สารบัญ

อยู่ในระหว่างปรับสำนวน

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)

ปริเฉทที่ 16 อินทริยสัจจนิทเทส

(หน้าที่ 87)

อินทริยนิทเทส

ส่วนว่า อินทรีย์ 22 คือ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์ อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ ชิวิตินทรีย์ สุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ อุเปกขินทรีย์ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ อนัญญาตัญยัสสามีตินทรีย์ อัญญินทรีย์ อัญญาตาวินทรีย์ ชื่อว่า อินทรีย์ที่ยกขึ้นแสดงไว้ถัดจากธาตุ

บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในอินทรีย์ทั้งหลายนั้น

โดยอรรถ โดยลักษณะเป็นต้น และโดยลำดับ อนึ่ง โดย

แยกประเภท และไม่แยกประเภท โดยกิจ และโดยภูมิ

โดยอรรถ

ในอินทรีย์ทั้งหลายนั้น เบื้องแรก อรรถแห่งอินทรีย์ทั้งหลายมีจักขุเป็นต้น ชัดแจ้งตามนัย (ที่กล่าวมาแล้วในอายตนนิทเทส) ว่า "ธรรมชาติใดย่อมเห็น เหตุนั้นธรรมชาตินั้นชื่อว่าจักขุ" ดังนี้เป็นต้น

ส่วนอินทรีย์ 3 ข้างท้าย ข้อแรกตรัสเรียกว่า อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ เพราะเกิดแก่บุคคลผู้ปฏิบัติด้วยมุ่งอย่างนี้ว่า เราจักรู้ซึ่งอมตบทหรือว่าสัจธรรม 4 ที่ยังไม่รู้ในบุพภาค (คือก่อนโสดาปัติมรรค) และเพราะมีอรรถ (คือสภาวะ) แห่งความเป็นอินทรีย์ (ใหญ่ยิ่ง) อยู่พร้อมด้วย ข้อ 2 ตรัสเรียกว่าอัญญินทรีย์ เพราะรู้ชัด (ด้วยมรรค) และเพราะมีอรรถแห่งความเป็นอินทรีย์อยู่พร้อมด้วย ข้อ 3 ตรัสเรียกว่า อัญญาตาวินทรีย์ เพราะเกิดแก่พระขีณาสพผู้รู้ทั่วถึงคือมีญาณกิจในสัจจะ 4 สำเร็จแล้ว และเพราะมีอรรถแห่งความเป็นอินทรีย์อยู่พร้อมด้วย

(หน้าที่ 88)

ถามว่า "อะไรเล่า ชื่อว่าอรรถแห่งความเป็นอินทรแห่งอินทรีย์เหล่านั้น ?" แก้ว่า อรรถแห่งเครื่องหมายของสิ่งที่เป็นใหญ่ยิ่ง (คือกรรม) ชื่อว่าอรรถแห่งความเป็นอินทร อรรถแห่งสิ่งที่ท่านผู้เป็นใหญ่ยิ่ง (คือพระพุทธเจ้า) แสดงไว้ ชื่อว่าอรรถแห่งความเป็นอินทร อรรถแห่งสิ่งที่ท่านผู้เป็นใหญ่ยิ่ง (คือพระพุทธเจ้า) ได้เห็น (คือรู้) ชื่อว่าอรรถแห่งความเป็นอินทร อรรถแห่งสิ่งที่เป็นใหญ่ยิ่ง คือ (กรรม) จัด (ให้เกิด) ขึ้น ชื่อว่าอรรถแห่งความเป็นอินทร อรรถแห่งสิ่งที่ท่านผู้เป็นใหญ่ยิ่ง (คือพระพุทธเจ้า) ใช้สอย ชื่อว่าอรรถแห่งความเป็นอินทร อรรถทั้งปวงนั้นใช้ได้ตามที่ควรใช้ในอินทริยนิทเทสนี้

แท้จริง พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าอินทร เพราะทรงมีความเป็นใหญ่ยิ่ง อนึ่ง กุศลกรรมและอกุศลกรรม ก็ชื่อว่าอินทร เพราะไม่มีใคร ๆ เป็นใหญ่ในกรรมทั้งหลาย (แต่กรรมเป็นใหญ่ยิ่ง) เพราะเหตุนั้น ในอินทรีย์ทั้งหลายนั้น (ว่าถึง) อินทรีย์ทั้งหลายกรรมให้เกิดก่อน (อินทรีย์ที่กรรมให้เกิดนั้น) ย่อมส่อ (ให้รู้) กรรมทั้งที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม และมันก็เป็นสิ่งที่กรรมนั้นจัด (ให้เกิด) ขึ้นด้วย เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าส่อ (ให้รู้ถึง) สิ่งเป็นใหญ่ยิ่ง (คือกรรม) จัด (ให้เกิด) ขึ้นด้วย อนึ่ง อินทรีย์ทั้งหมดนั่นแหละ เป็นสิ่งอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศขึ้น และเป็นสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้เองด้วยตามที่เป็นจริง เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นสิ่งอันท่านเป็นผู้ใหญ่ยิ่ง (คือพระพุทธเจ้า) แสดงขึ้นไว้ด้วย เพราะอรรถว่าเป็นสิ่งอันท่านผู้เป็นใหญ่ยิ่ง (คือพระพุทธเจ้า) ได้เห็น (คือ ตรัสรู้) ด้วย อนึ่ง อินทรีย์เหล่านั้นบางอย่าง พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นมุณีใหญ่ยิ่งพระองค์นั่นแหละทรงใช้สอย โดยใช้เป็นโคจร (คือเป็นอารมณ์) บางอย่างทรงใช้สอยโดยใช้ทางภาวนา (คือทรงทำให้มีขึ้นเช่นสัทธินทรีย์เป็นต้น) เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นสิ่งที่ท่านผู้เป็นใหญ่ยิ่งใช้สอยด้วยประการหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่ง จักษุเป็นต้นนั้น ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถแห่งความเป็นใหญ่ที่ได้แก่ความเป็นอธิบดี (คือเป็นอินทรียปัจจัยสนับสนุน โดยความเป็นใหญ่) จริงอยู่ ความเป็นอธิบดีแห่งจักษุเป็นต้น ชื่อว่า สัมฤทธิผลในความเป็นไปแห่งจักขุวิญญาณเป็นอาทิ เพราะเมื่อมันกล้า วิญญาณก็กล้า และเพราะเมื่อมันอ่อน วิญญาณก็อ่อนแล

นี่เป็นวินิจฉัยโดยอรรถในอินทรีย์ทั้งหลายนั้น เป็นอันดับแรก

(หน้าที่ 89)

โดยลักษณะเป็นต้น

ข้อว่า โดยลักษณะเป็นต้น ความว่า พึงทราบวินิจฉัยแห่งจักษุเป็นต้น โดยลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐานด้วย ก็แลลักษณะเป็นต้นของจักษุเป็นอาทินั้น ได้กล่าวไว้แล้วในขันธนิทเทส ส่วนอินทรีย์ 4 (ข้างท้าย) มีปัญญินทรีย์เป็นต้น โดยความก็คืออโมหะนั่นเอง อินทรีย์ที่เหลือก็มาแล้วโดยสรุปในขันธนิทเทสนั้นเหมือนกันแล

โดยลำดับ

แม้ลำดับในข้อว่า โดยลำดับ นี้ ก็เป็นลำดับแห่งการแสดงเหมือนกัน

ในอินทรีย์ทั้งหลายนั้น อินทรีย์ (6) มีจักขุนทรีย์เป็นต้น อันนับเข้าในอัตภาพ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงก่อน เหตุว่า ความได้อริยภูมิย่อมมีเพราะกำหนดรู้ธรรมภายใน (ตนของตน) อัตภาพนั้นเล่า ถึงซึ่งการนับว่าหญิงก็ดี ว่าชายก็ดี เพราะอาศัยธรรมอันใดเพื่อจะทรงชี้ว่า "นี่ธรรมอันนั้น" จึงทรงแสดงอิตถินทรีย์และปุริสินทรีย์เป็นลำดับไป ต่อนั้นทรงแสดงชีวิตินทรีย์ เพื่อให้ทราบว่า "แม้ธรรมทั้งสองอย่างนั้น ก็มีความเป็นไปเนื่องด้วยชีวิตินทรีย์" ถัดไปทรงแสดงอินทรีย์ (5) มีสุขินทรีย์เป็นต้น เพื่อให้ทราบว่า "ความเป็นไปแห่งชีวิตินทรีย์นั้นยังมีอยู่ตราบใด ความไม่กลับ (คือไม่ดับ) แห่งความเสวยอารมณ์เหล่านั้นก็ยังมีอยู่ ตราบนั้น และความเสวยอารมณ์ทุกอย่างนั้นก็ล้วนเป็นทุกข์" ต่อนั้นทรงแสดงอินทรีย์ (5) มีสัทธินทรีย์เป็นอาทิ เพื่อชี้ข้อปฏิบัติว่า "อันธรรม (มีสัทธาเป็นต้น) นั่น พึงบำเพ็ญขึ้นเพื่อความดับแห่งความเสวยอารมณ์นั้น" ลำดับนั้นทรงแสดงอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ เพื่อแสดงความไม่เปล่าประโยชน์แห่งการปฏิบัติว่า "ด้วยการปฏิบัตินี้ ธรรมนั่นจึงเกิดปรากฏขึ้นในตนเป็นปฐม" แต่นั้นทรงแสดงอัญญินทรีย์ เพราะเป็นผลของอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์นั้นเอง และเพราะเป็นธรรมพึงบำเพ็ญติดต่อกันไปด้วย ในที่สุดทรงแสดงอัญญาตาวินทรีย์ อันเป็นบรมอัสสาสะ (ที่โล่งใจอย่างยิ่ง) เพื่อให้ทราบว่า "ความบรรลุธรรม อันนี้ย่อมมีได้ด้วยภาวนาต่อนั้นไป ก็แลครั้นธรรมอันนี้ พระโยคีได้บรรลุก็ไม่มีกิจที่จะต้องทำยิ่งขึ้นไป อะไรอีกเลย" แล

นี่เป็นลำดับในอินทรีย์ทั้งหลายนี้

(หน้าที่ 90)

โดยแยกประเภทและไม่แยกประเภท

ก็ในข้อว่า โดยแยกประเภทและไม่แยกประเภท นี้ ชีวิตินทรีย์อย่างเดียว มีการแยกประเภท เพราะชีวิตินทรีย์นั้นมี 2 คือ รูปชีวิตินทรีย์ อรูปชีวิตินทรีย์ อินทรีย์ที่เหลือไม่มีการแยกประเภทเลยแล

พึงทราบวินิจฉัย โดยแยกประเภทและไม่แยกประเภทในอินทรีย์ทั้งหลายนี้ ดังกล่าวฉะนี้

โดยกิจ

ข้อว่า โดยกิจ มีความว่า หากมีคำถามว่า "อะไรเป็นกิจแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ?" ดังนี้ไซร้คำเฉลยพึงมีว่า "โดยบาลีว่า จักขายตนะเป็นปัจจัย (คือเป็นอุปการธรรม) โดยเป็นอินทรียปัจจัยแก่จักขุวิญญาณธาตุ และแก่ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตกับจักขุวิญญาณธาตุนั้น ดังนี้ การที่ยังธรรมทั้งหลายมีจักขุวิญญาณเป็นอาทิให้เป็นไปตามอาการของตน ที่ได้แก่อาการกล้าและอ่อนเป็นต้น อันจะพึงให้สำเร็จด้วยความเป็นอินทรียปัจจัย และด้วยความที่ตนมีอาการกล้าและอ่อนเป็นอาทิด้วยนั้นใดเป็นกิจแห่งจักขุนทรีย์เป็นอันดับแรก กิจแห่งโสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์และกายินทรีย์ ก็มีนัยอย่างนั้น แต่ว่าการยังสหชาตธรรมทั้งหลายให้เป็นไปในอำนาจของตนเป็นกิจแห่งมนินทรีย์ การที่คอยเลี้ยงสหชาตธรรมไว้เป็นกิจแห่งชีวิตินทรีย์ การที่คอยจัดแจงเครื่องหมายเพศและอาการแห่งจริตและการแต่งกายแห่งหญิงและชายเป็นกิจแห่งอิตถินทรีย์และปุริสินทรีย์ การที่คอยครอบงำสหชาตธรรมทั้งหลายไว้เสีย (มิให้ปรากฏ) แล้วยังสหชาตธรรมนั้นให้ถึงซึ่งอาการหยาบ (คือปรากฏชัดออกมา) ตามหน้าที่ของตน ๆ เป็นกิจแห่งสุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ และโทมนัสสินทรีย์ การที่คอยยังสหชาตธรรมทั้งหลายให้ถึงซึ่งอาการเป็นกลาง ๆ อันเป็นอาการที่ละเอียดปราณีต เป็นกิจแห่งอุเปกขินทรีย์ การครอบงำเสียซึ่งปฏิปักขธรรม (ธรรมฝ่ายตรงข้าม มีอสัทธิยะเป็นต้น) และยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้ถึงซึ่งความมีอาการเลื่อมใสเป็นอาทิ เป็นกิจแห่งอินทรีย์ 5 มีสัทธินทรีย์เป็นต้น การละสังโยชน์ 3 (ข้างต้น) และการทำสัมปยุตธรรม

(หน้าที่ 91)

ทั้งหลายให้มีความมุ่งหน้าต่อการละสังโยชน์ 3 นั้นด้วย เป็นกิจแห่งอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ การละโดยทำสังโยชน์ที่เหลือ มีกามราคะและพยาบาทเป็นต้นให้เบาบางลงไป และการยังสหชาตธรรมทั้งหลายให้เป็นไปในอำนาจของตนด้วยเป็นกิจแห่งอัญญินทรีย์ การละเลิกความขวนขวายในกิจ (ละสังโยชน์) ทั้งปวง และความเป็นปัจจัยให้สัมปยุตธรรมทั้งหลายมีความมุ่งหน้าต่ออมตธรรมด้วยเป็นกิจแห่งอัญญาตาวินทรีย์

พึงทราบวินิจฉัยโดยกิจในอินทรีย์ทั้งหลายนี้ ดังกล่าวมาฉะนี้

โดยภูมิ

ข้อว่า โดยภูมิ ความว่า "ก็อินทรีย์ทั้งหลายนี้ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ สุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ และโทมนัสสินทรีย์ (10) เป็นกามาวจรแท้ มนินทรีย์ ชิวิตินทรีย์ อุเปกขินทรีย์ และสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ (8) เนื่องไปในภูมิที่ 4 โสมนัสสินทรีย์ เนื่องไปในภูมิ 3 โดยเป็นกามาวจร (ก็มี) รูปาวจร (ก็มี) โลกุตตระ (ก็มี) อินทรีย์ 3 ข้างท้าย เป็นโลกุตตระแท้"

บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยโดยภูมิในอินทรีย์ทั้งหลายนี้ ดังกล่าวมาฉะนี้ด้วย ด้วยว่า

ภิกษุผู้ทราบอย่างนี้อยู่ จักเป็นผู้มากไปด้วยความ

สังเวช ตั้งอยู่ในอินทรียสังวร กำหนดรู้อินทรีย์ทั้งหลาย

แล้วทำที่สุดทุกข์ได้แล

นี่เป็นกถามุขอย่างพิสดารแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย

สัจจนิทเทส

ก็อริยสัจ 4 คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ชื่อว่า สัจจะ อันมาในลำดับแห่งอินทรีย์นั้น

(หน้าที่ 92)

