วิสุทธิมรรค_20_มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินิทเทส

Action unknown: copypageplugin__copy

อยู่ในระหว่างปรับสำนวน

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)

ปริจเฉทที่ 20 มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินิทเทส

แสดงบรรยายความบริสุทธิ์ของความรู้และความเห็นว่า เป็นทางปฏิบัติที่ถูกและไม่ถูก

สัมมสนญาณกถา

(หน้าที่ 268)

อนึ่ง ญาณซึ่งรู้ทางถูกและทางไม่ถูกอย่างนี้ว่า "นี้เป็นทาง นี้มิใช่ทาง" ดังนี้ ชื่อว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์ของความรู้และความเห็นว่า เป็นทางปฏิบัติที่ถูและไม่ถูก

โยคีผู้ปรารถนาเพื่อบรรลุมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ์นั้น เริ่มแรกควรทำโยคะ (คือการบำเพ็ญความเพียร) ในนยวิปัสสนา ที่เรียกว่า กลาป[สัมมสนะ] (คือ การกำหนดพิจารณาธรรมเป็นหมวดเป็นกอง) ก่อน (ถามว่า) เพราะเหตุไร ? (ตอบว่า) เพราะเมื่อพระธรรมมีโอภาส (แสงสว่าง) เป็นต้นเกิดขึ้นแก่โยคีผู้แรกเริ่มปฏิบัติวิปัสสนา มัคคามัคคญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็นว่าเป็นทางปฏิบัติที่ถูกและไม่ถูก) จึงเกิดขึ้น ความจริง เมื่อธรรมทั้งหลายมีโอภาสเป็นต้นเกิดขึ้น ท่านโยคีผู้แรกเริ่มปฏิบัติวิปัสสนา ก็มีมัคคามัคคญาณอยู่ด้วย ด้วยว่า กลาปสัมมสนะ (ญาณ) เป็นญาณเริ่มต้นของวิปัสสนา เพราะฉะนั้น ท่านจึงยกกลาปสัมมสน (ญาณ) นี้ขึ้นแสดงไว้ในลำดับของกังขาวิตรณ (วิสุทธิ)

อีกประการหนึ่ง เพราะเมื่อ ตีรณปริญญา เป็นไปอยู่ มัคคามัคคญาณจึงบังเกิดขึ้นและตีรณปริญญาก็บังเกิดขึ้นในลำดับของญาตปริญญา เพราะฉะนั้น โยคีผู้ปรารถนาบรรลุ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ นั้น จะต้องทำโยคะในกลาปสัมมสนญาณ (การกำหนดรู้โดยความเป็นหมวดเป็นกอง) ก่อน

(หน้าที่ 269)

ในการกำหนดรู้โดยความเป็นหมวดเป็นกอง (กลาปสัมมสนะ) นั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

ความจริง โลกียปริญญา (คือ การกำหนดรู้ขั้นโลกิยะ) มีอยู่ 3 คือ

1. ญาตปริญญา การกำหนดรู้ในสิ่งที่รู้กันอยู่แล้ว (ปรากฏอยู่แล้ว)

2. ตีรณปริญญา การกำหนดรู้ด้วยการไตร่ตรอง (ใคร่ครวญ)

3. ปหานปริญญา การกำหนดรู้ด้วยการละ

ซึ่ง (ปริญญาทั้ง 3 นี้) ท่านกล่าวระบุถึงไว้แล้ว (ในปฏิสัมภิทามัคค์) ว่า "ปัญญาในการรู้ยิ่ง ชื่อว่าญาณ โดยความหมายว่ารู้กันอยู่แล้ว ปัญญาในการกำหนดรู้ ชื่อว่าญาณ โดยความหมายว่าไตร่ตรอง ปัญญาในการละ ชื่อว่าญาณ โดยความหมายว่าสละไป" ดังนี้

ในปริญญา 3 อย่างนั้น ปัญญาที่เป็นไปด้วยการกำหนดรู้ลักษณะเฉพาะของธรรมทั้งหลายเหล่านั้นๆ เช่นอย่างนี้ว่า รูปมีลักษณะเสื่อมสลายไป เวทนามีลักษณะเสวยอารมณ์ ดังนี้ ชื่อว่า ญาตปริญญา (กำหนดรู้สิ่งที่ปรากฏอยู่แล้ว) ส่วนปัญญาคือวิปัสสนามี (ไตร) ลักษณ์เป็นอารมณ์ซึ่งยกธรรมทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแลขึ้นสู่สามัญญลักษณะแล้วเป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า "รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง" ดังนี้ ชื่อว่า ตีรณปริญญา แต่วิปัสสนาปัญญาที่มี (ไตร) ลักษณ์เป็นอารมณ์นั่นแล ซึ่งเป็นไปละความหมายรู้ มีหมายรู้ว่าเที่ยงเป็นต้น ในธรรมทั้งหลายเหล่านั้นนั่นเอง ชื่อว่า ปหานปริญญา

ในปริญญา 3 นั้น ตั้งแต่ สังขารปริจเฉท (การกำหนดรู้สังขาร คือ นามรูปปรอจเฉทญาณซึ่งเป็นญาณที่ 1) มาถึง ปัจจยปริคคหะ (การกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป คือปัจจยปริคคหญาณ ซึ่งเป็นญาณที่ 2) เป็นภูมิของ ญาตปริญญา เพราะในระหว่างนี้ ความเป็นใหญ่ มีอยู่แก่การแทงตลอดลักษณะเฉพาะตัวของธรรมทั้งหลายอย่างเดียว ส่วนตั้งแต่กลาปสัมมสนะ (ญาณ – ซึ่งเป็นญาณที่ 3) จนถึงอุทยพยญาณ (ซึ่งเป็นญาณที่ 4) เป็นภูมิของ ตีรณปริญญา เพราะในระหว่างนี้ความเป็นใหญ่มีอยู่แก่การแทงตลอดสามัญญลักขณะโดย

(หน้าที่ 270)

เฉพาะตั้งแต่ภังคานุปัสสนา (ญาณ ซึ่งเป็นญาณที่ 5) เป็นต้นไป จนญาณในเบื้องสูง เป็นภูมิของ ปหานปริญญา เพราะว่าตั้งแต่ภังคานุปัสสนาญาณนั้นไป ความเป็นใหญ่มีอยู่แก่ อนุปัสสนา 7 ซึ่งทำให้สำเร็จการละความหมายรู้ มีความหมายรู้ว่าเที่ยงเป็นต้น (ตามที่ท่านกล่าวไว้) อย่างนี้ว่า

(1) เมื่อเห็นเนือง ๆ โดยความไม่เที่ยง ก็ละความหมายรู้ว่าเที่ยง

(2) เมื่อเห็นเนือง ๆ โดยความเป็นทุกข์ ก็ละความหมายรู้ว่า เป็นสุข

(3) เมื่อเห็นเนือง ๆ โดยความไม่มีอัตตา ก็ละความหมายรู้ว่า มีอัตตา

(4) เมื่อเบื่อหน่าย ก็ละความเพลิดเพลินยินดี

(5) เมื่อปราศจากความกำหนัด ก็ละราคะ

(6) เมื่อดับ ก็ละเหตุเป็นแดนเกิด (สมุทัย)

(7) เมื่อสลัดทิ้งไป ก็ละความยึดถือ ดังนี้

ในปริญญา 3 (ดังกล่าว) นี้ เป็นอันว่า โยคีได้บรรลุ ญาตปริญญา โดยเฉพาะแล้ว เพราะได้ทำทั้งสังขารปริจเฉท (ญารที่ 1) ด้วย ทั้งปัจจยปริคคหะ (ญาณที่ 2) ด้วย ให้สำเร็จแล้ว และปริญญาอีก 2 อย่าง ก็ควรบรรลุด้วย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า (ข้างต้น) ว่า "เพราะเมื่อ ตีรณปริญญา เป็นไปอยู่ มัคคามัคคญาณ จึงบังเกิดขึ้น และ ตีรณปริญญา ก็บังเกิดขึ้นในลำดับของ ญาตปริญญา เพราะฉะนั้น โยคีผู้ปรารถนาบรรลุ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ นั้น จะต้องทำโยคะในการกำหนดรู้โดยความเป็นหมวดเป็นกองก่อน" ดังนี้

ในการกำหนดรู้โดยความเป็นหมวดเป็นกอง (ที่เรียกว่า กลาปสัมมสนะ) นั้น ในพระบาลี (แปลความ) ดังนี้

ถาม "ปัญญาในการย่นย่อกำหนดรู้ธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ชื่อว่า สัมมสนญาณ (คือ ญาณมนการกำหนดรู้) เป็นอย่างไร"

ตอบ "รูปอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ทั้งภายในหรือภายนอก ทั้งหยาบหรือละเอียด ทั้งเลวหรือประณีต ทั้งอยู่ไกลหรืออยู่ใกล้ โยคีกำหนดรู้รูปทั้งหมดนั้นโดยความไม่เที่ยง เป็นสัมมสนะ 1

(หน้าที่ 271)

"กำหนดรู้…..โดยความเป็นทุกข์ เป็นสัมมสนะ 1

"กำหนดรู้…..โดยความไม่มีอัตตา เป็นสัมมสนะ 1

"เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม…..กำหนดรู้…..

"สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม…..กำหนดรู้…..

"สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม…..กำหนดรู้…..

"วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม…..กำหนดรู้…..โดยความไม่เที่ยง เป็นสัมมสนะ 1

"กำหนดรู้…..โดยความเป็นทุกข์ เป็นสัมมสนะ 1

"กำหนดรู้…..โดยความไม่มีอัตตา เป็นสัมมสนะ 1

"กำหนดรู้จักขุ…..ฯลฯ…..ชราและมรณะ ทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบัน โดยความไม่เที่ยง เป็นสัมมสนะ 1

"…..โดยความเป็นทุกข์ เป็นสัมมสนะ 1

"…..โดยความไม่มีอัตตา เป็นสัมมสนะ 1

"ปัญญาในการย่นย่อกำหนดรู้ว่า "รูปทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ชื่อว่าไม่เที่ยง โดยความหมายว่าสิ้นไป ชื่อว่าเป็นทุกข์ โดยความหมายว่าน่ากลัว ชื่อว่าอนัตตา โดยความหมายว่าเป็นสิ่งไม่มีแก่นสาร" ดังนี้ เป็นสัมมสนญาณ (คือ ญาณในการกำหนดรู้)1

"ปัญญาในการย่นย่อกำหนดรู้ว่า "เวทนา…..

"ปัญญาในการย่นย่อกำหนดรู้ว่า "สัญญา…..

"ปัญญาในการย่นย่อกำหนดรู้ว่า "สังขาร…..

"ปัญญาในการย่นย่อกำหนดรู้ว่า "วิญญาณ…..

"ปัญญาในการย่นย่อกำหนดรู้ว่า "จักขุ ฯลฯ ชรามรณะทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ชื่อว่าไม่เที่ยง…..ดังนี้ เป็นสัมมสนญาณ 1

(หน้าที่ 272)

"ปัญญาในการย่นย่อกำหนดรู้ว่า "รูปทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบัน เป็นของไม่เที่ยงปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีปราศจากราคะไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา" ดังนี้ เป็นสัมมสนญาณ 1

"ปัญญาในการย่นย่อกำหนดรู้ว่า "เวทนา…..

"ปัญญาในการย่นย่อกำหนดรู้ว่า "สัญญา…..

"ปัญญาในการย่นย่อกำหนดรู้ว่า "สังขารทั้งหลาย…..

"ปัญญาในการย่นย่อกำหนดรู้ว่า "วิญญาณ…..

ปัญญาในการย่นย่อกำหนดรู้ว่า "จักขุ ฯลฯ ชรามรณะทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เป็นของไม่เที่ยง…..มีความดับไปเป็นธรรมดา"ดังนี้ เป็นสัมมสนญาณ 1

ปัญญาในการย่นย่อกำหนดรู้ว่า "เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ เมื่อไม่กี่ชาติก็ไม่มีชราและมรณะ" ดังนี้ เป็นสัมมสนญาณ 1

ปัญญาในการย่นย่อกำหนดรู้ว่า "ทั้งในอดีตกาลก็ดี ทั้งในอนาคตกาลก็ดี เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ เมื่อไม่มีชาติ ก็ไม่มีชราและมรณะ" ดังนี้ เป็นสัมมสนญาณ 1

ปัญญาในการย่นย่อกำหนดรู้ว่า "เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ…..ฯลฯ…..เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย เมื่อไม่มีอวิชชา ก็ไม่มีสังขารทั้งหลาย" ดังนี้ เป็นสัมมสนญาณ 1

"ปัญญาในการย่นย่อกำหนดรู้ว่า "ทั้งในอดีตกาลก็ดี ทั้งในอนาคตกาลก็ดี เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย เมื่อไม่มีอวิชชา ก็ไม่มีสังขารทั้งหลาย" ดังนี้ เป็นสัมมสนญาณ 1

"สัมมสนญาณนั้นชื่อว่า ญาณ โดยความหมายว่า รู้แล้ว ชื่อว่า ปัญญา โดยความหมายว่า รู้ทั่ว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ปัญญาในการย่นย่อกำหนดรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ชื่อว่า สัมมสนญาณ" ดังนี้

(หน้าที่ 273)

[ฯลฯ ข้อธรรมด้วยไปยาล]

อนึ่ง (ด้วยการ ฯลฯ ไว้) ด้วยไปยาล (ฯเปฯ) ว่า "จักขุฯลฯ ชราและมรณะ" ดังนี้ ในพระบาลีนั้น พึงทราบว่าท่านย่นย่อเอาหมวดธรรมเหล่านี้ไว้ คือ

1. ธรรมทั้งหลายที่เป็นไปในทวาร พร้อมด้วยทวารและอารมณ์ทั้งหลาย

2. ขันธ์ 5

3. ทวาร 6

4. อารมณ์ 6

5. วิญญาณ 6

6. ผัสสะ 6

7. เวทนา 6

8. สัญญา 6

9. เจตนา 6

10. ตัณหา 6

11. วิตก 6

12. วิจาร 6

13. ธาตุ 6

14. กสิณ 6

15. โกฏฐาส (อาการ) 32

16. อายตนะ 12

17. ธาตุ 18

18. อินทรีย์ 22

(หน้าที่ 274)

19. ธาตุ 3

20. ภพ 3

21. ภพ อีก 3

22. ภพ อีก 3

23. ญาณ 4

24. อัปปมัญญา 4

25. สมาบัติ 4

26. องค์ของปฏิจจสมุปบาท 12 ดังนี้

ความจริง ข้อนี้ท่านสารีบุตรได้กล่าวไว้แล้วใน อภิญญานิทเทส (ในปฏิสัมภิทามรรค) ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งควรรู้ยิ่ง ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งควรรู้ยิ่ง คืออะไร ?

1. ภิกษุทั้งหลาย จักขุเป็นสิ่งควรรู้ยิ่ง รูปทั้งหลายเป็นสิ่งควรรู้ยิ่ง จักขุวิญญาณ เป็นสิ่งควรรู้ยิ่ง จักขุสัมผัสเป็นสิ่งควรรู้ยิ่ง ถึงแม้การเสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่เป็นทุกข์และไม่เป็นสุขก็ดี ซึ่งเกิดขึ้นเพราะมีจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย นี้นั้นก็เป็นสิ่งควรรู้ยิ่ง โสตะ (หู) เป็นสิ่งควรรู้ยิ่ง ฯลฯ ถึงแม้การเสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่เป็นทุกข์ และไม่เป็นสุขก็ดี ซึ่งเกิดขึ้นเพราะมีมโนสัมผัสเป็นปัจจัย นี้นั่นก็เป็นสิ่งควรรู้ยิ่ง

2. รูป…..วิญญาณเป็นสิ่งควรรู้ยิ่ง…..

3. จักขุ…..มโน…..

4. รูป…..ธรรมทั้งหลาย…..

5. จักขุวิญญาณ…..มโนวิญญาณ…..

6. จักขุสัมผัส…..มโนสัมผัส…..

(หน้าที่ 275)

7. เวทนาเกิดแต่จักขุสัมผัส…..เวทนาเกิดแต่มโนสัมผัส…..

8. สัญญาในรูป…..สัญญาในธรรม…..

9. สัญเจตนาในรูป…..สัญเจตนาในธรรม…..

10. ตัณหาในรูป…..ตัณหาในธรรม…..

11. วิตกในรูป…..วิตกในธรรม…..

12. วิจารในรูป….วิจารในธรรม…..

13. ปฐวีธาตุ…..วิญญาณธาตุ…..

14. ปฐวีกสิณ…..วิญญาณกสิณ…..

15. เส้นผม (เกสา)…..ส่วนสมองในกระหม่อม…..

16. อายตนคือจักขุ…..อายตนะคือธรรมารมณ์…..

17. จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ…..มโนธาตุ ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ…..

18. จักขุนทรีย์…..อัญญาตาวินทรีย์…..

19. กามธาตุ…..รูปธาตุ…..อรูปธาตุ…..

20. กามภพ…..รูปภพ….อรูปภพ…..

21. สัญญาภพ…..อสัญญาภพ….เนวสัญญานาสัญญาภพ…..

22. เอกโวการภพ…..จตุโวการภพ…..ปัญจโวการภพ…..

23. ปฐมฌาน ฯลฯ จตุตถฌาน…..

24. เมตตาเจโตวิมุตติ ฯลฯ อุเปกขาเจโตวิมุตติ…..

25. อากาสานัญจายตนะสมาบัติ ฯลฯ เนวสัญญาสัญญายตนะสมาบัติ เป็นสิ่งควรรู้ยิ่ง

26. อวิชชาเป็นสิ่งควรรู้ยิ่ง ฯลฯ ชราและมรณะ เป็นสิ่งควรรู้ยิ่ง" ดังนี้

(หน้าที่ 276)

สิ่งทั้งปวงที่ควรรู้ยิ่ง ท่านย่นย่อไว้ด้วยไปยาล (คือ ฯเปฯ) ในที่ทุกแห่ง ใน วิสุทธิมรรค นี้ เพราะท่านกล่าวไว้พิสดารอย่างนั้น ใน อภิญญานิทเทส นั้นแล้ว แต่ทว่า เมื่อได้ย่นย่อไว้อย่างนี้แล้ว โลกุตตรธรรมทั้งหลายเหล่าใดมาในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้ ไม่ควรรับเอาธรรมทั้งหลายเข้าไว้ในอธิการนี้ เพราะไม่เข้าถึงสัมมสน (ญาณ) อีกประการหนึ่ง ถึงในบรรดาธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงสัมมสนะ (คือการกำหนดรู้) เฉพาะธรรมทั้งหลายที่ปรากฏชัด (และ) ถึงการกำหนดรู้ได้ง่าย โยคีนั้นจึงควรเริ่มกำหนดในธรรมทั้งหลายเหล่านั้น

ในสัมมสนะนั้น มีการประกอบวิธีปรารภโดยทางขันธ์ ดังนี้ คือ "รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง….ฯลฯ โยคีกำหนดรูปทั้งปวงโดยความไม่เที่ยง เป็นสัมมสนะ 1…..โดยความเป็นทุกข์ เป็นสัมมสนะ 1….โดยความไม่มีอัตตา เป็นสัมมสนะ 1" พระภิกษุนี้ ครั้นกำหนดรูปหมด แม้ทุกชนิดซึ่งมิได้ชี้ตายตัวลงไปอย่างนี้ว่า "รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง" โดยโอกาสทั้ง 11 คือ (จำแนก) โดยหมวด 3 (แห่งกาลมี) อดีต (เป็นต้น) และ โดยหมวด 2 (แห่งรูปมี) รูปภายในเป็นต้น อีก 4 หมวดด้วย โดยอาการเพียงนี้ แล้วกำหนดรู้ทั้งปวงโดยความไม่เที่ยง ชื่อว่า กำหนดรู้ว่า "อนิจจะ"

(ถาม) กำหนดรู้ว่า "อนิจจะ" อย่างไร ?

(ตอบ) กำหนดรู้ "อนิจจะ" โดยนัยดังกล่าวไว้ข้างหน้านั่นแล เพราะท่านกล่าวไว้แล้วว่า "รูปทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ชื่อว่าไม่เที่ยง โดยความหมายว่าสิ้นไป" ดังนี้ เพราะฉะนั้น พระภิกษุนี้จึงกำหนดรู้ว่า "รูปใดเป็นอดีต รูปนั้นสิ้นไปแล้วในอดีตนั่นแลไม่มาถึงภพนี้ เพราะเหตุนี้จึงเป็นของไม่เที่ยง โดยความว่าสิ้นไป รูปใดเป็นอนาคตจักเกิดขึ้นในภพเป็นลำดับไป ถึงแม้ว่ารูปนั้นก็จักสิ้นไปในภพนั้นนั่นเอง จักไม่จากภพนั้นไปสู่ภพอื่นเพราะเหตุนี้ จึงเป็นของไม่เที่ยง โดยความหมายว่าสิ้นไป รูปใดเป็นปัจจุบัน ถึงแม้รูปนั้นก็สิ้นไปในภพนี้นี่เอง ไม่ไปจากภพนี้ เพราะเหตุนี้จึงเป็นของไม่เที่ยง โดยความหมายว่าสิ้นไป รูปใดเป็นภายใน ถึงแม้รูปนั้นก็สิ้นไปภายในนั่นเอง ไม่ไปถึงภายนอก เพราะเหตุนี้จึงเป็นของไม่เที่ยงโดยความหมายว่าสิ้นไป รูปใดเป็นภายนอก…..หยาบ…..ละเอียด…..เลว…..

