อยู่ในระหว่างปรับสำนวน
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)
วิธีเลือกวัดให้ภาวนาสะดวก
บัดนี้ จะอรรถาธิบายโดยพิสดารในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่า พึงออกจากวัดอันไม่สมควรแก่การภาวนาสมาธิ ไปอยู่ ณ ที่วัดอันสมควร ดังต่อไปนี้ –
อันโยคีบุคคลนั้นพึงอยู่เจริญกัมมัฏฐานให้บริสุทธิ์ ณ ที่วัดเดียวกันกับพระอาจารย์นั่นแหละ ตราบเท่าที่ตนมีความผาสุกสบาย แต่ถ้าไม่มีความผาสุกสบาย ณ ที่วัดนั้น ก็พึงไปอยู่ ณ ที่วัดอื่นอันเป็นที่สบาย ในระยะทางห่างจากวัดพระอาจารย์ประมาณร้อยเส้นหรือสองร้อยเส้นหรือประมาณสี่ร้อยเส้นก็ได้ ก็แหละ ครั้นอยู่ห่างในระยะทางเท่านั้น เมื่อเกิดความสนเท่ห์สงสัยหรือเกิดความหลงลืม ในหัวข้อกัมมัฏฐานบางประการ จักได้ตื่นลุกขึ้นทำกิจวัตรในวัดให้เสร็จแต่เช้า แล้วออกจากวัดเที่ยวบิณฑบาตไปในระหว่างทาง พอเวลาฉันเสร็จแล้ว ก็ให้ถึงที่อยู่ของพระอาจารย์พอดี สอบถามชำระกัมมัฏฐานให้บริสุทธิ์สิ้นสงสัยในสำนักของพระอาจารย์เสียแต่ในวันนั้น พอวันที่สองก็นมัสการกราบลาพระอาจารย์ แล้วก็ออกเดินทางกลับแต่เช้า เที่ยวรับบิณฑบาตไปในระหว่างทาง ยังไม่ทันจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอะไร ก็จักมาถึงที่อยู่ของตนพอดี
ส่วนโยคีบุคคลผู้ไม่ได้ที่อยู่อันผาสุกสบาย แม้ในระยะทางประมาณสี่ร้อยเส้นนั้น จงตัดข้อขอดที่เข้าใจได้ยากในกัมมัฏฐานให้กระจ่างแจ้งทุกประการ ชำระกัมมัฏฐานให้บริสุทธิ์ด้วยดีขึ้นอยู่กับใจได้แล้ว จะพรากออกจากวัดอันไม่สมควรแก่การภาวนาสมาธิ ไปอยู่ ณ ที่วัดอันสมควร แม้ไกล ๆ กว่านั้นก็ได้
วัดที่ภาวนาไม่สะดวก 18
ในวัดที่สมควรและไม่สมควรนั้น วัดที่ประกอบด้วยโทษ 18 ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วัดไม่สมควร โทษ 18 ประการ ในวัดนั้นดังนี้ คือ –
(หน้าที่ 196)
1 . มหตฺตํ วัดใหญ่
2 . นวตฺตํ วัดสร้างใหม่
3 . ชิณฺณตฺตํ วัดที่ชำรุด
4 . ปนฺถนิสฺสิตตฺตํ วัดที่อิงทางหลวง
5 . โสณฺฑี วัดมีสระน้ำ
6 . ปณฺณํ วัดมีใบไม้ใช้เป็นผัก
7 . ปุปฺผํ วัดมีไม้ดอก
8 . ผลํ วัดมีไม้ผล
9 . ปตฺถนียตา วัดที่มีคนขึ้นมาก
10 . นครสนฺนิสฺสิตตา วัดที่อิงเมือง
11 . ทารุสนฺนิสฺสิตตา วัดที่อิงป่าไม้
12 . เขตฺตสนฺนิสฺสิตตา วัดที่อิงไร่นา
13 . วิสภาคานํ ปุคฺคลานํ อตฺถิตา วัดที่มีคนไม่ลงรอยกัน
14 . ปฏฺฏสนฺนิสฺสิตตา วัดที่อิงท่า
15 . ปจฺจนฺตสนฺนิสฺสิตตา วัดที่อิงบ้านป่าชายแดน
16 . รชฺชสีมสนฺนิสฺสิตตา วัดที่อิงเขตแดนประเทศ
17 . อสปฺปายตา วัดที่ไม่มีความสบาย และ
18 . กลฺยาณมิตฺตานํ อลาโภ วัดที่หาอาจารย์ผู้กัลยาณมิตรไม่ได้
วัดที่ประกอบด้วยโทษ 18 ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้แล ชื่อว่า วัดที่ไม่สมควรแก่สมาธิภาวนา โยคีบุคคลไม่ควรไปอยู่ ณ วัดเช่นนั้น
อธิบายด้วยวัดที่ประกอบด้วยโทษ 18 ประการ
ถาม – เพราะเหตุไรหรือจึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดอันประกอบด้วยโทษ 18 ประการนั้น
ตอบ – เพราะเหตุดังต่อไปนี้ –
(หน้าที่ 197)
1. วัดใหญ่
ในวัดใหญ่ ๆ ย่อมมีภิกษุและสามเณรที่ต่างจิตต่างใจกันมารวมอยู่เป็นจำนวนมาก ภิกษุสามเณรเหล่านั้น ย่อมจะไม่ช่วยกันทำกิจวัตร เพราะต่างก็เกี่ยงซึ่งกันและกัน สถานที่ทั้งหลาย เช่น ลานพระศรีมหาโพธิ์เป็นต้น ก็ไม่ช่วยกันปัดกวาดให้สะอาดเกลี้ยงเกลา น้ำฉันน้ำใช้ก็ไม่ช่วยกันตัก โยคีบุคคลนี้อยู่ ณ วัดเช่นนี้แล้ว ครั้นตระเตรียมว่าจักไปบิณฑบาตในโคจรคาม ถือบาตรและจีวรเดินออกไป ถ้าเห็นกิจวัตรยังไม่มีใครทำ หรือหม้อน้ำดื่มยังเปล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอก็จะต้องหยุดทำกิจวัตร ตักน้ำดื่มมาเตรียมไว้ เมื่อไม่ทำหรือก็จะต้องอาบัติทุกกฏในเพราะเหตุวัตรเภท คือทำลายกิจวัตร เมื่อเธอมัวทำกิจวัตรอยู่เล่าเวลากาลก็จะล่วงเลยสายไป ครั้นเธอเข้าไปในโคจรคามสายมาก ภิกษาหารหมดเสียแล้ว ก็จะไม่ได้ภิกษาหารอะไรแม้แต่น้อย อนึ่ง ถึงโยคีบุคคลจะได้หลบไปอยู่ ณ ที่อันเร้นลับแล้วก็ตาม ก็จะฟุ้งซ่านด้วยเสียงเจี๊ยวจ้าวของพวกภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลาย และด้วยการงานต่าง ๆ ของสงฆ์
แต่วัดใหญ่ใดมีภิกษุสามเณรช่วยกันทำกิจวัตรเรียบร้อยหมดทุกอย่าง และไม่มีความกระทบกระเทือนแม้อย่างอื่น ๆ แต่ประการใด ก็ควรอยู่ ณ วัดใหญ่แม้เห็นปานนั้นได้
2. วัดสร้างใหม่
ในวัดที่สร้างใหม่นั้น ย่อมจะมีนวกรรมคือการก่อสร้างมากอย่างหลายประการ เมื่อโยคีบุคคลไม่ช่วยทำ เขาก็จะติเตียนเอา แต่ในวัดใดภิกษุทั้งหลายพูดให้โอกาสว่า "นิมนต์ คุณทำสมณธรรมตามสบายเถิด นวกรรมการก่อสร้างพวกเราจักช่วยกันกระทำเอง" ดังนี้ ก็ควรอยู่ ณ ทีวัดซึ่งสร้างใหม่เห็นปานนี้ได้
3. วัดที่ชำรุด
แหละ ในวัดที่ชำรุดทรุดโทรมนั้น ย่อมจะต้องมีสิ่งที่จะพึงปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงมาก ชั้นที่สุดแม้มาตรว่าเสนาสนะของตนเอง เมื่อไม่ปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลง เขาก็จะพากันติเตียนเอา เมื่อมัวแต่ปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงอยู่ กัมมัฏฐานก็จะเสื่อมไป แต่ในวัดใดที่มีภิกษุทั้งหลายพูดให้โอกาสว่า "นิมนต์คุณจงทำสมณธรรมตามสบายเถิด พวกเราจักช่วยกันปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงเอง" ดังนี้ ก็ควรอยู่ ณ ที่วัดซึ่งชำรุดเห็นปานนี้ได้
(หน้าที่ 198)
4. วัดที่อิงทางหลวง
ในวัดที่อิงทางหลวงนั้น ย่อมจะมีพวกภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายมารวมทั้งกลางคืนและกลางวัน โยคีบุคคลจะต้องให้เสนาสนะของตนแก่พวกอาคันตุกะที่มาถึงในเวลาวิกาลค่ำมืด แล้วตนเองจะต้องไปอยู่ที่โคนไม้ หรือพลาญหิน แม้ในวันรุ่งขึ้นก็จะเป็นเช่นนี้นั่นเทียวดังนั้นโอกาสย่อมจะไม่มีเพื่อกัมมัฏฐาน แต่ในวัดใดไม่มีการเบียดเบียนของพวกอาคันตุกะในทำนองนี้ โยคีบุคคลก็ควรอยู่ ณ ที่วัดซึ่งอิงทางหลวงเช่นนั้นได้
5. วัดมีสระน้ำ
วัดมีสระน้ำนั้น ได้แก่วัดที่มีสระน้ำที่กรุด้วยหินถาวรมั่นคงเป็นหลักฐาน ในวัดเช่นนั้น ย่อมจะมีมหาชนพากันมาชุมนุมกันเพื่อต้องการน้ำ และพวกศิษย์ของพระเถระทั้งหลายผู้อาศัยราชตระกูลซึ่งอยู่ในเมือง ก็จะพากันมาซักย้อมผ้า เมื่อพวกลูกศิษย์เหล่านั้นมาถามหาภาชนะและฟืนหรือรางย้อมผ้าเป็นต้น โยคีบุคคลก็ต้องสาละวนคอยชี้บอกว่า อยู่ที่โน้น และ ที่โน้นแน่ เธอก็จะเป็นผู้กังวลเป็นนิจแม้ตลอดกาลทั้งปวง (จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น)
6. วัดที่มีใบไม้ใช้เป็นผัก
ในวัดใดมีใบไม้ที่ใช้รับประทานได้นานาชนิด ในวัดเช่นนั้น เมื่อโยคีบุคคลเรียนเอากัมมัฏฐานแล้วไปนั่งบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ ที่อยู่สำหรับกลางวัน พวกสตรีที่เก็บผักก็จะพากันร้องเพลงไปพลาง เลือกเก็บผักไปพลางอยู่ ณ ที่ใกล้ ๆ จะทำให้เป็นอันตรายแก่กัมมัฏฐานด้วยความกระทบแห่งเสียงอันเป็นข้าศึก (จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น)
7. วัดที่มีไม้ดอก
แหละ ในวัดใดมีกอไม้ดอกนานาชนิดแตกบานอยู่อย่างสะพรั่ง แม้ในวัดเช่นนั้นก็จะเป็นอันตรายแก่กัมมัฏฐานเช่นเดียวกันนั่นเทียว (จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น)
8. วัดที่มีไม้ผล
ในวัดใดมีไม้ผลนานาชนิด เช่นมะม่วง, ชมพู่ และขนุนเป็นต้น ในวัดเช่นนั้นคนทั้งหลายที่ต้องการผลไม้จะพากันมาขอ เมื่อไม่ให้ เขาก็จะโกรธ หรือมิฉะนั้นก็จะพากัน
(หน้าที่ 199)
สอยเอาโดยพลการ ตกเวลาเย็น โยคีบุคคลมาเดินจงกรมในกลางวัดเห็นคนเหล่านั้นเข้า ก็จะต่อว่ากับเขาว่า "อุบาสกทั้งหลาย ทำไมจึงพากันทำอย่างนั้น" เขาก็จะพากันด่าเอาตามชอบใจ เขาจะพยายามแม้เพื่อที่จะไม่ให้เธออยู่ต่อไป (จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น)
9. วัดที่มีคนขึ้นมาก
ก็แหละ โยคีบุคคลผู้อยู่ ณ ที่วัดซึ่งมีคนขึ้นมาก เช่น วัดทักขิณคิรี วัดหัตถิกุจฉิ วัดเจติยคีรี วัดจิตตลบรรพต ซึ่งชาวโลกยกย่องว่าเป็นที่เร้นลับ มนุษย์ทั้งหลายพากันนิยมสรรเสริญว่า ท่านผู้นี้เป็นพระอรหันต์ แล้วใคร่ที่จะได้กราบไหว้บูชา จึงพากันหลั่งไหลมาหาโดยรอบทิศ ด้วยเหตุนั้น โยคีบุคคลนั้นก็จะไม่มีความผาสุกสบาย แต่ว่าวัดเช่นนั้นย่อมเป็นที่สบายแก่โยคีบุคคลใด เวลากลางวันเธอจึงหลบไปอยู่เสีย ณ ที่อื่น ครั้นตกเวลากลางคืนจึงค่อยมาอยู่
10. วัดที่อิงเมือง
ในวัดที่อิงเมืองนั้น ย่อมมีอิฏฐารมณ์ทั้งหลายมาผ่านสายตามากมาย มีกระทั่งแม้พวกกุมภทาสีทั้งหลาย พากันถือหม้อน้ำเดินเสียดสีไป ไม่หลีกทางให้ กับทั้งมีพวกมนุษย์ที่เป็นใหญ่พากันไปกางม่านนั่งอยู่ตามกลางวัด (จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น)
11. วัดที่อิงป่าไม้
ก็แหละ ในวัดที่อิงป่าไม้นั้น วัดใดมีไม้พืชและไม้ต้นที่ใช้ประกอบเครื่องอุปกรณ์แก่ทัพสัมภาระบ้านเรือนได้ ในวัดเช่นนั้น พวกคนเก็บฟืนทั้งหลายย่อมจะพากันทำความไม่ผาสุกให้ เหมือนพวกสตรีที่เก็บผักและเก็บดอกไม้ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และไม้ทั้งหลายที่มีอยู่ในวัด มนุษย์ทั้งหลายชวนกันว่า เราจักพากันตัดไม้เหล่านั้นมาทำเรือน แล้วก็พากันมาตัดเอาไม้ไป ถ้าในเวลาเย็น ๆ โยคีบุคคลออกจากกุฏิที่ทำความเพียรไปเดินจงกรมอยู่กลางวัด เห็นเขาแล้วก็จะพูดเตือนเขาว่า "อุบาสกทั้งหลาย ทำไมจึงพากันมาทำเช่นนี้" เขาก็จะพากันด่าเอาตามใจ และเขาก็จะพยายามเพื่อไม่ให้เธออยู่ต่อไปอีก (จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น)
(หน้าที่ 200)
12. วัดที่อิงไร่นา
แหละ วัดใดเป็นวัดที่สร้างอิงไร่นา คือมีไร่นาทั้งหลายล้อมรอบวัด ในวัดเช่นนั้นจะมีพวกมนุษย์พากันไปทำลานข้าวกลางวัดนั่นเทียว แล้วนวดข้าว บ้างก็จะพากันไปนอนตามหน้ามุข ย่อมจะพากันทำความไม่ผาสุกแม้อย่างอื่น ๆ ให้เป็นอันมาก
แม้วัดใดมีสมบัติสงฆ์มาก พวกคนรักษาวัดก็ปล่อยโคทั้งหลายไปกัดกินข้าวของตระกูลทั้งหลาย บ้างก็จะพากันไปปิดกั้นทางน้ำไหล มนุษย์ทั้งหลายจะถือเอารวงข้าวมาเป็นพยานแสดงให้สงฆ์ทราบว่า พระผู้เป็นเจ้าเห็นไหม กรรมของพวกคนรักษาวัดของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนั้น ๆ ภิกษุทั้งหลายก็จะต้องไปยังประตูพระราชวังหรือประตูบ้านของราชมหาอำมาตย์ทั้งหลาย แม้วัดที่มีสมบัติสงฆ์มากเช่นนี้ ท่านก็สงเคราะห์เข้ากับวัดที่สร้างอิงไร่นานั่นเทียว (จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น)
13. วัดที่มีคนไม่ลงรอยกัน
วัดที่มีคนไม่ลงรอยกันนั้น ได้แก่วัดที่มีภิกษุทั้งหลายผู้เข้ากันไม่ได้ คือเป็นผู้จองเวรกันและกันอยู่อาศัย อธิบายว่า เป็นวัดที่มีพวกภิกษุทำความทะเลาะกัน ครั้นถูกโยคีบุคคลห้ามปรามว่า อย่าได้พากันทำอย่างนี้เลยท่าน ฉะนี้แล้ว ก็จะเกิดหาเรื่องขึ้นว่า พวกเราเกิดฉิบหายแล้ว นับแต่เวลาที่ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นปกติรูปนี้มาถึงทีเดียว (จึงไม่ควรอยู่ ณ วัดเช่นนั้น)
14. วัดที่อิงท่า
แม้วัดใดที่สร้างอิงท่าน้ำ (เช่นท่าเรือ) หรือที่สร้างอิงท่าบก (เช่นที่พักเกวียน หรือที่พักต่าง หรือท่าอากาศยาน สถานีจอดรถ) ในวัดเช่นนั้น ย่อมจะมีมนุษย์ทั้งหลาย โดยสารมาด้วยเรือ และด้วยพวกโคต่างเป็นต้น พากันเบียดเบียนทำความไม่ผาสุกให้อยู่เนือง ๆ ว่า ขอได้โปรดให้โอกาสที่พักด้วย ขอได้โปรดให้น้ำดื่มด้วย ขอได้โปรดให้เกลือด้วย ดังนี้เป็นต้น (จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น)
(หน้าที่ 201)
15. วัดที่อิงป่าชายแดน
ในวัดที่สร้างอิงบ้านป่าชายแดนนั้น ย่อมจะมีแต่พวกมนุษย์ที่ไม่เลื่อมใสศรัทธาในรัตนะทั้งหลาย มีพระพุทธรัตนะเป็นต้น ด้วยเหตุนั้น ความอยู่ผาสุกสบายในวัดนั้น ย่อมจะไม่มีแก่โยคีบุคคล
16. วัดที่อิงเขตแดนประเทศ
ในวัดที่สร้างอิงเขตระหว่างประเทศนั้น ย่อมมีราชภัย จริงอยู่ พระราชาองค์หนึ่ง ย่อมจะทรงทำการรุกรบกับประเทศนั้น ด้วยทรงสำคัญว่า พระราชานี้ไม่ประพฤติเป็นไปในอำนาจของเรา แม้พระราชาอีกองค์หนึ่งนอกนี้ ก็จะทรงทำการรุกรบกับประเทศนอกนี้ ด้วยทรงสำคัญว่า พระราชานี้ไม่ประพฤติเป็นไปในอำนาจของเรา ภิกษุผู้โยคีบุคคลที่อยู่ในวัดเช่นนั้น บางครั้งก็จะเที่ยวไปในแว่นแคว้นแดนดินของพระราชาพระองค์นี้ บางครั้งก็จะเที่ยวไปในแว่นแคว้นแดนดินของพระราชาพระองค์นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกราชบุรุษทั้งหลายก็จะสำคัญผิดไปว่า ภิกษุนี้เป็นจารบุรุษ แล้วก็จะทำให้ถึงซึ่งความฉิบหายเสีย (จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น)
17. วัดที่ไม่มีความสบาย
วัดที่ไม่มีความสบายนั้น ได้แก่วัดไม่เป็นที่สบาย เพราะเหตุเป็นที่มารอบแห่งอารมณ์ต่าง ๆ มีรูปอันเป็นข้าศึกคือรูปที่ยั่วเย้าเร้าหลอกเป็นต้น หรือเป็นวัดที่มีอมนุษย์ยึดครอง ในวัดที่มีอมนุษย์ยึดครองนั้น มีเรื่องตัวอย่างดังนี้ –
มีเรื่องเล่าว่า พระเถระรูปหนึ่งอยู่ในวัดป่าแห่งหนึ่ง ครั้งนั้นมียักษิณีตนหนึ่งไปยืนขับร้องอยู่ที่ประตูบรรณศาลาของพระเถระนั้น พระเถระจึงได้ออกมายืนอยู่ที่ประตู ยักษิณีเลื่อนไปขับร้องอยู่ตรงศีรษะที่จงกรม พระเถระได้ตามไปที่ศีรษะที่จงกรมอีก ยักษิณีได้เลื่อนไปยืนขับร้องอยู่ที่ปากเหวซึ่งลึกร้อยชั่วบุรุษ ด้วยหมายว่า จักผลักพระเถระซึ่งตามมา ณ ที่นี้ด้วยเสียงเพลงขับ ให้ตกลงไปในเหวแล้วก็จักกิน แต่พระเถระได้กลับคืนเสีย ไม่ตามไป ในทันใดนั้น ยักษิณีได้วิ่งมาโดยเร็ว จับที่ก้านคอพระเถระพลางพูดว่า จะไปไหน แล้วได้เรียนพระเถระว่า "ท่านเจ้าขา บุคคลอย่างพระผู้เจ้านี้ คนเดียวดิฉันจะไม่กิน สองคนดิฉันก็จะไม่กิน" ฉะนี้
(หน้าที่ 202)
18. วัดที่หากัลยาณมิตรไม่ได้
วัดที่หากัลยาณมิตรไม่ได้นั้น อธิบายว่า ในวัดใดอันโยคีบุคคลไม่อาจที่จะได้ซึ่ง กัลยาณมิตรคือพระอาจารย์ หรือท่านผู้เสมอกับพระอาจารย์ก็ดี พระอุปัชฌาย์หรือท่านผู้เสมอกับพระอุปัชฌาย์ก็ดี การหาไม่ได้ซึ่งกัลยาณมิตรทั้งหลายเช่นนั้นในวัดนั้น นับเป็นโทษอันใหญ่หลวงทีเดียว
ด้วยประการฉะนี้ นักศึกษาพึงทราบว่า วัดที่ประกอบด้วยโทษ 18 ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้ ชื่อว่าวัดอันไม่สมควรแก่สมาธิภาวนา ข้อนี้สมด้วยคาถาประพันธ์ อันท่านอรรถกถาจารย์พรรณนาไว้ในอรรถกถาทั้งหลาย ดังนี้ –
มหาวาสํ นวาวาสํ ชราวาสญฺจ ปนฺถนึ
โสณฺฑึ ปณฺณญฺจ ปุปฺผญฺจ ผลํ ปตฺถิตเมว จ
นครํ ทารุณา เขตฺตํ วิสภาเคน ปฏฺฏนํ
ปจฺจนฺตสีมาสปฺปายํ ยตฺถ มิตฺโต น ลพฺภติ
อฏฺฐารเสตานิ ฐานานิ อิติ วิญฺญาย ปณฺฑิโต
อารกา ปริวชฺชยฺย มคฺคํ สปฺปฏิภยํ ยถา
บัณฑิตทราบถึงสถานที่ 18 ประการเหล่านี้ คือ วัดใหญ่ 1 วัดสร้างใหม่ 1 วัดที่ชำรุด 1 วัดอิงทางหลวง 1 วัดมีสระน้ำ 1 วัดมีใบไม้ที่ใช้เป็นผัก 1 วัดมีไม้ดอก 1 วัดมีคนไม่ลงรอยกัน 1 วัดอิงท่า 1 วัดอิงบ้านป่าชายแดน 1 วัดอิงเขตแดนประเทศ 1 วัดไม่เป็นที่สบาย 1 และวัดที่หากัลยาณมิตรไม่ได้ 1 ว่าเป็นวัดอันไม่สมควรแก่ภาวนา ฉะนี้แล้ว พึงหลีกเว้นเสียให้ห่างไกล เหมือนพ่อค้าหลีกเว้นทางอันมีภัยเฉพาะหน้า ฉะนั้น
วัดที่ภาวนาสะดวก 5
ก็แหละ วัดใดประกอบด้วยองคคุณ 5 ประการ เช่นไม่ไกลไม่ใกล้นักแต่โคจรคาม เป็นต้น วัดเช่นนี้จัดเป็นวัดที่สมควรแก่ภาวนา สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า –
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะที่ประกอบด้วยองคคุณ 5 ประการ เป็นอย่างไร ? อย่างนี้คือ –
(หน้าที่ 203)
1. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะในศาสนานี้ ย่อมเป็นสถานที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก แต่โคจรคาม มีทางไปทางมาสะดวกสบาย ปลอดภัย
2. กลางวันไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน กลางคืนเงียบสงัด ไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครม
3. ไม่มีเหลือบ, ยุง และสัตว์เลื้อยขบกัด ไม่มีสัมผัสอันเกิดแต่ลมและแดดรบกวน
4. แหละ ผู้ที่อยู่ในเสนาสนะนั้นไม่มีความฝืดเคืองด้วยปัจจัย 4 คือจีวร, บิณฑบาต, เสนาสนะ และยาแก้ไข้
5. แหละ ในเสนาสนะนั้น มีภิกษุชั้นเถระ ผู้พหูสูต สำเร็จการศึกษาปริยัติธรรม ทรงธรรม ทรงวินัย และทรงมาติกาคือหัวข้อแห่งธรรมวินัย ที่เข้าไปเรียนสอบสวนทวนถามตามกาลอันควรว่า ท่านขอรับ บทนี้เป็นไฉน มีอรรถาธิบายอย่างไร ฉะนี้แล้ว ท่านเถระเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผย ย่อมทำให้ตื้นข้อที่ยังไม่ได้ทำให้ตื้น และช่วยบรรเทาความสงสัยเป็นอเนกประการ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะย่อมประกอบด้วยองคคุณ 5 ประการ ฉะนี้แล
อรรถาธิบายพิสดารในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า พึงออกจากวัด
อันไม่สมควรแก่สมาธิภาวนาไปอยู่ ณ ที่วัดอันสมควร ยุติลงเพียงเท่านี้
ตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ
ในหัวข้อสังเขปว่า พึงทำการตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ เสีย นั้น มีอรรถาธิบายว่า - อันโยคีบุคคลผู้อยู่ในวัดอันสมควรแก่ภาวนาอย่างนี้แล้ว เมื่อมีเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้ชนิดใดอยู่ ก็พึงตัดเครื่องกังวลแม้ชนิดนั้นเสียก่อน
ทำอย่างไร ? ทำอย่างนี้คือ ผม, เล็บ และขนที่ยาวพึงโกนหรือตัดเสียให้เรียบร้อย จีวรที่เก่าชำรุด ก็พึงทำให้มั่นคงด้วยการปะหรือดามเป็นต้น หรือพึงชุนหรือถักเสียให้เรียบร้อย ถ้าที่บาตรเป็นสนิม ก็พึงระบมบาตรให้มีสี พึงชำระปัดกวาดเตียงและตั่งให้สะอาด
อรรถาธิบายพิสดารในหัวข้อสังเขป พึงทำการตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ ยุติลงเพียงนี้
(หน้าที่ 204)
วิธีทำภาวนากัมมัฏฐาน 40
บัดนี้ จะอรรถาธิบายโดยพิสดารในหัวข้อสังเขปทีว่า พึงภาวนา ไม่ทำภาวนาวิธีทุกอย่างให้บกพร่อง ฉะนี้ ด้วยอำนาจกัมมัฏฐานหมดทั้ง 40 ประการไปโดยลำดับโดยจะแสดงปถวีกสิณเป็นประการแรก ดังต่อไปนี้ –
วิธีภาวนาปถวีกสิณ
ก็แหละ ภิกษุผู้โยคีบุคคลเมื่อตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังนี้แล้ว เวลาภายหลังอาหาร กลับจากการบิณฑบาต บรรเทาความมึนเมาอันมีอาหารเป็นเหตุแล้ว พึงไปนั่งคู้บังลังก์ ตั้งกายให้ตรง ณ โอกาสอันสงัด แต่นั้นพึงกำหนดเอานิมิตกสิณในดินที่ทำขึ้น หรือที่เป็นเองตามปกติต่อไป ข้อนี้สมดังที่ท่านโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า –
บริกรรม
วิธีทำนิมิตของปถวีกสิณ
โยคีบุคคลเมื่อจะถือเอาปถวีกสิณโดยอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในวงกลมแห่งดินที่สร้างขึ้นหรือที่เป็นเองตามปกติ ชนิดที่มีกำหนด ไม่ใช่ไม่มีกำหนด, ชนิดที่มีที่สุด ไม่ใช่ไม่มีที่สุด, ชนิดที่มีสันฐานกลม ไม่ใช่ที่ไม่กลม, ชนิดที่มีขอบเขต ไม่ใช่ไม่มีขอบเขต, โตเท่ากระด้งหรือเท่าปากขันโอ โยคีบุคคลนั้นย่อมภาวนาทำนิมิตนั้นให้เป็นอันถือเอาดีแล้ว ย่อมทรงไว้ซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นอันทรงไว้ดีแล้ว และย่อมกำหนดนิมิตนั้นให้เป็นอันกำหนดดีแล้ว ครั้นเธอภาวนาทำนิมิตนั้นให้เป็นอันถือเอาดีแล้ว ทำการทรงไว้ให้เป็นอันทรงไว้ดีแล้ว ทำการกำหนดให้เป็นอันกำหนดดีแล้ว ก็จะเห็นอานิสงส์ มีความสำคัญเห็นเป็นรัตนะ นอบน้อม เคารพ คารวะ กระหยิ่มอิ่มใจ น้อมจิตเข้าไปผูกติดไว้ในอารมณ์ที่ตนถือเอาดีแล้ว ทรงไว้ดีแล้ว กำหนดไว้ดีแล้วนั้น ด้วยความมั่นใจว่า เราจักรอดพ้นจากชราทุกข์มรณทุกข์ ด้วยปฏิปทาอันนี้อย่างแน่นอน เธอบรรลุแล้วซึ่งปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดแก่ความสงัด เพราะสงัดแน่นอนแล้วจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดแน่นอนแล้วจาก อกุศลธรรมทั้งหลาย ฉะนี้แล
นิมิตกสิณธรรมชาติ
ในคำของท่านโบราณาจารย์นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ - อันโยคีบุคคลใด เคยบวชในศาสนาหรือเคยบวชเป็นฤาษีแล้ว ทำฌาน 4 และฌาน 5 ในปถวีกสิณให้บังเกิด
(หน้าที่ 205)
มาแล้วแม้ในภพปางอดีต โยคีบุคคผู้มีบุญถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยเห็นปานนี้นั้น อุคคหนิมิต ย่อมเกิดขึ้นได้ในดินที่เป็นอยู่เองตามปกติ คือ ในที่ดินที่เขาไถไว้ หรือในลานข้าว เหมือนพระมัลลกเถระเป็นตัวอย่าง
ได้ยินว่า ท่านพระมัลลกเถระนั้น ขณะที่ท่านเพ่งดูที่ดินที่เขาไถไว้ อุคคหนิมิตประมาณเท่าที่ซึ่งเขาไถไว้นั้นนั่นเทียวได้เกิดขึ้นแล้ว ท่านเจริญอุคคหนิมิตจนได้บรรลุฌาน 5 แล้วเริ่มเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอันมีฌานนั้นเป็นปทัฏฐาน จนได้บรรลุพระอรหัตแล
นิมิตกสิณทำเอง
ส่วนโยคีบุคคลใดผู้ไม่ได้ทำบุญญาธิการไว้เหมือนอย่างที่กล่าวไว้ เธอต้องสร้างปถวีสิณขึ้นเอง อย่างที่ไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากกรรมวิธีที่เรียนมาในสำนักของพระอาจารย์ และให้เลี่ยงเสียจากโทษของกสิณ 4 ประการ จริงอยู่ โทษของปถวีกสิณมีอยู่ 4 ประการ ด้วยอำนาจทำปะปนกับสีเขียว 1 สีเหลือง 1 สีแดง 1 สีขาว 1 เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลอย่าได้เอาดินมีสีเขียวเป็นต้นมาทำกสิณ จงทำด้วยดินที่มีสีเหมือนแสงอรุณ เช่น ดินที่แม่น้ำคงคา ก็แหละ กสิณนั้นอย่าทำไว้ ณ ตรงกลางวัด หรือ ณ ที่ภิกษุสามเณรสัญจรไปมา พึงทำไว้ตรงที่เป็นเพิงหรือบรรณศาลา ซึ่งเป็นที่ลับอยู่ท้ายวัด จะเป็นกสิณชนิดที่โยกย้ายได้ หรือชนิดที่ตกอยู่กับที่ก็ได้
นิมิตแบบโยกย้ายได้
วิธีทำกสิณ 2 อย่างนั้น กสิณที่โยกย้ายได้ พึงเอาผืนผ้าเก่า หรือผืนหนัง หรือผืนเสื่อลำแพน มาผูกขึงติดไม้ 4 อัน แล้วเอาดินที่มีสีเหมือนแสงอรุณที่เก็บรากหญ้า และกรวดทรายออกหมดแล้ว ขยำได้ที่แล้ว มาทาเข้าที่ผืนผ้าหรือผืนหนังหรือเสื่อลำแพนนั้น ทำให้เป็นสันฐานกลมประมาณเท่ากระด้งหรือปากขันโอ ดังที่กล่าวแล้ว ในเวลาที่จะทำ บริกรรมภาวนา พึงเอาแผ่นกสิณนั้นไปปูลงที่พื้นแล้วเพ่งดูตามภาวนาวิธีต่อไป
(หน้าที่ 206)
นิมิตแบบโยกย้ายไม่ได้
กสิณชนิดที่ติดอยู่กับที่นั้น พึงเอาหลักหลาย ๆ อันมาตอกลงกับพื้นดินโดยอาการคล้าย ๆ กับฝักบัว แล้วเอาเครือวัลย์มาถักร้อยตรึงเข้าไว้ ถ้าดินสีเหมือนแสงอรุณนั้นมีน้อยไม่เพียงพอ ให้เอาดินอื่นมาใส่ลงไว้ตอนล่างเสียก่อน แล้วจึงเอาดินมีสีเหมือนแสงอรุณซึ่งทำให้สะอาดมาใส่ทับข้างบน ทำให้มีสัณฐานกลมขนาดกว้าง 1 คืบ 4 นิ้ว
แหละ ที่ท่านโบราณาจารย์กล่าวว่า ประมาณเท่ากระด้งหรือประมาณเท่ากับปากขันโอนั้น ท่านหมายเอาประมาณคือ 1 คืบ 4 นิ้วนี้แล ส่วนคำมีอาทิว่า ชนิดที่มีกำหนด ไม่ใช่ไม่มีกำหนด นั้น ท่านกล่าวไว้เพื่อแสดงว่า ปถวีกสิณนั้นเป็นสิ่งที่มีกำหนดขอบเขต
วิธีนั่งเพ่งปถวีกสิณ
เพราะเหตุที่ท่านแนะให้ทำกสิณอย่างมีกำหนดนั้น ครั้นกะกำหนดประมาณเท่าที่กล่าวคือ 1 คืบ 4 นิ้วอย่างนั้นแล้ว จึงทำสีที่ไม่กลืนกับสีดินอรุณให้ปรากฏขึ้นเป็นขอบเขตไว้ด้วยเกรียงไม้ แต่นั้นจงอย่าใช้เกรียงไม้นั้น พึงใช้เกรียงหินขัดทำให้เรียบเสมอเหมือนหน้ากลอง ครั้นแล้วจงปัดกวาดสถานที่นั้นให้สะอาด ไปสรงน้ำชำระกายแล้วจึงกลับมา นั่งบนตั่งที่ตรึงอย่างมั่นคง มีเท้าสูง 1 คืบ 4 นิ้ว ซึ่งเตรียมตั้งไว้ ณ สถานที่ภายในระยะห่าง 2 ศอก 1 คืบแต่ดวงกสิณ
จริงอยู่เมื่อนั่งไกลกว่านั้นกสิณก็จะไม่ปรากฏชัด เมื่อนั่งใกล้กว่านั้นโทษแห่งกสิณทั้งหลายเช่นรอยฝ่ามือเป็นต้นก็จะปรากฏให้เห็น เมื่อนั่งสูงกว่านั้นย่อมจะต้องน้อมคอลง คือก้มหน้าลงดู เมื่อนั่งต่ำกว่านั้นก็จะปวดเข่า
