อยู่ในระหว่างปรับสำนวน
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สรณคมน์
การถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งพิง(1)
- ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ, ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ, ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
- แม้ครั้งที่ 2 ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ, แม้ครั้งที่ 2 ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ, แม้ครั้งที่ 2 ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
- แม้ครั้งที่ 3 ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ, แม้ครั้งที่ 3 ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ, แม้ครั้งที่ 3 ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
สรณคมน์ จบ
เชิงอรรถ : 1 สรณะ หมายถึงสิ่งที่ทำลาย ขจัดปัดเป่า บรรเทาทุกข์ ภัย และกิเลส การยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ก็เพื่อเป็นเครื่องช่วย ทำลาย ขจัดปัดเป่าทุกข์ ภัยและกิเลสต่าง ๆ ในจิตใจให้หมดสิ้น (ขุ.ขุ.อ. 1/6-7)
อนึ่ง การเปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัย ถือเป็นการบรรพชาและอุปสมบทในสมัยต้นพุทธกาล เรียกว่า ติสรณคมนูปสัมปทา (การอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์) (วิ.อ. 3/34/23)
ทสสิกขาบท
พื้นฐานฝึกตนหลังถึงสรณคมน์
- ข้าพเจ้า,ตั้งเจตนายึดถือ "การงดเว้น,จากเจตนาฆ่าสัตว์" เอาไว้ เป็นพื้นฐาน,ฝึกตน. [ข้าพเจ้า,ตั้งเจตนายึดถือ (สมาทิยามิ) "การงดเว้น(เวรมณิ),จากเจตนาฆ่าสัตว์ (ปาณาติปาตา)" เอาไว้ เป็นพื้นฐาน (ปทํ),ฝึกตน(สิกฺขา)]
- ข้าพเจ้าตั้งเจตนายึดถือ "การงดเว้นจากเจตนาลักทรัพย์" เอาไว้เป็นพื้นฐานฝึกตน.
- ข้าพเจ้าตั้งเจตนายึดถือ "การงดเว้นจากเจตนาล่วงพรหมจรรย์" เอาไว้เป็นพื้นฐานฝึกตน.
- ข้าพเจ้าตั้งเจตนายึดถือ "การงดเว้นจากเจตนาพูดปด" เอาไว้เป็นพื้นฐานฝึกตน.
- ข้าพเจ้าตั้งเจตนายึดถือ "การงดเว้นจากเจตนาดื่มสุราเมรัย" เอาไว้เป็นพื้นฐานฝึกตน.
- ข้าพเจ้าตั้งเจตนายึดถือ "การงดเว้นจากเจตนากินอาหารหลังเที่ยงวัน" เอาไว้เป็นพื้นฐานฝึกตน.
- ข้าพเจ้าตั้งเจตนายึดถือ "การงดเว้นจากเจตนาดูฟังการเต้น การขับร้อง การเล่นดนตรี อันเป็นศัตรูของพรหมจรรย์" เอาไว้เป็นพื้นฐานฝึกตน (พรหมจรรย์ คือ การปฏิบัติแบบพรหม).
- ข้าพเจ้าตั้งเจตนายึดถือ "การงดเว้นจากเจตนาสวมเครื่องประดับ, พรมน้ำหอม, ทาบำรุงผิว" เอาไว้เป็นพื้นฐานฝึกตน.
- ข้าพเจ้าตั้งเจตนายึดถือ "การงดเว้นจากเจตนานั่งนอนเตียงตั่งสูงใหญ่" เอาไว้เป็นพื้นฐานฝึกตน.
- ข้าพเจ้าตั้งเจตนายึดถือ "การงดเว้นจากเจตนาเปิดรับเงินทอง" เอาไว้เป็นพื้นฐานฝึกตน.
ทสสิกขาบท จบ
เชิงอรรถ :
1 สิกขาบท แยกศัพท์อธิบายดังนี้ สิกขา + บท คำว่า สิกขา หมายถึงสิ่งที่จะต้องศึกษา ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา คำว่า บท หมายถึงอุบายเครื่องบรรลุ (ปชฺชเต อเนนาติ ปทํ) หมายถึงพื้นฐาน(มูละ) หมายถึง ที่อาศัย(นิสสยะ) และหมายถึงที่ตั้ง(ปติฏฐะ) ดุจในคำว่า สีลํ นิสฺสาย สีเล ปติฏฺฐาย สตฺต โพชฺฌงฺเค ภาเวนฺโต พหุลีกโรนฺโต เป็นต้น (สํ.ม. 19/182/58) ดังนั้น สิกขาบท จึงหมายถึงอุบายเครื่องบรรลุสิ่งที่ จะต้องศึกษา และหมายถึงพื้นฐาน ที่อาศัย หรือที่ตั้งแห่งสิ่งที่จะต้องศึกษา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา คำว่า สิกขาบท มีความหมายเท่ากับคำว่า เวรมณี ดังบทวิเคราะห์ว่า เวรมณี เอว สิกฺขาปทํ จึงมีพระบาลีว่า เวรมณีสิกฺขาปทํ แปลว่า สิกขาบทคือเจตนางดเว้น คำว่า เจตนางดเว้น หมายถึงการงด (วิรัติ) การไม่ทำ(อกิริยา) การไม่ต้องอาบัติ(อนัชฌาบัติ) การไม่ล่วงละเมิดขอบเขต(เวลาอนติกกมะ) รวมถึงการกำจัดกิเลสด้วยอริยมรรคที่เรียกว่า เสตุ (เสตุฆาตะ) (ดู อภิ.วิ. (แปล) 35/704/447) ในที่นี้หมายถึงศีล 10 สำหรับสามเณร เป็นต้น (ขุ.ขุ.อ. 2/15-17) และดูเทียบ วิ.ม. (แปล) 4/105-106/ 168-169
2 พฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์ หมายถึงเจตนาที่จะเสพเมถุนธรรม(พฤติกรรมของคนคู่กัน) หรือเจตนาที่ แสดงออกทางกายโดยมุ่งหมายจะเสพเมถุนธรรม (ขุ.ขุ.อ. 2/17)
3 อรรถกถาอธิบายว่า สุราและเมรัยเป็นของมึนเมา และมีสิ่งอื่นอีกที่เป็นของมึนเมา (ตทุภยเมว (สุราเมรยํ) มทนียฏฺเฐน มชฺชํ, ยํ วา ปนฺมฺปิ กิฺจิ มทนียํ) จึงอาจแปลตามนัยนี้ว่า ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนางดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย และของมึนเมาอันเป็นเหตุแห่งความประมาท (ขุ.ขุ.อ. 2/18)
1 เวลาวิกาล ในที่นี้หมายถึงเวลาที่เลยเที่ยงวันไป (ขุ.ขุ.อ. 2/27)