หัวข้อวินิจฉัย

วินิจฉัยในอริยสัจอันเป็นที่ดำเนินไปแห่งพระ

ศาสนานั้น ปราชญ์พึงทราบ โดยวิภาค (จำแนกอรรถ

แห่งอริยสัจ 4) 1 โดยนิพจน์ (แยกคำ) 1 โดยประเภท

แห่งลักษณะเป็นต้น 1 โดยอรรถ (แห่งสัจจศัพท์) 1

โดยมีจำนวนไม่หย่อนไม่ยิ่ง 1 โดยลำดับ 1 โดย

วินิจฉัยคำว่าชาติเป็นต้น 1 โดยกิจแห่งฐาณ 1 โดย

ประเภทแห่งธรรมทั้งหลายที่อยู่ภายใน (คือนับเข้าใน

อริยสัจ) 1 โดยอุปมา 1 โดยจตุกกะ (เป็นและไม่เป็น

อริยสัจ 4 นัย) 1 โดยว่าเปล่า 1 โดยอย่างต่าง ๆ มี

อย่างเดียว เป็นต้น 1 โดย (สภาคและวิสภาค) มีส่วน

เสมอกันและไม่เสมอกัน 1

โดยวิภาค

ในหัวข้อเหล่านั้น ข้อว่า โดยวิภาค ความว่า ก็อรรถแห่งอริยสัจมีทุกข์เป็นต้น ท่านจำแนกเป็นอย่างละ 4 (คือสัจจะละ 4) เป็นอรรถจริงแท้ไม่เป็นเท็จไม่เป็นอื่น ซึ่งพระโยคาวจรทั้งหลาย ผู้ตรัสรู้อริยสัจมีทุกข์เป็นต้นพึงรู้ได้ ดังบาลีว่า อรรถแห่งทุกข์คือความบีบคั้น (1)….ความเป็นสังขตะ (1)….ความเร่าร้อน (1)….ความแปรเปลี่ยน (1) อรรถ 4 ประการนี้เป็นอรรถว่า ทุกแห่งทุกขสัจ เป็นอรรถจริงแท้ ไม่เป็นเท็จ ไม่เป็นอื่น

อรรถแห่งสมุทัย คือ ความประมวลเอาไว้ (1) ก่อเหตุเข้าไว้ (1) ผูกไว้ (1) พัวพันไว้ (1) อรรถ 4 ประการนี้ เป็นอรรถว่าสมุทัยแห่งสมุทยสัจ เป็นอรรถจริงแท้ไม่เป็นเท็จ ไม่เป็นอื่น

อรรถแห่งนิโรธ คือ ความออกไป (1) ความว่าง (1) ความเป็นอสังขตะ (1) ความเป็นอมตะ (1) อรรถ 4 ประการนี้เป็นอรรถว่านิโรธแห่งนิโรธสัจ เป็นอรรถจริงแท้ ไม่เป็นเท็จ ไม่เป็นอื่น

อรรถแห่งมรรค คือ ความนำออกไป (1) ความเป็นเหตุ (1) ความเห็น (ตามเป็นจริง) (1)….ความเป็นอธิบดี (1) อรรถ 4 ประการนี้ เป็นอรรถว่า มรรคแห่งมัคคสัจ เป็นอรรถจริงแท้ ไม่เป็นเท็จ ไม่เป็นอื่น

(หน้าที่ 93)

บาลีที่กล่าวไว้ (ในที่อื่น) ว่า "อรรถแห่งทุกข์คือ ความบีบคั้น ความเป็นสังขตะ ความเร่าร้อน ความแปรเปลี่ยน ความเป็นสิ่งพึงตรัสรู้" ดังนี้เป็นต้น ก็อย่างเดียว

อริยสัจมีทุกข์เป็นต้น บัณฑิตทราบด้วยอำนาจแห่งอรรถอย่างละ 4 ๆ ที่ท่านจำแนกไว้ดังกล่าวมาฉะนี้แล

นี่เป็นวินิจฉัยโดยวิภาคในอริยสัจนี้เป็นอันดับแรก

โดยนิพจน์

ส่วนใน 2 หัวข้อ คือ นิพฺพจจลกฺขณาทิปฺปเภทโต โดยนิพจน์และประเภทมีลักษณะ เป็นต้นนี้ พึงทราบวินิจฉัย โดยนิพจน์ (แยกคำ) ก่อน

แยกคำศัพท์ทุกข์

ในคำว่า "ทุกฺขํ" นี้ ศัพท์ว่า "ทุ" นี้ ท่านถือเอาอรรถคือน่าเกลียด จริงอยู่ ชนทั้งหลายย่อมเรียกบุตรที่น่าเกลียด (คือชั่ว) ว่า "ทุรบุตร" ส่วนคำว่า "ขํ" ถือเอาในอรรถคือที่ว่างเปล่า จริงอยู่ ที่ว่างเปล่า คืออากาศ เขาก็เรียกว่า "ขํ" อันสัจจะที่ 1 นี้ จัดว่าน่าเกลียด เพราะเป็น ที่ตั้งแห่งสิ่งที่เลวทรามมีอุปัทวะเป็นต้นเป็นอเนก จัดว่าว่างเปล่า เพราะเว้นจากความยั่งยืน ความงาม ความสุข และความเป็นตนที่พาลชนคาดหมายเอา เหตุนั้น จึงเรียกว่า ทุกข์ เพราะน่าเกลียดและเพราะว่างเปล่าด้วย

แยกคำศัพท์สมุทัย

ส่วน (ในคำว่าสมุทัย) ศัพท์ว่า "สํ" นี้ บ่งถึงความประกอบกันเข้า (พึงเห็น) ในคำว่า "สมาคมะ สเมตะ (ประชุมกัน)" เป็นต้น ศัพท์ว่า "อุ" นี่บ่งถึง ความเกิดขึ้น (พึงเห็น) ในคำว่า "อุปปันนะ อุทิตะ (เกิดขึ้น ขึ้นไป)" เป็นต้น ศัพท์ว่า "อยะ" บ่งถึงเหตุ อันสัจจะที่ 2 นี้เล่า เมื่อความประกอบกันเข้ากับปัจจัยที่เหลือมีอยู่ ก็เป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เหตุนั้น จึงเรียกว่า ทุกขสมุทัย เพราะเมื่อมีความประกอบกันเข้า (แห่งปัจจัย) ก็เป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์

(หน้าที่ 94)

แยกคำศัพท์นิโรธ

ส่วนสัจจะที่ 3 เพราะเหตุที่ นิ - ศัพท์บ่งถึงความไม่มี และ โรธ-ศัพท์ บ่งถึงคุก เหตุนั้น ความไม่มีแห่งที่คุมขังทุกข์ที่นับว่าคุกสังสาร(วัฏ) ในสัจจะข้อนี้ จึงเรียกว่าทุกขนิโรธ เพราะว่างเปล่าจากคติทั้งปวง หรือเมื่อสัจจะข้อนี้ พระโยคาวจรได้บรรลุแล้ว ก็เป็นอันที่ไม่มีที่คุมขัง ทุกข์ที่นับว่าคุกสังสาร(วัฏ) เพราะสัจจะนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อทุกข์นั้น เหตุนี้อีกประการหนึ่งเรียกว่าทุกขนิโรธ หรือมิฉะนั้นเรียกว่า ทุกขนิโรธ เพราะเป็นปัจจัยแห่งความดับคือความไม่เกิดขึ้นแห่งทุกข์

แยกคำศัพท์นิโรธคามินีปฏิปทา

ส่วนสัจจะที่ 4 เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหตุที่สัจจะนี้ชื่อว่า (ดำเนิน) ไปสู่ทุกขนิโรธ เพราะเป็นธรรมมุ่งหน้าต่อทุกขนิโรธนั้น โดยที่ (มีทุกข์นิโรธนั้น) เป็นอารมณ์ และเป็นปฏิปทาแห่งการบรรลุทุกขนิโรธด้วย

แยกคำศัพท์อริยสัจ

ก็แลสัจจะทั้งหลายนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า อริยสัจ เพราะเป็นธรรมที่พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นแทงตลอด ดังบาลีว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ 4 นี้ อริยสัจ 4 คืออะไรบ้าง ฯลฯ นี้แล ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ 4 พระอริยทั้งหลายย่อมแทงตลอดซึ่งสัจจะเหล่านี้ เหตุนั้น สัจจะทั้งหลายนี้เรียกว่า อริยสัจ"

อีกนัยหนึ่ง เรียกว่า อริยสัจ เพราะเป็นสัจจะของพระอริยะก็ได้ ดังบาลีว่า "ตถาคตเป็นพระอริยะในโลกกับทั้งเทวโลก ฯลฯ ในหมู่สัตว์กับทั้งสมณะ พราหมณ์ ทั้งที่เป็นเทวดาและมนุษย์ เพราะเหตุ (ตถาคตเป็นพระอริยะ) นั้น สัจจะทั้งหลายนี้ (ของตถาคต) จึงเรียกอริยสัจ"

หรือนัยหนึ่ง เรียกอริยสัจ โดยที่ความสำเร็จเป็นพระอริยะ (มิได้) ก็เพราะได้ตรัสรู้สัจจะทั้งหลายนั้นก็ได้ ดังบาลีว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตรัสรู้อริยสัจ 4 นี้ตามจริงแล้ว พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้นามว่าพระอริยะ"

(หน้าที่ 95)

อนึ่งโสด เรียกอริยสัจ เพราะเป็นสัจจะอย่างอริยะก็ได้ คำว่าอริยะ (ในอรรถนี้) มีความหมายว่าจริงแท้ ไม่เท็จ ไม่ลวง ดังบาลีว่า "นี้แล ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ 4 เป็นความจริงแท้ ไม่เท็จ ไม่เป็นอื่น เพราะเหตุนั้น สัจจะทั้งหลายนี้จึงเรียกว่า อริยสัจ"

วินิจฉัยโดยนิพจน์ (แยกคำ) ในอริยสัจนี้ บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

โดยประเภทแห่งลักษณะเป็นต้น

ถามว่า "วินิจฉัยโดยประเภทแห่งลักษณะ เป็นต้นอย่างไร ?" เฉลยว่า "ก็ในสัจจะ 4 นี้ทุกขสัจ มีความเบียดเบียนเป็นลักษณะ มีความทำให้เร่าร้อนเป็นกิจ มีปวัตติ (ความเป็นไปไม่แล้วไม่รอด) เป็นผล

สมุทยสัจมีความก่อให้เกิดขึ้นเป็นลักษณะ มีอันทำไม่ให้ขาดสายเป็นกิจ มีความห่วงใยเป็นผล

นิโรธสัจมีความสงบเป็นลักษณะ มีความไม่เคลื่อน (คือไม่เปลี่ยนสภาพ) เป็นกิจ มีความไม่มีนิมิต (เครื่องหมายแห่งทุกข์) เป็นผล

มัคคสัจ มีความนำออก (จากคุกสังสารวัฏ) เป็นลักษณะ มีการทำความละกิเลสเป็นกิจ มีความออก (จากนิมิตและปวัตติ) เป็นผล

อีกนัยหนึ่ง สัจจะ 4 มีปวัตติ (ความหมุนไป) ปวัตตนะ (เหตุให้หมุนไป) และนิวัตติ (ความหมุนกลับ) เป็นลักษณะโดยลำดับกัน อนึ่ง มีความเป็นสังขตตัณหา (ความกระหาย) และความเป็นอสังขตะ ทัสสนะ (ความเห็นตามเป็นจริง) เป็นลักษณะโดยลำดับกันอย่างนั้น"

วินิจฉัยโดยประเภทแห่งลักษณะเป็นต้น ในอริยสัจนี้ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

โดยอรรถ

ส่วนใน 2 หัวข้อคือ อตฺถตฺถุทฺธารโต เจว –โดยอรรถและโดยอัตถุทธาระนี้ พึงทราบวินิจฉัยโดยอรรถ (แห่งสัจจะศัพท์) ก่อน

(หน้าที่ 96)

หากมีคำถามว่า "อะไรเป็นอรรถแห่งสัจจะ ?" ดังนี้ไซร้ คำตอบก็พึงมีว่า "สภาวะใด เมื่อพระโยคาวจรทั้งหลาย เข้าไปสอบดูด้วยปัญญาจักขุอยู่ ก็ไม่เป็นสภาวะที่วิปริต (ผิดความจริง) ไปเหมือนกล ไม่เป็นสภาวะที่ลวงดุจพยับแดด และไม่เป็นสภาวะที่ใคร ๆ หาไม่ได้ (คือไม่มี) ดังเช่นอัตตาของพวกเดียรถีย์ แต่เป็นโคจร (คือเป็นอารมณ์) แห่งอริยญาณโดยความเป็นสภาวะที่แท้ไม่วิปริตและเป็นจริงอันมีประการ(คืออาการ)เบียดเสียด ก่อให้เกิดขึ้น สงบ และนำออกไปเท่านั้น ความเป็นสภาวะที่แท้ไม่วิปริตและเป็นจริง ดังลักษณะของไฟ และดังปกติของโลกนั่น บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นอรรถของสัจจะ ดังพระบาลีว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่านี่ทุกข์ นั่นเป็นคำจริงแท้ นั่นเป็น คำไม่เท็จ นั่นเป็นคำไม่ (แปรปรวน) เป็นอื่น" ดังนี้เป็นต้น ความพิสดาร บัณฑิตพึงนำมากล่าวเถิด อีกนัยหนึ่ง

เหตุใด ทุกข์ไม่เบียดเบียน ไม่มี สิ่งอื่น(นอก)จาก

ทุกข์เบียดเบียนก็ไม่มี เพราะเหตุนั้น ทุกข์นี่ จึงตก

ว่าเป็นสัจจะ เพราะแน่นอนในความเป็นธรรมชาติที่

เบียดเบียน

เหตุใด เว้นมัน (คือตัณหา) เสีย ทุกข์สันตะ (คือ

นิพพาน) ไม่มีความสงบนั้นก็ไม่มี เพราะเหตุนั้น

นิพพานนี่ จึงตกว่าเป็นสัจจะ เพราะแน่นอนในความ

เป็นธรรมสงบ

เหตุใด เครื่องนำออกอื่นจากมรรคไม่มีและนิยยานะ

(คือมรรค) ไม่มี แม้ธรรมเครื่องนำออกนั้นก็ไม่มี เพราะ

เหตุนั้น มรรคนั้นจึงตกว่าเป็นสัจจะ เพราะความเป็น

ธรรมเครื่องนำออก แน่แท้

บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวความแท้ความไม่คลาดเคลื่อน

และความเป็นจริงในอริยสัจทั้ง 4 มีทุกข์เป็นต้นโดย

แปลกกัน ว่าเป็นอรรถแห่งสัจจะศัพท์ ด้วยประการฉะนี้

วินิจฉัยโดยอรรถ (แห่งสัจจะศัพท์) พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

(หน้าที่ 97)

โดยอัตถุทธาระ

วินิจฉัยโดยอัตถุทธาระ (ระบุอรรถที่ประสงค์) อย่างไร ในข้อนี้สัจจศัพท์นี่ถือเอาในอรรถได้หลายอย่างคืออย่างไรบ้าง ? คือสัจจศัพท์ในคำทั้งหลายมีคำว่า "สจฺจํ ภเณ กุชฺเฌยฺย บุคคลพึงพูดคำจริง ไม่พึงโกรธ" ดังนี้ เป็นต้น ถือเอาใน (อรรถคือ) วาจาสัจ (จริงทางวาจา) สัจจศัพท์ในคำทั้งหลายมีคำว่า "สจฺเจ ฐิตา สมณพฺราหมณา วา สมณะพราหมณ์ทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ในสัจจะก็ดี" ดังนี้เป็นต้น ถือเอาในวิรติสัจ (จริงทางวิรัติ) สัจจะศัพท์ ในคำทั้งหลายมีคำว่า

กสฺมา นุ สจฺจานิ วทนฺติ นานา

ปวาทิยาเส กุสลาวทานา

เหตุอะไรหนอ เจ้าลัทธิทั้งหลาย ผู้สำคัญว่าตนเป็นผู้มีวาทะเป็นกุศล (คือถูกต้อง) จึงกล่าวสัจจะหลายอย่างต่างกัน ดังนี้ เป็นต้น ถือเอาในทิฏฐิสัจ (จริงทางความเห็น) สัจจะศัพท์ในคำทั้งหลายมีคำว่า เอกํ หิ สจฺจํ น ทุติยํ สัจจะอันหนึ่งแลไม่มีที่สอง ดังนี้ เป็นต้น ถือเอาในนิพพานและมรรคด้วย อันเป็นปรมัตถสัจ (จริงโดยปรมัตถ์) สัจจะศัพท์ในคำทั้งหลายมีคำว่า จตุนฺนํ สจฺจานํ กตี กุสลา บรรดาสัจจะ 4 สัจจะเท่าไรเป็นกุศล ดังนี้ เป็นต้น ถือเอาในอริยสัจ (จริงอย่างอริยะ) แม้สัจจะศัพท์นี่ ในข้อนี้นั้นก็เป็นไปใน (อรรถคือ) อริยสัจแล

