อยู่ในระหว่างปรับสำนวน
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)
(หน้าที่ 254)
=ปริจเฉทที่ 19 กังขาวิตรณวิสุทธินิทเทส
แสดงบรรยายความบริสุทธิ์ด้วยการข้ามพ้นความสงสัย
(2. ปัจจยปริคคหญาณ)
ส่วนว่า ญาณซึ่งข้ามพ้นความสงสัยในกาลทั้ง 3 ด้วยการกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป (ดังกล่าวมาแล้ว) นั้นนั่นแล ชื่อว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์ด้วยข้ามพ้นความสงสัย
พระภิกษุผู้ปรารถนาบรรลุกังขาวิตรณวิสุทธินั้น รำพึงถึงการค้นหาเหตุและปัจจัยของนามและรูปนั้นอยู่ เหมือนนายแพทย์ผ่าตัดผู้ฉลาด ครั้นเห็นโรคก็ค้นหาสมุฏฐานของโรคนั้นอยู่ ก็หรือ เหมือนบุรุษผู้มีเมตตา ครั้นเห็นเด็กเล็กอ่อนวัยนอนหงายแบเบาะอยู่ในตรอก จึงรำพึงอยู่ว่า "เด็กนี้เป็นบุตรน้อยของใครหนอ" ฉะนั้นนั่นเทียว
พระภิกษุนั้นเห็นเป็นแน่แท้มาแต่ต้นเลยดังนี้ว่า "ก่อนอื่น นามและรูปนี้จะไม่มีเหตุหามิได้ เพราะนามและรูปทุกอย่าง ถึงความเป็นอย่างหนึ่งอย่างเดียวกันทั้งหมดในที่ทุกแห่งและในกาลทุกเมื่อ (นามและรูปนั้น) จะมีเทพเจ้าเช่นพระอิศวรเป็นต้นเป็นเหตุ หามิได้ เพราะนอกไปจากนามและรูปแล้ว หามีเทพเจ้าเช่นพระอิศวรเป็นต้นไม่ เพราะถึงแม้ศาสดาพวกใดจะกล่าว (ทึกทักเอา) ว่า นามรูปเป็นประมาณนั่นแหละ คือเทพเจ้ามีพระอิศวรเป็นต้น นามและรูปที่เขากล่าวว่าคือเทพเจ้ามีพระอิศวรเป็นต้นของพวกศาสดาเหล่านั้น ก็ถึงภาวะเป็นของหาเหตุมิได้ เพราะฉะนั้น นามและรูปนั้นต้องมีเหตุมีปัจจัย เหตุและปัจจัยเหล่านั้นคืออะไรหนอแล" ดังนี้
(หน้าที่ 255)
พระภิกษุนั้นครั้นรำพึงถึงเหตุและปัจจัยของนามและรูปอย่างนี้แล้ว ก็กำหนดรู้เหตุและปัจจัยของรูปกายนี้ก่อนอย่างนี้ว่า "กายนี้เมื่อเกิดขึ้นมา มิได้เกิดขึ้นภายในดอกบัวอุบล (บัวขาบ) ดอกบัวปทุม (บัวหลวง) ดอกบัวบุณฑริก (บัวขาว) และดอกบัวจงกลนี (บัวแดง) อันมีกลิ่นหอมเป็นต้น มิได้เกิดขึ้นภายในแก้วมณีและแก้วมุกดาหารเป็นต้น หากแต่เกิดขึ้นในระหว่างกระเพาะอาหารใหม่และกระเพาะอาหารเก่า เอาพื้นท้องไว้ข้างหลัง เอากระดูกสันหลังไว้ข้างหน้า แวดวงไว้ด้วยไส้ใหญ่และไส้น้อย แม้ตัวเองก็ปฏิกูลด้วยของน่าเกลียดมีกลิ่นเหม็น อยู่ในที่คับแคบมาก ซึ่งปฏิกูลด้วยของน่าเกลียดมีกลิ่นเหม็น ดุจตัวหนอนที่เกิดขึ้นในปลาเน่า ในขนมบูด ในบ่อน้ำครำ และในหลุมโสโครก เป็นต้น รูปซึ่งเกิดขึ้นอย่างนี้นั้น มีธรรมเป็นเหตุ เป็นปัจจัย 5 อย่าง ได้แก่ ธรรม 4 อย่าง คือ อวิชชา 1 ตัณหา 1 อุปาทาน 1 กรรม 1 เหล่านี้เป็นเหตุ เพราะเป็นผู้ให้เกิดขึ้น (และ) อาหารเป็นปัจจัย เพราะเป็นผู้อุปถัมภ์ 1 แม้ในธรรมเหล่านั้น ธรรม 3 อย่าง มีอวิชชาเป็นต้น เป็นที่เข้าอยู่อาศัยของกายนี้ เปรียบเหมือนมารดาเป็นที่เข้าอยู่อาศัยของทารก กรรมเป็นผู้ให้เกิด เปรียบเหมือนบิดาเป็นผู้ทำให้บุตรเกิด อาหารเป็นผู้ค้ำจุน (กายนี้) ให้ธำรงอยู่ เปรียบเหมือนพี่เลี้ยงคอยอุ้มชูทารก พระภิกษุนั้นครั้นกำหนดรู้ปัจจัยของรูปกายอย่างนี้แล้ว จึงทำการกำหนดรู้ปัจจัยของนามกายต่อไปอีก โดยนัยเป็นต้นว่า "จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุและรูปทั้งหลาย"1 ดังนี้
(ละความสงสัย 16 ประการ)
พระภิกษุนั้นครั้นเห็นความเป็นไปของนามและรูปโดยปัจจัยดังกล่าวนี้แล้ว ก็เห็นอยู่เสมอเนืองๆ ว่า "นามและรูปนี้เป็นไปอยู่ทั้งใน (ปัจจุบัน) บัดนี้ ฉันใด ถึงแม้ในอดีตกาลก็ได้เป็นไปแล้วโดยปัจจัย อีกทั้งในอนาคตกาลก็จักเป็นไปโดยปัจจัย ฉันนั้น" เมื่อพระภิกษุนั้นเห็นอยู่เสมอเนืองๆ อย่างนี้ ก็ละความสงสัยแม้ทุกอย่าง คือ ความสงสัยซึ่งท่านปรารภที่สุดเบื้องต้น (คือ อดีตกาล) แล้วกล่าวไว้ 5 อย่างดังนี้ว่า
1. ในอดีตกาล ข้าพเจ้าได้เป็นแล้วหรือหนอ ?
