วิสุทธิมรรค_08_อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส

อยู่ในระหว่างปรับสำนวน

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)

มรณานุสสติกถา

(หน้าที่ 1)

บัดนี้ ถึงวาระแสดงการเจริญมรณสติต่อจากเทวตานุสสตินี้ไป

ในมรณสตินั้น คำว่า มรณะ ได้แก่ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ที่เนื่องอยู่ในภพเดียวกัน

  1. สมุจเฉทมรณะ กล่าวคือ ความขาดสูญแห่งวัฏฏทุกข์ของพระอรหันต์ทั้งหลาย
  2. ขณิกมรณะ กล่าวคือความแตกดับชั่วขณะแห่งสังขารทั้งหลาย และ
  3. สมมติมรณะ ได้ในคำว่า ต้นไม้ตาย โลหะตาย ดังนี้เป็นต้น

มรณะทั้ง 3 อย่างนั้น ไม่ประสงค์เอาในมรณสตินี้

ก็แหละมรณะที่ประสงค์เอานั้นมี 2 อย่างคือ

  1. กาลมรณะ 1
  2. อกาลมรณะ 1

ในมรณะ 2 อย่างนั้น กาลมรณะ มีด้วยการสิ้นบุญ หรือการสิ้นอายุ หรือด้วยการสิ้นทั้ง 2 อย่าง อกาลมรณะ มีด้วยอำนาจกรรม ที่เข้าตัดรอนกรรม

ในมรณะเหล่านั้น ก็มรณะใดเมื่อความพร้อมมูลแห่งปัจจัยที่เป็นเหตุสืบต่ออายุยังมีอยู่ ก็ย่อมมีได้ เพราะความที่กรรมอันเป็นเหตุต่อปฏิสนธิมีวิบากสุกงอมสิ้นเชิงแล้วนี้ชื่อว่ามรณะด้วยการสิ้นบุญ มรณะใดย่อมมีด้วยการสิ้นอายุซึ่งมี 100 ปีเป็นกำหนดเหมือนอายุของคนทุกวันนี้ เพราะไม่มีสมบัติคือคติ, กาล และอาหารเป็นต้น นี้ชื่อว่ามรณะด้วยการสิ้นอายุ ส่วนมรณะใดย่อมมีแก่เหล่าสัตว์ผู้มีสันดานอันกรรมที่สามารถจะให้เคลื่อนจากฐานในทันทีเข้ามาตัดรอน เหมือนอย่างทุสิมารและกลาพุราชเป็นต้น หรือย่อมมีแก่เหล่าสัตว์ผู้มีสันดานขาดไปด้วยความพยายามมีการนำศัสตรามา (ประหาร) เป็นต้น ด้วยอำนาจกรรมปางก่อน นี้ชื่อว่าอกาลมรณะ มรณะทั้งหมดนั้น สงเคราะห์ด้วยความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ การระลึกถึงมรณะ กล่าวคือ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ชื่อว่ามรณสติ

อันพระโยคาวจรผู้ประสงค์จะเจริญมรณสตินั้น ไปในที่ลับหลีกเร้นอยู่ พึงให้มนสิการเป็นไปโดยแยบคายว่า มรณะจักมี ชีวิตินทรีย์จักขาด หรือว่า ตาย ตาย ดังนี้ เพราะว่าเมื่อ

(หน้าที่ 2)

พระโยคาวจรยังมนสิการให้เป็นไปโดยไม่แยบคาย เวลาระลึกถึงความตายของคนที่ชอบกันจะเกิดความโศกเศร้า ดุจเวลามารดาผู้บังเกิดเกล้าระลึกถึงความตายของบุตรที่รักฉะนั้น เวลาที่ระลึกถึงความตายของคนที่ไม่ชอบกันจะเกิดความปราโมทย์ ดุจคนมีเวรกันระลึกถึงความตายของคนที่มีเวรกันฉะนั้น เวลาระลึกถึงความตายของคนที่เป็นกลาง ๆ จะไม่เกิดความสลดใจ ดุจสัปเหร่อเห็นซากคนตายฉะนั้น เวลาระลึกถึงคามตายของตนจะเกิดความสะดุ้งหวาดกลัว ดุจคนที่มีชาติขลาดเพราะเห็นเพชฌฆาตผู้เงื้อดาบฉะนั้น ความเกิดขึ้นแห่งความโศกเป็นต้นแม้ทั้งหมดนั้น ย่อมมีแก่ผู้ปราศจากสติ, ความสังเวช และญาณ เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรเห็นสัตว์ที่ถูกฆ่าตายและตายเองในที่นั้น ๆ แล้ว พึงพิจารณาถึงความตายของหมู่สัตว์ที่ตายไปซึ่งที่เป็นสมบัติที่ตนเคยเห็นมา ประกอบสติ, ความสังเวช และญาณ แล้วยังมนสิการให้เป็นไปโดยนัยมี อาทิว่า มรณํ ภวิสฺสติ ความตายจักมี ดังนี้ ด้วยว่าพระโยคาวจรเมื่อให้มนสิการเป็นไปอย่างนั้น ชื่อว่าให้เป็นไปโดยแยบคาย อธิบายว่าให้เป็นไปโดยอุบาย จริงอยู่สำหรับพระโยคาวจรบางพวกที่ยังมนสิการให้เป็นไปอยู่อย่างนั้นนั่นแล นิวรณกิเลสทั้งหลายย่อมระงับลง สติมีมรณะเป็นอารมณ์ย่อมตั้งมั่น กัมมัฏฐานขึ้นถึงอุปจารฌานทีเดียวก็เป็นได้

ส่วนพระโยคาวจรผู้ไม่มีกัมมัฏฐานถึงอุปจารฌานด้วยอาการเพียงเท่านี้ พึงระลึกถึงความตาย ด้วย 8 อาการเหล่านี้ 1)

1. อาการที่ความตายนั้น "ต้องฆ่าแน่นอนเหมือนเพชฌฆาต"

2. อาการที่ความตายนั้น "ตายแล้ววิบัติจากสมบัติแน่นอน"

3. อาการที่ความตายนั้น "ตายเท่าเทียมกันแน่นอน"

4. อาการที่ความตายนั้น "เป็นเพราะร่างกายสาธารณะแก่สัตว์มากมากยอยู่แล้ว"

5. อาการที่ความตายนั้น "เป็นเพราะอายุอ่อนแออยู่แล้ว"

6. อาการที่ความตายนั้น "กำหนดแน่นอนไม่ได้"

7. อาการที่ความตายนั้น "ตายทุกชาติแน่นอน"2)

8. อาการที่ความตายนั้น "ตายทุกขณะจิตแน่นอน"

(หน้าที่ 3)

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วธกปจฺจุปฏฐานโต แปลว่า โดยปรากเหมือนเพชฌฆาต พระโยคาวจรพึงระลึกว่า เปรียบเหมือนเพชฌฆาตคิดจะตัดศีรษะผู้นี้ ฉวยดาบจ่ออยู่ที่คอยืนประชิดตัวอยู่ฉันใด แม้ความตายก็ปรากฏเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุไร ? เพราะมาพร้อมกับความเกิดและเพราะเป็นเครื่องบั่นทอนชีวิต อุปมาเหมือนดอกเห็ดหัวงูตูมๆ ย่อมดันเอาฝุ่นติดหัวขึ้นมาพร้อมฉันใด สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ย่อมพาเอาความแก่และความตายมาเกิดด้วย จริงอย่างนั้น ปฏิสนธิจิตของสัตว์เหล่านั้นก็ถึงความแก่ถัดแต่เกิดขึ้นมาทีเดียว แล้วก็แตกดับไปพร้อมกับด้วยขันธ์อันเป็นตัวประกอบ ดังศิลาตกจากยอดเขาแตกกระจายไปฉะนั้น ความตายที่มีประจำทุกขณะดังกล่าวมาฉะนี้ อันดับแรกมาพร้อมกับความเกิด แต่เพราะสัตว์เกิดมาแล้วต้องตายเป็นเที่ยงแท้ แม้ความตายที่ประสงค์เอาในมรณสตินี้ก็จัดว่ามาพร้อมกับความเกิด เพราะเหตุนั้น สัตว์นี้ตั้งแต่เวลาที่เกิดมาเดินบ่ายหน้าต่อความตายมิได้หวนกลับมาเลยแม้สักน้อยเดียว เปรียบดังพระอาทิตย์โผล่ขึ้นมาแล้วก็โคจรบ่ายหน้าต่อที่ตกไปท่าเดียว มิได้กลับมาหาที่ ๆ โคจรไปแล้วนั้น ๆ แม้สักน้อยหนึ่ง หรือมิฉะนั้น เปรียบเหมือนสายน้ำเล็กๆ ที่ไหลลงจากภูเขามีกระแสเชี่ยว มีปกติพัดเอาสิ่งพอที่จะพัดไปได้ ย่อมไหลรุดไปท่าเดียว มิได้หวนกลับแม้สักน้อยหนึ่ง ฉะนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า

สัตว์อยู่ในครรภ์เพียงคืนเดียวซึ่งเป็นคืนแรก ย่อมบ่ายหน้าไป (สู่ความตาย) เหมือนเมฆฝนตั้งขึ้นแล้ว ก็ย่อมเคลื่อนไปเรื่อย ไม่หวนกลับมา ดังนี้

ก็เมื่อสัตว์นั้นบ่ายหน้าไปอยู่อย่างนี้ ความตายเท่านั้นย่อมใกล้เข้ามา เหมือนอย่างความเหือดแห้งไปแห่งแม่น้ำน้อยอันถูกแดดแผดเผาในฤดูร้อน และเหมือนอย่างความหล่นผลอยแห่งผลไม้ทั้งหลายที่มีขั้วอันรสแห่งโปรธาตุซาบซึมแล้วในเวลาเช้า ดุจความแตกแห่งภาชนะดินทั้งหลายที่ถูกทุบด้วยไม้ค้อน และความเหือดแห้งไปแห่งหยาดน้ำค้างทั้งหลายที่ต้องแสงอาทิตย์แผดเผาฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

(หน้าที่ 4)

วันและคืนล่วงไป ชีวิตพลอยดับไปด้วย อายุของสัตว์ค่อยสิ้นไปดังน้ำแห่งแม่น้ำน้อยค่อยแห้งไป ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดมาแล้ว ย่อมมีภัยแต่ความตายเป็นเที่ยงแท้แน่นอน ดุจผลไม้ทั้งหลายที่สุกแล้ว ย่อมมีภัยแต่ความหล่นในเวลาเช้า ฉะนั้น

อนึ่ง เหมือนภาชนะดินที่ช่างหม้อทำขึ้น ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งสุกทั้งดิบ ทุกอย่างล้วนมีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น

หยาดน้ำค้างที่ยอดหญ้า พอพระอาทิตย์ขึ้นไปก็ตกไป ฉันใด อายุของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น คุณแม่จ๋า คุณแม่อย่าห้ามผมเลย

ความตายมาพร้อมกับความเกิดประดุจเพชฌฆาตที่เงื้อดาบ ด้วยประการฉะนี้

อนึ่ง ความตายนี้นั้นย่อมคร่าเอาชีวิตถ่ายเดียว ครั้นคร่าเอาไปแล้วก็มิได้ปล่อยให้กลับคืนมา ดังเพชฌฆาตกวัดแกว่งดาบอยู่ที่คอฉะนั้น เพราะเหตุนั้น แม้ความตายจึงชื่อว่าปรากฏดังเพชฌฆาตเงื้อดาบ เพราะมาพร้อมกับความเกิดและเพราะคร่าชีวิตไปดังนี้แล พระโยคาวจรพึงระลึกถึงความตายโดยปรากฏดังเพชฌฆาต ด้วยประการฉะนี้

คำว่า โดยวิบัติจากสมบัติ มีอธิบายว่า ขึ้นชื่อว่าสมบัติในโลกนี้ย่อมงดงามอยู่ได้ชั่วเวลาที่วิบัติยังไม่ครอบงำ แต่ขึ้นชื่อว่าสมบัติจะพึงพ้นความวิบัติดำรงอยู่ได้ หามีไม่ จริงอย่างนั้น

แม้พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงปกครองแผ่นดินทั้งสิ้น ทรงสละพระราชทรัพย์ตั้งร้อยโกฏิ ทรงเป็นผู้มีความสุข ในบั้นปลายถึงความเป็นใหญ่แห่งวัตถุเพียงผลมะขามป้อมครึ่งผลด้วยทั้งเรือนร่างนั่นแล แม้เมื่อท้าวเธอทรงสิ้นบุญแล้ว พระองค์ก็ทรงบ่ายพระพักตร์ต่อมรณะ ก็ต้องมาถึงซึ่งความโศกเศร้า

(หน้าที่ 5)

อีกอย่างหนึ่ง ความไม่มีโรคแม้ทั้งหมดมีความเจ็บไข้เป็นที่สุด ความเป็นหนุ่มทั้งหมดมีความแก่เป็นที่สุด ชีวิตทั้งหมดมีความตายเป็นที่สุด โลกสันนิวาสทั้งหมดนั่นแลถูกชาติติดตาม ถูกชราไล่ตาม ถูกพยาธิครองำ ถูกมรณะดักสังหาร เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า –

ภูเขาใหญ่อันล้วนแล้วด้วยหินสูงจรดฟ้ากลิ้งบดมาทั้ง 4 ทิศโดยรอบแม้ฉันใด ความแก่และความตายก็ฉันนั้น ย่อมครอบงำสัตว์ทั้งหลาย คือพวกกษัตริย์ พวกพรหมณ์ พวกแพศย์ พวกศูทร พวกคนจัณฑาล และพวกปุกกุสะ ไม่เว้นใคร ๆ ย่อมย่ำยีทั่วไปทั้งหมดเลย ณ ที่นั้น พื้นที่สำหรับพลช้างก็ไม่มี สำหรับพลม้าก็ไม่มี สำหรับพลรถก็ไม่มี สำหรับพลเดินเท้าก็ไม่มี และใครๆ ไม่อาจชนะได้ด้วยมนต์หรือด้วยทรัพย์ วิบัติคือความตายเป็นที่สุดแห่งสมบัติคือชีวิต

พระโยคาวจรเมื่อจะกำหนดถึงภาวะที่ชีวิตมีความตายเป็นที่สุดนั้น พึงระลึกถึงความตายโดยอาการวิบัติแห่งสมบัติ ด้วยประการฉะนี้

คำว่า โดยนำมาเปรียบเทียบ ความว่า โดยนำเข้ามาเปรียบเทียบกับตนพร้อมทั้งคนอื่นๆ ในข้อนั้นมีอธิบายดังนี้

พระโยคาวจรพึงระลึกถึงความตายโดยเปรียบเทียบกับ อาการ 7 อย่างคือ-

2. โดยความเป็นผู้มีบุญมาก

3. โดยความเป็นผู้มีกำลังมาก

4. โดยความเป็นผู้มีฤทธิ์มาก

5. โดยความเป็นผู้มีปัญญามาก

6. โดยความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

7. โดยความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

(หน้าที่ 6)

1. อธิบายโดยความเป็นผู้มียศใหญ่

ถามว่า พึงเปรียบเทียบอย่างไร ? แก้ว่า พึงเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าความตายนี้ตกต้องอย่างไม่ขวยเขินเบื้องบนแม้แห่งท่านผู้มียศใหญ่คือมีบริวารมาก มีทรัพย์และพาหนะพรั่งพร้อม แม้กระทั่งท้าวมหาสมมต, พระเจ้ามันธาตุ, พระเจ้ามหาสุทัสสนะและ พระเจ้าทัฬหเนมิ ก็เหตุไฉนเล่า ความตายจึงจักไม่ตกต้อง ณ เบื้องบนแห่งเรา

ท่านผู้มียศใหญ่ทั้งหลาย เป็นท้าวพญาผู้ประเสริฐ เช่นท้าวมหาสมมตเป็นต้น แม้ท่านเหล่านั้นยังถึงซึ่งอำนาจแห่งความตาย จะป่วยกล่าวไปไยในคนทั้งหลายเช่นเราเล่า.

พึงระลึกถึงความตายโดยความเป็นผู้มียศใหญ่ดังว่ามานี้เป็นอันดับแรก

2. อธิบายความเป็นผู้มีบุญมาก

พึงระลึกถึงความตายโดยความเป็นผู้มีบุญมากอย่างไร? พึงระลึกถึงความตายโดย ความเป็นผู้มีบุญมากอย่างนี้ว่า

เศรษฐีเหล่านี้คือ โชติยเศรษฐี ชฏิลเศรษฐี อุคคเศรษฐี เมณฑกเศรษฐี ปุณณกเศรษฐี และเศรษฐีอื่นๆ ที่ลือกระฉ่อนว่า เป็นผู้มีบุญมากในโลก ท่านเหล่านั้นทั้งหมดยังถึงซึ่งความตาย จะป่วยกล่าวไปไยถึงคนทั้งหลายเช่นเราเล่า

3. อธิบายโดยความเป็นผู้มีกำลังมาก

พึงระลึกถึงความตายโดยความเป็นผู้มีกำลังมากอย่างไร ? พึงระลึกถึงความตาย โดยความเป็นผู้มีกำลังมากอย่างนี้ว่า

พระวาสุเทพ พระพลเทพ พระภีมเสน พระยุธิฏฐิละ แม้นักมวยปล้ำใหญ่ชื่อว่าหนุระ ก็ไปแล้วสู่อำนาจแห่งความตาย แต่ท่านเหล่านั้นผู้ลือกระฉ่อนโลกว่าเป็นผู้มีกำลังมากถึงอย่างนี้ ทุกท่านก็ถึงซึ่งความตาย จะป่วยกล่าวไปไยในคนทั้งหลายเช่นเราเล่า.

(หน้าที่ 7)

4. อธิบายโดยความเป็นผู้มีฤทธิ์มาก

พึงระลึกถึงความตายโดยความเป็นผู้มีกำลังมากอย่างไร? พึงระลึกถึงความตายโดยความเป็นผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ว่า

พระอัครสาวกที่สองเป็นผู้ประเสริฐกว่าบรรดาท่านผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย ได้ยังเวชยันต์ปราสาทให้หวั่นไหว ด้วยอวัยวะเพียงนิ้วหัวแม่เท้า แม้ท่านก็ยังเข้าปากของความตายอันน่าสะพรึงกลัวไปพร้อมด้วยฤทธิ์ทั้งหลาย เสมือนมฤคเข้าสู่ปากแห่งราชสีห์ จะป่วยกล่าวไปไยในคนทั้งหลายเช่นเราเล่า.

5. อธิบายโดยความเป็นผู้มีปัญญามาก

พึงระลึกถึงความตายโดยความเป็นผู้มีปัญญามากอย่างไร? พึงระลึกถึงความตายโดยความเป็นผู้มีปัญญามากอย่างนี้ว่า

ยกเว้นพระโลกนาถเจ้าเสีย สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีอยู่ สัตว์นั้นว่าโดยปัญญาย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 แห่งพระสารีบุตร พระอัครสาวกที่หนึ่งได้มีปัญญามากถึงอย่างนี้ ยังถึงซึ่งอำนาจแห่งความตายจะป่วยกล่าวไปไยในคนทั้งหลายเช่นเราเล่า.

6. อธิบายโดยความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

พึงระลึกถึงความตายโดยความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าอย่างไร? พึงระลึกถึง ความตายโดยความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า แม้พุทธบุคคลเหล่านั้นทำการย่ำยีศัตรู คือกิเลสทั้งปวงด้วยพลังคือปัญญาและวิริยะของตนๆ ได้บรรลุปัจเจกสัมโพธิญาณ เป็นผู้ตรัสรู้เอง มีอาการดังนอแรด แม้ท่านเหล่านั้นยังไม่พ้นจากความตาย ก็ไฉนเราจักพ้นเล่า

ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่อาศัยนิมิตนั้น ๆ พิจารณาอยู่ เป็นพระสยัมภูด้วยเดชแห่งญาณ บรรลุพระนิพพานเป็นที่สิ้นอาสวะมีอุปมาเสมือนนอแรด เพราะท่านอยู่ในความประพฤติโดดเดี่ยว แม้

(หน้าที่ 8)

ท่านเหล่านั้นก็หาล่วงพ้นความตายไปได้ไม่ จะป่วยกล่าวไปไยในคนทั้งหลายเช่นเราเล่า

พึงระลึกถึงความตายโดยความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยอาการอย่างนี้.

7. อธิบายโดยความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พึงระลึกถึงความตายโดยความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไร ? พึงระลึกถึงความตายโดยความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้นั้นใด มีพระรูปกายอันวิจิตรไปด้วยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ ซึ่งประดับด้วยอนุพยัญชนะ 80 ประการ มีพระธรรมกายอันสำเร็จด้วยพระคุณรัตนะมีศีลขันธ์เป็นต้นอันบริสุทธิ์ด้วยอาการทั้งปวง ทรงถึงฝั่งแห่งความเป็นผู้มียศใหญ่ความเป็นผู้มีบุญมาก ความเป็นผู้มีกำลังมาก ความเป็นผู้มีฤทธิ์มาก และความเป็นผู้มีปัญญามากหาผู้เสมอมิได้ ไม่มีผู้เทียบเท่า ไม่มีผู้เปรียบปาน ไม่มีบุคคลจะเทียมทัน เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นก็ยังทรงระงับดับขันธ์โดยพลัน เพราะการตกลงแห่งหยาดฝนคือมรณะ เปรียบดังกองแห่งเพลิงใหญ่ดับไปเพราะฝนตกรดฉะนั้น

อันความตายนั่นใดมาสู่อำนาจของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้มีอานุภาพมากอย่างนี้ โดยไม่ต้องกลัว โดยไม่ต้องละอาย ไฉนเล่า ? เจ้าความตายนี้นั้นอันไร้ความอายปราศจากความกลัว มุ่งแต่จะย่ำยีสัตว์ทุกถ้วนหน้า จักไม่มาครอบงำสัตว์เช่นเราเล่า

เมื่อพระโยคาวจรนั้น น้อมตนเข้าไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ซึ่งเพียบพร้อมด้วยความเป็นใหญ่ มีความเป็นผู้มียศใหญ่เป็นต้น โดยภาวะคือความเป็นผู้มีความตายเสมอกันอย่างนี้แล้ว ระลึกไปว่า ความตายจักมีแม้แก่เรา ดุจมีแก่สัตว์วิเศษเหล่านั้น ดังนี้ กรรมฐานย่อมถึงอุปจารแล พระโยคาวจรระลึกถึงความตายโดยนำมาเปรียบเทียบ ด้วยประการฉะนี้

(หน้าที่ 9)

คำว่า โดยเป็นกายสาธารณะแก่หมูหนอนจำนวนมาก มีอธิบายว่า กายนี้สาธารณะทั่วไปแก่สัตว์ทุกจำพวก คืออันดับแรกก็เป็นกายทั่วไปแก่หมูหนอน 80 ครอก ในหมู่หนอนเหล่านั้น พวกสัตว์ที่อาศัยผิวหนังก็กัดกินผิวหนัง จำพวกที่อาศัยหนังกัดกินหนัง จำพวกที่อาศัยเนื้อก็กัดกินเนื้อ จำพวกที่อาศัยเอ็นก็กัดกินเอ็น จำพวกที่อาศัยกระดูกก็กัดกินกระดูก จำพวกที่อาศัยเยื่อในกระดูกก็กัดกินเยื่อในกระดูก มันเกิด, แก่, ตาย, ถ่ายอุจจาระ, ปัสสาวะอยู่ในกายนั้นเอง และร่างกายก็นับว่าเป็นเรือนคลอด เป็นโรงพยาบาล เป็นสุสาน เป็นส้วม เป็นรางปัสสาวะ ของพวกมัน อันว่าร่างกายนี้นั้น เพราะความกำเริบแห่งหมู่หนอนแม้เหล่านั้น ก็ถึงซึ่งความตายได้ประการหนึ่งเป็นแท้

อนึ่ง กายนี้ย่อมทั่วไปแก่ปัจจัยแห่งความตาย เฉพาะที่เป็นภายในได้แก่โรคหลายชนิด และที่เป็นภายนอกได้แก่งูและแมลงป่องเป็นต้น เหมือนอย่างที่สาธารณะทั่วไป แก่หมู่หนอน 80 ครอกฉะนั้น

อนึ่ง เปรียบดังอาวุธต่างๆ เช่นลูกศร หอกแทง หอกชัด และก้อนหินเป็นต้น อันมาแต่ทิศทั้งปวงตกประดังลงที่เป้าที่เขาตั้งไว้ในหนทางใหญ่ 4 แพร่ง ฉันใด อันตรายทุกอย่างย่อมตกประดังลง แม้ในกาย ก็ฉันนั้น กายนี้นั้นย่อมถึงความตายเป็นเที่ยงแท้เพราะ อันตรายเหล่านั้นตกประดังลง

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันผ่านไปแล้วกลางคืนย่างเข้ามา ย่อมพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า เหตุแห่งความตายของเรามีมากแล คืองูจะพึงกัดเรา แมลงป่องจะพึงต่อยเรา หรือตะขาบจะพึงกัดเรา เราจะพึงตายเพราะเหตุนั้น นั้นจะพึงเป็นอันตรายแก่เรา มิฉะนั้นเราจะพึงพลาดล้มลง หรือภัตที่เราบริโภคแล้วพึงเสียไป น้ำดีของเราพึงกำเริบก็ได้ เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ มิใช่แต่เท่านั้น ลมมีพิษดังศัตราจะพึงกำเริบแก่เราก็ได้ เราจะต้องตายเพราะเหตุนั้น นั้นจะพึงเป็นอันตรายแก่เรา" พระโยคาวจรพึงระลึกถึงความตายโดยเป็นกายสาธารณะแก่หมู่หนอนจำนวนมาก ด้วยประการฉะนี้.

(หน้าที่ 10)

คำว่า อายุทุพลภาพ อธิบายว่า ธรรมดาว่าอายุนั้นไม่แข็งแรง อ่อนแอ จริงอย่างนั้น ชีวิตของเหล่าสัตว์เนื่องด้วยลมหายใจออกและลมหายใจเข้า เนื่องด้วยอิริยาบถ เนื่องด้วยความเย็นและความร้อน เนื่องด้วยมหาภูต และเนื่องด้วยอาหาร ชีวิตนี้นั้นเมื่อได้ภาวะความเป็นไปสม่ำเสมอลมหายใจออกและลมหายใจเข้านั่นแหละ จึงเป็นไปได้ แต่เมื่อลมทางจมูกที่ออกไปทางข้างนอกไม่กลับเข้าไปข้างในก็ดี ที่เข้าไปแล้วไม่ออกมาก็ดี บุคคลย่อมได้ชื่อว่าตาย ชีวิตเมื่อได้ภาวะความเป็นไปสม่ำเสมอแม้แห่งอิริยาบถทั้ง 4 นั่นแหละจึงเป็นไปได้ แต่เพราะความที่อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งเกินประมาณ อายุสังขารย่อมขาด ชีวิตที่ได้ภาวะความเป็นไปสม่ำเสมอแม้แห่งความเย็นและความร้อนนั่นแหละ จึงเป็นไปได้ แต่เมื่อบุคคลถูกความเย็นจัดก็ดี ถูกความร้อนจัดก็ดีครอบงำ ย่อมวิบัติ ชีวิตเมื่อได้ภาวะความเป็นไปสม่ำเสมอแม้แห่งมหาภูตรูปนั่นแหละจึงเป็นไปได้ แต่เพราะปฐวีธาตุหรืออาโปธาตุ เป็นต้นธาตุใดธาตุหนึ่งกำเริบ บุคคลแม้สมบูรณ์ด้วยกำลังก็ยังเป็นคนมีกายแข็งกระด้างได้หรือมีกายเน่าเปรอะเปื้อนด้วยอำนาจโรคลงแดง เป็นต้น หรือมีความร้อนมากเป็นเบื้องหน้าได้ หรือมีไขข้อและเส้นเอ็นขาดไปได้ ย่อมถึงความสิ้นชีวิต บุคคลเมื่อได้อาหารคือคำข้าวในเวลาที่ควรนั่นแหละ ชีวิตจึงเป็นไปได้ แต่เมื่อไม่ได้อาหารย่อมถึงความสิ้นสูญ พระโยคาวจรพึงตามระลึกถึงความตายโดยอายุเป็นของทุพลภาพ ด้วยประการฉะนี้

คำว่า กำหนดแน่นอนไม่ได้ อธิบายว่า กำหนดขอบเขตไม่ได้, แบ่งให้ชัดเจนไม่ได้. จริงอยู่ –

สภาวธรรม 5 ประการนี้ คือ ชีวิต 1 พยาธิ 1 กาลเวลา 1 สถานที่ทอดทิ้งกาย 1 คติ 1 ของเหล่าสัตว์ในชีวโลก ไม่มีเครื่องหมาย ใคร ๆ รู้ไม่ได้.

(หน้าที่ 11)

ในสภาวธรรม 5 ประการนั้น ธรรมดาว่าชีวิต ชื่อว่าไม่มีเครื่องหมาย เพราะไม่มีกำหนดว่า จะพึงเป็นอยู่เท่านี้ปี ไม่เกินจากนี้ไปได้ จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมตายเสียแต่ในเวลาแรกเกิด เป็นกลละน้ำขุ่นก็มี ในเวลาเป็นอัมพุทะน้ำที่ใส เป็นชิ้นเนื้อเป็นแท่งอยู่ในครรภ์ได้ 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน 4 เดือน 5เดือน 10 เดือนก็มี ในสมัยที่คลอดจากท้องก็มี เลยนั้นไปย่อมตายภายในร้อยปีบ้าง เกินร้อยปีไปบ้าง อย่างแน่แท้ แม้พยาธิก็ชื่อว่า ไม่มีเครื่องหมาย เพราะความไม่มีกำหนดว่า สัตว์ทั้งหลายจะต้องตายด้วยความเจ็บป่วยชนิดนี้เท่านั้น จะไม่ตายด้วยความเจ็บป่วยชนิดอื่น ด้วยว่า สัตว์ทั้งหลายตายด้วยโรคตาก็มี ตายด้วยโรคหูเป็นต้นชนิดใดชนิดหนึ่งก็มี แม้กาลเวลาก็ชื่อว่าไม่มีเครื่องหมาย เพราะไม่มีกำหนดอย่างนี้ว่า จะต้องตายในเวลานี้เท่านั้น ไม่ตายในเวลาอื่น ด้วยว่าสัตว์ทั้งหลายตายในเวลาเช้าก็มี ตายในเวลาเที่ยงเป็นต้นเวลาใดเวลาหนึ่งก็มี แม้สถานที่ทอดทิ้งกายก็ชื่อว่าไม่มีเครื่องหมาย เพราะไม่มีกำหนดอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายเมื่อจะตายจะต้องทอดทิ้งร่างกายไว้ในที่นี้เท่านั้น ไม่ทอดทิ้งไปในที่อื่น ด้วยว่าอัตภาพของบุคคลซึ่งเกิดภายในบ้านตกอยู่นอกบ้านก็มี ของผู้ที่เกิดนอกบ้านตกอยู่ภายในบ้านก็มี โดยประการนั้น บัณฑิตพึงให้พิสดารโดยประการเป็นอันมาก อัตภาพของเหล่าสัตว์ที่เกิดบนบกตกไปในน้ำ หรืออัตภาพของสัตว์ที่เกิดในน้ำตกไปบนบกดังนี้เป็นต้น แม้คติก็ชื่อว่าไม่มีเครื่องหมาย เพราะไม่มีกำหนดอย่างนี้ว่า อันสัตว์ที่จุติจากคตินี้แล้ว จะต้องไปบังเกิดในคตินี้ ด้วยว่า สัตว์ทั้งหลายจุติจากเทวโลก แล้วไปบังเกิดเป็นพวกมนุษย์ก็มี จุติจากมนุษย์โลกแล้วไปบังเกิดในเทวโลกเป็นต้นโลกใดโลกหนึ่งก็มี ชาวโลกย่อมหมุนเวียนไปในคติทั้ง 5 เหมือนโคที่เราเทียมไว้ในยนต์ ฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้แล พึงระลึกถึงความตายโดยไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ดังที่ว่ามานี้แล.

คำว่า มีกำหนดเวลาแน่นอน อธิบายว่า ระยะกาลแห่งชีวิตมนุษย์ทั้งหลายในบัดนี้น้อยนัก ผู้ใดเป็นอยู่ได้นาน ผู้นั้นก็เป็นอยู่ได้เพียง 100 ปี หรือเลย (100ปี) ไปบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายุของมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อยนัก พวกเขาจำต้องไปยังสัมปรายภพ พวกเขาควรทำกุศล ควร

(หน้าที่ 12)

ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายย่อมไม่มี ผู้ใดเป็นอยู่ได้นาน ผู้นั้นก็เป็นอยู่ได้เพียง 100ปี หรือเกิน (100ปี) ก็มีบ้างแต่เป็นส่วนน้อย

อายุของมนุษย์นี้น้อยนัก สัตบุรุษพึงดูหมิ่นอายุนั้นเสีย พึงรีบประพฤติความดี ดังคนมีศรีษะถูกไฟไหม้

เพราะความตายจะไม่มาถึงย่อมไม่มี ทรงตรัสไว้อีกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีศาสดาชื่อว่าอรกะดังนี้เป็นต้น บัณฑิตพึงยังพระสูตรทั้งหมดอันประกอบด้วยอุปมา 7 ข้อให้พิสดาร ตรัสไว้อีกสูตรหนึ่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญมรณะสติอย่างนี้ว่า น่าปลื้มใจหนอที่เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วคืน 1 และวัน 1 เราพึงกระทำไว้ในใจซึ่งคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงทำกิจของบรรพชิตอันเป็นประโยชน์ตนมากหนอ ดังนี้ก็ดี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ที่เจริญมรณะสติอย่างนี้ว่า น่าปลื้มใจหนอที่เราพึงเป็นอยู่ชั่วระยะเวลากลางวัน เราพึงทำไว้ในใจถึงคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงทำกิจแห่งบรรพชิตอันเป็นประโยชน์ของตนมากหนอ ดังนี้ก็ดี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เจริญมรณะสติอย่างนี้ว่า น่าปลื้มใจหนอที่เราพึงเป็นอยู่ชั่วระยะเวลาที่เราบิณฑบาตครั้งหนึ่ง เราพึงทำไว้ในใจซึ่งคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงทำกิจของบรรพชิตอันเป็นประโยชน์ตนมากหนอ ดังนี้ก็ดี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ที่เจริญมรณะสติอย่างนี้ว่า น่าปลื้มใจหนอที่เราเป็นอยู่ชั่วระยะเวลาที่เราเคี้ยวคำข้าว 4 – 5 คำแล้วกลืนกิน เราพึงทำไว้ในใจซึ่งคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกิจทำกิจของบรรพชิตอันเป็นประโยชน์ตนมากหนอ ดังนี้ก็ดี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้เรายังเรียกว่าเป็นผู้ยังประมาทอยู่ เจริญมรณะสติยังชักช้าเพื่อธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ ดังนี้ก็ดี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนภิกษุผู้ที่เจริญมรณะสติอย่างนี้ว่า น่าปลื้มใจหนอ ที่เราพึงเป็นอยู่ชั่วระยะเคี้ยวอาหารกลืนลงไปได้คำเดียว เราพึงทำไว้ในใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด เราพึงทำกิจของบรรพชิตอันเป็นประโยชน์ตนมากหนอ ดังนี้ก็ดี

(หน้าที่ 13)

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เจริญมรณะสติอย่างนี้ว่า น่าปลื้มใจหนอ ที่เราพึงเป็นอยู่ ชั่วระยะเวลาหายใจเข้าแล้วหายใจออก หรือหายใจออกแล้วหายใจเข้า เราพึงทำไว้ในใจซึ่งคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงทำกิจของบรรพชิตอันเป็นประโยชน์ของตนมากหนอ ดังนี้ก็ดี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้เราเรียกว่าเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ พวกเธอย่อมเจริญมรณสติเข้มแข็งเพื่อธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ ดังนี้

ระยะกาลแห่งชีวิตน้อยนัก ไม่น่าไว้วางใจเพียงชั่วเคี้ยวคำข้าว 4-5 คำอย่างนี้แล

พระโยคาวจรพึงระลึกถึงความตายโดยมีกำหนดระยะกาล ด้วยประการฉะนี้.

