดาบันเป็นต้น ชื่อว่า ย่อมทรงฝึกแม้ซึ่งบุคคลทั้งหลาย ผู้ที่ฝึกแล้วเหมือนกัน

อีกนัยหนึ่ง บทว่า อนุตฺตโร กับบทว่า ปุริสทมฺมสารถิ นี้ เป็นบทที่มีความหมายอย่างเดียวกันนั่นเทียว เป็นความจริง พระผู้มีพระภาคย่อมทรงขับบุรุษที่ควรฝึกทั้งหลายได้โดยประการที่เขาทั้งหลายนั่งอยู่โดยบัลลังก์อันเดียว ให้แล่นไปสู่ทิศทั้ง 8 ได้อย่างไม่ขัดข้อง เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวได้ว่า พระผู้มีพระภาคเป็นนายสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกชั้นยอดเยี่ยม แหละพระสูตรนี้ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ช้างที่ควรฝึกอันนายควาญช้างฝึกแล้วย่อมแล่นไปได้เพียงทิศเดียวเท่านั้น ดังนี้เป็นต้น อันนักศึกาพึงพรรณนาให้พิสดารในอธิการนี้

พระผู้มีพระภาคทรงได้พระนามว่า สตฺถา เพราะอรรถว่า เป็นผู้ทรงสั่งสอน ด้วยประโยชน์ชาตินี้ประโยชน์ชาติหน้า และปรมัตถประโยชน์ทั้งหลายอย่างสมควรกัน อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงได้พระนามว่า สตฺถา เพราะอรรถว่า เป็นเหมือนนายกอง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้นำหมู่ อรรถาธิบายในอธิการนี้ นักศึกษาพึงทราบแม้ตามนัยแห่งนิทเทสบาลีมีอาทิดังนี้ว่า นายกองเกวียน ย่อมนำหมู่เกวียนให้ข้ามพ้นกันดารไปได้

(หน้าที่ 347)

คือพาข้ามพ้นโจรกันดาร สัตว์ร้ายกันดาร ทุพภิกขภัยกันดาร และกันดารคืออดน้ำ คือพาข้ามพ้นไปให้บรรลุถึงซึ่งภูมิประเทศอันมีความเกษม ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงเป็นนายกอง ทรงเป็นผู้นำหมู่ทรงนำหมู่สัตว์ทั้งหลายให้ข้ามกันดารไปได้ คือทรงให้ข้ามชาติกันดาร………ฉันนั้น

บทว่า เทวมนุสฺสานํ แปลว่า ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย คำนี้ตรัสไว้ด้วยกำหนดเอาเวไนยสัตว์ขั้นอุกฤษฏ์ และด้วยกำหนดเอาขั้นภัพพบุคคลคือบุคคลผู้ควรตรัสรู้ แต่แท้จริงพระผู้มีพระภาคทรงเป็นศาสดาแม้ของจำพวกสัตว์ดิรัจฉานด้วย โดยทรงประทานพระอนุสาสนีให้ ฝ่ายข้างสัตว์ดิรัจฉานเหล่านั้น ครั้นได้สำเร็จอุปนิสัยสมบัติด้วยการฟังพระธรรมแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เพราะเหตุอุปนิสัยสมบัตินั้นนั่นแหละ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งมรรคและผลในอัตภาพที่ 2 บ้าง ในอัตภาพที่ 3 บ้าง เป็นความจริง เรื่องนี้มีตัวอย่างเช่นมัณฑูกเทพบุตรเป็นต้น

เรื่องมัณฑูกเทพบุตร

ได้ยินมาว่า ครั้งเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระเทศนาโปรดชาวเมืองจำปานครอยู่ ณ ริมฝั่งสระโบกขรณีชื่อ คัคครา มีกบตัวหนึ่งได้ถือเอานิมิตในพระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาค บังเอิญคนเลี้ยงลูกโคคนหนึ่ง เมื่อจรดไม้พลองลง ได้จรดกดเอากบนั้นตรงที่ศรีษะ กบนั้นได้ถึงแก่ความตายลงในขณะนั้นนั่นเทียว แล้วได้ไปบังเกิดอยู่บนวิมานทองสูง 12 โยชน์ในภพดาวดึงส์สวรรค์ แหละมัณฑูกเทพบุตรนั้นซึ่งเป็นเสมือนหลับแล้วตื่นขึ้น เห็นตนถูกห้อมล้อมด้วยหมู่นางเทพอัปษรในวิมานทองนั้น จึงพิจารณาดูว่า เอ ! แม้เราได้ก็ชื่อว่าได้มาบังเกิด ณ ที่นี้แล้ว เราได้สร้างกรรมอะไรไว้หนอ มองไม่เห็นกรรมชนิดไหนอย่างอื่น นอกจากการถือเอานิมิตในพระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาค ทันใดนั้น มัณฑูกเทพบุตรนั้น จึงได้เหาะมาพร้อมทั้งวิมาน กราบนมัสการพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคอยู่ พระผู้มีพระภาคถึงจะทรงทราบอยู่ก็ตรัสถามว่า

ใคร ? รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ ด้วยยศ มีผิวพรรณอันงามยิ่ง บันดาลทิศทั้งปวงให้สว่างไสว นมัสการกราบเท้าเราอยู่

(หน้าที่ 348)

มัณฑูกเทพบุตรกราบทูลว่า

ในชาติก่อน ข้าพระองค์ได้เป็นกบ อยู่ในน้ำ มีน้ำเป็นโคจร ขณะข้าพระองค์ฟังธรรมของพระองค์อยู่ คนเลี้ยงลูกโคได้ฆ่าแล้ว

พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมโปรดแก่มัณฑูกเทพบุตรนั้น ธรรมาภิศมัยคือการตรัสรู้ธรรม ได้มีแก่ปาณสัตว์ทั้งหลายถึง 84,000 ฝ่ายเทพบุตรดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลยิ้มแย้มกลับไป ฉะนี้แล

ก็แหละ พระผู้มีพระภาคทรงได้พระนามว่า พุทฺโธ เพราะทรงรู้อะไร ๆ ที่ควรรู้ ซึ่งมีอยู่อย่างทั่วถ้วนนั่นเทียว ด้วยอำนาจแห่งวิโมกขันติกญาณ (คือพุทธญาณทั้งปวง)

อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงได้พระนามว่า พุทโธ แม้เพราะเหตุทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้คือ คือ เพราะเหตุตรัสรู้สัจจะ 4 ด้วยพระองค์เองบ้าง เพราะเหตุยังหมู่สัตว์อื่น ๆ ให้ตรัสรู้สัจจะ 4 บ้าง

ก็แหละ เพื่อที่จะให้เข้าใจอรรถาธิบายนี้อย่างแจ่มชัด นักศึกษาพึงทำให้พิสดารซึ่งนัยที่มาในนิทเทส หรือนัยที่มาในปฏิสัมภิทามรรค แม้ทั้งหมด ซึ่งเป็นไปอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงได้พระนามว่า พุทโธ เพราะเป็นผู้ตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงได้พระนามว่า พุทโธ เพราะทรงยังหมู่สัตว์ให้ตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย

ก็แหละ คำว่า ภควา นี้ เป็นชื่อเรียกพระผู้มีพระภาคนั้น ผู้เป็นครูชั้นประเสริฐโดยพระคุณ เป็นผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง ด้วยความคาราวะ ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

คำว่า ภควา เป็นคำประเสริฐ คำว่า ภควา เป็นคำชั้นสูง พระผู้มีพระภาคนั้นทรงเป็นครูและเป็นผู้ควรแก่คารวะด้วยเหตุนั้น นักปราชญ์จึงเฉลิมพระนามว่า ภควา

(หน้าที่ 349)

อีกประการหนึ่ง นามมี 4 ชนิดคือ อาวัตถินาม 1 ลิงคิกนาม 1 เนมิตติกนาม 1 อธิจจสมุปปันนนาม 1 อธิบายว่า ชื่อซึ่งตั้งตามต้องการโดยโวหารของชาวโลก ชื่อว่า อธิจจสมุปปันนนาม

ในนาม 4 ชนิดนั้น ชื่อมีอาทิอย่างนี้คือ วจฺโฉ โคเด็ก ทมฺโม โคหนุ่ม พลิพทฺโท โคเปลี่ยว ชื่อว่า อาวัตถิกนาม ชื่อมีอาทิอย่างนี้ คือ ทณฺฑี พญายม ฉตฺตี พระราชา สิขี นกยูง กรี ช้าง ชื่อว่า ลิงคิกนาม ชื่อมีอาทิอย่างนี้คือ เตวิชฺโช พระอรหันต์ผู้สำเร็จวิชา 3 ฉฬภิณฺโณ พระอรหันต์ผู้สำเร็จอภิญญา 6 ชื่อว่า เนมิตติกนาม ชื่อที่ตั้งขึ้นโดยมิได้มุ่งถึงความหมายแห่งคำ มีอาทิอย่างนี้คือ นายสิริวัทฒกะ นายธนวัทฒกะ ชื่อว่า อธิจจสมุปปันนนาม

แหละนามว่า ภควา เป็นเนมิตติกนาม พระนางเจ้ามหามายามิได้ทรงขนานถวาย พระเจ้าสุทโธทนมหาราชมิได้ทรงขนานถวาย หมู่พระประยูรญาติ 85,000 มิได้ทรงขนานถวาย เทวดาผู้วิเศษทั้งหลายมีท้าวสักกะและท้าวสันดุสิตเป็นต้นก็มิได้ทรงขนานถวาย จริงอยู่ แม้ท่านพระธรรมเสนาบดีก็ได้กล่าวไว้ดังนี้ พระนามว่า ภควา นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม (นามที่เกิดในที่สุดแห่งอรหัตมรรค) เป็นบัญญัติที่สำเร็จประจักษ์แจ้งพร้อมกับการได้พระสัพพัญญุตญาณ ณ โคนโพธิพฤกษ์ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย

แหละนามว่า ภควา นี้ มีพระคุณเหล่าใดเป็นนิมิต เพื่อจะประกาศพระคุณเหล่านั้น พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงได้ประพันธ์คาถาไว้ ดังนั้น –

พระผู้มีพระภาคนั้น นักปราชญ์ถวายพระนามว่า ภควา เพราะทรงเป็นผู้มีโชค (ภคี) เพราะทรงเป็นผู้สร้องเสพ (ภชี) เพราะทรงเป็นผู้มีส่วน (ภาคิ) เพราพทรงเป็นผู้จำแนก (วิภตฺตวา) เพราะได้ทรงทำการหักกิเลสบาปธรรม เพราะทรงเป็นครู เพราะทรงเป็นผู้มีบุญบารมี (ภาคยวา) เพราะทรงเป็นผู้มีพระองค์อันอบรมดีแล้วด้วยญายธรรมทั้งหลายเป็นอันมาก เพราะทรงเป็นผู้ถึงที่สุดแห่งภพ

ส่วนอรรถาธิบายแห่งบทนั้น ๆในคาถานี้ นักศึกษาพึงทราบตามนัยที่ตรัสไว้ในคัมภีร์นิทเทสนั่นเถิด

(หน้าที่ 350)

แต่ยังมีนัยอื่นอีกดังต่อไปนี้ –

พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้มีบุญบารมี ทรงเป็นผู้หักกิเลสบาปธรรม ทรงเป็นผู้ประกอบด้วยโชคทั้งหลาย ทรงเป็นผู้จำแนก ทรงเป็นผู้ส้องเสพ ทรงเป็นผู้คายความไปเกิดในภพทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น จึงทรงได้พระนามว่า ภควา

อธิบายบท ภาคยวา

ในบทเหล่านั้นมีอรรถาธิบายดังนี้ นักศึกษาพึงทราบว่า แทนที่จะเฉลิมพระนามว่า ภาคยวา เพราะพระผู้มีพระภาคนั้นทรงมีพระบารมีเช่นทานศีลเป็นต้น อันถึงความยอดยิ่งพร้อมที่จะบันดาลให้บังเกิดโลกิยสุขและโลกุตตรสุขได้ ก็ไปเฉลิมพระนามเสียว่า ภควา ทั้งนี้ เพราะถือเอาลักษณะแห่งภาษา มีการเติมอักษรใหม่และยักย้ายอักษรเป็นต้น หรือ เพราะถือเอาลักษณะที่บวกเข้ากัน เช่น ปีโสทร ศัพท์เป็นต้น ตามนัยแห่งศัพทศาสตร์