เพราะฉะนั้น พึงนั่งโดยทำนองที่กล่าวไว้นั่นแล แล้วจงพิจารณาถึงโทษในกามทั้งหลาย โดยนัยมีอาทิว่า กามทั้งหลายมีความยินดีนิดหน่อย แต่มีทุกข์มาก พึงเป็นผู้มีความพอใจในเนกขัมมะมีฌานเป็นต้น อันเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งกาม อันเป็นอุบายล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวง พึงทำปีติและปราโมชให้บังเกิดขึ้น ด้วยการระลึกถึงพระพุทธคุณพระธรรมคุณและพระสังฆคุณ พึงเป็นผู้มีความเคารพอย่างแม่นมั่นอยู่ในข้อปฏิบัติว่า เนกขัมมปฏิปทานี้นั้น เป็นข้อปฏิบัติอันพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลายทุก ๆ
(หน้าที่ 207)
พระองค์ได้ปฏิบัติมาแล้ว และพึงทำความอุตสาหะให้เกิดว่า เราจักเป็นผู้มีส่วนได้ดื่มรสความสุขอันเกิดแต่ความสงัด ด้วยข้อปฏิบัติอันนี้อย่างแน่นอน แล้วพึงภาวนา ลืมตาแต่พอดี จับเอานิมิตในปถวีกสิณนั้น โดยอาการอันสม่ำเสมอเรื่อย ๆ ไป
จริงอยู่ เมื่อลืมตากว้างมากไปก็จะเมื่อยตา และดวงกสิณก็จะปรากฏชัดเกินไป ด้วยเหตุนั้นอุคคหนิมิตก็จะไม่เกิดขึ้นได้ เมื่อลืมตาแคบไป ดวงกสิณก็จะไม่ปรากฏชัด และจิตก็จะห่อเหี่ยว แม้ด้วยเหตุนี้อุคคหนิมิตก็จะไม่เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลพึงภาวนาลืมตาแต่พอดี จับเอานิมิตในปถวีกสิณนั้น โดยอาการอันสม่ำเสมอ เหมือนดูเงาหน้าในบานกระจก ฉะนั้น และอย่าพิจารณาถึงสีของดิน อย่าเอาใจใส่ถึงลักษณะของดินเช่นความแข็งของดินเป็นต้น แต่ก็มิใช่จะปฏิเสธสีเสียทีเดียว พึงตั้งจิตไว้ในคำบัญญัติว่าดิน ด้วยอำนาจธาตุดิน เป็นสิ่งที่มากกว่าธาตุอื่น แล้วพิจารณาดินพร้อมกับสีที่อาศัยพร้อม ๆ กันไป
แหละ ในบรรดาชื่อของดินทั้งหลายในคำบาลี เช่น ปถวี, มหี, เมทนี, ภูมิ, วสุธา และ วสุนธรา เป็นต้น โยคีบุคคลปรารถนาชื่อใด และชื่อใดสำเร็จเป็นเครื่องเกื้อหนุน แก่ความจำของเธอ เธอก็พึงระบุเอาชื่อนั้น หรือพระอาจารย์พึงบอกชื่อนั้นแก่เธอ
อีกประการหนึ่ง ที่ชื่อว่า ปถวี นี้นั่นเทียว ปรากฏเป็นที่รู้จักกันมากกว่าชื่ออื่น ฉะนั้น โยคีบุคคลพึงภาวนาด้วยคำบาลีว่า ปถวี –ปถวี หรือด้วยคำไทยว่า ดิน–ดิน ดังนี้ ด้วยอำนาจเป็นชื่อที่ปรากฏนั่นเทียว และบางครั้งพึงลืมตาดูนิมิต บางครั้งพึงหลับตาเสียแล้วนึกทางใจ อุคคหนิมิตยังไม่เกิดข้นตราบใด ตราบนั้นจงภาวนาเรื่อย ๆ ไปโดยนัยนี้แหละ จนถึงร้อยครั้งพันครั้ง หรือ แม้จะมากครั้งกว่านั้นขึ้นไปก็ตาม
ได้อุปจาระ,ละนิวรณ์,ได้ปฏิภาคพร้อมกัน
นิมิต 2
ได้อุคคหนิมิต
เมื่อโยคีบุคคลภาวนาอยู่อย่างนั้น กาลใด หลับตานึกทางใจ นิมิตในปถวีกสิณนั้น มาสู่คลองจักษุ คือเข้าถึงความเป็นอารมณ์ของมโนทวาริกชวนจิต กาลนั้น ย่อมได้ชื่อว่า อุคคหนิมิต เกิดแล้ว นับแต่เวลาอุคคหนิมิตเกิดแล้วไป โยคีบุคคลไม่ต้องนั่งภาวนาอยู่ ณ ที่ดวงกสิณนั้นอีก พึงกลับเข้าสู่ที่อยู่ของตนแล้วนั่งภาวนาอยู่ ณ ที่นั้นเถิด
(หน้าที่ 208)
อนึ่ง เพื่อจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ชักช้าเสียเวลาในเพราะอันที่จะต้องล้างเท้า โยคีบุคคลจำต้องมีรองเท้าชนิดชั้นเดียวกับไม้เท้าด้วย เพื่อว่าถ้าสมาธิที่ยังอ่อนจะเสื่อมหายไปด้วย เหตุอันไม่เป็นที่สบายบางอย่างแล้ว โยคีบุคคลจะได้สวมรองเท้าถือไม้เท้าไปยังที่เดิมนั้น นั่งเพ่งกสิณจนได้อุคคหนิมิตอีก จึงกลับมาที่อยู่ของตน นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายให้ตรงภาวนาเรื่อย ๆ ไป
ได้ปฏิภาคนิมิต
อันโยคีบุคคลนั้นพึงพยายามนึกถึงอุคคหนิมิตนั้นให้บ่อย ๆ ทำกัมมัฏฐานให้เป็นอันความนึกตะล่อมมาไว้ในจิตแล้ว อันความนึกชอบตะล่อมมาไว้ในจิตแล้ว เมื่อโยคีบุคคลทำกัมมัฏฐานให้เป็นความนึกตะล่อมมาไว้ในจิตแล้ว อันความนึกชอบตะล่อมมาไว้ในจิตแล้วอย่างนี้ นิวรณ์ทั้งหลายมีกามฉันทะเป็นต้นก็จะสงบลง และกิเลสทั้งหลายอันตั้งอยู่ในฐานะเดียวกันกับนิวรณ์นั้น ก็จะระงับหายไปโดยลำดับแห่งภาวนา จิตย่อมตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิ ปฏิภาคนิมิต ย่อมเกิดขึ้น ด้วยประการฉะนี้
ความแตกต่างของนิมิตทั้ง 2
ในนิมิตทั้ง 2 นั้น ความแปลกกันแห่งอุคคหนิมิตอันก่อนกับปฏิภาคนิมิตนี้ ดังนี้ คือ ในขั้นอุคคหนิมิตยังมีโทษแห่งกสิณปรากฏให้เห็นอยู่ได้ ส่วนปฏิภาคนิมิตย่อมปรากฏเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ผุดผ่องกว่าอุคคหนิมิตนั้นตั้งร้อยเท่าพันเท่า เป็นดุจชำแรกอุคคหนิมิตออกมาคล้ายกับดวงแว่นที่ถอดออกจากถุง คล้ายถาดสังข์ที่ขัดดีแล้ว คล้ายดวงจันทร์ที่ออกจากกลีบเมฆ และคล้ายหมู่นกยางอยู่ที่หน้าเมฆ
ก็แหละ ปฏิภาคนิมิตนั้นไม่มีสีไม่มีสัณฐาน เพราะไม่ใช่สภาวปรมัตถ์ จริงอยู่ ถ้าปฏิภาคนิมิตนั้นจะพึงเป็นสิ่งที่มีสีและสัณฐานเช่นนี้แล้ว ก็จะพึงเป็นรูปหยาบที่รู้ได้ด้วยตาเนื้อ เข้าถึงสัมมสนญาณได้ ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ได้ แต่นี้หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ มันเป็นสักว่าอาการที่ปรากฏแก่ผู้ได้สมาธิซึ่งเกิดจากสัญญาภาวนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ก็แหละ นับจำเดิมแต่เวลาปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นแล้ว นิวรณ์ทั้งหลายมีกามฉันทะเป็นต้น ย่อมสงบไปเองนั่นเทียว กิเลสทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในฐานะเดียวกันกับนิวรณ์ก็ระงับไปเองด้วย จิตก็เป็นอันตั้งมั่นแล้วด้วย อุปจารสมาธิ นั่นแล
(หน้าที่ 209)
สมาธิ 2
แหละสมาธินั้นมี 2 อย่าง คือ อุปจารสมาธิ 1 อัปปนาสมาธิ 1 จิตในอุปจารภูมิ หรือในปฎิลาภภูมิ ( ภูมที่ได้อัปปนาฌาน ) ย่อมตั้งมั่นด้วยเหตุ 2 ประการ คือ ใน 2 ภูมินั้น จิตในอุปจารภูมิย่อมตั้งมั่น เพราะการประหานเสียได้ซึ่งนิวรณ์ จิตในปฎิลาภภูมิย่อมตั้งมั่นเพราะความบังเกิดขึ้นแห่งองค์ฌาน
ก็แหละ สมาธิ 2 อย่างมีเหตุต่างกันดังนี้ องค์ฌานทั้งหลายในอุปจารสมาธิยังไม่มีกำลัง เพราะองค์ฌานทั้งหลายยังไม่เกิดกำลัง คือยังไม่บรรลุซึ่งกำลัง คือยังไม่บรรลุซึ่งกำลังแห่งภาวนา เปรียบเหมือนเด็กเล็ก ๆ ที่พยุงให้ลุกขึ้นยืนแล้วก็ล้มลงไปที่พื้นบ่อย ๆ ฉันใด เมื่ออุปจารสมาธิเกิดขึ้นนั้น บางทีจิตก็ทำนิมิตให้เป็นอารมณ์ บางทีก็ตกสู่ภวังค์ ฉันนั้น ส่วนในอัปปสมาธิ องค์ฌานทั้งหลายมีกำลัง เพราะองค์ฌานเหล่านั้นเกิดมีกำลังแล้ว เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง ลุกจากที่นั่งแล้วพึงยืนอยู่ได้แม้ตลอดทั้งวัน ฉันใด แม้เมื่ออัปปนาสมาธิเกิดขึ้นแล้ว ฌานจิตตัดวาระแห่งภวังค์ครั้งเดียว แล้วก็ดำรงอยู่ตลอดคืนตลอดวันแม้ทั้งสิ้น ย่อมเป็นไปอยู่ด้วยอำนาจลำดับแห่งกุศลชวนะจิตอย่างเดียวเท่านั้น
รักษาปฏิภาคนิมิตเหมือนพระครรภ์จักรพรรดิ
ในนิมิต 2 อย่างนั้น ปฏิภาคนิมิตซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับอุปจารสมาธินั้นใด การที่จะทำให้ปฏิภาคนิมิตนั้นเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าโยคีบุคคลสามารถที่จะเจริญปฎิภาคนิมิตนั้นไป จนบรรลุซึ่งอัปปนาสมาธิเสียได้ด้วยบัลลังก์นั้นทีเดียว ข้อนั้นนับเป็นโชคดี แต่ถ้าไม่สามารถจะปฏิบัติได้เช่นนั้น แต่นั้น โยคีบุคคลนั้นอย่าได้ประมาท พึงรักษาปฏิภาคนิมิตนั้นไว้เหมือนกับพระครรภ์ที่ทรงไว้ซึ่งทารกผู้จะเป็นพระเจ้าจักพรรดิ ฉะนั้น เพราะเมื่อรักษาปฏิภาคนิมิตไว้ได้เช่นนี้ อุปจารฌานที่ได้แล้วก็จะไม่มีการเสื่อมหายไป แต่เมื่อไม่มีการรักษาแม้อุปจารฌานที่ได้แล้วนั้นก็จะเสื่อมหายไปเสีย
(หน้าที่ 210)
สัปปายะ 7
ระวัง 7 ข้อเพื่อรักษาปฏิภาคนิมิตที่เพิ่งได้มา
ต้องเว้นอสัปปายะ 7 และเสพสัปปายะ 7
ในปฏิภาคนิมิตนั้น มีวิธีรักษาดังต่อไปนี้ –
(คาถาสำหรับท่องจำ)
อาวาโส โคจโร ภสฺสํ ปุคฺคโล ฏภชนํ อุตุ
อิริยาปโถติ สตฺเตเต อสปฺปาเย วิวชฺชเย
สปฺปาเย สตฺต เสเวถ เอวญฺหิ ปฏิปชฺชโต
นจิเรเนว กาเลน โหติ กสฺสจิ อปฺปนา
โยคีบุคคลใดได้ปฏิภาคนิมิตแล้วนั้น พึงเว้นซึ่งธรรมอันไม่เป็นที่สบาย 7 อย่างเหล่านี้ คือ
1. อาวาโส ได้แก่ที่อยู่อันไม่เป็นที่สบาย
2. โคจโร ได้แก่หมู่บ้านบิณฑบาตไม่เป็นที่สบาย
3. ภสฺสํ ได้แก่คำพูดอันไม่เป็นที่สบาย
4. ปุคฺคโล ได้แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่สบาย
5. โภชนํ ได้แก่อาหารอันไม่เป็นที่สบาย
6. อุตุ ได้แก่อากาศอันไม่เป็นที่สบาย และ
7. อิริยาปโถ ได้แก่อิริยาบถอันไม่เป็นที่สบาย
และพึงส้องเสพธรรมอันเป็นที่สบาย 7 อย่างตรงกันข้าม เพราะเมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ ไม่ช้าไม่นานเท่าใดนักเลย โยคีบุคคลบางท่านก็จะได้สำเร็จอัปปนาฌานต่อไป
อธิบาย อสัปปายะ 7 และสัปปายะ 7
1. อาวาส – ที่อยู่ ในที่อยู่ 2 อย่างนั้น เมื่อโยคีบุคคลอยู่ในที่อันใด นิมิตที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมหายไป และสติที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น จิตที่ไม่เป็นสมาธิก็ไม่เป็นสมาธิ ที่อยู่เช่นนี้ ชื่อว่า ที่อยู่ไม่เป็นที่สบาย
(หน้าที่ 211)
เมื่อโยคีบุคคลอยู่ ณ ที่ใด นิมิตย่อมเกิดขึ้นด้วย ย่อมถาวรมั่นคงอยู่ด้วย สติย่อมตั้งมั่นในนิมิตนั้น จิตก็เป็นสมาธิ เหมือนพระปธานิยติสสเถระผู้อยู่ ณ วัดนาคบรรพตเป็นตัวอย่าง ที่อยู่เช่นนี้ ชื่อว่า ที่อยู่เป็นที่สบาย
เพราะฉะนั้น ในวัดใดมีที่อยู่หลายแห่งด้วยกัน ในวัดเช่นนั้น โยคีบุคคลพึงอยู่ ทดลองดูแห่งละ 3 วัน ๆ ณ แห่งใดทำให้จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งได้ ก็พึงอยู่ ณ ที่แห่งนั้นเถิด จริงอยู่ เพราะเหตุที่ได้ที่อยู่เป็นที่สบาย ภิกษุ 500 รูป ซึ่งอยู่ ณ ถ้ำจูฬนาคะในประเทศลังกา เรียนเอากัมมัฏฐานแล้วก็ได้บรรลุพระอรหัต ณ ถ้ำนั้นนั่นแล แหละ ณ ที่อื่น ๆ พระอริยบุคคลทั้งหลายมีพระโสดาบันเป็นต้น ได้บรรลุถึงขั้นอริยภูมิแล้วได้บรรลุพระอรหัต ณ ที่นั้น ๆ คณนานับไม่ถ้วน แม้ที่วัดอื่น ๆ เช่น วัดจิตตลบรรพต เป็นต้น ก็เช่นเดียวกันนี้
2. โคจรคาม – หมู่บ้านบิณฑบาต ก็แหละ โคจรคามคือหมู่บ้านสำหรับไปบิณฑบาตแห่งใด มีอยู่ด้านทิศเหนือ หรือด้านทิศใต้ 1 มีอยู่ในที่ไม่ห่างไกลมากนัก คือภายในระยะหนึ่งโกสะครึ่ง ประมาณพันชั่วคันธนู หรือ 2 กิโลเมตร 1 มีภิกษาหารบริบูรณ์หาได้สะดวก 1 หมู่บ้านเช่นนั้น ชื่อว่า หมู่บ้านบิณฑบาตเป็นที่สบาย อย่างตรงกันข้าม ชื่อว่า หมู่บ้านบิณฑบาตไม่เป็นที่สบาย
3. ภัสสะ - คำพูด ถ้อยคำที่นับเนื่องในดิรัจฉานกถา 12 ประการ มีการพูดถึงเรื่องพระราชาเป็นต้น ชื่อว่าเป็นถ้อยคำไม่เป็นที่สบาย เพราะถ้อยคำเช่นนั้น ย่อมเป็นไปเพื่ออันตรธานเสียแห่งนิมิตของโยคีบุคคลนั้น
ถ้อยคำที่อาศัยกถาวัตถุ 10 ประการ มีพูดถึงความมักน้อยเป็นต้น ชื่อว่า เป็นถ้อยคำเป็นที่สบาย แม้ถึงถ้อยคำเป็นที่สบายเช่นนั้น ก็พึงพูดแต่พอประมาณ
(หน้าที่ 212)
4. ปุคคโล – บุคคล บุคคลผู้ไม่ชอบพูดเรื่องดิรัจฉานกถา เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติมีศีลเป็นต้น ที่โยคีบุคคลอาศัยแล้ว จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นย่อมตั้งมั่น หรือจิตที่ตั้งมั่นแล้วย่อมมั่นคงยิ่งขึ้น บุคคลเห็นปานนี้ ชื่อว่า เป็นบุคคลเป็นที่สบาย
ส่วนบุคคลที่ชอบประคบประหงมบำรุงตกแต่งร่างกาย ชอบพูดแต่เรื่องดิรัจฉานกถา ชื่อว่า บุคคลไม่เป็นที่สบาย เพราะบุคคลเช่นนั้นย่อมทำปฏิภาคนิมิตนั้นให้เศร้าหมองได้ทีเดียว เปรียบเหมือนน้ำขี้ตมทำน้ำที่ใสให้ขุ่นได้ฉะนั้น ไม่ต้องพูดถึงปฏิภาคนิมิตดอก แม้แต่สมาบัติของพระหนุ่มผู้อยู่ ณ เขาโกฏบรรพตรูปหนึ่ง ก็ยังเสื่อมหายไป เพราะเหตุอาศัยบุคคลไม่เป็นที่สบายเช่นนั้น
5 - 6. โภชนะ – อาหาร และ อุตุ - อากาศ ก็แหละ อาหารที่มีรสหวาน ย่อมเป็นที่สบายสำหรับบุคคลบางคน ที่มีรสเปรี้ยว ย่อมเป็นที่สบายสำหรับบุคคลบางคน แม้อากาศเย็นก็เป็นที่สบายสำหรับบุคคลบางคน อากาศร้อนเป็นที่สบายสำหรับบุคคลบางคน เพราะฉะนั้น เมื่อโยคีบุคคลส้องเสพอาหารหรืออากาศชนิดใดจึงมีความผาสุกสบาย หรือจิตที่ยังไม่ตั้งมั่นย่อมตั้งมั่น หรือจิตที่ตั้งมั่นแล้วย่อมมั่นคงยิ่งขึ้น อาหารชนิดนั้นและอากาศชนิดนั้น ชื่อว่า เป็นที่สบาย อาหารและอากาศชนิดอื่นนอกจากนี้ ชื่อว่า ไม่เป็นที่สบาย
7. อิริยาปโถ - อิริยาบถ แม้ในอิริยาบถ 4 บางคนมีอิริยาบถเดินเป็นที่สบาย บางคนก็มีอิริยาบถนอน, อิริยาบถยืน หรืออิริยาบถนั่งอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นที่สบาย เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลพึงทดลอง อิริยาบถนั้นดูอย่างละ 3 วัน เหมือนกับทดลองที่อยู่ ในอิริยาบถใด จิตที่ยังไม่ได้ตั้งมั่นย่อมตั้งมั่น หรือจิตที่ตั้งมั่นแล้วย่อมมั่นคงยิ่งขึ้น พึงทราบว่าอิริยาบถนั้นชื่อว่า เป็นอิริยาบถเป็นที่สบาย อิริยาบถอื่น ๆ นอกนี้ ไม่ใช่เป็นอิริยาบถที่สบาย
ด้วยประการฉะนี้ โยคีบุคคลพึงเว้นธรรมอันไม่เป็นที่สบาย 7 อย่างนี้ พึงเสพธรรมอันเป็นที่สบาย 7 อย่างนี้นั้นเถิด เพราเมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ และเสพปฏิภาคนิมิตมาก ๆ ขึ้น ไม่ช้าไม่นานเท่าไรเลย โยคีบุคคลบางคนก็จะได้สำเร็จอัปปนาฌานแน่นอน
(หน้าที่ 213)
อัปปนาโกศล 10
บริหาร 10 ข้อให้บรรลุอัปปนา
ถ้ายังไม่สำเร็จอัปปนาฌาน ต้องบำเพ็ญอัปปนาโกศล 10 ประการ
ก็แหละ โยคีบุคคลใดแม้จะได้ปฏิบัติอย่างนั้นแล้ว ก็ยังไม่ได้สำเร็จอัปปนาฌาน โยคีบุคคลนั้นพึงบำเพ็ญอัปปนาโกศล (คือวิธีที่จะให้มีความฉลาดในอัปปนา) ให้เกิดขึ้นโดยบริบูรณ์ต่อไป
ในอัปปนาโกศลนั้น มีนัยดังนี้ - อันโยคีบุคคลจำต้องปรารถนาวิธีที่จะให้มีความฉลาดในอัปปนาสมาธิ โดยประการ 10 อย่าง คือ –
1. วตฺถุวิสทกิริยโต โดยทำวัตถุให้สะอาด
2. อินฺทริยสมตฺตปฏิปาทนโต โดยทำอินทรีย์ให้ถึงความเสมอกัน
3. นิมิตฺตกุสลโต โดยฉลาดในนิมิต
4. จิตฺตปคฺคหโต โดยยกจิตในสมัยที่ควรยก
5. จิตฺตนิคฺคหโต โดยข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม
6. จิตฺตสมฺปหํสโต โดยพยุงจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง
7. จิตฺตอชฺฌุเปกฺขโต โดยเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉย
8. อสมาหิตปุคฺคลปริวชฺชนโต โดยเว้นบุคคลผู้ไม่มีสมาธิ
9. สมาหตปุคฺคลเสวนโต โดยสมาคมกับบุคคลผู้มีสมาธิ และ
10. ตทธิมุตฺตโต โดยน้อมจิตไปในสมาธินั้น
อธิบาย อัปปนาโกศล 10 ประการ 1. โดยทำวัตถุให้สะอาด ในอัปปนาโกศล 10 ประการนั้น การทำวัตถุทั้งหลายทั้งภายในและภายนอกให้มีความสะอาด ชื่อว่า ทำวัตถุให้สะอาด อธิบายว่า กาลใด โยคีบุคคลมีผม, เล็บ และ ขนทั้งหลายขึ้นมา หรือมีร่างกายถูกเหงื่อไคลจับเปื้อนเปรอะ กาลนั้น ชื่อว่า มีวัตถุภายในไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ แหละกาลใด โยคีบุคคลมีจีวรเก่า สกปรก และเหม็นสาบ หรือมีเสนาสนะรกรุงรัง กาลนั้น ชื่อว่า มีวัตถุภายนอกไม่สะอาดไม่บริสุทธิ์
(หน้าที่ 214)
เมื่อจิตและเจตสิกทั้งหลายเกิดขึ้นในวัตถุอันเป็นภายในและภายนอกที่ไม่สะอาดเช่นนั้น แม้ฌานก็พลอยไม่สะอาดไปด้วย ฉันเดียวกับแสงแห่งตะเกียงอันเกิดเพราะอาศัย ตะเกียง, ไส้ และน้ำมันที่ไม่สะอาด เมื่อโยคีบุคคลพิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยฌานอันไม่สะอาด แม้สังขารย่อมไม่ปรากฏแจ้งชัด ถึงจะเพียรทำกัมมัฏฐานไป แม้กัมมัฏฐานก็จะไม่บรรลุถึงซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์อยู่นั่นเอง
แต่เมื่อจิตและเจตสิกทั้งหลายเกิดขึ้นในวัตถุอันเป็นภายในและภายนอกที่สะอาด แม้ญาณก็พลอยสะอาดบริสุทธิ์ไปด้วย ฉันเดียวกับแสงแห่งตะเกียงที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตะเกียง, ไส้ และน้ำมันที่สะอาด และเมื่อโยคีบุคคลพิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยญาณอันสะอาด แม้สังขารทั้งหลายก็ย่อมปรากฏแจ้งชัด เมื่อเพียรทำกัมมัฏฐานไป แม้กัมมัฏฐานก็จะบรรลุถึง ซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์โดยแท้
2. โดยทำอินทรีย์ให้ถึงความเสมอกัน การทำอินทรีย์ 5 มีศรัทธาเป็นต้นให้มีความสม่ำเสมอกันโดยหน้าที่ ชื่อว่า ทำอินทรีย์ให้ถึงความเสมอกัน อธิบายว่า ถ้าแหละ อินทรีย์คือศรัทธาของโยคีบุคคลนั้นมีกำลังมาก อินทรีย์ 4 นอกนี้มีกำลังน้อยแล้วไซร้ เพราะเหตุนั้น อินทรีย์คือวีริยะ ย่อมไม่สามารถเพื่อทำหน้าที่คือการประคอง อินทรีย์คือสติ ย่อมไม่สามารถเพื่อทำหน้าที่คือการปรากฏ อินทรีย์คือสมาธิ ย่อมไม่สามารถเพื่อทำหน้าที่คือความไม่ฟุ้งซ่าน อินทรีย์คือปัญญาย่อมไม่สามารถทำหน้าที่คือการเห็นแจ้ง เพราะฉะนั้น ต้องลดสัทธินทรีย์นั้นลง ด้วยการพิจารณาถึงสภาวธรรมคือภาวะที่เป็นจริงของสัทธินทรีย์นั้น หรือด้วยไม่มนสิการถึงโดยวิธีที่มนสิการถึงแล้วสัทธินทรีย์เกิดมีกำลังมากขึ้น แหละในอธิการนี้ มีเรื่องพระวักกลิเถระ เป็นตัวอย่าง
เรื่องพระวักกลิเถระ ก็แหละ ท่านวักกลิเถระนั้น เป็นผู้มีบุญญาธิการอันได้สั่งสมไว้ในสัทธาธิมุต คือ ความเป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้า จึงเป็นผู้ขวนขวายในอันจะได้เห็นพระรูปพระโฉมของพระศาสดาอยู่อย่างไม่รู้สร่าง แม้พระบรมศาสดาจะได้ทรงโอวาทแล้วทรงประกอบไว้ในกัมมัฏฐาน โดยนัยมีอาทิว่า วักกลิ เธอต้องการอะไรด้วยอันเห็นกายอันเปื่อยเน่านี้เล่า วักกลิ
(หน้าที่ 215)
ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นจึงชื่อว่าเห็นเรา ฉะนี้แล้วก็ตาม เธอก็มิได้สนใจประกอบพระกัมมัฏฐานนั้น กลับเสียใจ ได้ขึ้นไปยังทีปากเหวเพื่อทำตนให้ตกลงไป ทันใดนั้น พระบรมศาสดาซึ่งเสด็จประทับนั่งอยู่อย่างปกตินั่นเทียว ได้ทรงเปล่งพระรัศมีไปทรงแสดงพระองค์ให้ปรากฏ ตรัสพระพุทธนิพนธคาถาว่า "ภิกษุผู้มากไปด้วยความปราโมช เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามีหวังได้บรรลุสันติบท คือความสุขอันเป็นที่ระงับดับเสียซึ่งสังขารธรรมทั้งหลาย" ฉะนี้แล้ว ได้ทรงเรียกพระวักกลิเถระว่า "มานี่แน่ วักกลิ" ท่านวักกลิเถระนั้น อันพระบรมศาสดาได้ทรงประพรมด้วยน้ำพระพุทธมนต์อมฤตรสนั้นแล้ว กลับมีความร่าเริงยินดี จึงได้เริ่มลงมือเจริญวิปัสสนา แต่ก็ไม่อาจหยั่งลงสู่วิปัสสนาวิถีได้ เพราะเหตุที่ศรัทธามีกำลังมากเกินไป พระผู้มีพระภาคทรงทราบเช่นนั้น จึงทรงแก้ไขให้ท่านถึงความเป็นผู้มีอินทรีย์สม่ำเสมอกัน ทรงสอบชำระพระกัมมัฏฐานประทานให้ แล้วท่านวักกลิเถระปฏิบัติวิปัสสนาให้ก้าวหน้าขึ้นไป โดยนัยที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้นั้น ก็ได้บรรลุถึงซึ่งพระอรหัตโดยลำดับแห่งอริยมรรคขึ้นไป ฉะนี้แล
แหละถ้าวีริยินทรีย์มีกำลังมาก แต่นั้น สัทธินทรีย์ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่คือการตัดสินอารมณ์ได้ อินทรีย์อื่นนอกนี้ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ที่ต่างกันนอกนี้ได้ เพราะฉะนั้น ต้องลดวีริยินทรีย์นั้นลง ด้วยการเจริญสัมโพชฌงค์ 3 ประการ คือ ปัสสัทธิ, สมาธิ และอุเบกขา แม้ในอธิการนี้ ก็ควรแสดงเรื่องพระโสณเถระผู้ละเอียดอ่อนเป็นตัวอย่าง ดังนี้ –
เรื่องพระโสณเถระ ก็แหละ ท่านโสณเถระนั้น เรียนเอาพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระบรมศาสดาแล้วไปอยู่ ณ ป่าสีเสียด ท่านคิดว่า "ร่างกายเราละเอียดอ่อนมาก และเราไม่สามารถจะบรรลุถึงสุขได้โดยง่ายเลย เราจึงควรบำเพ็ญสมณธรรมแม้อย่างที่ทรมานกายให้ลำบาก" ฉะนี้แล้ว ได้อธิษฐานเอาอิริยาบถยืนและเดินเพียง 2 อย่างเท่านั้น พยายามประกอบความเพียรอยู่แม้ที่ฝ่าเท้าที่ข้อเท้าจะมีเวทนาปรากฏเกิดขึ้น ก็ไม่เอาใจใส่ พยายามทำความเพียรอย่างมุ่งมั่น
(หน้าที่ 216)
แต่กระนั้น ก็ไม่สามารถจะทำคุณวิเศษให้บังเกิดขึ้นได้ เพราะปรารถความเพียรแรงกล้าเกินไป พระบรมศาสดาจึงได้เสด็จไป ณ ที่นั้น ทรงประทานพระพุทธโอวาทด้วยวีโณวาท คือโอวาทเปรียบด้วยพิณสามสาย ทรงแสดงวิธีปรับวีริยะให้สม่ำเสมอ ทรงสอบชำระพระกัมมัฏฐานแล้ว จึงเสด็จกลับยังภูเขาคิชฌกูฏ ฝ่ายพระเถระปรับวีริยะให้สม่ำเสมอ โดยนัยที่ทรงประทานแล้วเจริญวิปัสสนาให้ก้าวหน้าขึ้นไป ดำรงตนไว้ในพระอรหัตแล้ว ฉะนี้แล
การอธิบายความสม่ำเสมอกันแม้ในอินทรีย์ที่เหลือ คือ สติ, สมาธิ และปัญญา ก็พึงทราบเหมือนกันนี้ กล่าวคือ เมื่ออินทรีย์แต่ละประการมีกำลังมาก ก็จงทราบเถิดว่า อินทรีย์นอกนี้ไม่สม่ำเสมอกันในหน้าที่ของตน ๆ
ศรัทธากับปัญญาเสมอกัน ก็แหละ ในอินทรีย์ 5 นี้ เมื่อกล่าวโดยที่แปลกกันแล้ว ปราชญ์ทั้งหลายย่อมรับรองต้องกันว่า ศรัทธาเสมอกันกับปัญญา และสมาธิเสมอกันกับวีริยะ อธิบายว่า บุคคลผู้มีศรัทธามาก แต่มีปัญญาน้อย ย่อมเป็นคนมีความเลื่อมใสอย่างเซ่อ ๆ คือไม่เลื่อมใสอย่างแน่วแน่ ย่อมเลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ใช่เรื่อง บุคคลผู้มีปัญญามากแต่มีศรัทธาน้อย ย่อมแหกแนวไปสู่ทางฝ่ายเกเรโอ้อวด เป็นผู้มีอันใคร ๆ จะแก้ไขไม่ได้ เหมือนกับโรคที่เกิดขึ้นจากยาเอง ยากที่จะรักษาให้หายได้ แต่เพราะศรัทธากับปัญญาสม่ำเสมอกัน บุคคลย่อมเลื่อมใสถูกเรื่องเสมอ
สมาธิกับวีริยะเสมอกัน ส่วนบุคคลผู้มีสมาธิมากแต่มีวีริยะน้อย ความเกียจคร้านย่อมครอบงำ เพราะสมาธิเป็นฝักฝ่ายของความเกียจคร้าน บุคคลผู้มีวีริยะมากแต่มีสมาธิน้อย อุทธัจจะความฟุ้งซ่านย่อมครอบงำ เพราะวีริยะเป็นฝักฝ่ายของอุทธัจจะ แต่สมาธิที่ประกอบเข้ากับวีริยะแล้วย่อมไม่ได้เพื่อตกไปในความเกียจคร้าน วีริยะที่ประกอบเข้ากับสมาธิแล้ว ก็ไม่ได้เพื่อตกไปในอุทธัจจะ เพราะฉะนั้น จึงจำต้องวีริยะกับสมาธิทั้งสองนั้นให้สม่ำเสมอกัน เพราะจะสำเร็จอัปปนาสมาธิได้ ด้วยวีริยะสมาธิทั้งสองสม่ำเสมอกัน
(หน้าที่ 217)
การปรับอินทรีย์ให้เสมอกันอีกนัยหนึ่ง อีกประการหนึ่ง สำหรับโยคีบุคคลผู้เจริญสมถกัมมัฏฐานนั้น แม้จะมีศรัทธาชนิดที่มีกำลังมาก ก็สมควร เพราะเมื่อศรัทธามีกำลังมากอย่างนี้ โยคีบุคคลเชื่อมั่นอยู่ มุ่งหมายอยู่ ก็จักได้บรรลุถึงซึ่งอัปปนาสมาธิ
แหละ ในสมาธิกับปัญญานั้น สมาธิมีกำลังมากย่อมสมควรสำหรับผู้ที่เจริญสมถกัมมัฏฐาน เพราะโยคีบุคคลผู้เจริญสมถกัมมัฏฐานนั้นจะบรรลุอัปปนาสมาธิได้ก็ด้วยสมาธิที่มีกำลังมากอย่างนี้ ปัญญาที่มีกำลังมากย่อมสมควรสำหรับผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพราะโยคีบุคคลผู้เจริญวิปัสสนานั้น ย่อมจะบรรลุถึงซึ่งการแทงตลอดลักษณะของสังขารธรรม ก็ด้วยปัญญาที่มีกำลังมากนี้ แต่เพราะเหตุที่สมาธิกับปัญญาทั้งสองสมดุลย์กัน จึงจะสำเร็จอัปปนาสมาธินั่นเทียว
สติจำปรารถนาในอินทรีย์ทั้ง 5 ส่วนสตินั้นมีกำลังมากในอินทรีย์ 5 ทุกประการยิ่งดี เพราะสติย่อมรักษา กุศลจิตให้พ้นจากการตกไปในอุทธัจจะ ด้วยอำนาจแห่งศรัทธา, วีริยะ และปัญญาอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้น สติจึงจำปรารถนาในอินทรีย์ 5 ทุกประการ เหมือนเกลือป่นจำปรารถนาในกับข้าวทุกชนิด และเหมือนอำมาตย์ผู้ชำนาญในกิจทั้งปวง จำปรารถนาในราชกิจทุกอย่างฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านอรรถกถาจารย์ จึงกล่าวไว้ว่า ก็แหละ สตินั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จำปรารถนาในกิจทุกอย่าง เพราะเหตุไร ? เพราะจิตมีสติเป็นเครื่องเตือนให้ระลึก และสติมีการอารักขาเป็นอาการปรากฏ การยกจิตและการข่มจิต เว้นจากสติแล้ว หาเป็นไปได้ไม่ ฉะนี้
3. โดยฉลาดในนิมิต ความฉลาดในนิมิตนั้น ได้แก่ความฉลาดในการทำนิมิตของสมาธิ เช่นปถวีกสิณ เป็นต้นซึ่งยังไม่ได้ทำขึ้นอย่างหนึ่ง ได้แก่ความฉลาดในการภาวนาซึ่งนิมิตที่ทำขึ้นแล้วอย่าง
(หน้าที่ 218)
หนึ่ง ความฉลาดในนิมิตที่ประสงค์เอาในอัปปนาโกศลกถานี้ ได้แก่ความฉลาดในการรักษาซึ่งนิมิตที่ได้มาแล้วด้วยการภาวนานั้น
โพชฌงค์
4. โดยยกจิตในสมัยที่ควรยก ถาม - ข้อว่า โยคีบุคคลย่อมยกจิตในสมัยที่ควรยกนั้น คือทำอย่างไร ?
