วิสุทธิมรรค_05_เสสกสิณนิทเทส

อยู่ในระหว่างปรับสำนวน

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)

กสิณอื่นๆ

(หน้าที่ 288)

เสสกสิณนิทเทส ปริจเฉทที่ 5

ณ วาระนี้ จะอรรถาธิบายความในอาโปกสิณภาวนาโดยพิสดารต่อจากปถวีกสิณภาวนาเป็นลำดับไป ดังนี้ –

ก็แหละ ปถวีกสิณกัมมัฏฐาน ฉันใด แม้อาโปกสิณกัมมัฏฐานก็ทำนองเดียวกันกล่าวคือ โยคีบุคคลผู้ประสงค์จะภาวนาอาโปกสิณกัมมัฏฐานนั้น พึงนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายให้ตรงแล้วจับเอานิมิตในน้ำ

วิธีการทั้งปวงในอาโปกสิณนี้ เช่นอาโปกสิณที่สร้างขึ้น หรืออาโปกสิณที่เป็นอยู่เองตามธรรมดาเป็นต้น นักศึกษาพึงทราบความพิสดารโดยนัยดังที่พรรณนามาแล้วในปถวีกสิณนั้นทุกประการ

แหละในอาโปกสิณนี้ ฉันใด ในกสิณต่อ ๆ ไปทั้งหมดก็เหมือนกัน เบื้องหน้าแต่นี้ไป อรรถาธิบายเช่นนี้ข้าพเจ้าจักไม่พรรณนาซ้ำอีก จักพรรณนาแต่เฉพาะที่ต่างกันเท่านั้น

อาโปกสิณที่เป็นเอง

แม้ในอาโปกสิณกัมมัฏฐานนี้ สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแล้วตั้งแต่ชาติปางก่อนนั้น อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้ในน้ำที่เป็นอยู่เองตามธรรมดา คือ ในสระ ในบึง ในทะเลสาบ หรือในมหาสมุทร เหมือนกับที่เกิดขึ้นแก่ท่านจูฬสิวเถระ

ได้ยินว่า ท่านจูฬสิวเถระนั้นสละทิ้งลาภและสักการะด้วยตั้งใจว่า จะไปพักอยู่อย่างเงียบ ๆ จึงไปขึ้นเรือที่ท่าใหญ่ไปยังชมพูทวีป ได้เพ่งดูน้ำในมหาสมุทรไปในระหว่างทางกสิณนิมิตคล้ายกับน้ำมหาสมุทรนั้นได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่าน ด้วยประการฉะนี้

(หน้าที่ 289)

วิธีทำอาโปกสิณ

สำหรับโยคีบุคคลผู้ที่ไม่ได้สร้างสมอบรมบุญญาธิการมาแต่ชาติปางก่อน เมื่อจะทำอาโปกสิณต้องหลีกเลี่ยงโทษแห่งกสิณ 4 อย่าง คือ อย่าเอาน้ำที่มีสีเขียว, สีเหลือง, สีแดง หรือสีขาว อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่พึงเอาน้ำฝนที่รองรับเอาด้วยผ้าขาวสะอาดในกลางแจ้งซึ่งยังไม่ทันจะตกถึงพื้นดิน หรือน้ำอย่างอื่น ที่ใสสะอาดปราศจากโทษเหมือนอย่างน้ำฝนนั้น มาใส่ให้เต็มเสมอขอบปากบาตรหรือคนโท แล้วเอาไปตั้งไว้ ณ โอกาสลับ ๆ ตรงท้ายวัด ซึ่งมีประการดังกล่าวมาแล้วในปถวีกสิณภาวนานั้น

วิธีภาวนาอาโปกสิณ

ครั้นแล้วโยคีบุคคลพึงนั่งคู้บรรลังก์ตั้งกายให้ตรงแล้วอย่าพิจารณาถึงสีของน้ำ อย่ามนสิการถึงลักษณะของน้ำซึ่งมีลักษณะไหลซึมซาบและเกาะกุม พึงวางจิตไว้ในคำบัญญัติด้วยอำนาจธาตุน้ำซึ่งเป็นสิ่งที่มีมากกว่า พร้อมกับสีอันเป็นที่อาศัยเท่านั้น แล้วพึงภาวนาด้วย สามารถชื่อปรากฏรู้กันโดยมากกว่า อาโป - อาโป หรือ น้ำ – น้ำ ดังนี้ ในบรรดาชื่อของน้ำทั้งหลาย คือ อมฺพุ, อุทกํ, วาริ, สลีลํ เป็นต้น