ในคำว่า โดยมีขณะเล็กน้อย มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ จริงอยู่ เมื่อว่าโดยปรมัตถ์ ขณะแห่งชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อยนักชั่วความเป็นไปแห่งจิตขณะเดียวเท่านั้น เปรียบเหมือนล้อรถแม้เมื่อหมุนไปก็หมุนด้วยส่วนแห่งกงส่วนหนึ่งเท่านั้น แม้เมื่อหยุดก็หยุดด้วยส่วนแห่งกงส่วนหนึ่งเท่านั้น ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นไปชั่วขณะแห่งจิตขณะเดียว ฉันนั้นเหมือนกัน ในเมื่อจิตนั้นดับแล้ว สัตว์ก็ถูกเรียกว่าดับแล้ว ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ในขณะแห่งจิตเป็นอดีตสัตว์เป็นแล้วไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่จักเป็น ในขณะแห่งจิตเป็นอนาคต ไม่ใช่เป็นแล้ว ไม่ใช่กำลังเป็น แต่จักเป็น ในขณะแห่งจิตเป็นปัจจุบัน สัตว์ไม่ใช่เป็นแล้ว แต่กำลังเป็น ไม่ใช่จักเป็น

ชีวิต, อัตภาพ และสุขทุกข์ทั้งมวลล้วนประกอบกับจิตดวงเดียว ขณะย่อมเป็นไปโดยรวดเร็ว ขันธ์ของสัตว์ทั้งที่ตายทั้งที่ยังดำรงอยู่ในภพนี้ ครั้นดับแล้วก็เหมือนกันหมด ไปโดยไม่มีความสืบต่อ สัตว์ไม่เกิดเพราะจิตที่เป็นอนาคต เป็นอยู่เพราะจิตเป็นปัจจุบัน สัตว์โลกชื่อว่าตายเพราะความดับแห่งจิต แต่ว่าเมื่อว่าโดยปรมัตถ์เป็นบัญญัติ

พึงระลึกถึงมรณะโดยมีขณะเล็กน้อย ด้วยประการฉะนี้

(หน้าที่ 14)

แม้เมื่อพระโยคาวจรระลึกถึงความตายอยู่ในอาการ 8 อย่าง ดังกล่าวมานี้ แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง จิตย่อมได้อาเสวนะความส้องเสพด้วยอำนาจทำในใจบ่อย ๆ สติมีมรณะเป็นอารมณ์ย่อมตั้งมั่น นิวรณ์ทั้งหลายย่อมสงบ องค์ฌานย่อมปรากฏ แต่เพราะฌานมีสภาวธรรมเป็นอารมณ์ และอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความสลด ฌานจึงไม่ถึงขั้นอัปปนา ถึงเพียงขั้นอุปจาระเท่านั้น แต่โลกุตตรฌานและอรูปฌานที่ 2 ที่ 4 ย่อมถึงอัปนาด้วยภาวนาพิเศษแม้ในเพราะสภาวธรรม ด้วยว่า โลกุตตรฌานย่อมถึงอัปปนาด้วยอำนาจแห่งลำดับของการทำความบริสุทธิ์ให้เกิด อรูปฌานย่อมถึงอัปปนาด้วยอำนาจแห่งภาวนาอันเป็นเครื่องก้าวล่วงอารมณ์ เพราะว่าในอรูปฌานนั้นย่อมมีกิจพอที่จะก้าวล่วงด้วยดีซึ่งอารมณ์แห่งฌานที่ถึงอัปปนาแล้วนั้นแล แต่ในมรณานุสสติกัมมัฏฐานนี้ไม่มีทั้ง 2 คือทั้งโลกุตตรฌานและอรูปฌาน ฉะนั้นจึงเป็นเพียงอุปจารฌานเท่านั้น ฌานนี้นั้นถึงซึ่งอันนับว่ามรณสติ เพราะเกิดขึ้นด้วยกำลังแห่งมรณสติ ก็แหละภิกษุผู้ประกอบมรณสตินี้อยู่เนือง ๆ ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาท ย่อมได้สัญญาในอันไม่ยินดีในภพทั้งปวง ย่อมละความใคร่ในชีวิต เป็นผู้ติเตียนบาป เป็นผู้ไม่มากไปด้วยความสั่งสมในบริขารทั้งหลาย เป็นผู้ปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน แม้อนิจจสัญญาก็ถึงความคุ้นแก่ภิกษุนั้น ทุกขสัญญาและอนัตตสัญญาก็ปรากฏตามกระแสแห่งอนิจจสัญญานั้นนั่นแล เหล่าสัตว์ผู้ไม่เจริญมรณสติ เมื่อถึงคราวจะมรณะย่อมถึงความกลัว, ความสะดุ้ง, ความหลงโดยสาหัส ดังถูกเนื้อร้าย, ยักษ์, งู, โจร และเพชฌฆาตครอบงำ ฉะนั้น พระโยคาวจรผู้เจริญมรณสติย่อมไม่เป็นเช่นนั้น เป็นผู้หาความกลัวมิได้ เป็นผู้ไม่มีความหลงทำกาละ ผู้เจริญมรณสติถ้าหากจะยังไม่ได้ดื่มรสอมตธรรมในปัจจุบันชาตินี้ เบื้องหน้าแต่กายแตกทำลายไปก็จะเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปเบื้องหน้า

เพราะเหตุนั้นนั่นแล พระโยคาวจรผู้มีปัญญาดีพึงบำเพ็ญความไม่ประมาทในมรณสติภาวนา ซึ่งมีอนุภาพอันยิ่งใหญ่ดังพรรณนามานี้ ในกาลทุกเมื่อเทอญ

กถามุขอย่างพิสดารในมรณสติ ยุติเพียงเท่านี้

(หน้าที่ 15)

กายคตาสติกัมมัฏฐาน

กายคตาสติใดไม่เคยเป็นไปในการอื่นจากพุทธุปปาทกาล เพราะไม่ใช่วิสัยของเดียรถีย์ทุกจำพวก พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสรรเสริญกายคตาสติไว้ในพระสูตรนั้นๆ ด้วยเหตุผลมิใช่น้อย เช่นใน องฺ.เอกก.กายคตาสติวรรค ว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันหนึ่ง อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสังเวชใหญ่ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่ ย่อมเป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะใหญ่ ย่อมเป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะใหญ่ ย่อมเป็นไปเพื่อได้เฉพาะซึ่งญาณทัสนะ ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในภพปัจจุบัน ย่อมเป็นไปเพื่อทำวิชชาวิมุติและผลให้แจ้ง. ธรรมอันหนึ่งนั้นคืออะไร ? คือกายคตาสติ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดบริโภคกายคตาสติ ชนเหล่านั้นย่อมได้บริโภคอมตะ ชนเหล่าใดไม่ได้บริโภคกายคตาสติ ชนเหล่านั้นย่อมไม่ได้บริโภคอมตะ, กายคตาสติอันชนเหล่าใดบริโภคแล้ว อมตธรรมเป็นอันชนเหล่านั้นได้บริโภคแล้ว กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่บริโภคแล้ว อมตธรรมเป็นอันชนเหล่านั้นไม่ได้บริโภคแล้ว, กายคตาสติของชนเหล่าใดเสื่อมแล้ว อมตธรรมเป็นอันเสื่อมจากชนเหล่านั้นแล้ว กายคตาสติของชนเหล่านั้นไม่เสื่อมแล้ว อมตธรรมเป็นอันไม่เสื่อมแล้วจากชนเหล่านั้น, กายคตาสติอันชนเหล่าใดเบื่อแล้ว อมตธรรมเป็นอันชนเหล่านั้นเบื่อแล้ว กายคตาสติอันชนเหล่าใดชอบใจแล้ว อมตธรรมเป็นอันชนเหล่านั้นชอบใจแล้ว" ดังนี้

เมื่อตรัสสรรเสริญไว้อย่างนี้แล้ว ก็ทรงแสดงกายคตาสติกัมมัฏฐานไว้ใน ม.อุ. กายคตาสติสูตร 14 บรรพะ คือ 1.อานาปานบรรพะ 2.อิริยาปถบรรพะ 3.จตุสัมปชัญญบรรพะ 4.ปฏิกูลมนสิการบรรพะ 5.ธาตุมนสิการบรรพะ และข้อ 6-14. สิวัฏฐิกบรรพะ 9 โดยนัยมีคำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายก็กายคตาสติ ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมากมีอานิสงส์มาก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อยู่ป่าก็ดี ดังนี้เป็นต้น

บัดนี้ ลำดับการอธิบายกายคตาสติกัมมัฏฐานนั้นมาถึงแล้ว ดังต่อไปนี้.

(หน้าที่ 16)

ใน กายคตาสติกัมมัฏฐาน 14 บรรพะนั้น, เพราะเหตุที่ 3 บรรพะนี้ ทรงตรัสไว้ด้วยอำนาจวิปัสสนา คือ 1.อิริยาปถบรรพะ 2.จตุสัมปชัญญบรรพะ 3.ธาตุมนสิการบรรพะ. สิวัฏฐิกบรรพะ 9 ก็ตรัสไว้โดยเป็นอาทีนวานุปัสสนา ในวิปัสสนาญาณทั้งหลายเช่นกัน. และแม้สมาธิภาวนาที่พึงสำเร็จในอสุภมีอุทธุมาตกอสุภเป็นต้นในสิวัฏฐิกบรรพะเหล่านี้ ข้าพเจ้าก็อธิบายไปแล้วในอสุภกัมมัฏฐานนิทเทสนั่นแล. ฉะนั้น ในกายคตาสติกัมมัฏฐาน 14 บรรพะนี้ บรรพะที่ทรงตรัสไว้ด้วยอำนาจสมาธิ (ที่ข้าพเจ้ายังไม่ได้อธิบายในสมาธินิทเทสนี้เลย) จึงเหลือเพียง 2 บรรพะนี้เท่านั้น คือ อานาปานบรรพะและปฏิกูลมนสิการบรรพะ. ใน 2 บรรพะนี้ ข้าพเจ้าจะแยกอธิบายอานาปานบรรพะออกไปเป็นอีกกัมมัฏฐานต่างหาก ด้วยอำนาจอานาปานสติ. ส่วนกัมมัฏฐานมีอาการ 32 ที่พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์มันสมองเข้ากับเยื่อในกระดูกแล้ว ตรัสกัมมัฏฐานไว้ใน ม.อุ.กายคตาสติสูตร ด้วยอำนาจมนสิการโดยความเป็นของปฏิกูล อย่างนี้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย และกายคตาสติอีกข้อหนึ่ง หลังจากทำกายคตาสติข้อก่อนนั้นแล้ว กาย(ที่ประกอบมาจากธาตุ 4)นี้ใด ที่ข้างบนนับแต่พื้นเท้าขึ้นไป ข้างล่างนับแต่ปลายผมลงมา ข้างๆล้อมด้วยผิวหนัง, ภิกษุเห็นกายนั้นแหละบรรจุเต็มไปด้วยส่วนต่างๆ ที่ไม่สะอาด อย่างนี้ว่า "ผม(ที่ไม่สะอาด)มีอยู่ในกายนี้ ขน… เล็บ… ฟัน… หนัง… เนื้อ… เอ็น… กระดูก… เยื่อในกระดูก… ไต… หัวใจ… ตับ… พังผืด… ม้าม… ปอด… ไส้ใหญ่… ไส้น้อย… อาหารใหม่… อาหารเก่า… ดี… เสลด… หนอง… เลือด… เหงื่อ… มันข้น… น้ำตา… เปลวมัน… น้ำลาย… น้ำมูก… ไขข้อ… มูตร…" ดังนี้. เฉพาะกัมมัฏฐานนี้แหละ ที่ข้าพเจ้ามุ่งหมายในที่นี้ว่าเป็นกายคตาสติ.

  • พระพุทธโฆสาจารย์จะบอกว่า คำว่ากายคตาสติในพระสูตรทั่วไป คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน 14 บรรพะ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในกายคตาสติสูตร. แต่คำว่ากายคตาสติในที่นี้ มุ่งหมายเอาเฉพาะปฏิกูลมนสิการบรรพะ 1 บรรพะเท่านั้น ส่วนอีก 13 บรรพะนั้น บางบรรพะท่านได้อธิบายไปในลำดับก่อนๆ แล้ว และบางบรรพะก็ยังไม่ถึงลำดับที่จะอธิบาย.
  • ที่ว่า "1.อิริยาปถบรรพะ 2.จตุสัมปชัญญบรรพะ 3.ธาตุมนสิการบรรพะ ทรงตรัสไว้ด้วยอำนาจวิปัสสนา" นี้ ท่านหมายเอาตามโครงสร้างมหาสติปัฏฐานสูตร ไม่ใช่ตามโครงสร้างของกายคตาสติสูตร เพราะโครงสร้างหลักของกายคตาสติสูตรเป็นสมถะถึงขั้นฌาน 4 วิชชา 8 ส่วนโครงสร้างหลักของมหาสติปัฏฐานสูตร คือตั้งแต่พลวอุทยัพพยญาณขึ้นไป.
  • ท่านกล่าวว่า "อิริยาบถบรรพะและสัมปชัญญะบรรพะตรัสไว้เป็นวิปัสสนา" ท่านกล่าวตามมหาอรรถกถาของมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งตามนิทานของสูตรนี้ ตรัสกับผู้ที่ทำกรรมฐานมาก่อนแล้ว จึงสามารถทำวิปัสสนาทั้งในกรรมฐานที่ชำนาญแล้ว ทั้งในอิริยาบถ 4 และทั้งในฐานะ 7 ได้โดยไม่ยาก. แต่เมื่อว่าตามคำอธิบายบทว่า "วิหรติ" ในปฏิสัมภิทามรรค สติปัฏฐานกถา, และเมื่อว่าตามสีหวิกกีฬิตนัยของกายคตาสติสูตร ซึ่งตามนิทานขอสูตรนี้ตรัสกับผู้เพิ่งเริ่มทำกรรมฐานไว้นั้น อิริยาบถบรรพะและสัมปชัญญะบรรพะ ก็คือบทว่า"วิหรติ"นั่นเอง ซึ่งบทว่า"วิหรติ"นี้ต้องโยคตามไปในทุกกรรมฐานด้วย. กล่าวคือ ทำกรรมฐานแต่ละกองๆ ในทุกอิริยาบถ 4 และทุกฐานะ 7 ก่อน พอได้ฌานเป็นวสีตามที่ตรัสไว้ในกายคตาสติสูตรแล้ว ก็ทำวิปัสสนาในทุกๆ กรรมฐาน ในทุกอิริยาบถ 4 และทุกฐานะ 7 อีกทีหนึ่งตามมหาสติปัฏฐานสูตรต่อไป. รายละเอียดให้ท่องจำบาลีของพระสูตรนั้นๆ ให้ชำนาญ วิเคราะห์ตามหลักเนตติปกรณ์แล้ว จึงอ่านคำอธิบายในลิงก์ที่ข้าพเจ้าทำไว้นั้นเถิด.

พึงทราบการแสดงวิธีเจริญในกายคตาสตินั้น มีการพรรณนาตามบาลีเป็นหลักดังต่อไปนี้ –

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิมเมว กายํ ได้แก่ กายที่ประกอบมาจากมหาภูตรูป(ธาตุ) 4 ที่เหม็นเน่าอยู่นี้. บทว่า อุทฺธํ ปาทตลา ได้แก่ ข้างบนนับตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นมา. บทว่า อโธ เกสมตฺถกา ได้แก่ ข้างล่างนับตั้งแต่ปลายผมลงไป. บทว่า ตจปริยนฺตํ ได้แก่ ข้างๆ นับเข้าไปตั้งแต่ผิวหนังที่หุ้มไว้. บทว่า ปูรนฺนานปฺปการสฺส อสุจิโน ปจฺจเวกฺขติ ความว่า ผู้ปฏิบัติเห็นอยู่ว่า กายนี้เต็มไปด้วยส่วนต่างๆ ที่ไม่สะอาด เช่น ผม เป็นต้น. ถามว่า "กายนี้เต็มไปด้วยส่วนต่างๆ ที่ไม่สะอาดอย่างไร?" ตอบว่า "ส่วนต่างๆ ที่ไม่สะอาดมีอยู่ในกายนี้ ได้แก่ ผม(ที่ไม่สะอาด) ขน เล็บ ฯลฯ มูตร " ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น "ส่วนต่างๆ ที่ไม่สะอาดมีอยู่" มาจากบทบาลีว่า "อตฺถิ". บทว่า อิมสฺมึ (ในกายนี้) ได้แก่ ในกายที่ตรัสไว้ว่า "กายนี้ใด ที่ข้างบนนับแต่พื้นเท้าขึ้นไป ข้างล่างนับแต่ปลายผมลงมา ข้างๆล้อมด้วยผิวหนัง, ภิกษุเห็นกายนั้นแหละบรรจุเต็มไปด้วยส่วนต่างๆ ที่ไม่สะอาด". บทว่า กาเย คือในร่างกาย, อธิบายว่า สรีระ ตรัสเรียกว่า กาย (กุ[น่าเกลียด]+อาย[บ่อเกิด]) เพราะเป็นที่หมักหมมอาการ 32 ที่ไม่สะอาดมีผมเป็นต้นไว้ และเพราะเป็นบ่อเกิดแห่งโรคนับร้อยมีโรคตาเป็นต้น. บทว่า เกสา โลมา ได้แก่ อาการ 32 เหล่านั้นมีผมเป็นต้น. บทว่า บัณฑิตพึงทราบสัมพันธ์ในบทบาลีนั้นอย่างนี้ว่า "ผม(ที่ไม่สะอาด)มีอยู่ในกายนี้, ขน(ที่ไม่สะอาด)มีอยู่ในกายนี้" ดังนี้เป็นต้น . จริงอยู่ ใคร ๆ ค้นหาแม้ในอาการทั้งปวงในร่างกายยาวประมาณ 1 วานี้ คือ ข้างบนนับแต่พื้นเท้าขึ้นไป ข้างล่างนับแต่ปลายผมลงมา ข้างๆล้อมด้วยผิวหนัง ย่อมไม่พบของสะอาดอะไรๆ แม้เพียงอณูหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นไข่มุกก็ดี แก้วมณีก็ดี แก้วไพฑูรย์ก็ดี กฤษณาก็ดี การบูรก็ดี หรือของอื่น ๆ มีจุณเครื่องอบก็ดี, โดยที่แท้พบแต่ของไม่สะอาดนานาประการ มีผมและขนเป็นต้น ซึ่งมีกลิ่นเหม็นน่าเกลียดยิ่งนัก ไม่เป็นสิริมงคลที่ได้มองเห็นเลย เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย เกสา โลมา ฯลฯ มุตฺตํ ดังนี้. นี้เป็นการพรรณนาโดยบทสัมพันธ์ในบาลีนั้น.

(หน้าที่ 17)

ก็กุลบุตรผู้ริเริ่มบำเพ็ญเพียรใคร่จะเจริญกัมมัฏฐานนี้ พึงเข้าไปหากัลยาณมิตร(อาจารย์)ด้วยวิธีการที่ข้าพเจ้าบอกไว้แล้วในกัมมัฏฐานคหณนิทเทส แล้วท่องจำเอากัมมัฏฐานนี้เถิด ฝ่ายอาจารย์นั้น เมื่อจะบอกกัมมัฏฐานพึงบอกอุคคหโกสัลละโดยอาการ 7 และมนสิการโกสัลละโดยส่วน 10

ในโกสัลละ 2 อย่างนั้น อาจารย์พึงบอกอุคคหโกสัลละโดย 7 วิธีคือ โดยวาจา 1 โดยใจ 1 โดยสัณฐาน 1 โดยทิศ 1 โดยโอกาส 1 โดยปริจเฉท 1

โดยวาจา

ก็ในกัมมัฏฐานที่ต้องมนสิการโดยเป็นสิ่งปฏิกูลนี้ พระโยคาวจรถึงแม้จะทรงพระไตรปิฏก ในการมนสิการก็ควรทำการสาธยายด้วยวาจาก่อน เพราะพระโยคาวจรบางท่าน เพียงทำการสาธยายเท่านั้น กัมมัฏฐานก็ย่อมปรากฏ เหมือนพระเถระ 2 รูปผู้เรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระมหาเทวเถระผู้อยู่ในมลยวิหาร เล่ากันมาว่า พระเถระอันท่านทั้ง 2 นั้นขอกัมมัฏฐานแล้ว ได้ให้คำบาลีในอาการ 32 โดยสั่งว่า ท่านจงทำการสาธยายข้อนี้แหละตลอด 4 เดือน ก็ท่านทั้ง 2 นั้นแม้ถึงท่านจะชำนาญตั้ง 2 – 3 นิกายนี้ก็จริงแล แต่เพราะเหตุที่ท่านเป็นผู้มีปกติรับโอวาทโดยเบื้องขวา จึงหมั่นสาธยายในอาการ 32 ตลอด 4 เดือน ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว เพราะฉะนั้น อาจารย์เมื่อจะบอกกัมมัฏฐาน จึงควรบอกอันเตวาสิกว่า ชั้นต้นจงสาธยายด้วยวาจาเป็นอันดับแรก

(ผู้ปรับสำนวน: ที่ท่านผู้ทรงจำนิกายทั้งสองบรรลุด้วยการสาธยายนั้น เพราะธรรมดาผู้ทรงจำนิกายย่อมเข้าใจหลักเนตติปกรณ์ ซึ่งว่าโดยย่อก็คือวิธีท่องจำผูกใจในกรรมฐานที่ท่านกล่าวไว้ในกัมมัฏฐานคหณนิทเทสแล้วนั่นเองว่า "ก็แหละ เมื่ออาจารย์สอนกัมมัฏฐานให้อยู่ด้วยอาการอย่างนี้ โยคีบุคคลนั้นพึงตั้งใจฟัง เพื่อท่องจำเอานิมิตนั้นให้ได้ คือ เอาอาการ 9 อย่างนั้นแต่ละอย่างๆ มาผูกไว้ในใจอย่างนี้ว่า "คำนี้เป็นบทหลัง, คำนี้เป็นบทหน้า, ความหมายของบทนั้นๆ เป็นอย่างนี้, จุดมุ่งหมายของบทนั้นเป็นอย่างนี้, และบทนี้เป็นคำอุปมาอุปไมย" (จดจำได้ชำนาญนึกหัวถึงท้าย นึกท้ายถึงหัว เหมือนในบทธรรมคุณข้อว่า ความงาม 3 ของปริยัติธรรม ได้แสดงไว้), ฉะนั้น ท่านทั้งสองจึงบรรลุได้ในขณะสาธยาย.)"

(หน้าที่ 18)

วิธีสาธยาย

ก็เมื่อจะทำการสาธยาย พึงกำหนดปัญจกะทั้งหลายมีตจปัญจกะเป็นต้น แล้วทำการสาธยายด้วยการอนุโลมและปฏิโลม คือพึงสาธยายโดยอนุโลมว่า เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ (ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง) แล้วพึงสาธยายโดยปฏิโลมอีกว่า ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา (หนัง ฟัน เล็บ ขน ผม)

ลำดับนั้นพึงสาธยายในวักกะปัญจกะต่อไปว่า มํสํ นหารู อฏฺฐี อฏฐิมิญฺชํ วกฺกํ (เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต) แล้วสวดโดยปฏิโลมว่า วกฺกํ อฏฐิมิญฺชํ อฏฐี นหารู มํสํ, ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา (ไต เยื่อในกระดูก กระดูก เอ็น เนื้อ หนัง ฟัน เล็บ ขน ผม) ลำดับนั้นพึงสวดในปัปผาสะปัญจกะว่า หทยํ ยกนํ กิโลมกํ ปิหกํ ปปฺผาสํ (หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด) แล้วสวดโดยปฏิโลมอีกว่า ปปฺผาสํ ปิหกํ กิโลมกํ ยกนํ หทยํ, วกฺกํ อฏฐิมิญฺชํ อฏฐี นหารู มํสํ, ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา (ปอด ม้าม พังผืด ตับ หัวใจ ไต เยื่อในกระดูก กระดูก เอ็น เนื้อ, หนัง ฟัน เล็บ ขน ผม)

ลำดับนั้นพึงสวดในมัตถลุงคะปัญจกะว่า อนฺตํ อนฺตคุณํ อุทริยํ กรีสํ มตฺถลุงฺคํ (ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง) แล้วสวดโดยปฏิโลมว่า มตฺถลุงฺคํ กรีสํ อุทริยํ อนฺตคุณํ อนฺตํ, ปปฺผาสํ ปีหกํ กิโลมกํ ยกนํ หทยํ, วกฺกํ อฏฐิมิญฺชํ อฏฺฐี นหารู มํสํ, ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา (มันสมอง อาหารเก่า อาหารใหม่ ไส้น้อย ไส้ใหญ่, ปอด ม้าม พังผืด ตับ หัวใจ, ไต เยื่อในกระดูก กระดูก เอ็น เนื้อ, หนัง ฟัน เล็บ ขน ผม)

ลำดับนั้นพึงสวดในเมทะฉักกะว่า ปิตฺตํ เสมฺหํ ปุพฺโพ โลหิตํ เสโท เมโท (ดี เสมหะ น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น) แล้วสวดโดยปฏิโลมอีกว่า เมโท เสโท โลหิตํ ปุพฺโพ เสมฺหํ ปิตฺตํ, มตฺถลุงฺคํ กรีสํ อุทริยํ อนฺตคุณํ อนฺตํ, ปปฺผาสํ ปิหกํ กิโลมกํ ยกนํ หทยํ, วกฺกํ อฏฐิมิญฺชํ อฏฺฐี นหารู มํสํ, ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา (มันข้น เหงื่อ เลือด น้ำเหลือง เสมหะ ดี, มันสมอง อาหารเก่า อาหารใหม่ ไส้น้อย

(หน้าที่ 19)

ไส้ใหญ่ ปอด ม้าม พังผืด ตับ หัวใจ, ไต เยื่อในกระดุก เอ็น เนื้อ, หนัง ฟัน เล็บ ขน ผม)

ลำดับนั้นพึงสวดในมุตตะฉักกะว่า อสฺสุ วสา เขโฬ สิงฺฆาณิกา ลสิกา มุตฺตํ (น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร) แล้วสวดโดยปฏิโลมอีกว่า มุตฺตํ ลสิกา สิงฺฆาณิกา เขโฬ วสา อสฺสุ, เมโท เสโท โลหิตํ ปุพฺโพ เสมฺหํ ปิตฺตํ, มตฺถลุงฺคํ กรีสํ อุทริยํ อนฺตคุณํ อนฺตํ, ปปฺผาสํ ปิหกํ กิโลมกํ ยกนํ หทยํ, วกฺกํ อฏฐิมิญฺชํ อฏฐี นหารู มํสํ, ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา (มูตร ไขข้อ น้ำมูก น้ำลาย มันเหลว น้ำตา, มันข้น เหงื่อ เลือด น้ำเหลือง เสมหะ ดี, มันสมอง อาหารเก่า อาหารใหม่ ไส้น้อย ไส้ใหญ่, ปอด ม้าม พังผืด ตับ หัวใจ, ไต เยื่อในกระดูก กระดูก เอ็น เนื้อ, หนัง ฟัน เล็บ ขน ผม)

พึงทำการสาธยายด้วยวาจาอย่างนี้ตั้ง 100 ครั้ง 1,000 ครั้ง 10,000 ครั้ง เพราะว่าระเบียบแห่งกัมมัฏฐานย่อมจะคล่องตัว จิตจะไม่วิ่งพล่านไปทางโน้นทางนี้ ส่วนทั้งหลายย่อมปรากฏคือย่อมแจ่มชัดดุจแถวนิ้วมือและกระทู้รั้ว ฉะนั้น

โดยใจ, สี, สัณฐาน, โอกาส, ปริจเฉท

พึงทำการสาธยายโดยวาจาฉันใด แม้โดยใจก็พึงทำการสาธยายฉันนั้นเหมือนกัน เพราะการสาธยายโดยวาจาย่อมเป็นปัจจัยแห่งการสาธยายโดยใจ การสาธยายโดยใจย่อมเป็นปัจจัยแห่งการแทงตลอดลักษณะ คำว่า โดยสี ได้แก่พึงกำหนดดูสีแห่งผมเป็นต้น คำว่า โดยสัณฐาน ได้แก่พึงกำหนดดูสัณฐานของผมเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแล คำว่า โดยทิศ ความว่า ก็ในสรีระนี้เหนือนาภีขึ้นไปจัดเป็นทิศเบื้องบน ใต้นาภีลงมาจัดเป็นทิศเบื้องล่าง เพราะเหตุนั้นพึงกำหนดทิศว่าส่วนนี้อยู่ในทิศชื่อนี้

คำว่า โดยโอกาส ความว่า พึงกำหนดโอกาสของส่วนนั้น ๆ อย่างนี้ว่า ส่วนนี้ตั้งอยู่ในโอกาสตรงนี้

คำว่า โดยปริจเฉท ความว่า ปริจเฉทมี 2 อย่างคือ สภาคปริจเฉท กำหนดส่วนโดยที่เข้ากันได้ 1 วิสภาคปริจเฉท กำหนดส่วนโดยที่ต่างกัน 1 ใน 2 อย่างนั้นพึง

(หน้าที่ 20)

ทราบสภาคปริเฉทอย่างนี้ว่า ส่วนนี้กำหนดด้วยส่วนชื่อนี้ ทั้งเบื้องล่างเบื้องบนและเบื้องขวาง กำหนดด้วยส่วนที่ต่างกัน พึงทราบความโดยไม่ปะปนกันและกันอย่างนี้ว่า ผมคือสิ่งที่มิใช่ขน ขนเล่าก็คือสิ่งที่มิใช่ผม ดังนี้

วิธีบอกอุคคหโกสัลละ

ก็แหละ อาจารย์เมื่อจะบอกอุคคหโกสัลละโดย 7 วิธีดังกล่าวมานี้ พึงทราบว่า กัมมัฏฐานนี้ที่ตรัสไว้ในสูตรโน้นโดยเป็นสิ่งปฏิกูล ในสูตรโน้นโดยเป็นธาตุดังนี้แล้วจึงบอก จริงอยู่ กายคตาสติกัมมัฏฐานนี้ ในมหาสติปัฏฐานสูตรตรัสไว้โดยเป็นสิ่งปฏิกูล ในมหาหัตถิปโทปมสูตร มหาราหุโลวาทสูตร และธาตุวิภังคสูตรตรัสไว้โดยเป็นธาตุ ส่วนในกายคตาสติสูตรทรงจำแนกฌาน 4 หมายเอาพระโยคาวจรผู้มีผมปรากฏโดยสี ในกัมมัฏฐาน 2 อย่างนั้น ที่ตรัสไว้โดยเป็นธาตุจัดเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่ตรัสไว้โดยเป็นสิ่งปฏิกูลจัดเป็นสมถกัมมัฏฐาน กายคตาสติกัมมัฏฐานในที่นี้นั้น จัดเป็นสมถกัมมัฏฐานนั่นเอง อาจารย์พึงบอกอุคคหโกสัลละโดย 7 วิธี ด้วยประการฉะนี้

อาจารย์พึงบอก มนสิการโกสัลละ โดย 10 วิธีอย่างนี้ คือ โดยลำดับ 1 โดยไม่เร็วนัก 1 โดยไม่เฉื่อยช้านัก 1 โดยป้องกันความฟุ้งซ่าน 1 โดยล่วงบัญญัติ 1 โดยละลำดับ 1 โดยอัปปนา 1 และโดยสุตตันตะ 3

1. มนสิการโดยลำดับ

ในมนสิการโกสัลละ 10 อย่างนั้น ข้อว่า โดยลำดับ ความว่า กัมมัฏฐานเริ่มตั้งแต่สาธยายต้องมนสิการไปตามลำดับ ไม่พึ่งมนสิการโดยเว้นไว้ระหว่างเสียบทหนึ่ง เพราะเมื่อพระโยคาวจรมนสิการโดยเว้นไว้ระหว่างเสียบทหนึ่ง ย่อมจะเป็นผู้เหนื่อย จิตตกไปจากการได้รับความแช่มชื้นอันจะพึงบรรลุด้วยอำนาจภาวนาสมบัติ ย่อมไม่ยังภาวนาให้สำเร็จ เปรียบเสมือนคนไม่ฉลาดขึ้นบันได 32 ขั้น โดยไม่เว้นไว้เสียระหว่างขั้นหนึ่ง ก็จะเหนื่อยกาย ตกลง ไม่ยังการขึ้นให้สำเร็จได้ ฉะนั้น

(หน้าที่ 21)

2. มนสิการโดยไม่เร็วนัก

แม้เมื่อมนสิการโดยลำดับ ก็พึงมนสิการโดยไม่เร็วนัก เพราะเมื่อมนสิการเร็วนัก กัมมัฏฐานย่อมถึงที่สุดเป็นแท้ก็จริง ถึงอย่างนั้นกัมมัฏฐานนั้นก็ไม่ปรากฏชัด ย่อมไม่นำมาซึ่งคุณวิเศษ เปรียบเหมือบุรุษผู้เดินทางประมาณ 3 โยชน์ ไม่ค่อยกำหนดทางที่ควรเว้นและควรแวะ เดินกลับไปกลับมาอยู่ตั้ง 7 ครั้งโดยฝีเท้าอันเร็ว ระยะทางย่อมถึงความสิ้นสุดไปก็จริง ถึงกระนั้นก็ควรถามเขาก่อนแล้วจึงเดินทาง เพราะเหตุนั้น พึงมนสิการ โดยไม่เร็วนัก