วินิจฉัยแม้โดยอัตถุทธาระในอริยสัจนี้ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

โดยมีจำนวนไม่หย่อนไม่ยิ่ง

ข้อว่า "โดยมีจำนวนไม่หย่อนไม่ยิ่ง" ความว่า หากคำถามพึงมีว่า ก็เพราะเหตุไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอริยสัจแต่ 4 เท่านั้น ไม่หย่อนไม่ยิ่ง ? ดังนี้ไซร้ คำแก้ก็พึงมีว่า เพราะไม่มีอริยสัจอื่นประการ 1 เพราะลดออกข้อใดข้อหนึ่งก็มิได้ประการ 1 แท้จริงอริยสัจอื่นจากอริยสัจ 4 นั่นเป็นส่วนยิ่ง (คือเกิน) ก็ดี อริยสัจ 4 นั่นแม้สักข้อหนึ่งพึงลดออกเสียได้ก็ดีหามีไม่ ดังพระบาลีว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์ก็ตามในโลกนี้ จะพึงมากล่าวว่า นี่ไม่ใช่ทุกขอริยสัจ ทุกขอริยสัจเป็นอย่างอื่น ข้าพเจ้าจักยกเลิกทุกขอริยสัจนี่เสียแล้วบัญญัติทุกขอริยสัจอื่น (ขึ้นใหม่) ดังนี้ นี่ไม่มีทางเป็นไปได้ดังนี้เป็น

(หน้าที่ 98)

อาทิ (และ) ดังพระบาลี (อีกข้อหนึ่ง) ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งก็ตาม พึงกล่าวอย่างนี้ว่า (และ) ดังพระบาลี (อีกข้อหนึ่ง) ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งก็ตาม พึงกล่าวอย่างนี้ว่า "ทุกขอริยสัจซึ่งพระสมณโคดมแสดงไว้นี่ ไม่ใช่อริยสัจข้อที่ 1 ข้าพเจ้าจักบอกปัดทุกขอริยสัจที่ (ว่า) เป็นอริยสัจข้อที่ 1 นั่นเสีย แล้วบัญญัติทุกขอริยสัจอื่นเป็นอริยสัจข้อที่ 1 (ขึ้นใหม่) ดังนี้ นี่ไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนี้เป็นต้น

อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสบอกปวัตติ (ความหมุนไป) ก็ตรัสบอกพร้อมทั้งเหตุ เมื่อตรัสบอกนิวัตติ (ความหมุนกลับ) เล่า ก็ตรัสพร้อมทั้งอุบายด้วย ดังนี้ จึงเป็นอันตรัสแต่ 4 เท่านั้น เพราะมีปวัตตินิวัตติและเหตุแห่งปวัตติและนิวัตติทั้งสองนั้นเพียงเท่านั้นนัยเดียวกันนั้น ตรัสแต่ 4 เท่านั้น แม้ด้วยอำนาจแห่งธรรมที่พึงกำหนดรู้ ธรรมที่พึงละ ธรรมที่พึงทำให้แจ้งและธรรมที่พึงทำให้มีขึ้น 1 แห่งวัตถุของตัณหา (ตัว) ตัณหา ความดับตัณหาและอุบายดับตัณหา 1 แห่งอาลัย ความยินดีในอาลัย ความถอนอาลัยเสียได้ และอุบายถอนอาลัย 1 วินิจฉัยโดยมีจำนวนไม่หย่อนไม่ยิ่งในอริยสัจนี้ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

โดยลำดับ

แม้ลำดับในข้อว่า "โดยลำดับ" นี้ ก็ได้แก่ลำดับแห่งการแสดงเหมือนกัน ก็ในอริยสัจ 4 นี้ ทุกขสัจ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เป็นข้อแรก เหตุว่ารู้ได้ง่าย เพราะเป็นของหยาบและเป็นของสาธารณะแก่สัตว์ทั้งปวง สมุทยสัจ ตรัสไว้ในลำดับนั้น เพื่อแสดงเหตุแห่งทุกขสัจนั้นแหละ นิโรธสัจ ตรัสต่อนั้นไป เพื่อให้รู้ว่าความดับแห่งผลย่อมมีเพราะความดับแห่งเหตุ มัคคสัจ ตรัสไว้ในที่สุด เพื่อแสดงอุบายบรรลุนิโรธสัจนั้นนัยหนึ่ง ตรัสทุกข์ก่อนเพื่อ ยังความสังเวชให้เกิดแก่สัตว์ทั้งหลายผู้ติดใจในรสชาติแห่งความสุขในภพ สมุทัยตรัสในลำดับนั้นเพื่อให้ทราบว่า "ทุกข์นั้น ตัณหามิได้แต่งขึ้นก็หาไม่ มันมีขึ้นเพราะเหตุภายนอก มีพระอิศวรบันดาลเป็นต้นก็หาไม่ แต่มันมีขึ้นเพราะตัณหานี้" ต่อนั้นตรัสนิโรธเพื่อยังความโล่งใจด้วยได้เห็นนิสสารณะ ให้เกิดแก่บุคคลทั้งหลาย ผู้มีใจสลด เพราะถูกทุกข์กับทั้งเหตุครอบงำแล้ว แสวงหาความออกไปจากทุกข์ ต่อนั้น จึงตรัสมรรคอันเป็นธรรมยังนิโรธให้ถึงพร้อม เพื่อบรรลุนิโรธแล

วินิจฉัยโดยลำดับในอริยสัจนี้ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

(หน้าที่ 99)

โดยวินิจฉัยคำว่าชาติเป็นต้น

ข้อว่า "โดยวินิจฉัย คำว่าชาติเป็นต้น" ความว่า ธรรมทั้งหลายมีชาติเป็นต้นนั้นใด พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เมื่อทรงแจกแจงอริยสัจทั้งหลาย ได้ตรัสไว้ในนิทเทสแห่งอริยสัจ 4 ดังนี้ คือ ธรรม 12 ประการตรัสไว้ในนิทเทสแห่งทุกขสัจว่า "ความเกิดก็เป็นทุกข์อย่าง 1 ความแก่ก็เป็นทุกข์อย่าง 1 ความเศร้า ความคร่ำครวญ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์แต่ละอย่าง (นัย 5) ความประสบเข้ากับสิ่งอันไม่เป็นที่รักทั้งหลายก็เป็นทุกข์ (อย่าง 1) ความพรากไปจากสิ่งอันเป็นที่รักทั้งหลายก็เป็นทุกข์ (อย่าง 1) ความที่ปรารถนาอยู่แต่ไม่ได้ก็เป็นทุกข์อย่าง 1 โดยย่อ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์ "ตัณหา 3 ประการตรัสไว้ในนิทเทสแห่งสมุทยสัจว่า "ตัณหานี้ใด มีการก่อภพ (ใหม่) อีกเป็นปกติ ไปด้วยกันกับนันทิราคะ มีปกติมุ่งเพลิดเพลินไปในอัตภาพนั้น ๆ ตัณหานี้คืออะไรบ้าง คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา "นิพพานอันมีประการเดียวโดยประสงค์ ตรัสไว้ในนิทเทสแห่งนิโรธสัจ ดังนี้ว่า "ความดับโดยสำรอกออกอย่างไม่เหลือแห่งตัณหานั้นนั่นแหละ อันใด ความสละไป ความสลัดทิ้งไป ความหลุดไป ความหมดเยื่อใยแห่งตัณหานั้นนั่นแหละอันใด" ธรรม 8 ประการ ตรัสไว้ในนิทเทสแห่งมัคคสัจดังนี้ว่า "ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน ? คืออริยมรรคมีองค์ 8 นี้แล อริยมรรคมีองค์ 8 นี้คืออะไรบ้าง คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ "ดังนี้ โดยวินิจฉัยธรรมทั้งหลายมีชาติเป็นต้นนั้น"

ทุกขนิทเทส

วินิจฉัยศัพท์ว่าชาติ

วินิจฉัยในทุกขธรรมทั้งหลายมีชาติเป็นต้นนี้ บัณฑิตพึงทราบ (ต่อไป) วินิจฉัยนี้เป็นอย่างไร ? ก็ศัพท์ว่าชาตินี้ มีอรรถหลายอย่าง จริงอย่างนั้น ศัพท์ว่าชาตินั่น ในคำว่า "(ระลึกชาติได้) 1 ชาติก็มี 2 ชาติก็มี" ดังนี้ เป็นต้น นี่มาใน (อรรถคือ) ภพ ในคำว่า "ดูกรวิสาขาสมณชาติชื่อนิครนถ์ มีอยู่" นี้มาใน (อรรถคือ) นิกาย (พวก) ในคำว่า "ชาติสงเคราะห์เข้ากับขันธ์ 2" นี่มาใน (อรรถคือ) สังขตลักษณะ ในคำว่า "จิตดวงแรกเกิดขึ้น วิญญาณดวงแรกปรากฏขึ้นในท้องของมารดาอันใด ชาตินั้นแลอาศัยจิตดวงแรกนั้นจึงมี" นี่มาใน (อรรถคือ)

(หน้าที่ 100)

ปฏิสนธิ ในคำว่า "ดูกรอานนท์ ทันทีที่พระโพธิสัตว์ชาตะ" นี่มาใน (อรรถคือ) ประสูติ (การคลอด) ในคำว่า "เป็นผู้ที่ไม่ถูกคัดค้านไม่ถูกติเตียนด้วยชาติวาทะ (ถ้อยคำปรารภชาติ)" นี่มาใน (อรรถคือ) ตระกูล ในคำว่า "ดูกรน้องหญิง เราเกิดแล้วโดยชาติเป็นอริยะ แต่กาลใด" นี่มาใน (อรรถคือ) อริยศีล ศัพท์ว่าชาตินี้นั้น ในที่นี้พึงเห็นว่ามาในขันธ์ทั้งหลายอันเป็นไปตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงออกจากท้องมารดาสำหรับสัตว์จำพวกคัพภเสยยกะ (คืออัณฑชะและชลาพุชะ) มาในปฏิสนธิขันธ์ทั้งหลายเท่านั้นสำหรับสัตว์จำพวกนอกนี้ (คือสังเสทชะ และโอปปาติกะ) แม้วินิจฉัยกถาที่กล่าวมานี้เล่าก็ยังเป็นปริยายกถา (ว่าโดยอ้อม) อยู่

เมื่อว่าโดยนิปริยาย (โดยตรง) ขันธ์ทั้งหลายใด ๆ ปรากฏขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดอยู่ในภพนั้น ๆ ความปรากฏขึ้นทีแรกแห่งขันธ์นั้น ชื่อว่าชาติ

ก็แลชาตินี้นั้น มีความเกิดที่แรกในภพนั้น ๆ เป็นลักษณะ มีการมอบให้เป็นรส มีความผุดขึ้นในภพนี้จากอดีตภพเป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีความวิจิตรไปด้วยทุกข์เป็นปัจจุปัฏฐาน

ชาติทุกข์

หากคำถามพึงมีว่า "ก็เหตุไฉน ชาติจึงเป็นทุกข์ ?" ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า "เพราะความเป็นวัตถุ (คือเป็นพื้นที่ตั้ง) ของทุกข์เป็นเอนก" จริงอยู่ทุกข์ทั้งหลายมีเป็นอเนก เช่นอะไรบ้าง เช่น ทุกขทุกข์ วิปริณามทุกข์ สังขารทุกข์ ปฏิจฉันนทุกข์ อัปปฏิฉันนทุกข์ ปริยายทุกข์ นิปปริยายทุกข์

ในทุกข์เหล่านั้น ทุกขเวทนานั้นทางกายและทางใจ เรียกว่าทุกขทุกข์ เพราะเป็นทุกข์ ทั้งโดยสภาวะและโดยชื่อ สุขเวทนา เรียกว่า วิปริณามทุกข์ เพราะเป็นเหตุเกิดทุกข์โดยแปรเปลี่ยนไป อุเบกขาเวทนาและสังขารทั้งหลายอันเป็นไปในภูมิ 3 ที่เหลือ เรียกว่า สังขารทุกข์ เพราะถูกความเกิดและความเสื่อมบีบคั้น ความเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางใจ มีปวดหู ปวดฟัน และความรุ่มร้อนเกิดแต่ราคะ ความเดือดดาลเกิดแต่โทสะเป็นต้น เรียกว่า ปฏิจฉันนทุกข์ เพราะต้องถามจึงรู้และเพราะความไม่ปรากฏการกระทำ ความเจ็บป่วยมี ทวัตติงสกรรมกรณ์ (การลงอาชญา 32 ประการ) เป็นต้น เป็นสมุฏฐาน เรียกว่า

(หน้าที่ 101)

อัปปฏิจฉันนทุกข์ เพราะไม่ต้องถามก็รู้ และเพราะปรากฏการกระทำด้วย เว้นทุกขทุกข์เสีย ทุกข์ที่เหลือมีชาติเป็นอาทิ ซึ่งมาในวิภังค์แห่งทุกขสัจทั้งหมด เรียกว่า ปริยายทุกข์ เพราะความเป็นวัตถุแห่งทุกข์นั้น ๆ ส่วนทุกขทุกข์ เรียกว่า นิปปริยายทุกข์

คัพโภกกันติมูลกทุกข์

ในทุกข์เหล่านั้น ชาติจัดเป็นทุกข์ เพราะความเป็นวัตถุแห่งทุกข์อันมีในอบาย ที่แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ทรงประกาศไว้ในสูตรทั้งหลายมีพาลบัณฑิตสูตรเป็นอาทิ โดยเป็นข้ออุปมา (มีอุปมาโดยหลุมถ่านเพลิงเป็นต้น) และแห่งทุกข์อันต่างโดยทุกข์มีการก้าวลงสู่ครรภ์เป็นมูลเป็นต้น ในมนุษย์โลกซึ่งเกิดขึ้นแม้ในสุคติ

ในทุกข์เหล่านั้น (ต่อไปนี้) เป็นทุกข์อันต่างโดยทุกข์มีการก้าวลงสู่ครรภ์เป็นมูลเป็นต้น

ก็แลสัตว์นี้ เมื่อเกิดในท้องมารดา ก็หาใช่เกิดในกลีบดอกไม้มี อุบล ปทุม และบุณฑริก เป็นต้นไม่ ที่แท้ย่อมเกิดในกุจฉิประเทศ (ส่วนหนึ่งของท้อง) ใต้กระเพาะอาหารใหม่ เหนือกระเพาะอาหารเก่าท่ามกลางแห่งหน้าท้องและกระดูกสันหลัง เป็นที่คับแคบอย่างยิ่ง มึดมิดอบอวลด้วยกลิ่นอายอันเหม็นยิ่งซึ่งกลิ่นซากสัตว์ (ที่กินเข้าไป) ต่าง ๆ ทำให้เกิดขึ้นน่าเกลียดยิ่งนัก ราวกับตัวหนอนเกิดอยู่ในปลาเน่า ขนมบูด และหลุมน้ำครำเป็นต้นฉะนั้น สัตว์ที่เกิดอยู่ในท้องมารดานั้นร้อนอบอยู่ด้วยสัมภวะ (น้ำ กำเนิด น้ำเลี้ยง) ในท้องของมารดา (เท่ากัน) ถูกต้อนอยู่เหมือนปุฏปากะ (ข้าวต้มมัด) (เท่ากัน) ถูกนึ่งอยู่เหมือน ปิฏฐปิณฑิ (ขนมก้อนแป้ง) ปราศจากความไหวกายมีคู้เหยียด (อวัยวะ) เป็นต้น เสวยทุกข์ขนาดหนักอยู่ตลอดทศมาส นี้เป็นคัพโภกกันติมูลกทุกข์ (ทุกข์มีการก้าวลงสู่ครรภ์เป็นมูล) เป็นอันดับแรก

