วิสุทธิมรรค_02_ธุตังคนิทเทส

Action unknown: copypageplugin__copy

อยู่ในระหว่างปรับสำนวน

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)

ธุตังคนิทเทส ปริจเฉทที่ 2 (หน้าที่ 80)

อารัมภกถา

โดยที่โยคีบุคคลสมาทานเอาศีลแล้วจะต้องทำการสมาทานเอาธุดงค์ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อที่จะทำคุณทั้งหลาย มีความเป็นผู้มักน้อยและความสันโดษเป็นต้น อันเป็นเครื่องผ่องแผ้วของศีล ซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วในสีลนิทเทสให้สมบูรณ์ แหละเมื่อโยคีบุคคลทำการสมาทาน เอาธุดงค์เช่นนี้แล้ว ศีลของท่านซึ่งถูกชำระล้างมลทินแล้วด้วยน้ำคือคุณ มีความเป็นผู้มักน้อย, ความสันโดษ, ความขัดเกลากิเลส, ความสงัด, ความไม่สั่งสมกิเลส, การปรารภความเพียร และความเป็นผู้เลี้ยงง่าย เป็นต้น ก็จักเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ด้วยดี กับทั้งพรตทั้งหลายของท่านก็จักสมบูรณ์ด้วย อันโยคีบุคคลผู้มีมารยาททั้งปวงบริสุทธิ์แล้วด้วยคุณคือศีล และพรตอันหาโทษมิได้เช่นนี้ ดำรงตนอยู่ในอริยวงศ์อันเป็นของเก่าแก่ 3 ประการ (คือความสันโดษในจีวร, ความสันโดษในบิณฑบาต, ความสันโดษในเสนาสนะตามมีตามได้) แล้ว จักเป็นบุคคลสมควร เพื่อจะบรรลุอริยวงศ์ประการที่ 4 ซึ่งได้แก่ความเป็นผู้ยินดีในภาวนา (สมถภาวนาและ วิปัสสนาภาวนา) เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจักเริ่มแสดงธุตังคกถา ณ บัดนี้

ธุดงค์ 13 ประการ

ก็แหละพระผู้มีพระภาคได้ทรงอนุญาตธุดงค์ไว้สำหรับ กุลบุตรทั้งหลายผู้สละโลกามิสแล้ว ผู้ไม่เสียดายอาลัยในร่างกายและชีวิต ผู้ปรารถนาจะทำข้อปฏิบัติอันสมควรแก่ นิพพานให้ถึงพร้อม รวมเป็น 13 ประการ คือ

1. ปังสุกูลิกังคธุดงค์

2. เตจีวริกังคธุดงค์

3. ปิณฑปาติกังคธุดงค์

(หน้าที่ 81)

4. สปทานจาริกังคธุดงค์

5. เอกาสนิกังคธุดงค์

6. ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์

7. ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์

8. อารัญญิกังคธุดงค์

9. รุกขมูลิกังคธุดงค์

10. อัพโภกาสิกังคธุดงค์

11. โสสานิกังคธุดงค์

12. ยถาสันถติกังคธุดงค์

13. เนสัชชิกังคธุดงค์

10 วิธีวินิจฉัยธุดงค์

นักศึกษาพึงศึกษาให้เข้าใจข้อวินิจฉัยในธุดงค์ 13 ประการนั้น (โดยอาการ 10 อย่าง เหล่านี้ คือ) –

1. วินิจฉัยอรรถวิเคราะห์

2. วินิจฉัยลักษณะเป็นต้น

3. วินิจฉัยสมาทาน

4. วินิจฉัยกรรมวินิจฉัย

5. วินิจฉัยประเภท

6. วินิจฉัยความแตก

7. วินิจฉัยอานิสงส์

8. วินิจฉัยเป็นกุศลติกะ

9. วินิจฉัยแยกออกเป็นคำ ๆ มีคำว่าธุตะเป็นต้น

10. วินิจฉัยย่อและวินิจฉัยพิสดาร

(หน้าที่ 82)

ในอาการ 10 อย่างนั้น จะวินิจฉัยโดยอรรถวิเคราะห์ เป็นประการแรก ดังนี้ –

1. ปังสุกูลิกังคะ

ผ้าใดเป็นเหมือนผ้าที่สะสมด้วยขี้ฝุ่น ณ ที่นั้น ๆ โดยที่ฟุ้งตลบไป เพราะเหตุวางทิ้งไว้บนขี้ฝุ่น ณ ที่ใดที่หนึ่ง เช่น ถนน, ป่าช้าและกองขยะมูลฝอยเป็นต้น ผ้านั้นชื่อว่า ผ้าบังสุกูล

อีกนัยหนึ่ง ผ้าใดซึ่งภาวะที่น่าเกลียด คือ ถึงซึ่งภาวะที่น่าสยะแสยง เหมือนขี้ฝุ่น ผ้านั้น ชื่อว่า ผ้าบังสุกูล

การทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกูลอันได้อรรถวิเคราะห์อย่างนี้ ชื่อว่า ปังสุกูล แปลว่า การทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกูล, การทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกูลนั้นเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า ปังสุกูลิโก แปลว่า ผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันทรงไว้ซึ่ง ผ้าบังสุกุลเป็นปกติ ชื่อว่า ปังสุกูลิกังคะ

เหตุ เรียกว่า องค์ เพราะฉะนั้น นักศึกษาพึงเข้าใจว่าภิกษุนั้นเป็นผู้มีอันทรงไว้ ซึ่งผ้าบังสุกูลเป็นปกติ ด้วยเจตนาเป็นเหตุสมาทานอันใด คำว่า องค์ นี้เป็นชื่อของเจตนาเป็นเหตุสมาทานอันนั้น

2. เตจีวริกังคะ

โดยนัยอย่างเดียวกันนั้น การทรงไว้ซึ่งผ้า 3 ผืน คือ ผ้าสังฆาฏิ 1 ผ้าอุตตราสงค์ 1 ผ้าอันตรวาสก 1 เป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า เตจีวริโก แปลว่า ผู้มีอันทรงไว้ ซึ่งผ้า 3 ผืนเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้า 3 ผืนเป็นปกติ ชื่อว่า เตจีวริกังคะ

3. ปิณฑปาติกังคะ

การตกลงแห่งก้อนอามิสคือภิกษาหาร ได้แก่การตกลงในบาตรแห่งก้อนข้าวที่ผู้อื่นเขาถวาย ชื่อว่า ปิณฑปาต ภิกษุใดแสวงหาบิณฑบาตนั้น คือเข้าไปสู่ตระกูลนั้น ๆ แสวงหาอยู่ ภิกษุนั้นชื่อว่า ปิณฑปาติโก แปลว่า ผู้แสวงหาซึ่งบิณฑบาต

(หน้าที่ 83)

อีกอย่างหนึ่ง การเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า ปิณฑปาตี แปลว่า ผู้มีอันเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตเป็นธรรมเนียม

บทว่า ปติตุ ํ แปลว่า การเที่ยวไป บทว่า ปิณฺฑปาตี กับบทว่า ปิณฺฑปาติโก ความเหมือนกัน, องค์แห่งภิกษุผู้แสวงหาซึ่งบิณฑบาต หรือองค์แห่งภิกษุผู้มีอันเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตเป็นธรรมเนียม ชื่อว่า ปิณฑปาติกังคะ

4. สปทานจาริกังคะ

การขาดตอนเรียกว่า ทานะ กิจใดที่ปราศจากการขาดตอน คือไม่ขาดตอน กิจนั้นเรียกว่า อปทานะ กิจใดเป็นไปกับด้วยการไม่ขาดตอน ได้แก่เว้นการขาดระยะ คือ ไปตามลำดับเรือน กิจนั้นชื่อว่า สปทานะ การเที่ยวไป (บิณฑบาต) อย่างไม่ขาดตอน (คือไปตามลำดับเรือน) นี้ เป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า สปทานจารี แปลว่า ผู้มีอันเที่ยวไปอย่างไม่ขาดตอนเป็นปกติ

บทว่า สปทานจารี กับบทว่า สปทานจาริโก ความเหมือนกัน, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันเที่ยวไปอย่างไม่ขาดตอนเป็นปกติ ชื่อว่า สปทานจาริกังคะ

5. เอกาสนิกังคะ

การฉันในที่นั่งอันเดียว ชื่อว่า เอกาสนะ การฉันในที่นั่งอันเดียวนั้นเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า เอกาสนิโก แปลว่า ผู้มีอันฉันในที่นั่งอันเดียวเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันฉันในที่นั่งอันเดียวกันเป็นปกตินั้น ชื่อว่า เอกาสนิกังคะ

6. ปัตตปิณฑิตังคะ

บิณฑบาตเฉพาะแต่ในบาตรอย่างเดียวเท่านั้น เพราะห้ามภาชนะอันที่สองเสีย ชื่อว่า ปัตตปิณโฑ แปลว่า บิณฑบาตในบาตร บิณฑบาตในบาตรเป็นปกติของภิกษุนี้เพราะในขณะหยิบเอาบิณฑบาตในบาตรก็ทำความสำนึกว่าเป็นบิณฑบาตในบาตร เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า ปัตตปิณฑิใก แปลว่า ผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกตินั้น ชื่อว่า ปัตตปิณฑิกังคะ

(หน้าที่ 84)

7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ

คำว่า ขลุ เป็นศัพท์นิบาตลงในความปฏิเสธ ภัตตาหารที่ได้มาหลังจากที่ตนห้ามแล้ว ชื่อว่า ปัจฉาภัตตัง การฉันปัจฉาภัตรนั้น ชื่อว่า ปัจฉาภัตตโภชนัง การฉันปัจฉาภัตรเป็นปกติของภิกษุนี้ เพราะรู้อยู่ว่า เป็นปัจฉาภัตรในขณะฉันปัจฉาภัตร เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า ปัจฉาภัตติโก แปลว่า ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตรเป็นปกติ ภิกษุผู้มิใช่ปัจฉาภัตติโก ชื่อว่า ขลุปัจฉาภัตติโก แปลว่า ผู้มิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตรเป็นปกติ คำนี้เป็นชื่อของโภชนะที่มากเกินไป ซึ่งท่านห้ามไว้ด้วยอำนาจแห่งการสมาทาน

ส่วนในคัมภีร์อรรถกถาพรรณนาไว้ว่า คำว่า ขลุ ได้แก่นกประเภทหนึ่ง นกขลุนั้นเอาปากคาบผลไม้แล้ว ครั้นผลไม้นั้นล่วงไปจากปากแล้วก็ไม่ยอมกินผลไม้อื่นอีก ภิกษุนี้มีปฏิปทาเหมือนนกขลุนั้น เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ขลุปัจฉาภัตติโก แปลว่า มิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตรเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุมิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตรเป็นปกตินั้น ชื่อว่า ขลุปัจฉาภัตติกังคะ

8. อารัญญิกังคะ

การอยู่ในป่าเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า อารัญญิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกตินั้น ชื่อว่า อารัญญิกังคะ

9. รุกขมูลิกังคะ

การอยู่ ณ ที่โคนไม้ ชื่อว่า รุกขมูล การอยู่ ณ ที่โคนไม้นั้นเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า รุกขมูลิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ ณ ที่โคนไม้เป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ ณ ที่โคนไม้เป็นปกติชื่อว่า รุกขมูลิกังคะ

10. อัพโภกาสิกังคะ

การอยู่ ณ ที่กลางแจ้งเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า อัพโภกาสิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ ณ ที่กลางแจ้งเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ ณ ที่กลางแจ้งเป็นปกติ ชื่อว่า อัพโภกาสิกังคะ

(หน้าที่ 85)

11. โสสานิกังคะ

การอยู่ในป่าช้าเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า โสสานิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ ชื่อว่า โสสานิกังคะ

12. ยถาสันถติกังคะ

เสนาสนะที่จัดแจงไว้อย่างไรนั่นนั่นเทียว ชื่อว่า ยถาสันถตะ คำนี้เป็นชื่อของเสนาสนะที่สงฆ์มอบให้แต่แรกด้วยคำว่า เสนาสนะนี้ถึงแก่ท่าน การอยู่ในเสนาสนะที่จัดแจงไว้อย่างนั้น เป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า ยถาสันถติโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ในเสนาสนะที่จัดแจงไว้แล้วอย่างไรเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในเสนาสนะที่จัดแจงไว้แล้วอย่างไรเป็นปกตินั้น ชื่อว่า ยถาสันถติกังคะ

13. เนสัชชิกังคะ

การห้ามอิริยาบถนอนเสียแล้วอยู่ด้วยอิริยาบถนั่งเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า เนสัชชิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ด้วยอิริยาบถนั่งเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ด้วยอิริยาบถนั่งเป็นปกตินั้น ชื่อว่า เนสัชชิกังคะ

ก็แหละ ธุดงค์ทั้งหมดนั้นนั่นเทียวเป็น องค์ แห่งภิกษุผู้ซึ่งได้ชื่อว่า ธุตะ เพราะเป็นผู้มีกิเลส (คือตัณหาและอุปาทาน) อันกำจัดแล้ว ด้วยเจตนาเป็นเครื่องสมาทานนั้นๆ ฉะนั้นจึงชื่อว่า ธุตังคะ

อีกอย่างหนึ่ง ญาณอันได้โวหารว่า ธุตะ เพราะเป็นเครื่องกำจัดกิเลส เป็น เหตุ แห่งการสมาทานเหล่านั้น ฉะนั้น การสมาทานเหล่านั้น จึงชื่อว่า ธุตังคะ

อีกอย่างหนึ่ง การสมาทานเหล่านั้น ชื่อว่า ธุตะ เพราะเป็นเครื่องกำจัดซึ่งธรรม อันเป็นข้าศึกด้วย เป็น เหตุ แห่งสัมมาปฏิบัติด้วย เพราะฉะนั้น การสมาทานเหล่านั้น จึงชื่อว่า ธุตังคะ

นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยในธุดงค์ 13 ประการ นั้น โดยอรรถวิเคราะห์เป็นประการแรก เพียงเท่านี้

(หน้าที่ 86)

ก็แหละ ธุดงค์หมดทั้ง 13 ประการนั่นแล มีเจตนาเครื่องสมาทานเป็น ลักษณะ ข้อนี้สมดังที่ท่านอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า ผู้ที่สมาทานได้แก่บุคคล เครื่องสมาทานได้แก่ ธรรม คือจิตและเจตสิก เจตนาเป็นเครื่องสมาทานอันใด อันนั้นเป็น ตัวธุดงค์ สิ่งที่ถูกห้าม ได้แก่วัตถุ และธุดงค์ทั้งหมดนั่นแล มีการกำจัดความละโมบเป็น รส มีการปราศจากความละโมบเป็น อาการปรากฏ มีอริยธรรมเช่นความเป็นผู้มักน้อยเป็นต้น เป็น ปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้

นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยในธุดงค์ 13 ประการนี้ โดยลักษณะเป็นต้น เพียงเท่านี้

ก็แหละ ในอาการ 5 อย่างมีโดยการสมาทานและกรรมวิธีเป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้-