3. มนสิการโดยไม่เฉื่อยช้านัก

อนึ่ง มนสิการโดยไม่เฉื่อยช้านัก ก็ฉันเดียวกับมนสิการโดยไม่เร็วนัก เพราะว่าเมื่อมนสิการโดยเฉื่อยช้านั้น กัมมัฏฐานจะไม่ถึงที่สุด ไม่เป็นปัจจัยแห่งการได้คุณวิเศษ เปรียบเหมือนเมื่อบุรุษผู้ประสงค์จะเดินทาง 3 โยชน์ในวันเดียวนั่นเอง มัวพักอยู่ ณ ที่ต่าง ๆ มีต้นไม้ภูเขาและบึงเป็นต้นในระหว่างทางเสีย ทางก็ไม่ถึงความสิ้นสุด โดย 2-3 วันจึงจะถึงที่สุด ฉะนั้น

4. มนสิการโดยป้องกันความฟุ้งซ่าน

คำว่า โดยป้องกันความฟุ้งซ่าน ความว่า พึงป้องกันภาวะที่จิตทอดทิ้งกัมมัฏฐานแล้วฟุ้งซ่านไปในอารมณ์หลากหลายในภายนอก เพราะเมื่อไม่ป้องกัน เมื่อจิตพล่านไปภายนอก กัมมัฏฐานย่อมเสื่อมคลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้เดินทางเลียบเหวซึ่งเป็นทางเดินได้เพียงคนเดียว ไม่กำหนดเท้าที่เหยียบลงไป มัวเหลียวไปข้างโน้นข้างนี้ การวางเท้าก็ย่อมจะผิดพลาดลงไปในเหวอันลึกชั่วร้อยบุรุษ เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรพึงมนสิการโดยป้องกันความฟุ้งซ่าน

5. มนสิการโดยล่วงบัญญัติ

คำว่า โดยล่วงบัญญัติ ความว่า พึงล่วงบัญญัติมีอาทิว่า เกสา โลมา ดังนี้แล้วตั้งจิตว่าเป็นของปฏิกูล เมื่อพระโยคาวจรมนสิการโดยบัญญัติว่า เกสา โลมา ดังนี้ในเบื้องต้น ความเป็นของปฏิกูลย่อมปรากฏ ภายหลังจึงเลิกบัญญัติว่า เกสา, โลมา เป็นต้น พึงตั้งจิตไว้ใน ภาวะที่เป็นของปฏิกูลเท่านั้น เปรียบเหมือนดังคราวหาน้ำยาก คนทั้งหลายพบบ่อน้ำในป่า

(หน้าที่ 22)

แล้วผูกสิ่งอะไรๆ มีใบตาลเป็นต้นเป็นเครื่องหมายไว้ในที่นั้นแล้ว มาตามเครื่องหมายนั้น แล้วก็อาบและดื่ม แต่เมื่อใดด้วยการสัญจรไปเนืองๆ แห่งคนเหล่านั้น รอยของคนที่มา ๆ ย่อมจะปรากฏ เมื่อนั้นกิจด้วยเครื่องหมายหามีไม่ คนทั้งหลายย่อมไปอาบและดื่มได้ทุกขณะที่ต้องการ ฉะนั้น

6. มนสิการโดยละลำดับ

คำว่า โดยละลำดับ ความว่า พระโยคาวจรเมื่อละส่วนที่ไม่ปรากฏชื่อว่าพึงมนสิการไปโดยลำดับ เพราะเมื่อพระโยคาวจรผู้เริ่มบำเพ็ญเพียรมนสิการว่าเกสา มนสิการก็จะดำเนินไปจรดส่วนสุดคือมูตรนี้ทีเดียว และเมื่อมนสิการว่ามูตร มนสิการก็จะดำเนินไปจรดส่วนเบื้องต้นคือเกสานี้เหมือนกัน ครั้นมนสิการไป ๆ บางส่วนปรากฏ บางส่วนไม่ปรากฏ เธอพึงบริกรรมในส่วนที่ปรากฏ จนกระทั่งเมื่อปรากฏทั้ง 2 ส่วน ส่วนหนึ่งในบรรดาทั้ง 2 ส่วนนั้นปรากฏชัดกว่า ก็เมื่อมนสิการแต่ส่วนเฉพาะที่ปรากฏชัดกว่านั้นอย่างนี้บ่อย ๆ เข้า พึงทำอัปปนาให้เกิดขึ้น ข้อนั้นมีอุปมาดังต่อไปนี้

เปรียบเหมือนนายพรานคนหนึ่งใคร่จะจับลิงซึ่งอยู่ในดงตาลอันมีต้นตาล 32 ต้น พึงใช้ลูกศรยิงใบตาลที่ยืนอยู่ในอันดับแรกแล้วพึงทำการตะเพิด ครั้นลิงนั้นกระโดดไปในต้นตาลนั้นๆ โดยลำดับถึงต้นสุดท้ายทีเดียว เมื่อนายพรานไปทำเหมือนอย่างนั้นแม้ในต้นตาลต้นสุดท้ายนั้น ลิงพึงมายังต้นตาลต้นแรกตามนัยนั้นนั่นแลอีก มันกลับไปกลับมาอย่างนี้บ่อย ๆ เข้า ก็จะพึงโผล่ในที่ ๆ นายพรานทำเสียงตะเพิดไล่เท่านั้น แล้วไป ๆ ก็จะหมอบอยู่ที่ต้นตาลต้นหนึ่ง ยึดยอดตาลตูมอันสะอาดตรงกลางต้นนั้นไว้มั่น แม้ถูกยิงก็ไม่โผล่ ฉันใด คำอุปมัยอันยังอุปมาให้ถึงพร้อมนี้ก็พึงเห็นฉันนั้น นี้เป็นคำเทียบอุปไมยอุปมาในข้อนั้น

ส่วน 32 ในกายนี้เปรียบเหมือนต้นตาล 32 ต้น จิตเหมือนลิง พระโยคาวจรเหมือนนายพราน การที่จิตของพระโยคีท่องเที่ยวไปในกายอันมีส่วน 32 ส่วนโดยเป็นอารมณ์เหมือนการที่ลิงอาศัยอยู่ในดงตาลอันมีต้นตาล 32 ต้น การที่พระโยคีเริ่มมนสิการว่า เกสา แล้วจิตดำเนินไปหยุดลงที่ส่วนสุดทีเดียว เหมือนการที่เมื่อนายพรานใช้ศรยิงใบตาลต้นที่ยืนอยู่ต้นแรกแล้วทำเสียงตะเพิด ลิงก็โผนไปที่ต้นนั้น ๆ จนถึงต้นสุดท้าย แม้ในเที่ยวกลับ

(หน้าที่ 23)

อีกก็นัยนี้เหมือนกัน การที่เมื่อพระโยคาวจรมนสิการบ่อย ๆ เข้า ครั้นส่วนบางเหล่าไม่ปรากฏบางเหล่าปรากฏ ก็ปล่อยส่วนทั้งหลายที่ไม่ปรากฏ ทำบริกรรมในส่วนทั้งหลายที่ปรากฏ เหมือนการที่ลิงโผนไปตามลำดับบ่อย ๆ เข้าก็โผล่ขึ้นแต่ในที่ ๆ นายพรานทำเสียงตะเพิด ในบรรดา 2 ส่วนที่ปรากฏนั้น ส่วนใดปรากฏชัดกว่า พระโยคาวจรพึงมนสิการส่วนนั้นนั่นแหละแล้ว ๆ เล่า ๆ ยังอัปปนาให้เกิดได้ เหมือนการที่ลิงไป ๆ ก็หมอบอยู่ที่ต้นตาลต้นหนึ่งยึดยอดตาลตูมอันสะอาดตรงกลางต้นนั้นไว้มั่น แม้ถูกยิงก็ไม่โผล่ ฉะนั้น

อีกอุปมาหนึ่ง เหมือนภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร อาศัยอยู่ในบ้านอันมีตระกูล 32 ตระกูลอยู่ ได้ภิกษา 2 ส่วนในเรือนหลังแรกทีเดียวแล้ว ก็สละเรือนหลังหนึ่งข้างหน้าเสีย วันรุ่งขึ้นได้ 3 ส่วนแล้ว ก็สละเรือน 2 หลังข้างหน้าเสีย ในวันที่ 3 ได้ภิกษาเต็มบาตรในเรือนหลังต้นทีเดียวแล้วก็ไปโรงฉัน ฉันเสียเลย ฉันใด คำอุปไมยอันยังอุปมาให้ถึงพร้อมนี้ก็ฉันนั้น อาการ 32 เปรียบเหมือนหมู่บ้าน 32 ตระกูล พระโยคาวจรเหมือนปิณฑปาติกภิกษุ การที่พระโยคีทำบริกรรมในอาการ 32 เหมือนการที่ปิณฑปาติกภิกษุนั้นอาศัยหมู่บ้านนั้นอยู่ การที่เมื่อพระโยคีมนสิการไป ๆ สละส่วนทั้งหลายที่ไม่ปรากฏเสีย ทำบริกรรมในส่วนทั้งหลายที่ปรากฏ ๆ จนถึง 2 ส่วน ก็เหมือนการที่พระปิณฑปาติกภิกษุได้ภิกษา 2 ส่วนในเรือนหลังแรกแล้วสละเรือนหลังหนึ่งข้างหน้าเสีย และเหมือนในวันที่ 2 ได้ 3 ส่วน สละเรือน 2 หลังข้างหน้าเสีย การที่พระโยคีมนสิการบ่อย ๆ เฉพาะส่วนที่ปรากฏชัดกว่าในบรรดา 2 ส่วน แล้วยังอัปปนาให้เกิดเหมือนในวันที่ 3 ได้เต็มบาตรในเรือนหลังต้นทีเดียวแล้วนั่งฉันเสียที่โรงฉัน ฉะนั้น.

7. มนสิการโดยอัปปนา

คำว่า โดยอัปปนา ความว่า โดยส่วนที่จะเกิดอัปปนา นี้เป็นอธิบายในอธิการนี้ คือ บัณฑิตพึงทราบว่าอัปปนาย่อมมีในส่วนหนึ่ง ๆ ในบรรดาส่วนทั้งหลายมีผมเป็นต้น

8. มนสิการโดยสุตตันตะ 3

นี้เป็นอธิบายในข้อว่า คำว่า สุตตันตะ 3 ความว่า สุตตันตะ 3 เหล่านี้คือ อธิจิตตสูตร สีตภาวสูตร โพชฌังคโกสัลสูตร พระโยคาวจรพึงทราบเพื่อปรุงแต่งวิริยะและสมาธิ

(หน้าที่ 24)

อธิจิตตสูตร

ใน 3 สูตรนั้น สูตรที่มีความดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบอธิจิตต้องมนสิการถึงนิมิต 3 ตามกาลอันควร คือต้องมนสิการถึงสมาธินิมิตตามกาลอันควร ต้องมนสิการถึงอุคคหนิมิตตามกาลอันควร ต้องมนสิการถึงอุเบกขานิมิตตามกาลอันควร ดูก่อนภิกษุทั้งหลายถ้าว่าภิกษุผู้ประกอบอธิจิตพึงมนสิการถึงเฉพาะสมาธินิมิตโดยส่วนเดียว ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ ที่จิตจะพึงเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ถ้าภิกษุผู้ประกอบอธิจิตพึงมนสิการถึงเฉพาะปัคคหนิมิตโดยส่วนเดียว ย่อมเป็นไปได้ที่จิตจะพึงเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่านเสีย ถ้าภิกษุผู้ประกอบอธิจิตพึงมนสิการถึงอุเบกขานิมิตโดยส่วนเดียวเท่านั้น ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ ที่จิตจะไม่พึงตั้งมั่นโดยชอบเพื่อสิ้นอาสวะทั้งหลาย แต่เมื่อภิกษุผู้ประกอบอธิจิตมนสิการถึง สมาธินิมิต, ปัคคหนิมิต, อุเบกขานิมิต ตามกาลอันควร จิตนั้นจึงจะเป็นจิตอ่อน, ควรแก่การงาน, เป็นจิตผ่องใสและไม่แตกซ่าน ตั้งมั่นโดยชอบเพื่อสิ้นอาสวะทั้งหลาย เปรียบเหมือนช่างทองหรือลูกมือช่างทองก่อเบ้า ครั้นก่อเบ้าแล้วก็สุมเบ้า ครั้นสุมเบ้าแล้วใช้คีมจับทองวางลงไปในเบ้า แล้วเป่าไปตามกาลอันควร ประพรมน้ำตามกาลอันควร เพ่งดูอยู่เฉย ๆ ตามกาลอันควร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าช่างทองก็ตาม ลูกมือช่างทองก็ตามจะพึงเป่าทองนั้นไปอย่างเดียว ย่อมเป็นฐานะที่จะพึงมีได้ ที่ทองนั้นจะพึงไหม้ไป หากช่างทองก็ตามลูกมือของช่างทองก็ตามประพรมน้ำทองนั้นไปท่าเดียว ย่อมเป็นไปได้ที่ทองนั้นจะพึงเย็นเสีย หากช่างก็ตามเพ่งดูทองนั้นอยู่เฉย ๆ ไปอย่างเดียว ย่อมเป็นได้ที่ทองนั้นจะไม่พึงถึงซึ่งความสุกปลั่ง ต่อเมื่อช่างทองก็ดี ลูกมือช่างทองก็ดี เป่าทองนั้นตามกาลอันควร ประพรมน้ำทองนั้นไปตามกาลอันควร เพ่งดูทองนั้นอยู่เฉย ๆ ตามกาลอันควร ทองนั้นจะพึงอ่อน, ควรแก่การงาน, เป็นทองสุกปลั่งและไม่เปราะ ใช้การได้ดี แม้ช่างทองประสงค์ เครื่องประดับใด ๆ จะเป็นเข็มขัดก็ดี จะเป็นตุ้มหูก็ดี จะเป็นเครื่องประดับคอก็ดี จะเป็นสายสังวาลก็ดี สิ่งที่ประสงค์นั้นก็ย่อมจะสำเร็จแก่เขาแล ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบอธิจิต ฯลฯ ตั้งมั่นโดยชอบเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย เธอย่อมน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมอันควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใด ๆ เมื่อมีเหตุอันควร

(หน้าที่ 25)

เธอย่อมจะถึงความเป็นผู้อาจเพื่อทำให้แจ้งในธรรมอันควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งนั้นนั่นแล ดังนี้ พึงทราบว่า อธิจิตตสูตร

สีตภาวสูตร

พระสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 6 ประการ ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งความเยือกเย็นอันยอดเยี่ยม ด้วยธรรม 6 เหล่าไหน ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม 1 ย่อมประคองจิตในสมัยที่ควรประคอง 1 ย่อมให้จิตร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง 1 ย่อมเพ่งดูจิตอยู่เฉย ๆ ในสมัยที่ควรเพ่งอยู่เฉย ๆ 1 เป็นผู้มีความหลุดพ้นอันประณีต 1 เป็นผู้ยินดียิ่งในพระนิพพาน 1 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 6 ประการนี้แล เป็นผู้อาจทำให้แจ้งซึ่งความเยือกเย็นอันยอดเยี่ยมดังนี้ พึงทราบว่า สีตภาวสูตร

โพชฌังคโกสัลลสูตร

ส่วนความเป็นผู้ฉลาดในโพชฌงค์ 7 ประการ ข้าพเจ้าแสดงไว้ใน อปฺปนาโกสลฺลกถา นั่นแล้ว โดยพระบาลีมีอาทิว่า ฉันนั้นนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดจิตหดหู่ สมัยนั้นมิใช่เวลาเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ดังนี้

สรุปโกศล 2

พระโยคีนั้นพึงกระทำอุคคหโกศล 7 อย่างนี้ให้เป็นสิ่งที่ตนเองเรียนเอาดีแล้ว และพึงกำหนดมนสิการโกศล 10 อย่างนี้ไว้ด้วยดี ด้วยประการดังนี้ แล้วจึงเรียนกัมมัฏฐาน ด้วยอำนาจโกศลทั้ง 2 อย่างให้ดี

วิธีเริ่มเจริญกัมมัฏฐาน

ก็ถ้าพระโยคีนั้นอยู่ผาสุกสบายในวัดเดียวกันกับพระอาจารย์ ก็ไม่พึงให้พระอาจารย์บอกโดยพิสดารอย่างนั้น เจริญพระกัมมัฏฐานบ่อย ๆ จนได้ธรรมวิเศษแล้ว จึงให้ท่านบอกกัมมัฏฐานสูง ๆ ขึ้นไป ส่วนพระโยคีที่ประสงค์จะไปอยู่ในวัดอื่น พึงให้พระอาจารย์บอกกัมมัฏฐานโดยพิสดาร โดยวิธีดังกล่าวแล้ว ทบทวนบ่อย ๆ ตัดปมที่ฝั้นเฝือทั้งหมดแล้วสละเสนาสนะอันไม่เหมาะสมไปอยู่ที่เสนาสนะอันเหมาะสม ทำการตัดความกังวลเล็กๆ น้อยๆ

(หน้าที่ 26)

เสียตามนัยที่กล่าวแล้วในปฐวีกสิณนิทเทสนั่นแล แล้วกระทำบริกรรมด้วยทำในใจว่าปฏิกูล ก็แหละ เมื่อจะเจริญอันดับแรกพึงถือเอานิมิตในผมทั้งหลาย ถืออย่างไร ? พึงถอนผมเส้น 1 หรือ 2 เส้น วางไว้ที่ฝ่ามือแล้วกำหนดสีก่อน ในการตรวจดูจำนวนผมแม้ในสถานที่ถูกตัดผมก็ควร แม้การตรวจดูจำนวนผมที่ตกในน้ำหรือในข้าวยาคูก็ควรเหมือนกัน เห็นในเวลาสีดำพึงมนสิการว่า มีสีดำ เห็นในเวลามีสีขาวพึงมนสิการว่ามีสีขาว แต่ในเวลามีสีเจือปนพึงมนสิการด้วยสีข้างมาก ก็ในผมฉันใด แม้ในตจปัญจกะทั้ง 4 อย่างก็เหมือนกัน พอได้เห็นแล้วพึงถือเอานิมิต

ครั้นถือเอานิมิตตามที่กล่าวมานั้นแล้ว พึงแยกร่างกายทั้งหมดออกเป็นส่วนๆ โดยใช้ 1. สี 2. สัณฐาน 3. ทิศ 4. โอกาส และ 5. ปริจเฉท, แล้วแยกออกโดยความปฏิกูล 5 อย่าง คือ 1. สี 2. สัณฐาน 3. กลิ่น 4. ที่อาศัย และ 5. โอกาส ในส่วนทั้งหมดนั้นมีพรรณนาตามลำดับต่อไปนี้ –

1. อธิบาย เกสา – ผม

พึงทราบผมก่อน ผม โดยสี ปกติเป็นสีดำดุจสีลูกประคำดีควายใหม่ ๆ โดยสัณฐาน ยาว กลม มีสัณฐานเหมือนคันชั่ง โดย ทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ในข้างทั้ง 2 กำหนดด้วยหมวกหู ข้างหน้ากำหนดด้วยกรอบหน้าผาก ข้างหลังกำหนดด้วยหลุมคอ หนังอันชุ่มที่หุ้มกะโหลกศีรษะเป็น โอกาส แห่งผมทั้งหลาย โดยปริจเฉท ผมทั้งหลายเบื้องต่ำกำหนดด้วยพื้นรากของตนที่ทะแยงเข้าไปในหนังหุ้มศีรษะประมาณเท่าปลายเมล็ดข้าวเปลือกตั้งอยู่ เบื้องบนกำหนดอากาศ เบื้องขวางกำหนดด้วยส่วนแห่งกันและกัน การกำหนดเช่นนี้ว่าผม 2 เส้น ไม่มีโดยเป็นเส้นเดียวกัน ดังนี้ เป็นการกำหนดโดยส่วนที่เสมอกัน ธรรมดาผมทั้งหลายธรรมชาติสร้างมามิให้ปนกับส่วนที่เหลือ 31 ส่วนอย่างนี้ว่า ผมมิใช่ขน ขนมิใช่ผม กำหนดเช่นนี้ว่าส่วนนั่นเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก ดังนี้ เป็นการกำหนดส่วนที่ไม่เสมอกัน อันนี้เป็นการกำหนดผมโดยลักษณะมีสีเป็นต้น

(หน้าที่ 27)

ส่วนการกำหนดผมเหล่านั้นโดยเป็นสิ่งปฏิกูล 5 ประการ ด้วยสามารถแห่งสีเป็นต้น พึงทราบดังต่อนี้ ธรรมดาผมเหล่านั้น แม้จะว่าโดยสีก็ดี โดยสัณฐานก็ดี โดยกลิ่นก็ดี โดยทิ่อาศัยก็ดี โดยโอกาสก็ดี ก็เป็นสิ่งปฏิกูล จริงอยู่พวกมนุษย์เห็นสิ่งอะไร ๆ ที่มีสีคล้ายผมในภาชนะยาคูหรือในภาชนะภัตแม้ที่น่าพึงพอใจ ก็ยังน่าเกลียดว่าสิ่งนี้ปนกับผมจงนำมันออกไปเสีย ผมทั้งหลายแม้โดยสีก็ปฏิกูลด้วยประการอย่างนี้

อนึ่ง คนทั้งหลายเมื่อรับประทานอาหารกลางคืน แม้ถูกต้องเปลือกรักหรือเปลือกปออันมีสัณฐานดังผมเข้า ก็จะเกลียดขึ้นมาอย่างนั้นเหมือนกัน ผมทั้งหลายเป็นสิ่งปฏิกูลโดยสัณฐานดังกล่าวมานี้

อนึ่ง ผมที่เว้นจากการตกแต่งมีทาน้ำมันและอบดอกไม้เป็นต้น ย่อมมีกลิ่นน่าเกลียดอย่างยิ่ง เมื่อใส่เข้าในไฟย่อมมีกลิ่นน่าเกลียดกว่านั้น ก็ผมทั้งหลายโดยสีและสัณฐานแม้จะพึงเป็นของไม่น่าเกลียด แต่โดยกลิ่นเป็นสิ่งที่น่าเกลียดแท้ เปรียบเหมือนอุจจาระของเด็กเล็ก ๆ โดยสีมีสีเหมือนขมิ้น แม้โดยสัณฐานมีสัณฐานเหมือนก้อนขมิ้น และซากสุนัขดำที่ขึ้นพองที่เขาทิ้งไว้ ณ ที่ทิ้งขยะ โดยสีมีสีเหมือนผลตาลสุก โดยสัณฐานมีสัณฐานเหมือนตะโพนที่เขากลิ้งทิ้งไว้ แม้เขี้ยวของมันเล่าก็มีสัณฐานเหมือนดอกมะลิตูม เพราะฉะนั้น อุจจาระเด็กและซากสุนัขทั้ง 2 อย่าง โดยสีและสัณฐานจะไม่เป็นของปฏิกูลก็เป็นได้ แต่โดยกลิ่นเป็นสิ่งปฏิกูลแท้ ฉันใด แม้ผมก็พึงเป็นฉันนั้น โดยสีและสัณฐานจะไม่ปฏิกูลก็ได้ แต่ว่าโดยกลิ่นเป็นสิ่งปฏิกูลแท้แล

อนึ่ง เปรียบเหมือนผักสำหรับแกงที่เกิดในน้ำครำที่ไหลออกจากบ้านขังอยู่ในที่ไม่สะอาด ย่อมเป็นสิ่งน่าเกลียดไม่น่าบริโภคของมนุษย์ชาวเมืองฉันใด แม้ผมทั้งหลายก็ฉันนั้น จัดเป็นสิ่งที่น่าเกลียด เพราะเกิดด้วยน้ำที่ซึมออกมาแต่ส่วนต่าง ๆ มีน้ำเหลือง เลือด มูตร กรีส น้ำดี และเสมหะ เป็นต้น นี้เป็นความน่าเกลียดโดยที่อาศัยของผมเหล่านั้น

อนึ่ง ธรรมดาผมเหล่านี้เกิดในกองแห่งกาย 31 ส่วน เปรียบดังผักเกิดที่กองคูถ ผมเหล่านั้นจัดว่าเป็นสิ่งที่น่าเกลียดอย่างยิ่ง เพราะเกิดในที่ไม่สะอาดดุจผักเกิดในป่าช้าและที่ทิ้งขยะมูลฝอยเป็นต้น และเปรียบดังดอกบัวหลวงและดอกบัวสายเป็นต้น ที่เกิดในที่ไม่สะอาดมีคูเมืองเป็นต้น นี้แลเป็นความปฏิกูลโดยโอกาสแห่งผมเหล่านั้น พระโยคาวจรพึงกำหนดความเป็นของปฏิกูลโดยส่วน 5 คือโดยสี, สัณฐาน, กลิ่น, ที่อาศัยและโอกาสแห่งส่วนทั้งปวง ดุจกำหนดความเป็นของปฏิกูลแห่งผมทั้งหลายฉะนั้นเถิด แต่ว่าโดย สี สัณฐาน ทิศ โอกาส และปริจเฉท ต้องกำหนดเป็นแผนก ๆ ทุก ๆ ส่วน

2. อธิบาย โลมา – ขน

ในบรรดาส่วนเหล่านั้น พึงทราบ ขน ก่อน ขนตามปกติมีประมาณ 90,000 ขุม ว่าโดยสี ปกติก็ไม่เหมือนผม คือไม่ดำล้วนแต่มีสีทั้งดำทั้งเหลือง โดยสัณฐาน มี

(หน้าที่ 28)

ปลายน้อมลง มีสัณฐานดังรากตาล โดยทิศ เกิดในทิศทั้ง 2 โดยโอกาส เว้นโอกาสที่ผมตั้งอยู่ และฝ่ามือ ฝ่าเท้า เกิดอยู่ตามหนังหุ้มสรีระนอกนั้นโดยมาก โดยปริจเฉท เบื้องต่ำกำหนดด้วยรากพื้นเบื้องต่ำของตนอันแยงเข้าไปในหนังหุ้มสรีระประมาณเท่าปลายเหล็กจานเบื้องบนกำหนดด้วยโอกาส เบื้องขวางกำหนดด้วยส่วนของกันและกัน ขน 2 เส้นไม่มีโดยที่แห่งเดียวกัน กำหนดดังนี้ เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เป็นสภาคกันของขนเหล่านั้น ส่วนการกำหนดส่วนที่ต่างกัน ก็เช่นเดียวกับผมแล

3. อธิบาย นขา – เล็บ

คำว่า นขา นี้เป็นชื่อของใบเล็บ 20 ใบ เล็บทั้งหมดนั้นโดยสีมีสีขาว โดยสัณฐานมีสัณฐานดังเกล็ดปลา โดยทิศเกิดในทิศทั้ง 2 คือ เล็บเท้าเกิดในทิศเบื้องล่าง เล็บมือเกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งอยู่หลังปลายนิ้วทั้งหลาย โดยปริจเฉทในทิศทั้ง 2 กำหนดด้วยเนื้อปลายนิ้ว ข้างในกำหนดด้วยเนื้อหลังนิ้ว ข้างนอกและปลายกำหนดด้วยอากาศ ด้วยขวางกำหนดด้วยส่วนของกันและกัน การกำหนดโดยนัยว่า เล็บ 2 ใบไม่มีอยู่ร่วมกัน นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เป็นสภาคกัน ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

4. อธิบาย ทนฺตา – ฟัน

คำว่า ทนฺตา ได้แก่กระดูกฟัน 32 ซี่ ของผู้มีฟันเต็ม ฟันแม้เหล่านั้น โดยสี มีสีขาว โดยสัณฐาน มีสัณฐานหลายอย่าง จริงอยู่ บรรดาฟันเหล่านั้น ว่าด้วยฟัน 4 ซี่ ตรงกลางแถวฟันข้างล่างก่อน มีสัณฐานเหมือนเมล็ดน้ำเต้าที่เขาตั้งเรียงไว้โดยลำดับที่ก้อนดินเหนียว ฟันแต่ละซี่ในข้างทั้ง 2 ของฟัน 4 ซี่นั้นมีรากเดียว มีสัณฐานเหมือนดอกมะลิ ซ้อนตูม ถัดฟันนั้นไปเป็นฟันข้างละซี่มี 2 ราก 2 ง่าม มีสัณฐานเหมือนไม้ค้ำยัน ถัดไปฟันข้างละ 2 ซี่มี 3 ราก ปลายก็ 3 แง่ ถัดไปฟันข้างละ 2 ซี่ 4 รากปลายก็ 4 แง่แล แม้ในแถวฟันข้างบนก็นัยนี้เหมือนกัน โดยทิศเกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาสตั้งอยู่ในกระดูกกรามทั้ง 2 โดยปริจเฉท เบื้องล่างกำหนดด้วยพื้นรากของตนอันตั้งอยู่ในกระดูกกราม เบื้องบนกำหนดด้วยอากาศ เบื้องขวางกำหนดด้วยส่วนแห่งกันและกันการกำหนดโดยนัยว่าฟัน 2 ซี่ไม่มีรวมอยู่ด้วยกัน นี้เป็นส่วนกำหนดที่เป็นสภาคกัน ส่วนการกำหนดส่วนที่ต่างกันก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

(หน้าที่ 29)

5. อธิบาย ตโจ - หนัง

คำว่า ตโจ ได้แก่หนังที่หุ้มร่างกายทั้งสิ้น เบื้องบนแห่งหนังมีผิวสีดำคล้ำและเหลือง เป็นต้น ซึ่งเมื่อลอกออกจากร่างกายทั้งสิ้น ก็จะได้ประมาณเท่าเมล็ดในพุทรา แต่หนัง โดยสี ก็มีสีขาวเท่านั้น ก็แลภาวะที่หนังขาวนั้นย่อมปรากฏเมื่อผิวถูกลอกออก เพราะเหตุมีเปลวไฟลวกเอา และถูกฟันเป็นต้น โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนร่างกายนั่นเอง นี้เป็นความสังเขปในข้อว่าโดยสัณฐานนี้ แต่ว่าโดยพิสดาร หนังนิ้วเท้ามีสัณฐานดังรังไหม หนังหลังเท้ามีสัณฐานเหมือนรองเท้าหุ้มส้น หนังแข้งมีสัณฐานเหมือใบตาลห่อข้าว หนังขามีสัณฐานเหมือนอันเต็มไปด้วยข้าวสาร หนังตะโพกมีสัณฐานดังผืนผ้ากรองน้ำอันเต็มไปด้วยน้ำ หนังหลังมีสัณฐานดังหนังหุ้มโล่ หนังท้องมีสัณฐานเหมือนหนังหุ้มรางพิณ หนังอกโดยมากมีสัณฐาน 4 เหลี่ยม หนังแขนทั้ง 2 มีสัณฐานดังหนังหุ้มแล่งธนู หนังหลังมือมีสัณฐานดังฝักมีด หรือมีสัณฐานดังถุงใส่โล่ หนังนิ้วมือมีสัณฐานดังฝักกุญแจ หนังคอมีสัณฐานดังเสื้อปิดคอ หนังหน้ามีช่องใหญ่น้อยมีสัณฐานดังรังตั๊กแตน หนังศีรษะมีสัณฐานดังบาตร

ก็แล พระโยคาวจรผู้จะกำหนดหนัง พึงส่งญาณมุ่งตรงขึ้นเบื้องบนตั้งแต่ริมฝีปากบน แล้งพึงกำหนดหนังที่หุ้มรอบปากก่อนเป็นอันดับแรก แต่นั้นจึงกำหนดหนังหุ้มกระดูก หน้าผาก ต่อนั้นจึงส่งญาณเข้าไปโดยระหว่างกระดูกศีรษะและหนังหุ้มศีรษะ ดุจสอดมือเข้าไปโดยระหว่างแห่งบาตรที่สวมถลกฉะนั้น แล้วแยกความที่หนังเนื่องเป็นอันเดียวกันกับกระดูกออกจากกัน แล้วกำหนดหนังศีรษะ ต่อนั้นพึงกำหนดหนังคอ ต่อนั้นพึงกำหนดหนังมือขวาทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม ครั้นแล้วพึงกำหนดหนังมือซ้ายโดยนัยนั้นเหมือนกัน ต่อนั้นพึงกำหนดหนังหลัง ครั้นกำหนดหนังหลังนั้นแล้วจึงกำหนดหนังเท้าขวาทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม ครั้นแล้วพึงกำหนดหนังเท้าซ้ายโดยนัยเดียวกันนั้น แต่นั้นพึงกำหนดหนังท้องน้อย หนังหน้าท้องหนังทรวงอกแลหนังคอโดยลำดับ ครั้นแล้งพึงกำหนดหนังใต้คางถัดหนังคอขึ้นมาจนถึงริมฝีปากล่างเป็นที่สุดจึงเสร็จ เมื่อพระโยคาวจรกำหนดหนังหยาบ ๆ ได้อย่างนี้แม้หนังที่ละเอียดก็ย่อมปรากฏ

(หน้าที่ 30)

โดยทิศ หนังเกิดในทิศทั้ง 2 โดยโอกาส มันหุ้มร่างกายทั้งสิ้นอยู่ โดยปริจเฉท เบื้องล่างกำหนดด้วยพื้นที่มันตั้งอยู่ เบื้องบนกำหนดด้วยอากาศ นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เป็นสภาคกันแห่งหนังนั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันก็เช่นเดียวกับผมนั้นแล

6. อธิบาย มํสํ – เนื้อ

คำว่า มํสํ ได้แก่เนื้อ 900 ชิ้น เนื้อทั้งหมดนั้น โดยสี มีสีแดงเช่นเดียวกับดอกทองกวาว โดยสัณฐาน เนื้อปลีแข้งมีสัณฐานเหมือนข้าวสุกในห่อใบตาล เนื้อขามีสัณฐานดังลูกหินบด เนื้อตะโพกมีสัณฐานดังก้อนเส้า เนื้อหลังมีสัณฐานดังเยื่อลูกตาลสุก เนื้อสีข้างทั้ง 2 มีสัณฐานเหมือนดินฉาบไว้บาง ๆ ที่ท้องฉาง เนื้อนมมีสัณฐานดังก้อนดินที่เขาผูกแขวนไว้ เนื้อแขนทั้ง 2 ข้างมีสัณฐานดังหนูตัวใหญ่ที่ถลกหนังวางซ้อนกันไว้ เมื่อพระโยคาวจรกำหนดเนื้อหยาบ ๆอย่างนี้ แม้ส่วนที่ละเอียดก็ย่อมปรากฏ โดยทิศ เกิดในทิศทั้ง 2 โดยโอกาส มันตั้งหุ้มกระดูกไม่เกิน 300 ท่อนไว้ โดยปริจเฉท เบื้องต่ำกำหนดด้วยพื้นที่ตั้งอยู่ที่โครงกระดูก เบื้องบนกำหนดด้วยหนัง ส่วนกว้างกำหนดด้วยส่วนของกันและกัน นี้เป็นการกำหนดส่วนที่เป็นสภาคกันของเนื้อนั้น ฝ่ายการกำหนดส่วนที่ต่างกันเช่นกับผมนั่นแล

