เนตติปกรณ์_07_มูลบท

อยู่ในระหว่างปรับสำนวน

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)

มูลบท 18

[112] ในหาระ 16 เป็นต้นนั้น มูลบท 18 เป็นไฉน

มูลบท 18 พึงทราบด้วย สาสนปัฏฐาน 28 นี้ คือ

1. โลกียธรรม, 2. โลกุตตรธรรม โลกิยะและโลกุตตระ,

3. สัตตาธิฏฐาน 4. ธัมมาธิฏฐาน สัตตาธิฏฐานและธัมมาธิฏฐาน,

5 ญาณ (ความรู้) 6. เญยยะ (ควรรู้) ญาณและเญยยะ,

7. ทัสสนะ 8. ภาวนา ทัสสนะและภาวนา,

9. สกวจนะ (พุทธพจน์) 10. ปรวจนะ สกวจนะและปรวจนะ,

11. วิสัชชนียะ (พึงวิสัชชนา) 12. อวิสัชชนียะ วิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ,

13. กรรม 14. วิบาก กรรมและวิบาก,

15. กุศล 16. อกุศล กุศลและอกุศล,

17. อนุญญาตะ 18. ปฏิกขิตตะ อนุญญาตะปฏิกขิตตะ

0. ถวะ (สรรเสริญ)ฯ

ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "โลกียะเป็นไฉน"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ก็บาปกรรม อันบุคคลทำแล้วยังไม่เปลี่ยนไป เหมือนน้ำนมในวันนี้ยังไม่แปรไปฉะนั้น บาปกรรมนั้น ย่อมตามเผาคนพาล เหมือนไฟอันเถ้าปกปิดแล้ว ฉะนั้น" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นโลกียะ ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า,

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคตินี้มี 4 ประการ 4 ประการเป็นไฉน บุคคลย่อมถึงฉันทาคติ ฯลฯ ยศของผู้นั้น ย่อมเสื่อม เหมือนพระจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น" ดังนี้ เป็นโลกียะ ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม 8 เหล่านี้ โลกธรรม 8 เป็นไฉน คือลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม 8 เหล่านี้แล" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นโลกียะ ฯ

ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "โลกุตตระเป็นไฉน"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"อินทรีย์ของภิกษุใด ถึงความสงบระงับ เหมือนม้าอันนายสารถีฝึกดีแล้ว แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ภิกษุนั้นผู้มีมานะอันละได้แล้ว ผู้ไม่มีอาสวะ ผู้คงที่" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นโลกุตตระ ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ 5 เหล่านี้ เป็นโลกุตตระ อินทรีย์ 5 นั้นเป็นไฉน คือสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ 5 เหล่านี้แล" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นโลกุตตระ ฯ

ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "โลกียะและโลกุตตระเป็นไฉน"คาถาทั้ง 2 ว่า

"การได้ความเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นผู้มีิกิจ 2 อย่าง คือ ที่ควรทำและไม่ควรทำ" บทใด ในที่นี้ว่า "บุญทั้งหลาย เป็นกิจดี" และบทใดว่า "บุคคลทำบุญ ครั้นทำบุญแล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์จากสวรรค์" ดังนี้ บทนี้ เป็นโลกียะ ฯ

บทใด ในที่นี้ว่า "หรือ การละสังโยชน์" และบทใดว่า "การละสังโยชน์ ย่อมพ้นจากชรามรณะ" ดังนี้ บทนี้ เป็นโลกุตตระ ฯ ทั้ง 2 นี้เป็นโลกียะและโลกุตตระ ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่่อวิญญาณาหารมีอยู่ การหยั่งลงของนามรูปย่อมมี เมื่อมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ภพใหม่ย่อมมี เมื่อมีภพใหม่ ชาติย่อมมี เมื่อมีชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสย่อมมี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่ มีรากหยั่งลงและแผ่ไปข้าง ๆ รากทั้งหมดนั้น ย่อมดูดโอชาไปเบื้องบน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่นั้นมีอาหารอย่างนั้น มีความยึดมั่นอย่างนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ ก็พึงตั้งอยู่ตลอดกาลนาน แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อวิญญาณาหารมีอยู่ การหยั่งลงของนามรูปย่อมมี ฯลฯ การเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลย่อมมีอย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นโลกียะ ฯ

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่มีวิญญาณาหาร การหยั่งลงของนามรูปย่อมไม่มี เมื่อไม่มีนามรูปหยั่งลง ภพใหม่ย่อมไม่มี เมื่อไม่มีภพใหม่ ชาติย่อมไม่มี เมื่อไม่มีชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมดับ การดับของกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่พึงอยู่อย่างนั้น ที่นั้นบุรุษเอาจอบและภาชนะมาตัดต้นไม้นั้นที่โคนต้นแล้ว ขุดลงไป ครั้นขุดลงไปแล้ว คุ้ยเอารากใหญ่เล็กแม้เท่าก้านแฝกขึ้น บุรุษนั้นพึงตัดต้นไม้นั้นเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่แล้วพึงผ่า ครั้นผ่าแล้ว พึงเจียกให้เป็นชิ้น ๆ ครั้นเจียกให้เป็นชิ้น ๆแล้ว พึงผึ่งลมตากแดด ครั้นผึ่งลมตากแดดแล้ว พึงเอาไฟเผา ครั้นเอาไฟเผาแล้ว พึงทำให้เป็นเขม่า ครั้นทำให้เป็นเขม่าแล้ว พึงโปรยที่ลมแรงหรือลอยในแม่น้ำที่มีกระแสอันเชี่ยว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ต้นไม้ใหญ่นั้นมีรากอันถอนขึ้นแล้ว ถูกทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี ไม่เกิดอีกต่อไป แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อวิญญาณาหารไม่มี การหยั่งลงของนามรูป ย่อมไม่มี เมื่อการหยั่งลงของนามรูปไม่มีฯลฯ ย่อมดับ ฉันนั้นเหมือนกัน ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ย่อมมีด้วยประการฉะนี้" ดังนี้ นี้ เป็นโลกุตตระ คำที่กล่าวนี้ เป็นโลกียะและโลกุตตระ ฯ

[113] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "สัตตาธิษฐานเป็นไฉน"

ในราชสูตรตรัสว่า"ใคร ๆ ตรวจดูด้วยจิตทั่วทุกทิศแล้ว หาได้พบผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าตนในที่ไหน ๆ ไม่ สัตว์เหล่าอื่นก็รักตนมากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นสัตตาธิฏฐาน ฯ

ในอัปปายุกาสูตรตรัสว่า"สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้เกิดแล้ว หรือแม้จักเกิด สัตว์ทั้งหมดเหล่านั้น จักละร่างกายไป ท่านผู้ฉลาด ทราบความเสื่อมแห่งสัตว์ทั้งปวงนั้นแล้ว พึงเป็นผู้มีความเพียรประพฤติพรหมจรรย์" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นสัตตาธิฏฐาน ฯ

ในสขสูตรตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย กัลยาณมิตร ประกอบด้วยองค์ 7 อันบุคคลผู้ฉลาด ไม่พึงเว้นตลอดชีวิต แม้ถูกตำหนิประณามเสือกใสที่คอ กัลยาณมิตรประกอบด้วยองค์ 7 เป็นไฉน คือ บุคคลเป็นที่รักใคร่พอใจ (เพราะประกอบด้วยคุณ คือมีศีลและทิฏฐิอันบริสุทธิ์) 1 บุคคลเป็นครู (เป็นดุจฉัตรหิน) 1 บุคคลผู้ควรสรรเสริญ (ด้วยคุณ) 1 บุคคลผู้ฉลาดพูด (ในการให้โอวาท) 1 เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ 1 เป็นผู้กล่าวถ้อยคำอันลึกซึ้ง(มีสัจจะและปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น) 1 เป็นผู้ไม่ชักนำในทางไม่ควร 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย องค์ 7 ประการเหล่านี้แล ฯลฯ อันบุคคลไม่พึงเว้นตลอดชีวิต" พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว พระสุคตผู้ศาสดาครั้นตรัสเนื้อความนี้แล้ว ได้ตรัสคาถานี้ว่า"บุคคลผู้เป็นที่รักใคร่พอใจ เป็นครู เป็นผู้ควรสรรเสริญ เป็นผู้ฉลาดพูด เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ เป็นผู้กล่าวถ้อยคำอันลึก เป็นผู้ไม่ชักนำไปในทางที่ไม่ควร บุคคลผู้ต้องการมิตร ควรเสพมิตรนั้นเช่นนั้นตลอดชีวิต" ดังนี้ข้อนี้ เป็นสัตตาธิฏฐาน ฯ

ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ธัมมาธิฏฐานเป็นไฉน"ในราชสูตร ทรงเปล่งอุทานว่า"กามสุขในโลกและทิพยสุข ย่อมไม่ถึงซึ่่งเสี้ยวที่ 16 (ที่จำแนกออก 16 ส่วน) แห่งสุขคือความสิ้นตัณหา" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นธัมมาธิฏฐาน ฯ

พระพากุลเถระกล่าวว่า"นิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธะทรงแสดงแล้ว ไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสธุลี เป็นแดนเกษม เป็นที่ดับทุกข์ เป็นสุขดีหนอ" ดังนี้ ข้อนี้เป็นธัมมาธิฏฐาน ฯ

ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น"สัตตาธิษฐานและธัมมาธิษฐานเป็นไฉน""พราหมณ์ ฆ่าแล้วซึ่งมารดา (ตัณหา) และบิดา (มานะ) ฆ่าราชาผู้เป็นกษัตริย์ทั้ง 2 (สัสสตะและอุทเฉทะ) ฆ่าแว่นแคว้น (อายตนะ 12)พร้อมทั้งผู้ติดตาม (นันทิราคะ) เป็นผู้ไม่มีทุกข์ย่อมไป" ดังนี้ คำว่า"ฆ่ามารดาและบิดา ฆ่าราชาผู้เป็นกษัตริย์ทั้ง 2 ฆ่าแว่นแคว้น พร้อมทั้งผู้ติดตาม" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นธัมมาธิฏฐาน ฯ คำว่า "พราหมณ์เป็นผู้ไม่มีทุกข์ย่อมไป" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นสัตตาธิฏฐาน ฯ สูตรนี้ เป็นสัตตาธิฏฐานและธัมมาธิฏฐาน ฯ

ในอิทธิบาทสังยุตต์ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อิทธิบาท 4 เหล่านี้ อิทธิบาท 4 เป็นไฉน อิทธิบาทประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร วิริยะ ฯลฯ จิตตะ ฯลฯ อิทธิบาทประกอบด้วยวิมังสาสมาธิและปธานสังขาร นี้เป็นธัมมาธิฏฐาน ฯ

บุคคลผู้ประกอบด้วยอิทธิบาท 4 นั้น (ปรารถนาไปด้วยกายที่ปรากฏ) จึงตั้งจิตไว้ในฌานที่เป็นบาท ในกรชกายบ้าง ปรารถนาไปเร็วตั้งกรชกายในจิตที่มีฌานเป็นบาทบ้าง ก้าวล่วงสุขวิหารสัญญา และลหุคมนสัญญาในกรชกาย ย่อมเข้าถึงอยู่ ส่วนแห่งพระสูตรนี้ เรียกว่าสัตตาธิฏฐาน ฯ ข้อนี้ เป็นธัมมาธิฏฐาน ฯ

