วิสุทธิมรรค_15_อายตนธาตุนิทเทส

อยู่ในระหว่างปรับสำนวน

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)

อายตนะ 12

ปริเฉทที่ 15 อายตนธาตุนิทเทส

(หน้า 72)

อายตนะ 12 คือ จักขายตนะ รูปายตนะ โสตายตนะ สัททายตนะ ฆานายตนะ คันธายตนะ ชิวหายตนะ รสายตนะ กายายตนะ โผฏฐัพพายตนะ มนายตนะ ธัมมายตนะ ชื่อว่า อายตนะทั้งหลาย

วินิจฉัยในอายตนะเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบโดย

อรรถ โดยลักษณะ โดยความมีเพียงนั้น โดยลำดับ

โดยสังเขป และโดยพิสดาร อนึ่ง โดยเป็นสิ่งพึงเห็น

ด้วยแล

โดยอรรถ

แก้จักษุศัพท์เป็นต้น

ในบทเหล่านั้น ว่าโดยอรรถ (แห่งศัพท์) ที่แปลกกันก่อน

ธรรมชาติใดย่อมเห็น เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าจักษุ ความ (แห่งศัพท์ว่าจกฺขติ ย่อมเห็น) ว่าย่อมยินดี (ลิ้มรส) รูป และย่อมบอก (ให้รู้) รูป สิ่งใดย่อมแสดงสี เหตุนั้น สิ่งนั้นจึงชื่อว่า รูป ความ (แห่งศัพท์รูปยติ แสดงสี) ว่า รูปเมื่อถึงความเปลี่ยนสีย่อมประกาศความในใจ

ธรรมชาติใดย่อมได้ยิน เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าโสตะ สิ่งใดถูก (ปัจจัยของตน) เลือก (ส่ง) ออกไป เหตุนั้น สิ่งนั้นจึงชื่อว่าสัททะ ความ (แห่งศัพท์ว่า สปฺปติ ถูกส่งออกไป) ว่าถูกเปล่งขึ้น (ให้เป็นสิ่งพึงรู้ได้ทางโสตะ)

ธรรมชาติใดย่อมสูด (เอากลิ่น) ได้ เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าฆานะ สิ่งใดย่อมฟุ้งไปได้ เหตุนั้น สิ่งนั้นจึงชื่อว่าคันธะ (กลิ่น) ความ (แห่งศัพท์ว่า คนฺธยติ ย่อมฟุ้งไป) ว่า สิ่งที่อยู่ของตน

(หน้า 73)

ธรรมชาติใดย่อมเรียกชีวิต เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าชิวหา สัตว์ทั้งหลายย่อมชอบใจซึ่งวิสัยนั้น เหตุนั้นวิสัยนั้นจึงชื่อว่ารส (วิสัยเป็นที่ชอบใจแห่งสัตว์ทั้งหลาย) ความ (แห่งศัพท์ว่า รสนฺติ ชอบใจ) ว่ายินดี (รู้สึกอร่อย)

ธรรมที่ชื่อว่ากาย เพราะเป็นอายะ (ที่มา) แห่งกุจฉิตธรรม (ธรรมเลว) คือสาสวธรรม (ธรรมที่เป็นไปกับอาสวะ) ทั้งหลาย คำว่า อายะ (ที่มา) ได้แก่ที่เกิด

สิ่งใดถูกต้องได้ (ด้วยกาย) เหตุนั้น สิ่งนั้น จึงชื่อว่าโผฏฐัพพะ

สภาพใดย่อมรู้ เหตุนั้น สภาพนั้นจึงชื่อว่ามนะ สภาพทั้งหลายใดย่อมทรงไว้ ซึ่งลักษณะของตน เหตุนั้น สภาพทั้งหลายนั้นจึงชื่อว่าธรรม

แต่ (เมื่อว่า) โดยไม่แปลกกัน พึงทราบว่าทวารและอารมณ์มีจักษุและรูปเป็นต้น นั้นได้ชื่อว่าอายตนะ เพราะเป็นที่สืบต่อ 1 เพราะแผ่อายตนะทั้งหลาย 1 และนำอายตนะไป 1

(อรรถนัยที่ 1 คือ อายตนโต เพราะเป็นที่สืบต่อ) มีอธิบายว่า ก็จิตและเจตสิกธรรมทั้งหลาย ย่อมสืบต่อ คือหมั่นเพียรพยายามไปตามกิจ (คือหน้าที่) ของตน ๆ มีการเสวย (รสอารมณ์) เป็นอาทิในทวารและอารมณ์นั้น ๆ มีจักขุและรูปเป็นต้น (เพราะเหตุนั้น ทวารและอารมณ์นั้น ๆ จึงชื่อว่า อายตนะ แปลว่า เป็นที่สืบต่อแห่งจิตและเจตสิกธรรมทั้งหลาย)

(อรรถนัยที่ 2 คือ อายานํ ตนนโต เพราะแผ่อายะทั้งหลาย) มีอธิบายว่า ก็แลทวารและอารมณ์ทั้งหลายนั้น ย่อมแผ่ คือขยาย (จิตเจตสิก) ธรรมเหล่านั้นอันเป็นอายตนะ (ผู้มา) เพราะเหตุนั้น ทวารและอารมณ์เหล่านั้นจึงชื่อว่า อายตนะ แปลว่า แผ่ขยายอายตนะ คือ จิต และเจตสิกธรรม

(อรรถนัยที่ 3 อายตนสฺส นยนโต เพราะนำอายตนะไป) มีอธิบายว่า ก็ทวารและอารมณ์ทั้งหลายนั้นยังไม่กลับ (คือยังไม่ดับ) เพียงใด ก็ย่อมนำไปคือยังสังสารทุกข์ อันนำไปในสงสาร ซึ่งมีเบื้องต้น เบื้องปลายรู้ไม่ได้ เป็นอายตนะ (คือยึดเยื้อ) ยิ่งนักอยู่แล้ว ให้เป็นไปอยู่นั่นเพียงนั้น (เพราะเหตุนั้น ทวารและอารมณ์ทั้งหลายนั้น จึงชื่อว่าอายตนะ แปลว่า นำอายตนะคือสังสารทุกข์อันยืดเยื้ออยู่แล้วไป)

(หน้า 74)

