อยู่ในระหว่างปรับสำนวน
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)
พรหมวิหารนิทเทส ปริจเฉทที่ 9
(หน้าที่ 80)
วิธีภาวนาพรหมวิหาร 4
1. เมตตาภาวนา
ในพรหมวิหาร 4 อย่าง คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขานั้น เมื่อโยคีบุคคลผู้แรกเริ่มทำกรรมฐาน ประสงค์จะเจริญเมตตาพรหมวิหารข้อแรกให้บังเกิดมีขึ้นในจิตสันดานของตน เบื้องต้นต้องตัดปลิโพธ คือความกังวล 10 ประการ ให้สิ้นห่วงเสียก่อน ครั้นแล้วจึงไปเรียนเอาวิธีเจริญเมตตากัมมัฏฐานในสำนักของอาจารย์ให้เป็นที่เข้าใจพอที่จะนำไปปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ครั้นแล้วเมื่อจะเริ่มปฏิบัติ พึงบริโภคอาหารให้อิ่มหนำสำราญพอแก่ความต้องการ และบรรเทาความง่วงอันเกิดแก่การบริโภคนั้นให้สร่างหายก่อน ลำดับนั้นพึงไปนั่งขัดสมาธิอย่างสบาย ณ อาสนะซึ่งได้ตระเตรียมไว้ล่วงหน้าตรงที่อันสงัดปราศจากเสียงรบกวนและไม่มีคนพลุกพล่านไปมา โดยเอกเทศแห่งใดแห่งหนึ่ง เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว ประการแรกจงพิจารณาให้เห็นโทษของความโกรธ และอานิสงส์ของขันติอย่างเด่นชัดเสียก่อน
ถาม – เพราะเหตุไร จึงต้องพิจารณาให้เห็นโทษของความโกรธ และอานิสงส์ของขันติก่อน ?
ตอบ – เพราะการเจริญเมตตาพรหมวิหารนี้ ความประสงค์ก็เพื่อจะสลัดทิ้งเสีย ซึ่งความโกรธและให้บรรลุถึงซึ่งขันติคุณ เป็นจุดหมายสำคัญ ประกอบด้วยมีกฎความจริงอยู่ว่า ใคร ๆ ก็ตาม ย่อมไม่อาจสละทิ้งซึ่งโทษที่ตนไม่ได้เห็น และไม่อาจที่จะบรรลุถึงซึ่งอานิสงส์ที่ตนมิได้รู้มาก่อน
(หน้าที่ 81)
พิจารณาโทษความโกรธและอานิสงส์ขันติ
เพราะฉะนั้น ก่อนแต่จะลงมือเจริญเมตตากัมมัฏฐาน โยคีบุคคลจึงต้องพิจารณาให้เห็นโทษของความโกรธเสียก่อน ทั้งนี้โดยอาศัยนัยที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้เป็นหลักอาทิเช่น
"ดูก่อนอาวุโส คนที่โกรธขึ้นมาแล้ว ถูกความโกรธครอบงำแล้ว มีจิตอันความโกรธยึดครองไว้แล้ว ย่อมอาจล้างผลาญชีวิตของกันและกันได้ทีเดียว"
และต้องพิจารณาให้รู้อานิสงส์ของขันติ ทั้งนี้โดยอาศัยนัยที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้เป็นหลัก อาทิเช่น
"ขันติ คือ ความยับยั้งใจไว้ได้ เป็นธรรมเครื่องเผาบาปให้เหือดแห้งชั้นเยี่ยม เรายกย่องบุคคลผู้มีขันติเป็นกำลัง มีขันติเป็นกองทัพ ว่าเป็นพราหมณ์ คุณธรรมที่จะเป็นเครื่องป้องกันความฉิบหาย และนำไปซึ่งประโยชน์อันยิ่งใหญ่มาให้แก่ตนและคนอื่น ที่จะประเสริฐวิเศษยิ่งไปกว่าขันตินั้นย่อมไม่มี"
ต้องรู้คนที่เป็นโทษแก่เมตตาภาวนาก่อน
เมื่อได้เห็นโทษของความโกรธ และรู้อานิสงส์ของขันติแล้วดังนั้น คราวนี้ก็ถึงวาระของโยคีบุคคลจะพึงเริ่มเจริญเมตตากัมมัฏฐาน เพื่อประโยชน์ที่จะข่มจิตให้พ้นจากความโกรธซึ่งมีโทษตามที่ได้พิจารณาเห็นมาแล้ว และเพื่อประโยชน์ที่จะประกอบตนไว้ในขันติคุณ ซึ่งมีอานิสงส์ตามที่ตนได้รู้ประจักษ์มาแล้วต่อไป แต่ก่อนที่จะเริ่มปฏิบัตินั้น จำต้องรู้คนที่เป็นโทษแก่เมตตาภาวนาอีกก่อน ว่าบุคคลจำพวกนี้จะเจริญเมตตาไปถึงในอันดับแรกไม่ได้ บุคคลจำพวกนี้จะเจริญเมตตาไปถึงไม่ได้เลยตลอดกาล ดังต่อไปนี้
(หน้าที่ 82)
ห้ามเจริญในคน 4 จำพวกเป็นอันดับแรก
มีมาตรฐานอยู่ว่า เมตตาภาวนานี้ห้ามมิให้โยคีบุคคลเจริญไปในบุคคล 4 จำพวกนี้เป็นอันดับแรก คือ คนที่เกลียดชัง 1 เพื่อนที่รักมาก 1 คนที่เป็นกลาง ๆ 1 คนที่เป็นคู่เวรกัน 1 ส่วนคนต่างเพศกัน ห้ามมิให้เจริญเมตตาไปโดยจำเพาะเจาะจง และคนที่ตายแล้ว ห้ามมิให้เจริญเมตตาไปถึงเลยตลอดกาล
ถาม – เพราะเหตุไร บุคคล 4 จำพวก มีคนเกลียดชังกันเป็นต้น จึงห้ามมิให้เจริญเมตตาไปถึงเป็นอันดับแรก ?