คัพภปริหรณมูลกทุกข์

ประการหนึ่ง สัตว์นั้นได้เสวยทุกข์ขนาดหนักอันใด ในเพราะการลื่นล้ม การเดิน การนั่ลง การลุกขึ้นและการพลิกตัวโดยเร็วของมารดาเป็นต้น (ก็ดี) เพราะการกระทำ (ของคนอื่น) มีการฉุดกระชากลากถู การกระแทกและการผลักเป็นต้น เหมือนลูกแกะอยู่ในมือ

(หน้าที่ 102)

นักเลงสุรา และเหมือนลูกงูอยู่ในมือหมองู (ก็ดี) อนึ่ง สัตว์นั้นได้เสวยทุกข์กล้าอันใด ในเวลาที่มารดาดื่มน้ำเย็นเป็นเหมือนสัตว์ที่ตกนรกหนาว ในเวลาที่มารดากลืนข้าวต้มและข้าวสวยร้อนลงไป เหมือนถูกปรายด้วยเม็ดฝนถ่านเพลิง ในเวลาที่มารดากลืนอาหารรสจัด เช่นเค็มและเปรี้ยวเป็นต้นลงไป ก็เหมือนได้รับการลงโทษมีวิธีขาราวตัจฉิกะ (สับร่างกายแล้วราดด้วยน้ำกรด) เป็นต้น ทุกข์นี้เป็นคัพภปริหรณมูลกทุกข์ (ทุกข์มีการบริหารครรภ์เป็นมูล)

คัพภวิปัตติมูลกทุกข์

(ประการหนึ่ง) ทุกข์อันใดเกิดขึ้นแก่สัตว์นั้น ผู้ถูก (ลม) กรรมชวาตของมารดาเมื่อจะคลอดผัดผัน (ศรีษะ) ให้กลับลงตรงช่องคลอดอันน่ากลัวยิ่งประดุจปล่องเหว ถูกเบ่งออกทางช่องคลอดอันแคบยิ่งนัก ประดุจช้างใหญ่ถูกดันออกทางช่องดาล และถูกบีบด้วยภูเขาคือขื่อ (เชิงกราน) เหมือนสัตว์นรก ถูกบดด้วยสังฆาตบรรพต ทุกข์นี้เป็นวิชายนมูลกทุกข์ (ทุกข์มีการคลอดเป็นมูล)

พหินิกขมนมูลกทุกข์

ประการหนึ่ง ทุกข์อันใดที่เป็นเช่นกับการแทงและผ่าด้วยปลายเข็มและคมมีดโกน ในเวลาที่เขาลับด้วยมือให้อาบน้ำล้าง (ครรภ์มลทิน) และเช็ดด้วยผ้าเป็นต้น เกิดขึ้นแก่สัตว์ผู้เกิดแล้ว ซึ่งมีร่างกายยังละเอียดอ่อนเช่นกับแผลใหม่ ทุกข์นี้เป็น มาตุกุจฉิโตพหินิกขมนมูลกทุกข์ (ทุกข์มีการออกมานอกท้องมารดาเป็นมูล)

อัตตุปักกมมูลกทุกข์

(ประการหนึ่ง) ในความเป็นไปต่อแต่นั้นไป ทุกข์อันใดเกิดมีแก่สัตว์นั้นผู้ทำร้ายตนเองก็ดี ผู้ประกอบอาตาปนปริตาปนานุโยค (ประกอบการทรมานตัวเพื่อย่างกิเลส) ตามทำนองวัตรของเดียรถีย์ มีเจลกวัตร (วัตรของชีเปลือย) เป็นต้นก็ดี ผู้ไม่กิน (อาหาร) และแขวนคอตายด้วยอำนาจความโกรธก็ดี ทุกข์นี้ เป็นอัตตุปักกมมูลกทุกข์ (ทุกข์มีการทำตัวเองเป็นมูล)

(หน้าที่ 103)

ปรุปักกมมูลกทุกข์

ประการหนึ่ง ทุกอันใดเกิดขึ้นแก่สัตว์นั้นผู้ได้รับการกระทำมีฆ่าและจองจำเป็นต้น แก่คนอื่น ทุกข์นี้เป็นปรุปักกมมูลกทุกข์ (ทุกข์มีการถูกคนอื่นทำเอาเป็นมูล) แล

สรูปชาติทุกข์

ชาตินี้เป็นพื้น (ที่ตั้ง) แห่งทุกข์ทั้งปวงนี้แท้ ดังกล่าวมา เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์ จึงกล่าวคำประพันธ์ไว้ว่า

ชาเยถ โน เจ นรเกสุ สตโต

ฯลฯ

ทุกขาติ สพพปฐมํ อิมมาห ชาตึ

หากว่า สัตว์ไม่พึงเกิดในนรกทั้งหลายไซร้ เขาก็ไม่

พึงได้รับทุกข์เหลือทนมีเผาด้วยไฟเป็นต้น ในนรกนั้น

(ถ้าไม่เกิด ทุกข์จะพึงได้ที่ตั้งที่ไหนเล่า) เพราะเหตุนั้น

พระมุนีเจ้าจึงตรัสความเกิดในนรกนี้ ว่าเป็นทุกข์

ทุกข์ในพวกสัตว์ดิรัจฉานเป็นอันมาก เกิดเพราะ

ถูกฆาตด้วยแส้ ปฏัก และท่อนไม้เป็นต้น อันใด ทุกข์

อันนั้น เว้นความเกิดในพวกดิรัจฉานนั้นเสีย จะพึง

มีอย่างไรเล่า เพราะเหตุนั้น แม้ความเกิดในพวก

ดิรัจฉานนั้น จึงเป็นทุกข์

อนึ่ง ทุกข์ในพวกเปรตหลายหลาก เกิดเพราะ

ความหิวกระหายลมแดดเป็นต้น ย่อมไม่มีแก่สัตว์ผู้ไม่

เกิดในพวกเปรตนั้น เหตุใด แม้เพราะเหตุนั้น พระมุนี

เจ้าจึงตรัสความเกิด (ในพวกเปรตนั้น) ว่าเป็นทุกข์

(หน้าที่ 104)

อนึ่ง ทุกข์ในพวกอสูรในโลกันตร์อันเป็นที่มืดและ

เย็นเหลือทน หากความเกิดในโลกันตร์ นั้นไม่มีไซร้

ทุกข์นั้นก็ไม่พึงมี เหตุใด แม้เพราะเหตุนั้น ความเกิดนี้

จึงเป็นทุกข์

อนึ่ง สัตว์ผู้อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งเป็นเหมือนคูถ

นรกเป็นเวลานาน และออกมานอกครรภ์นั้นย่อมได้รับ

ทุกข์อันร้ายกาจแม้ใด แม้ทุกข์นี้เว้นความเกิดเสีย ก็หา

มีไม่ แม้เพราะเหตุนั้น ความเกิดนี้จึงเป็นทุกข์แท้

ต้องการอะไรที่จะกล่าวไปมาก ทุกใดแม้เล็กน้อย

มีอยู่ในที่ไหน ๆ ในโลกนี้ก็ดี ทุกข์นี้ เพราะเว้นความ

เกิดเสีย ก็ไม่มีในกาลไหน ๆ เลย เหตุใด เพราะเหตุนั้น

พระมหาฤาษีเจ้าจึงตรัสความเกิดนี้ว่า เป็นทุกข์ก่อนทุกข์

ทั้งปวง นี่เป็นวินิจฉัยในชาติ เป็นข้อแรก

ชราทุกข์

ในข้อว่า "แม้ชราก็เป็นทุกข์" นี้ มีวินิจฉัยว่า ชรามี 2 อย่าง คือ สังขตลักษณะ 1 ความเก่าไปแห่งขันธ์ที่เนื่องอยู่ในภพอันหนึ่ง ใน(รูป)สันตติซึ่งรู้กันโดยอาการ มีฟันหักเป็นต้น 1 ชรา (อันปรากฏ) คือความเก่าไปแห่งขันธ์นั้น (แหละ) หมายเอาในที่นี้

ก็แล ชรานี้นั้น มีความแก่แห่งขันธ์เป็นลักษณะ มีการนำไปสู่ความตายเป็นกิจ มีความเสื่อมหายไปจากความเป็นหนุ่มเป็นปัจจุปัฏฐาน ชื่อว่าทุกข์ เพราะเป็นสังขารทุกข์ และเพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ด้วย จริงอยู่ทุกข์อันเป็นไปทางกายและทางใจนี้ใด มีปัจจัยเป็นอเนก เช่นความหย่อนยานแห่งอวัยวะใหญ่น้อย ความพิการแห่งอินทรีย์ ความมีรูปร่างวิกลไปความเป็นหนุ่มหายไป ความเพียร (ความกล้า) ตกไป สติ (ความจำ) และมติ (ความคิดอ่าน)จากไป และเป็นที่ดูแคลนของคนอื่นเป็นต้น เกิดขึ้น ชราเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์นั้น เพราะเหตุนั้นนักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์นี้ว่า

(หน้าที่ 105)

องคานํ สิถีลีภาวา ฯเปฯ ยสฺมา ตสมา ชรา ทุกฺขา

มัจจะ (สัตว์ที่จะต้องตาย) ได้รับทุกข์ทางกาย และทาง

ใจอันใด (เพราะความหย่อนยานไปแห่งองคาพยพ

เพราะความวิการไปแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย เพราะความ

เสื่อมหายไปจากความเป็นหนุ่ม เพราะความถดถอยไป

แห่งกำลัง เพราะความจากไปแห่งสติ (ความจำ) เป็นต้น

เพราะลูกเมียของตนเองก็ไม่พึงใจ และเพราะ (มีแต่จะ)

ถึงซึ่งความอ่อนเพลียยิ่งขึ้น เพราะเหตุที่ทุกข์ (ที่กล่าวมา)

นั่น ล้วนแต่มีชราเป็นเหตุ เพราะเหตุนั้น ชราจึงเป็นทุกข์

นี่เป็นวินิจฉัยในชรา

มรณทุกข์

แม้ในข้อว่า "แม้มรณะก็เป็นทุกข์" นี้ มรณะก็มี 2 คือ สังขตลักษณะ ซึ่งท่านหมายเอากล่าวไว้ว่า "ชรามรณะ สงเคราะห์ด้วยขันธ์ 2" ดังนี้ 1 ความขาดการติดต่อกันไปแห่งชีวิตินทรีย์ที่เนื่องอยู่ในภพอันหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงตรัสไว้ว่า "ความกลัวตายมีอยู่เป็นนิจ" ดังนี้ 1 มรณะคือความขาดชีวิตินทรีย์นั้น (แหละ) ประสงค์เอาในที่นี้ แม้คำว่า ชาติปัจจยามรณะ (ความตายมี เพราะความเกิดเป็นปัจจัย) อุปักกมมรณะ (ความตายเพราะการกระทำ) สรสมรณะ (ความตายโดยสภาพคือตายเอง) อายุกขยมรณะ (ความตายเพราะสิ้นอายุ) ปุญญขยมรณะ (ความตายเพราะสิ้นบุญ) ดังนี้ ก็เป็นชื่อของมรณะ คือ ความขาดชีวิตินทรีย์นั่นเอง

มรณะนี้นั้น มีจุติ (ความเคลื่อนไปจากปัจจุบันภพ) เป็นลักษณะ มีวิโยค (ความพรากไปจากสัตว์ และสังขารตามที่ตนได้ไว้) เป็นกิจ มีคติวิปวาส (ความพลัดจากคติตามที่ตนเข้าถึงแล้วไป) เป็นผล ส่วนที่ว่า (มรณะ) เป็นทุกข์ พึงทราบว่า เพราะความเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ เหตุนั้น นักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า

(หน้าที่ 106)

ปาปสฺส ปาปกมฺมาทิ ฯเปฯ ทุกฺขมิจฺเจว ภาสิตํ

ทุกข์ทางใจอันใดมีขึ้นโดยไม่แปลก แก่คนที่กำลังจะ

ตายที่เป็นคนชั่ว เห็นนิมิตมีกรรมนิมิตฝ่ายบาปเป็นต้น

แม้ที่เป็นคนดี (แต่) ทนทาน พลัดพรากอันมีของรัก

เป็นที่ตั้งไม่ไหว อนึ่ง ทุกข์ทางกายอันใด มีข้อและ

เส้นเอ็นขาดเป็นต้น มีขึ้นแก่คนทุกคนที่มีกัมมัฏฐาน

(ตำแหน่งสำคัญของร่างกาย) ถูกลมร้ายแทงเอา ทุกข์นี้

เป็นทุกข์ คนทนไม่ไหว แก้ไขไม่ได้ เพราะเหตุที่

มรณะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ (ที่กล่าวมาทั้งหมด) นั่น เพราะ

เหตุนั้น มรณะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็น

ทุกข์แท้

นี่เป็นวินิจฉัยในมรณะ

โสกะ

ในปกิณกทุกข์มีโศกเป็นต้น ความเร่าร้อนจิตแห่งบุคคลผู้ถูกทุกข์ มีเสียญาติไปเป็นต้น ชื่อว่าโศก โศกนั้น โดยความก็เป็นโทมนัสนั่นเอง ก็จริงแล แม้เป็นเช่นนั้น ก็ (มีลักษณะประจำตัวคือ) มีความตรอมตรมภายในเป็นลักษณะ มีความเกรียมใจเป็นกิจ มีความละห้อยหาเป็นผล ส่วนที่ว่า โศกเป็นทุกข์ พึงทราบว่าเพราะเป็นทุกขทุกข์ (คือเป็นตัวทุกข์) และเพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ด้วย เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์ไว้ว่า

สตฺตานํ หทยํ โสโก ฯเปฯ ตสฺมา ทุกฺโขติ วุจฺจติ

โศกย่อมทิ่มแทงหัวใจของสัตว์ทั้งหลาย ดังลูกศรอาบยา

พิษแทงเอา และยังเผาหัวใจอย่างร้ายแรงอีกด้วย ราว

กะหลาวเหล็กเผาไฟ (ทิ่มเข้าไป) เผาเอา และยังนำวิวิธ

ทุกข์ต่างโดยความเจ็บไข้ ความแก่และความตายมาอีก

ด้วย เหตุใด เพราะเหตุนั้น โศกนั่น พระผู้มีพระภาคเจ้า

จึงตรัสว่า เป็นทุกข์

นี่เป็นวินิจฉัยในโศก

(หน้าที่ 107)

ปริเทวะ

ความคร่ำครวญแห่งบุคคลผู้ถูกทุกข์มีเสียญาติไปเป็นต้น ชื่อว่าปริเทวะ ปริเทวะนั้น มีความพร่ำบ่นเป็นลักษณะ มีการบอก (รำพัน) ความดีความเสียเป็นรส มีความกลิ้งเกลือกไป เป็นปัจจุปัฏฐาน ส่วนที่ว่าปริเทวะเป็นทุกข์ พึงทราบว่า เพราะเป็นสังขารทุกข์และเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ด้วย เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์ จึงกล่าวคำประพันธ์ไว้ว่า

ยํ โสกสลฺลวิหโต ปริเทวมาโน

ฯเปฯ

ทุกฺโขติ เตน ภควา ปริเทวมาห

บุคคลผู้ต้องศรคือโศกประหารเอาแล้ว ยังมาคร่ำครวญ

(อีก) ย่อมได้รับทุกข์หนักยิ่งขึ้นไป ซึ่งเป็นทุกข์ เกิดแต่

ความแห้งผากแห่งคอ ริมฝีปากและเพดานปากเหลือจะ

ทน เหตุใด เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส

ปริเทวะว่า เป็นทุก์

นี่เป็นวินิจฉัยในปริเทวะ

ทุกขะ

ความทุกข์อันเป็นไปทางกาย ชื่อว่าทุกขะ ทุกขะนั้นมีความบีบคั้นกายเป็นลักษณะ มีอันทำความโทมนัสแก่บุคคลผู้ทรามปัญญาทั้งหลายเป็นกิจ มีความเจ็บป่วยทางกายเป็นผล ส่วนที่ว่าทุกขะ เป็นทุกข์ พึงทราบว่าเพราะเป็นทุกขทุกข์ (คือเป็นตัวทุกข์) และเพราะนำความทุกข์ทางใจมาให้ด้วย เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า