อธิบายบท ภคฺควา

อนึ่ง เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคนั้น ได้ทรงหักเสียแล้ว ซึ่งกิเลสอันเป็นเหตุให้เกิดความกระวนกระวายและความเร่าร้อนจำนวนแสนอย่างสิ้นเชิง อันต่างด้วยโลภะโทสะโมหะและมนสิการอันเคลื่อนคลาด อันต่างด้วยอหิริกะและอโนตตัปปะ โกธะและอุปนาหะ มักขะและปลาสะ อิสสาและมัจฉริยะ มายาและสาเถยยะ ถัมภะและสารัมภะ มานะและอติมานะ มทะและปมาทะ ตัณหาและอวิชชา อันต่างด้วยกุศลมูล 3 ทุจริต 3 สังกิเลส 3 มลทิน 3 วิสมะ 3 สัญญา 3 วิตก 3 ปปัญจธรรม 3 อันต่างด้วยวิปริเยสะ 4 อาสวะ 4 คันถะ 4 โอฆะ 4 โยคะ 4 อคติ 4 ตัณหุปปาทะ 4 อุปาทาน 4 อันต่างด้วยเจโตขีละ 4 วินิพันธะ 5 นิวรณ์ 5 อภินันทนะ 5 อันต่างด้วยวิวาทมูล 6 ตัณหากายะ 6 อันต่างด้วยอนุสัย 7 มิจฉัตตะ 8 ตัณหามูลกะ 9 อกุศลกรรมบถ 10 ทิฏฐิ 62 และตัณหาวิจริต 108 หรือเมื่อว่าโดยสังเขป พระผู้มีพระภาคได้ทรงหักเสียแล้วซึ่งมาร 5 จำพวก คือ กิเลสมาร 1 ขันธมาร 1 อภิสังขารมาร 1 เทวปุตตมาร 1 มัจจุมาร 1 ดังนั้น แทนที่จะเฉลิมพระนามว่า ภคฺควา เพราะพระผู้มีพระภาคได้ทรงหักเสียซึ่งอันตรายเหล่านั้น ก็ไปเฉลิมพระนามเสียว่า ภควา

จริงอย่างนั้น ในความข้อนี้ ท่านสังคีติกาจารย์ประพันธ์คาถาไว้ดังนี้

(หน้าที่ 351)

พระผู้มีพระภาคนั้น เป็นผู้ทรงหักราคะ เป็นผู้ทรงหักโทสะ เป็นผู้ทรงหักโมหะ เป็นผู้ทรงหาอาสวะมิได้ บาปธรรมทั้งหลาย พระองค์ทรงหักแล้ว ด้วยเหตุนั้น นักปราชญ์จึงเฉลิมพระนามว่า ภควา ฉะนี้

ก็แหละ สมบัติคือพระรูปกาย ของพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงไว้ซึ่งพระลักษณะอันเกิดแต่บุญตั้ง 100 ชนิดนั้น เป็นอันท่านแสดงแล้วด้วยพระคุณคือความเป็นผู้ทรงมีบุญบารมี สมบัติคือพระธรรมกาย เป็นอันท่านแสดงแล้วด้วยพระคุณคือความเป็นผู้มีโทสะอันหักแล้วภาวะที่พระพุทธองค์มีคนชั้นโลก ๆ และคนชั้นปัญญาชนทั้งหลายรู้จักมากก็ดี ภาวะที่พระพุทธองค์อันเหล่าคฤหัสถ์และหมู่บรรพชิตทั้งหลายเข้าถึง และเป็นผู้ทรงสามารถในอันช่วยบำบัดทุกข์กายทุกข์ใจแก่คฤหัสถ์และบรรพชิตเหล่านั้นผู้เข้าถึงแล้วก็ดี ความเป็นผู้ทรงมีพระอุปการะแก่เขาเหล่านั้นด้วยอามิสทานและธรรมทานก็ดี ความเป็นผู้ทรงสามารถในอันประกอบเขาเหล่านั้นไว้ด้วยโลกิยสุขและโลกุตตรสุขก็ดี ย่อมเป็นอันท่านแสดงแล้วด้วยพระคุณทั้ง 2 เหมือนอย่างนั้น

อธิบายบท ภเคหิ ยุตฺโต

ก็แหละ เพราะเหตุที่ในทางโลก ศัพท์ว่า ภค ย่อมใช้ได้ในสภาวธรรม 6 อย่าง คือ อิสริยะ 1 ธัมมะ 1 ยสะ 1 สิริ 1 กามะ 1 ปยัตตะ 1 เป็นความจริง อิสริยะ คือ ความเป็นใหญ่ในพระหฤทัยของพระองค์ชั้นเยี่ยม หรือพระอิสริยะที่ชาวโลกรับรองกันอันบริบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง มีอันบันดาลร่างกายให้ละเอียดและบันดาลร่างกายให้เบาเป็นต้นของพระผู้มีพระภาคนั้น มีอยู่ ธัมมะ คือพระธรรมชั้นโลกุตตระของพระผู้มีพระภาคนั้น มีอยู่ ยสะ คือ พระยศอันบริสุทธิ์อย่างยิ่งที่พระองค์ทรงได้มาด้วยพระคุณตามความเป็นจริง อันแผ่คลุมไปทั่วโลกทั้ง 3 ของพระผู้มีพระภาคนั้น มีอยู่ สิริ คือพระสิริโสภาแห่งพระอวัยวะทุกส่วนอันบริบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง ซึ่งสามารถให้เกิดความขวนขวายในอันอยากชมพระรูปพระโฉม และให้เกิดความเลื่อมใส ของพระผู้มีพระภาคนั้น มีอยู่ กามะ คือพระประสงค์ อันหมายถึงความบังเกิดแห่งประโยชน์ที่ทรงประสงค์ เพราะประโยชน์ใด ๆ จะเป็นประโยชน์ของพระองค์ก็ตาม จะเป็นประโยชน์ของผู้อื่นก็ตาม ที่พระองค์ทรงประสงค์แล้ว ทรง

(หน้าที่ 352)

ปรารถนาแล้ว ประโยชน์นั้น ๆ ก็เป็นอันสำเร็จพระประสงค์ทั้งนั้น และ ปยัตตะ คือ พระสัมมาวายามะอันเป็นต้นเหตุให้บรรลุถึงซึ่งความเป็นครูของโลกทั้งปวง ของพระผู้มีพระภาคนั้น มีอยู่ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคนั้น แม้เพราะทรงประกอบด้วยภคธรรม 6 อย่างนี้ ชาวโลกจึงขนานพระนามว่า ภควา โดยอรรถวิเคราะห์ว่า ภควา อสฺส สนฺติ แปลว่า ผู้มีภคธรรม 6 อย่าง ฉะนี้

อธิบายบท วิภตฺตวา

อนึ่ง เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้จำแนก อธิบายว่า ทรงเป็นผู้แจก ทรงเป็นผู้เปิดเผย ทรงเป็นผู้แสดง ซึ่งสรรพธรรม โดยประเภททั้งหลายมีกุศลประเภทเป็นต้นอย่างหนึ่ง ซึ่งธรรมทั้งหลายมีกุศลธรรมเป็นต้น โดยเป็นขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ อินทรีย์ และปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น อย่างหนึ่ง ซึ่งทุกขอริยสัจ เพราะอรรถว่า บีบคั้น อันปัจจัยปรุงแต่ง เร่าร้อนและแปรผัน ซึ่งสมุทยอริยสัจ เพราะอรรถว่า ประมวลมา เป็นเหตุประกอบไว้ และกางกั้นซึ่งนิโรธอริยสัจ เพราะอรรถว่า เป็นที่สลัดออก สงัด อันปัจจัยมิได้ปรุงแต่งและเป็นอมตะ ซึ่งมัคคอริยสัจ เพราะอรรถว่า นำออก เป็นเหตุ เห็นแจ้งและเป็นอธิบดีอย่างหนึ่ง ฉะนั้น แทนที่จะเฉลิมพระนามว่า วิภตฺตวา แต่ไปเฉลิมเสียว่า ภควา ดังนี้

อธิบายบท ภตฺตวา

ก็แหละ เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงคบ ทรงส้องเสพ ทรงกระทำให้ มากซึ่งทิพวิหารธรรม และอริยวิหารธรรมทั้งหลาย ซึ่งกายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก ซึ่งสุญญตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ และอนิมิตตวิโมกข์ และทรงคบ ทรงส้องเสพ ทรงกระทำให้มาก ซึ่งอุตตริมนุษยธรรมอื่น ๆ ทั้งที่เป็นโลกิยะทั้งที่เป็น โลกุตตระ ฉะนั้น แทนที่จะเฉลิมพระนามพระองค์ว่า ภตฺตวา แต่ไปเฉลิมเสียว่า ภควา ดังนี้

(หน้าที่ 353)

อธิบายบท ภเวสุ วนฺตคมโน

อนึ่ง เพราะเหตุที่การท่องเที่ยวไปในภพทั้ง 3 คือตัณหาในภพ 3 อันพระผู้มีพระภาคนั้นทรงคายออกแล้ว ฉะนั้น แทนที่จะเฉลิมพระนามพระองค์ว่า ภเวสุ วนฺตคมโน แต่ไปเฉลิมเสียว่า ภควา ดังนี้ โดยยกเอา ภ อักษรจากภวศัพท์ เอา ค อักษรจากคมนศัพท์ เอา ว อักษรจากวนฺตศัพท์ แล้วทำเป็นทีฆสระ เหมือนอย่างในทางโลก แทนที่จะพูดว่า เมหนสฺส ขสฺส มาลา แต่ก็พูดเสียว่า เมขลา ฉะนี้ (โดยเอา เม จาก เมหนสส เอา ข จาก ขสส เอา ลา จากมาลา แล้วประสมกันเป็นเมขลา แปลว่า เครื่องประดับที่ลับ, สายรัดเอว )

เมื่อโยคีบุคคลนั้นระลึกถึงพุทธคุณทั้งหลายอยู่เนือง ๆว่า พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุนี้และเหตุนี้…….พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นภควา เพราะเหตุนี้และเหตุด้วยประการดังพรรณนามา สมัยนั้น จิตของเธอจะไม่ถูกราคะรบกวน จะไม่ถูกโทสะรบกวน จะไม่ถูกโมหะรบกวน สมัยนั้น จิตของเธอย่อมจะปรารถตรงดิ่งถึงพระตถาคตเจ้า

เมื่อโยคีบุคคลนั้น มีจิตตรงเพราะมุ่งหน้าสู่พระกัมมัฏฐาน มีนิวรณ์อันข่มไว้แล้ว เพราะไม่มีราคะเป็นต้นรบกวนอย่างนี้แล้ว วิตก และ วิจาร อันโน้มเอียงไปใน พระคุณย่อมดำเนินไป ด้วยประการฉะนี้ เมื่อโยคีบุคคลตริตรึกและพิจารณาถึงพระพุทธคุณอยู่ ปีติ ย่อมเกิดขึ้น เมื่อโยคีบุคคลมีใจประกอบด้วยปีติ ความกระวนกระวายกายและใจ ย่อมสงบลงด้วยความสงบอันมีปีติเป็นปทัฏฐาน เมื่อโยคีบุคคลมีความกระวนกระวายสงบแล้ว ความสุข ทั้งทางกายและทางใจย่อมเกิดขึ้น เมื่อโยคีบุคคลมีความสุข จิตที่มีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ย่อมเป็น สมาธิ องค์ฌานทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นในขณะเดียวกันโดยลำดับ ด้วยประการฉะนี้

กัมมัฏฐานนี้สำเร็จเพียงอุปจารฌาน

ก็แหละ เพราะเหตุที่พระพุทธคุณทั้งหลายเป็นสภาวธรรมที่ล้ำลึกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่โยคีบุคคลน้อมจิตไปในอันระลึกถึงพระคุณอย่างนานาประการอย่างหนึ่ง ฌานจึงไม่ขึ้นถึงขั้น อัปปนา ถึงเพียงขั้น อุปจาระ เท่านั้นเอง

(หน้าที่ 354)

ฌานนี้นั้นถึงซึ่งอันนับได้ว่า พุทธานุสสติฌาน เพราะเหตุที่บังเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งการระลึกถึงพระพุทธคุณนั่นแล

อานิสงส์การเจริญพุทธานุสสติกัมมัฏฐาน

ก็แหละ ภิกษุผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งพุทธานุสสติกัมมัฏฐานนี้ ย่อมเป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในพระศาสนา ย่อมบรรลุถึงซึ่งความไพบูลย์ด้วยศรัทธา ความไพบูลย์ด้วยสติ ความไพบูลย์ด้วยปัญญา และความไพบูลย์ด้วยบุญ เป็นผู้มากไปด้วยปีติ และปราโมทย์ เป็นผู้กำจัดเสียได้ซึ่งโทษภัยอันน่ากลัว เป็นผู้สามารถอดกลั้นได้ต่อทุกขเวทนา ย่อมได้ความมั่นใจว่าอยู่ร่วมกับพระศาสดา แม้สรีระร่างของพระภิกษุนั้นอันพุทธานุสสติครอบครองแล้ว ย่อมกลายเป็นสิ่งที่ควรแก่การบูชา เป็นเสมือนเรือนพระเจดียสถาน ฉะนั้น จิตของภิกษุนั้นย่อมน้อมไปในพุทธภูมิ แหละถึงคราวที่ประจวบเข้ากับสิ่งที่จะพึงล่วงละเมิด หิริและโอตตัปปะย่อมจะปรากฏแก่ภิกษุนั้น เป็นเสมือนเห็นพระศาสดาอยู่ต่อหน้า ฉะนั้น อนึ่งภิกษุผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งพุทธานุสติกัมมัฏฐานนั้น เมื่อยังไม่ได้แทงตลอดคุณวิเศษยิ่ง ๆ ขึ้นไป (ในชาตินี้ ) ก็จะเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เพราะเหตุฉะนั้นแล โยคาวจรบุคลผู้มีปัญญาดี พึงบำเพ็ญความไม่ประมาทในพุทธานุสสติภาวนา ซึ่งมีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ อย่างพรรณนามานี้ ในกาลทุกเมื่อเทอญ

