วิสุทธิมรรค_01-1_นิทานกถา

Action unknown: copypageplugin__copy

อยู่ในระหว่างปรับสำนวน

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)

(หน้า 1)

วิสุทธิมัคค

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

………..

นิทานกถา

ปัญหาพยากรณ์

ก็แหละ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธนิพนธ์คาถาปัญหาพยากรณ์นี้ไว้ดังนี้

นรชน ผู้มีปัญญา เป็นภิกษุ มีความเพียร มีปัญญาเครื่องบริหารตั้งตนไว้ในศีลแล้วบำเพ็ญสมาธิจิตและปัญญาให้เจริญอยู่ เธอจะพึงถางรกชัฏอันนี้เสียได้

ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสพระพุทธนิพนธคาถาปัญหาพยากรณ์นี้ ?

ได้ยินว่ามีเทวบุตรตนใดตนหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งเสด็จประทับอยู่ ณ พระนครสาวัตถีในเวลาอันเป็นส่วนแห่งราตรี เพื่อจะถอนความสงสัยของตนจึงได้กราบทูลถามปัญหานี้ว่า-

ประชาสัตว์ รกชัฏทั้งภายในรกชัฏทั้งภายนอก รุงรังไปด้วยรกชัฏ ข้าแต่พระโคดม เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงขอกราบทูลถามพระพุทธองค์ ใครจะพึงถางรกชัฏอันนี้เสียได้

อธิบายปุจฉาปัญหา

ปุจฉาปัญหานั้นมีอรรถาธิบายโดยย่อ ดังนี้- คำว่า รกชัฏ นี้เป็นชื่อของตัณหา ซึ่งเป็นเพียงดังว่าข่าย เป็นความจริง ตัณหานั้นเป็นเสมือนหนึ่งชฎากล่าวคือแขนงสาขาแห่งสุมทุมพุ่มไม้ไผ่เป็นต้น โดยอรรถว่า เกี่ยวประสานไว้ เพราะบังเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นด้วยสามารถเบื้องล่างเบื้องบน เพราะเหตุนั้น จึงได้ชื่อว่า รกชัฏ

(หน้า 2)

อนึ่ง ตัณหานี้นั้นเรียกว่า เป็นรกชัฏทั้งภายในเป็นรกชัฏทั้งภายนอก เพราะบังเกิดขึ้นในบริขารของตนและบริขารของคนอื่น ในอัตภาพของตนและของคนอื่น ในอายตนะภายในและอายตนะภายนอก ประชาสัตว์รุงรังแล้วด้วยรกชัฏอันเกิดขึ้นอยู่อย่างนี้นั้น เหมือนอย่างว่า ไม้ไผ่เป็นต้นย่อมรุงรังแล้วด้วยรกชัฏคือตัณหานั้น อธิบายว่า อันรกชัฏคือตัณหารัดรึงแล้วเกี่ยวประสานไว้แล้ว เหมือนอย่างนั้น

ก็เพราะเหตุที่หมู่สัตว์รุงรังอย่างนี้ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคนั้นว่า ข้าแต่พระโคดม เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงขอกราบทูลถามพระพุทธองค์

คำว่า ข้าแต่พระโคดม เทวบุตรระบุพระนามพระผู้มีพระภาค โดยพระโคตร

คำว่า ใครจะพึงถางรกชัฏอันนี้เสียได้ คือเทวบุตรกราบทูลถามว่า ใครจะพึงถาง ใครจะเป็นผู้สามารถเพื่อจะถางรกชัฏอันรึงรัดไตรโลกธาตุซึ่งดำรงอยู่ด้วยอาการอย่างนี้นั้นได้

ก็แหละ พระผู้มีพระภาคผู้มีญาณอันส่องไปมิได้ติดขัดในสรรพธรรมทั้งหลายเป็นเทวดาของทวยเทพ เป็นเทวดายิ่งกว่าเทวดาทั้งหลาย เป็นท้าวสักกะเลิศล้นกว่าท้าวสักกะทั้งหลาย เป็นพรหมล่วงเลยพรหมทั้งหลาย ทรงแกล้วกล้าเพราะทรงประกอบด้วยพระเวสารัชญาณ 5 ทรงไว้ซึ่งพระทศพลญาณ มีพระญาณมิได้มีเครื่องขีดขั้น มีพระจักษุรอบด้านครั้นถูกเทวบุตรกราบทูลถามดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงตอบข้อความนั้นแก่เทวบุตร จึงได้ตรัสพระพุทธนิพนธคาถาปัญหาพยากรณ์นี้ ความว่า-