2. ในอดีตกาล ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นมาแล้วหรือหนอ ?
3. ในอดีตกาล ข้าพเจ้าได้เป็นอะไรมาแล้วหนอ ?
1 ม. มู.12/226, สํ.สฬา. 18/39.
(หน้าที่ 256)
4. ในอดีตกาล ข้าพเจ้าได้เป็นอย่างไรมาแล้วหนอ ?
5. ในอดีตกาล ข้าพเจ้าเป็นอะไรแล้วจึงได้เป็นอะไรมาแล้วหนอ ?1
อีกทั้งความสงสัย ซึ่งท่านปรารภที่สุดเบื้องปลาย (คือ อนาคตกาล) แล้วกล่าวไว้ 5 อย่าง ดังนี้ว่า
1. ในอนาคตกาล ข้าพเจ้าจักเป็นหรือหนอ ?
2. ในอนาคตกาล ข้าพเจ้าจักไม่เป็นหรือหนอ ?
3. ในอนาคตกาล ข้าพเจ้าจักเป็นอะไรหนอ ?
4. ในอนาคตกาล ข้าพเจ้าจักเป็นอย่างไรหนอ ?
5. ในอนาคตกาล ข้าพเจ้าเป็นอะไรแล้วจึงได้เป็นอะไรมาแล้วหนอ ?1
อีกทั้งความสงสัยซึ่งท่านปรารภกาลปัจจุบัน ก็หรือว่าเป็นผู้มีความสงสัยภายในปรารภกาลปัจจุบันในบัดนี้ แล้วกล่าวไว้ (อีก) 6 อย่างดังนี้ว่า
1. ข้าพเจ้าเป็นอยู่หรือหนอ ?
2. ข้าพเจ้าจักมิได้เป็นอยู่หรือหนอ ?
3. ข้าพเจ้าเป็นอะไรอยู่หนอ ?
4. ข้าพเจ้าเป็นอย่างไรอยู่หนอ ?
5. สัตว์นี้มาจากไหนหนอ ?
6. สัตว์นั้นจักไปไหนหนอ ?1
พระภิกษุอีกรูปหนึ่งเห็นปัจจัย 2 อย่างของนาม โดยทางสาธารณปัจจัยและอสาธารณปัจจัย เห็นปัจจัย 4 อย่างของรูป โดยทางเหตุมีกรรมเป็นต้นว่า "ความจริง ปัจจัยของนามมี 2 อย่าง คือ สาธารณะ 1 และอสาธารณะ 1 ใน 2 อย่างนั้น ทวาร 6 มีจักษุเป็นต้น (และ)อารมณ์ 6 มีรูปเป็นต้น เป็นสาธารณปัจจัยของนาม เพราะเป็นไปแก่นามแม้ทุกประการ ตามความแตกต่างมีนามที่เป็นกุศลเป็นต้น ส่วนธรรม (อื่น) มีมนสิการ (คือความใส่ใจ)
1 ม. มู.12/14
(หน้าที่ 257)
เป็นต้น เป็นอสาธารณปัจจัย เพราะธรรมมีโยนิโสมนสิการและการฟังธรรมเป็นต้น เป็นปัจจัยของนามเฉพาะที่เป็นกุศลเท่านั้น ธรรมตรงกันข้ามเป็นปัจจัยของนามอกุศล แต่กรรมเป็นต้นเป็นปัจจัยของนามที่เป็นวิบาก และภวังค์เป็นต้นเป็นปัจจัยของนามที่เป็นกิริยา" "ส่วนกรรม จิต ฤดู อาหาร 4 อย่าง ซึ่งมีกรรมเป็นต้นนี้เป็นปัจจัยของรูป ใน 4 อย่างนั้น กรรมเฉพาะที่เป็นอดีตเท่านั้นเป็นปัจจัยของรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน จิตเมื่อเกิดขึ้นเป็นปัจจัยของรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน ส่วนฤดูและอาหารเป็นปัจจัยของรูปที่มีฤดูและอาหารเป็นสมุฏฐานในขณะ (รูปนั้น) ตั้งอยู่" ดังนี้
พระภิกษุรูปหนึ่งทำการกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูปด้วยอาการดังกล่าวนี้ ครั้นเธอเห็นความเป็นไปของนามและรูปโดยปัจจัยอย่างนี้แล้ว ก็เห็นอยู่เสมอเนืองๆ ว่า "นามและรูปนี้ ในบัดนี้เป็นไปอยู่อย่างใด แม้ในอดีตกาลก็เป็นไปแล้วโดยปัจจัย แม้ในอนาคตกาลก็จักเป็นไปโดยปัจจัยอย่างนั้น" เมื่อพระภิกษุนั้นพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้ ก็ละเสียได้ซึ่งความสงสัยในกาลแม้ทั้ง 3 โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล
พระภิกษุอีกรูปหนึ่งครั้นเห็นสังขารทั้งหลายกล่าวคือนามและรูปเหล่านั้นแล ถึงความชรา และเห็นความแตกดับของสังขารทั้งหลายที่ชราแล้ว จึงทำการกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูปทางปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลมอย่างนี้ว่า "ที่เรียกว่า ชราและมรณะของสังขารทั้งหลายนี้มีขึ้นเพราะมีความเกิด ความเกิดมีเพราะมีภพ ภพมีเพราะมีอุปาทาน อุปาทานมีเพราะมีตัณหา ตัณหามีเพราะมีเวทนา เวทนามีเพราะมีผัสสะ ผัสสะมีเพราะมีอายตนะ 6 อายตนะ 6 มีเพราะมีนามและรูป นามและรูปมีเพราะมีวิญญาณ วิญญาณมีเพราะมีสังขารทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีเพราะมีอวิชชา" ดังนี้ ครั้นแล้วพระภิกษุนั้นก็ละความสงสัยได้โดยนัยกล่าวแล้วนั่นแล
พระภิกษุอีกรูปหนึ่งทำการกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูปทางปฏิจจสมุปบาทเหมือนกันแต่โดยอนุโลมซึ่งแสดงไว้พิสดารข้างต้นแล้ว1 (มีอาทิ) "เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงเกิดสังขาร" ด้วยประการฉะนี้แล ครั้นแล้วพระภิกษุนั้นก็ละความสงสัยได้โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล
1 ในตอนกล่าวถึง ปฏิจจสมุปบาท ใน ปัญญาภูมินิทเทส ข้างต้น
(หน้าที่ 258)
พระภิกษุอีกรูปหนึ่งทำการกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูปทางกัมมวัฏฏ์และวิปากวัฏฏ์อย่างนี้ว่า "ธรรม 5 อย่าง คือ โมหะในกรรมภพก่อน ได้แก่อวิชชา 1 ความตั้งใจทำไว้ในกรรมภพก่อน ได้แก่สังขาร 1 ความใคร่ ได้แก่ตัณหา 1 ความยึดมั่นถือมั่น ได้แก่อุปาทาน 1 เจตนา ได้แก่ภพ 1 ในกรรมภพก่อนเหล่านี้เป็นปัจจัยของปฏิสนธิในภพนี้
ธรรม 5 อย่าง คือ ปฏิสนธิในภพนี้ ได้แก่วิญญาณ 1 การก้าวลง (ในครรภ์มารดา) ได้แก่นามรูป 1 ประสาท ได้แก่อายตนะ 1 สิ่งที่สัมผัสถูกต้อง ได้แก่ผัสสะ 1 การเสวยอารมณ์ ได้แก่เวทนา 1 ในอุปปัตติภพนี้ เหล่านี้เป็นปัจจัยของกรรมที่ทำไว้ในภพก่อน เพราะเหตุที่อายตนะทั้งหลายแก่กล้าในภพนี้แล้ว ธรรม 5 อย่าง คือ โมหะ ได้แก่อวิชชา 1 ความตั้งใจทำ ได้แก่สังขาร 1 ความใคร่ ได้แก่ตัณหา 1 ความยึดมั่นถือมั่น ได้แก่อุปาทาน 1 เจตนา ได้แก่ภพ 1 ในกรรมภพนี้ เหล่านี้เป็นปัจจัยของปฏิสนธิ (ในภพ) ต่อไป" ดังนี้
(ว่าด้วยกรรม 12 ชนิด)1
ในกัมมวัฏฏ์และวิปากวัฏฏ์นั้น กรรม (ให้ผลตามคราว) มี 4 อย่าง คือ:
1. ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพนี้
2. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลต่อเมื่อเกิดแล้วในภพหน้า
3. อปราปรเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพสืบ ๆ ไป
4. อโหสิกรรม กรรมให้ผลสำเร็จแล้ว
ในบรรดาจิต 7 ดวง (ซึ่งดำเนินไป) ชวนวิถี เดียวกันนั้น ชวนเจตนา ดวงแรก เป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม มีชื่อเรียกว่า ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม ทิฏฐธัมมเวทนียกรรมนั้นให้ผลในอัตภาพนี้เท่านั้น แต่เมื่อไม่สามารถ (ให้ผล) อย่างนั้น ก็มีชื่อเรียกว่า อโหสิกรรม ไป ที่เป็นกรรมมีชื่อเรียกว่า อโหสิกรรม ตามหลักของหมวด 3 (ติกะ) ดังนี้ คือ "ผลของกรรมมิได้มีแล้ว 1
1 ชื่อกรรม 12 ในภาษาไทย แปลตามพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในธรรมวิภาค ปริจเฉทที่ 2
(หน้าที่ 259)