(หน้าที่ 277)

ประณีต…..อยู่ ณ ที่ใกล้ ถึงแม้รูปนั้นก็สิ้นไป ณ ที่ใกล้นั่นเอง ไม่ไปถึงความเป็นที่ไกล เพราะเหตุนี้จึงเป็นของไม่เที่ยง โดยความหมายว่าสิ้นไป" ดังนี้ การกำหนดรู้แม้ทั้งหมดนี้เป็นสัมมสนะ 1 ตามคำที่ว่า "เป็นของไม่เที่ยง โดยความหมายว่าสิ้นไป" ดังนี้ แต่ทว่าโดยประเภท เป็นสัมมสนะ 11 อย่าง และรูปทั้งหมดนี้นั่นแล ชื่อว่าเป็นทุกข์ โดยความหมายว่าเป็นสิ่งที่พึงกลัว ที่ว่า "โดยความหมายว่าเป็นสิ่งพึงกลัว" หมายความว่า เพราะมีภัยประจัญหน้าอยู่ แน่ละ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็เป็นของนำเอาความน่ากลัวมา ดุจการนำเอาความน่ากลัวมาแก่เทวดาทั้งหลายในสีโหปมสูตร ถึงแม้การกำหนดรู้ด้วยประการฉะนี้ ก็เป็นสัมมสนะ 1 ตามคำที่ว่า "ชื่อว่าเป็นทุกข์ โดยความหมายว่าเป็นสิ่งพึงกลัว" ดังนี้ แต่ทว่าโดยประเภทก็เป็นสัมมสนะ 11 อย่าง อนึ่ง รูปทั้งปวงชื่อว่าเป็นทุกข์ ฉันใด รูปแม้ทั้งหมดนั้นหามีอัตตาไม่ โดยความหมายว่าเป็นสิ่งไม่มีแก่นสาร ที่ว่า "โดยความหมายว่าเป็นสิ่งไม่มีแก่นสาร" หมายความว่า เพราะไม่มีแก่นสาร คือ อัตตาซึ่งเจ้าลัทธิทั้งหลายคิดเห็นกันอย่างนี้ว่า "(มี) อัตตา (มี) ผู้อยู่เป็นนิตย์ (มี) ผู้สร้าง (มี) ผู้เสวย (มี) ผู้มีอำนาจในตัวเอง" แน่ละ รูปใดไม่เที่ยง รูปนั้นก็เป็นทุกข์ ไม่สามารถห้ามความไม่เที่ยงหรือความเบียดเบียนเฉพาะหน้าด้วยความเกิดขึ้นและความดับไป แม้แต่ของอัตตาได้ แล้วผู้นั้นจะเป็นผู้สร้างเป็นต้นแต่ที่ไหน ? เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่า ถ้ารูปนี้จักเป็นอัตตาไซร้ รูปนี้ก็ไม่ควรเป็นไปด้วยอาพาธ" ดังนี้ เป็นต้น เพราะเหตุนี้ ถึงแม้การกำหนดรู้ (ดังกล่าว) นี้ก็เป็นสัมมสนะ 1 ตามคำที่ว่า "เป็นของหามีอัตตาไม่ โดยความหมายว่าเป็นสิ่งไม่มีแก่นสาร" ดังนี้ แต่ทว่าโดยประเภทก็เป็นสัมมสนะ 11 อย่าง

นัย (ในการกำหนดรู้) ในขันธ์ทั้งหลายอื่นมีเวทนาเป็นต้นก็เป็นอย่างนี้

อนึ่ง เพราะรูปใดไม่เที่ยง รูปนั้นก็แตกต่างกันออกไป โดยเป็นรูปที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้นเป็นต้น โดยนิยม เพราะฉะนั้น เพื่อแสดงปริยายของความไม่เที่ยงนั้น หรือเพื่อแสดงถึงวิธีมนสิการซึ่งดำเนินไปโดยอาการต่าง ๆ ท่านจึงกล่าวพระบาลีไว้อีก (แปความ) ว่า "(รูป) ทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบัน ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีปราศจากราคะไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา" ดังนี้

(หน้าที่ 278)

นัยในขันธ์ทั้งหลายอื่นมีเวทนาเป็นต้น ก็เช่นเดียวกันนี้

เพื่อมุ่งหมายให้การกำหนดรู้ (คือสัมมสนญาณ) โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่มีอัตตา ในขันธ์ 5 (ตามที่กล่าวมา) นั้นนั่นแล มีความมั่นคง โยคาวจรนั้นจึงกำหนดรู้ขันธ์ 5 ทั้งหลายเหล่านี้ด้วยการกำหนดรู้โดยความไม่เที่ยงเป็นต้นแม้นั้น โดยประเภท ซึ่งกล่าวไว้ในวิภังค์แห่งพระบาลีนี้ (แปความ) ว่า "พระภิกษุได้เฉพาะซึ่งขันติ (ญาณ) อันเป็นอนุโลม โดยอาการ 40 อย่างไรบ้าง ? (พระภิกษุ) ก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม โดยอาการ 40 อย่างไรบ้าง" ดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงจำแนกอนุโลมญาณ (นั้น) ได้ตรัสไว้แล้วโดยนัยเป็นต้นว่า "พระภิกษุเมื่อเห็นขันธ์ 5 โดยอาการ 40 ดังนี้ คือ

1. อนิจจโต โดยความไม่เที่ยง

2. ทุกขโต โดยความเป็นทุกข์

3. โรคโต โดยเป็นโรค

4. คัณฑโต โดยเป็นฝี

5. สัลลโต โดยเป็นลูกศรเสียบ

6. อฆโต โดยความชั่วร้าย

7. อาพาธโต โดยความป่วยไข้

8. ปรโต โดยเป็นปรปักษ์

9. ปโลกโต โดยแตกทำลาย

10. อีติโต โดยความหายนะ

11. อุปัททวโต โดยเป็นอุปัทวะ

12. ภยโต โดยเป็นภัย

13. อุปสัคคโต โดยเป็นอุปสรรค

(หน้าที่ 279)

14. จลโต โดยความหวั่นไหว

15. ปภังคุโต โดยผุพัง

16. อัทธุวโต โดยไม่ยั่งยืน

17. อตาณโต โดยไม่เป็นที่ต้านทาน

18. อเลณโต โดยไม่เป็นที่หลบลี้

19. อสรณโต โดยไม่เป็นที่พึ่ง

20. ริตตโต โดยเป็นของเปล่า

21. ตุจฉโต โดยเป็นของว่าง

22. สุญญโต โดยเป็นของสูญ

23. อนัตตโต โดยไม่มีอัตตา

24. อาทีนวโต โดยเป็นโทษ

25. วิปริณามธัมมโต โดยมีความแปรผันไปเป็นธรรมดา

26. อสารกโต โดยไม่มีสาระ

27. อฆมูลโต โดยเป็นต้นเหตุแห่งความชั่วร้าย

28. วธกโต โดยเป็นผู้ฆ่า (ฆาตกร)

29. วิภวโต โดยปราศจากความเจริญ

30. สาสวโต โดยมีอาสวะ

31. สังขตโต โดยเป็นของถูกปรุงแต่งไว้

32. มารามิสโต โดยเป็นเหยื่อล่อของมาร

33. ชาติธัมมโต โดยมีความเกิดเป็นธรรมดา

34. ชราธัมมโต โดยมีความแก่เป็นธรรมดา

35. พยาธิธัมมโต โดยมีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา

36. มรณธัมมโต โดยมีความตายเป็นธรรมดา

37. โสกธัมมโต โดยมีความโศกเป็นธรรมดา

38. ปริเทวธัมมโต โดยมีความคร่ำครวญเป็นธรรมดา

(หน้าที่ 280)

39. อุปายาสธัมมโต โดยมีความคับแค้นใจเป็นธรรมดา

40. สังกิเลสิกธัมมโต โดยมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา"

เมื่อเห็นขันธ์ 5 โดยความไม่เที่ยง ก็ได้เฉพาะซึ่งขันติ (ญาณ) อันเป็นอนุโลม (แก่การบรรลุอริยมรรค) เมื่อเห็นว่า "ความดับของขันธ์ 5 เป็นพระนิพานเที่ยงแท้ ก็ก้าวลงสู่ สัมมัตตนิยาม (คือ อริยมรรค)" ดังนี้

อธิบายความอาการ 40

โยคีผู้นั้นกำหนดรู้ขันธ์ 5 เหล่านี้อย่างไร ?

แน่ละ โยคีผู้นั้นกำหนดรู้ขันธ์หนึ่ง ๆ (แต่ละขันธ์ ขยายความออกไป) ด้วยการกำหนดรู้ลักษณะมีอนิจจะ (ความไม่เที่ยง) เป็นต้น ซึ่งท่านกล่าวไว้แล้วโดยประเภท (ต่าง ๆ) อย่างนี้คือ

1. โดยไม่เที่ยง เพราะไม่เป็นไปเลยที่สุด และเพราะมีต้นมีปลาย

2. โดยเป็นทุกข์ เพราะบีบคั้นเฉพาะหน้าด้วยความเกิดและความดับ และเพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์

3. โดยเป็นโรค เพราะต้องเยียวยาด้วยปัจจัยและเพราะเป็นที่เกิดของโรค

4. โดยเป็นฝี เพราะประกอบด้วยสิ่งเสียบแทงคือความเป็นทุกข์ เพราะเป็นที่ไหลออกของสิ่งไม่สะอาดคือกิเลส และเพราะมีการกลัดหนองและสุกแก่แล้วแตกไป ด้วยความเกิด ความแก่ และความแตกดับ

5. โดยเป็นลูกศรเสียบ เพราะให้เกิดความบีบคั้น เพราะเป็นสิ่งทิ่มแทงอยู่ภายในและเพราะเป็นสิ่งที่ถอนออกได้ยาก

(หน้าที่ 281)

6. โดยความชั่วร้าย เพราะเป็นสิ่งควรตำหนิติเตียน เพราะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย และเพราะเป็นที่ตั้งของความชั่วร้าย

7. โดยความป่วยไข้ เพราะไม่ทำให้เกิดเสรีภาพ และเพราะเป็นปทัฏฐาน ของความเจ็บป่วย

8. โดยเป็นปรปักษ์ เพราะไม่มีอำนาจ (บังคับบัญชา) และเพราะบังคับบัญชาไม่ได้

9. โดยแตกทำลาย เพราะแตกทำลายไปด้วยพยาธิ ชราและมรณะ

10. โดยความหายนะ เพราะนำมาซึ่งความพินาศมากมาย

11. โดยเป็นอุปัทวะ เพราะนำมาซึ่งสิ่งไม่เป็นประโยชน์ที่รู้ไม่ได้เลยอย่างมากมายและเพราะเป็นที่ตั้งของอุปัทวันตรายทั้งปวงด้วย

12. โดยเป็นภัย เพราะเป็นที่เกิดของภัยทุกประการ และเพราะเป็น ปฏิปักษ์ต่อความอบอุ่นใจอย่างสูงสุด กล่าวคือ ความระงับทุกข์

13. โดยเป็นอุปสรรค เพราะติดตามมาด้วยสิ่งไม่เป็นประโยชน์หลายประการ เพราะประกอบด้วยโทษและเพราะไม่นำมาซึ่งความอดกลั้น คล้ายเป็นอุปสรรค

14. โดยความหวั่นไหว เพราะหวั่นไหวด้วยพยาธิ ชราและมรณะกับทั้งหวั่นไหวด้วยโลกธรรมทั้งหลาย มีความมีลาภและ ความเสื่อมลาภเป็นต้น

15. โดยผุพัง เพราะมีปกติเข้าถึงความผุพังไป ด้วยความพยายามและโดยสภาพของมันเอง

16. โดยไม่ยั่งยืน เพราะมีปกติร่วงหล่นไปในที่ตั้งทุกแห่ง และเพราะไม่มีความมั่นคง

(หน้าที่ 282)

17. โดยไม่เป็นที่ต้านทาน เพราะไม่เป็นที่ต่อต้านคุ้มครอง และเพราะไม่ได้ความปลอดภัยที่ควรได้

18. โดยไม่เป็นที่หลบลี้ เพราะไม่เป็นที่สมควรที่หลบลี้ กับทั้งเพราะผู้หลบลี้ทั้งหลายทำกิจในการหลบลี้ไม่ได้

19. โดยไม่เป็นที่พึ่ง เพราะไม่มีความจำกัดภัยแก่ผู้อยู่อาศัย

20. โดยเป็นของเปล่า เพราะว่างเปล่าจากความยั่งยืน ความงามความสุข และความมีอัตตา ตามกำหนดคาดคะเนไว้

21. โดยเป็นของว่าง เพราะโดยเป็นของเปล่านั่นเอง หรือเพราะความเป็นของเล็กน้อย เพราะว่า แม้ของเล็กน้อยในโลก เขาเรียกกันว่า ของว่าง

22. โดยเป็นของสูญ เพราะปราศจาก (อัตตา) ผู้เป็นเจ้าของ ผู้อยู่ประจำ ผู้สร้าง ผู้เสวยและผู้บงการ

23. โดยไม่มีอัตตา เพราะไม่มีผู้เป็นเจ้าของด้วยตนเองเป็นต้น

24. โดยเป็นโทษ เพราะเป็นทุกข์ด้วยความเป็นไป (ในภพคือสังสารวัฏ) และเพราะความทุกข์ (นั่นเอง) เป็นโทษ อีกประการหนึ่ง ชื่อว่าอาทีนวะ เพราะอรรถว่าผู้ไป ผู้ถึง ผู้เป็นไป สู่ความยากจน คำว่า "อาทีนวะ" นี้เป็นคำเรียกคนยากจน และแม้ว่าขันธ์ (5) ก็เป็นสิ่งยากจนเหมือนกัน เพราะเหตุนี้ (โยคีจึงกำหนดรู้) โดยความยากจน เพราะเป็นเช่นกับคนยากจน

25. โดยมีความปรานแปรอยู่เป็นธรรมดา เพราะมีปกติแปรผันไป 2 ทาง คือ ด้วยชรา 1 และด้วยมรณะ 1

26. โดยไม่มีสาระ เพราะมีความอ่อนแอ และเพราะหักง่ายเหมือนไม้ผุ

(หน้าที่ 283)

27. โดยเป็นต้นเหตุแห่งความชั่วร้าย เพราะเป็นเหตุแห่งความชั่วร้าย

28. โดยเป็นผู้ฆ่า (ฆาตกร) เพราะเป็นผู้ฆ่าความไว้วางใจเหมือนศัตรู ผู้มีหน้าเป็นมิตร

29. โดยปราศจากความเจริญ เพราะปราศจากความเจริญ และเพราะให้เกิดความไม่เจริญ

30. โดยมีอาสวะ เพราะเป็นฐานไปสู่อาสวะ

31. โดยเป็นของถูกปรุงแต่งไว้ เพราะเป็นสิ่งที่เหตุและปัจจัยปรุงแต่งขึ้น

32. โดยเป็นเหยื่อล่อของมาร เพราะเป็นเหยื่อล่อของมัจจุมารและกิเลสมาร

33–36. โดยมีความเกิด ความแก่ ความเจ็บป่วยและความตายเป็นธรรมดา เพราะมีความเกิด แก่ เจ็บป่วยและตายเป็นปกติ

37–39. โดยมีความโศก ความคร่ำครวญ และความคับแค้นใจเป็นธรรมดา เพราะเป็นเหตุแห่งความโศกเศร้า ความคร่ำครวญและความคับแค้นใจ

40. โดยมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา เพราะเป็นธรรมที่เป็นที่วิสัย (หรืออารมณ์) ของสังกิเลส คือ ตัณหา ทิฏฐิและทุจริตทั้งหลาย

[สงเคราะห์สัมมสนะ 40 ลงในอนุปัสสนา 3]

แท้จริง ในการกำหนดรู้ (คือสัมมสนะ) โดยอาการ 40 (ที่กล่าวมา) นี้ การกำหนดรู้โดยอาการ (10 ขยายต่อไปอีก) คือ

  1. โดยความไม่เที่ยง
  1. โดยแตกทำลาย
  1. โดยความหวั่นไหว

(หน้าที่ 284)

  1. โดยผุพัง
  1. โดยไม่ยั่งยืน
  1. โดยความแปรผันไปเป็นธรรมดา
  1. โดยไม่มีสาระ
  1. โดยปราศจากความเจริญ
  1. โดยเป็นของถูกปรุงแต่งไว้
  1. โดยมีความตายเป็นธรรมดา

ในขันธ์หนึ่ง ๆ (แต่ละขันธ์) ทำเป็นอาการละ 10 (รวมทั้ง 5 ขันธ์) เป็นอนิจจานุปัสสนา 50 การกำหนดรู้โดยอาการ (5 ต่อไปอีก) คือ

  1. โดยเป็นปรปักษ์
  1. โดยเป็นของเปล่า
  1. โดยเป็นของว่าง
  1. โดยเป็นของสูญ
  1. โดยไม่มีอัตตา

ในขันธ์หนึ่ง ๆ (แต่ละขันธ์) ทำเป็นอาการละ 5 (รวม 5 ขันธ์) เป็นอนัตตานุปัสสนา 25

การกำหนดรู้ที่เหลือ (อีก 25 อาการ) กล่าวคือ โดยเป็นทุกข์ โดยเป็นโร5 เป็นต้น ในขันธ์หนึ่งๆ (แต่ละขันธ์) ทำเป็นอาการละ 25 (รวม 5 ขันธ์) เป็นทุกขานุปัสสนา ย25 ด้วยประการฉะนี้ (รวมทั้ง 3 อนุปัสสนา เป็น 200 อาการ)

เมื่อโยคีนั้นกำหนดรู้ขันธ์ 5 ด้วยการกำหนดรู้โดยไตรลักษณ์มีความไม่เที่ยงเป็นต้น โดยจำแนกเป็น 200 อาการดังกล่าวมานี้ สัมมสนะ (คือการกำหนดรู้) โดยอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ที่เรียกว่า นยวิปัสสนา นั้น ก็มั่นคงด้วยประการฉะนี้

นี้เป็นวิธีเริ่มต้นกำหนดรู้โดยดำเนินตามนัยพระบาลีในสัมมสนญาณนี้ก่อน

(หน้าที่ 285)

แต่ทว่า โยคีผู้ใดเมื่อทำโยคะโดย นยวิปัสสนา ดังกล่าวมานั้น นยวิปัสสนา ไม่ถึงพร้อม (คืออุทยพยญาณยังไม่เกิด) โยคีผู้นั้นพึงทำอินทรีย์ (5 มีศรัทธาเป็นต้น) ให้แกกล้าด้วยอาการ 9 อย่าง ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า "อินทรีย์ทั้งหลาย (มีศรัทธาเป็นต้น) จะแก่กล้าด้วยอาการ 9 คือ

1. เห็นแต่ความดับอย่างเดียวของสังขารทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นแล้ว

2. และในการเห็นความดับนั้น โยคีจะทำวิปัสสนาญาณให้ถึงพร้อม (ให้เกิด) ด้วยอาการทำด้วยความมีสติ

3. ทำวิปัสสนาญาณให้ถึงพร้อมด้วยการทำให้ต่อเนื่องกันไว้

4. ทำวิปัสสนาญาณให้ถึงพร้อมด้วยการทำ (ในการเสพ) สัปปายะ

5. ทำวิปัสสนาญาณให้ถึงพร้อมด้วยการกำหนดนิมิตของสมาธิ

6. ทำวิปัสสนาญาณให้ถึงพร้อมด้วยการดำเนินไปโดยความเหมาะสมของโพชฌงค์7

7. ทำความไม่อาลัยในร่างกายและชีวิตให้เกิดขึ้น

8. ในการไม่อาลัยในร่างกายและชีวิตนั้นโยคีจะทำให้เกิดวิปัสสนาภาวนาด้วยการข่มไว้ (ซึ่งทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นๆ) แล้วผ่านพ้น (ทุกขเวทนานั้นๆ)ออกไป

9. และด้วยการไม่ละเลิก (หรือหยุดพัก) เสียในระหว่าง

แล้ว (โยคีนั้น) พึงหลีกเลี่ยงอาสัปปายะ (คือสิ่งไม่เป็นที่สบาย) 7 อย่าง ตามนัยที่กล่าวไว้แล้วใน ปฐวีกสิณนิทเทส (ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค) ทำสัมมสนะรูปในเวลาหนึ่ง ทำสัมมสนะอรูป ในเวลาหนึ่ง (คนละเวลา ไม่ควรกำหนดรู้ด้วยกันในเวลาเดียวกัน)

(หน้าที่ 286)

การณะ 4

โยคีย่อมสัมมสนะรูปว่า: รูปย่อมนิพพัตติด้วยการณะ(เหตุ) 4 มีกรรมเป็นต้น. ในเหตุ 4 อย่างนั้น รูปของสัตว์ทั้งปวงย่อมนิพพัตติด้วยกรรมตั้งแต่จิตดวงที่ 1 คือ:

ในขณะเกิดปฏิสนธิจิตนั่นเอง รูป 30 ที่เรียกว่า วัตถุทสกะ (10), กายทสกะ (10), และภาวทสกะ (10) ของคัพภเสยยกสัตว์ย่อมนิพพัตติพร้อมกันทั้ง 3 ทสกะ และพวกมันย่อมนิพพัตติตั้งแต่อุปปาทอนุขณะของปฏิสนธิจิต. ในฐิติขณะและภังคขณะก็เกิดจากกรรมเหมือนในอุปาทขณะนั้นเอง. ในอนุขณะเป็นต้นนั้น รูปดับช้าแปรเปลี่ยนยาก จิตดับเร็วแปรเปลี่ยนง่าย. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นสิ่งอื่นใดแม้แต่อย่างเดียวที่แปรเปลี่ยนง่ายเหมือนดังจิตนี้" เพราะว่า (หลังปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว) ในขณะที่ปฏิสนธิรูปยังนิพพัตติต่อไป แต่ภวังคจิตกลับอุปปันนะแล้วดับไปถึง 16 ครั้ง (ปฏิสนธิจิต 1 ภวังคจิต 16 รวมอายุรูป 17 ขณะจิต). อุปปาทขณะ, ฐิติขณะ, ภังคขณะของจิต ล้วนเท่ากัน. แต่เฉพาะอุปปาทขณะและภังคขณะของรูปที่สั้นเท่ากับอุปปาทขณะและภังคขณะของจิต. ส่วนฐิติขณะของรูปนั้นยาว คือ ดำเนินไปตลอดเวลาเท่ากับจิตที่อุปปันนะแล้วดับไป 16 ดวง (แต่มาหยุดดำเนินไปพร้อมๆกับจิตดวงที่ 17).

(หลังปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว) จิตดวงที่ 2 คือ ภวังคจิตย่อมอุปปันนะโดยอาศัยวัตถุรูปเป็นปุเรชาตปัจจัย วัตถุรูปนี้ยังเป็นฐิติขณะอยู่แม้อุปปันนะมาตั้งแต่อุปปาทขณะของปฏิสนธิจิตแล้วก็ตาม. จิตดวงที่ 3 คือ ภวังคจิตย่อมอุปปันนะโดยอาศัยวัตถุรูปเป็นปุเรชาตปัจจัย วัตถุรูปนี้ยังเป็นฐิติขณะอยู่แม้อุปปันนะพร้อมจิตดวงที่ 2 นั้น. โยคีต้องทำความเข้าใจการทำงานของจิตตลอดอายุขัยด้วยนัยข้างต้นดังกล่าวมานี้. แต่ทว่า สำหรับมรณาสันนวาระ จิต 16 ดวงย่อมอุปปันนะโดยอาศัยวัตถุรูปเดียวกันนั้นแลที่ยังเป็นฐิติขณะอยู่เป็นปุเรชาตปัจจัย (วัตถุในที่นี้ไม่ใช่แค่หทยวัตถุ แต่หมายถึงวัตถุรูปทั้ง 6 ตามสมควร).

(หน้าที่ 287)

รูปที่อุปปันนะตั้งแต่อุปปาทขณะของปฏิสนธิจิต ดับพร้อมกับจิตดวงที่ 16 เริ่มนับดวงถัดจากปฏิสนธิจิต. รูปที่อุปปันนะตั้งแต่ฐิติขณะของปฏิสนธิจิต ดับพร้อมกับอุปปาทขณะของจิตดวงที่ 17 เริ่มนับดวงถัดจากปฏิสนธิจิต. รูปที่อุปปันนะตั้งแต่ภังคขณะของปฏิสนธิจิต เมื่อถึงฐิติขณะของจิตดวงที่ 17 ก็ดับไป. ตราบเท่าที่ยังเป็นคัพภเสยยกสัตว์อยู่, มันก็ย่อมดำเนินไปอย่างนี้เท่านั้น.