ลักษณะอุคคห - ปฏิภาคนิมิต

เมื่อโยคีบุคคลนั้นพยายามภาวนาอยู่โดยทำนองนี้เรื่อย ๆ ไป อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตทั้ง 2 ก็จะบังเกิดขึ้นโดยลำดับ โดยนัยดังที่พรรณนามาแล้วในปถวีกสิณนั้นนั่นแล แต่ว่าในอาโปกสิณนี้ อุคคหนิมิตย่อมปรากฏเป็นดุจกระเพื่อมอยู่ ถ้าน้ำมีฟองและต่อมเจือปน อุคคหนิมิตจะปรากฏเป็นเช่นนั้นนั่นเทียว โทษแห่งกสิณย่อมปรากฏให้เห็น ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้นย่อมปรากฏเป็นสภาพที่นิ่ง เหมือนตาลปัตรแก้วมณีที่ปักไว้กลางแจ้ง และเหมือนวงกลมกระจกเงาที่ทำด้วยแก้วมณี ฉะนั้น โยคีบุคคลนั้น ย่อมจะบรรลุถึงซึ่งอุปจารฌานพร้อมกับด้วยการปรากฏขึ้นแห่งปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแล และย่อมจะบรรลุถึงซึ่งฌาน 4 และฌาน 5 โดยทำนองดังที่พรรณนามาแล้วในปถวีกสิณนั่นเทียว

จบอาโปกสิณ

(หน้าที่ 290)

แม้โยคีบุคคลผู้ประสงค์จะภาวนาซึ่งเตโชกสิณกัมมัฏฐานนั้น ก็พึงจับเอานิมิตในไฟ ในโยคีบุคคล 2 จำพวกนั้น สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแล้วแต่ในชาติปางก่อน เมื่อจับตาเอานิมิตในไฟที่เป็นอยู่เองตามธรรมดา คือเพ่งดูเปลวไฟในที่ใดที่หนึ่ง คือ ที่เปลวตะเกียง ที่เตาไฟ ที่กองไฟสำหรับระบมบาตร หรือที่ไฟไหม้ป่า อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้ เหมือนกับที่เกิดขึ้นแก่ท่านจิตตคุตตเถระ

ท่านจิตตคุตตเถระนั้นเข้าไปในโรงอุโบสถมนวันธรรมสวนะ ขณะที่ท่านเพ่งดูเปลวตะเกียงอยู่นั่นแล อุคคหนิมิตได้เกิดขึ้นแล้ว

วิธีทำเตโชกสิณ

ส่วนโยคีบุคคลผู้ไม่ได้สร้างสมอบรมบุญญาธิการมาแต่ในชาติปางก่อน ต้องทำกสิณขึ้นเอง วิธีทำเตโชกสิณนั้นดังนี้ คือ เอาไม้แก่นชนิดที่มียางมาผ่าตากแดดให้แห้งแล้วตัดทอนให้เป็นท่อน ๆ แล้วเอาไปที่โคนไม้หรือที่ปะรำอันเหมาะสม ทำไม้นั้นให้เป็นกอง โดยอาการเหมือนจะระบมบาตร ติดไฟให้ลุกแล้วพึงเจาะช่องกลม ๆ ที่เสื่อลำแพนหรือที่ผืนหนัง หรือที่ผืนผ้า ขนาดโต 1 คืบ 4 นิ้ว แล้วยกไปตั้งข้างหน้ากองไฟนั้น

วิธีภาวนาเตโชกสิณ

โยคีบุคคลพึงนั่งเข้าที่ โดยทำนองดังที่ได้พรรณนามาแล้วนั่นแล แต่นั้นอย่าได้มนสิการถึงหญ้าและฟืนข้างล่าง หรืออย่ามนสิการถึงเปลวควันข้างบน พึงจับตาเอานิมิตในเปลวไฟอันหนาทึบตรงระหว่างกลางนั้น อย่าพิจารณาถึงสีของไฟด้วยสามารถแห่งสีเขียว หรือสีเหลืองเป็นต้น อย่ามนสิการถึงลักษณะด้วยสามารถเป็นสภาวะที่ร้อน พึงวางจิตไว้ในคำบัญญัติ ด้วยอำนาจธาตุไฟซึ่งเป็นสิ่งที่มีมากกว่า พร้อมกับสีอันเป็นที่อาศัยเท่านั้นในบรรดาชื่อของไฟทั้งหลาย เช่น ปาวโก, กณฺหวตฺตนิ, ชาตเวโท, หุตาสโน เป็นต้น พึงภาวนาด้วยสามารถชื่อที่ปรากฏรู้กันเป็นส่วนมากเท่านั้นว่า เตโช –เตโช หรือ ไฟ – ไฟ ดังนี้เรื่อย ๆ ไป

(หน้าที่ 291)