ผลของกรรมจักไม่มี 1 ผลของกรรมไม่มีอยู่ 1 1 " ส่วน ชวนเจตนา ดวงที่ 7 ซึ่งทำให้สำเร็จความประสงค์ มีชื่อเรียกว่า อุปปัชชเวทนียกรรม อุปปัชชเวทนียกรรมนั้นให้ผลในอัตภาพถัดไป เมื่อไม่สามารถ (ให้ผล) ตามนั้น ก็เป็นกรรมมีชื่อเรียกว่า อโหสิกรรม ไป โดยนัยดังกล่าวแล้วเช่นกัน ชวนเจตนา (อีก) 5 ดวง ในระหว่างชวนเจตนา 2 ดวง (คือดวงที่ 1 และที่ 7) มีชื่อเรียกว่า อปราปรเวทนียกรรม อปราปรเวทนียกรรม นั้นได้โอกาสเมื่อใดในกาลอนาคตให้ผลเมื่อนั้น เมื่อยังมีความเป็นไปของสังขารอยู่ ก็ยังไม่เป็นกรรมมีชื่อเรียกว่า อโหสิกรรม
ยังมีกรรม (ให้ผลตามลำดับ) อีก 4 อย่าง คือ
1. ครุกรรม กรรมหนัก
2. พหุลกรรม กรรมเคยชิน
3. อาสันนกรรม กรรมเมื่อจวนเจียน
4. กตัตตากรรม กรรมสักแต่ว่าทำ
บรรดากรรม 4 อย่างนั้น เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลก็ตาม ในบรรดากรรมหนักและไม่หนัก กรรมใดเป็นกรรมหนัก เช่น มาตุฆาต (ฆ่ามารดา) เป็นต้นก็ตาม หรือมหัคคตกรรม2 ก็ตาม กรรมนั้นแลให้ผลก่อน ถึงแม้ในบรรดากรรมที่เคยชินและไม่เคยชินก็เหมือนกัน กรรมใดที่เคยชินเช่นความเป็นผู้มีศีลดีก็ตาม หรือความเป็นผู้ทุศีลก็ตาม กรรมเคยชินนั้นแลให้ผลก่อน กรรมที่คนเราระลึกได้ในเวลาใกล้มรณะมีชื่อเรียกว่า อาสันนกรรม (คือกรรมเมื่อจวนเจียน) เพราะว่า บุคคลผู้ใกล้จะตายสามารถระลึกถึงกรรมใดได้ เขาก็เกิดขึ้นด้วยกรรมนั้นนั่นแล ส่วนกรรมนอกจาก 3 อย่างนี้ เป็นกรรมที่ได้ความคุ้นเคยบ่อยๆ มีชื่อเรียกว่ากตัตตากรรม เมื่อไม่มีกรรม 3 อย่างเหล่านั้นแล้ว มันจึงชักพาไปสู่ปฏิสนธิ
ยังมีกรรม (ให้ผลตามกิจ) อีก 4 อย่าง คือ
1. ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด
2. อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน
3. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น
4. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน
1 ขุ.ปฏิ.31/414 2 ได้แก่ รูปาวจรกุศล และอรูปาวจรกุศล
(หน้าที่ 260)
บรรดากรรม 4 อย่างนั้น กรรมที่มีชื่อว่าชนกกรรม เป็นทั้งกุศลทั้งอกุศล ชนกกรรมทำให้เกิดวิบากขันธ์ในกามภพ ในรูปภพและในอรูปภพ ทั้งในเวลาปฏิสนธิ ทั้งในเวลาที่วิบากขันธ์เป็นไป (ตั้งแต่เกิดจนตาย) ส่วนอุปัตถัมภกกรรมไม่สามารถให้เกิดวิบาก (ขันธ์) ได้ แต่เมื่อกรรมอื่นให้ปฏิสนธิแล้ว จึงสนับสนุนสุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในวิบาก (ขันธ์) ซึ่งกรรมอื่นให้เกิดขึ้น ให้เป็นไปตลอดกาล อุปปีฬกกรรมเมื่อกรรมอื่นให้ปฏิสนธิแล้ว ก็เข้าบีบคั้น เบียดเบียนสุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในวิบาก (ขันธ์) ซึ่งกรรมอื่นนำให้เกิดขึ้น มิให้ดำเนินไปตลอดกาล ส่วนอุปฆาตกกรรมไม่ว่าตนเองจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม คอยตัดรอนกรรมอื่นที่มีกำลังด้อยกว่า ห้ามปรามผลของกรรมนั้นไว้ แล้วทำโอกาสให้แก่ผลของตน แต่เมื่อกรรมทำโอกาสให้อย่างนี้แล้ว ก็เรียกวิบากนั้นได้ว่า เกิดขึ้นแล้ว