ธุดงค์ 13 ประการนั่นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพระชนม์อยู่ ก็พึงสมาทานเอาในสำนักของพระผู้มีพระภาคนั่นเทียว, เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพานแล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ , เมื่อพระเถระชั้นผู้ใหญ่ไม่อยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของพระอรหันตขีณาสพ, เมื่อพระอรหันตขีณาสพไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของพระอนาคามี, เมื่อพระอนาคามีไม่อยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของพระสกทาคามี, เมื่อพระสกทาคามีไม่อยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของพระโสดาบัน, เมื่อพระโสดาบันไม่อยู่แล้ว พึงสมาทานในสำนักของท่านผู้ทรงจำปิฎก 3, เมื่อท่านผู้ทรงจำปิฎก 3 ไม่อยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านผู้ทรงจำปิฎก 2, เมื่อท่านผู้ทรงจำปิฎก 2 ไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านผู้ทรงจำปิฎก 1, เมื่อท่านผู้ทรงจำปิฎก 1 ไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านผู้ทรงจำสังคีติอันหนึ่ง*, เมื่อท่านผู้ทรงจำสังคีติอันหนึ่งไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านอรรถกถาจารย์, เมื่อท่านอรรถกถจารย์ไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านของท่านผู้ทรงธุดงค์, แม้เมื่อท่านผู้ทรง

(* คำว่า ผู้ทรงจำสังคีติอันหนึ่ง หมายเอาผู้ทรงจำนิกายอันหนึ่ง ในนิกายทั้ง 5 มีทีฆนิกายเป็นต้น)

(หน้าที่ 87)

ธุดงค์ก็ไม่มีอยู่แล้ว ก็จงปัดกวาดลานพระเจดีย์ให้สะอาดแล้วนั่งยอง ๆ ทำเป็นเหมือนกล่าวสมาทานเอาอยู่ในสำนักของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเถิด

อีกประการหนึ่ง แม้จะสมาทานเอาด้วยตนเองก็ใช้ได้ในข้อนี้ บรรดาพระเถระสองพี่น้องที่วัดเจติยบรรพต พึงยกเอาเรื่องของพระเถระผู้พี่มาเป็นตัวอย่าง เพราะท่านเป็นผู้มีความมักน้อยในธุดงค์

ที่วินิจฉัยมาแล้วนี้ เป็นสาธารณกถาทั่วไปแก่ธุดงค์ทั้งปวง ทีนี้จักพรรณนาถึงการสมาทาน , กรรมวิธี , ประเภท , ความแตก และอานิสงส์แห่งธุดงค์แต่ละประการ ๆ ต่อไป

จะพรรณนาปังสุกูลิกังคธุดงค์ เป็นประการแรก ดังนี้ -

การสมาทาน

ในคำสมาทาน 2 คำนี้ คือ คหปติทานจีวรํ ปฎิกฺขิปามิ ข้าเจ้าขอปฎิเสธผ้าจีวรที่คหบดีถวาย ดังนี้อย่างหนึ่ง ปํสุกูลิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาองค์แห่งภิกษุผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง บังสุกูลิกังคธุดงค์ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำใดคำหนึ่ง

ว่าด้วยการสมาทานอันเป็นประการแรกในบังสุกูลิกังคธุดงค์ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี

ก็แหละ อันโยคีบุคคลนั้น เมื่อได้สมาทานเอาธุดงค์อย่างนี้แล้ว พึงเอาผ้าชนิดใดชนิดหนึ่งในบรรดาผ้า 23 ชนิด เหล่านี้คือ ผ้าที่ตกอยู่ในป่าช้า, ผ้าที่ตกอยู่ในตลาด, ผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามถนน, ผ้าที่เขาทิ้งไว้กองขยะมูลฝอย, ผ้าเช็ดครรภ์, ผ้าที่เขาใช้อาบน้ำมนต์, ผ้าที่เขาทิ้งไว้ที่ท่า, ผ้าที่คนเขาไปป่าช้าแล้วกลับมาทิ้งไว้, ผ้าที่ถูกไฟไหม้, ผ้าที่โคขย้ำ, ผ้าที่ปลวกกัด, ผ้าที่หนูกัด, ผ้าที่ขาดกลาง, ผ้าที่ขาดชาย, ผ้าที่เขาเอามาทำธง, ผ้าที่เขาวงล้อมจอมปลวก, ผ้าของสมณะ, ผ้าที่เขาทิ้งไว้ ณ ที่อภิเษก, ผ้าที่เกิดด้วยฤทธิ์, ผ้าที่ตกอยู่ใน

(หน้าที่ 88)

ทาง, ผ้าที่ลมพัดไป, ผ้าที่เทวดาถวาย และผ้าที่คลื่นซัดขึ้นบก ครั้นแล้วพึงฉีกส่วนทุรพลใช้ไม่ได้ทิ้งเสีย เอาส่วนที่แน่นหนาถาวรอยู่มาซักให้สะอาดแล้วทำเป็นจีวร เปลื้องผ้าคหบดีจีวรชุดเก่าออกแล้ว พึงใช้ผ้าชุดบังสุกุลจีวรแทนต่อไปเถิด

อรรถาธิบายชนิดของผ้า

ในบรรดาผ้าทั้ง 23 ชนิดนั้น คำว่า โสสานิกะ ได้แก่ผ้าที่ตกอยู่ในป่าช้า คำว่า ปาปะณิกะ ได้แก่ผ้าที่ตกอยู่ที่ประตู คำว่า รถิยโจฬะ ได้แก่ผ้าที่ผู้ต้องการบุญทั้งหลายทิ้งไว้ที่ถนนรถ โดยทางช่องหน้าต่าง คำว่า สังการโจฬะ ได้แก่ผ้าที่คนเขาทิ้งไว้ ณ ที่เทขยะมูลฝอย คำว่า โสตถิยะ ได้แก่ผ้าที่เขาใช้เช็ดมลทินแห่งครรภ์แล้วทิ้งไว้ ได้ยินมาว่า มารดาของท่านติสสะอำมาตย์ ได้ให้คนเอาผ้ามีราคาเรือนร้อยมาเช็ดมลทินแห่งครรภ์ แล้วไห้เอาไปทิ้งไว้ ณ ถนนชื่อตาลเวฬิมัคคา ด้วยมีความประสงค์ว่า ภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติทั้งหลายจักได้เอาไปทำจีวร ภิกษุทั้หลายก็พากันเก็บเอาเพื่อปะผ้าตรงที่ชำรุดนั่นเทียว คำว่า นหานโจฬะ ได้แก่ผ้าซึ่งคนทั้งหลายอันพวกหมอผีคลุมให้รดน้ำมนต์เปียกทั่วทั้งตัวทิ้งไว้แล้วหลีกหนีไป ด้วยถือว่าเป็นผ้ากาฬกัณณี

คำว่า ติตถโจฬะ ได้แก่ผ้าเก่า ๆ ที่เขาทิ้งไว้ที่ท่าอาบน้ำ คำว่า คตปัจจาคตะ ได้แก่ผ้าที่พวกมนุษย์ใช้ไปป่าช้า ครั้นกลับมาอาบน้ำแล้วทิ้งไว้ คำว่า อคคิฑัฑฒะ ได้แก่ ผ้าที่ถูกไฟไหม้ไปแถบหนึ่ง จริงอยู่ ผ้าที่ถูกไฟไหม้แล้วเช่นนั้น พวกมนุษย์ย่อมทิ้งเสีย ตั้งแต่คำว่า โคขายิตะ เป็นต้นไป ความปรากฎชัดอยู่แล้ว จริงอยู่ ผ้าที่โคขย้ำแล้วเป็นต้นนั้น มนุษย์ทั้งหลายย่อมทิ้งเสียเหมือนกัน คำว่า ธชาหฎะ ได้แก่ผ้าที่คนเขาเมื่อจะขึ้นเรือนเอามาผูกทำเป็นธงขึ้นไว้ ในเมื่อล่วงเลยทัศนวิสัยของคนเหล่านั้นไปแล้ว จะเอาธงนั้นมาก็สมควรแม้ผ้าที่เขาเอามาผูกทำเป็นธงปักไว้ในยุทธภูมิ ในเมื่อกองทัพทั้งสองฝ่ายผ่านพ้นไปแล้ว จะเก็บเอามาก็สมควร

คำว่า ถูปจีวระ ได้แก่ผ้าที่เขาใช้ทำพลีกรรมเอาไปวงล้อมจอมปลวกไว้ คำว่า สมณจีวระ ได้แก่ผ้าอันเป็นสมบัติของภิกษุ คำว่า อาภิเสกิกะ ได้แก่ผ้าที่เขาทิ้งไว้ ณ

(หน้าที่ 89)

สถานที่อภิเษกของพระราชา คำว่า อิทธิมยะ ได้แก่ผ้าของเอหิภิกขุ คำว่า ปันถิกะ ได้แก่ ผ้าที่ตกอยู่ในระหว่างทาง ก็แหละ ผ้าใดที่พลัดตกไปด้วยความเผลอสติของพวกเจ้าของแล้ว ผ้าเช่นนั้นต้องรอไปสักพักหนึ่งแล้วจึงค่อยเก็บ คำว่า วาตาหฏะ ได้แก่ผ้าที่ลมพัดไปตกในไกลที่ ก็แหละ ผ้าเช่นนั้นเมื่อไม่เห็นเจ้าของจะเก็บเอาไปก็สมควร คำว่า เทวทัตติยะ ได้แก่ผ้าที่เทวดาทั้งหลายถวาย เหมือนอย่างถวายแก่พระอนุรุทธเถระ คำว่า สามุททิยะ ได้แก่ผ้าที่คลื่นสมุทรทั้งหลายซัดขึ้นไว้บนบก

ก็แหละ ผ้าใดที่ทายกเขาถวายแก่สงฆ์ด้วยคำว่า สํฆสฺส เทม ดังนี้ก็ดี หรือผ้าที่ ภิกษุทั้งหลายเที่ยวขอได้มาก็ดี ผ้านั้นจัดเป็นผ้าบังสุกุลไม่ได้ แม้ในประเภทผ้าที่ภิกษุด้วยกันถวาย ผ้าใดที่ภิกษุถวายโดยให้รับเอาด้วยส่วนแห่งพรรษาก็ดี หรือที่เป็นผ้าเกิดขึ้นประจำ เสนาสนะก็ดี ผ้านั้นก็จัดเป็นผ้าบังสุกุลไม่ได้เช่นกัน เฉพาะผ้าที่ภิกษุถวาย โดยไม่ให้รับเอาด้วยส่วนแห่งพรรษาเท่านั้น จึงนับเป็นผ้าบังสุกุล

แม้ในบรรดาผ้าที่ภิกษุถวายนั้น ผ้าใดที่ทายกทอดวางไว้ ณ ที่ใกล้เท้าของภิกษุ แล้วภิกษุนั้นจึงเอามาถวายโดยวางลงในมือของภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุล ผ้านั้นจัดเป็นผ้าบริสุทธิ์ฝ่ายเดียว ผ้าใดที่พวกทายกถวายโดยวางไว้ในมือของภิกษุ แล้วภิกษุนั้นจึงเอาไปทอดวางไว้ ณ ที่ใกล้เท้าของภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุล แม้ผ้านั้นก็จัดเป็นผ้าบริสุทธิ์ฝ่ายเดียว ผ้าใดที่พวกทายกทอดวางไว้ ณ ที่ใกล้เท้าของภิกษุด้วย แม้ภิกษุนั้นก็เอาไปถวายโดยทอดวางไว้ ณ ที่ใกล้เท้าของภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลเหมือนอย่างนั้นด้วย ผ้านั้นจัดเป็นผ้าบริสุทธิ์สองฝ่าย ผ้าใดที่ภิกษุได้มาโดยทายกวางไว้ในมือ แล้วภิกษุนั้นก็วางไว้ในมือของภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุล อีกทอดหนึ่ง ผ้านั้นไม่จัดเป็นผ้าอย่างอุกฤษฏ์

อันภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลจีวร ครั้นทราบความแตกต่างกันของผ้าบังสุกุลนี้ฉะนี้แล้วพึงใช้สอยจีวรตามควรนั่นเถิด

ว่าด้วยกรรมวิธีในปังสุกูลิกังคธุดงค์ เพียงเท่านี้

(หน้าที่ 90)

ประเภท

ก็แหละ ประเภทแห่งปังสุกูลิกังคธุดงค์นี้ดังนี้ ภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ มี 3 ประเภท คือ ชั้นอุกฤษฏ์ 1 ชั้นกลาง 1 ชั้นต่ำ 1 ในปังสุกูลิกภิกษุ 3 ประเภทนั้น ปังสุกูลิกภิกษุผู้รับเอาเฉพาะผ้าที่ตกอยู่ในป่าช้าเท่านั้น จัดเป็นชั้นอุกฤษฎ์ ปังสุกูลิกภิกษุผู้รับเอาผ้าที่ทายกถวายทอดไว้ด้วยความประสงค์ว่าบรรพชิตทั้งหลายจักเก็บเอาไปดังนี้ จัดเป็นชั้นกลาง ปังสุกูลิกภิกษุผู้รับเอาผ้าที่ทายกถวายโดยวางทอดไว้ ณ ที่ใกล้เท้า จัดเป็นชั้นต่ำฉะนี้

ว่าด้วยประเภทในปังสุกูลิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก

ในบรรดาปังสุกูลิกภิกษุ 3 ประเภทนั้น ในขณะที่ปังสุกูลิกภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยินดีต่อผ้าที่พวกคฤหัสถ์ถวายตามความพอใจตามความเห็นของเขานั่นเทียว ธุดงค์ย่อมแตกคือ หายจากสภาพธุดงค์ทันที

ว่าด้วยความแตกในปังสุกูลิกังคธุดงค์ เพียงเท่านี้

อานิสงส์

ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังต่อไปนี้ คือ-โดยที่มีพระพุทธพจน์อยู่ว่า การบวชอาศัยบังสุกุลจีวร ดังนี้ ภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลนั้น ชื่อว่า เป็นผู้มีความประพฤติปฎิบัติสมควรแก่ปัจจัยอันเป็นเครื่องอาศัย, เป็นการดำรงตนไว้ในอริยวงศ์ประการที่หนึ่ง ( คือความสันโดษในจีวร ), ไม่เป็นทุกข์ในการรักษา , ไม่มีพฤติการณ์เป็นที่เกาะอาศัยของผู้อื่น, ไม่หวาดกลัวด้วยโจรภัย, ไม่เป็นการบริโภคด้วยตัณหา, เป็นผู้มีปัจจัยเหมือนดั่งพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญไว้ว่า ปัจจัยเหล่านั้น เป็นสิ่งเล็กน้อยด้วย หาได้ง่ายด้วย หาโทษมิได้ด้วย ดังนี้, เป็นผู้ที่น่าเลื่อมใส, เป็นการสำเร็จผลแห่งคุณมีความเป็นผู้มักน้อยเป็นต้นให้เจริญ เป็นการเพิ่มพูนสัมมาปฎิบัติยิ่งขึ้น, เป็นการวางไว้ซึ่งทิฎฐานุคติแก่มวลชนในภายหลัง

(หน้าที่ 91)

ภิกษุผู้สำรวม ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุล เพื่อพิฆาตพญามารและเสนามาร ย่อมสง่างาม เหมือนดังกษัตริย์ผู้ทรงสวมสอดเกราะแล้ว ย่อมทรงสง่างามในยุทธภูมิ ฉะนั้น