ตอบ - กาลใด โยคีบุคคลนั้นมีจิตหดหู่ด้วยเหตุทั้งหลาย เช่น ความมีวีริยะย่อหย่อนมากเป็นต้น กาลนั้น อย่าเจริญสัมโพชฌงค์ 3 ประการ มีปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นต้น แต่พึงเจริญสัมโพชฌงค์ 3 ประการ มีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นต้น
วิธียกจิตด้วยสัมโพชฌงค์ 3 ข้อนี้สมดังที่พระผู้มีพระภาคทรงเทศนาไว้ดังต่อไปนี้ –
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้ใคร่จะสุมไฟกองเล็ก ๆ ให้ลุกโพลงขึ้น เขาใส่หญ้าสดเข้าไปด้วย ใส่มูลโคสดเข้าไปด้วย มิหนำซ้ำพ่นลมปนน้ำลายใส่ด้วย โปรยขี้ฝุ่นใส่ด้วย ในกองไฟนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นควรหรือไม่เล่า เพื่อจะทำไฟกองเล็ก ๆ นั้นให้ลุกโพลงขึ้นได้ ? ข้อนั้นไม่ควรจะเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันเดียวกันนั่นเทียวแล สมัยใดจิตหดหู่ สมัยนั้นไม่ใช่กาล เพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่กาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่กาลเพื่อเจริญ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ข้อนั้น เพราะเหตุไร ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะจิตหดหู่อยู่แล้ว จิตที่หดหู่นั้นย่อมยากที่จะช่วยยกขึ้นได้ด้วยสมโพชฌงคธรรมเหล่านี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่สมัยใดจิตหดหู่ สมัยนั้นเป็นการเพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญวีริยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ข้อนั้น เพราะเหตุไร ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่จิตหดหู่นั้น ย่อมง่ายที่จะช่วยยกขึ้นด้วยสัมโพชฌงคธรรมเหล่านี้
(หน้าที่ 219)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้ใคร่จะสุมไฟกองเล็ก ๆ ให้ลุกโพลงขึ้นเขาจึงใส่หญ้าแห้งเข้าไปด้วย ใส่มูลโคแห้งเข้าไปด้วย ใส่ไม้แห้งเข้าไปด้วย ช่วยเป่าลมปากใส่ด้วย แต่ไม่โปรยขี้ฝุ่นลงใส่ในกองไฟนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นควรหรือไม่เล่า เพื่อที่จะทำไฟกองเล็ก ๆ นั้นให้ลุกโพลงขึ้นได้ ? ควรที่จะเป็นอย่างนั้นได้ พระพุทธเจ้าข้า
อาหารปัจจัยของธัมมวิจยะเป็นต้น แหละในอธิการนี้ นักศึกษาพึงทราบถึงวิธีการเจริญสัมโพชฌงค์ 3 ประการมี ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นต้นให้เกิดขึ้น ด้วยอำนาจอาหารปัจจัยของตน ๆ ต่อไป ดังนี้ –
อาหารปัจจัยของธัมมวิจยะ ข้อนี้ สมดังที่พระผู้มีพระภาคทรงเทศนาไว้ว่า –
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและที่เป็นอกุศลมีอยู่ ธรรมทั้งหลายที่มีโทษและที่หาโทษมิได้มีอยู่ ธรรมทั้งหลายชั้นทรามและชั้นประณีตมีอยู่ ธรรมทั้งหลายที่มีส่วนเปรียบด้วยของดำและที่มีส่วนเปรียบด้วยของขาวมีอยู่ การหมั่นมนสิการโดยชอบในกุศลธรรมเป็นต้นเหล่านั้น นี้นับเป็นอาหารปัจจัยที่ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปด้วยความภิญโญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว
อาหารปัจจัยของวีริยะ อีกประการหนึ่ง ทรงเทศนาไว้ว่า –
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อารัมภธาตุ, นิกกมธาตุ และปรักกมธาตุมีอยู่ การหมั่นมนสิการโดยชอบในอารัมภธาตุเป็นต้นเหล่านั้น นี้จัดเป็นอาหารปัจจัยที่ย่อมเป็นไปเพื่อทำ วีริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อความภิญโญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งวีริยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว
(หน้าที่ 220)
อาหารปัจจัยของปีติ อีกประการหนึ่ง ทรงเทศนาไว้ว่า –
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์มีอยู่ การหมั่นมนสิการโดยชอบในธรรมเหล่านั้น นี้นับเป็นอาหารปัจจัยที่เป็นไปเพื่อปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปด้วยความภิญโญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปีติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว
อรรถาธิบายบาลี ในบาลีนั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ - มนสิการที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการรู้ปรุโปร่งซึ่งลักษณะของสภาวธรรม และลักษณะที่เสมอกันของสังขารธรรม ชื่อว่า มนสิการโดยชอบในกุศลธรรมเป็นต้น
มนสิการที่เป็นไปด้วยอำนาจที่ทำให้อารัมภธาตุเป็นต้นเกิดขึ้น ชื่อว่า มนสิการโดยชอบ ในอารัมภธาตุเป็นต้น ในธาตุเหล่านั้น ความเพียรขั้นแรกเรียกว่า อารัมภธาตุ ความเพียรที่มีกำลังกว่าอารัมภธาตุนั้น เพราะออกพ้นจากความเกียจคร้านแล้ว เรียกว่า นิกกมธาตุ ความเพียรที่มีกำลังมากกว่านิกกมธาตุนั้นขึ้นไปอีก เพราะก้าวสู่ฐานะยิ่ง ๆ ขึ้นไป เรียกว่า ปรักกมธาตุ
แหละคำว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์ นี้ เป็นชื่อของปีตินั่นเอง มนสิการที่ให้ปีติแม้นั้นเกิดขึ้นนั่นแล ชื่อว่า มนสิการโดยชอบ
ธรรม 7 ที่เป็นเหตุให้ธัมมวิจยะเกิด อีกประการหนึ่ง ธรรม 7 ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น คือ –
(หน้าที่ 221)
1. การสอบถาม
2. การทำร่างกายและเครื่องใช้ให้สะอาด
3. การปรับอินทรีย์ 5 ให้สู่ความสมดุลย์กัน
4. การหลีกเว้นคนมีปัญญาทราม
5. การสมาคมกับคนมีปัญญาดี
6. การพิจารณาธรรมที่ต้องสอดส่องด้วยญานอันลึกซึ้ง และ
7. การน้อมจิตไปในธัมมวิจยะนั้น
ธรรม 11 ที่เป็นเหตุให้วีริยะเกิด ธรรม 11 ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้วีริยะสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น คือ –
1. การพิจารณาเห็นภัยมีทุกข์ในอบายเป็นต้น
2. การเห็นอานิสงส์ของการบรรลุคุณวิเศษ ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระอันเนื่องด้วยความเพียร
3. การพิจารณาเห็นวิถีทางดำเนินอย่างนี้ว่า เราจะต้องดำเนินไปตามทางที่พระพุทธเจ้า, พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระมหาสาวกทั้งหลายดำเนินไปแล้ว แหละทางนั้นคนเกียจคร้านไม่สามารถจะดำเนินไปได้
4. การเคารพในข้าวสุก ด้วยทำให้ทายกผู้บริจาคทั้งหลายเป็นผู้ได้ผลมาก
5. การพิจารณาถึงความยิ่งใหญ่ของพระบรมศาสดาอย่างนี้ว่า พระบรมศาสดาของเราตรัสสรรเสริญคุณของคนปรารภความเพียร และพระองค์ทรงมีคำสอนอันใคร ๆจะละเมิดมิได้ พระองค์ทรงมีพระอุปการะมากแก่เรา ทรงเป็นผู้อันเราบูชาอยู่และจะบูชาต่อไปด้วยปฏิบัติบูชา มิใช่ด้วยอามิสบูชาประการอื่น
6. การพิจารณาถึงความยิ่งใหญ่แห่งมรดกอย่างนี้ว่า มรดกอันยิ่งใหญ่ คือพระสัทธรรม เป็นสิ่งอันเราจะต้องรับไว้ และมรดกอันยิ่งใหญ่นั้น คนเกียจคร้านไม่สามารถจะรับไว้ได้
7. การบรรเทาถีนะและมิทธะด้วยการมนสิกาถึงอาโลกสัญญา การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ และการอยู่ในที่โล่งแจ้ง
(หน้าที่ 222)
8. การหลีกเว้นคนเกียจคร้าน
9. การสมาคมกับคนปรารภความเพียร
10. การพิจารณาถึงอานุภาพของความเพียรชอบ 4 ประการ และ
11. การน้อมจิตไปในวีริยะนั้น
ธรรม 11 ที่เป็นเหตุให้ปีติเกิด ธรรม 11 ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้ปีติสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น คือ-
1. พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า
2. ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม
3. สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณพระอริยสงฆ์
4. สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลที่บริสุทธิ์ของตน
5. จาคานุสสติ ระลึกถึงการบริจาคทานที่ตนบริจาคแล้ว
6. เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา
7. อุปสมานุสสติ ระลึกถึงพระนิพพานอันเป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวง
8. การหลีกเว้นคนที่มีใจหยาบกระด้าง
9. การสมาคมกับคนที่รักใคร่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเป็นต้น
10. การพิจารณาพระสูตรอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส และ
11. การน้อมจิตไปในปีตินั้น
เมื่อโยคีบุคคลยังธรรมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นด้วยอาการทั้งหลายเหล่านี้ ชื่อว่า เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นต้นให้เกิดขึ้น
โยคีบุคคลย่อมยกจิตในสมัยที่ควรยก ด้วยประการฉะนี้
5. โดยข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม ถาม - ข้อว่า โยคีบุคคลย่อมข่มจิตในสมัยที่ควรข่มนั้น คือทำอย่างไร ?
ตอบ - กาลใด โยคีบุคคลนั้น มีจิตฟุ้งซ่านด้วยเหตุทั้งหลาย มีการปรารภความเพียรเคร่งเครียดเกินไปเป็นต้น กาลนั้น อย่าเจริญสัมโพชฌงค์ 3 ประการ มีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นต้น แต่พึงเจริญสัมโพชฌงค์ 3 ประการ มีปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นต้น
(หน้าที่ 223)
วิธีข่มจิตด้วยสัมโพชฌงค์ 3 ข้อนี้ สมด้วยพระผู้มีพระภาคทรงเทศนาไว้ ซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์สังยุตตนิกายมหาวารวรรค ดังต่อไปนี้ –
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้ใคร่จะดับไฟกองใหญ่ให้มอด เขาใส่หญ้าแห้งเข้าไปด้วย ใส่มูลโคแห้งเข้าไปด้วย ใส่ไม้แห้งเข้าไปด้วย ช่วยเป่าลมปากใส่ด้วย และไม่ได้โปรยขี้ฝุ่นใส่ ในกองไฟนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นเขาควรหรือไม่เล่า เพื่อที่จะทำกองไฟใหญ่นั้นให้ดับมอดลง ? ข้อนั้น ไม่ควรที่จะเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันเดียวกันนั่นเทียวแล สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น ไม่ใช่กาลเพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่กาลเพื่อเจริญวีริยสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่กาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่จิตฟุ้งซ่านอยู่แล้ว จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ย่อมยากที่จะข่มให้สงบลงด้วยโพชฌงคธรรมเหล่านี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่สมัยใดแล จิตย่อมฟุ้งซ่าน สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ข้อนั้น เพราะเหตุไร ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่จิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ย่อมง่ายที่จะข่มให้สงบลงด้วยโพชฌงคธรรมเหล่านี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้ใคร่จะดับไฟกองใหญ่ให้มอด เขาใส่หญ้าสดเข้าไปด้วย ใส่มูลโคสดเข้าไปด้วย ใส่ไม้สดเข้าไปด้วย พ่นลมปนน้ำลายเข้าไปด้วย และโปรยขี้ฝุ่นเข้าใส่ด้วย ในกองไฟนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นเขาควรหรือไม่เล่า เพื่อที่จะยังไฟกองใหญ่นั้นให้ดับมอดลง ? ควรที่จะเป็นอย่างนั้นได้ พระพุทธเจ้าข้า
อาหารปัจจัยของปัสสัทธิเป็นต้น แม้ในอธิการนี้ นักศึกษาพึงทราบถึงวิธีการเจริญสัมโพชฌงค์ 3 ประการ มีปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นต้นให้เกิดขึ้น ด้วยอาหารปัจจัยของตน ๆ ต่อไป ดังนี้ –
อาหารปัจจัยของปัสสัทธิ ข้อนี้ สมด้วยพระผู้มีพระภาคทรงเทศนาไว้ ซึ่งปรากฏในคัมภีร์สังยุตตนิกายมหาวารวรรค ดังนี้ –
(หน้าที่ 224)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายปัสสัทธิ ความสงบกาย จิตตปัสสัทธิ ความสงบจิตมีอยู่ การหมั่นมนสิการโดยชอบในปัสสัทธิทั้งสองนั้น นี้นับเป็นอาหารปัจจัยที่ย่อมเป็นไปเพื่อ ทำปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อความภิญโญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว
อาหารปัจจัยของสมาธิ อีกประการหนึ่ง ทรงเทศนาอาหารปัจจัยของสมาธิไว้ว่า -
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมถนิมิต นิมิตคือความสงบ อัพยัคคนิมิต นิมิตคือความไม่ฟุ้งซ่าน มีอยู่ การหมั่นมนสิการโดยชอบในนิมิตทั้งสองนั้น นี้นับเป็นอาหารปัจจัยที่ย่อมเป็นไปเพื่อทำสมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อความภิญโญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว
อาหารปัจจัยของอุเบกขา และอีกประการหนึ่ง ทรงเทศนาไว้ว่า –
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งของอุเบกขาสัมโพชฌงค์ มีอยู่ การหมั่นมนสิการโดยชอบในธรรมเหล่านั้น นี้นับเป็นอาหารปัจจัย ที่ย่อมเป็นไปเพื่อทำอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อความภิญโญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว
อรรถาธิบายบาลี ในบาลีนั้นมีอรรถาธิบายดังนี้ - ธรรมทั้ง 3 คือ ปัสสัทธิ, สมาธิ และอุเบกขา เคยเกิดขึ้นแก่โยคีบุคคลแล้วโดยอาการอย่างใด มนสิการที่เป็นไปด้วยอำนาจกำหนดเอาอาการนั้นแล้วทำให้ธรรมทั้ง 3 นั้นเกิดขึ้น ชื่อว่า การมนสิการโดยชอบแม้ในบทบาลีทั้ง 3 พากย์นั้น
คำว่า สมถนิมิต นี้ เป็นชื่อของสมถะนั่นเอง และคำว่า อัพยัคคนิมิต ก็เป็นชื่อของสมถะนั้นเหมือนกัน โดยมีความหมายว่า ไม่ฟุ้งซ่าน ฉะนี้แล
(หน้าที่ 225)
ธรรม 7 ที่เป็นเหตุให้ปัสสัทธิเกิด อีกประการหนึ่ง ธรรม 7 ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น คือ –
1. การบริโภคอาหารอันประณีต
2. การได้รับอากาศสบาย
3. การใช้อิริยาบถที่สบาย
4. การประกอบกิจแต่พอดีอย่างสม่ำเสมอ
5. การหลีกเว้นคนที่มีกายกระวนกระวาย
6. การสมาคมกับคนผู้ที่มีกายสงบ และ
7. การน้อมจิตไปในปัสสัทธินั้น
ธรรม 11 ที่เป็นเหตุให้สมาธิเกิด ธรรม 11 ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้สมาธิสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น คือ –
1. ร่างกายและเครื่องใช้สะอาด
2. ความฉลาดในนิมิตกัมมัฏฐาน
3. การปรับอินทรีย์ 5 ให้สู่ความสมดุลย์
4. การข่มจิตในสมัย
5. การยกจิตในสมัย
6. การพยุงจิตที่เบื่อหน่ายให้ร่าเริงด้วยอำนาจความเชื่อและความสลดใจ
7. การวางเฉยต่อจิตที่เป็นไปโดยชอบแล้ว
8. การหลีกเว้นคนผู้ไม่มีสมาธิ
9. การสมาคมกับคนผู้มีสมาธิ
10. การพิจารณาเฉพาะฌานและวิโมกข์ และ
11. การน้อมจิตไปในสมาธินั้น
(หน้าที่ 226)
ธรรม 5 ที่เป็นเหตุให้อุเบกขาเกิด ธรรม 5 ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น คือ –
1. ความเป็นกลาง ๆ ในสัตว์บัญญัติ
2. ความเป็นกลาง ๆ ในสังขารทั้งหลาย
3. การหลีกเว้นคนผู้มีความสาละวนในสัตว์และสังขาร
4. การสมาคมกับคนเป็นกลาง ๆ ในสัตว์และสังขาร และ
5. การน้อมจิตไปในอุเบกขานั้น
โยคีบุคคลเมื่อยังธรรมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอยู่ ด้วยอาการทั้งหลายเหล่านี้ ชื่อว่า เจริญสัมโพชฌงค์ 3 ประการมีปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นต้นให้เกิดขึ้น ฉะนี้
โยคีบุคคลย่อมข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม ด้วยประการฉะนี้
6. โดยพยุงจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง ถาม - ข้อว่า โยคีบุคคลย่อมพยุงจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริงนั้น คือทำอย่างไร ?
ตอบ - กาลใด โยคีบุคคลนั้นมีจิตไม่เบิกบาน เพราะการขวนขวายในปัญญาย่อหย่อน หรือเพราะไม่ได้รับความสงบสุข กาลนั้น ย่อมพยุงจิตนั้นให้สลดสังเวช ด้วยการพิจารณาถึงสังเวควัตถุ 8 ประการ สังเวควัตถุ 8 ประการนั้น ได้แก่ ชาติ, ชรา, พยาธิ และมรณะเป็น 4, ทุกข์ในอบายที่เป็น 5, ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลรากในอดีตเป็นที่ 6, ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลรากในอนาคตเป็นที่ 7, ทุกข์มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลรากในปัจจุบันเป็นที่ 8 และโยคีบุคคลย่อมพยุงจิตนั้นให้เกิดความเลื่อมใส ด้วยการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ อีกสถานหนึ่งด้วย
โยคีบุคคลย่อมพยุงจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง ด้วยประการฉะนี้
7. โดยเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉย ถาม - โยคีบุคคลย่อมเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉยนั้น คือทำอย่างไร ?
ตอบ - กาลใด เมื่อโยคีบุคคลปฏิบัติอยู่อย่างนี้ จิตของเธอย่อมไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมแช่มชื่นเบิกบาน เป็นไปโดยสม่ำเสมอในอารมณ์ ดำเนินสู่วิถีแห่งสมถภาวนา
(หน้าที่ 227)
กาลนั้น โยคีบุคคลย่อมไม่ขวนขวายในอันที่จะยกและข่มจิตและในอันที่จะพยุงจิตให้ร่าเริงเหมือนนายสารถีขับรถม้า ไม่ขวนขวายในม้าทั้งหลายที่วิ่งลากรถไปอย่างสม่ำเสมอกัน ฉะนั้น
โยคีบุคคลย่อมเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉย ด้วยประการฉะนี้
8. โดยหลีกเว้นบุคคลผู้ไม่มีสมาธิ การหลีกเว้นเสียอย่างห่างไกล ซึ่งบุคคลทั้งหลายจำพวกที่ไม่เคยก้าวขึ้นสู่เนกขัมมปฏิปทา คือไม่เคยปฏิบัติปฏิปทาที่ให้ออกจากกาม มัวแต่วิ่งวุ่นอยู่ในกิจการเป็นอันมาก มีใจฟุ้งเฟ้อไปในกิจการนั้น ๆ ชื่อว่า หลีกเว้นคนผู้ไม่มีสมาธิ
9. โดยสมาคมกับบุคคลผู้มีสมาธิ การเข้าไปคบหาสมาคมกับบุคคลทั้งหลาย จำพวกที่ปฏิบัติเนกขัมมปฏิปทา ได้สำเร็จสมาธิ โดยกาลอันควรตลอดกาล ชื่อว่า สมาคมกับบุคคลผู้มีสมาธิ
10. โดยน้อมจิตไปในสมาธินั้น ความน้อมจิตไปในอันที่จะทำสมาธิให้บังเกิดขึ้น คือความหนักในสมาธิ ความน้อมไปในสมาธิ ความโน้มไปในสมาธิ ความทุ่มเทไปในสมาธิ ชื่อว่า น้อมจิตไปในสมาธินั้น
อันโยคีบุคคลพึงทำอัปปนาโกศลให้เกิดขึ้นโดยบริบูรณ์ ด้วยประการฉะนี้
อย่าทอดทิ้งความเพียร ก็แหละ เมื่อโยคีบุคคลทำอัปปนาโกศลนี้ให้บริบูรณ์ในปฏิภาคนิมิตที่ได้แล้ว โดยอาการอย่างนี้ อัปปนาสมาธิก็จะบังเกิดขึ้นแน่นอน แต่เมื่อได้ปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าอัปปนาสมาธินั้นยังไม่บังเกิดขึ้น แม้ถึงเช่นนั้น โยคีบุคคลผู้บัณฑิตก็อย่าได้ทอดทิ้งความเพียรเสีย จงพยายามให้หนักยิ่งขึ้น เพราะเมื่อลูกผู้ชายทอดทิ้งความเพียรชอบเสียแล้ว จะพึงได้บรรลุคุณวิเศษแม้แต่นิดหน่อยนั้น ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้เลย
ประคองจิตให้จดจ่อในปฏิภาคนิมิต เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลผู้บัณฑิต พึงคอยใคร่ครวญพิจารณาซึ่งพฤติการณ์ที่เป็นไปของจิต พยายามปรับปรุงวีริยะกับสมาธิให้มีหน้าที่สมดุลย์กันอยู่เสมอ ๆ พึงคอยยกจิต
(หน้าที่ 228)
ที่ตกไปสู่ความหดหู่แม้เพียงเล็กน้อยขึ้นไว้ ป้องกันจิตที่เคร่งเครียดเกินไป ประคองจิตให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอสมดุลย์กันให้จงได้
พฤติการณ์ที่เป็นไปในละอองดอกไม้, ในใบบัว, ในใยแมลงมุม, ในเรือ และในขวดน้ำมัน ของสัตว์ทั้งหลายมีแมลงผึ้งเป็นต้น ซึ่งท่านพรรณนาไว้ด้วยดีแล้วในอรรถกถาฉันใด โยคีบุคคลพึงพยายามปลดเปลื้องภาวนาจิตจากภาวะที่หดหู่และภาวะที่ฟุ้งซ่านโดยสิ้นเชิง แล้วประคองภาวนาจิตให้บ่ายหน้าจดจ่ออยู่ในปฏิภาคนิมิต ฉันนั้น
เปรียบด้วยพฤติการณ์แมลงผึ้งกับละอองดอกไม้ ในคำอุปมาอุปไมยนั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ –
เปรียบเหมือนแมลงผึ้งตัวไม่ฉลาด ครั้นรู้ว่าต้นไม้โน้นมีดอกบานแล้ว ก็รีบบินไปด้วยความเร็วอย่างมาก จึงบินเลยต้นไม้นั้นไปเสีย เมื่อบินวกกลับมาอีก กว่าจะมาถึงก็ต่อเมื่อละอองดอกไม้ร่วงโรยไปเสียแล้ว แมลงผึ้งที่ไม่ฉลาดอีกตัวหนึ่ง บินไปด้วยความเร็วน้อยมาก เมื่อละอองดอกไม้ร่วงโรยแล้วจึงบินไปถึง ส่วนแมลงผึ้งตัวที่ฉลาด บินไปด้วยความเร็วอย่างพอดี จึงบินไปถึงป่าดอกไม้อย่างสบาย พาเอาละอองดอกไม้พอแก่ความต้องการมาปรุงให้เป็นน้ำหวาน แล้วย่อมได้เสวยรสแห่งน้ำหวาน ฉันใด
เปรียบด้วยพฤติการณ์ศิษย์แพทย์ผ่าตัดกับใบบัว อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนศิษย์ของแพทย์ผ่าตัดทั้งหลาย ที่กำลังศึกษาการผ่าตัดที่ใบบัวซึ่งอยู่ในถาดน้ำ ศิษย์คนหนึ่งซึ่งไม่ฉลาด จรดมีดลงโดยแรงย่อมจะตัดใบบัวขาดเป็นสองเสี่ยง หรือทะลุลงไปในน้ำเสีย อีกคนหนึ่งซึ่งไม่ฉลาดเหมือนกัน ไม่สามารถแม้เพื่อจะจรดมีดลงใบบัว เพราะเกรงใบบัวจะขาดและเกรงมีดจะทะลุลงไปในน้ำ ส่วนศิษย์ผู้ฉลาดแสดงการจรดมีดลงที่ใบบัวนั้นได้ ด้วยประโยชน์อันพอดี นับว่าเป็นผู้มีศิลปะอันขาวสะอาด ครั้นไปประกอบการงานในสถานที่เห็นปานนั้น ก็จะได้ลาภร่ำรวยต่อไป ฉันใด
เปรียบด้วยพฤติการณ์ของบุรุษกับใยแมงมุม อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนพระราชาทรงมีพระราชโองการสั่งว่า ผู้ใดสามารถเอาใยแมงมุมมาให้ได้ประมาณสัก 4 วา เขาจะได้รับรางวัล 4 พันกหาปณะ ฉะนี้ บุรุษผู้ไม่ฉลาดคนหนึ่ง รีบสาวเอาใยแมงมุมมาโดยเร็ว เลยทำให้ใยแมลงมุมขาดกระท่อน
(หน้าที่ 229)
กระแท่นไปหมด อีกคนหนึ่งซึ่งไม่ฉลาดเหมือนกัน ไม่กล้าแม้ที่จะจับต้องใยแมงมุมด้วยมือเพราะเกรงมันจะขาด ส่วนบุรุษคนที่ฉลาด ค่อย ๆ เอาใยแมงมุมพันเข้าที่ท่อนไม้ด้วยประโยคอันสม่ำเสมอตั้งแต่ปลายสุดแล้วนำมาถวายได้ เขาย่อมได้รับพระราชทานรางวัล ฉันใด
เปรียบด้วยพฤติการณ์ของนายท้ายเรือกับเรือ อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนนายท้ายเรือผู้ไม่ฉลาด ในเวลาลมแรงจัด กางใบเสียจนเต็ม เขาย่อมพาเรือแล่นไปผิดที่หมาย นายท้ายเรืออีกคนหนึ่ง ซึ่งไม่ฉลาดเหมือนกัน ในเวลาลมอ่อน ลดใบลงเสีย เขาย่อมทำเรือให้หยุดอยู่ ณ ที่ตรงนั้นเอง ส่วนนายท้ายเรือผู้ฉลาด ในเวลาลมอ่อน ก็กางใบให้เต็มใบ ในเวลาลมแรง ก็กางเพียงครึ่งใบ เขาย่อมไปถึงสถานที่ซึ่งตนปรารถนาโดยความสวัสดี ฉันใด
เปรียบด้วยพฤติการณ์ของศิษย์กับขวดน้ำมัน อีกประการณ์หนึ่ง เปรียบเหมือนเมื่ออาจารย์ของศิษย์ทั้งหลายประกาศว่า ผู้ใดสามารถกรอกน้ำมันให้เต็มขวดได้โดยไม่ให้หกทิ้งแล้ว จะได้รับรางวัล ฉะนี้ ศิษย์คนหนึ่งซึ่งไม่ฉลาดแต่โลภอยากได้รางวัล จึงรีบกรอกน้ำมันโดยเร็ว เลยทำให้น้ำมันหกทิ้งไป อีกคนหนึ่งซึ่งไม่ฉลาดเหมือนกัน ย่อมไม่กล้าแม้เพื่อจะกรอกน้ำมันใส่ขวด เพราะเกรงน้ำมันจะหกทิ้งเสีย ส่วนศิษย์ผู้ฉลาด ค่อย ๆ กรอกน้ำมันใส่ขวดด้วยประโยคอันสม่ำเสมอ โดยไม่หกเลย เขาย่อมได้รับรางวัล ฉันใด
พฤติการณ์ของภิกษุผู้เป็นอุปไมย ฉันเดียวกันนั่นแหละ ภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นแล้ว ทำความเพียรอย่างเคร่งเครียดทีเดียว ด้วยหมายใจว่า เราจักบรรลุถึงซึ่งอัปปมาสมาธิโดยเร็วนั่นเทียว จิตของเธอย่อมจะตกไปในความฟุ้งซ่านเสีย เพราะเหตุที่ปรารภความเพียรเคร่งเครียดเกินไป เธอไม่สามารถที่จะบรรลุถึงซึ่งอัปปนาสมาธิได้ อีกรูปหนึ่ง มองเห็นโทษในความเป็นผู้มีความเพียรเคร่งเครียดเกินไป จึงได้ทอดทิ้งความเพียรเสียด้วยทอดธุระว่า บัดนี้เราจะธุระอะไรกับอัปปนาสมาธิ แต่นั้น จิตของเธอก็จะตกไปในความเกียจคร้านเสีย เพราะเหตุที่มีความเพียรย่อหย่อน แม้ภิกษุนั้นก็ไม่สามารถเพื่อจะบรรลุถึงซึ่งอัปปนาสมาธิเช่นกัน ส่วนภิกษุใดพยายาม
(หน้าที่ 230)
ปลดเปลื้องภาวนาจิตที่หดหู่แม้เพียงเล็กน้อยออกจากภาวะที่หดหู่ ปลดเปลื้องภาวนาจิตที่ฟุ้งซ่านจากภาวะที่ฟุ้งซ่าน แล้วประคองให้ภาวนาจิตเป็นไปเฉพาะต่อปฏิภาคนิมิต ด้วยประโยคอันสม่ำเสมอ (คือไม่ให้เคร่งเครียดเกินไปและไม่ให้หย่อนยานเกินไป) ภิกษุนั้นย่อมจะได้บรรลุถึงซึ่งอัปปนาสมาธิอย่างแน่นอน อันโยคีบุคคลพึงปฏิบัติให้เป็นเช่นนั้นนั่นเทียว
ข้าพเจ้าหมายเอาอรรถาธิบายนี้ จึงกล่าวประพันธคาถาไว้ ซึ่งมีใจความว่า –
พฤติการณ์ที่เป็นไป ในละอองดอกไม้, ในใบบัว, ในใยแมงมุม, ในเรือ และในขวดน้ำมัน ของบุคคลทั้งหลาย มีแมลงผึ้งเป็นต้น ซึ่งท่านพรรณนาไว้ด้วยดีแล้วในอรรถกถา ฉันใด โยคีบุคคลพึงภาวนาปลดเปลื้องภาวนาจิตจากภาวะที่หดหู่ และภาวะที่ฟุ้งซ่าน โดยสิ้นเชิง แล้วประคองภาวนาจิตให้บ่ายหน้าเฉพาะจดจ่ออยู่ในปฏิภาคนิมิต ฉันนั้น ฉะนี้แล
ได้ปฐมฌาน
อธิบายสภาพของผู้ได้ฌานอย่างละเอียด
ก็แหละเมื่อโยคีบุคคลประคองภาวนาจิตให้บ่ายหน้าเฉพาะจดจ่อในปฏิภาคนิมิตอยู่ด้วยอาการอย่างนี้นั้น มโนทวาราวัชชนจิต ทำปถวีกสิณอันปรากฏอยู่ด้วยอำนาจภาวนาว่า ปถวี – ปถวี นั้นนั่นแหละให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นตัดภวังคจิต เหมือนจะเตือนให้รู้ว่า อัปปนาสมาธิจักสำเร็จเดี๋ยวนี้แล้ว ถัดจากนั้น ชวนจิตเล่นไปในอารมณ์นั้นนั่นแหละ 4 ขณะบ้าง 5 ขณะบ้าง ในชวนจิต 4 หรือ 5 ขณะนั้น ดวงหนึ่งในขณะสุดท้ายจัดเป็น รูปาวจรกุศลจิต (อัปปนาจิต) อีก 3 หรือ 4 ดวงที่เหลือข้างต้นคงเป็น กามาวจรกุศลจิต
อัปปนาชวนวิถีจิต
จิตเหล่าใดซึ่งมี วิตก, วิจาร, ปีติ, สุข, เอกัคคตา (จิตเตกัคคตา) มีกำลังมากกว่าจิตปกติ จิตเหล่านั้นเรียกว่า บริกรรม บ้าง เพราะเหตุปรุงแต่งอัปปนา เรียกว่า อุปจาระ บ้าง เพราะเหตุอยู่ใกล้หรือเฉียดไปใกล้อัปปนา เหมือนกับสถานที่ซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้านและใกล้นครเป็นต้น เขาเรียกกันว่า อุปจาระแห่งบ้านและอุปจาระแห่งนคร ฉะนั้น และเรียกว่า อนุโลม บ้าง เพราะเหตุสมควรแก่อัปปนา ตั้งแต่ในตอนก่อนแต่นี้และตอนหลังแห่งบริกรรมทั้งหลายมา แหละในกามวจรชวนจิตนั้น ดวงใดที่เกิดภายหลังเขาทั้งหมด
(หน้าที่ 231)
กามวจรชวนจิตดวงนั้น (ดวงที่ 3 หรือที่ 4) เรียกว่า โคตรภู บ้าง เพราะเหตุทำลายกามโคตร และทำให้มหัคคตโคตรเกิดขึ้น
แต่เมื่อว่าโดยศัพท์ที่ท่านมิได้กำหนดเอาไว้แล้ว ในอัปปนาชวนวิถีจิต 5 ดวงนั้น ดวงที่ 1 เรียกว่า บริกรรม ดวงที่ 2 เรียกว่า อุปจาระ ดวงที่ 3 เรียกว่า อนุโลม ดวงที่ 4 เรียกว่า โคตรภู อีกนัยหนึ่ง ดวงที่ 1 เรียกว่า อุปจาระ ดวงที่ 2 เรียกว่า อนุโลม ดวงที่ 3 เรียกว่า โคตรภู ดวงที่ 4 หรือ 5 เรียกว่า อัปปนา
จริงอยู่ ชวนจิตดวงที่ 4 หรือดวงที่ 5 เท่านั้น ย่อมสำเร็จ เป็น อัปปนาจิต แหละชวนจิตดวงที่ 4 หรือที่ 5 นั้นเล่า ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งโยคีบุคคลผู้มีปัญญาไวและมีปัญญาช้า (คนมีปัญญาไว ชวนจิตมีเพียง 4 ขณะ ส่วนคนมีปัญญาช้ามีถึง 5 ขณะ) หลังจากชวนจิตดวงที่ 4 หรือที่ 5 นั้นไป ชวนจิตก็ตกภวังค์ จึงเป็นวาระของภวังค์จิตต่อไป
ท่านโคทัตตเถระค้าน ก็แหละ ท่านโคทัตตเถระผู้ชำนาญอภิธรรมกล่าวแย้งไว้ว่า ธรรมที่เกิดขึ้นหลัง ๆ ย่อมมีกำลังมาก เพราะเหตุได้อาเสวนปัจจัย เพราะฉะนั้น อัปปนาจิตจึงมีได้ในชวนะดวงที่ 6 บ้าง ดวงที่ 7 บ้าง เพราะท่านอ้างสูตรนี้ว่า ปุริมา ปุริมา กุสลา ธมฺมา ปจฺฉิมานํ ปจฺฉิมานํ กุสลานํ ธมฺมานํ อาเสวนปจฺจเยน ปจฺจโย ความว่า ธรรมทั้งหลาย ที่เป็นกุศลซึ่งเกิดขึ้นตอนก่อน ๆ ย่อมเป็นปัจจัยอุดหนุนแก่ธรรมทั้งหลาย ที่เป็นกุศลเกิดขึ้นตอนหลัง ๆ ด้วยอาเสวนปัจจัย
ท่านอรรถกถาจารย์รับรอง คำคัดค้านของท่านโคทัตตเถระนั้น ท่านอรรถกถาจารย์ปฏิเสธว่า นั้นเป็นเพียงสักว่าอัตโนมติ แล้วได้แสดงรับรองว่า ก็อัปปนาจิตนั้นย่อมมี่ได้ในขณะชวนจิตที่ 4 หรือที่ 5 นั้นถูกแล้ว ภายหลังจากนั้น ชวนจิตนับว่าตกภวังค์ไปแล้ว เพราะอยู่ใกล้ต่อภวังค์มาก
คำของท่านอรรถกถาจารย์นั้น อันใคร ๆ ไม่กล้าที่จะคัดค้านได้เลย เพราะท่านได้แสดงไว้อย่างรอบคอบแล้ว เปรียบเหมือนบุรุษผู้วิ่งตรงไปยังเหวอันชันโดยเร็ว แม้
(หน้าที่ 232)
ประสงค์จะยั้งตัวไว้ ก็ไม่สามารถเพื่อจะยันเท้าที่ขอบเหวยั้งตัวไว้ได้ ย่อมจะตกไปในเหวเลยทีเดียว ฉันใด ชวนจิตก็ไม่อาจที่จะเป็นอัปปนาได้ ในชวนจิตดวงที่ 6 หรือดวงที่ 7 เพราะเหตุที่อยู่ใกล้ภวังค์ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น นักศึกษาพึงเข้าใจเถิดว่า อัปปนาจิตย่อมมีในชวนจิตดวงที่ 4 หรือดวงที่ 5 นั้นถูกต้องแล้ว
อัปปนาเกิดชั่วขณะจิตเดียว ก็แหละ อัปปนานั้นเกิดขึ้นชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น อธิบายว่า ใน 7 ฐานะ ย่อมไม่มีขีดขั้นกาลเวลา คือ ขณะอัปปนาจิตเกิดทีแรก 1 ขณะโลกิยอภิญญาทั้งหลาย 1 ขณะมรรคทั้งสี่ 1 ขณะผลเกิดต่อจากมรรค 1 ขณะภวังคฌานในรูปภพและอรูปภพ 1 ขณะเนวสัญญายตนฌานเป็นปัจจัยแก่นิโรธสมาบัติ 1 ขณะผลสมาบัติของท่านผู้ออกจากนิโรธ 1
ในฐานะทั้ง 7 นั้น ขณะผลเกิดต่อจากมรรค ย่อมไม่มีเกินกว่า 3 ขณะจิต ขณะเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเป็นปัจจัยแก่นิโรธสมาบัติ ย่อมไม่มีเกิน 2 ขณะจิต ปริมาณมากน้อยของภวังคฌานในรูปภพและอรูปภพไม่มี ในฐานะที่เหลือ 4 ฐานะ มีเพียงขณะจิตเดียวเท่านั้น
ฉะนี้ อัปปนาจึงเกิดขึ้นชั่วขณะจิตเท่านั้น แต่นั้นก็ตกภวังค์ ครั้นแล้วอาวัชชนจิตตัดภวังค์เกิดขึ้นเพื่อพิจารณาฌาน แต่นั้นชวนจิตก็ทำหน้าที่พิจารณาฌานต่อไป
ส่วนประกอบ 4 เมื่อได้อัปปนา
ก็แหละ ด้วยลำดับแห่งภาวนาวิธีมีประมาณเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าโยคีบุคคลนั้นมีส่วนประกอบดังนี้:
- สงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงเข้าปฐมฌานมีวิตกวิจารมีปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัดอยู่ (องค์ฌาน 5)
- ละองค์ 5 และประกอบด้วยองค์ 5
- มีความงาม 3 และสมบูรณ์ด้วยลักษณะ 10
- ได้บรรลุปฐมฌานมีปถวีกสิณเป็นอารมณ์
ส่วนที่ 1 องค์ฌาน 5 (ได้สงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย เป็นต้น)
ในคำบาลีอันแสดงถึงองค์สำหรับละของฌานนั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ –
(หน้าที่ 233)
คำว่า สงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย ได้แก่ เพราะพรากแล้ว เว้นแล้ว หลีกออกแล้ว จากกามทั้งหลาย ส่วน เอว อักษรในบทว่า วิวิจฺเจว นี้นั้น มีความหมายว่าเป็นการแน่นอน และเพราะเหตุที่ เอว อักษรมีความหมายว่าเป็นการแน่นอน ฉะนั้น เอว อักษรจึงประกาศถึงภาวะที่ปฐมฌานนั้นเป็นปฏิปักษ์แก่กามทั้งหลาย แม้ที่ไม่มีปรากฏอยู่ ในขณะที่เข้าอยู่ในปฐมฌานนั้นด้วย และประกาศถึงการได้บรรลุถึงปฐมฌานนั้น ด้วยการสละกามได้อย่างแน่นอนด้วย
ถาม - ข้อนี้มีอรรถาธิบายอย่างไร ?