ลำดับของกรรมและลำดับของวิบากของกรรม 12 อย่าง ดังกล่าวมานี้ ย่อมปรากฏ โดยหน้าที่ของตนตามเป็นจริง เฉพาะแก่ กัมมวิปากญาณ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่สาธารณ์ทั่วไปแก่พระสาวกทั้งหลาย แต่พระภิกษุผู้บำเพ็ญวิปัสสนา พึงทราบทั้งลำดับของกรรมและทั้งลำดับของวิบากไว้โดยเอกเทศ เพราะฉะนั้นจึงได้ประกาศความวิเศษของกรรมนี้ไว้ด้วยการแสดงแต่เพียงที่เป็นหลักด้วยประการฉะนี้
พระภิกษุรูปหนึ่ง ครั้นบรรจุกรรม 12 อย่างนี้เข้าไว้ในกัมมวัฏฏ์ด้วยประการฉะนี้แล้วทำการกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูปทางกัมมวัฏฏ์และวิปากวัฏฏ์ด้วยประการดังกล่าวนั้น พระภิกษุนั้นครั้นเห็นความเป็นไปของนามและรูปโดยปัจจัยทางกัมมวัฏฏ์และวิปากวัฏฏ์แล้วก็เห็นอยู่เสมอเนืองๆ ว่า "นามและรูปนี้ ในบัดนี้ ก็เป็นไปอยู่โดยปัจจัยทางกัมมวัฏฏ์และวิปากวัฏฏ์ ฉันใด ถึงแม้ในอดีตกาลก็เป็นไปแล้วโดยปัจจัยทางกัมมวัฏฏ์และวิปากวัฏฏ์ ถึงแม้ในอนาคตกาลก็จักเป็นไปโดยปัจจัยทางกัมมวัฏฏ์และวิปากวัฏฏ์เช่นกัน เหมือนกันฉันนั้น ทั้งกรรมและทั้งวิบากของกรรม ทั้งกัมมวัฏฏ์และทั้งวิปากวัฏฏ์ ทั้งความเป็นไปของกรรมและทั้งความเป็นไปของวิบาก ทั้งความสืบต่อของกรรมและทั้งความสืบต่อของวิบาก ทั้งกิริยาและทั้งผลของกิริยา ก็เป็นไปด้วยประการฉะนี้
กมฺมวิปากา วตฺตนฺติ วิปาโก กมฺมสมฺภโว
กมฺมา ปุนพฺภโว โหติ เอวํ โลโก ปวตฺตติ.
(หน้าที่ 261)
แปลความว่า
เพราะกรรม วิบากทั้งหลายจึงเป็นไป วิบากเกิดจาก
กรรม ภพใหม่ก็มีเพราะกรรม โลกหมุนเวียนอยู่อย่างนี้
เมื่อภิกษุนั้นเห็นอยู่เสมอเนือง ๆ อย่างนี้ก็ละความสงสัยหมดทั้ง 16 ประการซึ่งท่านปรารภที่สุดเบื้องต้น (อดีตกาล) เป็นต้น แล้วกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า "ข้าพเจ้าได้เป็นมาแล้วหรือหนอ ? ในภพ (3) โยนิ (4) คติ (5) ฐิติ (7) และนิวาส (9) ทั่วทั้งหมด ก็ปรากฏอยู่แต่เพียงนามและรูปซึ่งเป็นไปอยู่ด้วยความสัมพันธ์ของเหตุและผลเท่านั้น นอกเหนือไปจากเหตุ พระภิกษุนั้นมิได้เห็นการก (ผู้สร้าง) นอกเหนือจากความเป็นไปของผล ก็มิได้เห็นผู้เสวยผลจึงเป็นอันว่า พระภิกษุนั้นเห็นดีแล้วด้วยปัญญาโดยชอบว่า เมื่อมีเหตุ บัณฑิตทั้งหลายก็พากันกล่าวด้วยคำเพียงหมายรู้มันว่า "มีผู้สร้าง" เมื่อมีความเป็นไปของวิบาก ก็กล่าวว่า "มีผู้เสวย" ดังนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นท่านผู้รู้แต่โบราณทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า
กมฺมสฺส การโก นตฺถิ วิปากสฺส จ เวทโก
สุทฺธธมฺมา ปวตฺตนฺติ เอเวตํ สมฺมทสฺสนํ.
แปลความว่า
ผู้สร้างกรรมไม่มี และผู้เสวยผล (ของกรรม) ก็ไม่มี
ธรรมล้วน ๆ เป็นไปอย่างเดียว นี้เป็นสัมมาทัสสนะ (คือ
ความเห็นโดยชอบ)
เอวํ กมฺเม วิปาเก จ วตฺตมาเน สเหตุเก
พีชรุกฺขาทิกานํว ปุพฺพา โกฏิ น นายติ.
แปลความว่า
เมื่อกรรมและวิบากพร้อมทั้งเหตุเป็นไปอยู่อย่างนี้ ก็
ไม่มีใครรู้เบื้องต้น (และ) เบื้องปลาย ดุจไม่มีใครรู้เบื้องต้น
(และ) เบื้องปลายของเมล็ดพืชและต้นไม้เป็นต้น ฉะนั้น
อนาคเตปิ สํสาเร อปฺปวตฺตํ น ทิสฺสติ
เอตมตฺถํ อนญฺญาย ติตฺถิยา อสยํวสี.
(หน้าที่ 262)
สตฺตสญฺญํ คเหตฺวาน สสฺสตุจฺเฉททสฺสิโน
ทฺวาสฏฐิทิฏฐิํ คณฺหนฺติ อญฺญมญฺญํ วิโรธิตา.