ตอบ – เพราะเมื่อโยคีบุคคลเจริญเมตตาโดยเพ่งเอาคนที่เกลียดชังมาตั้งไว้ในฐานะเป็นคนที่รักกันนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ลำบากใจมาก เมื่อจะเพ่งเอาเพื่อนที่รักมากมาตั้งไว้ในฐานะเป็นคนกลาง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยากเช่นเดียวกัน แม้เพียงแต่เขาได้ประสบทุกข์นิดหน่อยก็เป็นเหตุให้โยคีบุคคลถึงกับเสียใจ ร้องไห้ได้เสียแล้ว, เมื่อจะเพ่งเอาคนที่เป็นกลาง ๆ มาตั้งไว้ในฐานะเป็นที่รักเล่า ก็ย่อมจะเป็นการยากแก่ใจทำนองเดียวกัน และเมื่อระลึกถึงคนที่เป็นคู่เวรกัน ความโกรธแค้นก็จะเกิดขึ้นมา เมตตาภาวนาย่อมบังเกิดขึ้นไม่ได้
ด้วยประการฉะนี้ จึงห้ามมิให้เจริญเมตตาไปในคนที่เกลียดชังเป็นต้นเป็นอันดับแรก
ห้ามเจริญเจาะจงในคนต่างเพศ
ในกรณีที่คนต่างเพศกันนั้น เมื่อโยคีบุคคลเจริญเมตตาไปโดยเจาะจงคือเพ่งเอาคนต่างเพศนั้นมาเป็นอารมณ์โดยเฉพาะ ราคะคือความกำหนัดยินดีในเพศก็จะเกิดขึ้นมาแทน เมตตาภาวนาไม่อาจที่จะเกิดขึ้นได้ เคยมีตัวอย่างมาว่า บุตรอำมาตย์คนหนึ่งเรียนถามพระเถระที่ตนอุปัฏฐากว่า "พระผู้เป็นเจ้าขอรับ เมตตาภาวนานี้จะต้องเจริญให้บังเกิดแก่ใครจึงจะดี" พระเถระให้คำตอบว่า "ต้องเจริญให้บังเกิดในคนที่รักจึงจะดี คุณโยม" ก็ภริยาของเขาเองเป็นที่รักของบุตรอำมาตย์นั้น เขาจึงได้เจริญเมตตาภาวนาไปในภิริยาของเขานั่นเอง ผลจึงปรากฏว่าเขาได้ทำการรบกับฝาเรือนตลอดคืนยันรุ่งทีเดียว
ด้วยประการฉะนี้ จึงห้ามมิให้เจริญเมตตาโดยเจาะจงในคนต่างเพศ
(หน้าที่ 83)
ห้ามเจริญในคนตายแล้วตลอดกาล
ในกรณีที่คนตายแล้ว เมื่อโยคีบุคคลเจริญเมตตาไปถึงคนที่ตายแล้ว เขาย่อมไม่บรรลุถึงซึ่งอัปปนาสมาธิ หรือแม้เพียงอุปจารสมาธิได้เลย เคยมีตัวอย่างว่า ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งได้เจริญเมตตาภาวนา โดยเพ่งเอาพระอาจารย์มาเป็นอารมณ์ แม้เธอจะได้เพียรเจริญสักเท่าไร เมตตาฌานก็มิได้บังเกิดขึ้นแก่เธอ ทั้ง ๆ ที่เคยทำได้อย่างชำนิชำนาญมาก่อนแล้ว เธอจึงได้ไปเรียนถามพระมหาเถระว่า "ใต้เท้าขอรับ กระผมเคยเจริญเมตตาฌานได้อย่างชำนิชำนาญแล้ว แต่บัดนี้กระผมไม่สามารถจะเข้าสู่เมตตาสมาบัตินั้นได้ จะเป็นด้วยเหตุอะไรหรือขอรับผม" พระมหาเถระแนะนำว่า "อาวุโส เธอลองตรวจดูอารมณ์กรรมฐานที่เธอเจริญเมตตาไปถึงนั้นว่า จะยังมีชีวิตอยู่หรือหาไม่แล้ว" เมื่อภิกษุนั้นตรวจดูอารมณ์กรรมฐาน ก็ได้ทราบว่าพระอาจารย์ได้ถึงแก่มรณภาพไปเสียแล้ว จึงได้เปลี่ยนอารมณ์กรรมฐานใหม่ เมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนา โดยเพ่งเอาคนอื่นมาเป็นอารมณ์จึงได้สำเร็จเมตตาสมาบัติสมดังประสงค์
ด้วยประการฉะนี้ จึงห้ามมิให้เจริญเมตตาไปในคนที่ตายแล้วตลอดกาล
โยคีบุคคลพึงเจริญเมตตาภาวนาไปในตนของตน เป็นอันดับแรกก่อนกว่าบุคคลทั้งปวง โดยภาวนาแต่ในใจซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งนี้จนกว่าเมตตาจิตในตนจะปรากฏอย่างเด่นชัดด้วยคำภาวนาว่า
อหํ สุขิโต โหมิ, นิทฺทุกฺโข โหมิ.
ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุขเถิด, จงอย่าได้มีความทุกข์เลย หรืออีกแบบหนึ่งว่า
อเวโร โหมิ, อพฺยาปชฺโฌ โหมิ, อนีโฆ โหมิ, สุขี อตฺตานํ ปริหรามิ.
ขอให้ข้าพเจ้าจงอย่ามีเวรกับใคร ๆ เลย, ขอให้ข้าพเจ้าจงอย่าได้เบียดเบียนใคร ๆ เลย, ขอข้าพเจ้าอย่าได้มีความทุกข์เลย, ขอข้าพเจ้าจงมีความสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
(หน้าที่ 84)
มติขัดแย้ง
หากมีมติขัดแย้งว่า ถ้าถือหลักที่ว่า ต้องเจริญเมตตาในตนเป็นอันดับแรกเช่นนี้แล้ว คำพระบาลีในคัมภีร์ต่าง ๆ ดังจะยกมากล่าวต่อไป จะมิเป็นการคลาดเคลื่อนไปหรือเพราะในพระบาลีนั้น ๆ ท่านมิได้กล่าวถึงการเจริญเมตตาในตนเองเลย เช่น
ในคัมภีร์วิภังค์ปกรณ์แห่งอภิธรรมปิฏกว่า
ภิกษุผู้มีจิตประกอบด้วยเมตตาแผ่ไมตรีจิตไปทางทิศหนึ่งอยู่นั้น หมายความว่ากระไร? หมายความว่า ภิกษุผู้มีจิตประกอบด้วยเมตตานั้น แผ่ไมตรีจิตไปยังสัตว์ทั้งหลายทุกจำพวก เหมือนกับที่ได้เห็นคนอื่นคนหนึ่งซึ่งรักใคร่ชอบพอกันแล้ว ก็เกิดเมตตารักใคร่กันขึ้นฉะนั้น
ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค แห่งสุตตันตปิฏกว่า –
"เมตตาเจโตวิมุติ" ที่แผ่ไปโดยไม่เจาะจงบุคคลโดยอาการ 5 อย่างนั้น มีบทภาวนาว่าอย่างไร ?