อนึ่ง รูป 70 ที่เกิดพร้อมกันทั้ง 7 ทสกะของโอปปาติกะสัตว์ก็ดำเนินไปอย่างนั้นเช่นกัน. (ดู: สังขารเป็นปัจจัยแห่งวิญญาณ)

[การจำแนกเกิดจากกรรม]

ในเรื่องรูปที่เป็นไปอาศัยกรรมนั้น โยคีต้องทำความเข้าใจการจำแนก คือ

1. กรรม

2. กัมมสมุฏฐาน (ธรรมมีกรรมเป็นปัจจัยแบบชนกสัตติ)

3. กัมมปัจจัย (ธรรมมีกรรมเป็นปัจจัยแบบอุปัตถัมภกสัตติ)

4. กัมมปัจจยจิตตสมุฏฐาน (ธรรมมีจิตเป็นปัจจัยแบบชนกสัตติแต่มี)

5. กัมมปัจจยอาหารสมุฏฐาน คือ ธรรมที่มีกัมมชโอชารูปเป็นสมุฏฐาน

6. กัมมปัจจยอุตุสมฏฐาน คือ รูปที่มีกัมมชเตโชรูปเป็นสมุฏฐาน

ในวิภาคนั้น

1. กุศลและอกุศลเจตนา ชื่อว่า กรรม

2. วิปากนามขันธ์ทั้งหลายและรูปขันธ์ 70 ถ้วนมีจักขุทสกะเป็นต้น ชื่อว่า ธรรมที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน.

3. วิปากขันธ์และรูป 70 นั้นนั่นแหละ ชื่อว่า ธรรมที่มีกรรมเป็นปัจจัย เพราะว่า

กรรมเป็นอุปัตถัมภกปัจจัยของธรรมที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานด้วย

4. รูปมีนามวิปากจิตเป็นสมุฏฐาน ชื่อว่ารูปเป็น กัมมปัจจยจิตตสมุฏฐาน

5. โอชา ที่ถึงความตั้งอยู่ในรูปที่เป็นกัมมสมุฏฐาน ทำโอชัฏฐมก

รูปอื่นให้ตั้งขึ้นอีก อีกทั้งโอชาในโอชัฏฐมกรูป (ซึ่งเป็นกัมมสมุฏฐานและเป็น

(หน้าที่ 288)

อาหารสมุฏฐาน) นั้น ที่ถึงความตั้งอยู่แล้ว ก็ทำให้โอชัฏฐมกรูปอื่นตั้ง

ขึ้นสืบต่อความเป็นไป 4 หรือ 5 วาระอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ ชื่อว่า

กัมมปัจจยอาหารสมุฏฐาน

6. เตโชธาตุเกิดจากกรรมที่ถึงความตั้งอยู่แล้ว ทำให้โอชัฏฐมกรูปซึ่งมีฤดู

เป็นสมุฏฐานให้ตั้งขึ้น อีกทั้งฤดูในโอชัฏฐมกรูปนั้น ก็ทำให้โอชัฏฐมกรูป

อื่นให้ตั้งขึ้น สืบต่อความเป็นไป 4 หรือ 5 วาระอย่างนี้ ด้วยประการ

นี้ ชื่อว่า กัมมปัจจยอุตุสมุฏฐาน

พึงเห็นความเกิดขึ้นของรูปที่เกิดจากกรรมด้วยประการดังกล่าวนี้ก่อน

[การจำแนกรูปเกิดจากจิต]

แม้ในรูปเกิดจากจิตทั้งหลาย ก็พึงทราบวิภาคดังนี้ คือ

1. จิต

2. จิตตสมุฏฐาน คือ ธรรมที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน

3. จิตตปัจจัย คือ ธรรมที่มีจิตเป็นปัจจัย

4. จิตตปัจจยอาหารสมุฏฐาน คือ ธรรมที่มีจิตตปัจจยอาหารรูปเป็นสมุฏฐาน

5. จิตตปัจจยอุตุสมุฏฐาน คือ ธรรมที่มีจิตตปัจจยเตชรูปเป็นสมุฏฐาน

ในวิภาคนั้น

1. จิต 89 ดวง ชื่อว่า จิต (และ) ในจิตทั้งหลาย 89 ดวงนั้น (จำแนกไว้ดังนี้)

ทวตตึส จิตตานิ ฉพพีเส –กูนวีสติ โสฬส

รูปิริยาปถวิญญตติ - ชนกาชนกา มตา.

แปลความว่า

จิต 32 ดวง (พวกหนึ่ง) จิต 26 ดวง (พวกหนึ่ง) จิต 19 ดวง (พวกหนึ่ง) จิต 16 ดวง (พวกหนึ่ง) ปรากฏว่า เป็นจิตที่ทำรูป ทำอิริยาบถและทำวิญญัตติให้เกิดก็มีและ ไม่ทำให้เกิดก็มี

(หน้าที่ 289)

จริงอยู่ จากกามาวจรจิต มีจิต 32 ดวง คือ กุศลจิต 8 อกุศลจิต 12 กิริยาจิต 10 เว้นมโนธาตุ อภิญญาจิต 2 โดยกุศล 1 กิริยา 1 (เหล่านี้) ทำรูป อิริยาบถและวิญญัตติให้เกิด (พวกหนึ่ง) จิต 26 ดวง คือ รูปาวจรจิต 10 ที่เหลือ เว้นวิบาก อรูปาวจรจิต 8 อีกทั้งโลกุตตรจิต 8 ทำรูปและอริยาบถให้เกิด (พวกหนึ่ง) จิต 19 ดวง คือภวังคจิต 10 ในกามาวจร ภวังคจิต 5 ในรูปาวจร มโนธาตุ 3 วิปากอเหตุกมโนวิญญาณธาตุเป็นไปกับโสมนัส 1 ทำรูปให้เกิดได้อย่างเดียว ไม่ทำอิริยาบถ ไม่ทำวิญญัตติให้เกิด (พวกหนึ่ง) จิต 16 ดวง คือ ปัญจวิญญาณ 2(5 + 2=10) ปฏิสนธิจิตของสัตว์ทั้งปวง 1 จุติจิตของพระขีณาสพทั้งหลาย 1 อรูปาวจรวิปากจิต 4 ไม่ทำรูปให้เกิดขึ้นโดยแท้ (และ) ไม่ทำอิริยาบถ ไม่ทำวิญญัตติให้เกิด (พวกหนึ่ง) อนึ่ง ในจิตเหล่านี้ จิตทั้งหลายใดทำให้รูปเกิด จิตทั้งหลายนั้นไม่ทำรูปให้เกิดในฐิติขณะหรือในภวังคขณะ เพราะว่า จิตในขณะ (ทั้ง 2) นั้น มีกำลังอ่อน แต่ว่าในอุปปาทขณะ จิตมีกำลังแข็งแรง เพราะฉะนั้น จิตนั้นอาศัยวัตถุรูปที่เกิดก่อนในขณะนั้น แล้วทำรูปให้เกิด

2. อรูปขันธ์ 3 และรูป 17 อย่าง คือ สัททนวกะ (9) กายวิญญัตติ 1 วจีวิญญัตติ 1 อากาสธาตุ 1 ลหุตา 1 มุทุตา 1 กัมมัญญตา 1 อุปจยะ 1 สันตติ 1 ชื่อว่า ธรรมที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน

3. รูปทั้ง 4 สมุฏฐาน ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า "ธรรมทั้งหลาย คือ จิตและเจตสิกที่เกิดแล้วภายหลัง เป็นปัจจัยโดยปัจฉาชาตปัจจัย ของกายนี้ที่เกิดก่อน" ดังนี้ ชื่อว่า ธรรมมีจิตเป็นปัจจัย

4. โอชา ที่ถึงตั้งอยู่ในรูปมีจิตเป็นสมุฏฐานทั้งหลาย ทำโอชัฏฐมกรูปอื่นให้ตั้งขึ้น สืบต่อความเป็นไป 2 (หรือ) 3 วาระ โดยอาการอย่างนี้ ชื่อว่า รูปเป็นจิตตปัจจยอาหารสมุฏฐาน

5. ฤดู ที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน ถึงความตั้งอยู่แล้ว ทำโอชัฏฐมกรูปอื่นให้ตั้งขึ้น สืบต่อความเป็นไป 2 (หรือ) 3 วาระ โดยอาการอย่างนี้ ชื่อว่า รูปเป็นจิตตปัจจยอุตุสมุฏฐาน

พึงเห็นความเกิดขึ้นของรูปที่เกิดจากจิตด้วยประการดังกล่าวนี้

(หน้าที่ 290)

[การจำแนกรูปเกิดจากอาหาร]

แม้ในรูปเกิดจากอาหารทั้งหลาย ก็พึงทราบวิภาคดังนี้ คือ

1. อาหาร

2. อาหารสมุฏฐาน คือ รูปมีอาหารเป็นสมุฏฐาน

3. อาหารปัจจัย คือ รูปมีอาหารเป็นปัจจัย

4. อาหารปัจจยอาหารสมุฏฐาน คือ รูปมีอาหารซึ่งมีอาหารเป็นปัจจัยเป็น

สมุฏฐาน

5. อาหารปัจจยอุตุสมุฏฐาน คือ รูปมีฤดูซึ่งมีอาหารเป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐาน

ในวิภาคนั้น

1. อาหารที่ทำเป็นคำ(ๆ) ชื่อว่า อาหาร

2. รูป 14 อย่าง คือ โอชัฏฐมกรูปที่โอชาซึ่งได้รูปเกิดจากกรรมมีใจครองเป็นปัจจัยแล้วตั้งอยู่ในรูปเกิดจากกรรมนั้น ถึงความตั้งอยู่แล้ว ทำให้ตั้งขึ้น 8 อากาสธาตุ 1 ลหุตา 1 มุทุตา 1 กัมมัญญตา 1 อุปจยะ 1 สันตติ 1 ชื่อว่ารูปเป็น อาหารสมุฏฐาน

3. รูปมีสมุฏฐาน 4 ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างนี้ว่า "อาหารที่ทำเป็นคำ เป็นปัจจัย โดยอาหารปัจจัย ของกายนี้" ดังนี้ ชื่อว่ารูปเป็น อาหารปัจจัย

4. โอชา ที่ถึงความตั้งอยู่แล้ว ในรูปที่มีอาหารเป็นสมุฏฐานทั้งหลาย ทำโอชัฏฐมกรูปอื่นให้ตั้งขึ้นอีก ทั้งโอชาในโอชัฏฐมกรูปนั้นก็ทำโอชัฏฐมกรูปอื่นให้ตั้งขึ้นอีก สืบต่อความเป็นไป 10 (หรือ) 12 วาระอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ ชื่อว่ารูปเป็น อาหารปัจจยอาหารสมุฏฐาน (เช่นตัวอย่างต่อไปนี้)

อาหารที่บริโภคแล้วในวันหนึ่ง อุปถัมภ์รูปอยู่ได้ทั้ง 7 วัน ส่วนโอชาที่เป็นของทิพย์ อุปถัมภ์รูปอยู่ได้ตลอด 1 เดือน หรือตลอด 2 เดือนบ้าง อีกทั้งอาหารที่มารดาบริโภคก้แผ่ไปสู่ร่างกายทารก (ในครรภ์) แล้วทำรูปให้ตั้งขึ้น ถึงแม้อาหารที่ฉาบทาไว้ที่ร่างกายก็ทำรูปให้ตั้งขึ้น

(หน้าที่ 291)

อาหารเกิดแต่กรรม ชื่อว่าอุปาทินนกาหาร (อาหารของสัตว์ผู้มีใจครอง) แม้อุปาทินนกาหารนั้นที่ถึงมีความตั้งอยู่แล้ว ก็ทำรูปให้ตั้งขึ้น อีกทั้งโอชาในรูปนั้นก็ทำรูปอื่นให้ตั้งขึ้นด้วย สืบต่อความเป็นไป 4 หรือ 5 วาระอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้

5. เตโชธาตุ มีอาหารเป็นสมุฏฐาน ถึงความตั้งอยู่แล้ว ทำโอชัฏฐมกรูปซึ่งมีฤดูเป็นสมุฏฐานให้ตั้งขึ้น ชื่อว่ารูปเป็น อาหารปัจจยอุตุสมุฏฐาน

ในสมุฏฐานทั้งหลายนั้น อาหารนี้เป็นปัจจัยเพราะเป็นผู้ทำให้รูปที่มีอาหารเป็นสมุฏฐานทั้งหลายเกิดขึ้น เป็นปัจจัยของรูปที่เหลือ (คือรูปมีกรรม มีจิตและมีฤดูเป็นสมุฏฐาน) ทั้งหลาย โดยเป็นนิสสยปัจจัย อาหารปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคคตปัจจัยด้วยประการฉะนี้

พึงเห็นความเกิดขึ้นของรูปเกิดจากอาหารด้วยประการดังกล่าวนี้

[การจำแนกรูปเกิดจากฤดู]

แม้ในรูปเกิดจากฤดูทั้งหลาย ก็พึงทราบวิภาคดังนี้ คือ

1. อุตุ คือ ฤดู

2. อุตุสมุฏฐาน คือ รูปที่มีฤดูเป็นสมุฏฐาน

3. อุตุปัจจัย คือ รูปมีฤดูเป็นปัจจัย

4. อุตุปัจจยอุตุสมุฏฐาน คือ รูปมีฤดูซึ่งมีฤดูเป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐาน

5. อุตุปัจจยอาหารสมุฏฐาน คือ รูปมีอาหารซึ่งมีฤดูเป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐานในวิภาคนั้น

1. เตโชธาตุมีสมุฏฐาน 4 ชื่อว่า อุตุ – ฤดู แต่ฤดูนี้มีอยู่ 2 อย่าง ดังนี้ คือ ฤดูร้อน 1 ฤดูหนาว 1

2. ฤดูมีสมุฏฐาน 4 ได้รูปอุปาทินนกะเป็นปัจจัยบแล้ว ถึงความตั้งอยู่ ทำรูปให้ตั้งขึ้นในร่างกาย ชื่อว่ารูปเป็นอุตุสมุฏฐาน รูปมีฤดูเป็นสมุฏฐานนั้นมีอยู่ 15 อย่าง คือ สัททนวกะ 9 อากาสธาตุ 1 ลหุตา 1 มุทุตา 1 กัมมัญญตา 1 อุปจยะ 1 สันตติ 1

3. ฤดูเป็นปัจจัยแห่งความเป็นอยู่และแห่งความฉิบหายของรูปทั้งหลายที่เกิดขึ้นด้วย สมุฏฐาน 4 ชื่อว่ารูปเป็น อุตุปัจจัย

(หน้าที่ 292)

4. เตโชธาตุ มีฤดูเป็นสมุฏฐาน ถึงความตั้งอยู่แล้ว ทำโอชัฏฐมกรูปอื่นให้ตั้งขึ้น อีกทั้งฤดูโอชัฏฐมกรูปนั้นก็ทำโอชัฏฐมกรูปอื่นให้ตั้งขึ้นด้วย รูปมีฤดูเป็นสมุฏฐาน แม้ตั้งอยู่ในฝ่ายเป็นอนุปาทินนกรูป ก็ยังเป็นไปอยู่ได้ตลอดกาลนานเท่านามอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้ ชื่อว่ารูปเป็น อุตุปัจจยอุตุสมุฏฐาน

5. โอชา มีฤดูเป็นสมุฏฐาน ถึงความตั้งอยู่แล้ว ทำโอชัฏฐมกรูปอื่นให้ตั้งขึ้น อีกทั้งโอชาในโอชัฏฐมรูปนั้น ก็ทำโอชัฏฐมรูปอื่นให้ตั้งขึ้น อีกทั้งโอชาในโอชัฏฐมรูปนั้น ก็ทำโอชัฏฐมรูปอื่นให้ตั้งขึ้นด้วย สืบต่อความเป็นไป 10 หรือ12 วาระอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้ ชื่อว่ารูปเป็น อุตุปัจจยอาหารสมุฏฐาน

ในสมุฏฐานทั้งหลายนั้น ฤดูนี้เป็นปัจจัยเพราะเป็นผู้ทำให้เกิดรูปที่มีฤดูเป็นสมุฏฐานทั้งหลาย เป็นปัจจัยของรูปที่เหลือ (คือรูปมีกรรม จิตและอาหารเป็นสมฏฐาน) ทั้งหลายโดยเป็นนิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัยและอวิคตปัจจัยด้วยประการฉะนี้

พึงเห็นความเกิดขึ้นของรูปเกิดจากฤดูด้วยประการดังกล่าวนี้

ความจริง โยคาวจรเมื่อเห็นซึ่งความเกิดของรูปด้วยอาการดังกล่าวมานี้ ก็ชื่อว่ากำหนดรู้รูปตามกาล (คือ ในเวลาหนึ่ง)

อนึ่ง เมื่อโยคาวจรกำหนดรู้รูปอยู่ ก็พึงเห็นความเกิดของรูปด้วย ฉันใด แม้เมื่อโยคาวจรกำหนดรู้อรูปอยู่ ก็พึงเห็นความเกิดของอรูปไปด้วย ฉันนั้น และความเกิดของอรูปนั้น พึงเห็นโดยทางจิตตุปบาทฝ่ายโลกิยะ 81 ดวงนั่นเอง เช่นตัวอย่างดังต่อไปนี้ ความจริงที่เรียกว่า อรูปนี้ ก็คือ จิตตุปบาท 19 ประเภท เกิดขึ้นก่อนในปฏิสนธิด้วยกรรมที่ประมวลไว้ในภพก่อน แต่อาการเกิดของอรูปนั้น พึงทราบตามนัยดังกล่าวไว้แล้วในนิทเทสแห่งปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง

อรูป (คือจิตตุปบาท 19 ประเภท) นั้นนั่นแล เกิดขึ้นโดยภวังคจิต เริ่มมาแต่จิตอันเป็นลำดับของปฏิสนธิจิต ครั้นในที่สุดของอายุก็เกิดขึ้นโดยเป็นจุติจิต ในจิตตุปบาท 19 ดวงนั้น จิตดวงใดเป็นกามาวจร จิตดวงนั้นเป็นโดยตทาลัมพนะอารมณ์ที่มีกำลังในทวาร 6 แต่ในปวัตติกาล เพราะความที่รูปทั้งหลายมาสู่คลองจักษุ เพราะดวงจักษุมิได้

(หน้าที่ 293)

แตกทำลายไป จักขุวิญญาณอาศัยแสงสว่างมีมนสิการเป็นเหตุ จึงเกิดขึ้นพร้อมกับสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย เพราะว่า ในฐิติขณะแห่งจักษุประสาท รูปที่ถึงความตั้งอยู่นั่นเองก็กระทบจักษุ ครั้นจักษุนั้นถูกรูปกระทบ ภวังค์ก็เกิดขึ้นดับไป 2 ครั้ง จากนั้น กิริยามโนธาตุก็เกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจ (การรำพึงนึก) ให้สำเร็จในอารมณ์นั้นนั่นเอง ในลำดับนั้น จักขุวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก หรือเป็นอกุศลวิบาก ก็เกิดขึ้นเห็นรูปอันเดียวกันนั้น จากนั้น วิปากมโนธาตุก็เกิดขึ้นรับรูปเดียวกันนั้น (สัมปฏิจฉนะ) ครั้นแล้ววิปากอเหตุกมโนวิญญาณธาตุก็เกิดขึ้นพิจารณา (สันตีรณะ) รูเดียวกันนั้นนั่นเอง จากนั้น กิริยาเหตุมโนวิญญาณธาตุประกอบด้วยอุเบกขาก็เกิดขึ้นกำหนด (โวฏฐัพพนะ) รูปอันเดียวกันนั้น ต่อจากนั้น บรรดากุศลจิต อกุศลจิตและกิริยาจิต ที่เป็นกามาวจรทั้งหลาย อเหตุกจิตประกอบด้วยอุเบกขา 1 ดวง หรือชวนะ 5 หรือ 7 ก็เกิดขึ้น จากนั้นในบรรดาตทาลัมพนจิต 11 ดวงของกามาวจรจิตทั้งหลาย ตทาลัมพนจิตดวงใดดวงหนึ่งซึ่งสมควรแก่ชวนะก็เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้

แม้ในทวารนอกนี้ (มีโสตทวารเป็นต้น) ก็มีนัยดังกล่าวมานี้ แต่ในมโนทวาร แม้ในมหัคคตจิตทั้งหลายก็เกิดขึ้นฉะนี้แล

พึงเห็นความเกิดขึ้นของอรูปในทวารทั้งหลาย 6 ด้วยประการดังกล่าวนี้

ความจริง เมื่อโยคาวจรเห็นอยู่ซึ่งความเกิดของอรูป ด้วยอาการดังกล่าวนี้ ชื่อว่า กำหนดรู้อรูปตามกาล (คือในเวลาหนึ่ง)

โยคาวจรท่านหนึ่ง แม้กำหนดรู้รูปตามกาล (ในเวลาหนึ่ง) (ด้วยสัมมสนญาณ) โดยอาการดังกล่าวนี้แล้ว ยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ปฏิบัติอยู่โดยลำดับ (จนบรรลุอุทยพญสณขึ้นไป) ก็ทำปัญญาภาวนาให้ถึงพร้อมได้

โยคาวจรอีกท่านหนึ่งยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์แล้วกำหนดรู้สังขารทั้งหลาย (ด้วยสัมมสนญาณ) โดยทาง รูปสัตตกะ (คือ มนสิการโดยอาการ 7 ในรูป) และทาง อรูปสัตตกะ (คือ มนสิการโดยอาการ 7 ในอรูป)

(หน้าที่ 294)

ในรูปสัตตกะและอรูปสัตตกะนั้น เมื่อโยคาวจรยกขึ้น (สู่พระไตรลักษณ์) แล้วกำหนดรู้โดยอาการเหล่านี้ คือ

1. โดยความยึดถือไว้ในการปล่อยวาง

2. โดยถึงความแตกดับของรูปที่เติบโตขึ้นตามวัย

3. โดยความเป็นรูปเกิดขึ้นจากอาหาร

4. โดยความเป็นรูปเกิดขึ้นจากฤดู

5. โดยความเป็นรูปเกิดจากกรรม

6. โดยความเป็นรูปมีจิตเป็นสมุฏฐาน

7. โดยความเป็นรูปธรรมดา

ดังนี้ชื่อว่ายกขึ้นกำหนดรู้โดยทาง รูปสัตตกะ

เพราะฉะนั้น ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

อาทานนิกเขปโต วยวุฑฒตถคามิโต

อาหารโต จ อุตุโต กมมโต จาปิ จิตตโต

ธมมตารูปโต สตต วิตถาเรน วิปสสติ.