ปีเฬติ กายิกมิทํ ฯเปฯ ทุกฺขนฺติ วิเสสโต วุตฺตํ

ทุกข์ทางกายนี้ ย่อมบีบคั้น (กาย) ซ้ำยังทำทุกข์ทางใจ

ให้เกิดด้วย เหตุใด เพราะเหตุนั้น ทุกข์ทางกายนี้ พระ

ผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า เป็นทุกข์โดยพิเศษ (คือเป็น

อย่างหนึ่งต่างหาก)

นี่เป็นวินิจฉัยในทุกขะ

(หน้าที่ 108)

โทมนัส

ความทุกข์อันเป็นไปในใจ ชื่อว่าโทมนัส โทมนัสนั้นมีความเป็นปัจจุปัฏฐาน ส่วนที่ว่าโทมนัสเป็นทุกข์ พึงทราบว่า เพราะเป็นทุกขทุกข์ เพราะนำทุกข์ทางกายมาให้ด้วย จริงอยู่ คนทั้งหลายที่เพียงด้วยความทุกข์ใจแล้วย่อมเสวยทุกข์มีประการต่าง ๆ เช่น สยายผม (ที่ขมวดไว้) ร้องไห้ ทุบอก หมุนตัวไปมา ทอดกาย ยกเท้า (ไขว่ขึ้นลง) จับศัตรา (ทำร้ายตัวเอง) กินยาพิษ แขวน (คอ) ด้วยเชือก (โจน) เข้า (กอง) ไฟ เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์ไว้ว่า

ปีเฬติ ยโส จิตฺตํ ฯเปฯ ตโต อาหุ

โทมนัสย่อมบีบคั้นจิต และยังนำความลำบากกายมาให้

ด้วยเหตุใด เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ปราศ-

จากโทมนัส จึงตรัสโทมนัสว่า เป็นทุกข์

นี่เป็นวินิจฉัยในโทมนัส

อุปายาส

โทสะ อันความทุกข์ใจอย่างหนักบันดาลขึ้นแห่งบุคคลที่ถูกทุกข์มีเสียญาติเป็นต้น ต้องเอานั่นเอง ชื่อว่าอุปายาส อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า อุปายาสเป็น (เจตสิก) ธรรมอันหนึ่งนับเข้าในสังขารขันธ์ อุปายาสนั้นมีความแผดเผาจิตเป็นลักษณะ มีการทอดถอนเป็นกิจ มีความตรมครอบเป็นผล ส่วนที่ว่า อุปายาสเป็นทุกข์ พึงทราบว่า เพราะความเป็นสังขารทุกข์ เพราะแผดเผาจิตและเพราะทำร่างกายให้เผือดซีดด้วย เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า

จิตฺตสฺส จ ปริทหนา ฯเปฯ ทุกฺขโต ตโต วุตฺโต

อุปายาส ย่อมยังทุกข์ใดให้เกิด ทุกข์นั้นจัดว่ามีประมาณ

ยิ่ง เพราะทั้งแผดเผาจิต ทั้งทำกายให้เผือดซีด เหตุนั้น

อุปายาส พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า เป็นทุกข์

นี่เป็นวินิจฉัยในอุปายาส

(หน้าที่ 109)

เปรียบเทียบในโสกะ ปริเทวะ อุปายาส

ก็แล ในโสกะ ปริเทวะ และอุปายาสนี้ โสกะ พึงเห็นเหมือนการที่ (น้ำ) เดือดอยู่ภายในภาชนะด้วยไฟอ่อนๆ ปริเทวะ พึงเห็นดังการ (ล้น) ออกนอกภาชนะแห่งน้ำที่เดือดด้วยไฟแรง อุปายาส พึงเห็นเช่นการเดือดจนแห้งไปอยู่ในภาชนะนั่นเอง แห่งน้ำที่เหลือจากที่ (ล้น) ออกข้างนอกแล้ว ไม่พอจะ (ล้น) ออกอีก

อัปปิยสัมปโยคทุกข์

การร่วมเข้ากับสัตว์และสังขารทั้งหลายที่ไม่ชอบใจ ชื่อว่า อัปปิยสัมปโยค อัปปิยสัมปโยคนั้น มีการพบปะกับสัตว์และสังขารที่ไม่ปรารถนาเป็นลักษณะ มีการทำความคับใจเป็นกิจ มีความเกิดอนัตถะเป็นผล ส่วนที่ว่าอัปปิยสัมปโยคเป็นทุกข์ พึงทราบว่า เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ เหตุนั้น นักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า

ทิสฺวาน อปฺปิเย ทุกฺขํ ฯเปฯ อปฺปิเยหิ สมาคโม

เพราะพบคนที่เกลียดเข้า ทีแรกทุกข์ก็มีขึ้นในใจ ต่อไป

ทุกข์อันเกิดแต่การทำร้ายเขาเข้า (ด้วยกายและวาจา) ก็

มีขึ้นในกาย (ของบุคคล) ในโลกนี้ (ด้วย) เหตุใด

เพราะเหตุนั้น การพบปะกับสิ่งที่เกลียดนั้น พึงทราบว่า

พระมหาฤษีเจ้า ตรัสว่า เป็นทุกข์ เหตุว่าเป็นที่ตั้งแห่ง

ทุกข์ทั้งสอง (คือทั้งทางใจและทางกาย)

ปิยวิปโยคทุกข์

ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารทั้งหลายที่ชอบใจ ชื่อว่า ปิยวิปโยค ปิยวิปโยคนั้น มีความพรากจากวัตถุที่พอใจเป็นลักษณะ มีอันยังความโศกให้เกิดขึ้นเป็นกิจ มีความเสียหายไปเป็นผล ส่วนที่ว่า ปิยวิปโยคเป็นทุกข์ พึงทราบว่า เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์คือความโศก เหตุนั้น นักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า

(หน้าที่ 110)

ญาติธนาทิวิโยคา ฯลฯ มโต ปิยวิปฺปโยโค

คนเขลาทั้งหลายผู้เพรียบพร้อมด้วยศรคือโศก เพราะ

พลัดพรากจากสัตว์และสังขารที่รัก มีญาติและทรัพย์

เป็นต้น ย่อมเจ็บปวด (ใจ) เหตุใด เพราะเหตุนั้น

ปิยวิปโยคนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เป็นทุกข์

นี่เป็นวินิจฉัยในปิยวิปโยคทุกข์

อิจฉิตาลาภทุกข์

ในข้อว่า "ไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา" นี้ มีวินิจฉัยว่า ความปรารถนาใน (อลัพภไนยวัตถุ) สิ่งที่ไม่มีทางจะได้ทั้งหลาย เช่นปรารถนาว่า "โอ หนอ เราทั้งหลายจักไม่เป็นผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา" เป็นต้น นั่นแล ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมปิ ทุกฺขํ ปรารถนาอยู่แต่ไม่ได้แม้อันใด แม้ความไม่ได้สิ่งที่ปรารถนาอันนั้น ก็เป็นทุกข์"ดังนี้ ความปรารถนานั้น มีความต้องการสิ่งที่ไม่มีทางจะได้เป็นลักษณะ มีการแสวงหาสิ่งที่ไม่มีทางจะได้นั้นเป็นกิจ มีความไม่ได้สิ่งเหล่านั้นเป็นผล ส่วนที่ว่า ความปรารถนานั้นเป็นทุกข์ พึงทราบว่า เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ เหตุนั้น นักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์ไว้ว่า

ตํ ตํ ปฏฺฐิยมานานํ ฯเปฯ อิจฺฉิตาลาภมพฺรวิ

ทุกข์อันประกอบไปด้วยความขุ่นเคืองอันใด เกิดแก่สัตว์

ทั้งหลายในโลกนี้ เพราะเมื่อเขาทั้งหลาย ปรารถนาสิ่ง

นั้น ๆ อยู่ แต่ไม่ได้สิ่งนั้น ๆ ความปราถนาสิ่งที่ไม่มีทาง

จะได้ทั้งหลาย(นั่นแหละ) เป็นเหตุของทุกข์อันนั้น เหตุ

ใด เพราะเหตุนั้น พระชินะเจ้าจึงตรัสความไม่ได้สิ่งที่

ปรารถนาว่า เป็นทุกข์

นี่เป็นวินิจฉัยในอิจฉิตาลาภทุกข์

(หน้าที่ 111)

ปัญจุปาทานขันธทุกข์

ส่วนข้อว่า "โดยย่อ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์" นี้ มีวินิจฉัยว่า

:ทุกข์ตั้งแต่ชาติทุกข์มาอันใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า

:ผู้ทรงตาทิคุณ ตรัสไว้ในทุกขนิทเทสนี้แล้วก็ดี ทุกข์อันใด

:ที่มิได้ตรัสไว้ในทุกขนิทเทสนี้ก็ดี ทุกข์ทั้งปวงนั้น เว้น

:อุปาทานขันธ์ 5 นั่นเสีย ก็หามีไม่ เหตุใด เพราะเหตุนั้น

:อุปาทานขันธ์ทั้งหลายนี้ พระมหาฤษีเจ้าผู้ทรงชี้ที่

:สุดทุกข์ จึงตรัสว่าเป็นทุกข์โดยย่อ

จริงอยู่อย่างนั้น ทุกขธรรมทั้งหลายมีชาติเป็นต้น ซึ่งเบียนอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 นี่แหละ โดยประการต่าง ๆ อยู่ ดังไฟเบียนเชื้อ ดังเครื่องประหารเบียนเป้า ดังแมลงทั้งหลายมีเหลือบและยุงเป็นต้น เบียนโค ดังคนเกี่ยวข้าวทั้งหลายเบียนนา ดังพวกโจรปล้นบ้านเบียนหมู่บ้าน ก็เกิดอุปาทานขันธ์ทั้งหลายนี่เอง เหมือนหญ้าและไม้เถาเป็นต้น เกิดที่พื้นดิน เหมือนดอกผลและหน่อเกิดที่ต้นไม้ทั้งหลายฉะนั้น อนึ่ง ทุกข์ในเบื้องต้นของอุปาทานขันธ์ทั้งหลาย ก็คือชาติทุกข์ในท่ามกลางคือชรา ทุกข์ในที่สุดคือมรณะ ทุกข์คือความรุ่มร้อน (ใจ) เพราะกระทบมรณันติกทุกข์ (ทุกข์เมื่อใกล้ตาย) เป็นโสกะ ทุกข์คือความคร่ำครวญ เพราะทนต่อทุกข์นั้นไม่ได้ เป็นปริเทวะ ต่อไปทุกข์คือการเจ็บกาย เพราะประสบอนิฏฐโผฏฐัพพะ กล่าวคือความกำเริบแห่งธาตุเป็นทุกขะ ทุกข์คือความเจ็บใจ เพราะเกิดปฏิฆะในทุกข์กายนั้นแห่งปุถุชนทั้งหลายผู้ถูกความเจ็บกายนั้นเบียนเอา เป็นโทมนัส ทุกข์คือความหมกไหม้ของบุคคลทั้งหลายผู้มีความเศร้าสลดที่ความเพิ่มมากขึ้นแห่งทุกข์ที่กล่าวแล้วมีโสกะเป็นต้นทำให้เกิดขึ้นเป็นอุปายาส ทุกข์คือความไม่สมปรารถนาของบุคคลทั้งหลาย ผู้ได้รับความคาดหวังเป็นอิจฉิตาลาภะ เพราะเหตุนั้นอุปาทานขันธ์ทั้งหลายนั่นเอง ซึ่งเมื่อพิจารณาดูโดยประการต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้ ย่อมเป็นทุกข์แท้แล

ใคร ๆ ไม่อาจกล่าว (พรรณนา) ทุกข์แต่ละอย่างนี้ได้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแสดงไว้มิให้ (หลง) เหลือโดยกาลแม้หลายกัปป์ได้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงแสดง

(หน้าที่ 112)

(โดย) ย่นทุกข์ทั้งปวงนั้นเข้าไปในอุปาทานขันธ์ 5 ทุกอย่าง ดุจย่นรสน้ำทะเล ทั้งสิ้นทิ้งไว้ในหยดน้ำหยดเดียว จึงได้ตรัสว่า "โดยย่อ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์" ดังนี้

นี่เป็นวินิจฉัยในอุปาทานขันธ์ทั้งหลาย

ทุกขสมุทยนิทเทส

ส่วนในสมุทยนิทเทส มีวินิจฉัยว่า คำว่า ยายํ ตณฺหา ความว่า ตัณหานี้ใด คำว่า โปโนพฺภวิกา ความว่า การก่อภพ (ใหม่) อีกชื่อว่าปุนัพภวะ การก่อภพ (ใหม่) อีกเป็นปกติของตัณหานั่น เหตุนั้นตัณหานั้นจึงชื่อ โปโนพฺภวิกา (มีการก่อภพ (ใหม่) อีกเป็นปกติ) ตัณหานั้นชื่อ นนฺทิราคสหคต เพราะไปด้วยกันกับนันทิราคะ (ความยินดีอย่างเพลิดเพลิน) มีอธิบายว่า ถึงซึ่งความเป็นอันเดียวกันกับนันทิราคะโดยอรรถ คำว่า ตตฺรตฺตราภินนฺทินี ความว่า มันเกิดในอัตภาพใด ๆ ก็มีปกติมุ่งเพลิดเพลินไปในอัตภาพนั้น ๆ คำว่า เสยฺยถีทํ เป็นนิบาต นี่เป็นความของนิบาตนั้น คือ หากถามว่า "ตัณหานั้นเป็นไฉน" ธรรมทั้งหลายนี้คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา จักมีแจ้งในปฏิจจสมุปปาทนิทเทส ส่วนในที่นี้ตัณหาทั้ง 3 อย่างนี้ พึงทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงผนวกเข้าเป็นอันเดียว ตรัสว่า เป็นทุกขสมุทยอริยสัจ โดยอรรถว่าเป็นเหตุยังทุกขสัจให้เกิด

ทุกขนิโรธนิทเทส

ในทุกขนิโรธนิทเทส มีวินิจฉัยว่า โดยนัยว่า โย ตสฺสาเยว ตณฺหาย เป็นต้น เป็นอันตรัสความดับแห่งสมุทัย หากถามว่า เหตุไรจึงตรัสความดับแห่งสมุทัย ? คำแก้พึงมีว่า ความดับแห่งทุกข์ย่อมมีเพราะความดับแห่งสมุทัย แท้จริง ทุกข์ย่อมดับเพราะความดับไปแห่งสมุทัยมิใช่เหตุอื่น เหตุนั้นจึงตรัสไว้ (ในธรรมบท) ว่า

ต้นไม้ เมื่อโคนยังมั่นอยู่ ไม่มีอุปัทวะ แม้ถูกตัด (ส่วน

บน) แล้วก็งอกได้อยู่อีกนั่น ฉันใดก็ดี แม้ทุกข์นี้ก็ฉันนั้น

เมื่อตัณหานุสัยยังมิได้ถูกถอนทิ้งแล้ว ก็เกิดได้ร่ำไป

(หน้าที่ 113)

เพราะเหตุที่ทุกข์ย่อมดับ เพราะความดับไปแห่งสมุทัยดังกล่าวมานั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงความดับแห่งทุกข์ จึงทรงแสดงโดยความดับแห่งสมุทัยนั่นเอง

อันพระตถาคตทั้งหลาย เป็นผู้มีความประพฤติเสมอด้วยสีหะ ท่านจะดับทุกข์และจะแสดงความดับแห่งทุกข์ ย่อมปฏิบัติในเหตุมิได้ปฏิบัติในผล ส่วนเดียรถีย์ทั้งหลาย มีความประพฤติเสมอด้วยสุวาน เขาจะดับทุกข์และแสดงความดับแห่งทุกข์ ย่อมปฏิบัติในผล โดยแสดงอัตตกิลมถานุโยคเป็นต้น หาปฏิบัติในเหตุไม่ด้วยประการฉะนี้