ลักษณะอุคคห – ปฏิภาคนิมิต

เมื่อโยคีบุคคลนั้นพยายามภาวนาอยู่โดยทำนองนี้เรื่อย ๆ ไปนั่นแล อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตทั้ง 2 ก็จะเกิดขึ้นโดยลำดับ ตามทำนองที่ได้พรรณนามาแล้วนั่นเทียว ในนิมิต 2 อย่างนั้น อุคคหนิมิตย่อมปรากฏเป็นเหมือนเปลวไฟขาดตกหายไป ๆ แต่เมื่อจับเอานิมิตในไฟที่เป็นอยู่เองตามธรรมดาแล้ว โทษแห่งกสิณย่อมปรากฏให้เห็น กล่าวคือ ลูกไฟบ้าง ก้อนถ่านบ้าง ขี้เถ้าบ้าง ควันบ้าง ก็จะปรากฏขึ้น ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น เป็นสภาวะที่ไม่เคลื่อนไหว ย่อมปรากฏเหมือนท่อนผ้ากัมพลแดงที่อยู่กลางแจ้ง และเหมือนตาลปัตรทองคำ หรือเหมือนเสาทอง โยคีบุคคลนั้นย่อมจะบรรลุถึงซึ่งอุปจารฌานพร้อมกับการปรากฏขึ้นแห่งปฏิภาคนิมิตนั้นทีเดียว และย่อมจะบรรลุถึงซึ่งฌาน 4 และฌาน 5 โดยนัยดังที่ได้พรรณนามาแล้วนั่นแล

จบเตโชกสิณ

แม้โยคีบุคคลผู้ประสงค์จะภาวนาซึ่งวาโยกสิณกัมมัฏฐานนั้น พึงพยายามจับเอาซึ่งนิมิตในลม ก็แหละ นิมิตนั้นจะพึงจับเอาได้ด้วยสามารถที่ได้เห็นหรือได้ถูกต้อง เพราะเหตุที่ท่านอรรถกถาจารย์แสดงไว้ในคัมภีร์อรรถกถาทั้งหลายว่า โยคีบุคคลเมื่อจะถือเอาวาโยกสิณ โดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในลม คือ ย่อมกำหนดยอดอ้อยที่ลมพัดเอนไปเอนราบไปพร้อม ๆ กัน หรือกำหนดยอดไผ่ที่ลมพัดเอนไป เอนราบไปพร้อม ๆ กัน หรือกำหนดยอดไม้ที่ลมพัดเอนไป เอนราบไป หรือกำหนดปลายผมที่ลมพัดให้ล้มลงให้ล้มราบลง หรือกำหนดตรงที่ลมมาถูกต้องกาย ฉะนั้น โยคีบุคคลครั้นได้เห็นอ้อยหรือไผ่ หรือต้นไม้ซึ่งมีใบหนาขึ้นอยู่อย่างมียอดเสมอกัน ถูกลมพัดอยู่ก็ดี หรือได้เห็นศรีษะของบุรุษผู้มีผมดกยาวประมาณ 4 องคุลี ถูกลมพัดอยู่ก็ดี พึงตั้งสติไว้ว่า ลมนี้ย่อมพัดถูก ณ ที่ตรงนั้น หรือพึงตั้งสติไว้ตรงที่ที่ลมพัดเข้าทางช่องหน้าต่างหรือทางรูฝาแล้วมากระทบประเทศของกายครั้นแล้วพึงภาวนาในบรรดาชื่อของลมทั้งหลาย เช่น วาโต, มาลุโต, อนิลํ เป็นต้น พึงภาวนาด้วยสามารถแห่งชื่อที่ปรากฏรู้จักกันเป็นส่วนมากเท่านั้นว่า วาโต – วาโต หรือ ลม – ลม ดังนี้เรื่อย ๆ ไป

(หน้าที่ 292)

ลักษณะอุคคห – ปฏิภาคนิมิต

ในวาโยกสิณภาวนานี้ อุคคหนิมิตมีลักษณะคล้าย ๆ กับเกลียวไอของข้าวต้มที่ปลงลงจากเตาใหม่ ๆ ย่อมปรากฏเป็นสภาพเคลื่อนไหวได้ ส่วนปฏิภาคนิมิตเป็นสภาพสงบนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนไหวเหมือนอุคคหนิมิต คำที่เหลือนักศึกษาพึงทราบโดยนัยที่ได้พรรณนามาแล้วในปถวีกสิณภาวนานั้นนั่นเทียว

จบวาโยกสิณ

ก็แหละ ลำดับต่อจากวาโยกสิณภาวนานั้น เพราะมีคำบาลีของโบราณอรรถกถาอยู่ว่า โยคีบุคคลเมื่อจะถือเอานีลกสิณ โดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในวัตถุมีสีเขียว คือ ในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีธรรมชาติบ้าง ดังนี้ สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแล้วแต่ชาติปางก่อน เพียงแต่ได้เห็นกอดอกไม้ซึ่งมีดอกบานสะพรั่งเห็นปานนั้น หรือเห็นที่ตกแต่งดอกไม้ ณ สถานที่บูชา หรือผ้าเขียวหรือแก้วเขียวอย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้