กถามุขพิสดารในพุทธานุสสติกัมมัฏฐานประการแรก ยุติลงเพียงเท่านี้

(หน้าที่ 355)

ธัมมานุสสติกถา

แม้อันโยคีบุคคลผู้ปรารถนาเพื่อที่จะเจริญธัมมานุสสติกัมมัฏฐาน ไปอยู่ในมี่ลับหลีกเร้นอยู่ ณ เสนาสนะอันสมควร พึงระลึกถึงเนือง ๆ ซึ่งคุณทั้งหลายของปริยัติธรรมและโลกุตตรธรรม 9 อย่างนี้ว่า

1. สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว

2. สนฺทิฏฐิโก พระธรรมอันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง

3. อกาลิโก พระธรรมให้ผลไม่ประกอบด้วยกาล

4. เอหิปสสิโก พระธรรมเป็นสิ่งที่ควรเชิญให้มาดู

5. โอปนยิโก พระธรรมเป็นสิ่งที่น้อมเข้ามาในใจได้

6. ปจฺจตฺตํเวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ พระธรรมอันวิญญูชนทั้งหลายจะพึงรู้เฉพาะตน

ก็แหละในบท สวากฺขาโต นี้ แม้ปริยัติธรรมก็ถึงอันสงเคราะห์เอาด้วยในบทอื่น ๆ นอกนี้สงเคราะห์เอาเฉพาะโลกุตตรธรรม

ปริยัติธรรมเป็นสวากขาตธรรม

  1. ในธรรม 2 ประเภทนั้น ปริยัติธรรมประการแรก ชื่อว่า อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เพราะมีความงามในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด และเพราะประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
    1. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระพุทธพจน์อันใดแม้เพียงพระคาถาอันเดียว พระพุทธพจน์นั้น ชื่อว่ามีความงามในเบื้องต้นด้วยบาทต้น ชื่อว่ามีความงามในท่ามกลางด้วยบาทที่ 2 และที่ 3 ชื่อว่ามีความงามในที่สุดด้วยบาทหลัง เพราะธรรมมีความงามรอบตัว (หน้าที่ 356)
    2. พระสูตรมีอนุสนธิอันเดียว มีความงามในเบื้องต้นด้วยคำนิทาน มีความงามในที่สุดด้วยคำนิคมน์ มีความงามในท่ามกลางด้วยคำที่เหลือ
    3. พระสูตรทีมีอนุสนธิมากหลาย มีความงามในเบื้องต้นด้วยอนุสนธิแรก มีความงามในที่สุดด้วยอนุสนธิหลัง มีความงามในท่ามกลางด้วยอนุสนธิที่เหลือ
      1. อีกประการหนึ่ง พระสูตรที่มีอนุสนธิมากหลายนั้น ชื่อว่ามีความงามในเบื้องต้น เพราะมีทั้งคำนิทาน มีทั้งคำอุบัติเหตุ ชื่อว่ามีความงามในท่ามกลาง เพราะมีเนื้อความไม่วิปริตผิดเพี้ยนไป และเพราะประกอบด้วยเหตุและอุทาหรณ์โดยสมควรแก่เวไนยนิกรทั้งหลาย และชื่อว่ามีความงามในที่สุด เพราะคำนิคมน์อันให้เกิดความได้ศรัทธาแก่ผู้ฟังทั้งหลาย
    4. ศาสนธรรมแม้ทั้งสิ้น มีความงามในเบื้องต้นด้วยศีลอันเป็นเหตุของตน มีความงามในท่ามกลางด้วยสมถะ วิปัสสนา มรรค และผลทั้งหลาย มีความงามในที่สุดด้วยนิพพาน
      1. อีกประการหนึ่ง ศาสนธรรมทั้งสิ้น มีความงามในเบื้องต้นด้วยศีลและสมาธิ มีความงามในท่ามกลางด้วยวิปัสสนาและมรรค 4 มีความงามในที่สุดด้วยผล 4 และนิพพาน
      2. อีกประการหนึ่ง ศาสนธรรมทั้งสิ้น ชื่อว่ามีความงามในเบื้องต้นเพราะพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ดี ชื่อว่ามีความงามในท่ามกลางเพราะพระธรรมเป็นธรรมดี ชื่อว่ามีความงามในที่สุดเพราะพระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดี
      3. อีกประการหนึ่ง ศาสนธรรมทั้งสิ้น ชื่อว่ามีความงามในเบื้องต้น ด้วยอภิสัมโพธิที่สาธุชนฟังศาสนธรรมนั้นแล้วปฏิบัติเพื่อประโยชน์ด้วยประการนั้นจะพึงบรรลุได้ ชื่อว่ามีความงามในท่ามกลางด้วยปัจเจกโพธิ ชื่อว่ามีความงามในที่สุดด้วยสาวกโพธิ
    5. ก็แหละ ศาสนธรรมนั้น ขณะฟังย่อมนำความงามมาแม้ด้วยการฟังนั่นเทียว โดยการข่มเสียซึ่งนิวรณ์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามีความงามในเบื้องต้น ขณะปฏิบัติก็นำความงามมาแม้ด้วยข้อปฏิบัติ โดยนำมาซึ่งความสุขอันเกิดแต่สมถะและวิปัสสนา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามีความงามในท่ามกลางและขณะปฏิบัติแล้ว ด้วยประการนั้น เมื่อผลแห่งปฏิบัติสำเร็จแล้ว ย่อมนำความงามมาแม้ด้วยผลแห่งการปฏิบัติ โดยนำมาซึ่งความเป็นผู้คงเส้นคงวา เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่ามีความงามในที่สุด

(หน้าที่ 357)

พระธรรม ชื่อว่าอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว เพราะมีความงามในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้

อธิบาย พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะ

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคนั้น เมื่อทรงแสดงธรรม ย่อมทรงประกาศคือทรงแสดงซึ่งศาสนพรหมจรรย์และมรรคพรหมจรรย์อันใด โดยนัยต่าง ๆ พรหมจรรย์อันนั้น ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะด้วยอรรถสมบัติตามสมควร ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะด้วยพยัญชนสมบัติตามสมควร

ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะเพราะประกอบด้วยอรรถบท คือ สงฺกาสน แสดงความโดยย่อ 1 ปกาสน แสดงความเบื้องต้น 1 วิวรณ การไขความ 1 วิภชน การจำแนกความ 1 อุตฺตานีกรณ การทำความให้ตื้น 1 ปญฺญตฺติ การแต่งความ 1 ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะถึงพร้อมด้วย อักขระ ตัวหนังสือ 1 บท คำประกอบวิภัติ 1 พยัญชนะ คำที่เป็นพากย์ 1 อาการ คำแบ่งพากย์ออกไป 1 นิรุตติ วิเคราะห์ศัพท์ 1 นิทเทส อธิบายให้พิศดาร 1

ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะ ด้วยความเป็นธรรมลึกซึ้งแห่งเนื้อความและความเป็นธรรมลึกซึ้งแห่งการแทงตลอด ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ ด้วยความเป็นธรรมลึกซึ้งโดยธรรม และความเป็นธรรมลึกซึ้งโดยเทศนา

ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะ โดยเป็นวิสัยแห่งอัตถปฏิสัมภิทาและปฏิภาณปฏิสัมภิทา ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ โดยเป็นวิสัยแห่งธัมมปฏิสัมภิทาและนิรุตติปฏิสัมภิทา

ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะ เพราะว่าทำให้คนชั้นปัญญาชนเลื่อมใส โดยเป็นสิ่งอันบัณฑิตพึงรู้แจ้งได้ ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะว่าทำให้ชั้นโลก ๆ เลื่อมใส โดยเป็นสิ่งที่น่าเชื่อ

ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะ โดยมีอธิบายอันลึกซึ้ง ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ โดยมีบทตื้น

(หน้าที่ 358)

อธิบาย บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

ชื่อว่า บริบูรณ์สิ้นเชิง โดยเป็นธรรมมีความบริบูรณ์อย่างสิ้นเชิง เพราะไม่มีสิ่งที่จะพึงนำเข้าไปเพิ่มเติม ชื่อว่า บริสุทธิ์ โดยเป็นธรรมที่ปราศจากโทษ เพราะไม่มีสิ่งที่จะพึงนำออก

อรรถาธิบายอีกนัยหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง พรหมจรรย์ ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะ เพราะให้คนฉลาดในอธิคม คือ นิพพาน ด้วยการปฏิบัติ ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะให้ฉลาดในอาคมปริยัติด้วยการเล่าเรียน ชื่อว่าบริบูรณ์สิ้นเชิง เพราะประกอบด้วยธรรมขันธ์ 5 กองมีศีลขันธ์เป็นต้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะไม่มีอุปกิเลส เพราะเป็นไปเพื่อสลัดออก และเพราะไม่มุ่งโลกามิส

ปริยัติธรรมชื่อว่าเป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว เพราะประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้

ปริยัติธรรมเป็นสวากขาตธรรมอีกนัยหนึ่ง

อีกนัยหนึ่ง ปริยัติธรรม ชื่อว่าอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ด้วยดีแล้ว เพราะไม่มีข้อความอันวิปลาสคลาดเคลื่อน เพราะฉะนั้น ปริยัติธรรมนั้น จึงชื่อว่าอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว

เป็นความจริงเช่นนั้น ข้อความของธรรมของอัญญเดียรถีย์ทั้งหลาย ยังถึงความวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะว่าธรรมทั้งหลายที่เขากล่าวว่าเป็นอันตรายก็ไม่เป็นอันตรายจริง ธรรมทั้งหลายที่เขากล่าวว่าเป็นเครื่องนำออก ก็ไม่เป็นเครื่องนำออกจริง ด้วยเหตุนั้นอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้มีธรรมอันกล่าวไว้ไม่ดีโดยแท้

ข้อความของธรรมของพระผู้มีพระภาค มิได้ถึงความวิปลาสคลาดเคลื่อนเหมือนอย่างนั้น เพราะว่าธรรมทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอันตรายิกธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องนำออก เช่นนี้แล้ว ก็มิได้เกินเลยจากความเป็นอย่างนั้นไปได้

ปริยัติธรรม ประการแรก เป็นสวากขาตธรรม ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้

(หน้าที่ 359)

โลกุตตรธรรมเป็นสวากขาตธรรม

ก็แหละ โลกุตตรธรรม ชื่อว่าเป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เพราะพระองค์ตรัสข้อปฏิบัติอันสมควรแก่นิพพาน และตรัสนิพพานอันสมควรแก่ข้อปฏิบัติ สมดังที่ท้าวสักกเทวราชตรัสไว้ว่า ก็แหละ ข้อปฏิบัติอันส่งให้ถึงนิพพานอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นได้ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วแก่หมู่พระสาวกทั้งหลาย นิพพานกับข้อปฏิบัติย่อมเข้ากันได้ น้ำในแม่น้ำคงคาย่อมเข้ากันได้ ย่อมเสมอเหมือนกับน้ำในแม่น้ำยมุนา แม้ฉันใด ข้อปฏิบัติอันส่งให้ถึงนิพพาน อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงบัญญัติไว้ดีแล้วแก่หมู่พระสาวกทั้งหลาย นิพพานกับปฏิบัติย่อมเข้ากันได้ เหมือนอย่างนั้นนั่นเทียว

อนึ่ง อริยมรรค อันเป็นข้อปฏิบัติสายกลาง ไม่ไปใกล้ขอบทางทั้ง 2 นั่นแล ชื่อว่าเป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เพราะพระองค์ตรัสว่า เป็นข้อปฏิบัติสายกลาง สามัญผลทั้งหลาย ซึ่งมีกิเลสสงบแล้วนั่นแล ชื่อว่าเป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เพราะพระองค์ตรัสว่า เป็นธรรมมีกิเลสสงบแล้ว นิพพาน อันมีภาวะเที่ยงไม่ตายเป็นที่ต้าน และเป็นที่หลบลี้หนีทุกข์เป็นต้นนั่นแล ชื่อว่าเป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เพราะพระองค์ได้ตรัสไว้โดยความมีสภาวะอันเที่ยงแท้เป็นต้น