นรชน ผู้มีปัญญา เป็นภิกขุ มีความเพียร มีปัญญาเครื่องบริหารตั้งตนไว้ในศีลแล้วทำสมาธิจิตและปัญญาให้เจริญอยู่ เธอจะพึงถางรกชัฏอันนี้เสียได้

คำปรารถของผู้รจนาคัมภีร์

บัดนี้ ข้าพเจ้า ( หมายเอาพระมหาพุทธโฆษาจารย์ ) จักบรรยายความแห่งพระพุทธนิพนธคาถาที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่ตรัสวิสัชนาไว้แล้วนี้ อันต่างด้วยคุณมีศีลเป็นต้น ตามที่เป็นจริงต่อไป

(หน้า 3)

โยคีบุคคลเหล่าใดในพระศาสนานี้ ได้รับการบรรพชา อันหาได้ด้วยยากในพระศาสนาของพระชินเจ้าแล้ว แม้ถึงจะต้องการความบริสุทธิ์เมื่อไม่รู้จักทางแห่งความบริสุทธิ์อันเป็นทางตรงทางเกษมซึ่งสงเคราะห์ด้วยศีลเป็นต้นตามที่เป็นจริงแล้ว ก็จะไม่บรรลุถึงซึ่งความบริสุทธิ์ได้แม้ถึงจะเพียรพยายามอยู่ก็ตาม

ข้าพเจ้าจักรจนาคัมภีร์วิสุทธิมัคค ซึ่งมีอันไตร่ตรองถูกต้องดีแล้วโดยอิงอาศัยเทศนานัยของพระเถระทั้งหลายชาวมหาวิหาร อันจะทำความปราโมชให้แก่โยคีบุคคลเหล่านั้น

เมื่อข้าพเจ้ารจนาคัมภีร์วิสุทธิมัคคนั้นโดยความเคารพ ขอสาธุชนทั้งหลายผู้ประสงค์ความบริสุทธิ์สิ้นทั้งมวล จงใคร่ครวญดูโดยความเคารพเทอญ

อธิบายทางแห่งวิสุทธิ

ในคำเหล่านั้น คำว่า วิสุทธิ นักศึกษาพึงทราบว่า ได้แก่พระนิพพานอันปราศจากมลทินทั้งปวง อันบริสุทธิ์ที่สุด ทางแห่งวิสุทธิ ( คือพระนิพพาน ) นั้น ชื่อว่า วิสุทธิมัคค อุบายเป็นเครื่องบรรลุถึง เรียกว่า มัคคะ รวมความว่า ข้าพเจ้าจักรจนาคัมภีร์วิสุทธิมัคค คืออุบายเป็นเครื่องบรรลุถึงซึ่งวิสุทธิคือพระนิพพานนั้น

ก็แหละ ทางแห่งวิสุทธิ นี้นั้น

ในที่บางแห่งทรงแสดงไว้ด้วยสามารถแห่งเหตุสักว่า วิปัสสนา เท่านั้น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า-

เมื่อใด โยคีบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้นก็จะเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้คือทางแห่งวิสุทธิ

ในที่บางแห่งทรงแสดงไว้ด้วยสามารถแห่ง ฌาน และ ปัญญา เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า-

ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ฌานและปัญญามีในผู้ใด ผู้นั้นแลอยู่ใกล้พระนิพพาน

(หน้า 4)

ในที่บางแห่งทรงแสดงไว้ด้วยสามารถแห่ง กรรม เป็นต้น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า-

กรรม, วิชชา, ธรรม, ศีล และชีวิตอันอุดม สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยคุณธรรม 5 ประการนี้ หาใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตรและทรัพย์ไม่

ในที่บางแห่งทรงแสดงไว้ด้วยสามารถแห่ง ศีล เป็นต้น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า-

บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีปัญญา มีจิตตั้งมั่นแล้ว มีความเพียรปรารภแล้ว มีตนส่งไปแล้ว ในกาลทุกเมื่อ ย่อมข้ามห้วงน้ำอันข้ามแสนยากได้