วิธีทำนีลกสิณ

สำหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้น (ต้องทำกสิณขึ้นเอง) ต้องไปเก็บเอาดอกไม้ เช่น ดอกบัวเขียว และดอกกรรณิการ์เขา เป็นต้น เอามาจัดใส่ให้เต็มตะกร้าหรือฝาสมุกพอเสมอขอบปาก เอาแต่กลีบดอกล้วน ๆ โดยที่ไม่ให้มีเกสรหรือก้านปรากฏให้เห็นเลย อีกอย่างหนึ่ง พึงเอาผ้าสีเขียวมาม้วนให้เป็นห่อแล้วบรรจุใส่ให้เต็มเสมอขอบปากของตะกร้าหรือฝาสมุกนั้น หรือเอาผ้าสีเขียวนั้นมาผูกขึงที่ปากขอบของตะกร้าหรือฝาสมุกนั้นให้ตรึงเหมือนอย่างหน้ากลองก็ได้ อีกแบบหนึ่ง พึงเอาธาตุสีธรรมชาติอย่างหนึ่งอย่างใดในสีเขียวสัมฤทธิ์ สีเขียวใบไม้ และสีเขียวดอกอัญชัญ มาทาทำเป็นดวงกสิณ ชนิดที่เคลื่อนที่ได้หรือชนิดที่ติดอยู่กับฝา แล้วทาตัดสีที่ไม่กลืนกัน โดยทำนองดังที่แสดงมาแล้วในปถวีกสิณนั่นแล

(หน้าที่ 293)

วิธีภาวนานีลกสิณ

ครั้นทำกสิณเสร็จแล้ว แต่นั้นโยคีบุคคลพึงลงมือภาวนา คือ ยังมนสิการให้เป็นไปว่า นีลํ – นีลํ หรือ สีเขียว – สีเขียว ฉะนี้ โดยนัยดังที่ได้แสดงไว้แล้วในปถวีกสิณ แม้ในนีลกสิณภาวนานี้ ในขั้นอุคคหนิมิต โทษแห่งกสิณยังปรากฏให้เห็นอยู่ คือ เกสร, ก้าน และระหว่างกลีบเป็นต้นย่อมจะปรากฏ ส่วนปฏิภาคนิมิตพ้นไปจากโทษกสิณ ย่อมปรากฏเป็นเช่นกับตาลปัตรแก้วมณีที่อยู่กลางแจ้ง คำที่เหลือนักศึกษาพึงทราบโดยนัยดังที่ได้ภาวนามาแล้วข้างต้นนั่นเทียว

จบนีลกสิณ

แม้ในปีตกสิณภาวนาก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้ เพราะเหตุที่ท่านโบราณอรรถกถาจารย์แสดงไว้ว่า โยคีบุคคลเมื่อจะถือเอาปีตกสิณ โดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในวัตถุมีสีเหลือง คือในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีธรรมชาติบ้าง ฉะนั้น แม้ในปีตกสิณภาวนานี้ สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแต่ชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นกอไม้ดอกซึ่งมีดอกบานสะพรั่งเห็นปานนั้น หรือเห็นที่ตกแต่งดอกไม้ในที่บูชา หรือเห็นผ้าหรือธาตุสีเหลือง อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้น เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นแก่ท่านจิตตคุตตเถระ

ได้ยินว่า เมื่อท่านจิตตคุตตเถระนั้นเห็นอาสนะบูชาที่ทำด้วยดอกจันทน์เหลืองใน วัดจิตตลบรรพตวิหาร อุคคหนิมิตประมาณเท่ากับอาสนะบูชาได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่านพร้อมกับการที่ได้เห็นนั่นเทียว

วิธีทำปีตกสิณ

สำหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้น พึงสร้างดวงกสิณขึ้นด้วยดอกกรรณิการ์ หรือด้วยผ้าสีเหลืองหรือด้วยธาตุสีธรรมชาติ โดยนัยดังที่ได้แสดงมาแล้วในนีลกสิณภาวนา

(หน้าที่ 294)

นั่นแล แต่นั้นพึงลงมือภาวนา คือยังมนสิการให้เป็นไปว่า ปีตกํ - ปีตกํ หรือว่า สีเหลือง – สีเหลือง ฉะนี้

คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วในปถวีกสิณทุกประการนั่นแล

จบปีตกสีณ

แม้ในโลหิตกสิณภาวนาก็มีนัยเช่นเดียวกันนั่นแล เพราะเหตุที่ท่านโบราณอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า เมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาโลหิตกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในวัตถุที่มีสีแดง คือ ในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีโดยธรรมชาติบ้าง ดังนี้ ฉะนั้น แม้ในโลหิตกสิณภาวนานี้ สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแต่ในชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นกอไม้ดอกซึ่งกำลังออกดอกบานสะพรั่ง เช่น ดอกชบาเป็นต้นเห็นปานฉะนั้น หรือเห็นเครื่องตกแต่งดอกไม้ในที่บูชาหรือเห็นสีธรรมชาติ คือ ผ้าและแก้วสีแดง อย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้น

วิธีภาวนาโลหิตกสิณ

สำหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้นต้องสร้างกสิณขึ้นเอง คือ เอาดอกไม้ เช่น ดอกชัยพฤกษ์ ดอกชบา และดอกไม้ที่มีสีแดง หรือเอาผ้าแดง หรือเอาสีธรรมชาติ เช่น ดินสอแดงหรือสีแดงชาดมาทำเป็นดวงกสิณ โดยนัยดังที่ได้แสดงไว้ในนีลกสิณภาวนานั่นแล ครั้นทำกสิณเสร็จแล้ว แต่นั้นพึงลงมือภาวนา คือ ยังมนสิการให้เป็นไปว่า โลหิตกํ – โลหิตกํ หรือว่า สีแดง – สีแดง ดังนี้เรื่อย ๆ ไป จนกว่าอุคคหนิมิตจะเกิดขึ้น

คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วในนีลกสิณภาวนานั่นแล

จบโลหิตกสิณ

แม้ในโอทาตกสิณภาวนานี้ เพราะคำบาลีในโบราณอรรถกถาว่า เมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาโอทาตกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตที่มีวัตถุสีขาว คือ ใน

(หน้าที่ 295)

ดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีธรรมชาติบ้าง ดังนี้ สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการ อันได้สร้างสมอบรมมาแต่ชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นพุ่มไม้ดอกซึ่งกำลังมีดอกบานสะพรั่งอยู่เห็นปานนั้น หรือเห็นเครื่องตกแต่งด้วยดอกไม้ เช่นดอกมะลิ เป็นต้น หรือเห็นกองแห่งดอกบัวขาว หรือเห็นผ้าขาว และสีขาวธรรมชาติ อย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้น แม้ในแผ่นกลมแห่งดีบุก, แผ่นกลมแห่งเงิน หรือในดวงจันทร์ อุคคหนิมิตก็เกิดขึ้นได้เหมือนกันนั่นเทียว

วิธีภาวนาโอทาตกสิณ

สำหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้น ต้องสร้างกสิณขึ้นเอง คือ เอาดอกไม้สีขาวซึ่งมีประการดังกล่าวมาแล้ว เอาผ้าขาว หรือเอาสีขาวธรรมชาติ มาทำให้เป็นดวงกสิณตามนัยดังที่ได้พรรณนามาแล้วในนีลกสิณภาวนานั่นแล ครั้นทำกสิณเสร็จแล้วพึงลงมือภาวนา คือ ยังมนสิการให้เป็นไปว่า โอทาตํ – โอทาตํ หรือว่า สีขาว – สีขาว ดังนี้เรื่อย ๆ ไปร้อยครั้ง หรือพันครั้ง หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ จนกว่าอุคคหนิมิตจะเกิดขึ้นนั่นเทียว คำที่เหลือเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วในนีลกสิณทุกประการ

จบโอทาตกสิณ

ก็แหละ ในอาโลกกสิณภาวนานี้ เพราะมีคำบาลีโบราณอรรถกถาว่า เมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาโลกกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในแสงสว่าง คือ ที่ฝาบ้าง ที่รูลูกดานบ้าง ที่ช่องหน้าต่างบ้าง ฉะนี้ ดังนั้นสำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแต่ในชาติปางก่อน เพียงแต่ได้เห็นดวงกลม ๆ ที่แสงพระอาทิตย์หรือ แสงพระจันทร์ส่องฉายเข้าไปตามรูฝาเป็นต้น แล้วไปปรากฏติดอยู่กับฝาหรือที่พื้นนั้น ๆ หรือดวงกลม ๆ ที่แสงพระอาทิตย์หรือแสงพระจันทร์ส่องทะลุออกมาตามระหว่างกิ่งไม้ที่มีใบหนาทึบหรือตามระหว่างปะรำที่มุงด้วยกิ่งไม้อย่างหนาทึบ แล้วมาปรากฏติดอยู่กับพื้นนั้นนั่นแหละ อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้ในทันที

(หน้าที่ 296)

วิธีภาวนาอาโลกกสิณ

ฝ่ายโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการเช่นนั้น ต้องลงมือภาวนาซึ่งดวงกลมของแสงสว่างซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วนั้น ด้วยคำภาวนาว่า โอภาโส – โอภาโส แสงสว่าง – แสงสว่าง ดังนี้ก็ได้ หรือว่า อาโลโก – อาโลโก ความสว่าง - ความสว่าง ดังงนี้ก็ได้ ภาวนาเรื่อย ๆไป จนกว่าอุคคหนิมิตจะเกิดขึ้น แต่เมื่อโยคีบุคคลไม่สามารถจะทำให้อุคคหนิมิตเกิดขึ้นด้วยวิธีภาวนาซึ่งดวงกลมแห่งแสงสว่างเช่นนั้น พึงจุดตะเกียงใส่ไว้ในหม้อแล้วปิดปากหม้อเสีย เจาะรูที่ข้างหม้อแล้วเอาไปตั้งหันหน้ารูนั้นเข้าใส่ฝา แสงสว่างของตะเกียงก็จะส่องออกจากรูหม้อนั้น ไปติดอยู่ที่รูปวงกลมอยู่ที่ฝา โยคีบุคคลพึงภาวนาซึ่งดวงกลมนั้นนั่นแลว่า อาโลโก – อาโลโก หรือว่า ความสว่าง – ความสว่าง ดังนี้เรื่อย ๆ ไป ดวงกลมของแสงตะเกียงนี้ย่อมตั้งอยู่ได้นานมากกว่าดวงกลมของแสงพระอาทิตย์หรือแสงพระจันทร์นั้น ในอาโลกกสิณภาวนานี้ อุคคหนิมิตย่อมปรากฏเป็นสภาพเหมือนกับดวงกลมซึ่งติดอยู่ที่ฝาหรือที่พื้นนั่นแล ส่วนปฏิภาคนิมิตย่อมปรากฏเป็นสภาพที่ใหญ่โตและสดใสมาก คล้าย ๆ กับก้อนแห่งแสงสว่าง คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วในนีลกสิณแล