แปลความว่า

โยคาวจรรู้เห็นโดยพิสดาร โดยอาการ 7 คือ โดยการ

ยึดถือไว้และการปล่อยวาง 1 โดยถึงความแตกดับของรูปที่

เติบโตขึ้นตามวัย 1 โดยอาหาร 1 โดยฤดู 1 โดยกรรม 1

โดยจิต 1 โดยรูปธรรมดา 1

[1. โดยความยึดถือไว้และปล่อยวาง]

ในอาการ 7 นั้น คำว่า "การยึดถือไว้" หมายถึง ปฏิสนธิ คำว่า "ปล่อยวาง" หมายถึง จุติ โยคาวจรกำหนดแบ่ง 100 ปี (ออกเป็น 2 ตอน) โดยการยึดถือไว้ (ปฏิสนธิ) และการปล่อยวาง (จุติ) เหล่านี้ แล้วยกพระไตรลักษณ์เข้าในสังขารทั้งหลาย (ถามว่า) ยกพระ

(หน้าที่ 295)

ไตรลักษณ์อย่างไร (ตอบ) ในระหว่าง (การยึดถือไว้และการปล่อยวาง) นี้ สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง (ถาม) เพราะเหตุไร ? (ตอบ) เพราะเป็นไปโดยความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป 1 เพราะความแปรผัน 1 เพราะเป็นไปชั่วกาล 1 และเพราะขัดแย้งต่อความเที่ยง 1 อนึ่ง เพราะเหตุที่สังขารทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ถึงความตั้งอยู่ ในขณะตั้งอยู่ก็สะบักสะบอมด้วยชรา ถึงชราแล้วก็จะแตกดับเป็นแน่แท้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นทุกข์ เพราะมีการเบียดเบียนเฉพาะหน้าเนือง ๆ 1 เพราะเป็นทุกข์ 1 เพราะทนยาก 1 เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ 1 และเพราะขัดขวางความสุข 1 และเพราะเหตุที่ใคร ๆ ก็ไม่มีอำนาจเป็นไปได้ใน 3 สถานเหล่านี้ คือ

1. สังขารทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว จงอย่างถึงความตั้งอยู่ (สถานที่ 1)

2. ที่ถึงความตั้งอยู่แล้ว จงอย่าแก่ชรา (สถาน 1)

3. ที่ถึงความแก่ชราแล้ว จงอย่าแตกดับ (สถาน 1) ดังนี้

สังขารทั้งหลายว่างเปล่าจากอาการเป็นไปในอำนาจนั้นนั่นแล เพราะฉะนั้นจึงเป็นอนัตตา เพราะเป็นของว่างเปล่า 1 เพราะไม่มีเจ้าของ 1 เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ 1 และเพราะปฏิเสธอัตตา 1 ฉะนี้แล

[2. โดยถึงความแตกดับของรูปที่เติบโตขึ้นตามวัย]

ครั้นยกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปที่กำหนด 100 ปี โดยการยึดถือไว้และปล่อยวางด้วยประการดังนั้นแล้ว ถัดจากนั้น โยคาวจรก็ยกขึ้นโดยถึงความแตกดับของรูปที่เติบโตขึ้นตามวัย

ในอาการ (ดังกล่าว) นั้น การถึงความแตกดับของรูปที่เติบโตขึ้น คือเจริญขึ้นแล้วตามวัย ชื่อว่าถึงความแตกดับของรูปที่เติบโตขึ้นตามวัย อธิบายว่า ยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ โดยถึงความแตกดับของรูปที่เติบโตขึ้นตามวัยนั้น

(ถามว่า) ยกขึ้นอย่างไร ?

(หน้าที่ 296)

[จำแนก 100 ปี โดย 3 วัย]

(ตอบว่า) โยคาวจรนั้นกำหนดจำแนก 100 ปีนั้นนั่นแล โดย 3 วัย คือ โดยปฐมวัย - วัยต้น 1 มัชฌิมวัย – วัยกลาง 1 ปัจฉิมวัย – วัยสุดท้าย 1 ใน 3 วัยนั้น 33 ปีข้างต้น ชื่อว่าปฐมวัย 34 ปีจากนั้นไป ชื่อว่ามัชฌิมวัย 33 ปีจากมัชฌิมวัยนั้นไป ชื่อว่าปัจฉิมวัยฉะนี้แล ครั้นกำหนดจำแนกโดย 3 วัยเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้แล้วจึงยกขึ้นสู่พระไตรลักษณืว่า "รูปที่เป็นไปในปฐมวัย ไม่ทันถึงมัชฌิมวัย ก็ดับไปเสียในปฐมวัยนั่นเอง เพราะฉะนั้นรูปนั้นเป็นสิ่งไม่เที่ยง สิ่งใดไมเที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้ไม่มีอัตตา แม้รุปที่เป็นไปในมัชฌิมวัย ไม่ทันถึงปัจฉิมวัยนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น แม้รูป นั้นก็เป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถึงแม้รูปที่เป็นไปตลอด 33 ปีในปัจฉิมวัย ชื่อว่าสามารถดำเนินไปได้ภายหลัง แต่ตายแล้วหามีไม่ เพราะฉะนั้น แม้รูปนั้นก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" ดังนี้

[จำแนก 100 ปี โดยกำหนดช่วงละ 10ปี]

ครั้นยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์โดยถึงความแตกดับของรูปที่เติบโตขึ้นตามวัย โดยทางวัยมีปฐมวัยเป็นต้น อย่างนั้นแล้ว โยคาวจรยกขึ้นสุ่พระไตรลักษณ์โดยถึงความแตกดับของรูปที่เติบโตขึ้นตามวัย โดยช่วงละ 10 ปี 10 ช่วง เหล่านี้ ต่อไปอีกดังนี้ คือ

1. มันททสกะ ช่วง 10 ปีของเด็กอ่อน

2. ขิฑฑาทสกะ ช่วง 10 ปีของการเล่น

3. วัณณทสกะ ช่วง 10 ปีของผิวพรรณ

4. พลทสกะ ช่วง 10 ปีของกำลัง

5. ปัญญาทสกะ ช่วง 10 ปีของปัญญา

6. หานิทสกะ ช่วง 10 ปีของความเสื่อม

7. ปัพภารทสกะ ช่วง 10 ปีของความโค้ง

(หน้าที่ 297)

8. วังกทสกะ ช่วง 10 ปีของความงอ

9. โมมูหทสกะ ช่วง 10 ปีของความหลงลืม

10. สยนทสกะ ช่วง 10 ปีของการนอน

ในช่วง 10 ปีเหล่านั้น ช่วง 10 ปีแรกของบุคคลผู้มีอายุ 100 ปี ชื่อว่าช่วง 10 ปี ของเด็กอ่อนก่อน เพราะว่าในช่วง (10) นั้น บุคคลผู้นั้นยังเป็นเด็กอ่อน เด็กเล็กไม่อยู่นิ่ง อีก 10 ปีต่อจากนั้น ชื่อว่าช่วง 10 ปีของการเล่น เพราะในช่วง (20) นั้น บุคคลผู้นั้นเพลิดเพลินในการเล่นเสียเป็นส่วนมาก อีก 10 ปีต่อจากนั้น ชื่อว่าช่วง 10 ปีของผิวพรรณ เพราะช่วง (30) นั้น อวัยวะผิวพรรณของผู้นั้นถึงความงามไพบูลย์ อีก 10 ปีต่อจากนั้น ชื่อว่าช่วง 10ปีของกำลัง เพราะว่าในช่วง (40) นั้น กำลังและเรี่ยวแรงของผู้นั้นถึงความไพบูลย์ อีก 10 ปีต่อจากนั้น ชื่อว่าช่วง 10 ปีของปัญญา เพราะในช่วง (50) นั้น ปัญญาของผู้นั้นเป็นหลักฐานมั่นคงดี เขาว่าแม้คนที่ปัญญาทึบโดยปกติ ครั้นในช่วงนั้น ปัญญาก็เกิดขึ้นได้แม้นิดหน่อยเหมือนกัน อีก 10 ปีต่อจากนั้น ชื่อว่าช่วง 10 ปีของความเสื่อม เพราะว่าในช่วง (60) นั้น ความยินดีในการเล่นก็ดี ผิวพรรณก็ดี กำลังก็ดี ปัญญาก็ดี ของผู้นั้นเสื่อมถอยไป อีก 10 ปีต่อจากนั้น ชื่อว่าช่วง 10 ปีของความโค้ง เพราะว่าในช่วง (70) นั้น อัตภาพร่างกายของผู้นั้นโค้งไปข้างหน้า อีก 10 ปีต่อจากนั้น ชื่อว่าช่วง 10 ปีของความงอ เพราะว่าในช่วง (80) นั้น อัตภาพร่างกายของผู้นั้นงอเหมือนหางไถ อีก 10 ปีต่อจากนั้น ชื่อว่าช่วง 10 ปีของความหลงลืม เพราะว่าในช่วง (90) นั้น บุคคลผู้นั้นเป็นคนหลง ๆ ลืมๆ ลืมสิ่งที่ทำแล้ว (และ) ทำไปแล้ว อีก 10 ปีต่อจากนั้น ชื่อว่าช่วง 10 ปีของการนอน เพราะว่าผู้มีอายุ 100 ปี ก็มีแต่การนอนเป็นส่วนมากเป็นธรรมดา

เพื่อยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ โดยถึงความแตกดับของรูปที่เติบโตขึ้นตามวัย โดยทางช่วงละ 10 ปีเหล่านั้นในรูปนั้น โยคีท่านนี้จึงใคร่ครวญอยู่ดังนี้ว่า "รูปที่เป็นไปใน 10 ปีช่วงแรก ยังไม่ถึง 10 ปีช่วงที่ 2 ก็ดับเสีย ใน 10 ปีช่วงแรกนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น รูปนั้นเป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา รูปที่เป็นไปใน 10 ปีช่วงที่ 2…..ฯลฯ…..ใน 10 ปีช่วงที่ 9 ยังไม่ถึง 10 ปีช่วงที่ 10 ก็ดับเสียใน 10 ปีช่วงที่ 9 นั้นนั่นเอง รูปที่เป็นไปใน 10ปีช่วงที่ 10 ยังไม่ถึงภพหน้า ก็ดับไปเสียใน 10 ปีช่วงที่ 10 นี้นี่เอง เพราะฉะนั้น ถึงแม้รูปนั้นก็เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา" ชื่อว่ายกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ด้วยประการฉะนี้

(หน้าที่ 298)

[จำแนก 100 ปีเป็น 20 ส่วน]

ครั้นยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ โดยถึงความแตกดับของรูปที่เติบโตขึ้นตามวัย โดยกำหนดช่วงละ 10 ปี 10 ช่วงอย่างนั้นแล้ว โยคีนั้นจึงทำ 100 ปีนั้นนั่นแหละให้เป็น 20 ส่วน โดย (แบ่งเป็นส่วนละ) 5 ปี – 5 ปี แล้วยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ โดยถึงความแตกดับของรูปที่เติบโตขึ้นตามวัยต่อไปอีก ยกขึ้นอย่างไร ? แท้จริง โยคีท่านนั้นใคร่ครวญอยู่ดังนี้ว่า "รูปที่เป็นไปในช่วง 5 ปีแรก ยังไม่ทันถึงช่วง 5 ปีที่ 2 ก็ดับไปเสียในช่วง 5 ปีแรกนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น รูปนั้นจึงเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา รูปที่เป็นไปในช่วง 5 ปีที่ 2 ยังไม่ทันถึงช่วง 5 ปีที่ 3…..ฯลฯ…..รูปที่เป็นไปในช่วง 5 ปีที่ 19 ยังไม่ทันถึงช่วง 5 ปีที่ 20 ก็ดับไปเสียในช่วงที่ 5 ปีที่ ย9 นั้นนั่นเอง รูปที่เป็นไปในช่วง 5 ปีที่ 20 ชื่อว่าสามารถเลยไปเกินความตายหามีไม่ เพราะฉะนั้น แม้รูปนั้นก็เป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" ดังนี้

[จำแนก 100 ปีออกเป็น 25, 33, 50 และ 100 ส่วน]

ครั้นยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์โดยถึงความแตกดับของรูปที่เติบโตขึ้นตามวัย โดยทาง (จำแนก) 20 ส่วนอย่างนั้นแล้ว โยคีนั้นจึงทำ 100 ปี นั้นให้เป็น 25 ส่วน แล้วยกขึ้นโดย (แบ่งส่วนละ) 4 ปี -4 ปี ต่อไปอีก อนึ่ง แล้วทำให้เป็น 33 ส่วน…..โดย (แบ่งส่วนละ) 3 ปี – 3 ปี…..ทำให้เป็น 50 ส่วน…..โดย (แบ่งส่วนละ) 2 ปี - 2 ปี…..ทำให้เป็น 100 ส่วน…..โดย (แบ่งส่วนละ) 1 ปี - 1 ปี…..

[จำแนก 1 ปี ตาม 3 ฤดู]

จากนั้น ทำปีหนึ่งๆ ให้เป็น 3 ส่วน แล้วยกขึ้นพระไตรลักษณ์เข้าในรูปที่ถึงความแตกดับของรูปที่เติบโตขึ้นตามวัยนั้น โดยฤดู 3 ฤดู คือ ฤดูวัสสานะ 1 ฤดูเหมันต์ 1 ฤดูคิมหะ 1 ตามแต่ละฤดู ๆ ยกเข้าอย่างไร ? โยคีท่านนั้นใคร่ครวญอยู่อย่างนี้ว่า "รูปที่เป็นไปตลอด 4 เดือนในฤดูวัสสานะ (ฤดูฝน) ยังไม่ทันถึงฤดูเหมันต์ (ฤดูหนาว) ก็ดับเสียแล้วในฤดูวัสสานะนั้นนั่นเอง รูปที่เป็นไปในฤดูเหมันต์ ยังไม่ทันถึงฤดูคิมหะ (ฤดูร้อน) ก็ดับเสียแล้วในฤดุเหมันต์นั้นนั่นเอง รูปที่เป็นไปในฤดูคิมหะ ยังไม่ทันถึงฤดูวัสสานะใหม่ ก็ดับเสียแล้วในฤดูคิมหะนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น รูปนั้นเป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" ดังนี้

(หน้าที่ 299)

[จำแนก 1 ปี ตามฤดู 6]

ครั้นยกขึ้น (โดน 3 ฤดู) อย่างนั้นแล้วจึงทำ 1 ปี เป็น 6 ส่วนต่อไปอีก แล้วยกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปที่ถึงความแตกดับด้วยความเติบโตตามวัยนั้นอย่างนี้ว่า "รูปที่เป็นไปตลอด 2 เดือน ในฤดูวัสสานะ (ฤดูฝน) ยังไม่ทันถึงฤดูสารท (ฤดูใบไม้ร่วง) ก็ดับเสียแล้วในฤดูวัสสานะนั้นนั่นเอง รูปที่เป็นไปในฤดูเหมันต์ (ฤดูหนาว)…..รูปที่เป็นไปในฤดูเหมันต์ ยังไม่ทันถึงฤดูสิสิระ (ฤดูเย็น)…..รูปที่เป็นไปในฤดูสิสิระ ยังไม่ทันถึงฤดูวัสสันต์ ยังไม่ทันถึงฤดูคิมหะ (ฤดูร้อน)…..รูปที่เป็นฤดูคิมหะยังไม่ถึงฤดูวัสสานะ ถัดไป ก็ดับเสียแล้วในฤดูคิมหะนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น รูปนั้นจึงเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ดังนี้

[จำแนก 1 เดือน เป็น 2 ปักษ์]]

ครั้นยกขึ้น (โดย 6 ฤดู) อย่างนั้นถูกแล้ว แต่นั้นโยคีก็ยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ โดย (จำแนก 1 เดือนเป็น) ข้างแรมและข้างขึ้นว่า "รูปที่เป็นไปในข้างแรม ยังไม่ทันถึงข้างขึ้น…..รูปที่เป็นไปในข้างขึ้น ยังไม่ทันถึงข้างแรม ก็ดับเสียแล้วในข้างขึ้นนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น รูปนั้นจึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ดังนี้

[จำแนก 1 วันเป็นกลางคืนและกลางวัน]

แต่นั้น โยคีก็ยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์โดย (กำหนด) วันและคืนว่า "รูปที่เป็นไปในกลางคืน ยังไม่ทันถึงกลางวัน ก็ดับเสียแล้วในกลางคืนนั้นนั่นเอง แม้รูปที่เป็นไปในกลางวัน ยังไม่ทันถึงกลางคืน ก็ดับเสียแล้วในกลางวันนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น รูปนั้นจึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ดังนี้

(หน้าที่ 300)

[จำแนก 1 วันเป็น 6 ส่วน]

แต่นั้น โยคีก็ทำ (จำแนก) คืนและวันนั้นนั่นแลออกเป็น 6 โดยเวลามีตอนเช้าเป็นต้น แล้วยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ว่า "รูปที่เป็นไปในตอนเช้า ยังไม่ทันถึงตอนกลางวัน…..รูปที่เป็นไปในตอนกลางวัน ยังไม่ทันถึงตอนเย็น…..รูปที่เป็นไปในตอนเย็น ยังไม่ทันถึงปฐมยาม….. รูปที่เป็นไปในปฐมยาม ยังไม่ทันถึงมัชฌิมยาม…..รูปที่เป็นไปในมัชฌิมยาม ยังไม่ทันถึงปัจฉิมยาม ยังไม่ทันถึงตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ก็ดับเสียแล้วในปัจฉิมยมนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น รูปนั้นจึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ดังนี้

[จำแนกโดยอาการ 6]]

ครั้นโยคีนั้นยกขึ้น (สู่พระไตรลักษณ์) อย่างนั้นแล้ว ก็ยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์โดยการเดินไปข้างหน้า ถอยกลับ แลดู เหลียวดู การคู้ และเหยียดออก (ซึ่งมือและเท้า) ในรูปนั้นนั่นแหละ ต่อไปอีกว่า "รูปที่เป็นไปในการเดินไปข้างหน้า ยังไม่ทันถอยกลับ ก็ดับไปในการเดินไปข้างหน้านั้นนั่นเอง รูปที่เป็นไปในการถอยกลับ ยังไม่ทันถึงการดูแล…..รูปที่เป็นไปในการดูแล ยังไม่ทันถึงการเหลียวดู ยังไม่ทันถึงการคู้…..รูปที่เป็นไปในการคู้ ยังไม่ทันถึงการเหยียดออกก็ดับไปในการคู้นั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้นรูปนั้นจึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ดังนี้

[จำแนกก้าวเท้า 6 ระยะ]

ครั้นแล้ว โยคีก็ทำระยะของก้าวเท้าก้าวหนึ่งออกเป็น 6 ส่วน โดย (แบ่งเป็น)

1. อุทธรณะ - ยก

2. อติหรณะ - ย่าง

3. วีติหรณะ - ย้าย

4. โวสสัชชนะ - ลง

(หน้าที่ 301)

5. สันนิกเขปนะ - เหยียบ

6. สันนิรุมภนะ - กด

ใน 6 ส่วนนั้น

1. การยกขึ้นจากพื้น เรียกว่า อุทธรณะ - ยก

2. การยื่นเท้าไปข้างหน้า เรียกว่า อติหรณะ - ย่าง

3. ครั้นเห็นตอ เห็นหนาม (หรือ) เห็นทีฆชาติ (งู) เป็นต้น อย่างใดอย่าง

หนึ่งแล้วก้าวเท้า (เลี่ยง) ไปข้างโน้นและข้างนี้ เรียกว่า วีติหรณะ - ย้าย

4. การหย่อนเท้าต่ำลง เรียกว่า โวสสัชชนะ –ลง

5. การวางเท้าลงบนพื้นดิน เรียกว่า สันนิกเขปนะ - เหยียบ

6. การกดเท้าลงกับพื้นในเวลาจะยกเท้าอีกข้างหนึ่งขึ้น เรียกว่า สันนิรุมภนะ - กด

ใน 6 ส่วนนั้น ในการยก (เท้าขึ้น) ธาตุทั้ง 2 คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ มีประมาณต่ำอ่อน ส่วนอีก 2 ธาตุ (คือ เตโชธาตุ วาโยธาตุ) มีประมาณมาก มีกำลัง ในการย่างเท้าและในการย้ายเท้าเหมือนกัน ในการหย่อนเท้าลง ธาตุ 2 คือ เตโชธาตุ วาโยธาตุ มีประมาณต่ำ อ่อน ส่วนอีก 2 ธาตุ (คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ) มีประมาณมาก มีกำลัง ในการเหยียบและกดก็เหมือนกัน

(หน้าที่ 302)

ครั้นโยคีทำ (ระยะของก้าวเท้าก้าวหนึ่ง) ให้เป็น 6 ส่วนอย่างนี้แล้ว จึงยกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปที่ถึงความแตกดับด้วยความเติบโตขึ้นตามวัยนั้น โดยส่วนทั้งหลาย 6 (ของก้าวเท้าก้าวหนึ่ง) เหล่านั้น ยกขึ้นอย่างไร ? โยคีท่านนั้นพิจารณาเห็นอยู่ดังนี้ว่า "ธาตุทั้งหลายในที่เป็นไป ในการยกเท้าขึ้นก็ดี รูปทั้งหลายใดอาศัยธาตุนั้นก็ดี สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดยังไม่ทันถึงการย่างเท้า ก็ดับไปในการยกเท้าขึ้นนี้นี่เอง เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดจึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนึ่ง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นไปในการย่างเท้า ยังไม่ทันถึงการย้ายเท้า….ที่เป็นไปในการย้ายเท้า ยังไม่ทันถึงการหย่อนเท้าลง…..ที่เป็นไปในการหย่อนเท้าลง ยังไม่ทันถึงการเหยียบ…..ที่เป็นไปในการเหยียบ….ที่เป็นไปในการเหยียบ ยังไม่ทันถึงการกด ก็ดับไปในการเหยียบนี้นั่นเอง สังขารทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วในนั้นๆ (มีการยกเท้าขึ้นเป็นต้น) ยังไม่ทันถึงส่วนนอกนี้ (และ) นอกนี้ ก็ทำเสียงตฏะตฏะแตกไปเป็นปล้องๆ เป็นข้อๆ เป็นท่อนๆ ณ ที่นั้นๆนั่นเอง เหมือนเมล็ดงาที่เขาวางลงบนแผ่นกระเบื้องอันร้อน ทำเสียงตฏะตฏะ (เปรียะ ๆ) แตกไปฉะนั้น เพราะฉะนั้น สังขารทั้งหลายจึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ฉะนี้แล

การกำหนดรู้รูปของโยคีท่านนั้นผู้เห็นแจ้งสังขารทั้งหลายเป็นปล้อง ๆ อย่างนี้ เป็นการกำหนดรู้ที่ละเอียดอ่อน ก็แล ในความละเอียดอ่อน ก็แล ในความละเอียดอ่อนของการกำหนดรู้รูปนั้นมีอุปมาดังนี้

[อุปมาในความละเอียดอ่อนของการกำหนดรู้รูป]

สมมติว่า ชายผู้อยู่ปลายแดนคนหนึ่ง มีความเคยชินที่ทำมาแต่ใน (เรื่อง) ใช้ไต้ทำด้วยไม้และหญ้าเป็นต้น ไม่เคยเห็นดวงประทีป (ตะเกียง) ครั้นมาถึงนครหลวงได้เห็นดวงประทีปที่เขาจุดไว้ในย่านการค้า จึงถามบุรุษท่านหนึ่ง (คนที่ 1) ว่า "ท่านผู้เจริญ นี่เขาเรียกว่าอะไร ? น่าชอบใจจริง" บุรุษผู้นั้นจึงบอกกะชายชาวปลายแดนผู้นั้นว่า "ชอบใจในสิ่งนี้หรือ ? นี่เขาเรียกว่าดวงประทีป ครั้นหมดน้ำมันและสิ้นไส้ แม้แต่ทางไปของมันก็จักไม่ปรากฏ (ให้เห็น)" บุรุษอีกผู้หนึ่ง (คนที่ 2) บอกกะชายชาวปลายแดนคนนั้นว่า "การที่ดวงประทีปไม่ปรากฏเพราะหมดน้ำมันและสิ้นไส้นี้ เป็นเรื่องหยาบ ความจริง เมื่อไส้ (ตะเกียง) นี้ถูกเผาไป ๆโดยลำดับ เปลวไฟจักดับไปในส่วนที่ 3 (และ) ส่วนที่ 3 ยังไม่ทันถึงส่วนนอกนี้ (และ) นอกนี้แน่แท้" บุรุษอีกผู้หนึ่ง (ที่ 3) บอกกะเขาอย่างนี้ว่า "ถึงแม้เรื่องนี้ก็ยังหยาบเหมือนกัน เพราะว่าเปลวไฟจักดับไปในระหว่างองคุลีองคุลี…..ในระหว่างครึ่งองคุลีทุกครึ่งองคุลี…..ในเส้นด้าย