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นครูแห่งโลก ทรงเลิกใช้ผ้าอย่างดีมีผ้าที่ทำในแค้วนกาสีเป็นต้น แล้วมาทรงใช้ผ้าบังสุกุลจีวรอันใดใครเล่าที่จะไม่ใช้ผ้าบังสุกุลจีวรอันนั้น

เพราะเหตุฉะนี้แหละ อันภิกษุผู้เห็นภัยในสังสารวัฎ เมื่อระลึกถึงคำปฎิญญาณของตน ( ที่ให้ไว้แก่อุปัชฌาย์ในเวลาอุปสมบท ) พึงเป็นผู้ยินดีในการใช้ผ้าบังสุกุลจีวร อันเป็นเครื่องส่งเสริมการบำเพ็ญความเพียรนั่นเถิด

ว่าด้วยอานิสงส์ในปังสุกูลิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์

ในปังสุกูลิกังคธุดงค์ ประการแรกนี้ ยุติลงเพียงเท่านี้

ลำดับนี้จักพรรณนาเตจีวริกังคะ คือ องค์แห่งภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งผ้า 3 ผืนเป็นปกติ ซึ่งเป็นอันดับรองต่อมาจากปังสุกูลิกังคกถานั้นต่อไป

การสมาทาน

จากคำสมาทาน 2 คำนี้ คือ จตุตฺถกจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธผ้า ผืนที่ 4 ดังนี้อย่างหนึ่ง เตจีวริกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาองค์แห่งภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งผ้า 3 ผืนเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ด้วยคำใดคำหนึ่ง ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วซึ่งเตจีวริกังคธุดงค์

ว่าด้วยการสมาทานในเตจีวริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

(หน้าที่ 92)

กรรมวิธี

ก็แหละ อันภิกษุผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้า 3 ผืนเป็นปกตินั้น ครั้นได้ผ้าสำหรับทำจีวรมาแล้ว เมื่อยังไม่สามารถที่จะทำจีวรเพราะไม่สบายอยู่เพียงใด หรือยังไม่ได้ผู้จัดการเพียงใด หรือบรรเทาเครื่องมือทั้งหลายเช่นเข็มเป็นต้น อะไร ๆ ยังไม่สมบูรณ์เพียงใด ก็พึงเก็บผ้าไว้ได้ชั่วระยะกาลเพียงนั้น ย่อมไม่เป็นโทษเพราะการสะสมเป็นเหตุ แต่นับแต่เวลาที่ได้ย้อมผ้าเสร็จแล้วจะเก็บไว้ต่อไปไม่สมควร (ถ้าขืนเก็บไว้) ก็จะกลายเป็นโจรธุดงค์ไปเท่านั้น

ว่าด้วยกรรมวิธีในเตจีวริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท

ก็แหละ โดยประเภท แม้ภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งผ้า 3 ผืน เป็นปกตินี้ก็มี 3 ประเภทเหมือนกัน ใน 3 ประเภทนั้น ภิกษุผู้เตจีวริกชั้นอุกฤษฏ์ ต้องย้อมผ้าอันตรวาสกหรือผ้าอุตตราสงค์ก่อน ครั้นแล้วจึงนุ่งผ้าผืนที่ย้อมแล้วนั้น แล้วย้อมผืนอีกนอกนี้ต่อไป พึงห่มผ้าที่ย้อมแล้วนั้นจึงย้อมผ้าสังฆาฏิต่อไป แต่ที่จะใช้ผ้าสังฆาฏินุ่งนั้นย่อมไม่สมควร ที่กล่าวมานี้เป็นธรรมเนียมของภิกษุนั้น ในเสนาสนะภายในบ้าน ส่วนในเสนาสนะป่า จะซักย้อมพร้อมกัน 2 ผืนก็สมควร แต่จะต้องนั่งอยู่ ณ ที่ใกล้ ๆ กับผ้า เพื่อว่าพอเห็นใคร ๆ เข้าก็จะสามารถที่จะดึงมาปกปิดทันท่วงที

ส่วนสำหรับภิกษุผู้เตจีวริกชั้นกลาง จะนุ่งหรือจะห่มผ้าที่ใช้นุ่งห่ม ซึ่งมีอยู่ประจำในโรงย้อมผ้า แล้วทำการย้อมผ้า ก็สมควร

สำหรับภิกษุผู้เตจีวริกชั้นต่ำ จะขอยืมผ้าของภิกษุที่เข้ากันได้มานุ่งหรือห่มแล้ว ทำการย้อมผ้าก็สมควร แต่ที่จะรักษาไว้เป็นนิจนั้นไม่สมควร แม้ผ้าของภิกษุผู้เข้ากันได้ ที่จะขอยืมมาใช้ ก็เป็นบางครั้งบางคราว

ส่วนผ้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผืนที่ 4 สำหรับภิกษุผู้เตจีวริกเฉพาะผ้าอังสะเท่านั้น จึงจะสมควร ถึงกระนั้นผ้านั้นก็กว้างเพียง 1 คืบ ยาวเพียง 3 ศอกเท่านั้น จึงจะใช้ได้

ว่าด้วยประเภทในเตจีวริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

(หน้าที่ 93)

ความแตก

ก็แหละ ในที่ภิกษุผู้เตจีวริกทั้ง 3 จำพวกนั้น ยินดีต่อผ้าผืนที่ 4 นั่นเทียว ธุดงค์ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์

ว่าด้วยความแตกในเตจีวริกังคธุดงค์ เพียงเท่านี้

อานิสงส์

ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังต่อไปนี้ คือ - ภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งผ้า 3 ผืน ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าสันโดษยินดีด้วยผ้าเครื่องรักษาร่างกาย เพราะเหตุนั้น การถือเอาผ้าไปของท่านมีอาการบินไปเหมือนการบินของนก, ความเป็นผู้มีการงานน้อย, งดเว้นจากการสะสมผ้า, ความเป็นผู้มีพฤติการณ์เบา (ไม่หนักด้วยภาระ), เป็นอันละเสียได้ซึ่งความละโมบในอติเรกจีวร (ผ้าที่เหลือเฟือ), ความเป็นผู้มีความประพฤติขัดเกลากิเลส เพราะเป็นผู้กระทำพอดีในไตรจีวรอันสมควร, เป็นอันสำเร็จผลแห่งคุณมีความเป็นผู้มักน้อยเป็นต้น, คุณทั้งหลายมี อาทิดังพรรณนามานี้ ย่อมสำเร็จบริบุรณ์ ฉะนี้แล

โยคีบุคคลผู้เป็นบัณฑิต ละความโลภในผ้าอันเหลือเฟือ งดเว้นการสะสม ทรงไว้เพียงไตรจีวร ย่อมรู้รสแห่งความสุข อันเกิดแต่ความสันโดษ

โยคีบุคคลผู้ประเสริฐ มีไว้เฉพาะไตรจีวรประสงค์ที่จะจาริกไปอย่างสะดวกสบาย เหมือนอย่างนกมีแต่ปีกบินไป ก็พึงทำความยินดีพอใจในการกำจัดจีวรเถิด

ว่าด้วยอานิสงส์ในเตจีวริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก, และอานิสงส์

ในจีวริกังคธุดงค์นี้ ยุติลงเพียงเท่านี้

การสมาทาน

ปิณฑปาติกังคธุดงค์ก็เช่นเดียวกัน จากคำสมาทาน 2 คำนี้ คือ อติเรกลาภํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธลาภอันฟุ่มเฟือย ดังนี้อย่างหนึ่ง ปิณฺฑปาติกงฺคํ สมาทิยามิ

(หน้าที่ 94)

ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มีอันเที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียม ดังนี้อย่างหนึ่ง ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำสมาทานอันใดอันหนึ่ง

ว่าด้วยการสมาทานในปิณฑปาติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี

ก็แหละ อันภิกษุผู้มีอันเที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมนั้น จะยินกีภัตร 14 อย่างเหล่านี้ไม่ได้ คือ สังฆภัตร ภัตรที่เขาใช้ถวายสงฆ์ 1 อุทเทสภัตร ภัตรที่เขาถวายเจาะตัว 1 นิมันตนภัตร ภัตรที่เขาถวายด้วยการนิมนต์ 1 สลากภัตร ภัตรที่เขาถวายด้วยสลาก 1 ปักขิกภัตร ภัตรที่เขาถวายประจำปักษ์ 1 อุโปสถิกภัตร ภัตรที่เขาถวายประจำวันอุโบสถ 1 ปาฏิกทิกภัตร ภัตรที่เขาถวายในวันขึ้นค่ำหนึ่งหรือแรมค่ำหนึ่ง 1 อาคันตุกภัตร ภัตรที่เขาถวายอาค้นตุกะ 1 คมิกภัตร ภัตรที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้เตรียมจะเดินทาง 1 คิลานภัตร ภัตรที่เขาถวายแก่ภิกษุอาพาธ 1 คิลานุปัฏฐากภัตร ภัตรที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้อุปัฏฐากภิกษุอาพาธ 1 วิหารภัตร ภัตรที่เขาหุงต้มขึ้นในวัด 1 ธุรภัตร ภัตรที่เขาถวาย ณ ที่บ้านใกล้เรือนเคียง 1 วารกภัตร ภัตรที่เขาผลัดกันถวายโดยวาระ 1

แต่ถ้าภัตรเหล่านี้เขาถวายโดยมิได้ระบุชื่อโดยมีนัยอาทิว่า "ขอนิมนต์ท่านทั้งหลายรับสังฆภัตร" แต่ระบุเพียงว่า "ขอสงฆ์จงรับภิกษา ณ ที่บ้านของพวกข้าพเจ้า แม้ท่านทั้งหลายก็ขอนิมนต์ไปรับภิกษาด้วย" ดังนี้ จะยินดีภัตรเหล่านั้นก็สมควรอยู่ สลากภัตรที่ไม่มีอามิสจากสงฆ์ก็ดี ภัตรที่อุบาสกอุบาสิกาหุงต้มจัดทำขึ้นในวัดก็ดี สมควรแก่ภิกษุผู้มีอันเที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียม

ว่าด้วยกรรมวิธีในปิณฑปาติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท

ก็แหละ โดยประเภท แม้ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมนี้ ก็มี 3 ประเภทเหมือนกัน ใน 3 ประเภทนั้น บิณฑปาติกภิกษุชั้นอุกฤษฏ์จะรับภิกษาที่เขานำมาถวายข้างหน้าบ้างข้างหลังบ้างก็ได้ แม้เมื่อพวกทายกซึ่งอยู่ประตูบ้านที่ตนไปถึงขอรับบาตรจะให้บาตรก็ได้แม้จะรับภิกษาที่พวกทายกกลับไปนำมาถวายก็ได้ แต่ในวันนี้ ครั้นนั่งเสียแล้ว ย่อมไม่รับภิกษา (อื่น)

(หน้าที่ 95)

บิณฑปาติกภิกษุชั้นกลาง ในวันนั้น แม้ถึงจะนั่งเสียแล้วก็รับภิกษาอื่นอีกได้ แต่จะรับนิมนต์รับภิกษาวันพรุ่งนี้ไม่ได้

บิณฑปาติกภิกษุชั้นต่ำ จะรับนิมนต์รับภิกษาแม้เพื่อวันพรุ่งนี้ก็ได้ แม้เพื่อวันต่อไปอีกก็ได้

แต่อย่างไรก็ดี บิณฑปาติกภิกษุ 2 จำพวกหลังนั้น ย่อมไม่ได้รับความสะดวกสบายในอันอยู่อย่างเสรี คงได้แต่เฉพาะบิณฑปาติกภิกษุชั้นอุกฤษฏ์เท่านั้น

มีเรื่องสาทกอยู่ว่า ได้มีธรรมเทศนาเรื่องอริยวังสสูตรขึ้นในบ้าน ๆ หนึ่ง ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมชั้นกลางและชั้นต่ำนอกนี้ว่า "อาวุโสทั้งหลาย เรามาไปฟังธรรมกันเถิด" ในภิกษุ 2 รูปนั้น รูปหนึ่งพูดขอตัวว่า "ท่านครับ กระผมถูกโยมคนหนึ่งนิมนต์ให้ไปรับบิณฑบาต" อีกรูปหนึ่งก็พูดขอตัวว่า "ท่านครับ กระผมรับนิมนต์เพื่อภิกษาไว้กับโยมคนหนึ่งในวันพรุ่งนี้" ด้วยประการดังนี้ จึงเป็นอันว่า ภิกษุ 2 รูปผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมชั้นกลางและชั้นต่ำนั้นเป็นผู้พลาดจากธรรม ส่วนภิกษุชั้นอุกฤษฏ์นอกนี้บิณฑบาตแต่เช้ามืดแล้วก็ไป จึงได้เสวยรสพระธรรมสมประสงค์

ว่าด้วยประเภทในปิณฑปาติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก

ก็แหละ ในขณะที่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมทั้ง 3 ประเภทนี้ ยินดีต่อลาภอันเหลือเฟือมีสังฆภัตรเป็นต้นนั่นแล ธุดงค์ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์

ว่าด้วยความแตกในปิณฑปาติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์

ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ - โดยที่มีพระพุทธพจน์อยู่ว่า การบวชอาศัยโภชนะคือคำข้าวอันจะพึงได้ด้วยกำลังปลีแข้ง ดังนี้ ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมนั้น เป็นผู้มีข้อปฏิบัติสมควรกับปัจจัยอันเป็นเครื่องอาศัย, เป็นการดำรงตนไว้ในอริยวงศ์ข้อที่ 2 (ความสันโดษในบิณฑบาต), เป็นผู้ไม่มีพฤติการณ์เป็นที่เกาะอาศัยของคนอื่น, เป็นผู้มีปัจจัยเครื่องอาศัยตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงสรรญเสริญไว้ว่า ปัจจัยเหล่านั้นเป็นสิ่งเล็กน้อยด้วย เป็นสิ่งที่หาได้ง่ายด้วย, เป็นสิ่งที่หาโทษมิได้ด้วย,

(หน้าที่ 96)

เป็นผู้ย่ำยีเสียได้ซึ่งความเกียจคร้าน, เป็นผู้มีอาชีพอันบริสุทธิ์, เป็นการทำข้อปฎิบัติคือเสขิยวัตรให้บริบูรณ์, ไม่ใช่ผู้ที่ผู้อื่นเลี้ยงดู, เป็นการกระทำการอนุคราะห์แก่คนอื่น ( ทั่วถึงกัน ), เป็นการปิดกั้นความติดในรส, ไม่ต้องอาบัติโดยคณโภชนสิกขาบท ปรัมปรโภชนสิกขาบท และจาริตตสิกขาบท, มีความประพฤติอันสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น, เป็นการเพิ่มพูนสัมมาปฎิบัติให้เจริญยิ่งขึ้น, เป็นการสงเคราะห์มวลชนในภายหลัง

ภิกษุผู้สำรวม ยินดีแต่ในคำข้าวที่หาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง ไม่มีชีวิตเกาะอาศัยคนอื่น ละความละโมบในอาหารแล้ว ย่อมเป็นผู้ไปได้ในทิศทั้ง 4

ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมนั้น ย่อมกำจัดปัดเป่าความเกียจคร้านเสียได้ ชีวิตของท่านก็บริสุทธิ์ เพราะเหตุฉะนั้นแล ผู้มีปัญญาอันหลักแหลมจึงไม่ควรดูหมิ่นในการภิกษาจาร

เป็นความจริง แม้ทวยเทพทั้งหลาย มีท้าวสักกะเป็นต้น ย่อมกระหยิ่มอิ่มใจต่อภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียม เลี้ยงตนเองได้ อันผู้อื่นไม่ต้องเลี้ยงดู ผู้มีความมั่นคงเห็นปานดังนั้น ถ้าหากว่าภิกษุนั้นไม่เป็นผู้มุ่งหวังลาภสักการะและความสรรเสริญ

ว่าด้วยอานิสงส์ในปิณฑปาติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์

ในปิณฑปาติกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้

การสมาทาน

แม้สปทานจาริกังคธุดงค์ก็เหมือนกัน จากคำสมาทาน 2 อย่างนี้คือ โลลุปฺปจารํปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าปฏิเสธการเที่ยวไปด้วยความละโมบ ดังนี้อย่างหนึ่ง สปทานจาริกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาองค์แห่งภิกษุผู้มีอันเที่ยวไปไม่ขาดตอนเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยความสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง

ว่าด้วยการสมาทานในสปทานจาริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

(หน้าที่ 97)

กรรมวิธี

ก็แหละ อันภิกษุผู้เที่ยวไปไม่ขาดตอนเป็นปกตินั้น ครั้นไปยืนอยู่ที่ประตูบ้าน แล้วต้องกำหนดดูให้รู้ถึงความไม่มีอันตรายก่อน ถนนหรือบ้านใดมีอันตราย จะเที่ยวไปในถนนหรือบ้านอื่น โดยข้ามถนนหรือบ้านที่มีอันตรายนั้นไปก็ได้ เมื่อไม่ได้ภิกษาอะไร ๆ ณ ที่ประตูเรือนหรือถนนหรือบ้านใด พึงทำความสำคัญว่าไม่ใช่บ้านแล้วผ่านเลยไป เมื่อได้ภิกษาอะไร ๆ ณ ที่ใด จะผ่านเลยที่นั่นไป ย่อมไม่สมควร

แหละอันภิกษุผู้สปาทานจาริกนี้ต้องเข้าไปบิณฑบาตแต่เช้า ๆ หน่อย เพราะเมื่อเข้าไปแต่เช้า ๆ อย่างนี้ จึงจักสามารถที่จะผ่านสถานที่อันไม่สะดวกแล้วเที่ยวไป ณ ที่อื่นได้ทันกาล

ก็แหละ ถ้าคนทั้งหลายให้ทานอยู่ในวัดของภิกษุผู้สปทานจาริกนั้น หรือเขาเดินมาพบในระหว่างทาง เขาจะรับเอาบาตรแล้วถวายบิณฑบาตก็สมควร และแม้เมื่อภิกษุผู้สปทานจาริกนี้เดินทาง จะพึงเดินเลยบ้านที่ตนไปถึงในเวลาแห่งภิกษาจารหาได้ไม่ เมื่อไม่ได้ภิกษาในบ้านนั้น หรือได้เพียงนิดหน่อย ก็พึงเดินเที่ยวไปตามลำดับบ้านนั่นเถิด

ว่าด้วยกรรมวิธีในสปทานจาริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท

ว่าโดยประเภท แม้ภิกษุผู้เที่ยวไปไม่ขาดตอนเป็นปกตินี้ ก็มี 3 ประเภท ใน 3 ประเภทนั้น สปทานจารกภิกษุชั้นอุกฤษฏ์ย่อมไม่รับภิกษาที่เขานำมาข้างหน้า ย่อมไม่รับภิกษาที่เขาตามมาข้างหลัง ย่อมไม่รับภิกษาแม้ที่เขากลับไปเอามาถวาย แต่ยอมสละบาตรให้ที่ประตูบ้านซึ่งไปถึงแล้ว ก็แหละ ในธุดงค์นี้ใคร ๆ ที่จะปฏิบัติเสมอเหมือนกับพระมหากัสสปเถระเป็นอันไม่มี แม้สถานที่สละให้บาตรของท่านยังปรากฏอยู่นั่นเทียว

สปทานจาริกภิกษุชั้นกลาง ย่อมรับภิกษาที่เขานำมาข้างหน้าหรือข้างหลัง แม้ภิกษาที่เขากลับไปเอามาก็รับ ย่อมสละบาตรให้แม้ที่ประตูบ้านซึ่งตนเดินไปถึงแล้ว ก็แต่ว่าไม่นั่งรอรับภิกษา โดยนัยนี้ เป็นอันว่าสปทานจาริกภิกษุชั้นกลางนั้น ย่อมอนุโลมแก่ บิณฑปาติกภิกษุชั้นอุกฤษฏ์

(หน้าที่ 98)

สปทานจาริกภิกษุชั้นต่ำ ย่อมนั่งคอยรับภิกษาในวันนั้น

ว่าด้วยประเภทในสปทานจาริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก

ก็แหละ ขณะเมื่อมีการเที่ยวไปด้วยความละโมบเกิดขึ้นแก่สปทานจาริกภิกษุทั้ง 3 ประเภทนี้ ธุดงค์ย่อมแตก คือ หายจากสภาพธุดงค์

ว่าด้วยความแตกในสปทานจาริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์

ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ - ความเป็นผู้ใหม่อยู่เป็นนิจในทุก ๆ ตระกูล, เป็นผู้มีอาการเหมือนพระจันทร์, เป็นการเสียได้ซึ่งความตระหนี่ตระกูล, เป็นผู้มีการอนุเคราะห์อย่างเสมอหน้ากัน, ไม่มีโทษในเพราะการเข้าไปสู่ตระกูล, ไม่ใยดีต่อคำนิมนต์, เป็นผู้ไม่มีความต้องการด้วยการยื่นให้ซึ่งภิกษา, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น

ภิกษุผู้มีอันเที่ยวไปอย่างไม่ขาดตอนเป็นปกติในศาสนานี้ ย่อมเป็นผู้มีอาการปานดังพระจันทร์ เป็นผู้ใหม่อยู่เป็นนิจในตระกูลทั้งหลายไม่ตระหนี่ตระกูล มีความอนุเคราะห์เสมอทั่วหน้ากัน เป็นผู้พ้นแล้วจากโทษในเพราะการเข้าไปสู่ตระกูล

เพราะเหตุฉะนั้น อันภิกษุสปทานจาริกผู้เป็นบัณฑิต พึงละเสียซึ่งการเที่ยวไปด้วยความละโมบ มีตาทอดลงมองดูประมาณชั่วแอก และเมื่อยังหวังอยู่ซึ่งการเที่ยวไปอย่างเสรีในโลกปฐพีก็พึงเที่ยวไป ( เพื่อบิณฑบาต ) อย่างไม่ขาดตอน คือเที่ยวไปตามลำดับเรือนนั่นเถิด

ว่าด้วยอานิสงส์ในสปทานจาริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์

ในสปทานจาริกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้

(หน้าที่ 99)

การสมาทาน

แม้เอกาสนิกังคธุดงค์ก็เป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน 2 อย่างคือ นานาสนโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธการฉันในที่นั่งมากแห่ง ดังนี้อย่างหนึ่ง เอกาสนิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มีอันฉันในที่นั่งอันเดียวเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง

ว่าด้วยการสมาทานในเอกาสนิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี

ก็แหละ อันภิกษุผู้ฉันในที่นั่งอันเดียวเป็นปกตินั้น เมื่อจะนั่งในหอฉัน อย่านั่งบนที่นั่งของพระเถระ พึงกำหนดเอาที่นั่งอันสมควรแก่ตนว่า ที่นั่งนี้จักได้แก่อาตมา ฉะนี้ แล้วจึงนั่งที่นั่งนั้น ถ้าเมื่อภิกษุผู้เอกาสนิกนั้นกำลังฉันค้างอยู่ มีอาจารย์หรืออุปัชฌาย์มาถึงเข้า สมควรที่จะลุกขึ้นทำอาจริยวัตรหรืออุปัชฌายวัตร

แหละพระจูฬอภยเถระผู้ทรงพระไตรปิฏกได้แสดงมติไว้ว่า จะพึงรักษาซึ่งที่นั่งหรือโภชนะไว้ ด้วยว่าเอกาสนิกภิกษุนี้มีการฉันยังค้างอยู่ เพราะฉะนั้น พึงทำอาจริยวัตร หรืออุปัชฌายวัตรเถิด แต่จงอย่าฉันโภชนะเลย

ว่าด้วยกรรมวิธีในเอกาสนิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท

ก็แหละ เมื่อว่าด้วยประเภท แม้ภิกษุผู้ฉันในที่นั่งอันเดียวเป็นปกตินี้ก็มี 3 ประเภทเช่นกัน ใน 3 ประเภทนั้น เอกาสนิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ โภชนะจะน้อยหรือมากก็ตามเมื่อหย่อนมือลงไปในโภชนะอันใดแล้ว ย่อมไม่ยอมรับเอาซึ่งโภชนะอื่นจากโภชนะนั้น แม้คนทั้งหลายเขาเห็นว่า พระเถระไม่ได้ฉันอะไร ๆ แล้วพากันเอาเภสัชเช่นเนยใสเป็นต้นมาถวาย ควรจะรับไว้ได้ก็แต่เพียงเพื่อเป็นเภสัช จะรับไว้เพื่อเป็นอาหารหาได้ไม่

เอกาสนิกภิกษุชั้นกลาง เมื่อภัตตาหารในบาตรยังไม่หมดเพียงใด ก็ยังรับภัตตาหารอื่นได้อยู่เพียงนั้น ด้วยว่าเอกาสนิกภิกษุชั้นกลางนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีโภชนะเป็นที่สุด

(หน้าที่ 100)

เอกาสนิกภิกษุชั้นต่ำ เมื่อยังไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งเพียงใด ก็ยังฉันภัตตาหารได้อยู่เพียงนั้น ด้วยว่าเอกาสนิกภิกษุชั้นต่ำนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีน้ำเป็นที่สุด เพราะฉันได้ตลอดเวลาที่ยังไม่รับน้ำล้างบาตร หรือชื่อว่าเป็นผู้มีการนั่งเป็นที่สุด เพราะฉันได้ตลอดเวลาที่ยังไม่ลุกขึ้นจากที่นั่ง

ว่าด้วยประเภทในเอกาสนิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก

ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่เอกาสนิกภิกษุทั้ง 3 ประเภทนี้ฉันโภชนะในที่นั่งหลายแห่ง

ว่าด้วยความแตกในเอกาสนิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์

ก็แหละ อานิสงส์ของธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ - ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย, ความเป็นผู้มีความลำบากกายน้อย, ฐานเบา คือกลับเนื้อกลับตัวคล่องแคล่ว, กำลังแข็งแรง, มีการอยู่อย่างผาสุกสบาย, ไม่ต้องอาบัติในโภชนะอันไม่เป็นเดนเป็นเหตุ, บรรเทาความติดในรสอาหารเสียได้, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น

โรคทั้งหลายซึ่งมีการฉันเป็นเหตุ ย่อมไม่เบียดเบียนภิกษุผู้สำรวม ผู้ยินดีในการฉันในที่นั่งอันเดียว ภิกษุไม่ละโมบในรสอาหาร ย่อมอดทนได้ ไม่ทำให้งานคือการบำเพ็ญเพียรของตนเสื่อมเสียไป

ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุผู้สำรวม มีใจสะอาด พึงสร้างความพอใจให้บังเกิดในการฉันที่นั่งอันเดียว อันเป็นเหตุแห่งความผาสุก ที่ผู้ยินดีในการขัดเกลากิเลสให้สะอาดเข้าไปส้องเสพแล้วนั่นเถิด

ว่าด้วยอานิสงส์เอกาสนิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์

ในเอกาสนิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้

(หน้าที่ 101)

การสมาทาน

แม้ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาด้วยคำสมาทาน อย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน 2 อย่างนี้คือ ทุติยกภาชนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธภาชนะอันที่ 2 ดังนี้อย่างหนึ่ง ปตฺตปิณฺฑิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์ของภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง

ว่าด้วยการสมาทานในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี

ก็แหละ อันภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกตินั้น ถึงเวลาจะดื่มข้าวยาคู เมื่อได้อาหารมาไว้ในภาชนะแล้ว พึงฉันอาหารก่อนหรือจะดื่มข้าวยาคูก่อนก็ได้ ก็ถ้าใส่อาหารลงในข้าวยาคู เมื่ออาหารที่ใส่ลงไปนั้นเป็นปลาเน่าเป็นต้น ข้าวยาคูก็เป็นสิ่งที่น่าเกลียด และควรทำข้าวยาคูให้หายน่าเกลียดเสียจึงค่อยฉัน เพราะฉะนั้น คำว่า พึงฉันอาหารก่อนก็ได้นี้ ท่านกล่าวหมายเอาอาหารเช่นนั้น

ส่วนอาหารใดย่อมไม่เป็นสิ่งที่น่าเกลียด เช่น น้ำผึ้ง และ น้ำตาลกรวด เป็นต้น อาหารนั้นพึงใส่ลงในข้าวยาคูได้ แต่เมื่อจะหยิบเอาอาหารเช่นนั้น ก็พึงหยิบเอาแต่พอสมควร แก่ประมาณเท่านั้น ผักสดจะใช้มือจับกัดกินก็ได้ แต่เมื่อไม่ทำดังนั้นพึงใส่ลงในบาตรนั่นเทียว ส่วนภาชนะอย่างอื่นแม้จะเป็นใบตองก็ตามก็ไม่ควรใช้ เพราะได้ปฏิเสธภาชนะอันที่ 2 ไว้แล้ว

ว่าด้วยกรรมวิธีโดยปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท

ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้ภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกตินี้ก็มี 3 ประเภท ใน 3 ประเภทนั้น ปัตตปิณฑิกภิกษุชั้นอุกฤษฏ์ แม้จะคายกากอาหารทิ้งก็ไม่ควร ยกเว้นแต่เวลาฉันอ้อยขวั้น (อ้อยลำ) แม้ก้อนข้าวสุก, ปลา, เนื้อและขนมจะใช้มือบิฉันก็ไม่ควร

(หน้าที่ 102)

สำหรับปัตติปิณฑิกภิกษุชั้นกลางนั้น จะใช้มือข้างหนึ่งบิแล้วฉันก็ควร ปัตติปิณฑิกภิกษุนี้ ชื่อว่า หัตถโยคี (โยคีผู้ใช้มือ)

ส่วนปัตติปิณฑิกภิกษุชั้นต่ำเป็นผู้ชื่อว่า ปัตตโยคี (โยคีผู้ใช้บาตร) คือ ของเคี้ยว ของฉันสิ่งใดสามารถที่จะบรรจุเข้าไปในบาตรของท่านได้ จะบิของเคี้ยวของฉันนั้นด้วยมือหรือจะขบด้วยฟันแล้วฉันก็ควร

ว่าด้วยประเภทในปัตตปิณฑิกกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก

ก็แหละ ธุดงค์ของภิกษุผู้ปัตตปิณฑิกทั้ง 3 ประเภทนี้ ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่ท่านเหล่านั้นยินดีต่อภาชนะอันที่ 2 นั่นเทียว