2 คำว่า นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนา ในสิกขาบทนี้ แปลได้ 2 นัย คือ นัยที่ 1 แปลว่า การดูการละเล่นอัน เป็นข้าศึกต่อกุศลคือการฟ้อนรำ ขับร้อง และบรรเลงดนตรี (ดู ที.สี. (แปล) 9/13/6 ประกอบ) นัยที่ 2 แปลว่า การฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี และการดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล ในที่นี้แปล ตามนัยที่ 2 คำว่า ทัสสนา มิได้จำกัดความหมายเพียงการดู การเห็นเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง การฟัง การได้ยินด้วย คำว่า ข้าศึกต่อกุศล แปลจากคำว่า วิสูกะ หมายถึงเป็นเหตุทำลายกุศลธรรม ให้อกุศลธรรมเกิดขึ้น และหมายถึงเป็นข้อประพฤติที่ไม่เหมาะสมต่อพระพุทธศาสนา ในสิกขาบทนี้พึงทราบนัยเพิ่มเติมอีก 2 นัย คือ (1) จะจัดเป็นการล่วงละเมิดสิกขาบทได้ต่อเมื่อ เข้าไปดูเพราะประสงค์จะเห็นเท่านั้น แต่ถ้าบังเอิญการละเล่นนั้นผ่านมาให้เห็นเองทางที่ตนยืน นั่ง หรือ นอนอยู่ ไม่จัดเป็นการล่วงละเมิด จัดเป็นเพียงความเศร้าหมอง (2) เพลงขับร้อง(คีตะ)ที่ประกอบด้วย ธรรม ถือเป็นความเหมาะสม ไม่ห้าม แต่ธรรมที่ประกอบเป็นเพลงขับร้อง ถือเป็นความไม่เหมาะสม (ขุ.ขุ.อ. 2/27-28)
3 ดู สารตฺถ.ฏีกา 3/106/308
ทวัตติงสาการ
ว่าด้วยอาการ 32
ในร่างกายนี้มี
- ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
- เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต1
- หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม2 ปอด
- ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า
- ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น
- น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร3 และมันสมอง
ทวัตติงสาการ จบ
เชิงอรรถ :
1 ไต แปลจากคำว่า วกฺก (โบราณแปลว่า ม้าม) ได้แก่ ก้อนเนื้อ 2 ก้อนมีขั้วเดียวกัน รูปร่างคล้ายลูก สะบ้าของเด็กๆ หรือคล้ายผลมะม่วง 2 ผลที่ติดอยู่ในขั้วเดียวกัน มีเอ็นใหญ่รึงรัดจากลำคอลงไปถึงหัวใจ แล้วแยกออกห้อยอยู่ทั้ง 2 ข้าง (ขุ.ขุ.อ. 3/43), พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้บท นิยามคำว่า ไต ว่า อวัยวะคู่หนึ่งของคนและสัตว์ อยู่ในช่องท้องใกล้กระดูกสันหลัง ทำหน้าที่ ขับของเสียออกมากับน้ำปัสสาวะ, buddhadatta mahathera, a. concise pali-english dictionary, 1985, (224), และ rhys davids, t.w. pali-english dictionary, 1921-1925, (591) ให้ความหมาย ของคำว่า วกฺก ตรงกันกับคำว่า ไต (kidney)
2 ม้าม แปลจากคำว่า ปิหก ตาม (ขุ.ขุ.อ. 3/45) (โบราณแปลว่า ไต), พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้บทนิยามไว้ว่า อวัยวะภายในร่างกาย ริมกระเพาะอาหารข้างซ้ายมีหน้าที่ทำลายเม็ด เลือดแดง สร้างเม็ดน้ำเหลืองและสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย
3 มูตร หมายถึงน้ำปัสสาวะที่อยู่ในกระเพาะปัสสาวะ (ขุ.ขุ.อ. 3/57, วิสุทฺธิ. 1/213/288) และดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) 22/29/469
สามเณรปัญหา
ว่าด้วยการถามปัญหากับโสปากสามเณร
1. อะไรชื่อว่า หนึ่ง ที่ชื่อว่า หนึ่ง ได้แก่ สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร1
2. อะไรชื่อว่า สอง ที่ชื่อว่า สอง ได้แก่ นามและรูป
3. อะไรชื่อว่า สาม ที่ชื่อว่า สาม ได้แก่ เวทนา 32
4. อะไรชื่อว่า สี่ ที่ชื่อว่า สี่ ได้แก่ อริยสัจ 4
5. อะไรชื่อว่า ห้า ที่ชื่อว่า ห้า ได้แก่ อุปาทานขันธ์ 5(3)
6. อะไรชื่อว่า หก ที่ชื่อว่า หก ได้แก่ อายตนะภายใน 6(4)
7. อะไรชื่อว่า เจ็ด ที่ชื่อว่า เจ็ด ได้แก่ โพชฌงค์ 7
8. อะไรชื่อว่า แปด ที่ชื่อว่า แปด ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8
9. อะไรชื่อว่า เก้า ที่ชื่อว่า เก้า ได้แก่ สัตตาวาส 9(1)
10. อะไรชื่อว่า สิบ ที่ชื่อว่า สิบ ได้แก่ บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์คุณ 10(2) เรียกว่า พระอรหันต์
สามเณรปัญหา จบ
เชิงอรรถ :
1 อาหาร หมายถึงปัจจัยที่เป็นเหตุให้สัตว์ดำรงชีพอยู่ได้ ได้แก่ อาหาร 4 คือ (1) กวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว) (2) ผัสสาหาร(อาหารคือผัสสะ) (3) มโนสัญเจตนาหาร(อาหารคือมโนสัญเจตนา) (4) วิญญาณาหาร(อาหารคือวิญญาณ) ยกเว้นอสัญญีสัตตพรหม ซึ่งมีฌานเป็นอาหาร (ขุ.ขุ.อ. 4/65, องฺ.ทสก.อ. 3/27/336) และดู ที.ปา. 11/303/191,311/203, องฺ.ทสก. (แปล) 24/27/62, ขุ.ป. (แปล) 31/208/345, ม.มู. (แปล) 12/90/84
2 ดู ที.ปา. 11/305/194, สํ.สฬา. (แปล) 18/270/303
3 ดู สํ.ข. (แปล) 17/48/66-67, อภิ.วิ (แปล) 35/1/1-2
4 ดู ที.ปา. 11/323/215, อภิ.วิ. (แปล) 35/154-167/112-118
1 ดู ที.ปา. 11/341/232, 359/272
2 องค์คุณ 10 ได้แก่ (1) สัมมาทิฏฐิ (2) สัมมาสังกัปปะ (3) สัมมาวาจา (4) สัมมากัมมันตะ (5) สัมมาอาชีวะ (6) สัมมาวายามะ (7) สัมมาสติ (8) สัมมาสมาธิ (9) สัมมาญาณะ (10) สัมมาวิมุตติ (ขุ.ขุ.อ. 4/77)
มงคลสูตร
(สิ่งที่เมื่อใครๆ ฟังจำทบทวนท่องบ่นทุกวันไปตลอดชีวิตแล้ว ชีวิตจะเจริญสุดๆ)
[1] ข้าพเจ้า1)ได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป 2) เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะ งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร3) ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
เทวดาถามว่า:
[2] มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์คิดหาวิธีทำชีวิตให้เจริญสุดๆ กันมายาวนาน. ขอท่านโปรดสอนวิธีนั้นให้แก่มหาชนที่ตั้งอกตั้งใจรอฟังจำทบทวนวิธีนั้นเพื่อปฏิบัติตามกันอยู่ด้วยเถิด.