ธรรมทั้งปวงนี้ ได้ชื่อว่าอายตนะ เพราะเป็นที่สืบต่อ (แห่งจิตและเจตสิก) 1 เพราะแผ่อายตนะ (คือจิตและเจตสิกที่มาในทวารและอารมณ์นั้นๆ) 1 เพราะนำอายตนะ (คือสังสารทุกข์อันยืดเยื้ออยู่แล้ว) ไป 1 โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้

อีกนัยหนึ่ง อายตนะ (ศัพท์) พึงทราบโดยอรรถว่าเป็นสถานที่อยู่ 1 โดยอรรถว่าเป็นบ่อเกิด 1 โดยอรรถว่าเป็นที่ชุมนุม 1 โดยอรรถว่าเป็นถิ่น (หรือแหล่ง) กำเนิด 1 โดยอรรถว่าเป็นเหตุ 1

จริงอย่างนั้น สถานที่อยู่ เรียกว่า อายตนะ (ได้) ในคำว่า อิสฺสรายตน ศาลพระอิศวร วาสุเทวายตนํ ศาลพระวาสุเทพ เป็นต้น ส่วนในพระศาสนานี้ สถานเป็นที่ชุมนุม ก็เรียกอายตนะ (ได้) ในคำว่า สุวณฺณายตนํ บ่อทอง รตนายตนํ บ่อแก้ว (เพชรพลอย) เป็นต้น ส่วนในพระศาสนานี้ สถานเป็นที่ชุมนุม ก็เรียกอายตนะ (ได้) ในคำว่า มโนรเม อายตเน เสวนฺติ นํ วิหฺงคมา ฝูงลิงในอรัญอันเป็นที่ชุมนุมที่น่ารื่นรมณ์ใจย่อมเสพต้นไม้ใหญ่นั้น เป็นต้น ถิ่น (หรือแหล่ง) ดำเนิน ก็เรียกว่าอายตนะ (ได้) ในคำว่า ทกฺขิณาปโถ คุนฺนํอายตนํ ประเทศทักขิณาบถ (แถบใต้) เป็นถิ่นกำเนิดแห่งโคทั้งหลายเป็นต้น ก็เรียกว่าอายตนะ (ได้) ในคำว่า ตตฺร ตเตฺรว สกฺขิภพฺพตํ ปาปุณาติ สติ สติ อายตเน เมื่อเหตุอยู่ เป็นอยู่ ภิกษุนั้นย่อมถึงความเป็นผู้อาจทำให้ประจักษ์ในธรรมนั้น ๆ ทีเดียว เป็นต้น

อีกปริยายหนึ่ง จิตและเจตสิกธรรมนั้น ๆ ก็ (เป็นเหมือน) อาศัยอยู่ในทวารและอารมณ์ทั้งหลายมีจักขุเป็นต้น เพราะมีความเป็นไปเนื่องกับจักขุเป็นต้นนั้น เหตุนั้น ทวารและอารมณ์มีจักขุเป็นต้น จึงได้ชื่อว่า เป็นที่อยู่แห่งจิตเจตสิกเหล่านั้นประการ 1

อนึ่ง จิตเจตสิกเหล่านั้น (เป็นเหมือน) เกลื่อนกล่นอยู่ในจักขุเป็นต้น เพราะอาศัยจักขุเป็นต้นนั้น (เป็นทวาร) และเพราะมีรูปเป็นต้นนั้นเป็นอารมณ์ เหตุนั้น ทวารและอารมณ์มีจักขุเป็นต้น จึงได้ชื่อว่าเป็นบ่อเกิดแห่งจิตและเจตสิกเหล่านั้นประการ 1

ทวารและอารมณ์มีจักขุเป็นต้น ได้ชื่อว่าเป็นที่ชุมนุมแห่งจิตและเจตสิกเหล่านั้น เพราะ

(หน้า 75)

(จิตและเจตสิกเหล่านั้นเป็นเหมือน) ประชุมกันอยู่ในทวารและอารมณ์นั้น ๆ โดย (มีจักขุเป็นต้นนั้น) เป็นวัตถุ (ที่ตั้งอยู่) เป็นทวารและเป็นอารมณ์ประการ 1

ทวารและอารมณ์มีจักขุเป็นต้น ได้ชื่อว่า เป็นแหล่งกำเนิดแห่งจิตและเจตสิกเหล่านั้น เพราะ (จิตและเจตสิกเหล่านั้น) เกิดขึ้นแต่ในจักขุเป็นต้นนั้นเท่านั้น โดยมีจักขุเป็นต้น เป็นที่อาศัยและมีรูปเป็นต้นเป็นอารมณ์ประการ 1

ทวารและอารมณ์มีจักขุเป็นต้น ได้ชื่อว่าเป็นเหตุแห่งจิตและเจตสิกทั้งหลายนั้น เพราะเมื่อทวารและอารมณ์เหล่านั้นไม่มี (จิตและเจตสิก) ก็ไม่มีประการ 1

ธรรมทั้งหลาย (มีจักขุและรูปเป็นต้น) นั้นได้ชื่อว่าอายตนะ โดยเหตุเหล่านี้คือ โดยอรรถว่า เป็นสถานที่อยู่ 1 โดยอรรถว่าเป็นบ่อเกิด 1 โดยอรรถว่าเป็นที่ชุมนุม 1 โดยอรรถว่าเป็นถิ่น (หรือแหล่ง) กำเนิด 1 โดยอรรถว่าเป็นเหตุ 1 โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้แล

เพราะเหตุนั้น วินิจฉัยในอายตนะเหล่านี้ พึงทราบโดยอรรถอย่างนี้ก่อนว่า จักขุนั้นเป็นอายตนะโดยอรรถตามที่กล่าวมาแล้วด้วย เหตุนั้น จึงชื่อว่าจักขายตนะ ฯลฯ ธรรมทั้งหลายด้วย ธรรมเหล่านั้นเป็นอายตนะโดยอรรถตามที่กล่าวแล้วด้วย เหตุนั้น จึงชื่อว่าธัมมายตนะ

คำว่า ลักษณะ คือวินิจฉัยในอายตนะเหล่านี้ พึงทราบโดยลักษณะแห่งจักขุเป็นต้นด้วย ก็แลลักษณะทั้งหลายแห่งจักขุเป็นต้นเหล่านั้น ๆ บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในขันธนิทเทสเถิด

คำว่า ตาวตวโต คือ ตาวภาวโต โดยความมีเพียงนั้น พระพุทธาธิบายนี้มีอยู่ว่า หากมีคำท้วงว่า ก็ธรรมทั้งหลายมีจักขุเป็นอาทิก็คือธรรมนั่นแหละ เมื่อเช่นนั้น เหตุไฉนจึงไม่ตรัสว่า ธัมมายตนะ แต่เท่านั้น (แต่) ตรัสอายตนะถึง 12 เล่า คำเฉลยพึงมีว่า เพราะในที่นี้

(หน้า 76)

แยกเป็นทวารฝ่าย 1 เป็นอารมณ์ 1 แห่งกองวิญญาณ 6 โดยที่ทรงกำหนด (จักขุและรูปเป็นต้นนั้นไว้) เป็นอุปัตตติทวารและเป็นอารมณ์แห่งกองวิญญาณ 6 นี่เอง เป็นความต่างแห่งธรรมเหล่านั้น เพราะเหตุนี้จึงตรัสอายตนะถึง 12 แท้จริง จักขายตนะเท่านั้นเป็นอุปปัตติทวาร และรูปายตนะเท่านั้นเป็นอารมณ์แห่งกองวิญญาณที่เนื่องในวิถีของจักขุวิญญาณฉันเดียวกันนั้น อายตนะนอกนั้นก็เป็นอุปปัตติทวารและเป็นอารมณ์แห่งกองวิญญาณที่เนื่องในวิถีของจักขุวิญญาณนอกนี้ แต่ว่าการกำหนด(อุปปัตติทวารและอารมณ์)แห่งกองวิญญาณที่ 6 (มโนวิญญาณ) มีเพียงส่วนหนึ่งแห่งมนายตนะ ที่เป็นอุปปัตติทวาร ได้แก่ ภวังคมนายตนะ, และมีธัมมายตนะเป็นอารมณ์ไม่ทั่วไป (แก่วิญาณอื่นมีจักขุวิญาณเป็นต้น)

อายตนะ 12 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโดยที่ทรงกำหนดไว้เป็นอุปปัตติทวารและเป็นอารมณ์แห่งกองวิญาณ 6 ดังนี้แล

วินิจฉัยโดยความมีเพียงอย่างนั้น ในอายตนะเหล่านี้ บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

ข้อว่าโดยลำดับ ความว่า บรรดาลำดับทั้งหลาย มีลำดับความเกิดเป็นต้นที่กล่าวในนิทเทสก่อน แม้ในที่นี้ก็ลำดับการแสดงเท่านั้นแหละใช้ได้ แท้จริงในเหล่าอายตนะภายในจักขายตนะเป็นอายตนะที่ปรากฏ เพราะเป็นวิสัยที่เห็นได้และกระทบได้ เหตุนี้จึงทรงแสดงเป็นข้อแรก ต่อนั้นจึงทรงแสดงอายตนะที่เหลือมีโสตายตนะเป็นต้นซึ่งเป็นวิสัยที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ อีกนัยหนึ่ง ในเหล่าอายตนะภายใน จักขายตนะและโสตายตนะ ทรงแสดงก่อนเพราะเป็นสิ่งมีอุปการะมาก โดยความเป็นเหตุแห่งทัสสนานุตตริยะและสวนานุตตริยะ ต่อนั้นจึงทรงแสดงอายตนะ 3 มีฆานายตนะเป็นอาทิ มนายตนะทรงแสดงไว้ในที่สุดเพราะเป็นโคจรวิสัยแห่งอายตนะ 5 มีจักขายตนะเป็นต้น ส่วนในเหล่าอายตนะภายนอก อายตนะ 6 มีรูปายตนะเป็นต้น ทรงแสดงไว้เป็นลำดับแห่งอายตนะภายในนั้น ๆ เพราะเป็นโคจรแห่งอายตนะภายในมีจักขายตนะเป็นต้น

(หน้า 77)

อีกอย่างหนึ่ง ลำดับของอายตนะทั้งหลายนี้ บัณฑิตพึงทราบโดยกำหนด (แจกไปตามลำดับ) เหตุเกิดแห่งวิญญาณก็ได้ จริงอยู่คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสได้ไว้ว่า "อาศัยจักขุและรูปเกิดจักขุวิญญาณ ฯลฯ อาศัยมนะและธรรมทั้งหลาย เกิดมโนวิญญาณ" ดังนี้

ก็แล วินิจฉัยโดยลำดับในอายตนะเหล่านี้ บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

ข้อว่า โดยสังเขปและโดยพิสดาร ความว่า "เมื่อว่าโดยสังเขปอายตนะทั้ง 12 ก็เป็นแต่นามรูปเท่านั้น เพราะมนายตนะและธัมมายตนะเป็นส่วนหนึ่ง สงเคราะห์เข้ากับนาม และอายตนะที่เหลือนั้นสงเคราะห์เข้ากับรูป แต่เมื่อว่าโดยพิสดาร (ว่า) ในอายตนะภายในก่อน จักขายตนะ โดยชาติก็เป็นแต่จักขุปสาทเท่านั้น แต่แตกออกไปเป็นปัจจัย คติ นิกาย และบุคคล ก็มีประเภทเป็นอนันต์ อายตนะ 4 มีโสตายตนะเป็นต้น ก็อย่างนั้น มนายตนะ มี 89 ประเภท โดยแยกเป็นกุศลวิญญาณ อกุศลวิญญาณ วิปากวิญญาณ และกิริยาวิญญาณ และ (อีกอย่างหนึ่ง) ถึง 121 ประเภท แต่เมื่อแยกเป็นวัตถุและปฏิปทาเป็นต้น ก็มีประเภทเป็นอนันต์

รูปายตนะ สัททายตนะ คันธายตนะ และรสายตนะ ก็มีประเภทเป็นอนันต์ โดยแยกเป็น (สภาค) วิสภาคและปัจจัยเป็นต้น โผฏฐัพพายตนะมี 3 ประเภท ด้วยอำนาจแห่งปฐวีธาตุ เตโชธาตุและวาโยธาตุ (แต่) โดยความแตกต่างแห่งปัจจัยเป็นต้น ก็มีประเภทเป็นอเนก ธรรมายตนะก็มีประเภทเป็นอเนก โดยความแตกต่างแห่งสภาวะและความต่างกันแห่งเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ สุขุมขันธ์ สุขุมรูป และนิพพาน"