ว่าด้วยความแตกในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์

ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ – เป็นการบรรเทาเสียซึ่งตัณหาในรส ต่าง ๆ เป็นการเสียสละได้ซึ่งภาวะที่มีความอยากในรสในภาชนะนั้น ๆ ความเป็นผู้เห็นประโยชน์ และประมาณในอาหาร, ไม่มีความลำบากเพราะการรักษาเครื่องใช้เช่นถาดเป็นต้น, ไม่มีความเป็นผู้ฉันล่อกแล่ก, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความเป็นคนมักน้อยเป็นต้น

ภิกษุผู้มีวัตรปฏิบัติอันงดงาม เลิกละความล่อกแล่กในภาชนะนานาชนิดเสีย มีตาทอดลงแต่ในบาตร ย่อมเป็นเสมือนขุดอยู่ซึ่งรากเหง้าแห่งตัณหาในรส

ภิกษุผู้มีใจงดงาม รักษาไว้ซึ่งความสันโดษเสมือนดังรูปร่างของตน พึงสามารถที่จะฉันอาหารเช่นนี้ได้ ภิกษุอื่นใครเล่าที่จะพึงผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกติ

ว่าด้วยอานิสงส์ในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์

ในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้

(หน้าที่ 103)

การสมาทาน

แม้ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน 2 อย่างนี้ คือ อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธโภชนะอันล้นเหลือ ดังนี้อย่างหนึ่ง ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตรเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง

ว่าด้วยการสมาทานในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี

ก็แหละ อันภิกษุมิใช่ผู้เป็นอันฉันปัจฉาภัตรเป็นปกตินั้น ครั้นห้ามโภชนะเสียแล้วไม่พึงให้ทำโภชนะให้เป็นกัปปิยะ (ให้เป็นของควรฉัน) แล้วฉันอีก

ว่าด้วยกรรมวิธีในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท

ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภทแล้ว ภิกษุมิใช่ผู้ฉันปัจฉาภัตรเป็นปกตินี้มี 3 ประเภทดังนี้คือ-

โดยเหตุที่การห้ามโภชนะย่อมมีไม่ได้ในบิณฑบาตรครั้งแรก แต่เมื่อบิณฑบาตรครั้งแรกนั้น อันภิกษุผู้ขลุปัจฉาภัตติกะกำลังฉันอยู่ ย่อมเป็นอันปฏิเสธซึ่งบิณฑบาตอื่น ฉะนั้น ในขลุปัจฉาภัตติกภิกษุ 3 ประเภทนั้น ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุชั้นอุกฤษฏ์ห้ามโภชนะแล้วด้วยอาการอย่างนี้คือ ฉันบิณฑบาตครั้งแรกแล้ว ย่อมไม่ฉันบิณฑบาตครั้งที่สอง

ขลุปัจฉาภัตติภิกษุชั้นกลาง ตนห้ามแล้วในเพราะโภชนะใด ยังฉันโภชนะนั้นได้อยู่นั่นเทียว

ส่วนขลุปัจฉาภัตติกภิกษุชั้นต่ำ ย่อมฉันบิณฑบาตได้ตลอดเวลาที่ตนยังไม่ลุกจากที่นั่ง

ว่าด้วยประเภทในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

(หน้าที่ 104)

ความแตก

ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุทั้ง 3 ประเภทนี้ซึ่งห้ามโภชนะแล้ว ให้ทำโภชนะให้เป็นกัปปิยะแล้วฉันอีกนั่นเทียว

ว่าด้วยความแตกในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์

ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ - เป็นการห่างไกลจากอาบัติเพราะฉันโภชนะอันไม่เป็นเดน, ไม่มีการแน่นท้อง, เป็นการไม่สะสมอามิส, ไม่มีการแสวงหาอีก, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น

โยคีบุคคลผู้ขลุปัจฉาภัตติกซึ่งเป็นบัณฑิต ย่อมไม่เผชิญกับความลำบาก เพราะการแสวงหาอาหาร ย่อมไม่ทำการสะสมอามิส ย่อมหายจากความแน่นท้อง

เพราะฉะนั้น อันโยคีบุคคลผู้ใคร่ที่จะกำจัดเสียซึ่งโทษทั้งหลาย พึงบำเพ็ญขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระบรมศาสดาทรงสรรเสริญพระปฏิบัติศาสนาว่า เป็นที่เกิดแห่งความเจริญขึ้นแห่งคุณมีคุณคือ ความสันโดษเป็นต้นนั่นเทียว

ว่าด้วยอานิสงส์ในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์

ในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้

การสมาทาน

แม้อารัญญิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน 2 อย่างนี้คือ คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอ

(หน้าที่ 105)

ปฏิเสธเสนาสนะภายในบ้าน ดังนี้อย่างหนึ่ง อารญฺญิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง

ว่าด้วยการสมาทานในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี

ก็แหละ อันภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกตินั้น ต้องออกจากเสนาสนะภายในบ้านไปทำให้อรุณตั้งขึ้นในป่า, ในเสนาสนะ 2 อย่างนั้น บ้านพร้อมอุปจารแห่งบ้านนั่นเทียว ชื่อว่า เสนาสนะภายในบ้าน

อธิบายคำว่าบ้าน

ที่อยู่อาศัยอย่างใดอย่างหนึ่ง จะมีกระท่อมหลังเดียวหรือหลายหลังก็ตาม จะมีเครื่องล้อมหรือไม่มีเครื่องล้อมก็ตาม จะมีคนหรือไม่มีคนก็ตาม แม้ชั้นที่สุดหมู่เกวียนเหล่าใดเหล่าหนึ่งซึ่งจอดพักอยู่เกิน 4 เดือน ชื่อว่า บ้าน

อธิบายคำว่าอุปจารบ้าน

สำหรับบ้านที่มีเครื่องล้อมเหมือนดังเมืองอนุราธบุรี ย่อมมีเขื่อนอยู่ 2 ชั้น ชั่วเลฑฑุบาตหนึ่ง (ชั่วขว้างก้อนดินตก) ของบุรุษผู้มีกำลังปานกลาง ซึ่งยืนอยู่ที่เขื่อนด้านใน ชื่อว่า อุปจารบ้าน (บริเวณรอบ ๆบ้าน)

ท่านที่ชำนาญพระวินัยอธิบายลักษณะของเลฑฑุบาตนั้นไว้ดังนี้ ที่ภายในแห่งก้อนดินตก ซึ่งบุรุษผู้มีกำลังปานกลางขว้างไปนั้น เหมือนอย่างพวกเด็กวัยหนุ่ม เมื่อจะออกกำลังของตน จึงเหยียดแขนออกแล้วขว้างก้อนดินไป ฉะนั้น

ส่วนท่านผู้ชำนาญพระสูตรอธิบายไว้ว่า ที่ภายในแห่งก้อนดินตก ซึ่งบุรุษขว้างไปด้วยหมายที่จะห้ามกา ชื่อว่า อุปจารบ้าน

ในบ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม มาตุคาม ( สตรี ) ยืนอยู่ที่ประตูเรือนห้องสุดเขาทั้งหมดแล้วสาดน้ำไปด้วยภาชนะ ภายในที่ตกแห่งน้ำนั้น ชื่อว่า อุปจารเรือน นับแต่อุปจารเรือนนั้นออกไปชั่วเลฑฑุบาตหนึ่งโดยนัยกล่าวมาแล้ว ยังนับเป็นบ้าน ชั่วเลฑฑุบาตที่สองจึงนับเป็น อุปจารบ้าน

(หน้าที่ 106)

อธิบายคำว่าป่า

ส่วนป่านั้น ประการแรก โดยปริยายแห่งพระวินัยท่านอธิบายไว้ว่า ยกเว้นบ้านและอุปจารบ้านเสีย ที่ทั้งหมดนั้นเรียกว่า ป่า โดยปริยายแห่งพระอภิธรรมท่านอธิบายไว้ว่า ที่ภายนอกจากเขื่อนออกไปทั้งหมดนั้น เรียกว่า ป่า ส่วน ณ ที่นี้โดยปริยายแห่งพระสูตรท่านอธิบายลักษณะไว้ดังนี้ เสนาสนะหลังสุดท้ายที่ตั้งอยู่ชั่วระยะ 500 ชั่วธนู เรียกว่า เสนาสนะป่า ลักษณะที่กล่าวมานี้ พึงกำหนดวัดด้วยคันธนูแบบที่ขึ้นแล้ว สำหรับบ้านที่มีเครื่องล้อมวัดตั้งแต่เสาเขื่อนจนจรดรั้ววัด สำหรับบ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม วัดตั้งแต่ชั่วเลฑฑุบาตแรกไปจนจรดรั้ววัด

พระอรรถกถาจารย์ อธิบายไว้ในอรรถกถาวินัยทั้งหลายว่า แหละถ้าเป็นวัดที่ไม่มีรั้วล้อม พึงวัดเอาเสนาสนะหลังต้นเขาทั้งหมดให้เป็นเครื่องกำหนด หรือพึงวัดเอาโรงครัว หรือที่ประชุมประจำ หรือต้นโพธิ์ หรือพระเจดีย์ แม้มีอยู่ในที่ห่างไกลไปจากเสนาสนะให้เป็นเครื่องกำหนดก็ได้

ส่วนในอรรถกถามัชฌิมนิกายท่านอธิบายไว้ว่า แม้อุปจารวัดก็เหมือนอุปจารบ้าน พึงออกมาวัดเอาตรงระหว่างเลฑฑุบาตทั้งสองนั่นเถิด ข้อนี้นับเอาเป็นประมาณในการคำนวณนี้ได้

แม้หากว่ามีหมู่บ้านอยู่ในที่ใกล้กับวัด ภิกษุสามเณรซึ่งอยู่ในวัดก็ได้ยินเสียงของชาวบ้านอยู่ แต่ก็ไม่อาจจะเดินทางตรง ๆ ถึงกันได้ เพราะมีภูเขาและแม่น้ำเป็นต้นขั้นอยู่ในระหว่าง ทางใดอันเป็นทางเดินโดยปกติของวัดนั้น แม้หากพึงจะสัญจรไปมาด้วยเรือก็ตามพึงถือเอาเป็น 500 ชั่วคันธนูด้วยทางนั้น แต่อารัญญิกภิกษุใดปิดกั้นทางเล็ก ๆ ในที่นั้น ๆ เสีย เพื่อประสงค์ที่จะให้สำเร็จเป็นองค์ของบ้านใกล้วัด อารัญญิกภิกษุนี้ ย่อมชื่อว่า โจรธุดงค์

ก็แหละ ถ้าอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ของอารัญญิกภิกษุเกิดต้องอาพาธขึ้นมา เมื่อท่านไม่ได้ความสัปปายะในป่า จะพึงนำพาอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ไปอุปัฎฐากที่เสนาสนะภายในบ้านก็ได้ แต่ต้องรีบกลับออกไปให้ทันกาล ทำให้อรุณขึ้นในที่อันประกอบด้วยองค์แห่งป่าถ้าโรคของอุปัชฌาย์หรืออาจารย์กำเริบขึ้นในเวลาอรุณขึ้นพอดี ก็พึงอยู่ทำกิจวัตรถวายแด่อุปัชฌาย์หรืออาจารย์นั่นเถิด ไม่ต้องห่วงทำธุดงค์ให้บริสุทธิ์ดอก

ว่าด้วยกรรมาวิธีในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

(หน้าที่ 107)

ประเภท

ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้ภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกตินี้ ก็มี 3 ประเภท ใน 3 ประเภทนั้น อารัญญิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ ย่อมทำให้อรุณขึ้นในป่าตลอดกาล (คืออยู่ในป่าเป็นนิจ) อารัญญิกภิกษุชั้นกลาง ย่อมอยู่ในเสนาสนะภายในบ้านตลอดกาล 4 เดือนในฤดูฝน อารัญญิกภิกษุชั้นต่ำ ย่อมอยู่ในเสนาสนะภายในบ้านได้ตลอดกาล 4 เดือนในฤดูหนาวด้วย (รวมเป็นเวลา 8 เดือน)

ว่าด้วยประเภทอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก

ก็แหละ เมื่ออารัญญิกภิกษุทั้ง 3 ประเภทนั้น มาจากป่าแล้วฟังธรรมเทศนาอยู่ ในเสนาสนะภายในบ้าน แม้ถึงอรุณจะขึ้นในกาลตามที่กำหนดไว้นั้น ธุดงค์ก็ไม่แตก ครั้นฟังธรรมแล้วกำลังเดินทางกลับไปอยู่ ถึงแม้อรุณจะตั้งขึ้นระหว่างทาง ธุดงค์ก็ไม่แตก

แต่เมื่อพระธรรมกถึกลุกไปแล้ว อารัญญิกภิกษุทั้ง 3 ประเภทนั้น คิดว่าจักพักนอนสักครู่หนึ่งแล้วจึงจักไป ดังนี้แล้วเลยหลับไปทำให้อรุณขึ้นในเสนาสนะภายในบ้าน หรือทำให้อรุณขึ้นในเสนาสนะภายในบ้านตามความชอบใจของตน ธุดงค์ย่อมแตก

ว่าด้วยความแตกในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์

ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ – อารัญญิกภิกษุผู้สนใจถึงซึ่งความสำคัญแห่งป่า เป็นผู้ควรที่จะได้บรรลุซึ่งสมาธิที่ยังมิได้บรรลุ หรือเป็นผู้ควรที่จะรักษาไว้ได้ซึ่งสมาธิที่ได้บรรลุแล้ว, แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงพอพระหฤทัยต่อท่าน เหมือนดังที่ตรัสไว้ว่า นาคิตภิกขุ ด้วยเหตุนั้น เราย่อมพอใจต่อภิกษุนั้นด้วยการอยู่ในป่า ดังนี้, อนึ่ง สิ่งต่าง ๆ มีรูปอันไม่เป็นที่สัปปายะเป็นต้น ย่อมไม่รบกวนจิตของอารัญญิกภิกษุนั้น ผู้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด, ภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกติเป็นผู้สิ้นความสะดุ้งหวาดเสียวแล้ว ละความพอใจอาลัยในชีวิตได้แล้ว ท่านย่อมได้เสวยรสแห่งความสุขอันเกิดแต่วิเวก, อนึ่ง ภาวะที่เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ เป็นต้น ย่อมเป็นภาวะที่เหมาะสมแก่ท่านอารัญญิกภิกษุนั้น

(หน้าที่ 108)

อารัญญิกภิกษุผู้ชอบความสงบ ไม่คลุกคลี ยินดีในเสนาสนะอันสงัด เป็นผู้ยังพระมานัสของสมเด็จพระโลกนาถให้ทรงโปรดปรานได้

อารัญญิกภิกษุผู้สำรวม อยู่ในป่าแต่เดียวดาย ย่อมได้ประสบความสุขอันใด รสแห่งความสุขอันนั้น แม้แต่ทวยเทพกับพระอินทร์ก็ไม่ได้ประสบ

แหละอารัญญิกภิกษุนี้ เที่ยวสวมสอดผ้าบังสุกุลจีวร เป็นเสมือนกษัตริย์ทรงสวมสอดเกราะ เข้าสู่สงครามคือป่า มีธูตธรรมที่เหลือเป็นอาวุธ เป็นผู้สามารถที่จะได้ชัยชนะซึ่งพญามารพร้อมทั้งราชพาหนะ โดยไม่นานเท่าไรนักเลย