7. อธิบาย นหารู – เอ็น

คำว่า นหารู ได้แก่เอ็น 90 เส้น โดยสี เอ็นทั้งหมดมีสีขาว โดยสัณฐาน มีสัณฐานต่าง ๆ จริงอยู่ ในเอ็นเหล่านั้น เอ็นใหญ่ที่รึงรัดร่างกายจับตั้งแต่ส่วนบนแห่งคอหยั่งลงไปทางข้างหน้า 5 เส้น ทางข้างหลังก็ 5 เส้น ทางข้างขวาก็ 5 เส้น ทางข้างซ้ายก็ 5 เส้น แม้ทีรึงรัดมือขวาทางข้างหน้าก็ 5 เส้น ทางข้างหลังก็ 5 เส้น ที่รึงรัดมือซ้ายก็อย่างนั้น แม้ที่รึงรัดเท้าขวาทางข้างหน้าเท้าก็ 5 เส้น ทางข้างหลังเท้าก็ 5 เส้น ที่รึงรัดเท้าซ้ายก็อย่างนั้น ดังนี้แล เอ็นใหญ่ 60 เส้นอันได้นามว่า สรีรธารกา (เอ็นรึงรัดร่าง) รึงรัดร่างกายการหยั่งลงไป ซึ่งเรียกกันว่ากัณฑรา (เอ็นรากเหง้า) ก็มี เอ็นเหล่านั้นทั้งหมด มีสัณฐานดังต้นคล้าอ่อน ส่วนเอ็นอื่นๆ ตั้งคลุมตำแหน่งนั้น ๆ อยู่ ที่เล็กกว่าเอ็นสรีรธารกานั้นมีสัณฐานดังเส้นด้าย เอ็นอื่นที่เล็กกว่านั้นมีสัณฐานดังเถากระพังโหมนั่นแล อื่นที่เล็กกว่านั้นมีสัณฐานดังสายพิณใหญ่ อื่นมีสัณฐานดังเส้นด้ายอ้วน ๆ เอ็นที่หลังมือและเท้ามีสัณฐาน

(หน้าที่ 31)

ดังตีนนก เอ็นที่ศีรษะมีสัณฐานดังข่ายคลุมศีรษะทารก เอ็นที่หลังมีสัณฐานดังอวนเปียกที่เขาผึ่งไว้ที่แดด เอ็นอันแล่นไปตามองค์อวัยวะน้อยใหญ่นั้น ๆ ที่เหลือมีสัณฐานดังเสื้อร่างแหที่สวมร่างกายไว้ โดยทิศเกิดในทิศทั้ง 2 โดยโอกาสมันตั้งยึดกระดูกในร่างกายทั้งสิ้นอยู่โดยปริจเฉท เบื้องต่ำกำหนดด้วยพื้นที่มันตั้งอยู่บนกระดูก 300 ท่อน เบื้องบนกำหนดด้วยตำแหน่งที่มันตั้งจรดเนื้อและหนังอยู่ เบื้องขวางกำหนดด้วยส่วนของกันและกัน นี้เป็นกำหนดส่วนที่เป็นสภาคกัน ส่วนการกำหนดที่ที่ต่างกันก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

8. อธิบาย อฏฺฐี – กระดูก

คำว่า อฏฺฐี ความว่า ยกเว้นกระดูกฟัน 32 ซี่เสีย ที่เหลือเป็นกระดูกประมาณ 300 ท่อน อย่างนี้คือ กระดูกมือ 64 ท่อน กระดูกเท้า 64 ท่อน กระดูกอ่อนที่ติดเนื้ออยู่ 64 ท่อน กระดูกส้นเท้า 2 ท่อน กระดูกข้อเท้าข้างละ 2 ท่อน กระดูกแข้งข้างละ 2 ท่อน กระดูกเข่าข้างละ 1 ท่อน กระดูกขาข้างละ 1 ท่อน กระดูกสะเอว 2 ท่อน กระดูกสันหลัง 18 ท่อน กระดูกซี่โครง 24 ท่อน กระดูกหน้าอก 14 ท่อน กระดูกหัวใจ 1 ท่อน กระดูกรากขวัญ 2 ท่อน กระดูกสะบัก 2 ท่อน กระดูกต้นแขน 2 ท่อน กระดูกปลายแขนข้างละ 2 ท่อน กระดูกคอ 7 ท่อน กระดูกคาง 2 ท่อน กระดูกจมูก 1 ท่อน กระดูกเบ้าตา 2 ท่อน กระดูกหู 2 ท่อน กระดูกหน้าผาก 1 ท่อน กระดูกกระหม่อม 1 ท่อน กระดูกกะโหลกศีรษะ 9 ท่อน

กระดูกทั้งหมดนั้น โดยสี มีสีขาว โดยสัณฐาน มีสัณฐานต่าง ๆ กัน จริงอยู่ ในกระดูกเหล่านั้น กระดูกปลายนิ้วเท้ามีสัณฐานดังเมล็ดบัว กระดูกข้อกลางถัดกระดูกปลายนิ้วนั้นเข้ามามีสัณฐานดังเมล็ดขนุน กระดูกข้อโคนมีสัณฐานดังบัณเฑาะว์ กระดูกหลังเท้ามีสัณฐานดังกองเหง้าคล้าที่ถูกบุบ กระดูกส้นเท้ามีสัณฐานดังจาวตาลในลอนเดียว กระดูกข้อเท้ามีสัณฐานดังลูกสะบ้าสำหรับเล่นที่ผูกไว้ กระดูกแข้งตรงที่ที่ตั้งลงในกระดูกข้อเท้า มีสัณฐานดังหน่อเป้งที่ถูกปอกเปลือก กระดูกแขนท่อนเล็กมีสัณฐานดังคันธนู ท่อนใหญ่มีสัณฐานดังหัวงูผอม กระดูกเข่ามีสัณฐานดังต่อมน้ำที่แหว่งไปข้างหนึ่ง กระดูกแข้งตรงที่ตั้งจรดในกระดูกเข่านั้นมีสัณฐานดังเขาโคปลายทู่ กระดูกขามีสัณฐานดังด้ามพร้าและด้ามขวานที่ถากไม่เรียบ กระดูกขาตรงที่ตั้งจรดในกระดูกสะเอวมีสัณฐานดังลูกสะบ้า กระดูกสะเอว

(หน้าที่ 32)

ตรงที่ตั้งจรดกับกระดูกขานั้นมีสัณฐานดังผลมะงั่วใหญ่ปลายปาด กระดูกสะเอวแม้เป็น 2 ชั้น แต่ติดเป็นอันเดียวกัน มีสัณฐานดังเตาของช่างหม้อ แต่ละชิ้นมีสัณฐานดังคีมช่างทอง กระดูกตะโพกที่ตั้งอยู่ทางด้านปลายมีสัณฐานดังพังพานงูที่เขาวางคว่ำหน้าไว้ มีช่องเล็กช่องใหญ่ 7 – 8 แห่ง กระดูกสันหลังข้างในมีสัณฐานดังห่วงดีบุกที่วางซ้อนกันไว้ ข้างนอกมีสัณฐานดังลูกประคำ ในระหว่างกระดูกสันหลังเหล่านั้น มีเดือยอยู่ 2 ซี่คล้ายฟันเลื่อย ในกระดูกซี่โครง 24 ซี่ ซี่ที่ไม่เต็มมีสัณฐานดังเคียวแหว่ง ซี่ที่เต็มมีสัณฐานดังเคียวเต็มเล่ม ทั้งหมดมีสัณฐานดังปีกกางของไก่ขาว กระดูก 14 ท่อนมีสัณฐานดังเรือนคานหามที่คร่ำคร่ากระดูกหัวใจมีสัณฐานดังจวัก กระดูกรากขวัญมีสัณฐานดังมีดโลหะเล่มเล็ก ๆ กระดูกสะบักมีสัณฐานดังจอบชาวสีหลที่เหี้ยนไปข้างหนึ่ง กระดูกแขนมีสัณฐานดังด้ามแว่น กระดูกปลายแขนมีสัณฐานดังรากตาลคู่ กระดูกข้อมือมีสัณฐานดังห่วงแผ่นตะกั่วที่เขาเชื่อมให้ติดกันตั้งไว้ กระดูกหลังมือมีสัณฐานดังกองหง้าคล้าที่ถูกบุบ กระดูกข้อโคนนิ้วมือมีสัณฐานดังบัณเฑาะว์ กระดูกข้อกลางนิ้วมือมีสัณฐานดังเมล็ดขนุนไม่เต็มเม็ด กระดูกข้อปลายนิ้วมีสัณฐานดังเมล็ดบัว กระดูกคอ 7 ท่อนมีสัณฐานดังแว่นหน่อไม้ที่คนใช้ไม้เสียบตั้งไว้โดยลำดับกัน กระดูกคางอันล่างมีสัณฐานดังคีมเหล็กของพวกช่างโลหะ อันบนมีสัณฐานดังเหล็กสำหรับขูด กระดูกกระบอกตาและกระบอกจมูกมีสัณฐานดังเต้าตาลอ่อนที่ควักจาวออกแล้ว กระดูกหน้าผากมีสัณฐานดังเปลือกสังข์ที่วางคว่ำหน้าไว้ กระดูกหูมีสัณฐานดังฝักมีดโกนของช่างกัลบก กระดูกในที่ที่หน้าผากกับกกหูติดกันเป็นแผ่นอยู่ตอนบนมีสัณฐานดังท่อนผ้าที่ยู่ยี่และเต็มไปด้วยเนยใส กระดูกกระหม่อมมีสัณฐานดังกะโหลกมะพร้าวเบี้ยวที่ปาดหน้าแล้วกระดูกศีรษะมีสัณฐานดังกะโหลกน้ำเต้าเก่าที่เขาเย็บตรึงไว้

โดยทิศ กระดูกเกิดในทิศทั้ง 2 โดยโอกาส ว่าโดยไม่แปลกกันตั้งอยู่ทั่วร่างกาย แต่เมื่อว่าโดยแปลกกัน ในกระดูกเหล่านั้น กระดูกศีรษะตั้งอยู่บนกระดูกคอกระดูกคอตั้งอยู่บนกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังตั้งอยู่บนกระดูกสะเอว กระดูกสะเอวตั้งอยู่บนกระดูกขา กระดูกขาตั้งอยู่บนกระดูกเข่า กระดูกเข่าตั้งอยู่บนกระดูกแข้ง กระดูกแข้งตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้า กระดูกข้อเท้าตั้งอยู่บนกระดูกหลังเท้า โดยปริจเฉท ภายในกำหนดด้วยเยื่อในกระดูก เบื้องบนกำหนดด้วยเนื้อ ที่ปลายและรากกำหนดด้วยส่วนแห่งกันและกัน

(หน้าที่ 33)

นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนอันเป็นสภาคกันแห่งกระดูกเหล่านั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

9. อธิบาย อฏฺฐิมิญฺชํ – เยื่อในกระดูก

ว่า อฏฺฐิมิญฺชํ ได้แก่เยื่อในกระดูกอันอยู่เฉพาะภายในแห่งกระดูกนั้น ๆ เยื่อในกระดูกนั้น โดยสี มีสีขาว โดยสัณฐาน เยื่อในที่อยู่ภายในกระดูกท่อนใหญ่ ๆ มีสัณฐานดังยอดหวายใหญ่ที่เขาลนไฟแล้วสอดเข้าไว้ในกระบอกไม้ไผ่ เยื่อที่อยู่ภายในกระดูกท่อนเล็ก ๆ มีสัณฐานดังยอดหวายเล็กที่เขาล่นไฟแล้วสอดเข้าไว้ในปล้องไม้อ้อ โดยทิศ เกิดในทิศทั้ง 2 โดยโอกาส ตั้งอยู่ภายในกระดูก โดยปริจเฉท กำหนดด้วยพื้นข้างในของกระดูกทั้งหลาย นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เป็นสภาคกันแห่งเยื่อในกระดูกนั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

10. อธิบาย วกฺกํ – ไต

คำว่า ไต ได้แก่ก้อนเนื้อ 2 ก้อนที่มีขั้วเดียวกัน ไตนั้น โดยสี มีสีแดงอ่อนดังสีเมล็ดทองหลาง โดยสัณฐาน มีสัณฐานดังลูกสะบ้าคู่ของเด็ก ๆ หรือมีสัณฐานดังผลมะม่วงแฝดติดอยู่ในขั้วเดียวกัน โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ไตนี้เป็นธรรมชาติที่ติดอยู่กับเอ็นเส้นใหญ่ที่แล่นออกลำคอมีโคนรวมเป็นเส้นเดียวกัน ไปได้หน่อยหนึ่ง แล้วแยกออกเป็น 2 เส้นห่อหุ้มเนื้อหัวใจไว้ โดยปริจเฉท ไตกำหนดด้วยส่วนแห่งไต นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เป็นสภาคกันของไตนั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันก็เช่นกับผมนั่นแล

หทยมังสะ

11. อธิบาย หทยํ – หัวใจ

คำว่า หทยํ ได้แก่เนื้อหัวใจ หัวใจนั้น โดยสี มีสีแดงดังสีหลังกลีบดอกปทุม โดยสัณฐาน มีสัณฐานดังดอกปทุมตูมที่เขาปลิดกลีบชั้นนอกออกแล้วตั้งคว่ำลง ภายนอกเกลี้ยง ภายในเหมือนกับภายในแห่งรังบวบขม สำหรับคนมีปัญหาแย้มหน่อยหนึ่ง ของพวกคนมีปัญญาอ่อนคงตูมมิดทีเดียว อนึ่ง ข้างในหัวใจนั้นมีแอ่งขนาดที่เมล็ดบุนนาคตั้งอยู่ได้ เป็นที่ขังอยู่แห่งโลหิตประมาณกึ่งซองมือ ที่มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุอาศัยเป็นไป ก็โลหิตนี้นั้นของคนราคจริตมีสีแดง ของคนโทสจริตมีสีดำ ของคนโมหจริตมีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ

(หน้าที่ 34)

ของคนวิตกจริตเป็นสีดังเยื่อถั่วพู ของคนสัทธาจริตมีสีดังดอกกรรณิการ์ ของคนปัญญาจริตใสผ่องไม่ขุ่นมัว ขาวบริสุทธิ์ปรากฏดังสีแก้วมณีแท้ที่เจียระไนแล้ว โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งอยู่ระหว่างกลางนมทั้ง 2 ภายในร่างกาย โดยปริจเฉท หัวใจกำหนดด้วยส่วนของหัวใจ นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เป็นสภาคกันแห่งหัวใจ ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันเช่นเดียวกับผมนั่นแล

12. อธิบาย ยกนํ – ตับ

คำว่า ตับ ได้แก่แผ่นเนื้อคู่ ตับนั้น โดยสี มีสีแดง พื้นเหลืองไม่แดงจัด มีสีดังดอกบัวแดง โดยสัณฐาน ที่โคนเป็นแผ่นเดียวที่ปลายเป็น 2 ง่ามมีสัณฐานดังใบทองหลาง อนึ่ง ตับนั้น ของพวกคนโง่เป็นแผ่นโตแผ่นเดียวเท่านั้น ของพวกคนมีปัญญาเป็นแผ่นเล็ก ๆ 2 หรือ 3 ชิ้น โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งแนบข้างขวาในระหว่างนมทั้ง 2 โดยปริเฉท ตับกำหนดด้วยส่วนแห่งตับ นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เป็นสภาคกันแห่งตับนั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันก็เช่นเดียวกันกับผมนั่นแล

13. อธิบาย กิโลมกํ – พังผืด

คำว่า พังผืด ได้แก่เนื้อสำหรับหุ้มมี 2 อย่างโดยแยกเป็นพังผืดปกปิดและพังผืดเปิดเผย พังผืดทั้ง 2 อย่างนั้น โดยสี มีสีขาวดังผ้าสีเปลือกไม้แก่ โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามโอกาสของตน โดยทิศ พังผืดปกปิดเกิดในทิศเบื้องบน พังผืดไม่ปกปิดเกิดในทิศทั้ง 2 โดยโอกาส พังผืดที่ปกปิดตั้งคลุมหัวใจและตับ พังผืดที่ไม่ปกปิดตั้งรัดรึงเนื้อภายใต้หนังทั่วร่างกาย โดยปริจเฉท เบื้องล่างกำหนดด้วยเนื้อ เบื้องบนกำหนดด้วยหนัง เบื้องขวางกำหนดด้วยส่วนแห่งพังผืดเอง นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เป็นสภาคกันของพังผืดนั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันเช่นเดียวกับผมนั่นแล

14. อธิบาย ปิหกํ – ม้าม

คำว่า ม้าม ได้แก่เนื้อเป็นลิ้นอยู่ในท้อง โดยสี ม้ามนั้นมีสีเขียวดังดอกคนทิสอ โดนสัณฐาน มีสัณฐานดังลิ้นลูกโคดำ มีขั้วยาวประมาณ 7 นิ้ว โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งแนบอยู่ข้างที่สุดแห่งพื้นท้องที่ข้างซ้ายแห่งหัวใจ ซึ่งเมื่อมันออกมาภายนอก เพราะถูกประหารด้วยเครื่องประหาร สัตว์ทั้งหลายย่อมสิ้นชีวิต โดยปริจเฉท กำหนดด้วย

(หน้าที่ 35)

ส่วนของม้าม นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เป็นสภาคกันแห่งม้ามนั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกัน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

15. อธิบาย ปปฺผาสํ – ปอด

คำว่า ปอด ได้แก่เนื้อปอด ต่างโดยเป็นชิ้นเนื้อ 32 ชิ้น โดยสี ปอดนั้นมีสีแดง ดังผลมะเดื่อยังไม่สุกจัด โดยสัณฐาน มีสัณฐานดังชิ้นขนมหนา ๆ ที่เขาตัดไม่เรียบ เป็นของไม่มีรส ไม่มีโอชา เหมือนก้อนใบไม้ที่คนเคี้ยวแล้ว เพราะมันถูกไอแห่งเตโชธาตุอันเกิดแต่กรรมที่พลุ่งขึ้นมา เพราะในภายในไม่มีอาหารที่ตนกินและน้ำที่ตนดื่ม เผาผลาญแล้ว โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งห้อยปิดอยู่ข้างบนหัวใจและตับในระหว่านมทั้ง 2 ภายในร่างกาย โดยปริจเฉท กำหนดด้วยส่วนของปอดเอง นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เป็นสภาคกันแห่งปอดนั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันเช่นเดียวกับผมนั่นแล

16. อธิบาย อนฺตํ – ไส้ใหญ่

คำว่า ไส้ใหญ่ ได้แก่ขนดไส้อันขดอยู่ในที่ 21 รอบ ของชายยาว 32 ศอก ของหญิงยาว 28 ศอก ไส้ใหญ่นี้นั้น โดยสี มีสีขาวดังก้อนกรวดหรือปูนขาว โดยสัณฐาน มีสัณฐานดังงูหัวขาดที่เขาขดวางไว้ในรางเลือด โดยทิศ เกิดในทิศทั้ง 2 โดยโอกาส ตั้งอยู่ภายในร่างกาย มีปลายอยู่ที่คอหอยและที่ทวารหนัก เพราะเบื้องบนเลื้อยขึ้นไปถึงหลุมคอและเบื้องล่างเลื้อยลงมาจรดทวารหนัก โดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนของลำไส้ใหญ่เอง นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนทีเป็นสภาคกันแห่งไส้ใหญ่นั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

17. อธิบาย อนฺตคุณํ – ไส้น้อย

คำว่า ไส้น้อย ได้แก่ไส้อันเป็นสายพันอยู่ในฐานขนดไส้ใหญ่ ไส้น้อยนั้น โดยสี มีสีขาวดังรากจงกลนี โดยสัณฐาน มีสัณฐานดังรากจงกลนีนั่นแหละ โดยทิศ เกิดในทิศ ทั้ง 2 โดยโอกาส ไส้น้อยนั้นตั้งยึดขนดไส้ใหญ่ให้เป็นมัดอยู่ด้วยกัน ดุจเชือกยนต์ยึดแป้นยนต์ไว้ในเวลาที่พวกช่างผู้ทำงานต่าง ๆ มีการงานที่ต้องทำด้วยจอบและขวานเป็นต้น ชักยนต์อยู่ระหว่างแห่งขนดไส้ใหญ่ 21 ทบ เหมือนเชือกเล็กที่เย็บร้อยไปตามในระหว่างแห่งขนดเชือกสำหรับเช็ดเท้าฉะนั้น โดยปริจเฉท กำหนดด้วยส่วนแห่งไส้น้อยเอง นี้เป็น

(หน้าที่ 36)

การกำหนดด้วยส่วนที่เป็นสภาคกันแห่งไส้น้อยนั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันเช่นเดียวกับผมนั้นแล

18. อธิบาย อุทริยํ – อาหารใหม่

คำว่า อาหารใหม่ ได้แก่ของที่บริโภคที่ดื่มที่เคี้ยวและที่ลิ้มซึ่งมีอยู่ในท้อง อาหารใหม่นั้น โดยสี มีสีดังอาหารที่กลืนกินเข้าไป โดยสัณฐาน มีสัณฐานดังข้าวสารที่เขาห่อหลวม ๆ ในผ้ากรองน้ำ โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งอยู่ในท้อง

ชื่อว่าท้อง ได้แก่อวัยวะที่หุ้มเสมือนโป่งผ้าที่เกิดขึ้นตรงกลางผ้าเปียกน้ำที่รวบชายทั้ง 2 ข้างเข้า ภายนอกเกลี้ยง ภายในเป็นดังผ้าซับระดูที่เปื้อนแล้วห่อกากเนื้อไว้ แม้จะกล่าวว่าภายในท้องนั้นเป็นดังข้างในของผลขนุนเปื่อยก็ควร มันเป็นที่อยู่ของหมู่หนอน แยกประเภทเป็นถึง 32 ตระกูล เป็นต้นว่า ตระกูล ตักโกฏกะ พยาธิปากขอ คัณฑุปาทกะ พยาธิไส้เดือน ตาลหีรกะ พยาธิเสี้ยนตาล สูจิมุขกะ พยาธิปากเข็ม ปฏตันตุ พยาธิตัวแบน สุตตกะ พยาธิเส้นด้าย พากันอาศัยคลาคล่ำเป็นกลุ่ม ๆ ไป ซึ่งเมื่อของกินมีน้ำและข้าวเป็นต้นไม่มีในท้อง มันก็เที่ยวพลุกพล่านกันให้ระงมไป พากันตรงเข้าบ่อนเนื้อหัวใจ และเวลาคนกลืนอาหารมีน้ำและข้าวลงไป มันก็พากันชูปากตะลีตะลานเข้าแย่งอาหารที่คนกลืนกินลงไปครั้งแรก 2-3 คำ ท้องนั้นซึ่งเป็นเรือนคลอด เป็นวัจกุฎี เป็นโรงพยาบาล และเป็นสุสาน ของหมู่หนอนเหล่านั้น ซึ่งเป็นที่ของกินมีน้ำและข้าวเป็นต้นมีประดารต่าง ๆ ที่แหลกด้วยสากคือฟัน อันมือคือลิ้นพลิกไปพลิกมา เกลือกกลั้วด้วยน้ำลายและน้ำย่อย กลับกลายเป็นของปราศจากความสมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น รสเป็นต้น เป็นเสมือนกับน้ำข้าวในที่ทอหูกและรากสุนักตกลงไปแล้ว ก็เกลือกกลั้วด้วยน้ำดี เสลด และลม ละเอียดแล้วด้วยกำลังความร้อนแห่งไฟในท้อง อากูลไปด้วยหมู่หนอน ปล่อยเป็นฟองฟอดและต่อมขึ้นบนเรื่อยไป ถึงความเป็นกลากเป็นของเหม็นและน่าเกลียดอย่างยิ่งตั้งอยู่ เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหนาตกลงมาในฤดูแล้ง ซากชนิดต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ปัสสาวะอุจจาระท่อนหนังท่อนกระดูกท่อนเอ็นน้ำลายน้ำมูกและเลือดตกลงไปที่น้ำฝนพัดพามา ตกลงไปในแอ่งโสโครกข้างประตูบ้านพวกคนจัณฑาลแล้วประสมเข้ากับน้ำโคลน 2-3 ส่วนก็เกิดเป็นหมู่หนอนเป็นไอขึ้นด้วยกำลังความร้อนแห่งแสงแดด ปล่อยฟองและต่อมขึ้นข้างบน มีสีเขียวคล้ำ เหม็นและหน้าเกียดอย่างยิ่ง ซึ่งเป็น

(หน้าที่ 37)

ภาพที่ไม่น่าเข้าใกล้ไม่น่าดูเลยตั้งอยู่ จะป่วยกล่าวไปใยถึงการดมและการลิ้มเล่า ฉะนั้น เพียงแต่ได้ฟังก็เกิดความไม่พอใจในน้ำและข้าวเป็นต้น จะกล่าวไปใยถึงการดูด้วยปัญญาจักษุเล่า และในที่ที่ของกินมีน้ำและข้าวเป็นต้นซึ่งตกลงไป ถึงความจำแนกเป็น 5 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งถูกสัตว์กิน ส่วนหนึ่งถูกไฟธาตุในท้องแผดเผา ส่วนหนึ่งเป็นปัสสาวะ ส่วนหนึ่งเป็นอุจจาระ ส่วนหนึ่งถึงความเป็นรสแล้วเพิ่มพูนส่วนแห่งร่างกายมีเลือดและเนื้อเป็นต้น

โดยปริจเฉท อาหารใหม่นั้นกำหนดด้วยกระพุ้งท้องและส่วนแห่งอาหารใหม่ นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เป็นสภาคกันแห่งอาหารใหม่นั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

19. อธิบาย กรีสํ – อาหารเก่า

คำว่า อาหารเก่า ได้แก่อุจจาระ อุจจาระนั้น โดยสี มีสีดังอาหารที่กลืนเข้าไปนั่นแหละโดยมาก โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามโอกาส โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องล่าง โดยโอกาส ตั้งอยู่ในกระเพาะอาหารเก่า ที่ชื่อว่าอาหารเก่า เป็นเสมือนกระบอกไม้ไผ่นั่นแล สูงประมาณ 8 องคุลีอยู่ที่ปลายใส้ใหญ่ ในระหว่างใต้สะดือและโคนข้อสันหลัง ซึ่งเป็นที่ที่ของกินมีน้ำและข้าวเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งตกลงไปในกระเพาะอาหารใหม่ อันไฟธาตุในท้องเผาผลาญปุดเป็นฟองฟอดถึงภาวะเป็นของละเอียด ดังถูกด้วยหินบดและไหลลงไปตามลำไส้ใหญ่เป็นของหมักตั้งอยู่ ดังดินเหลืองที่เขาขยำใส่ในปล้องไม้ไผ่ เปรียบเสมือนน้ำฝนตกลงที่ภูมิภาคเบื้องสูงแล้วไหลบ่าลงไปขังเต็มภูมิภาคเบื้องต่ำฉะนั้น โดยปริจเฉท กำหนดกะพุ้งกระเพาะอาหารเก่าและด้วยส่วนแห่งอุจจาระ นี้เป็นการกำหนดส่วนที่เป็นสภาคกันแห่งอาหารเก่านั้น ส่วนการกำหนดส่วนที่ต่างกันก็เช่นผมนั่นแล

20.อธิบาย มตฺถลุงคํ – มันสมอง

คำว่า มันสมอง ได้แก่กองเยื่ออันตั้งอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ มันในสมองนั้น โดยสี มีสีขาวดังก้อนเห็ดหูงู แม้จะกล่าวว่ามีสีดังน้ำนมที่เสียแต่ยังไม่ทันกลายเป็นน้ำนมส้ม ก็ควร โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามโอกาส โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส อาศัยแนวประสาน 4 แนวภายในกะโหลกศีรษะ ตั้งรวมกันอยู่ดังก้อนแป้ง 4 ก้อน ที่เขาตั้งรวมกันไว้ โดยปริจเฉท กำหนดด้วยพื้นในภายในกะโหลกศีรษะและส่วนแห่งมันสมอง นี้เป็น

(หน้าที่ 38)

การกำหนดส่วนที่เป็นสภาคกันแห่งมันสมองนั้น ส่วนการกำหนดส่วนที่ต่างกันก็เช่นเดียวกับผมนั้นแล

20. อธิบาย ปิตฺตํ – ดี

คำว่า ดี ได้แก่ดี 2 อย่างคือ ดีที่มีฝัก 1 ดีที่ไม่มีฝัก 1 ในดี 2 อย่างนั้น ดีที่มีฝัก โดยสี มีสีดังน้ำมันมะซางข้น ๆ ดีที่ไม่มีฝักมีสีดังดอกพิกุลเหี่ยว โดยสัณฐาน ดีทั้ง 2 อย่างมีสัณฐานตามโอกาส โดยทิศ ดีมีฝักเกิดในทิศเบื้องบน ดีไม่มีฝักเกิดในทิศทั้ง 2 โดยโอกาส ดีที่ไม่มีฝัก ยกเว้นที่ที่เว้นจากเนื้อคือ ผม ขน เล็บ ฟัน และหนัง ที่กระด้างแห้งผากซึมซาบไปทั่วร่างที่เหลือตั้งอยู่ ดังหยาดน้ำมันซึมซาบไปทั่วน้ำฉะนั้น ซึ่งเมื่อมันกำเริบ สัตว์ทั้งหลายชักให้ตาเหลืองวิ่งเวียนไป ตัวก็สะทกสะท้านเป็นผื่นคัน ดีที่มีฝักฝังอยู่ในฝักดีซึ่งเป็นดังรังบวบขมใหญ่ตั้งแนบเนื้อตับในระหว่างหัวใจกับปอด ซึ่งเมื่อมันกำเริบสัตว์ทั้งหลายมักเป็นบ้า จิตใจแปรปรวนละทิ้งอิริโอตัปปะ สิ่งที่ไม่น่าทำก็ทำได้ คำที่ไม่น่าพูดก็พูดได้ สิ่งที่ไม่น่าคิดก็คิดได้ โดยปริจเฉท กำหนดด้วยส่วนของตน นี้เป็นการกำหนดส่วนที่เป็นสภาคกันแห่งดีนั้น ส่วนการกำหนดส่วนที่ต่างกันก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

22. อธิบาย เสมฺหํ - เสลด

คำว่า เสลด ได้แก่เสลดซึ่งมีประมาณเต็มบาตรใบหนึ่งอยู่ภายในร่างกาย เสลดนั้น โดยสี มีสีดังน้ำใบแตงหนู โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามโอกาส โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งอยู่ในกระพุ้งท้อง ซึ่งในเวลาที่กลืนอาหารมีน้ำและข้าวเป็นต้น เมื่อน้ำและข้าวตกลงไปมันก็แยกออกจากกันเป็น 2 ส่วน แล้วหุ้มห่อเข้าตามเดิม เหมือนอย่างสาหร่ายในน้ำเมื่อไม้หรือกระเบื้องตกลงไปมันก็แยกออกเป็นส่วนแล้วหุ้มเข้าตามเดิมฉะนั้น อนึ่ง เมื่อมันน้อยไปท้องจะส่งกลิ่นดังซากศพน่าเกลียดยิ่งนัก ดุจฝีแตกและดุจไข่ไก่เน่า และท้องนั้นส่งกลิ่นฟุ้ง การเรอก็ดี พูดก็ดี ก็พลอยเหม็นเช่นกลิ่นศพเน่าไปด้วย และคนผู้นั้นจะต้องถูกต่อว่าว่าออกไปส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งนัก และมันมีเพิ่มมากขึ้นแล้วก็ปิดกั้นกลิ่นซากศพในภายในกระพุ้งท้องอยู่ได้ ดังแผ่นกระดานปิดวัจกุฎี ฉะนั้น โดยปริเฉท กำหนดด้วยส่วนของเสลดเอง นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เป็นสภาคกันแห่งเสลดนั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

(หน้าที่ 39)

23. อธิบาย ปุพฺโพ – น้ำหนอง

คำว่า น้ำหนอง ความว่าหนองนั้นมีสีดังใบไม้เหลือง แต่ในร่างกายคนตายย่อมมีสีดังน้ำข้าวบูดข้น ๆ โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามโอกาส โดยทิศ เกิดในทิศทั้ง 2 โดยโอกาส ชื่อว่าโอกาสของหนองซึ่งมันเป็นที่มันขังตั้งอยู่ประจำหามีไม่ แต่ในตำแหน่งแห่งร่างกายใด ๆ ที่ถูกตอหนามตำ ถูกเครื่องประหารกระทบ หรือถูกไฟลวกเอา โลหิตย่อมห้อสุกหรือว่าฝีและต่อมเป็นต้นเกิดขึ้น มันจึงขังอยู่ในที่นั้น ๆ โดยปริจเฉท กำหนดด้วยส่วนของตน นี้เป็นการกำหนดส่วนที่เป็นสภาคกันแห่งหนอนนั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันก็เช่นกับผมนั่นแล

24. อธิบาย โลหิตํ – โลหิต

โลหิต ในบทว่า โลหิตํ นี้ มี 2 อย่าง คือ โลหิตข้น 1 โลหิตจาง 1 ในโลหิต 2 อย่างนั้น โลหิตข้นโดยสีมีสีดังน้ำครั่งข้นแก่ไฟ โลหิตจางมีสีน้ำครั่งใส โดยสัณฐาน โลหิตทั้ง 2 อย่าง มีโลหิตตามโอกาส โดยทิศ โลหิตข้นเกิดในทิศเบื้องบน โลหิตจางเกิดในทิศทั้ง 2 โดยโอกาส โลหิตจางซึมซาบทั่วร่างกายที่มีชีวิตทุกแห่ง ตั้งอยู่ตามสายช่องแห่ง เส้นเอ็น เว้นที่ผม ขน ฟัน และเล็บ ที่ตั้งพ้นจากเนื้อและหนังอันกระด้างและแห้งผากเลือดข้นท่วมอยู่ภายใต้แห่งตับมีประมาณเต็มบาตรหนึ่งค่อย ๆ ซึมไปบนไต หัวใจ ตับ และปอด ทำไต หัวใจ ตับ และปอดให้ชุ่มอยู่เสมอ เพราะเมื่อมันไม่ทำไตและหัวใจเป็นต้นให้ชุ่มอยู่ สัตว์ทั้งหลายจะเกิดกระหายขึ้น โดยปริจเฉทกำหนดด้วยส่วนของโลหิตเอง นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เหมือนกันแห่งโลหิตนั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันก็เช่นเดียวกับผมนั้นแล