แม้โลกุตตรธรรม ก็ชื่อว่าเป็นสวากขาตธรรม ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้

ก็แหละ ในบทว่า สนฺทิฏฺฐิโก มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้

ประการแรก อริยมรรค อันพระอริยบุคคลผู้กำลังกระทำกิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น ไม่ให้มีในสันดานของตน พึงเห็นเอง เพราะฉะนั้น อริยมรรคนั้น จึงชื่อว่าเป็นธรรมอัน พระอริยบุคคลพึงเห็นเอง สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลผู้กำหนัดแล้ว ถูกราคะครอบงำ มีจิตอันราคะครอบครองแล้ว ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนและเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นทั้ง 2 ฝ่าย

(หน้าที่ 360)

บ้าง เขาย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัสทางใจ แต่เมื่อราคะอันเขาละได้แล้ว เขาย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนเลย ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นเลย ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่นทั้ง 2 ฝ่าย เขาย่อมไม่ได้เสวยทุกข์โทมนัสทางใจ ดูก่อนพรหมณ์ พระธรรมย่อมเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง แม้ด้วยประการฉะนี้แล

อีกประการหนึ่ง โลกุตตรธรรมทั้ง 9 ประการ อันพระอริยบุคคลใด ๆ ได้บรรลุแล้ว พระอริยบุคคลนั้น ๆ จะพึงเห็นด้วยปัจจเวกขณญาน โดยยกเลิกซึ่งภาวะที่จะพึงถึงด้วยการเชื่อผู้อื่นเสียได้ เพราะฉะนั้น โลกุตตรธรรมทั้ง 9 นั้นจึงชื่อว่า เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง

อีกนัยหนึ่ง ทฤษฏีอันพระอริยเจ้าสรรเสริญ ชื่อว่า สนฺทิฏฺฐิ โลกุตตรธรรม ย่อมชนะกิเลสด้วยทฤษฏีอันพระอริยเจ้าสรรเสริญ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า สนฺทิฏฺฐิโก ชนะกิเลสด้วยทฤษฏีอันพระอริยเจ้าสรรเสริญ เป็นความจริงอย่างนั้น ในบรรดาโลกุตตรธรรมนั้น อริยมรรค ย่อมชนะกิเลสทั้งหลาย ด้วยทฤษฏีอันพระอริยเจ้าสรรเสริญ ซึ่งประกอบกับตน อริยผล ย่อมชนะกิเลสทั้งหลาย ด้วยทฤษฏีอันพระอริยเจ้าสรรเสริญซึ่งเป็นเหตุของตน นิพพาน ย่อมชนะกิเลสทั้งหลาย ด้วยทฤษฏีอันพระอริยเจ้าสรรเสริญ ซึ่งเป็นวิสัยของตน เพราะเหตุนั้น โลกุตตรธรรมทั้ง 9 ประการ ย่อมชนะด้วยทฤษฏีอันพระอริยเจ้าสรรเสริญ ดังนั้น จึงเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ชนะด้วยทฤษฏีอันพระอริยเจ้าสรรเสริญ เหมือนอย่างบุคคลชนะด้วยรถ เขาเรียกว่า รถิโก ผู้ชนะด้วยรถ ฉะนั้น

อีกนัยหนึ่ง ความเห็นเรียกว่า ทิฏฺฐ ทิฏฺฐศัพท์นั่นแหละได้รูปเป็น สนฺทิฏฺฐ แปลว่าความเห็น ธรรมใดย่อมควรซึ่งการเห็น ธรรมนั้นชื่อว่า สนฺทิฏฺฐิโก ควรซึ่งการเห็น จริงอยู่ โลกุตตรธรรมที่โยคีบุคคลเห็นด้วยสามารถการรู้โดยภาวนา และด้วยสามารถ การรู้โดยการกระทำให้แจ้งเท่านั้น จึงจะห้ามวัฏภัยได้ เพราะเหตุนั้น โลกุตตรธรรมย่อมควรซึ่งการเห็น ดังนั้น จึงชื่อว่า สนฺทิฏฺฐิโก ควรซึ่งการเห็น เหมือนบุคคลควรซึ่งผ้าเขาเรียกว่า วตฺถิโก ผู้ควรซึ่งผ้า ฉะนั้น

(หน้าที่ 361)

พระธรรมนั้นไม่มีกาล หมายถึงให้ผลของตน ฉะนั้นจึงชื่อว่า อกาโล อกาโลนั่นแหละได้รูปเป็น อกาลิโก อธิบายว่า พระธรรมนั้นรอกาลอันต่างออกไปเป็น 5 วัน และ 7 วัน เป็นต้นให้สิ้นสุดไปแล้วจึงให้ผล ก็หามิได้ แต่ให้ผลต่อลำดับต่อจากที่ตนเกิดเลยทีเดียว

อีกประการหนึ่ง ธรรมนั้นมีกาลไกลที่จะมาถึงในอันให้ผลของตน ฉะนั้นจึงชื่อว่า กาลิโก มีกาลไกล ธรรมนั้นได้แก่ธรรมประเภทไหน ? ได้แก่กุศลธรรมชั้นโลกิยะ ส่วนธรรมชั้นโลกุตตระนี้ ไม่เป็นกาลิโก เพราะมีผลติดต่อกัน ฉะนั้นจึงชื่อว่า อกาลิโก ไม่มีกาลไกลในอันให้ผล บทว่า อกาลิโก นี้ท่านจำกัดเอาเฉพาะ อริยมรรค เท่านั้น

พรนะธรรมย่อมควรแก่วิธีที่เชิญให้มาดู อันเป็นไปทำนองนี้ว่า เชิญท่านมาดูพระธรรมนี้

ถาม - ก็เพราะเหตุไรหรือ พระธรรมนั้นจึงควรด้วยวิธีนั้น ?

ตอบ - เพราะพระธรรมนั้นเป็นสภาพที่มีอยู่จริงอย่างหนึ่ง เพราะพระธรรมนั้น เป็นสภาพที่บริสุทธิ์อย่างหนึ่ง

อธิบายว่า เมื่อมีกำมือเปล่า ถึงแม้ว่าใคร ๆ กล้าพูดได้ว่า เงินหรือทองคำมีอยู่ แต่ไม่กล้าที่จะเชิญให้มาดูว่า ท่านจงมาดูเงินหรือทองคำนี้ เพราะเหตุไร ? เพราะเงินหรือทองคำนั้นไม่มีอยู่จริง อนึ่ง คูถหรือมูตรแม้เป็นของมีอยู่จริง ใคร ๆ ก็ไม่กล้าที่จะเชิญผู้อื่นให้มาดูว่า ท่านจงมาดูคูถหรือมูตรนี้เพื่อความร่าเริงใจ โดยประกาศถึงสภาพอันเป็นที่น่าฟูใจ แต่ย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องปกปิดเสียด้วยหญ้าหรือใบไม้ทั้งหลายโดยแท้แล เพราะเหตุไรเล่า ? เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่สะอาด

ส่วนว่าโลกุตตรธรรมทั้ง 9 ประการนี้ ชื่อว่าเป็นของมีอยู่โดยสภาวะจริง ๆ ชื่อว่าเป็นสภาพบริสุทธิ์ เหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญบนอากาศที่ปราศจากเมฆ และเหมือนชาติแก้วมณีที่วางไว้บนผ้ากัมพลเหลือง ด้วยเหตุนั้น โลกุตตรธรรมย่อมควรแก่วิธีที่จะเชิญให้มาดูเพราะเป็นสภาพที่มีอยู่จริงอย่างหนึ่ง เพราะเป็นสภาพที่บริสุทธิ์อย่างหนึ่ง ฉะนั้นจึงชื่อว่า เอหิปสฺสิโก ควรแก่วิธีที่จะเชิญให้มาดู

(หน้าที่ 362)

พระธรรมอันผู้ปฏิบัติพึงน้อมเข้ามาได้ ดังนั้นจึงชื่อว่า โอปนยิโก ก็แหละ ในบทนี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

การน้อมเข้ามา ชื่อว่า อุปนยะ พระธรรมย่อมควรแก่อุปนยะคือการน้อมเข้ามา ในจิตของตนด้วยอำนาจภาวนา เพราะแม้ถึงผืนผ้าหรือศรีษะถูกไฟไหม้ก็เพ่งดูได้เฉย ฉะนั้น จึงชื่อว่า อุปนยิโก บทว่า อุปนยิโก นั่นเองได้รูปเป็น โอปนยิโก คำอธิบายนี้ย่อมสมควรในโลกุตตรธรรมที่เป็นสังขตะ (คือมรรคผล) ส่วนโลกุตตรธรรมที่เป็นอสังขตะ (คือนิพพาน) พระธรรมย่อมควรซึ่งอันน้อมเข้ามาด้วยจิตของตน ฉะนั้นจึงชื่อว่า โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาด้วยจิต อธิบายว่า สมควรถูกต้องด้วยการทำให้แจ้ง

อีกนัยหนึ่ง พระธรรมคือ อริยมรรค ชื่อว่า อุปเนยฺโย เพราะอรรถว่า เป็นสภาวะนำไปสู่นิพพาน พระธรรมคือ ผล และ นิพพาน ชื่อว่า อุปเนยฺโย เพราะอรรถว่า อันผู้ปฏิบัติจะพึงนำเข้าไปสู่ภาวะที่จะพึงทำให้แจ้ง บทว่า อุปเนยฺโย นั่นเองได้รูปเป็น โอปนยิโก หมายความว่า นำเข้าไปสู่นิพพาน หรือ อันผู้ปฏิบัติจะพึงนำไปสู่ภาวะที่จะพึงทำให้แจ้ง

คำว่า พระธรรมอันวิญญูชนทั้งหลายจะพึงรู้เฉพาะตน ความว่า โลกุตตรธรรมนั้น อันวิญญูชนทั้งหลายแม้ทุก ๆ อันดับมีชนชั้นอุคฆฏิตัญญูบุคคลเป็นต้น จะพึงรู้ได้ที่ตนเองว่า มรรคเราได้เจริญแล้ว ผลเราได้บรรลุแล้ว นิโรธเราได้ทำให้แจ้งแล้ว ฉะนี้จริงอยู่ กิเลสทั้งหลายของสัทธิวิหาริก จะละได้ด้วยมรรคที่พระอุปัชฌายะเจริญแล้ว หาได้ไม่ สัทธิวิหาริกนั้นอยู่เป็นผาสุกด้วยผลสมาบัติของพระอุปัชฌายะนั้น ก็หาไม่ สัทธิวิหาริกจะกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานที่พระอุปัชฌายะนั้นทำให้แจ้งแล้ว ก็หาไม่ เพราะเหตุฉะนั้น โลกุตตรธรรมนี้ อันวิญญูชนทั้งหลายจะพึงเห็นได้เหมือนเห็นอาภรณ์บนศรีษะของคนอื่น หาได้ไม่ แต่อันวิญญูชนทั้งหลายจะพึงเห็นได้ที่จิตของตนเท่านั้น อธิบายว่า อันวิญญูชนทั้งหลาย จะพึงเสวย แต่อย่างไรก็ตาม โลกุตตรธรรมนี้เป็นสิ่งที่มิใช่วิสัยของพวกพาลชนเลยอย่างแน่แท้

(หน้าที่ 363)

อีกประการหนึ่ง พระธรรมนี้เป็น สวากฺขาตธรรม คือธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เพราะเหตุไร ? เพราะเป็นธรรม อันผู้บรรลุถึงจะพึงเห็นเอง พระธรรมเป็น สนฺทิฏฺฐิโก คืออันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง เพราะเหตุไร ? เพราะเป็นธรรมไม่มีกาลในอันให้ผล พระธรรมเป็น อกาลิโก คือไม่มีกาลคืออันให้ผล เพราะเหตุไร ? เพราะเป็นธรรมที่ควรเชิญมาดู, และพระธรรมใดเป็น เอหิปสฺสิโก ควรเชิญให้มาดู พระธรรมนั้นย่อมเป็น โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาในใจ ฉะนี้

เมื่อโยคีบุคคลระลึกถึงพระธรรมคุณทั้งหลาย อันต่างด้วยบท มีบทว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วเป็นต้น อย่างนี้บ่อย ๆ ในสมัยนั้น จิตของเธอก็จะไม่ถูกราคะรบกวน จะไม่ถูกโทสะรบกวน จะไม่ถูกโมหะรบกวน สมัยนั้น จิตของเธอย่อมจะปรารภตรงดิ่งถึงพระธรรม ด้วยประการฉะนี้ องค์ฌานทั้งหลายย่อมบังเกิดขึ้นแก่เธอผู้ข่มนิวรณ์ได้แล้วในขณะเดียวกัน โดยนัยก่อนนั่นเทียว