(หน้าที่ 303)

ทุกเส้นด้าย…..ในใยด้ายทุกใยด้ายของไส้ (ตะเกียง) นี้ ไม่ทันถึงใยด้ายนอกนี้ (และ) นอกนี้แน่แท้ แต่พ้น (ปราศจาก) ใยด้ายแล้ว ไม่สามารถทำเปลวไฟให้ปรากฏได้" ฉะนั้นแล

[อุปมาอุปไมย]

ในอุปมานั้น การที่โยคียกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปซึ่งจำแนกโดย 100 ปี ตั้งแต่การยึดถือไว้ (ปฏิสนธิ) จนถึงการปล่อยวาง (จุติ) เปรียบเหมือนความรู้ของบุรุษ (คนที่1) รู้ว่า "ครั้นหมดน้ำมันและสิ้นไส้ แม้แต่ทางไปของดวงประทีปก็จักไม่ปรากฏ" การที่โยคียกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปที่ถึงความแตกดับด้วยการเติบโตขึ้นตามวัย ซึ่งจำแนก 100 ปีออกเป็นส่วนที่ 3 และที่ 3 (3 ส่วนๆ) เปรียบเหมือนความรู้ของบุรุษ (คนที่ 2)รู้ว่า "เปลวไฟจักดับไปในส่วนที่ 3 (และ) ส่วนที่ 3 ของไส้ ยังไม่ทันถึงส่วนนอกนี้(และ) นอกนี้" การที่โยคียกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปซึ่งจำแนกโดยช่วงละ 10 ปี 5 ปี 3 ปี 2 ปี และ 1 ปี เปรียบเหมือนความรู้ของบุรุษ (คนที่ 3) รู้ว่า "เปลวไฟจักดับไปในระหว่างองคุลีองคุลียังไม่ทันถึงระหว่างนอกนี้ (และ) นอกนี้" การที่โยคียกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปซึ่งแบ่ง 1 ปี ออกเป็น 3 ส่วนและ 6 ส่วน ตามฤดูหนึ่งๆ แล้วจำแนกเป็น 4 เดือน และ 2 เดือน เปรียบเหมือนความรู้ของบุรุษที่ว่า "เปลวไฟจักดับไปในระหว่างครึ่งองคุลีทุกครึ่งองคุลีๆ ไม่ทันถึงครึ่งองคุลีนอกนี้ (และ) นอกนี้เป็นแน่" การที่โยคียกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปซึ่งจำแนกโดยข้างแรมและข้างขึ้น และโดยกลางคืนและกลางวัน และทำคืนและวันหนึ่งเป็น 6 ส่วนแล้วกำหนดจำแนกโดยเวลามีตอนเช้าเป็นต้น เปรียบเหมือนความรู้ของบุรุษ (ที่รู้) ว่า "เปลวไฟจักดับไปในเส้นด้ายทุกเส้นด้าย ไม่ทันถึงเส้นด้ายนอกนี้ (และ) นอกนี้เป็นแน่" การที่โยคียกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปซึ่งจำแนกโดยอาการมีการเดินไปข้างหน้าเป็นต้น และโดยส่วนหนึ่งๆ ในระยะของก้าวเท้าก้าวหนึ่งมีการยกเท้าขึ้นเป็นต้น เปรียบเหมือนความรู้ของบุรุษ (ที่รู้) ว่า "เปลวไฟจักดับไปในไยด้ายทุกไยด้าย ไม่ทันถึงไยด้ายนอกนี้ (และ) นอกนี้แน่แท้" ฉะนี้แล

[จำแนกรูปเป็น 4 ส่วน]]

ครั้นโยคียกเอาพระไตรลักษณ์เข้าในรูปที่ถึงความแตกดับด้วยการเติบโตขึ้นตามวัยโดยอาการต่างๆอย่างนี้แล้ว จึงจำแนกรูปนั้นนั่นแหละ ทำให้เป็น 4 ส่วนโดยรูปมีรูปเกิดด้วยอาหารเป็นต้น แล้วยกพระไตรลักษณ์เข้าในแต่ละส่วนเข้าไปอีก

(หน้า 304)

(ยกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปเกิดด้วยอาหาร)

ใน 4 ส่วนนั้น รูปที่เกิดด้วยอาหารเป็นรูปปรากฏชัดแก่โยคีนั้น ด้วยความหิวโหยแลความอิ่มเอิบ ความจริง รูปที่ตั้งขึ้นในเวลาหิวโหยเป็นรูปซูบซีด อิดโรย ผิวพรรณเศร้าหมอง ทรวดทรงเสียส่วน เหมือนตอไม้ที่ถูกไฟไหม้ และเหมือนนกกาที่ซุกซ่อนในตะกร้าถ่าน รูปที่ตั้งขึ้นในเวลาอิ่มเอิบ ก็เป็นรูปสดชื่น เปล่งปลั่ง นิ่มนวล ละเอียดอ่อน น่าแตะต้อง

โยคีนั้น ครั้นกำหนดรู้รูปเกิดด้วยอาหารนั้นแล้ว จึงยกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปนั้นอย่างนี้ว่า "รูปที่เป็นไปในเวลาหิวโหย ยังไม่ทันถึงเวลาอิ่มเอิบก็ดับเสียในเวลาหิวโหยนี้นั่นเอง ถึงแม้รูปที่ตั้งขึ้นในเวลาอิ่มเอิบ ยังไม่ทันถึงเวลาหิวโหย ก็ดับเสียในเวลาอิ่มเอิบนี้นั่นเอง เพราะฉะนั้น แม้รูปที่เกิดในอาหารนั้น ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ดังนี้

(ยกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปเกิดด้วยฤดู)

รูปที่เกิดด้วยฤดู เป็นรูปปรากฏชัดด้วยความเย็นและความร้อน เพราะว่า รูปที่ตั้งขึ้นใน ฤดูกาลร้อน เป็นรูปซีดเซียว อิดโรย ผิวพรรณเศร้าหมอง รูปที่ตั้งขึ้นด้วยฤดูหนาว เป็นรูปสดชื่น เปล่งปลั่ง ละเอียดอ่อน โยคีนั้นกำหนดรูปรูปที่เกิดด้วยดูนั้น แล้วยกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปอย่างนี้ว่า "รูปที่เป็นไปในเวลาร้อน ยังไม่ทันถึงเวลาเย็น ก็ดับเสียในเวลาร้อนนี้นั่นเอง รูปที่เป็นไปในเวลาเย็น ยังไม่ทันถึงเวลาร้อน ก็ดับเสียในเวลาเย็นนี้นั่นเอง เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดด้วยฤดูนั้นจึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ดังนี้

(ยกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปเกิดจากกรรม)

รูปที่เกิดจากกรรม เป็นรูปปรากกฏชัดโดยทางทวารคืออาตนะ เพราะว่าในจักขุทวารมีรูปอยู่ 54 คือ รูปเกิดจากกรรม 30 ได้แก่ จักขุทสกะ (10) กายทสกะ (10) ภาวทสกะ (10) และอุปัตถัมภกรูปของรูปที่เกิดจากรูปเหล่านั้น ซึ่งมีฤดูเป็นสมุฏฐาน มีจิตเป็นสมุฏฐาน และมีอาหารเป็นสมุฏฐาน อีก 24 ในโสตทวาร ฆานทวารและชิวหาทวาร ก็ (กำหนดจำนวน) อย่างนั้น ในกายทวารมี 44 ได้แก่ กายทสกะ (10) และภาวทสกะ (10) และได้แก่รูปซึ่งมีฤดูเป็นสมุฏฐานเป็นต้น (อีก 24) ในมโนทวารก็มี 54 เช่นกัน ได้แก่ หทยวัตถุทสกะ (10) กายทสกะ (10) และภาวทสกะ (10) และรูปมีรูปซึ่งมีฤดูเป็นสมุฏฐานเป็นต้น (อีก 24)

(หน้าที่ 305)

โยคีนั้น ครั้นกำหนดรู้รูปแม้ทั้งหมดนั้นแล้ว จึงยกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปทั้งหลายนั้นอย่างนี้ว่า "รูปที่เป็นไปในจักขุทวาร ยังไม่ทันถึงโสตทวาร ก็ดับเสียในจักขุทวารนี้นั่นแล รูปที่เป็นไปในโสตทวารยังไม่ทันถึงฆานทวาร…..รูปที่เป็นไปในฆานทวารยังไม่ทันถึงชิวหาทวาร……รูปที่เป็นไปในชิวหาทวารยังไม่ทันถึงมโนทวาร ก็ดับเสียในกายทวารนี้นั่นแล เพราะฉะนั้น รูปนั้นจึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ดังนี้

(ยกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปมีจิตเป็นสมุฏฐาน)

รูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นรูปปรากฏชัดด้วยความมีโสมนัสและโทมนัส เป็นความจริง รูปที่บังเกิดขึ้นในเวลามีโสมนัสเป็นรูปละเอียดอ่อน นุ่มนวล เปล่งปลั่ง น่าแตะต้อง รูปที่บังเกิดขึ้นในเวลาโทมนัสเป็นรูปซีดเซียว อิดโรย ผิวพรรณหม่นหมอง ครั้นโยคีนั้นกำหนดรู้ รูปมีจิตเป็นสมุฏฐานนั้นแล้ว จึงยกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปนั้นอย่างนี้ว่า "รูปที่เป็นไปในเวลามีโสมนัส ยังไม่ทันถึงเวลามีโทมนัส ก็ดับเสียในเวลามีโสมนัสนี้นั่นแล รูปที่เป็นไปในเวลามีโทมนัส ยังไม่ทันถึงเวลามีโสมนัสก็ดับเสียในเวลามีโทมนัสนี้นั่นแล เพราะฉะนั้น แม้รูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานนั้นก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ดังนี้

เมื่อโยคีนั้นกำหนดรู้รูปมีจิตเป็นสมุฏฐานแล้วยกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปนั้นอยู่อย่างนี้ ความก็ปรากฏชัด ดังต่อไปนี้

ชีวิตํ อตตภาโว สุขทุกขา จ เกวลา

เอกจิตตสมายุตตา ลหุโส วตตเต ขโณ.

แปลความว่า

ชีวิต อัตภาพ สุข และทุกข์ แต่ละอย่าง ประกอบ

ร่วมอยู่กับจิตดวงหนึ่ง ๆ ขณะ (ของจิตดวงหนึ่ง ๆ) ผ่าน

ไปรวดเร็ว

จุลลาสีติสหสสานิ กปปํ ติฏฐนติ เย มรู

น เตวว เตปิ ติฏฐนติ ทวีหิ จิตเตหิ สโมหิตา.

(หน้าที่ 306)

แปลความว่า

เทวดาทั้งหลายเหล่าใดตั้งอยู่ตลอด 84,000 กัป

แม้เทวดาทั้งหลายเหล่านั้นก็หาตั้งอยู่ด้วยจิต 2 ดวง ซึ่งตั้ง

อยู่พร้อมกันไม่

เย นิรุทธา มรนตสส ติฏฐมานสส วา อิธ

สพเพว สทิสา ขนธา คตา อปปฏิสนธิกา.

แปลความว่า

ขันธ์ทั้งหลายเหล่าใดที่ดับไปแล้วของสัตว์ที่ตายก็ดี

หรือว่าของสัตว์ที่ยังตั้งอยู่ในปวัตติกาลนี้ก็ดี ขันธ์ทั้งหลาย

เหล่านั้น ก็เป็นเช่นเดียวกันทั้งหมดนั่นแล คือ ดับไป ไม่มี

การติดต่อกัน (เป็นไปชั่วขณะจิตหนึ่งๆ)

อนนตรา จ เย ภคคา เย จ ภคคา อนาคเต

ตทนตรา นิรุทธานํ เวามํ ตตถิ ลกขเณ.

แปลความว่า

สังขารทั้งหลายเหล่าใดที่แตกดับแล้วเป็นลำดับๆ (ใน

อดีต) ก็ดี แลสังขารทั้งหลายเหล่าใดที่จักแตกดับใน

อนาคตก็ดี สังขารทั้งหลายที่แตกดับอยู่ ในระหว่างอดีต

และอนาคตนั้นก็ดี หามีความแตกต่างกันในลักษณะไม่

อนิพพตเตน น ชาโต ปจจุปปนเนน ชีวติ

จิตตภงคา มโต โลโก ปญญตติ ปรมตถิยา.

แปลความว่า

เพราะจิตไม่เกิด สัตว์โลกชื่อว่ายังไม่เกิด เพราะจิต

ยังเกิดอยู่เป็นปัจจุบัน สัตว์โลกชื่อว่ามีชีวิตอยู่ เพราะจิต

แตกดับ สัตว์โลกชื่อว่าตาย (นี้) เป็นบัญญัติทางปรมัตถ์

(หน้าที่ 307)

อนิธานคตา ภคคา ปุญโช นตถิ อนาคเต

นิพพตตา เยปิ ติฏฐนติ อารคเค สาสปูปมา.

แปลความว่า

สังขารทั้งหลายที่แตกดับแล้ว มิได้ไปสู่ที่เก็บไว้ (ณ ที่

ไหนๆ) ในอนาคตก็ไม่มีกอง (สังขารเก็บไว้) อีกทั้งสังขาร

ทั้งหลายใดที่เก็บมาแล้วก็ตั้งอยู่ (ชั่วเวลา) เหมือนเมล็ด

พรรณผักกาด บนปลายเข็ม

นิพพตตานญจ ธมมานํ ภงโค เนสํ ปุรกขโต

ปโลกธมมา ติฏฐนติ โปราเณหิ อมิสสิตา.

แปลความว่า

และพอสังขารธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นมา ความแตกดับ

ของสังขารธรรมทั้งหลายเหล่านั้นก็ห้อมล้อมอยู่แล้ว สังขาร

ธรรมทั้งหลายมีความแตกสลายไปเป็นธรรมดา ตั้งอยู่เป็น

ปัจจุบัน หาสัมพันธ์ปะปนกับสังขารธรรมโบราณ (คืออดีต)

ทั้งหลายไม่

อทสสนโต อายนติ ภคคา คจฉนตยทสสนํ

วิชชุปปาโทว อากาเส อุปปชชนติ วยนติ จ.

แปลความว่า

สังขารธรรมเหล่านั้นมาจากที่ซึ่งใครไม่เห็นแตกดับแล้ว

ก็ไปสู่ความไม่เห็น เกิดขึ้นและดับไป เหมือนสายฟ้าแลบ

เกิดขึ้น (และดับไป) ในอากาศ

ครั้นโยคีนั้นยกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปทั้งหลายมีรูปที่เกิดด้วยอาหารเป็นต้นอย่างนี้แล้ว จึงยกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปธรรมดา ต่อไปอีก

(หน้าที่ 308)

(รูปธรรมดาโดยธรรมชาติ)

รูปที่เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งวิวัฏฏกัปป์ เป็นรูปภายนอก ไม่เนื่องด้วยอินทรีย์ มีประเภทต่างๆ เช่น เหล็ก โลหะ ดีบุก ตะกั่ว ทอง เงิน มุกดา มณี ไพทูรย์ สังข์ หิน (มีค่า) ประพาฬ ทับทิม แก้วลาย แผ่นดิน แผ่นหิน ภูเขา ต้นหญ้า ต้นไม้ และ เถาวัลย์ เป็นต้น ชื่อว่ารูปธรรมดา

(ยกพระไตรลักษณ์เข้าในรูปธรรมดา)

รูปธรรมดานั้นเป็นรูปปรากฏชัดแก่โยคีนั้น โดยทางกล้าไม้มีกล้าไม้อโศกเป็นต้น เพราะว่า กล้าไม้อโศกนั้นเริ่มต้นทีเดียวก็มีสีแดงอ่อนล่วงไป 2 วัน 3 วันจากนั้น ก็แดงเข้มขึ้น ล่วงไป 2 วัน 3 วันต่อมาอีกก็แดงนวลลง จากนั้น (แตกเป็นใบอ่อน) มีสีเหมือนใบไม้อ่อน ต่อจากนั้น มีสีเป็นใบไม่แก่ขึ้น จากนั้นมีสีเป็นใบไม้เขียว จากนั้นมีใบสีเขียวแก่ ตั้งแต่เวลาที่ใบเป็นสีสีเขียวแก่นั้นไป ก็ทำความสืบต่อของรูปใบที่ยังเหมือนกันให้ติดต่อสืบเนื่องกันอยู่ โดย (เวลาผ่านไป) ประมาณ 1 ปี ก็ (เปลี่ยนสี) เป็นใบไม้เหลือง แล้วหลุดจากขั้วหล่นไป

โยคีนั้นครั้นกำหนดรู้ใบอโศกนั้นแล้ว จึงยกพระไตรลักษณ์เข้าในใบอโศกนั้นอย่างนี้ว่า "รูปที่เป็นไปในกาลมีสีแดงอ่อน ยังไม่ทันถึงกาลมีสีแดงเข้มเลย ก็ดับเสีย รูปที่เป็นไปในกาลมีสีแดงเข้ม ยังไม่ทันถึงกาลมีสีแดงนวล…..รูปที่เป็นไปในกาลมีสีแดงนวล ยังไม่ทันถึงกาลมีสีเป็นใบไม้อ่อน…..รูปที่เป็นไปในกาลมีสีเป็นใบไม้อ่อนยังไม่ทันถึงกาลมีสีเป็นใบไม้แก่…..รูปที่เป็นไปในกาลมีสีเป็นใบไม้แก่ ยังไม่ทันถึงกาลมีสีเป็นใบไม้เขียว…..รูปที่เป็นไปในกาลมีสีเป็นใบไม้เขียว ยังไม่ทันถึงกาลมีสีเป็นใบไม้เขียวแก่…..รูปที่เป็นไปในกาลมีสีเป็นใบไม้เขียวแก่ ยังไม่ทันถึงกาลเป็นใบไม้เหลือง…..รูปที่เป็นไปในกาลเป็นใบไม้เหลือง ยังไม่ทันถึงกาลหลุดจากขั้วหล่นไปก่อนก็ดับเสีย เพราะฉะนั้น ใบอโศกนั้นจึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ดังนี้ แล้วกำหนดรู้รูปธรรมดาแม้ทุกชนิดโดยนัยนี้

โยคียกพระไตรลักษณ์ขึ้นแล้วกำหนดรู้สังขารทั้งหลาย โดยทาง รูปสัตตกะ ด้วยอาการดังกล่าวนี้ก่อน

(หน้าที่ 309)

อนึ่ง คำใดที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้ว (ข้างต้น) ว่า "ยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์แล้ว กำหนดรู้สังขารทั้งหลาย) โดยทาง อรูปสัตตกะ" ในคำนั้นมีมาติกาดังนี้ คือ

1. กลาปโต โดยความเป็นกลุ่ม

2. ยมกโต โดยความเป็นคู่

3. ขณิกโต โดยความเป็นไปโดยขณะ (จิต)

4. ปฏิปาฏิโต โดยลำดับ

5. ทิฏฐิอุคฆาฏนโต โดยเพิกถอนความเห็นผิด

6. มานสมุคฆฏนโต โดยเพิกถอนมานะ

7. นิกันติปริยาทานโต โดยความสิ้นไปแห่งความใคร่

ในอาการ 7 อย่างนั้น คำว่า "โดยความเป็นกลุ่ม" หมายถึง (กลุ่ม) ธรรมมีผัสสะเป็น (อันดับ) ที่ 5

(ถาม) กำหนดรู้โดยความเป็นกลุ่มอย่างไร ?