25. อธิบาย เสโท –เหงื่อ

คำว่า เหงื่อ ได้แก่อาโปธาตุที่ไหลออกตามช่องขุมผมเป็นต้น เหงื่อนั้นโดยสีมีสีดังสีน้ำมันงาใส โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามโอกาส โดยทิศเกิดในทิศทั้ง 2 โดยโอกาสชื่อว่าโอกาสแห่งเหงื่อซึ่งเป็นที่ที่มันจะพึงขังตั้งอยู่ทุกเมื่อดังโลหิตหามีไม่ แต่เมื่อใดร่างกายอบอ้าวอยู่ เพราะเหตุต่าง ๆ เช่นร้อนไฟร้อนแดดและความเปลี่ยนแปลงแห่งฤดูเป็นต้น เมื่อนั้นมันจึงไหลออกตามช่องขุมผมและขนทั้งปวงดุจดังสายบัวที่มีรากและเหง้าที่ตัดไว้ไม่เรียบ

(หน้าที่ 40)

ซึ่งคนถอนขึ้นจากน้ำฉะนั้น เพราะฉะนั้น แม้พื้นฐานของเหงื่อนั้นก็พึงทราบโดยช่องขุมผมและขนนั้นแล ก็พระโยคีผู้กำหนดเหงื่อ พึงมนสิการเหงื่อตามที่มันขังตั้งเต็มขุมผมและขนนั่นเอง โดยปริจเฉท กำหนดด้วยส่วนของเหงื่อเอง นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เหมือนกันแห่งเหงื่อนั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

26. อธิบาย เมโท – มันข้น

คำว่า เมโท แปลว่า มันข้น มันข้นนั้นมีสีมีสีดังขมิ้นที่ถูกผ่า โดยสัณฐานสำหรับคนอ้วนมีสัณฐานเหมือนผ้าเก่าเนื้อหยาบมีสีดังขมิ้นที่วางไว้ในระหว่างหนังกับเนื้อ สำหรับคนผอมที่มีสัณฐานดังผ้าเก่าเนื้อหยาบมีสีดังสีขมิ้นที่วางซ้อนกันไว้มี 2-3 ชั้น แนบติดเนื้อเหล่านี้ คือเนื้อแข้ง, เนื้อขาอ่อน, เนื้อหลังที่ติดกระดูกสันหลัง, เนื้อช่องท้อง โดยทิศเกิดในทิศทั้ง 2 โดยโอกาสตั้งแผ่ไปทั่วร่างของคนอ้วนและตั้งติดเนื้อต่าง ๆ เช่นเนื้อแข้งเป็นต้นของคนผอมอยู่ ซึ่งแม้นับว่าเป็นมัน แต่เพราะมันเป็นของน่าเกลีัยดยิ่งนัก คนทั้งหลายจึงไม่ถือเอามาใช้เป็นน้ำมันทาที่ศีรษะ ไม่ถือเอามาใช้เป็นน้ำมันอย่างอื่น ๆ มีน้ำมันสำหรับนัดจมูกเป็นต้น โดยปริจเฉท เบื้องต่ำกำหนดด้วยเนื้อ เบื้องบนกำหนดด้วยหนัง เบื้องขวางกำหนดด้วยส่วนของมันเอง นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เหมือนกันแห่งมันข้นนั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันเช่นเดียวกับผมนั้นแล

27. อธิบาย อสฺสุ – น้ำตา

คำว่า อสฺสุ ได้แก่อาโปธาตุซึ่งหลั่งออกจากดวงตาทั้งหลาย น้ำตานั้นโดยสีมีสีดังสีน้ำมันข้น โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามโอกาส โดยทิศเกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาสเกิดอยู่ในกระบอกตา ดังน้ำดีอยู่ในฝักดี แต่เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายเกิดความดีใจหัวเราะใหญ่หรือเกิดเสียใจร้องไห้คร่ำครวญอยู่หรือกลืนกินอาหารแสลงเห็นปานนั้นเข้าไป และเมื่อใด ดวงตาของสัตว์เหล่านั้นถูกสิ่งที่ทำให้น้ำตาไหลมีควันละอองและฝุ่นเป็นต้นกระทบ เมื่อนั้น น้ำตาก็ตั้งขึ้น เพราะความดีใจ ความเสียใจ หรืออาหารฤดูที่แสลงเหล่านั้น แล้วเอ่ออยู่เต็มเบ้าตาบ้าง ไหลออกมาบ้าง ก็พระโยคีผู้จะกำหนดน้ำตาก็พึงกำหนดเอาตามที่มันเอ่ออยู่เต็มเบ้าตานั่นแหละ โดยปริเฉท กำหนดด้วยส่วนของน้ำตาเอง นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เหมือนกันแห่งน้ำตาเหล่านั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

(หน้าที่ 41)

28. อธิบาย วสา – มันเหลว

คำว่า วสา ได้แก่มันที่เป็นส่วนเหลว มันเหลวนั้นโดยสีมีสีดังน้ำมันมะพร้าว แม้จะเรียกว่ามีสีดังสีน้ำมันที่ราดลงไปในน้ำข้าวก็ควร โดยสัณฐานมีสัณฐานดังหยาดน้ำมันที่ซ่านไปลอยคว้างอยู่เหนือน้ำอันใสในเวลาอาบ โดยทิศเกิดในทิศทั้ง 2 โดยโอกาสโดยมากมันตั้งอยู่ในฝ่ามือ หลังมือ ฝ่าเท้า หลังเท้า ปลายจมูก หน้าผาก และจะงอยบ่า แต่ว่ามันหาได้ละลายอยู่ในโอกาสเหล่านี้ทุกเมื่อไม่ แต่เมื่อใด ตำแหน่งเหล่านั้นเกิดอบอ้าวขึ้นเพราะร้อนไฟ ร้อนแดด ผิดอากาศ และธาตุพิการ เมื่อนั้น มันจึงกระจัดกระจายไปทางโน้นทางนี้ในที่เหล่านั้น ดังหยาดน้ำมันที่ซ่านไปบนน้ำใสในเวลาอาบ ฉะนั้น โดยปริจเฉทกำหนดด้วยส่วนของมันเหลวเองนี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เหมือนกันแห่งมันเหลวเหล่านั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

29. อธิบาย เขโฬ – น้ำลาย

คำว่า เขโฬ น้ำลาย ได้แก่อาโปธาตุที่ผสมน้ำลายเป็นฟองขึ้นภายในปาก น้ำลายนั้นโดยสีมีสีดังฟองน้ำ โดยสัณฐานมีสัณฐานตามโอกาส แม้จะกล่าวว่ามีสัณฐานดังฟองน้ำก็ได้ โดยทิศเกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาสมันไหลลงมาจากกระพุ้งแก้มทั้ง 2 แล้วขังตั้งอยู่ที่ลิ้นก็น้ำลายนี้ขังอยู่ในกระพุ้งแก้มทั้ง 2 นี้เป็นนิตย์หามิได้ แต่เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายเห็นหรือนึกถึงอาหารเห็นปานนี้หรือวางของมีรสร้อน ขม เผ็ด เค็ม เปรี้ยวอะไร ๆ ลงไปที่ปากก็ดี หรือว่าเมื่อใดหัวใจของสัตว์เหล่านั้นละเหี่ยอยู่หรือเกิดความสะอิดสะเอียนในสิ่งทุกอย่าง เมื่อนั้นน้ำลายย่อมเกิดขึ้นแล้วไหลลงออกจากกระพุ้งแก้มทั้ง 2 ขังตั้งอยู่ที่ลิ้น อนึ่ง น้ำลายนั้น ที่ปลายลิ้นใส ที่กกลิ้นข้น ก็ข้าวเม่าหรือข้าวสารหรือของเคี้ยวอะไร ๆ อย่างอื่นที่ใส่เข้าไปในปากน้ำลายจะสามารถให้ชุ่มอยู่ได้มิได้สิ้นไปเลย ดุจน้ำในบ่อที่ขุดในหาดทรายไม่รู้จักสิ้นฉะนั้น โดยปริเฉท กำหนดด้วยส่วนของน้ำลายเอง นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เหมือนกันแห่งน้ำลายนั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันเช่นเดียวกับผมนั่นแล

30. อธิบาย สิงฺฆานิกา – น้ำมูก

คำว่า สิงฺฆาณิกา น้ำมูก ได้แก่น้ำอันไม่สะอาดที่ไหลออกจากมันสมอง น้ำมูกนั้น โดยสีมีสีดังเยื่อในเม็ดตาลอ่อน โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามโอกาส โดยทิศเกิดในทิศเบื้อง

(หน้าที่ 42)

บน โดยโอกาสมันตั้งเต็มกระพุ้งจมูก แต่น้ำมูกนั้นมิได้ขังตั้งอยู่ในที่ในนั้นทุกเมื่อดอก โดยที่แท้ เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายร้องไห้ก็ดี เป็นผู้มีความกำเริบแห่งธาตุอันเกิดขึ้นด้วยอำนาจอาหารแสลงและฤดูเปลี่ยนแปลงก็ดี เมื่อนั้น มันในสมองก็กลายเป็นเสมหะแล้วไหลเคลื่อนจากภายในศีรษะส่งมาตามช่องเพดานจนเต็มกระพุ้งจมูกอยู่บ้าง หรือออกมาบ้าง เปรียบเหมือนคนห่อนมส้มไว้ในใบบัว แล้วใช้หนามแทงด้านล่าง เมื่อนั้น หยาดนมส้มใสก็จะพึงหยดออกจากช่องนั้นฉะนั้น ก็แล พระโยคีผู้กำหนดน้ำมูก พึงกำหนดตามที่มันขังตั้งเต็มกระพุ้งจมูกอยู่นั่นแล โดยปริจเฉท กำหนดด้วยส่วนของน้ำมูก นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เหมือนกันแห่งน้ำมูกนั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

31. อธิบาย ลสิกา – ไขข้อ

คำว่า ลสิกา ได้แก่ซากมีกลิ่นเป็นมันภายในแห่งข้อต่อในร่างกาย ไขข้อนั้นโดยสี มีสีดังยางดอกกรรณิการ์ โดยสัณฐานมีสัณฐานตามโอกาส โดยทิศเกิดในทิศทั้ง 2 โดยโอกาสตั้งอยู่ในภายในข้อต่อ 180 แห่ง คอยทำหน้าที่หล่อลื่นข้อต่อกระดูกทั้งหลาย ก็แลไขข้อนั้นสำหรับผู้ที่มีไขข้อน้อย เมื่อผู้นั้นลุกขึ้นนั่งลงก้าวไปข้างหน้าถอยหลังกลับคู้เหยียด กระดูกย่อมลั่นดังเผาะแผะทำเสียงดุจเสียงนิ้วมือ แม้ผู้นั้นเดินไปสู่ทางไกลแต่เพียง 1-2 โยชน์ วาโยธาตุย่อมกำเริบ เนื้อตัวย่อมเมื่อยขบ แต่สำหรับผู้ใดมีไขข้อมาก กระดูกทั้งหลายของผู้นั้นจะไม่ลั่นดังกฏะกฏะ ในเพราะความเคลื่อนไหวมีลุกนั่งเป็นต้น แม้เมื่อเขาเดินทางไกลแสนไกลวาโยธาตุก็ไม่กำเริบ เนื้อตัวก็ไม่เมื่อยขบ โดยปริจเฉทกำหนดด้วยส่วนของไขข้อนี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนที่เหมือนกันแห่งไขข้อนั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ต่างกันก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

32. อธิบาย มุตฺตํ – มูตร

พึงทราบวิจฉันในคำว่า มุตฺตํ มูตร ดังต่อไปนี้ มูตรนั้น โดยสีมีสีดังสีเหมือนน้ำด่างถั่วราชมาส โดยสัณฐานมีสัณฐานเหมือนน้ำที่มีอยู่ในหม้อน้ำซึ่งเขาวางคว่ำไว้ โดยทิศเกิดในทิศเบื้องต่ำ โดยโอกาสอยู่ในภายในหัวไส้ ชื่อว่าหัวใส้ ท่านหมายเอากระพุ้งหัวใส้ที่มูตรเข้าไปได้ทางสรีระ แต่ทางเข้าไปแห่งมูตรนั้นไม่ปรากฏ อย่างเดียวกันกับน้ำในบ่อน้ำคร่ำ ซึ่งเข้าไปได้ในหม้อซึมที่ไม่มีปากอันเขาทิ้งไว้ในบ่อน้ำคร่ำ แต่ทางเข้าไปแห่งน้ำนั้นไม่ปรากฏฉะนั้น ส่วนทางออกของมูตรนั้นย่อมปรากฏ และเมื่อมูตรเต็มแล้ว สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดความขวนขวายว่าจักถ่ายปัสสาวะ โดยปริจเฉทกำหนดด้วยภายในแห่งหัวไส้และส่วนแห่งมูตร นี้เป็นการกำหนดโดยส่วนที่เหมือนกันแห่งมูตรนั้น ส่วนการกำหนดที่ต่างกันก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

(หน้าที่ 43)

ก็เมื่อพระโยคาวจรกำหนดส่วนทั้งหลายมีผมเป็นต้น ด้วยสามารถแห่งสี สัณฐาน ทิศ โอกาส และเขตกำหนดด้วยประการฉะนี้แล้ว มนสิการว่า ปฏิกูล ปฏิกูล โดยอาการ 5 คือ สี สัณฐาน กลิ่น ที่อาศัย และโอกาส โดยนัยมีอาทิว่า โดยลำดับ โดยไม่เร็วนัก ในที่สุดแห่งการล่วงบัญญัติธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมปรากฏประดุจไม่ก่อนไม่หลังแก่พระโยคาวจรผู้แลดูอยู่ซึ่งกายนี้ว่าผมมีอยู่ในกายนี้เป็นต้น อย่างเดียวกันกับดอกไม้ทั้งหมด ย่อมปรากฏประดุจไม่ก่อนไม่หลังแก่บุรุษผู้มีจักษุ ผู้แลดูอยู่ซึ่งระเบียบดอกไม้ 32 ชนิด ซึ่งร้อยไว้ในเส้นด้ายอันเดียวกันฉะนั้น เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวไว้ในมนสิการโกสัลลกถาว่า ก็เมื่อพระโยคาวจรผู้ริเริ่มบำเพ็ญเพียรมนสิการอยู่ว่า ผมทั้งหลาย ดังนี้ มนสิการย่อมไปจรดส่วนที่สุดว่า มูตร นี้ตั้งอยู่ ก็ถ้าพระโยคาวจรชักมนสิการเข้าไปแม้ในภายนอก ครั้นเมื่อส่วนทั้งหมดเป็นสภาพปรากฏอย่างนั้นแก่พระโยคาวจรนั้น สัตว์ทั้งหลายมีมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานเป็นต้นที่กำลังเที่ยวไปอยู่ ก็จะละอาการแห่งสัตว์ปรากฏ ด้วยสามารถเป็นกองแห่งส่วนเท่านั้น ทั้งวัตถุมีปานะและโภชนะเป็นต้นที่สัตว์เหล่านั้นกำลังกลืนกินก็จะปรากฏดุจใส่เข้าในกองแห่งส่วน ครั้นเมื่อมนสิการเนือง ๆ ด้วยสามารถแห่งวิธีมีการละลำดับเป็นต้น อัปปนาย่อมเกิดขึ้นโดยลำดับ ในภาวนาในวิธีนั้น การปรากฏด้วยสามารถแห่งสี สัณฐาน ทิศ โอกาส และเขตกำหนดแห่งส่วนทั้งหลายมีผมเป็นต้น จัดเป็นอุคคหนิมิต การปรากฏด้วยสามารถแห่งความเป็นของปฏิกูลโดยอาการทั้งปวง เป็นปฏิภาคนิมิต เมื่อพระโยคาวจรเสพอยู่โดยมากซึ่งปฏิภาคนิมิตนั้น ยังปฏิภาคนิมิตให้เป็นไปอยู่ อัปปนาย่อมเกิดขึ้น ด้วยสามารถแห่งความเป็นปฐมฌาน ดุจในอสุภกัมมัฏฐานทั้งหลายตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล อัปปนานั้น สำหรับท่านผู้มีส่วนหนึ่งปรากฏเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หรือว่าท่านถึงอัปปนาในส่วนหนึ่งแล้วไม่ทำความเพียรในส่วนอื่นอีก ย่อมเกิดขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น แต่สำหรับท่านที่มีส่วนอื่นปรากฏไม่ใช่ส่วนเดียว หรือท่านที่ได้บรรลุฌานในส่วนหนึ่งแล้วย่อมทำความเพียรแม้ในส่วนอื่นอีก ปฐมฌานทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นโดยจำนวนแห่งส่วน ดุจปฐมฌานที่เกิดแก่พระมาลาเถระ

(หน้าที่ 44)

เรื่องพระมาลาเถระ

ได้ยินว่าท่านพระมาลาเถระนั้นจับมือพระทีฆภาณกอภยเถระแล้วกล่าวว่า ท่านอภัย จงเรียนปัญหานี้แต่ทีนี้ก่อน ดังนี้แล้วกล่าวต่อไปว่า พระเถระแก่ได้ปฐมฌาน 32 ในโกฏฐาสะ 32 ถ้ากลางคืนเข้าปฐมฌานอย่างหนึ่ง กลางวันเข้าปฐมฌานอย่างหนึ่ง ท่านย่อมเวียนมาถึงปฐมฌานนั้นอีกโดยกาลกึ่งเดือน แต่ถ้าวันหนึ่งเข้าปฐมฌานอย่างหนึ่ง ท่านย่อมเวียนมาถึงปฐมฌานนั้นอีกโดยกาลเกินเดือนหนึ่ง แม้กรรมฐานนี้จะสำร็จด้วยสามารถแห่งความเป็นปฐมฌานอย่างนี้ ท่านก็กล่าวว่า กายคตาสติ เพราะสำเร็จด้วยกำลังแห่งสติในปกิณณกะมีสีและสัณฐานเป็นต้น

ก็แลโยคีบุคคลผู้หมั่นประกอบกายคตาสตินี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ครอบงำทั้งความยินร้ายและความยินดี อันความยินร้ายก็ครอบงำท่านไม่ได้ และความยินดีหาได้ครอบงำท่านไม่ ท่านข่มเสียได้ ครอบงำเสียได้ ซึ่งความไม่ยินดีที่เกิดขึ้นอยู่ เป็นผู้ข่มความกลัวภัยได้ อันความกลัวภัยหาข่มท่านได้ไม่ แต่ท่านข่มเสียได้ ครอบงำเสียได้ ซึ่งความกลัวภัยที่เกิดขึ้นอยู่เป็นผู้ทนต่อความหนาว ร้อน ฯลฯ เป็นคนชาติอดกลั้นต่อทุกขเวทนาแรงกล้าอันจะคร่าชีวิตเสียได้ ย่อมอาศัยสีต่าง ๆ แห่งส่วนทั้งหลายมีผมเป็นต้น จะเป็นผู้ได้ฌาน 4 แทงตลอดอภิญญา 6

เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุผู้มีปัญญาพึงเป็นผู้ไม่ประมาท บำเพ็ญ

กายคตาสตินี้ อันมีอานิสงส์เป็นอเนกดังกล่าวมา ฉะนี้

นี่เป็นกถามุขอย่างพิสดารในกายคตาสติ

(หน้าที่ 45)

อานาปานสติกถา

บัดนี้ถึงลำดับการแสดงการเจริญ อานาปานสติกัมมัฏฐาน มีวัตถุ 16 ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญไว้อย่างนี้ว่า

อานาปานสติสูตร

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิแม้นี้แล อันพระโยคีเจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นธรรมสงบประณีตเยือกเย็นและเป็นเครื่องอยู่เป็นสุข และยังอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานสงบระงับไปโดยพลัน" ดังนี้

แล้วทรงแสดงไว้อย่างนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติสมาธิอันพระโยคีอบรมแล้วอย่างไร ? ทำให้มากแล้วอย่างไร ? จึงเป็นธรรมสงบประณีตเยือกเย็นและเป็นเครื่องอยู่เป็นสุข และยังอกุศลธรรมอันลามก ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานสงบระงับโดยพลัน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ผู้อยู่ป่าหรืออยู่ตามโคนไม้หรืออยู่ในเรือว่างเปล่านั่งคู่บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

จตุกกะ 4 วัตถุ 16

จตุกกะ ที่ 1

1. เธอหายใจออกยาวก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว หรือหายใจเข้ายาวก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว

2. เธอหายใจออกสั้นก็รู้ว่าเราหายใจออกสั้น หรือหายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าเราหายใจเข้าสั้น

3. เธอสำเหนียกว่าเราเป็นผู้รู้ตลอดกายทั้งปวงหายใจออก สำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้รู้ตลอดกายทั้งปวงหายใจเข้า

4. สำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้ระงับกายสังขารทั้งปวงหายใจออก เราจักเป็นผู้ระงับกายสังขารทั้งปวงหายใจเข้า

จตุกกะ ที่ 2

5. สำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้รู้ซึ่งปีติหายใจออก สำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้รู้ซึ่งปีติหายใจเข้า

(หน้าที่ 46)

6. สำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้รู้ซึ่งสุขกายหายใจออก สำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้รู้ซึ่งสุขกายหายใจเข้า

7. สำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้รู้ซึ่งจิตสังขารหายใจออก สำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้รู้ซึ่งจิตสังขารหายใจเข้า

8. สำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้ระงับจิตสังขารหายใจออก สำเหนียกว่าเราเป็นผู้ระงับจิตสังขารหายใจเข้า

จตุกกะ ที่ 3

9. สำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตหายใจออก สำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตหายใจเข้า

10. สำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้ยังจิตให้บันเทิงหายใจออก สำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้ยังจิตให้บันเทิงหายใจเข้า

11. สำเหนียกว่าเราจักตั้งจิตมั่นหายใจออก สำเหนียกว่าเราจักตั้งจิตมั่นหายใจเข้า

12. สำเหนียกว่าเราจักเปลื้องจิตหายใจออก สำเหนียกว่าเราจักเปลื้องจิตหายใจเข้า

จตุกกะ ที่ 4

13. สำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงหายใจออก สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงหายใจเข้า

14. สำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความคลายไปหายใจออก สำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความคลายไปหายใจเข้า

15. สำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความดับไปหายใจออก สำเหนียกว่าเราจักพิจารณาเห็นความดับไปหายใจเข้า

16. สำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความสลัดทิ้งหายใจออก สำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้พิจาณาเห็นความสลัดทิ้งหายใจเข้า"

(หน้าที่ 47)

ก็เพราะอานาปานสติสมาธินั้น เมื่อกล่าวตามแนวของการพรรณนาพระบาลีนั้นแล ย่อมบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ฉะนั้น ในอธิการอันว่า อานาปานสติสมาธินั้น จึงมีการแสดงอันมีการพรรณนาพระบาลีเป็นตัวนำดังต่อไปนี้

อันดับแรกพึงวินิจฉัยในคำบริกรรมกรรมฐานว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติสมาธิอันพระโยคีอบรมแล้วอย่างไร ? (กถํ ภาวิโต จ ภิกฺขเว อานาปานสฺสติสมาธิ)" ดังต่อไปนี้

คำว่า "อย่างไร ? (กถํ)" นี้เป็นคำถามด้วยความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะขยายอานาปานสติสมาธิภาวนา ให้พิสดารโดยประการต่าง ๆ คำว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติสมาธิอันพระโยคีอบรมแล้วอย่างไร ? (กถํ ภาวิโต จ ภิกฺขเว อานาปานสฺสติสมาธิ)" นี้เป็นคำทรงแสดงไขธรรมที่ทรงตรัสถามไว้ด้วยความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะตรัสให้พิสดารโดยประการต่าง ๆ แม้ในคำว่า "ทำให้มากแล้วอย่างไร ? ฯลฯ ให้อันตรธานสงบระงับโดยพลัน (กถํ พหุลีกโต ฯลฯ วูปสเมติ)" นี้ ก็นัยนี้เหมือนกัน. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า "อบรมแล้ว (ภาวิโต)" นี้ ได้แก่ เกิดขึ้นแล้วหรือเจริญแล้ว. บทว่า อานาปานสติสมาธิ ได้แก่ สมาธิที่สัมปยุตด้วยสติอันกำหนดเอาลมหายใจออกและลมหายใจเข้า หรือสมาธิในอานาปานสติ ชื่อว่าอานาปานสติสมาธิ บทว่า พหุลีกโต ได้แก่ ทำบ่อย ๆ

คำว่า สนฺโต เจว ปณีโต จ นี้ได้แก่สงบด้วยประณีตด้วย พึงทราบการกำหนดความด้วย เอว ศัพท์ใน 2 บท พระองค์ทรงอธิบายไว้อย่างไร ? ทรงอธิบายไว้ว่า อันอานาปานสติสมาธินี้จะได้เป็นธรรมสงบและประณีต โดยปริยายไร ๆ เหมือนอย่างอสุภกัมมัฏฐาน ซึ่งสงบและประณีตโดยปฏิเวธอย่างเดียว แต่ไม่สงบและประณีตโดยอารมณ์เลย เพราะมีอารมณ์หยาบและมีสิ่งปฏิกูลเป็นอารมณ์หามิได้ โดยที่แท้ เป็นธรรมชื่อว่าสงบคือเข้าไปสงบดับสนิท เพราะทั้งสงบโดยอารมณ์ เพราะทั้งสงบโดยองค์กล่าวคือปฏิเวธ ชื่อว่า ประณีต คือไม่ทำให้เบื่อหน่ายเพราะทั้งประณีตโดยอารมณ์เพราะทั้งประณีตโดยองค์ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า อานาปานสติสมาธินี้เป็นธรรมสงบทั้งประณีต

อธิบาย อเสจนโก

ก็ในบทว่า อเสจนโก นี้มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ เครื่องรดของสมาธินั้นไม่มี เพราะเหตุนั้น สมาธินั้นชื่อว่าไม่มีเครื่องรด คือไม่ถูกตามรด ไม่ปะปน เป็นแผนกหนึ่งโดยเฉพาะ อธิบายว่า ในสมาธินี้ไม่มีอาการสงบด้วยบริกรรมหรืออุปจาร ความว่า จำเดิมแต่การกำหนดในเบื้องต้น ย่อมสงบและประณีตตามสภาวะของตนนั่นเอง

(หน้าที่ 48)

ฝ่ายอาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่า อเสจนโก ความว่า ไม่ต้องรด มีโอชาอร่อยตามสภาวะนั่นเอง พึงทราบว่า อานาปานสติสมาธินี้ ชื่อว่าไม่มีเครื่องรดดังกล่าวมา ฉะนี้ ชื่อว่าเป็นเครื่องอยู่เป็นสุข เพราะเป็นไปเพื่อสุขทางกายและสุขทางใจ ในขณะที่ถึงอัปปนา บทว่า อุปฺปนฺนุปฺปนฺเน ได้แก่ที่ยังข่มไม่ได้แล้ว ๆ บทว่า ปาปเก แปลว่า ลามก บทว่า อกุสเล ธมฺเม ได้แก่ ธรรมอันเกิดแต่ความไม่ฉลาด บทว่า ฐานโส อนฺตรธาเปติ ความว่า ย่อมอันตรธานไป คือข่มลงได้โดยขณะนั่นเอง บทว่า อุปสเมติ ความว่า ย่อมให้สงบไปด้วยดี อีกอย่างหนึ่ง เธอถึงความเจริญแห่งอริยมรรคโดยลำดับย่อมตัดขาด อธิบายว่า ให้สงบระงับไป เพราะอานาปานสติสมาธิเป็นธรรมมีส่วนตรัสรู้ได้

ก็ในพระบาลีนี้ มีความสังเขปดังต่อไปนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้วด้วยประการไร ด้วยอาการไร ด้วยวิธีไร ทำให้มากด้วยประการไร จึงเป็นธรรมสงบโดยแท้ ฯลฯ ให้เข้าไปสงบโดยพลันด้วย

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงอรรถาธิบายความนั้นให้พิสดาร จึงตรัสว่า อิธ ภิกฺขเว เป็นต้น บรรดาบทเหล่านั้น คำว่า อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ด้วยว่า อิธ ศัพท์ ในพระบาลีนั้นเป็นศัพท์แสดงถึงพระศาสนาอันเป็นที่ก่อเกิดแห่งบุคคลผู้ยังอานาปานสติสมาธิมีประการทั้งปวงให้เกิด และ เป็นการปฏิเสธความเป็นอย่างนั้นแห่งศาสนาอื่น สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะมีอยู่ในพระศาสนานี้เท่านั้น ฯลฯ ลัทธิอื่น ๆ ว่างเปล่าจากสมณะทุกจำพวก เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า อิมสฺมึ สาสเน ภิกฺขุ ดังนี้เป็นต้น

อธิบายเสนาสนะอันสมควร

คำว่า อรญฺญคโต วา รุกฺขมูลคโต วา สุญฺญาคารคโต วา นี้เป็นคำแสดงการกำหนดเสนาสนะอันสมควรแก่การเจริญอานาปานสติสมาธิของพระโยคาวจรนั้น เพราะจิตของท่านซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ มีรูปารมณ์เป็นต้นตลอดกาลนาน ไม่ปรารถนาจะขึ้นสู่อารมณ์แห่งอานาปานสติสมาธิ มัวแต่จะแล่นออกไปนอกทาง ดังรถที่เขาเทียมด้วยโคโกงแล่นออกไปนอกทางฉะนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เลี้ยงโคปรารถนาจะฝึกลูกโคโกงที่เติบโต

(หน้าที่ 49)

ขึ้นเพราะได้ดื่มน้ำนมแม่โคโกง เขาจึงพรากจากแม่โคโกงฝังหลักใหญ่ไว้ข้างหนึ่ง ล่ามด้วยเชือกไว้ที่หลักนั้น ครั้นแล้ว ลูกโคตัวนั้นของเขาดิ้นไปข้างโน้นข้างนี้ เมื่อไม่อาจจะหนีไปได้ก็จะพิงหมอนอิงหรือนอนอิงหลักนั้นนั่นเอง แม้ฉันใด แม้ภิกษุนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อประสงค์จะฝึกจิตที่ชั่วร้ายอันเติบโตขึ้นเพราะดื่มรสอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้นตลอดกาลนาน ก็พึงพรากจากอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้น เข้าไปสู่ป่าหรือโคนไม้หรือเรือว่างเปล่า แล้วผูกไว้ที่หลักคือลมหายใจออกแล้วหายใจเข้านั้นด้วยเชือกคือสติ เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตของเธอนั้นแม้จะดิ้นรนไปข้างโน้นข้างนี้ เมื่อไม่ได้อารมณ์ที่เคยชินก็ไม่อาจจะตัดเชือกคือสติหนีไปได้ก็ย่อมจะหมอบและแอบอิงอารมณ์นั้นนั่นเอง ด้วยอำนาจอุปจาระและอัปปนา เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า-

นรชนในโลกนี้จะฝึกลูกโคพึงผูกไว้ที่หลัก ฉันใด

พระโยคาวจรในศาสนานี้ทรงผูกจิตของตนไว้ที่อารมณ์ให้มั่นด้วยสติ ฉันนั้นเถิด

เสนาสนะนั้นย่อมเป็นสถานควรแก่การเจริญอานาปานสติสมาธินั้น ด้วยประการฉะนี้ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า คำว่า อรญฺญคโต วา ไปสู่ป่าก็ตามเป็นต้น นี้เป็นคำแสดงการกำหนดเสนาสนะอันเหมาะสมแก่การเจริญอานาปานสติสมาธิของพระโยคาวจรนั้นอีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่อานาปานสติกัมมัฏฐานนี้ เป็นยอดในประเภทกรรมฐาน เป็นเหตุใกล้แห่งการบรรลุคุณพิเศษ และการอยู่เป็นสุขในภพปัจจุบัน ของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งปวง พระโยคาวจรจะไม่ละจากละแวกบ้านอันอื้ออึงไปด้วยเสียงหญิงชายช้างม้าเป็นต้น แล้วเจริญอานาปานสติ ไม่กระทำได้ง่ายเลยเพราะฌานมีเสียงเป็นข้าศึก แต่พระโยคาวจรจะทำได้ง่ายเมื่อเขาอยู่ในป่าซึ่งไม่ใช่หมู่บ้าน แล้วจึงกำหนดกรรมฐานนี้ (ดูลม) ยังจตุตถฌานอันมีลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ให้เกิด แล้วทำฌานนั้นนั่นแหละให้เป็นบาท แล้วพิจารณาสังขารแล้วบรรลุพระอรหันต์เป็นผลเลิศ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเมื่อจะแสดงเสนาสนะอันเหมาะสมแก่พระโยคาวจรผู้เจริญอานาปานสติสมาธินั้น จึงตรัสว่า อรญฺญคโต วา อยู่ป่าก็ตาม ดังนี้เป็นต้น

(หน้าที่ 50)

พระศาสดาทรงชี้แนะพื้นที่

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นดังอาจารย์ผู้ชำนาญดูพื้นที่ อาจารย์ผู้ชำนาญดูพื้นที่ที่จะสร้างเมืองพิจารณาดูตลอดแล้วบอกว่า พวกท่านจงสร้างเมืองในพื้นที่นี้เถิด และเมื่อเมืองสำเร็จโดยสวัสดีย่อมได้รับสักการะใหญ่จากราชตระกูล ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นก็เป็นฉันนั้นเหมือนกัน ทรงพิจารณาใคร่ครวญดูเสนาสนะอันเหมาะสมแก่พระโยคาวจรแล้วชี้ว่า พึงหมั่นประกอบพระกรรมฐานในที่นี้ แต่นั้นเมื่อพระโยคีหมั่นประกอบกรรมฐานในที่นั้น โดยลำดับ ย่อมได้รับสักการะใหญ่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนอ ดังนี้ ส่วนว่าพระภิกษุนี้ ท่านกล่าวเป็นเสมือนเสือเหลือง พึงทราบอธิบายว่า เหมือนกับพญาเสือเหลืองใหญ่อาศัยพงหญ้าป่ารกหรือดงภูเขาในป่า แอบจับหมู่เนื้อมีกระบือป่า กวาง และสุกรเป็นต้น ฉันใด ภิกษุผู้ประกอบกรรมฐานอยู่ในเสนาสนะอันเหมาะสมมีป่าเป็นต้นนี้ ก็ย่อมยึดเอาโสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตมรรค ตามลำดับ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