ก็แหละ เพราะพระธรรมคุณทั้งหลายเป็นสภาพที่ลึกซึ้งอย่างหนึ่ง เพราะโยคีบุคคลน้อมจิตไปในอันระลึกถึงซึ่งพระคุณมีประการต่าง ๆ อย่างหนึ่ง ฌานจึงไม่ขึ้นถึงขั้นอัปปนา ขึ้นถึงเพียงขั้นอุปจาระเท่านั้น ฌานนี้นั้นถึงซึ่งอันนับว่า ธัมมานุสสติฌาน เพราะเหตุที่บังเกิดขึ้นด้วยอำนาจการระลึกถึงคุณของพระธรรมนั่นแล

อานิสงส์การเจริญธัมมานุสสติกัมมัฏฐาน

ก็แหละ ภิกษุผู้ประกอบอยู่เนือง ๆ ซึ่งธัมมานุสสติกัมมัฏฐานนี้ ย่อมเป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในพระบรมศาสดา โดยที่ได้มองเห็นคุณของพระธรรมอย่างนี้ คือในการเป็นส่วนอดีต เรามิได้เห็นพระบรมศาสดาผู้ทรงแสดงธรรมอันควรน้อมเข้ามาในใจได้อย่างนี้ ผู้ทรงประกอบแม้ด้วยองค์คุณเช่นนี้มาเลย ถึงในปัจุบันนี้เราก็มิได้เห็นเหมือนกัน เว้นเสียจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฉะนี้ เป็นผู้เคารพและยำเกรงในพระธรรม ย่อมบรรลุถึงซึ่งความไพบูลย์ด้วยศรัทธาเป็นต้น เป็นผู้มากล้นไปด้วยปีติและปราโมทย์ หักห้ามเสียได้ซึ่งโทษภัยอันน่ากลัว เป็นผู้สามารถอดกลั้นได้ต่อทุกขเวทนา ย่อมได้ความมั่นใจว่าได้อยู่

(หน้าที่ 364)

ร่วมกับพระธรรม แหละแม้สรีระร่างของเธออันธัมมคุณานุสสติครอบครองแล้ว ย่อมกลายเป็นสิ่งควรแก่การบูชา เป็นเสมือนเรือนพระเจดียสถาน ฉะนั้น จิตย่อมน้อมไปเพื่ออันบรรลุธรรมชั้นยอดเยี่ยม แหละเมื่อเธอระลึกอยู่เนือง ๆ ถึงความที่พระธรรมเป็นธรรมดี ในคราวประจวบเข้ากับวัตถุที่จะพึงล่วงละเมิด หิริและโอตัปปะย่อมจะปรากฏเฉพาะหน้า ก็แหละเมื่อเธอยังจะไม่ได้แทงตลอดธรรมเบื้องสูงขึ้นไป (ในชาตินี้ ) ย่อมจะเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เพราะเหตุฉะนั้นแล โยคาวจรบุคคลผู้มีปัญญาดี พึงบำเพ็ญความไม่ประมาทในธัมมานุสสติภาวนา ซึ่งมีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ ดังพรรณนามานี้ ในกาลทุกเมื่อเทอญ

กถามุขพิสดารในธัมมานุสติกัมมัฏฐาน ยุติลงเพียงเท่านี้

(หน้าที่ 365)

สังฆานุสสติกถา

วิธีเจริญสังฆานุสสติกัมมัฏฐาน

เมื่อโยคีบุคคลผู้ประสงค์ที่จะเจริญสังฆานุสสติกัมมัฏฐาน ไปในที่ลับหลีกเร้นอยู่ ณ เสนาสนะอันสมควร พึงระลึกเนือง ๆ ถึงคุณทั้งหลายของพระอริยสงฆ์ อย่างนี้ว่า

คู่แห่งบุรุษ 4 บุรุษบุคคล 8 นี้คือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค –

1. สุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติดี

2 อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง

3. ญายปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อนิพพาน

4. สามีจิปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควร

5. อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรแก่ของบูชา

6. ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ

7. ทกฺขิเณยฺโย เป็นผู้ควรแก่ของทำบุญ

8. อญฺชลิกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้

9. อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นนาบุญชั้นยอดเยี่ยมของชาวโลก

ในบรรดาพระสังฆคุณเหล่านั้น บทว่า สุปฏิปนฺโน แปลว่า เป็นผู้ปฏิบัติด้วยดี อธิบายว่า เป็นผู้ปฏิบัติซึ่งปฏิปทาอันถูกต้อง ปฏิปทาอันไม่ถอยหลัง ปฏิปทาอันสมควร ปฏิปทาอันไม่เป็นข้าศึก ปฏิปทาอันเป็นธรรมสมควรแก่สมควร

พระสงฆ์เหล่าใด ย่อมรับฟังพระโอวาทและพระอนุสาสนีของพระผู้มีพระภาคด้วยความเคารพ ฉะนั้น พระสงฆ์เหล่านั้นชื่อว่า สาวก หมู่แห่งพระสาวกทั้งหลายชื่อว่า สาวกสํโฆ อธิบายว่า หมู่แห่งพระสาวกผู้ถึงซึ่งความเป็นหมู่กัน ด้วยความเป็นผู้เสมอกัน โดยศีลและทิฏฐิ

(หน้าที่ 366)

ก็โดยที่ปฏิปทาอันถูกต้องนั้น เป็นข้อปฏิบัติตรง คือไม่คด ไม่โกง ไม่โค้ง และอันบัณฑิตเรียกว่า ไกลจากกิเลส เป็นเหตุรู้แจ้ง ดังนี้บ้าง และถึงซึ่งอันนับว่าสามีจิ เพราะเป็นข้อปฏิบัติอันสมควร ดังนี้บ้าง ฉะนั้น พระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติซึ่งปฏิปทานั้น จึงกล่าวได้ว่า อุชุปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติปฏิปทาอันตรงบ้าง ญายปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติปฏิปทาเป็นเหตุให้รู้แจ้งบ้าง สามีจิปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติปฏิปทาอันสมควรบ้าง

แหละในอธิการนี้ นักศึกษาพึงทราบว่า พระอริยเจ้าจำพวกใดขณะดำรงอยู่ในมรรค พระอริยเจ้าจำพวกนั้นชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติดี เพราะเป็นผู้กำลังพรั่งพร้อมด้วยข้อปฏิบัติอันถูกต้อง พระอริยเจ้าจำพวกใดขณะดำรงอยู่ในผล พระอริยเจ้าจำพวกนั้นชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติดีโดยมุ่งเอาข้อปฏิบัติอันเป็นอดีต เพราะมรรคผลที่จะพึงบรรลุด้วยข้อปฏิบัติอันถูกต้อง เป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าจำพวกนั้นบรรลุมาแล้ว

อีกนัยหนึ่ง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนั้น ชื่อว่า สุปฏิปนฺโน เพราะเป็นผู้ปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอนในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วบ้าง เพราะเป็นผู้ปฏิบัติตามซึ่งข้อปฏิบัติอันไม่ผิดบ้าง

==อธิบายบท

ชื่อว่า อุชุปฏิปนฺโน เพราะเป็นผู้ปฏิบัติตามปฏิปทาอันเป็นสายกลาง โดยหลีกเลี่ยงปฏิปทาอันเป็นสายริมทั้ง 2 เสีย และเพราะเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประหานเสียซึ่งโทษคือความคด ความโกง ความโค้ง ของกาย วาจา ใจ

ชื่อว่า ญายปฏิปนฺโน เพราะเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประสงค์ญายะที่ท่านเรียกว่านิพพาน

ชื่อว่า สามีจิปฏิปนฺโน เพราะเป็นผู้ปฏิบัติโดยประการที่ปฏิบัติแล้วเป็นผู้สมควรแก่สามีจิกรรม

บทว่า ยทิทํ แยกเป็น ยานิ อิมานิ แปลว่า เหล่านี้ใด บทว่า จตฺตาริ ปุริสยุคานิ ความว่า โดยจัดเป็นคู่ คือพระอริยบุคคลผู้ดำรงอยู่ในปฐมมรรค พระอริยบุคคลผู้ดำรงอยู่ใน ปฐมผล เป็นต้น นี้จัดเป็นคู่แห่งบุรุษ 4 ด้วยประการฉะนี้

บทว่า อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา ความว่า โดยจัดเป็นบุรุษบุคคล คือพระอริยบุคคล ผู้ดำรงอยู่ในปฐมมรรค จัดเป็นบุคคล 1 พระอริยบุคคลผู้ดำรงอยู่ในปฐมผล จัดเป็นบุคคล 1

(หน้าที่ 367)

โดยนัยนี้ จึงเป็นบุรุษบุคคล 8 พอดี แหละในอธิการนี้ บทว่า ปุริโส ก็ดี บทว่า ปุคฺคโล ก็ดี นี้มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่บทว่า ปุริสปุคฺคลา นี้ ตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งเวไนยสัตว์

บทว่า เอส ภควโต สาวกสํโฆ ความว่า โดยเป็นคู่ คือ คู่แห่งบุรุษ 4 โดยแยกกัน คือ บุรุษบุคคล 8 เหล่านี้ใด นี้คือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค

ในบทว่า อาหุเนยฺโย เป็นต้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ วัตถุใดอันบุคคลพึงนำมาบูชา วัตถุนั้นชื่อว่า อาหุน อธิบายว่า ได้แก่วัตถุอันบุคคลพึงนำมาแม้แต่ไกลแล้วถวาย ไว้ในท่านผู้มีศีลทั้งหลาย คำว่าอาหุนะนี้เป็นชื่อของปัจจัย 4 พระสงฆ์สาวกเป็นผู้ควรเพื่อจะรับซึ่งของอันบุคคลนำมาบูชานั้น เพราะทำของนั้นให้มีผลมาก ด้วยเหตุนั้นจึงชื่อว่า อาหุเนยฺโย ผู้ควรรับของที่บุคคลนำมาบูชา

อีกนัยหนึ่ง แม้สมบัติทุกอย่าง ที่บุคคลนำมาแม้แต่ที่ไกลแล้วบูชาไว้ในพระสงฆ์สาวกนั้น เหตุนั้น พระสงฆ์สาวกนั้น จึงชื่อว่า อาหวนิโย เป็นผู้ที่อันบุคคลนำมาบูชา อีกอย่างหนึ่ง พระสงฆ์สาวกย่อมควรซึ่งวัตถุอันเทวดาทั้งหลายมีท้าวสักกะเป็นต้นบูชา เหตุนั้น จึงชื่อว่า อาหวนิโย ผู้ควรซึ่งวัตถุอันเทวดาบูชา อนึ่ง ไฟนี้ใดชื่อว่า เป็นสิ่งอันควรบูชาของพราหมณ์ทั้งหลาย พราหมณ์หล่านั้นมีลัทธิว่า สิ่งของที่บูชาแล้วในไฟใดเป็นของมีผลมาก ถ้าว่าไฟนั้นเป็นสิ่งที่ควรซึ่งอันบูชา เพราะของที่เขาบูชาแล้วมีผลมากไซร้ พระสงฆ์เท่านั้นเป็นผู้ควรซึ่งอันบูชา เพราะว่าสิ่งของที่บุคคลบูชาแล้วในพระสงฆ์เป็นสิ่งที่มีผลมาก สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า –

บุคคลใดพึงบำเรอไฟอยู่ในป่าตั้งร้อยปีอย่างหนึ่ง บุคคลใดพึงบูชาผู้ที่อบรมตนแล้วคนเดียวแม้เพียงชั่วครู่อย่างหนึ่ง การบูชานั้นนั่นแลประเสริฐ การบำเรอไฟตั้งร้อยปีจะประเสริฐที่ไหน

บทว่า อาหวนิโย นั้น มีในลัทธินิกายอื่น โดยความหมายเป็นอย่างเดียวกันกับบทว่า อาหุเนยฺโย นี้ ณ ที่นี้ แต่อย่างไรก็ดี ใน 2 บทนี้ โดยพยัญชนะก็ต่างกันเพียงนิดหน่อยเท่านั้น

ด้วยประการฉะนี้ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค จึงชื่อว่า อาหุไนยบุคคล

(หน้าที่ 368)

ก็แหละ ในบทว่า ปาหุเนยฺโย นี้มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้

สิ่งของสำหรับให้แก่อาคันตุกะ ที่เขาตระเตรียมไว้โดยเป็นเครื่องสักการะ เพื่อประโยชน์แก่ญาติมิตรผู้เป็นที่รักใคร่เป็นที่เจริญใจ ซึ่งมาแต่ทิศใหญ่และทิศน้อยทั้งหลาย เรียกว่า ปาหุน (ของต้อนรับแขก) สิ่งของแม้นั้น เว้นญาติและมิตรผู้เป็นแขกเหล่านั้นเสีย ควรเพื่อจะถวายเฉพาะแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์เท่านั้นควรเพื่อจะรับซึ่งสิ่งของนั้น เพราะว่า ขึ้นชื่อว่า แขกที่จะเหมือนพระสงฆ์หามีไม่ เป็นความจริงอย่างนั้น พระสงฆ์นี้จักปรากฏขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพุทธันดร 1 ล่วงไปแล้ว และเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมทั้งหลายอันสร้างความเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจให้ชนิดที่ไม่เจือปนอีกด้วย ของต้อนรับแขกควรเพื่อจะถวายแก่พระสงฆ์นั้น และพระสงฆ์เป็นผู้ควรเพื่อรับของต้อนรับแขก เหตุนั้น พระสงฆ์จึงชื่อว่า ปาหุเนยฺโย ผู้ควรรับของต้อนรับแขก