[114] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ญาณเป็นไฉน"

คำว่า "ญาณใด ก้าวขึ้นครอบงำโลกทั้งปวงตั้งอยู่ ญาณนั้นเป็นโลกุตตระ พระผู้มีพระภาคเจ้า บัณฑิตเรียกว่าสัพพัญญูด้วยสัพพัญญุตญาณใด ญาณนั้นไม่เสื่อม ย่อมเป็นไปในการรำพึงเพื่อจะรู้ในกาลทั้งปวง" ข้อนี้ ชื่อว่า ญาณ ฯ

คำว่า "ปัญญา อันให้ถึงพระนิพพานนี้แล ประเสริฐที่สุดในโลกด้วยว่า ปัญญานั้นย่อมรู้ชัด ซึ่งความสิ้นไปแห่งชาติและมรณะโดยชอบ"ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่า ญาณ ฯ

ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "เญยยะเป็นไฉน"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรโธตกะ เราจักแสดงธรรมเครื่องระงับกิเลส (นิพพาน) แก่ท่านในธรรมที่เราเห็นแล้ว ที่บุคคลรู้แจ้งแล้ว เป็นผู้มีสติ พึงข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ในโลก"โธตกะกราบทูลว่า"ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ข้าพระองค์ ย่อมยินดีอย่างยิ่งซึ่งธรรมเป็นเครื่องระงับอันสูงสุด ที่บุคคลรู้แจ้งแล้ว เป็นผู้มีสติ พึงข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ในโลก"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรโธตกะ เธอจงรู้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งในส่วนเบื้องต่ำ(ทั้งอดีตและอนาคต) ทั้งในเบื้องขวางสถานกลาง (ปัจจุบัน) จงรู้แจ้งสิ่งนั้นว่า เป็นเครื่องข้องอยู่ในโลกนี้แล้ว อย่าได้ทำตัณหา เพื่อภพน้อยและภพใหญ่" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่า เญยยะ (เพราะเป็นไปในอารมณ์ที่พึงรู้) ฯ

ในโกฏิคามวรรคตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะการไม่ตรัสรู้ เพราะการไม่แทงตลอดอริยสัจจ์ 4 เราด้วย พวกเธอด้วย จึงแล่นไป ท่องเที่ยวไปยังสังสารวัฏฏ์นี้ตลอดกาลนานอย่างนี้ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขอริยสัจจ์นี้นั้น อันเราด้วย อันพวกเธอด้วย แทงตลอดแล้ว ตรัสรู้แล้ว ทุกขสมุทยอริยสัจจ์นี้นั้นอันเราด้วย อันพวกเธอด้วย แทงตลอดแล้ว ตรัสรู้แล้ว ทุกขนิโรธอริยสัจจ์อันเราด้วย อันพวกเธอด้วย แทงตลอดแล้ว ตรัสรู้แล้ว ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์ อันเราด้วย อันพวกเธอด้วย แทงตลอดแล้ว ตรัสรู้แล้วตัณหาในภพขาดสูญแล้ว ตัณหาที่จะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี"ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว พระสุคตผู้ศาสดาครั้นตรัสเนื้อความนี้แล้ว จึงตรัสคาถาอีกว่า"เพราะการไม่เห็นอริยสัจจ์ 4 ตามความเป็นจริง เราและพวกเธอจึงท่องเที่ยวไปในชาตินั้น ๆ ตลอดกาลนาน อริยสัจจ์ 4 เหล่านี้ เราและพวกเธอเห็นแล้ว ตัณหาที่นำไปสู่ภพ ถอนขึ้นได้แล้ว มูลแห่งทุกข์ตัดขาดแล้ว บัดนี้ภพใหม่มิได้มี" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่า เญยยะ ฯ

ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ญาณและเญยยะเป็นไฉน"คำว่า "รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยงวิญญาณไม่เที่ยง" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นเญยยะ (เพราะเป็นไปในรูปธรรมเป็นต้นที่พึงรู้) ฯ

พระอริยสาวกนั้น เมื่อรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเห็นว่า "รูปนี้ไม่เที่ยง"ดังนี้ ย่อมเห็นว่า "เวทนานี้ไม่เที่ยง" ดังนี้ ย่อมเห็นว่า "สัญญานี้ไม่เที่ยง" ดังนี้ย่อมเห็นว่า "สังขารนี้ไม่เที่ยง" ดังนี้ ย่อมเห็นว่า "วิญญาณนี้ไม่เที่ยง" ดังนี้ ข้อนี้เป็นญาณ ฯ

พระอริยสาวกนั้น เมื่อเห็น โดยประการมีอาทิว่า รูปไม่เที่ยง ย่อมหลุดพ้นจากความกำหนัดในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ เราย่อมกล่าวว่า "พระอริยสาวกนี้ ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นญาณและเญยยะ ฯ

ส่วนแห่งพระสูตร ในข้อว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง" ดังนี้ ชื่อว่า เญยยะ ฯในข้อว่า "เมื่อใด พระอริยสาวก ย่อมเห็นด้วยปัญญา" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่า ญาณ ฯ

ในข้อว่า "ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้น พระอริยสาวกนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์นั่นเป็นทางหมดจด" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่อว่า ญาณและเญยยะ ฯ

ส่วนแห่งพระสูตร ในข้อว่า "สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่าเญยยะ ฯ ในข้อว่า "เมื่่อใด ย่อมเห็นด้วยปัญญา" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่า ญาณ ฯ ในข้อว่า "ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้น ย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางหมดจด"ดังนี้ สูตรนี้ ชื่อว่า ญาณและเญยยะ ฯ

ส่วนแห่งพระสูตรว่า "ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่าเญยยะ ฯ ในข้อว่า "เมื่อใดเห็นด้วยปัญญา" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่่อว่า ญาณ ฯ ในข้อว่า"ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้น ย่อมเบื่่อหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด"ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่า ญาณและเญยยะ ฯ

ในโสณสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะบุตรคหบดีว่า"ดูกรโสณะ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมเห็นว่าเราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา หรือย่อมเห็นว่า เราเป็นผู้เสมอเขา หรือเห็นว่า เราเป็นผู้เลวกว่าเขา ด้วยรูปอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้ มิใช่เหตุอื่น เพราะการไม่เห็นตามความเป็นจริง ย่อมเห็นว่า เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา ฯลฯ ด้วยเวทนาอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ฯลฯ ด้วยสัญญา ฯลฯ

ด้วยสังขาร ฯลฯ ด้วยวิญญาณ ฯลฯ อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้ มิใช่เหตุอื่น เพราะไม่เห็นตามความเป็นจริง"ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่า เญยยะ ฯ

"ดูกรโสณะ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่เห็นว่าเราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา ไม่เห็นว่า เราเป็นผู้เสมอเขา หรือไม่เห็นว่าเราเลวกว่าเขา ด้วยรูปอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ฯลฯ เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ ด้วยวิญญาณ อันไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้มิใช่เหตุอื่น นอกจากการเห็นตามความเป็นจริง" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่า ญาณ ฯ พระสูตรนี้ชื่อว่า

ญาณและเนยยะ

[115] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ทัสสนะเป็นไฉน"

ในรัตนสูตรตรัสว่า"พระอริยะเหล่าใด ทำให้แจ้งซึ่งอริยสัจจะทั้งหลาย อันพระศาสดาทรงแสดงดีแล้ว ด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง พระอริยบุคคลเหล่านั้น ยังเป็นผู้ประมาทอย่างแรงกล้า (ในกาลที่เป็นเทวราชและพระเจ้าจักรพรรดิราชเป็นต้น) อยู่ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านก็ไม่ยึดถือเอาภพที่ 8" ดังนี้ ชื่อว่าทัสสนะ ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"เสาเขื่อน ที่ฝังลงดิน ไม่พึงหวั่นไหว เพราะลมทั้ง 4 ทิศ ฉันใดบุคคลใด ย่อมเห็นอริยสัจจ์ทั้งหลาย อันไม่หวั่นไหว เราย่อมเรียกบุคคลผู้เปรียบด้วยเสาเขื่อนนั้นว่า สัตบุรุษ" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่า ทัสสนะ ฯ

ในพระสูตรหนึ่งตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวก ผู้ประกอบด้วยองค์เป็นเครื่่องบรรลุเป็นพระโสดาบัน 4 ประการ หวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์เดรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปตวิสัยสิ้นแล้วมีอบายทุคติวินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นผู้ถึงอริยมรรคครั้งแรก มีการไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแล้ว มีการตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า จักแล่นไป ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์แล้ว จักกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ ดังนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย องค์แห่งการบรรลุเป็นพระโสดาบัน 4 เป็นไฉน ศรัทธาของอริยสาวก ในธรรมวินัยนี้ มั่นคงแล้วในพระตถาคตตั้งมั่นแล้ว งอกงามแล้ว มีรากหยั่งลงแล้ว พร้อมด้วยธรรม เพราะไม่หวั่นไหวด้วยสมณะ หรือด้วยพราหมณ์ หรือเทวดา มาร พรหมคนใดคนหนึ่งในโลก ก็อริยสาวกนั้นแล เป็นผู้ถึงความมั่นใจในพระธรรมว่า ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เป็นธรรมอันผู้ปฏิบัติพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู พึงน้อมเข้าไปในตน อันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้เฉพาะตน พระธรรมนี้ใด เป็นที่ขจัดเสียซึ่งความเมา เป็นเครื่องขจัดความกระหาย ถอนขึ้นซึ่งความอาลัย อันเข้าไปตัดซึ่งวัฏฏะเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นวิราคะ นิโรธะและนิพพาน พระอริยสาวกผู้เป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจพร้อมกับธรรมของท่านนั้นแล ก็พระอริยสาวก ผู้ประกอบด้วยศีลทั้งหลายอันเป็นที่รัก ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญแล้ว อันตัณหาและทิฏฐิไม่ยึดไว้ อันเป็นไปเพื่อสมาธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวก ผู้ประกอบแล้วด้วยองค์แห่งการบรรลุโสดาบัน 4 เหล่านี้แล หวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนได้ว่า เราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์เดรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบายทุคติวินิบาตสิ้นแล้ว เป็นผู้ถึงกระแส (อริยมรรค) ครั้งแรก มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแล้ว เป็นผู้มีการตรัสรู้ในเบื้องหน้า ครั้นแล่นไป ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์แล้ว จักกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์"ดังนี้ ข้อนี้ชื่อว่า ทัสสนะ ฯ

ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ภาวนาเป็นไฉน"ในสภิยสูตรตรัสว่า"ผู้ใด อบรมอินทรีย์แล้ว แทงตลอดโลกนี้และโลกอื่น ทั้งภายในและภายนอกในโลกทั้งปวง มีตนอบรมแล้ว รออยู่ซึ่งกาลสิ้นชีวิต ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่า ผู้ฝึกตนแล้ว" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่า ภาวนา ฯ

ในธรรมปทสูตรตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย บทธรรม 4 ประการเป็นไฉน บทธรรมคืออนภิชฌา (ความไม่เพ่งเล็ง) 1 บทธรรมคือความไม่พยาบาท 1 บทธรรมคือสัมมาสติ 1 บทธรรมคือสัมมาสมาธิ 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย บทธรรม 4ประการเหล่านี้แล" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นภาวนา ฯ

ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ทัสสนะและภาวนาเป็นไฉน"ในคาถาธรรมบทว่า "ภิกษุพึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 พึงละอุทธัมภาคิยสังโยชน์ 5" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นทัสสนะ ฯ คำว่า "พึงเจริญอินทรีย์ 5 ให้ยิ่ง ภิกษุล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง 5 อย่างได้แล้ว เรากล่าวว่า เป็นผู้ข้ามโอฆะแล้ว" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นภาวนา ฯ บทธรรมที่กล่าวนี้ เป็นทัสสนะและภาวนา ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ 3 ประการเหล่านี้ อินทรีย์ 3 เป็นไฉน คือ อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ 1 อัญญินทรีย์ 1 อัญญาตาวินทรีย์ 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียรย่อมประคองจิตไว้ ย่อมทำความเพียร เพื่อตรัสรู้ทุกขอริยสัจจ์อันยังไม่ได้ตรัสรู้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิตไว้ ย่อมทำความเพียร เพื่อการตรัสรู้ ซึ่งทุกขสมุทยอริยสัจจ์อันยังไม่เคยตรัสรู้ ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจจ์ ฯลฯ ย่อมยังฉันทะให้เกิด ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิตไว้ ย่อมตั้งความเพียรเพื่อการตรัสรู้ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์ อันยังไม่เคยตรัสรู้ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่าทัสสนะ ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัญญินทรีย์เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกข์" ดังนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกขสมุทัย" ดังนี้ ฯลฯ "นี้ทุกขนิโรธ" ดังนี้ ฯลฯ ว่า"นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา" ดังนี้ นี้เป็นอัญญินทรีย์ ฯ

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัญญาตาวินทรีย์เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งหลาย เพราะการรู้ยิ่งเองในธรรมอันเห็นแล้วนั่นแหละเข้าถึงอยู่ จึงรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่พึงทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่่น เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอัญญาตาวินทรีย์" ดังนี้ นี้เป็นภาวนา ฯ

พระสูตรนี้ ชื่อว่า ทัสสนะและภาวนา ฯ

[116] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "สกวจนะเป็นไฉน"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"การไม่ทำบาปทั้งปวง การยังกุศลให้ถึงพร้อม การยังจิตให้ผ่องแผ้วนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" ดังนี้ พุทธพจน์นี้ ชื่อว่า สกวจนะ(เพราะเป็นดำรัสของพระพุทธเจ้า) ฯ

ในพาลบัณฑิตสูตรตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลักษณะแห่งความเป็นพาล นิมิตแห่งความเป็นพาล ความประพฤติแห่งความเป็นพาล 3 ประการเหล่านี้ มีอยู่แก่คนพาล ชนเหล่าอื่นย่อมรู้จักคนพาลด้วยเหตุเหล่าใดว่า เป็นคนพาล ดังนี้เหตุนั้นมี 3 ประการ เหตุ 3 ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลมักคิดแต่เรื่องที่คิดชั่ว มักพูดแต่เรื่องที่พูดชั่ว มักกระทำแต่กรรมที่ชั่วดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ 3 ประการนี้แล ฯ""ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลักษณะแห่งความเป็นบัณฑิต นิมิตแห่งความเป็นบัณฑิต ความประพฤติแห่งความเป็นบัณฑิต 3 ประการเหล่านี้ มีอยู่แก่บัณฑิต ชนเหล่าอื่น ย่อมรู้จักบัณฑิตด้วยเหตุเหล่าใดว่า เป็นบัณฑิตดังนี้ เหตุนั้นมี 3 ประการ เหตุ 3 ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลายบัณฑิตมีปกติคิดแต่เรื่องที่คิดดี มีปกติพูดแต่คำพูดที่ดี มีปกติกระทำแต่กรรมดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ 3 ประการเหล่านี้แล " ดังนี้ สูตรนี้ชื่อว่าสกวจนะ ฯ

ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ปรวจนะเป็นไฉน"คำว่า "พื้นที่กว้างเสมอด้วยแผ่นดินย่อมไม่มี พื้นที่ลุ่มเสมอด้วยบาดาลย่อมไม่มี สิ่งที่สูงเสมอด้วยเขาสิเนรุย่อมไม่มี บุรุษผู้เช่นกับพระเจ้าจักรพรรดิ์ย่อมไม่มี" ดังนี้ เป็น ปรวจนะ (เป็นคำของเทวดา)ในสุภาสิตชยสูตรตรัสว่า"ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้ตรัสว่า แน่ะจอมเทพ เราจงเอาชนะกันด้วยการกล่าวคำสุภาษิตเถิด ท้าวสักกะจอมเทพตรัสว่า แน่ะท้าวเวปจิตติตกลง เราจงเอาชนะกัน ด้วยการกล่าวคำสุภาษิต ดูก่อนเวปจิตติ ท่านจงกล่าวคาถา ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้กล่าวคาถาว่าพวกคนพาลยิ่งกริ้วโกรธ ถ้าบุคคลไม่ตัดรอนเสีย ฉะนั้นนักปราชญ์ผู้มีปัญญา จึงควรกำจัดคนพาลเสียด้วยอาญาอันรุนแรง ดังนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่่อท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้ตรัสคาถาแล้ว พวกอสูรพากันอนุโมทนา พวกเทวดาต่างก็พากันนิ่ง ลำดับนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้กล่าวกะท้าวสักกะจอมเทพว่า แน่ะจอมเทพ ท่านจงกล่าวคาถาเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติตรัสเช่นนี้แล้วท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสคาถานี้ว่าผู้ใด รู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ เราเห็นว่า การระงับไว้ของผู้นั้น เป็นเครื่องตัดรอนคนพาล ดังนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อท้าวสักกะจอมเทพ ได้ภาษิตคาถาแล้ว พวกเทวดาก็พากันอนุโมทนา พวกอสูรต่างก็นิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแลท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสกะท้าวเวปจิตติจอมอสูรว่า "แน่ะท้าวเวปจิตติท่านจงตรัสคาถาเถิด" ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวสักกะตรัสเช่นนี้ ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสคาถานี้ว่า"ดูก่อนท้าววาสวะ เราเห็นโทษของความอดกลั้นนี้นั่นแหละ เพราะว่า เมื่อใด คนพาลย่อมสำคัญเห็นผู้อดกลั้นนั้นว่า "บุคคลนี้ย่อมอดกลั้นต่อเรา เพราะกลัว" เมื่่อนั้น คนพาล ผู้ทรามปัญญา ยิ่งข่มขี่ผู้อดกลั้นนั้นยิ่งขึ้น เหมือนโคข่มขี่โคตัวที่แพ้หนีไป ฉะนั้น" ดังนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูร ภาษิตคาถาแล้วพวกอสูรพากันอนุโมทนา พวกเทวดาต่างก็นิ่ง ลำดับนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้กล่าวกะท้าวสักกะจอมเทพว่า "แน่ะ จอมเทพ ท่านจงตรัสคาถาเถิด" ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูร ตรัสเช่นนี้แล้วท้าวสักกะจอมเทพ ได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า"บุคคล ย่อมสำคัญเห็นว่า ผู้นี้อดกลั้นต่อเรา เพราะกลัว หรือหาไม่ก็ตาม ประโยชน์ทั้งหลาย มีประโยชน์ของตนเป็นอย่างยิ่ง ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติย่อมไม่มี ผู้ใดแลเป็นคนมีกำลัง ย่อมอดกลั้นต่อคนทุรพลได้ความอดกลั้นของผู้นั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นขันติอย่างยิ่ง คนทุรพลจำต้องอดทนอยู่เป็นนิจ บัณฑิตเรียกกำลังของผู้โง่เขลาอย่างคนพาลนั้นว่า มิใช่กำลัง ไม่มีคนใดที่จะกล่าวโต้ต่อคนที่มีกำลังอันธรรมคุ้มครองแล้วเพราะความโกรธนั้น บุคคลใด โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้วบุคคลนั้นลามกกว่าบุคคลผู้โกรธแล้วนั้น บุคคลผู้ไม่โกรธตอบผู้ที่โกรธแล้วย่อมชื่อว่า ชนะสงครามที่ชนะได้ยาก ผู้ใดรู้ว่า ผู้อื่่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ ผู้นั้น ชื่่อว่า ประพฤติประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายตนทั้งฝ่ายคนอื่น ชนเหล่าใดไม่ฉลาดในธรรม ชนเหล่านั้น ย่อมสำคัญเห็นผู้รักษาประโยชน์ทั้งสองฝ่ายนั้นว่าเป็นคนโง่" ดังนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวสักกะจอมเทพ ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้แล้ว พวกเทวดาพากันอนุโมทนา พวกอสูรต่างก็นิ่ง" พระสูตรนี้ ชื่อว่าปรวจนะ ฯ

[117] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "สกวจนะและปรวจนะเป็นไฉน"คำว่า "อุปกรณ์แห่งกาม อันบุคคลเสพอยู่ ที่ถึงแล้วในบัดนี้ และจะพึงถึงต่อไปอันใด สิ่งทั้ง 2 นั้น เกลื่อนกล่นด้วยธุลีมีราคะเป็นต้น เป็นของคนที่ศึกษาในสำนักแห่งคนที่กระสับกระส่าย ก็บุคคลเหล่าใด สำคัญสิกขาที่ไม่มีสาระว่าเป็นสาระ มีความยึดมั่นศีล พรต ชีวิตว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์ วาทะนี้ เป็นวาทะลามกที่สุดที่หนึ่่งแห่งบุคคลผู้ยึดมั่นเหล่านั้น และบุคคลเหล่าใด มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีปกติเห็นอย่างนี้ว่าโทษในกามทั้งหลายไม่มี วาทะนี้เป็นวาทะลามกที่สุดที่ 2 บุคคลผู้มีวาทะที่สุดทั้ง 2 นี้ ผู้ยังป่าช้าให้เจริญ โดยนัยที่กล่าวแล้วนี้ ย่อมยังป่าช้าทั้งหลายและทิฏฐิให้เจริญ คือว่า บุคคล 2 พวกนี้ พวกหนึ่งย่อมติดอยู่เพราะความไม่รู้ พวกหนึ่งย่อมแล่นเลยไปด้วยทิฏฐิ" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่อว่า

ปรวจนะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ก็สัมมาทิฏฐิบุคคลเหล่าใดแล ไม่มีที่สุดอันลามกนั้น เพราะรู้ยิ่งที่สุดทั้ง 2 นั้น ไม่สำคัญที่สุดทั้ง 2 นั้น วัฏฏะของชนเหล่านั้น ย่อมไม่มีเพราะการบรรลุด้วยปัญญา" ดังนี้ คำนี้ เป็นสกวจนะ ฯ สูตรทั้ง 2 นี้ ชื่อว่า สกวจนะและปรวจนะ ฯ