ภาวนาว่าอย่างนี้ คือ อาการที่หนึ่ง ภาวนาว่า "ขอสัตว์ทั้งปวงอย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย, จงอย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย, จงอย่าได้มีความทุกข์เลย ขอจงมีความสุขประคองตนไปให้รอดเถิด" อาการที่สอง ภาวนาว่า "ขอปาณะทั้งปวงจงอย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย" อาการที่สาม ภาวนาว่า "ขอภูตทั้งปวง ขออย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย….." อาการที่สี่ ภาวนาว่า "ขอบุคคลทั้งปวงจงอย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย….." อาการที่ห้า ภาวนาว่า "ขอผู้มีอัตภาพทั้งปวง จงอย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย…..ของจงมีความสุขประคองตนไปให้รอดเถิด"
และในกรณียเมตตสูตรแห่งคัมภีร์ขุททกปาฐะว่า
กุลบุตรพึงแผ่เมตตาจิตไปในสัตว์ทั้งปวงว่า ขอสัตว์ทั้งหลาย ทั้งปวง จงมีความสุข จงมีความเกษมสำราญ จงมีตนเป็นสุขเถิด ฉะนี้
(หน้าที่ 85)
คำแถลงแก้มติขัดแย้ง
วิสัชชนาว่า - คำพระบาลีในคัมภีร์ต่าง ๆ ดังที่ยกมานั้น มิได้คลาดเคลื่อนเลยแม้แต่น้อย เพราะเหตุไร ? เพราะว่าที่ในคัมภีร์ต่าง ๆ ซึ่งท่านแสดงแต่การแผ่เมตตาไปในบุคคลอื่น ๆ ทั้งนั้น มิได้แสดงการแผ่ในตนเองเลยนั้น ท่านมุ่งแสดงถึงวิธีเจริญเมตตาภาวนาที่จะให้สำเร็จผลถึงขั้นอัปปนาสมาธิแต่ประการเดียว ส่วนที่ว่าต้องเจริญเมตตาในตนเป็นอันดับแรก ในที่นี้นั้นหมายเอาวิธีเจริญเมตตาภาวนาครั้งแรก ซึ่งจำต้องยกเอาตนขึ้นมาเป็นสักขีพยานก่อนว่า สัตว์ทั้งหลายทุกชนิดย่อมปรากฏความสุขให้แก่ตนของเขาเหมือนกับเรานี้เทียว ฉะนั้น เราจึงต้องช่วยบรรเทาทุกข์ช่วยบำรุงสุขให้แก่สัตว์อื่นเหมือนทำให้แก่ตนเองทุกประการ
จริงอย่างนั้นเทียว ถ้าแม้นว่าโยคีบุคคลจะเจริญเมตตาในตนโดยภาวนาวิธีเป็นต้นว่า "อหํ สุขิโต โหมิ ขอข้าพเจ้าจงมีความสุขเถิด" อยู่อย่างนั้นตั้งร้อยปีพันปีก็ตาม อัปปนาสมาธิหรือฌานสมาบัติจะไม่บังเกิดขึ้นแก่เขาเลย แต่อย่างไรก็ดี ความเห็นแก่ประโยชน์สุขของสัตว์อื่นย่อมจะเกิดขึ้นแก่เขาโดยแท้ เพราะเหตุที่ยกเอาตนขึ้นมาเป็นสักขีพยานว่า "แม้สัตว์อื่น ๆ ทั้งหลายเขาก็รักสุขเกลียดทุกข์และอาลัยในชีวิต ไม่อยากจะตาย เหมือนกับเรานี้แหละ"
แม้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสเตือนไว้ ซึ่งปรากฏในคัมภีร์สังยุตตนิกายสคาถวรรคว่า –
สพฺพา ทิสา อนุปริคมฺม เจตสา
เนวชฺฌคา ปิยตรมตฺตนา กวจิ
เอวํ ปิโย ปุถุ อตฺตา ปเรสํ
ตสฺมา น หึเส ปรมตฺตกาโม
บัณฑิตได้คิดค้นคว้าดูไปจนทั่วทุกทิศแล้ว ก็มิได้เห็นคนอื่นใด ณ ทิศไหน ๆ ที่จะเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของตน, ตนของแต่ละบุคคลทุกจำพวกย่อมเป็นที่รักมากอย่างนี้ เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนคนอื่นเขา แม้ที่สุดจนถึงมดและปลวก
(หน้าที่ 86)
เจริญเมตตาในคนที่รัก
เมื่อโยคีบุคคลเจริญเมตตาในตน เพื่อให้สำเร็จเป็นสักขีพยานเป็นอันดับแรกด้วยภาวนาวิธี ดังแสดงมาฉะนี้แล้ว ต่อไปพึงเจริญเมตตาไปในคนที่รักหรือคนที่เคารพเป็นอันดับที่สอง
ก็แหละ ก่อนจะเจริญเมตตาในคนที่รักหรือที่เคารพนั้น เพื่อที่จะพยุงเมตตาภาวนาให้เกิดขึ้นโดยง่าย โยคีบุคคลจงระลึกถึงคุณธรรมอันเป็นเหตุชวนให้เกิดความพอใจ เช่น การให้ปันลาภ การเจรจาไพเราะ หรือระลึกถึงคุณธรรมอันชวนให้เกิดความเคารพและความสรรเสริญ เช่นความมีมารยาทงาม การมีความรู้อยู่อย่างกว้างขวาง ของพระอาจารย์ หรือท่านผู้เสมอด้วยพระอาจารย์ และของพระอุปัชฌาย์หรือท่านผู้เสมอด้วยพระอุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ หรือเป็นที่น่าเคารพน่าสรรเสริญของตน เป็นเบื้องต้นเสียก่อน ครั้นแล้วจึงเจริญเมตตาไปในท่านผู้เป็นที่รักเป็นที่เคารพนั้นต่อไป ด้วยบทภาวนาว่า
เอส สปฺปุริโส สุขิโต โหตุ, นิทฺทุกโข โหตุ.
ขอท่านผู้เป็นสัตบุรุษนั้นจงมีความสุขเถิด, จงอย่ามีความทุกข์เลย หรืออีกแบบหนึ่งว่า
เอส สปฺปุริโส อเวโร โหตุ, อพฺยาปชฺโฌ โหตุ,
อนีโฆ โหตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรตุ.
ขอท่านผู้เป็นสัตบุรุษนั้น จงอย่ามีเวรกับใคร ๆ เลย, จงอย่าได้เบียดเบียนใคร ๆ เลย, จงอย่าได้มีความทุกข์เลย, ขอจงมีความสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
ทั้งนี้ โดยการเพียรภาวนาซ้ำแล้วซ้ำเล่าร้อยครั้งพันครั้ง หรือจนกว่าอัปปนาสมาธิหรือเมตตาฌานจะบังเกิดขึ้น
เจริญเมตตาในเพื่อนรักมากเป็นต้น
แม้ว่าอัปปนาสมาธิจะได้สำเร็จขึ้น เพราะเหตุที่ได้เจริญเมตตาภาวนาไปในบุคคลผู้เป็นที่รักเป็นที่เคารพดังได้อธิบายข้างต้นแล้วก็ดี แต่โยคีบุคคลก็อย่าได้พอใจด้วยเหตุที่ได้สำเร็จผล
(หน้าที่ 87)
เพียงเท่านั้น จงปรารภที่จะทำเมตตาให้เป็นสีมาสัมเภทต่อไปอีก (การทำลายขอบเขตเมตตาไม่ให้มีจำกัดอยู่เฉพาะแต่ในบุคคลประเภทใดประเภทหนึ่ง) กล่าวคือ ถัดจากคนที่รักที่เคารพนั้น โยคีบุคคลพึงเจริญเมตตาไปในเพื่อนที่รักมากเป็นลำดับที่สาม ถัดนั้นพึงเจริญไปในคนที่เป็นกลาง ๆ เป็นอันดับที่สี่ ถัดนั้นพึงเจริญไปในคนที่เป็นคู่เวรกันเป็นลำดับที่ห้า โดยเพียรภาวนาไปจนกว่าเมตตาจะบังเกิดเป็นคุณภาพอย่างสม่ำเสมอกันในบุคคล 4 จำพวก คือ ตน 1 คนที่รัก 1 คนที่เป็นกลางๆ 1 คนคู่เวรกัน 1 (สงเคราะห์คนที่รักกับเพื่อนที่รักมากเป็นประเภทเดียวกัน เพราะตั้งอยู่ในฐานเป็นที่รักเหมือนกัน)
ในทางปฏิบัติ เมื่อโยคีบุคคลได้เจริญเมตตาไปในคนเป็นที่รักจนสำเร็จถึงขั้นอัปปนาฌานแล้ว ทำฌานจิตนั้นให้อ่อนนิ่มนวลควรแก่งาน โดยทำให้ชำนาญด้วยวสี 5 แล้ว ถัดนั้นจึงข่มจิตที่มีภาวะรักมากนั้นให้ลดลงมาตั้งอยู่ในภาวะที่เป็นความรักอย่างธรรมดา แล้วเพียรภาวนาต่อไป ด้วยบทภาวนา มีอาทิว่า
เอส อติปิยสหายโก สุขิโต โหตุ, นิทฺทุกฺโข โหตุ.
ขอเพื่อนที่รักมากนั้นจงมีความสุขเถิด, จงอย่ามีความทุกข์เลย
ทั้งนี้ โดยซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าเมตตาภาวนาจะสำเร็จถึงขั้นอัปปนาสมาธิเช่นเดียวกัน ครั้นแล้ว ทำฌานจิตนั้นให้อ่อนนุ่มนวลแก่การงาน โดยทำให้ชำนาญด้วยวสี 5 ถัดนั้นจึงพยุงจิตที่มีภาวะเฉย ๆ ในคนเป็นกลาง ๆ ขึ้นสู่ภาวะความรักอย่างธรรมดา แล้วเพียงภาวนาต่อไป ด้วยบทภาวนามีอาทิว่า
เอส มชฺฌตฺโต สุขิโต โหตุ, นิทฺทุกโข โหตุ.