แปลความว่า
แม้ในอนาคตกาล ความไม่เป็นไปในสังสารวัฏก็ไม่
ปรากฏ พวกเดียรถีย์ทั้งหลายไม่รู้ความข้อนี้ ทั้งตนเองก็ไม่มี
ความเชี่ยวชาญจึงยึดถือสัตตสัญญา (ความสำคัญหมายว่ามี
สัตว์ มีบุคคล) แล้วมีความเห็นว่าเที่ยง ว่าขาดสูญ ยึดถือทิฏฐิ
62 ประการ ต่างโต้แย้งกันและกันอยู่
ทิฏฺฐิพนฺธนพนฺธา เต ตณฺหาโสเตน วุยฺหเร
ตณฺหาโสเตน วุยฺหนฺตา น เต ทุกฺขา ปมุจฺจเร.
แปลความว่า
พวกเดียรถีย์เหล่านั้นซึ่งมีเครื่องผูกพันคือทิฏฐิผูกพัน
ไว้ จึงถูกกระแสแห่งตัณหาพัดพาไป เมื่อถูกกระแสตัณหา
พัดพาอยู่ พวกเขาก็ไม่พ้นจากทุกข์
เอวเมตํ อภิญฺญาย ภิกฺขุ พุทฺธสฺส สาวโก
คมฺภีรํ นิปุณํ สุญฺญํ ปจฺจยํ ปฏิวิชฺฌติ.
แปลความว่า
พระภิกษุผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้ารู้ความนี้ด้วย
ปัญญารู้ยิ่งดังกล่าวมานี้ จึงเห็นชัดซึ่งปัจจัย (ของนามและ
รูป) อันลึกซึ้ง ละเอียด ว่างเปล่า
กมฺมํ นตฺถิ วิปากมฺหิ ปาโก กมฺเม น วิชฺชติ
อญฺญมญฺญํ อุโภ สุญญา น จ กมฺมํ วินา ผลํ.
(หน้าที่ 263)
แปลความว่า
กรรมไม่มีอยู่ในวิบาก วิบากก็ไม่มีอยู่ในกรรม กรรม
และวิบากทั้งสอง ต่างว่างเปล่าซึ่งกันและกัน แต่ปราศจาก
กรรมเสียแล้ว ผลก็หามีไม่
ยถา น สูริเย อคฺคิ น มณิมฺหิ น โคมเย
น เตสํ พหิ โส อตฺถิ สมฺภาเรหิ จ ชายติ.
ตถา น อนฺโต กมฺมสฺส วิปาโก อุปลพฺภติ
พหิทฺธาปิ น กมฺมสฺส น กมฺมํ ตตฺถ วิชฺชติ.
แปลความว่า
ไฟไม่มีในดวงอาทิตย์ ไม่มีในแก้วมณี (ที่ใช้ส่อง) ไม่
มีในมูลโค ไฟนั้นมิได้มีอยู่ภายนอกสิ่งทั้ง 3 เหล่านั้น แต่
มันเกิดขึ้นด้วยการประกอบกัน (ของสิ่งทั้ง 3) ฉันใด วิบาก
ก็ฉันนั้น หาไม่ได้ภายในกรรม แม้ภายนอกกรรมก็ไม่ได้
(เพราะ) กรรมมิได้มีอยู่ในวิบากนั้น
ผเลน สุญฺญํ ตํ กมฺมํ ผลํ กมฺเม น วิชฺชติ
กมฺมญฺจ โข อุปาทาย ตโต นิพฺพตฺตี ผลํ
แปลความว่า
กรรมนั้นว่างเปล่าจากผล ผลก็มิได้มีอยู่ในกรรม แต่
เพราะอาศัยกรรมแล ผลจึงเกิดขึ้นจากกรรมนั้น
น เหตถ เทโว พรหมมา วา สํสารสฺสตฺถิ การโก
สุทธธมมา ปวตตนติ เหตุสมภารปจจยา.