ในอัตตรักขิตสูตร พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้หม่อมฉันได้เข้าไปที่ลับ พักผ่อนอยู่ได้เกิดความคิดอย่างนี้ว่า ชนพวกไหนหนอ มีตนเป็นที่รัก พวกไหนหนอไม่มีตนเป็นที่รัก ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ดำริต่อไปว่า ก็ชนพวกใดพวกหนึ่ง ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจาและด้วยใจชนเหล่านั้นไม่มีตนเป็นที่รัก ถึงชนเหล่านั้นจะพึงกล่าวว่า พวกเรารักตนแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ไม่มีตนเป็นที่รัก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะชนที่ไม่รักใคร่กัน พึงกระทำทุจริตเพื่อความพินาศแก่คนที่ไม่รักกัน ชนเหล่านั้นย่อมกระทำทุจริตนั้น เพื่อความพินาศแก่ตนด้วยตนเทียว เพราะฉะนั้นชนเหล่านั้น จึงชื่อว่ามีตนไม่เป็นที่รัก ก็แต่ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจาและด้วยใจ ชนเหล่านั้นชื่อว่า มีตนเป็นที่รัก ชนเหล่านั้นจะพึงกล่าวว่า เราไม่มีตนเป็นที่่รัก ดังนี้ แม้ก็จริงถึงอย่างนั้น ชนเหล่านั้น ก็ชื่อว่ามีตนเป็นที่รัก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนที่รักกัน พึงกระทำสุจริต เพื่อความเจริญแก่คนที่รัก ชนเหล่านั้นย่อมกระทำสุจริตเพื่อตนด้วยตนเทียว เพราะฉะนั้น ชนเหล่านั้น จึงชื่อว่ามีตนเป็นที่รัก" ดังนี้"ดูกรมหาบพิตร ข้อนี้ เป็นอย่างนั้น ดูกรมหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูกรมหาบพิตร ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกายย่อมประพฤติทุจริตด้วยวาจา ย่อมประพฤติทุจริตด้วยใจ เพราะฉะนั้นชนเหล่านั้นชื่อว่า มีตนไม่เป็นที่รัก ชนเหล่านั้น ถึงจะกล่าวว่า เรามีตนเป็นที่รัก ดังนี้ ก็จริง ถึงอย่างนั้น เขาก็ไม่มีตนเป็นที่รัก ข้อนั้นเพราะเหตุไรดูกรมหาบพิตร เพราะชนไม่เป็นที่รักใคร่กัน พึงกระทำทุจริตเพื่อความพินาศแก่คนที่ไม่รักกัน ชนเหล่านั้นย่อมกระทำทุจริตนั้นเพื่อความพินาศแก่ตนด้วยตนเทียว เพราะฉะนั้น ชนเหล่านั้น จึงไม่ชื่อว่า มีตนเป็นที่รักดูกรมหาบพิตร ก็แต่ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมประพฤติสุจริตด้วยกายด้วยวาจาและด้วยใจ ชนเหล่านั้น ชื่อว่ามีตนเป็นที่่รัก ชนเหล่านั้นจะพึงกล่าวว่า เราไม่มีตนเป็นที่่รัก ดังนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ชนเหล่านั้นก็มีตนเป็นที่รัก ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรมหาบพิตร คนที่รักใคร่กัน พึงกระทำสุจริตเพื่อความเจริญแก่คนที่รัก ชนเหล่านั้น ย่อมกระทำสุจริตนั้น เพื่อตนด้วยตนเทียว เพราะฉะนั้น ชนเหล่านั้น จึงชื่อว่า มีตนเป็นที่รัก" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาประพันธ์อีกว่า"ถ้าบุคคลพึงรู้ว่าตนเป็นที่รัก ไม่พึงประกอบตนด้วยบาป เพราะว่าความสุขนั้นไม่เป็นผลที่บุคคลผู้ทำชั่ว จะพึงได้โดยง่าย เมื่อบุคคลถูกมรณะครอบงำ ละทิ้งภพมนุษย์ไป ก็อะไรเป็นสมบัติของเขา และเขาย่อมพาเอาอะไรไปได้ อนึ่ง อะไรเล่า จะติดตามเขาไปประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้นผู้ที่เกิดมาแล้ว จำต้องตายในโลกนี้ ย่อมทำซึ่งกรรมใดไว้ คือ บุญและบาปทั้งสอง บุญและบาปนั้นแล เป็นสมบัติของเขา และเขาจะพาเอาบุญและบาปนั้นไป อนึ่ง บุญและบาปนั้น ย่อมติดตามเขาไป ดุจเงาตามตนไป ฉะนั้นเพราะฉะนั้น บุคคลพึงทำกัลยาณธรรมสั่งสมไว้เป็นสมบัติในปรโลกเพราะบุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ในโลกหน้า" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า ปรวจนะ ฯ คำที่กล่าวตามลำดับเป็น สกวจนะ ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า สกวจนะและปรวจนะ ฯ

[118] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "วิสัชชนียะเป็นไฉน"พระสูตรว่า

"เมื่อปัญหา อันบุคคลถามแล้วว่า สัจจะนี้อันบุคคลพึงรู้ยิ่งอย่างไรสัจจะนี้พึงกำหนดรู้ สัจจะนี้พึงละ สัจจะนี้พึงเจริญ สัจจะนี้พึงกระทำให้แจ้ง กุศลธรรม อกุศลธรรมที่บุคคลถือเอาอย่างนั้น ผลมีวิบากน่าปรารถนาไม่น่าปรารถนานี้ที่กุศลหรืออกุศลให้เกิดขึ้น ความเจริญหรือความเสื่อมแห่งกุศลและอกุศลเหล่านั้น ที่่บุคคลถือเอาอย่างนั้น" ดังนี้เป็นต้น ปัญหานี้พึงวิสัชชนา (คือพึงพยากรณ์)ด้วยบทว่า "อุฬาโร พุทฺโธ ภควา" นี้ พึงอธิบาย ถึงความโอฬาร(ประเสริฐ) ของพระพุทธเจ้าโดยส่วนเดียว ด้วยบทว่า "สฺวากฺขาโต ธมฺโม"ดังนี้ พึงแสดงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วโดยส่วนเดียว ด้วยบทว่า "สุปฏิปนฺโน สํโฆ" ดังนี้ พึงแสดงความปฏิบัติดีของพระสงฆ์โดยส่วนเดียว ฯ

ด้วยบทว่า "สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา" ดังนี้ พึงแสดงความที่สังขารไม่เที่ยงอย่างเดียว ด้วยบทว่า "สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา" ดังนี้ พึงแสดงความที่สังขารเป็นทุกข์อย่างเดียว ด้วยบทว่า "สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา" ดังนี้ ก็พึงแสดงความที่ธรรมเป็นอนัตตาโดยส่วนเดียวเท่านั้น หรือธรรมชาติอื่นที่มีลักษณะอย่างนี้ ก็พึงชี้แจงโดยส่วนเดียวเท่านั้น (ปัญหานี้ พึงวิสัชนา)นี้ชื่่อว่า วิสัชชนียะ ฯ

ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "อวิสัชชนียะเป็นไฉน"พระสูตรมีคำว่า"ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสารถีฝึกนระ เมื่อพระองค์ปรารถนาอยู่ (หวังอยู่) พวกเทวดาและมนุษย์ไม่พึงรู้เญยยธรรม อันพระทัยประกอบด้วยสัพพัญญุตญาณเป็นต้นคิดแล้ว เมื่อพระองค์เสพอรณสมาธิอันสงบระงับแล้ว สัตว์ทั้งปวงก็ไม่พึงรู้แม้ด้วยปัญญาอันมีกสิณเป็นอารมณ์ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ย่อมปรารถนา (หวัง) สิ่งใด ความปรารถนานั้นเป็นไฉน" ดังนี้ เป็นต้น พระสูตรนี้ ชื่อว่า อวิสัชชนียะ ฯ

พระสูตรนี้ว่า

"พระผู้มีพระภาคเจ้า มีประมาณในศีลขันธ์เท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า มีประมาณเท่านี้ในสมาธิขันธ์ ในปัญญาขันธ์ ในวิมุตติขันธ์ ในวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ พระผู้มีพระภาคเจ้า มีประมาณเท่านี้ในกายและวจีสมาจารเป็นเหตุ มีประมาณเท่านี้ในอานุภาพ มีประมาณเท่านี้ในพระเมตตา ในพระกรุณา มีประมาณเท่านี้ในพระฤทธิ์ต่าง ๆ " ดังนี้ พระสูตรนี้ชื่อว่า อวิสัชชนียะ ฯ (อันบุคคลไม่พึงพยากรณ์)พระสูตรนี้ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความบังเกิดขึ้นแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ความบังเกิดขึ้นแห่งรัตนะ 3 คือ พุทธรัตนะ ธัมมรัตนะและสังฆรัตนะ จึงมี รัตนะ 3 มีประมาณเท่าไร (โดยคุณ)" ดังนี้ นี้ชื่อว่าอวิสัชชนียะ ฯ (ไม่พยากรณ์)ปัญหาที่มีบุคคลเป็นประธาน คือ วิสัยของพระพุทธเจ้า อันบุคคลไม่พึงพยากรณ์ บุคคลอื่นรู้ บุคคลอื่นก็ไม่พึงพยากรณ์ เพราะเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ผู้มีตัณหาเป็นเครื่องผูกพัน เมื่อสัตว์ทั้งหลายแล่นไปท่องเที่ยวไปสู่นรกคราวหนึ่ง สู่กำเนิดสัตว์เดรัจฉานคราวหนึ่ง สู่เปตวิสัยคราวหนึ่ง สู่กำเนิดอสุรกายคราวหนึ่ง ในเทพคราวหนึ่ง ในมนุษย์คราวหนึ่ง ที่สุดเบื้องต้นนั้น เป็นไฉน" คำนี้อันบุคคลไม่พึงพยากรณ์เทศนาว่า ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏ ดังนี้ ได้แก่ เพราะความบกพร่องแห่งญาณของพระสาวกทั้งหลาย เทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ามี 2อย่าง คือ เทศนาที่น้อมไปแก่ตน และน้อมไปแก่บุคคลอื่่น ๆ คำว่า "ย่อมไม่ปรากฏ" ดังนี้ เป็นเทศนาน้อมไปแก่ตน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภโกกาลิกภิกษุโดยประการใด ได้ตรัสกะภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยประการนั้นว่า

"ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนเกวียนบรรทุกงาแห่งชาวโกศล ซึ่งบรรทุกงาได้ 20 ขารี บุรุษพึงนำเมล็ดงาออกจากเกวียนนั้น โดยล่วงไปแห่งร้อยปี ๆ ต่อหนึ่่งเมล็ด ฯลฯ ส่วนอัพพุทนรกหนึ่ง ยังไม่ถึงความสิ้นไปหมดไปเลย ดูกรภิกษุ 20 อัพพุทนรก เป็นหนึ่งนิรัพพุทนรก 20 นิรัพพุทนรกเป็นหนึ่งอพพนรก 20 อพพนรกเป็นหนึ่งอฏฏนรก 20 อฏฏนรกเป็นหนึ่งอหหนรก 20 อหหนรกเป็นหนึ่งกุมุทนรก 20 กุมุทนรกเป็นหนึ่งโสคันธิกนรก ดูกรภิกษุ 20 โสคันธิกนรกเป็นหนึ่งอุปปลกนรก 20อุปปลกนรกเป็นหนึ่งปุณฑริกนรก 20 ปุณฑริกนรกเป็นหนึ่งปทุมนรกดูกรภิกษุ โกกาลิกภิกษุเกิดในปทุมนรกเพราะยังจิตให้อาฆาตแล้ว ในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ" ดังนี้ ก็หรือว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระพุทธพจน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เทศนานี้ อันบุคคลไม่พึงประมาณ ไม่พึงนับ ดังนี้ คำทั้งปวงนั้น อันบุคคลไม่พึงวิสัชนา ข้อนี้ ชื่อว่า อวิชชนียะ ฯ