ตอบ - อธิบายว่า เมื่อ เอว อักษรทำความแน่นอนให้ในคำว่า เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย อย่างนี้ ปฐมฌานย่อมปรากฏชัด จริงทีเดียว กามทั้งหลายย่อมเป็นปฏิปักษ์แก่ฌาน เมื่อกามเหล่าใดมีอยู่ ฌานนี้ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เหมือนเมื่อความมืดมีอยู่แสงสว่างแห่งตะเกียงก็ชื่อว่ายังไม่เกิดขึ้น และการบรรลุถึงฌานนั้นจะมีได้ ก็ด้วยการละเสียได้ซึ่งกามเหล่านั้นอย่างแน่นอน เปรียบเหมือนการไปถึงฝั่งโน้นได้ด้วยการละซึ่งฝั่งนี้เสีย เพราะฉะนั้น เอว อักษรจึงชื่อว่า ทำความแน่นอนให้ ฉะนี้
เอว อักษรประกอบในสองบท จะพึงมีคำถามขึ้นในเรื่อง เอว อักษรนั้นว่า - ก็แหละ ทำไม เอว อักษรนี้ ท่านจึงแสดงไว้แต่ในบทต้นบทเดียว ไม่แสดงไว้ในบทหลัง หรือว่า โยคีบุคคลนั้นแม้ไม่สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็จะพึงบรรลุฌานได้อยู่ ?
ขอวิสัชนาว่า - ก็แหละ การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เอว อักษรไว้ในบทต้นนั้น ท่านเข้าใจอย่างนั้นหาถูกไม่ เพราะพระพุทธองค์ทรงแสดง เอว อักษรไว้ในบทต้นนั้นก็โดยที่ฌานเป็นเครื่องสลัดทิ้งซึ่งกามนั้นต่างหาก
จริงอยู่ ฌานนี้เป็นเครื่องสลัดทิ้งซึ่งกามทั้งหลายแน่นอน เพราะเป็นปฏิปทาเครื่องก้าวล่วงซึ่งกามธาตุด้วย เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อกามราคะด้วย สมกับที่ทรงแสดงไว้ว่า เนกขัมมะ คือฌานนี้นั้น เป็นเครื่องสลัดทิ้งซึ่งกามทั้งหลาย
(หน้าที่ 234)
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ในบทหลังก็ต้องยกเอา เอว อักษรมาแสดงประกอบไว้ด้วยเหมือนอย่างที่ท่านยกมาแสดงประกอบไว้ในคำนี้ว่า อิเธว ภิกฺขเว ปฐโม สมโณ, อิธทุติโย สมโณ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ 1 มีในศาสนานี้เท่านั้น สมณะที่ 2 ก็มีในศาสนานี้เท่านั้น ทั้งนี้ เพราะว่าใคร ๆ ก็ตาม ที่ยังไม่สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย กล่าวคือนิวรณ์แม้ข้ออื่น ๆ จากกามฉันทะแล้ว ก็ไม่สามารถเพื่อที่จะบรรลุถึงซึ่งฌานได้เลย เพราะเหตุนั้น เอว อักษรนี้ นักศึกษาพึงทราบว่าประกอบไว้ในบททั้งสองว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ วิวิจฺเจว อกุสเลหิ ธมฺเมหิ ฉะนี้
อธิบาย วิวิจฺจ - สงัดแล้ว อนึ่ง ด้วยคำว่า วิวิจฺจ ที่แปลว่าสงัดนี้แล้ว อันเป็นคำร่วมกันในทั้งสองบท ย่อมสงเคราะห์เอาวิเวกคือความสงัดแม้หมดทุกอย่าง คือ วิเวก 5 มีตทังควิเวกเป็นต้น และวิเวก 3 มีกายวิเวกเป็นต้น ก็จริง แต่กระนั้น ณ ที่นี้นักศึกษาพึงเข้าใจว่า หมายเอาเพียงวิเวก 3 อย่าง คือ กายวิเวก ความสงัดกาย 1 จิตตวิเวก ความสงัดใจ 1 วิกขัมภนวิเวก ความสงัดเพราะข่มกิเลสไว้ 1
กาม หมายเอาวัตถุกามและกิเลสกาม ก็แหละด้วยบทว่า กาเมหิ ที่แปลว่า จากกามทั้งหลายนี้ วัตถุกามเหล่าใดที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในคัมภีร์มหานิทเทสโดยนัยมีอาทิว่า วัตถุกามทั้งหลายเป็นไฉน ? วัตถุกามทั้งหลาย คือ รูปทั้งหลายอันเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ………. และกิเลสกามเหล่าใดที่ทรงแสดงไว้ในคัมภีร์มหานิทเทสนั่นแหละ และในคัมภีร์ฌานวิภังค์โดยนัยอย่างนี้ว่า ฉันทะความพอใจ ชื่อว่ากาม ราคะ ความกำหนัด ชื่อว่ากาม ฉันทราคะ ความกำหนัดด้วยความพอใจ ชื่อว่ากาม สังกัปปะ ความดำริ ชื่อว่ากาม ราคะ ความกำหนัด ชื่อว่ากามสังกัปปราคะ ความกำหนัดด้วยความดำริ ชื่อว่ากาม อกุศลธรรมเหล่านี้ เรียกว่ากาม
นักศึกษาพึงเข้าใจว่า ท่านสงเคราะห์เอาวัตถุกามและกิเลสกามเหล่านั้นแม้ทั้งหมดด้วยประการฉะนี้
(หน้าที่ 235)
วิเวก 2 อย่าง แหละเมื่อสงเคราะห์เอากามทั้ง 2 อย่างเช่นนี้ คำว่า สงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย ก็เป็นอันหมายความว่า สงัดแล้วแน่นอนจากวัตถุกามทั้งหลายแต่อย่างเดียวหาได้หมายเอาว่า สงัดแล้วแน่นอนจากกิเลสกามทั้งหลายไม่ และด้วยความสงัดจากวัตถุกามนั้น เป็นอันท่านแสดงถึง กายวิเวก คือความสงัดกาย คำว่า สงัดแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็เป็นอันหมายความว่า สงัดแล้วแน่นอนจากกิเลสทั้งหลาย หรือจากอกุศลธรรมทั้งปวง และด้วยความสงัดจากกิเลสกามนั้น เป็นอันท่านแสดงถึง จิตตวิเวก คือความสงัดจิต
อธิบายวิเวก 2 อย่าง ก็แหละ ในวิเวกทั้ง 2 นั้น ด้วยบทที่ 1 เป็นอันท่านประกาศถึงความสละซึ่ง กามสุข เพราะคำว่าสงัดจากวัตถุกามทั้งหลายนั้นเอง ด้วยบทที่ 2 เป็นอันท่านประกาศถึงการถือเอาซึ่ง เนกขัมมสุข สุขเพราะออกจากกาม เพราะคำว่าสงัดจากกิเลสกามทั้งหลายนั่นเอง อนึ่ง ในบททั้ง 2 นั้น ด้วยบทที่ 1 ท่านประกาศถึงการประหานซึ่งวัตถุแห่งสังกิเลส ด้วยบทที่ 2 ท่านประกาศถึงการประหานซึ่งตัวสังกิเลสมีตัณหาเป็นต้น เพราะคำว่าสงัดจากวัตถุกามและกิเลสกามนั่นเอง อนึ่ง ด้วยบทที่ 1 ท่านประกาศถึงการสละซึ่งเหตุแห่งการโลเล ด้วยบทที่ 2 ท่านประกาศถึงการสละซึ่งเหตุแห่งความเป็นพาล อนึ่ง ด้วยบทที่ 1 ท่านประกาศถึงความบริสุทธิ์แห่งประโยคคือการกระทำ ด้วยบทที่ 2 ท่านประกาศถึงการชำระอัชฌาสัยให้บริสุทธิ์ นักศึกษาพึงทราบอรรถาธิบายดังแสดงมา ด้วยประการฉะนี้
อธิบายกิเลสกาม ส่วนในฝ่ายกิเลสกามนั้น กามฉันทะซึ่งมีประเภทเป็นอันมาก เช่น ฉันทะ และ ราคะ เป็นต้นนั่นเทียว ท่านประสงค์เอาว่า กาม แหละกามนั้น แม้ถึงจะนับเนื่องอยู่ในอกุศลธรรมแล้วก็ตาม แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแยกไว้ต่างหากโดยความเป็นปฏิปักษ์แก่ฌาน ดังในคัมภีร์ฌานวิภังค์โดยนัยมีอาทิว่า ในบรรดาอกุศลธรรมเหล่านั้น กามเป็นไฉน ? ฉันทะชื่อว่ากาม
(หน้าที่ 236)
อีกประการหนึ่ง ในบทต้น ท่านแสดงกามไว้โดยความเป็นกิเลสกาม ในบทที่ 2 ท่านแสดงไว้ด้วยเป็นสภาพที่นับเนื่องอยู่ในอกุศลธรรม แหละเพราะกามนั้นมีประเภทเป็นอันมาก ท่านจึงไม่แสดงเป็นเอกพจน์ว่า กามโต จากกาม แต่แสดงเป็นพหูพจน์ว่า กาเมหิ จากกามทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้
องค์ฌาน 5 เป็นปฏิปักษ์แก่นิวรณ์ 5 แหละถึงแม้ว่าธรรมทั้งหลายอื่น ๆ เช่นทิฏฐิมานะเป็นต้น มีภาวะเป็นอกุศลมีอยู่แต่ในคัมภีร์ฌานวิภังค์ พระผู้มีพระภาคตรัสเอาเฉพาะนิวรณ์ทั้งหลายเท่านั้น โดยที่ทรงแสดงถึงภาวะที่เป็นปฏิปักษ์แก่องค์ฌานทั้งหลายต่อ ๆ ไป โดยนัยมีอาทิว่า ในบรรดาธรรมเหล่านั้น อกุศลธรรมเป็นไฉน ? อกุศลธรรมได้แก่กามฉันทะ…..
จริงอยู่ นิวรณ์ทั้งหลายเป็นข้าศึกแห่งองค์ฌาน องค์ฌานทั้งหลายนั้นเล่าก็เป็น ปฏิปักษ์แก่นิวรณ์เหล่านั้น คือเป็นเครื่องกำจัด เป็นเครื่องทำลายนิวรณ์เหล่านั้น
เป็นความจริงเช่นนั้น ท่านพระมหากัจจายนะแสดงไว้ในคัมภีร์เปฏกะ ว่า –
1. สมาธิ เป็นปฏิปักษ์แก่ กามฉันทะ
2. ปีติ เป็นปฏิปักษ์แก่ พยาปาทะ
3. วิตก เป็นปฏิปักษ์แก่ ถีนมิทธะ
4. สุข เป็นปฏิปักษ์แก่ อุทธัจจะกุกกุจจะ และ
5. วิจาร เป็นปฏิปักษ์แก่ วิจิกิจฉา
บททั้ง 2 เป็นเครื่องข่มกิเลสต่างกัน ด้วยประการฉะนี้ ในบททั้ง 2 นั้น ด้วยบทว่า สงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย นี้ พระพุทธองค์ทรงประสงค์เอาความสงัดเพราะข่มซึ่งกามฉันทนิวรณ์ ด้วยบทว่า สงัดแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย นี้ ทรงประสงค์เอาความสงัดเพราะข่มนิวรณ์ทั้ง 5 ประการ
(หน้าที่ 237)
แต่เมื่อว่าโดยศัพท์ที่ท่านมิได้กำหนดไว้แล้ว นักศึกษาพึงเข้าใจความหมายดังนี้-
ด้วยบทที่ 1 ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มกามฉันทนิวรณ์ ด้วยบทที่ 2 ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มนิวรณ์ทั้งหลายที่เหลือ
ในอกุศลมูล 3 ก็เหมือนกันคือ ด้วยบทที่ 1 ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มโลภะอันมีกามคุณ 5 ต่างชนิดเป็นอารมณ์ ด้วยบทที่ 2 ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มโทสะและโมหะอันมีอาฆาตวัตถุต่างชนิดเป็นต้นเป็นอารมณ์
อีกประการหนึ่ง ในบรรดาอกุศลธรรมทั้งหลายมีโอฆะเป็นต้น ด้วยบทที่ 1 ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มกามโอฆะ, กามโยคะ, กามาสวะ, กามุปาทานะ, อภิชฌากายคันถะ และกามราคสังโยชน์ ด้วยบทที่ 2 ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มโอฆะ, โยคะ, อาสวะ, อุปาทานะ, คันถะ, และสังโยชน์ข้อที่เหลือ
อีกอย่างหนึ่ง ด้วยบทที่ 1 ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มตัณหาและธรรมทั้งหลายที่ประกอบกับตัณหานั้น ด้วยบทที่ 2 ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มอวิชชา และธรรมทั้งหลายที่ประกอบกับอวิชชานั้น
อีกประการหนึ่ง ด้วยบทที่ 1 ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มอกุศลจิตตุปบาท 8 ดวง ซึ่งประกอบด้วยโลภะ (โลภมูลจิต 8 ดวง) ด้วยบทที่ 2 ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มอกุศลจิตตุปบาท 4 ดวงที่เหลือ (คือโทสมูลจิต 2 โมหมูลจิต 2)
อรรถาธิบายความในคำว่า สงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย นี้ ยุติเพียงเท่านี้
องค์ฌาน 5
ก็แหละ ครั้นข้าพเจ้าได้แสดงองค์สำหรับละของปฐมฌาน ด้วยอรรถาธิบายเพียงเท่านี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะแสดงองค์ที่ประกอบของปฐมฌานนั้น ข้าพเจ้าจะอรรถาธิบายคำว่า มีวิตกมีวิจาร เป็นต้นต่อไป –
อธิบายวิตก ในวิตกและวิจาร 2 อย่างนั้น ความนึกถึงอารมณ์ ชื่อว่า วิตก ได้แก่ความกำหนดเอาอารมณ์ วิตกนี้นั้น มีอันยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์เป็นลักษณะ มีอันตะล่อมอารมณ์
(หน้าที่ 238)
ไว้ตะล่อมอารมณ์ไว้โดยรอบเป็นกิจ จริงอย่างนั้น เพราะวิตกนั้นท่านจึงกล่าวไว้ว่า โยคาวจรบุคคลย่อมทำอารมณ์กัมมัฏฐานให้เป็นอันวิตกตะล่อมไว้แล้วให้เป็นอันวิตกตะล่อมไว้โดยรอบแล้วฉะนี้ แหละวิตกนั้นมีอันรั้งจิตเข้าไว้ในอารมณ์เป็นอาการปรากฏ
อธิบายวิจาร การพิจารณาอารมณ์ เรียกว่า วิจาร ได้แก่การไตร่ตรองดูอารมณ์ วิจารนี้นั้น มีอันพิจารณาอารมณ์เป็นลักษณะ มีอันประกอบสหชาตธรรมไว้ในอารมณ์นั้นเป็นกิจ มีอันตามผูกพันจิตไว้ในอารมณ์เป็นอาการปรากฏ
วิตกหยาบและเกิดก่อนวิจาร ถึงแม้ว่า ในจิตบางดวงคือในปฐมฌานจิตและกามาวจรจิตตุปบาท วิตก และ วิจาร นั้นจะไม่มีการแยกกันก็ตาม แต่กระนั้น วิตกก็ทำหน้าที่ยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์ก่อน ด้วยความหมายว่าเป็นสิ่งที่หยาบกว่าวิจาร และเกิดก่อนวิจาร เปรียบเหมือนเสียงเคาะระฆัง ซึ่งหยาบกว่าเสียงครางแห่งระฆัง และเกิดก่อนเสียงครางนั้น
เปรียบวิตกวิจารเหมือนอาการบินของนกและแมลงภู่ อนึ่ง ในวิตกและวิจารนั้น วิตก ยังมีความไหวอยู่ คือทำให้จิตไหว ๆ ในเวลาเกิดขึ้นครั้งแรก เปรียบเหมือนการโบกปีกของนกขนาดใหญ่ที่เตรียมจะบินไปในอากาศ และเหมือนการบินมุ่งหน้าไปหาดอกปทุมของแมลงภู่ ซึ่งมีจิตติดพันในกลิ่นดอกไม้ ส่วน วิจาร มีพฤติการณ์สงบ คือมีภาวะไม่ทำจิตให้ไหวมาก เปรียบเหมือนการกางปีกของนกที่บินขึ้นไปอยู่บนอากาศแล้ว และเหมือนการเคล้าคลึงอยู่ที่ดอกปทุมของแมลงภู่ที่บินไปถึงดอกปทุมแล้ว
ส่วนในอรรถกถาทุกนิบาตอังคุตตรนิกาย ท่านแสดงไว้ว่า วิตก เป็นไปโดยภาวะที่ยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์ เปรียบเหมือนนกชนิดใหญ่ เมื่อบินอยู่บนอากาศมันกวักปีกทั้งสองเอาลม แล้วกางปีกไว้เฉยบินไป วิจาร เป็นไปตามภาวะที่ตามพิจารณาอารมณ์ เหมือนการบินของนกที่กระดิกปีกทั้งสองเพื่อให้กินลม ฉะนี้ คำของท่านอรรถกถาจารย์นั้นถูกต้อง ในขณะที่วิตกวิจารเป็นไปโดยต่อเนื่องกันในอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ ส่วนวามต่างกันของวิตกและวิจารนั้น ย่อมปรากฏชัดในปฐมฌานและทุติยฌานในปัญจกนัยแล้ว
(หน้าที่ 239)
เปรียบวิตกวิจารเหมือนคนขัดภาชนะ อีกประการหนึ่ง เมื่อบุคคลจะขัดภาชนะสัมฤทธิ์ที่สนิมจับ เอามือข้างหนึ่งจับภาชนะไว้อย่างแน่น แล้วเอามืออีกข้างหนึ่งขัดด้วยแปรงขนสัตว์ที่ชุบด้วยน้ำมันปนผง วิตก เปรียบเหมือนมือที่จับภาชนะไว้อย่างแน่น วิจาร เปรียบเหมือนมือที่ขัดภาชนะ
เปรียบวิตกวิจารเหมือนช่างตีหม้อ อีกประการหนึ่ง เมื่อช่างหม้อทำหม้อ ใช้เครื่องจักช่วยหมุนไม้ตีหม้อ วิตก เปรียบเหมือนมือที่กุมบีบก้อนดินไว้ วิจาร เปรียบเหมือนมือที่คอยลูบคลำข้างโน้นข้างนี้
เปรียบวิตกวิจารเหมือนเหล็กวงเวียน อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลทำลายวงกลมที่ภาชนะสัมฤทธิ์เป็นต้น วิตก ซึ่งยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์ เปรียบเหมือนเหล็กแหลมที่ใช้ปักติดไว้ตรงใจกลาง วิจาร ซึ่งตามพิจารณาอารมณ์ เปรียบเหมือนเหล็กแหลมที่หมุนไปรอบ ๆ ข้างนอก
ปฐมฌานมีวิตกวิจาร ฌานย่อมเกิดร่วมกับวิตกนี้ด้วย เกิดร่วมกับวิจารนี้ด้วย เปรียบเหมือนต้นไม้เกิดพร้อมกับดอกและผล ดังนั้น ท่านจึงเรียกฌานนี้ว่า มีวิตกมีวิจาร ด้วยประการฉะนี้
ส่วนในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นปุคคลาธิษฐานโดยนัยมีอาทิว่า ฌานลาภีบุคคล เป็นผู้เข้าถึงแล้ว เข้าถึงพร้อมแล้ว ด้วยวิตกนี้ และด้วยวิจารนี้ ฉะนี้ แต่อรรถาธิบายแม้ในวิภังค์นั้น นักศึกษาก็พึงทราบอย่างที่อธิบายมาแล้วนี้นั่นแล
อธิบาย เกิดแต่ความสงัด ในคำว่า เกิดแต่ความสงัด นี้ มีอรรถาธิบายว่า - ความสงบเงียบชื่อว่า ความสงัด หมายความว่า การปราศจากนิวรณ์ อีกอย่างหนึ่ง สภาวธรรมที่สงบ ชื่อว่า ธรรมอันสงัด หมายเอากองธรรมที่ประกอบกับฌานซึ่งสงบจากนิวรณ์ เพราะฉะนั้น ปีติและสุขที่เกิดแต่ความสงัดนั้น หรือที่เกิดในธรรมอันสงัดนั้น ชื่อว่า วิเวกชํ แปลว่า เกิดแต่ความสงัด หรือเกิดในธรรมอันสงัด ก็ได้
(หน้าที่ 240)
ปีติ 5
ในคำว่า ปีติและสุข นี้ มีอรรถาธิบายว่า - ธรรมชาติใดที่ทำให้เอิบอิ่ม ธรรมชาตินั้นชื่อว่า ปีติ ปีตินั้นมีความเอิบอิ่มเป็นลักษณะ มีอันทำกายและใจให้เอิบอิ่มเป็นกิจ หรือมีอันแผ่ซ่านไปในกายและกายเป็นกิจก็ได้ มีอันทำกายและใจให้ฟูขึ้นเป็นอาการปรากฏ
ก็แหละ ปีตินี้นั้น มี 5 อย่าง คือ
1. ขุททกาปีติ ปีติทำให้ขนชูชันเล็กน้อย
2. ขณิกาปีติ ปีติที่เกิดขึ้นชั่วขณะ ๆ เหมือนฟ้าแลบ
3. โอกกันติกาปีติ ปีติที่กระทบกาย เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง
4. อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน ทำให้ตัวลอยขึ้นได้
5. ผรณาปีติ ปีติที่ซาบซ่าน แผ่ไปทั่วร่างกาย
อธิบายปีติ 5 ในปีติ 5 อย่างนั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ –
1. ขุททกาปีติ เพียงแต่ทำให้ขนในกายลุกชูชันเบา ๆ แล้วก็หายไปไม่เกิดขึ้นอีก
2. ขณิกาปีติ ย่อมเกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่ง ๆ หลาย ๆครั้ง เปรียบเหมือนฟ้าแลบแปลบปลาบ
3. โอกกันติกาปีติ เกิดขึ้นกระทบกายแล้วหายไป กระทบกายแล้วก็หาย ไปเหมือนลูกคลื่นกระทบฝั่งมหาสมุทร
4. อุพเพงคาปีติ มีกำลังมาก ทำกายให้ลอยขึ้นได้ ถึงขนาดทำให้ลอยไปบนอากาศก็ได้
เรื่องท่านมหาติสสเถระ เป็นความจริงอย่างนั้น ท่านมหาติสสเถระที่อยู่ ณ วัดปุณณวัลลิกวิหาร เวลาเย็นแห่งวันเพ็ญวันหนึ่ง ท่านได้ไปยังลานพระเจดีย์ เห็นแสงเดือน จึงหันหน้าสู่พระมหาเจดีย์
(หน้าที่ 241)
พลางคิดว่า "เออหนอ ป่านนี้พวกพุทธบริษัททั้ง 4 คงกำลังพากันไหว้พระมหาเจดีย์อยู่" ดังนี้แล้วได้ทำอุพเพงคาปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ให้เกิดขึ้น ด้วยอำนาจอารมณ์ที่ตนได้เห็นมาตามปกติ ท่านได้ลอยขึ้นบนอากาศไปตกลงที่ลานพระมหาเจดีย์นั่นแล มีอาการเหมือนลูกฟุตบอลอันวิจิตรงดงามตกลงที่พื้นปูนขาว ฉะนั้น
เรื่องกุลธิดาคนหนึ่ง แม้กุลธิดาคนหนึ่ง อยู่ที่บ้านวัตตกาลกคาม ใกล้ ๆ กับวัดคิริกัณฑกวิหาร ก็ได้ลอยไปบนอากาศด้วยอุพเพงคาปีติอันมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์อย่างแรงเหมือนกัน
ได้ยินว่า มารดาบิดาของนางกุลธิดานั้น เมื่อจะไปฟังธรรมที่วัดในเวลาเย็นวันหนึ่ง ได้สั่งเธอว่า "หนู ! เจ้ามีภาระธุระมากจึงไม่อาจที่จะไปในเวลาที่มิใช่กาล แม่และพ่อจักฟังธรรม แบ่งส่วนบุญให้แก่หนูด้วย" ครั้นแล้วก็ได้ออกเดินทางไป
ฝ่ายนางกุลธิดาแม้ถึงปรารถนาจะไปแทบใจจะขาด แต่ก็ไม่อาจขัดขืนคำสั่งของ มารดาบิดา จึงค้างแขวนอยู่ที่บ้าน เธอไปยืนอยู่ที่เนินบ้าน มองเห็นองค์พระเจดีย์ซึ่งสร้างไว้ที่กลางแจ้ง ณ วัดคิริกัณฑกวิหารด้วยแสงเดือน ได้เห็นแสงไฟบูชาพระเจดีย์และหมู่พุทธบริษัททั้ง 4 กำลังเดินปทักษิณทำการบูชาพระเจดีย์ด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น และได้ยินเสียงสวดสาธยายของหมู่พระภิกษุสงฆ์
ขณะนั้น นางจึงรำพึงอยู่ว่า "ชนเหล่าใด มีโอกาสได้ไปวัดแล้วเดินเวียนไปบนลานพระเจดีย์เห็นปานนี้ และได้ฟังธรรมกถาอันไพเราะเห็นปานนี้ ชนเหล่านั้น ช่างมีบุญจริงหนอ" ฉะนี้แล้ว อุพเพงคาปีติได้เกิดขึ้นแก่นาง ขณะที่นางเห็นองค์พระเจดีย์เหมือนดังกองแก้วมุกดานั่นแล เธอได้ลอยขึ้นไปบนอากาศ ไปลงจากอากาศที่ลานพระเจดีย์ก่อนกว่ามารดาบิดาเสียอีก ไหว้พระเจดีย์แล้วได้ยืนฟังธรรมอยู่ ภายหลังมารดาบิดามาถึงแล้วจึงถามนางว่า "แม่หนู เจ้ามาทางไหน ?" นางตอบว่า "หนูมาโดยทางอากาศ มิได้มาโดยทางเท้าค่ะ" เมื่อมารดาบิดาติงว่า "แม่หนู พระอรหันตขีณาสพต่างหาก จึงจะสัญจรไปโดยทางอากาศได้นี่หนูมาได้อย่างไร ?" เธอจึงตอบชี้แจงว่า "ขณะที่หนูยืนแลดูพระเจดีย์ด้วยแสงเดือนหงายอยู่นั้น ปีติอันมีกำลังแรงซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ได้เกิดแก่หนู เมื่อเป็นเช่นนี้ หนูก็มิได้
(หน้าที่ 242)
ทราบถึงภาวะที่ตนยืนอยู่ มิได้ทราบถึงภาวะที่ตนนั่งอยู่ แต่แล้วได้ลอยขึ้นไปบนอากาศมาตกลงที่ลานพระเจดีย์นี้ ด้วยนิมิตที่หนูยึดเอานั่นเอง ฉะนี้แล"
อุพเพงคาปีติ ย่อมมีกำลังมาก ขนาดที่ทำให้ลอยไปบนอากาศได้ ด้วยประการฉะนี้
5. ส่วนผรณาปีติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมแผ่ซ่านไปทั่วร่างกายสิ้นเชิง มีลักษณะ
เหมือนกระเพาะน้ำเบาที่เต็ม และท้องภูเขาที่กระแสน้ำใหญ่ไหลเข้าไปจนเต็ม ฉะนั้น
ปีติที่ประสงค์เอา ณ ที่นี้
ก็แหละ ปีติ 5 ประการนี้นั้น เมื่อถือเอาห้อง ถึงความแก่เต็มที่แล้ว ย่อมทำ ปัสสัทธิ 2 ประการให้บริบุรณ์ คือ กายปัสสัทธิ ความสงบกาย 1 จิตตปัสสัทธิ ความสงบจิต 1 เมื่อปัสสัทธิถือเอาห้องถึงความแก่ได้ที่แล้ว ย่อมทำสุขทั้ง 2 ประการให้บริบูรณ์ คือ กายิกสุข สุขกาย 1 เจตสิกสุข สุขใจ 1 เมื่อสุขถือเอาห้องถึงความแก่ได้ที่แล้วย่อมทำสมาธิ 3 ประการให้บริบูรณ์ คือ ขณิกสมาธิ 1 อุปจารสมาธิ 1 อัปปนาสมาธิ 1
ในบรรดาปีติ 5 ประการนั้น ผรณาปีติ อันใดที่เจริญแก่กล้าขึ้นพอจะเป็นมูลฐานแก่อัปปนาสมาธิ ถึงซึ่งอันประกอบเข้ากับสมาธิได้ ปีตินี้ประสงค์เอาในอรรถาธิบายนี้
อธิบาย สุข ก็แหละ ความสบายอื่นจากปีติ ชื่อว่า สุข อีกนัยหนึ่ง ธรรมขาติใดย่อมกินเสียซึ่งความไม่สบายกายความไม่สบายใจ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า สุข อีกนัยหนึ่ง ธรรมชาติใดย่อมขุดออกซึ่งความไม่สบายกายไม่สบายใจ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า สุข สุขนั้น มีความดีใจ เป็นลักษณะ มีอันเพิ่มพูนสัมปยุตธรรมให้เจริญเป็นกิจ มีอันอนุเคราะห์เป็นอาการปรากฏ
(หน้าที่ 243)
ความต่างกันระหว่างปีติกับสุข แหละถึงแม้ในจิตบางดวง เช่น ปฐมฌานจิตเป็นต้น จะไม่มีการแยกกันระหว่างปีติกับสุขก็ตาม แต่ความยินดีที่เกิดขึ้นเพราะได้อิฏฐารมณ์ จัดเป็น ปีติ การเสวยรสแห่งอารมณ์ที่ได้มานั้น จัดเป็น สุข ปีติมีในจิตใด ในจิตนั้นก็มีสุขด้วย แต่สุขมีในจิตใด ในจิตนั้นไม่มีปีติเสมอไป ปีติสงเคราะห์เข้าในสังขารขันธ์ สุขสงเคราะห์เข้าในเวทนาขันธ์ เปรียบเหมือนเมื่อคนสิ้นเสบียงในทางทุรกันดาร ในขณะที่ได้เห็นหรือได้ข่าวซึ่งป่าไม้หรือน้ำ ปีติย่อมเกิด ในขณะที่เข้าไปถึงร่มเงาป่าไม้หรือรับประทานน้ำแล้ว สุขย่อมเกิด นักศึกษาพึงเข้าใจว่า ปีติและสุขนี้ท่านกล่าวหมายเอาโดยเป็นสิ่งที่ปรากฏในสมัยนั้นๆ
อธิบายมีปีติและสุข ปีตินี้ด้วย สุขนี้ด้วย ย่อมมีแก่ฌานนั้น หรือย่อมมีในฌานนั้น ดังนั้น ฌานนั้นท่านจึงเรียกว่า มีปีติและสุข ด้วยประการฉะนี้
อีกประการหนึ่ง ปีติด้วย สุขด้วย ชื่อว่า ปีติและสุข เช่นคำว่า ธรรมและวินัย เป็นต้น ปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัดมีอยู่แก่ฌานนั้น หรือมีอยู่ในฌานนั้น ดังนั้น ฌานนั้นชื่อว่า มีปีติและสุขเกิดแต่ความสงัด แม้ด้วยประการฉะนี้ เหมือนอย่างว่า ฌานย่อมเกิดแต่ความสงัด ฉันใด ปีติและสุขในที่นี้ก็ย่อมเกิดแต่ความสงัดเหมือนกัน ฉันนั้น อนึ่ง ปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัดนั้น ย่อมมีแก่ฌานนั้น เพราะฉะนั้น การที่จะกล่าวบวกเข้าเป็นบทเดียวกันว่า วิเวกชมฺปีติสุขํ ซึ่งแปลว่า มีปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัดดังนี้ ก็ใช้ได้
แต่ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยนัยมีอาทิว่า สุขนี้ประกอบด้วยปีตินี้ ฉะนี้ แม้ในคัมภีร์วิภังค์นั้น นักศึกษาก็พึงทราบอรรถาธิบายอย่างเดียวกันนี้เหมือนกัน
อธิบายบรรลุแล้วซึ่งปฐมฌาน คำว่า ปฐมฌาน จักอธิบายให้แจ่มแจ้งข้างหน้า คำว่า บรรลุแล้ว ได้แก่เข้าไปถึงแล้ว คือประสบแล้ว อีกนัยหนึ่ง คำว่า บรรลุแล้ว ได้แก่ทำให้ถึงพร้อมแล้ว คือให้สำเร็จแล้ว
(หน้าที่ 244)