ขอเป็นผู้กลาง ๆ นั้น จงมีความสุขเถิด, จงอย่ามีความทุกข์เลย
ทั้งนี้ จนกว่าภาวนาจะสำเร็จถึงขั้นอัปปนาสมาธิเช่นเดียวกัน ครั้นแล้วทำฌานจิตนั้นให้อ่อนนุ่มนวลควรแก่การงาน โดยทำให้ชำนาญด้วยวสี 5 ถัดนั้นจงข่มจิตที่คิดจองเวรในคนคู่เวรกันนั้นให้เลือนหายกลายเป็นภาวะกลาง ๆ แล้วยกขึ้นสู่ภาวะเป็นความรักธรรมดา แล้วภาวนาต่อไปด้วยบทภาวนามีอาทิว่า
(หน้าที่ 88)
เอส เวรีปุคฺคโล สุขิโต โหตุ, นิทฺทุกฺโข โหตุ.
ขอคนคู่เวรนั้น จงมีความสุขเถิด, อย่าได้มีความทุกข์เลย.
ทั้งนี้ โดยเพียรภาวนาไปจนกว่าภาวนาจะสำเร็จถึงขั้นอัปนาสมาธิ เช่นเดียวกันนั่นเทียว
โยคีผู้ไม่มีคนคู่เวร
ส่วนโยคีบุคคลผู้ไม่มีคนเป็นคู่เวร ด้วยอำนาจวาสนาบารมีในชาติก่อนตามมาสนอง หรือด้วยมิได้ประพฤติความเสียหายให้เป็นที่ระคายเคืองแก่ใคร ๆ ในชาติปัจจุบัน หรือด้วยเหตุที่เป็นมหาบุรุษผู้มีอัธยาศัยอันกว้างใหญ่ เพราะเป็นผู้สมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมคือขันติ เมตตา และกรุณาที่ได้สั่งสมมาแต่ชาติก่อน ๆ แม้ในเมื่อมีคนอื่นทำความเสียหายให้มิได้โกรธเคือง ด้วยเป็นผู้อดกลั้นได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่สำคัญเห็นความผิดของคนอื่นยิ่งไปกว่าเส้นหญ้า อันโยคีบุคคลผู้มีคุณลักษณะเห็นปานฉะนี้ ไม่จำต้องที่จะขวนขวายในประการที่ว่า "ถัดจากคนเป็นกลาง ๆ ไป ให้เจริญเมตตาไปในคนคู่เวรกัน" ข้อนั้น ท่านแสดงไว้เฉพาะแก่โยคีบุคคลผู้มีคนที่เป็นคู่เวรกันเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้
อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ 1
ด้วยกลับเข้าฌานใหม่
ก็แหละ ถ้าโยคีบุคคลส่งจิตไปในคนผู้เป็นคู่เวรกันนั้น ความโกรธแค้นย่อมผุดเกิดขึ้นมาเสีย เพราะหวนนึกถึงความผิดที่เขาได้ก่อกรรมทำเวรให้ไว้แต่ก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ โยคีบุคคลจงหวนกลับไปเข้าเมตตาฌาน ที่ตนได้ทำให้เกิดแล้วในบุคคลจำพวกก่อน ๆ มีคนเป็นที่รักเป็นต้น จำพวกใดจำพวกหนึ่ง หลาย ๆหน ออกจากฌานแล้วจึงพยายามเจริญเมตตาไปในคนคู่เวรกันนั้นแล้ว ๆ เล่า ๆ บรรเทาความโกรธแค้นให้หายไป
(หน้าที่ 89)
อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ 2
ด้วยพิจารณาถึงพระพุทธโอวาท
ถ้าโยคีบุคคลได้พยายามปฏิบัติอยู่โดยทำนองนั้นเป็นอย่างดีแล้ว ความโกรธแค้นก็มิได้ดับหายไป แต่นั้นจงพยายามให้หนักขึ้น เพื่อบรรเทาความโกรธแค้นให้จงได้ โดยวิธีพิจารณาถึงพระพุทธโอวาทที่ตรัสสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ เช่นพระพุทธโอวาทในกกจูปมสูตรเป็นต้น ก็แหละ การพยายามเพื่อบรรเทาความโกรธแค้นนั้น โยคีบุคคลพึงเชิญเอาพระโอวาทมาพร่ำสอนตนเอง ด้วยประการดังจะยกมาแสดงเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้ คือ
เฮ้ย เจ้าบุรุษขี้โกรธ ! พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนไว้แล้วมิใช่หรือว่า
1. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกโจรผู้มีใจบาปหยาบช้าจะพึงเอาเลื่อยมีด้ามสองข้างมาเลื่อยอวัยวะทั้งหลาย แม้ขณะเมื่อพวกโจรทำการเลื่อยอวัยวะอยู่นั้น ผู้ใดเกิดมีใจประทุษร้ายต่อพวกโจรนั้น เขาชื่อว่าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่มีใจประทุษร้ายนั้น ดังนี้ประการหนึ่ง
2. ผู้ใดโกรธตอบต่อคนผู้โกรธก่อน ผู้นั้นชื่อว่าเป็นคนเลวเสียยิ่งกว่าคนที่โกรธก่อน เพราะเหตุที่โกรธตอบนั้น, ผู้ใดไม่โกรธตอบคนที่โกรธก่อน ผู้นั้นชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้อย่างแสนยาก ผู้ใดรู้ว่าคนอื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติยั้งความโกรธเสียได้ คือไม่โกรธตอบผู้นั้น ได้ชื่อว่าประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและคนอื่นด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังประการหนึ่ง
3. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลกรรม 7 ประการที่ศัตรูต้องการให้มีแก่กัน ที่ศัตรูพึงทำให้แก่กัน จะมาถึงสตรีหรือบุรุษผู้ขี้โกรธเอง คือ
ประการที่ 1 ศัตรูในโลกนี้ย่อมคิดร้ายหมายโทษให้แก่ศัตรูของตนว่า ทำอย่างไรหนอ ไอ้เจ้าคนนี้จึงจะเป็นคนผิวพรรณชั่ว
(หน้าที่ 90)
เพราะศัตรูย่อมไม่พอใจที่จะให้ศัตรูมีผิวพรรณงาม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษขี้โกรธอันความโกรธครอบงำแล้ว ถือแต่ความโกรธเป็นเบื้องหน้านี้ ถึงเขาจะอาบน้ำชำระกายให้สะอาดดีแล้ว ไล้ทาผิวให้ผุดผ่องดีแล้ว ตัดผมและโกนเคราให้เรียบร้อยดีแล้ว นุ่งห่มผ้าที่ขาวสะอาดดีแล้วก็ตามที แต่เขาผู้ซึ่งถูกความโกรธครอบงำแล้วนั้นย่อมชื่อว่า ยังเป็นผู้มีผิวพรรณชั่วอยู่นั่นเอง
ประการที่ 2 ศัตรูย่อมคิดร้ายหมายโทษให้แก่ศัตรูของตนว่า ทำอย่างไรหนอ ไอ้เจ้าคนนี้จึงจะพึงอยู่เป็นทุกข์…..
ประการที่ 3 ทำอย่างไรหนอ ไอ้เจ้าคนนี้จึงจะไม่มีทรัพย์มาก…..
ประการที่ 4 ทำอย่างไรหนอ ไอ้เจ้าคนนี้จึงจะไม่มีโภคสมบัติมาก….
ประการที่ 5 ทำอย่างไรหนอ ไอ้เจ้าคนนี้จึงจะไม่มียศศักดิ์…..