ในที่บางแห่งทรงแสดงไว้ด้วยสามารถแห่ง สติปัฏฐาน เป็นต้น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า-

ดูภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเอก เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ฯลฯ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ทางสายนี้ได้แก่สติปัฏฐานสี่

แม้ใน สัมมัปปธาน เป็นต้น ก็มีนัยเหมือนกันนี้

อธิบายปัญหาพยากรณ์

ก็แหละ ในปัญหาพยากรณ์นี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงด้วยสามารถแห่งคุณมี ศีล เป็นต้น จะอรรถาธิบายโดยย่อ ดังนี้-

คำว่า ตั้งตนไว้ในศีลแล้ว คือ ตั้งอยู่ในศีลแล้ว ในข้อนี้มีอรรถาธิบายว่าโยคีบุคคลผู้บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์เท่านั้น จึงเรียกได้ว่า ผู้ตั้งอยู่ในศีล ณ ที่นี้ เพราะฉะนั้นที่ว่าตั้งอยู่ในศีล ก็เพราะบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ คำว่า นรชน ได้แก่สัตว์ คำว่า มีปัญญา คือมีปัญญาในติเหตุกปฏิสนธิอันเกิดแต่กรรม

คำว่า ยังสมาธิจิตและปัญญาให้เจริญอยู่ คือยังสมาธิและวิปัสสนาปัญญาให้เกิดอยู่ ก็แหละ ณ ที่นี้ สมาธิ ทรงแสดงด้วยหัวข้อว่า จิต ส่วน วิปัสสนา ทรงแสดงโดยชื่อว่า ปัญญา คำว่า มีความเพียร คือมีความพยายาม จริงอยู่ วิริยะเรียกว่า อาตาปะ แปลว่ามีความเพียร

(หน้า 5)

คำว่า มีปัญญาเครื่องบริหาร อธิบายว่า ปัญญาเครื่องบริหาร ผู้ประกอบด้วยปัญญาเครื่องบริหารนั้น ก็แหละ ด้วยบท เนปักกะ นี้ทรงแสดงถึงปาริหาริกปัญญา จริงอยู่ ในปัญหาพยากรณ์นี้ ปัญญามาถึง 3 วาระ ใน 3 วาระนั้น วาระแรกได้แก่ สชาติปัญญา วาระที่ 2 ได้แก่ วิปัสสนาปัญญา วาระที่ 3 ได้แก่ ปาริหาริกปัญญา อันกำหนดนำไปซึ่งกิจการทั้งปวง

คำว่า เป็นภิกขุ ความว่า ผู้ใดเห็นภัยในสงสาร ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกขุ คำว่า เธอจะพึงถางรกชัฏอันนี้เสียได้ อธิบายว่า นรชนนั้นเป็นภิกขุประกอบด้วยธรรม 6 ประการ คือ ด้วยศีลนี้ 1 ด้วยสมาธิที่ทรงแสดงด้วยหัวข้อว่าจิตนี้ 1 ด้วยปัญญา 3 อย่างนี้ 1 ด้วยความเพียรนี้ 1 ยืนอยู่บนแผ่นดินคือศีล ยกขึ้นซึ่งศัสตราคือวิปัสสนาปัญญา ที่ลับแล้วด้วยหินคือสมาธิ ด้วยมือคือปาริหาริกปัญญา ซึ่งมีกำลังคือความเพียรช่วยประคองแล้ว จะพึงถาง จะพึงตัด จะพึงทำลาย ซึ่งรกชัฏคือตัณหาอันตกไปในสันดานของตนนั้นเสียได้ แม้อย่างสิ้นเชิง เหมือนอย่างบุรุษยืนอยู่บนแผ่นดินแล้วเงื้อง่าศัสตราที่ลับดีแล้วขึ้นจะพึงถางกอไผ่ขนาดใหญ่ได้ ฉะนั้น

ก็แหละ ในขณะแห่ง มัคคญาณ ชื่อว่าภิกขุนี้ถางรกชัฏนั้น ในขณะแห่ง ผลญาณ ชื่อว่าถางรกชัฏเสร็จแล้ว ย่อมสำเร็จเป็นทักขิเณยยบุคคลชั้นยอดของโลกพร้อมทั้งเทวโลก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า-