วินิจฉัยโดยสังเขปและโดยพิสดาร บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

ส่วนในข้อว่า "โดยเป็นสิ่งพึงเห็น" นี้ มีวินิจฉัยว่า "อายตนะทั้งหลาย ที่เป็นสังขตะทั้งสิ้น พึงเห็นด้วยความไม่มาและโดยความไม่จากไป จริงอยู่ อายตนะเหล่านั้น ก่อนเกิดขึ้นก็มิได้มาแต่ที่ไหน ๆ ทั้งเบื้องหน้าแต่เสื่อมไปก็มิได้ไปในที่ไหน ๆ โดยที่แท้ ก่อนเกิดขึ้น

(หน้า 78)

มันก็ยังไม่ได้ (มี) สภาวะ เบื้องหน้าแต่เสื่อมไป มันก็เป็นสิ่งที่มีสภาวะอันแตกไปแล้ว ในท่ามกลาง (ระหว่าง) ต้นกับปลายก็เป็นสิ่งไม่มีอำนาจเป็นไป เพราะมีความเป็นไปเนื่องด้วยปัจจัย เพราะเหตุนั้น อายตนะเหล่านั้น บัณฑิตพึงเห็นโดยความไม่มาและโดยความไม่จากไปเถิด

นัยเดียวกันนั้น พึงเห็นโดยไม่มีความดำริและโดยไม่มีความขวนขวาย จริงอยู่ ความดำริอย่างนี้ย่อมไม่มีแก่จักขุและรูปเป็นต้นว่า "โดยชื่อว่าวิญญาณพึงเกิดขึ้นในความพร้อมเพรียงของเราทั้งหลายเถิด" ทั้งจักขุและรูปเป็นต้นเหล่านั้นไม่ดำริ ไม่ถึงความขวนขวายโดยความเป็นทวารก็ดี โดยความเป็นวัตถุก็ดี โดยความเป็นอารมณ์ก็ดี เพื่อให้วิญญาณเกิดขึ้น ที่แท้มันเป็นธรรมดานี่เองที่วิญญาณทั้งหลายมีจักขุวิญญาณเป็นอาทิ เกิดขึ้นได้เพราะความพร้อมเพรียงแห่งจักขุและรูปเป็นต้นแล เพราะเหตุนั้น อายตนะเหล่านั้น บัณฑิตพึงเห็นโดยไม่มีความดำริและโดยไม่มีความขวนขวายเถิด

อีกอย่างหนึ่ง อายตนะภายในพึงเห็นเหมือนบ้านร้าง เพราะปราศจากความยั่งยืน ความงาม ความสุข และความเป็นตัวตน อายตนะภายนอกพึงเห็นเหมือนโจรปล้นหมู่บ้าน เพราะอายตนะภายนอกเหล่านั้นเป็นฝ่ายอภิฆาต (กระทบ เบียดเบียน) ซึ่งอายตนะภายใน สมพระบาลีว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักขุถูกรูปทั้งหลายทั้งที่น่าชอบใจ และไม่น่าชอบใจ เบียดเบียนเอา" ดังนี้เป็นต้น ความพิสดาร บัณฑิตพึงทราบ (ตามแนวพระบาลีนั้นเทอญ)

อีกอย่างหนึ่ง อายตนะภายใน พึงเห็นเหมือนสัตว์ 6 จำพวก อายตนะภายนอก พึงเห็นเหมือนที่โคจรแห่งสัตว์ 6 จำพวกนั้น

วินิจฉัยโดยเป็นสิ่งพึงเห็นในอายตนะเหล่านี้ บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

นี่เป็นกถามุขอย่างพิสดารแห่งอายตนะทั้งหลาย เป็นอันดับแรก

ธาตุนิทเทส 18

(หน้า 79)

ส่วนธาตุอันกล่าวไว้ต่ออายตนะนั้นไป มีวินิจฉัยว่า ธาตุ 18 คือ จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ

ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุ ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ชื่อว่าธาตุทั้งหลาย

วินิจฉัยในธาตุเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบโดยอรรถ

โดยลักษณะเป็นต้น โดยลำดับ โดยความมีเพียงนั้น

โดยความนับ (จำนวน) โดยปัจจัย และโดยเป็นสิ่งพึงเห็น

ในข้อเหล่านั้น ข้อว่า โดยอรรถ ความว่า วินิจฉัยโดยอรรถความแปลกกันแห่งจักขุศัพท์ เป็นต้น บัณฑิตพึงทราบโดยนัยเช่นว่า "ธรรมชาติใดย่อมบอก เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า จักขุ สิ่งใดย่อมแสดงสี เหตุนั้นสิ่งนั้นจึงชื่อว่ารูป ความรู้แจ้งแห่งจักขุชื่อว่าจักขุวิญญาณ" ดังนี้เป็นต้นก่อน ส่วนว่าวินิจฉัยโดยอรรถที่ไม่แปลกกัน พึงทราบดังนี้

ธรรมใดย่อมจัด (ทำทุกข์ให้เกิดขึ้น) เหตุนั้น ธรรมนั้นจึงชื่อว่าธาตุ (แปลว่าธรรมผู้จัดขึ้น) หรือว่า ธรรมทั้งหลายใด อันสัตว์ทั้งหลายทรงไว้ (คือถือไว้) เหตุนั้น ธรรมทั้งหลายนั้น จึงชื่อว่าธาตุ (แปลว่า ธรรมที่สัตว์ทรงไว้)

หรือว่า วิธาน การตั้งไว้ (คือกฏเกณฑ์) ชื่อว่าธาตุ

หรือว่า ทุกข์ อันสัตว์ทั้งหลายทรงไว้ (คือถือไว้) ด้วยธรรมชาตินั้น (เป็นเหตุ) เหตุนั้นธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าธาตุ แปลว่า ธรรมชาติเป็นเหตุทรง (ทุกข์) ไว้ แห่งสัตว์ทั้งหลาย

หรือว่า ทุกข์ อันสัตว์ทั้งหลายทรงไว้ (คือตั้งไว้) ในธรรมชาตินั่น เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า ธาตุ (แปลว่า ธรรมชาติเป็นที่อันสัตว์ทรง (ทุกข์) ไว้)