ประการที่ 6 ทำอย่างไรหนอ ไอ้เจ้าคนนี้จึงจะไม่มีพวกพ้องมิตรสหาย…..
ประการที่ 7 ทำอย่างไรหนอ ไอ้เจ้าคนนี้ นับแต่ที่มันแตกกายทำลายชีพไปแล้ว จึงจะไม่ไปบังเกิดบนสุคติโลกสวรรค์ เพราะศัตรูย่อมไม่พอใจจะให้ศัตรูได้ประสบสุคติโลกสวรรค์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษขี้โกรธอันความโกรธครอบงำแล้ว ถือแต่ความโกรธเป็นเบื้องหน้านั้น ย่อมประพฤติทุจริตทางกายก็ได้ ย่อมประพฤติทุจริตทางวาจาก็ได้ ย่อมประพฤติทุจริตทางใจก็ได้ ด้วยเหตุที่เขาประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจนั้น นับแต่เวลาที่แตกกายทำลายชีพไปแล้วเขาผู้ซึ่งถูกความโกรธครอบงำแล้วนั้น ย่อมจะไปสู่อบายทุคติวินิบาตและนรก ดังนี้ประการหนึ่ง
(หน้าที่ 91)
4. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฟืนสำหรับเผาศพที่ไฟไหม้ปลายทั้งสองข้างซ้ำตรงกลางเปื้อนคูถสุนัข ย่อมไม่สำเร็จเป็นฟืนในบ้านด้วย ย่อมไม่สำเร็จเป็นฟืนในป่าด้วยฉันใด เรากล่าวว่า คนขี้โกรธนี้ก็มีลักษณะอาการเหมือนอย่างนั้น ดังนี้ประการหนึ่ง
ก็บัดนี้ เจ้ามัวแต่โกรธเขาอย่างนี้ จักไม่ได้ชื่อว่า ปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย จักได้ชื่อว่าเป็นคนเลวเสียยิ่งกว่าคนที่โกรธก่อนด้วย จักไม่ได้ชื่อว่าชนะสงครามอันชนะได้แสนยากด้วย จักได้ชื่อว่าทำอกุศลกรรมอันศัตรูจะพึงทำต่อกัน ให้แก่ตนเสียเองด้วย จักได้ชื่อว่า เป็นผู้มีลักษณะอาการเหมือนฟืนเผาศพด้วย
อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ 3
ด้วยมองคนในแง่ดี
เมื่อโยคีบุคคลพยายามเชิญพระพุทธโอวาทมาสอนตนอยู่ด้วยประการอย่างนี้ ถ้าความโกรธแค้นสงบลงเสียได้ ก็นับว่าเป็นการใช้ได้ แต่ถ้ายังไม่สงบ ทีนั้นจงเพียรทำอุบายอย่างอื่นต่อไป กล่าวคือถ้าคุณธรรมส่วนใด ๆ ก็ตามที่คนคู่เวรนั้นมีอยู่ เช่นความเรียบน้อย ความสะอาดของเขาบางประการ เมื่อนำมาพิจารณาดูให้ดีแล้วสามารถที่จะทำให้เกิดความเลื่อมใสพอใจขึ้นได้ ก็จงระลึกเอาคุณธรรมส่วนนั้น ๆ มาบรรเทาความอาฆาตเคียดแค้นให้หายโดยประการดังต่อไปนี้
มีความจริงอยู่ว่า คนบางคนมีมรรยาททางกายเรียบร้อยแต่อย่างเดียว และความเรียบร้อยทางกายนั้น คนทั่วไปจะรู้ได้ในเมื่อเขาบำเพ็ญวัตรปฏิบัติไปนาน ๆ แต่มรรยาททางวาจาและทางใจของเขาไม่เรียบร้อย สำหรับคนเช่นนี้ โยคีบุคคลอย่าได้ระลึกมรรยาททางวาจาและทางใจของเขา จงระลึกถึงแต่มารยาททางกายของเขาอย่างเดียวเท่านั้น
คนบางคนมีมารยาทเรียบร้อยแต่วาจาอย่างเดียว และความเรียบร้อยทางวาจานั้นคนทั่วไปย่อมจะรู้ได้ เพราะว่าคนที่มีมารยาททางวาจาเรียบร้อยนั้น โดยปกติเป็นผู้ฉลาดในการปฏิบัติสันถาร เป็นคนนิ่มนวลพูดเพราะรื่นเริง ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายก่อน ถึงคราวสวดสรภัญญะก็สวดด้วยเสียงอันไพเราะ ถึงคราวแสดงธรรม ก็แสดงได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ ด้วยบทและพยัญชนะอันกลมกล่อม แต่ด้วยมารยาททางกายและทางใจของเขาไม่
(หน้าที่ 92)
เรียบร้อย สำหรับคนเช่นนี้ โยคีบุคคลอย่าได้ระลึกถึงมารยาททางกายและทางใจของเขา จงระลึกถึงมารยาททางวาจาของเขาอย่างเดียวเท่านั้น
คนบางคนมีมารยาทเรียบร้อยแต่ทางใจอย่างเดียว และความเรียบร้อยทางใจนั้น จะปรากฏชัดแก่คนทั่วไปก็ในขณะที่เขาไหว้พระเจดีย์เป็นต้น กล่าวคือ ผู้ใดมีจิตใจไม่สงบเรียบร้อยนั้น เมื่อจะไหว้พระเจดีย์หรือต้นพระศรีมหาโพธิ์ หรือจะกราบไหว้พระเถระทั้งหลาย เขาย่อมกราบไหว้ด้วยกิริยาอาการอันไม่เคารพ เมื่อนั่งอยู่ในโรงธรรม ก็นั่งอยู่อย่างงุ่นง่าน หรือพูดพล่ามไป ส่วนผู้คนมีจิตใจสงบเรียบร้อย ย่อมกราบไหว้ด้วยความสนิทสนมด้วยความเชื่อมั่น ถึงคราวฟังธรรมก็เงี่ยโสตฟังด้วยดี ถือเอาเนื้อความได้ แสดงอาการเลื่อมใสออกทางกายหรือทางวาจาให้ปรากฏ คนบางคนย่อมมีแต่ความสงบเรียบร้อยทางใจฉะนี้ แต่ไม่มีความเรียบร้อยทางกายและทางวาจา สำหรับคนเช่นนี้ โยคีบุคคลอย่าได้ระลึกถึงมารยาททางกายและวาจาของเขา จงระลึกถึงแต่มารยาททางใจของเขาอย่างเดียวเท่านั้น
คนบางคนไม่มีความเรียบร้อยแม้แต่สักประการเดียวในบรรดามารยาททั้ง 3 ประการนั้น แม้คนเช่นนั้นก็ยังไม่เป็นสิ่งที่เหลือวิสัยเสียทีเดียว โยคีบุคคลจงยกเอาความกรุณาขึ้นมาตั้งไว้ในใจ แล้งปลงให้ตกลงไปว่า คนเช่นนี้แม้เขาจะเที่ยวขวางหูขวางตาคนอยู่ในมนุษย์โลกนี้ ก็แต่ในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น ต่อไปไม่ช้าไม่นานสักเท่าไร เขาก็จักต้องท่องเที่ยวไป บังเกิดในมหานรก 8 ขุม และในอุสสทะนรกทั้งหลายโดยแน่แท้ เพราะอาศัยแม้เพียงความกรุณาเช่นนี้ ความอาฆาตเคียดแค้นก็อาจสงบลงได้
คนบางคนย่อมมีมารยาทเรียบร้อยทั้ง 3 ประการ สำหรับคนเช่นนี้ โยคีบุคคลมีความชอบใจมารยาทของเขาประการใด ๆ ก็จงเลือกระลึกเอามารยาทประการนั้น ๆ ตามอัธยาศัยเถิด เพราะการเจริญเมตตาในคนเช่นนี้ ย่อมจะปฏิบัติได้โดยไม่ลำบากเลย
ก็แหละ เพื่อที่จะแสดงความเรื่องนี้ให้จัดเจนเด่นชัดขึ้นอีก โยคีบุคคลจงตรวจดูอาฆาตปฏิวินยสูตร ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ซึ่งมีใจความเป็นต้นว่า
"ดูกรอาวุโส อุบายสำหรับบรรเทาความอาฆาต 5 ประการเหล่านี้ ที่ภิกษุพึงใช้บรรเทาความอาฆาตที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ดับไปโดยประการทั้งปวง….."