พระพุทธเจ้าตอบว่า:
[3] (1) จงอยู่กับคนไม่พัฒนาตนเองให้น้อยลงๆ. (2) จงเข้าหาผู้ที่ชอบพัฒนาให้มากขึ้นๆ. (3) จงบูชาเทิดทูนคนที่สั่งสอนวิธีพัฒนาให้เราได้. จงพัฒนาอย่างนี้ ชีวิตจะได้เจริญสุดๆ!
[4] (4) ควรเกิดในประเทศที่เจริญพัฒนาแล้ว, (5) จึงต้องพัฒนาตัวเองไว้ตั้งแต่อดีตชาติ, (ุ6) และขณะนี้คืออดีตชาติของชาติหน้า, ฉะนั้น ต้องตั้งใจพัฒนาตัวเองตั้งแต่ตอนนี้เลย! จงพัฒนาอย่างนี้ ชีวิตจะได้เจริญสุดๆ!
[5] (7) เมื่อได้อยู่ในประเทศที่เจริญ ได้คนสอนที่เจริญน่าบูชาแล้ว, จงตั้งใจฟังจำทบทวนคำสอนเพื่อพัฒนาเยอะๆ, (8) แล้วฝึกฝนพัฒนาตาม (9) อย่างมีระเบียบวินัย, (10) คิดทำพูดแต่เรื่องการพัฒนาชีวิตให้เจริญ. จงพัฒนาอย่างนี้ ชีวิตจะได้เจริญสุดๆ!
[6] (11) คนที่พัฒนาตนเอง จะดูแลมารดาบิดาดี, (12-13) คนที่พัฒนาตนเอง จะดูแลบุตรและภรรยาดี เพราะชีวิตจะไม่เจริญถ้าละเลยกิจที่ควรต้องทำ ได้แก่ จาริตศีลคือการดูแลผู้มีพระคุณรอบข้าง เป็นต้น ที่เป็นสิ่งที่ควรทำทันที (14) ไม่ควรปล่อยเลยจนตายจากกันไปก่อน. จงพัฒนาอย่างนี้ ชีวิตจะได้เจริญสุดๆ!
[7] (15) ยังมีจาริตศีลอีกมากที่ต้องทำทันที ตัวอย่างเช่น การเสียสละให้ทันที, (16) การคิดกุศลกรรมบถ 10 ตลอดตั้งแต่ตอนนี้, (17) การดูแลญาติพี่น้องทันที, (18) รวมถึงการงดเว้นกิจกรรมที่จะมีผลเสียตามมาทีหลังได้. จงพัฒนาอย่างนี้ ชีวิตจะได้เจริญสุดๆ!
[8] ศีลอีกมากที่ต้องงดเว้นทันทีก็มีด้วย ตัวอย่างเช่น (19) การไม่คิดอกุศลกรรมบถ 10 เลย, (20) การไม่เสพสิ่งที่ทำให้มัวเมา, (21) ไม่ประมาทหลงลืมคิดถึงอารมณ์ของกุศลจิต (อินทริยสังวรศีล ปิดทวาร 6 เปิดใจ) เป็นต้น. จงพัฒนาอย่างนี้ ชีวิตจะได้เจริญสุดๆ!
[9] เมื่อพัฒนาชีวิตตามที่กล่าวมาเหล่านั้นแล้ว, (22) เขาจะรู้จักเคารพคนอื่นด้วยคารวะ 6 (23) และรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน, (24) จะรู้จักใช้สอยปัจจัย 4 ตามความเหมาะสม ทั้งเหมาะแก่ตนและเหมาะแก่คนอื่น, (25) จะรู้จักบุญคุณของสมณะผู้สอนวิธีพัฒนาตน ก็จะให้ปัจจัย 4 ที่เหมาะแก่การแสดงความกตัญญูกตเวที เพื่อผูกมิตรกับสมณะผู้มีความรู้ท่านนั้น. เมื่อทำอย่างนี้ ตัวนักปฏิบัติเองจึงจะตั้งใจฟังวิธีพัฒนาตนจากสมณะอย่างเคารพด้วยการทำคารวะ 6 มีการแสดงความเคารพด้วยปฏิสันถารเป็นที่สุด (ปฏิสันถารคารวตา), (26) และเมื่อสมณะเห็นพื้นฐานที่ดีเหล่านั้น ท่านจึงจะเปิดโอกาสให้เขาได้รับฟังวิธีพัฒนาตัวเองที่ดีมากขึ้นๆ ไปอีก. จงพัฒนาอย่างนี้ ชีวิตจะได้เจริญสุดๆ!
[10] (27) เมื่อได้ฟังวิธีพัฒนาตัวเองที่ดีมากขึ้นๆ แล้ว ต้องอดทนฟังจนเข้าใจ, (28) ไม่หงุดหงิดขุ่นเคืองรำคาญง่ายๆ ให้อดทนพิจารณา สมณะแนะนำอะไรๆ ก็เปิดใจรับฟังดีๆ (ตามกถาวัตถุสูตร), (29) ให้เข้าหาดูแลแสดงความกตััญญูแก่สมณะบ่อยๆ, (30) จะได้สอบถามเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาตนบ่อยๆ. จงพัฒนาอย่างนี้ ชีวิตจะได้เจริญสุดๆ!
[11] เมื่อมีศีล และจำวิธีพัฒนาตัวเองที่ดีมากขึ้นๆ ได้แล้ว (31) จะสามารถทำความเพียรทั้งสมถะและวิปัสสนาต่อเนื่องได้ (ตาปี,อาตาปี) (32)จนถึงขั้นสมาบัติ (อัปปนา), (33) เมื่อได้มัคคภาวนาสมาบัติ ก็จะเห็นอริยสัจ 4 แทงตลอด, (34) นิพพานก็เป็นอันทำให้แจ้งด้วยเช่นกัน. จงพัฒนาอย่างนี้ ชีวิตจะได้เจริญสุดๆ!