แต่ในคัมภีร์วิภังค์ทรงแสดงไว้ว่า การได้, การได้เฉพาะ, การถึง, ถึงพร้อม, การถูกต้อง, การทำให้แจ้ง, การเข้าถึงพร้อมซึ่งปฐมฌาน ชื่อว่า บรรลุแล้ว แม้พระพุทธพจน์นั้นอันศึกษาพึงทราบอรรถาธิบายอย่างเดียวกันนี้เหมือนกัน
อธิบาย วิหรติ ที่แปลว่าอยู่ คำว่า วิหรติ ที่แปลว่า อยู่ นั้น อธิบายว่า โยคีบุคลผู้พรั่งพร้อมด้วยฌานมีประการดังกล่าวฉะนี้ ย่อมยังการกระทำของอัตภาพร่างกาย คือการประพฤติ, การเลี้ยง, การเป็นไป, การให้เป็นไป, การเที่ยวไป และการผัดผ่อนแห่งอัตภาพร่างกาย ให้สำเร็จโดยการอยู่ด้วยอิริยาบทชนิดที่สมควรแก่อัตภาพนั้น ข้อนี้สมด้วยพระบาลีที่ทรงแสดงไว้ในคัมภีร์วิภังค์ว่า คำว่า ย่อมอยู่ นั้น คือ ย่อมกระทำ ย่อมประพฤติ ย่อมเลี้ยง ย่อมเป็นไป ย่อมให้เป็นไป ย่อมเที่ยวไป ย่อมเดินไป เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า วิหรติ ย่อมอยู่ ฉะนี้
ส่วน 2 ละองค์ 5 และประกอบด้วยองค์ 5
ก็แหละ ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ละองค์ 5 ประกอบด้วยองค์ 5 นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ –
องค์สำหรับละมี 5 นักศึกษาพึงทราบถึงภาวะที่ปฐมฌาน ละองค์ 5 ด้วยอำนาจที่ประหานนิวรณ์ 5 เหล่านี้ คือ
นิวรณ์ 5 1. กามฉันทะ ความพอใจในกาม
2. พยาปาทะ ความไม่ชอบใจ
3. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาและความเซื่องซึม
4. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ และ
5. วิจิกิจฉา ความสงสัยตัดสินใจไม่ได้
ก็เมื่อโยคีบุคคลยังละนิวรณ์ 5 เหล่านี้ไม่ได้ ฌานก็เกิดขึ้นไม่ได้เป็นธรรมดาด้วยเหตุนั้น นิวรณ์ 5 เหล่านี้ จึงเรียกว่าเป็นองค์สำหรับละของฌานนั้น ถึงแม้ว่า ในขณะ
(หน้าที่ 245)
ฌานเกิดนั้น แม้อกุศลธรรมอย่างอื่น ๆ อันฌานลาภีบุคคลย่อมละได้ด้วยก็จริง แต่กระนั้นนิวรณ์ 5 เหล่านี้เท่านั้นที่ทำอันตรายแก่ฌานโดยพิเศษ
เป็นความจริง จิตที่ถูก กามฉันทนิวรณ์ รบเร้าไว้ในอารมณ์ต่าง ๆ แล้ว ย่อมไม่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เป็นเอกภาพคือมีอารมณ์อย่างเดียว หรือจิตที่ถูกกามฉันทนิวรณ์ครอบงำแล้วนั้น ย่อมไม่ดำเนินไปสู่ปฏิปทาเพื่อประหานเสียซึ่งกามธาตุ (คือกามโลก) และจิตที่ถูกพยาปาทนิวรณ์ กดดันไว้ในอารมณ์ ย่อมเป็นไปอย่างกระพร่องกระแพร่งไม่บริบูรณ์ จิตที่ถูก ถีนมิทธนิวรณ์ ครอบงำแล้ว ย่อมไม่ควรแก่ที่จะประกอบการภาวนา จิตที่ถูก อุจธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ครอบงำแล้ว ย่อมหมุนคว้างไปไม่สงบอยู่ได้เลย จิตที่ถูก วิจิกิจฉานิวรณ์ เข้าแทรกแซงแล้ว ย่อมไม่หยั่งลงสู่ปฏิปทาอันจะให้สำเร็จการบรรลุถึงซึ่งฌานได้
ด้วยประการฉะนี้ เฉพาะนิวรณ์ 5 นี้ ท่านจึงเรียกว่า เป็นองค์สำหรับละ เพราะเป็นข้าศึกที่ทำอันตรายแก่ฌานโดยพิเศษ
องค์แห่งปฐมฌาน 5 แหละ เพราะเหตุที่ วิตก ย่อมยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์ วิจารณ์ ตามผูกพันจิตไว้ในอารมณ์ ปีติ อันเป็นที่เกิดแห่งประโยคสมบัติของจิตซึ่งมีประโยคอันวิตกและวิจารให้ถึงพร้อมแล้วด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมทำให้จิตเอิบอิ่ม สุข ย่อมทำสัมปยุตธรรมให้เจริญและถัดมาเอกัคคตา อันความยกขึ้น, ความตามผูกพัน, ความเอิบอิ่มและความเจริญเหล่านี้ อนุเคราะห์แล้วย่อมตั้งจิตนั้นพร้อมทั้งสัมปยุตธรรมที่เหลือไว้ในอารมณ์อันเป็นเอกภาพ อย่างสม่ำเสมอ โดยถูกต้อง
ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบถึงภาวะที่ปฐมฌานประกอบด้วยองค์ 5 ด้วยอำนาจความบังเกิดขึ้นแห่งองค์ 5 เหล่านี้ คือ
1. วิตก ธรรมชาติที่ยกจิตสู่อารมณ์
2. วิจาร ธรรมชาติที่พิจารณาอารมณ์
3. ปีติ ธรรมชาติที่ทำจิตใจให้เอิบอิ่ม
(หน้าที่ 246)
4. สุข ธรรมชาติที่ทำจิตให้ยินดี และ
5. จิตเตกัคคตา ความมีอารมณ์อย่างเดียวของจิต
ก็เมื่อองค์ 5 เหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นอันชื่อว่า ฌานเกิดขึ้นแล้ว ด้วยเหตุนั้น องค์ 5 เหล่านี้ จึงเรียกว่าองค์ที่ประกอบของฌานนั้น นักศึกษาพึงยึดหลักไว้เถิดว่าขึ้นชื่อว่า ฌาน อื่นจากที่ประกอบด้วยองค์ 5 เหล่านี้หามีไม่
ก็แหละ เหมือนอย่างชาวโลกเรียกขานกันว่า เสนามีองค์ 4 ดนตรีมีองค์ 5 มรรคมีองค์ 8 ทั้งนี้ ด้วยอำนาจสักว่าองค์เท่านั้น ฉันใด แม้ฌานนี้นักศึกษาก็พึงเข้าใจว่าที่ท่านเรียกว่า มีองค์ 5 หรือประกอบด้วยองค์ 5 นั้น ด้วยอำนาจสักว่าองค์เท่านั้นเช่นเดียวกัน
องค์ฌาน 5 มีกำลังมากกว่าปกติ แหละ แม้ว่าองค์ฌานทั้ง 5 เหล่านี้ จะได้มีในขณะอุปจารสมาธิเกิด และในขณะอุปจารสมาธินั้นจะมีกำลังมากกว่าจิตปกติก็ตาม ส่วนในปฐมฌานนี้ องค์ฌานทั้ง 5 มีกำลังมากกว่าอุปจารสมาธิขึ้นไปอีก เพราะบรรลุถึงลักษณะที่เป็นรูปาวจรกุศลจิตแล้ว
จริงอยู่ในปฐมฌานนี้ วิตก ย่อมเกิดยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์โดยอาการอันบริสุทธิ์ที่สุด วิจาร ย่อมเกิดขึ้นตามพิจารณาอารมณ์อย่างดีที่สุด ปีติและสุข ย่อมเกิดแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงเทศนาไว้ว่า ณ ที่ตรงไหนทั่วสรรพางค์กายของฌานลาภีบุคคลนั้น ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัดจะไม่ถูกต้องนั้นเป็นอันไม่มี ฝ่าย จิตเตกัคคตา คือภาวะที่จิตมีอารมณ์อย่างเดียวนั้น ย่อมเกิดขึ้นถูกต้องทั่วอารมณ์ทั้งหลาย มีอาการเหมือนฝาสมุกอันบนสวมลงตัวสมุกอันล่างโดยทั่วสิ้นฉะนั้น
อรรถาธิบายนี้เป็นความต่างกันระหว่างปีติและสุขกับองค์ฌานอื่น ๆ แม้นอกนี้
จิตเตกัคคตาเป็นองค์ฌานอันหนึ่ง ในบรรดาองค์ฌานทั้ง 5 นั้น ถึงแม้ว่าจิตเตกัคคตาจะมิได้ทรงแสดงไว้ในบาลีที่ว่า สวิตกฺกํ สวิจารํ เป็นต้นนั้นก็ตาม แม้กระนั้น จิตเตกัคคตาก็จัดเข้าเป็นองค์ฌาน
(หน้าที่ 247)
องค์หนึ่งเหมือนกัน เพราะเหตุที่ทรงเทศนาไว้ในคัมภีร์ภวังค์ว่า วิตก, วิจาร, ปีติ, สุข, และ จิตเตกัคคตา ชื่อว่า ฌาน ดังนี้ อธิบายว่า การที่พระผู้มีพระภาคทรงเทศนาพระบาลีไว้โดยนัยมีอาทิว่า สวิตกฺกํ สวิจารํ ด้วยข้อพระพุทธาธิบายอย่างใด ก็เป็นอันว่าข้อพระพุทธาธิบายนั้น พระองค์ทรงประกาศแสดงไขไว้แล้วว่า จิตเตกัคคตา นั้น ท่านไม่ได้ทรงถือเอาในพระบาลีที่แสดงถึงฌานนั้น ด้วยประการฉะนี้
ส่วน 3 มีความงาม 3 และสมบูรณ์ด้วยลักษณะ 10
ก็แหละ ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวสังเขปไว้ว่า มีความงาม 3 สมบูรณ์ด้วยลักษณะ 10 นั้น มีอรรถาธิบายโดยพิศดารดังต่อไปนี้ –
นักศึกษาพึงทราบความงาม 3 อย่างของปฐมฌาน ด้วยอำนาจความงามในเบื้องต้น 1 ความงามในท่ามกลาง 1 และความงามในที่สุด 1 และพึงทราบความสมบูรณ์ด้วยลักษณะ 10 ประการของปฐมฌาน ด้วยอำนาจลักษณะของความงามในเบื้องต้น ความงามในท่ามกลาง และความงามในที่สุดเหล่านั้นนั่นแล
ในการแสดงถึงความงามและลักษณะแห่งความงามของปฐมฌานนั้น มีคำบาลีรับรองไว้ดังนี้ –
ความงาม 3 ประการ ความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทา เป็นความงามในเบื้องต้นของปฐมฌาน ความเจริญได้ที่แห่งอุเบกขา เป็นความงามในท่ามกลางของปฐมฌาน และความร่าเริงใจ เป็นความงามที่สุดของปฐมฌาน
ลักษณะแห่งความงามเบื้องต้น 3 ประการ ถาม - ข้อว่า ความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทา เป็นความงามเบื้องต้นของปฐมฌานนั้น ความงามในเบื้องต้นของปฐมฌาน มีลักษณะเท่าไร ?
(หน้าที่ 248)
ตอบ - ความงามในเบื้องต้นของปฐมฌาน มีลักษณะ 3 ประการ คือ จิตย่อมบริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นข้าศึก 1 เพราะเหตุที่จิตบริสุทธิ์ จิตจึงดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันเป็นกลาง 1 เพราะเหตุที่จิตดำเนินไป จิตจึงแล่นตรงไป ในสมถนิมิตอันเป็นกลางนั้น 1
อาการที่จิตบริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นข้าศึก อาการที่จิตดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันเป็นกลางด้วยเหตุที่บริสุทธิ์ และอาการที่จิตแล่นตรงไปในสมถนิมิตอันเป็นกลาง ด้วยเหตุที่ดำเนินไปแล้วเหล่านี้เป็นลักษณะ 3 ประการ แห่งความงามในเบื้องต้นของปฐมฌาน ซึ่งมีความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทาเป็นความงามในเบื้องต้น ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ปฐมฌานมีความงามในเบื้องต้น และสมบูรณ์ในลักษณะ 3 ด้วยประการฉะนี้
ลักษณะแห่งความงามท่ามกลาง 3 ประการ ถาม - ข้อว่า ความเจริญได้ที่แห่งอุเบกขาเป็นความงามในท่ามกลางของปฐมฌานนั้น ความงามในท่ามกลางของปฐมฌานมีลักษณะเท่าไร ?
ตอบ - ความงามในท่ามกลางของปฐมฌานมีลักษณะ 3 ประการ คือ โยคีบุคคลย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตบริสุทธิ์แล้ว 1 ย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ปรากฏเป็นเอกภาพ แล้ว 1
อาการที่เพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่บริสุทธิ์แล้ว อาการที่เพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ดำเนินไปสู่สมถนิมิตแล้ว และอาการที่เพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ปรากฏเป็นเอกภาพแล้วเหล่านี้เป็นลักษณะ 3 ประการ แห่งความงามในท่ามกลางของปฐมฌาน ซึ่งมีความเจริญได้ที่แห่งอุเบกขาเป็นความงามในท่ามกลาง ด้วยเหตุนั้นจึงเรียกว่า ปฐมฌานมีความงามในท่ามกลางและสมบูรณ์ด้วยลักษณะ 3 ด้วยประการฉะนี้
(หน้าที่ 249)
ลักษณะแห่งความงามในที่สุด 4 ประการ ถาม - ข้อว่า ความร่าเริงใจ เป็นความงามในที่สุดของปฐมฌานนั้น ความงามในที่สุดของปฐมฌาน มีลักษณะเท่าไร ?
ตอบ - ความงามในที่สุดของปฐมฌานมีลักษณะ 4 ประการ คือ ความร่าเริงใจเพราะผลที่ธรรมทั้งหลายซึ่งเกิดในฌานจิตนั้นไม่ล่วงล้ำก้ำเกินกัน 1 ความร่าเริงใจเพราะผลที่อินทรีย์ทั้งหลายมีรสเป็นอันเดียวกัน 1 ความร่าเริงใจเพราะผลที่ทำให้วีริยะอันสมควรแก่อินทรีย์ทั้งหลายบังเกิดขึ้น 1 ความร่าเริงใจเพราะผลที่ได้อาเสวนปัจจัย 1
อาการเหล่านี้เป็นลักษณะ 4 ประการแห่งความงามในที่สุดของปฐมฌาน ซึ่งมีความร่าเริงใจเป็นความงามในที่สุด ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ปฐมฌาน มีความงามในที่สุดและสมบูรณ์ในลักษณะ 4 ด้วยประการฉะนี้แล
มติวัดอภัยคีรีวิหาร ในความงาม 3 อย่างนั้น อุปจารสมาธิพร้อมทั้งธรรมเครื่องปรุงแต่ง คือบริกรรมในอาวัชนะต่าง ๆ ชื่อว่า ปฏิปทาวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทา อัปปนาสมาธิ ชื่อว่า ความเจริญได้ที่แห่งอุเบกขา ปัจจเวกขณะ คือการพิจารณาฌานที่ได้บรรลุแล้ว ชื่อว่า ความร่าเริงใจ อธิบายนี้ท่านอาจารย์ทั้งหลายชาววัดอภัยคีรีวิหารพรรณาไว้
มติในปฏิสัมภิทามัคค์ แต่เพราะเหตุที่ในบาลีแห่งปฏิสัมภิทามัคค์ ท่านแสดงไว้ จิตที่ถึงเอกภาพแล้ว จึงจะเป็นอันแล่นไปสู่ความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทา, จึงจะเป็นอันเจริญได้ที่แล้วด้วยอุเบกขา และจึงจะเป็นอันร่าเริงแล้วด้วยญาณ ดังนี้ ฉะนั้น นักศึกษาพึงเข้าใจว่า ความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทาจะมีได้ก็ด้วยอำนาจที่มาถึงภายในอัปปนาสมาธิเท่านั้น ความเจริญได้ที่แห่งอุเบกขาจะมีได้ด้วยการทำกิจของตัตรมัชฌัตตุเบกขา และความร่าเริงใจจะมีได้ด้วย
(หน้าที่ 250)
อำนาจความสำเร็จแห่งการทำกิจของญาณอันทำให้ผ่องใส โดยยังภาวะที่ธรรมทั้งหลายไม่ล่วงล้ำกันเป็นต้นให้สำเร็จ (หมายความว่าอรรถาธิบายของพวกอาจารย์วัดอภัยคีรีวิหารผิดจากบาลีปฏิสัมภิทามัคค์)
ถาม - ข้อนี้ มีอรรถาธิบายอย่างไร ?
ตอบ - มีอรรถาธิบายว่า ในวาระที่อัปนาสมาธิเกิดขึ้น จิตจึงจะบริสุทธิ์จากกลุ่มกิเลสคือนิวรณ์อันเป็นข้าศึกของฌานนั้น เพราะจิตเป็นสภาพที่บริสุทธิ์แล้ว จึงจะหลีกเว้นจากนิวรณ์เครื่องกั้น ดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันเป็นกลาง สมถนิมิตอันเป็นกลาง นั้นได้แก่อัปนาสมาธิที่เป็นไปโดยสม่ำเสมอนั่นเอง
อธิบายความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทา ก็แหละ จิตดวงก่อน ซึ่งเป็นอนันตรปัจจัยแก่อัปนาจิตนั้นได้แก่ โคตรภูจิต กำลังเข้าไปสู่ภาวะที่แท้ ชื่อว่า ดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันเป็นกลาง ด้วยนัยที่แปรไปแห่งสันตติเพียงอันเดียว เพราะจิตดำเนินไปด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่า แล่นไปในสมถนิมิตนั้น ด้วยการดำเนินไปสู่ภาวะที่แท้ นักศึกษาพึงเข้าใจถึงความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทาอันให้สำเร็จอาการที่บริสุทธิ์จากอันตรายเป็นต้นซึ่งมีอยู่ในจิตดวงก่อนแห่งอัปนาจิต ด้วยอำนาจที่มาถึงในอุปปาทขณะแห่งปฐมฌาน ด้วยประการฉะนี้ก่อน
อธิบาย ความเจริญได้ที่อุเบกขา แหละเมื่อจิตนั้นบริสุทธิ์แล้วอย่างนี้ โยคีบุคคลก็ไม่ทำความขวนขวายในอันที่จะทำจิตให้บริสุทธิ์อีก เพราะไม่มีสิ่งที่จะต้องทำให้บริสุทธิ์ ชื่อว่า ย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตอันบริสุทธิ์แล้ว เมื่อจิตดำเนินไปสู่สมถนิมิตด้วยการเข้าสู่ภาวะที่สงบ โยคีบุคคลก็ไม่ทำการขวนขวายในอันที่จะทำให้จิตตั้งมั่นอีก ชื่อว่า ย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ดำเนินไปสู่สมถนิมิตแล้ว และเมื่อฌานจิตนั้น ละความคลุกคลีด้วยกิเลสเข้าไปตั้งอยู่โดยความเป็นเอกภาพ โดยภาวะที่ดำเนิน
(หน้าที่ 251)
ไปสู่สมถนิมิตแล้วนั่นแล โยคีบุคคลก็ไม่ทำความขวนขวายในอันที่จะทำให้จิตปรากฏเป็นเอกภาพอีก ชื่อว่า ย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ปรากฏเป็นเอกภาพแล้ว
นักศึกษาพึงเข้าใจความเจริญได้ที่ของอุเบกขา ด้วยอำนาจการทำกิจของตัตรมัชฌัตตุเบกขา ด้วยประการฉะนี้
อธิบายความร่าเริงใจ แหละอาการทั้งหลาย คือ เมื่อฌานจิตเจริญได้ที่แล้วด้วยอุเบกขาอย่างนี้ ธรรมที่เนื่องเป็นคู่กันคือสมาธิกับปัญญาซึ่งเกิดแล้วในฌานจิตนั้น เป็นไปไม่ก้ำเกินซึ่งกันและกัน 1 อินทรีย์ทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้น เป็นไปมีรสเป็นอันเดียวกันด้วยวิมุตติรส เพราะหลุดพ้นจากกิเลสนานาชนิด 1 โยคีบุคคลนั้นทำวีริยะอันควรแก่ธรรมเหล่านั้นคือสมควรแก่ภาวะที่ธรรมเหล่านั้นไม่ก้ำเกินกันและมีรสเป็นอันเดียวกันให้เป็นไปอยู่ 1 การเสพอารมณ์ของฌานจิตนั้นเป็นไปในขณะนั้น (ภังคขณะ) 1 โดยเหตุที่อาการทั้งหมดนั้นสำเร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะโยคีบุคคลเห็นโทษและอานิสงส์นั้น ๆ ในความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วของภาวนาด้วยญาณ จึงได้ร่าเริงใจแล้ว ทำให้จิตบริสุทธิ์ผ่องใสแล้ว ด้วยประการนั้น ๆ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวไว้ว่า นักศึกษาพึงเข้าใจว่า………ความร่าเริงใจจะมีได้ก็ด้วยอำนาจความสำเร็จแห่งการทำกิจของญาณให้ผ่องใส โดยยังภาวะที่ธรรมทั้งหลายไม่ก้ำเกินกันเป็นต้นให้สำเร็จ
ญาณปรากฏชัดด้วยอุเบกขา เพราะในภาวนาจิตนั้น ญาณย่อมปรากฏด้วยอำนาจอุเบกขาเหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ว่า โยคีบุคคลย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ตนประคองไว้อย่างนั้นเป็นอย่างดี ปัญญินทรีย์ย่อมมีประมาณยิ่ง ด้วยอำนาจอุเบกขา ด้วยอำนาจปัญญา จิตย่อมหลุดพ้นจากกิเลสอันมีสภาวะต่าง ๆ ด้วยอำนาจอุเบกขา ปัญญินทรีย์ย่อมมีประมาณยิ่ง
(หน้าที่ 252)
ด้วยอำนาจความหลุดพ้น คือ ศรัทธากับปัญญาและวีริยะกับสมาธิ ย่อมมีรสเป็นอันเดียวกัน คือ ทำกิจเท่านั้น เพราะผลที่มีรสเป็นอันเดียวกัน จึงชื่อว่า ภาวนา
ฉะนั้น ความร่าเริงใจอันเป็นกิจแห่งญาณ ท่านจึงกล่าวว่า เป็นความงามในที่สุดฉะนี้
ส่วน 4 ได้บรรลุปฐมฌานมีปถวีกสิณเป็นอารมณ์
บัดนี้ จะอรรถาธิบายในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ ได้บรรลุปฐมฌานมีปถวีกสิณเป็นอารมณ์ ต่อไป
ที่ชื่อว่า ปฐม ซึ่งแปลว่า ที่หนึ่ง เพราะเป็นลำดับแห่งการคำนวณ ที่ชื่อว่า ปฐม เพราะว่า เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ดังนี้ก็ได้
ที่ชื่อว่า ฌาน เพราะเพ่งอารมณ์ อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า ฌาน เพราะเผาธรรมอันเป็นข้าศึกมีนิวรณ์เป็นต้น
แหละมณฑลแห่งดินคือวงกลมแห่งดิน เรียกว่า ปถวีกสิณ ด้วยความหมายว่า ดินทั้งสิ้น นิมิต ที่ได้เพราะอาศัยปถวีกสิณนั้นก็ชื่อว่า ปถวีกสิณ ฌานที่ได้นิมิตปถวีกสิณก็เรียกว่า ปถวีกสิณ ใน 2 อย่างนั้น นักศึกษาพึงทราบว่า ฌานปถวีกสิณ ประสงค์เอาในอรรถาธิบายนี้ (มิใช่นิมิตปถวีกสิณ) ข้าพเจ้าหมายเอาปถวีกสิณนั้น จึงได้กล่าวไว้ว่า ปฐมฌานปถวีกสิณ….ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้ว ด้วยประการฉะนี้
ต้องพยายามจำอาการที่บรรลุฌาณไว้ให้แม่นยำ
ก็แหละ เมื่อได้บรรลุปฐมฌานอย่างนี้แล้ว อันโยคีบุคคลนั้นพึงกำหนดสังเกตอาการทั้งหลายขณะที่ได้บรรลุไว้ให้แม่นยำ เหมือนนายขมังธนูผู้ยิงขนทราย และเหมือนดังพ่อครัว
เปรียบเหมือนนายขมังธนูยิงขนทราย อธิบายว่า เหมือนนายขมังธนูผู้ชาญฉลาด ประกอบกรรมในการยิงขนทราย เมื่อยิงถูกขนทรายในวาระใด เขาจะพึงกำหนดสังเกตุอาการที่ยันเท้า อาการแห่งคันธนู อาการ
(หน้าที่ 253)
แห่งสายธนู และอาการแห่งลูกธนู ในวาระนั้นไว้อย่างแม่นยำว่า เรายืนท่านี้ จับคันธนูท่านี้ ขึ้นสายธนูอย่างนี้ แล้วจึงยิงขนทราย จำเดิมแต่นั้น เขายังอาการเหล่านั้นให้ถึงพร้อมอยู่ด้วยประการนั้นนั่นแหละ ย่อมยิงถูกขนทรายอย่างไม่ผิดพลาดเลยฉันใด แม้อันโยคีบุคคลนี้ ก็ฉันเดียวกันนั่นแล คือเธอพึงกำหนดสังเกตกิริยาอาการทั้งหลายมีอาการเป็นอันที่สบายเป็นต้นเหล่านี้ว่า เราบริโภคอาหารชนิดนี้ คบหาสมาคมบุคคลเห็นปานนี้ จึงได้บรรลุปฐมฌานนี้ ในเสนาสนะชนิดนี้ ด้วยอิริยาบทอย่างนี้ ในเวลาเช่นนี้
ครั้นสังเกตจดจำอาการไว้ได้อย่างนี้แล้ว แม้เมื่อสมาธิขั้นอ่อน ๆ นั้นเสื่อมหายไป โยคีบุคคลนั้น จักสามารถเพื่อที่จะทำอาการเหล่านั้นให้ถึงพร้อมแล้ว ทำสมาธินั้นให้กลับเกิดขึ้นอีกได้ หรือจักสามารถเพื่อที่จะทำสมาธิที่ยังไม่คล่องแคล่วให้คล่องแคล่วกลับเป็นอัปนาสมาธิบ่อย ๆ โดยไม่ลำบากเลย
เปรียบเหมือนพ่อครัว อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนพ่อครัวทำการเลี้ยงอาหารเจ้านาย คอยสังเกตอาการนั้น ๆ ที่เจ้านายชอบบริโภคไว้เป็นอย่างดี แต่นั้น ก็พยายามเตรียมจัดเฉพาะแต่สิ่งที่เจ้านายชอบใจเท่านั้นเข้าไปให้ เขาย่อมจะเป็นผู้มีส่วนได้รับรางวัล ฉันใด แม้โยคีบุคคลนี้ก็ฉันเดียวกันนั่นเทียว คอยกำหนดจับเอาอาการทั้งหลายมีอาการอันเป็นที่สบายเป็นต้นในขณะที่บรรลุปฐมฌาน แล้วยังอาการเหล่านั้นให้ถึงพร้อมอยู่เสมอ ไม่ให้เลอะเลือน เมื่อสมาธินั้นเสื่อมหายไป ก็ย่อมจะได้อัปปนาสมาธิกลับคืนมาเสมอ ๆ
เพราะฉะนั้น อันโยคีบุคคลนั้น จึงจำต้องคอยสังเกตจดจำอาการทั้งหลาย ในขณะที่ได้บรรลุปฐมฌานไว้ เหมือนดังนายขมังธนูผู้ยิงขนทรายและเหมือนดังพ่อครัว ข้อนี้สมจริงดังพุทธวจนะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในคัมภีร์สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ซึ่งมีความว่า –
พระบาลีรับสมอ้างข้ออุปมา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า พ่อครัวผู้ชำนาญในการทำครัว มีปรีชาญาณชาญฉลาด ทำการต้อนรับพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาด้วยอาหารทั้งหลายนานาชนิด คืออาหารที่มีรสเปรี้ยวบ้าง มีรสขมบ้าง
(หน้าที่ 254)
มีรสเผ็ดบ้าง มีรสหวานบ้าง มีรสกร่อยบ้าง มีรสเค็มบ้าง มีรสจืดบ้าง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พ่อครัวผู้ชำนาญในการทำครัว มีปรีชาญาณอันชาญฉลาดนั้นแล เขาย่อมคอยจับดูอาการของเจ้านายของตนว่า วันนี้เจ้านายของเราชอบอาหารชนิดนี้ หรือเจ้านายของเราเอื้อมมือเอาอาหารอย่างนี้ หรือเจ้านายของเราหยิบเอาอาหารชนิดนี้มาก หรือเจ้านายของเราพูดชมคุณอาหารอย่างนี้ หรือว่าวันนี้เจ้านายของเราชอบอาหารมีรสเปรี้ยว หรือเอื้อมมือเอาแต่อาหารรสเปรี้ยวเป็นส่วนมาก หรือพูดชมคุณอาหารที่มีรสเปรี้ยว ….หรือว่า….พูดชมคุณอาหารที่มีรสจืด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พ่อครัวผู้ชำนาญในการทำครัวมีปรีชาญาณชาญฉลาดนั้นแล เขาย่อมจะได้เครื่องนุ่งห่มด้วย ได้เครื่องบำเหน็จรางวัลด้วย ได้เครื่องบรรณาการด้วย ข้อนั้น เพราะมีอะไรเป็นเหตุ ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่า พ่อครัวผู้ชำนาญในการทำครัว มีปรีชาญาณชาญฉลาดนั้น เขาคอยจับตาดูเจ้านายของเขาด้วยประการดังกล่าวแล้ว ฉันใด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ชำนาญมีปรีชาญาณชาญฉลาดบางรูปในศาสนานี้ ก็ฉันเดียวกันนั่นแล คือย่อมพิจารณาเห็นกายที่กายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาที่เวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตที่จิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ เป็นผ้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌา ความดีใจ และโทมนัสความเสียใจในโลกออกเสียได้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ จิตย่อมเป็นสมาธิ อุปกิเลสทั้งหลายย่อมหายไป เขาย่อมจ้องจับเอานิมิตนั้นได้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ชำนาญ มีปรีชาญาณชาญฉลาดนั้นแล ย่อมได้การอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ย่อมได้สติและสัมปชัญญะ ข้อนั้นเพราะมีอะไรเป็นเหตุเล่า ?