แปลความว่า
ความจริง ในโลกนี้ ไม่มีเทพเจ้า หรือพระพรหม
ผู้สร้างสังสารวัฏฏ์ ธรรมแท้ ๆ เป็นไปเอง เพราะการ
ประกอบกันของเหตุเป็นปัจจัย
(หน้าที่ 264)
เมื่อพระภิกษุนั้นทำการกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูปทางกัมมวัฏฏ์และวิปากวัฏฏ์แล้วละความสงสัยใน 3 กาลได้ด้วยประการฉะนี้แล้ว ก็เป็นอันได้รู้ธรรมทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน สิ้นทั้งปวงแล้ว โดยทางจุติและปฏิสนธิ ความรู้เช่นนั้นของพระภิกษุนั้นเป็น ญาตปริญญา คือ การกำหนดรู้สิ่งที่ปรากฏอยู่แล้ว
พระภิกษุนั้นรู้แจ้งชัดอย่างนี้ว่า "ขันธ์ทั้งหลายเหล่าใดเกิดแล้วในอดีต เพราะกรรม (ในอดีต) เป็นปัจจัย ขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้นได้ดับไปแล้วในอดีตนั้นนั่นเอง ส่วนขันธ์ทั้งหลายที่เกิดในภพนี้ เพราะกรรมในอดีตเป็นปัจจัย ก็เป็นอีกพวกหนึ่ง หามีธรรมแม้แต่สิ่งเดียวจากภพในอดีตมาสู่ภพนี้ไม่ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแล้วแม้ในภพนี้ เพราะกรรมเป็นปัจจัยก็จักดับ ขันธ์ทั้งหลายจักเกิดขึ้นในภพหน้า ก็เป็นพวกอื่น หามีธรรมแม้สิ่งเดียวจากภพนี้จักไปยังภพหน้ามิได้
อีกประการหนึ่งแล เปรียบเหมือนการสาธยาย (การท่องบ่น) จากปากของอาจารย์ หาเข้าไปสู่ปากของอันเตวาสิกไม่ แต่การสาธยายในปากของอันเตวาสิกนั้น จะไม่มีดำเนินไปเพราะการสาธยายของอาจารย์นั้นเป็นปัจจัย ก็หามิได้ (อุปมา 1) เปรียบเหมือนน้ำมนต์ที่ตัวแทนดื่มมิได้เข้าท้องของคนเป็นโรค แต่โรคของคนเป็นโรคนั้นจะไม่สงบลงเพราะการดื่มน้ำมนต์ของตัวแทนเป็นปัจจัยนั้น หามิได้ (อุปมา 2) วิธีประดับตกแต่งใบหน้า ไม่ไปถึงเงาหน้าในแผ่นกระจกเงาเป็นต้น แต่วิธีประดับตกแต่งจะไม่ปรากฏในแผ่นกระจกเงาเป็นต้นนั้น เพราะวิธีประดับตกแต่งนั้นเป็นปัจจัย หามิได้ (อุปมา 3) เปลวประทีปของไส้ (ตะเกียง) ไส้หนึ่ง จะไม่ลามไปยังอีกไส้หนึ่ง แต่เปลวประทีปในไส้ (ตะเกียงอีกอันหนึ่ง) นั้นจะไม่เกิดขึ้น เพราะไส้ (ตะเกียงอันก่อน) นั้นเป็นปัจจัยหามิได้ (อุปมา 4) ฉันใด ธรรมอะไร ๆ จากภพในอดีต มิได้ก้าวมาสู่ภพนี้ หรือจากภพนี้มิได้ก้าวไปสู่ภพหน้า เหมือนกันฉันนั้นนั่นแล แต่ขันธ์ อายตนะและธาตุทั้งหลายจะไม่เกิดขึ้นในภพนี้ เพราะมีขันธ์ อายตนะและธาตุทั้งหลายในภพอดีตเป็นปัจจัย หามิได้ หรือว่าขันธ์ อาตนะและธาตุทั้งหลายในภพหน้า จะไม่เกิดขึ้นเพราะมีขันธ์ อายตนะและธาตุทั้งหลายในภพนี้เป็นปัจจัยหามิได้ ฉะนี้แล
ยเถว จกขุวิญญาณํ มโนธาตุอนนตรํ
น เจว อาคตํ นาปิ น นิพฺพตฺตํ อนนฺตรํ.
(หน้าที่ 265)
ตเถว ปฏิสนฺธิมฺหิ วตฺตเต จิตฺตสนฺตติ
ปุริมํ ภิชฺชตี จิตฺตํ ปจฺฉิมํ ชายตี ตโต.
เตสํ อนฺตริกา นตฺถิ วีจิ เตสํ น วิชฺชติ
น จิโต คจฺฉติ กิญฺจิ ปฏิสนฺธิ จ ชายติ.
แปลความว่า
จักขุวิญญาณมาในลำดับของมโนธาตุ และมิได้มาอีก
ทั้งมิได้เกิดในลำดับ (แห่งมโนธาตุ) หามิได้ ฉันใด ความสืบ
เนื่องของจิตเป็นไปใน (ลำดับของ) ปฏิสนธิ ฉันนั้นเช่นกัน
จิตดวงก่อนแตกดับไป จิตดวงหลังก็เกิด (ต่อ) จากนั้น ไม่มี
ระหว่างคั่นของจิต 2 ดวงนั้น จิต 2 ดวงนั้นมีช่องว่างหา
มิได้ ทั้งจิตไร ๆ ก็มิได้ (จุติ) ไปจากจิตดวงนี้ และปฏิสนธิ
(จิต) ก็เกิดขึ้น ดังนี้
ปัจจยปริคคหญาณ (ญาณกำหนดรู้ปัจจัย) ของนามและรูป ของพระภิกษุผู้รู้แล้วซึ่งธรรมทุกอย่างโดยทางจุติและปฏิสนธิด้วยประการดังกล่าวมานี้ เป็นญาณถึงการมีกำลังโดยอาการทั้งปวง พระภิกษุนั้นก็ละความสงสัย 16 อย่างได้ดียิ่ง และมิใช่ละได้แต่ความสงสัย 16 อย่างเท่านั้น ถึงความสงสัย 8 อย่างซึ่งเป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า "สงสัยในพระบรมศาสดา" ดังนี้ เธอก็ละได้ด้วยเหมือนกัน ทิฏฐิ 62 ประการก็ระงับไปด้วย