[119] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "วิสัชชนียะและอวิสัชชนียะเป็นไฉน"ในกาลใด อุปกาชีวกนั้น กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า"ดูก่อนพระโคดมผู้มีอายุ พระองค์จักเสด็จไปไหน" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "เราจะไปยังเมืองพาราณสี เพื่อประกาศธรรมจักร จักบันลือกลองอมตะให้เป็นไป อันใคร ๆ ในโลกให้เป็นไปไม่ได้" ดังนี้ อุปกาอาชีวกทูลว่า "ดูก่อนอาวุโสโคดมผู้เจริญ พระองค์ย่อมทรงทราบชัดคำว่า ชินะหรือ" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "บุคคลเหล่าใดถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะแล้ว บุคคลเหล่านั้นก็เป็นผู้ชนะเช่นกับเรา ดูกรอุปกะเราชนะธรรมอันลามกแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่า ชินะ" ดังนี้คำถามอันอุปกะนั้นถามว่า"บุคคลเป็นชินะอย่างไร เป็นชินะ เพราะละกิเลสอย่างไร" ดังนี้ชื่อว่า วิสัชชนียะ เพราะเป็นปัญหาที่ควรพยากรณ์ (วิสัชชนา) ฯ คำว่าอะไร เป็นชินะ (คือ รูปเป็นต้นเป็นชินะ หรือธรรมอื่นนอกจากรูปเป็นต้นเป็นชินะ) ดังนี้ ชื่อว่า อวิสัชชนียะ ฯ เพราะเป็นปัญหาที่ไม่พึงพยากรณ์ ฯ

คำว่า ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ เป็นไฉน คำนี้ ชื่่อว่าวิสัชชนียะ ฯ คำถามว่า ความสิ้นอาสวะมีประมาณเท่าไร นี้ ชื่อว่าอวิสัชชนียะ (เพราะไม่อาจวิสัชชนาได้) ฯ พระสูตรทั้งปวงนี้ ชื่่อว่าวิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ ฯ

คำว่า ตถาคตมีอยู่ ดังนี้ เป็น วิสัชชนียะ ฯ คำว่า รูปมีอยู่ ดังนี้ เป็นวิสัชชนียะ ฯ คำว่า รูปเป็นตถาคต (อัตตา) ด้วยอำนาจสักกายทิฏฐิ เป็นอวิสัชชนียะ ฯ ตถาคตมีรูป ตถาคตในรูป รูปในตถาคต (เหล่านี้) เป็นอวิสัชชนียะ ฯ คำอย่างนี้ว่า เวทนามีอยู่ ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ มีอยู่ ดังนี้ เป็นวิสัชชนียะ ฯ คำว่า วิญญาณเป็นตถาคต ตถาคตมีวิญญาณ ตถาคตในวิญญาณ วิญญาณในตถาคต (เหล่านี้) เป็นอวิสัชชนียะ ฯ คำว่า ตถาคตเว้นจากรูป ตถาคตเว้นจากเวทนา จากสัญญาจากสังขาร และตถาคตเว้นจากวิญญาณ (เหล่านี้) เป็นอวิสัชชนียะ ฯ

ตถาคตนี้นั้น มิใช่รูป มิใช่เวทนา มิใช่สัญญา มิใช่สังขาร มิใช่วิญญาณเหล่านี้ เป็น อวิสัชชนียะ ฯ พระสูตรนี้ ชื่อว่า วิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ ฯ

พระสูตรว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทอดพระเนตรเห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ ด้วยทิพยจักษุอันก้าวล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดสัตว์ทั้งหลายผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ" ดังนี้ เป็นวิสัชชนียะ ฯ คำว่า "สัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน และคำว่า ตถาคตเป็นไฉน"ดังนี้ เป็นอวิสัชชนียะ เพราะไม่ได้เป็นปรมัตถ์ ฯ

คำว่า ตถาคตมีอยู่ ดังนี้ เป็นวิสัชชนียะ ฯ คำว่า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ตถาคตมีอยู่ ดังนี้ เป็นอวิสัชชนียะ ฯ สูตรนี้ เป็นวิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ ฯ

[120] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "กรรมเป็นไฉน"

ในปิยสูตรตรัสว่า"เมื่อบุคคลถูกมรณะครอบงำแล้ว ละภพมนุษย์ไปอยู่ ก็อะไรเป็นสมบัติของเขา และเขาย่อมพาเอาอะไรไปได้ อนึ่่ง อะไรเล่าจะติดตามเขาไป ประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น สัตว์ผู้เกิดมาแล้วจำต้องตายในโลกนี้ย่อมทำกรรมอันใดไว้ คือเป็นบุญและเป็นบาปทั้ง 2 บุญและบาปนั้นแลเป็นสมบัติของเขา และเขาย่อมพาเอาบุญและบาปนั้นไป อนึ่ง บุญและบาปนั้น ย่อมเป็นของติดตามเขาไป ประดุจเงาติดตามตน ฉะนั้น" สูตรนี้ชื่อว่า กรรม ฯ

ในพาลบัณฑิตสูตรตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กรรมลามก ที่คนพาลทำไว้ในกาลก่อน คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำเกาะอยู่ซึ่งคนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดิน ในสมัยอยู่บนตั่งเป็นต้นนั้น เปรียบเหมือนเงายอดภูเขาใหญ่ ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำเกาะอยู่ซึ่งแผ่นดิน ในสมัยเวลาเย็น ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมลามกที่่คนพาลผู้ทำไว้ในกาลก่อน คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำ เกาะอยู่ซึ่งคนพาลผู้อยู่บนตั่งหรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น คนพาลจะมีความสำนึกตัวอย่างนี้ว่า "เราไม่ได้ทำความดีหนอไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำเครื่องป้องกันความหวาดกลัว ทำแต่ความชั่วความเลวร้าย ละโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่คติของคนที่ไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำเครื่องป้องกันความหวาดกลัว ทำแต่ความชั่ว ความเลวความร้ายเป็นที่ไป คนพาลนั้น ย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ย่อมคร่ำครวญ ร่ำไห้ ทุบอก ถึงความหลงใหล" ดังนี้"อีกประการหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมอันดี ที่บัณฑิตทำไว้ในกาลก่อน คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำเกาะอยู่ซึ่งบัณฑิต ผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยอยู่บนตั่งเป็นต้นนั้น เปรียบเหมือนเงายอดภูเขาใหญ่ ย่อมปกคลุมย่อมครอบงำเกาะอยู่ ซึ่งแผ่นดินในเวลาเย็น ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมอันงาม ที่บัณฑิตทำไว้ในก่อน คือ กายสุจริตวจีสุจริต มโนสุจริต ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำ เกาะอยู่ ซึ่งบัณฑิตผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น เปรียบเหมือนเงายอดภูเขาใหญ่ ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำเกาะกุม ในสมัยเวลาเย็นฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมงามที่บัณฑิตทำไว้ในกาลก่อน คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำเกาะอยู่ชึ่งบัณฑิตผู้อยู่บนตั่งหรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้นดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น บัณฑิตจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า "เราไม่ได้ทำความชั่ว ไม่ได้ทำความร้าย ไม่ได้ทำความเลว ทำแต่ความดี ทำแต่กุศล ทำแต่เครื่องป้องกันความหวาดกลัว ละโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่คติของคนที่ไม่ได้ทำความชั่ว ไม่ได้ทำความร้าย ไม่ได้ทำความเลว ทำแต่ความดีทำแต่กุศล ทำแต่เครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้เป็นที่ไป" บัณฑิตนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่คร่ำครวญ ไม่ร่ำไห้ ทุบอก ไม่ถึงความหลงพร้อมว่า คติใดจักมีแก่เราผู้ไม่ทำความชั่ว ไม่ทำความร้าย ไม่ทำความเลวทำแต่ความดี ทำแต่กุศล ทำแต่เครื่องป้องกันความหวาดกลัว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเดือดร้อนย่อมไม่เกิด แก่หญิงหรือชาย แก่คฤหัสถ์หรือบรรพชิต เราเรียกบุคคลนั้นว่า ผู้มีความตายอันเจริญ" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่ากรรม ฯ

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุจริต 3 ประการเหล่านี้ ทุจริต 3 เป็นไฉน กายทุจริต 1 วจีทุจริต 1 มโนทุจริต 1 ทุจริต 3 เหล่านี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุจริต 3 ประการเหล่านี้ สุจริต 3 เป็นไฉน กายสุจริต 1 วจีสุจริต 1 และมโนสุจริต 1 ดูกรภิกษุทั้งหลายสุจริต 3 ประการเหล่านี้แล" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า กรรม ฯ

สาสนปัฏฐาน 28 นั้น "วิบากเป็นไฉน"ขณสูตรว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของพวกเธอ อันพวกเธอได้ดีแล้วขณะเพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ อันพวกเธอได้เฉพาะแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย นรก ชื่อว่า ผัสสายตนิกะ 6 อันเราเห็นแล้ว ในนรกนั้น สัตว์จะเห็นรูปอะไร ๆ ด้วยจักษุ ก็ย่อมเห็นแต่รูปอันไม่น่าปรารถนา ย่อมไม่เห็นรูปอันน่าปรารถนา ย่อมเห็นแต่รูปไม่น่าใคร่ ย่อมไม่เห็นรูปอันน่าใคร่ย่อมเห็นรูปอันไม่น่าพอใจ ย่อมไม่เห็นรูปอันน่าพอใจ ย่อมฟังเสียงด้วยโสตะ ฯลฯ ย่อมดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ย่อมลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ย่อมถูกต้องโผฏฐัพพะอะไร ๆ ด้วยกาย ฯลฯ ย่อมรู้แจ้งธัมมารมณ์อะไร ๆ ด้วยใจก็ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์ อันไม่น่าใคร่ ย่อมไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันน่าใคร่ ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์อันไม่น่าพอใจ ย่อมไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันน่าพอใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของพวกเธอแล้ว พวกเธอได้ดีแล้ว ขณะเพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ พวกเธอได้เฉพาะแล้ว ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สวรรค์ชื่อ ผัสสายตนิกะ 6 เราได้เห็นแล้ว ในสวรรค์นั้น บุคคลย่อมเห็นรูปอะไร ๆ ด้วยจักษุ ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าปรารถนา ไม่เห็นรูปอันไม่น่าปรารถนา ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าใคร่ ไม่เห็นรูปอันไม่น่าใคร่ ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าพอใจ ไม่เห็นรูปอันไม่น่าพอใจย่อมฟังเสียง ฯลฯ ย่อมดมกลิ่น ฯลฯ ย่อมลิ้มรส ฯลฯ ย่อมถูกต้องโผฏฐัพพะ ฯลฯ ย่อมรู้แจ้งธัมมารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยใจ ก็ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์อันน่าปรารถนา ย่อมไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันไม่น่าปรารถนา ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์อันน่าใคร่ ไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันไม่น่าใคร่ ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์อันน่าพอใจ ไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันไม่น่าพอใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของพวกเธอแล้ว พวกเธอได้ดีแล้วขณะแห่งการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์อันพวกเธอได้เฉพาะแล้ว" ดังนี้ ข้อนี้เป็นวิบาก ฯ