(หน้าที่ 255)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุผู้ชำนาญมีปรีชาญาณชาญฉลาดนั้น คอยจ้องจับเอานิมิตแห่งจิตของตนได้เป็นเหตุโดยแท้
พึงรักษาฌานให้ดำรงอยู่ได้นาน ๆ แหละเมื่อโยคีบุคคล ทำอาการทั้งหลายให้ถึงพร้อมอยู่ด้วยการคอยจ้องจับเอานิมิตนั้น อัปปนาสมาธิเพียงสำเร็จคืนมาได้อีกเท่านั้น หาได้สำเร็จเป็นการให้ดำรงอยู่ได้นาน ๆ ไม่ ส่วนที่จะให้อัปปนาสมาธิดำรงอยู่ได้นาน ๆ นั้น ย่อมสำเร็จได้ด้วยการชำระล้างธรรมทั้งหลายที่เป็นข้าศึกแก่สมาธิให้สะอาดด้วยดี
เหตุที่อยู่ในสมาบัติไม่ได้นาน จริงอยู่ ภิกษุใดไม่ได้ข่มกามฉันทนิวรณ์ไว้เป็นอย่างดีด้วยอุบายวิธีมีการพิจารณาเห็นโทษของกามเป็นต้น ไม่ได้ทำความกระวนกระวายทางกายให้สงบลงด้วยดี ด้วยอำนาจทำกายให้สงบ ไม่ได้บรรเทาถีนมิทธนิวรณ์ด้วยดี ด้วยอำนาจมนสิการถึงอารัมภธาตุ คือการปรารถความเพียรเป็นต้น ไม่ได้ถอดถอนออกด้วยดีซึ่งอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ด้วยอำนาจมนสิการถึงสมถนิมิตเป็นต้น แม้ธรรมทั้งหลายอันเป็นข้าศึกแก่สมาธิอย่างอื่น ๆ ก็ไม่ได้ชำระล้างให้สะอาดด้วยดีแล้วเข้าสู่ฌานสมาบัติ ภิกษุนั้นย่อมจะออกจากฌานสมาบัติเสียโดยเร็วพลันนั่นเทียว เหมือนแมลงภู่ที่เข้าไปยังโพรงที่อยู่อาศัย ซึ่งมิได้ชำระให้สะอาด และเหมือนพระราชาที่เสด็จเข้าไปสู่พระราชอุทยานที่สกปรก ย่อมไม่สามารถทรงทนอยู่ได้นาน
เหตุที่ให้อยู่ในสมาบัติได้นาน ส่วนภิกษุใด ชำระธรรมทั้งหลายอันเป็นข้าศึกแก่สมาธิให้สะอาดด้วยดีเสียก่อนแล้วจึงสู่ฌานสมาบัติ ภิกษุนั้นย่อมจะอยู่ได้ภายในแห่งสมาบัตินั่นแล แม้ตลอดกาลอันเป็นส่วนแห่งวันทั้งสิ้นทีเดียว เหมือนแมลงภู่ที่เข้าไปยังโพรงที่อยู่อาศัยซึ่งได้ชำระให้สะอาดแล้วเป็นอย่างดี และเหมือนพระราชาเสด็จเข้าไปสู่พระราชอุทยานที่สะอาดเป็นอย่างดี ฉะนั้น
ด้วยเหตุนั้น ท่านโบราณาจารย์จึงได้ประพันธ์สุภาษิตไว้ ซึ่งมีความว่า-
(หน้าที่ 256)
โยคีบุคคล พึงกำจัดปัดเป่าเสียซึ่งความพอใจในกามทั้งหลาย 1 ความเคียดแค้น 1 ความฟุ้งซ่าน 1 ความเซื่องซึม 1 และความสงสัยเป็นที่ 5 แล้วพึงมีใจปราโมชซึ่งเกิดแต่ความสงัด จากนิวรณ์กิเลสอภิรมย์ชมชื่นอยู่ในฌานนั้น เหมือนพระราชาที่เสด็จเข้าไปสู่พระราชอุทยานที่สะอาดตลอดสุดบริเวณ ย่อมทรงอภิรมย์ชมชื่นอยู่ในพระราชอุทยานนั้น ฉะนั้น
เพราะเหตุฉะนั้น อันโยคีบุคคลผู้ใคร่จะให้ฌานนั้นดำรงอยู่ได้นาน ๆ ก็จงชำระธรรมทั้งหลายอันเป็นข้าศึกแก่สมาธิมีกามฉันทนิวรณ์เป็นต้นให้สะอาด แล้วจึงเข้าสู่ฌานสมาบัตินั้นเถิด
การขยายปฏิภาคนิมิต
อีกประการหนึ่ง โยคีบุคคลผู้ฌานลาภีนั้น พึงขยายปฏิภาคนิมิตตามที่ได้มาแล้วทั้งนี้ เพื่อความเจริญไพบูลย์แห่งสมาธิภาวนา ภูมิที่จะขยายปฏิภาคนิมิตนั้นมี 2 ภูมิ ได้แก่ อุปจารภูมิ หรือ อัปปนาภูมิ กล่าวคือ โยคีบุคคลบรรลุถึงอุปจารภูมิแล้วขยายปฏิภาคนิมิตนั้นก็ได้ บรรลุถึงอัปปนาภูมิแล้วขยายปฏิภาคนิมิตนั้นก็ได้ แต่ที่จริงแล้ว จะพึงขยายได้ในฐานะอันเดียว ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า พึงขยายปฏิภาคนิมิตตามที่ได้มาแล้ว ฉะนี้
วิธีขยายปฏิภาคนิมิต แนวทางแห่งการขยายปฏิภาคนิมิตนั้น ดังต่อไปนี้- อันโยคีบุคคลอย่าได้ขยายปฏิภาคนิมิตนั้น ด้วยวิธีที่ขยายของบาตร วิธีขยายของขนม วิธีขยายของข้าวสุก วิธีขยายของเถาวัลย์ และวิธีขยายของผ้า พึงกะกำหนดประมาณแห่งนิมิตตามที่ได้มานั้นด้วยใจไว้ก่อนว่า ประมาณ 1 นิ้ว 2 นิ้ว 3 นิ้ว 4 นิ้ว โดยลำดับ แล้วจึงขยายไปเท่าที่กะกำหนดไว้ เหมือนอย่างชาวนากะกำหนดสถานที่ซึ่งจะไถด้วยไถไว้ก่อน แล้วจึงไถเนื้อที่ภายในที่กำหนดไว้ แหละอีกประการหนึ่ง เหมือนภิกษุสงฆ์จะผูกสีมา กำหนดนิมิตทั้งหลายไว้ก่อนแล้วจึง
(หน้าที่ 257)
ผูกภายหลังฉะนั้น เมื่อไม่ได้กะกำหนดเสียก่อนแล้วอย่าเพิ่งขยาย ครั้นกะกำหนดขยายไปได้ขนาด 4 นิ้วแล้ว แต่นั้นพึงขยายออกไปด้วยกำหนดเอาชั่วคืบหนึ่ง ศอกหนึ่ง ชั่วหน้ามุขหนึ่ง บริเวณหนึ่ง ชั่ววัดหนึ่ง หรือชั่วเขตหมู่บ้านหนึ่ง ชั่วตำบลหนึ่ง ชั่วอำเภอหนึ่ง ชั่วจังหวัดหนึ่ง ชั่วประเทศหนึ่ง และชั่วมหาสมุทรหนึ่ง หรือพึงกำหนดขยายเขตออกไปชั่วจักรวาลหนึ่ง หรือแม้กว้างใหญ่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็ได้
เปรียบเหมือนลูกนกหงส์ เหมือนอย่างลูกนกหงส์ประเภทที่มีกำลังเร็ว นับแต่เวลาที่ขนปีกทั้งหลายงอกขึ้นเต็มที่แล้ว มันฝึกบินโฉบขึ้นไปคราวละเล็กละน้อยก่อน ครั้นฝึกให้ชำนิชำนาญแล้วย่อมบินไปถึงที่ใกล้โลกพระจันทร์โลกพระอาทิตย์ก็ได้ตามลำดับ ฉันใด ภิกษุผู้ฌานลาภีก็ฉันเดียวกันนั่นเทียว คือ เมื่อกำหนดขยายนิมิตออกไปโดยนัยที่กล่าวแล้ว ย่อมขยายออกไปจนถึงจักรวาลหนึ่งเป็นกำหนด หรือแม้ขยายให้กว้างใหญ่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ปฏิภาคนิมิตนั้นย่อมจะปรากฏแก่เธอในที่จะขยายไปแล้วขยายไปแล้วนั้นๆ เหมือนดั่งโคตัวผู้ที่ถูกเกี่ยวไว้ด้วยขอตั้งร้อยอัน ณ ตรงที่ดอนที่ลุ่มแห่งแผ่นดิน ตรงที่คดโค้งแห่งแม่น้ำ และตรงที่ลดหลั่นแห่งภูเขา
วสี 5
ฝึกความชำนาญในฌาน 5 ประการ
ก็แหละ โยคีบุคคลผู้แรกทำกัมมัฏฐาน ซึ่งได้บรรลุปฐมฌานในเพราะปฏิภาคนิมิตนั้น ต้องฝึกการเข้าฌานมาก ๆ แต่อย่าพิจารณาองค์ฌานให้มาก เพราะเมื่อพิจารณามากองค์ฌานทั้งหลายก็จะปรากฏเป็นสภาวะที่หยาบมีกำลังน้อย และเพราะเหตุที่ปรากฏด้วยอาการอย่างนั้น องค์ฌานเหล่านั้นก็จะถึงซึ่งความเป็นปัจจัยแก่ความขวนขวายเพื่อภาวนาเบื้องสูงขึ้นไปเสีย เมื่อเธอสาละวนขวนขวายอยู่ในฌานที่ยังไม่คล่องแคล่ว เธอก็จะเสื่อมจากปฐมฌานที่ได้บรรลุแล้วด้วย จะไม่สามารถเพื่อที่จะบรรลุซึ่งทุติยฌานด้วย
พระบาลีรับสมอ้าง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงเทศนาไว้ว่า –
(หน้าที่ 258)
เปรียบเหมือนแม่โคโง่ไม่ชำนาญภูเขา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างแม่โคที่ชอบเที่ยวไปตามภูเขา ตัวที่โง่ไม่ชำนาญไม่รู้เขตที่หากิน ไม่ฉลาดเพื่อท่องเที่ยวไปตามภูเขาอันไม่เรียบราบ แม่โคนั้นจะพึงคิดอย่างนี้ว่า ทำอย่างไรหนอเราจะพึงไปทิศที่ยังไม่เคยไป ครั้นแล้วมันยังไม่ทันได้เหยียบเท้าหน้าไว้ให้ได้ที่ดีเสียก่อนแล้วยกเท้าหลังขึ้น มันก็จะไม่พึงไปถึงทิศที่ไม่เคยไป ไม่พึงได้กัดกินหญ้าที่ตนยังไม่เคยกัดกิน และยังไม่พึงได้ดื่มน้ำที่ตนยังไม่เคยดื่ม มิหนำซ้ำมันยังจะไม่พึงกลับคืนมาโดยสวัสดียังสถานที่เดิมที่มันยืนคิดอยู่ว่า ทำอย่างไรหนอ เราจะพึงไปถึงทิศที่ยังไม่เคยไป จะพึงได้กัดกินหญ้าที่ยังไม่เคยกัดกิน จะพึงได้ดื่มน้ำที่ยังไม่เคยดื่ม ฉะนี้ด้วย ข้อนั้นเพราะมีอะไรเป็นเหตุเล่า ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุว่า แม่โคที่ชอบเที่ยวไปตามภูเขานั้น มันโง่ มันไม่ชำนาญ มันไม่รู้จักเขตที่หากิน มันไม่ฉลาดเพื่อที่จะท่องเที่ยวไปตามภูเขานั้นอันไม่เรียบราบโดยแท้ ฉันใด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ก็ฉันเดียวกันนั่นเทียว คือเป็นคนโง่เพราะไม่ได้ส้องเสพสมถนิมิต เป็นคนไม่ชำนาญ เพราะไม่ทำสมาธิให้เจริญขึ้น เป็นคนไม่รู้จักขอบเขต เพราะไม่หมั่นทำให้มาก และเป็นคนไม่ฉลาดเพื่อที่จะบรรลุซึ่งปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดแต่ความสงัดอยู่ เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดแล้วแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุนั้น ไม่ได้ส้องเสพนิมิตนั้น ไม่ทำนิมิตนั้นให้เจริญขึ้น ไม่ทำให้มาก ๆ เข้า ไม่ทำให้ตั้งอยู่ด้วยดี ถึงเธอจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ทำอย่างไรหนอ เราจะพึงบรรลุถึงซึ่ง ทุติยฌาน อันเป็นภายใน ประกอบด้วยความเลื่อมใสแห่งใจ มีภาวะที่ให้ธรรมอันประเสริฐเกิดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไปแล้ว มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ เธอก็ไม่สามารถเพื่อที่จะบรรลุถึงซึ่งทุติยฌาน……นั้นได้ ถึงเธอจะมีความคิดขึ้นอย่างนี้ว่า ทำอย่างไรหนอ เราจะพึงบรรลุถึงซึ่งปฐมฌาน อันมีวิตกมีวิจารมีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่ความสงัด เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เธอก็ไม่สามารถเพื่อที่จะบรรลุถึงซึ่งปฐมฌาน ….นั้นได้
(หน้าที่ 259)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรากล่าวว่าเป็นผู้พลัดตกเสียแล้วจากฌานทั้ง 2 เป็นผู้เสื่อมสูญแล้วจากฌานทั้ง 2 เปรียบเหมือนแม่โคที่ชอบเที่ยวไปตามภูเขา ซึ่งเป็นสัตว์โง่ไม่ชำนาญ ไม่รู้จักขอบเขตที่หากิน ไม่ฉลาดเพื่อที่ท่องเที่ยวไปตามภูเขาอันไม่ราบเรียบนั้น
เพราะเหตุฉะนี้ อันโยคีบุคคลนั้นจำต้องเป็นผู้สั่งสมวสีคือความสามารถด้วยอาการ 5 อย่าง ในปฐมฌานนั้นนั่นเทียวเสียก่อน
วสี 5 อย่าง ในการสั่งสมวสีนั้น วสีมี 5 อย่างดังนั้นคือ –
1. อาวัชชนวสี ความสามารถในการพิจารณาองค์ฌานด้วยมโนทวาราวัชชนจิต
2. สมาปัชชนวสี ความสามารถในการเข้าฌาน
3. อธิฏฺฐานวสี ความสามารถในการให้ฌานดำรงอยู่ตามกำหนด
4. วุฏฺฐานวสี ความสาใมารถในการออกจากฌานตามกำหนด และ
5. ปัจจเวกขณวสี ความสามารถในการพิจารณาองค์ฌานด้วยชวนจิต
ฌานลาภีบุคคล ย่อมสามารถพิจารณาปฐมฌาน ตามที่ตนปรารถนาตลอดเวลาที่ต้องการ และในการพิจารณานั้นไม่มีความชักช้าเฉื่อยชา ดังนั้นจึงเรียกว่า อาวัชชนวสี ความสามารถในการพิจารณาองค์ฌาน ฌานลาภีบุคคลย่อมสามารถเข้าปฐมฌานได้ตามที่ตนปรารถนาทุกครั้งตลอดเวลาที่ต้องการ และในการเข้านั้น ก็ไม่มีความชักช้า เฉื่อยชา ดังนั้นจึงชื่อว่า สมาปัชชนวสี ความสามารถในการเข้าฌาน แม้วสี 3 ที่เหลือ นักศึกษาก็พึงขยายความให้พิสดารโดยทำนองเดียวกันนี้
อรรถาธิบายวสี 5 อย่าง ก็แหละ ในวสี 5 อย่างนั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ –
1. อธิบาย อาวัชชนวสี ขณะเมื่อฌานลาภีบุคคลออกจากปฐมฌานแล้ว พิจารณาถึงองค์ฌานที่ 1 คือ วิตกอยู่นั้น ชวนจิตทั้งหลายซึ่งมีวิตกเป็นอารมณ์นั่นแลย่อมแล่นไป บางบุคคลก็ 4 ขณะ
(หน้าที่ 260)
บางบุคคลก็ 5 ขณะ ต่อจากมโนทวาราวัชชนจิตที่ตัดภวังค์เกิดขึ้นนั้น ถัดนั้นภวังคจิตก็เกิดขึ้น 2 ขณะ ต่อจากภวังจิตนั้น มโนทวาวัชชนจิตมีวิจารเป็นอารมณ์ ก็เกิดขึ้นต่อไปอีก ชวนจิตทั้งหลายซึ่งมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล ก็เกิดขึ้นต่อจากมโนทวาราวัชชนะนั้น กาลใด ที่ฌานลาภีบุคคลสามารถส่งจิตไปพิจารณาในองค์ฌานทั้ง 5 ติดต่อกันดังกล่าวมานี้ กาลนั้น ชื่อว่า อาวัชชนวสี ย่อมสำเร็จแก่เธอ แหละอาวัชชนวสีที่กล่าวมานี้ ที่จัดเป็นวสีชั้นสูงถึงขั้นสุดยอด ย่อมมีได้แต่ในขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระยมกปาฏิหาริย์ หรือในขณะเป็นที่บังเกิดขึ้นแห่งอาวัชชนวสีอย่างฉับพลันของท่านพระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะเป็นต้น นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว อาวัชชนวสีที่รวดเร็วฉับพลันเช่นนี้หามีไม่
2. อธิบาย สมาปัชชนวสี แหละความสามารถในการเข้าฌานได้อย่างฉับพลัน เหมือนในการที่ท่านมหาโมคคัลลานะทรมานพญานันโทปนันทนาคราช ชื่อว่า สมาปัชชนวสี
3. อธิบายอธิฏฐานวสี ความสามารถเพื่อที่จะทำให้ฌานดำรงอยู่ได้ ชั่วขณะประมาณลัดนิ้วมือหนึ่ง หรือชั่วขณะประมาณ 10 ลัดนิ้วมือก็ดี ชื่อว่า อธิฏฐานวสี
4. อธิบาย วุฏฐานวสี ความสามารถเพื่อที่จะออกจากฌานได้อย่างฉับพลัน ชั่วขณะประมาณลัดนิ้วมือหนึ่ง หรือชั่วขณะประมาณ 10 ลัดนิ้วมือก็ดี ชื่อว่า วุฏฐานวสี
การข่มภวังคจิตไว้ไม่ให้เกิดขึ้น เพื่อให้ฌานดำรงเป็นไปตามเวลาที่ต้องการเหมือนสะพานกั้นกระแสน้ำไม่ให้ไหลไปเร็ว ชื่อว่า อธิฏฐาน เมื่อภวังคจิตเกิดขึ้นแล้ว ก็ชื่อว่า วุฏฐาน คือการออกจากฌาน ความสามารถในอันให้ฌานดำรงอยู่ได้ คือไม่ให้ภวังคจิตเกิดด้วยอำนาจแห่งการบริกรรมเบื้องต้นว่า จักให้ฌานดำรงอยู่ชั่วขณะประมาณเท่านั้นเท่านี้ ชื่อว่า อธิฏฐานวสี ฉันใด ความสามารถในการออกจากฌานด้วยอำนาจบริกรรม
(หน้าที่ 261)
เบื้องต้นว่า เราอยู่ในฌานจักออกจากฌานชั่วขณะประมาณเท่านั้น นักศึกษาพึงทราบว่าเป็น วุฏฐานวสี ฉันนั้น
เพื่อที่จะแสดงวสีทั้ง 2 คืออธิฏฐานวสีกับวุฏฐานวสีให้แจ่มแจ้ง ควรนำเรื่องพระพุทธรักขิตเถระมาเล่าประกอบด้วย ดังต่อไปนี้ –
เรื่องพระพุทธรักขิตเถระ ได้ยินมาว่า ท่านพุทธรักขิตเถระนั้น จำเดิมแต่อุปสมบทมาได้ 8 พรรษาขณะที่ท่านนั่งอยู่ ณ ท่ามกลางพระเถระผู้ทรงฤทธิ์ทั้งหลายประมาณ 30 พันองค์ ซึ่งพากันมายังที่เยี่ยมไข้ของพระมหาโรหณคุตตเถระที่เถรัมพัตถลวิหาร ท่านได้เหลียวเห็นพระญาครุฑกำลังโฉบลงมาจากอากาศ ด้วยหมายว่าจักเฉี่ยวเอาพญานาคผู้อุปัฏฐาก ซึ่งกำลังถวายข้าวต้มแก่พระเถรอยู่ ท่านจึงนิรมิตภูเขาขึ้นในทันใดนั้น แล้วฉวยเอาพญานาคมาไว้ในระหว่างแขนแล้วไส่เข้าไปในหลืบภูเขาที่ท่านนิรมิตขึ้นนั้น ฝ่ายพญาครุฑกระทบเข้ากับภูเขาเข้าปังใหญ่แล้วก็บินหนีไป พระมหาโรหณคุตตเถระจึงได้พูดสรรเสริญว่า "อาวุโสทั้งหลาย ถ้ามิได้มีพระภิกษุพุทธรักขิตะแล้ว เราทั้งหมดจะถูกครหาว่า 'ผู้มีฤทธิ์มากมายถึงเพียงนี้ ไม่สามารถรักษาอุปัฏฐากเพียงคนเดียวให้รอดพ้นจากครุฑได้' ฉะนี้"
5. อธิบาย ปัจจเวกขณวสี ส่วนปัจจเวกขณวสีนั้น เป็นอันข้าพเจ้าได้แสดงไว้แล้วในอาวัชชนวสีนั้นแล้วเพราะปัจจเวกขณชวนะ 4 หรือ 5 ขณะนั้น ย่อมเกิดขึ้นติดต่อมโนทวาราวัชชนะในวิถีจิตเดียวกันนั้น กล่าวคือ ชวนจิต 4 หรือ 5 ขณะเหล่าใดซึ่งเกิดขึ้นต่อจากมโนทวาราวัชชนจิตที่ทำหน้าที่พิจารณาองค์ฌานมีวิตกเป็นต้นไปตามลำดับโดยความเป็นอาวัชชนวสี ชวนจิตเหล่านั้น ก็ทำหน้าที่พิจารณาองค์ฌานเหล่านั้น โดยความเป็น ปัจจเวกขณวสี ด้วย นักศึกษาพึงทราบว่าความสำเร็จเป็นอาวัชชนวสีด้วยอารมณ์ใด ความสำเร็จเป็นปัจจเวกขณวสีก็ด้วยอารมณ์นั้น ด้วยประการฉะนี้
(หน้าที่ 262)
ได้ทุติยฌาน
ก็แหละ โยคีบุคคลผู้มีวสีอันได้สั่งสมดีแล้วในวสี 5 ประการเหล่านี้ ออกจากปฐมฌานที่ทำให้คล่องแคล่วดีแล้ว แต่นั้นพิจารณาเห็นโทษในปฐมฌานนั้นว่า สมาบัตินี้ยังใกล้ต่อนิวรณ์อันเป็นข้าศึก เพราะเพิ่งละนิวรณ์ได้เป็นครั้งแรก และว่า สมาบัตินี้มีองค์อันทุรพลเพราะวิตกและวิจารเป็นสภาพที่หยาบ ฉะนี้แล้วพึงมนสิการถึง ทุติยฌาน โดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในปฐมฌานแล้วพึงลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุซึ่งทุติยฌานต่อไป
แหละการใด เมื่อโยคีบุคคลนั้นออกจากปฐมฌาน มีสติสัมปชัญญะพิจารณาถึงองค์ฌานอยู่นั้น วิตกและวิจารย่อมจะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบ ปีติ, สุข และเอกัคคตาย่อมจะปรากฏโดยเป็นสภาพที่ละเอียด กาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแล อย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่า ปถวี - ปถวี หรือ ดิน - ดิน ฉะนี้ เพื่อละเสียซึ่งองค์ฌานที่หยาบ และให้ได้มาซึ่งองค์ฌานที่ละเอียดอยู่นั้น มโนทวาราวัชชนจิต ทำปถวีกสิณนั้นนั่นแลให้เป็นอารมณ์ตัดภวังคจิตเกิดขึ้น เหมือนจะบอกให้รู้ว่า ทุติยฌานจักเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้แล้ว ต่อแต่นั้น ชวนจิตก็จะแล่นไปในอารมณ์นั้นนั่นแหละ 4 ขณะบ้าง 5 ขณะบ้าง (ตามควรแก่โยคีที่เป็นติกขบุคคลและมันทบุคคล) บรรดาชวนจิตเหล่านั้น ดวงสุดท้าย 1 ดวงเป็น รูปาวจรกุศลจิตทุติยฌาน ดวงที่เหลือนอกนี้เป็น กามาวจรกุศลจิต เหมือนดังที่กล่าวมาแล้วในปฐมฌานนั้นทุกประการ
ส่วนประกอบ 4 เมื่อได้อัปปนา
ก็แหละ ด้วยลำดับแห่งภาวนาวิธีมีประมาณเท่านี้ เป็นอันว่าโยคีบุคคลนั้นมีส่วนประกอบดังนี้:
- วิตกและวิจารสงบไปแล้ว สมาธิภายใน จึงปลอดโปร่ง เหลือเพียงสมาธิอย่างเดียว ไม่เหลือวิตกและวิจาร เข้าทุติยฌานที่มีแค่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ (องค์ฌาน 3)
- ละองค์ 2 และประกอบด้วยองค์ 3
- มีความงาม 3 และสมบูรณ์ด้วยลักษณะ 10
- ได้บรรลุทุติยฌานมีปถวีกสิณเป็นอารมณ์
(หน้าที่ 263)
ส่วน 1 องค์ฌาน 3 (วิตกและวิจารสงบไปแล้ว เป็นต้น)
ในคำว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไป นั้น มีอรรถาธิบายว่า - เพราะองค์ฌานทั้ง 2 คือวิตกและวิจารนี้สงบไป คือ เพราะก้าวล่วงวิตกและวิจารทั้ง 2 ไป ได้แก่ เพราะไม่มีวิตกและวิจารทั้ง 2 ปรากฏในขณะแห่งทุติยฌาน
ในฌานทั้ง 2 นั้น ถึงแม้ว่าธรรมที่มีในปฐมฌานแม้ทุก ๆ อย่าง จะไม่มีในทุติยฌาน เพราะเจตสิกธรรมทั้งหลายเช่นผัสสะเป็นต้นในปฐมฌานก็เป็นอย่างหนึ่ง ในทุติยฌานนี้ก็เป็นอย่างหนึ่ง ก็ตาม แต่กระนั้น การบรรลุฌานอื่น ๆ จากปฐมฌานขึ้นไปเช่นทุติยฌานเป็นต้นย่อมมีได้เพราะผ่านองค์ฌานที่หยาบ ๆ ไป ดังนั้น นักศึกษาพึงทราบว่า เพื่อที่จะแสดงความหมายดังอธิบายมานี้ ท่านจึงกล่าวว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไป ด้วยประการฉะนี้
อธิบายเป็นภายใน คำว่า เป็นภายใน ณ ที่นี้ หมายเอาภายในที่เกิดในตน ส่วนในคัมภีร์วิภังคปกรณ์ พุทธองค์ทรงแสดงไว้เพียงสั้น ๆ ว่า คำว่า เป็นภายใน คือเป็นไปเฉพาะตน และเพราะในคำว่า เป็นภายใน นี้ ประสงค์เอาภายในที่เกิดในตน ฉะนั้น จึงมีอรรถาธิบายว่า เกิดแล้วแก่ตนอย่างหนึ่ง บังเกิดในสันดานตนอย่างหนึ่ง ฉะนี้
อธิบาย สมฺปสาทนํ ประด้วยความเลื่อมใส คำว่า ประกอบด้วยความเลื่อมใส นั้น มีอรรถาธิบายว่า – ศรัทธา เรียกว่า ความเลื่อมใส แม้ฌานก็เรียกว่าความเลื่อมใส เพราะประกอบด้วยความเลื่อมใส เหมือนที่เรียกว่า ผ้าเขียว เพราะประกอบด้วยสีเขียว ฉะนี้
อธิบาย สมฺปสาทนํ ทำจิตให้เลื่อมใส อีกประการหนึ่ง เพราะฌานนั้นทำให้จิตเลื่อมใส โดยเหตุที่ประกอบด้วย ความเลื่อมใส และโดยเหตุที่สงบเสียได้ซึ่งความวุ่นวายเพราะวิตกและวิจาร ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สมฺปสาทนํ แปลว่า ทำให้จิตเลื่อมใส แหละในอรรถวิกัปนี้ พึงทราบถึงการ
(หน้าที่ 264)
เชื่อมบทเข้าด้วยกันอย่างนี้คือ สมฺปทาทนํ เจตโส แปลว่า ทำจิตให้เลื่อมใส ส่วนในอรรถวิกัปต้นต้องยกเอาบทว่า เจตโส ไปประกอบเข้ากับบทว่า เอโกทิภาวํ เป็น เจตโส เอโกทิภาวํ แปลว่า เป็นภาวะที่ให้สมาธิชั้นเอกเกิดขึ้นแก่ใจ
อธิบาย เอโกทิภาวํ ในบทว่า เอโกทิภาวํ นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ - สมาธิใดเป็นเอกเกิดขึ้น ฉะนั้น สมาธินั้นชื่อว่า เอโกทิ แปลว่า เป็นเอกเกิดขึ้น อธิบายว่า เป็นธรรมล้ำเลิศ เป็นธรรมประเสริฐเกิดขึ้น เพราะไม่ถูกวิตกและวิจารขึ้นครอบงำ จริงอยู่ บุคคลรู้ประเสริฐ เขาก็เรียกกันว่าเป็นเอกในโลก หรือจะพูดว่า สมาธิเป็นเอกคือไม่มีเพื่อน เพราะเว้นจากวิตกและวิจาร ฉะนี้บ้างก็ได้
อีกประการหนึ่ง สมาธิโดยยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้น คือให้ตั้งขึ้น ฉะนั้น สมาธินั้นชื่อว่า อุทิ แปลว่า สภาพที่ยังสัมปยุตธรรมให้เกิดขึ้น สมาธิที่เป็นเอกเพราะอรรถว่าประเสริฐนั้นด้วย ทำให้สัมปยุตธรรมเกิดขึ้นด้วย ฉะนั้นจึงชื่อว่า เอโกทิ แปลว่า สมาธิชั้นเอกและทำให้สัมปยุตธรรมเกิดขึ้นได้ คำว่า เอโกทิ นี้เป็นชื่อของสมาธิ ทุติยฌานนี้ ชื่อว่า เอโกทิภาวํ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ทำสมาธิที่ชื่อว่าเอโกทินี้ให้เกิดขึ้น คือทำให้เจริญขึ้น ด้วยประการฉะนี้
อนึ่ง เพราะสมาธิที่ชื่อว่า เอโกทิ นี้นั้น เป็นสมบัติของใจ มิใช่ของสัตว์ มิใช่ของชีวะ ฉะนั้นท่านจึงแสดงไว้ว่า เจตโส เอโกทิภาวํ ดังนี้ แปลว่า ทุติยฌานเป็นภาวะที่ทำสมาธิชื่อเอโกทิให้เจริญขึ้นแก่ใจ
ถาม - แม้ในปฐมฌาน ก็มีศรัทธานี้ด้วย มีสมาธิที่ชื่อว่าเอโกทินี้ด้วยแล้วใช่หรือเมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมท่านจึงกล่าวเฉพาะทุติยฌานนี้เท่านั้นว่า ทำจิตให้เลื่อมใส เป็นภาวะที่ทำสมาธิชื่อเอโกทิให้เจริญขึ้น ฉะนี้เล่า ?