ญาณข้ามพ้นความสงสัยในกาลทั้ง 3 (อดีต อนาคต ปัจจุบัน) ด้วยการกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูปโดยนัยต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้ พึงทราบว่าเป็น "กังขาวิตรณวิสุทธิ" คำว่า "ธัมมฐิติญาณ - ญาณกำหนดรู้การตั้งอยู่ด้วยธรรมเป็นปัจจัย" ก็ดี คำว่า ยถาภูตญาณ –
(หน้าที่ 266)
ญาณกำหนดรู้ตามเป็นจริง" ก็ดี คำว่า "สัมมาทัสสนะ- ความเห็นโดยชอบ" ก็ดี เป็นไวพจน์ของคำว่า "กังขาวิตรณวิสุทธิ" นี้นั่นเอง
ความจริง ท่านพระสารีบุตรเถระก็ได้กล่าวคำนี้ไว้ว่า:
ปัญญาในการกำหนดรู้ปัจจัยว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงเกิดสังขารทั้งหลาย (และ) สังขารทั้งหลายก็เกิดขึ้นจากปัจจัย ถึงแม้ธรรมทั้งสอง (ทั้งอวิชชาและสังขาร) เหล่านี้ก็เกิดขึ้นจากปัจจัย" ดังนี้เป็น ธัมมฐิติญาณ
และท่านพระสารีบุตรเถระก็ได้กล่าวคำนี้ไว้อีกว่า:
'''ถามว่า''' (พระภิกษุนั้น) (1) เมื่อมนสิการโดยความไม่เที่ยงอยู่ จะรู้เองเห็นเองซึ่งธรรมทั้งหลายเหล่าไหน ตามความเป็นจริง ? มี '''สัมมาทัสสนะ''' (ความเห็นโดยชอบ) อย่างไร ? เป็นอัน เห็นด้วยดีซึ่งสังขารทั้งหลายทั้งปวงโดยความไม่เที่ยงด้วยการดำเนินไปตามสัมมา ทัสสนะนั้นอย่างไร ? ละความสงสัยในสิ่งที่เห็นเสียได้ ? (2) เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์อยู่…. (3) เมื่อมนสิการโดยความไม่มีอัตตาอยู่ จะรู้เองเห็นเองซึ่งธรรมทั้งหลายเหล่าไหน ตามความเป็นจริง ? ฯลฯ ละความสงสัยในที่ไหนเสียได้ ? '''ตอบว่า''' (1) เมื่อพระภิกษุนั้นมนสิการโดยความไม่เที่ยง ก็รู้เองเห็นเองซึ่งนิมิตร (คือสังขาร) ตามเป็นจริง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า สัมมาทัสสนะ พระภิกษุนั้นเป็นอันเห็นแล้วด้วยดี ซึ่งสังขารทั้งหลายทั้งปวง ด้วยการดำเนินไปตามสัมมาทัสสนะนั้น ละความสงสัยในสังขารทั้งหลายทั้งปวงนี้เสียได้ด้วยประการฉะนี้ (2) เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์ ก็รู้เองเห็นเอง ซึ่งความเป็นไป (ของสังขาร) ตามเป็นจริง…..''(หน้าที่ 267)'' (3) เมื่อนมสิการโดยความไม่มีอัตตา ก็รู้เองเห็นเองซึ่งนิมิตและความเป็นไป (ของสังขาร) ตามเป็นจริง…… เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า สัมมาทัสสนะ พระภิษุนั้นเป็นอันเห็นแล้วด้วยดีซึ่งธรรมทั้งหลายทั้งปวงโดยความไม่มีอัตตาด้วยการดำเนินไปตามสัมมาทัสสนะ ละความสงสัยในธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี้เสียได้ด้วยประการฉะนี้
และท่านพระสารีบุตรเถระก็ได้กล่าวคำนี้ไว้อีกว่า:
'''ถามว่า''' "ธรรมทั้งหลาย คือ ยถาภูตญาณ 1 สัมมาทัสสนะ 1 กังขาวิตรณะ (การข้ามพ้นความสงสัย) 1 เหล่านี้ มีเนื้อความต่างกันมีพยัญชนะต่างกัน หรือว่ามีเนื้อความอย่างเดียวกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน" '''ตอบว่า''' "ธรรมทั้งหลาย คือ ยถาภูตญาณ 1 สัมมาทัสสนะ 1 กังขาวิตรณะ 1 เหล่านี้มีเนื้อความอย่างเดียวกัน พยัญชนะเท่านั้นที่ต่างกัน"
อนึ่ง ท่านผู้เจริญวิปัสสนา(วิปัสสก) ซึ่งประกอบด้วยญาณ (ดังกล่าวมา) นี้ เป็นผู้ได้ความเบาใจแล้ว ได้ที่พึ่งในพระพุทธศาสนาแล้ว เป็นผู้มีคติ (ภูมิที่ดำเนินไปภายหน้า) แน่นอน มีนามว่า พระจูฬโสดาบัน
ตสมา ภิกฺขุ สทา สโต นามรูปสฺส สพฺพโส
ปจฺจเย ปริคฺคณฺเหยฺย กงฺขาวิตรณตฺถิโก.
เพราะฉะนั้น พระภิกษุผู้มีความประสงค์จะข้ามพ้น
ความสงสัย พึงเป็นผู้มีสติ กำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป
โดยประการทั้งปวงทุกเมื่อแล
ปริจเฉทที่ 19 ชื่อว่ากังขาวิตรณวิสุทธินิทเทส
ในอธิการแห่งปัญญาภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค
อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน ดังนี้