จริงอยู่ ธาตุทั้งหลายที่เป็นโลกิยะ เป็นสิ่งที่ธรรมดากำหนดไว้โดยความเป็นตัวมูลเหตุย่อมจัดแจงสังสารทุกข์ขึ้นเป็นอเนกประการดุจธาตุ (แร่) ทั้งหลาย มีธาตุทอง ธาตุเงิน เป็นอาทิ จัดสรรโลหะมีทองและเงินเป็นต้นขึ้น ฉะนั้น

อนึ่ง โลกิยธาตุทั้งหลายนั้นอันสัตว์ทั้งหลายทรงไว้ หมายความว่า (ยึด) ถือไว้ ดุจภาระ (ของหนัก) อันคนทั้งหลายผู้นำภาระถือ (แบกหาม) ไป ฉะนั้น

(หน้า 80)

อนึ่ง โลกิยธาตุนั้น เป็นแต่ทุกขวิธาน (กฏเกณฑ์แห่งทุกข์) เท่านั้น เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ (ของใคร)

อนึ่ง สังสารทุกข์ อันสัตว์ทั้งหลายตาม (ยึด) ถือไว้ ก็ด้วยธาตุทั้งหลายนั่นเป็นเหตุ

อนึ่ง สังสารทุกข์นั้นที่ถูกจัดไว้อย่างนั้น สัตว์ทั้งหลายก็ทรงไว้ หมายความว่าตั้งไว้ในธาตุทั้งหลายนั่นแล

ในธรรมทั้งหลายมีจักขุเป็นต้น ธรรมแต่ละข้อทรง เรียกว่า ธาตุ ก็ด้วยอำนาจแห่งความหมาย มีความหมายว่า วิทหติ – จัดขึ้น วิธียเต – อันสัตว์ทรงไว้ เป็นต้น ตามความที่เป็นไปดังกล่าวมาฉะนี้

อีกนัยหนึ่ง ธาตุที่หาเหมือนอัตตาของพวกเดียรถีย์ซึ่งมิได้มีอยู่โดยสภาวะไม่ แต่ธาตุนี้ ได้ชื่อว่าธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งสภาวะของตน

อนึ่ง เสลาวยวะ (ชิ้นหิน) ทั้งหลายมีหรดาลและมโนศิลาเป็นต้น อันวิจิตร (แปลก ๆ) ในโลกก็เรียกว่าธาตุ ฉันใด แม้ธาตุทั้งหลายนี้ ก็เหมือนธาตุทั้งหลายนั่น เพราะมันก็เป็นอวัยวะแห่งความรู้และสิ่งที่ควรรู้ อันวิจิตร ฉันนั้นแล หรือเปรียบเหมือนสมญาว่าธาตุย่อมมีได้ในโกฏฐาสะทั้งหลาย อันกำหนดลักษณะต่างกันและกัน เช่น รสและโลหิตเป็นต้น ซึ่งเป็นอวัยวะแห่งกลุ่มกล่าวคือสรีระ ฉันใด สมญาว่าธาตุ ก็พึงทราบ (ว่ามิได้) แม้ในอวัยวะทั้งหลายแห่งอัตภาพกล่าวคือขันธ์ 5 นี่ ฉันนั้น เพราะอวัยวะมีจักขุเป็นต้นนั่นก็กำหนดลักษณะต่างกันและกันได้ผล

อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ธาตุ นั่นเป็นคำเรียกสภาวะที่เป็นนิรชีพ (ไม่มีชีพ) เท่านั้นเอง จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงทำธาตุเทศนาเพื่อถอนชีวสัญญา (ความสำคัญว่าชีพ) ไว้ในพระบาลีว่า "ดูกรภิกษุ บุรุษนี้มีธาตุ 6" ดังนี้เป็นอาทิแล

เพราะเหตุนั้น โดยอรรถตามที่กล่าวมา (บัณฑิตพึงทราบวิเคราะห์ว่า) จักขุนั้นด้วยเป็นธาตุด้วย จึงชื่อว่าจักขุธาตุ จึงชื่อว่าจักขุธาตุ ฯลฯ มโนวิญญาณด้วย มโนวิญญาณนั้นเป็นธาตุด้วย จึงชื่อว่า มโนวิญญาณธาตุแล

วินิจฉัยโดยอรรถในธาตุเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก

(หน้าที่ 81)

ข้อว่า โดยลักษณะเป็นต้น ความว่า วินิจฉัยโดยลักษณะ เป็นต้นแห่งธาตุมีจักขุเป็นอาทิในนิทเทสนี้ บัณฑิตก็พึงทราบด้วย ก็แต่ว่าลักษณะเป็นต้นแห่งธาตุทั้งหลายนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในขันธนิทเทสเถิด

ข้อว่า โดยลำดับ ความว่า แม้ในที่นี้ บรรดาลำดับทั้งหลาย มีลำดับแห่งความเกิดเป็นต้น ที่กล่าวแล้วในนิทเทสก่อน ก็ลำดับแห่งการแสดงเท่านั้นใช้ได้ ก็แลลำดับแห่งการแสดงนี้นั้น ท่านกล่าวโดยกำหนดลำดับแห่งเหตุและผล จริงอยู่ ธาตุทั้ง 2 นี้คือจักขุธาตุ และรูปธาตุเป็นเหตุ ธาตุ 1 คือจักขุวิญญาณเป็นผล ลำดับอย่างนี้ บัณฑิตพึงทราบในธาตุที่เหลือทั้งปวง