ตอบ - ก็ปฐมฌานนั้นยังไม่ผ่องใสดีนัก โดยเหตุที่ยังวุ่นวายอยู่เพราะวิตกและวิจาร เปรียบเหมือนน้ำที่ถูกรบกวนอยู่ด้วยละลอกและลูกคลื่นฉะนั้น เพราะฉะนั้น ถึงแม้ศรัทธาจะมีอยู่ก็ตาม ท่านก็ไม่แสดงว่า สมฺปสาทนํ ทำจิตให้เลื่อมใส และเพราะเหตุที่ยัง
(หน้าที่ 265)
ผ่องใสไม่ดีนั่นเอง แม้สมาธิในปฐมฌานนั้นจึงยังไม่เด่นชัดดี เพราะเหตุนั้น ท่านจึงไม่แสดงว่า เอโกทิภาวํ เป็นภาวะที่ทำสมาธิชื่อเอโกทิให้เจริญขึ้น
ส่วนในทุติยฌานนี้ ศรัทธาได้โอกาสและมีกำลังมาก เพราะเหตุไม่มีเครื่องกังวลคือวิตกและวิจารรบกวน และแม้สมาธิเล่าก็เด่นชัดเพราะเหตุที่ได้เพื่อนคือศรัทธาอันมีกำลัง เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงเช่นนี้เฉพาะทุติยฌานนี้เท่านั้น นักศึกษาพึงเข้าใจความหมาย ฉะนี้
ในส่วนคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้เพียงว่า ความเชื่อ ความเชื่อฟัง ความหยั่งใจลงเชื่อ ความเลื่อมใสยิ่ง อันใด นี้ชื่อว่า ความเลื่อมใส ความตั้งอยู่แห่งจิต…….ความตั้งมั่นโดยชอบแห่งจิต อันใด นี้ชื่อว่า ภาวะที่ทำสมาธิ ชื่อเอโกทิให้เจริญขึ้นแก่จิต และการพรรณนาความนี้ย่อมไม่ผิดกับพระบาลีในคัมภีร์วิภังค์ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้แล้วอย่างนั้น คือย่อมเทียบกันได้ ย่อมเข้ากันได้ด้วยประการใด นักศึกษาพึงทราบด้วยประการนั้นเทอญ
อธิบายไม่มีวิตกไม่มีวิจาร คำว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร นั้น มีอรรถาธิบายว่า - วิตกไม่มีในทุติยฌานนี้ หรือวิตกไม่มีแก่ทุติยฌานนี้ เพราะเหตุที่ละได้แล้วด้วยภาวนา เพราะเหตุนั้น ทุติยฌานนี้ จึงชื่อว่า อวิตกฺกํ แปลว่าไม่มีวิตก คำว่า วิจาร ก็มีอรรถวิเคราะห์โดยทำนองเดียวกันนี้แล
แม้ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงไว้ว่า วิตกนี้ด้วย วิจารนี้ด้วย เป็นสภาพสงบแล้ว ระงับแล้ว สงบด้วยดีแล้ว ถึงภาวะที่ตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว ถึงภาวะที่ตั้งอยู่ไม่ได้แน่แล้ว ถึงภาวะที่พินาศไปแล้ว ถึงภาวะที่พินาศแน่แล้ว เหือดแห้งไปแล้ว เหือดแห้งแน่แล้ว ถูกทำให้หมดที่สุดแล้ว ฉะนี้ เพราะฉะนั้น ทุติยฌานนี้จึงเรียกว่า ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร
ในอธิการนี้ จะมีผู้กล่าวติงขึ้นว่า - แม้ด้วยคำว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไป นี้ก็เป็นอันสำเร็จความหมายนี้แล้วมิใช่หรือ เออก็เหตุไฉนจึงทรงแสดงว่า ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร ฉะนี้ ซ้ำอีกเล่า ?
(หน้าที่ 266)
ข้าพเจ้าจะวิสัชนาต่อไป- ข้อนี้เป็นอย่างนั้นจริง ความหมายนี้ก็สำเร็จแล้วจริงแต่คำว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไป นี้ มิได้บ่งถึงความหมายที่ว่า ไม่มีวิตกและวิจาร นั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วไม่ใช่หรือว่า การบรรลุฌานขั้นอื่น ๆ จากปฐมฌานขึ้นไป เช่นทุติยฌานเป็นต้น ย่อมมีได้เพราะการผ่านองค์ฌานที่หยาบ ๆ ไป ดังนั้น เพื่อที่จะทรงแสดงความหมายดังอธิบายมานี้ จึงตรัสว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไป ด้วยประการฉะนี้
อีกประการหนึ่ง คำว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไป นี้ เป็นเครื่องแสดงถึงเหตุแห่งความเลื่อมใสและภาวะที่ทำสมาธิชั้นเอกให้เจริญขึ้นของทุติยฌานอย่างนี้ว่า ทุติยฌานนี้ ชื่อว่าประกอบด้วยความเลื่อมใส เพราะเหตุที่วิตกและวิจารสงบไป มิใช่เพราะเหตุที่กิเลสซึ่งเกิดฟุ้งขึ้นตามกาลสงบไป และที่ชื่อว่า เป็นภาวะที่ทำสมาธิชั้นเอกให้เจริญขึ้น เพราะเหตุที่วิตกและวิจารสงบไป มิใช่เพราะเหตุที่ประหานนิวรณ์เหมือนอุปจารฌาน และมิใช่เพราะเหตุที่องค์ฌานปรากฏเด่นชัดเหมือนปฐมฌาน
และอีกอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องแสดงถึงเหตุภาวะที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจารอย่างนี้ว่า ทุติยฌานนี้ ชื่อว่าไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะเหตุที่วิตกและวิจารสงบไป มิใช่เพราะเหตุที่วิตกวิจารไม่มีมาแต่เดิม เหมือนอย่างตติยฌานและจตุถฌาน และเหมือนอย่างทวิปัญญจวิญญาน เช่นจักขุวิญญานเป็นต้น แต่ไม่ใช่เป็นเครื่องแสดงถึงแต่เพียงสักว่าความไม่มีแห่งวิตกและวิจาร ส่วนคำว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร นี้ เป็นเครื่องแสดงถึงแต่เพียงสักว่าความไม่มีแห่งวิตกและวิจารเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะได้ทรงแสดงมาแล้วตอนต้นว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไป ก็จำที่จะต้องทรงแสดงว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ซ้ำอีกนั่นเทียว
อธิบายบทว่า สมาธิชํ (เกิดแต่สมาธิ) เป็นต้น
คำว่า สมาธิชํ (เกิดจากสมาธิ) อธิบายว่า ฌานจิตตุปบาททั้งที่เกิดจากปฐมฌานสมาธิหรือที่เกิดจากทุติยฌานสัมปยุตตสมาธิ ก็ล้วนเกิดจากสมาธิ. ใน 2 อย่างนั้น แม้ปฐมฌานจิตตุปบาทที่เกิดจากปฐมฌานสัมปยุตสมาธิจะมีอยู่ก็จริง, แต่ทุติยฌานสมาธิ(ที่ทำให้เกิดทุติยฌานจิตตุปบาท)นี่เองที่เรียกว่าสมาธิได้เต็มที่ เพราะไม่หวั่นไหวเกินไป และมีความปลอดโปร่งเป็นอย่างดีเนื่องจากไม่มีวิตกวิจารแล้วนั่นเอง, ดังนั้น จึงตรัสคำว่า "สมาธิชํ (เกิดแต่สมาธิ)" ไว้ในทุติยฌานจิตตุปบาทนี้เท่านั้น เพื่อกล่าวยกย่องสมาธิของทุติยฌานจิตตุปบาทด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้.
(หน้าที่ 267)
คำว่า ปีติและสุข นั้น มีนัยดังพรรณนามาแล้วในปฐมฌานนั่นเทียว
คำว่า ฌานที่ 2 อธิบายว่า ที่ชื่อว่า 2 เพราะเป็นลำดับแห่งการคำนวณฌานนี้ชื่อว่าเป็นที่ 2 เพราะเหตุที่โยคีบุคคลย่อมเข้าเป็นอันดับที่ 2 ดังนี้ก็ได้ ฌานนี้เกิดขึ้นเป็นอันดับที่ 2 แม้เพราะเหตุนั้นจึงกล่าวว่า ฌานที่ 2 ดังนี้ก็ได้
ส่วน 2 ละองค์ 2 และประกอบด้วยองค์ 3
ก็แหละ ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วว่า ทุติยฌานละองค์ 2 ประกอบด้วยองค์ 3 นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ –
ที่ว่า ทุติยฌานละองค์ 2 นั้น นักศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจแห่งการละซึ่ง วิตก 1 วิจาร 1 แหละโยคีบุคคลย่อมละนิวรณ์ทั้งหลายในขณะอุปจาระของปฐมฌาน ฉันใดหาได้ละวิตก และวิจารในขณะอุปจาระของทุติยฌานนี้เหมือนอย่างนั้นไม่ แต่ทุติยฌานนี้ย่อมเกิดโดยปราศจากวิตกและวิจารทั้ง 2 ในขณะแห่งอัปปนานั่นเทียว ด้วยเหตุนั้น วิตกและวิจารทั้ง 2 นั้น ท่านจึงกล่าวว่า เป็นองค์สำหรับละของทุติยฌานนั้น
อธิบาย ทุติยฌานประกอบด้วยองค์ 3 ส่วนที่ว่า ทุติยฌานประกอบด้วยองค์ 3 นั้น นักศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจความเกิดขึ้นแห่งองค์ 3 เหล่านี้ คือ ปีติ 1 สุข 1 จิตเตกัคคตา 1 เพราะฉะนั้น พระพุทธวจนะใดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในคัมภีร์วิภังค์ว่า คำว่า ฌาน ได้แก่ ความเลื่อมใส, ความเอิบอิ่ม, ความสุข, และภาวะที่จิตมีอารมณ์อันเดียว ดังนี้ พระพุทธวจนะนั้น พระพุทธองค์ทรงเทศนาไว้โดยอ้อม เพื่อจะทรงชี้ถึงฌานพร้องทั้งเครื่องปรุงแต่งด้วย แต่เมื่อว่าโดยตรงแล้ว ทุติยฌานนี้ย่อมประกอบด้วยองค์ 3 เท่านั้น ด้วยอำนาจแห่งองค์ที่ถึงซึ่งลักษณะที่เพ่งได้ โดยยกเว้นความเลื่อมใสเสีย สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ฌานที่ประกอบด้วยองค์ 3 นั้น คือ ปีติ 1 สุข 1 จิตเตกัคคตา 1 ฉะนี้
คำที่เหลือมีนัยดังพรรณนามาแล้วในปฐมฌานนั่นแล
(หน้าที่ 268)
ได้ตติยฌาน
ก็แหละ ครั้นได้บรรลุทุติยฌานแม้นั้นด้วยประการฉะนี้แล้ว โยคีบุคคลผู้มีวสีอันได้สั่งสมดีแล้วด้วยอาการ 5 อย่าง โดยนัยที่กล่าวแล้วในปฐมฌานนั่นแล ออกจากทุติยฌานที่คล่องแคล่วดีแล้ว แต่นั้นพิจารณาเห็นโทษในทุติยฌานนั้นว่า สมาบัตินี้ ยังใกล้ต่อวิตกและวิจารอันเป็นข้าศึก และว่า สมาบัตินี้มีองค์อันทุรพล เพราะเป็นสภาพที่หยาบด้วยปีติที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ปีติในทุติยฌานนั้นใดทำใจให้กำเริบ ทุติยฌานนั้นจึงปรากฏเป็นสภาพที่หยาบเพราะปีตินั้น ฉะนี้แล้ว พึงมนสิการถึงตติยฌานโดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในทุติยฌานแล้ว พึงลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุซึ่งตติยฌานต่อไป
แหละกาลใด เมื่อโยคีบุคคลออกจากทุติยฌานแล้ว มีสติมีสัมปชัญญะพิจารณาองค์ฌานอยู่นั้น ปีติก็จะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบ สุขกับเอกัคคตาจะปรากฏเป็นสภาพที่ละเอียด กาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแล อย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่า ปถวี – ปถวี หรือ ดิน - ดิน เพื่อละเสียซึ่งองค์ฌานที่หยาบและให้ได้มาซึ่งองค์ฌานที่ละเอียดอยู่นั้น มโนทวาราวัชชนจิต ก็จะตัดภวังคจิตเกิดขึ้น เหมือนจะเตือนให้รู้ว่า ตติยฌาน จักเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้แล้ว ถัดนั้น ในอารมณ์ปถวีกสิณนั้นนั่นแล ชวนจิตก็แล่นไป 4 ขณะบ้าง 5 ขณะบ้าง (ตามควรแก่โยคีบุคคลที่เป็นติกขบุคคลและมันทบุคคล) บรรดาชวนจิต 4 หรือ 5 ขณะนั้น ดวงหนึ่ง สุดท้ายเขาเป็น รูปาวจรกุศลจิตขั้นตติยฌาน ส่วน 3 หรือ 4 ดวงที่เหลือข้างต้นเป็น กามาวจรกุศลจิต ตามนัยที่กล่าวแล้วในทุติยฌานนั่นแล
ส่วนประกอบ 4 เมื่อได้อัปปนา
ก็แหละ ด้วยลำดับแห่งภาวนาวิธีมีประมาณเท่านี้ เป็นอันว่าโยคีบุคคลนั้นมีส่วนประกอบดังนี้:
- ละปีติได้ อยู่อย่างมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเป็นผู้เสวยสุขอยู่ด้วยนามกายที่พระอริยเจ้าสรรเสริญว่า "เป็นผู้มีอุเบกขามีสติเสวยสุขอยู่" เข้าตติยฌานอยู่ (องค์ฌาน 2)
- ละองค์ 1 และประกอบด้วยองค์ 2
- มีความงาม 3 และสมบูรณ์ด้วยลักษณะ 10
- ได้บรรลุตติยฌานมีปถวีกสิณเป็นอารมณ์
(หน้าที่ 269)
ส่วน 1 องค์ฌาน 2 (ละปีติได้ อยู่อย่างมีอุเบกขา เป็นต้น)
อธิบาย เพราะก้าวล่วงซึ่งปีติ บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า เพราะก้าวล่วงซึ่งปีติ มีอรรถาธิบายดังนี้ - ความเบื่อหน่าย หรือความก้าวล่วงซึ่งปีติอันมีประการดังกล่าวแล้ว ชื่อว่า วิราคะ แปลว่า ความก้าวล่วงปีติ ส่วน จ ศัพท์ระหว่างบททั้ง 2 คือ ปีติยา จ วิราคา หมายความว่า รวบรวม กล่าวคือ จ ศัพท์นั้นรวบรวมเอาซึ่งความสงบ หรือซึ่งความสงบไปแห่งวิตกและวิจาร ใน 2 อย่างนั้น คราวใด จ ศัพท์ รวมเอาความสงบแต่อย่างเดียว คราวนั้นนักศึกษาพึงทราบการเรียงเข้าประโยคดังนี้ ปีติยา จ วิราคา กิญฺจ ภิยฺโย วูปสมา จ แปลว่า เพราะเบื่อหน่ายปีติ และเพราะความสงบโดยยิ่ง ๆ ขึ้นไป และในการเรียงประโยคเช่นนี้ วิราค ศัพท์ แปลว่า ความเบื่อหน่าย เพราะฉะนั้นพึงทราบความหมายว่า เพราะเบื่อหน่ายปีติและความสงบ ฉะนี้
แต่คราวใด จ ศัพท์ รวมเอาความสงบแห่งวิตกและวิจารด้วย คราวนั้น นักศึกษาพึงทราบการเรียงเข้าประโยคดังนี้ ปีติยา จ วิราคา, กิญฺจ ภิยฺโย วิตกฺกวิจารานญฺจ วูปสมา ซึ่งแปลว่า เพราะก้าวล่วงปีติไป และเพราะความสงบแห่งวิตกและวิจารโดยยิ่ง ๆ ขึ้นไป และในการเรียงเข้าประโยคเช่นนี้ วิราค ศัพท์ แปลว่าก้าวล่วง เพราะฉะนั้น พึงทราบความหมายว่า เพราะก้าวล่วงปีติไปและเพราะความสงบแห่งวิตกและวิจาร ฉะนี้
ถึงวิตกและวิจารทั้ง 2 นี้ได้สงบไปแล้วแต่ในทุติยฌานนั้นก็จริง แต่ที่ท่านนำมาแสดงไว้อีกก็เพื่อที่จะประกาศแนวทางอันเป็นอุบายของตติยฌานนี้ และเพื่อจะสรรเสริญคุณของตติยฌานนี้ จริงทีเดียว เมื่อพรรณนาว่า เพราะความสงบไปแห่งวิตกและวิจาร ฉะนี้ ตติยฌานนี้ย่อมปรากฏเด่นชัด ความสงบไปแห่งวิตกและวิจาร จึงเป็นแนวทางของตติยฌานนี้อย่างแน่นอน เหมือนอย่างในอริยมรรคที่ 3 (อนาคามิมรรค) ท่านพรรณนาถึงการประหานสัญโญชน์ทั้งหลายแม้ที่ไม่ได้ประหานมีสักกายทิฏฐิเป็นต้นว่า เพราะประหานสัญโญชน์เบื้องต่ำ 5 ประการ ฉะนี้ ก็เป็นการสรรเสริญคุณอริยมรรคที่ 3 นั้น คือ
(หน้าที่ 270)
เป็นการยังความอุตสาหะให้เกิดแก่ผู้ขวนขวายเพื่อจะบรรลุอริยมรรคที่ 3 นั้น ฉันใด ความสงบไปแห่งวิตกและวิจารแม้ที่ไม่ได้สงบ ซึ่งท่านพรรณนาในตติยฌานนี้ ก็เป็นอันสรรเสริญคุณแห่งตติยฌานนี้ฉันนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น จึงได้ทรงแสดงความหมายว่า เพราะการก้าวล่วงปีติไปและเพราะความสงบไปแห่งวิตกและวิจาร ด้วยประการฉะนี้
อธิบาย เป็นผู้เห็นเสมอกันอยู่ ในคำว่า เป็นผู้เห็นเสมอกันอยู่ นี้ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ - ธรรมชาติใดย่อมเห็นโดยกำเนิด คือเห็นเสมอกัน เห็นไม่ตกไปในฝ่าย ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า อุเปกฺขา โยคีบุคคลผู้เข้าอยู่ในตติยฌาน เรียกว่า อุเปกฺขโก ผู้เห็นเสมอกัน เพราะประกอบด้วยอุเบกขานั้น อันบริสุทธิ์ อันยิ่งใหญ่ ถึงซึ่งความมั่นคง
อุเบกขา 10
ก็แหละ อุเบกขานั้นมี 10 ประการ คือ
1. ฉฬังคุเปกขา อุเบกขาประกอบด้วยองค์ 6
2. พรหมวิหารุเปกขา อุเบกขาพรหมวิหาร
3. โพชฌังคุเปกขา อุเบกขาสัมโพชฌงค์
4. วีริยุเปกขา อุเบกขาคือวิรียะ
5. สังขารุเปกขา อุเบกขาในสังขาร
6. เวทนูเปกขา อุเบกขาเวทนา
7. วิปัสสนูเปกขา อุเบกขาในวิปัสสนา
8. ตัตรมัชฌัตตุเปกขา อุเบกขาเจตสิก
9. ฌานุเปกขา อุเบกขาในฌาน และ
10. ปาริสุทธุเปกขา อุเบกขาบริสุทธิ์จากข้าศึก
1. อธิบาย ฉฬังคุเปกขา ในอุเบกขา 10 ประการนั้น อุเบกขาของพระขีณาสพอันใด คืออาการที่ไม่ละปกติ ภาวะอันบริสุทธิ์ ในคลองแห่งอารมณ์ 6 ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ในทวาร
(หน้าที่ 271)
ทัง 6 ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพในศาสนานี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่ดีใจ ย่อมไม่เสียใจ เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะเห็นเสมอกันอยู่ อุเบกขานี้ชื่อว่า ฉฬังคุเปกขา
2. อธิบาย พรหมวิหารุเปกขา อุเบกขาอันใด คืออาการอันเป็นกลาง ๆ ในสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุมีจิตประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปทางทิศหนึ่งอยู่ อุเบกขานี้ชื่อว่า พรหมวิหารุเปกขา
3. อธิบาย โพชฌังคุเปกขา อุเบกขาอันใด คืออาการอันเป็นกลาง ๆ ในสหชาตธรรมทั้งหลาย ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุย่อมยังอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อันอาศัยนิพพานให้เกิดขึ้น อุเบกขานี้ชื่อว่า โพชฌังคุเปกขา
4. อธิบาย วีริยุเปกขา อุเบกขาอันใด กล่าวคือความเพียรที่ไม่ตึงเครียดเกินไป และที่ไม่หย่อนยานเกินไป ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้โยคีบุคคล ย่อมมนสิการถึงอุเบกขานิมิตตลอดกาลโดยกาล อุเบกขานี้ชื่อว่า วีริยุเปกขา
5. อธิบาย สังขารุเปกขา อุเบกขาอันใด ที่พิจารณาข้าศึกมีนิวรณ์เป็นต้นโดยสภาวะแล้วจึงลงความเห็น ซึ่งมีอาการเป็นกลาง ๆ ในการยึดถือสังขาร อันมาแล้วอย่างนี้ว่า สังขารุเปกขาทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งสมถะมีเท่าไร ? สังขารุเปกขาทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนามีเท่าไร ? สังขารุเปกขาทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะมี 8 สังขารุเปกขาเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนามี 10 อุเบกขานี้ชื่อว่า สังขารุเปกขา
(หน้าที่ 272)
6. อธิบาย เวทนูเปกขา อุเบกขาอันใด ที่รู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข (คือเฉย ๆ) ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า สมัยใดกามาวจรกุศลจิตอันประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาเกิดขึ้น อุเบกขานี้ชื่อว่า เวทนูเปกขา
7. อธิบาย วิปัสสนูเปกขา อุเบกขาอันใด คือความเป็นกลาง ๆ ในการพิจารณา ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ขันธ์ 5 ใดมีอยู่ ขันธ์ 5 ใดปรากฏชัด โยคีบุคคลย่อมละขันธ์ 5 นั้น ย่อมได้อุเบกขาในขันธ์ 5 นั้น อุเบกขานี้ชื่อว่า วิปัสสนูเปกขา
8. อธิบาย ตัตรมัชฌัตตุเปกขา อุเบกขาอันใด ที่ยังสหชาตธรรมทั้งหลายให้เป็นไปเสมอกัน ซึ่งมาแล้วในเยวาปนกธรรมทั้งหลายมีฉันทะเป็นต้น อุเบกขานี้ชื่อว่า ตัตรมัชฌัตตุเปกขา
9. อธิบาย ฌานุเปกขา อุเบกขาอันใด ที่ไม่ให้เกิดความเอนเอียงไปในฝ่าย แม้ในฝ่ายสุขอันเลิศนั้นก็ตาม ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า และเป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะเห็นเสมอกันอยู่ อุเบกขานี้ชื่อว่า ฌานุเปกขา
10. อธิบาย ปาริสุทธุเปกขา แหละอุเบกขาอันใดที่บริสุทธิ์จากข้าศึกทั้งปวงมีนิวรณ์และวิตกวิจารเป็นต้น มีอันไม่ขวนขวายแม้ในการสงบแห่งธรรมอันเป็นข้าศึก เพราะธรรมอันเป็นข้าศึกเหล่านั้นสงบไปแล้ว ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า จตุตถฌาน อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อุเบกขานี้ชื่อว่า ปาริสุทธุเปกขา
อุเบกขา 6 ความหมายเหมือนกัน ในบรรดาอุเบกขา 10 ประการนั้น อุเบกขา 6 ประการเหล่านี้คือ ฉฬังคุเบกขา 1 พรหมวิหารุเบกขา 1 โพชฌังคุเบกขา 1 ตัตรมัชฌัตตุเบกขา 1 ฌานุเบกขา 1 และปาริ
(หน้าที่ 273)
สุทธุเบกขา 1 โดยใจความเป็นอย่างเดียวกัน คือเป็นตัตรมัชฌัตตุเบกขานั่นเอง แต่ความต่างกันแห่งอุเบกขานั้นนี้ ย่อมมีด้วยความต่างแห่งอวัตถานนั้น ๆ เช่นเดียวกับความต่างกันแม้แห่งบุคคลคนเดียว ย่อมมีได้ด้วยอำนาจแห่งความเป็นเด็ก, เป็นหนุ่ม, เป็นผู้ใหญ่, เป็นเสนาบดี และเป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นต้น เพราะเหตุนั้นนักศึกษาพึงทราบว่า ในบรรดาอุเบกขา 6 ประการนั้น ฉฬังคุเบกขามี ณ ที่ใด ณ ที่นั้นย่อมไม่มีโพชฌังคุเบกขาเป็นต้น แหละหรือ โพชฌังคุเบกขา มี ณ ที่ใด ณ ที่นั้นย่อมไม่มีฉฬังคุเบกขาเป็นต้น
อุเบกขา 2 ความหมายเหมือนกัน แหละอุเบกขา 6 ประการนี้ โดยความหมายเป็นอย่างเดียวกัน ฉันใด แม้สังขารุเบกขากับวิปัสสนูเบกขา โดยความหมายก็เป็นอย่างเดียวกัน ฉันนั้นจริงอยู่ อุเบกขานั้น ก็คือปัญญานั่นเอง ที่แบ่งออกเป็น 2 ประการ ด้วยอำนาจทำหน้าที่ต่างกัน เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาไม้เท้าแพะแล้วค้นหางู ซึ่งเลื้อยเข้าไปในเรือนในเวลาเย็น ๆ ไปพบงูนั้นนอนซ่อนอยู่ในลังแกลบ ใคร่ครวญอยู่ว่าจะเป็นงูหรือมิใช่หนอ ครั้นเห็นลายดอกจัน 3 แฉกแล้วก็หมดสงสัย แต่นั้นย่อมเกิดความเป็นกลาง ๆ ในการพิจารณาที่ว่าจะเป็นงูหรือมิใช่งูนั้นฉันใด เมื่อโยคีบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่นั้น เห็นลักษณะทั้งสามของสังขารด้วยวิปัสสนาฌานแล้ว ความเป็นเฉย ๆ ในการพิจารณาว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้น ฉันนั้น ความเป็นเฉย ๆ นี้ชื่อว่า สังขารุเบกขา
แหละเมื่อบุรุษนั้น ใช้ไม้เท้าแพะกดงูไว้อย่างแน่นแล้ว ค้นคิดหาวิธีการที่จะปล่อยงูอยู่ว่า ทำอย่างไรเราจึงจะไม่เบียดเบียนงูนี้ให้ลำบากด้วย ไม่ให้มันกัดตัวเราด้วย แล้วปล่อยมันไปฉะนี้ ความเฉย ๆ ในการกดงูไว้นั้น ย่อมมี ฉันใด เมื่อโยคีบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่นั้น เห็นภพทั้งสามเป็นเหมือนถูกไฟเผา เพราะได้เห็นลักษณะทั้งสามของสังขาร ย่อมเกิดความเห็นเฉย ๆ ในการยึดถือสังขาร ฉันนั้นเหมือนกัน ความเห็นเฉย ๆ นี้ชื่อว่า สังขารุเบกขา
(หน้าที่ 274)
ด้วยประการฉะนี้ เมื่อ วิปัสสนูเบกขา สำเร็จแล้ว แม้ สังขารุเบกขา ก็ย่อมเป็นอันสำเร็จแล้วเหมือนกัน และอุเบกขานี้แบ่งออกเป็น 2 ประการ ด้วยการทำหน้าที่ คือความเฉย ๆ ในการพิจารณาและการยึดถือ ดังพรรณนามานี้
อุเบกขา 2 ความหมายต่างกัน ส่วน วีริยุเบกขา กับ เวทนูเบกขา 2 อย่างนี้ โดยความหมาย ต่างกันเองด้วย ต่างจากอุเบกขาทั้งหลายที่เหลือด้วย
อุเบกขาที่ประสงค์ ณ ที่นี้
บรรดาอุเบกขา 10 ประการนั้น ณ ที่นี้ประสงค์เอา ฌานุเบกขา เท่านั้น ฌานุเบกขานั้น มีความเป็นกลาง ๆ เป็นลักษณะ มีความไม่ห่วงใยเป็นรส มีความไม่ขวนขวายเป็นอาการปรากฏ มีความสร่างหายไปแห่งปีติเป็นปทัฏฐาน
หากจะมีผู้ท้วงติงว่า - ก็แหละ ฌานุเบกขา นี้ โดยความหมาย ก็คือ ตัตรมัชฌัตตุเบกขา นั่นเอง และตัตรมัชฌัตตุเบกขานั้นย่อมมีมาแม้แต่ในปฐมฌานและทุติยฌานแล้ว เพราะเหตุนั้น แม้ในปฐมฌานและทุติยฌานนั้น ก็ควรที่ต้องแสดงฌานุเบกขานี้ไว้ด้วยคำว่า อุเปกฺขโก จ วิหรติ ซึ่งแปลว่า เป็นผู้เห็นเสมอกันอยู่ แต่เหตุไฉน จึงไม่ทรงแสดง ฌานุเบกขา นั้นไว้เล่า ?
ข้าพเจ้าขอแถลงแก้ว่า - ที่ท่านไม่แสดง ฌานุเบกขา ไว้ในปฐมฌานและทุติยฌานนั้น เพราะฌานุเบกขายังไม่มีหน้าที่ปรากฏ จริงอยู่ หน้าที่ของฌานุเบกขาในปฐมฌานและทุติยฌานนั้นยังไม่ปรากฏ เพราะถูกข้าศึกทั้งหลายมีวิตกเป็นต้นกันท่าไว้ แต่ในตติยฌานนี้ ฌานุเบกขานี้เกิดมีหน้าที่ปรากฏชัด เป็นเสมือนโงศรีษะขึ้นมาแล้ว เพราะไม่มีวิตกและวิจารกันท่าแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงทรงแสดงไว้
อรรถาธิบายอย่างสิ้นเชิง ของคำว่า เป็นผู้เห็นเสมอกันอยู่
ยุติด้วยประการฉะนี้
อธิบาย ผู้มีสติมีสัมปชัญญะ บัดนี้ จะอรรถาธิบายในคำว่า เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะ ต่อไป - บุคคลใดย่อมระลึกได้ ฉะนั้น บุคคลนั้น ชื่อว่า ผู้ระลึกได้ คือผู้มีสติ บุคคลใดย่อมรู้โดยชอบ
(หน้าที่ 275)
ฉะนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า ผู้รู้โดยชอบ คือผู้มีสัมปชัญญะ พึงทราบว่า ท่านแสดงสติและสัมปชัญญะด้วยบุคคลาธิษฐาน
ในสติและสัมปชัญญะนั้น สติ มีความระลึกได้เป็นลักษณะ มีความไม่ลืมเป็นรส มีความอารักขาเป็นอาการปรากฏ สัมปชัญญะ มีความไม่หลงเป็นลักษณะ มีความไตร่ตรองเป็นรส มีความส่องเห็นเป็นอาการปรากฏ
จำปรารถนาสติและสัมปชัญญะ ในฌานเหล่านั้น ถึงแม้สติและสัมปชัญญะนี้จะมีมาแต่ในฌานต้น ๆ แล้วก็ตาม เพราะเหตุที่โยคีบุคคลเผลอสติไม่มีสัมปชัญญะนั้น แม้เพียงขั้นอุปจารฌานก็สำเร็จไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงขั้นอัปปนาฌานกันละ แต่กระนั้น การดำเนินไปของจิตก็เป็นความสะดวกสบาย เพราะฌานเหล่านั้นเป็นสภาพที่หยาบ เปรียบเหมือนการเดินไปบนพื้นแผ่นดินของบุรุษ และหน้าที่ของสติและสัมปชัญญะในฌานต้น ๆ นั้น ก็ยังไม่ปรากฏ ส่วนฌานนี้เพราะเป็นสภาพที่ละเอียด โดยเหตุที่ละองค์ฌานที่หยาบแล้ว จึงจำต้องปรารถนาการดำเนินไปของจิตที่มีสติและสัมปชัญญะ ทำหน้าที่ประคับประคองนั่นเทียว เปรียบเหมือนการเดินไปในคมมีดของบุรุษ เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงคำว่า เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะ ไว้แต่ในตติยฌานนี้เท่านั้น
เปรียบสุขเหมือนลูกโคติดแม่ พึงทราบอรรถาธิบายยิ่งขึ้นไปอีกสักเล็กน้อย เหมือนอย่างลูกโคที่ยังติดแม่โคนมอยู่ ถึงจะถูกพรากไปจากแม่โคนมแล้ว เมื่อไม่คอยระวังรักษาไว้ให้ดี มันก็จะวิ่งเข้าไปหาแม่โคนมอีกโดยทันที ฉันใด อันสุขในตติยฌานนี้ก็เหมือนกัน อันโยคีบุคคลพรากออกจากปีติแล้ว เมื่อไม่ได้รักษาไว้เป็นอย่างดีด้วยเครื่องอารักขาคือสติและสัมปชัญญะแล้ว มันก็จะพึงกลับเข้าไปหาปีติอีกโดยทันที คือพึงประกอบกับปีตินั่นเทียว ฉันนั้น
อีกประการหนึ่ง ถึงแม้ว่าสัตว์ทั้งหลายจะกำหนัดยินดีนักในสุข และสุขนี้เล่าก็เป็นสิ่งที่อร่อยยิ่งนักสำหรับสัตว์ทั้งหลาย เพราะนอกเหนือไปจากสุขนั้นแล้ว ก็ไม่มีสุขอะไร ถึง
(หน้าที่ 276)
กระนั้น ที่ในตติยฌานนี้ไม่มีความกำหนัดยินดีในสุข ก็ด้วยอานุภาพแห่งสติและสัมปชัญญะเท่านั้น มิใช่ด้วยเหตุอย่างอื่น เพราะฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบว่า ที่ทรงแสดงคำว่า เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ นี้ไว้เฉพาะแต่ในตติยฌานนี้ ก็เพื่อที่จะทรงชี้ถึงความหมายอันพิเศษกว่ากัน ดังที่พรรณนามานี้
อธิบาย เสวยสุขด้วยนามกาย บัดนี้ จะอรรถาธิบายในคำว่า และได้เสวยสุขด้วยนามกาย นี้ต่อไป –
โยคีบุคคลผู้เข้าอยู่ในตติยฌานย่อมไม่มีความพะวงในการเสวยสุขโดยแท้ แม้ถึงความจริงจะเป็นเช่นนี้ก็ตาม แต่เพราะเหตุที่สุขของโยคีบุคคลผู้เข้าอยู่ในตติยฌานนั้นประกอบอยู่กับนามกายประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง เพราะเหตุที่โยคีบุคคลนั้นถึงแม้จะออกจากฌานแล้วก็จะพึงได้เสวยสุข เพราะรูปกายของท่านอันรูปที่ประณีตยิ่งซึ่งมีสุขอันประกอบอยู่กับนามกายนั้นเป็นสมุฏฐานแผ่ซ่านไปทั่วแล้ว ดังนั้น เมื่อจะชี้ถึงซึ่งความหมายดังกล่าวนี้ จึงได้ทรงแสดงไว้ว่า และได้เสวยสุขด้วยนามกาย ฉะนี้
อธิบาย เป็นเหตุให้พระอริยเจ้าสรรเสริญผู้บรรลุว่า
เป็นผู้เห็นเสมอกันมีสติอยู่เป็นสุข
บัดนี้ จะอรรถาธิบายในคำว่า เป็นเหตุให้พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า เป็นผู้เห็นเสมอกันมีสติอยู่เป็นสุข ดังนี้ต่อไป –
ในคำนี้ นักศึกษาพึงทราบการเรียงเข้าประโยคอย่างนี้ คือ พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมตรัสบอก ย่อมทรงแสดง ย่อมทรงบัญญัติ ย่อมทรงตั้งไว้ ย่อมทรงเปิดเผย ย่อมทรงจำแนก ย่อมทรงทำให้ตื้น ย่อมทรงประกาศ คือย่อมทรงสรรเสริญ ซึ่งบุคคลผู้เข้าอยู่ในตติยฌานนั้น เพราะมีฌานใดเป็นเหตุ เพราะมีฌานใดเป็นการณ์
สรรเสริญว่าอย่างไร ? สรรเสริญว่า เป็นผู้เห็นเสมอกัน มีสติ อยู่เป็นสุข ฉะนี้
โยคีบุคคลนั้น บรรลุแล้วซึ่งฌานนั้น ได้แก่ตติยฌานอยู่
(หน้าที่ 277)
เหตุที่พระอริยเจ้าสรรเสริญ ถาม - ก็แหละ เพราะเหตุไร พระอริยเจ้าเหล่านั้นจึงสรรเสริญบุคคลผู้ได้บรรลุตติยฌานนั้นอย่างนี้ ?