(หน้าที่ 93)
อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ 4
ด้วยการพร่ำสอนตนเอง
แม้ว่าโยคีบุคคลจะได้พยายามบรรเทาความอาฆาตเคียดแค้นด้วยอุบายวิธีดังกล่าวเป็นอย่างดีแล้ว แต่ความอาฆาตเคียดแค้นก็ยังเกิดขึ้นอยู่ร่ำไป แต่นั้นโยคีบุคคลจงเปลี่ยนวิธีใหม่ จงพยายามพร่ำสอนตนด้วยอุบายวิธีดังต่อไปนี้
1. ก็เมื่อคนผู้เป็นคู่เวรทำทุกข์ให้แก่เจ้าได้ก็แต่ตรงที่ร่างกายของเจ้า เหตุไฉนเจ้าจึงปรารถนาที่จะหอบเอาความทุกข์นั้นเข้ามาใส่ไว้ในจิตใจของตน อันมิใช่วิสัยที่คนคู่เวรจะพึงทำให้ได้เล่า
2. หมู่ญาติซึ่งเป็นผู้มีอุปการคุณเป็นอันมาก ทั้ง ๆ ที่มีหน้าชุ่มโชกอยู่ด้วยน้ำตา เจ้าก็ยังอุตส่าห์ละทิ้งเขามาได้ ก็เหตุไฉน จึงจะละไม่ได้ซึ่งความโกรธ อันเป็นตัวศัตรูผู้ทำความพินาศให้อย่างใหญ่หลวงเล่า
3. เจ้าจงอุตส่าห์รักษาศีลเหล่าใดไว้ แต่เจ้าก็ได้พะนอเอาความโกรธ อันเป็นเครื่องตัดรากศีลเหล่านั้นไว้ด้วย ใครเล่าที่จะโง่เซ่อเหมือนเจ้า
4. เจ้าโกรธว่า คนคู่เวรได้ทำความผิดอันใหญ่หลวงให้แก่เจ้า แต่เหตุไฉนเจ้าจึงปรารถนาที่จะทำความผิดเช่นนั้นด้วยตนเสียเองเล่า
5. ก็เมื่อคนคู่เวรปรารถนานักหนาที่จะให้ความโกรธเกิดขึ้นแก่เจ้า จึงได้ทำสิ่งที่ไม่พอใจยั่วยุเจ้า เหตุไรเจ้าจึงจะทำความปรารถนาของเขาให้สำเร็จเสียเอง ด้วยการยอมให้ความโกรธนั้นเกิดขึ้นเล่า
6. เมื่อเจ้าโกรธขึ้นมาแล้ว เจ้าจักได้ก่อทุกข์ให้แก่คนอื่นผู้ทำความผิดให้แก่เจ้านั้นหรือไม่ก็ตาม แต่เป็นอันว่าเจ้าได้เบียดเบียนตนเองด้วยทุกข์ คือความโกรธอยู่ ณ ขณะนี้ นั่นเทียว
7. ก็เมื่อพวกคนคู่เวรได้เดินไปสู่ทางผิดคือความโกรธ ซึ่งไม่นำประโยชน์อะไรมาให้แก่ตนเลย แม้เมื่อเจ้ายังโกรธเขาอยู่ ก็ชื่อว่าได้คล้อยไปตามทางของเขาเสียละซี
8. ศัตรูได้ทำสิ่งอันไม่เป็นที่พอใจให้แก่เจ้า ด้วยอาศัยความโกรธของเจ้าอันใด เจ้าจงรีบถอนความโกรธอันนั้นออกเสียเถิด เจ้าจะเดือดร้อนในสิ่งที่ไม่สมควรทำไมกัน
(หน้าที่ 94)
9. ขันธ์ 5 เหล่าใดได้ทำสิ่งที่ไม่พอใจให้แก่เจ้า ขันธ์ 5 เหล่านั้นก็ได้ดับไปแล้ว เพราะสภาวธรรมทั้งหลายดับไปชั่วขณะนิดเดียว แล้วก็มีขันธ์ 5 อื่นเกิดขึ้นมาแทนบัดนี้ เจ้าจะมาหลงโกรธใคร ณ ที่นี้เล่า การโกรธต่อขันธ์ 5 ที่เกิดขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่มีความผิดนั้น เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง
11. ผู้ใดทำความผิดให้แก่ผู้ใด เมื่อไม่มีผู้ทำความผิดให้นั้นแล้ว ผู้ที่จะทำความผิดตอบนั้น จะพึงทำความผิดให้แก่ใครที่ไหนเล่า ตัวเจ้าเองแหละเป็นตัวการแห่งความผิดเอง ฉะนั้น เจ้าจะไปโกรธคนอื่นเขาทำไม ไฉนจึงไม่โกรธตัวเองเล่า
อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ 5
ด้วยพิจารณาถึงกรรม
ก็แหละ แม้โยคีบุคคลจะได้พยายามพร่ำสอนตนเองด้วยประการดังกล่าวมาแล้วก็ตาม แต่ความโกรธแค้นก็ยังไม่สงบลง แต่นั้นโยคีบุคคลจงใช้วิธีพิจารณาถึงภาวะที่ตนและคนอื่นเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตนต่อไป ในการพิจารณาถึงกรรมนั้น จงพิจารณาถึงภาวะที่ตนเองเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตนเป็นอันดับแรก ดังต่อไปนี้
นี่แน่พ่อมหาจำเริญ เจ้าโกรธคนอื่นเขาแล้วจักได้ประโยชน์อะไร ? กรรมอันมีความโกรธเป็นเหตุของเจ้านี้ มันจักบันดาลให้เป็นไปเพื่อความฉิบหายแก่เจ้าเองมิใช่หรือ ? ด้วยว่า เจ้าเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง เจ้าได้ทำกรรมสิ่งใดไว้ เจ้าจักต้องได้รับผลของกรรมนั้น
อนึ่ง กรรมของเจ้านี้ มันไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และสาวกภูมิ มันไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาสมบัติต่าง ๆ เช่น ความเป็นพระพรหม พระอินทร์ พระเจ้าจักพรรดิ และพระเจ้าประเทศราชได้เลย ตรงกันข้าม กรรมของเจ้านี้ มันจักขับไล่ไสส่งให้เจ้าออกจากพระศาสนาแล้วบันดาลให้ประสบผลอันประหลาดต่างๆ
(หน้าที่ 95)
เช่น ทำให้บังเกิดเป็นคนขอทาน กินเดนของคนอื่น หรือประสบทุกข์อย่างใหญ่หลวง เช่น ทำให้บังเกิดในนรกเป็นต้นอย่างแน่นอน
อันตัวเจ้านี้นั้น เมื่อขืนทำกรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าเผาตัวของตัวเองทั้งเป็น และทำตัวเองให้มีชื่อเสียงเน่าเหม็นเป็นคนแรกนั่นเทียว
เมื่อได้พิจารณาถึงภาวะที่ตัวเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตนอย่างนี้แล้ว จงพิจารณาถึงภาวะที่คนอื่นเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน ในอันดับต่อไป ดังนี้
แม้เขาผู้นั้นโกรธเจ้าแล้ว เขาจักได้ประโยชน์อะไร กรรมอันมีความโกรธเป็นเหตุของเขาผู้นั้น มันจักบันดาลให้เป็นไป เพื่อความฉิบหายแก่เขาเองมิใช่หรือ ? เพราะว่าเขาผู้นั้นเป็นผู้มีกรรมเป็นทายาท เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่ง เขาจักได้ทำกรรมสิ่งใดไว้ เขาจักต้องได้รับผลของกรรมนั้น