เพราะเหตุฉะนั้น อันภิกษุผู้เป็นบัณฑิต พึงกระทำความยินดีในการอยู่ป่า นั่นเทอญ

ว่าด้วยอานิสงส์ในอรัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์

ในอารัญญิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้

การสมาทาน

แม้รุกขมูลิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน 2 อย่างคือ ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธที่อยู่ที่มีหลังคา ดังนี้อย่างหนึ่ง รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ที่โคนไม้เป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง

ว่าด้วยการสมาทานในรุกขมูลิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

(หน้าที่ 109)

กรรมวิธี

ก็แหละ อันภิกษุผู้อยู่โคนไม้เป็นปกตินั้น พึงยึดเอาต้นไม้ที่อยู่สุดเขตวัด โดยละเว้นต้นไม้เหล่านี้เสียคือ ต้นไม้อยู่ในระหว่างเขตรัฐสีมา ต้นไม้เป็นที่นับถือบูชา ต้นไม้มียาง ต้นไม้ผล ต้นไม้มีค้างคาว ต้นไม้มีโพรง และต้นไม้อยู่กลางวัด

ว่าด้วยกรรมวิธีในรุกขมูลิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท

ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้รุกขมูลิกภิกษุนี้ ก็มี 3 ประเภท ใน 3 ประเภทนั้น รุกขมูลิกภิกษุชั้นอุกฤษฏ์ จะยืดถือต้นไม้ตามใจชอบแล้วใช้คนอื่นให้ปัดกวาดไม่ได้ พึงใช้เท้าเขี่ยใบไม้ที่ร่วงหล่นด้วยตนเองแล้วอยู่เถิด

รุกขมูลิกภิกษุชั้นกลาง จะใช้บรรดาผู้ที่บังเอิญมาถึง ณ ที่ตรงนั้นให้ช่วยปัดกวาดก็ได้

อันรุกขมูลิกภิกษุชั้นต่ำ พึงเรียกคนรักษาวัดหรือสามเณรมาแล้วใช้ให้ช่วยชำระปัดกวาดให้สะอาด ให้ช่วยปราบพื้นให้สม่ำเสมอ ให้ช่วยเกลี่ยทราย ให้ช่วยล้อมรั้ว ให้ช่วยประกอบประตูแล้วอยู่เถิด แต่ในวันงานมหกรรมฉลอง อันรุกขมูลิกภิกษุอย่านั่งอยู่ ณ ที่นั่น พึงหลบไปนั่ง ณ ที่กำบังแห่งอื่นเสีย

ว่าด้วยประเภทในรุกขมูลิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก

ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่รุกขมูลิกภิกษุทั้ง 3 ประเภทนี้ สำเร็จการอยู่ในที่อันมีหลังคานั่นเทียว

ท่านผู้ชำนาญคัมภีร์อังคุตตรนิกาย อธิบายไว้ว่า ธุดงค์นี้ ย่อมแตกในขณะที่รุกขมูลิกภิกษุเหล่านั้นรู้แล้วทำอรุณให้ขึ้นในที่อยู่อันมีหลังคา

ว่าด้วยความแตกในรุกขมูลิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

(หน้าที่ 110)

อานิสงส์

ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ – เป็นผู้มีข้อปฏิบัติสมควรแก่ปัจจัยเครื่องอาศัย ตามพระพุทธวจนะข้อว่า การบวช อาศัยเสนาสนะคือโคนไม้, เป็นผู้มีปัจจัยอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญไว้มีอาทิเช่นว่า ปัจจัยเหล่านั้นเป็นสิ่งเล็กน้อยด้วย หาได้ง่ายด้วย, เป็นการยังอนิจจสัญญาให้ปรากฏด้วยได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของใบไม้, ไม่มีความตระหนี่เสนาสนะและความหลงยินดีการงาน, เป็นผู้มีการอยู่ร่วมกับรุกขเทวดาทั้งหลาย เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความสันโดษเป็นต้น

ที่อยู่อาศัยของภิกษุผู้ชอบความสงัด อันพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐทรงสรรเสริญและเชยชมแล้วว่า เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยที่จะเปรียบเสมอด้วยโคนไม้ จะมีแต่ที่ไหน

จริงอยู่ ภิกษุผู้อาศัยอยู่ที่โคนไม้สงัด เป็นที่นำออกซึ่งความตระหนี่อาวาส อันเทวดาอภิบาลรักษา ย่อมเป็นผู้มีวัตรปฏิบัติอันดีงาม

เมื่อรุกขมูลิกภิกษุได้เห็นใบไม้หลายชนิด คือชนิดที่แดงเข้มบ้าง ชนิดที่เขียวสดบ้าง ชนิดที่เหลืองซึ่งร่วงหล่นแล้วบ้าง ย่อมจะบรรเทา นิจจสัญญาคือความหมายว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของเที่ยงเสียได้

เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุผู้เห็นแจ้ง อย่าได้พึงดูหมิ่นโคนไม้อันสงัด อันเป็นมรดกที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้ และเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ยินดีแล้วในการภาวนา

ว่าด้วยอานิสงส์ในรุกขมูลิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์

ในรุกขมูลิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้

(หน้าที่ 111)

การสมาทาน

แม้อัพโภกาสิกังคธุดงค์ ก็เป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน 2 อย่างนี้คือ ฉนฺนญฺจ รุกฺขมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธที่อยู่อันมีหลังคาและโคนไม้ ดังนี้อย่างหนึ่ง อพฺโภกาสิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ ณ ที่กลางแจ้งเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง

ว่าด้วยการสมาทานในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี

ก็แหละ อันอัพโภกาสิกภิกษุนั้นจะเข้าไปยังโรงอุโบสถ เพื่อจะฟังธรรมเทศนา หรือเพื่อจะทำอุโบสถกรรมก็ได้ เมื่อเข้าไปแล้วฝนเกิดตกขึ้นมา ครั้นฝนกำลังตกอยู่ก็ไม่ต้องออก เมื่อฝนหายแล้วจึงค่อยออก จะเข้าไปโรงฉันหรือโรงไฟเพื่อทำกิจวัตรก็ได้ จะไปบอกอำลาภัตติกภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระในโรงฉันก็ได้ เมื่อจะแสดงบาลีเอง หรือให้ผู้อื่นแสดงให้ฟัง จะเข้าไปยังที่อยู่อันมีหลังคาก็ได้ และจะเอาเตียงและตั่งเป็นต้นซึ่งทิ้งเกะกะอยู่ข้างนอกเข้าไปเก็บไว้ข้างในก็ได้ ถ้าเมื่อกำลังเดินทางถือเครื่องบริขารของพระเถระผู้ใหญ่ไปเมื่อฝนตกจะเข้าไปยังศาลาที่อยู่กลางทางก็ได้ ถ้าไม่ได้ถืออะไร ๆ จะรีบเดินไปด้วยหมายใจว่าจะพักอยู่ในศาลาว่าไม่สมควร แต่เมื่อเดินไปอย่างปกติ เข้าไปในศาลาแล้วก็พึงอยู่จนกว่าฝนจะหายจึงค่อยไป

ว่าด้วยกรรมวิธีโดยอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท

ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้อัพโภกาสิกภิกษุนี้ก็มี 3 ประเภท ใน 3 ประเภทนั้น สำหรับอัพโภกาสิกภิกษุชั้นอุกฤษฏ์ จะเข้าไปพะพิงอิงต้นไม้หรือภูเขาหรือเรือนอยู่ไม่ได้ ต้องทำกระท่อมผ้า (กางกลด) อยู่ ณ ที่กลางแจ้งเท่านั้น

สำหรับอัพโภกาสิกภิกษุชั้นกลาง จะเข้าไปพะพิงอิงต้นไม้ภูเขาและบ้าน แต่ไม่เข้าไปอยู่ข้างในได้อยู่

(หน้าที่ 112)

สำหรับอัพโภกาสิกภิกษุชั้นต่ำ เงื้อมเขาซึ่งมีขอบเขตมิได้มุงบังก็ดี ปะรำที่มุงบังด้วยกิ่งไม้ก็ดี ผ้ากลดหยาบ ๆ ก็ดี (ผ้าเต็นท์กระมัง) กระต๊อบซึ่งอยู่ตามที่นั้น ๆ ที่พวกคนเฝ้านาเป็นต้นทอดทิ้งแล้วก็ดี ใช้ได้ทั้งนั้น

ว่าด้วยประเภทในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก

ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่อัพโภกาสิกภิกษุทั้ง 3 ประเภทนี้ เข้าไปสู่ที่อยู่อันมีหลังคาหรือเข้าไปสู่โคนไม้

ท่านผู้ชำนาญคัมภีร์อังคุตตรนิกายอธิบายไว้ว่า ธุดงค์นี้ย่อมแตกในขณะที่อัพโภกาสิกภิกษุรู้แล้วทำอรุณให้ขึ้นในที่อยู่ซึ่งมีหลังคาหรือที่โคนไม้นั้น

ว่าด้วยความแตกในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์

ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ - เป็นการตัดความกังวลในที่อยู่เสียได้, เป็นอุบายบรรเทาถีนะมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอน, เป็นผู้สมควรแก่การที่จะสรรเสริญว่า ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีบ้าน ไม่ติดข้องเที่ยวไป มีอาการปานดังฝูงเนื้อฉะนั้น, เป้นผู้สิ้นความเกี่ยวเกาะ, เป็นผู้จาริกไปได้ในทิศทั้ง 4, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น

ภิกษุมีจิตใจเป็นดังจิตใจของเนื้อทราย อาศัยอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง อันมีเพดานประดับแก้วด้วยมณีคือดวงดาว อันสว่างไสวด้วยดวงประทีปคือพระจันทร์ อันสมควรแก่ภาวะของท่านผู้ไม่มีเรือนทั้งหาได้ไม่ยาก กำจัดความง่วงเหงาหาวนอนให้ส่างซาแล้ว อาศัยแล้วซึ่งความเป็นผู้ยินดีในภาวนา ไม่นานสักเท่าไร ย่อมจะได้ประสบซึ่งความยินดีในรสอันเกิดแต่ความสงัดเป็นแน่แท้

(หน้าที่ 113)

เพราะเหตุนั้นแหละ อันภิกษุผู้มีปัญญา พึงเป็นผู้ยินดีในที่กลางแจ้งนั่นเทอญ

ว่าด้วยอานิสงส์ในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์

ในอัพโภกาสิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้

การสมาทาน

แม้โสสานิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน 2 อย่างนี้คือ น สุสานํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธที่อันมิใช่สุสาน ดังนี้อย่างหนึ่ง โสสานิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ในป่าช้าเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง

ว่าด้วยการสมาทานในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี

ก็แหละ อันภิกษุผู้อยู่ในสุสานเป็นปกตินั้น ไม่พึงอยู่ในสถานที่ที่พวกมนุษย์อาศัยบ้านอยู่แล้วกำหนดหมายเอาไว้ว่า ที่ตรงนี้ทำเป็นสุสาน เพราะเมื่อยังมิได้เผาศพสถานที่นั้นจะได้ชื่อว่าสุสานหาได้ไม่ แต่นับแต่เวลาที่เผาศพแล้วไป แม้เขาจะทอดทิ้งไปแล้วถึง 12 ปี สถานที่นั้นก็ยังคงสภาพเป็นสุสานอยู่นั่นเอง

แหละเมื่อโสสานิกภิกษุอยู่ในสุสานนั้น จะให้ปลูกสร้างสถานที่ เช่นปะรำสำหรับจงกรม จะให้จัดแจงเตียงและตั่ง จะให้ตั้งน้ำฉันและน้ำใช้ จะสอนธรรม หาเป็นการสมควรไม่ ก็ธุดงค์นี้เป็นภาระหนัก (บริหารได้ยาก) เพราะฉะนั้น เพื่อป้องกันอันตรายซึ่งอาจจะเกิดขึ้น อันโสสานิกภิกษุพึงกราบเรียนพระสังฆเถระ หรือบอกเจ้าหน้าที่ให้ทราบไว้ จึงอยู่อย่างไม่ประมาทนั่นเถิด เมื่อเดินจงกรม ก็พึงเดินชำเลืองตาดูสุสานไปพลาง

(หน้าที่ 114)

ท่านผู้ชำนาญในคัมภีร์อังคุตตรนิกายพรรณนาไว้ว่า แม้เมื่อโสสานิกภิกษุจะไปสู่สุสานนั้น พึงหลบจากทางสายใหญ่ ๆ เสีย ลัดเลาะไปตามนอกเส้นทาง พึงกำหนดหมายอารมณ์ไว้เสียแต่ในกลางวันทีเดียว (เช่นหมายไว้ว่า ตรงนี้เป็นจอมปลวก ตรงนี้เป็นต้นไม้ ตรงนี้เป็นตอ) เพาะเมื่อกำหนดหมายไว้อย่างนี้ อารมณ์นั้นจักไม่ทำให้เกิดความหวาดกลัวแก่เธอในเวลากลางคืน แม้ถึงจะมีพวกอมนุษย์เที่ยวร่ำร้องอยู่ไปมาในเวลากลางคืน ก็อย่าขว้างปาด้วยวัตถุอะไร (เช่น ก้อนดินและก้อนหินเป็นต้น) อันโสสานิกภิกษุนั้นที่จะไม่ไปยังสุสานแม้เพียงวันเดียวหาได้ไม่ ต้องทำให้มัชฌิมยาม (4 ทุ่ม ถึง 8 ทุ่ม) หมดสิ้นไปอยู่ในสุสาน แล้วจึงกลับออกมาในเวลาปัจฉิมยาม (9 ทุ่ม ถึง 12 ทุ่ม)

ของเคี้ยวของฉันอันไม่เป็นที่ชอบใจของพวกอมนุษย์ เช่น แป้งผสมงา, ข้าวผสมถั่ว, ปลา, เนื้อ, น้ำ, น้ำมันและน้ำอ้อยเป็นต้น ไม่ควรจะเสพ ไม่ควรเข้าไปสู่เรือนแห่งตระกูล

ว่าด้วยกรรมวิธีในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท

ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้โสสานิกภิกษุนี้ก็มี 3 ประเภท ใน 3 ประเภทนั้น โสสานิกภิกษุชั้นอุกฤษฏ์ ต้องอยู่ ณ สุสานซึ่งมีการเผาศพประจำ, มีศพประจำและมีการร้องไห้เป็นเนืองนิจเท่านั้น

สำหรับโสสานิกภิกษุชั้นกลาง ในองค์คุณแห่งสุสาน 3 ชนิดนั้น แม้จะมีเพียงชนิดเดียว ก็สมควร

สำหรับโสสานิกภิกษุชั้นต่ำ อยู่ในสุสานที่พอเข้าลักษณะแห่งสุสานตามนัยที่กล่าวแล้ว ก็เป็นการสมควร

ว่าด้วยประเภทในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก

ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ โดยที่โสสานิกภิกษุทั้ง 3 ประเภทนี้ สำเร็จการอยู่ในสถานที่ซึ่งมิใช่สุสานนั่นเทียว

(หน้าที่ 115)