ประโยชน์ (ความมุ่งหมาย) แห่งการแสดงความดับแห่งทุกข์ ด้วยอำนาจความดับแห่งสมุทัย บัณฑิตพึงทราบ โดยนัยดังนี้ก่อน

แก้อรรถบาลีทุกขนิโรธ

ส่วน (ต่อไป) นี้ เป็น (แก้) อรรถ (แห่งบาลีทุกขนิโรธ)

คำว่า ตสฺสาเยว ตณฺหาย ความว่า แห่งตัณหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส (ลักษณะ) ว่า "โปโนพภวิกา มีการก่อภพ (ใหม่) อีกเป็นปกติ" เป็นอาทิ แล้วทรงจำแนกโดยประเภทมีกามตัณหาเป็นต้นนั้น

มรรค เรียกว่า วิราคะ ความสำรอกออก เพราะพระบาลีว่า "วิราคา ย่อมหลุดพ้นเพราะวิราคะ" ความดับโดยสำรอกออกชื่อว่าวิราคนิโรธ ความดับโดยสำรอกออกอย่างไม่เหลือ เพราะถอนอนุสัยได้ชื่อว่า อเสสวิราคนิโรธ อีกนัยหนึ่ง การละก็เรียกว่า วิราคะ เพราะฉะนั้น ในบทว่า อเสสวิราคนิโรโธ นี้ บัณฑิตพึงเห็น (ว่า) ประกอบความว่า "การละอย่างไม่เหลือ ความดับอย่างไม่เหลือ" ดังนี้ก็ได้ แต่ (เมื่อว่า) โดยเนื้อแท้ บททั้งปวงนั่น เมื่อไวพจน์ของนิพพานทั้งนั้น เพราะพระนิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ โดยปรมัตถ์ ก็เหตุใดตัณหาสำรอกออกและดับไปได้ก็เพราะ (พระโยคาวจร) อาศัย (หน่วง) พระนิพพานนั้น (เป็นอารมณ์) เพราะเหตุนั้น พระนิพพานนั้น จึงตรัสเรียกว่า วิราคะ และว่า นิโรธะ ด้วย อนึ่ง เหตุใดธรรมทั้งหลายมีความสละไปแห่งตัณหานั้นเป็นต้นย่อมมีขึ้นได้ก็เพราะอาศัยพระนิพพานนั้นนั่นแหละ อนึ่งเล่าบรรดาอาลัยทั้งหลายมีกามคุณาลัยเป็นต้น อาลัยแม้อย่างเดียว ย่อมไม่มีในพระนิพพานนั้น เพราะเหตุนั้น

(หน้าที่ 114)

จึงตรัสเรียกว่า จาคะ ปฏินิสสัคคะ มุตติ อนาลยะ พระนิพพานนี้นั้น มีความสงบเป็นลักษณะ มีความไม่เคลื่อน (คือไม่เปลี่ยนสภาพ เป็นกิจ หรือว่ามีอันทำความโล่งใจเป็นกิจ (ก็ได้) มีความไม่มีนิมิต (คือไม่มีเครื่องหมายแห่งทุกข์) เป็นผล หรือว่ามีความไม่มีเครื่องหน่วงเหนี่ยว (จิต) เป็นผล (ก็ได้)

ปัญหาซับซ้อนในเรื่องพระนิพพาน

หากมีคำยืนยันว่า "ไม่มีดอก พระนิพพานน่ะ เพราะไม่ใช่สิ่งที่จะพึง (หา) ได้ ดุจเขากระต่ายฉะนั้น" ดังนี้ไซร้ พระนิพพานไม่มี หามิได้ เพราะพระนิพพานนั้นเป็นธรรมชาติที่พึง (หา) ได้ด้วยอุบาย แท้จริง พระนิพพานนั้น ย่อม (หา) ได้ด้วยอุบาย กล่าวคือ ความปฏิบัติอันสมควรแก่พระนิพพานนั้น ดุจโลกุตตรจิตของคนอื่น ๆ พระอริยะย่อมรู้ได้ด้วย เจโตปริยญาณฉะนั้น เหตุนั้น จึงไม่ควรกล่าวว่า พระนิพพานไม่มี เพราะมิใช่สิ่งที่จะพึงได้ "อันจะว่า ปุถุชนโง่ ๆ ไม่ได้ (ประสบ) สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมไม่มี" ดังนี้ หาควรจะว่าไม่ (เพราะท่านผู้ได้ประสบมีอยู่) อนึ่ง ไม่ควรกล่าวว่าพระนิพพานไม่มี เพราะอะไร เพราะต้อง (คือเป็นผิดต่อ) ความไม่เป็นหมันแห่งความปฏิบัติ จริงอยู่เมื่อพระนิพพานไม่มี ความปฏิบัติชอบที่สงเคราะห์ในธรรมขันธ์ 3 มีสีลขันธ์เป็นต้น อันมีสัมมาทิฏฐินำหน้า ก็ต้องเป็นหมัน แต่ว่า ความปฏิบัติชอบนี้หาเป็นหมันไม่ เพราะเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพานได้แล"

หากมีคำแย้งว่า "ความต้อง (คือเป็นผิดต่อ) ความไม่เป็นหมันแห่งความปฏิบัติ ไม่มีดอก เพราะความปฏิบัตินั้น ก็เป็นเหตุให้ถึงความไม่มี (อย่างไรล่ะ)" ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า "(ความไม่มีเป็นนิพพาน) หามิได้ เพราะไม่มีการบรรลุพระนิพพาน ในเพราะความไม่มี (ขันธ์) อดีตและอนาคต (ไม่มีขันธ์ อดีต อนาคตก็บรรลุพระนิพพานได้แล)"

หากแย้งอีกว่า "(มิใช่แต่ขันธ์อดีตอนาคตเท่านั้น) แม้ความไม่มีวัตตมานขันธ์ (คือขันธ์ปัจจุบัน) ทั้งหลาย ก็เป็นนิพพานด้วย" ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า "หามิได้ เพราะพระนิพพานหาได้มีเพราะความไม่มีวัตตมานขันธ์เหล่านั้นไม่ อนึ่ง เพราะเมื่อวัตตมานขันธ์ไม่มีพระนิพพานถึงซึ่งความไม่เป็นไป (ด้วย) (มิใช่ไม่มีวัตตมานขันธ์แล้วเป็นนิพพานดอก) และเพราะโทษคือไม่มีการบรรลุสอุปาทิเสสนิพพานธาตุในขณะแห่งมรรคจิตซึ่งอาศัยวัตตมานขันธ์ด้วย (คือว่าในขณะแห่งมรรคจะบรรลุนิพพานไม่ได้)"

(หน้าที่ 115)

พวกแย้งอีกว่า "โทษไม่มี เพราะในขณะ (แห่งมรรค) นั้นกิเลสทั้งหลายก็ไม่เป็นไปอยู่(แล้ว)"ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า "หามิได้ เพราะ (หากในกิเลสแห่งมรรคกิเลสไม่เป็นไปละก็) อริยมรรคก็ต้องถึงความไม่มีประโยชน์" นะซิ จริงทีเดียว เมื่อเป็นอย่างนั้น กิเลสทั้งหลายก็ (เป็นอัน) ไม่มีมา แต่ก่อนขณะแห่งอริยมรรค เพราะฉะนั้น อริยมรรคก็ถึงความไม่มีประโยชน์

เพราะเหตุดังกล่าวมานั้น ข้อที่ว่าพระนิพพานไม่มี เพราะเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ดุจเขากระต่าย และว่าความปฏิบัติไม่เป็นหมัน เพราะความปฏิบัตินั้นเป็นเหตุให้ถึงความไม่มี และว่าโทษคือบรรลุพระนิพพานในขณะมรรคไม่ได้นั้นไม่มี เพราะในขณะแห่งมรรค กิเลสก็ไม่เป็นไปอยู่แล้ว นั้นจึงมิใช่เหตุ (คือไม่ชอบแก่เหตุ)

หากมีคำยืนยันอีกว่า ขโย ความสิ้นไปเป็นนิพพาน โดยบาลีว่า "โย โข อาวุโส ราคกฺขโย ดูกรอาวุโส ความสิ้นไปแห่งราคะใดแล"เป็นต้นดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า หามิได้ เพราะเพียงแต่ความสิ้น หมายถึงพระอรหัตก็ได้ ด้วยพระอรหัตนั้นท่านก็แสดงไว้โดยนัยว่า "โย โข อาวุโส ราคกขโย" เป็นต้น ด้วยเหมือนกัน ยังมี (ผิด) อะไร ๆ ต่อไปอีก คือ (การกล่าวเพียงแต่ว่าความสิ้นกิเลสเป็นนิพพานนั้นไม่ชอบ) เพราะโทษคือพระนิพพานกลายเป็น ธรรมชาติมีชั่วกาลอันสั้นเป็นไป จริงอยู่เมื่อเป็นอย่างนั้น พระนิพพานก็ถึงซึ่งความเป็นธรรมชาติมีชั่วกาลอันสั้น ความเป็นธรรมชาติมีลักษณะแห่งสังขตธรรม และความเป็นธรรมชาติที่พึงจะบรรลุได้โดยไม่แยแสถึงสัมมาวายามะไปเสียด้วย อนึ่ง เพราะความเป็นธรรมชาติมีลักษณะสังขตธรรมนั่นแล พระนิพพานก็ (เลย) ถึงซึ่งภาวะคือเป็นธรรมชาตินับเข้าในสังขตธรรมไป เพราะเป็นธรรมชาตินับเข้าในสังขตธรรม ก็ (เลย) ถึงภาวะคือเป็นธรรมชาติถูกไฟมีราคะเป็นต้นเผาเอาได้ เพราะเป็นธรรมชาติถูกเผา ก็ (เลย) ถึงซึ่งภาวะคือเป็นทุกข์ไปเสียด้วย

หากมีคำแย้งอีกว่า "โทษไม่มีเพราะความเป็นไป (แห่งกิเลส) ชื่อว่าไม่มีอีกต่อไป จำเดิมแต่ความสิ้น (ครั้งสุดท้าย) อันใด ความสิ้นอันนั้นเป็นนิพพาน" ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า หามิได้เพราะไม่มีความสิ้นเช่นนั้น ประการหนึ่ง เพราะแม้มีความสิ้นนั้นก็ไม่ล่วงโทษ มีประการดังกล่าวแล้ว และเพราะอริยมรรคกลายเป็นนิพพานไปด้วย จริงอยู่ อริยมรรค ย่อมยังโทษทั้งหลายให้สิ้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ขโย (ด้วย) และตั้งแต่นั้นไปความเป็นไป (แห่งโทษ)

(หน้าที่ 116)

ก็ไม่มีอีกต่อไปด้วยแล แต่ว่าเพราะพระนิพพานนั้นเป็นอุปนิสัย (คือเป็นที่อาศัยมั่น) โดยปริยายแห่งขย (คือมรรค) ที่ได้แก่อนุปปัตตินิโรธ (นิโรธคือความไม่เกิดขึ้น) พระนิพพานนั้นท่านจึงเรียกว่า ขโย (ด้วย) โดยโวหารอันเป็นอุปจาร (คือเกี่ยวข้องกับ) สิ่งซึ่งมีพระนิพพานเป็นอุปนิสัย

หากมีคำถามว่า "เพราะเหตุไรพระนิพพานนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสโดยสรุปเสียทีเดียว" ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า เพราะพระนิพพานเป็นธรรมสุขุมนัก ก็แลความที่พระนิพพานนั้นเป็นธรรมสุขุมนัก เป็นความที่สำเร็จ (คือปรากฏทั่ว) แล้ว เพราะเป็นเหตุนำมาซึ่งความเป็นผู้ขวนขวายน้อยแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า และเพราะเป็นธรรมที่ต้องเห็นด้วยอริยจักษุ เพราะเหตุนั้น พระนิพพานนี้นั้น จึงเป็นธรรมชาติไม่ทั่วไป เพราะเป็นธรรมอันบุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยมรรค (เท่านั้น) จะพึงถึงได้ เป็นธรรมชาติไม่มีแดนเกิดเพราะไม่มีเบื้องต้นเบื้องปลาย

"หากมีคำแย้งว่า พระนิพพานมิใช่ธรรมชาติไม่มีแดนเกิด เพราะมีมรรคจึงมีได้" ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า หามิได้ เพราะนิพพานมิใช่ธรรมที่มรรคจะพึงให้เกิดขึ้นได้ แท้จริงพระนิพพานนั้นเป็นธรรมชาติที่บุคคลพึงถึงด้วยมรรคเท่านั้น มิใช่มรรคจะพึงให้เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น พระนิพพานจึงชื่อว่า ไม่มีแดนเกิดแท้ เพราะไม่มีแดนเกิด จึงไม่มีชรามรณะ เพราะไม่มีแดนเกิดชรามรณะจึงเที่ยง

หากมีคำเสนออีกว่า "แม้อณูเป็นต้นก็ถึงซึ่งภาวะอันเที่ยง ดังพระนิพพานฉะนั้น" คำสนองไขพึงมีว่า อณูเป็นต้นนั้น ชื่อว่าเที่ยงหามิได้ เพราะไม่มีเหตุ (ที่จะให้เข้าถึง) หากมีคำเสนอย้ำอีกว่า เพราะพระนิพพานเที่ยง สิ่งเหล่านั้นก็เที่ยงฉะนี้ไซร้ คำสนองไขก็พึงมีว่าหามิได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่เข้าลักษณะแห่งเหตุ (มีความเป็นธรรมที่พึงมุ่งหมายปรารถนาได้เป็นต้น) หากมีคำเสนออีกว่า สิ่งเหล่านั้นจัดเป็นเที่ยง เพราะเหตุไม่มีให้เกิดขึ้นเป็นต้นเหมือนพระนิพพาน ฉะนี้ไซร้ คำสนองไขพึงมีว่า หามิได้ เพราะอณูเป็นต้นไม่สัมฤทธิผล (คือไม่อำนวยผลให้ปรากฏ)

อันพระนิพพานนี้เที่ยงแท้ เพราะมีสภาวะคือความถูกต้อง (ชอบด้วยเหตุผล) ดังกล่าว แล้วเป็นอรูป เพราะล่วงเสียสภาวะแห่งรูป (มีความเสื่อมโทรมเป็นต้น) มิใช่สิ่งไม่มีอยู่

(หน้าที่ 117)

โดยปรมัตถ์ เพราะเป็นสิ่งที่พึงบรรลุได้ด้วยญาณวิเศษที่สำเร็จด้วยความบากบั่นอันไม่ย่อหย่อน และเพราะเป็นพระดำรัสของพระสัพพัญญูเจ้าด้วย จริงอยู่พระสัพพัญญูเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า "มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติอันไม่เกิด ไม่เป็น อันเหตุอะไร ๆ มิได้ทำขึ้น อันปัจจัยอะไร ๆ มิได้แต่งขึ้น" ดังนี้

นี่เป็นคำวินิจฉัยข้อที่สำคัญในทุกขนิโรธนิทเทส

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทานิทเทส

ก็แล ธรรม (คืออริยมรรค) 8 ที่ตรัสไว้ในนิทเทสแห่งทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (นี้) เป็นอันแจ่มแจ้ง โดยใจความแล้ว แม้ในขันธนิทเทสก็จริง แต่ว่าในที่นี้ข้าพเจ้าจะกล่าว เพื่อให้ทราบความแปลกกันแห่งธรรมทั้ง 8 นั้น อันเป็นไปในขณะเดียวกัน

สัมมาทิฏฐิ

แท้จริง (ว่า) โดยสังเขป ปัญญาจักษุอันมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถอนอวิชชานุสัยขึ้นได้ แห่งพระโยคีผู้ปฏิบัติเพื่อแทงตลอดซึ่งสัจจะ 4 (นั่นแล) ชื่อสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั้น มีความเห็นชอบเป็นลักษณะ มีอันประกาศความแท้จริงเป็นกิจ มีการทำลายความมืดคืออวิชชาเสียได้เป็นผล