(ตอบ) พระภิกษุในพระศาสนานี้พิจารณาเห็นดังนี้ว่า "ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ 5 เหล่านี้ใด เกิดขึ้นแล้วในการกำหนดรู้ว่า "ผมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" และธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ 5 เหล่านี้ใด เกิดขึ้นแล้ว ในการกำหนดรู้ว่า "ขนทั้งหลาย….ฯลฯ…..มันสมอง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นยังไม่ทันถึงธรรมนอกนี้และนอกนี้ ก็ทำเสียงตฏะตฏะพินาศไปเป็นปล้อง ๆ เป็นท่อน ๆ เหมือนงาที่เขาวางลงบนแผ่นกระเบื้องอันร้อน (แตกอยู่เปรี๊ยะๆ) ฉะนั้น เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหลาย (มีผัสสะเป็นที่ 5) เหล่านั้นจึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" ดังนี้

นี้เป็นนัยในวิสุทธิกถาก่อน

ส่วนใน อริยวังสกถา ท่านกล่าวไว้ว่า "เมื่อโยคีกำหนดรู้อยู่ซึ่งจิตที่เป็นไปอยู่ว่า "รูปใน 7 ฐานะใน รูปสัตตกะ (ที่กล่าวมาแล้ว) ข้างต้นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ด้วย

(หน้าที่ 310)

จิตอีกดวงหนึ่งว่า "จิตดวง (ที่เป็นไปอยู่) นั้น ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" ดังนี้ ชื่อว่า "กำหนดรู้โดยความเป็นกลุ่ม" คำที่กล่าวไว้ในอริยวังสกถานั้นถูกต้องกว่า เพราะฉะนั้นเราจักจำแนกการกำหนดรู้ (โดยความเป็นคู่เป็นต้น) แม้ที่ยังเหลือ โดยนัย (อริยวังสกถา) นั้นทางเดียว

คำว่า "โดยความเป็นคู่" ความว่า พระภิกษุในพระศาสนานี้กำหนดรู้รูประหว่างความยึดถือไว้ (ปฏิสนธิ) และความปล่อยวาง (จุติ) ว่า "ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" แล้วกำหนดรู้ จิตแม้ดวงนั้น เองด้วย จิตอีกดวงหนึ่งว่า "(แม้จิตดวงนั้น) ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" ดังนี้ พระภิกษุกำหนดรู้รูปที่ถึงความแตกดับด้วยการเติบโตขึ้นตามวัย 1 รูปเกิดขึ้นด้วยอาหาร 1 รูปเกิดขึ้นด้วยฤดู 1 รูปเกิดจากกรรม 1 รูปมีจิตเป็นสมุฏฐาน 1 รูปธรรมดา 1 ว่า "ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" แล้วกำหนดรู้จิตแม้ดวงนั้นเองด้วยจิตอีกดวงหนึ่งว่า "(แม้จิตดวงนั้น) ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา"

พระภิกษุนั้นชื่อว่า กำหนดรู้ (นามธรรมและรูปธรรม) โดยความเป็นคู่กัน ด้วยอาการดังกล่าวนี้

คำว่า "โดยความเป็นไปโดยขณะ(จิต)" ความว่า พระภิกษุในพระศาสนานี้กำหนดรู้รูประหว่างความยึดถือไว้และความปล่อยวางว่า "เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" แล้วกำหนดรู้จิตดวงที่ 1 นั้น ด้วยจิตดวงที่ 2 ว่า "เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" กำหนดรู้จิตดวงที่ 2 ด้วยจิตดวงที่ 3…..กำหนดรู้จิตดวงที่ 3 ด้วยจิตดวงที่ 4…..กำหนดรู้จิตดวงที่ 4 ด้วยจิตดวงที่ 5 ว่า "แม้จิตดวงที่ 4 นี้ ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ดังนี้

พระภิกษุกำหนดรู้รูปที่ถึงความแตกดับด้วยความเติบโตขึ้นตามวัย 1 รูปเกิดด้วยอาหาร 1 รูปเกิดด้วยฤดู 1 รูปเกิดจากกรรม 1 รูปมีจิตเป็นสมุฏฐาน 1 รูปธรรมดา 1 ว่า"ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" ดังนี้แล้ว ควรกำหนดรู้จิตดวงที่ 1 นั้นด้วยจิตดวงที่ 2 กำหนดรู้จิตดวงที่ 2 ด้วยจิตดวงที่ 3 กำหนดรู้จิตดวงที่ 3 ด้วยจิตดวงที่ 4 กำหนดรู้จิตดวงที่ 4 ด้วยจิตดวงที่ 5 ว่า "แม้จิตดวงนี้แต่ละดวงก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" ดังนี้

พระภิกษุเมื่อกำหนดรู้จิตทีละ 4 ดวง เริ่มต้นตั้งแต่กำหนดรูป (ก่อน) อย่างนี้ชื่อว่า กำหนดรู้โดยความเป็นไปโดยขณะ(จิต)

(หน้าที่ 311)

คำว่า "โดยลำดับ" ความว่า พระภิกษุกำหนดรู้รูประหว่างความยึดถือไว้และความปล่อยวางว่า "ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" ดังนี้ แล้วกำหนดรู้จิตดวงที่ 1 ด้วยจิตดวงที่ 2…..กำหนดรู้จิตดวงที่ 2 ด้วยจิตดวงที่ 3…..กำหนดรู้จิตดวงที่ 3 ด้วยจิตดวงที่ 4…..ฯลฯ กำหนดรู้จิตดวงที่ 10 ด้วยจิตดวงที่ 11 ด้วยจิตดวงที่ 11ว่า "แม้จิตดวงนี้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" ดังนี้

พระภิกษุกำหนดรู้รูปที่ถึงความดับด้วยความเติบโตขึ้นตามวัย 1 รูปเกิดด้วยอาหาร 1 รูปเกิดด้วย ฤดู 1 รูปเกิดจากกรรม 1 รูปมีจิตเป็นสมุฏฐาน 1 รูปธรรมดา 1 ว่า "ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" ดังนี้แล้วควรกำหนดรู้จิตดวงที่ 1 นั้นด้วยจิตดวงที่ 2…..กำหนดรู้จิตดวงที่ 2 ด้วยจิตดวงที่ 3…..ฯลฯ กำหนดรู้จิตดวงที่ 10 ด้วยจิตดวงที่ 11 ว่า "แม้จิตดวงนี้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" ดังนี้ ตลอดเวลากลางวันสิ้นทั้งวันโดยลำดับวิปัสสนาอย่างนี้

แต่ว่า ทั้งรูปกัมมัฏฐาน ทั้งอรูปกัมมัฏฐาน เพียงกำหนดรู้ถึงจิตดวงที่ 10 ก็เป็นการเพียงพอ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ (ในอริยวังสกถา) ว่า ควรพักไว้แค่ในจิตดวงที่ 10 เท่านั้น

พระภิกษุผู้กำหนดรู้ด้วยอาการดังกล่าวนี้ ชื่อว่ากำหนดรู้ โดยลำดับ (จิต)

(กำหนดรู้โดยเพิกถอนทิฏฐิ มานะและสิ้นความใคร่)

ในอาการ 3 อย่าง คือ โดยเพิกถอนความเห็นผิด 1 โดยเพิกถอนมานะ 1 โดยความสิ้นไปแห่งความใคร่ 1 เหล่านี้ชื่อว่านัยแห่งการกำหนดรู้แยกกัน หามีไม่ (ต้องกำหนดรู้ร่วมกัน)

อนึ่ง พระภิกษุผู้เห็นอยู่ซึ่งรูป (ทีกำหนดรู้แล้ว) ข้างต้นนั้นก็ดี และอรูปที่กำหนดรู้ในที่นี้ก็ดี นี้นั้น จะไม่เห็นสิ่งอื่นที่เรียกว่า สัตว์ นอกไปจากรูปและอรูป จำเดิมแต่ไม่เห็นสัตว์ ก็เป็นอันเพิกถอน สัตตสัญญา (ความสำคัญว่ามีสัตว์) ได้แล้ว เมื่อพระภิกษุกำหนดรู้สังขาร

(หน้าที่ 312)

ทั้งหลายด้วยจิตที่ถอนสัตตสัญญาได้แล้ว ทิฏฐิก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อทิฏฐิไม่เกิดขึ้น ก็ชื่อว่าเป็นอันเพิกถอนทิฏฐิได้แล้ว เมื่อภิกษุกำหนดรู้สังขารทั้งหลายด้วยจิตที่เพิกถอนทิฏฐิได้แล้วมานะก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อมานะไม่เกิดขึ้น ก็ชื่อว่าเป็นอันถอนมานะได้แล้ว เมื่อพระภิกษุกำหนดรู้สังขารทั้งหลายด้วยจิตที่เพิกถอนมานะได้แล้ว ตัณหาก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อตัณหาไม่เกิดขึ้น นิกันติ (ความใคร่) ก็ชื่อว่าเป็นอันสิ้นไปฉะนี้แล คำนี้ท่านกล่าวไว้ใน วิสุทธิกถา ก่อน

แต่ใน อริยวังสกถา ท่านตั้งมาติกาไว้ว่า "โดยเพิกถอนทิฏฐิ 1 โดยเพิกถอนมานะ1 โดยความสิ้นไปแห่งนิกันติ (ความใคร่)1" แล้วแสดงนัย (คือวิธีกำหนดรู้) ไว้ดังนี้ว่า "ความจริง เมื่อโยคีถือว่า "ข้าพเจ้าเห็นแจ้งอยู่ วิปัสสนา (เป็น) ของข้าพเจ้า" ดังนี้ ยังหาชื่อว่ามีการเพิกถอนทิฏฐิได้ไม่ แต่เมื่อโยคีถือว่า "สังขารทั้งหลายนั่นแล เห็นแจ้งพิจารณา กำหนด กำหนดรู้ จำแนกอยู่ ซึ่งสังขารทั้งหลาย" ดังนี้ จึงชื่อว่ามีการเพิกถอนทิฏฐิ เมื่อโยคีถือว่า "ข้าพเจ้าเห็นแจ้งด้วยดี ข้าพเจ้าเห็นแจ้งด้วยความพึงพอใจ" ดังนี้ ยังหาชื่อว่ามีการเพิกถอนมานะไม่แต่เมื่อโยคีถือว่า "สังขารทั้งหลายนั่นเอง เห็นแจ้ง พิจารณา กำหนด กำหนดรู้ จำแนกอยู่ซึ่งสังขารทั้งหลาย" ดังนี้ จึงชื่อว่ามีการถอนมานะ เมื่อโยคีพอใจวิปัสสนาอยู่ว่า "ข้าพเจ้าสามารถเห็นแจ้ง" ดังนี้ หาชื่อว่ามีการสิ้นไปแห่งความใคร่ไม่ แต่เมื่อโยคีถืออยู่ว่า "สังขารทั้งหลายนั่นเอง เห็นแจ้ง พิจารณา กำหนด กำหนดรู้ จำแนกอยู่ ซึ่งสังขารทั้งหลาย" ดังนี้ จึงชื่อว่ามีการสิ้นไปแห่งความใคร่ เมื่อโยคีเห็นอยู่ว่า "ถ้าสังขารทั้งหลายพึงเป็นอัตตาไซร้

(หน้าที่ 313)

การถือ (สังขารทั้งหลายนั้น) ว่า "อัตตา" ก็ควร แต่ว่า (สังขารทั้งหลาย) ไม่มีอัตตาเลย ถือว่าเป็นอัตตา เพราะฉะนั้นสังขารทั้งหลายเหล่านั้นจึงเป็นอนัตตา โดยความหมายว่าไม่เป็นไปในอำนาจ เป็นของไม่เที่ยง โดยความหมายว่ามีแล้วหามีไม่ (คือเกิดแล้วดับไป) เป็นทุกข์โดยความหมายว่าเบียดเบียนเฉพาะหน้าด้วยความเกิดและความดับ" ดังนี้ ชื่อว่ามีการเพิกถอนทิฏฐิ เมื่อโยคีเห็นอยู่ว่า "ถ้าสังขารทั้งหลายพึงเป็นของเที่ยงไซร้ การถือ (สังขารทั้งหลายนั้น) ว่า "เป็นของเที่ยง" ก็ควร แต่ว่า (สังขารทั้งหลาย) ไม่เที่ยงเลย ถือว่าเป็นของเที่ยง เพราะฉะนั้น สังขารทั้งหลายเหล่านั้นจึงเป็นของไม่เที่ยงโดยความหมายว่ามีแล้วหามีไม่ เป็นทุกข์โดยความหมายว่าเบียดเบียนเฉพาะหน้าด้วยความเกิดและความดับ เป็นอนัตตาโดยความหมายว่าไม่เป็นไปในอำนาจ" ดังนี้ ชื่อว่ามีการเพิกถอนมานะ เมื่อโยคีเห็นอยู่ว่า "ถ้าสังขารทั้งหลายพึงเป็นสุขไซร้ การถือ (สังขารทั้งหลายนั้น) ว่า "เป็นสุข" ก็ควรแต่ว่า (สังขารทั้งหลาย) เป็นทุกข์โดยแท้ ถือว่าเป็นทุกข์ เราะฉะนั้น สังขารทั้งหลายเหล่านั้นจึงเป็นทุกข์ โดยความหมายว่าเบียดเบียนเฉพาะหน้าด้วยความเกิดและความดับ เป็นของไม่เที่ยงโดยความหมายว่ามีแล้วหามีไม่ เป็นอนัตตาโดยความหมายว่าไม่เป็นไปในอำนาจ" ดังนี้ ชื่อว่ามีการสิ้นไปแห่งความใคร่

"เมื่อโยคีเห็นอยู่ซึ่งสังขารทั้งหลายโดยความเป็นอนัตตา ชื่อว่ามีการเพิกถอนทิฏฐิเมื่อโยคีเห็นอยู่โดยความไม่เที่ยง ชื่อว่ามีการเพิกถอนมานะ เมื่อโยคีเห็นอยู่โดยความเป็นทุกข์ ชื่อว่ามีการสิ้นไปแห่งความใคร่ ด้วยอาการดังกล่าวนั้น เพราะเหตุนี้ วิปัสสนานี้ชื่อว่าตั้งอยู่ในฐานะโดยเฉพาะของตนๆ" ดังนี้

โยคียกพระไตรลักษณ์ขึ้นกำหนดสังขาร (ด้วยสัมมสนญาณ) โดยทางอรูปสัตตกะ ด้วยอาการดังกล่าวนี้

อนึ่ง ทั้งรูปกัมมัฏฐานทั้งอรูปกัมมัฏฐานของโยคีนั้น เป็นกัมมัฏฐานที่คล่องแคล่ว เพียงพอด้วยอาการเพียงนี้

(มหาวิปัสสนา 18)

โยคีท่านนั้นเป็นผู้มีทั้งรูปกัมมัฏฐานและอรูปกัมมัโฐานคล่องแคล่วเพียงพออย่างนี้ เมื่อแทงตลอด (รู้แจ้ง) เฉพาะ ณ ที่นี้ก่อน แต่เพียงเอกเทศของ มหาวิปัสสนา 18 ที่ตนพึงบรรลุ

(หน้าที่ 314)

โดยอาการทั้งปวง ด้วยสามารถ ปหานปริญญา เริ่มต้นแต่ภังคานุปัสสนาญาณ (โดยลำดับ) ขึ้นไป ก็ละธรรม (มีนิจจสัญญาเป็นต้น) ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ของมหาวิปัสสนา 18 นั้นได้

ที่เรียกว่า มหาวิปัสสนา 18 ได้แก่ ปัญญา มีอนิจจานุปัสสนา เป็นต้น ซึ่งโยคีเมื่อ

1. ทำ อนิจจานุปัสสนา ให้เกิดขึ้น ก็ละ นิจจสัญญา ได้

(ปัญญาเห็นเนืองๆว่าไม่เที่ยง) (ความสำคัญว่าเที่ยง)

2. ทำ ทุกขานุปัสสนา ให้เกิดขึ้น ก็ละ สุขสัญญา ได้

(ปัญญาเห็นเนืองๆว่าเป็นทุกข์) (ความสำคัญว่าเป็นสุข)

3. ทำ อนัตตานุปัสสนา ให้เกิดขึ้น ก็ละ อัตตสัญญา ได้

(ปัญญาเห็นเนืองๆว่าไม่มีอัตตา) (ความสำคัญว่ามีอัตตา)

4. ทำ นิพพิทานุปัสสนา ให้เกิดขึ้น ก็ละ นันทิ ได้

(ปัญญาเห็นเนืองๆด้วยความเบื่อหน่าย) (ความเพลิดเพลิน)

5. ทำ วิราคานุปัสสนา ให้เกิดขึ้น ก็ละ ราคะ ได้

(ปัญญาเห็นเนืองๆด้วยปราศจากความกำหนัด) (ความกำหนัด

6. ทำ นิโรธานุปัสสนา ให้เกิดขึ้น ก็ละ สมุทัย ได้

(ปัญญาเห็นเนืองๆซึ่งความดับ) (สิ่งที่เป็นแดนเกิด)

7. ทำ ปฏนิสสัคคานุปัสสนา ให้เกิดขึ้น ก็ละ อาทานะ ได้

(ปัญญาเห็นเนืองๆด้วยการสละทิ้งไป) (ความยึดถือไว้)

8. ทำ ขยานุปัสสนา ให้เกิดขึ้น ก็ละ ฆนสัญญา ได้

(ปัญญาเห็นเนืองๆซึ่งความสิ้นไป) (ความสำคัญว่าเป็นก้อน

9. ทำ วยานุปัสสนา ให้เกิดขึ้น ก็ละ อายูหนะ ได้

(ปัญญาเห็นเนืองๆซึ่งความเสื่อมไป) (ความขวนขวาย)

10. ทำ วิปริณามานุปัสสนา ให้เกิดขึ้น ก็ละ ธุวสัญญา ได้

(ปัญญาเห็นเนืองซึ่งความแปรผัน) (ความสำคัญว่ายั่งยืน)

(หน้าที่ 315)

11. ทำ อนิมิตตานุปัสสนา ให้เกิดขึ้น ก็ละ นิมิตตะ ได้

(ปัญญาเห็นเนืองว่าไม่มีนิมิต) (ความมีนิมิต) ได้

12. ทำ อัปปณิหิตานุปัสสนา ให้เกิดขึ้น ก็ละ ปณิธิ ได้

(ปัญญาเห็นเนืองๆว่าไม่มีที่ตั้ง) (ตัณหาเป็นที่ตั้ง)

13. ทำ สุญญตานุปัสสนา ให้เกิดขึ้น ก็ละ อภินิเวสะ ได้

(ปัญญาเห็นเนืองๆโดยความว่างเปล่า) (ความยึดมั่น)

14. ทำ อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา ให้เกิดขึ้น ก็ละ สารทานาภินิเวสะ ได้

(วิปัสสนาในธรรมคือปัญญาอันยิ่ง) (ความยึดมั่นด้วยการยึดถือว่ามี

สาระ)

15. ทำ ยถาภูตญาณทัสสนะ ให้เกิดขึ้น ก็ละ สัมโมหาภินิเวสะ ได้

(ความรู้ความเห็นตามเป็นจริง) (ความยึดถือด้วยความลุ่มหลง)

16. ทำ อาทีนวานุปัสสนา ให้เกิดขึ้น ก็ละ อาลยาภินิเวสะ ได้

(ปัญญาเห็นเนืองๆโดยความเป็นโทษ) (ความยึดถือด้วยความอาลัย)

17. ทำ ปฏิสังขานุปัสสนา ให้เกิดขึ้น ก็ละ อัปปฏิสังขา ได้

(ปัญญาเห็นเนืองๆด้วยพิจารณาทบทวน) (ความไม่พิจารณาทบทวน)

18 ทำ วิวัฏฏานุปัสสนา ให้เกิดขึ้น ก็ละ สังโยคาภินิเวส ได้

(ปัญญาเห็นเนืองๆด้วยจิตถอยกลับ) (ความยึดมั่นด้วยสังโยค)

ใน มหาวิปัสสนา 18 นั้น เพราะเหตุที่โยคีท่านนี้ได้เห็นสังขารทั้งหลายโดยทางพระไตรลักษณ์มีอนิจจะเป็นต้นแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นว่า โยคีท่านนี้ได้แทงตลอดอนิจจานุปัสสนา ทุกขานุปัสสนาและอนัตตานุปัสสนา (ได้ 3 มหาวิปัสสนา) แล้ว

อนึ่ง เพราะเหตุที่กล่าวไว้แล้วว่า "อนิจจานุปัสสนาใด ก็ดี และ อนิมิตตานุปัสสนาใดก็ดี ธรรม (2) นี้มีความหมายเดียวกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน อนึ่ง ทุกขานุปัสสนาใด ก็ดีและอัปปณิหิตานุปัสสนาใด ก็ดี ธรรม (2) นี้มีความหมายเดียวกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน อนัตตานุปัสสนาใด ก็ดี และสุญญตานุปัสสนาใด ก็ดี ธรรม (2) นี้มีความหมายเดียวกันพยัญชนะเท่านั้นต่างกัน" ดังนี้ เพราะฉะนั้น แม้อนิมิตตานุปัสสนา อัปปณิหิตานุปัสสนา และ

(หน้าที่ 316)

สุญญตานุปัสสนาเหล่านั้นก็เป็นอันโยคีท่านนี้แทงทะลุด้วย ส่วนอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา ก็คือ วิปัสสนาแม้ทั้งปวง ยถาภูตญาณทัสสนะก็สงเคราะห์เข้ากับกังขาวิตรณวิสุทธินั่นเอง เพราะเหตุนี้ แม้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนาและยถาภูตญาณทัสสนะทั้ง 2 นี้ ก็เป็นอันโยคีท่านนี้แทงทะลุแล้วเหมือนกัน

ในวิปัสสนาญาณทั้งหลายที่เหลือ (จากที่กล่าวถึงนี้ อีก 10 มีนิพพิทานุปัสสนาเป็นต้น) บางญาณก็แทงทะลุ (โดยเอกเทศ) แล้ว บางญาณก็มิได้แทงทะลุ เราจักทำการจำแนกวิปัสสนาญาณทั้งหลายเหล่านั้นให้แจ่มแจ้งข้างหน้า เพราะคำว่าที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วว่า "โยคีท่านนั้นเป็นผู้มีทั้งรูปกัมมัฏฐานและอรูปกัมมัฏฐานคล่องแคล่วอย่างนี้ เมื่อแทงตลอด (รู้แจ้ง) เฉพาะ ณ ที่นี้ก่อน แต่เพียงเอกเทศของ มหาวิปัสสนา 18 ที่ตนพึงบรรลุโดยอาการทั้งปวงด้วยสามารถ ปหานปริญญา เริ่มต้นแต่ภังคานุปัสสนาญาณ (โดยลำดับ) ขึ้นไป ก็ละธรรมซึ่งเป็นปฏิปักษ์ของ มหาวิปัสสนา 18 นั้นได้" นี้ข้าพเจ้าหมายถึงวิปัสสนาญาณ ซึ่งโยคีท่านนี้แทงตลอดแล้วนั่นเอง

อุทยพยญาณ

[อุทยพยญาณอย่างอ่อน]

เพราะละนิจจสัญญาเป็นต้น อันเป็นปฏิปักษ์ต่อวิปัสสนามีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น ด้วยประการดังกล่าวมานี้ โยคีท่านนั้นเป็นผู้มีญาณหมดจดวิเศษ ถึงฝั่งฟากแห่ง สัมมสนญาณ แล้ว จึงเริ่มทำโยคะเพื่อบรรลุ อุทยพยานุปัสสนาญาณ ซึ่งท่านกล่าวไว้ในลำดับแห่งสัมสนญาณว่า "ปัญญาในการเห็นเนืองๆ ซึ่งความแปรผันของปัจจุบันธรรมทั้งหลาย ชื่อว่า อุทยพยานุปัสสนาญา" ดังนี้ และเมื่อเริ่มทำ ก็เริ่มต้นโดยสังเขปก่อน ในการเริ่มต้นโดยสังเขปนั้น มีพระบาลี (แปลความ) ดังต่อไปนี้

"(ถามว่า) ปัญญาในการเห็นเนืองๆ ซึ่งความแปรผันของปัจจุบันธรรมทั้งหลาย ชื่อว่า อุทยพยานุปัสสนาญาณ เป็นอย่างไร ?