ธรรมดาว่าเสือเหลืองย่อมคอยแอบจับหมู่เนื้อ แม้ฉันใด

พระพุทธบุตรประกอบความเพียรเจริญวิปัสสนานี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

เข้าสู่ป่าจึงยึดเอาผลอันสูงสุด

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงเสนาสนะป่า อันเป็นภูมิที่เหมาะสมแห่งกำลังแห่งความบากบั่นของพระโยคาวจรภิกษุนั้น จรึงตรัสว่า อรญฺญคโต วา อยู่ป่าก็ตาม ดังนี้เป็นต้น

อธิบาย ลักษณะป่า

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อรญฺญคโต ได้แก่ไปสู่ป่าอันมีความสุขอันเกิดแต่ความสงัดเงียบอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาป่าซึ่งมีลักษณะดังกล่าวอย่างนี้ว่า ที่ชื่อว่าป่าคือสถานที่เป็นภายนอกจากเสาเขื่อนออกไป ทั้งหมดนั้นจัดเป็นป่า แล้วว่าเสนาสนะที่ชื่อว่าอยู่ในป่าคือ

(หน้าที่ 51)

สถานที่อันมีในที่สุดชั่ว 500 คันธนูเป็นอย่างต่ำ บทว่า รุกฺขมูลคโต แปลว่าไปสู่ที่โคนไม้ บทว่า สุญฺญาคารคโต แปลว่าไปสู่โอกาสอันว่างคือสงัด ก็ในพระบาลีบทนี้เว้นที่ที่เป็นป่าและโคนไม้เสีย แม้จะไปสู่เสนาสนะที่เหลืออีก 7 อย่าง จะเรียกว่าผู้อยู่ในเรือนอันว่างเปล่าก็ควร

อิริยาบถที่สมควร

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงชี้เสนาสนะอันเหมาะสมแก่การเจริญอานาปานสติอันสมควรแก่ฤดูทั้ง 3 และสมควรแก่ธาตุและจริยาแก่พระโยคาวจรอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงชี้อิริยาบถอันสงบ อันไม่เป็นไปในฝ่ายหดหู่และไม่เป็นไปในฝ่ายฟุ้งซ่านแก่พระโยคาวจรนั้น จึงตรัสว่า นั่ง ดังนี้ ลำดับนั้นเมื่อจะทรงแสดงการนั่งที่มั่นคง ภาวะที่เป็นไปสะดวกหายใจออกเข้า และอุบายในการกำหนดอารมณ์ จึงตรัสว่า คู้บัลลังก์ ดังนี้เป็นต้น

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปลฺลงฺกํ ได้แก่การนั่งพับขาโดยรอบ บทว่า อาภุชิตวา แปลว่า คู้เข้า บทว่า อุชํ กายํ ปณิธาย แปลว่าตั้งร่างกายส่วนบนให้ตรง คือยังกระดูกสันหลัง 18 ท่อนให้ที่สุดจรดกัน เพราะเมื่อพระโยคาวจรนั่งอย่างนั้น หนังเนื้อและเอ็นย่อมไม่ตึง เมื่อเป็นอย่างนั้น เวทนาซึ่งมีการตึงหนังเนื้อและเอ็นเหล่านั้นเป็นปัจจัยที่จะพึงเกิดขึ้นทุก ๆ ขณะแก่พระโยคาวจรนั้น ก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อเวทนาเหล่านั้นไม่เกิดขึ้น จิตก็ย่อมมีอารมณ์เป็นหนึ่งกรรมฐานย่อมไม่ตกถอย ย่อมเข้าถึงความเจริญงอกงามขึ้น บทว่า ปริมุขํ สตึ อุปฎฺฐเปตวา แปลว่า พึงตั้งสติให้บ่ายหน้าต่อพระกรรมฐาน อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นความในคำนี้โดยนัยที่กล่าวในปฏิสัมภิทาอย่างนี้ว่า ศัพท์ว่า ปริ มี ปริคฺคห ความกำหนดเป็นอรรถ ศัพท์ว่า มุขํ มี นิยฺยาน ความออกไปเป็นอรรถ ศัพท์ว่า สติ มี อุปฎฺฐาน การตั้งมั่นเป็นอรรถ เหตุนั้นจึงตรัสว่า ปริมุขํ สตึ ดังนี้ก็ได้ ในปฏิสัมภิทานั้นมีความสังเขปดังนี้ว่า ทำสติมีการออกจากปฏิปักขธรรมอันกำหนดแล้วดังนี้

หายใจออกเข้าต้องมีสติกำหนด

บทว่า โส สโตว อสฺสสติ คววามว่า ภิกษุนั้นนั่งอย่างนี้และตั้งสติไว้มั่นอย่างนี้แล้ว เมื่อไม่ละสตินั้น ชื่อว่า มีสติหายใจออกมีสติหายใจเข้า ท่านอธิบายไว้ว่าเป็น สโตการี ผู้ทำสติ

(หน้าที่ 52)

บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงอาการอันเป็นเหตุให้ภิกษุนั้นได้ชื่อว่า สโตการี จึงตรัส คำว่า ทีฆํ วา อสฺสสนฺโต หรือหายใจออกยาว ดังนี้เป็นต้น สมจริงดังคำที่พระธรรมเสนาบดีเสรีบุตรกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาในวิภังค์คือคำอธิบายแห่งปาฐะว่า "โส สโตว อสฺสสติ สโต ปสฺสสติ-ภิกษุผู้นั่งคู้บัลลังก์นั้น มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก" นั้นนั่นแลว่า

"พระโยคาวจรย่อมเป็นผู้ชื่อว่า สโตการี ด้วย 32 อาการ (อานาปานัสสติ 16 x 2 = 32 ในปฏิสัมภิทามรรค) เมื่อเธอรู้ชัดว่าจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจหายใจออกยาวอยู่ สติย่อมตั้งมั่น เธอเป็นผู้ชื่อว่า สโตการี ด้วยสตินั้นด้วยปัญญานั้น เมื่อเธอรู้ชัดว่าภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจแห่งการหายใจเข้ายาวอยู่ สติย่อมตั้งมั่น เธอย่อมเป็นผู้ชื่อว่า สโตการี ด้วยสตินั้น ด้วยปัญญานั้น ฯลฯ เมื่อเธอรู้ชัดว่าจิตอารมณ์เป็นหนึ่งไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจความเป็นพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งหายใจออกอยู่ ด้วยอำนาจความเป็นผู้พิจารณาเห็นความสลัดทิ้งหายใจเข้าอยู่ สติย่อมตั้งมั่น เธอเป็นผู้ชื่อว่า สโตการี ด้วยสตินั้น ด้วยปัญญานั้น" ดังนี้

อธิบาย อัสสาสะปัสสาสะ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทีฑํ วา อสฺสสนฺโต ได้แก่ หรือเมื่อหายใจออกยาว ในอรรถกถาพระวินัยกล่าวไว้ว่า บทว่า อสฺสาโส ได้แก่ลมหายใจออก บทว่า ปสฺสาโส ได้แก่ลมหายใจเข้า แต่ในอรรถกถาพระสูตรทั้งหลายตรงกันข้าม ในลม 2 อย่างนั้น ในเวลาที่สัตว์ทั้งปวงอยู่ในครรภ์ออกจากท้องมารดา อันดับแรก ลมภายในออกมาภายนอก ทีหลังลมภายนอกพาเอาธุลีละเอียดเข้าไปภายในจรดเพดานแล้วก็ดับ อันดับแรก บัณฑิตพึงทราบลมอัสสาสะปัสสาสะ อย่างนี้

อนึ่ง พึงทราบภาวะที่ลมอัสสาสะหรือปัสสาสะเหล่านั้นยาวและสั้น โดยระยะกาลเหมือนอย่างว่า น้ำหรือทรายที่ตั้งแผ่ไปตลอดเนื้อที่ที่ว่าง เขาก็เรียกว่าน้ำมากทรายกว้าง น้ำหรือทรายที่ตั้งแผ่ออกไปตลอดระยะว่างน้อยหรือเวลาน้อย เขาก็เรียกว่า น้ำน้อย ทรายแคบฉันใด ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า แม้จะละเอียดและแสนจะละเอียดก็เช่นกัน ลมในร่างช้างและร่างงูค่อย ๆ ยังส่วนที่ยาวกล่าวคืออัตภาพของสัตว์เหล่านั้นให้เต็มแล้วค่อย ๆ ออกมา เพราะเหตุนั้นท่านจึงเรียกว่า ยาว ลมหายใจออกและลมหายใจเข้ายังส่วนที่สั้นกล่าวคืออัตภาพของสุนัขและกระต่ายเป็นต้นให้เต็มเร็ว แล้วออกก็เร็วเช่นกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า สั้น

(หน้าที่ 53)

ลมหายใจของมนุษย์

แต่ในพวกมนุษย์ บางพวกหายใจออกและหายใจเข้ายาว โดยกินระยะเวลานานดังช้างและงูเป็นต้น บางพวกก็หายใจออกและหายใจเข้าสั้น ดังสุนัขและกระต่ายเป็นต้น เพราะเหตุนั้น ลมหายใจเหล่านั้นของสัตว์เหล่านั้น เมื่อออกและเข้ายาวด้วยอำนาจกาล พึงทราบว่ายาว เมื่อออกและเข้าสั้นชั่วเวลานิดหน่อยด้วยอำนาจกาลก็พึงทราบว่าสั้น

รู้สึกโดยอาการ 9

ในลมหายใจออกและหายใจเข้าเหล่านั้น ภิกษุนี้เมื่อหายใจออกและหายใจเข้ายาวย่อมรู้ว่าเราหายใจออกหายใจเข้ายาวด้วยอาการ 9 ก็เมื่อเธอรู้อยู่อย่างนั้นพึงทราบว่า สติปัฏฐานภาวนาส่วนกายานุปัสสนาย่อมสำเร็จโดยอาการหนึ่ง ดังท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาว่า อย่างไร? ภิกษุเมื่อหายใจออกยาวก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว ระบายลมหายใจออกยาวในกาลที่นับว่ายาว สูดลมหายใจเข้ายาวในกาลที่นับว่ายาว เธอสูดเข้าก็ดีระบายออกก็ดีซึ่งลมหายใจออกและลมหายใจเข้ายาวในกาลที่นับว่ายาว เมื่อเธอสูดเข้าก็ดีระบายออกก็ดีซึ่งลมหายใจเข้าและลมหายใจออกยาวในกาลที่นับว่ายาว ความพอใจย่อมเกิด ด้วยอำนาจความพอใจจึงระบายลมหายใจออกยาวซึ่งละเอียดยิ่งไปกว่านั้นในกาลที่นับว่ายาว ด้วยอำนาจความพอใจจึงสูดลมหายใจเข้ายาวซึ่ง ละเอียดขึ้นไปยิ่งกว่านั้นในกาลที่นับว่ายาว ด้วยอำนาจความพอใจจึงระบายลมหายใจออกยาวบ้าง สูดลมหายใจเข้ายาวบ้าง ซึ่ง ละเอียดขึ้นไปยิ่งขึ้นไปกว่านั้นในกาลที่นับว่ายาว เมื่อระบายลมหายใจออกยาวบ้าง สูดลมหายใจเข้ายาวบ้าง ซึ่งละเอียดขึ้นไปกว่านั้นในกาลที่นับว่ายาว ด้วยอำนาจความพอใจความปลื้มย่อมเกิดด้วยอำนาจความปลื้ม จึงระบายลมหายใจออกยาวซึ่งละเอียดขึ้นไปกว่านั้น ในกาลที่นับว่ายาว ด้วยอำนาจความปลื้มจึงสูดลมหายใจเข้ายาวซึ่งละเอียดขึ้นไปกว่านั้นในกาลที่นับว่ายาว ด้วยอำนาจความปลื้มจึงระบายลมหายใจออกยาวบ้าง สูดลมหายใจเข้ายาวบ้าง ซึ่งละเอียดขึ้นไปกว่านั้นในกาลที่นับว่ายาว เมื่อระบายลมหายใจออกยาวบ้าง สูดลมหายใจเข้ายาวบ้าง ซึ่งละเอียดยิ่งไปกว่านั้นในกาลที่นับว่ายาว ด้วยอำนาจความปลื้ม จิตย่อมหมุนกลับจากลมหายใจออกเข้ายาว ความวางเฉยย่อมตั้งมั่นด้วย

(หน้าที่ 54)

การหายใจออกเข้ายาว ด้วยอาการ 9 อย่างเหล่านี้จัดเป็นกาย ความปรากฏจัดเป็นสติ ปฏิปทาเครื่องตามเห็นจัดเป็นญาณ กายเป็นเพียงการปรากฏไม่ใช่ตัวสติ สติเป็นเครื่องปรากฏและตัวสติเครื่องระลึก ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนั้นด้วยสตินั้นด้วยญาณนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าสติปัฎฐานภาวนา คือการตามเห็นกายในกาย แม้ในบทที่กำหนดลมหายใจออกสั้นก็นัยนี้เหมือนกัน ส่วนความแปลกดังต่อไปนี้คือ เหมือนอย่างในบทที่กำหนดด้วยลมหายใจออกเข้ายาวในกาลที่นับว่ายาวนั้น ท่านกล่าวว่าหายใจออกยาวในกาลที่นับว่ายาวฉันใด แม้ในบทที่กำหนดด้วยลมหายใจออกสั้นนี้ก็เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วว่าหายใจออกสั้นในกาลที่นับว่านิดหน่อย เพราะเหตุนั้น พึงประกอบด้วยสามารถแห่งลมหายใจออกเข้าสั้นจนถึงคำว่าด้วยเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่าสติปัฏฐานภาวนา คือการตามเห็นกายในกาย

พระโยคาวจรนี้เมื่อรู้ชัดลมหายใจออกเข้าโดยอาการเหล่านี้ด้วยสามารถระยะกาลนาน และด้วยสามารถระยะกาลนิดหน่อยอย่างนี้ พึงทราบว่าเมื่อหายใจออกยาวก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว ฯลฯ หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าเราหายใจเข้าสั้น

ก็แลเมื่อภิกษุนั้นรู้อย่างนี้ –

ลมทั้ง 4 ชนิด คือลมหายใจออกยาวและสั้น (รวมเป็น 2) แม้ลมหายใจเข้าก็เช่นนั้น (รวมเป็น 2) ย่อมเกิดเฉพาะปลายจมูกของภิกษุเท่านั้น

อธิบาย สพฺพกายปฏิสํเวที

คำว่า เธอย่อมสำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้รู้ตลอดกายทั้งหมดหายใจออกหายใจเข้านี้ มีอธิบายว่า พระโยคาวจรภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดแห่งกองลมอัสสาสะทั้งสิ้นให้แจ่มแจ้ง คือ ทำให้ปรากฏจักหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดแห่งกองลมปัสสาสะทั้งสิ้นให้แจ่มแจ้ง คือให้ปรากฏ จักหายใจเข้า พระโยคาวจรเมื่อกระทำให้แจ่มแจ้งคือทำให้ปรากฏอย่างนี้ ย่อมหายใจออกและหายใจเข้าด้วยจิตที่เป็นญาณสัมปยุต เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าเราจักหายใจออกเราจักหายใจเข้า

(หน้าที่ 55)

เบื้องต้นท่ามกลางที่สุดปรากฏบางรูป

จริงอยู่ สำหรับภิกษุบางรูป ในกองลมหายใจออกหรือกองลมหายใจเข้าที่ซ่านไปอย่างละเอียด ย่อมปรากฏแต่เบื้องต้น ส่วนท่ามกลางและที่สุดไม่ปรากฏ เธอก็อาจกำหนดเฉพาะเบื้องต้นเท่านั้น ย่อมลำบากในท่ามกลางและที่สุด บางรูปปรากฏแต่ท่ามกลาง ส่วนเบื้องต้นและที่สุดไม่ปรากฏ บางรูปปรากฏแต่ที่สุด ส่วนเบื้องต้นและท่ามกลางไม่ปรากฏ เธอก็อาจเพื่อกำหนดเฉพาะแต่ที่สุดเท่านั้น ย่อมลำบากในเบื้องต้นและท่ามกลาง บางรูปปรากฏทั้งหมด เธอย่อมกำหนดได้ทั้งหมดไม่ลำบากในส่วนไหนๆ เพื่อแสดงว่าพึงเป็นเช่นนั้นจึงกล่าวว่า "สพฺพกายปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามีติ ฯลฯ ปสฺสิสฺสามีติ สิกฺขติ"

บรรดาบทเหล่านั้นบทว่า สกฺขติ ความว่าย่อมเพียรคือพยายามอย่างนี้ อีกอย่างหนึ่ง บัณฑิตพึงทราบอธิบายในบทนี้อย่างนี้ว่า การสำรวมของภิกษุผู้เป็นอย่างนั้น อันใด การสำรวมนี้จัดเป็น อธิสีลสิกขา ในบรรดาสิกขา 3 นี้ สมาธิของภิกษุผู้เป็นอย่างนั้นอันใดสมาธินี้จัดเป็น อธิจิตตสิกขา ปัญญาของภิกษุผู้เป็นอย่างนั้นอันใด ปัญญานี้จัดเป็น อธิปัญญาสิกขา รวมความว่าสิกขา 3 เหล่านี้ พระโยคีย่อมศึกษา ย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมทำให้มากด้วยสตินั้นด้วยมนสิการนั้นในอารมณ์นั้น

ต้องพยายามเพื่อให้ญาณเกิด

ในบรรดานัยทั้ง 2 นั้น เพราะเหตุที่นัยแรกพระโยคาวจรพึงหายใจออกหายใจเข้าอย่างเดียวเท่านั้น และไม่พึงทำกิจอะไร ๆ อื่น แต่ว่าตั้งแต่นี้ไปเธอควรกระทำความเพียรในการยังญาณให้เกิดขึ้นเป็นต้น ฉะนั้น พึงทราบว่า พระองค์ตรัสบาลีโดยเป็นปัจจุบันกาลว่า…..อสฺสสามีติ ปชานาติ ปสฺสสามีติ ปชานาติ รู้ชัดว่าเราหายใจออก…..รู้ชัดว่าเราหายใจเข้า ดังนี้ เพื่อจะทรงแสดงอาการมีการยังญาณให้เกิดขึ้นเป็นต้น ซึ่งจำต้องทำตั้งแต่นี้ไปจึงยกบาลีด้วยอำนาจอนาคตกาลโดยนัยมีอาทิว่า สพฺพกายปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามิ ……เราจักเป็นผู้รู้ตลอดกายทั้งหมดหายใจออก ดังนี้

(หน้าที่ 56)

อธิบาย ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ

คำว่า เธอสำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้ระงับกายสังขารหายใจออก…..หายใจเข้า ความว่า เธอย่อมสำเหนียกว่าเมื่อเราทำกายสังขารที่หยาบ ให้สงบ ให้ระงับ ให้ดับ ให้เข้าไปสงบ จักหายใจออกจักหายใจเข้า ดังนี้

อาการหยาบและละเอียดสงบ

ในข้อนั้น พึงทราบภาวะ อัสสาสะ และ ปัสสาสะ หยาบละเอียดและสงบดังต่อไปนี้ จริงอยู่ ในกาลก่อนคือในกาลที่ยังมิได้กำหนด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุนี้ยังเป็นกายจิตที่ยังมีความกระวนกระวาย ยังหยาบ เมื่อภาวะที่กายและจิตหยาบไม่สงบระงับ แม้ลมหายใจออกและหายใจเข้า ก็ยังจัดว่าเป็นของหยาบ คือเป็นไปอย่างแรงกล้า จมูกไม่พอหายใจ ต้องยืนหายใจทั้งออกทั้งเข้าทางปาก แต่เมื่อใดทั้งกายทั้งจิตของเธอถูกกำหนดแล้ว เมื่อนั้น ลมหายใจออกเข้าเหล่านั้นย่อมสงบ เมื่อกายและจิตสงบแล้ว ลมหายใจออกและเข้าก็ย่อมเป็นไปละเอียด ย่อมถึงอาการคือภาวะที่จำต้องวิจัยว่ามีอยู่หรือไม่มีหนอ เปรียบเหมือนเมื่อคนแล่นลงจากภูเขา หรือปลงภาระหนักลงจากศีรษะยืนอยู่ ลมหายใจออกเข้าย่อมหยาบ จมูกไม่พอหายใจ ต้องยืนหายใจออกและเข้าทางปาก แต่เมื่อใดเขาบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยนั้นแล้ว อาบและดื่มแล้ว เอาผ้าเปียกวางไว้ตรงหัวใจ นอนพักที่ร่มไม้อันเยือกเย็น เมื่อนั้นลมหายใจออกเข้าเหล่านั้นของเธอย่อมค่อยละเอียดลง ถึงซึ่งอาการคือภาวะที่จะต้องวิจัยว่า มีหรือไม่มีหนอ แม้ฉันใด ในกาลก่อน คือในกาลที่ยังไม่กำหนด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุนี้ ฯลฯ ย่อมถึงอาการคือภาวะที่จะต้องวิจัยว่ามีหรือไม่มีหนอ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร ? เพราะเป็นความจริง ในกาลก่อนคือในกาลที่ยังไม่ได้กำหนด เธอไม่ต้องมีความคำนึงความรวบรวมใจความใส่ใจและความพิจารณาว่า เราจักระงับกายสังขารที่หยาบ ๆ แต่ในกาลที่กำหนดย่อมมี เพราะเหตุนั้นกายสังขารของเธอในกาลที่ได้กำหนด จึงละเอียดกว่าเวลาที่ยังมิได้กำหนด เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

เมื่อกายและจิตกระสับกระส่าย กายสังขารย่อมเป็นไปเกินประมาณ (หยาบ) เมื่อกายและจิตไม่กระสับกระส่าย กายสังขารย่อมเป็นไปละเอียด

(หน้าที่ 57)

ลมหยาบและละเอียดเป็นขั้น ๆ

แม้ในกาลกำหนดกายสังขารยังจัดว่าหยาบในอุปจารแห่งปฐมฌาน แม้ในอุปจารแห่งปฐมฌานนั้นก็ยังจัดว่าหยาบ ในปฐมฌานจัดว่าละเอียด ในปฐมฌานและในอุปจารแห่งทุติยฌานก็ยังจัดว่าหยาบ ในทุติยฌานจัดว่าละเอียด ในทุติยฌานและในอุปจารแห่งตติยฌานจัดว่าละเอียดในตติยฌานและในอุปจารแห่งจตุตถฌานจัดว่าหยาบ ในจตุตถฌานเองจัดว่าละเอียดอย่างยิ่ง ถึงความไม่เป็นไปทีเดียว รวมความว่า นี้เป็นมติของอาจารย์ผู้กล่าวทีฆนิกายและสังยุตนิกายก่อน

มติในมัชฌิมนิกาย

ฝ่ายอาจารย์นักมัชฌิมนิกาย ปรารถนาละเอียดยิ่งกว่านั้น แม้ในอุปจารแห่งฌานสูง ๆ กว่าฌานชั้นต่ำอย่างนี้ว่า ในปฐมฌานหยาบ ในอุปจารแห่งทุติยฌานละเอียด แต่โดยมติของอาจารย์ทั้งหมดด้วยกัน คงได้ความว่า กายสังขารที่เป็นไปในกาลที่ยังไม่ได้กำหนด ย่อมสงบระงับในกาลที่ได้กำหนด กายสังขารที่เป็นไปในกาลที่กำหนด ย่อมสงบระงับในอุปจารแห่งปฐมฌาน ฯลฯ กายสังขารที่เป็นไปในอุปจารแห่งจตุตถฌาน ย่อมระงับในจตุตถฌานดังนี้แล นี้เป็นนัยในสมถะเป็นอันดับแรก

นัยทางวิปัสสนา

ส่วนในวิปัสสนา กายสังขารที่เป็นไปในกาลมิได้กำหนดหยาบ ในกาลกำหนดมหาภูตรูปละเอียดแม้นั้น ก็ยังจัดว่าหยาบ ในกาลกำหนดอุปาทายรูปละเอียดแม้นั้น ก็ยังจัดว่าหยาบ ในกาลกำหนดรูปทั้งสิ้นละเอียดแม้นั้นก็ยังจัดว่าหยาบ ในกาลกำหนดอรูปละเอียดแม้นั้นก็ยังจัดว่าหยาบ ในเวลากำหนดรูปและนามที่ละเอียดแม้นั้นก็ยังจัดว่าหยาบ ในเวลากำหนดปัจจัยละเอียดแม้นั้นก็ยังจัดว่าหยาบ ในเวลาเห็นนามรูปพร้อมด้วยปัจจัยละเอียดแม้นั้นก็ยังจัดว่าหยาบ ในวิปัสสนาอันมีลักษณะเป็นอารมณ์ละเอียด ในวิปัสสนาที่มีกำลังอ่อนจัดว่าหยาบ ในวิปัสสนาอันมีกำลังจัดว่าละเอียด ในวิปัสสนานั้น พึงทราบความสงบระงับกายสังขารอันเป็นไปในกาลก่อน ๆ ด้วยกาลตอนหลัง ๆ โดยนัยที่กล่าวแล้วในกาลก่อนนั้นนั่นแลพึงทราบภาวะที่กายสังขารหยาบละเอียด และสงบระงับในคำว่า "ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามิ…..ปสฺสสิสฺสามิ" นี้ โดยประการดังกล่าวแล้วนี้

(หน้าที่ 58)

มติในปฏิสัมภิทามรรค

ส่วนในปฏิสัมภิทาท่านกล่าวความข้อนั้นพร้อมด้วยคำประท้วงและคำเฉลยอย่างนี้ว่า ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับกายสังขารหายใจออกหายใจเข้า อย่างไร ? กายสังขารเป็นไฉน ? คือธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นไปในกองลมหายใจออกและหายใจเข้ายาว อันนี้เป็นธรรมเกี่ยวเนื่องด้วยกาย ภิกษุทำกายสังขารเหล่านั้นให้ระงับ คือให้ดับใจให้เข้าไปสงบ ชื่อว่าย่อมสำเหนียก ฯลฯ สำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขาร นี่เป็นเหตุให้กายโยกโคลงโอนเอนส่ายสั่นหวั่นไหวไปมาเสีย หายใจออก สำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า สำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขารอันสงบอันละเอียด ที่เป็นเหตุให้กายไม่โยกโคลงไม่โอนไม่เอนไม่ส่ายไม่หวั่นไม่ไหว หายใจออก…..หายใจเข้า

นัยว่า ภิกษุเมื่อสำเหนียกดังกล่าวมาฉะนี้ ชื่อว่าย่อมสำเหนียกว่าเราจักยังกายสังขารให้สงบหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่าเราจักยังกายสังขารให้สงบหายใจเข้า เมื่อเป็นดังนั้น การอบรมจิตเพื่อวาตุปลัทธิ (การกำหนดลม) ก็ดี เพื่อลมหายใจออกและเข้าก็ดี เพื่ออานาปานสติก็ดี เพื่ออานาปานสติสมาธิก็ดี ย่อมไม่สำเร็จได้ และบัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ได้เข้าสมาบัติทั้งไม่ได้ออกจากสมาบัตินั้นเหมือนอย่างไร ? เหมือนอย่างเมื่อกังสดาลถูกเคาะแล้ว เสียงหยาบย่อมเป็นไปครั้งแรก จิตก็เป็นไปได้ เพราะกำหนดนิมิตแห่งเสียงได้ง่าย เพราะทำนิมิตแห่งเสียงหยาบไว้ในใจได้ง่าย เพราะทรงจำนิมิตแห่งเสียงหยาบได้ง่าย แม้เมื่อเสียงหยาบดับแล้ว หลังนั้นถัดไปเสียงละเอียดก็ยังเป็นไปจิตก็เป็นไปได้ เพราะกำหนดนิมิตแห่งเสียงละเอียดได้ดี เพราะยังทำนิมิตแห่งเสียงละเอียดไว้ในใจได้ดี เพราะทรงจำนิมิตแห่งเสียงละเอียดได้ดี แม้เมื่อเสียงละเอียดดับแล้ว หลังจากนั้นไปจิตก็ยังเป็นไปได้ แม้เพราะนิมิตแห่งเสียงละเอียดเป็นอารมณ์ แม้ฉันใด ลมหายใจออกหายใจเข้าที่หยาบก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะกำหนดนิมิตแห่งลมหายใจออกหายใจเข้าที่หยาบได้ง่าย เพราะทำนิมิตแห่งลมหายใจเข้าที่หยาบไว้ในใจได้ง่าย เพราะสังเกตนิมิตแห่งลมหายใจออกหายใจเข้าที่หยาบได้ง่าย แม้เมื่อลมหายใจออกหายใจเข้าที่หยาบดับแล้ว หลังจากนั้น ลมหายใจออกหายใจเข้าที่ละเอียดก็ยังเป็นไปอยู่ จิตก็ไม่ฟุ้งซ่านเพราะกำหนดจับนิมิตได้ด้วยดี เพราะใส่ใจนิมิตได้ด้วยดี เพราะทรงจำนิมิตได้ด้วยดี แม้เมื่อลมหายใจออกหายใจเข้าที่ละเอียดดับไปแล้ว หลังจากนั้นจิตก็

(หน้าที่ 59)

ไม่ถึงความฟุ้งซ่าน แม้เพราะยังมีนิมิตแห่งลมหายใจออกหายใจเข้าที่ละเอียดเป็นอารมณ์ เมื่อเป็นดังนี้ การอบรมจิตเพื่อวาตุปลัทธิเพื่อลมหายใจออกเข้าก็ดี เพื่ออานาปานสติก็ดี เพื่ออานาปานสติสมาธิก็ดี ย่อมสำเร็จได้ และสมาบัตินี้นั้นผู้เป็นบัณฑิตย่อมเข้าบ้าง ย่อมออกบ้าง ลมหายใจออกลมหายใจเข้าจัดเป็นกาย ความปรากฏจัดเป็นสติ ปัญญาเครื่องตามเห็นจัดเป็นญาณ กายจัดเป็นเครื่องปรากฏไม่ใช่ตัวสติ สติเป็นตัวปรากฏ ทั้งเป็นตัวสติด้วย พระโยคาวจรย่อมตามเห็นกายนั้นด้วยสตินั้นด้วยญาณนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐาน คือปัญญาเครื่องตามเห็นกายในกาย นี้เป็นการพรรณนาเฉพาะบทตามลำดับแห่งจตุกกะที่ 1 ซึ่งท่านกล่าวไว้ด้วยอำนาจกายานุปัสสนา ในอานาปานสติกถานี้เป็นอันดับแรก

ก็เพราะเหตุในจตุกกะทั้ง 4 เหล่านี้ จตุกกะนี้เท่านั้นท่านกล่าวด้วยสามารถกรรมฐานของพระโยคาวจรผู้ริเริ่มบำเพ็ญเพียร ส่วน 3 จตุกกะนอกนี้ท่านกล่าวไว้ด้วยสามารถเวทนานุปัสสนานี้, จิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนาของพระโยคาวจรผู้บรรลุฌานแล้วในจตุกกะที่ 1 นี้ ฉะนั้น กุลบุตรผู้ริเริ่มบำเพ็ญเพียรประสงค์จะบำเพ็ญกรรมฐานนี้แล้วบรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา ด้วยวิปัสสนาอันมีฌานที่ 4 ซึ่งมีลมหายใจออกเข้าเป็น อารมณ์เป็นเหตุใกล้ พึงทำกิจทุกอย่างมีการชำระศีลให้บริสุทธิ์เป็นต้น โดยนัยดังกล่าวแล้วในก่อนนั่นแล แล้วพึงกำหนดกรรมฐานอันประกอบด้วยสนธิ 5 ประการ ในสำนักของพระอาจารย์มีประการดังกล่าวแล้ว

ในอธิการอันว่าด้วยกรรมฐานอันประกอบด้วยสนธิ 5 ประการนั้น สนธิ 5 เหล่านี้ คือ

สนธิ 5

1. อุคคหะ การเรียน (การกำหนด)

2. ปริปุจฉา การสอบถาม

3. อุปัฏฐาน ความปรากฏ

4. อัปปนา ความแนบแน่น

5. ลักขณะ เครื่องหมาย

(หน้าที่ 60)

ในสนธิ 5 นั้น การเรียนพระกรรมฐานชื่อว่า อุคคหะ การสอบถามพระกรรมฐานชื่อว่า ปุริปุจฉา ความปรากฏแห่งพระกรรมฐานชื่อว่า อุปัฏฐาน ความแน่วแน่แห่งกรรมฐานชื่อว่า อัปปนา ความกำหนดหมาย มีอธิบายว่า การทรงจำสภาวะแห่งกรรมฐานว่า กรรมฐานนี้มีลักษณะอย่างนี้ ชื่อว่า ลักขณะ

ผลของการเรียนสนธิ 5

เมื่อพระโยคาวจรกำหนดกรรมฐานอันประกอบด้วยสนธิ 5 ประการ ดังพรรณนามาฉะนี้ แม้ตนเองก็ไม่ต้องลำบาก แม้อาจารย์ก็ไม่ต้องรบกวนท่าน เพราะเหตุนั้น พวกโยคาวจรพึงให้อาจารย์บอกแต่น้อย สาธยายสิ้นเวลานาน แล้วกำหนดกรรมฐานอันประกอบด้วยสนธิ 5 ประการอย่างนี้ อยู่ในสำนักอาจารย์หรือในเสนาสนะซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วในก่อน ตัดปลิโพธเล็ก ๆ น้อย ๆ เสีย ทำภัตกิจเสร็จแล้วบรรเทาความเมาในภัตแล้วนั่งอย่างสบาย ทำจิตให้ร่าเริงด้วยการระลึกเนือง ๆ ถึงคุณพระรัตนตรัย จำได้แม่นยำแม้บทเดียวก็ไม่เคลื่อนคลาดจากข้อที่เรียนมาจากอาจารย์ พึงมนสิการอานาปานสติกัมมัฏฐานนี้เถิด

วิธีมนสิการ 8 อย่าง

นี้เป็นวิธีมนสิการในอานาปานสติกัมมัฏฐานนั้น คือ

1. คณนา การนับ

2. อนุพนฺธนา การติดตาม

3. ผุสนา การถูกต้อง

4. ฐปนา การตั้งจิตมั่น

5. สลฺลกฺขณา การกำหนดหมายได้ชัด

6. วิวฏฺฏนา การเปลี่ยนแปลง

7. ปาริสุทฺธิ การหมดจด

8. เตสํ ปฏิปสฺสนา การย้อนดูวิวัฏฏนา (มรรค) และปาริสุทธิ (ผล) เหล่านั้น

(หน้าที่ 61)