สัมมาสังกัปปะ

ความยกจิตขึ้นเฉพาะสู่ทางไปพระนิพพานอันสัมปยุตด้วยสัมมาทิฏฐินั้น กำจัดมิจฉาสังกัปปะออกเสียได้ แห่งพระโยคีผู้มีทิฏฐิอันถึงพร้อมแล้วอย่างนั้น ชื่อสัมมาสังกัปปะ สัมมาสังกัปปะนั้น มีความยกจิตขึ้นถูกทางเป็นลักษณะ มีอัปปนา (ความตรึกแน่วอยู่ในทาง) เป็นกิจ มีการละมิจฉาสังกัปปะได้เป็นผล

สัมมาวาจา

ความงดเว้นจากมิจฉาวาจา อันสัมปยุตด้วยสัมมาสังกัปปะนั้นแหละ ถอนวจีทุจริตขึ้นเสียได้แห่งพระโยคีผู้เห็นอยู่ (ด้วยสัมมาทิฏฐิ) และตรึกอยู่ (ด้วยสัมมาสังกัปปะ) อย่างนั้น

(หน้าที่ 118)

ชื่อสัมมาวาจา สัมมาวาจานั้นมีความกำหนดถือเอา (คือประมวลสัมปยุตธรรมไว้) เป็นลักษณะมีความละเว้นเป็นกิจ มีความละมิจฉาวาจาได้เป็นผล

สัมมากัมมันตะ

ความงดเว้นจากกายทุจริตมีปาณาติบาตเป็นต้น อันสัมปยุตด้วยสัมมาวาจานั้นแหละ ตัดมิจฉากัมมันตะได้ขาดแห่งพระโยคีผู้เว้นอยู่ (ด้วยสัมมาวาจา) อย่างนั้น ชื่อว่าสัมมากัมมันตะ สัมมากัมมันตะนั้นมีการพยุง (สัมปยุตธรรม) ไว้เป็นลักษณะ มีความละเว้นเป็นกิจ มีการละมิจฉากัมมันตะได้ผล

สัมมาอาชีวะ

ส่วนความงดเว้นจากมิจฉาอาชีวะอันสัมปยุตด้วยความงดเว้นที่เป็นความหมดจดแห่งสัมมาวาจาและสัมมากัมมันตะนั้น เข้าไปตัดเสียได้ซึ่งอเนสนามีความล่อลวงเป็นต้น แห่งพระโยคีนั้นอันใด ความงดเว้นนั้นชื่อว่าสัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะนั้น มีความสะอาด (แห่งอาชีวะ) เป็นลักษณะ มีอันยังอาชีวะที่ชอบธรรมให้เป็นไปเป็นกิจ มีการละมิจฉาอาชีวะเสียได้เป็นผล

สัมมาวายามะ

ลำดับนั้น วิริยารัมภะอันอนุรูปแก่สัมมาอาชีวะนั้น สัมปยุตด้วยสัมมาอาชีวะนั้นแหละตัดโกสัชชะเสียได้ขาดแห่งพระโยคีนั้น ผู้ตั้งมั่นอยู่แล้วในภูมิแห่งศีล กล่าวคือสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะนั้น อันใด วิริยารัมภะนั้นชื่อว่าสัมมาวายามะ สัมมาวายามะนั้น มีการประคอง (จิต) ไว้เป็นลักษณะ มีสัมมัปปธาน 4 อันยังอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้นเป็นต้นเป็นกิจ มีอันละมิจฉาวายามะเสียได้ผล

สัมมาสติ

ความไม่ลืมแห่งใจอันสัมปยุตด้วยสัมมาวายามะนั้นแหละกำจัดมิจฉาสติออกเสียได้แห่งพระโยคีนั้น ผู้เพียรพยายามอยู่อย่างนั้นชื่อว่าสัมมาสติ สัมมาสตินั้นมีการตั้ง (สติ) ไว้มั่น เป็นลักษณะ มีความไม่ลืมเป็นกิจ มีการละมิจฉาสติได้เป็นผล

(หน้าที่ 119)

สัมมาสมาธิ

เอกัคตาแห่งจิตอันสัมปยุตด้วยสัมมาสตินั้นแหละ ทำลายมิจฉาสมาธิเสียได้แห่งพระโยคีนั้นผู้มีจิตอันเป็นสติชั้นยอดเยี่ยมรักษาอยู่อย่างนั้น ชื่อสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธินั้นมีความไม่ส่ายไป (แห่งจิต) เป็นผลแล

นี่เป็นนัยในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทานิทเทส

วินิจฉัยคำว่าชาติเป็นต้น ในอริยสัจนี้ บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

โดยกิจแห่งญาณ

ข้อว่า โดยกิจแห่งญาณ ความว่า บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยโดยกิจแห่งสัจจญาณ (ความรู้อริยสัจ) ด้วย ก็สัจจญาณมี 2 คือ อนุโพธญาณ (ความรู้โดยรู้ตาม) ปฏิเวธญาณ (ความรู้โดยตรัสรู้) ในญาณ 2 อย่างนั้น อนุโพธญาณ เป็นโลกิยะ เป็นไปในนิโรธและมรรค ด้วยอำนาจการได้ฟังกันมาเป็นต้น ปฏิเวธญาณ เป็นโลกุตตระ ทำนิโรธให้เป็นอารมณ์แล้ว แทงตลอดสัจจะทั้ง 4 ได้โดยกิจ (มีกำหนดรู้สัจจะเป็นต้น) ดังพระบาลีว่า "ดูกรภิกษุท้งหลาย ผู้ใดเห็นทุกข์ ผู้นั้นย่อมเห็นทุกขสมุทัยด้วย ย่อมเห็นทุกขนิโรธด้วย ย่อมเห็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาด้วย" ดังนี้เป็นต้น คำบาลีแห่งนี้ บัณฑิตพึง (นำมา) กล่าวให้หมดเถิด อันกิจแห่งปฏิเวธญาณนั้นจักมีแจ้งใน (ตอนว่าด้วย) ญาณทัสสนวิสุทธิ ก็แลสัจจญาณที่เป็นโลกิยะนี้ใดในโลกิยญาณนั้น ทุกขญาณ (ความรู้ในทุกข์) ย่อมยังสักกายทิฏฐิอันเป็นไปด้วยอำนาจ ความครอบงำเอาไว้อย่างกลุ้มรุมให้กลับ สมุทยญาณ (ความรู้ในสมุทัย) ย่อมยังอุจเฉททิฏฐิให้กลับ นิโรธญาณ (ความรู้ในนิโรธ) ย่อมยังสัสสตทิฏฐิให้กลับ มรรคญาณ (ความรู้ในมรรค) ย่อมยังอกิริยทิฏฐิให้กลับ นัยหนึ่งทุกขญาณยังความปฏิบัติผิดในผล กล่าวคือความสำคัญว่ายั่งยืน ว่างาม ว่าเป็นสุข ว่าเป็นตัวตนในขันธ์ทั้งหลายอันปราศจากความยั่งยืน ความงาม ความเป็นสุข ความเป็นตัวตนให้กลับ สมุทยญาณยังความปฏิบัติผิดในเหตุ อันเป็นไปโดยความนับถือในสิ่งที่มิใช่เหตุว่าเป็นเหตุ เช่นว่า "โลกย่อมเป็นไปโดยท่านผู้เป็นใหญ่ (พระอิศวร) โดยสิ่งที่เป็นประธาน โดย (พระ) กาลและโดยสภาวะ (ความเป็นเอง) เป็นต้น ให้กลับ นิโรธญาณ ยังความปฏิบัติผิดในนิโรธอันได้แก่ความถือว่า ความหลุดพ้น (มี) มีอรูปโลกและในโลกถูปิกา (ภูมิ ที่ถือว่าเป็นยอดโลก) เป็นต้นให้กลับ มรรคญาณยังความ

(หน้าที่ 120)

ปฏิบัติผิดในอุบายที่เป็นไปโดยอำนาจความถือในสิ่งที่มิใช่ทางแห่งวิสุทธิ อันต่างโดยกามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค ว่าเป็นทางแห่งวิสุทธิให้กลับ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า

:นรชนยังไม่รู้แจ้งสัจจะทั้งหลายอยู่ตราบใด เขาก็

:ยังหลงงมอยู่ในเรื่องโลก ในเหตุเกิดแห่งโลก ใน

:นิพพานอันเป็นที่ดับแห่งโลก และในอุบาย (เครื่องเข้า

:ถึง) นิพพานนั้น อยู่ตราบนั้น

วินิจฉัยโดยเกิดแห่งญาณในอริยสัจนี้ บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ประการหนึ่ง

โดยประเภทแห่งธรรมที่นับเข้าในอริยสัจ

ข้อว่า "โดยประเภทแห่งธรรมทั้งหลายที่อยู่ภายใน (คือนับเข้าในอริยสัจ)" ดังนี้ ความว่า เว้นตัณหาและอนาสวธรรมทั้งหลายเสีย (โลกิยะ) ธรรมที่เหลือทั้งปวงนับเข้าในทุกขสัจ ตัณหาวิจริต 36 นับเข้าในสมุทยสัจ นิโรธไม่เจือปน (กับอะไร) โดยมุข (หัวหน้า) คือ สัมมาทิฏฐิ วิมังสิทธิบาท ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ และธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ นับเข้าใน มัคคสัจ โดยอปเทส (ข้ออ้าง) คือ สัมมาสังกัปปะ วิตก 3 มีเนกขัมมวิตกเป็นต้น นับเข้าใน มัคคสัจ โดยอปเทสคือสัมมาวาจา วจีสุจริต 4 นับเข้าในมัคคสัจ โดยอปเทสคือสัมมากัมมันตะ กายสุจริต 3 นับเข้าในมัคคสัจ โดยมุขคือสัมมาอาชีวะ อัปปิจฉตา และสันตุฏฐิตา นับเข้าในมัคคสัจ หรืออนึ่ง สัทธินทรีย์ สัทธาพละและฉันทิทธิบาทก็นับเข้าในมัคคสัจ เพราะสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวะทั้งหมดนั่นเป็นอริยกันตศีล และเพราะอริยกันตศีลเป็นธรรมที่พึงรับไว้ด้วยมือคือศรัทธา เพราะเหตุที่สัทธินทรีย์ สัทธาพละ และฉันทิทธิบาท มีศีลจึงมีวิริยินทรีย์ วิริยพละ และวิริยสัมโพชฌงค์ นับเข้าในมัคคสัจ โดยอปเทสคือสัมมาสติ สติปัฏฐาน 4 สตินทรีย์ สติพละ และสติสัมโพชฌงค์ นับเข้าในมัคคสัจ โดยอปเทสคือสัมมาสมาธิ สมาธิ 3 มีสวิตักกสวิจารสมาธิเป็นต้น จิตตสมาธิ (คิอจิตติทธิบาท) สมาธินทรีย์ สมาธิพละ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌค์ สมาธิสัมโพชฌงค์และอุเปกขาสัมโพชฌงค์นับเข้าในมัคคสัจแล

วินิจฉัยโดยประเภทแห่งธรรมทั้งที่อยู่ภายในอริยสัจนี้ บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ ประการหนึ่ง

(หน้าที่ 121)

โดยอุปมา

ข้อว่า โดยอุปมา ความว่า ก็แลทุกขสัจ พึงเห็นเหมือนของหนัก สมุทยสัจเหมือนการถือของหนัก นิโรธสัจเหมือนการวางของหนัก มัคคสัจเหมือนอุบาย (คือวิธี) วางของหนัก อนึ่ง ทุกขสัจเหมือนโรค สมุทยสัจเหมือนเหตุของโรค นิโรธสัจเหมือนความหายโรค มัคคสัจเหมือนยา หรือว่าทุกขสัจเหมือนขาดแคลนอาหาร สมุทยสัจเหมือนฝนไม่ดี นิโรธสัจเหมือนมีอาหารสมบูรณ์ มัคคสัจเหมือนฝนดี

สัจจะ 4 นี้ บัณฑิตพึงทราบโดยประกอบ (ความ) อุปมาด้วยคนมีเวร มูลแห่งเวรภัย ความถอนเวรและอุบายถอนเวร ด้วยต้นไม้มีพิษ รากของต้นไม้ และอุบายตัดรากนั้นด้วยภัย มูลแห่งภัย ความปราศจากภัย และอุบายบรรลุความปราศจากภัยนั้นด้วยฝั่งในห้วงน้ำใหญ่ ฝั่งนอก และความพยามที่ให้ (ข้ามห้วงน้ำไป) ถึงฝั่งนอกนั้นบ้างก็ได้

วินิจฉัยโดยอุปมาในอริยสัจนี้ บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

โดยจตุกกะ – เป็นและไม่เป็นอริยสัจ 4

ข้อว่า โดยจตุกกะ ความว่า ก็ในอริยสัจ 4 นี้ สิ่งที่เป็นทุกข์ (แต่) ไม่เป็นอริยสัจก็มี สิ่งที่เป็นอริยสัจก็มี สิ่งที่เป็นอริยสัจ (แต่) ไม่เป็นทุกข์ก็มี สิ่งที่เป็นทั้งทุกข์ทั้งอริยสัจก็มีสิ่งที่ไม่เป็นทุกข์ ไม่เป็นอริยสัจก็มี ในอริยสัจที่เหลือมีสมุทัยเป็นต้นก็นัยนี้

ในจตุกกะนั้น ธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับมรรคและสามัญผลทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นสังขารทุกข์ ตามพระบาลีว่า "สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์" แต่ไม่เป็นอริยสัจ นิโรธเป็นอริยสัจ แต่ไม่เป็นทุกข์ ส่วนอริยสัจ 2 นอกนี้ (คือสมุทัยและมรรค) พึงเป็นทุกข์ก็ได้เพราะไม่เที่ยง แต่ว่าพระโยคาวจรอยู่ (ประพฤติ) พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ใด มิใช่เป็นทุกข์โดยความเป็นทุกข์อย่างนั้น (คือว่าเป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง มิใช่เป็นทุกข์โดยเป็นปริญเญยยธรรม) ส่วนอุปทานขันธ์ 5 เว้นแต่ตัณหาเป็นทั้งทุกข์ทั้งอริยสัจโดยอาการทั้งปวง ธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับมรรคและสามัญผลทั้งหลาย ไม่เป็นทุกข์โดยความเป็นทุกข์สำหรับกำหนดรู้แห่งพระโยคาวจรผู้อยู่ (ประพฤติ) พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า

(หน้าที่ 122)

(คือไม่เป็นทุกข์โดยเป็นปริญเญยยธรรม แต่เป็นทุกข์โดยเป็นสังขารทุกข์ ดังกล่าวในบทแรก) (ทั้ง) ไม่เป็นอริยสัจ

วินิจฉัยในอริยสัจนี้โดยจตุกกะ โดยประกอบความเข้าตามควรในอริยสัจอื่นมีสมุทัยเป็นต้นด้วย บัณฑิตพึงทราบโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ประการหนึ่ง

โดยว่างเปล่า

ในสองข้อว่า "โดยว่างเปล่าและโดยอย่างต่าง ๆ มีอย่างเดียวเป็นต้น" นี้ พึงทราบวินิจฉัยโดยว่างเปล่าก่อน เพราะ (เมื่อว่า) โดยปรมัตถ์ สัจจะทั้งสิ้น บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นของว่างเปล่า เพราะไม่มีผู้รู้ ผู้ทำ (คือผู้สร้าง) ผู้ดับ และผู้เดิน เหตุนั้นนักปราชญ์ จึงกล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า

:"อันทุกข์มีอยู่แท้ แต่ใคร ๆ ผู้รับทุกข์ไม่มี ผู้ทำ

:ไม่มี แต่การกระทำมีอยู่แท้ ความดับมีอยู่ แต่คนผู้ดับ

:ไม่มี ทางมีอยู่ แต่ผู้เดินไม่มี"