นรชน ผู้มีปัญญา เป็นภิกขุ มีความเพียร มีปัญญาเครื่องบริหาร ตั้งตนไว้ในศีลแล้วทำสมาธิจิตและปัญญาให้เจริญอยู่ เธอจะพึงถางรกชัฏอันนี้เสียได้

ภิกษุนี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้มีปัญญา ด้วยปัญญาใดในพระพุทธนิพนธคาถานั้น กิจที่ภิกษุนั้นจะต้องทำในปัญญานั้น หามีไม่ เพราะว่า ปัญญานั้นสำเร็จแก่เธอด้วยอานุภาพแห่งกรรมเก่ามาแล้ว

ก็แหละ อันโยคีบุคคลนั้นพึงตั้งต้นไว้ในศีลแล้วพึงเจริญสมถะและวิปัสสนาซึ่งตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งจิตและปัญญา โดยกระทำติดต่อกันไปด้วยสามารถแห่งความเพียรที่ตรัสไว้แล้วในบทว่า ผู้มีความเพียร มีปัญญาเครื่องบริหาร และโดยกระทำความรู้แจ้งชัดด้วยสามารถแห่งปัญญานั้นเถิด

(หน้า 6)

เป็นอันพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง ทางแห่งวิสุทธินี้ในพระพุทธนิพนธคาถานั้น ด้วยมุขคือ ศีล, สมาธิ และปัญญา ด้วยประการฉะนี้

ทรงประกาศกิจแห่งสิกขา 3

ก็ด้วยพระธรรมเทศนาเพียงเท่านี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงประกาศ สิกขา 3, คำสั่งสอนอันมีความงาม 3, อุปนิสัยแห่งความเป็นผู้มีวิชา 3, เป็นต้น, การเว้นส่วนสุดทั้งสอง และการส้องเสพมัชฌิมาปฏิปทา, อุบายเป็นเครื่องก้าวล่วงอบายเป็นต้น, การประหารกิเลสโดยอาการ 3, ธรรมเป็นปฏิปักษ์แห่งการล่วงละเมิดเป็นต้น, การชำระสังกิเลส 3, และเป็นอันทรงประกาศเหตุแห่งความเป็นพระโสดาบันเป็นต้น

ทรงประกาศอย่างไร ?

อธิบายว่า ในสิกขา 3 นั้น อธิสีลสิกขาทรงประกาศด้วยศีล อธิจิตตสิกขาทรงประกาศด้วยสมาธิ อธิปัญญาสิกขาทรงประกาศด้วยปัญญา

ความงามในเบื้องต้นแห่งพระศาสนาทรงประกาศด้วยศีล จริงอยู่ ศีลชื่อว่าเป็นเบื้องต้นแห่งพระศาสนา เพราะพระบาลีว่า "ก็อะไรเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ? ศีลอันบริสุทธิ์ด้วยดีเป็นเบื้องต้น" และเพราะพระบาลีว่า "การไม่ทำบาปทั้งปวง" ดังนี้ก็แหละ ศีลนั้นชื่อว่าเป็นความงาม เพราะนำมาซึ่งคุณไม่เดือดร้อนเป็นต้น ความงามในท่ามกลางพระศาสนาทรงประกาศด้วยสมาธิ จริงอยู่ สมาธิ ชื่อว่าเป็นท่ามกลางแห่งพระศาสนา เพราะพระบาลีว่า "การยังกุศลธรรมให้พร้อม" ดังนี้ แหละสมาธินั้นชื่อว่าเป็นความงาม เพราะนำมาซึ่งคุณมีการแสดงฤทธิ์ได้เป็นต้น ความงามในที่สุดแห่งพระศาสนาทรงประกาศด้วยปัญญา จริงอยู่ ปัญญา ชื่อว่าเป็นความงามในที่สุด เพราะพระบาลีว่า "การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสอนของผู้รู้ทั้งหลาย" ดังนี้และเพราะมีปัญญาเป็นยอด แหละปัญญานั้นชื่อว่าเป็นความงาม เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์ และอนิฐารมณ์ทั้งหลาย สมดังที่ตรัสไว้ ดังนี้-

ภูเขาหินทึบเป็นแท่งเดียว ย่อมไม่หวั่นสะเทือนด้วยลม ฉันใด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่หวั่นไหวในคำนินทาและคำสรรเสริญทั้งหลาย ฉันนั้น