อนึ่ง กรรมของเขาผู้นั้น มันไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และสาวกภูมิได้ มันไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาสมบัติต่าง ๆ เช่น ความเป็นพระพรหม พระอินทร์ ความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นพระเจ้าประเทศราชได้เลย ตรงกันข้าม กรรมของเขาผู้นั้น มันมีแต่จะขับไล่ไสส่งให้เขาออกจากพระศาสนา แล้วบันดาลให้ประสพผลอันประหลาดต่าง ๆ เช่น ทำให้บังเกิดเป็นคนขอทาน กินเดนของคนอื่น หรือทำให้ประสบทุกข์อย่างใหญ่หลวง เช่น ทำให้บังเกิดในนรกเป็นต้นอย่างแน่นอน
เขาผู้นั้น เมื่อขืนทำกรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าโปรยธุลีคือความโกรธใส่ตนเอง เหมือนบุรุษผู้โปรยธุลีใส่คนอื่น แต่ไปยืนอยู่ทางใต้ลมฉะนั้น
(หน้าที่ 96)
ข้อนี้สมด้วยพระพุทธนิพนธ์สุภาษิตในสคาถวรรค สังยุตตนิกายว่า
โย อปฺปทุฏฺฐสฺส นรสฺส ทุสฺสติ
สุทฺธสฺส โปสสฺส อนงฺคณสฺส
ตเมว พาลํ ปจฺเจติ ปาปํ
สุขุโม รโช ปฏิวาตํว ขิตฺโต
ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่มีความผิด ทั้งเป็นคนบริสุทธิ์หมดจดหมดกิเลส บาปจะส่งผลให้เขาผู้นั้นซึ่งเป็นคนพาลเสียเอง เหมือนธุลีอันละเอียดที่คนขัดไปทวนลม ย่อมจะปลิวกลับมาถูกเขาเองฉะนั้น
อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ 6
ด้วยพิจารณาถึงพระพุทธจริยาในปางก่อน
ก็แหละ ถ้าโยคีบุคคลได้พยายามพิจารณาถึงภาวะที่ตนและคนอื่นเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตนอย่างนี้แล้ว ความโกรธแค้นก็มิได้สงบอยู่นั่นแล แต่นั้นจงระลึกถึงพระคุณ คือพระจริยาวัตรของพระบรมศาสดาในปางก่อน เพื่อบรรเทาความโกรธแค้นต่อไป ในพระพุทธจริยาวัตรแต่ปางก่อนนั้น มีส่วนที่โยคีบุคคลควรจะนำมาพิจารณาเตือนตนด้วยวิธีดังต่อไปนี้
นี่แน่ะ พ่อมหาจำเริญ ! พระบรมศาสดาของเจ้าแต่ปางก่อน แต่ยังมิได้ตรัสรู้ พระสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี 30 ทัศ อยู่ถึง 4 อสงไขย กับ 1 แสนมหากัปนั้น พระองค์ก็มิได้ทรงทำพระหฤทัยให้โกรธเคือง แม้ในศัตรูทั้งหลายผู้พยายามประหัตประหารพระองค์อยู่ในชาตินั้น ๆ มิใช่หรือ ?
พระจริยาวัตรของพระบรมศาสดาในปางก่อน แต่ละเรื่องนั้น พึงทราบแต่โดยย่อดังนี้
1. เรื่องพระเจ้าสีลวะ
ในสีลวชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าแผ่นดินมีพระนามว่า พระเจ้าสีลวะ อำมาตย์ผู้ใจบาปหยาบช้าได้ลอบล่วงประเวณีกับพระอัครมเหสีของพระองค์ แล้ว
(หน้าที่ 97)
ไปเชื้อเชิญเอาพระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์มายึดเอาพระราชสมบัติ ในที่อันมีอาณาบริเวณถึงสามร้อยโยชน์ พระโพธิสัตว์สีลวราชา ก็มิได้ทรงอนุญาตให้หมู่มุขอำมาตย์ผู้จงรักภักดีลุกขึ้นจับอาวุธเข้าต่อต้าน ต่อมาพระองค์พร้อมด้วยหมู่มุขอำมาตย์พันหนึ่ง ได้ถูกเขาขุดหลุมฝังทั้งเป็นลึกแค่พระศอ ตรงที่ป่าช้าผีดิบ พระองค์ก็มิได้ทรงเสียพระราชหฤทัยแม้แต่น้อย อาศัยพวกสุนัขจิ้งจอก มันพากันมาคุ้ยกินซากศพ ได้ขุดคุ้ยดินออก พระองค์จึงได้ทรงใช้ความเพียรของลูกผู้ชาย ด้วยกำลังแห่งพระพาหา ทรงตะกายออกมาจากหลุม จึงทรงรอดชีวิตได้ และด้วยอานุภาพเทวดาช่วยบันดาลพระองค์ได้เสด็จขึ้นไปยังพระราชนิเวศน์ของพระองค์ ทรงเห็นพระราชาผู้เป็นศัตรู บรรทมอยู่บนพระแท่นที่บรรทม พระองค์ก็มิได้ทรงพระพิโรธโกรธเคืองแต่ประการใด กลับทรงปรับความเข้าพระทัยดีต่อกันและกัน แล้วทรงตั้งพระราชาผู้เป็นศัตรูนั้นไว้ในฐานแห่งมิตร และได้ตรัสสุภาษิตว่า
อาสึเสเถว ปุริโส น นิพฺพินฺเทยฺย ปณฺฑิโต
ปสฺสามิ โวหมตฺตานํ ยถา อิจฺฉึ ตถา อหุง
ชาติชายผู้บัณฑิต พึงทำความหวังโดยปราศจากโทษไปเถิด อย่าพึงเบื่อหน่ายท้อถอยเสียเลย เรามองเห็นทางอยู่ว่า เราปรารถนาที่จะสถาปนาตนไว้ในราชสมบัติโดยไม่เบียดเบียนใครๆ ด้วยประการใด เราก็จะปฏิบัติด้วยประการนั้น
2. เรื่องขันติวาทีดาบส
ในขันติวาทีชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นขันติวาทีดาบส เมื่อพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงครองแว่นแคว้นกาสี พระนามว่าพระเจ้ากลาพุ ได้ตรัสถามพระโพธิสัตว์ขันติวาทีดาบสว่า "สมณะ ! พระผู้เป็นเจ้านับถือวาทะอะไร ?" พระโพธิสัตว์ทูลตอบว่า "อาตมภาพนับถือขันติวาทะ คือนับถือความอดทน" ทีนั้นพระเจ้ากลาพุได้ทรงรับสั่งให้เฆี่ยนพระโพธิสัตว์ด้วยแส้มีหนามเหล็กเป็นการพิสูจน์ จนในที่สุดถูกตัดมือและเท้า แต่แล้วพระโพธิสัตว์ก็มิได้ทำความโกรธเคืองเลยแม้แต่น้อย
(หน้าที่ 98)
3. เรื่องธรรมปาลกุมาร