คำว่า ตาวตวโต คือ ตาวภาวโต - โดยความมีเพียงนั้น พระพุทธาธิบายนี้ มีอยู่ว่าหากมีคำท้วงว่า "ก็แม้ธาตุทั้งหลายอื่น เช่น อาภาธาตุ สุภธาตุ อากาสานัญจายตนธาตุ วิญญานัญจายตนธาตุ อากิญจัญญายตนธาตุ เนวสัญญานาสัญญายตนธาตุ สัญญาเวทยิตนิโรธธาตุ กามธาตุ พยาปาทธาตุ วิหิงสาธาตุ เนกขัมมธาตุ อัพยาปาทธาตุ อวิหิงสาธาตุ สุขธาตุ ทุกขธาตุ โสมนัสสธาตุ โทมนัสสธาตุ อุเปกขาธาตุ อวิชชาธาตุ อารัมภธาตุ นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ หีนธาตุ มัชฌิมธาตุ ปณีตธาตุ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ สังขตธาตุ อสังขตธาตุ โลกมีธาตุเป็นอเนก มีธาตุต่าง ๆ ดังนี้เป็นต้น ก็ปรากฏอยู่ในบางที่แห่งพระสูตรและพระอภิธรรมนั้น ๆ เมื่อเป็นอย่างนี้ เหตุไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงทำปริจเฉท (กำหนดจัดเข้าเป็นหมวด) โดยอำนาจแห่งธาตุทั้งสิ้น มาทรงทำปริจเฉทแต่ว่าธาตุ 18 เหล่านี้เล่า" ดังนี้ไซร้ คำเฉลยพึงมีว่า "เพราะธาตุทั้งปวงอันมีอยู่โดยสภาวะ ก็ตกอยู่ภายในธาตุ 18 นั้นแล้ว"

(หน้าที่ 82)

แท้จริง อาภาธาตุ ก็คือรูปธาตุ ส่วนสุภธาตุก็เนื่องอยู่ในรูปธาตุเป็นต้น เพราะอะไร ? เพราะสุภธาตุก็คือสุภนิมิต จริงอยู่ สุภธาตุคือสุภนิมิต และสุภนิมิตนั้นพ้นไปจากรูปเป็นต้นหามีไม่ นัยหนึ่ง สุภธาตุก็คือธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้นที่เป็นอารมณ์แห่งกุศลวิบาก เพราะเหตุนั้น สุภธาตุนั้น ก็คือรูปธาตุเป็นต้นเท่านั้นเอง

จิตในอรูปธาตุ 4 มีอากาสานัญจายตนธาตุเป็นต้น ก็เป็นมโนวิญญาณธาตุ ธรรมทั้งหลายที่เหลือเป็นธัมมธาตุ ส่วนสัญญาเวทยิตนิโรธธาตุ ไม่มีโดยสภาวะ เพราะสัญญาเวทยิตนิโรธธาตุนั้น เป็นแต่ความดับแห่งธาตุ 2 (คือมโนวิญญาณธาตุและธัมมธาตุ) เท่านั้น

กามธาตุ ก็เป็นแต่ธัมมธาตุ ดังพระบาลีว่า "ในธาตุเหล่านั้นกามธาตุเป็นอย่างไร ? กามธาตุคือความคิด ความตรึก ฯลฯ ความดำริผิดอันเกี่ยวเนื่องด้วยกาม" ดังนี้ หรือมิฉะนั้น ก็เป็นธาตุทั้ง 18 ดังพระบาลีว่า "เบื้องต่ำทำอเวจีนรกให้เป็นที่สุด เบื้องสูงทำพวกเทพปรนิมมิตวสวัตดีไว้ภายในขันธ์ ธาตุ อายตนะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ท่องเที่ยวอยู่ในภพทั้งหลายนั่น ที่เนื่องอยู่ในภพทั้งหลายนั่น ในระหว่าง (ที่กำหนด) นั้นอันใด อันนี้เรียกว่า กามธาตุ" ดังนี้

เนกขัมมธาตุ เป็นธัมมธาตุแท้ แม้จะเป็นมโนวิญญาณธาตุก็ได้เหมือนกัน เพราะ (มี) บาลีว่า "ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลทั้งปวง ชื่อว่าเนกขัมมธาตุ"

พยาปาทธาตุ วิหิงสาธาตุ อัพยาปาทธาตุ อวิหิงสาธาตุ สุขธาตุ ทุกขธาตุ โสมนัสสธาตุ โทมนัสสธาตุ อุเปกขาธาตุ อวิชชาธาตุ อารัมภธาตุ นิกกมธาตุ และปรักกมธาตุ ก็เป็น ธัมมธาตุเหมือนกัน

หีนธาตุ มัชฌิมธาตุ ปณีตธาตุ ก็คือธาตุ 18 นั่นเอง จริงอยู่ ธาตุมีจักขุธาตุ เป็นต้น ที่เลว ก็เป็นหีนธาตุ ที่ปานกลางและที่ประณีต ก็เป็นมัชฌิมธาตุและปณีตธาตุ แต่ (เมื่อว่า) โดยนิปริยาย (สิ้นเชิง) ธัมมธาตุและมโนวิญญาณธาตุทั้งหลายฝ่ายอกุศลจัดเป็นหีนธาตุ ธาตุทั้งสอง (นั้น) ฝ่ายกุศลและอัพยากฤตที่เป็นโลกิยะ มีจักขุธาตุเป็นต้น จัดเป็นมัชฌิมธาตุ ส่วนธัมมธาตุและมโนวิญญาณธาตุที่เป็นโลกุตตระ จัดเป็นปณีตธาตุ

ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ก็ได้แก่โผฏฐัพพธาตุ อาโปธาตุและอากาสธาตุจัดเป็นธัมมธาตุ วิญญาณธาตุก็เป็นสังเขปแห่งวิญญาณธาตุ 7 มีจักขุวิญญาณเป็นต้นนั่นแหละ

(หน้าที่ 83)

ธาตุ 17 และเอกเทสแห่งธัมธาตุ เป็นสังขตธาตุ ส่วนอสังขตธาตุ ได้แก่ เอกเทสแห่งธัมมธาตุอย่างเดียว

ส่วนโลกที่เป็นอเนกธาตุและนานาธาตุ ก็เป็นเพียงความแตกออกไป (เป็นหลายอย่างต่างชนิด) แห่งธาตุ 18 เท่านั้นเองแล

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธาตุแต่ 18 เพราะธาตุทั้งปวงอันมีอยู่โดยสภาวะ ตกอยู่ภายในธาตุ 18 นั้นแล้ว ดังกล่าวมาฉะนี้

อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธาตุแต่ 18 เพื่อถอนสัญญาของบุคคลจำพวกชีวสัญญี (มีความสำคัญว่ามีชีวะ) ในวิญญาณ อันมีความรู้เป็นสภาพด้วย จริงอยู่ บุคคลจำพวกชีวสัญญีในวิญญาณ อันมีความรู้เป็นสภาพ มีอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธประสงค์จะทรงประกาศความที่วิญญาณนั้นมีเป็นอเนก โดยแตกออกเป็นจักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ ดังกล่าวมานั้น และความที่วิญญาณนั้นเป็นของไม่เที่ยง เพราะมีความเป็นไปเนื่องอยู่ด้วยปัจจัยมีจักขุและรูปเป็นต้น ทรงถอนชีวสัญญาอันนอนเนื่อง (อยู่ในสันดาน) มานานของบุคคลเหล่านั้นเสีย จึงทรงประกาศธาตุ 18