[12] (35)เมื่อพัฒนาชีวิตครบแต่ต้นจนจบอย่างนี้ จนจิตไม่หวั่นไหวกับการได้ลาภ เสื่อมลาภ, ไม่หวั่นไหวกับการได้ยศ เสื่อมยศ, ไม่หวั่นไหวกับคำชม คำด่า, ไม่หวั่นไหวกับทุกข์ สุข, (36) ไม่เศร้าโศกเสียใจ (37) กิเลสแม้ละเอียดเปรียบละอองธุลีไม่สามารถเกิดขึ้นเลย (38) จิตมีแต่ความมั่นคงปลอดภัย. เมื่อพัฒนาครบอย่างนี้ ชีวิตก็เจริญสุดแล้ว 😇
[13] ใครก็ตามที่พัฒนาชีวิตด้วย 38 วิธีนี้สำเร็จ, ชีวิตของเขาก็จะไม่ด้อยพัฒนาอีกเลย เขาจะไม่ตกต่ำอีกเลย. เขาจะมีความสุขสวัสดีในทุกที่ทุกเวลา. หลักพัฒนาชีวิต ที่เรียกว่ามงคล 38 ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้แหละ ที่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ คิดหาวิธีทำชีวิตให้เจริญสุดๆ กันมายาวนาน จนเทวดาต้องมาถามพระพุทธเจ้าและตั้งอกตั้งใจรอฟังจำทบทวนเพื่อปฏิบัติตามกันอยู่.
มงคลสูตร จบ
เชิงอรรถ :
1 ความอดทน ในที่นี้หมายถึงอธิวาสนขันติ (ขันติคือความอดกลั้น) ได้แก่ ความอดกลั้นต่อคำด่าต่าง ๆ อดกลั้นต่อการถูกเบียดเบียน ตลอดถึงอดกลั้นต่อทุกขเวทนา เช่น ความหนาว ความร้อน เป็นต้น ยกตน อยู่เหนือทุกข์ต่าง ๆ ดำรงตนอยู่ได้อย่างไม่หวั่นไหว (ขุ.ขุ.อ. 5/129)
2 พรหมจรรย์ เป็นชื่อของ (1) เมถุนวิรัติ (ดู ที.สี. (แปล) 9/8/3, ม.มู. (แปล) 12/292/323) (2)สมณธรรม (ดู ม.มู. (แปล) 12/257/217) (3)ศาสนา (ดู ที.ม. (แปล) 10/168/113) (4)มรรค (ดู สํ.ม. (แปล) 19/6/9) (ขุ.ขุ.อ. 5/133)
รตนสูตร
ว่าด้วยรตนะอันประณีต(1)
(พระผู้มีพระภาคตรัสรตนสูตรดังนี้)
[1] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น2 หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ3 ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ขอให้ภูตทั้งปวงจงเป็นผู้มีใจดี และจงฟังภาษิตโดยเคารพเถิด
[2] เพราะฉะนั้นแล ภูตทั้งปวง ท่านจงใคร่ครวญ จงแผ่เมตตาต่อหมู่มนุษย์ด้วยเถิด มนุษย์เหล่าใดนำเครื่องเซ่นสรวงมาให้ ทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะเหตุนั้น ขอท่านทั้งหลายอย่าประมาท จงรักษามนุษย์เหล่านั้น
[3] ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ หรือรัตนชาติที่ประณีต4ใด ๆ ที่มีในโลกนี้ ในโลกอื่น หรือในสวรรค์ ทรัพย์หรือรัตนชาตินั้น ๆ ที่เสมอด้วยตถาคต ไม่มี นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[4] พระศากยมุนีผู้มีพระทัยตั้งมั่น ทรงบรรลุธรรมใดอันเป็นที่สิ้นกิเลส ปราศจากราคะ เป็นอมตธรรมอันประณีต ไม่มีธรรมใด ๆ ที่เสมอด้วยธรรมนั้น นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[5] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ตรัสสรรเสริญสมาธิ1ใดว่าเป็นธรรมสะอาด ตรัสถึงสมาธิใดว่าให้ผลโดยลำดับ สมาธิอื่น2ที่เสมอด้วยสมาธินั้น ไม่มี นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[6] บุคคล 108 จำพวก3ที่สัตบุรุษสรรเสริญ ซึ่งจัดเป็นบุคคล 4 คู่ เป็นสาวกของพระสุคต เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา ทานที่เขาถวายในบุคคลเหล่านั้น มีผลมาก นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[7] บุคคลเหล่าใดในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า เป็นผู้ประกอบตนไว้ดี มีใจมั่นคง หมดความห่วงใย บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าบรรลุอรหัตตผล หยั่งถึงอมตนิพพาน รับรสความดับสนิทแบบได้เปล่า1 นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[8] สัตบุรุษใดพิจารณาเห็นแจ้งอริยสัจ เราเรียกสัตบุรุษนั้นว่า มีอุปมาเหมือนเสาเขื่อนที่ฝังลงดิน อันไม่หวั่นไหวเพราะลมที่พัดมาจากทิศทั้งสี่ นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[9] พระโสดาบันเหล่าใดรู้แจ้งอริยสัจ ที่พระศาสดาผู้มีปัญญาลึกซึ้งแสดงแล้ว ถึงแม้ว่าพระโสดาบันเหล่านั้นจะประมาทไปบ้าง ท่านเหล่านั้นก็จะไม่ถือกำเนิดในภพที่ 81 นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[10] พระโสดาบันนั้นละธรรม 3 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส พร้อมกับการบรรลุโสดาปัตติมรรคได้แล้ว แม้จะมีกิเลสบางอย่างเหลืออยู่2
[11] พระโสดาบันนั้นพ้นแล้วจากอบายทั้งสี่3 และจะไม่ทำอภิฐาน 64 นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[12] ถึงแม้ว่า พระโสดาบันนั้นจะทำบาปกรรม5 ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจไปบ้าง ท่านก็ไม่ปกปิดบาปกรรมนั้นไว้ เรากล่าวว่าผู้เห็นบท6แล้ว ไม่อาจทำอย่างนั้นได้ นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[13] พุ่มไม้งามในป่า ซึ่งมียอดออกดอกบานสะพรั่ง ในต้นเดือนห้าแห่งคิมหันตฤดู งามอย่างยิ่ง ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ ที่ให้ถึงนิพพาน เพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง ฉันนั้น นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[14] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ทรงรู้ธรรมอันประเสริฐ ทรงประทานธรรมอันประเสริฐ ทรงนำทางอันประเสริฐมาให้ ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าใคร ๆ ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐไว้ นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[15] พระขีณาสพเหล่าใดสิ้นภพเก่าแล้ว ไม่มีการเกิดใหม่ ทั้งมีจิตเบื่อหน่ายในภพที่จะเกิดต่อไป ท่านเหล่านั้นชื่อว่า มีพืช1สิ้นแล้ว ไม่มีฉันทะงอกขึ้น เป็นปราชญ์ ย่อมดับสนิทเหมือนประทีปดวงนี้ดับไป นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