จบอาโลกกสิณ

แม้ในปริจฉินนากาสกสิณภาวนานี้ เพราะมีคำบาลีโบราณอรรถกถาว่า เมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาซึ่งอากาสกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอาซึ่งนิมิตในที่ว่าง ๆ คือ ที่รูฝาบ้าง ที่รูลูกดานบ้าง ที่ช่องหน้าต่างบ้าง ดังนี้ ฉะนั้น สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแล้วแต่ในชาติปางก่อน เพียงแต่ที่ได้เห็นรูฝาเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้ในทันที

วิธีภาวนาอากาสกสิณ

สำหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการเช่นนั้น ต้องเจาะที่หลังคาปะรำซึ่งมุงอย่างสนิท หรือเจาะช่องที่ผืนหนังและที่เสื่อลำแพนเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เป็นช่องกว้าง

(หน้าที่ 297)

ประมาณ 1 คืบ 4 นิ้ว แล้วพึงลงมือภาวนาซึ่งช่องนั้นนั่นแหละ หรือช่องชนิดอื่นอันต่างด้วยช่องฝาเป็นต้น ด้วยบทภาวนาว่า อากาโส – อากาโส หรือว่า ที่ว่าง – ที่ว่าง ดังนี้เรื่อย ๆ ไป ในอากาสกสิณภาวนานี้ อุคคหนิมิตย่อมปรากฏเป็นเหมือนช่องที่กำหนดด้วยที่สุดรอบของฝา และอุคคหนิมิตนี้แม้จะขยายก็ขยายไม่ได้ เพราะภาวนายังมีกำลังน้อยอยู่ ส่วนปฏิภาคนิมิตย่อมปรากฏเป็นสภาพคล้ายดวงกลมของช่องว่างนั้น และเมื่อขยายก็ขยายได้ คำที่เหลือนักศึกษาพึงทราบโดยนัยดังที่ได้พรรณนาไว้ในปถวีกสิณนั้นทุกประการ

จบปริจฉินนากาสกสิณ

อธิบายหัวข้อเบ็ดเตล็ด

อันนักศึกษาเมื่อได้ศึกษาเข้าใจถึงกสิณ 10ประการ อันเป็นเหตุให้ได้ฌาน 4 และฌาน 5 ในรูปาวจรภูมิ ที่สมเด็จพระทศพลพุทธเจ้าผู้ทรงเห็นแจ้งธรรมทั้งปวงได้ทรงแสดงไว้แล้วด้วยประการฉะนี้ และเข้าใจถึงนัยแห่งการภาวนาซึ่งกสิณ 10 ประการนั้นให้เข้าใจดียิ่งขึ้นไปอีกสักเล็กน้อยดังต่อไปนี้ –

1. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจปถวีกสิณ

ในบรรดากสิณ 10 ประการนั้น ฤทธิ์ย่อมสำเร็จขึ้นด้วยอำนาจปถวีกสิณ มีอาทิดังนี้คือ คนเดียวเนรมิตให้เป็นหลายคนได้เป็นต้น เนรมิตแผ่นดินขึ้นในอากาศหรือในน้ำแล้วเดินไปด้วยเท้าได้ สำเร็จอิริยาบทยืนและนั่งเป็นต้นในอากาศหรือในน้ำได้ ได้อภิภายตนะ โดยนัยมีอารมณ์นิดหน่อยและมีอารมณ์หาประมาณมิได้

2. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจอาโปกสิณ

ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจอาโปกสิณ มีอาทิดังนี้คือ ดำลงไปในพื้นแผ่นดิน และผุดโผล่พื้นแผ่นดินขึ้นมาได้ บันดาลให้ฝนตกได้ บันดาลให้เกิดเป็นแม่น้ำและเป็นมหาสมุทรเป็นต้นได้ บันดาลแผ่นดิน, ภูเขา และปราสาทเป็นต้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือนได้

(หน้าที่ 298)

3. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจเตโชกสิณ

ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจเตโชกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ บังหวนควันได้ บันดาลให้ไฟลุกโพลงขึ้นได้ บันดาลให้ฝนถ่านเพลิงตกได้ บันดาลไฟที่เกิดขึ้นด้วยฤทธิ์ของผู้อื่นให้ดับลงด้วยไฟที่เกิดขึ้นด้วยฤทธิ์ของตนได้ มีความสามารถที่จะเผาผลาญสิ่งที่ตนประสงค์ให้พินาศลงได้ บันดาลให้เกิดแสงสว่างเพื่อเห็นรูปด้วยจักษุอันเป็นทิพย์ได้ เผาสรีรศพตนเองได้ด้วยเตโชธาตุในเวลาปรินิพพาน