แถมอีกหน่อย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธาตุแต่ 18 เท่านั้น ก็ด้วยอำนาจแห่งอัชฌาสัยของสัตว์ที่จะพึงฝึกสอนได้ด้วยประการอย่างที่กล่าวมานั้นประการหนึ่ง อนึ่งสัตว์เหล่าใดเป็นสัตว์จำพวกที่จะพึงฝึกสอนได้ด้วยเทศนาอันไม่ย่อและไม่พิสดารนัก อันนี้ก็ด้วยอำนาจแห่งอัชฌาสัยของสัตว์จำพวกนั้นประการหนึ่ง

จริงอยู่ ความมืด ในหทัยของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย

อันเดชแห่งพระสัทธรรมของพระองค์กำจัดแล้ว ย่อมถึง

ซึ่งความสลายไปโดยพลัน ด้วยประการใด ๆ พระองค์

ย่อมทรงประกาศธรรมโดยนัยสังเขปบ้าง พิสดารบ้าง

ด้วยประการนั้น ๆ แล

วินิจฉัยโดยความมีเพียงนั้นในธาตุทั้งหลายนั่น บัณฑิตพึงทราบด้วยกล่าวมาฉะนี้

(หน้าที่ 84)

ข้อว่า โดยการนับ (จำนวน) ความว่า อันดับแรก จักขุธาตุ ว่าโดยชาติก็ถึงซึ่งการนับว่าเป็นธรรมจำนวน 1 คือเป็นจักขุประสาท โสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ รูปธาตุ สัททธาตุ คันธธาตุ และรสธาตุ ก็อย่างนั้น คือถึงซึ่งการนับว่าเป็นธรรมจำนวน 1 โดยเป็นโสตประสาทเป็นต้น แต่โผฏฐัพพธาตุถึงซึ่งการนับว่าเป็นธรรมจำนวน 3 ด้วยอำนาจแห่ง ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ ถึงซึ่งการนับว่าเป็นธรรมจำนวน 2 โดยเป็นกุศลวิปากวิญญาณและอกุศลวิปากวิญญาณ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ และกายวิญญาณธาตุ ก็อย่างนั้น ส่วนมโนธาตุถึงซึ่งการนับว่าเป็น ธรรมจำนวน 3 โดยเป็นปัญจทวาราวัชชนะ กุศลวิปากวิญญาณ อกุศลวิบาก และสัมปฏิจฉนะ ธัมมธาตุถึงซึ่งการนับว่าเป็นธรรมจำนวน 20 ด้วยอำนาจแห่งอรูปขันธ์ 3 สุขุมรูป 16 และอสังขตธาตุ มโนวิญญาณถึงซึ่งการนับว่าเป็นธรรมจำนวน 76 ด้วยอำนาจแห่งกุศลวิญญาณ อกุศลวิญญาณและอัพยากฤตวิญญาณที่เหลือแล

วินิจฉัยแม้โดยการนับ (จำนวน) ในธาตุทั้งหลายนั้น บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

ในข้อว่า ปัจจัย นี้มีวินิจฉัยว่า ก่อนอื่น จักขุธาตุเป็นปัจจัยโดยปัจจัย 6 คือเป็น วิปยุตปัจจัย 1 ปุเรชาตปัจจัย 1 อัตถิปัจจัย 1 อวิคตปัจจัย 1 นิสสยปัจจัย 1 อินทริยปัจจัย 1 รูปธาตุเป็นปัจจัยโดยปัจจัย 4 คือเป็นปุเรชาตปัจจัย 1 อัตถิปัจจัย 1 อวิคตปัจจัย 1 อารัมมณปัจจัย 1 แก่จักขุวิญญาณธาตุ ธาตุที่เหลือ (อีก 4 คู่) มีโสตธาตุ และสัททธาตุเป็นต้น ก็เป็นปัจจัยแก่วิญญาณธาตุที่เหลือ มีโสตวิญญาณธาตุเป็นอาทิอย่างนั้น ส่วนอาวัชชนมโนธาตุเป็นปัจจัยโดยปัจจัย 5 คือเป็นสมนันตรปัจจัย 1 อนันตรปัจจัย 1 นัตถิปัจจัย 1 วิคตปัจจัย 1 อนันตรูปนิสสยปัจจัย 1 แก่วิญญาณธาตุทั้ง 5 นั้น วิญญาณธาตุทั้ง 5 นั้นเล่าก็เป็นปัจจัยแก่สัมปฏิจฉนมโนธาตุ ฉันเดียวกันนั้น สัมปฏิจฉนมโนธาตุ ก็เป็นปัจจัยแก่สันตีรณมโนวิญญาณธาตุ สันตีรณมโนวิญญาณธาตุนั้นเล่า ก็เป็นปัจจัย

(หน้าที่ 85)