(ท้าวสักกะจอมเทพกราบทูลเป็นคาถา ดังนี้ )
[16] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระตถาคต1พุทธเจ้า ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
[17] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระธรรมของพระตถาคต ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
[18] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระสงฆ์ของพระตถาคต ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี (พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) ถ้าเห็นว่าจะได้สุขอันยิ่งใหญ่ ด้วยการเสียสละสุขอันเล็กน้อย นักปราชญ์พึงเสียสละสุขอันเล็กน้อย เพื่อเห็นแก่สุขอันยิ่งใหญ่2
รตนสูตร จบ
เชิงอรรถ :
1 ดู สุตตนิบาตข้อ 224-241 หน้า 529 ในเล่มนี้
2 คำว่า ภูต มีความหมายหลายนัย คือ นัยที่ 1 มีความหมายเชิงกริยาว่า มีแล้ว (หรือ เกิดแล้ว ดู วิ.มหา. (แปล) 2/153/327) นัยที่ 2 หมายถึงขันธ์ 5 (ดู ม.มู. (แปล) 12/401/432) นัยที่ 3 หมายถึงธาตุ 4 มีปฐวีธาตุ เป็นต้น (ดู ม.อุ. 14/86/68) นัยที่ 4 หมายถึงพระขีณาสพ (ดู ขุ.ชา. (แปล) 27/190/116) นัยที่ 5 หมายถึง สรรพสัตว์ (ดู ที.ม. (แปล) 10/220/167) นัยที่ 6 หมายถึงรุกขชาติต่าง ๆ (ดู วิ.มหา. (แปล) 2/90/116) นัยที่ 7 หมายถึงหมู่สัตว์นับแต่ท้าวมหาราชทั้ง 4 ลงมา (ดู ม.มู. (แปล) 12/3/5) ในที่นี้หมายถึงอมนุษย์ที่มีศักดิ์น้อย หรืออมนุษย์ที่มีศักดิ์มาก และคำว่า ผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น หมายถึง ภุมมเทวดาคือเทวดาที่บังเกิดบนพื้นดิน ต้นไม้ และภูเขา เป็นต้น (ขุ.ขุ.อ. 6/145)
3 ผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ หมายถึงเทวดาที่บังเกิดในวิมานในอากาศตั้งแต่สวรรค์ชั้นยามาจนถึงพรหมโลก ชั้นอกนิษฐา (ขุ.ขุ.อ. 6/145)
4 ประณีต ในที่นี้หมายถึงสูงสุด ประเสริฐสุด (ขุ.ขุ.อ. 6/149)
1 สมาธิ ในที่นี้หมายถึงอริยสัมมาสมาธิ (ม.อุ. 14/136/121) ที่เรียกว่า อานันตริกสมาธิ (สมาธิที่ให้ผล โดยลำดับ) เพราะเป็นสมาธิที่ให้ผลแน่นนอนตามลำดับ สามารถถอนกิเลสได้สิ้นเชิง (ขุ.ขุ.อ. 6/158)
2 สมาธิอื่น หมายถึงรูปาวจรสมาธิและอรูปาวจรสมาธิ (ขุ.ขุ.อ. 6/159)
3 บุคคล 108 จำพวก ได้แก่ พระโสดาบัน 3 จำพวก คือ (1) เอกพีชี (2) โกลังโกละ (3) สัตตักขัตตุปรมะ พระสกทาคามี 3 จำพวก คือ (1) ผู้บรรลุผลในกามภพ (2) ผู้บรรลุผลในรูปภพ (3) ผู้บรรลุผลในอรูปภพ รวมพระโสดาบัน 3 จำพวก และพระสกทาคามี 3 จำพวก นับโดยปฏิปทา 4 ประการ จึงได้บุคคล 24 จำพวก (6 x 4 = 24) รวมกับพระอนาคามี 4 ชั้น คือ ชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสา ชั้นสุทัสสี อีกชั้นละ 5 จำพวก (4 x 5 = 20) และพระอนาคามีชั้นอกนิษฐคามีอีก 4 จำพวก (20 + 4 = 24) เป็น บุคคล 48 จำพวก (24 + 24 = 48) รวมกับพระอรหันต์ 2 จำพวก คือ (1) สุขวิปัสสก (2) สมถยานิก เป็นบุคคล 50 จำพวก (48 + 2 = 50) รวมกับพระอริยบุคคลผู้ดำรงอยู่ในมรรคอีก 4 จำพวก เป็น บุคคล 54 จำพวก (50 + 4 = 54) บุคคลเหล่านี้มี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสัทธาธุระ 54 จำพวก และฝ่ายปัญญาธุระ 54 จำพวก จึงเป็น พระอริยบุคคล 108 จำพวก (54 + 54 = 108) (ขุ.ขุ.อ. 6/159-160) นี้คือนัยโดยพิสดาร ส่วนนัยโดยย่อ ได้แก่ บุคคล 8 จำพวก คือ (1) พระโสดาบัน (2) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง โสดาปัตติผล (3) พระสกทาคามี (4) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล (5) พระอนาคามี (6) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล (7) พระอรหันต์ (8) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล (ขุ.ขุ.อ. 6/160)
1 แบบได้เปล่า หมายถึงได้โดยไม่ต้องจ่ายแม้แต่กากณึกเดียว (ขุ.ขุ.อ. 6/161) กากณึก เป็นมาตราเงิน อย่างต่ำที่สุด (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525)
1 ไม่ถือกำเนิดในภพที่ 8 หมายถึงไม่เกิดในภพที่ 8 เพราะท่านเหล่านั้นละสังโยชน์ 3 ประการ (สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส) ได้แล้ว และจะเวียนเกิดเวียนตายในเทวโลกและมนุษยโลกอย่างมากไม่เกิน 7 ครั้ง แล้วบรรลุอรหัตตผล เพราะนามรูปดับไปในภพที่ 7 นั่นเอง (ขุ.ขุ.อ. 6/163-164)