อีกนัยหนึ่ง ความว่างในสัจจะ 4 นั้น พึงทราบดังนี้

คือสัจจะสองข้างต้น ว่างจากความยั่งยืน ความงาม

ความสุข และความเป็นตัวตน อมตบท (คือ นิโรธ) ว่าง

จากความเป็นตัวตน มรรคเว้นจากความยั่งยืน ความสุข

และความเป็นตัวตน

หรือว่าสัจจะ 3 ว่างจากนิโรธ และนิโรธก็ว่างจากสัจจะ 3 ที่เหลือ หรือว่าในสัจจะ 4 นี้ สัจจะ ที่เป็นเหตุ ว่างจากสัจจะที่เป็นผล เพราะไม่มีทุกข์ในสมุทัย และไม่มีนิโรธในมรรค (เหตุ) หาร่วมครรภ์กับผล ดังเช่นปกติ (หรือประพฤติ) ของพวกปกติวาทีไม่ และผลเล่าก็ว่างจากเหตุ เพราะทุกข์กับสมุทัยและนิโรธกับมรรคร่วมกลุ่มกันไม่ได้ (ผล) หาร่วมอยู่ในเหตุ เป็นเหตุผล ผลร่วมเหตุ ดังเช่น ทวิอณุกผล (ผลเกิดแต่อนู 2) เป็นต้นของพวกสมวายวาทีไม่ เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์ไว้ว่า

(หน้าที่ 123)

ในสัจจะ 4 นี้ สัจจะ 3 ว่างจากนิโรธ นิพพุติ (คือ

นิโรธ) เล่า ก็ว่างจากสัจจะ 3 นั้น สัจจะที่เป็นเหตุว่าง

จากสัจจะที่เป็นผล สัจจะที่เป็นผลนั้นเล่าก็ว่างจากสัจจะ

ที่เป็นเหตุ

พึงทราบวินิจฉัยโดยว่างเปล่าดังกล่าวมาฉะนี้ก่อน

โดยอย่างต่าง ๆ มีอย่างเดียวเป็นต้น

ข้อว่า โดยอย่างต่าง ๆ มีอย่างเดียวเป็นต้น ความว่า ก็แลในสัจจะ 4 นี้ ทุกข์ทั้งหมดเป็นอย่างเดียว โดยเป็นปวัตติ (ความหมุนไปแห่งสงสาร) เป็น 2 โดยเป็นนามและรูป เป็น 3 โดยต่างแห่งอุปปัติภพ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เป็น 4 โดยแยกตามอาหาร 4 (ที่เป็นปัจจัย) เป็น 5 โดยแยกเป็นอุปาทานขันธ์ 5

แม้สมุทัย ก็เป็นอย่างเดียวกัน โดยเป็นปวัตตกะ (ผู้ยังสงสารให้หมุนไป) เป็น 2 โดยเป็นสัมปยุตกับทิฎฐิและไม่สัมปยุตกับทิฎฐิ เป็น 3 โดยต่างแห่งกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็น 4 โดยเป็นโทษที่พึงละด้วยมรรค 4 เป็น 5 โดยแยกเป็นความมุ่งยินดีในอารมณ์ 5 มีมุ่งยินดีในรูปเป็นต้น เป็น 6 โดยแยกเป็นกองตัณหา 6

ส่วนนิโรธเป็นอย่างเดียว โดยเป็นอสังขตธาตุ แต่โดยปริยายเป็น 2 โดยเป็นสอุปาทิเสสและอนุปาทิเสส เป็น 3 โดยเป็นความสูญไปแห่งภพ 3 เป็น 4 โดยเป็นธรรมที่พึงบรรลุด้วยมรรค 4 เป็น 5 โดยเป็นความหายไปแห่งความมุ่งยินดี 5 เป็น 6 โดยเป็นความทำลายไปแห่งกองตัณหา 6

ส่วนมรรคเป็นอย่างเดียวโดยเป็นภาเวตัพพธรรม เป็น 2 โดยแยกเป็นสมถะและวิปัสสนา หรือโดยแยกเป็นทัสสนะ (คือโสดาปัตติมรรค) และภาวนา (คือสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค) เป็น 3 โดยต่างแห่ง (ธรรม) ขันธ์ 3 แท้จริง มรรคนี้เพราะเหตุที่มีองค์เป็นส่วนย่อย ท่านจึงสงเคราะห์ (คือรวมเข้า) ด้วย (ธรรม) ขันธ์ 3 ซึ่งเป็นส่วนรวม เหมือนเมืองรวมเข้าด้วยแคว้นฉะนี้ ดังพระธรรมทินนาเถรีกล่าว (แก้ปัญหาของวิสาขอุบาสก) ว่า "ดูกรอาวุโส วิสาขะ ขันธ์ 3 ท่านมิได้สงเคราะห์เข้าด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 ดอก แต่ว่าอริยมรรคมีองค์ 8 ต่างหากท่านสงเคราะห์เข้าด้วยขันธ์ 3 ดูกรอาวุโส วิสาขะ สัมมาวาจาใดด้วย สัมมากัมมันตะใดด้วย สัมมาอาชีวะใดด้วย ธรรม

(หน้าที่ 124)

3 ประการนี้ ท่านสงเคราะห์ด้วยศีลขันธ์ สัมมาวายามะใดด้วย สัมมาสติใดด้วย สัมมาสมาธิใดด้วย ธรรม 3 นี้ ท่านสงเคราะห์ด้วยสมาธิขันธ์ สัมมาทิฏฐิใดด้วย สัมมาสังกัปปะใดด้วย ธรรม (2) นี้ ท่านสงเคราะห์ด้วยปัญญาขันธ์ ดังนี้

เพราะในอริยมรรคนี้ ธรรม 3 ประการ มีสัมมาวาจาเป็นต้น เป็นศีลแท้ เพราะเหตุนั้น ธรรม 3 ประการนั้น ท่านจึงสงเคราะห์เข้าด้วยศีลขันธ์โดยความมีชาติเสมอกัน

ก็แลในบาลี ท่านทำนิทเทสไว้โดยภุมมวจนะว่า "สีลกฺขนฺเธ" ก็จริง แต่ก็พึงทราบเนื้อความโดยเป็นกรณวจนะ (คือเป็นสีลกฺขนฺเธน) เถิด

ส่วนในธรรม 3 ประการ มีสัมมายาวามะเป็นต้น สมาธิมิอาจแนบแน่นโดยความเป็นหนึ่ง ในอารมณ์โดยธรรมดาของตนได้ ต่อเมื่อวิริยะทำกิจคือประคอง (จิต) ไว้ให้สำเร็จ และสติทำกิจคือไม่ฟั่นเฟือนไปให้สำเร็จอยู่ (สมาธิ) เป็นธรรมได้รับอุปการะ (ดังนั้น) แล้ว จึงอาจ (แนบแน่นได้)

(ต่อไป) นี้เป็นอุปมาในธรรม 3 ประการนั้น เหมือนอย่างว่าในสหาย 3 คน ผู้เข้าไปสู่อุทยานด้วยประสงค์ว่า จักเล่นนักขัตฤกษ์ ต่างว่าสหายผู้หนึ่งเห็นต้นจำปามีดอกบานงาม ก็เอื้อมมือขึ้นไป แต่เก็บไม่ถึง คนที่สองจึงก้มตัวลงให้หลังแก่สหายผู้นั้น สหายผู้นั้นแม้ยืนอยู่บนหลังสหายผู้หนึ่ง เหยียบยันไหล่สหายผู้หนึ่ง จึงเลือกเก็บดอกไม้ตามชอบใจมาประดับกายเล่นนักขัตฤกษ์ได้ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็พึงเห็นฉันนั้น อันธรรม 3 ประการ มีสัมมาวายามะเป็นต้น เป็นธรรมเกิดร่วมกัน เปรียบเหมือนสหาย 3 คน ผู้เข้าสู่อุทยานด้วยกัน อารมณ์ (ของสมาธิ) เหมือนต้นจำปามีดอกบานงาม สมาธิที่ไม่อาจแนบแน่น โดยความเป็นหนึ่งแน่ในอารมณ์ โดยธรรมดาของตนได้เหมือนสหายผู้แม้เอื้อมมือขึ้นไปแล้วแต่เก็บไม่ถึง วายามะเหมือนสหายผู้ก้มหลังให้ สติเหมือนสหายผู้ยืนเอียงไหล่ให้ เมื่อวิริยะยังกิจคือการประคอง (จิต) ให้สำเร็จ และเมื่อสติยังกิจคือไม่ฟั่นเฟือนไปให้สำเร็จอยู่ สมาธิเป็นธรรมได้รับอุปการะ (ดังนั้น) แล้ว จึงอาจแนบแน่นโดยความเป็นหนึ่งแน่ในอารมณ์ได้ เปรียบเหมือนในสหาย 3 คนนั้น อีกผู้หนึ่งยืนหลัง อีกคนหนึ่งเหยียบยันไหล่ของคนหนึ่ง จึงสามารถเก็บดอกไม้ได้ตามชอบใจฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ในธรรม 3 ประการนั้น สมาธิอย่างเดียวท่านสงเคราะห์เข้าด้วยสมาธิขันธ์โดยความมีชาติเสมอกัน ส่วนวายามะและสติเป็นธรรมที่ท่านสงเคราะห์เข้าโดยกิริยา (คือเป็นธรรมอุดหนุนสมาธิ)

(หน้าที่ 125)

แม้ในสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะเล่า ปัญญาก็มิอาจตัดสินอารมณ์ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาโดยธรรมดาของตนได้ ต่อเมื่อวิตกแคะ ๆ ให้จึงอาจตัดสินได้ ข้อนี้อย่างไร ? เหมือนอย่างว่าเหรัญญิกวางเหรียญกษาปณ์ลงที่ (ฝ่า) มือแล้ว แม้เป็นผู้ใคร่จะตรวจดูในทุกส่วน (ของเหรียญ) ก็มิอาจใช้เปลือกตาพลิก (ดู) ได้เลย ต่อใช้ข้อนิ้วมือ (จับ) พลิกไปมา จึงอาจดูส่วนนั้นส่วนนี้ได้ ฉันใด ปัญญาก็ฉันนั้นเหมือนกัน มิอาจตัดสินอารมณ์โดยว่าไม่เที่ยงเป็นต้นโดยธรรมดาของตนได้ ต่อวิตกซึ่งมีการปัก (จิต) ลงไปเฉพาะ (ในอารมณ์) เป็นลักษณะ มีการกระทบ (อารมณ์) เป็นรสดังว่าแคะเอามาให้ และดังว่าพลิกเอามาให้นั่นแหละ จึงอาจตัดสินได้เพราะเหตุนั้น แม้ในองค์มรรคทั้ง 2 นี้ ก็สัมมาทิฏฐิเท่านั้น ท่านสงเคราะห์เข้าด้วยปัญญาขันธ์โดยมีชาติเสมอกัน ส่วนสัมมาสังกัปปะ เป็นธรรมที่ท่านสงเคราะห์เข้าโดยเป็นกิริยา (คือเป็นองค์อุดหนุน)

มรรคถึงความสงเคราะห์เข้าด้วย (ธรรม) ขันธ์ 3 นี้ ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงว่า "มรรคเป็น 3 โดยต่างแห่ง (ธรรม) ขันธ์ 3"

มรรคนั้นเป็น 4 ด้วยอำนาจแห่งมรรค 4 มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น

อีกนัยหนึ่ง สัจจะทุกข้อจัดว่าเป็นอย่างเดียว เพราะเป็นธรรมไม่กลายเป็นไม่จริง หรือ เพราะเป็นอภิญเญยยธรรม เป็น 2 โดยโลกิยะและโลกุตตระ หรือโดยเป็นสังขตะและอสังขตะ เป็น 3 โดยเป็นธรรมที่ต้องละด้วยทัสสนะและภาวนา และโดยเป็นธรรมที่ไม่ต้องละ เป็น 4 โดยต่างแห่งกิจมีเป็นธรรมที่พึงกำหนดรู้เป็นต้นแล

วินิจฉัยโดยอย่างต่าง ๆ มีอย่างเดียวเป็นต้นในอริยสัจนี้ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

โดยมีส่วนเสมอกันและไม่เสมอกัน

ข้อว่า "โดย (สภาคและวิสภาค) มีส่วนเสมอกันและไม่เสมอกัน" ความว่า สัจจะทุกข้อมีส่วนเสมอกันและกัน โดยเป็นธรรมไม่กลายเป็นไม่จริง 1 โดยเป็นธรรมว่าเปล่าจากอัตตา 1 และโดยการแทงตลอดที่ทำได้ยาก ดังพระผู้มีพระภาคตรัส (ถามพระอานนท์) ว่า "ดูกรอานนท์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่บุคคลจะพึงใช้ปลายขนสัตว์ผ่าเป็น 7 ยิงไปให้ถูกปลายขนสัตว์ (ที่เป็นเป้า) ข้อไหนทำได้ยากกว่า สำเร็จได้ยากกว่า" พระอานนท์กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่บุคคลพึงจะใช้ปลายขนสัตว์ผ่าเป็น 7 ยิงไปให้ถูกปลายขนสัตว์

(หน้าที่ 126)

(ที่เป็นเป้า) นั่นแหละ ทำได้ยากกว่าสำเร็จได้ยากกว่า" ตรัสว่า "ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ที่แทงทะลุตามเป็นจริงว่านี่ทุกข์ ฯลฯ นี่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ยังแทงให้ทะลุได้ยากยิ่งกว่ายิงขนสัตว์ด้วยขนสัตว์นั้นไปอีกนะ" ดังนี้ (แต่) สัจจะทุกข้อนั้นมีส่วนไม่เสมอกัน โดยกำหนดต่างกันไปตามลักษณะของตน ๆ อนึ่งสัจจะ 2 ข้างต้นจัดว่ามีส่วนเสมอกัน เหตุเป็นสภาพลึก เพราะอรรถว่ายากที่จะหยั่ง เหตุเป็นโลกียธรรมและเป็นสาสวธรรมด้วยกัน (แต่) มีส่วนไม่เสมอกัน โดยแยกกันเป็นผล (ฝ่ายหนึ่ง) และโดย (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นปริญเญยยธรรม (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นปหาตัพพธรรม สัจจะ 2 ข้างปลายเล่า นับว่ามีส่วนเสมอกัน เหตุเป็นธรรมหยั่งได้ยาก เพราะเป็นธรรมลึก เหตุเป็นโลกุตตรธรรมและเป็นอนาสวธรรมด้วยกัน (แต่) มีส่วนไม่เสมอกัน โดยแยกกันเป็นวิสยะ (คือแดนดับทุกข์ฝ่ายหนึ่ง) และเป็นวิสยี (คือทางไปสู่แดนนั้น ฝ่ายหนึ่ง) และโดย (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นสัจฉิกาตัพพธรรม (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นภาเวตัพพธรรม อนึ่งเล่าสัจจะที่ 1 กับที่ 3 มีส่วนเสมอกันโดยเป็นข้อนี้ว่า เป็นผลด้วยกัน (แต่) มีส่วนไม่เสมอกันโดย (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นสังขตธรรม และ (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นอสังขตธรรม ข้างฝ่ายสัจจะที่ 2 กับที่ 4 มีส่วนเสมอกัน โดยเป็นข้อที่ถูกชี้ว่าเป็นเหตุด้วยกัน (แต่) มีส่วนไม่เสมอกัน โดย (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นกุศลส่วนเดียว และ (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นอกุศลส่วนเดียว ฝ่ายข้างสัจจะที่ 1 กับที่ 4 มีส่วนเสมอกัน โดยเป็นสังขตธรรมด้วยกัน (แต่) มีส่วนไม่เสมอกัน โดย (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นโลกียธรรมและ (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นโลกุตตรธรรม แม้สัจจะที่ 2 กับที่ 3 เล่า ก็มีส่วนเสมอกัน โดยเป็นเนวเสกขธรรม (ธรรมของเสกขะก็มิใช่ของพระอเสกขะก็มิใช่) ด้วยกัน (แต่) มีส่วนไม่เสมอกัน โดย (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นสารัมมณธรรม (ธรรมมีอารมณ์) และ (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นอนารัมมณธรรม (ธรรมไม่มีอารมณ์)

ผู้มีสติปัญญาพึงทราบความที่อริยสัจมีส่วนเสมอกัน

และไม่เหมือนกัน โดยประการและโดยนัยดังกล่าวมา

ฉะนี้แล

ปริเฉทที่ 16 ชื่ออินทรียสัจจนิทเทส

ในอธิการแห่งปัญญาภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน ดังนี้

ดูเพิ่ม