ตอบ - เพราะเป็นผู้สมควรแก่การสรรเสริญ อธิบายว่า บุคคลผู้ได้บรรลุตติยฌานนี้ ย่อมเป็นบุคคลสมควรแก่การสรรเสริญนั้น เพราะเหตุที่เป็นผู้เฉย ๆในตติยฌานแม้อันเป็นสุขที่มีรสอร่อยอย่างยิ่ง ถึงซึ่งความเป็นยอดสุดแห่งความสุข และอันความติดสุขฉุดดึงเข้าไว้ในสุขนั้นไม่ได้ และปีติจะเกิดขึ้นไม่ได้ด้วยประการใดก็เป็นผู้มีสติตั้งมั่นอยู่ด้วยประการนั้น ดังนี้ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง เพราะเหตุที่ได้เสวยความสุขอันสะอาดด้วยนามกาย ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ที่อริยชนส้องเสพแล้ว
ด้วยประการฉะนี้ นักศึกษาพึงทราบว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายเมื่อจะประกาศคุณอันเป็นเหตุแห่งความสรรเสริญเหล่านั้น จึงได้สรรเสริญซึ่งบุคคลผู้ได้บรรลุตติยฌานนั้น โดยเป็นผู้สมควรแก่การสรรเสริญอย่างนี้ว่า เป็นผู้เห็นเสมอกันมีสติอยู่เป็นสุข ฉะนี้
อธิบาย ตติยฌาน คำว่า ตติยฌาน ที่แปลว่า ฌานที่ 3 นั้น มีอรรถาธิบายว่า - ฌานนี้ที่ชื่อว่า ตติยฌาน หรือที่ 3 เพราะเป็นลำดับแห่งการคำนวณ อีกอย่างหนึ่ง ฌานนี้ชื่อว่าเป็นที่ 3 เพราะเหตุที่โยคีบุคคลย่อมเข้าสู่เป็นอันดับที่ 3 ดังนี้ก็ได้
ส่วน 2 ละองค์ 1 และประกอบด้วยองค์ 2
ก็แหละ ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ละองค์ 1 ประกอบด้วยองค์ 2 นั้น มีอรรถาธิบายว่า - นักศึกษาพึงทราบว่าตติยฌานละองค์ 1 นั้น ด้วยอำนาจการละซึ่งปีติ แหละปีตินี้นั้นอันโยคีบุคคลละได้ในขณะแห่งอัปปนา เช่นเดียวกับวิตกและวิจารของทุติยฌานที่โยคีบุคคลละได้ในขณะแห่งอัปปนานั้น ด้วยเหตุนั้น ปีตินั้นท่านจึงเรียกว่าเป็นองค์สำหรับละของตติยฌานนั้น
(หน้าที่ 278)
ตติยฌานประกอบด้วยองค์ 2 ส่วนข้อว่า ตติยฌานประกอบด้วยองค์ 2 นั้น นักศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจแห่งการเกิดขึ้นแห่งองค์ 2 นี้ คือ สุข 1 จิตเตกัคคตา 1 เพราะฉะนั้น ในคัมภีร์วิภังค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า คำว่า ฌาน ได้แก่ อุเบกขา, สติ, สัมปชัญญะ, สุขและจิตเตกัคคตา ดังนี้ ข้อนั้นทรงแสดงไว้โดยอ้อม เพื่อจะทรงแสดงถึงฌานพร้อมทั้งเครื่องปรุงแต่ง แต่เมื่อว่าโดยตรงแล้ว ตติยฌานนี้ประกอบด้วยองค์ 2 เท่านั้น ด้วยอำนาจแห่งองค์ที่ถึงซึ่งลักษณะที่เพ่งได้ โดยยกเอาอุเบกขา, สติ และสัมปชัญญะออกเสีย สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ฌานประกอบด้วยองค์ 2 ย่อมมีในสมัยนั้น ได้แก่อะไร ? ได้แก่สุข 1 จิตเตกัคคตา 1 ฉะนี้
คำที่เหลือมีนัยดังที่พรรณนามาแล้วในปฐมฌานนั่นแล
ได้จตุตถฌาน
ก็แหละ เมื่อได้บรรลุตติยฌานแม้นั้นด้วยประการฉะนี้แล้ว โยคีบุคคลพึงสั่งสมวสีด้วยอาการ 5 อย่างโดยนัยดังที่พรรณนามาแล้วนั่นแล ครั้นออกจากตติยฌานที่คล่องแคล่วแล้ว พิจารณาเห็นโทษในตติยฌานนั้นว่า สมาบัตินี้ยังใกล้ต่อปีติอันเป็นข้าศึกอยู่ และว่าสมาบัตินี้ยังมีองค์อันทุรพล เพราะสุขเป็นสภาพที่หยาบดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างนี้ว่า องค์อันใดแล ที่ทำใจให้พะวงว่าเป็นสุขในตติยฌานนั้น ด้วยองค์นั้น ตติยฌานนี้จึงปรากฏเป็นสภาพที่หยาบ ฉะนี้แล้ว พึงมนสิการถึงจตุตถฌานโดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในตติยฌานแล้ว พึงลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุจตุตถฌานต่อไป
แหละกาลใด เมื่อโยคีบุคคลออกจากตติยฌานแล้ว มีสติมีสัมปชัญญะพิจารณาองค์ฌานอยู่นั้น สุขคือโสมนัสอันเกิดขึ้นทางใจจะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบ อุเบกขาเวทนากับจิตเตกัคคตาจะปรากฏโดยเป็นสภาพที่ละเอียด กาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแล อย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่า ปถวี – ปถวี หรือ ดิน – ดิน เพื่อละเสียซึ่งองค์ที่หยาบและเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ที่ละเอียดอยู่นั้น มโนทวาราวัชชนจิต ทำปถวีกสิณนั้นนั่นแลให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นตัดภวังคจิต เหมือนจะเตือนให้รู้ว่า จตุตถฌานจักเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้แล้ว
(หน้าที่ 279)
ถัดนั้นไป ชวนจิตก็จะแล่นไปในอารมณ์นั้นนั่นแล 4 ขณะบ้าง 5 ขณะบ้าง (ตามควรแก่โยคีบุคคลที่เป็นติกขบุคคลหรือมันทบุคคล) บรรดาชวนจิตเหล่านั้น ดวงหนึ่งที่สุดท้ายเขาเป็น รูปาวจรกุศลจิตขั้นจตุตถฌาน ดวงที่เหลือนอกนั้นเป็น กามาวจรกุศลจิต มีประการดังกล่าวแล้วในปฐมฌานนั่นเทียว
ส่วนที่พิเศษกว่านั้น ดังนี้ คือ เพราะเหตุที่สุขเวทนาเป็นปัจจัยโดยอาเสวนปัจจัยแก่อทุกขมสุขเวทนาไม่ได้ และอุทุกขมสุขเวทนาจะต้องเกิดขึ้นในจตุตถฌาน ฉะนั้น ชวนจิตเหล่านั้นจึงย่อมประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา และแม้ปีติก็เป็นอันสร่างหายไปในจตุตถฌานนี้ด้วย เพราะเหตุที่จตุตถฌานประกอบด้วยอุเบกขาเวทนานั่นแล
ส่วนประกอบ 4 เมื่อได้อัปปนา
ก็แหละ ด้วยลำดับแห่งภาวนาวิธีมีประมาณเท่านี้ เป็นอันว่าโยคีบุคคลนั้นมีส่วนประกอบดังนี้:
- ละสุขและละทุกข์แล้ว โสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว จึงไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา เข้าจตุตถฌานอยู่ (องค์ฌาน 2)
- ละองค์ 1 และประกอบด้วยองค์ 2
- มีความงาม 3 และสมบูรณ์ด้วยลักษณะ 10
- ได้บรรลุจตุตถฌานมีปถวีกสิณเป็นอารมณ์
ส่วน 1 องค์ฌาน 2 (ละสุขและละทุกข์แล้ว เป็นต้น)
ในบรรดาคำเหล่านั้น คำว่า เพราะละสุขและละทุกข์ ความว่า เพราะละกายิกสุขคือสุขทางกายและกายิกทุกข์คือทุกข์ทางกาย คำว่า แต่เบื้องต้น ความว่า การละนั้นแล ได้ละมาแต่เบื้องต้นแล้ว ไม่ใช่ละในขณะแห่งจตุตถฌาน คำว่า เพราะโสมนัสและโทมนัสดับหายไป ความว่า เพราะความดับหายไปแต่เบื้องต้นแห่งเวทนาแม้ทั้ง 2 นี้คือ สุขเวทนาที่เกิดทางใจ 1 ทุกขเวทนาที่เกิดทางใจ 1 อธิบายว่า เพราะละเวทนาทั้ง 2 เสียได้แต่ในเบื้องต้นนั่นเอง
ถาม - ก็แหละ การละเวทนาเหล่านั้น ละในขณะไหน ?
ตอบ - ละในขณะอุปจาระของฌานทั้ง 4
อธิบายว่า โสมนัสเวทนา ย่อมละในขณะแห่งอุปจาระของจตุตถฌาน ทุกขเวทนา, โทมนัสเวทนา และสุขเวทนา ย่อมละในขณะอุปจาระของปฐมฌาน, ทุติยฌาน และตติยฌาน ตามลำดับ
(หน้าที่ 280)
นักศึกษาพึงทราบอย่างนี้ การละซึ่งสุข, ทุกข์, โสมนัส และโทมนัสเวทนาทั้งหลายแม้ในจตุตถฌานนี้ซึ่งแม้จะมิได้ทรงแสดงไว้ตามลำดับแห่งการละซึ่งเวทนาเหล่านั้น แต่ทรงแสดงไว้ตามลำดับแห่งการแสดงซึ่งอินทรีย์ทั้งหลายในอินทรียวิภังค์นั่นเทียว
ถาม - ก็แหละ ถ้าองค์ธรรมเหล่านี้ ย่อมละได้ในขณะแห่งอุปจาระของฌานนั้น ๆ จริงแล้ว ก็เหตุไฉนพระพุทธองค์จึงทรงแสดงความดับแห่งองค์เหล่านั้นไว้ตรงที่ฌานทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างนี้ว่า ก็ทุกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่ไหน ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมบรรลุซึ่งปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขซึ่งเกิดแต่ความสงัด เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดแล้วก็ตามจากอกุศลธรรมทั้งหลาย และทุกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่ปฐมฌานนี้แหละโทมนัสสินทรีย์….สุขินทรีย์….โสมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่ไหน ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมบรรลุซึ่งจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์แล้ว เพราะโสมนัสและโทมนัสดับหายไปแล้วแต่ในเบื้องต้น อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา และโสมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่จตุตถฌานนี้
ตอบ - การที่พระพุทธองค์ทรงแสดงความดับแห่งองค์ธรรมทั้งหลายไว้ตรงที่ฌานโดยเฉพาะเช่นนั้น เพราะทรงประสงค์เอาความดับอย่างสนิท
อธิบายว่า ในขณะแห่งฌานทั้งหลายมีปฐมฌานเป็นต้น เป็นความดับอย่างสนิท ขององค์ธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่ความดับอย่างสามัญ ส่วนในขณะแห่งอุปจาระเป็นความดับอย่างสามัญ ไม่ใช่ความดับอย่างสนิท
ละทุกข์ได้สนิทที่ปฐมฌาน เป็นความจริงอย่างนั้น แม้ทุกข์ที่ดับไปในขณะอุปจาระแห่งปฐมฌาน ซึ่งมีอาวัชชนจิตมากหลายนั้น จะพึงเกิดขึ้นได้อยู่ ด้วยถูกเหลือบและยุงกัด หรือด้วยการปวด
(หน้าที่ 281)
เมื่อยเพราะนั่งไม่เรียบ แต่ภายในอัปปนาฌานจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย อีกประการหนึ่ง แม้ทุกข์ที่ดับไปแล้วในขณะอุปจารฌานนี้ ทั่วสรรพางค์กายอันสุขชโลมแล้วเพราะปีติแผ่ซ่านไป และบุคคลผู้มีกายอันสุขชโลมแล้วนั้น ย่อมมีความทุกข์ดับไปอย่างสนิท เพราะถูกปฏิปักขธรรมทำลายแล้ว
ละโทมนัสได้สนิทที่ทุติยฌาน อนึ่ง แม้โทมนัสที่ละได้แล้วในขณะอุปจาระแห่งทุติยฌานซึ่งมีอาวัชชนจิตมากหลายเช่นกันนั้น จะพึงเกิดขึ้นได้อยู่ เพราะเมื่อมีความลำบากกาย และมีความเหนื่อยใจอันมีวิตกและวิจารเป็นปัจจัย โทมนัสนี้ก็จะเกิดขึ้น แต่เมื่อไม่มีวิตกและวิจารเป็นปัจจัยแล้วหาเกิดขึ้นไม่เลย ส่วนในยามใดที่โทมนัสเกิดขึ้นได้อยู่ ในฌานนั้นยังมีวิตกและวิจารเป็นปัจจัยและวิตกและวิจารนั้นก็ยังละไม่ได้ทีเดียวในขณะอุปจาระแห่งทุติยฌาน ดังนั้น โทมนัสนั้นจึงยังบังเกิดขึ้นได้ในขณะอุปจาระแห่งทุติยฌานนั้น แต่ในขณะทุติยฌานจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยเพราะละปัจจัยคือวิตกและวิจารเสียแล้ว
ละสุขได้สนิทที่ตติยฌาน อีกประการหนึ่ง แม้สุขที่ละได้แล้วในขณะอุปจาระแห่งตติยฌานนั้น ยังจะพึงเกิดขึ้นได้อยู่แก่ฌานลาภีบุคคล ผู้มีกายอันรูปประณีตซึ่งมีปีติเป็นสมุฏฐานแผ่ซ่านไป แต่ในขณะตติยฌานจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะในขณะตติยฌานนั้นปีติอันเป็นปัจจัยแก่สุขได้ดับไปแล้วโดยสิ้นเชิง
ละโสมนัสได้สนิทที่จตุตถฌาน อีกประการหนึ่ง แม้โสมนัสที่ละได้แล้ว ในขณะอุปจาระแห่งจตุตถฌานนั้น ยังจะพึงเกิดขึ้นได้อยู่ ทั้งนี้ เพราะเหตุที่อยู่ใกล้อย่างหนึ่ง เพราะยังไม่บรรลุถึงอัปปนาฌานอย่างหนึ่ง เพราะยังไม่มีอุเบกขาอย่างหนึ่ง เพราะยังไม่ผ่านไปโดยชอบอย่างหนึ่ง แต่ในขณะจตุตถฌานจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยเป็นอันขาด
แหละเพราะเหตุดังพรรณนามานี้นั่นแหละ ศัพท์ว่า อปริเสสํ ที่แปลว่า ไม่มีเหลือ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงไว้ในฌานนั้น ๆ ว่า เอตฺถุปฺปนฺนํ ทุกฺขินฺทริยํ อปริเสสํ นิรุชฺฌติ ความว่า ทุกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่ฌานนั้น ฉะนี้
(หน้าที่ 282)
เหตุที่ทรงแสดงเวทนา 4 ในจตุตถฌาน หากจะมีผู้กล่าวติงในอธิการนี้ว่า - ก็แหละ แม้เวทนาเหล่านี้เป็นอันละได้แล้วในอุปจาระแห่งฌานนั้น ๆ อย่างนี้ เหตุไฉนพระพุทธองค์จึงทรงยกมาไว้ในจตุตถฌานนี้อีกเล่า ?
ข้าพเจ้าขอแถลงแก้ว่า - การที่พระพุทธองค์ทรงยกเวทนาเหล่านี้มาแสดงในจตุตถฌานนี้อีก ก็เพื่อจะให้ถือเอาใจความได้ง่าย
อธิบายว่า - อทุกขมสุขเวทนานี้ใดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ใน จตุตถฌานนี้ว่า อทุกฺขมสุขํ ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข ฉะนี้ อทุกขมสุขเวทนานั้น เป็นสภาพละเอียด เข้าใจได้ยาก ใคร ๆ ก็ไม่อาจที่จะถือเอาความหมายได้โดยสะดวก เพราะเหตุนั้นเพื่อให้ถือเอาความหมายได้โดยสะดวก พระผู้มีพระภาคได้ทรงสงเคราะห์เอาเวทนาทั้งหมดมาไว้ในจตุตถฌานนี้แหละ ครั้นทรงแสดงเวทนาเหล่านี้รวมไว้อย่างนี้แล้ว ย่อมทรงสามารถที่จะให้ใคร ๆ จับเอาอทุกขมสุขเวทนานี้ได้ว่า ธรรมชาติใดที่ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่โสมนัสไม่ใช่โทมนัสธรรมชาตินี้คือ อทุกขมสุขเวทนา ดังนี้ เช่นเดียวกับโคดุร้ายที่ใคร ๆ ไม่กล้าที่จะเข้าไปคล้องเอามันได้ด้วยวิธีใด ๆ เพื่อที่จะให้คล้องเอาได้โดยสะดวก เจ้าของโคจึงต้อนโคทั้งหมดเข้ามาไว้ในคอกเดียวกัน ทีนั้นจึงไล่ให้ออกไปทีละตัวแล้วสั่งให้คล้องเอาโคตัวนั้นซึ่งออกมาตามลำดับว่า นี้โคนั้นช่วยคล้องมันให้ที ฉะนี้
เวทนา 4 เป็นปัจจัยของอทุกขมสุขเจโตวิมุติ อีกอย่างหนึ่ง นักศึกษาพึงทราบว่า แม้เวทนา 4 เหล่านี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ก็เพื่อจะทรงชี้ถึงปัจจัยของอทุกขมสุขเจโตวิมุติ จริงอยู่ ปฐมฌานอันเป็นเครื่องละซึ่งทุกข์เป็นต้น จัดเป็นปัจจัยของอทุกขมสุขเจโตวิมุติ มี 4 อย่างแล ดูกรอาวุโส ปัจจัยของสมาบัติคืออทุกขมสุขเจโตวิมุติ มี 4 อย่างแล ดูก่อนอาวุโส ภิกษุในศาสนานี้ บรรลุแล้วซึ่งจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุขเพราะละสุขและละทุกข์แล้ว เพราะโสมนัสและโทมนัสดับหายไปแล้วแต่ในเบื้องต้นเทียว อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา ดูก่อนอาวุโส ปัจจัยของสมาบัติคืออทุกขมสุขเจโตวิมุติ มี 4 อย่าง เหล่านี้แล
(หน้าที่ 283)
แม้ละไปก่อนแล้วก็แสดงไว้เพื่อสรรเสริญ อีกประการหนึ่ง นักศึกษาพึงทราบแม้อย่างนี้ว่า สังโยชน์ 10 มีสักกายทิฏฐิเป็นต้น แม้ถึงจะละได้มาแล้วแต่ในมรรคอื่น ๆ แต่ก็ทรงแสดงไว้ว่าละได้ในตติยมรรค (อนาคามิมรรค) นั้น ทั้งนี้ เพื่อที่จะสรรเสริญคุณแห่งตติยมรรค ฉันใด เวทนา 4 เหล่านี้ทรงแสดงไว้ในจตุตถฌานนี้อีก ก็เพื่อที่จะทรงสรรเสริญคุณแห่งฌานนี้ ฉันนั้น
ราคะโทสะอยู่ไกลจตุตถฌานมาก อีกประการหนึ่ง นักศึกษาพึงทราบดังนี้ เวทนา 4 เหล่านี้ที่ทรงแสดงไว้ในจตุตถฌานนี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงราคะและโทสะเป็นสภาพที่อยู่ห่างไกลมาก เพราะได้ทำลายสิ่งที่เป็นปัจจัยมาแล้ว จริงทีเดียว ในบรรดาเวทนาเหล่านั้น สุขเวทนาเป็นปัจจัยแก่โสมนัสเวทนา โสมนัสเวทนาเป็นปัจจัยแก่ราคะ ทุกขเวทนาเป็นปัจจัยแก่โทมนัสเวทนา โทมนัสเวทนาเป็นปัจจัยแก่โทสะ และราคะโทสะพร้อมทั้งปัจจัย ชื่อว่าอันจตุตถฌานนี้กำจัดไปแล้วด้วยเหตุที่ได้ทำลายสุขเวทนาเป็นต้นมาแล้ว ดังนั้น ราคะและโทสะจึงชื่อว่า มีอยู่ในที่ห่างไกลมาก ด้วยประการฉะนี้
อธิบายไม่มีทุกข์ไม่มีสุข คำว่า ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข นั้น มีอรรถาธิบายว่า ที่ชื่อว่าไม่มีทุกข์ เพราะเหตุที่ทุกข์ไม่มี ที่ชื่อว่า ไม่มีสุข เพราะเหตุที่สุขไม่มี ด้วยคำว่า ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขนี้ ท่านแสดงถึงเวทนาที่ 3 (คืออุเบกขาเวทนา) อันเป็นปฏิปักษ์แก่ทุกขเวทนาในจตุตถฌานนี้ ไม่ใช่แต่เพียงแสดงความไม่มีทุกข์ไม่มีสุขเท่านั้น และอทุกขมสุขเวทนา ชื่อว่าเวทนาที่ 3 เรียกว่าอุเบกขาเวทนาก็ได้ นักศึกษาพึงทราบว่า อทุกขมสุขเวทนานั้น มีอันเสวยอารมณ์ที่ผิดจากอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์เป็นลักษณะ มีความเป็นกลาง ๆ เป็นรส มีความไม่ปรากฏชัด เป็นอาการปรากฏ มีความดับไปแห่งสุขเวทนาและทุกขเวทนาเป็นปทัฏฐาน ด้วยประการฉะนี้
(หน้าที่ 284)
อธิบายมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา คำว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา นั้นความว่า ความบริสุทธิ์แห่งสติอันอุเบกขาให้เกิดแล้ว อธิบายว่า สติในฌานนี้เป็นสภาพบริสุทธิ์มาก และความบริสุทธิ์ใดแห่งสตินั้น ความบริสุทธิ์นั้นอันอุเบกขาปรุงแต่งให้ มิใช่สิ่งอื่นปรุงแต่งให้ เพราะฉะนั้น ฌานนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา
แม้ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงไว้ว่า สตินี้เป็นสภาพที่สะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่องเพราะอุเบกขานี้ ด้วยเหตุนั้นจึงเรียกว่า สติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา
อุเบกขาคือตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ก็แหละ ความบริสุทธิ์แห่งสติในจตุตถฌานนี้ ย่อมสำเร็จเพราะอุเบกขาอันใด อุเบกขานั้น นักศึกษาพึงทราบว่า โดยใจความก็ได้แก่ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก และไม่ใช่แต่สติเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่บริสุทธิ์เพราะอุเบกขานั้น แม้สัมปยุตธรรมทั้งสิ้นก็เป็นสภาพบริสุทธิ์โดยแท้แล แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเทศนาไว้ด้วยทรงยกสติเป็นประธาน
อุเบกขาเวทนาเหมือนราตรี ตัตรมัชฌัตตุเบกขาเหมือนดวงจันทร์ แม้ว่า ตัตรมัชฌัตตุเบกขานี้ จะมีอยู่ในฌานทั้ง 3 ข้างต้นนั้นก็ตาม แต่ก็เปรียบเหมือนดวงจันทร์ในเวลากลางวัน จะมีอยู่ก็ไม่สว่างไม่ขาวนวล ทั้งนี้ เพราะแสงพระอาทิตย์ในเวลากลางวันข่มกันไว้ และเพราะไม่ได้ราตรีอันมีส่วนเข้ากันได้ โดยเป็นที่ส่องแสงหรือโดยเป็นอุปการะแก่ตน ฉันใด แม้ดวงจันทร์คือตัตรมัชฌัตตุเบกขานี้ก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีอยู่ในประเภทแห่งฌานมีปฐมฌานเป็นต้น แต่ก็ยังไม่เป็นสภาพบริสุทธิ์ ทั้งนี้เพราะเดชแห่งธรรมอันเป็นข้าศึกมีวิตกเป็นต้นข่มกันไว้ และเพราะไม่ได้ราตรีคืออุเบกขาเวทนาอันมีส่วนเข้ากันได้
(หน้าที่ 285)
อนึ่ง เมื่อตัตรมัชฌัตตุเบกขานั้นยังไม่บริสุทธิ์ แม้สหชาตธรรมทั้งหลาย (ธรรมที่เกิดร่วมในจิตดวงเดียวกัน) เช่นสติเป็นต้น ก็พลอยเป็นสภาพที่ไม่บริสุทธิ์ไปด้วย เหมือนแสงจันทร์ที่ไม่ขาวนวลในเวลากลางวัน เพราะเหตุดังกล่าวนี้ ในบรรฌานทั้ง 3 นั้น แม้เพียงฌานเดียว พระผู้มีพระภาคจึงมิได้ทรงแสดงว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา
ส่วนในจตุตถฌานนี้ ดวงจันทร์คือตัตรมัชฌัตตุเบกขาเป็นสภาพที่บริสุทธิ์อย่างยิ่งเพราะไม่มีเดชแห่งธรรมอันเป็นข้าศึกมีวิตกเป็นต้นข่มกัน และเพราะได้ราตรีคืออุเบกขาเวทนาอันมีส่วนเข้ากันได้ และเพราะเหตุที่ตัตรมัชฌัตตุเบกขาเป็นสภาพบริสุทธิ์แล้วนั้น แม้สหชาตธรรมทั้งหลายเช่นสติเป็นต้น ก็พลอยเป็นสภาพที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เช่นเดียวกับแสงจันทร์อันสว่างขาวนวล ฉะนั้น
เพราะเหตุดังพรรณนามานี้ นักศึกษาพึงทราบว่า จตุตถฌานนี้เท่านั้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นฌานที่มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา ฉะนี้
อธิบายจตุตถฌาน คำว่า จตุตฺถ ที่แปลว่า 4 นั้น มีอรรถาธิบายว่า ฌานที่เรียกว่าที่ 4 เพราะเป็นลำดับของการคำนวณ หรือฌานนี้ที่จัดเป็นที่ 4 เพราะเหตุที่โยคีบุคคลย่อมเข้าเป็นอันดับที่ 4 ดังนี้ก็ได้
ส่วน 2 ละองค์ 1 และประกอบด้วยองค์ 2
ก็แหละ ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ละองค์ 1 ประกอบด้วยองค์ 2 นั้น มีอรรถาธิบายว่า - ใน 2 ข้อนั้น ข้อว่า จตุตถฌานละองค์ 1 นั้น นักศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจที่ละซึ่งโสมนัสเวทนา และโสมนัสเวทนานั้นละมาได้แต่ในชวนจิตดวงต้น ๆ ในวิถีเดียวกันนั่นเทียว ด้วยเหตุนั้น โสมนัสเวทนานั้น จึงเรียกว่า เป็นองค์สำหรับละของจตุตถฌานนี้
จตุตถฌานประกอบด้วยองค์ 2 ส่วนข้อที่ว่า จตุตถฌานประกอบด้วยองค์ 2 นั้น นักศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจความบังเกิดขึ้นแห่งองค์ 2 นี้ คือ อุเบกขาเวทนา 1 จิตเตกัคคตา 1
(หน้าที่ 286)
คำที่เหลือมีนัยดังที่พรรณนามาแล้วในปฐมฌานนั่นแล
ตามที่พรรณนามานี้ เป็นแนวในฌาน 4 ประเภท ที่บังเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งฌานที่เป็นจตุกกนัย เป็นประเภทแรก
ฌานปัญจกนัย
ส่วนโยคีบุคคลผู้เจริญฌานปัญจกนัยให้บังเกิดขึ้นนั้น ออกจากปฐมฌานที่คล่องแคล่วแล้ว พิจารณาเห็นโทษในปฐมฌานนั้นว่า สมาบัตินี้ยังใกล้ต่อนิวรณ์อันเป็นข้าศึกอยู่และว่า สมาบัตินี้มีองค์อันทุรพล เพราะวิตกเป็นสภาพที่หยาบ ฉะนี้แล้ว พึงมนสิการถึงทุตยฌานโดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในปฐมฌานแล้ว จึงลงมือทำความเพียร เพื่อบรรลุซึ่งทุติยฌานต่อไป
บรรลุทุติยฌาน
ก็แหละ กาลใด เมื่อโยคีบุคคลออกจากปฐมฌานแล้วมีสติมีสัมปชัญญะพิจารณาองค์ฌานอยู่นั้น องค์ฌานเพียงแต่วิตกอย่างเดียวก็จะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบ องค์ฌานอื่น ๆ มีวิจารเป็นต้น คงปรากฏโดยเป็นสภาพที่ละเอียด กาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการ ถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแลอย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่า ปถวี – ปถวี หรือ ดิน – ดิน ดังนี้ เพื่อละองค์ที่หยาบและให้ได้มาซึ่งองค์ที่ละเอียดอยู่นั้น ทุติยฌานก็จะบังเกิดขึ้นโดยนัยที่ได้แสดงมาแล้วนั่นแล องค์สำหรับละของทุติยฌานนั้นมีวิตกอย่างเดียว ส่วนองค์ประกอบมี 4 มีวิจารเป็นต้น คำที่เหลือเหมือนคำที่แสดงมาแล้วทุกประการนั่นเทียว
บรรลุตติยฌาน
ก็แหละ เมื่อได้บรรลุทุติยฌานแม้นั้นอย่างนี้แล้ว โยคีบุคคลนั้นพึงทำให้วสีสามารถดีแล้วด้วยอาการ 5 อย่างโดยนัยที่ได้พรรณนามาแล้วนั่นแล ออกจากทุติยฌานที่คล่องแคล่วแล้วพิจารณาเห็นโทษในทุติยฌานนั้นว่า สมาบัติยังใกล้ต่อวิตกอันเป็นข้าศึกอยู่ และว่าสมาบัตินี้มีองค์อันทุรพล เพราะวิจารเป็นสภาพที่หยาบ ครั้นแล้ว มนสิการถึงตติยฌานโดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในทุติยฌานแล้ว พึงลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุตติยฌานต่อไป
แหละกาลใด เมื่อโยคีบุคคลออกจากทุติยฌานแล้ว มีสติสัมปชัญญะพิจารณาองค์ฌานอยู่นั้น องค์ฌานเพียงแต่วิจารก็จะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบขึ้น องค์ฌานอื่น ๆ
(หน้าที่ 287)
มีปีติเป็นต้นคงปรากฏโดยเป็นสภาพที่ละเอียดอยู่ กาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแลอย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่า ปถวี – ปถวี หรือ ดิน – ดิน ฉะนี้ เพื่อที่จะละองค์ที่หยาบและให้ได้มาซึ่งองค์ที่ละเอียดอยู่นั้น ตติยฌานก็จะเกิดขึ้นโดยนัยที่ได้แสดงมาแล้วนั่นแล องค์สำหรับละของตติยฌานนั้นมีแต่วิจารอย่างเดียว ส่วนองค์ประกอบมี 3 มีปีติเป็นต้น เหมือนกับในทุติยฌานโดยจตุกกนัย คำที่เหลือเหมือนดังที่แสดงมาแล้วทุกประการนั่นเทียว
สรุปฌานปัญจกนัย
ด้วยประการฉะนี้ ทุติยฌานใดในฌานจตุกกนัยนั้น ในฌานปัญจกนัยนี้ ทุติยฌานนั้นแยกออกเป็น 2 ฌาน คือ เป็นทุติฌานและตติยฌาน ตติยฌานและจตุตถฌานในฌานจตุกกนัยนั้นแยกเป็นจตุตถฌานและปัญจมฌานในฌานปัญจกนัยนี้ ส่วนปฐมฌานคงเป็นปฐมฌานตามเดิม ฉะนี้แล
ปถวีกสิณนิทเทส ปริจเฉทที่ 4
ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค
อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นเพื่อความปราโมชแห่งสาธุชน
ยุติลงด้วยประการฉะนี้
……………….