2 อภิ.ก. 37/278/103
3 อบายทั้งสี่ หมายถึงภูมิที่ปราศจากความเจริญ มี 4 คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรต และอสุรกาย (ขุ.ขุ.อ. 6/165)
4 อภิฐาน 6 หมายถึงฐานะอันหนัก 6 ประการ ได้แก่ (1) ฆ่ามารดา (2) ฆ่าบิดา (3) ฆ่าพระอรหันต์ (4) ทำโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ (5) ทำให้สงฆ์แตกกัน (6) เข้ารีตศาสดาอื่น (ขุ.ขุ.อ. 6/166)
5 บาปกรรม ในที่นี้หมายถึงการต้องอาบัติเบา เช่น ต้องอาบัติเพราะนอนร่วมกับสามเณรเป็นต้น มิได้ หมายถึงอาบัติหนัก (ขุ.ขุ.อ. 6/167) และดู วิ.มหา. (แปล) 2/50/238 ประกอบ
6 บท ในที่นี้หมายถึงทางแห่งนิพพาน (ขุ.ขุ.อ. 6/167)
1 พืช ในที่นี้หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ (ขุ.ขุ.อ. 6/171) และดู องฺ.ติก. (แปล) 20/77/300 ประกอบ
1 ตถาคต แปลว่า ไปอย่างนั้นหรือมาอย่างนั้น มีความหมายหลายนัย เช่น ไปหรือมาอย่างบุคคลผู้ ขวนขวายเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก ไปหรือมาด้วยการเพิกถอนกิเสสได้ด้วยกำลังแห่งสมถะและวิปัสสนา ไปหรือมาด้วยการกำจัดทุกข์ทั้งปวงได้ ไปหรือมาด้วยการปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน ในที่นี้ใช้เป็น คำแสดงคุณลักษณะของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าไปอย่างนั้นหรือมาอย่างนั้น (ขุ.ขุ.อ. 6/172)
2 สุขอันยิ่งใหญ่ ในที่นี้หมายถึงความสุขอันโอฬารคือพระนิพพาน (ขุ.ธ.อ. 7/87) ดู ขุ.ธ. แปลในเล่มนี้ ข้อ 290 หน้า 123
ติโรกุฑฑสูตร
ว่าด้วยเรื่องเปรตที่อยู่ภายนอกฝาเรือน(1)(2)
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้ เพื่ออนุโมทนาพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ดังนี้)
[1] พวกเปรตพากันมาสู่เรือนของตน3 บ้างยืนอยู่ที่ฝาเรือนด้านนอก บ้างยืนอยู่ที่ทางสี่แพร่ง สามแพร่ง บ้างยืนพิงอยู่ที่บานประตู
[2] เมื่อมีข้าวและน้ำดื่มมากมาย เมื่อของเคี้ยวของกินถูกจัดเตรียมไว้แล้ว ญาติสักคนก็ไม่นึกถึงเปรตเหล่านั้น เพราะกรรมของสัตว์เหล่านั้นเป็นปัจจัย
[3] เหล่าชนผู้อนุเคราะห์ ย่อมถวายอาหารและน้ำดื่ม ที่สะอาดประณีต เหมาะแก่พระสงฆ์ตามกาล อุทิศให้ญาติทั้งหลาย(ที่เกิดเป็นเปรต)อย่างนี้ว่า ขอทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของเรา ขอญาติทั้งหลาย จงเป็นสุขเถิด
[4] ส่วนญาติที่เกิดเป็นเปรตเหล่านั้น พากันมาประชุมพร้อมกัน ณ ที่ให้ทานนั้น ย่อมอนุโมทนาในอาหารและน้ำดื่มเป็นอันมากโดยเคารพว่า
[5] เพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด พวกเราจึงได้สุขสมบัติเช่นนี้ ขอญาติเหล่านั้นของพวกเราจงมีอายุยืน อนึ่ง การบูชา ญาติผู้เป็นทายกก็ได้ทำแก่พวกเราแล้ว และทายกก็ไม่ไร้ผล
[6] ในเปตวิสัย1นั้น ไม่มีกสิกรรม (การทำไร่ไถนา) ไม่มีโครักขกรรม (การเลี้ยงวัวไว้ขาย) ไม่มีพาณิชกรรม (การค้าขาย) เช่นนั้น การแลกเปลี่ยนซื้อขายด้วยเงิน ก็ไม่มี ผู้ที่ตายไปเกิดเป็นเปรตในเปตวิสัยนั้น ดำรงชีพด้วยผลทานที่พวกญาติอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
[7] น้ำฝนที่ตกลงมาในที่ดอนย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด ทานที่ทายกอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จผลแน่นอนแก่พวกเปรต ฉันนั้นเหมือนกัน
[8] ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้เต็มเปี่ยม ฉันใด ทานที่ทายกอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน
[9] กุลบุตรเมื่อระลึกถึงอุปการะ ที่ญาติผู้ละไปแล้ว(เปรต)เคยทำไว้ในกาลก่อนว่า ผู้นั้นได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ได้ทำสิ่งนี้แก่เรา ได้เป็นญาติ มิตร และสหายของเรา ก็ควรถวายทักษิณาทานอุทิศให้แก่ญาติผู้ละไปแล้ว
[10] การร้องไห้ ความเศร้าโศก หรือความร่ำไห้คร่ำครวญอย่างอื่นใด ใคร ๆ ไม่ควรทำเลย เพราะการร้องไห้ เป็นต้นนั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ญาติทั้งหลายก็ยังคงสภาพอยู่อย่างนั้น
[11] ส่วนทักษิณาทานนี้แล ที่ตั้งไว้ดีแล้วในพระสงฆ์ ย่อมสำเร็จประโยชน์เกื้อกูลสิ้นกาลนาน แก่หมู่ญาติที่เกิดเป็นเปรตนั้น โดยพลันทีเดียว
[12] ญาติธรรม1นี้นั้น ท่านแสดงออกแล้ว การบูชาญาติที่ตายไปเป็นเปรต ท่านทำอย่างยิ่งใหญ่แล้ว ทั้งกำลังกายของภิกษุ ท่านก็เพิ่มให้แล้ว เป็นอันว่าท่านสั่งสมบุญไว้มิใช่น้อยเลย
ติโรกุฑฑสูตร จบ
เชิงอรรถ :
1 พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พระเจ้าพิมพิสาร ณ กรุงราชคฤห์ (ขุ.ขุ.อ. 7/177)
2 ดูเทียบ ขุ.เปต. (แปล) 26/14-25/170-172, อภิ.ก. 37/490/295
3 เรือนของตน หมายถึงเรือนญาติของตน หรือเรือนที่เคยอยู่ในปางก่อน (ขุ.ขุ.อ. 7/181)
1 เปตวิสัย หมายถึงภูมิหรือกำเนิดแห่งเปรต (ขุ.ขุ.อ. 7/188)
1 ญาติธรรม หมายถึงกิจคือการสงเคราะห์ต่อกันที่ญาติจะพึงกระทำต่อกัน (ขุ.ขุ.อ. 7/190)