อนึ่ง โดยเหตุที่พระสงฆ์ของบุคคลจำพวกที่ถือบาลีว่า ปาหวนิโย ย่อมควรซึ่งการกระทำก่อน ฉะนั้น ทานวัตถุอันบุคคลพึงนำมาบูชาในพระสงฆ์นี้ก่อนกว่าเขาทั้งหมด เพราะฉะนั้น พระสงฆ์นี้จึงชื่อว่า ปาหวนิโย ผู้เป็นที่อันบุคคลควรนำบูชาก่อน

อีกอย่างหนึ่ง พระสงฆ์ย่อมควรซึ่งการบูชาโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ปาหวนิโย แปลว่า ผู้ควรซึ่งการบูชาโดยประการทั้งปวง

ศัพท์ว่า ปาหวนิย นี้นั้น ณ ที่นี้ท่านกล่าว ปาหุเนยฺย โดยอรรถาธิบายก็เหมือนกันนั้น

ก็แหละ ทานที่บุคคลให้เพราะเชื่อปรโลก เรียกว่า ทกฺขิณา พระสงฆ์ย่อมควรซึ่งทักขิณานั้น ฉะนั้นจึงชื่อว่า ทกฺขิเณยฺโย ผู้ควรซึ่งทักขิณา อีกอย่างหนึ่ง พระสงฆ์เป็นผู้เกื้อกูลแก่ทักขิณา โดยที่ทำทักขิณาให้บริสุทธิ์ด้วยการกระทำให้มีผลมาก ฉะนั้น จึงชื่อว่า ทกฺขิเณยฺโย ผู้เกื้อกูลแก่ทักขิณา

(หน้าที่ 369)

พระสงฆ์ย่อมควรซึ่งอัญชลีกรรม ที่ชาวโลกทั้งมวลพากันยกหัตถ์ทั้ง 2 ตั้งไว้เหนือเศียรกระทำอยู่ ฉะนั้นจึงชื่อว่า อญฺชลิกรณีโย ผู้ควรซึ่งกระทำอัญชลีกรรม

คำว่า พระสงฆ์เป็นนาบุญชั้นยอดเยี่ยมของชาวโลก ความว่า พระสงฆ์เป็นสถานที่ปลูกบุญของชาวโลกทั้งมวล อย่างไม่มีอะไรเหมือน เหมือนอย่างว่า สถานที่เพราะปลูกข้าวสาลี สถานที่เพราะปลูกข้าวเหนียวของพระราชาหรือของอำมาตย์ ชาวโลกเรียกว่านาข้าวสาลีของพระราชา นาข้าวเหนียวของพระราชา ฉันใด พระสงฆ์ก็เป็นสถานที่ปลูกบุญ ทั้งหลายของชาวโลกทั้งมวล ฉันนั้น เพราะว่า ได้อาศัยพระสงฆ์แล้วบุญทั้งหลายอันเป็นไป เพื่อประโยชน์สุขอย่างนานาประการของชาวโลก ย่อมเจริญงอกงาม เพราะเหตุฉะนั้น พระสงฆ์จึงเป็นนาบุญชั้นยอดเยี่ยมของชาวโลก ฉะนั้นแล

เมื่อภิกษุโยคีบุคคลระลึกอยู่เนือง ๆ ถึงคุณของพระสงฆ์ทั้งหลาย อันต่างด้วยความเป็นผู้ปฏิบัติดีเป็นต้นอย่างนี้ สมัยนั้น จิตของเธอก็จะไม่ถูกราคะรบกวน จะไม่ถูกโทสะรบกวน จะไม่ถูกโมหะรบกวน สมัยนั้น จิตของเธอจะปรารภตรงดิ่งถึงพระสงฆ์ ด้วยประการฉะนี้ องค์ฌานทั้งหลายย่อมบังเกิดขึ้นแก่เธอผู้ข่มนิวรณ์ได้แล้วในขณะเดียวกัน โดยนัยก่อนนั่นแล

แต่ด้วยเหตุที่คุณของพระสงฆ์ทั้งหลายเป็นสภาพที่ล้ำลึกประการหนึ่ง เพราะเหตุทีโยคีบุคคลน้อมจิตไปในอันระลึกถึงคุณอย่างนานาประการอย่างหนึ่ง ฌานจึงไม่ขึ้นถึงขั้นอัปปนา คงถึงเพียงขั้นอุปจาระเท่านั้น ฌานนี้นั้นถึงซึ่งอันนับว่า สังฆานุสสติฌาน เพราะเหตุที่บังเกิดขึ้นด้วยอำนาจการระลึกถึงคุณของพระสงฆ์นั่นเทียว

(หน้าที่ 370)

อานิสงส์การเจริญสังฆานุสสติกัมมัฏฐาน

ก็แหละ ภิกษุผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งสังฆานุสสติกัมมัฏฐานนี้ ย่อมจะสำเร็จเป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในสงฆ์ ย่อมจะบรรลุถึงซึ่งความไพบูลย์ด้วยคุณธรรมมีศรัทธาเป็นต้น ย่อมจะเป็นผู้มากล้นไปด้วยปีติและปราโมทย์ ย่อมเป็นผู้กำจัดเสียได้ซึ่งโทษภัยอันน่ากลัว ย่อมเป็นผู้สามารถอดกลั้นได้ซึ่งทุกขเวทนา ย่อมได้ความมั่นใจว่าอยู่ร่วมกับพระสงฆ์ อนึ่ง สรีระร่างของภิกษุนั้น อันสังฆานุสสติครอบครองแล้ว ย่อมกลายเป็นสิ่งที่ควรแก่การบูชา เป็นเหมือนว่าโรงอุโบสถที่มีพระสงฆ์ประชุมอยู่พร้อมแล้ว จิตย่อมน้อมไปเพื่อถึงพระสังฆคุณ แหละในเมื่อประจวบเข้ากับวัตถุที่จะพึงล่วงละเมิด หิริและโอตตัปปะย่อมจะปรากฏขึ้นมาแก่เธอทันที เป็นเสมือนเห็นพระสงฆ์อยู่โดยพร้อมหน้า ฉะนั้น ก็แหละ ภิกษุผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งสังฆานุสสติกัมมัฏฐาน เมื่อจะไม่ได้แทงตลอดซึ่งคุณพิเศษยิ่ง ๆ ขึ้นไป (ในชาตินี้ ) ก็ย่อมจะเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เพราะเหตุฉะนั้นแล โยคาวจรบุคคลผู้มีปัญญาดี บำเพ็ญความไม่ประมาทในสังฆานุสสติภาวนา ซึ่งมีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ ดังพรรณนามานี้ ในกาลทุกเมื่อ เทอญ

กถามุขพิศดารในสังฆานุสสติกัมมัฏฐาน ยุติลงเพียงเท่านี้

(หน้าที่ 371)

สีลานุสสติกถา

วิธีเจริญสีลานุสสติกัมมัฏฐาน

ก็แหละ อันโยคีบุคคลผู้มีความประสงค์เพื่อจะเจริญสีลานุสสติกัมมัฏฐาน ไปในที่ลับหลีกเร้นอยู่ ณ เสนาสนะอันสมควร พึงระลึกเนือง ๆ ถึงศีลทั้งหลายของตน ด้วยสามารถแห่งคุณมีความเป็นศีลไม่ขาดเป็นต้น อย่างนี้

โอหนอ ! ศีลทั้งหลายของเรา –

1. อขณฺฑานิ เป็นศีลไม่ขาด

2. อจฺฉิทฺทานิ เป็นศีลไม่ทะลุ

3. อสพลานิ เป็นศีลไม่ด่าง

4. อกมฺมาสานิ เป็นศีลไม่พร้อย

5. ภุชิสฺสานิ เป็นศีลที่เป็นไทย

6. วิญฺญุปฺปสตฺถานิ เป็นศีลอันผู้รู้สรรเสริญ

7. อปรามฏฺฐานิ เป็นศีลอันตัณหาและทิฏฐิไม่แตะต้อง

8. สมาธิสํวตฺตนิกานิ เป็นศีลที่ยังสมาธิให้บังเกิดได้

แหละศีลเหล่านั้น คฤหัสถ์พึงระลึกถึงศีลทั้งหลายของคฤหัสถ์ บรรพชิตพึงระลึกถึงศีลทั้งหลายของบรรพชิต

อธิบายคุณลักษณะของศีล 8 อย่าง

ศีลทั้งหลายจะเป็นศีลของคฤหัสถ์หรือศีลของบรรพชิตก็ตาม ศีลเหล่าใดในเบื้องต้นหรือเบื้องปลาย แม้สิกขาบทเดียวก็ไม่ขาด ศีลเหล่านั้นเป็นศีลไม่ขาดเหมือนผ้าที่ขาดตรงชาย ฉะนั้นจึงชื่อว่า อขณฺทานิ เป็นศีลไม่ขาด

ศีลเหล่าใดตอนกลางแม้สิกขาบทเดียวก็ไม่มีขาด ศีลเหล่านั้นเป็นศีลไม่ทะลุ เหมือนผ้าที่ทะลุตรงกลางผืน ฉะนั้นจึงชื่อว่า อจฺฉิทฺทานิ เป็นศีลไม่ทะลุ

(หน้าที่ 372)

ศีลเหล่าใดไม่มีขาด ไม่มีขาดไปตามลำดับ 2 สิกขาบทบ้าง 3 สิกขาบทบ้าง ศีลเหล่านั้นเป็นศีลไม่ด่าง เหมือนแม่โคมีสีตัวด่างดำหรือด่างแดงอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยสีที่ตัดกัน มีสัณฐานยาวและกลมเป็นต้น ซึ่งผุดขึ้นตรงหลังหรือตรงท้อง ฉะนั้นจึงชื่อว่า อสพลานิ เป็นศีลไม่ด่าง

ศีลเหล่าใด ไม่มีขาดเป็นระหว่าง ๆ ศีลเหล่านั้นเป็นศีลไม่พร้อย เหมือนแม่โคมีลายเป็นจุด ๆ ตัดสีกัน ฉะนั้นจึงชื่อว่า อกมฺมาสานิ เป็นศีลไม่พร้อย

อีกประการหนึ่ง ว่ากันที่ไม่แปลกกัน ศีลทั้งหลายแม้ทุก ๆ ประเภท ชื่อว่าเป็นศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นศีลไม่ถูกทำลาย ด้วยเมถุนสังโยค 7 อย่าง และบาปธรรมทั้งหลายมีความโกรธและผูกโกรธเป็นต้น

ศีลทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแล ชื่อว่า ภุชิสฺสานิ เพราะทำความเป็นไทย โดยปลดเปลื้องออกจากความเป็นทาสแห่งตัณหา ชื่อว่า วิญฺญุปฺปสตฺถานิ เพราะเป็นศีลอันวิญญูชนทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้ว ชื่อว่า อปรามฏฺฐานิ เพราะเป็นศีลอัน ตัณหาและทิฏฐิทั้งหลายมิได้แตะต้อง หรือเพราะเป็นศีลอันใคร ๆ ไม่พึงกล้าที่จะปรามาสว่านี้โทษในศีลทั้งหลายของท่าน ชื่อว่า สมาธิสํวตฺตนิกานิ เพราะเหตุที่เป็นศีลยังอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิให้บังเกิดได้ แหละหรือ แม้ยังมรรคสมาธิและผลสมาธิให้บังเกิดก็ได้ด้วย

เมื่อโยคีบุคคลระลึกอยู่เนือง ๆ ถึงศีลทั้งหลายของตน ด้วยอำนาจแห่งคุณมีความเป็นศีลไม่ขาดเป็นต้นอย่างนี้ สมัยนั้น จิตของเธอก็จะไม่ถูกราคะรบกวน จะไม่ถูกโทสะรบกวน จะไม่ถูกโมหะรบกวน สมัยนั้น จิตของเธอก็จะปรารภตรงดิ่งถึงศีลโดยเฉพาะด้วยประการฉะนี้ องค์ฌานทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นแก่เธอผู้ข่มนิวรณ์ได้ในขณะเดียวกันโดยนัยก่อนนั่นแล

แต่ด้วยเหตุที่คุณของศีลทั้งหลายเป็นสภาพที่ล้ำลึกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่โยคีบุคคลน้อมจิตไปในอันระลึกถึงคุณอย่างนานาประการอย่างหนึ่ง ฌานจึงไม่ขึ้นถึงขั้นอัปปนา ถึงเพียงขั้นอุปจาระเท่านั้น ฌานนี้นั้นถึงซึ่งอันนับว่า สีลานุสสติฌาน เพราะเหตุที่เกิดขึ้น ด้วยอำนาจการระลึกถึงคุณของศีลนั่นแล