ในเสฏฐิปุตตเปตวัตถุว่า "เมื่อพวกเรา พากันหมกไหม้อยู่ในนรก 6หมื่นปีเต็มบริบูรณ์ โดยประการทั้งปวง เมื่อไรที่สุดจักมี ที่สุดไม่มี ที่สุดจักมีแต่ที่ไหน ที่สุดย่อมไม่ปรากฏ แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ เพราะเรากับท่านได้ทำบาปกรรมไว้" ดังนี้ ข้อนี้เป็น วิบาก ฯ

[121] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "กรรมและวิบากเป็นไฉน"

พระสูตรว่า "ก็นระใด ผู้ประมาท ไม่ประพฤติธรรม ย่อมไปสู่ทุคติใด ๆ อธรรมนั้น อันตนประพฤติแล้ว ย่อมเบียดเบียนเขาผู้ไปทุคตินั้น ๆเหมือนงูเห่าอันตนจับแล้ว ฉะนั้น ธรรมและอธรรมทั้ง 2 มีผลเสมอกันหามิได้ อธรรมย่อมนำไปนรก ธรรมย่อมยังสัตว์ให้ถึงสุคติ" ดังนี้ สูตรนี้เป็นกรรมและวิบาก ฯ

ในปุญญสูตรว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้กลัวต่อบุญเลยคำว่าบุญนี้ เป็นชื่อแห่งความสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เรารู้ด้วยญาณอันวิเศษยิ่ง ซึ่งวิบากอันน่าปรารถนาน่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจ ที่่ตนเสวยแล้วสิ้นกาลนาน แห่งบุญทั้งหลาย ที่ตนได้ทำไว้สิ้นกาลนาน เราเจริญเมตตาจิตตลอด 7 ปี ไม่กลับมาสู่โลกนี้ 7 สังวัฏฏวิวัฏฏกัป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เมื่อกัปพินาศอยู่ เราเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อกัปเจริญอยู่ เราเข้าถึงวิมานแห่งพรหมที่ว่าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เราเป็นพรหม เป็นมหาพรหมเป็นผู้ยิ่งใหญ่ใครครอบครองไม่ได้ เป็นผู้สามารถเห็นอดีต อนาคต และปัจจุบันโดยแท้ เป็นผู้ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ อยู่ในวิมานพรหมนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้เป็นท้าวสักกะ ผู้เป็นจอมเทพ 36 ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ผู้ประกอบด้วยธรรม เป็นพระธรรมราชามีสมุทรสาครสี่เป็นขอบเขต เป็นผู้ชนะวิเศษแล้ว ถึงความเป็นผู้มั่นคงในชนบทประกอบด้วยรัตนะ 7 ประการหลายร้อยครั้ง จะกล่าวใยถึงความเป็นพระเจ้าประเทศราชเล่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นดำริอย่างนี้ว่า บัดนี้เราเป็นผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เพราะผลวิบากแห่งกรรม 3 ประการของเรา คือ ทาน 1 ทมะ 1 สัญญมะ 1" ในพระสูตรนั้น คำว่า ทาน ทมะ และสัญญมะ เป็นกรรม คำว่า วิบากใดเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย นี้เป็นวิบาก ฯ

อนึ่ง ในจูฬกัมมวิภังคสูตรพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรื่องกรรมและวิบากโดยพิสดาร (มัชฌิมนิกายอุปริปัณณาสก์ ข้อ 579) ในที่นี้พึงทราบโดยย่อว่าพระสูตรใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่สุภมานพ บุตรโตเทยยพราหมณ์ ในพระสูตรนั้น ธรรมเหล่าใด มีปาณาติบาตเป็นต้น (คือฆ่าสัตว์และงดเว้น) ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความมีอายุสั้นและอายุยืนธรรมเหล่าใด มีการเบียดเบียนเป็นต้น ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความอาพาธมากและอาพาธน้อย ธรรมเหล่าใด มีการริษยาไม่อยากให้เขาได้ดีเป็นต้น ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความมีศักดิ์น้อยและมีศักดิ์ใหญ่ ธรรมเหล่าใด มีความโกรธเป็นต้น ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความเป็นผู้มีผิวพรรณทรามและผิวพรรณดี ธรรมเหล่าใด มีความไม่เคารพเป็นต้น ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่่อความเป็นผู้เกิดในตระกูลต่ำและสูง ธรรมเหล่าใด มีความตระหนี่เป็นต้น ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความเป็นผู้มีโภคะน้อยและมีโภคะมาก ธรรมเหล่าใด มีความไม่พิจารณาเป็นต้น ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาทรามและมีปัญญามาก พระสูตรนี้ชื่อว่ากรรม ในสุภสูตรนั้น คำว่า ธรรมเหล่าใดมีปาณาติบาตเป็นต้น ฯลฯ ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาทรามและปัญญามาก นี้เป็นวิบาก ฯ พระสูตรนี้ เป็นกรรมและวิบาก ฯ

[122] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "กุศลเป็นไฉน"

ในคาถาธรรมบท มัคควรรค ตรัสว่า"บุคคล พึงตามรักษาวาจา พึงสังวรดีแล้วด้วยใจ และไม่พึงกระทำอกุศลด้วยกาย พึงชำระกรรมบถ 3 เหล่านี้ ให้หมดจด พึงยินดีมรรคที่พระฤÂษีประกาศแล้ว" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นกุศล ฯ

ในคาถาธรรมบท พราหมณวรรคตรัสว่า"เรากล่าว บุคคลผู้ไม่มีกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจ และผู้สำรวมแล้วจากฐานะทั้ง 3 นั้นว่า เป็นพราหมณ์" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นกุศล ฯ

ในมูลสูตรตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุศลมูล 3 อย่างนี้ กุศลมูล 3 เป็นไฉน คืออโลภกุศลมูล 1 อโทสกุศลมูล 1 อโมหกุศลมูล 1 ดูกรภิกษุทั้งหลายกุศลมูล 3 อย่างนี้แล นี้เป็นกุศล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนวิชชาเป็นหัวหน้าในการยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับหิริและโอตตัปปะ" ดังนี้ ข้อนี้เป็นกุศล ฯ

ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "อกุศลเป็นไฉน"ในคาถาธรรมบท อัตตวรรค ตรัสว่า"ความเป็นผู้ทุศีลล่วงส่วน ย่อมทำอัตภาพของบุคคลใดให้โอนไป(ในอบาย) เหมือนเถาย่านทราย รวบรัดต้นสาละให้โอนไปที่พื้นดิน ฉันใดบุคคลผู้ทุศีลนั้น ย่อมปรารถนาความพินาศแก่ตนเช่นนั้น ฉันนั้น" ดังนี้ข้อนี้ เป็นอกุศล ฯ คำว่า "ความชั่ว อันตนทำไว้เอง เกิดแต่ตน มีตนเป็นแดนเกิด ย่อมย่ำยีคนมีปัญญาทราม ดุจเพชรย่ำยี (ทำลาย) แก้วมณีที่่เกิดแต่หิน ฉะนั้น" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นอกุศล ฯ

พระสูตรว่า

"ดูกรเทวดา บุคคลผู้โง่เขลา ทำอกุศลกรรมบถ 10 เว้นจากกุศลทั้งหลาย เป็นผู้ต่ำทราม (อันบุคคลพึงติเตียน) ย่อมไหม้ในนรกทั้งหลาย"ดังนี้ ข้อนี้ เป็นอกุศล ฯ

ในมูลสูตรตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล 3 อย่างนี้ อกุศลมูล 3 เป็นไฉน คือโลภอกุศลมูล 1 โทสอกุศลมูล 1 โมหอกุศลมูล 1 ดูกรภิกษุทั้งหลายอกุศลมูล 3 อย่าง เหล่านี้แล" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นอกุศล ฯ

ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "กุศลและอกุศลเป็นไฉน"ในสมุททกสูตรตรัสว่า"บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น คนทำดี ย่อมได้ดี คนทำชั่ว ย่อมได้ชั่ว" ดังนี้ ในพระสูตรนั้น คำใดที่กล่าวว่า "คนทำดี ย่อมได้ดี"ดังนี้ คำนี้ เป็นกุศล ฯ คำใดที่กล่าวว่า "คนทำชั่ว ย่อมได้ชั่ว" ดังนี้ คำนี้เป็นอกุศล ฯ พระสูตรนี้ เป็นกุศลและอกุศล ฯ

พระสูตรว่า

"สัตบุรุษย่อมไปสู่สุคติด้วยกรรมอันงาม บุรุษชั่วย่อมไปสู่อบายภูมิด้วยกรรมอันไม่งาม อนึ่ง เพราะความสิ้นไปแห่งกรรม สัตบุรุษเหล่านั้นย่อมดับไป เพราะจิตหลุดพ้นแล้ว ดุจประทีปโคมไฟย่อมดับไปเพราะสิ้นเชื้อ ฉะนั้น" ในพระสูตรนั้น คำใด ที่กล่าวว่า "ย่อมไปสู่สุคติด้วยกรรมอันงาม" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นกุศล ฯ คำใด ที่กล่าวว่า "ย่อมไปสู่อบายด้วยกรรมอันไม่งาม" ดังนี้ คำนี้ เป็นอกุศล ฯ พระสูตรนี้ เป็นกุศลและอกุศลฉะนี้แล ฯ

[123] ในสาสนปัฏฐานนั้น 28 นั้น "อนุญาตเป็นไฉน"

ในคาถาธรรมบท บุปผวรรคตรัสว่า"ภมรไม่ยังดอกไม้อันมีสีและกลิ่นให้ชอกช้ำ ถือเอาแต่รสแล้วย่อมบินไปแม้ฉันใด มุนีพึงเที่ยวไปในบ้าน ฉันนั้น" ดังนี้ นี้ชื่อว่า อนุญาต(อนุญญาตะ) ฯ

พระสูตรว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำของภิกษุทั้งหลาย 3 อย่างเหล่านี้ 3อย่างเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สำรวมในปาติโมกขสังวร 1 เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร 1 เป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายแม้มีประมาณน้อย 1 คือ ย่อมสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรม เป็นผู้มีอาชีวะอันบริสุทธิ์ด้วยกุศล ก็แล ภิกษุนั้นเป็นผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว เป็นผู้มีกำลังบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระ เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อเจริญกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ก็แล ภิกษุมีปัญญาประกอบด้วยปัญญาอันให้ถึงความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย เพื่อการแทงตลอดอันประเสริฐ เพื่อถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบดูกรภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำของภิกษุทั้งหลาย 3 อย่างนี้แล" ดังนี้พระสูตรนี้ ชื่่อว่า อนุญาต (อนุญญาตะ) ฯ

ในอภิณหปัจจเวกขณสูตรตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม 10 เหล่านี้ อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ธรรม 10 เป็นไฉน คือ บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์ 1 บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น 1 ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม 10 นี้แล อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ" ดังนี้ พระสูตรนี้ ชื่อว่า อนุญาต ฯ

พระสูตรว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำ 3 อย่างเหล่านี้ 3 อย่างเป็นไฉน คือ กายสุจริต 1 วจีสุจริต 1 มโนสุจริต 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำ 3 อย่างเหล่านี้แล" ดังนี้ ชื่อว่า อนุญาต ฯ

ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ปฏิกขิตตะเป็นไฉน"ในนัตถิปุตตสมสูตร เทวดากล่าวว่า"ความรักเสมอด้วยความรักบุตรไม่มี ทรัพย์เสมอด้วยโคไม่มีแสงสว่างเสมอด้วยดวงอาทิตย์ไม่มี สระทั้งหลายมีทะเลเป็นอย่างยิ่ง" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ความรักเสมอด้วยความรักตนไม่มี ทรัพย์เสมอด้วยข้าวเปลือกไม่มีแสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี ฝนต่างหากเป็นสระยอดเยี่ยม" ดังนี้ ในพระสูตร ข้อแรกเทวดากล่าว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธ พระสูตรนี้จึงชื่่อว่า ปฏิกขิตตะ ฯ

พระสูตรว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย กิจที่่ไม่ควรทำ 3 อย่างเหล่านี้ 3 อย่างเป็นไฉน คือ กายทุจริต 1 วจีทุจริต 1 มโนทุจริต 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย กิจที่ไม่ควรทำ 3 อย่างเหล่านี้แล" ดังนี้ ข้อนี้ ปฏิกขิตตะ (เพราะเป็นคำที่ทรงห้าม) ฯ

[124] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "อนุญญาตะและปฏิกขิตตะเป็นไฉน"ในภีตสูตร เทวดาทูลถามว่า "ประชุมชนเป็นอันมากในโลกนี้ กลัวอะไรหนอ ก็มรรค พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยเหตุมิใช่น้อย ข้าแต่พระโคดมผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน ข้าพระองค์ ขอถามถึงเหตุนั้นว่า บุคคลตั้งอยู่ในธรรมอะไรแล้วไม่พึงกลัวปรโลก" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า"บุคคลตั้งวาจาและใจชอบแล้ว ไม่พึงทำบาปด้วยกาย บุคคลผู้อยู่ครอบครองเรือนที่มีข้าวและน้ำมาก เป็นผู้มีศรัทธา มีจิตอ่อน (ไม่กระด้าง)เป็นผู้รู้ถ้อยคำของยาจกแล้วพึงจำแนกแจกทาน บุคคลตั้งอยู่ในธรรม 4อย่างเหล่านี้ ชื่อว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรมแล้ว ไม่ต้องกลัวปรโลก" ดังนี้ ในพระสูตรนั้น คำที่กล่าวว่า"บุคคลตั้งวาจาและใจชอบ" ข้อนี้ เป็นอนุญญาตะ (ทรงอนุญาต)และคำว่า "ไม่พึงทำบาปด้วยกาย" ข้อนี้ ชื่อว่า ปฏิกขิตตะ (ทรงห้าม) ฯ

ข้อว่า "อยู่ครอบครองเรือนที่มีข้าวและน้ำมาก มีศรัทธา มีจิตอ่อนรู้ถ้อยคำของยาจกแล้วจำแนกแจกทาน บุคคลตั้งอยู่ในธรรม 4 เหล่านี้แล้ว ไม่พึงกลัวปรโลก" ข้อนี้ ชื่อว่า อนุญญาตะและปฏิกขิตตะ ฯ

ในธรรมบท พุทธวรรคตรัสว่า"การไม่ทำบาปทั้งปวง การยังกุศลให้ถึงพร้อม การยังจิตให้ผ่องแผ้วนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" ในพระคาถานั้น คำว่า "การไม่ทำบาปทั้งปวง" นี้เป็นปฏิกขิตตะ ฯ คำว่า "การยังกุศลให้ถึงพร้อม"นี้เป็นอนุญญาตะ ฯ คาถานี้ เป็นอนุญญาตะและปฏิกขิตตะ ฯ

ในสักกปัญหสูตรตรัสว่า"ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวกายสมาจาร โดยแยกเป็น 2 คือที่่ควรเสพก็มี ไม่ควรเสพก็มี วจีสมาทานก็แยกเป็น 2 คือ ที่ควรเสพก็มีไม่ควรเสพก็มี มโนสมาทานก็แยกเป็น 2 คือ ที่่ควรเสพก็มี ไม่ควรเสพก็มี ฯลฯ การแสวงหาก็แยกเป็น 2 คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มีดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวกายสมาจารโดยแยกเป็น 2 คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ก็การกล่าวถึงสมาจารข้อนี้ เพราะอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ในกายสมาจาร 2 นั้น เมื่อบุคคลเสพอยู่ซึ่งกายสมาจารอย่างไร อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมย่อมเสื่อม กายสมาจารเห็นปานนี้ไม่ควรเสพ ใน 2 อย่างนั้น บุคคลรู้กายสมาจารใดว่า เมื่อเราเสพกายสมาจารนี้ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อม กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญขึ้นกายสมาจารเห็นปานนี้ควรเสพ ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวกายสมาจารโดยแยกเป็น 2 คือ ที่ควรเสพก็มี ไม่ควรเสพก็มี อาศัยข้อนี้แลกล่าวแล้วดูกรจอมเทพ วจีสมาทาน ฯลฯ ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวว่า การแสวงหา โดยแยกเป็น 2 คือ ที่ควรเสพก็มี ไม่ควรเสพก็มี ข้อนั้นอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ใน 2 อย่างนั้น เมื่อบุคคลเสพการแสวงหาใด อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญ กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อม การแสวงหาเห็นปานนี้ไม่ควรเสพ ในการแสวงหานั้น เมื่อบุคคลรู้ถึงการแสวงหาอันใดว่าเมื่อเราเสพการแสวงหานี้แล อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญดังนี้ การแสวงหาเห็นปานนี้ควรเสพ ดูกรจอมเทพ อาตมภาพอาศัยข้อนี้แลกล่าวแล้ว"

ในกายสมาจารเป็นต้นนั้น คำที่กล่าวว่า "ควรเสพก็มี" ข้อนี้เป็นอนุญญาตะ ฯ คำว่า "ไม่ควรเสพก็มี" ข้อนี้เป็นปฏิกขิตตะ ฯ พระสูตรนี้เป็นอนุญญาตะและปฏิกขิตตะ ฉะนี้แล ฯ

[125] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ถวะเป็นไฉน"

ในคาถาธรรมบท มรรควรรคตรัสว่า "ทาง (มรรค) มีองค์ 8ประเสริฐกว่าทางทั้งหลาย บท 4 (คืออริยสัจ 4) ประเสริฐกว่าสัจจะทั้งหลาย (คือสมมติสัจจะมีวจีสัจจะและขัตติยสัจจะเป็นต้น) บรรดาธรรมทั้งหลายวิราคะประเสริฐที่สุด และพระตถาคตผู้มีพระจักษุประเสริฐกว่าสัตว์ 2 เท้า"ดังนี้ คาถานี้ ชื่อว่า ถวะ (การสรรเสริญ) ฯ

ในอัคคปสาทสูตรตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เลิศมี 3 ประการเหล่านี้ 3 ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีประมาณเพียงใด ไม่มีเท้าก็ตาม มี 2 เท้าก็ตาม มี 4 เท้าก็ตาม มีเท้ามากก็ตามมีรูปหรือไม่มีรูปก็ตาม มีสัญญาหรือไม่มีสัญญาก็ตาม มีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ก็ตาม พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่า เลิศ ประเสริฐ ประเสริฐที่สุดกว่าสัตว์เหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรมทั้งหลายที่มีปัจจัยปรุงแต่ง หรือไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง มีประมาณเท่าใด วิราคะ บัณฑิตกล่าวว่า เลิศ ประเสริฐ ประเสริฐที่สุดกว่าธรรมเหล่านั้น วิราคะนี้ใด เป็นธรรมย่ำยีความเมา กำจัดความกระหาย ถอนขึ้นซึ่งความอาลัย เข้าไปตัดวัฏฏะ เป็นธรรมที่สิ้นตัณหา คลายความกำหนัดเป็นความดับ เป็นนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัญญัติแห่งหมู่ทั้งหลายบัญญัติแห่งคณะทั้งหลาย หรือบัญญัติแห่งมหาชนที่ประชุมกันทั้งหลายหมู่แห่งสาวกของพระตถาคต บัณฑิตกล่าวว่า เลิศ ประเสริฐ ประเสริฐที่สุดกว่าหมู่เหล่านั้น หมู่นี้ใด คือ คู่แห่งบุรุษ 4 ได้แก่ บุรุษบุคคล 8 ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก" ดังนี้คาถา ถวะรัตนตรัยพระศาสดาเป็นผู้ประเสริฐยิ่งกว่าสิ่งทั้งปวงในโลก พระธรรมอันพระองค์ทรงแสดง โดยความเป็นกุศล ปราศจากมลทินทั้งหลาย หมู่แห่งพระอริยสงฆ์องอาจดังนรสีหะ รัตนะ 3 นั้นแล ย่อมประเสริฐกว่ารัตนะทั้งปวงคณะคือการประชุมแห่งพระสมณะ งามอยู่ดุจดอกปทุม พระธรรมอันประเสริฐอันวิญญูชนทั้งหลายทำสักการะแล้ว พระตถาคตผู้มีพระจักษุทรงฝึกนระผู้ประเสริฐ (มีพรหมเป็นต้น) รัตนะ 3 นั้นแล เป็นรัตนะสูงยิ่งของโลกพระศาสดาไม่มีผู้เปรียบ พระธรรมดับความเร่าร้อนทั้งปวง พระอริยสงฆ์เป็นหมู่อันประเสริฐ รัตนะ 3 นั้นแล ย่อมประเสริฐโดยส่วนเดียวพระชินะผู้สงบมีพระนามตามเป็นจริง ทรงครอบงำสรรพสิ่งแห่งโลกดำรงอยู่ พระธรรมเป็นสัจจะของพระชินะนั้น หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ หมู่แห่งพระอริยะอันบัณฑิตบูชาแล้วเป็นนิตย์ รัตนะ 3 นั้นแล เป็นรัตนะอันสูงสุดแห่งชาวโลก

สหัมบดีพรหมประพันธ์คาถาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเห็นความสิ้นชาติและที่สุดแห่งชาติ ทรงอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ทราบทางเป็นที่ไปอันเอก ในกาลก่อนชนทั้งหลายข้ามโอฆะด้วยทางนี้ ในอนาคตก็จักข้ามด้วยทางนี้ และในบัดนี้ก็ข้ามอยู่ด้วยทางนี้ ดังนี้เหล่าสัตว์หวังอยู่ซึ่งความหมดจด ย่อมนมัสการพระสัมมาสัมพุทธะผู้คงที่ผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์พระองค์นั้น ดังนี้ คาถานี้ ชื่อว่า ถวะ ฯ

ในพระสูตร 16 นั้น พระสูตรที่เป็นโลกียะ พึงแสดงด้วยพระสูตรทั้ง 2คือ ด้วยสังกิเลสภาคิยสูตรและวาสนาภาคิยสูตร พระสูตรที่่เป็นโลกุตตระพึงแสดงด้วยพระสูตร 3 คือ ทัสสนภาคิยสูตร ภาวนาภาคิยสูตร และอเสกขภาคิยสูตร พระสูตรที่เป็นทั้งโลกียะทั้งโลกุตตระ บท(ส่วน) ใด ๆ คือ ส่วนแห่งสังกิเลส หรือส่วนแห่งวาสนาย่อมปรากฏในพระสูตรส่วนใด ก็พึงแสดงโลกียะโดยส่วนนั้น ๆ บทใด ๆ อันเป็นส่วนทัสสนะ หรือเป็นภาวนา หรือเป็นอเสกขะก็พึงแสดงโลกุตตระ โดยส่วนนั้น ๆ ฯ

พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งวาสนา ย่อมเป็นไปเพื่อละพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งสังกิเลส พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งทัสสนะ ย่อมเป็นไปเพื่อละพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งวาสนา พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งภาวนา ย่อมเป็นไปเพื่อละพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งทัสสนะ พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งพระอเสกขะ ย่อมเป็นไปเพื่อการสละออกจากพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งภาวนา ฯ

(พระอริยบุคคล 26)

พระสูตรโลกุตตระ ที่เป็นสัตตาธิฏฐาน พึงแสดงด้วยบุคคล 26 พวกบุคคล 26 เหล่านั้น บัณฑิตพึงแสวงหาด้วยพระสูตร 3 อย่าง คือพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งทัสสนะ พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งภาวนา พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งพระอเสกขะ (ที่เป็นสัตตาธิฏฐาน) ฯ

ในพระสูตร 3 เหล่านั้น พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งทัสสนะ พึงแสดงด้วยบุคคล 5 คือ เอกพีชี 1 โกลังโกละ 1 สัตตักขัตตุปรมะ 1 สัทธานุสารี 1 และธัมมานุสารี 1 พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งทัสสนะพึงแสดงด้วยบุคคล 5 เหล่านี้ ฯ

พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งภาวนา พึงแสดงด้วยบุคคล 12 คือ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อการกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล 1 พระสกทาคามี 1 บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่่อกระทำให้แจ้งซึ่่งอนามิผล 1 พระอนาคามี 1 ผู้เป็นอันตราปรินิพพายี 1 ผู้เป็นอุปหัจจปรินิพพายี 1 ผู้เป็นอสังขารปรินิพพายี 1 ผู้เป็นสสังขารปรินิพพายี 1 ผู้เป็นอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี 1 บุคคลผู้สัทธาวิมุตติ 1 บุคคลผู้ทิฏฐิปัตตะ 1และบุคคลผู้กายสักขี 1 พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งภาวนา พึงแสดงด้วยบุคคล 12 เหล่านี้ ฯ

พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งพระอเสกขะ พึงแสดงด้วยบุคคล 9 คือสัทธาวิมุตตบุคคล 1 ปัญญาวิมุตตบุคคล 1 สุญญตวิมุตตบุคคล 1อนิมิตตวิมุตตบุคคล 1 อัปปณิหิตวิมุตตบุคคล 1 อุภโตภาควิมุตตบุคคล 1สมสีสีบุคคล 1 ปัจเจกพุทธะ 1 และสัมมาสัมพุทธะ 1 พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งพระอเสกขะ พึงแสดงด้วยบุคคล 9 เหล่านี้ โลกุตตรสูตรเป็นสัตตาธิฏฐานพึงแสดงด้วยบุคคล 26 เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้ ฯ

(ปุถุชน 19 พวก)

โลกียสูตรที่่เป็นสัตตาธิฏฐาน พึงแสดงด้วยบุคคล 19 พวก บุคคล 19เหล่านั้น พึงยกขึ้นแสดงด้วยจริตทั้งหลาย คือ คนราคจริตพวก 1 คนโทสจริตพวก 1 คนโมหจริตพวก 1 บางพวกเป็นราคจริตและโทสจริต 1 บางพวกเป็นราคจริตและโมหจริต 1 บางพวกเป็นโทสจริตและโมหจริต 1 บางพวกเป็นราคจริต โทสจริตและโมหจริต 1 บางพวกตั้งอยู่ในทาง (ปริยุฏฐาน) แห่งราคะเป็นราคจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งราคะเป็นโทสจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งราคะเป็นโมหจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งราคะเป็นราคจริตโทสจริต โมหจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งโทสะเป็นโทสจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งโทสะ เป็นราคจริต โทสจริต โมหจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งโมหะเป็นโมหจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งโมหะเป็นราคจริต 1บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งโมหะ เป็นโทสจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งโมหะเป็นราคจริต โทสจริต โมหจริต 1 โลกียสูตรเป็นสัตตาธิฏฐาน พึงแสดงด้วยบุคคล 19 เหล่านี้ ฯ

บุคคลมีศีล 5 พวกพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งวาสนา พึงแสดงด้วยบุคคลมีศีล บุคคลผู้มีศีลเหล่านั้นมี 5 พวก คือมีปกติศีล 1 สมาทานศีล 1 มีความผ่องใสแห่งจิต 1มีสมถะ 1 มีวิปัสสนา 1 พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งวาสนา พึงแสดงด้วยบุคคล 5 พวกเหล่านี้ ฯ

พระสูตรโลกุตตระ เป็นธัมมาธิฏฐาน พึงแสดงด้วยพระสูตร 3 คือ พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งทัสสนะ 1 พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งภาวนา 1 พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งพระอเสกขะ 1 ฯ

พระสูตรที่เป็นโลกียะและโลกุตตระ พระสูตรที่เป็นทั้งสัตตาธิฏฐานทั้งธัมมาธิฏฐาน พึงแสดงโดยส่วนทั้ง 2 ญาณอันมาแล้วในพระสูตรนั้น ๆบัณฑิตพึงแสดงด้วยปัญญา อันเป็นปริยายแห่งญาณ คือ ด้วยปัญญินทรีย์ด้วยปัญญาพละ ด้วยอธิปัญญาสิกขา ด้วยธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ด้วยสัมมาทิฏฐิด้วยการพิจารณา ด้วยการสอบสวน ด้วยธัมมญาณ ด้วยอนุโลมญาณ ด้วยขยญาณ ด้วยอนุปาทญาณ ด้วยอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ ด้วยอัญญินทรีย์ด้วยอัญญาตาวินทรีย์ ด้วยปัญญาจักษุ ด้วยวิชชา ด้วยความรู้ ด้วยภูริปัญญาด้วยปัญญาเป็นเครื่่องฆ่ากิเลส หรือญาณมาแล้วในที่ใด ๆ ย่อมได้ในที่ใด ๆก็พึงแสดงด้วยชื่อของปัญญานั้น ๆ ฯ

เญยยะ (ไญยธรรม) พึงแสดงด้วยธรรมที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันด้วยอายตนะภายในและภายนอก ด้วยธรรมอันเลวและประณีต ด้วยธรรมใกล้และไกล ด้วยสังขตะและอสังขตะ ด้วยกุศลอกุศลและอัพยากตะ หรือโดยสังเขป แสดงด้วยอารมณ์ 6 ฯ

ญาณและเญยยะทั้ง 2 มาในพระสูตรใด ก็พึงแสดงในพระสูตรนั้น แม้ปัญญาก็ชื่อว่า เญยยะ (คือสิ่งที่ควรรู้) เพราะเป็นอารมณ์ อายตนะภายในและอายตนะภายนอกอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอารมณ์ ก็พึงแสดงอายตนะทั้งปวงนั้นตามความเป็นจริง ด้วยสังขตะและอสังขตะ ฯ

ในพระสูตรทั้งปวง คือ ทัสสนสูตร ภาวนาสูตร สกวจนสูตร ปรวจนสูตรวิสัชชนียสูตร อวิสัชชนียสูตร กรรมสูตร วิปากสูตร บัณฑิตพึงแสดงพระสูตรทั้ง 2 (รวมกัน) ตามที่่ได้ในพระสูตรนั้น หรือตรัสไว้อย่างไร ใคร่ครวญแล้วแสดงตามพระดำรัสนั้น ฯ

เหตุมี 2 คือ กรรม 1 กิเลส 1 ในที่นี้ ได้แก่ สมุทัยและกิเลส ในสมุทัยและกิเลสนั้น กิเลสพึงแสดงด้วยพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งสังกิเลส สมุทัยพึงแสดงด้วยพระสูตร 2 คือ สังกิเลสภาคิยะและวาสนาภาคิยะ ฯ

ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น กุศลพึงแสดงด้วยพระสูตร 4 คือ วาสนาภาคิยสูตร 1 ทัสสนภาคิยสูตร 1 ภาวนาภาคิยสูตร 1 และอเสกขภาคิยสูตร 1 ฯ

อกุศลพึงแสดงด้วยสังกิเลสภาคิยสูตร ฯ กุศลและอกุศลพึงแสดงด้วยพระสูตร 2 อย่าง ฯ อนุญญาตะ (ธรรมที่ทรงอนุญาต) พึงแสดงด้วยพระสูตรที่ทรงอนุญาต ก็อนุญญาตะนั้น มี 5 อย่าง สังวร 1 ปหานะ 1 ภาวนา 1 สัจฉิกิริยา 1 กัปปิยานุโลม 1 ก็ข้ออนุญาตใด ที่ทรงแสดงไว้ในภูมินั้น ๆ มีปุถุชนภูมิเป็นต้นข้อที่อนุญาตนั้น พึงแสดงโดยกัปปิยะ (สิ่งที่ควร) และสิ่งที่อนุโลมเข้ากับกัปปิยะในมหาปเทส ฯ ปฏิกขิตตะ (ข้อที่ห้าม) พึงแสดงด้วยพระสูตรที่ห้ามมิให้เป็นไปแห่งราคะเป็นต้นฯ อนุญญาตะและปฏิกขิตตะทั้ง 2 ก็พึงแสดงด้วยพระสูตร 2อย่าง ฯ

ถวะ (การสรรเสริญ หรือการยกย่อง) บัณฑิตพึงแสดงด้วยพระสูตรที่แสดงการยกย่อง ถวะ คือ สิ่งที่ควรยกย่อง มี 5 อย่าง คือ พระผู้มีพระภาคเจ้า 1 อสังขตธรรม 1 หมู่แห่งพระอริยะ 1 อริยธรรมสิกขาคือมรรคและผล 1และการถึงพร้อมด้วยโลกียคุณ 1 การสรรเสริญพึงแสดงด้วยการยกย่อง 5 อย่างนี้ ฯ

(มูลบท 18 อย่าง)

อินทริยภูมิ มีสัทธินทรีย์เป็นต้น พึงแสดงด้วยบททั้งหลาย 9 บท มีสมถะเป็นต้น กิเลสภูมิ พึงแสดงด้วยบท 9 มีตัณหาเป็นต้น บท 18 คือกุศลมี 9 อกุศลมี 9 ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฯ คำใดที่บัณฑิตกล่าวไว้ว่า"มูลบท 18 ประการ บุคคลพึงทราบ ณ ที่ไหน คำนั้น บัณฑิต ย่อมกล่าวว่าในสาสนปัฏฐาน" ดังนี้ เพราะเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า"กุศลประกอบด้วยบท 9 ฝ่ายอกุศลประกอบด้วยบท 9 เป็นมูลเหล่านี้แล มูลเหล่านั้นมี 18 อย่าง" ดังนี้

จบ สาสนปัฏฐาน

เนตติปกรณ์ใด อันท่านพระมหากัจจายนะได้ภาษิตไว้ด้วยอรรถะมีประมาณเท่านี้ (โดยย่อ) เนตติปกรณ์นั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาแล้วอันพระธัมมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายร้อยกรองไว้ ในสังคีติครั้งแรก ฉะนี้แล ฯ

จบ เนตติปกรณ์

ดูเพิ่ม

  1. เนตติปกรณ์ แปลโดยพระคันธสาราภิวังสะ