อธิบาย วิธีมนสิการ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คณนา ได้แก่การนับนั้นเอง บทว่า อนุพนฺธนา ได้แก่การติดตามไป บทว่า ผุสนา ได้แก่ที่ที่ลมกระทบ บทว่า ฐปนา ได้แก่อัปนา บทว่า วิวฏฺฏนา ได้แก่มรรค บทว่า ปาริสุทฺธิ ได้แก่ผล และบทว่า เตสํ ปฏิปสฺสนา ได้แก่ปัจจเวกขณญาณ

อธิบาย คณนาวิธีนับ

ในวิธีมนสิการเหล่านั้น กุลบุตรผู้ริเริ่มบำเพ็ญเพียรนี้ ควรมนสิการกรรมฐานนี้ด้วยวิธีนับก่อน ก็แลเมื่อจะนับไม่พึงนับหยุดต่ำกว่า 5 ไม่พึงนับเลย 10 ขึ้นไป ไม่พึงแสดงการนับให้ขาดในระหว่าง เพราะเมื่อนับหยุดต่ำกว่า 5 จิตตุปบาทจะดิ้นรนอยู่ในโอกาสอันคับแคบ ดังหมู่โคถูกขังไว้ในคอกแคบดิ้นรนอยู่ฉะนั้น แม้เมื่อนับเกิน 10 ขึ้นไปจิตตุปบาทก็จะพะวงอยู่ในการนับนั้นเสีย เมื่อแสดงการนับให้ขาดในระหว่าง จิตก็จะหวั่นไปว่ากรรมฐานของเราจะถึงที่สุดหรือไม่หนอ ? เพราะฉะนั้น พึงนับเว้นโทษเหล่านั้นเสีย

อธิบาย วิธีนับช้า

อันผู้ริเริ่มบำเพ็ญเพียร เมื่อจะนับ ชั้นแรกควรนับด้วยวิธีนับช้า คือนับอย่างคนตวงข้าวเปลือก จริงอยู่ คนตวงข้าวเปลือกตักเต็มทะนานแล้วขานว่า 1 แล้วจึงเทลงไป เมื่อตักอีก เห็นหยากเยื่ออะไรๆ แล้วหยิบทิ้งเสีย จึงนับขานว่า หนึ่ง หนึ่ง ในคำว่า สอง ๆ เป็นต้นก็นัยนี้ แม้กุลบุตรผู้ริเริ่มบำเพ็ญเพียรนี้ ก็พึงกำหนดเอาลมอัสสาสะปัสสาสะที่ปรากฏแล้วกำหนดนับลม ซึ่งเป็นไปอยู่เรื่อย ๆ นั่นแหละ นับเริ่มต้นแต่คำว่า 1,1 จนถึงคำว่า 10,10 ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเธอนับอยู่อย่างนั้น ลมอัสสาสะปัสสาสะที่ออกและเข้าอยู่ย่อมปรากฏ

ครั้นกุลบุตรผุ้ริเริ่มบำเพ็ญเพียร พึงละวิธีนับของคนตวงข้าวเปลือกนั้นเสีย แล้วนับด้วยวิธีนับเร็ว คือวิธีนับของนายโคบาล จริงอยู่ นายโคบาลผู้ฉลาด เอาก้อนกรวดใส่พกแล้ว มือถือเชือกและท่อนไม้ไปยังคอกแต่เช้าตรู่ ตีพวกโคทีหลัง นั่งบนปลายเสาลิ่ม โยนก้อนกรวดไป ๆ แล้วนับเฉพาะแม่โคตัวที่ถึงประตูแล้ว ๆ ว่า 1,2 ฝูงใดที่อยู่ลำบากในโอกาสที่คับแคบตลอดราตรี 3 ยาม เมื่อจะออกไปก็เบียดเสียดกันและกันออกไป

(หน้าที่ 62)

เป็นกลุ่ม ๆ โดยเร็ว นายโคบาลนั้นก็นับเร็ว ๆ เหมือนกันว่า 3,4,5 -10 ฉันนั้นเหมือนกัน แม้เมื่อกุลบุตรผู้ริเริ่มบำเพ็ญเพียรนี้นับอยู่โดยนัยก่อน ลมอัสสาสะปัสสาสะปรากฏแล้ว ย่อมสัญจรเร็ว ๆ ถี่ขึ้น แต่นั้นเธอทราบว่าลมเดินถี่ขึ้นแล้ว ไม่พึงกำหนดเอาทั้งข้างในทั้งข้างนอก กำหนดเอาเฉพาะที่ถึงทวารเท่านั้น แล้วนับเร็ว ๆ ว่า 1,2,3,4,5 1,2,3,4,5,6 1,2,3,4,5,6,7 1,2,3,4,5,6,7,8 1,2,3,4,5,6,7,8,9 1,2,3,4,5,6,7,8,9,10 เพราะว่าในกัมมัฏฐานที่เนื่องด้วยการนับ จิตจะมีแต่อารมณ์เดียวได้ก็ด้วยพลังแห่งการนับเท่านั้น ดุจความหยุดของเรือในกระแสน้ำที่เชี่ยว จะมีได้ก็ด้วยอำนาจการค้ำไว้ด้วยถ่อฉะนั้น เมื่อเธอนับเร็ว ๆ อยู่อย่างนั้น กรรมฐานย่อมปรากฏเป็นประหนึ่งว่าเป็นไปหาระหว่างคั่นมิได้ ครั้นเธอทราบว่าย่อมเป็นไปหาระหว่างคั่นมิได้ดังนี้แล้วไม่พึงกำหนดลมภายในและภายนอก แล้วนับเร็ว ๆ โดยนัยก่อนนั่นแล ด้วยว่าเมื่อเธอให้จิตเข้าไปพร้อมกับลมที่เข้าไปภายในอยู่ จิตที่เป็นเหมือนถูกลมกระทบและเหมือนเต็มไปด้วยมันข้นในภายใน เมื่อเธอนำจิตออกไปพร้อมกับลมที่ออกไปภายนอก จิตย่อมจะส่ายไปในอารมณ์มากหลายในภายนอก แต่เมื่อเธอตั้งสติไว้ที่อากาศอันถูกลมกระทบ เจริญภาวนาอยู่นั่นแหละ ภาวนาย่อมสำเร็จได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า อันกุลบุตรผู้ริเริ่มบำเพ็ญเพียร ไม่พึงกำหนดลมภายในและภายนอกแล้วนับเร็ว ๆ โดยนัยก่อนนั่นแล ถามว่า ก็ลมนั่นจะพึงนับไปนานเท่าไร ? แก้ว่าพึงนับไปจนกว่าเมื่อหยุดนับสติจะตั้งมั่นอยู่ได้ในอารมณ์คือลมอัสสาสะปัสสาสะ ด้วยว่าการนับก็เพื่อกระทำการตัดความตรึกที่ส่ายไปภายนอกเสียแล้วตั้งสติมั่นไว้ในอารมณ์คือ ลมอัสสาสะปัสสาสะอย่างเดียว อันกุลบุตรผู้ริเริ่มบำเพ็ญเพียรกระทำไว้ในใจด้วยวิธีนับอย่างนี้แล้วพึงกระทำไว้ในใจด้วยวิธีติดตาม

อธิบาย วิธีติดตาม

การเลิกนับแล้วส่งสติไปตามลมหายใจออกเข้าไม่มีระหว่างคั่น ชื่อว่าการติดตามนั้น ไม่พึงกระทำด้วยอำนาจการติดตามเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด เพราะว่า สำหรับลมที่ออกไปภายนอกมีนาภีเป็นเบื้องต้น หทัยเป็นท่ามกลาง นาสิกเป็นที่สุด สำหรับลมที่เข้าไปภายในมีปลายนาสิกเป็นเบื้องต้น หทัยเป็นท่ามกลาง นาภีเป็นปลาย ก็เมื่อกุลบุตรริเริ่มบำเพ็ญเพียรติดตามลมนั้น จิตที่ถึงความฟุ้งซ่านย่อมจะมีเพื่อความกระสับกระส่าย

(หน้าที่ 63)

ทีเดียว และเพื่อความหวั่นไหว ดังท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อภิกษุใช้สติติดตามเบื้องต้น กลางและปลายลมอัสสาสะปัสสาสะ กายก็ดีจิตก็ดีด้วย ทั้งจิตที่ถึงความฟุ้งซ่านในภายใน ย่อมกระสับกระส่ายหวั่นไหวด้วย ดิ้นรนด้วย เมื่อใช้สติไปติดตามต้น กลาง และปลายลมปัสสาสะ กายก็ดี จิตก็ดี ด้วยทั้งจิตที่ถึงความฟุ้งซ่านไปในภายนอก ย่อมกระสับกระส่ายด้วย หวั่นไหวด้วย ดิ้นรนด้วย ดังนี้ เพราะเหตุนั้น อันกุลบุตรผู้ริเริ่มบำเพ็ญเพียร เมื่อจะมนสิการโดยวิธีติดตามจึงไม่ควรมนสิการด้วยวิธีต้นลม กลางลม และปลายลม อีกประการหนึ่ง พึงมนสิการโดยวิธีผุสนาและด้วยวิธีฐปนา

แท้จริง การมนสิการโดยวิธีผุสนาและวิธีฐปนา หาได้มีส่วนหนึ่งต่างหากดุจมนสิการโดยวิธีคณนาและอนุพันธนาไม่ แต่เมื่อพระโยควจรนับอยู่ ในฐานะที่ลมกระทบแล้ว ๆ นั่นแหละ ชื่อว่ามนสิการโดยวิธีคณนาด้วย โดยวิธีผุสนาด้วย เมื่อเลิกนับแล้วติดตามลมอัสสาสะปัสสาสะนั้นไปด้วยสติ และเมื่อตั้งจิตไว้ด้วยอำนาจอัปปนา ในฐานะที่ลมกระทบ ๆ นั้นนั่นแหละ เรียกว่ามนสิการโดยวิธีอนุพันธนาด้วย โดยวิธีผุสนาด้วย โดยวิธีฐปนาด้วย ความนี้นั้นบัณฑิตพึงทราบโดยอุปมาด้วยคนง่อยคนเฝ้าประตูที่กล่าวไว้ในอรรถทั้งหลาย และโดยอุปมาด้วยเลื่อยที่กล่าวไว้ในปฏิสัมภิทา

ในสามอุปมานั้น ข้อนี้เป็นอุปมาด้วยคนง่อย คือคนง่อยโล้ชิงช้าให้แก่มารดาและบุตรผู้เล่นชิงช้าอยู่ นั่งที่โคนเสาชิงช้านั้นแหละย่อมเห็นที่สุดทั้ง 2 ข้าง และท่ามกลางแห่งแผ่นกระดานชิงช้า ที่แกว่งไกวไปมาอยู่โดยลำดับ แต่ก็มิได้ขวนขวายจะดูแลที่สุดทั้ง 2 และท่ามกลาง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยืนที่โคนเสาอันเป็นที่ผูกด้วยอำนาจสติ โล้ชิงช้าคือลมหายใจออกเข้า นั่งอยู่ด้วยสติในนิมิตนั้นนั่นเอง เมื่อส่งสติติดตาม ตั้งจิตไว้ตรงที่ลมกระทบนั้นนั่นแหละ ย่อมเห็นเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของลมหายใจออกเข้า ในฐานะที่มันแกว่งไปมากระทบอยู่โดยลำดับ แต่จะเป็นผู้ขวนขวายเพื่อดูแลลมเหล่านั้นก็หามิได้ ฉะนั้น นี้เป็นอุปมาดังคนง่อย

ส่วนที่อุปมาด้วยคนเฝ้าประตู ดังนี้คือ คนเฝ้าประตูไม่ตรวจตราดูแลพวกคนในเมืองและนอกเมือง ถามว่าท่านเป็นใคร หรือว่ามาแต่ไหน หรือว่าท่านจะไปไหน หรือว่าอะไร

(หน้าที่ 64)

อยู่ในมือท่าน เพราะว่าคนเหล่านั้นมิใช่เป็นภาระหน้าที่ของเขา เขาจะตรวจตราดูแลเฉพาะคนที่มาถึงประตู ๆ เท่านั้น แม้ฉันใด ภิกษุนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ลมเข้าข้างในและลมออกข้างนอก ไม่ใช่เป็นภาระหน้าที่ (ของท่าน) ท่านมีหน้าที่อยู่แต่เพียงกำหนดลมที่จะมาถึงช่องจมูกแล้ว ๆ เท่านั้น นี้เป็นอุปมาดังนายประตู

ส่วนที่อุปมาด้วยเลื่อยพึงทราบตั้งแต่ต้นดังนี้

สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า –

นิมิต 1 ลมหายใจออก 1 ลมหายใจเข้า 1 มิใช่เป็นอารมณ์แห่งจิตดวงเดียว เมื่อภิกษุไม่รู้ธรรมทั้ง 3 ภาวนาย่อมไม่เกิด นิมิต 1 ลมหายใจออก 1 ลมหายใจเข้า 1 มิใช่เป็นอารมณ์แห่งจิตดวงเดียว เมื่อภิกษุรู้ธรรมทั้ง 3 ภาวนาย่อมเกิด

มีอธิบายอย่างไร ? มีอธิบายว่า ธรรม 3 อย่างนี้ มิใช่เป็นอารมณ์ของจิตดวงเดียวกัน แต่ธรรม 3 อย่างนี้ จะเป็นสิ่งที่พระโยคาวจรจะไม่รู้ก็หามิได้ และจิตก็ไม่ถึงความฟุ้งซ่าน ปธาน (ความเพียร) ย่อมปรากฏ และพระโยคาวจรก็ย่อมยังประโยคให้สำเร็จ ย่อมบรรลุคุณวิเศษได้ เปรียบเหมือนไม้ที่เขาทิ้งไว้ที่พื้นดินราบ ๆ บุรุษพึงเอาเลื่อยมาตัดมัน สติของบุรุษนั้นย่อมปรากฏด้วยอำนาจฟันเลื่อยที่ถูกต้นไม้ เธอก็มิได้ใส่ใจถึงฟันเลื่อยที่ชักมาและชักไป แต่จะไม่รู้ฟันเลื่อยที่ชักมาและชักไปก็หามิได้ ทั้งความเพียรย่อมปรากฏทั้งเธอก็ยังความพยายามให้สำเร็จ และเธอก็บรรลุคุณวิเศษอีกด้วย นิมิตที่เขาเข้าไปผูกไว้เปรียบเหมือนต้นไม้ที่เขาทิ้งไว้ที่ภูมิภาคอันราบรื่น ลมหายใจออกเข้าเหมือนฟันเลื่อย ภิกษุนั่งตั้งสติไว้ที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปาก ไม่ใส่ใจลมหายใจออกเข้าที่ผ่านมาหรือผ่านไป แต่จะไม่รู้ลมออกเข้าซึ่งผ่านมาหรือผ่านไปแล้วก็หามิได้ ความเพียรก็ย่อมปรากฏ ทั้งเธอก็ย่อมยังความพยายามให้สำเร็จ และบรรลุคุณวิเศษอีกด้วย เปรียบเหมือนบุรุษตั้งสติไว้ที่ฟันเลื่อย ที่กระทบต้นไม้ เธอไม่ใส่ใจถึงฟันเลื่อยซึ่งชักมาชักไป แต่จะไม่รู้ฟันเลื่อยซึ่งชักมาชักไปก็หามิได้ ความเพียรก็ปรากฏ และเธอก็ยังความพยายามให้สำเร็จ และบรรลุผลพิเศษอีกด้วยฉะนั้น

(หน้าที่ 65)

บทว่า ปธานํ ถามว่าความเพียรเป็นไฉน ? คือ ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้ปรารภ ความเพียรย่อมเป็นของควรแก่การงาน นี้ชื่อว่าความเพียร ประโยคเป็นไฉน ? คืออุปกิเลสทั้งหลาย ภิกษุผู้ปรารภความเพียรละได้ วิตกทั้งหลายย่อมสงบระงับ นี้ชื่อว่าประโยค คุณวิเศษเป็นไฉน ? ภิกษุผู้ปรารภความเพียรย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยทั้งหลายสุดสิ้นไป นี้เป็นคุณวิเศษ

ธรรม 3 อย่างนี้ มิได้เป็นอารมณ์ของจิดวงเดียว แต่ธรรม 3 อย่างนี้จะเป็นสิ่งที่พระโยคาวจรจะไม่รู้หามิได้ วิตกไม่ถึงซึ่งความฟุ้งซ่าน ความเพียรย่อมปรากฏ และพระโยคาวจรนั้นย่อมยังความพยายามให้สำเร็จ บรรลุคุณวิเศษได้ ด้วยประการฉะนี้

อานาปานสติ อันภิกษุใดบำเพ็ญด้วยดีเต็มที่แล้ว สั่งสมแล้วโดยลำดับ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ภิกษุนั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นจากหมอกฉายแสงอยู่ฉะนั้นแล

นี้เป็นอุปมาด้วยเลื่อย ก็ในที่นี้พระโยคาวจรนั้นเพียงแต่ไม่มนสิการด้วยอำนาจลมที่ผ่านมาและผ่านไป พึงทราบว่าประโยชน์

สำหรับบางท่านที่มนสิการกรรมฐานนี้ นิมิตย่อมเกิด และฐปนากล่าวคือ อัปปนาอันประดับด้วยองค์ฌานที่เหลือจะสำเร็จโดยไม่ช้าเลย แต่สำหรับบางท่านเมื่อความกระวนกระวายสงบระงับลงด้วยอำนาจความดับไปแห่งลมอัสสาสะปัสสาสะที่หยาบโดยลำดับจำเดิมแต่กาลที่มนสิการโดยวิธีนับ ทั้งกายทั้งจิตย่อมเป็นสภาพเบา สรีระเป็นประหนึ่งถึงซึ่งอาการลอยอยู่บนอากาศ เมื่อผู้มีกายกระสับกระส่ายนั่งบนเตียงหรือตั่งก็ตาม เตียงตั่งย่อมโยกย่อมลั่น เครื่องลาดย่อมยับ แต่เมื่อคนมีกายไม่กระสับกระส่ายนั่งเตียงก็ไม่โยกไม่ลั่นเลย เครื่องลาดก็ไม่ยับ เตียงตั่งเป็นดังว่ายัดด้วยนุ่น เพราะเหตุไร? เพราะกายที่ไม่กระสับกระส่าย ย่อมเบา ฉันใด เมื่อความกระสับกระส่ายทางกายสงบระงับลง ด้วยอำนาจความดับไปแห่งลม อัสสาสะปัสสาสะที่หยาบโดยลำดับ จำเดิมแต่กาลที่มนสิการโดยวิธีนับ ทั้งกายทั้งจิตย่อมเบา สรีระเป็นประหนึ่งถึงซึ่งอาการลอยอยู่บนอากาศ ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อลมอัสสาสะปัสสาสะที่หยาบดับไปแล้ว จิตของพระโยคาวจรนั้นก็ยังมีนิมิตแห่งลมอัสสาสะปัสสาสะที่ละเอียดเป็น

(หน้าที่ 66)

อารมณ์เป็นไปอยู่ แม้เมื่อนิมิตนั้นดับแล้ว จิตดวงต่อ ๆ ไปก็ยังมีนิมิตลมปัสสาสะอัสสาสะที่ละเอียดกว่านั้นเป็นอารมณ์เป็นไปอยู่ เป็นอย่างไร ? บัณฑิตพึงทราบโดยนัยว่า เป็นเหมือนบุรุษเคาะกังสดาลด้วยซี่โลหะใหญ่ เสียงดังพึงเกิดขึ้นโดยการตีครั้งเดียว จิตของเขาพึงมีเสียงหยาบเป็นอารมณ์เป็นไปอยู่ เมื่อเสียงหยาบดับแล้ว หลังจากนั้นจิตของเธอก็มีนิมิตแห่งเสียงที่ละเอียดเป็นอารมณ์ แม้เมื่อนิมิตนั้นดับแล้ว จิตดวงต่อๆไปของเธอก็ยังมีนิมิตแห่งเสียงละเอียดยิ่งกว่านั้นเป็นอารมณ์เป็นไปอยู่ ฉะนั้น สมจริงดังคำพระสารีบุตรกล่าวไว้ว่า เมื่อกังสดาลถูกเคาะแล้ว แม้ฉันใด ดังนี้เป็นต้น ความพิสดารบัณฑิตพึงกล่าวตามนัยปฏิสัมภิทามรรคเถิด.

อธิบายที่ต่างจากกรรมฐานอื่น

จริงอยู่ กรรมฐาน นี้หาเป้นอย่างกรรมฐานอื่น ๆ ซึ่งปรากฏชัดยิ่ง ๆ ขึ้นไป ส่วนกรรมฐานนี้เมื่อเจริญยิ่งสูง ๆ ขึ้นไป ก็ถึงเพียงความละเอียด แต่ไม่ถึงความปรากฏ แต่เมื่อกรรมฐานนั้นไม่ปรากฏอย่างนั้น ภิกษุนั้นก็พึงอย่าลุกจากที่นั่งสลัดท่อนหนังไปเสีย ถามว่า พึงทำอย่างไร? แก้ว่า อย่างลุกไปด้วยคิดว่าเราจักถามท่านอาจารย์หรือด้วยเข้าใจว่า บัดนี้กรรมฐานของเราเสื่อมเสียแล้ว เพราะเมื่อทำอิริยาบถให้กำเริบไป กรรมฐานก็จะกลายเป็นของใหม่ๆไปเท่านั้น เพราะเหตุนั้น เธอนั่งอยู่ตามเดิมนั่นแหละพึงนำ (ลม) มาจากถิ่นที่เกิด

วิธีปฏิบัติเพื่อนำคืน

ในข้อนั้นมีอุบายเครื่องนำ (ลมคืน) ดังต่อไปนี้ ภิกษุนั้นรู้ภาวะคือความไม่ปรากฏ แห่งพระกรรมฐานแล้ว พึงพิจารณาดูดังนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าลมหายใจออกเข้านี้มีอยู่ที่ไหน ไม่มีที่ไหน มีแก่ใคร หรือไม่มีแก่ใคร? ครั้นเมื่อเธอพิจารณาอย่างนั้นก็จะทราบได้ว่า ลมหายใจออกเข้านี้ไม่มีอยู่ภายในท้องของมารดา 1 ไม่มีแก่พวกคนที่ดำลงในน้ำ 1 ไม่มีแก่พวกคนที่สลบ 1 แก่คนตาย 1 ผู้เข้าจตุตถฌาน 1 ผู้ประกอบด้วยรูปภพและอรูปภพ 1 ผู้เข้านิโรธ 1 ฉะนี้แล้ว พึงตักเตือนตนด้วยตนเองดังนี้ว่า นี่แน่ะ พ่อบัณฑิต ตัวเจ้ามิใช่ผู้อยู่ในท้องมารดา มิใช่ผู้ดำลงในน้ำ มิใช่ผู้สลบ มิใช่ผู้ที่ตายแล้ว มิใช่ผู้เข้าจตุตถฌาน มิใช่ผู้ประกอบด้วยรูปภพอรูปภพ มิใช่ผู้เข้านิโรธ มิใช่หรือ ลมหายใจออกข้าวของเจ้ามีอยู่แท้

(หน้าที่ 67)

แต่เจ้าไม่อาจกำหนดได้เพราะภาวะที่เจ้ามีปัญญาอ่อน ลำดับนั้นเธอพึงวางจิตไว้ตามที่ลมกระทบโดยปกติ ยังมนสิการให้เป็นไป ก็ลมหายใจออกเข้าเหล่านี้ สำหรับคนจมูกยาวกระทบกระพุ้งจมูกเป็นไป สำหรับคนจมูกสั้นกระทบริมฝีปากบนเป็นไป เพราะฉะนั้นเธอพึงตั้งนิมิตไว้ว่าลมกระทบที่ตรงนี้ จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลจึงตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวอานาปานสติภาวนาแก่คนที่หลงลืมสติไม่มีสัมปชัญญะ

จริงอยู่ กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมสำเร็จแก่คนผู้มีสติสัมปชัญญะเท่านั้นก็จริง แต่ว่ากรรมฐานอื่นจากนี้ เมื่อภิกษุมนสิการไป ๆ ย่อมปรากฏ ส่วนอานาปานสติกัมมัฏฐานนี้หนัก การภาวนาก็หนัก เป็นภูมิแห่งมนสิการแห่งพระพุทธเจ้าพระปัจเจกพระพุทธเจ้าและพระพุทธบุตรทั้งหลายผู้เป็นมหาบุรุษเท่านั้น ไม่ใช่การนิดหน่อยและไม่ใช่การที่สัตว์เล็กน้อยจะสร้องเสพได้ มนสิการไปด้วยประการใด ๆ ก็ย่อมสงบและสุขุมไปด้วยประการนั้น ๆ เพราะเหตุนั้นในกรรมฐานข้อนี้จำต้องปรารถนาสติและปัญญาอันกล้าแข็ง เหมือนในเวลา ชุนผ้าเนื้อเกลี้ยง แม้เข็มก็ต้องใช้เข็มเล็ก ยิ่งด้ายร้อยห่วงเข็มยิ่งต้องใช้เล็กกว่านั้น ฉันใดในเวลาเจริญกรรมฐานนี้อันเป็นเช่นผ้าเนื้อเกลี้ยง ก็จำต้องปรารถนาทั้งสติที่เปรียบด้วยเข็ม ทั้งปัญญาอันสัมปยุตด้วยสติเปรียบด้วยด้ายร้อยห่วงเข็มอันกล้าแข็ง ฉันนั้นเหมือนกัน

ก็แลภิกษุผู้ประกอบด้วยสติปัญญานั้น ไม่พึงแสวงหาลมอัสสาสะปัสสาสะนั้นในที่อื่นจากที่ลมกระทบตามปกติ เหมือนชาวนาไถนาแล้วปล่อยโคพลิพัททำให้บ่ายหน้าไปสู่ที่หากิน แล้วพึงนั่งพักอยู่ในร่ม ครั้นแล้วโคพลิพัทเหล่านั้นของเขาก็เข้าดงไปโดยเร็ว ชาวนาผู้ฉลาดใคร่จะจับมันมาเทียมแอกจะไม่ติดตามรอยเท้าโคเหล่านั้นเที่ยวดั้นดง โดยที่แท้เขาจะถือเชือกและปฏักตรงไปยังท่าที่โคเหล่านั้นลงไปทีเดียว นั่งหรือนอนอยู่ ต่อนั้นเขาเห็นฝูงโคเหล่านั้น ที่มันเที่ยวตอนกลางวันแล้วลงสู่ท่าน้ำ แช่และดื่มน้ำแล้วขึ้นมายืนอยู่ จึงผูกด้วยเชือกแทงด้วยปฏัก จูงมาเทียมแอกทำงานอีก ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่พึงแสวงหาลมอัสสาสะปัสสาสะนั้นในที่อื่นจากที่ที่ลมกระทบตามปกติ แต่พึงถือเชือกคือสติและปฏักคือปัญญา ตั้งจิตไว้ ณ ที่ที่ลมกระทบตามปกติ ยังมนสิการให้เป็นไป ด้วยว่าเมื่อเธอมนสิการไปอย่างนี้ ลมเหล่านั้นปรากฏไม่นานเลย ดุจโคทั้งหลายปรากฏที่ท่าลงน้ำ ฉะนั้น เธอพึงผูกไว้ด้วยเชือกคือสติ เทียมไว้ที่ตรงนั้นแหละ แทงด้วยปฏักคือปัญญา ประกอบด้วยกรรมฐานไว้บ่อยๆ เมื่อเธอหมั่นประกอบอยู่อย่างนั้น ไม่ช้านิมิตย่อมปรากฏ

(หน้าที่ 68)

นิมิตปรากฏต่าง ๆ กัน

อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ก็แลอาจารย์ทั้งปวงหามีนิมิตนี้นั้นเสมือนเป็นอันเดียวกันไม่ สำหรับบางท่านปรากฏเหมือนปุยนุ่นก็มี เหมือนปุยฝ้ายก็มี เหมือนสายลมก็มี ที่ยังสุขสัมผัสให้เกิด

แต่วินิจฉัยในอรรถกถาทั้งหลายมีดังนี้ ก็นิมิตนี้สำหรับบางท่านปรากฏเหมือนดวงดาว เหมือนเม็ดมณี และเหมือนเม็ดไข่มุกดาก็มี บางท่านปรากฏเป็นสิ่งมีสัมผัสหยาบ เหมือนเม็ดฝ้าย และเหมือนเสี้ยนไม้แก่นก็มี บางท่านเหมือนสายสังวาลยาว เหมือนพวงดอกไม้ และเหมือนเปลวควันก็มี บางท่านเหมือนใยแมงมุมที่ขึงแล้ว เหมือนกลีบเมฆ เหมือนดอกประทุม เหมือนล้อรถ เหมือนวงพระจันทร์ และเหมือนวงพระอาทิตย์ก็มี ก็แล กรรมฐานนี้นั้นก็อย่างเดียวกันนั่นแล ย่อมปรากฏต่าง ๆ กัน เพราะภาวะที่พระโยคาวจรมีสัญญาต่าง ๆ กัน เปรียบเหมือนพระภิกษุมากรูปนั่งสาธยายพระสูตรกันอยู่ เมื่อรูปหนึ่งถามขึ้นว่า สูตรนี้ปรากฏแก่ท่านทั้งหลายเป็นเช่นไร ภิกษุรูปหนึ่งก็บอกว่า ปรากฏแก่ข้าพเจ้า เป็นเหมือนแม่น้ำใหญ่ที่ไหลออกจากภูเขา อีกรูปหนึ่งบอกว่า สำหรับข้าพเจ้าเหมือนแนวป่าอันหนึ่ง รูปหนึ่งบอกว่าสำหรับข้าพเจ้าเหมือนต้นไม้ที่เต็มไปด้วยพวงผลสมบูรณ์ไปด้วยกิ่งก้านมีร่มเงาเยือกเย็น จริงอยู่ พระสูตรนั้นก็สูตรเดียวนั่นแหละ ปรากฏแก่เธอทั้งหลายต่าง ๆ กัน เพราะภาวะที่เธอทั้งหลายมีสัญญาต่างกัน ฉะนั้น เพราะกรรมฐานนี้เกิดจากสัญญา มีสัญญาเป็นเหตุ มีสัญญาเป็นแดนเกิด เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ย่อมปรากฏได้ต่าง ๆ กัน เพราะสัญญาต่างกัน

ก็ในกรรมฐานนี้ จิตที่มีลมหายใจออกเป็นอารมณ์ก็เป็นดวงหนึ่ง จิตที่มีลมหายใจเข้าเป็นอารมณ์ก็เป็นดวงหนึ่ง จิตที่มีนิมิตเป็นอารมณ์ก็เป็นดวงหนึ่งแท้ ก็ผู้ใดไม่มีธรรม 3 ประการนี้ กรรมฐานของผู้นั้นย่อมไม่ถึงอัปปนาไม่ถึงอุปจาระเลยทีเดียว แต่ผู้ใดมีธรรม 3ประการนี้ กรรมฐานของผู้นั้นนั่นแหละย่อมถึงอุปจาระและอัปปนา สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า –

(หน้าที่ 69)

นิมิต 1 ลมหายใจออก 1 ลมหายใจเข้า 1 มิใช่เป็นอารมณ์แห่งจิตดวงเดียว เมื่อภิกษุไม่รู้ธรรม 3 ประการ ภาวนาย่อมเกิดไม่ได้ นิมิต 1 ลมหายใจออก 1 ลมหายใจเข้า 1 ไม่ใช่เป็นอารมณ์แห่งจิตดวงเดียว เมื่อภิกษุรู้ธรรม 3 ประการนี้ ภาวนาย่อมเกิดได้

อันดับแรก พระทีฆภาณกาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ก็เมื่อนิมิตปรากฏอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นพึงไปหาอาจารย์แล้วเรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ชื่อว่าอารมณ์เห็นปานนี้ปรากฏแก่กระผม แต่อาจารย์ไม่ควรบอกว่า นั่นคือนิมิตหรือไม่ใช่นิมิต พึงบอกว่า เป็นอย่างนั้นแหละอาวุโส แล้วกล่าวว่า เธอจงมนสิการอย่างนั้นบ่อย ๆ เถิด เพราะเมื่ออาจารย์บอกว่า นั่นเป็นนิมิต เธอจะหยุดพักเสีย เมื่อบอกว่า นั่นไม่ใช่นิมิต เธอจะหมดหวังเศร้าใจ เพราะฉะนั้นอาจารย์จึงไม่ควรบอกทั้ง 2 อย่าง แต่คงแนะนำแต่การใส่ใจเท่านั้น

ส่วนพระมัชฌิมภาณกาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า พระโยคาวจรนั้นเป็นผู้ที่อาจารย์ควรบอกว่า นี่นิมิตละอาวุโส เธอจงมนสิการกรรมฐานบ่อย ๆ เข้าเถิด พ่อคนดี

ลำดับนั้น พระโยคาวจรนั้นพึงตั้งจิตไว้ที่นิมิตนั่นแหละ โดยประการดังกล่าวแล้วจำเดิมแต่นี้ไป ภาวนาของเธอนี้ย่อมปรากฏด้วยอำนาจฐปนา สมดังคำที่พระโบราณาจารย์กล่าวว่า –

พระโยคาวจรผู้ทรงปัญญา ตั้งจิตไว้ในนิมิตยังอาการต่างๆ ในลมหายใจออกลมหายใจเข้าให้แจ่มแจ้ง จึงจะชื่อว่าผูกจิตของตนไว้ได้

จำเดิมแต่นิมิตปรากฏแล้วอย่างนี้ เป็นอันชื่อว่าเธอข่มนิวรณ์ทั้งหลายได้แน่แท้ กิเลสทั้งหลายย่อมสงบนิ่ง สติก็ปรากฏเด่นชัด จิตย่อมตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิเป็นแท้

ลำดับนั้น เธอพึงใส่ใจนิมิตโดยสี อย่าพิจารณาโดยลักษณะ แต่จำต้องเว้น อสัปปายะ 7 อย่างมีอาวาสเป็นต้น แล้วเสพสัปปายะ 7 อย่าง มีอาวาสเป็นต้นเหล่านั้นแหละ รักษาไว้ให้ดี ดังพระขัตติยมเหสีรักษาพระครรภ์ที่เกิดแต่พระเจ้าจักพรรดิ และดังชาวนารักษาท้องข้าวสาลีและข้าวเหนียว ฉะนั้น ครั้นเธอรักษานิมิตนั้นไว้อย่างนี้แล้ว พึงทำให้ถึงความเจริญงอกงามโดยวิธีมนสิการบ่อยๆ แล้วบำเพ็ญอัปปนาโกศล 10 ประการให้พร้อมมูล ประกอบความเพียรให้สม่ำเสมอ เมื่อเธอพยายามอยู่อย่างนี้ จตุตถฌานหรือปัญจกฌานจะเกิดขึ้นในนิมิตนั้นโดยลำดับดังกล่าวแล้วในปฐวีกสิณนั่นแล.