"ตอบว่า) ปัญญาในการเห็นเนืองๆ ซึ่งความแปรผันของธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน ชื่อว่าอุทยพยานุปัสสนาญาณ คือ รูปที่เกิดแล้วเป็นปัจจุบัน ลักษณะแห่งความเกิด

(หน้าที่ 317)

ของรูปนั้น เป็น อุทยะ (ความเกิดขึ้น) ลักษณะแห่งความแปรผัน (ของรูปนั้น) เป็น วยะ (ความดับไป) ปัญญาเห็นเนืองๆเป็น ญาณ เวทนาที่เกิดแล้ว…..สัญญาที่เกิดแล้ว…..สังขารที่เกิดแล้ว…..วิญญาณที่เกิดแล้ว….จักษุที่เกิดแล้ว ฯลฯ ภพที่เกิดแล้ว เป็นปัจจุบันลักษณะแห่งความเกิดของภพนั้น เป็น อุทยะ (ความเกิดขึ้น) ลักษณะแห่งความแปรผันเป็น วยะ (ความดับไป) ปัญญาเห็นเนืองๆเป็น ญาณ" ดังนี้

โยคีท่านนั้นเห็นอยู่เสมอเนืองๆ ซึ่งมีลักษณะแห่งความเกิด ซึ่งความเกิด ซึ่งความเกิดขึ้น ซึ่งอาการใหม่เอี่ยมของนามและรูปที่เกิดแล้ว ว่า อุทยะ (ความเกิดขึ้น) เห็นอยู่เสมอเนืองๆ ซึ่งลักษณะแห่งความแปรผัน ซึ่งความสิ้นหวัง ซึ่งความแตกดับไปว่า วยะ (ความดับไป) ตามนัยแห่งพระบาลี (ดังกล่าว) นี้

โยคีนั้นกำหนดรู้อย่างนี้ว่า "ในกาลก่อนแต่กาลเกิดขึ้นของนามและรูปนี้ กองหรือที่เก็บไว้ของนามและรูป ที่ยังไม่เกิดขึ้น หามีไม่ แม้เมื่อนามและรูปเกิดขึ้นอยู่ ก็หามีที่เรียกว่า การมาจากกองหรือที่เก็บไว้ไม่ แม้เมื่อนามและรูปกำลังดับอยู่ ก็หามีที่เรียกว่าไปสู่ทิศใหญ่และทิศน้อยไม่ แม้นามและรูปที่ดับไปแล้ว ก็หามีสถานที่ตั้งเป็นกอง โดยเป็นที่เก็บไว้ โดยเป็นที่ฝังไว้ ในสถานที่แห่งหนึ่ง มิได้ เปรียบเหมือนพิณเมื่อบรรเลงอยู่ ก่อนแต่การ บังเกิดขึ้นของเสียงที่บังเกิดขึ้นแล้ว หามีที่เก็บ (เสียง) ไว้ (ก่อน)ไม่ เสียงที่กำลังบังเกิดขึ้นก็มิได้มาจากที่เก็บ(เสียง) ไว้ เมื่อเสียงดับไป ก็มิได้มีการไปสู่ทิศใหญ่และทิศน้อย เสียงที่ดับไปแล้วก็มิได้เก็บไปตั้งอยู่ ณ ที่ไหนๆ เสียง (พิณ) นั้นไม่มี (อยู่ก่อน) เกิดมีขึ้นเพราะอาศัยพิณ และการบรรเลงพิณ และความพยายามอันควรแก่การบรรเลงนั้นของบุรุษโดยแท้แล ครั้น (เสียงของพิณนั้น) มีแล้วก็กลับหายไปฉันใด ธรรมทั้งหลายทั้งที่มีรูปและที่ไม่มีรูปแม้ทั้งปวง ไม่มี ก็มีขึ้น มีแล้ว ก็กลับดับไปฉันนั้น " ดังนี้

(50 ลักษณะของการเกิดและดับของขันธ์ 5)

โยคีนั้นครั้นทำมนสิการความเกิดและความดับโดยสังเขปอย่างนี้แล้ว จึงทำมนสิการโดยพิสดารทางปัจจัยและทางขณะต่อไปอีก "ความเกิดขึ้นของรูปแม้ด้วยอาการอย่างนี้

(หน้าที่ 318)

ความดับไปของรูปแม้ด้วยอาการอย่างนี้ รูปเกิดขึ้นแม้ด้วยอาการอย่างนี้ รูปดับไปแม้ด้วยอาการอย่างนี้ (เป็นต้น) ด้วยสามารถแห่งลักษณะ 50 ซึ่งท่านกล่าวไว้ในวิภังค์แห่งอุทยพยญาณนี้นั่นเอง เพราะทำ (จำแนก) ให้เป็นขันธ์ละ 10 โดยการเห็นความเกิดขึ้น และความดับไปของขันธ์หนึ่งๆ (แต่ละขันธ์) อย่างนี้

(5 ลักษณะแห่งความเกิดขึ้นของรูปขันธ์)

"พระภิกษุเห็นความเกิดขึ้นของรูปขันธ์ โดยความหมายว่าเกิดขึ้น เพราะปัจจัย คือ อวิชชาสมทยา รูปสมุทโย - เพราะอวิชชาเกิดขึ้น รูปจึงเกิดขึ้น 1

"เห็นความเกิดขึ้นของรูปขันธ์ โดยความหมายว่าเกิดขึ้น เพราะปัจจัยคือ ตณหาสมุทยา……กมมสมุทยา…..อาหารสมุทยา รูปสมุทยา – เพราะตัณหาเกิดขึ้น รูปจึงเกิดขึ้น 1 เพราะกรรมเกิดขึ้น รูปจึงเกิดขึ้น 1 ทั้งเมื่อเห็นลักษณะแห่งความเกิด ก็เห็นความเกิดขึ้นของรูปขันธ์ด้วย 1 เมื่อเห็นความเกิดขึ้นของรูปขันธ์ ก็เห็นอยู่ ลักษณะเหล่านี้"

(5 ลักษณะแห่งความดับของรูปขันธ์)

"พระภิกษุเห็นความดับของรูปขันธ์โดยความหมายว่าดับไป เพราะปัจจัย คือ อวิชชานิโรธา รูปนิโรโธ - เพราะอวิชชาดับไป เพราะอวิชชาดับไป รูปจึงดับไป 1

"เห็นความดับของรูปขันธ์โดยความหมายว่าดับไป เพราะปัจจัยคือ ตณหานิโรธา…..กมมนิโรธา…..อาหารนิโรธา รูปนิโรโธ - เพราะตัณหาดับไป รูปจึ้งดับไป 1 เพราะกรรมดับไป รูปจึงดับไป 1 เพราะอาหารดับไป รูปจึงดับไป 1 ทั้งเมื่อเห็นลักษณะของความแปรผันก็เห็นความดับของรูปขันธ์ด้วย 1 เมื่อเห็นความดับของรูปขันธ์ ก็เห็นอยู่ 5 ลักษณะเหล่านี้"

(5 ลักษณะแห่งความเกิดของเวทนาขันธ์ ฯลฯ)

"อนึ่ง พระภิกษุเห็นความเกิดขึ้นของเวทนาขันธ์ โดยความหมายว่าเกิดขึ้นเพราะปัจจัยคือ อวิชชาสมุทยา เวทนาสมุทโย - เพราะอวิชชาเกิดขึ้น เวทนาจึงเกิดขึ้น 1

(หน้าที่ 319)

"เห็นความเกิดขึ้นของเวทนาขันธ์ โดยความหมายว่า เกิดขึ้นเพราะปัจจัย คือ ตณหาสมทยา….กมมสมุทยา….ผสสสมุทยา เวทนาสมุทโย - เพราะตัณหาเกิดขึ้น เวทนาจึงเกิดขึ้น 1 เพราะกรรมเกิดขึ้น เวทนาเกิดขึ้น 1 เพราะผัสสะเกิดขึ้น เวทนาจึงเกิดขึ้น 1 ทั้งเมื่อเห็นลักษณะแห่งความเกิดขึ้น ก็เห็นความเกิดขึ้นของเวทนาขันธ์ด้วย 1 เมื่อเห็นความเกิดขึ้นของเวทนาขันธ์ ก็เห็นอยู่ 5 ลักษณะเหล่านี้"

(5 ลักษณะแห่งความดับของเวทนาขันธ์ ฯลฯ)

"พระภิกษุเห็นความดับของเวทนาขันธ์โดยความหมายว่าดับไปเพราะปัจจัย คือ อวิชชานิโรธา…..ตณหานิโรธา…..กมมนิโรธา…..ผสสนิโรธา เวทนานิโรโธ - เพราะอวิชชาดับไป เวทนาจึงดับไป 1 เพราะตัณหาดับไป เวทนาจึงดับไป 1 เพราะกรรมดับไป เวทนาจึงดับไป 1 เพราะผัสสะดับไป เวทนาจึงดับไป 1 ทั้งเมื่อเห็นลักษณะของความแปรผันก็เห็นความดับของเวทนาขันธ์ด้วย 1 เมื่อเห็นความดับของเวทนาขันธ์ ก็เห็นอยู่ 5 ลักษณะเหล่านี้"

"และของสัญญาขันธ์ ของสังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ก็เหมือนของเวทนาขันธ์ ส่วนของวิญญาณขันธ์มีความแตกต่างกันดังนี้ คือ ในที่ "ผสส….."(เปลี่ยนเป็น) ว่า "นามรูปสมุทยา…..นามรูปนิโรธา…..เพราะนามและรูปเกิดขึ้น…..เพราะนามและรูปดับไป….."ดังนี้

เมื่อโยคีนั้นมาสิการอยู่อย่างนี้ ญาณ (คือความรู้)ว่า "ทราบว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ไม่มี แล้วมีขึ้น มีแล้ว กลับดับไป ด้วยประการฉะนี้ ก็ปรากฏแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น

(เห็นโดยปัจจัยและโดยขณะ)

เมื่อโยคีนั้นเห็นความเกิดและดับโดย 2 ทาง คือ โดยปัจจัย 1 และโดยขณะ 1 อยู่อย่างนี้ ความแตกต่างกันของสัจจะ ของปฏิจจสมุปบาท ของนัย และของลักษณะ ก็ปรากฏชัดเพราะว่าการที่โยคีนั้นเห็นความเกิดขึ้นของขันธ์ทั้งหลายเพราะมีปัจจัย คืออวิชชาเป็นต้นเกิดขึ้น และเห็นความดับของขันธ์ทั้งหลายเพราะมีปัจจัยคืออวิชชาเป็นต้นดับไป นี้

(หน้าที่ 320)

เป็นการเห็นความเกิดและความดับโดยปัจจัยของโยคีนั้น แต่ว่าการที่โยคีเห็นอยู่ซึ่งลักษณะแห่งความเกิดและลักษณะแห่งความแปรผัน ก็เห็นความเกิดและความดับของขันธ์ทั้งหลายนี้เป็นการเห็นความเกิดและความดับโดยขณะของโยคีนั้น เพราะว่าลักษณะแห่งความเกิด (นิพพัตติลักขณะ) ก็มีเฉพาะในขณะเกิดขึ้นเท่านั้น และลักษณะแห่งความแปรผันก็มีเฉพาะในขณะแตกดับ (ภังคขณะ) เท่านั้น เพราะเหตุนี้ เมื่อโยคีนั้นเห็นความเกิดขึ้นและความดับไปโดย 2 ทาง คือ โดยปัจจัย 1 และโดยขณะ 1 อยู่อย่างนี้ สมุทยสัจจ์ก็ปรากฏชัดด้วยการเห็นความเกิดขึ้นโดยปัจจัยเพราะรู้ลงไปถึงปัจจัยผู้ให้เกิด ทุกขสัจจ์ก็ปรากฏชัดด้วยการเห็นความเกิดขึ้นโดยขณะเพราะรู้ลงไปถึงว่าความเกิดเป็นทุกข์ นิโรธสัจจ์ก็ปรากฏชัดด้วยการเห็นความดับโดยปัจจัยเพราะรู้ลงไปถึงความไม่เกิดขึ้นของธรรมทั้งหลายที่มีปัจจัย เพราะความไม่เกิดขึ้นของปัจจัย ทุกขสัจจ์อีกนั่นแหละปรากฏชัดด้วยการเห็นความดับไปโดยขณะเพราะรู้ลงไปถึงว่าความตายเป็นทุกข์ และการเห็นความเกิดขึ้นและความดับไป (โดยปัจจัยและโดยขณะ) ใดของโยคีนั้น นี้เป็นมรรคฝ่ายโลกิยะ เพราะเหตุนี้ มัคคสัจจ์จึงปรากฏชัดเพราะกำจัดเสียได้ซึ่งความฟั่นเฝือในความเกิดขึ้นและความดับไปนั้น

อนึ่ง ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายอนุโลมก็ปรากฏชัดแก่โยคีนั้นด้วยการเห็นความเกิดขึ้นโดยปัจจัยเพราะรู้ลงไปถึงว่า "อิมสุมึ สติ อิทํ โหติ - เมื่อสิ่งนี้มีอยู่ สิ่งนี้จึงมี" ดังนี้ ปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายปฏิโลมก็ปรากฏชัด ด้วยการเห็นความดับไปโดยปัจจัยเพราะรู้ลงไปถึงว่า อิมสฺสนิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ - เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับ" ดังนี้ แต่ว่าธรรมทั้งหลายที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปปันนธรรม) เป็นธรรมปรากฏชัดด้วยการเห็นความเกิดขึ้นและความดับไป โดยขณะเพราะรู้ลงไปถึงสังขตลักษณะว่า "เพราะธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งทั้งหลายมีความเกิดและความดับ และธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งทั้งหลายเหล่านั้น เป็นธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น" ดังนี้

อนึ่ง เอกัตตนัย (นัยแห่งความเป็นธรรมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) ก็ปรากฏชัดแก่โยคีนั้น ด้วยการเห็นความเกิดขึ้นโดยปัจจัยเพราะรู้ลงไปถึงความไม่ขาดสายของความสืบต่อ ด้วยความสัมพันธ์ของเหตุและผลในขณะนั้น โยคีก็ละอุจเฉททิฏฐิได้ดียิ่งขึ้น นานัตตนัย (นัยแห่งความเป็นธรรมต่าง ๆ กัน) ก็ปรากฏชัดด้วยการเห็นความเกิดขึ้นโดยขณะเพราะรู้ลง

(หน้าที่ 321)

ไปถึงความเกิดขึ้นของสังขารใหม่ ๆ ในขณะนั้น โยคีก็ละสัสสตทิฏฐิได้ดียิ่งขึ้น และ อัพยปารนัย (นัยแห่งความไม่ขวนขวาย) ก็ปรากฏชัดแก่โยคีนั้นด้วย ด้วยการเห็นความเกิดขึ้นและความดับไปโดยปัจจัย เพราะรู้ลงไปถึงความที่ธรรมทั้งหลายไม่เป็นไปในอำนาจ ในขณะนั้น โยคีก็ละอัตตทิฏฐิ (ความเห็นว่ามีอัตตา) ได้ดียิ่งขึ้น แต่ เอวังธัมมตานัย (นัยแห่งความเป็นธรรมดาของธรรมทั้งหลายอย่างนั้นเอง) ก็ปรากฏชัด ด้วยการเห็นความเกิดขึ้นโดยปัจจัย เพราะรู้ลงไปถึงความเกิดขึ้นผลโดยสมควรแก่ปัจจัย ในขณะนั้น โยคีก็ละอกิริยทิฏฐิ (ความเห็นว่ากรรมที่กระทำไปไม่เป็นกรรม) ได้ดียิ่งขึ้น

อนึ่ง อนัตตลักษณะก็ปรากฏชัดแก่โยคีนั้น ด้วยการเห็นความเกิดขึ้นโดยปัจจัย เพราะรู้ลงไปถึงความที่ธรรมทั้งหลายเป็นไปต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยโดยปราศจากการจะกระทำอนิจจลักษณะก็ปรากฏชัด ด้วยการเห็นความเกิดขึ้นและความดับไปโดยขณะ เพราะรู้ลงไปถึงความมีและความไม่มี (เกิดแล้วดับ) และเพราะรู้ลงไปถึงความว่างเปล่าของปัจจัย….สุดเบื้องปลายด้วย แม้ทุกขลักษณะก็ปรากฏชัดเหมือนอนัตตลักษณะ….ถึงความเบียดเบียนเฉพาะหน้าด้วยความเกิดขึ้นและความ…. ลักษณะก็ปรากฏชัดด้วย เพราะรู้ลงไปถึงธรรมที่กำหนด…..และความดับไป แม้ความที่สังขตลักษณะเป็นไปเพียง…..ปรากฏชัดในสภาวลักษณะ (ลักษณะโดยสภาพตามเป็นจริง….เช่น ไฟ - ร้อน น้ำ - เหลว) เพราะรู้ลงไปถึงความ……ลักษณะแห่งความเกิดขึ้นและเพราะไม่มีความเกิดขึ้นใน 3 ลักษณะแห่งความดับไป ฉะนี้แล

เมื่อโยคีนั้นเป็นผู้เห็นความแตกต่างกันของสัจจะ ของปฏิจจสมุปบาท ของนัย และของลักษณะ ปรากฏชัดอย่างนี้ สังขารทั้งหลายก็ปรากฏเป็นของใหม่อยู่เป็นนิตย์ทีเดียวว่า "ทราบว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านี้มีชื่ออย่างนี้ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นแต่ก่อน ก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป" และมิใช่แต่ปรากฏเป็นของใหม่อยู่เป็นนิตย์เท่านั้น สังขารทั้งหลายยังปรากฏว่ามีปกติตั้งอยู่ชั่วเวลาเล็กน้อย ประดุจหยาดน้ำค้างในเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น ประดุจต่อมน้ำ ประดุจรอยขีดด้วยไม้บนผิวน้ำ ประดุจเมล็ดพรรณผักกาดบนปลายเข็ม และประดุจสาย

(หน้าที่ 322)

ฟ้าแลบ อีกทั้งปรากฏว่าไม่มีแก่นสารและไร้สาระ ประดุจมายากล พยับแดด ความฝัน ดวงดุ้นฟืน (ที่ติดไฟ) คนธรรพนคร (วิมานในอากาศ) ฟองน้ำ และต้นกล้วย เป็นต้น

ด้วยภาวนาวิธีเท่าที่กล่าวมานี้ เป็นอันว่าโยคีท่านนี้ได้บรรลุแล้ว ซึ่ง ตรุณวิปัสสนาญาณ (วิปัสสนาญาณอย่างอ่อน) อันดับแรก มีชื่อว่า อุทยพยานุปัสสนาญาณ (อย่างอ่อน) ซึ่งแทงตลอดลักษณะครบถ้วน 50 โดอาการนี้ว่า "สิ่งที่มีความดับไปเป็นธรรมดานั่นเองเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถึงความดับไป" ดังนี้ ซึ่งโดยเหตุที่ได้บรรลุ (ตรุณวิปัสสนาญาณนี้) โยคีท่านนั้นก็ถึงการนับว่า "อารทฺธวิปสฺสโก - ผู้เริ่มต้นบำเพ็ญวิปัสสนา"

ในระยะนั้น ด้วยตรุณวิปัสสนานี้ วิปัสสนูปกิเลส สิ่งที่ทำให้วิปัสสนาหม่นหมอง) ก็เกิดขึ้นแก่โยคีนั้น ผู้เริ่มต้นบำเพ็ญวิปัสสนา ความจริง วิปัสสนูปกิเลสจะไม่เกิดขึ้นแก่

1. พระอริยสาวกผู้บรรลุปฏิเวธแล้ว

2. ผู้ปฏิบัติผิด (เมต้นมาแต่ศีลวิบัติ)

3. ผู้ละทิ้งกัมมัฏฐาน และ

4. บุคคลเกียจคร้าน (แม้ปฏิบัติถูกต้องมาแต่เริ่มต้น)

แต่จะเกิดขึ้นแก่กุลบุตรผู้ปฏิบัติโดยชอบ ประกอบความเพียรแล้วประกอบเล่า ผู้เริ่มต้นบำเพ็ญวิปัสสนาแล้วเท่านั้น

แต่ว่า อุปกิเลส 10 เหล่านั้น คืออะไรบ้าง ? คือ

1. โอภาส แสงสว่าง

2. ญาณ ความรู้

3. ปีติ ความเอิบอิ่ม

4. ปัสสัทธิ ความสงบ

(หน้าที่ 323)

5. สุข ความสุข

6. อธิโมกข์ ความเชื่อ - ศรัทธา

7. ปัคคาหะ ความเพียร - วีริยะ

8. อุปัฏฐาน ความเข้าไปตั้งอยู่ - สติ

9. อุเบกขา ความวางเฉย

10. นิกันติ ความใคร่

ความจริง ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระก็ได้กล่าวคำนี้ ไว้แล้วว่า "ใจที่ถูกความฟุ้งซ่านในธรรม (คืออุปกิเลส) ครอบงำ เป็นอย่างไร ? พระภิกษุเมื่อกระทำในใจอยู่โดยความไม่เที่ยง โอภาสก็เกิดขึ้น พระภิกษุนั้นรำพึงถึงโอภาสอยู่ว่า "โอภาสเป็นธรรม" ความฟุ้งซ่านเพราะโอภาสเป็นเหตุนั้น เป็นอุทธัจจะ พระภิกษุผู้มีใจอันอุทธัจจะนั้นครอบงำแล้ว ไม่กำหนดรู้ความโดยไม่เที่ยงตามเป็นจริง ไม่กำหนดรู้ความปรากฏโดยความเป็นทุกข์….. โดยความเป็นอนัตตาตามเป็นจริง….. อนึ่ง เมื่อภิกษุนั้นกระทำในใจอยู่โดยความไม่เที่ยง ญาณก็เกิดขึ้น….. ปีติ….. ปัสสัทธิ….. สุข….. อธิโมกข์….. ปัคคาหะ…… อุปัฏฐานะ…. อุเบกขา….. นิกันติ ก็เกิดขึ้น พระภิกษุนั้นรำพึงถึงนิกันติอยู่ว่า "นิกันติเป็นธรรม" ความฟุ้งซ่านเพราะนิกันติเป็นเหตุนั้นเป็นอุทธัจจะ พระภิกษุผู้มีใจอันอุทธัจจะนั้นครอบงำแล้ว ไม่กำหนดรู้ความปรากฏโดยความไม่เที่ยงตามเป็นจริง ไม่กำหนดรู้ความปรากฏโดยความเป็นทุกข์….โดยความเป็นอนัตตาตามเป็นจริง" ดังนี้

[1. โอภาส]

ในอุปกิเลส 10 นั้น คำว่า "โอภาส - แสงสว่าง" ได้แก่ วิปัสสโนภาส (คือแสงสว่างในวิปัสสนา) เมื่อวิปัสสโนภาสนั้นเกิดขึ้น โยคาวจรก็คิดว่า "แสงสว่างเห็นปานนี้ไม่เคยเกิดขึ้นแก่ฉันในกาลก่อนแต่นี้เลยหนอ ฉันเป็นผู้บรรลุมรรคแล้ว ฉันเป็นผู้บรรลุแล้วเป็นแน่" ดังนี้แล้วถือเอาสิ่งมิใช่มรรคนั่นแหละว่า "มรรค" และถือเอาสิ่งมิใช่ผลนั่นแลว่า "ผล" เมื่อ

(หน้าที่ 324)

โยคาวจรนั้นถือเอาสิ่งที่มิใช่มรรคว่า "มรรค" สิ่งที่มิใช่ผลว่า "ผล" วิถีของวิปัสสนาก็ชื่อว่า ก้าวออกไปนอกทาง โยคาวจรนั้นก็ละทิ้งมูลกัมมัฏฐาน คือ กัมมัฏฐานเดิม ของตน แล้วนั่งชื่นชมโอภาสอยู่นั่นแล

อนึ่ง สำหรับพระภิกษุบางท่าน โอภาสนี้นั้นเกิดขึ้นส่องสว่างเพียงฐานบัลลังก์เท่านั้น สำหรับบางท่าน ส่องสว่างตลอดภายในห้อง สำหรับบางท่าน ส่องสว่างภายนอกห้องด้วย สำหรับบางท่าน ส่องสว่างไปทั่ววิหารทั้งสิ้น สำหรับบางท่าน ส่องสว่างไปตลอดคาวุต….ตลอดครึ่งโยชน์…ตลอด 1 โยชน์….ตลอด 2 โยชน์….ตลอด 3 โยชน์….ฯลฯ…..สำหรับบางท่าน โอภาสนั้นทำให้สว่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตั้งแต่พื้นปฐพีขึ้นไปถึงพรหมโลกชั้นอกนิฏฐ์ แต่ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเกิดขึ้นส่องสว่างไปตลอด 10.000 โลกธาตุ ในการประมาณแตกต่างกันของโอภาสนั้น โดยประการดังกล่าวนี้ มีเรื่อง (เป็นอุทาหรณ์) ดังนี้