(หน้าที่ 373)

อานิสงส์การเจริญสีลานุสสติกัมมัฏฐาน

ก็แหละ ภิกษุผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งสีลานุสสติกัมมัฏฐานนี้ ย่อมเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา เป็นผู้มีความประพฤติเข้ากันได้กับสิกขา เป็นผู้ไม่ประมาทในการปฏิสัณถาร เป็นผู้หลีกเว้นจากภัยมีการตำหนิตนเองเป็นต้น เป็นผู้มองเห็นภัยในโทษอันเล็กน้อย ย่อมได้บรรลุถึงซึ่งความไพบูลย์ ด้วยคุณธรรมมีศรัทธาเป็นต้น เป็นผู้มากล้นด้วยปีติและปราโมทย์ ก็แหละเมื่อไม่ได้แทงตลอดคุณวิเศษยิ่ง ๆ ขึ้นไป (ในชาตินี้ ) ก็ย่อมจะเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เพราะเหตุฉะนั้นแล โยคาวจรบุคคลผู้มีปัญญาดี พึงบำเพ็ญความไม่ประมาทในสีลานุสสติภาวนา ซึ่งมีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ ดังพรรณนามานี้ ในกาลทุกเมื่อ เทอญ

กถามุขพิสดารในสีลานุสสติกัมมัฏฐาน ยุติลงเพียงเท่านี้

(หน้าที่ 374)

จาคานุสสติกถา

วิธีเจริญจาคานุสสติกัมมัฏฐาน

ก็แหละ อันโยคีบุคคลผู้มีความประสงค์เพื่อจะเจริญจาคานุสสติกัมมัฏฐาน พึงเป็นผู้น้อมใจไปในการบริจาคเป็นปกติ มีทานและการแบ่งปันดำเนินไปอยู่เป็นประจำ แหละเมื่อจะเริ่มภาวนาพึงทำการสมาทานไว้ว่า บัดนี้ นับจำเดิมแต่นี้ ครั้นปฏิคาหกมีอยู่ยังมิได้ให้ทานแม้อย่างน้อยเพียงคำข้าวคำหนึ่งแล้ว เราจักไม่ยอมบริโภค ครั้นแล้วพึงให้ทานตามสัตติตามกำลังในปฏิคาหกผู้ประเสริฐโดยคุณทั้งหลายในวันนั้น ถือเอานิมิตในทานนั้นแล้ว ไปในที่ลับหลีกเร้นอยู่ ณ เสนาสนะอันควร พึงระลึกเนือง ๆ ถึงการบริจาคของตน ด้วยสามารถแห่งคุณมีความเป็นผู้ปราศจากมลทินและความตระหนี่เป็นต้นอย่างนี้ว่า –

"ในเมื่อเหล่าประชาถูกความตระหนี่และมลทินครอบงำอยู่ การที่เราเป็นผู้มีใจปราศจากมลทินและความตระหนี่อยู่ เป็นผู้มีการเสียสละอย่างเด็ดขาด เป็นผู้มีมืออันสะอาด เป็นผู้ยินดีในการเสียสละ เป็นผู้ควรในการขอ เป็นผู้ยินดีในทานและการแบ่งปัน นั่นนับว่าเป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ" ฉะนี้

ในบรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ลาภา วต เม แปลว่า เป็นลาภของเราหนอ อธิบายว่า ลาภทั้งหลายของทายกเหล่านี้ใด ที่พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญไว้โดยนัยทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ คือ ก็แหละ ทายกครั้นให้อายุเป็นทานแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุอันเป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์ ดังนี้อย่างหนึ่ง คือ ทายกให้ทานย่อมเป็นที่รัก คนทั้งหลายเป็นอันมาก ชอบคบเขา ดังนี้อย่างหนึ่ง คือ เมื่อทายกดำเนินตามธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายให้ทานอยู่ ย่อมเป็นที่รักดังนี้อย่างหนึ่ง ลาภเหล่านั้นเป็นส่วนของเราโดยแน่แท้

คำว่า สุลทฺธํ วต เม แปลว่า เราได้ดีแล้วหนอ อธิบายว่า คำสั่งสอนหรือความเป็นมนุษย์ที่เราได้แล้วนี้อันใด สิ่งนั้นเป็นอันเราได้ดีแล้วหนอ

(หน้าที่ 375)

เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุที่ในเมื่อประชาชนถูกความตระหนี่และมลทินครอบงำอยู่ เรานั้นเป็นผู้มีใจปราศจากมลทินและความตระหนี่อยู่ เป็นผู้มีการสละอย่างเด็ดขาด เป็นผู้มีมืออันสะอาด เป็นผู้ยินดีในการเสียสละ เป็นผู้ยินดีในการขอ เป็นผู้ยินดีในการทานและการแบ่งปัน

ในคำเหล่านั้น คำว่า ถูกความตระหนี่และมลทินครอบงำ คือถูกความตระหนี่ และมลทินครอบครอง สัตว์ทั้งหลายเรียกว่า ปชา ด้วยอำนาจที่บังเกิดมาด้วยกรรม เพราะเหตุนั้น ความหมายในบทว่า ปชาย ดังนี้ คือ ในสัตว์ทั้งผู้อันความตระหนี่และมลทิน อย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาธรรมดำทั้งหลายอันประทุษร้ายความผุดผ่องของจิต ซึ่งมีลักษณะกีดกันความเป็นสาธารณะแก่ผู้อื่นแห่งสมบัติของตนครอบงำแล้ว

คำว่า ปราศจากมลทินและความตระหนี่ ความว่า ชื่อว่า ปราศจากมลทินและความตระหนี่ เพราะเหตุที่มลทินทั้งหลายมีราคะและโทสะเป็นต้นและอื่น ๆ และความตระหนี่ปราศไปแล้ว คำว่า เป็นผู้มีจิต ….อยู่ ความว่า เป็นผู้มีจิตอันมีประการตามที่กล่าวแล้วอยู่ ส่วนในพระสูตรทั้งหลายตรัสว่า เราอยู่ครองเรือน ฉะนี้ ก็เพราะทรงแสดงโดยทำนองแห่งธรรมเป็นเครื่องอยู่อาศัย ในเมื่อเจ้ามหานามศากยะผู้โสดาบันกราบทูลถามถึงธรรมเป็นเครื่องอยู่อาศัย ในคำนั้น มีอรรถาธิบายว่า เราอยู่ครอบงำอุปกิเลส

คำว่า เป็นผู้มีการสละอย่างเด็ดขาด ความว่า เป็นผู้มีการสละอย่างปล่อยเลย คำว่า เป็นผู้มีมืออันสะอาด ความว่าเป็นผู้มีมืออันบริสุทธิ์ อธิบายว่า เป็นผู้มีมืออันล้างแล้วอยู่ตลอดกาล เพื่อให้เครื่องไทยธรรมเป็นทานด้วยมือของตนโดยความเคารพ คำว่า เป็นผู้ยินดีในการเสียสละ ความว่า การสละให้ เรียกว่าการเสียสละ ได้แก่บริจาค ชื่อว่า เป็นผู้ยินดีในการเสียสละ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ยินดีในการเสียสละนั้น ด้วยสามารถที่ประกอบ อย่างติดต่อกันไป คำว่า เป็นผู้ควรในการขอ ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้ควรในการขอ เพราะคนอื่นขอสิ่งใด ๆ ก็ให้สิ่งนั้น ๆ ปาฐะว่า ยาชโยโค ก็มี หมายความว่า เป็นผู้ประกอบด้วยยาชะ กล่าวคือการบูชา คำว่า เป็นผู้ยินดีในทานและการแบ่งปัน ความว่า เป็นผู้ยินดีในทานด้วย เป็นผู้ยินดีในการแบ่งปันด้วย อธิบายว่า โยคีบุคคลย่อมระลึกเนือง ๆ อย่างนี้ว่า

(หน้าที่ 376)

เราแหละย่อมให้ทานด้วย ย่อมทำการแบ่งปันแม้จากสิ่งที่ตนจะพึงบริโภคด้วย เป็นผู้ยินดีในทานและการแบ่งปันทั้ง 2 นี้ด้วยนั่นเทียว

เมื่อโยคีบุคคลนั้นระลึกอยู่เนือง ๆ ถึงการบริจาคของตน ด้วยอำนาจแห่งคุณมีความเป็นผู้มีใจปราศจากมลทินและความตระหนี่เป็นต้นอย่างนี้ สมัยนั้น จิตของเธอก็จะไม่ถูกราคะรบกวน จะไม่ถูกโทสะรบกวน จะไม่ถูกโมหะรบกวน สมัยนั้น จิตของเธอก็จะปรารภตรงดิ่งถึงการบริจาค ด้วยประการฉะนี้ องค์ฌานทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นแก่เธอผู้ข่มนิวรณ์ได้แล้วในขณะเดียวกัน โดยนัยก่อนนั่นแล

แต่โดยเหตุที่คุณแห่งการบริจาคทั้งหลายเป็นสภาพล้ำลึกอย่างหนึ่ง โดยเหตุที่โยคีบุคคลน้อมจิตไปในอันระลึกถึงคุณแห่งการบริจาคอย่างนานาประการอย่างหนึ่ง ฌานจึงขึ้นไม่ถึงขั้นอัปปนา ขึ้นถึงเพียงขั้นอุปจาระเท่านั้น ฌานนี้นั้น ย่อมถึงซึ่งอันนับว่า จาคานุสสติฌาน เพราะเหตุที่บังเกิดขึ้นด้วยอำนาจการระลึกถึงคุณแห่งการบริจาคนั่นแล

อานิสงส์การเจริญจาคานุสสติกัมมัฏฐาน

ก็แหละ ภิกษุโยคีบุคคลผู้ประกอบเนือง ๆ อยู่ซึ่งจาคานุสสติกัมมัฏฐาน ย่อมเป็นผู้น้อมจิตไปในการบริจาคโดยประมาณยิ่ง เป็นผู้มีอัชฌาสัยไม่โลภ เป็นผู้มีปกติกระทำอันสมควรแก่เมตตาภาวนา เป็นผู้องอาจแกล้วกล้า เป็นผู้มากล้นไปด้วยปีติและปราโมทย์ ก็แหละ เมื่อไม่อาจแทงตลอดซึ่งคุณวิเศษยิ่ง ๆ ขึ้นไป (ในชาตินี้ ) ก็จะเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เพราะเหตุฉะนั้นแล โยคาวจรบุคคลผู้มีปัญญาดี พึงบำเพ็ญความไม่ประมาทในจาคานุสสติภาวนา ซึ่งมีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ ดังพรรณนามานี้ ในการทุกเมื่อ เทอญ

กถามุขพิสดารในจาคานุสสติกัมมัฏฐาน ยุติลงเพียงเท่านี้

(หน้าที่ 377)

เทวตานุสสติกถา

วิธีเจริญเทวตานุสสติกัมมัฏฐาน

ก็แหละ โยคีบุคคลผู้มีความประสงค์เพื่อจะเจริญเทวตานุสสติกัมมัฏฐาน พึงเป็นผู้ประกอบด้วยคุณทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้น อันสำเร็จมาด้วยอำนาจอริยมรรค แต่นั้นพึงไปในที่ลับ หลีกเร้นอยู่ ณ เสนาสนะอันสมควร พึงระลึกอยู่เนือง ๆ ถึงคุณทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้นของตน โดยตั้งเทวดาทั้งหลาย ไว้ในฐานะเป็นพยานอย่างนี้ว่า –

เทวดาชาวจาตุมหาราชิกา มีอยู่จริง เทวดาชาวดาวดึงส์ มีอยู่จริง เทวดาชาวยามา มีอยู่จริง เทวดาชาวดุสิต มีอยู่จริง เทวดาชาวนิมมานรดี มีอยู่จริง เทวดาชาวปรนิมมิตวสวัตดี มีอยู่จริง เทวดาชั้นพรหมกายิกา มีอยู่จริง เทวดาชั้นสูงขึ้นไปกว่านั้น ก็มีอยู่จริง

เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วยศรัทธาชนิดใด ครั้นจุติจากโลกนี้แล้วจึงไปบังเกิดในภพนั้น ๆ ศรัทธาชนิดนั้นแม้ในเราก็มี

เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วยศีลชนิดใด ประกอบด้วยสุตะชนิดใด ประกอบด้วยจาคะชนิดใด ประกอบด้วยปัญญาชนิดใด ครั้นจุติจากโลกนี้ไปแล้วจึงไปบังเกิดในภพนั้น ๆ ศีล, สุตะ, จาคะ และปัญญาชนิดนั้น ๆ แม้ในเราก็มีอยู่ ฉะนี้