4. ฤทธิ์เกิดขึ้นด้วยอำนาจวาโยกสิณ

ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจวาโยกสิณมีอาทิดังนี้ คือ เหาะไปได้เร็วเหมือนอย่างลมพัด บันดาลฝนพายุให้ตกได้

5. ฤทธิ์เกิดขึ้นด้วยอำนาจนีลกสิณ

ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจนีลกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นสีเขียวได้ บันดาลความมืดมนอนธการให้เกิดขึ้นได้ ได้อภิภายตนะโดยนัยมีผิวพรรณงามและมีผิวพรรณน่าเกลียด การบรรลุสุภวิโมกข์คือบรรลุมรรคผลและนิพพานโดยง่ายสะดวกสบาย

6. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจปีตกสิณ

ฤทธิ์สำเร็จด้วยอำนาจปีตกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นสีเหลืองได้ เสกเหล็ก, ทองเหลือง, ทองแดงเป็นต้นให้เป็นทองคำได้ ได้อภิภายตนะโดยนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแล และการบรรลุสุภวิโมกข์

7. ฤทธิ์เกิดขึ้นด้วยอำนาจโลหิตกสิณ

ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจโลหิตกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งของต่าง ๆ ให้เป็นสีแดงได้ ได้อภิภายตนะโดยนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแล และการบรรลุสุภวิโมกข์

8. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจโอทาตกสิณ

ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจโอทาตกสิณ มีอาทิดังนี้คือ เนรมิตสิ่งของต่าง ๆให้เป็นสีขาวได้ บันดาลให้สร่างหายจากการง่วงเหงาหาวนอนได้ บันดาลความมืดมนอมธการให้หายไปได้ บันดาลให้เกิดแสงสว่างเพื่อเห็นรูปด้วยจักษุทิพย์ได้

(หน้าที่ 299)

9. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจอาโลกกสิณ

ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจอาโลกกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งของต่าง ๆ ให้มีแสงสว่างได้ บันดาลให้สร่างหายจากความง่วงเหงาหาวนอนได้ บันดาลความมืดมนอนธการให้หายไปได้ บันดาลให้เกิดแสงสว่างเพื่อเห็นรูปด้วยจักษุอันเป็นทิพย์ได้

10. ฤทธิ์เกิดขึ้นด้วยอำนาจอากาสกสิณ

ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจอากาสกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ บันดาลสิ่งที่ปกปิดกำบังไว้ให้ปรากฏเห็นได้ เนรมิตช่องว่างขึ้นในแผ่นดินและภูเขาเป็นต้น แล้วไปสำเร็จอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ ทะลุออกไปภายนอกฝาหรือกำแพงได้ ไม่มีอะไรกีดกั้นได้

ความต่างกันของกสิณ 10

กสิณหมดทั้ง 10 ประการนั้น ย่อมได้ความต่างกันด้วยสามารถแห่งการขยายดังนี้คือ ขยายขึ้นข้างบน ขยายลงข้างล่าง ขยายไปรอบ ๆ ตัว ไม่ขยายคราวละ 2 กสิณ ปะปนกัน ขยายอย่างไม่มีกำหนดประมาณ ข้อนี้สมด้วยพระบาลีที่ทรงแสดงไว้มีอาทิว่า ฌานลาภีบุคคลบางคน ย่อมขยายปถวีกสิณขึ้นไปข้างบน บางคนขยายลงข้างล่าง บางคนขยายไปรอบ ๆ ตัว บางคนขยายอย่างไม่ปะปนกันคราวละ 2 กสิณ บางคนขยายอย่างไม่มีกำหนดประมาณ

อรรถาธิบายพระบาลี

บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ขยายขึ้นข้างบน คือขยายให้บ่ายหน้าขึ้นสู่ท้องฟ้าข้างบน คำว่า ขยายลงข้างล่าง คือขยายให้บ่ายหน้าลงสู่พื้นดินข้างล่าง คำว่า ขยายไปรอบ ๆ ตัว คือขยายไปอย่างกำหนดเอาโดยรอบด้าน เหมือนอย่างขอบเขตที่เป็นวงกลม จริงอยู่ฌานภาลีบุคคลบางคน ย่อมขยายกสิณขึ้นไปข้างบนอย่างเดียว บางคนขยายลงข้างล่าง บางคนขยายไปโดยรอบ อีกอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุนั้น ๆ ฌานลาภีบุคคลจึงขยายอย่างนี้ ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า ขยายขึ้นข้างบน ลงข้างล่าง ไปโดยรอบ ดังนี้

(หน้าที่ 300)