นิธิกัณฑสูตร
ว่าด้วยการฝังขุมทรัพย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุฎุมพีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ดังนี้)
[1] คนเราฝังขุมทรัพย์2ไว้ในที่ลึกจดถึงน้ำก็ด้วยคิดว่า เมื่อเกิดกิจที่จำเป็นขึ้น ขุมทรัพย์นี้จะเป็นประโยชน์แก่เรา
[2] คนเราฝังขุมทรัพย์ไว้ในโลก ก็เพื่อจุดประสงค์นี้ คือ เพื่อให้พ้นจากราชภัยที่คอยคุกคาม เพื่อให้พ้นจากโจรภัยที่คอยเบียดเบียน เพื่อเก็บไว้ใช้หนี้ก็มี เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกิดทุพภิกขภัย3 หรือเพื่อใช้ในเวลามีภัยอันตรายต่าง ๆ
[3] ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้อย่างดีในที่ลึกจดน้ำถึงเพียงนั้น จะสำเร็จประโยชน์แก่เขาไปทั้งหมด ตลอดเวลาก็หาไม่
[4] เพราะบางทีขุมทรัพย์ก็เคลื่อนที่ไปก็มี บางทีเขาลืมที่ฝังไว้ก็มี บางทีพวกนาคเคลื่อนย้ายก็มี บางทีพวกยักษ์นำขุมทรัพย์นั้นไปก็มี
[5] หรือบางทีเมื่อเขาไม่เห็นทายาทผู้ไม่เป็นที่รักขโมยขุดเอาไปก็มี เมื่อเขาสิ้นบุญ ขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ทั้งหมดนั้นก็พินาศหายไป
[6] ขุมทรัพย์1ที่ผู้ใดจะเป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม ฝังไว้ดีแล้ว ด้วยทาน ศีล สัญญมะ และทมะ2
[7] ในพระเจดีย์ พระสงฆ์ บุคคล แขกที่มาหา ในมารดา บิดา หรือพี่ชาย
[8] ขุมทรัพย์นี้ชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว คนอื่นขนเอาไปไม่ได้ จะติดตามคนฝังตลอดไป บรรดาทรัพย์สมบัติที่เขาจำต้องละไป เขาพาไปได้เฉพาะขุมทรัพย์นี้เท่านั้น
[9] ขุมทรัพย์นี้ไม่ทั่วไปแก่คนเหล่าอื่น ทั้งโจรก็ลักเอาไปไม่ได้ ผู้มีปัญญาควรทำแต่บุญที่จะเป็นขุมทรัพย์ติดตามตนตลอดไป
[10] ขุมทรัพย์นี้ให้ผลอันน่าปรารถนาทุกประการ แก่เทวดา และมนุษย์ คือเทวดาและมนุษย์ปรารถนาผลใด ๆ ผลนั้น ๆ ทุกอย่าง จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[11] ความมีผิวพรรณงดงาม ความมีเสียงไพเราะ ความมีทรวดทรงสมส่วน ความมีรูปสวย ความเป็นใหญ่ ความมีบริวาร ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[12] ความเป็นพระราชาในประเทศ ความเป็นอิสระ1 ความสุขของความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอันน่าพอใจ และแม้ความเป็นเทวราชของเทวดาในหมู่เทพ ทั้งหมดก็จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[13] สมบัติของมนุษย์ก็ดี ความยินดีในเทวโลกก็ดี สมบัติคือนิพพานก็ดี ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[14] บุคคลอาศัยมิตตสัมปทา2 ประกอบความเพียรโดยแยบคาย ก็จะเป็นผู้ชำนาญในวิชชาและวิมุตติ ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[15] ปฏิสัมภิทา(3) วิโมกข์(4) สาวกบารมี(5) ปัจเจกโพธิ(6) และพุทธภูมิ(7) ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[16] บุญสัมปทา1นี้มีประโยชน์มากอย่างนี้ เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้เป็นปราชญ์ จึงสรรเสริญภาวะแห่งบุญที่ทำไว้แล้ว
นิธิกัณฑสูตร จบ
เชิงอรรถ :
2 ขุมทรัพย์ มี 4 ชนิด คือ (1) ถาวระ คือขุมทรัพย์ถาวร เช่น ที่ดิน ที่นา ที่สวน เงินและทอง (2) ชังคมะ คือขุมทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ เช่น ทาสชาย ทาสหญิง ช้าง ม้า โค กระบือ แกะ ไก่ สุกร เป็นต้น (3) อังคสมะ คือขุมทรัพย์ติดตัว เช่น วิชาความรู้ ศิลปวิทยา เป็นต้น (4) อนุคามิกะ คือขุมทรัพย์ตามตัวทางคุณธรรม ได้แก่ บุญกุศล ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา เป็นต้น ในที่นี้หมายถึงขุมทรัพย์ถาวร (ขุ.ขุ.อ. 8/193)
3 ทุพภิกขภัย หมายถึงภัยที่เกิดจากข้าวยากหมากแพง หรือการขาดแคลนอาหารในบ้านเมือง (ขุ.ขุ.อ. 8/194)
1 ขุมทรัพย์ ในที่นี้หมายถึงขุมทรัพย์ชนิดอนุคามิกะ (ดูเชิงอรรถหน้า 17 ประกอบ) (ขุ.ขุ.อ. 8/196)
2 สัญญมะ หมายถึงการห้ามจิตมิให้ตกไปในอารมณ์ต่าง ๆ คำนี้เป็นชื่อของสมาธิและอินทรียสังวร ทมะ หมายถึงการฝึกตน ได้แก่ การเข้าไประงับกิเลส คำนี้เป็นชื่อของปัญญา (ขุ.ขุ.อ. 8/197)
1 ความเป็นอิสระ หมายถึงความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีมหาสมุทรทั้ง 4 เป็นขอบเขต (ขุ.ขุ.อ. 8/203)
2 มิตตสัมปทา หมายถึงความเพรียบพร้อมด้วยมิตรที่มีคุณความดี เช่น พระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารี ผู้ดำรงตนน่าเคารพ (ขุ.ขุ.อ. 8/205)
3 ปฏิสัมภิทา หมายถึงปัญญาแตกฉานมี 4 ประการ คือ (1) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ (2) ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม (3) นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติคือภาษา (4) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ (ขุ.ขุ.อ. 8/206)
4 วิโมกข์ หมายถึงวิโมกข์ 8 คือ รูปฌาน 4 อรูปฌาน 4 (ขุ.ขุ.อ. 8/206)