แต่ว่าในพระสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนมหานามะ ในสมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกเนือง ๆ ถึงศรัทธา, ศีล, จาคะ และปัญญาของตนและของเทวดาเหล่านั้น ในสมัยนั้น จิตของเธอก็จะไม่ถูกราคะรบกวน ดังนี้ ถึงจะตรัสไว้ดังนั้นก็ตาม แต่นักศึกษา

(หน้าที่ 378)

พึงทราบว่า พระพุทธพจน์นั้นตรัสไว้เพื่อประสงค์จะทรงแสดงถึงคุณอันเสมอกัน ทั้งของเทวดาที่ตั้งไว้ในฐานะเป็นพยาน ทั้งของตน โดยคุณทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้น จริงอยู่ ในอรรถกถาท่านก็กล่าวไว้อย่างมั่นเหมาะว่า ย่อมระลึกเนือง ๆ ถึงคุณทั้งหลายของตน โดยตั้งเทวดาทั้งหลายในฐานะเป็นพยาน

เพราะเหตุนั้น เมื่อโยคีบุคคลระลึกอยู่เนือง ๆ ถึงคุณทั้งหลายของเหล่าเทวดา ในภาคต้นแล้ว จึงระลึกเนือง ๆ ถึงคุณทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้นอันมีอยู่ของตนในภายหลังในสมัยนั้น จิตของเธอก็จะไม่ถูกราคะรบกวน จะไม่ถูกโทสะรบกวน จะไม่ถูกโมหะรบกวน ในสมัยนั้น จิตของเธอก็จะปรารภตรงดิ่งถึงเทวดาทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้ องค์ฌานทั้งหลายย่อมบังเกิดขึ้นแก่เธอผู้ข่มนิวรณ์ได้แล้วในขณะเดียวกัน โดยนัยก่อนนั่นแล

ก็แหละ เพราะเหตุที่คุณทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้นเป็นสภาพที่ล้ำลึกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่โยคีบุคคลน้อมจิตไปในอันระลึกถึงคุณอย่างนานาประการอย่างหนึ่ง ฌานจึงขึ้นไม่ถึงขั้นอัปปนา ขึ้นถึงเพียงขั้นอุปจาระเท่านั้น ฌานนี้นั้นย่อมถึงซึ่งอันนับว่า เทวานุสสติฌาน ก็โดยที่ระลึกถึงคุณมีศรัทธาเป็นต้นเช่นเดียวกับคุณของเทวดาทั้งหลายนั่นเอง

อานิสงส์การเจริญเทวตานุสสติกัมมัฏฐาน

ก็แหละ ภิกษุผู้ประกอบเทวตานุสสติกัมมัฏฐานนี้อยู่เนือง ๆ ย่อมเป็นที่รักใคร่เป็นที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย ย่อมจะประสบความไพบูลย์ด้วยคุณมีศรัทธาเป็นต้น โดยประมาณยิ่ง เป็นผู้มากล้นด้วยปีติและปราโมทย์ ก็แหละ เมื่อยังไม่ได้แทงตลอดคุณวิเศษชั้นสูงขึ้นไป (ในชาตินี้ ) ก็จะเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เพราะเหตุฉะนั้นแล โยคาวจรบุคคลผู้มีปัญญาดี พึงบำเพ็ญความไม่ประมาทในเทวตานุสสติภาวนา ซึ่งมีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ ดังพรรณนามานี้ ในกาลทุกเมื่อ เทอญ

กถามุขพิศดารในเทวตานุสสติกัมมัฏฐาน ยุติลงเพียงเท่านี้

(หน้าที่ 379)

ข้อความเบ็ดเตล็ด

ก็แหละ ในวิตถารเทศนาแห่งอนุสสติ 6 ประการเหล่านี้ พระผู้มีพระภาค ตรัสพระพุทธพจน์ทั้งหลายมีอาทิว่า ในสมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมปรารภตรงดิ่งถึงตถาคต ดังนี้แล้ว ตรัสพระพุทธพจน์ใดไว้ว่า ดูก่อนมหานามะ ก็แหละ อริยสาวกผู้มีจิตตรง ย่อมได้ความยินดีในอรรถ ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่ผู้มีความปราโมทย์ ฉะนี้ อรรถาธิบายในพระพุทธพจน์นั้น นักศึกษาพึงทราบดังนี้ ที่ตรัสว่า ย่อมได้ความยินดีในอรรถ นั้น หมายเอาความยินดีที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจความของพระพุทธคุณมีคำว่า อิติปิ โส ภควา เป็นต้น ที่ตรัสว่า ย่อมได้ความยินดีในธรรมนั้น หมายเอาความยินดีที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยบาลี ที่ตรัสว่า ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรมนั้น ด้วยอำนาจความยินดีทั้ง 2 ประการ

แหละในเทวตานุสสติกถา พระพุทธพจน์ใดที่ตรัสไว้ว่า ปรารภซึ่งเทวดาทั้งหลาย ดังนี้ พระพุทธพจน์นั้น นักศึกษาพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคตรัสด้วยอำนาจแห่งจิตที่เกิดปรารภเทวดาทั้งหลายในสว่นเบื้องต้นอย่างหนึ่ง ตรัสด้วยอำนาจจิตที่เกิดปรารภคุณทั้งหลาย อันให้สำเร็จเป็นเทวดาเช่นเดียวกับคุณของเทวดาอย่างหนึ่ง

อนุสสติ 6 สำเร็จเฉพาะอริยสาวก

ก็แหละ อนุสสติ 6 ประการเหล่านี้ ย่อมสำเร็จเฉพาะอริยสาวกจำพวกเดียวเท่านั้น เพราะว่า พุทธคุณ, ธรรมคุณ, สังฆคุณย่อมปรากฏแก่อริยสาวกเหล่านั้น และอริยสาวกเหล่านั้นก็เป็นผู้ประกอบด้วยศีลอันทรงคุณมีความไม่ขาดเป็นต้น ประกอบด้วยจาคะ ชนิดที่ปราศจากมลทินและความตระหนี่ ประกอบด้วยคุณทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้นเช่นเดียวกับคุณของเหล่าเทวดาผู้มีอานุภาพอันยิ่งใหญ่

แหละใน มหานามสูตร อนุสสติ 6 ประการเหล่านี้ พระผู้มีพระภาค อันเจ้ามหานามะกราบทูลถามถึงธรรมเป็นเครื่องอยู่อาศัยของพระโสดาบัน ได้ทรงแสดงไว้โดยพิสดาร เพื่อทรงแสดงถึงธรรมเป็นเครื่องอยู่อาศัยของพระโสดาบันโดยเฉพาะ

(หน้าที่ 380)

แม้ใน เคธสูตร พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงอนุสสติ 6 ประการ เพื่อประสงค์ ชำระจิตแล้วบรรลุถึงซึ่งความบริสุทธิ์ขั้นปรมัตถ์ ยิ่ง ๆขึ้นไป ด้วยอำนาจแห่งอนุสสติเฉพาะแก่อริยสาวกไว้อย่างนี้คือ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในศาสนานี้ ย่อมระลึกเนือง ๆ ถึงตถาคตว่า อิติปิ โส ภควา……ในสมัยนั้น จิตของเธอย่อมตรงดิ่ง ออกไป พ้นไปปราศจากเคธะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า เคธะนี้แลเป็นชื่อของกามคุณ 5 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายบางจำพวกในศาสนานี้ ทำพุทธานุสสติฌานแม้นี้แลให้เป็นอารมณ์ แล้วย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้

แม้ใน สัมพาโธกาสสูตร ที่ท่านพระมหากัจจายนะแสดง ท่านก็แสดงอนุสสติฐาน 6 ประการ ด้วยสามารถแห่งอันได้ซึ่งโอกาสเฉพาะแก่อริยสาวก เพราะเป็นผู้มีธรรมอันบริสุทธิ์ขั้นปรมัตถ์อย่างนี้คือ ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย น่าอัศจรรย์ ดูก่อนอาวุโสทั้งหลายสิ่งไม่เคยมีได้มีแล้ว คือข้อที่พระผู้มีพระภาคผู้รู้เห็นเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นได้ตรัสรู้ โอกาสอันจะพึงบรรลุในฆราวาสอันคับแคบ เพื่อควมบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย… เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน โอกาสอันจะพึงบรรลุนั้น ได้แก่อนุสสติฐาน 6

อนุสสติฐาน 6 คืออะไรบ้าง ?

ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย อริยสาวกในพระศาสนานี้ ย่อมระลึกเนือง ๆ ถึงพระตถาคตเจ้า……ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายบางจำพวกในพระศาสนานี้ ทำพุทธานุสสติฌานแม้นี้แลให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ได้เป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้

แม้ใน อุโปสถสูตร ก็ทรงแสดงอนุสสติ 6 ประการ เฉพาะแก่อริยสาวกผู้เข้าจำอุโบสถ เพื่อทรงแสดงถึงภาวะที่อุโบสถมีผลมากด้วยอำนาจกัมมัฏฐาน อันเป็นเครื่องชำระอย่างนี้คือ ดูก่อนวิสาขา ก็อริยอุโบสถเป็นไฉน ? ดูก่อนวิสาขา ได้แก่การชำระจิตที่เศร้าหมองให้ผุดผ่องด้วยความพยายาม ดูก่อนวิสาขา อริยสาวกในศาสนานี้ ย่อมระลึกเนือง ๆถึงตถาคตว่า……

แม้ใน เอกาทสกนิบาต เมื่อเจ้ามหานามะกราบทูลถามว่า ข้าแต่สมเด็จพุทธองค์ เมื่อพวกข้าพระองค์เหล่านั้น อยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่ต่าง ๆกัน ข้าพระองค์จะพึงอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อะไร ? เพื่อทรงแสดงธรรมเป็นเครื่องอยู่ถวาย พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงอนุสสติ 6 ประการ เฉพาะแก่อริยสาวกเท่านั้น อย่างนี้ คือ ดูก่อน

(หน้าที่ 381)

มหานามะ บุคคลผู้มีศรัทธาแลจึงจะเป็นผู้บันดาลให้สำเร็จได้ บุคคลผู้ไม่มีศรัทธาบันดาลให้สำเร็จหาได้ไม่ ดูก่อนมหานามะ บุคคลผู้ปรารภความเพียร มีสติมั่นคง มีสมาธิ มีปัญญา จึงจะเป็นผู้บันดาลให้สำเร็จได้ บุคคลผู้เกียจคร้านมีสติหลงลืมไม่มีสมาธิไม่มีปัญญาหาบันดาลให้สำเร็จได้ไม่ ดูก่อนมหานามะ ท่านจงดำรงอยู่ในธรรม 5 ประการเหล่านี้แล แล้วพึงเจริญธรรม 6 ประการ ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ดูก่อนมหานามะ ท่านพึงระลึกเนือง ๆ ถึงตถาคตว่า อิติปิ โส ภควา…….

กัลยาณปุถุชนก็บำเพ็ญอนุสสติ 6 ได้

แม้ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ตามที อันปุถุชนผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลอันบริสุทธิ์เป็นต้น ก็ควรสนใจเหมือนกัน เพราะเมื่อกัลยาณปุถุชนระลึกเนือง ๆ อยู่ถึงพระคุณทั้งหลาย ของพระพุทธเจ้าเป็นต้น จิตย่อมผ่องใสแม้ด้วยอำนาจแห่งการระลึกเนือง ๆ นั่นเทียว กัลยาณปุถุชนข่มนิวรณ์ทั้งหลายเสียด้วยอานุภาพแห่งจิตอันผ่องใส มีความปราโมทย์อย่างยิ่ง เริ่มเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็จะพึงทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตได้เหมือนกัน เหมือนอย่างพระปุสสเทวเถระ ผู้อยู่ที่กัฏฐอันธการวิหาร

เรื่องพระปุสสเทวเถระ

ได้ยินว่า ท่านผู้มีอายุนั้นได้เห็นพระรูปพระพุทธเจ้าอันมารนฤมิตขึ้น ได้ปีติอันมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ว่า พระพุทธเจ้านฤมิตนี้ ยังมีราคะโทสะโมหะอยู่ก่อน ก็ยังสวยงามถึงอย่างนี้ องค์พระผู้มีพระภาคแท้จะไม่สวยงามอย่างไรเล่า เพราะพระองค์ทรงปราศจากราคะโทสะโมหะโดยประการทั้งปวง ครั้นแล้วก็ยังวิปัสสนาปัญญาให้เจริญ ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ฉะนี้แล

ฉอนุสสตินิทเทส ปริเฉทที่ 7

ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณวิเสสชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นไว้

เพื่อให้เกิดความปราโมทย์แก่สาธุชนทั้งหลาย

ยุติลงด้วยประการฉะนี้

………………………………..


1)
เย คตฺยตฺถา เต พุทฺธฺยตฺถา ปวตฺติปาปุณตฺถกา. (ธาตฺวตฺถสงฺคห. ๑๙)