แหละคำว่า ไม่ปะปนกันคราวละ 2 กสิณ นี้ ตรัสไว้เพื่อทรงแสดงว่ากสิณอันหนึ่ง ๆ ไม่เข้าไปปะปนกับกสิณอีกอันหนึ่ง เหมือนกับน้ำย่อมปรากฏเป็นน้ำนั้นเองอยู่ในทั่วทุกทิศแก่บุคคลผู้เข้าไปดู ไม่เป็นอย่างอื่นไปได้ ฉันใด ปถวีกสิณย่อมปรากฏเป็นปถวีกสิณอยู่นั่นเอง ความปะปนกับกสิณอย่างอื่นมีอาปกสิณเป็นต้นย่อมไม่มีแก่ปถวีกสิณนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ในกสิณอื่น ๆ ทุกกสิณก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้

คำว่า ไม่มีกำหนดปะมาณ นี้ ตรัสไว้ด้วยอำนาจไม่มีประมาณแห่งการขยายซึ่งปถวีกสิณนั้น จริงอยู่ ฌานลาภีบุคคลเมื่อจะขยายปถวีกสิณนั้นไปด้วยใจ ย่อมขยายไปอย่างสิ้นเชิงทีเดียว หาได้ถือเอากำหนดประมาณว่า นี้เป็นเบื้องต้น นี้เป็นท่ามกลาง ของปถวีกสิณนั้น ดังนี้ไม่ ด้วยประการฉะนี้

ผู้บำเพ็ญภาวนาไม่สำเร็จโดยธรรมนิยาม

ก็แหละ สัตว์เหล่าใดซึ่งเป็นผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรมก็ดี เป็นผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกิเลสก็ดี ทั้งเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะในการปฏิบัติธรรม เป็นผู้มีปัญญาทึบ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าเป็น อภัพพสัตว์ ไม่สมควรที่จะหยั่งลงสู่ธรรมนิยามและภาวะที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย การภาวนาย่อมไม่สำเร็จผลแก่สัตว์เหล่านั้นสักคนเดียว แม้ในกสิณภาวนาข้อเดียว

อรรถาธิบายพระบาลี

บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า สัตว์ผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรม นั้น หมายเอาสัตว์ผู้ทำอนันตริยกรรม 5 ประการข้อใดข้อหนึ่ง คำว่า สัตว์ผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกิเลส นั้น หมายเอาสัตว์จำพวกที่เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ (คืออเหตุกทิฏฐิ อกิริยทิฏฐิ และนัตถิกทิฏฐิ) 1 จำพวกที่เป็นอุภโตพยัญชนกะ (คน 2 เพศ) 1 และจำพวกที่เป็นบัณเฑาะก์ (กะเทย) 1 คำว่า สัตว์ผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือวิบาก นั้น หมายเอาสัตว์จำพวกที่เป็นอเหตุกปฏิสนธิและที่เป็นทวิเหตุกปฏิสนธิ คำว่า เป็นผู้ไม่มีศรัทธา หมายความว่าเป็นผู้เว้นแล้วจากความ

(หน้าที่ 301)

เชื่อในพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น คำว่า เป็นผู้ไม่มีฉันทะในการปฏิบัติธรรม หมายความว่า เป็นผู้เว้นแล้วจากกัตตุกัมยตาฉันทะในข้อปฏิบัติอันไม่เป็นข้าศึกคือในข้อปฏิบัติอันสมควรแก่มรรค ได้แก่ในวิปัสสนาอันสมควรแก่อริยสัจ คำว่า เป็นผู้มีปัญญาทึบ หมายความว่า เป็นผู้เว้นแล้วจากโลกิยสัมมาทิฏฐิและโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ คำว่า เป็นอภัพพสัตว์ไม่ควรเพื่อจะหยั่งลงสู่ธรรมนิยาม และภาวะที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย หมายความว่า เป็นผู้ไม่สมควรเพื่อที่จะหยั่งลงสู่อริยมรรคกล่าวคือธรรมนิยามและภาวะที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย

ความจริง การที่ภาวนาไม่สำเร็จผลแก่สัตว์ผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรมเป็นต้น แม้แต่สักคนเดียวนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะในกสิณกัมมัฏฐานนี้อย่างเดียว แม้ในกัมมัฏฐานทั้งหลายอย่างอื่น ๆ ด้วย

คำตักเตือนกุลบุตร

เพราะฉะนั้น กุลบุตรพุทธศาสนิกผู้ปราศจากเครื่องกั้นคือวิบากแล้ว พึงหลีกเว้นเครื่องกั้นคือกรรมและเครื่องกั้นคือกิเลสให้ห่างไกล แล้วพึงเพิ่มพูนศรัทธา, ฉันทะและปัญญาด้วยการตั้งใจฟังธรรมโดยเคารพ และด้วยการคบหาสมาคมกับสัตบุรุษคือผู้ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจเป็นต้น แล้วพึงลงมือบำเพ็ญเพียรในอันประกอบพระกัมมัฏฐานนั้นเถิดฉะนี้แล

เสสกสิณนิทเทส ปริเฉทที่ 5

ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณวิเสสชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นไว้

เพื่อให้เกิดความปีติปราโมทย์แก่สาธุชนทั้งหลาย

ยุติลงด้วยประการฉะนี้

ดูเพิ่ม