5 สาวกบารมี หมายถึงบารมีที่ให้สำเร็จเป็นพระสาวก (ขุ.ขุ.อ. 8/206)
6 ปัจเจกโพธิ หมายถึงบารมีที่ให้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ได้เอง (ขุ.ขุ.อ. 8/206)
7 พุทธภูมิ หมายถึงบารมีที่ให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง (ขุ.ขุ.อ. 8/206)
1 บุญสัมปทา หมายถึงความถึงพร้อมแห่งบุญ (ขุ.ขุ.อ. 8/206)
เมตตสูตร
ว่าด้วยการแผ่เมตตา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า ดังนี้)
[1] กรณียกิจ ที่ผู้ปฏิบัติธรรมที่ฉลาดในประโยชน์ มุ่งหวังบรรลุความสงบ จะต้องทำก่อนภาวนา คือ
- ผู้อาจหาญ
- ซื่อตรง
- เคร่งครัด
- ว่าง่าย
- อ่อนโยน
- และไม่เย่อหยิ่ง
- ควรเป็นผู้สันโดษ
- เลี้ยงง่าย
- มีกิจน้อย
- มีความประพฤติเบา
- มีอินทรีย์สงบ
- มีปัญญารักษาตน
- ไม่คะนอง6
- ไม่ยึดติดในตระกูลทั้งหลาย
- อนึ่ง ไม่ควรประพฤติความเสียหายใด ๆ
ที่จะเป็นเหตุให้วิญญูชนเหล่าอื่นตำหนิเอาได้
(ควรแผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์อย่างนี้ว่า) ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข มีความปลอดภัย มีตนเป็นสุขเถิด
[4] คือ เหล่าสัตว์ที่ยังเป็นผู้หวาดสะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง1 ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด เหล่าสัตว์ที่มีขนาดกายยาว ขนาดกายใหญ่ ขนาดกายปานกลาง ขนาดกายเตี้ย ขนาดกายผอม หรือขนาดกายอ้วน ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[5] เหล่าสัตว์ที่เคยเห็นก็ดี เหล่าสัตว์ที่ไม่เคยเห็นก็ดี เหล่าสัตว์ที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลก็ดี ภูตหรือสัมภเวสี2ก็ดี ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[6] ไม่ควรข่มเหง ไม่ควรดูหมิ่นกันและกันในทุกโอกาส ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน เพราะความโกรธและความแค้น
[7] ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณไปยังสรรพสัตว์ ดุจมารดาเฝ้าถนอมบุตรคนเดียวด้วยชีวิต ฉะนั้น
[8] อนึ่ง ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณ กว้างขวาง ไม่มีเวร ไม่มีศัตรูไปยังสัตว์โลกทั่วทั้งหมด ทั้งชั้นบน1 ชั้นล่าง2 และชั้นกลาง3
[9] ผู้แผ่เมตตาจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน ควรตั้งสติ4นี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังไม่ง่วง นักปราชญ์เรียกการอยู่ด้วยเมตตานี้ว่า พรหมวิหาร
[10] อนึ่ง ผู้แผ่เมตตาที่ไม่ยึดถือทิฏฐิ5 มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ6 กำจัดความยินดีในกามคุณได้แล้ว ก็จะไม่เกิดในครรภ์อีกต่อไป
เมตตสูตร จบ
ขุททกปาฐะ จบ
เชิงอรรถ :
2 สันตบท หมายถึงนิพพาน (ขุ.ขุ.อ. 9/212)
3 กรณียกิจ หมายถึงการศึกษาในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ตรงกันข้ามกับ อกรณียกิจ คือ สีลวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ อาจารวิบัติ อาชีววิบัติ (ขุ.ขุ.อ. 9/212)
4 มีกิจน้อย ในที่นี้หมายถึงไม่ขวนขวายการงานต่าง ๆ ที่จะทำให้จิตฟุ้งซ่าน ไม่พูดคุยเพ้อเจ้อ ไม่คลุกคลี หมู่คณะ ปล่อยวางหน้าที่รับผิดชอบงานก่อสร้าง งานบริหารคณะสงฆ์ เป็นต้น มุ่งบำเพ็ญสมณธรรมเป็น หลัก (ขุ.ขุ.อ. 9/216)
5 มีความประพฤติเบา ในที่นี้หมายถึงมีเพียงบริขาร 8 เช่น บาตร จีวร เป็นต้น ไม่สะสมสิ่งของมากให้เป็น ภาระ เหมือนนกมีเพียงปีกบินไปฉะนั้น (ขุ.ขุ.อ. 9/216)
6 ไม่คะนอง หมายถึงไม่คะนองกาย วาจา และใจ (ขุ.ขุ.อ. 9/217)
1 หวาดสะดุ้ง หมายถึงมีตัณหาและความกลัวภัย มั่นคง หมายถึงบรรลุอรหัตตผล เพราะละตัณหาและ ความกลัวภัยได้ (ขุ.ขุ.อ. 9/220)
2 ในที่นี้ ภูต หมายถึงพระอรหันตขีณาสพ สัมภเวสี หมายถึงพระเสขะและปุถุชนผู้ยังต้องแสวงหาที่เกิด ต่อไป เพราะยังละภวสังโยชน์ไม่ได้
อีกนัยหนึ่ง ในกำเนิด 4 สัตว์ที่เกิดในไข่และเกิดในครรภ์ ถ้ายังไม่เจาะเปลือกไข่หรือคลอดจากครรภ์ ออกมา ยังเรียกว่า สัมภเวสี ต่อเมื่อเจาะเปลือกไข่หรือคลอดออกมา เรียกว่า ภูต, พวกสังเสทชะ (เกิดที่ ชื้นแฉะ) และพวกโอปปาติกะ (เกิดผุดขึ้น) ในขณะจิตแรก ก็เรียกว่า สัมภเวสี ตั้งแต่ขณะจิตที่ 2 เป็นต้นไป เรียกว่า ภูต (ขุ.ขุ.อ. 9/221)
1 ชั้นบน หมายถึงอรูปภพ (ขุ.ขุ.อ. 9/223)
2 ชั้นล่าง หมายถึงกามภพ (ขุ.ขุ.อ. 9/223)
3 ชั้นกลาง หมายถึงรูปภพ (ขุ.ขุ.อ. 9/223)
4 สติ หมายถึงเมตตาฌานัสสติ คือสติที่ประกอบด้วยเมตตาฌาน (ขุ.ขุ.อ. 9/224)
5 ทิฏฐิ หมายถึงทิฏฐิที่ว่า กองแห่งสังขารล้วน ๆ จัดเป็นสัตว์ไม่ได้ (ขุ.ขุ.อ. 9/225) และดู สํ.ส. (แปล) 15/171/228
6 ทัสสนะ หมายถึงโสดาปัตติมัคคสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งการบรรลุสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อันเป็นเหตุให้ไปเกิดในชั้นสุทธาวาส แล้วบรรลุอรหัตตผลในที่นั้น ไม่กลับมาเกิดในครรภ์อีกต่อไป (ขุ.ขุ.อ. 9/225)