ท่านผู้ชำนาญในคัมภีร์อังคุตตรนิกายอรรถาธิบายไว้ว่า ธุดงค์นี้ย่อมแตกในวันที่ไม่ไปสู่สุสาน

ว่าด้วยความแตกในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์

ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ – ได้มรณสติ, มีการอยู่อย่างไม่ประมาท, ได้ประสบอสุภนิมิต, บรรเทาเสียได้ซึ่งความกำหนัดในกาม, ได้เห็นสภาวะแห่งกายเนือง ๆ, ความเป็นผู้มากด้วยความสังเวชสลดใจ, ละเสียได้ซึ่งความเมาในความไม่มีโรคเป็นต้น, ครอบงำเสียได้ซึ่งภัยอันน่ากลัว, มีภาวะเป็นที่เคารพและเป็นที่น่าสรรเสริญของอมนุษย์ทั้งหลาย, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น

ก็แหละ โทษเพราะประมาททั้งหลายย่อมไม่ถูกต้องพ้องพาน ซึ่งภิกษุผู้อยู่ในสุสานเป็นปกติ แม้จะหลับอยู่ก็ตาม ทั้งนี้เพราะอำนาจแห่งมรณานุสสติภาวนา

แหละ เมื่อโสสานิกภิกษุนั้นเห็นศพอยู่อย่างมากมาย จิตของท่านไม่ตกไปสู่อานุภาพและอำนาจของกามเลย

โสสานิกภิกษุ ย่อมประสบความสังเวชสลดใจอย่างไพศาล ย่อมไม่เข้าถึงซึ่งความมัวเมา อนึ่ง ชื่อว่าพยายามแสวงหาอยู่ ซึ่งพระนิพพานโดยชอบ

ด้วยประการฉะนี้ อันภิกษุผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีจิตน้อมเอียงไปหาพระนิพพาน พึงส้องเสพซึ่งโสสานิกังคธุดงค์เถิด เพราะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งคุณเป็นอเนกประการ

ว่าด้วยอานิสงส์ในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์

ในโสสานิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้

(หน้าที่ 116)

การสมาทาน

แม้ยถาสันถติกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน 2 อย่างนี้คือ เสนาสนโลลุปฺปํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธความละโมบในเสนาสนะ ดังนี้อย่างหนึ่ง ยถาสนฺถติกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะตามที่จัดแจงไว้แล้วอย่างไรเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง

ว่าด้วยการสมาทานในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี

ก็แหละ เสนาสนะใดที่สงฆ์ให้เธอรับเอาแล้วด้วยคำว่า เสนาสนะนี้ถึงแก่ท่าน ฉะนี้ อันยถาสันถติกภิกษุนั้น พึงยินดีด้วยเสนาสนะนั้นเท่านั้น ไม่พึงขับไล่ภิกษุอื่นให้ลุกหนีไป

ว่าด้วยกรรมวิธีในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท

ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้ยถาสันถติกภิกษุนี้ ก็มี 3 ประเภท ใน 3 ประเภทนั้น ยถาสันถติกภิกษุชั้นอุกฤษฏ์ จะสอบถามถึงเสนาสนะที่ถึงแก่ตนว่า ไกลไหม ? ใกล้ไหม ? อันอมนุษย์และจำพวกสัตว์ทีฆชาติเป็นต้นรบกวนไหม ? ร้อนไหม ? หรือเย็นไหม ? ดังนี้หาได้ไม่

ยถาสันถติกภิกษุชั้นกลาง จะสอบถามดังนั้นได้อยู่ แต่จะไปตรวจดูหาได้ไม่

ยถาสันถติกภิกษุชั้นต่ำ ครั้นไปตรวจดูเสนาสนะแล้ว ถ้าไม่ชอบใจเสนาสนะหลังนั้น จะถือเอาเสนาสนะหลังอื่นก็ได้

ว่าด้วยประเภทในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

(หน้าที่ 117)

ความแตก

ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพไป ในขณะพอเมื่อยถาสันถติกภิกษุทั้ง 3 ประเภท เกิดความไม่ละโมบขึ้นในเสนาสนะนั่นเทียว

ว่าด้วยความแตกในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์

ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ – เป็นการกระทำตามพระพุทธโอวาทข้อว่า ได้สิ่งใดก็พึงยินดีด้วยสิ่งนั้น, เป็นผู้มุ่งประโยชน์ให้แก่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย, เป็นการสละความเลือกในของเลวและของประณีต, เป็นการสละเสียได้ซึ่งความดีใจและความเสียใจ, เป็นความปิดประตูแห่งความมักมาก, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น

ภิกษุผู้สำรวม มีอันอยู่ในเสนาสนะ ตามที่จัดแจงไว้แล้วเป็นปกติ ได้สิ่งใดก็ยินดีด้วยสิ่งนั้นไม่เลือก ย่อมนอนเป็นสุขในเสนาสนะที่ปูลาดด้วยหญ้าก็ตาม

ยถาสันถติภิกษุนั้น ย่อมไม่ดีใจในเสนาสนะที่ดี ๆ ได้ของเลวมาแล้วก็ไม่เสียใจ ย่อมสงเคราะห์บรรดาเพื่อนพรหมจรรย์รุ่นใหม่ ๆ ด้วยประโยชน์เกื้อกูล

เพราะฉะนั้นภิกษุผู้มีปัญญา จงประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเป็นผู้ยินดีในเสนาสนะตามที่จัดแจงไว้แล้ว อันเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าจำนวนร้อย ๆ สั่งสมแล้ว อันพระมหามุณีผู้ยอดเยี่ยมทรงสรรเสริญแล้ว

ว่าด้วยอานิสงส์ในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์

ในยถาสันถติกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้

(หน้าที่ 118)

การสมาทาน

แม้เนสัชชิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน 2 อย่างนี้คือ เสยฺยํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธอิริยาบถนอน ดังนี้อย่างหนึ่ง เนสชฺชิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ด้วยอิริยาบถนั่งเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง

ว่าด้วยการสมาทานในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี

ก็แหละ อันเนสัชชิกภิกษุนั้น ต้องลุกขึ้นเดินจงกรมให้ได้ยามหนึ่ง ในบรรดายามสามแห่งราตรี เพราะในอิริยาบถ 4 นั้น อริยาบถนอนเท่านั้น ย่อมไม่สมควรแก่ผู้บำเพ็ญเนสัชชิกังคธุดงค์

ว่าด้วยกรรมวิธีในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท

ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้เนสัชชิกภิกษุนี้ก็มี 3 ประเภท ใน 3 ประเภทนั้น สำหรับเนสัชชิกภิกษุชั้นอุกฤษฏ์ หมอนอิงข้าง แคร่นั่งทำด้วยผ้า และผ้าสายโยค ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น

สำหรับเนสัชชิกภิกษุชั้นกลาง ในของ 3 อย่างนี้ เพียงแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้ได้

สำหรับเนสัชชิกภิกษุชั้นต่ำ พนักอิงข้างก็ดี แคร่นั่งทำด้วยผ้าก็ดี ผ้าสายโยคก็ดี หมอนพิงก็ดี เก้าอี้มีองค์ 5 ก็ดี เก้าอี้มีองค์ 7 ก็ดี ใช้ได้ทั้งนั้น

ก็แหละ เก้าอี้ที่ทำมีพนักข้างหลัง ชื่อว่าเก้าอี้มีองค์ 5 (คือ เท้า 4 พนักหลัง 1) เก้าอี้ที่ทำมีพนักข้างหลังด้วย มีพนักในข้างทั้ง 2 ด้วย ชื่อว่าเก้าอี้มีองค์ 7

ได้ยินว่า เก้าอี้มีองค์ 7 นั้น พวกทายกได้ทำถวายแก่ท่านพระจูฬอภยเถระ พระเถระสำเร็จพระอนาคามีปรินิพพานแล้ว

ว่าด้วยประเภทในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

(หน้าที่ 119)

ความแตก

ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะพอเมื่อเนสัชชิกภิกษุทั้ง 3 ประเภทนี้ สำเร็จซึ่งอิริยาบถนอนนั่นเทียว

ว่าด้วยความแตกในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์

ก็แหละ อานิสงส์ของธุดงค์นี้มีดังนี้คือ – เป็นการตัดเสียซึ่งความผูกพันแห่งจิตที่ตรัสไว้ว่า เป็นผู้ขวนขวายหาความสุขในการนอน ความสุขในการเอนหลัง ความสุขในการหลับฉะนี้, ความเป็นที่สัปปายะแก่การบำเพ็ญกัมมัฏฐานทั้งปวง, ความเป็นผู้มีอิริยาบถเป็นที่น่าเลื่อมใส, เป็นการเกื้อหนุนแก่การเริ่มทำความเพียร, เป็นการเพิ่มพูนการปฏิบัติชอบให้เจริญยิ่งขึ้น

เนสัชชิกภิกษุผู้สำรวม นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ย่อมยังดวงหฤทัยของพญามารให้หวาดหวั่น

ภิกษุผู้ยินดีในการนั่ง มีความเพียรปรารภแล้ว ละความสุขในการนอน ความสุขในการหลับแล้ว ย่อมทำป่าอันเป็นที่บำเพ็ญตบะให้งดงาม

เพราะเหตุที่ตนจะได้ประสบซึ่งปีติและสุข อันปราศจากอามิสฉะนั้น อันภิกษุผู้บัณฑิตพึงหมั่นบำเพ็ญเนสัชชิกังคธุดงค์อยู่เนือง ๆ นั่นเถิด

ว่าด้วยอานิสงส์ในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์

ในเนสัชชิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้

บัดนี้ ถึงวาระที่จะพรรณนาความแห่งคาถานี้ คือ –

กุสลตฺติกโต เจว ธุตาทีนํ วิภาวโต

สมาสพยาสโตจาปิ วิญฺญาตพฺโพ วินิจฺฉโย

แปลความว่า –

(หน้าที่ 120)

นักศึกษาพึงศึกษาให้เข้าใจข้อวินิจฉัยธุดงค์ โดยความเป็นกุศลติกะ 1 โดยแยกออกเป็นคำ ๆ มีคำว่าธุตะเป็นต้น 1 โดยย่อและโดยพิสดาร 1

ในอาการเหล่านั้น คำว่า โดยความเป็นกุศลติกะ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ –

ก็แหละ ธุดงค์หมดทั้ง 13 ประการนั้นแล จัดเป็นกุศลด้วยอำนาจแห่งเสกขบุคคลและปุถุชนก็มี จัดเป็นอัพยากฤตด้วยอำนาจแห่งพระอรหันตขีณาสพก็มี แต่ธุดงค์ที่จัดเป็นอกุศลหามีไม่

อาจจะมีผู้ใดท้วงติงว่า แม้ธุดงค์ที่จัดเป็นอกุศลก็มีเหมือนกัน โดยมีพระพุทธวจนะเป็นอาทิว่า ภิกษุผู้มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาครอบงำแล้วเป็นผู้อยู่ในป่า ฉะนี้

นักศึกษาพึงแถลงแก้เขาดังนี้ – เรามิได้กล่าวปฏิเสธว่า ภิกษุไม่อยู่ในป่าด้วยอกุศลจิต ความจริง ภิกษุใดมีอาการอยู่ในป่า ภิกษุนั้นชื่อว่าผู้อยู่ในป่า อันภิกษุผู้อยู่ในป่านั้น จะพึงเป็นผู้มีความมักน้อยก็มี เป็นธรรมดา

ข้าพเจ้าได้อรรถาธิบายมาแล้วว่า ก็แหละ ธุดงค์เหล่านี้เป็นองค์ของภิกษุผู้ได้นามว่า ธุตะ เพราะเป็นผู้มีกิเลสอันกำจัดแล้วด้วยเจตนาเป็นเครื่องสมาทานนั้น ๆ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ธุตังคะ อีกอย่างหนึ่ง ญาณอันได้โวหารว่า ธุตะ เพราะเป็นการกำจัดซึ่งกิเลส เป็นเหตุแห่งการสมาทานเหล่านั้น ฉะนั้น การสมาทานเหล่านั้นจึงชื่อว่า ธุตังคะ อีกนัยหนึ่ง การสมาทานเหล่านั้นได้ชื่อว่า ธุตะ เพราะเป็นเครื่องกำจัดซึ่งธรรมอันเป็นข้าศึก และเป็นเหตุแห่งสัมมาปฏิบัติด้วย ฉะนั้น การสมาทานเหล่านั้น จึงชื่อว่า ธุตังคะ

ก็เมื่อการสมาทานเหล่านี้จะพึงเป็นองค์ของภิกษุใด ภิกษุนั้นเป็นผู้ชื่อว่า กำจัดอะไร ๆ ด้วยอกุศลก็หามิได้ ด้วยว่าอกุศลย่อมกำจัดบาปอะไร ๆ ไม่ได้ เพราะทำอธิบายว่า อกุศลนั้นเป็นองค์แห่งการสมาทานเหล่าใด ก็จะพึงเรียกการสมาทานเหล่านั้นว่าธุตังคะไปเสีย ที่แท้อกุศลย่อมกำจัดกิเลสมีความละโมบในจีวรเป็นต้นไม่ได้ เป็นองค์แห่งสัมมาปฏิบัติก็ไม่ได้เพราะเหตุฉะนั้น คำว่า ธุดงค์ที่จัดเป็นอกุศลหามีไม่ นี้เป็นอันกล่าวชอบแล้ว

(หน้าที่ 121)

อนึ่ง แม้ความพิรุธจากพระบาลีก็จะถึงแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า ธุดงค์แม้ของภิกษุเหล่าใด ซึ่งพ้นไปจากกุศลติกะ ธุดงค์ของภิกษุเหล่านั้นนั่นแหละ ย่อมไม่มีโดยความหมาย สิ่งที่ไม่มีความหมายจักชื่อว่า ธุตังคะ เพราะกำจัดสิ่งอะไรเล่า ผู้บำเพ็ญธุดงค์ย่อมจะสมาทาน เอาธุตคุณไปประพฤติปฏิบัติอยู่ เพราะฉะนั้น คำของภิกษุเหล่านั้น (หมายเอาทรรศนะของพวกภิกษุชาววัดอภัยคีรี) ไม่ควรถือเอาเป็นประมาณ

พรรณนาโดยความเป็นกุศลติกะ อันเป็นประการแรกในคาถานี้ ยุติเพียงเท่านี้

ในข้อว่า โดยแยกออกเป็นคำ ๆ มีคำว่า ธุตะ เป็นต้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ –

นักศึกษาพึงเข้าใจคำเหล่านี้คือ ธุตะ 1 ธุตวาทะ 1 ธุตธรรมะ 1 ธุตังคะ 1 การเสพธุดงค์เป็นที่สบายแก่บุคคลชนิดไร 1

ธุตะ

ในคำเหล่านั้น คำว่า ธุตะ หมายเอาบุคคลผู้มีกิเลสอันกำจัดแล้ว อีกอย่างหนึ่ง หมายเอาธรรมอันเป็นเครื่องกำจัดซึ่งกิเลส

ธุตวาทะ

ก็แหละ ในคำว่า ธุตวาทะ นี้ มีอรรถาธิบายดังนี้ คือ –

บุคคลมีธุตะแต่ไม่มีธุตวาทะ 1 บุคคลไม่มีธุตะแต่มีธุตวาทะ 1 บุคคลไม่มีทั้งธุตะทั้งธุตวาทะ 1 บุคคลมีทั้งธุตะทั้งธุตวาทะ 1