เล่ากันว่า พระเถระ 2 ท่านนั่งอยู่ภายในเรือนมีฝา 2 ด้าน ณ จิตตลบรรพต และวันนั้นเป็นวันอุโบสถข้างแรม ทั่วทิศปกคลุมไปด้วยแผ่นเมฆ ความมืดประกอบด้วยองค์ 4 เป็นไปอยู่ในภาคราตรีกาล ในคืนนั้น พระเถระท่านหนึ่งกล่าวว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดอกไม้ 5 สี ปรากฏแก่กระผมอยู่บนสีหาสนะในลานพระเจดีย์ ณ บัดนี้" อีกท่านกล่าวกะพระเถระนั้นว่า "อาวุโส ท่านพูดถึงสิ่งไม่น่าอัศจรรย์ ก็บัดนี้ เต่าและปลาทั้งหลายในสถานที่ 1 โยชน์ ในมหาสมุทร ปรากฏอยู่แก่ผม"

แต่วิปัสสนูปกิเลสนี้เกิดขึ้นแก่ท่านผู้ได้สมถวิปัสสนาโดยมาก เพราะกิเลสทั้งหลายที่ข่มไว้ด้วยสมาบัติไม่กำเริบ ท่านผู้ได้สมถวิปัสสนานั้นจึงเกิดความคิดว่า "ฉันเป็นพระอรหันต์" เหมือนท่านมหานาคเถระผู้อยู่ในอุจจังกวาลิก เหมือนท่านมหาทัตตเถระผู้อยู่ในหังกนกะ และเหมือนท่านจูฬสุมนเถระผู้อยู่ในนิงกเปณณกปธานฆระ บนภูเขาจิตตละบรรดาพระเถระ 3 ท่านนั้น มีการแสดงด้วยเรื่องของพระเถระท่านหนึ่งดังต่อไปนี้

(หน้าที่ 325)

[เรื่องท่านมหานาคเถระผู้อยู่ในอุจจังกวาลิก]

เล่ากันว่า พระเถระท่านหนึ่งมีนามว่า ท่านธัมมทินนเถระ ผู้อยู่ในตลังคระ เป็นพระมหาขีณาสพ ผู้มีปฏิสัมภิทาแตกฉาน เป็นผู้ให้โอวาทแก่พระภิกษุหมู่ใหญ่ วันหนึ่ง ท่านนั่งอยู่บนอาสนะสำหรับพักกลางวันของตนแล้วรำพึงอยู่ว่า "พระอาจารย์ของเราคือท่านมหานาคเถระ ผู้อยู่ในอุจจังกวาลิก ถึงที่สุดกิจของความเป็นสมณะแล้ว หรือไม่หนอ" ก็เห็นว่า ท่านยังเป็นปุถุชนอยู่นั่นเอง และรู้ว่า "เมื่อเราไม่ไป ท่านก็จักทำกาลกิริยาของปุถุชนเป็นแท้" จึงเหาะขึ้นสู่เวหาสด้วยฤทธิ์ ไปลง ณ ที่ใกล้พระเถระซึ่งนั่งอยู่บนอาสนะสำหรับพักกลางวัน ไหว้แสดงวัตรแล้ว นั่งอยู่ ณ ด้านหนึ่ง เมื่อพระเถระ (ผู้เป็นพระอาจารย์) พูดขึ้นว่า "อาวุโส ธัมมทินนะ เหตุไรจึงมาผิดเวลา ?" ท่านจึงกราบเรียนว่า "กระผมมาเพื่อถามปัญหาขอรับ" ครั้นแล้ว เมื่อพระเถระกล่าวอนุญาตว่า "ถามเถิด อาวุโส เมื่อรู้ก็จักบอก" ท่านธัมมทินนเถระจึงเรียกถามปัญหา 1.000 ปัญหา พระเถระก็กล่าวแก้ปัญหาที่ถามมา ๆ ได้ไม่ติดขัดเลย จากนั้น เมื่อท่านธัมมทินนเถระเรียนถามว่า "ความรู้ของท่านอาจารย์แก่กล้ามาก ท่านอาจารย์ได้บรรลุธรรมนี้แต่เมื่อไร" พระเถระก็กล่าวว่า "ในกาลแต่บัดนี้ไป 60 ปี อาวุโส" จึงกล่าวเรียนว่า "โปรดใช้สมาธิเถอะ ขอรับ" พระเถระบอกว่า "เรื่องนี้ไม่หนักหนาอะไร อาวุโส" ท่านธัมมทินนเถระกราบเรียนว่า "ถ้ากระนั้น นิมนต์นิรมิตช้างขึ้นสักเชือกเถิด ขอรับ" พระเถระก็นิรมิตช้างเผือกตลอกตลอดทั้งตัวขึ้น ท่านธัมมทินนเถระจึงกราบเรียนว่า "ท่านขอรับ คราวนี้ โปรดทำให้ช้างตัวนี้นั้นกางหูเหยียดหาง เอาวงใสไว้ในปาก ทำเสียงโกญจนาทอย่างน่ากลัว หันหน้าเดินตรงมาหาท่านอาจารย์" พระเถระก็ทำอย่างนั้น ครั้นเห็นอาการอันน่ากลัวของช้างเดินมาโดยเร็ว ก็ลุกขึ้นเริ่มจะหนีไป พระเถระผู้ขีณาสพจึงยื่นมือไปเหนี่ยวชายจีวรไว้ แล้วกราบเรียนท่านอาจารย์นั้นว่า "ท่านขอรับ ชื่อว่าความหวาดกลัวยังมีอยู่แก่พระขีณาสพหรือ" พระเถระนั้นจึงรู้ในเวลานั้นว่าตนยังเป็นปุถุชน แล้วพูดว่า "อาวุโสธัมมทินนะ โปรดเป็นที่พึงของฉันด้วย" นั่งกระหย่ง ณ ใกล้เท้าท่านธัมมทินนเถระจึงกราบเรียนว่า "ข้าแต่ท่านอาจารย์ กระผมก็มาด้วยตั้งใจจักเป็นที่พึ่งของท่านอาจารย์อยู่แล้ว โปรดอย่าคิดไปเลย" แล้วก็บอกกัมมัฏฐาน (แก่พระเถระผู้เป็นอาจารย์) พระเถระรับกัมมัฏฐานแล้ว ก็ขึ้นสู่ที่จงกรม ในวาระย่างเท้าก้าวที่ 3 (ท่าน) ก็บรรลุพระอรหัตตผลซึ่งเป็นผลชั้นยอด เขาว่า พระเถระเป็นคนโทสจริต พระภิกษุทั้งหลายเห็นปาน (ดังพระเถระ) นี้มัวเคลิบเคลิ้มอยู่ในโอภาสไปเสีย

(หน้าที่ 326)

[2. ญาณ]

คำว่า "ญาณ" หมายถึง วิปัสสนาญาณ ทราบว่า เมื่อโยคีนั้นกำลังเทียบเคียงไตร่ตรองรูปธรรมและอรูปธรรม (รูปและนาม) ทั้งหลายอยู่ ญาณซึ่งมีกระแสปราดเปรียวแหลมคม แก่กล้า ชัดแจ้ง ก็เกิดขึ้น ประดุจดังวชิระของพระอินทร์ที่ทรงซัดออกไป

[3. ปีติ]

คำว่า "ปีติ" หมายถึง ปีติประกอบด้วยวิปัสสนา ทราบว่าในระยะนั้น ปีติ 5 อย่างนี้ คือ

1. ขุททกาปีติ ความเอิบอิ่มเล็กน้อย

2. ขณิกาปีติ ความเอิบอิ่มเพิ่มพูนทุกขณะ

3. โอกกันติกาปีติ ความเอิบอิ่มซ่าเซ็น

4. อุพเพงคาปีติ ความเอิบอิ่มโลดแล่น

5. ผรณาปีติ ความเอิบอิ่มซาบซ่าน

เกิดขึ้นเต็มสรีรกายทั้งสิ้น

[4. ปัสสัทธิ]

คำว่า "ปัสสัทธิ" หมายถึง ปัสสัทธิในวิปัสสนา ทราบว่า เมื่อโยคีนั่งอยู่ในที่พักกลางคืนก็ดี ในที่พักกลางวันก็ดี ในสมัยนั้น ทั้งกายและจิตไม่มีความกระวนกระวาย 1 ไม่มีความหนัก 1 ไม่มีความกระด้าง 1 ไม่มีความไม่ควรแก่งาน (ในการปฏิบัติ) 1 ไม่มีความเจ็บไข้ 1 ไม่มีความคดโกง 1 แต่ทว่าในสมัยนั้นแล กายและจิตของโยคีนั้น สงบ 1 เบา 1 อ่อน 1 ควรแก่งาน 1 ผ่องใส 1 เที่ยงตรง 1 เป็นแท้เลย โยคีนั่นเป็นผู้มีกายและใจอันธรรมทั้งหลายมีปัสสัทธิเป็นต้นเหล่านี้อนุเคราะห์แล้ว ในสมัยนั้นก็เสวยความยินดีที่เรียกว่า มิใช่ของมีอยู่ในมนุษย์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสระบุถึงไว้ว่า

(หน้าที่ 327)

สุญฺญาคารํ ปวิฏฐสฺส สนฺตจิตฺตสฺส ภิกฺขุโน

อมานุสี รตี โหติ สมฺมา ธมฺมํ วิปสฺสโต.

ยโต ยโต สมฺมสติ ขนฺธานํ อุทยพฺพยํ

ลภตี ปีติปาโมชฺชํ อมตํ ตํ วิชานตํ.

แปลความว่า

ความยินดีมิใช่ของมีอยู่ในมนุษย์ ก็มีแก่พระภิกษุผู้

เข้าสู่อาคารเงียบสงัด ผู้มีจิตสงบ เห็นแจ้งธรรมอยู่โดยชอบ

พระภิกษุกำหนดรู้ความเกิดและความดับของขันธ์ทั้งหลาย

(ด้วยอุทยพยญาณ) โดยรูปธรรม หรือโดยอรูปธรรมใด ๆ

ได้ปีติและปราโมทย์ ปีติและปราโมทย์ของพระภิกษุผู้รู้แจ้ง

(ความเกิดและความดับ) นั้น เป็นอมตะ

ปัสสัทธิอันประกอบด้วยธรรมมีลหุตา (ความเบา) เป็นต้น ซึ่งทำให้สำเร็จความยินดีที่มิใช่ของมนุษย์นี้เกิดขึ้นอยู่แก่โยคีนั้น ด้วยประการดังกล่าวนี้

[5. สุข]

คำว่า "สุข" หมายถึง ความสุขประกอบด้วยวิปัสสนา ทราบว่า ในสมัยนั้น ความสุขอันประณีตยิ่งเกิดขึ้นท่วมท้นไปในสรีรกายทั้งสิ้น

[6. อธิโมกข์]

คำว่า "อธิโมกข์" หมายถึง ศรัทธา เพราะว่า ศรัทธาที่สัมปยุตด้วยวิปัสสนานั่นแลเป็นความผ่องใสอย่างยิ่งของจิตและเจตสิก เป็นศรัทธามีกำลัง ก็เกิดขึ้นแก่โยคีนั้น

[7. ปัคคาหะ]

คำว่า "ปัคคาหะ" หมายถึง วิริยะ (คือความเพียร) เพราะว่า ความเพียรที่สัมปยุตด้วยวิปัสสนานั่นแล เป็นความเพียรที่ไม่หย่อนเกินไป ไม่ตึงเกินไป ประคับประคองไว้เป็นอย่างดี ก็เกิดขึ้นแก่โยคีนั้น

(หน้าที่ 328)

[8. อุปัฏฐานะ]

คำว่า "อุปัฏฐานะ" หมายถึง สติ เพราะว่า สติที่สัมปยุตด้วยวิปัสสนานั่นแล เข้าไปตั้งอยู่อย่างดี มั่นคง ฝังลึก ไม่หวั่นไหว ประหนึ่งภูเขาหลวง เกิดขึ้นแก่โยคีนั้น โยคีท่านนั้นรำพึงถึง รำลึกถึง ทำในใจถึง เจาะจงนึกเห็น ซึ่งฐานะใด ๆ ฐานะนั้น ๆ ก็ลิ่วแล่นเข้าไปตั้งอยู่ด้วยสติแก่โยคีนั้น ประหนึ่งปรโลกปรากฏแก่ท่านผู้มีทิพยจักษุ

[9. อุเบกขา]

คำว่า "อุเบกขา" หมายถึง ทั้งวิปัสสนูเปกขาและทั้งอาวัชชนุเปกขา เพราะว่า ในสมัยนั้น ทั้งวิปัสสนูเปกขา ซึ่งมีความเป็นกลางในสังขารทั้งปวง ทั้งอาวัชชนูเปกขาในมโนทวารก็มีกำลัง เกิดขึ้นแก่โยคีนั้น ความจริง เมื่อโยคีนั้นรำพึงถึงฐานะนั้น ๆ อยู่ อุเบกขานั้นก็ดำเนินอย่างแก่กล้าแหลมคม ประดุจดังวชิระของพระอินทร์ที่ทรงซัดออกไป และประดุจดังลูกศรที่เผาร้อนแล้วยิงไปในกองใบไม้

[10. นิกันติ]

คำว่า "นิกันติ" หมายถึง วิปัสสนานิกันติ (ความใคร่ในวิปัสสนา) เพราะว่า นิกันติ มีอาการสงบ สุขุม ก็เกิดขึ้นแก่โยคีนั้น ทำความอาลัยอยู่ในวิปัสสนาอันประดับด้วยอุปกิเลสมีโอภาสเป็นต้น ด้วยประการดังกล่าวนั้น ซึ่งเป็นความใคร่ที่ใคร ๆ ไม่สามารถแม้แต่กำหนดรู้ได้ว่าเป็นกิเลส

อนึ่ง เมื่อโอภาสเกิดขึ้น โยคาวจรยึดถืออยู่ ฉันใด เมื่ออุปกิเลสทั้งหลายแม้เหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็ฉันนั้น โยคาวจรคิดว่า "ในกาลก่อนแต่นี้ ญาณเห็นปานนี้ไม่เคยเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามาก่อนเลย ปีติ….. ปัสสัทธิ….. สุข…… อธิโมกข์…… ปัคคาหะ……. อุปัฏฐานะ…… อุเบกขา…… นิกันติ เห็นปานนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามาก่อนเลย ข้าพเจ้าเป็นผู้บรรลุมรรคแล้ว ข้าพเจ้าเป็นผู้บรรลุผลแล้ว" แล้วยึดถือสิ่งที่มิใช่มรรคนั่นแหละว่าเป็นมรรค ยึดถือสิ่งที่มิใช่ผลนั่นแหละว่าเป็นผล เมื่อโยคาวจรนั้นยึดถือสิ่งมิใช่มรรค ว่าเป็นมรรค สิ่งมิใช่ผล ว่าเป็นผล วิปัสสนาวิถีก็ชื่อว่าก้าวออกนอกทางไปแล้ว โยคาวจรนั้นก็ละทิ้งกัมมัฏฐานเดิมเสีย แล้วนั่งชื่นชมพอใจนิกันอยู่อย่างเดียว ฉะนี้แล

(หน้าที่ 329)

[จำแนกอุปกิเลส 10 โดยคาหะ 3 เป็น 30]

อนึ่ง ในอุปกิเลส 10 นี้ ธรรมทั้งหลายมีโอภาสเป็นต้น ท่านเรียกว่า "อุปกิเลส" เพราะเป็น สัตถุ (ที่ตั้ง) ของอุปกิเลส มิใช่เพราะเป็นอกุศล ส่วนนิกันติเป็นทั้งอุปกิเลส เป็นทั้งวัตถุของอุปกิเลสด้วย และอุปกิเลสเหล่านี้ มี 10 โดยทาง วัตถุ (ดังกล่าวแล้ว) แต่โดยทาง คาหะ (ความยึดถือ) มี 30 ถ้วน มี 30 ถ้วนโดยทางคาหะเป็นอย่างไร ? เพราะว่า เมื่อโยคีคาวจรยึดถืออยู่ว่า "โอภาสเกิดขึ้นแก่เราแล้ว" ดังนี้ เป็น ทิฏฐิคาหะ (ยึดถือด้วยทิฏฐิ) 1 เมื่อยึดถืออยู่ว่า "โอภาสน่าพึงพอใจจริงหนอเกิดขึ้นแล้ว" ดังนี้ เป็น มานคาหะ (ยึดถือด้วยมานะ) 1 เมื่อโยคาวจรชื่นชมโอภาสอยู่ เป็น ตัณหาคาหะ (ยึดถือด้วยตัณหา) 1 ในโอภาสมีคาหะ 3 โดยทางทิฏฐิ 1 มานะ 1 และตัณหา 1 ด้วยประการฉะนี้ แม้ในอุปกิเลสทั้งหลายที่เหลือก็มี (อย่างละ 3) เหมือนกัน เพราะเหตุนี้ จึงมีอุปกิเลสรวม 30 ถ้วน โดยทางคาหะ ด้วยอาการดังกล่าวนี้

โยคาวจรผู้ไม่ฉลาด ไม่เฉียบแหลม ก็หวั่นไหว ฟุ้งซ่านอยู่ในอุปกเลสทั้งหลายมีโอภาสเป็นต้น ด้วยอำนาจของคาหะเหล่านั้น เห็นอยู่เสมอเนือง ๆ ซึ่งอุปกิเลสทั้งหลายมีโอภาสเป็นต้น แต่ละอย่าง ๆ ว่า "นี้เป็นของฉัน ฉันเป็นนี้ นี้เป็นอัตตาของฉัน" ดังนี้ เพราะฉะนั้น ท่านพระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

โอภาเส เจว ญาเณ จ ปีติยา จ วิกมฺปติ

ปสฺสทฺธิยา สุเข เจว เยหิ จิตฺตํ ปเวธติ.

อธิโมกฺเข จ ปคฺคาเห อุปฏฐาเน จ กมฺปติ

อุเปกฺขาวชฺชนายญฺจ อุเปกฺขาย นิกนฺติยา.

แปลความว่า

โยคาวจรหวั่นไหวอยู่ในเพราะโอภาส ในเพราะญาณ

และในเพราะปีติด้วย ในเพราะปัสสัทธิและในเพราะสุข

ด้วยเหมือนกัน ซึ่งเป็นเหตุหวั่นไหวของจิตและหวั่นไหวอยู่

ในเพราะอธิโมกข์ ในเพราะปัคคาหะและในเพราะอุปัฏฐานะ

ด้วย ทั้งในเพราะอาวัชชนูเปกขาและในเพราะนิกันติด้วย

(หน้าที่ 330)

แต่โยคาวจรผู้ฉลาด ผู้เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม ถึงพร้อมด้วยความรู้ เมื่ออุปกิเลสทั้งหลายมีโอภาสเป็นต้นเกิดขึ้น ก็กำหนดรู้ ใคร่ครวญเห็นมัน ด้วยปัญญาดังนี้ว่า "โอภาสนี้แลเกิดขึ้นแก่เราแล้ว แต่โอภาสนี้นั้นแล ไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่งไว้ อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายราคะไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา" ด้วยประการฉะนี้บ้าง ก็หรือว่าโยคาวจรนั้นมีความคิดในขณะนั้นอย่างนี้ว่า "ถ้าโอภาสนี้พึงเป็นอัตตาไซร้ การถือ (โอภาสนั้น) ว่า "อัตตา" ก็ควร แต่โอภาสนี้ มิใช่อัตตาเลย ถือว่า "เป็นอัตตา" เพราะฉะนั้น โอภาสนั้นเป็นอนัตตา โดยความหมายว่าไม่เป็นไปในอำนาจ เป็นอนิจจัง โดยความหมายว่ามีแล้วหามีไม่ เป็นทุกขัง โดยความหมายว่าเบียดเบียนเฉพาะหน้าด้วยความเกิดและความดับ" ดังนี้

พึงขยายคำทั้งปวงให้พิสดาร โดยนัยดังกล่าวไว้แล้วในอรูปสัตตกกัมมัฏฐานเถิด อนึ่ง ในโอภาสฉันใด แม้ในอุปกิเลสทั้งหลายที่เหลือก็ฉันนั้น

โยคาวจรท่านนั้นครั้นใคร่ครวญเห็นอย่างนี้แล้ว ก็เห็นอยู่เสมอเนือง ๆ ซึ่งโอภาสว่า "นี้มิใช่ของฉัน ฉันมิใช่สิ่งนี้ นี้มิใช่อัตตาของฉัน" ดังนี้ เห็นอยู่เสมอเนือง ๆ ซึ่งญาณ…. ฯลฯ…..ซึ่งนิกันติว่า "นี้มิใช่ของฉัน ฉันมิใช่สิ่งนี้ นี้มิใช่อัตตาของฉัน" ดังนี้ เมื่อโยคาวจรนั้นเห็นอยู่เสมอเนือง ๆ อย่างนี้ (ท่าน) ก็หวั่นไหว ไม่สั่นคลอนในเพราะอุปกิเลสทั้งหลายมีโอภาสเป็นต้น เพราะฉะนั้น ท่านพระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

อิมานิ ทส ฐานานิ ปญฺญา ยสฺส ปรีจิตา

ธมฺมุทฺจฺจกุสโล โหติ น จ วิกฺเขปํ คจฺฉติ.

แปลความว่า

โยคีใดมีฐานะ 10 (มีโอภาสเป็นต้น) เหล่านี้อบรม

ด้วยปัญญาแล้ว โยคีนั้น เป็นผู้ฉลาดในธัมมุทธัจจะและไม่

ถึงความฟุ้งซ่าน

(หน้าที่ 331)

โยคาวจรท่านนั้นเมื่อไม่ถึงความฟุ้งซ่านดังกล่าวนี้ ก็ถากถางรกชัฏคืออุปกิเลสครบ 30 อย่างนั้นได้แล้ว กำหนดรู้มรรคและมิใช่มรรคได้เองว่า "ธรรมทั้งหลายมีโอภาสเป็นต้นมิใช่มรรค แต่วิปัสสนาญาณที่พ้นแล้วจากอุปกิเลส ดำเนินไปตามวิถี (ของวิปัสสนา) เป็นมรรค" ดังนี้ ญาณที่รู้มรรคและมิใช่มรรคว่า "นี้คือมรรค นี้มิใช่มรรคของโยคีนั้น พึงทราบว่าเป็น มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ" ด้วยประการฉะนี้

ก็แล ด้วยประการดังกล่าวมาเพียงนี้ เป็นอัน ท่านโยคีนั้นได้กระทำการกำหนดรู้สัจจะ 3 แล้ว ทำการกำหนดรู้แล้วอย่างไร ? คือว่า การกำหนดรู้สัจจะ 3 เป็นอันโยคีนั้นทำก่อนแล้วด้วยญาณชั้นโลกิยะเท่านั้น อย่างนี้คือ การกำหนดรู้ทุกขสัจจ์ด้วยการกำหนดรู้นามและรูป เป็นอันโยคีนั้นกระทำมาก่อนแล้วใน ทิฏฐิวิสุทธิ การกำหนดรู้สมุทยสัจจ์ด้วยการกำหนดรู้ปัจจัย เป็นอันโยคีนั้นกระทำมาแล้วใน กังขาวิตรณวิสุทธิ การกำหนดรู้มัคคสัจจ์ด้วยการจำกัดแต่เพียงมรรคโดยชอบ เป็นอันโยคีนั้นกระทำแล้วใน มัคคมัคคญาณทัสสนวิสุทธิ นี้

ปริจเฉทที่ 20 ชื่อว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินิทเทส

ในอธิการแห่งปัญญาภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน ดังนี้