แก่โวฏฐัพพนมโนวิญญาณธาตุ โวฏฐัพพนมโนวิญญาณธาตุเล่า ก็เป็นปัจจัยแก่ชวนมโนวิญญาณธาตุ ส่วนชวนมโนวิญญาณธาตุก็เป็นปัจจัยโดยปัจจัย 6 คือโดยปัจจัย 5 นั้น และเป็นอาเสวนปัจจัยแก่ชวนมโนวิญญาณธาตุเป็นลำดับ ๆ ไป นี่เป็นนัยในปัญจทวารก่อน ส่วนในมโนทวาร ภวังคมโนวิญญาณธาตุ เป็นปัจจัยแก่อาวัชชนมโนวิญญาณธาตุ และอาวัชชนมโนวิญญาณธาตุก็เป็นปัจจัยแก่ชวนมโนวิญญาณธาตุ โดยปัจจัย 5 (มีสมนันตรปัจจัยเป็นต้น) ที่กล่าวมาก่อนนั่นแล ส่วนธัมมธาตุเป็นปัจจัยมากอย่างโดยปัจจัยเป็นต้นว่า สหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย สัมปยุตปัจจัย อัตถิปัจจัย อวิคตปัจจัย แห่งวิญญาณธาตุทั้ง 7 ส่วนธาตุทั้งหลาย (17) มีจักขุธาตุเป็นต้น และธัมมธาตุบางอย่าง เป็นปัจจัยแม้โดยปัจจัยมีอารัมมณปัจจัยเป็นต้นแก่มโนวิญญาณธาตุบางอย่าง อนึ่ง ใช่แต่จักขุและรูปเป็นต้นเท่านั้น เป็นปัจจัยแห่งจักขุวิญญาณธาตุเป็นอาทิก็หาไม่ ที่แท้แม้สิ่งอื่นมีแสงสว่างเป็นต้น ก็เป็นปัจจัยด้วย เพราะเหตุนั้น บุรพาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวไว้ว่า "อาศัย จักษุ รูป แสงสว่าง และมนสิการ (คืออาวัชชนะ) เกิดจักขุวิญญาณขึ้น อาศัยโสตะ เสียง ช่อง (หู) และมนสิการ เกิดโสตวิญญาณขึ้น อาศัยฆานะ กลิ่น ลม และมนสิการ เกิดฆานวิญญาณขึ้น อาศัยชิวหา รส น้ำ (ลาย) และมนสิการ เกิดชิวหาวิญญาณขึ้น อาศัยกายโผฏฐัพพะ ปฐวี และมนสิการ เกิดกายวิญญาณขึ้น อาศัยภวังคมนะ (คือภวังคจิต ที่ไหวแล้ว 2 ครั้ง) ธรรมและมนสิการเกิดมโนวิญญาณขึ้น" ดังนี้

นี่เป็นความสังเขปในข้อว่า ปัจจัยนี้ ส่วนประเภทปัจจัยโดยพิสดาร จักมีแจ้งในนิทเทส แห่งปฏิจจสมุปบาท วินิจฉัยแม้โดยปัจจัยธาตุทั้งหลายนั่น บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

ข้อว่า โดยเป็นสิ่งพึงเห็น ความว่า อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยโดยเป็นสิ่งพึงเห็นในธาตุทั้งหลายนั่น แท้จริง สังขตธาตุทั้งหมดเทียว บัณฑิตพึงเห็นโดยความเป็นของว่างจากส่วนเบื้องต้น (คืออดีต) และส่วนเบื้องปลาย (คืออนาคต) โดยความเป็นของเปล่าจากความยั่งยืน ความงาม ความสุข ความเป็นตนและโดยมีความเป็นไปเนื่องด้วยปัจจัย แต่ (เมื่อว่า) โดยความแปลกกันในธาตุทั้งหลายนั้น จักขุธาตุพึงเห็นเหมือนหน้ากลอง รูปธาตุเหมือนไม้ (ตีกลอง) จักขุวิญญาณธาตุเหมือนเสียง (กลอง) โดยนัยอย่างนั้น จักขุธาตุเหมือนหน้าแว่น

(หน้าที่ 86)

(สองหน้า) รูปธาตุเหมือนหน้าจักขุวิญญาณธาตุเหมือนเงาหน้า อีกนัยหนึ่ง จักขุธาตุเหมือน (ท่อน) อ้อยและเมล็ดงา รูปธาตุเหมือนเครื่องบีบอ้อยและไม้บีบงา จักขุวิญญาณธาตุเหมือนน้ำอ้อยและน้ำมันงา นัยเดียวกันนั้น จักขุธาตุเหมือนไม้สีไฟอันล่าง รูปธาตุเหมือนไม้สีไฟ อันบน จักขุวิญญาณธาตุเหมือนไฟ ในธาตุที่เหลือ 4 มีโสตธาตุเป็นต้น ก็นัยนี้ ส่วนมโนธาตุ พึงเห็นเหมือนปุเรจร (ผู้นำหน้า) และอนุจร (ผู้ตามหลัง) แห่งวิญญาณธาตุทั้งหลายมีจักขุวิญญาณธาตุเป็นต้น โดยความตามที่มันเป็นไป ในธัมมธาตุ เวทนาขันธ์พึงเห็นเหมือนลูกศรและเหมือนหลาว สัญญาขันธ์และสังขารขันธ์เหมือนคนที่อาดูรเพราะต้องศรและหลาว คือเวทนาเข้า นัยหนึ่ง สัญญาของปุถุชนทั้งหลายเหมือนกำมือเปล่า เหตุทำทุกข์เพราะความหวังให้เกิด เหมือนเนื้อป่า เพราะทำให้ถือเอานิมิตโดยความไม่เป็นจริง สังขาร (ขันธ์) เหมือนบุรุษผู้ซัด (คนอื่น) ลงหลุมถ่านเพลิงเพราะซัด (สัตว์) ไปในปฏิสนธิ เหมือนโจรที่ราชบุรุษติดตาม (จับ) เพราะถูกชาติทุกข์ติดตาม เหมือนพืชต้นไม้มีพิษเพราะเป็นเหตุแห่งขันธสันดานอันนำอนัตถะทั้งปวงมาให้ รูปพึงเห็นเหมือนกงจักรอันคมเพราะเหตุแห่งอุปัทวะนานาชนิดส่วนอสังขตธาตุทั้งหลาย บัณฑิตพึงเห็นโดยความเป็นอมตะ เป็นสันตะ (สงบระงับ) เป็นเขมะ (พ้นภัย) เพราะอะไร ? เพราะเป็นฝ่ายตรงข้ามต่ออนัตถะทั้งปวง มโนวิญญาณธาตุ พึงเห็นเหมือนลิงในป่า เพราะไม่มีความหยุดอยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย เหมือนม้าเลวเพราะฝึกได้ยาก เหมือนท่อนไม้ที่ขว้างขึ้นฟ้า เพราะมันตกไปตามที่มันปรารถนา เหมือนนักฟ้อนรำในโรงฟ้อนรำ (อันแต่งกายหลาก ๆ) เพราะประกอบด้วยเพศ (เครื่องแต่งกาย) คือกิเลสมีประการต่าง ๆ มีโลภะ โทสะ เป็นต้นแล

ปริเฉทที่ 15 ชื่ออายตนธาตุนิทเทส

ในอธิการแห่งปัญญาภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน ดังนี้

ดูเพิ่ม