(หน้าที่ 70)

วิธีกำหนดนามรูป

ก็ภิกษุทำฌาน 4 และฌาน 5 ให้บังเกิดแล้วอย่างนี้ ประสงค์จะเจริญกรรมฐาน ด้วยสามารถแห่งสัลลักขณา (คือวิปัสสนา) และวิวัฏฏนา (คือมรรค) และบรรลุความบริสุทธิ์ (คือผล) ในอานาปานสติภาวนานี้ ย่อมทำฌานนั้นแล ให้ถึงภาวะเป็นวสีด้วยอาการ 5 ให้คล่องแคล่วแล้ว กำหนดนามรูปเริ่มตั้งแต่วิปัสสนา, อย่างไร? เพราะพระโยคาวจรนั้นออกจากสมาบัติแล้ว ย่อมเห็นได้ว่า กรัชกายและจิตเป็นแดนเกิดแห่งลมหายใจออกหายใจเข้า เปรียบเหมือนอย่างว่าอาศัยหลอดแห่งสูบของนายช่างทองที่กำลังพ่นอยู่ และความพยายามอันเหมาะสมแก่หลอดสูบนั้นของบุรุษ ลมจึงสัญจรไปได้ ฉันใด ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ต้องอาศัยกายและจิตจึงสัญจรไปได้ ลำดับนั้นพระโยคาวจร ย่อมกำหนดลมหายใจออกเข้าและกายว่าเป็นรูป และกำหนดจิตและธรรมอันสัมปยุตกับจิตนั้นว่าเป็นนาม นี้เป็นความสังเขปในการกำหนดนามรูปซึ่งจักมีแจ้งข้างหน้า

ครั้นกำหนดนามรูปอย่างนี้แล้ว จึงแสวงหาปัจจัยของนามรูปนั้น และเมื่อแสวงหาก็เห็นนามรูปนั้น ปรารภความเป็นไปแห่งนามรูป ข้ามความสงสัยในกาลทั้ง 3 เสียได้ เป็นผู้ข้ามความสงสัยได้แล้วยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ โดยพิจารณาเป็นกลาปะ ละวิปัสสนูกิเลส 10 ประการมีโอภาสเป็นต้น อันเกิดขึ้นในส่วนเบื้องต้นแห่งอุทยัพยานุปัสสนาญาณ กำหนดปฏิปทาญาณอันพ้นจากอุปกิเลสแล้วว่าเป็นมรรค ละนามรูปที่เกิดขึ้น บรรลุการตามเห็น ความดับแห่งนามรูป แล้วเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดหลุดพ้นในสังขารทั้งปวงที่ปรากฏโดยความเป็นของน่ากลัว เพราะเห็นแต่นามรูปที่ดับไปหาระหว่างคั่นมิได้ บรรลุอริยมรรค 4 ตามลำดับ ดำรงอยู่ในอรหัตผลถึงที่สุดแห่งปัจจเวกขณญาณ 19 ประการ เป็นพระทักขิไณยผู้เลิศของโลกพร้อมทั้งเทวโลก

ก็ด้วยอันดับคำเพียงเท่านี้ เป็นอันจบการเจริญอานาปานสติสมาธิแห่งพระโยคาวจรนั้น นับตั้งต้นแต่การนับจนมีปัจจเวกขณะเป็นที่สุด ฉะนี้แล

นี้เป็นการภาวนาจตุกกะที่ 1 โดยอาการทั้งปวง ส่วนในฝ่ายจตุกกะทั้ง 3 เพราะเหตุที่ชื่อว่านัยแห่งการเจริญกรรมฐานอีกแผนกหนึ่งไม่มี ฉะนั้นพึงทราบความแห่งจตุกกะทั้ง 3 เหล่านั้นนั่นแหละ ตามนัยแห่งการพรรณนาตามลำดับบทนั่นแล

(หน้าที่ 71)

บทว่า ปีติปฏิสํเวที แปลว่า ภิกษุสำเหนียกว่าเราจักทำปีติให้เป็นอันตนรู้แจ้งแล้ว คือทำให้ปรากฏแล้ว หายใจออกหายใจ เข้า ในข้อนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า ปีติย่อมเป็นธรรมชาติ อันพระโยคาวจรรู้แจ้งแล้ว โดยอาการ 2 อย่างคือ โดยอารมณ์ 1 โดยการไม่หลงลืม 1 (อสัมโมหะ)

ถามว่า ปีติเป็นธรรมชาติอัภิกษุรู้แจ้งแล้วโดยอารมณ์อย่างไร ?

แก้ว่า ภิกษุเข้าฌาน 2 ที่มีปีติ ปีติย่อมเป็นธรรมชาติอันภิกษุนั้นรู้แจ้งแล้วโดยอารมณ์ ด้วยการได้เฉพาะซึ่งฌานในขณะแห่งสมาบัติเพราะอารมณ์

ท่านรู้แจ้งแล้ว โดยไม่หลงลืมเป็นอย่างไร ?

คือ ครั้นเธอเข้าฌาน 2 ที่มีปีติ ออกแล้วพิจารณาเห็นปีติที่สัมปยุตด้วยฌานโดยความสิ้นไปเสื่อมไป ปีติก็เป็นอันชื่อว่าเธอรู้แจ้งแล้วโดยไม่หลงลืม เพราะรู้ลักษณะในขณะที่เห็นด้วยวิปัสสนาปัญญา สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาว่า เมื่อภิกษุรู้ชัดซึ่งภาวะแห่งจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งความหายใจออกยาว สติย่อมตั้งมั่น ปีตินั้นเป็นอันเธอรู้แจ้งแล้ว ด้วยสตินั้นด้วยญาณนั้น เมื่อภิกษุรู้แจ้งอยู่ซึ่งภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจความหายใจออกยาว ฯลฯ ด้วยอำนาจความหายใจเข้าสั้น ฯลฯ ด้วยอำนาจหายใจออกสั้น ด้วยสามารถรู้แจ้งกายทั้งสิ้นหายใจออกหายใจเข้า ฯลฯ ด้วยอำนาจทำกายสังขารให้สงบ หายใจออกเข้า สติย่อมตั้งมั่น ปีติเป็นธรรมชาติที่เธอรู้ได้ชัด ด้วยสตินั้นด้วยปัญญานั้น เมื่อภิกษุรำพึงถึงอยู่….เห็นอยู่…..ปัจจเวกขณ์อยู่…..อธิษฐานจิตอยู่…..น้อมใจเชื่อด้วยศรัทธาอยู่…..ประคองความเพียรอยู่ ยังสติให้ตั้งมั่นอยู่…..เริ่มตั้งจิตมั่น รู้ชัดอยู่ด้วยปัญญา รู้ยิ่งอยู่ซึ่งสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง….ละสิ่งที่ควรละ ทำให้เกิดสิ่งที่ควรทำให้เกิด ทำให้แจ้งสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง ปีตินั้นก็เป็นสิ่งที่เธอรู้แจ้ง ด้วยประการฉะนี้

แม้บทที่เหลือบัณฑิตพึงทราบโดยความตามนัยนั้นนั่นแล แต่ในที่นี้มีความแปลกกันดังนี้ คือ พึงทราบภาวะที่ภิกษุรู้แจ้งซึ่งสุขด้วยอำนาจแห่งฌาน 3 พึงทราบภาวะที่ภิกษุรู้แจ้งซึ่งจิตสังขารด้วยอำนาจแห่งฌานทั้ง 4 บทว่า "จิตฺตสงฺขาโร" ได้แก่ขันธ์ 2 มีเวทนาขันธ์เป็นต้น ก็ในบรรดาบททั้ง 2 นี้ บทว่า "สุขปฏิสํเวที"ท่านกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาเพื่อแสดงภูมิแห่งวิปัสสนาว่า สุขในบทว่า สุขํ นี้มี 2 อย่าง คือสุขทางกาย 1 สุขทางจิต 1 บทว่า "ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ" ความว่า ระงับคือดับจิตสังขารที่หยาบ ๆ แต่เมื่อว่าโดย

(หน้าที่ 72)

พิสดารความดับจิตสังขารนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในกายสังขารนั่นแล อนึ่ง ในบทเหล่านั้น บทว่า "ปีติ" ท่านกล่าวถึงเวทนาโดยยกเวทนาขึ้นเป็นประธาน ในบทว่า "สุข" ท่านกล่าวเวทนาโดยสรุปนั่นเอง ในบทว่า "จิตฺตสงฺขาร" ทั้ง 2 บท พึงทราบว่าท่านกล่าวเวทนาที่สัมปยุตด้วยสัญญา เพราะพระบาลีว่า สัญญาและเวทนาเป็นเจตสิก ธรรมเหล่านั้นนับเนื่องกับจิต จัดเป็นจิตสังขาร ดังนี้แล

บัณฑิตพึงทราบว่า จตุกกะนี้ทรงตรัสโดยนัยแห่งเวทนานุปัสสนา ด้วยประการฉะนี้

แม้ในจตุกกะที่ 3 พึงทราบภาวะที่ภิกษุกำหนดรู้จิต ด้วยอำนาจฌาน 4 บทว่า "อภิปฺปโมทยํ จิตฺตํ" ความว่า ภิกษุสำเหนียกว่า เราจักยังจิตให้บันเทิง ให้ปลื้ม ให้ร่าเริงให้เบิกบาน หายใจออก หายใจเข้า

ในบทเหล่านั้น การบันเทิงยิ่ง ย่อมมีด้วยอาการ 2 อย่าง คือด้วยอำนาจสมาธิ 1 ด้วยวิปัสสนา 1 ถามว่า บันเทิงด้วยสมาธิอย่างไร? แก้ว่า ภิกษุเข้าฌาน 2 มีปีติ เธอยังจิตให้บันเทิงให้ปลื้มด้วยปีติอันสัมปยุตด้วยธรรมในขณะเข้าฌาน บันเทิงด้วยวิปัสสนาอย่างไร? คือภิกษุครั้นเข้าฌาน 2 อันมีปีติ ออกแล้วพิจารณาปีติ อันสัมปยุตด้วยฌาน โดยความสิ้นไปเสื่อมไป เธอทำปีติอันสัมปยุตด้วยฌานให้อารมณ์ ยังจิตให้บันเทิงให้ปลื้มอยู่ ในขณะแห่งวิปัสสนาอย่างนี้

ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ท่านเรียกว่า สำเหนียกว่าเราจักยังจิตให้บันเทิงยิ่ง หายใจออก หายใจเข้า

บทว่า "สมาหิตํ จิตฺตํ" ความว่า ดำรงจิตให้เสมอ คือตั้งจิตให้เสมอในอารมณ์ ด้วยอำนาจปฐมฌานเป็นต้น ก็หรือว่า เมื่อเข้าฌานเหล่านั้นออกแล้ว พิจารณาจิตอันสัมปยุตด้วยฌาน โดยความสิ้นไปและความเสื่อมไปอยู่ "ขณิกจิตเตกัคคตา" ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ตั้งอยู่ชั่วขณะ ย่อมเกิดขึ้นเพราะรู้แจ้งลักษณะไตรลักษณ์ในขณะวิปัสสนา ภิกษุดำรงจิตเสมอ คือตั้งจิตให้เสมอในอารมณ์แม้ด้วยอำนาจขณิกจิตเตกัคคตาอันเกิดขึ้นอย่างนั้น ท่านเรียกว่าสำเหนียกอยู่ว่าเราจักตั้งจิตมั่นหายใจออกหายใจเข้า

(หน้าที่ 73)

บทว่า "วิโมทยํ จิตฺตํ" ความว่าภิกษุปลดเปลื้องจิตจากนิวรณ์ทั้งหลายด้วยปฐมฌาน ปลดเปลื้องจิตจากวิตกวิจารด้วยทุติยฌาน ปลดเปลื้องจิตจากปีติด้วยตติยฌาน ปลดเปลื้องจิตจากสุขทุกข์ด้วยจตุตถฌาน ก็หรือว่า ภิกษุเข้าฌานเหล่านั้นออกแล้วพิจารณาจิตที่สัมปยุตด้วยฌานโดยความสิ้นไปและเสื่อมไปในขณะแห่งวิปัสสนา เธอปลดเปลื้องจิตจากนิจจสัญญาด้วยอนิจจานุปัสสนา ปลดเปลื้องจิตจากสุขสัญญาด้วยทุกขานุปัสสนา จากอัตตสัญญาด้วยอนัตตานุปัสสนา จากนันทิด้วยนิพพิทานุปัสสนา จากราคะด้วยวิราคานุปัสสนา จากสมุทัยด้วยนิโรธานุปัสสนา จากอาทานด้วยปฏินิสสัคคานุปัสสนา หายใจออก หายใจเข้า เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า สำเหนียกว่าเราจักเปลื้องจิตหายใจออกหายใจเข้า

พึงทราบว่า จตุกกะนี้ทรงตรัสโดยเป็นจิตตานุปัสสนา ด้วยประการฉะนี้

อธิบาย อนิจฺจานุปสฺสี

ส่วนในจตุกกะที่ 4 ในบทว่า "อนิจฺจานุปสฺสี" นี้มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ อันดับแรกพึงทราบอนิจจะ, พึงทราบอนิจจตา, พึงทราบอนิจจานุปัสสนา, พึงทราบอนิจจานุปัสสี ในบทเหล่านั้น บทว่า "อนิจฺจํ" ได้แก่ขันธ์ 5 เพราะเหตุไร? เพราะขันธ์ 5 เหล่านั้น มีความมีความเกิดขึ้น ดับไป และกลายเป็นอย่างอื่นเป็นสภาวะ บทว่า "อนิจฺจตา" ได้แก่ภาวะที่ขันธ์ 5 เหล่านั้นนั่นแหละ มีความเกิดขึ้นแล้วดับไปและกลายเป็นอย่างอื่น หรือมีแล้วกลับไม่มี อธิบายว่า ขันธ์ 5 เหล่านั้นบังเกิดแล้วไม่ตั้งอยู่โดยอาการนั้นนั่นแหละ แล้วแตกไปโดยความดับไปชั่วขณะ บทว่า "อนิจฺจานุปสฺสนา" ได้แก่ความเห็นว่าไม่เที่ยงในขันธ์ 5 มีรูปเป็นต้น ด้วยสามารถแห่งสภาวะไม่เที่ยงนั้น บทว่า "อนิจฺจานุปสฺสี" ได้แก่ผู้ประกอบด้วยอนุปัสสนานั้น เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้เป็นอย่างนั้นหายใจออกหายใจเข้า พึงทราบว่า ชื่อว่าย่อมสำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้ตามเห็นในรูปนามนี้ว่าไม่เที่ยงหายใจออกหายใจเข้า

พึงทราบจตุกกะที่ 4 นี้ด้วยสามารถแห่งจิตตานุปัสสนา

(หน้าที่ 74)

อธิบาย วิราคานุปสฺสี นิโรธานุปสฺสี

ก็ วิราคะ ในบทว่า วิราคานุปสฺสี นี้มี 2 อย่างคือ ขยวิราคะ 1 อัจจันตวิราคะ 1 ในวิราคะ 2 อย่างนั้น คำว่า ขยวิราคะ ได้แก่ความดับไปทุกขณะแห่งสังขารทั้งหลาย คำว่า อัจจันตวิราคะ ได้แก่พระนิพพาน คำว่า วิราคานุปสฺสนา ได้แก่วิปัสสนาและมรรค อันเป็นไปด้วยอำนาจวิปัสสนา 2 นั้น ภิกษุผู้ประกอบด้วยอนุปัสสนา 2 อย่างนั้น หายใจออกหายใจเข้า พึงทราบว่า สำเหนียกว่าเราจักตามเห็นวิราคะหายใจออกหายใจเข้า แม้ในบทว่า นิโรธานุปสฺสี ก็นัยนี้เหมือนกัน

อธิบาย ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี

คำว่า ปฏินิสฺสคฺคา แม้ในบทว่า ปฏินิสฺสคฺคานุปสสี นี้มี 2 อย่างคือ ปริจฺจาคปฏินิสฺสคฺค 1 ปกฺขนฺทนปฏินิสฺสคฺค 1 อนุปัสสนาคือปฏินิสสัคคะ ชื่อว่า ปฏินิสสัคคานุปัสสนา คำนี้เป็นชื่อของวิปัสสนาและมรรค จริงอยู่ วิปัสสนาย่อมสลัดเสียซึ่งกิเลสทั้งหลายพร้อมด้วย ขันธาภิสังขารด้วยอำนาจตทังคปหาน และแล่นไปในพระนิพพานอันผิดตรงกันข้ามกับกิเลสนั้น โดยภาวะเป็นที่น้อมไปในพระนิพพานนั้นโดยเห็นโทษในสังขตธรรม เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า ปริจฺจาคปฏินิสฺสคฺค 1 ปกฺขนฺทนปฏินิสฺสคฺค 1 ส่วนมรรคย่อมสละซึ่ง กิเลสทั้งหลายพร้อมด้วยขันธาภิสังขารด้วยอำนาจสมุจเฉทปหาน และแล่นไปในพระนิพพาน โดยทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า ปริจฺจาคปฏินิสฺสคฺค 1 ปกฺขนฺทนปฏินิสฺสคฺค 1 ดังนี้ ก็วิปัสสนาญาณและมรรคญาณทั้ง 2 ท่านเรียกว่า อนุปัสสนา เพราะตามเห็นญาณก่อน ๆ ภิกษุผู้ประกอบด้วยปฏินิสสัคคานุปัสสนาทั้ง 2 อย่างนั้น หายใจออกและหายใจเข้าอยู่ พึงทราบว่า ชื่อว่าสำเหนียกเราจักเป็นผู้ตามเห็นการสละคือหายใจออกหายใจเข้า

จตุกกะที่ 4 นี้ ทรงตรัสโดยวิปัสสนาล้วน ส่วน 3 จตุกกะข้างต้น ตรัสโดยเป็นสมถะและวิปัสสนา

บัณฑิตพึงทราบการเจริญอานาปานสติมีวัตถุ 16 โดยจตุกกะ อย่างละ 4 หมวด ด้วยประการฉะนี้ และอานาปานสตินี้ โดยว่าตามวัตถุ 16 อย่าง ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ด้วยประการฉะนี้

(หน้าที่ 75)

ในอานิสงส์แห่งอานาปานสตินั้น พึงทราบอานาปานสตินั้นว่ามีอานิสงส์มากแม้ด้วยสามารถเป็นภาวะสงบเป็นต้น โดยพระพุทธพจน์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้อานาปานสติสมาธินี้แล อันบุคคลเจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นธรรมสงบและประณีต ดังนี้เป็นต้นบ้าง โดยความเป็นธรรมสามารถในอันตัดขาดซึ่งวิตกบ้าง จริงอยู่ อานาปานสติสมาธินี้ เพราะเป็นธรรมสงบประณีตเยือกเย็นและอยู่เป็นสุข จึงตัดความวิ่งพล่านไปข้างโน้นข้างนี้แห่งจิตด้วยอำนาจวิตกทั้งหลายอันเป็นตัวทำอันตรายแก่สมาธิเสียได้ แล้วทำจิตให้มุ่งหน้าต่ออารมณ์คือลมหายใจออกและลมหายใจเข้าเท่านั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าอานาปานสติภิกษุพึงบำเพ็ญเพื่อตัดเสียซึ่งวิตก ดังนี้

อนึ่ง ภาวะที่อานาปานสตินั้นมีอานิสงส์มาก บัณฑิตพึงทราบแม้โดยความเป็นมูลแห่งการทำวิชาและวิมุติให้บริบูรณ์ สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันภิกษุอบรมแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน 4 ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน 4 อันภิกษุเจริญแล้วทำให้มากแล้วย่อมยังโพชฌงค์ 7 ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ 7 อันภิกษุเจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาวิมุตให้บริบูรณ์ ดังนี้

อีกอย่างหนึ่ง ภาวะที่อานาปานสตินั้นมีอานิสงส์มาก พึงทราบแม้โดยการกระทำ ความรู้ลมหายใจออกลมหายใจเข้าครั้งสุดท้ายให้ปรากฏชัด สมจริงดังพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ดูก่อนราหุล เมื่ออานาปานสติอันภิกษุทำให้เจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล แม้ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าอันเป็นครั้งสุดท้าย อันภิกษุทราบก่อนแล้วจึงดับไป ยังไม่ทราบชัดหาดับไปไม่ ดังนี้ ในลมเหล่านั้นเมื่อว่าโดยการดับ ลมหายใจออกเข้าที่เป็นครั้งสุดท้าย มีอยู่ 3 คือ ที่มีในที่สุดด้วยอำนาจภพ 1 ที่มีในที่สุดด้วยอำนาจฌาน 1 ที่มีในที่สุดด้วยอำนาจจุติ 1 ก็ในบรรดาภพทั้งหลาย ลมหายใจออกลมหายใจเข้า ย่อมเป็นไปในกามภพ หาเป็นไปในรูปภพและอรูปภพไม่ เพราะฉะนั้น ลมเหล่านั้นจึงชื่อว่ามีในครั้งสุดท้ายแห่งภพ ในบรรดาฌาน ลมหายใจออกลมหายใจเข้าย่อมเป็นไปในฌาน 3 ข้างต้น หาเป็นไปในฌานที่ 4 ไม่ เพราะฉะนั้น ลมเหล่านั้นจึงชื่อว่ามีในครั้งสุดท้ายด้วยอำนาจฌาน ส่วนลมหายใจออกลมหายใจเข้าเหล่าใดเกิดขึ้นพร้อมกับจิตขณะที่ 16 ข้างหน้าแต่จุติจิต แล้วดับพร้อม

(หน้าที่ 76)

กับจุติจิต ลมเหล่านี้ชื่อว่ามีในครั้งสุดท้ายโดยจุติจิต ลมซึ่งมีในครั้งสุดท้ายโดยจุติจิตนี้ พระผู้มีพระภาคทรงพระประสงค์เอาว่า เป็นครั้งสุดท้ายในพระสูตรนี้

เล่ากันมาว่า เพราะภาวะที่ภิกษุหมั่นประกอบกรรมฐานนี้ กำหนดอารมณ์แห่งลมหายใจออกเข้าด้วยดี แม้ความเกิดขึ้นแห่งลมเหล่านั้นก็ปรากฏแก่เธอผู้รำพึงถึงความเกิดขึ้น ในอุปปาทขณะแห่งจิตดวงที่ 16 เบื้องหน้าแต่จุติจิต เมื่อเธอรำพึงถึงฐิติขณะแห่งจิต แม้ฐิติขณะแห่งลมเหล่านั้นก็ปรากฏ เมื่อรำพึงถึงความดับ แม้ภวังคขณะแห่งลมเหล่านั้นก็ย่อมปรากฏ

จริงอยู่ เมื่อภิกษุเจริญกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งจากกรรมฐานนี้แล้ว ไม่บรรลุพระอรหัต ย่อมกำหนดระยะกาลแห่งอายุได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เมื่อเจริญอานาปานสติมีวัตถุ 16 นี้แล้วได้บรรลุพระอรหัต ย่อมกำหนดระยะกาลได้แท้

ภิกษุผู้เจริญอานาปานสติได้บรรลุพระอรหัตนั้นรู้ว่าบัดนี้อายุสังขารของเราจักเป็นไปได้เพียงเท่านี้ ไม่เลยกว่านี้ไป ดังนี้แล้วทำกิจทั้งปวงมีการชำระร่างกายและการนุ่งห่มเป็นต้น ตามธรรมดานั่นแหละแล้วหลับตา ดังพระติสสเถระวัดโกติบรรพตวิหาร ดังพระมหาติสสเถระวัดมหากรัญชนิยวิหาร ดังพระบิณฑปาติกติสสเถระในเทวปุตรัฐ และดังพระเถระสองพี่น้อง วัดจิตดลบรรพตวิหาร ฉะนั้น คำแสดงเรื่อง ๆ หนึ่งในบรรดาเรื่องแห่งพระเถระเหล่านั้น ดังนี้

เล่ากันมาว่า บรรดาพระเถระ 2 พี่น้อง พระเถระรูปหนึ่งลงปาติโมกข์ในวันเพ็ญอุโบสถ แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ไปยังที่อยู่ของตน ยืน ณ ที่จงกรม แลดูแสงจันทร์ ใครครวญดูอายุสังขารของตน กล่าวกะหมู่ภิกษุสงฆ์ว่า ท่านทั้งหลายเคยเห็นภิกษุผู้ปรินิพพานด้วยอาการอย่างไร? ในภิกษุเหล่านั้น บางพวกกล่าวว่า พวกเราเคยเห็นนั่งที่อาสนะนั่นเองปรินิพพาน บางพวกกล่าวว่า พวกเราเคยเห็นนั่งคู้บัลลังก์ในอากาศ พระเถระจึงกล่าวว่า บัดนี้เราจักแสดงภิกษุผู้กำลังจงกรมนั่นแลปรินิพพานแก่ท่านทั้งหลาย ลำดับนั้นก็ทำรอยขีดไว้ในที่จงกรมแล้วกล่าวว่า เราเดินไปจากที่สุดที่จงกรมนี้สู่ที่จงกรมอีกข้างหนึ่งแล้วกลับมา พอถึงรอยนี้จักปรินิพพาน ดังนี้แล้วลงสู่ที่จงกรมไปถึงส่วนข้างหนึ่งแล้วกลับมา ย่อมปรินิพพาน ในขณะเท้าข้างหนึ่งเหยียบรอยนั่นเอง

(หน้าที่ 77)

เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงเป็นผู้ไม่ประมาท ประกอบด้วยอานาปานสติ อันมีอานิสงส์มากมายถึงอย่างนี้ ในกาลทุกเมื่อ เทอญ.

นี้เป็นกถามุขอย่างพิสดารในอานาปานสติ

…………………

อุปสมานุสสติกถา

ส่วนพระโยคาวจรภิกษุผู้ประสงค์จะเจริญอุปสมานุสสติ ซึ่งท่านยกขึ้นแสดงไว้ ในลำดับแห่งอานาปานสติ พึงไปอยู่ในที่ลับหลีกเร้นอยู่ พึงระลึกถึงคุณพระนิพพาน กล่าวคือธรรมที่เข้าไปสงบทุกข์ทั้งปวง โดยนัยพระบาลีอย่างนี้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ธรรมทั้งหลายเป็นสังขตะก็ดี  เป็นอสังขตะก็ดีมีประมาณเพียงใด  วิราคธรรมเรากล่าวว่าเป็นเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น  วิราคธรรมนี้คืออะไร ?  ธรรมนี้คือ  ธรรมเป็นที่สร่างเมา  เป็นที่กำจัดความกระหาย  เป็นที่ถอนอาลัย  เป็นที่ตัดวัฏฏะ  เป็นที่สิ้นตัณหา  เป็นที่สำรอกตัณหา  เป็นที่ดับตัณหา  คือพระนิพพาน

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาวตา แปลว่า มีประมาณเท่าใด บทว่า ธมฺมา ได้แก่ สภาวธรรมทั้งหลาย บทว่า สงฺขตา วา อสงฺขตา วา ความว่า ธรรมทั้งหลายอันปัจจัยทั้งหลายมารวมประชุมกันแต่งขึ้นก็ดี ไม่ได้แต่งขึ้นก็ดี บทว่า วิราโค เตสํ ธมฺมานํ อคฺคมกฺขายติ ความว่า วิราคธรรมเรากล่าวว่าเลิศ คือ กล่าวว่า ประเสริฐสูงสุดกว่าสังขตธรรมและอสังขตธรรมเหล่านั้น บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิราโค ความว่าไม่ใช่ประสงค์เอาเพียงความไม่มีราคะเท่านั้น โดยที่แท้ก็ประสงค์เอาธรรมเป็นที่สร่างเมา ฯลฯ เป็นที่ออกจากเครื่องร้อยรัด ฉะนั้น อสังขตธรรมที่ได้นามว่าธรรมเป็นที่สร่างเมาเป็นต้น จึงเรียกว่า วิราคะ

จริงอยู่ วิราคธรรมนั้นท่านเรียกว่าธรรมเป็นที่สร่างเมา เพราะความเมาทั้งปวงมีความเมาด้วยอำนาจมานะและความเมาในความเป็นบุรุษเป็นต้น มาถึงวิราคธรรมนั้นแล้ว ย่อมสร่างเมาคือหายเมา และเรียกว่าธรรมเป็นที่กำจัดความกระหาย เพราะความกระหายทั้งปวงมาถึงวิราคธรรมนั้นแล้วย่อมถึงความกำจัดออกคือตกไป อนึ่ง เรียกว่าธรรมเป็นที่ถอนความอาลัย เพราะความอาลัยในกามคุณ 5 มาถึงวิราคธรรมนั้นแล้วย่อมถึงความถอนออกเด็ด

(หน้าที่ 78)

ขาด และเรียกว่าธรรมเป็นที่ขาดสูญวัฏฏะ เพราะวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ 3 มาถึงวิราคธรรมนั้นแล้วย่อมขาดสูญ อนึ่ง เรียกว่าธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายราคะ เป็นที่ดับสนิท เพราะตัณหามาถึงวิราคธรรมนั้นแล้วย่อมถึงความสิ้นไปคลายไปดับไปโดยประการทั้งปวง อนึ่ง เรียกว่า นิพพาน เพราะวิราคธรรมนั้นออกไปคือสลัดตัดขาดจากตัณหา อันได้โวหารว่า วานะเพราะร้อยรัด, ผูกไว้ เย็บ, เชื่อมซึ่งกำเนิด 4 คติ 5 วิญญาณฐิติ 7 และสัตตาวาส 9 เพื่อภาวะสืบ ๆ ไปแล อุปสมะ กล่าวคือพระนิพพาน อันพระโยคาวจรพึงระลึกถึงโดยอำนาจคุณมีธรรมเป็นที่สร่างเมาเป็นต้นเหล่านั้นดังกล่าวมาฉะนี้ ก็หรือว่าพระโยคาวจรพึงระลึกถึงโดยอำนาจคุณคืออุปสมะแม้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ในพระสูตรทั้งหลายมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอสังขตธรรมแก่เธอทั้งหลาย เราจักแสดงสัจธรรม ปารธรรม สุทุททสธรรม อัชชรธรรม ยุวธรรม นิปปัญจธรรม อมตธรรม สิวธรรม เขทธรรม อัพภูตธรรม อนีติกธรรม วิสุทธิธรรม ทีปธรรม ตาณธรรม เลณธรรม แก่เธอทั้งหลาย ดังนี้เป็นต้นนั่นแล

เมื่อพระโยคาวจรระลึกถึงความสงบ โดยอำนาจคุณมีภาวะที่ธรรมเป็นที่สร่างเมาเป็นต้นอย่างนี้อยู่ ในสมัยนั้นจิตของเธอไม่ถูกราคะกลุ้มรุม……ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม…..ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุมเลย ในสมัยนั้นจิตของเธอเป็นธรรมชาติดำเนินไปตรง ปรารภความสงบตรงดิ่ง เมื่อเธอข่มนิวรณ์ได้แล้ว โดยนัยที่กล่าวแล้วในอนุสสติมีพุทธานุสสติเป็นต้นนั้นแหละ องค์ฌานทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน แต่เพราะภาวะที่คุณแห่งความสงบทั้งหลายเป็นคุณลึกซึ้ง หรือเพราะภาวะที่จิตน้อมไปในการระลึกถึงคุณมีประการต่าง ๆ ฌานนี้จึงเป็นฌานไม่ถึงขั้นอัปปนา ถึงเพียงอุปจาระเท่านั้น ฌานนี้นั้นถึงการนับว่า อุปสมานุสสติ เพราะเกิดขึ้นด้วยอำนาจความระลึกถึงคุณแห่งความสงบ และแม้อุปสมานุสสตินี้ย่อมสำเร็จแก่พระอริยสาวกเท่านั้น เช่นดังอนุสสติ 6 เมื่อเป็นเช่นนั้น แม้ในปุถุชนผู้หนักในความสงบก็พึงใส่ใจถึง เพราะแม้ด้วยอำนาจการฟัง จิตก็เลื่อมใสในความสงบได้

(หน้าที่ 79)

ก็แหละ ภิกษุผู้หมั่นประกอบอุปสมานุสสตินี้ ย่อมหลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข เป็นผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจสงบ ประกอบด้วยหิริและโอปตัปปะน่าเลื่อมใส มีอัชฌาสัยประณีต เป็นผู้ควรเคารพและเป็นที่ยกย่องของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย อนึ่ง เมื่อยังไม่บรรลุคุณสูงๆ ขึ้นไป ย่อมเป็นผู้มสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เพราะเหตุฉะนั้นแล บัณฑิตผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ ไม่พึงประมาท พึงเจริญสติในความสงบอันประเสริฐ อันมีอานิสงส์เป็นอเนกประการ โดยนัย ดังพรรณนามาฉะนี้ เทอญ

กถามุขอย่างพิสดารในอุปสมานุสสติ ยุติเท่านี้

อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส ปริจเฉทที่ 8

ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณวิเสสชื่อวิสุทธิมัคค

ซึ่งข้าพเจ้ารจนาไว้

เพื่อพยุงความปราโมทย์แก่สาธุชนทั้งหลาย

ยุติลงด้วยประการฉะนี้

……………….


1)
ผู้ปรับสำนวน: ตรงนี้ต้องย้อนกลับไปพิจารณานิทเทสที่ 1-4 ตั้งแต่สีลนิทเทสจนถึงปถวีกสิณนิทเทสใหม่ด้วยว่า "บกพร่องข้อใด" เว้นแต่มีอาจารย์กรรมฐานที่มีคุณสมบัติ ก็ให้อาจารย์ดูแลให้แทน
2)
ผู้ปรับสำนวน: พระพุทธเจ้ากำหนดเวลาตายแน่นอนได้ก็จริง แต่ตัวความตายของพระพุทธเจ้าก็ไม่แน่นอน คือ จริงๆ จะตายตอนอายุครบอายุกัปป์ (100 ปีก็ได้) แต่ก็ตายตอน 80 ปี, และถ้าไม่ได้รับทีปังกรพุทธพยากรณ์ ชาตินี้ก็อาจไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ ก็ยิ่งกำหนดเวลาตายได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก. โดยนัยนี้ แม้พระพุทธเจ้าทรงกำหนดเวลาตายได้ก็จริง แต่ตัวความตายนั้นก็ยังคงกำหนดแน่นอนไม่ได้จริงๆ เช่นกัน