(หน้า 7)

ทำนองเดียวกัน อุปนิสัยแห่งความเป็นผู้มีวิชา 3 ทรงประกาศด้วยศีล เพราะโยคีบุคคลอาศัยศีลสมบัติแล้ว จึงจะบรรลุวิชา 3 ได้ อื่นจากศีลสมบัติแล้วหาบรรลุได้ไม่อุปนิสัยของความเป็นผู้มีอภิญญา 6 ทรงประกาศด้วยสมาธิ เพราะโยคีบุคคลอาศัยสมาธิสมบัติแล้ว จึงบรรลุอภิญญา 6 ได้ อื่นจากสมาธิสมบัติแล้วหาบรรลุได้ไม่ อุปนิสัยแห่งความแตกฉานในปฏิสัมภิทาทรงประกาศด้วยปัญญา เพราะโยคีบุคคลอาศัยปัญญาสมบัติแล้วจึงจะบรรลุปฏิสัมภิทา 4 มิใช่ด้วยเหตุอย่างอื่น

อนึ่ง การเว้นส่วนสุดคือกามสุขัลลิกานุโยค ทรงประกาศด้วยศีล การเว้นส่วนสุด คืออัตตกิลมถานุโยค ทรงประกาศด้วยสมาธิ การส้องเสพมัชฌิมาปฏิปทา ทรงประกาศด้วยปัญญา

อนึ่ง อุบายเป็นเครื่องก้าวอบาย ทรงประกาศด้วยศีล อุบายเป็นเครื่องก้าวล่วงกามธาตุ ทรงประกาศด้วยสมาธิอุบายเป็นเครื่องก้าวล่วงภพทั้งปวง ทรงประกาศด้วยปัญญา

อนึ่ง การประหานกิเลสด้วยสามารถแห่งตทังคปหาน ทรงประกาศด้วยศีล การประหานกิเลสด้วยสามารถแห่งวิกขัมภนปหาน ทรงประกาศด้วยสมาธิ การประหานกิเลสด้วยสามารถแห่งสมุจเฉทปหานทรงประกาศด้วยปัญญาอนึ่ง ปฏิปักขธรรมชั้นล่วงละเมิดแห่งกิเลสทั้งหลาย ทรงประกาศด้วยศีล ปฏิปักขธรรมชั้นครอบงำจิต ทรงประกาศด้วยสมาธิ ปฏิปักขธรรมชั้นอนุสัย ทรงประกาศด้วยปัญญา

อนึ่ง การชำระสังกิเลสชั้นทุจริต ทรงประกาศด้วยศีล การชำระสังกิเลสชั้นตัณหา ทรงประกาศด้วยสมาธิ การชำระสังกิเลสชั้นทิฏฐิ ทรงประกาศด้วยปัญญา

อนึ่ง เหตุแห่งความเป็นพระโสดาบันและพระสกทาคามี ทรงประกาศด้วยศีล เหตุแห่งความเป็นพระอนาคามี ทรงประกาศด้วยสมาธิ เหตุแห่งความเป็นพระอรหันต์ ทรงประกาศด้วยปัญญา จริงอยู่ พระโสดาบัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย พระสกทาคามีก็เช่นกัน พระอนาคามี ตรัสว่า เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ ส่วนพระอรหันต์ตรัสว่า เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา

(หน้า 8)

คุณธรรมหมวดละสาม 9 หมวดนี้ คือ สิกขา 3, ศาสนามีความงาม 3, อุปนิสัยแห่งความเป็นผู้มีวิชา 3 เป็นต้น, การเว้นส่วนสุดทั้งสองและการส้องเสพมัชฌิมาปฏิปทา, อุบายเป็นเครื่องก้าวล่วงอบายเป็นต้น, การประหานกิเลสโดยอาการ 3, ธรรมเป็นปฏิปักษ์แห่งการล่วงละเมิดเป็นต้น , การชำระสังกิเลส 3, เหตุแห่งความเป็นพระโสดาบันเป็นต้น และคุณธรรมหมวดละสามอื่น ๆ อีกทำนองเดียวกันนี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้วด้วยศีล, สมาธิและปัญญาเพียงเท่านี้ ด้วยประการฉะนี้

————————-

ดูเพิ่ม