ในบุคคล 4 จำพวกนั้น บุคคลใดกำจัดกิเลสของตนได้ด้วยธุดงค์ แต่ไม่โอวาท ไม่อนุสาสน์บุคคลอื่นด้วยธุดงค์ เหมือนอย่างพระพากุลเถระ บุคคลนี้ชื่อว่า ผู้มีธุตะแต่ไม่มีธุตวาทะ สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ท่านพากุละนี้นั้น เป็นผู้มีธุตะแต่ไม่มีธุตวาทะ

แหละบุคคลใดมิได้กำจัดกิเลสของตนด้วยธุดงค์ ย่อมโอวาทย่อมอนุสาสน์บุคคลอื่น ด้วยธุดงค์แต่อย่างเดียว เหมือนอย่างพระอุปนันทเถระ บุคคลนี้ชื่อว่า ไม่มีธุตะแต่มีธุตวาทะ สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ท่านอุปนันทะผู้สักยบุตรนี้นั้น เป็นผู้ไม่มีธุตะแต่มีธุตวาทะ

(หน้าที่ 122)

บุคคลใดวิบัติจากธุตะและธุตวาทะทั้งสองอย่าง เหมือนอย่างพระโลฬุทายี บุคคลนี้ชื่อว่าผู้ไม่มีทั้งธุตะทั้งธุตวาทะ สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า พระโลฬุทายีนั้น เป็นผู้ไม่มี ทั้งธุตะทั้งธุตวาทะนั่นเทียว

แหละบุคคลใดสมบุรณ์ด้วยธุตะและธุตวาทะทั้งสอง เหมือนอย่างพระธรรม เสนาบดีเสรีปุตตะ บุคคลนี้ชื่อว่ามีทั้งธุตะมีทั้งธุตวาทะนั่นเทียว สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ท่านสารีปุตตะนี้นั้น เป็นผู้มีทั้งธุตะมีทั้งธุตวาทะ

ธุตธรรมะ

คำว่า พึงเข้าใจ ธุตธรรมะ นั้น มีอรรถาธิบายว่า ธรรม 5 ประการ อันเป็นบริวารแห่งธุตังคเจตนาเหล่านี้ คือ ความมักน้อย 1 ความสันโดษ 1 ความขัดเกลา 1 ความสงัด 1 ความต้องการด้วยกุศลนี้ (อิทมตฺถิตา) 1 ชื่อว่าธุตธรรมะ ทั้งนี้ เพราะมีพระบาลีรับรองว่า….เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความมักน้อยนั่นเทียว

ในธุตธรรมะ 5 ประการนั้น ความมักน้อยกับความสันโดษ สงเคราะห์เป็นอโลภะ ความขัดเกลากับความสงัดคล้อยไปในธรรมะ 2 อย่าง อโลภะและอโมหะ ความต้องการด้วยกุศลนี้ จัดเป็นตัวญาณโดยตรง

แหละในอโลภะและอโมหะนั้น โยคีบุคคลย่อมกำจัดความโลภในวัตถุที่ต้องห้ามนั้นแลได้ด้วยอโมหะ

อนึ่ง โยคีบุคคลย่อมกำจัดกามสุขัลลิกานุโยค คือการประกอบตนในกามสุขอันเป็นไปโดยมุขคือการเสพวัตถุที่ทรงอนุญาตแล้ว ด้วยอโลภะ ย่อมกำจัดอัตตกิลมถานุโยคคือการประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นไปโดยมุข คือความขัดเกลาอย่างเคร่งเครียดในธุดงค์ทั้งหลายด้วยอโมหะ

เพราะเหตุดังนั้น ธรรมเหล่านี้นักศึกษาพึงทราบว่า ธุตธรรมะ

ธุตังคะ

คำว่าพึงเข้าใจ ธุตังคะ นั้น มีอรรถาธิบายว่า นักศึกษาพึงทราบว่าธุตังคะคือ ธุดงค์ มี 13 ประการ คือ ปังสุกูลิกังคะ 1 เตจีวริกังคะ 1 ปิณฑปาติกังคะ 1 สปทาน-

(หน้าที่ 123)

จาริกังคะ 1 เอกาสนิกังคะ 1 ปัตตปิณฑิกังคะ 1 ขลุปัจฉาภัตติกังคะ 1 อารัญญิกังคะ 1 รุกขมูลิกังคะ 1 อัพโภกาสิกังคะ 1 โสสานิกังคะ 1 ยถาสันถติกังคะ 1 และเนสัชชิกังคะ 1

ธุตังคะทั้ง 13 ประการนี้ ได้อรรถาธิบายโดยอรรถวิเคราะห์และโดยลักษณะ เป็นต้นมาแล้วในตอนต้น ในที่นี้จึงไม่อธิบายซ้ำอีก

การเสพธุดงค์เป็นที่สบายแก่บุคคลชนิดไร

คำว่า การเสพธุดงค์เป็นที่สบายแก่บุคคลชนิดไร นั้น มีอรรถาธิบายว่า การเสพธุดงค์เป็นที่สบายแก่บุคคลที่เป็นราคจริตกับโมหจริต

เพราะเหตุไร ? เพราะการเสพธุดงค์เป็นข้อปฏิบัติที่ลำบากและเป็นการอยู่อย่าง ขัดเกลากิเลส จริงอยู่ ราคะย่อมสงบลงเพราะอาศัยการปฏิบัติลำบาก ผู้ไม่ประมาทย่อมละโมหะได้เพราะอาศัยความขัดเกลากิเลส

อีกประการหนึ่ง ในบรรดาธุดงค์เหล่านี้ การเสพอารัญญิกังคธุดงค์กับรุกขมูลิกังคธุดงค์ ย่อมเป็นที่สบายแม้สำหรับบุคคลที่เป็นโทสจริตด้วย เพราะว่าเมื่อโยคีบุคคลอยู่อย่าง ที่ไม่ถูกกระทบกระทั่งในป่าหรือที่โคนไม้นั้น แม้โทสะก็ย่อมสงบลงเป็นธรรมดา

พรรณนาโดยแยกออกเป็นคำ ๆ มีคำว่าธุตะเป็นต้น ยุติลงเพียงเท่านี้

ข้อว่า โดยย่อและโดยพิสดารนั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ –

โดยย่อ

ก็แหละ ธุดงค์ 13 ประการนี้ เมื่อจัดโดยย่อมีเพียง 8 ประการเท่านั้น คือองค์ที่เป็นหัวใจ 3 องค์ที่ไม่เจือปน 5

ใน 2 ลักษณะนั้น องค์ที่เป็นหัวใจ 3 นั้นคือ สปทานจาริกังคะ 1 เอกาสนิกังคะ 1 อัพโภกาสิกังคะ 1 อธิบายว่า เมื่อโยคีบุคคลรักษาสปทานจาริกังคธุดงค์ จักได้ชื่อว่ารักษาปิณฑปาติกังคธุดงค์ไปด้วย และเมื่อโยคีบุคคลรักษาเอกาสนิกังคธุดงค์ จำเป็นอันต้องรักษาด้วยดี แม้ซึ่งปัตตปิณฑิกังคธุดงค์และขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ไปด้วย เมื่อโยคีบุคคลรักษา อัพโภกาสิกังคธุดงค์ ก็เป็นอันต้องรักษาในรุกขมูลิกังคธุดงค์และยถาสันถติกังคธุดงค์อยู่ในตัวมิใช่หรือ

(หน้าที่ 124)

องค์ที่เป็นหัวใจ 3 ดังอธิบายมานี้ กับองค์ที่ไม่เจือปนอีก 5 คือ อารัญญิกังคะ 1 ปังสุกูลิกังคะ 1 เตจีวริกังคะ 1 เนสัชชิกังคะ 1 โสสานิกังคะ 1 จึงรวมเป็นธุดงค์โดยย่อ 8 ประการพอดี

อีกประการหนึ่ง ธุดงค์ 13 ประการนี้ สงเคราะห์ลงมีเพียง 4 ประการเท่านั้น คือธุดงค์ที่ประกอบด้วยจีวร 2 ที่ประกอบด้วยบิณฑบาต 5 ที่ประกอบเสนาสนะ 5 ที่ประกอบด้วยความเพียร 1

ในบรรดาธุดงค์เหล่านี้ เนสัชชิกังคธุดงค์ จัดเป็นธุดงค์ที่ประกอบด้วยความเพียร ธุดงค์นอกนี้ความปรากฏชัดอยู่แล้ว

อีกประการหนึ่ง เมื่อว่าด้วยอำนาจความอาศัยแล้ว ธุดงค์ทั้งหมดนั้นมีเพียง 2 ประการ คือ ธุดงค์ที่อาศัยปัจจัย 12 ที่อาศัยความเพียร 1

แม้เมื่อว่าด้วยอำนาจ เป็นสิ่งที่ควรเสพและสิ่งที่ไม่ควรเสพ ธุดงค์ทั้งหมดนั้นก็ย่นลงเพียง 2 ประการเหมือนกัน อธิบายว่า เมื่อโยคีบุคคลใดเสพธุดงค์กัมมัฏฐานย่อมเจริญ อันโยคีบุคคลนั้นพึงเสพธุดงค์เถิด เมื่อโยคีบุคคลใดเสพธุดงค์กัมมัฏฐานย่อมเสื่อม อันโยคีบุคคลนั้นไม่พึงเสพธุดงค์ ก็แต่ว่าเมื่อโยคีบุคคลใดจะเสพธุดงค์ก็ตามไม่เสพก็ตาม กัมมัฏฐานย่อมเจริญอย่างเดียวไม่เสื่อมเลย แม้อันโยคีบุคคลนั้นหวังที่จะอนุเคราะห์ชุมนุมชนภายหลัง พึงเสพธุดงค์เถิด แม้เมื่อโยคีบุคคลใดเสพธุดงค์ก็เท่านั้นไม่เสพก็เท่านั้น กัมมัฏฐานไม่เจริญขึ้น แม้อันโยคีบุคคลนั้นก็พึงเสพธุดงค์เถิด ทั้งนี้ เพื่อให้สำเร็จเป็นวาสนาต่อไป

ธุดงค์ทั้งหมดนั้นซึ่งย่อลงเป็น 2 ด้วยอำนาจเป็นสิ่งที่ควรเสพและไม่ควรเสพ ดังอธิบายมาแล้วนี้ ก็สรุปลงเป็นอย่างเดียวด้วยอำนาจแห่งเจตนา เป็นความจริง ธุดงค์มีอย่างเดียวเท่านั้น คือ เจตนาเป็นเครื่องสมาทาน

แม้ในคัมภีร์อรรถกถาท่านก็พรรณนาไว้ว่า นักปราชญ์ทั้งหลายรับรองว่า เจตนาอันใด ธุดงค์ก็อันนั้น ฉะนี้

(หน้าที่ 125)

โดยขยาย

ก็แหละ เมื่อว่าโดยพิสดาร ธุดงค์มีถึง 42 ประการคือ ธุดงค์สำหรับภิกษุ 13 สำหรับภิกษุณี 8 สำหรับสามเณร 12 สำหรับนางสิกขมานาและสามเณรี 7 สำหรับอุบาสกและอุบาสิกกา 2

แหละถ้าสุสานอันถึงพร้อมด้วยองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกติ มีอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง ภิกษุแม้เพียงรูปเดียวก็สามารถเพื่อที่จะเสพธุดงค์ทั้งหมดได้โดยวาระเดียวกัน

แต่สำหรับภิกษุณีนั้น ธุดงค์ 2 ประการคือ อารัญญิกังคธุดงค์ 1 ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ 1 ทรงห้ามไว้ด้วยสิกขาบทแล้วนั่นเทียว ธุดงค์ 3 ประการนี้คือ อัพโภกาสิกังคธุดงค์ 1 รุกขมูลิกังคธุดงค์ 1 โสสานิกังคธุดงค์ 1 เป็นสิ่งที่รักษาได้โดยยาก เพราะว่าอันภิกษุณีนั้นที่จะอยู่โดยปราศจากเพื่อนสองย่อมไม่สมควร และเพื่อนสองซึ่งจะมีฉันทะเสมอกันในสถานที่เห็นปานดังนั้นก็หาได้ยาก แม้ถ้าจะพึงหาได้ก็ไม่พ้นไปจากการอยู่คลุกคลี เมื่อเป็นดังนี้ ภิกษุณีพึงเสพธุดงค์เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์นั้นนั่นแล ก็จะไม่พึงสำเร็จแก่ตน นักศึกษาพึงทราบว่า เพราะเหตุที่เป็นสิ่งไม่อาจจะเสพได้ดังบรรยายมานี้ ธุดงค์สำหรับภิกษุณีจึงมีเพียง 8 ประการเท่านั้น โดยลดเสีย 5 ประการ

ก็แหละ ในบรรดาธุดงค์ตามที่กล่าวแล้ว ยกเว้นเตจีวริกังคธุดงค์เสีย 1 ธุดงค์ที่เหลือ 12 ประการเป็นธุดงค์สำหรับสามเณร (ในธุดงค์ 8 ประการสำหรับภิกษุณี นี้นลดเสีย 1 คือ เตจีวริกังคธุดงค์) ที่เหลือ 7 ประการ พึงทราบว่าเป็นธุดงค์สำหรับนางสิกขมานาและสามเณรี

ก็แหละ ธุดงค์ 2 ประการนี้คือ เอกาสนิกังคธุดงค์ 1 ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ 1 เป็นสิ่งที่คู่ควรแก่อุบาสกและอุบาสิกาด้วย สามารถที่จะเสพได้ด้วย ฉะนั้น ธุดงค์สำหรับอุบาสกอุบาสิกาจึงมีเพียง 2 ประการ ว่าโดยพิสดารธุดงค์ทั้งหมด 42 ประการ ด้วยประการฉะนี้

พรรณนาความโดยย่อและโดยพิสดาร ยุติลงเพียงเท่านี้

(หน้าที่ 126)

ก็แหละ ด้วยอรรถาธิบายเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นว่าข้าพเจ้าได้แสดงแล้วซึ่งธุตังคกถาอันสาธุชนควรสมาทานเอา เพื่อความบริบูรณ์แห่งคุณทั้งหลายมีความเป็นผู้มักน้อย และความเป็นผู้สันโดษเป็นต้น อันเป็นเครื่องผ่องแผ้วแห่งศีล ซึงมีประการที่ได้กล่าวไว้แล้วใน วิสุทธิมัคคที่ทรงแสดงด้วยมุขคือศีล, สมาธิ และปัญญา ด้วยพระพุทธนิพนธคาถานี้ว่า –

นรชน ผู้มีปัญญา เป็นภิกษุ มีความเพียร มีปัญญา เครื่องบริหาร ตั้งตนไว้ในศีลแล้วทำสมาธิจิตและปัญญาให้เจริญอยู่ เธอจะพึงถางรกชัฏอันนี้เสียได้

ธุตังคนิทเทส ปริจเฉทที่ 2

ในปกรณ์วิเสส ชื่อ วิสุทธิมัคค

อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นเพื่อความปราโมชแห่งสาธุชน

ยุติลงด้วยประการฉะนี้

———————–