การที่พระโพธิสัตว์เป็นผู้ใหญ่แล้ว และทรงดำรงอยู่ในเพศบรรพชิต สามารถอดกลั้นได้เหมือนเช่นพระเจ้าสีลวะและขันติวาทีดาบสนั้น ยังไม่เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์เท่าไรนัก ส่วนในจูฬธัมมปาลชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นธรรมปาลกุมาร ทรงเป็นเป็นทารกยังหงายอยู่เทียว ถูกพระเจ้ามหาปตาปะผู้เป็นพระบิดา มีพระราชบัญชาให้ตัดพระหัตถ์และพระบาททั้ง 4 ดุจว่าให้ตัดหน่อไม้ในขณะที่พระมารดาทรงพิไรคร่ำครวญอยู่ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ แขนทั้งสองของพ่อธรรมปาละ ผู้เป็นรัชทายาทในแผ่นดิน ซึ่งไล้ทาแล้วด้วยรสแห่งจันทน์หอม กำลังจะขาดไปอยู่แล้ว หม่อมฉันจะหาชีวิตมิได้อยู่แล้วละเพค่ะ" แม้กระนั้นแล้ว พระเจ้ามหาปตาปะก็ยังมิได้ถึงความสาสมพระราชหฤทัย ได้ทรงมีพระราชโองการไปอีกว่า "จงตัดศีรษะมันเสีย" ฝ่ายพระโพธิสัตว์ธรรมปาลกุมารก็มิได้ทรงแสดงออกแม้เพียงพระอาการเสียพระทัย ทรงอธิฐานสมาทานอย่างแม่นมั่น แล้วทรงโอวาทพระองค์เองว่า
ขณะนี้เป็นเวลาที่เจ้าจะต้องประคองรักษาจิตของเจ้าไว้ให้ดีแล้วนะ พ่อธรรมปาละผู้เจริญ ! บัดนี้เจ้าจงทำจิตให้เสมอในบุคคลทั้ง 4 คือพระบิดาผู้ทรงบัญชาให้ตัดศีรษะ 1 พวกราชบุรุษที่จะตัดศีรษะ 1 พระมารดาที่กำลังทรงพิไรรำพัน 1 ตนของเจ้าเอง 1
การที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมนุษย์แล้ว ทรงอดกลั้นได้ต่อการทารุณกรรมต่าง ๆ จากศัตรู เหมือนอย่างในเรื่องทั้งสามที่แสดงมาแล้วนั้น แม้ข้อนี้ก็ยังไม่เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์มากนัก ส่วนที่น่าอัศจรรย์มากยิ่งกว่านั้น คือพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสัตว์เดียรัจฉานในกำเนิดต่างๆ และได้รับทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ดังต่อไปนี้
4. เรื่องพญาช้างฉัททันตะ
เรื่องแรก ได้แก่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาช้าง ชื่อฉัททันตะ แม้พระองค์จะถูกนายพรานยิงด้วยลูกศรอันกำซาบด้วยยาพิษ ณ ที่ตรงสะดือ ก็มิได้ขุ่นเคืองใจในนายพรานผู้ซึ่งทำความพินาศให้แก่ตนอยู่เช่นนั้น ข้อนี้สมด้วยคำบาลีในคัมภีร์ชาดกว่า
(หน้าที่ 99)
พญาช้างฉัททันตะ แม้จะถูกทิ่มแทงด้วยลูกศรเป็นอันมากแล้ว ก็มิได้มีจิตคิดประทุษร้ายในนายพราน กลับพูดกับเขาอย่างอ่อนหวานว่า "พ่อสหาย นี่ต้องการอะไรหรือ? ท่านยิงเราด้วยเหตุแห่งสิ่งใดหรือ? การที่ท่านมา ณ ที่นี้แล้วทำกับเราอย่างนี้ มิใช่เป็นด้วยอำนาจของท่านเอง ดังนั้น การพยายามทำเช่นนี้ ท่านทำเพื่อพระราชาองค์ใด? หรือเพื่อมหาอำมาตย์คนใดหรือ ?
ก็แหละ ครั้นพระโพธิสัตว์พญาช้างฉัททันตะถามอย่างนี้แล้ว นายพรานก็ได้ตอบออกมาตามความสัตย์จริงว่า "ท่านผู้เจริญ พระราชเทวีของพระเจ้ากาสีได้ทรงส่งข้าพเจ้ามาเพื่อต้องการงาของท่าน" ทันทีนั้นพระโพธิสัตว์เมื่อจะทำพระราชประสงค์ของพระเทวีนั้นให้สำเร็จบริบูรณ์ จึงได้ให้ตัดงาทั้งสองของตนอันมีความงามดุจทองคำธรรมชาติ สุกปลั่งด้วยแสงอันเปล่งออกแห่งรัศมีอันประกอบด้วยสี 6 ประการ แล้วก็มอบให้นายพรานนั้นไปถวาย
5. เรื่องพญากระบี่
เรื่องที่สอง ครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญากระบี่ พระโพธิสัตว์พญากระบี่นั้น ได้ช่วยบุรุษคนหนึ่งให้ขึ้นจากเหวจนรอดชีวิตมาได้ ครั้นแล้วบุรุษนั้นเองได้คิดทรยศต่อพระองค์ว่า "วานรนี้ย่อมเป็นอาหารของมนุษย์ได้ ฉันเดียวกับพวกเนื้อมฤคในป่าประเภทอื่น ๆ ถ้ากระไร เราหิวขึ้นมาแล้วจะพึงฆ่าวานรนี้กินเป็นอาหาร ครั้นกินอิ่มแล้วจักเอาเนื้อที่เหลือไปเป็นเสบียงเดินทาง เราก็จักข้ามพ้นทางทุรกันดารไปได้ เนื้อนี้จักเป็นเสบียงของเรา" ครั้นแล้วเขาก็ยกก้อนศิลาขึ้นทุ่มลงบนกระหม่อมของพระโพธิสัตว์ ฝ่ายพระโพธิสัตว์ได้จ้องมองดูบุรุษนั้นด้วยหน่วยตาทั้งสองอันนองด้วยน้ำตา ทั้งนี้ด้วยความกรุณาว่า เจ้าคนนี้เป็นอันธพาลประทุษร้ายมิตร แล้วพูดกับเขาด้วยความปรารถนาดีว่า-
อย่านะท่าน ! ท่านเป็นแขกสำหรับข้าพเจ้า ท่านยังสามารถทำกรรมอันหยาบช้าทารุณทำนองนี้ได้ ท่านยังจะอยู่ไปอีกนาน ควรจะช่วยห้ามคนอื่นๆเขาเสียด้วย
(หน้าที่ 100)
ครั้นพระโพธิสัตว์กล่าวดังนี้แล้ว ก็มิได้มีจิตคิดประทุษร้ายในบุรุษนั้น มิหนำซ้ำยังมิได้คิดห่วงถึงความลำบากของตน ได้ช่วยส่งบุรุษนั้นให้พ้นจากทางทุรกันดารจนลุถึงภูมิสถานอันเกษมปลอดภัยต่อไป
6. เรื่อพญานาคชื่อภูริทัตตะ
เรื่องที่สาม ครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคราชชื่อภูริทัตตะ พระโพธิสัตว์พญานาคภูริทัตตะนั้น ได้อธิษฐานเอาอุโบสถศีลแล้วขึ้นไปนอนอยู่บนยอดจอมปลวก ครั้งนั้นพวกพราหมณ์หมองูได้เอาโอสถมีพิษเหมือนกับไฟประลัยกัลป์ปราดใส่ทั่วทั้งตัว กระทืบด้วยเท้าทำให้อ่อนกำลังแล้วจับยัดใส่ข้องเล็ก ๆ นำไปเล่นกลให้คนดูจนทั่วชมพูทวีป พระโพธิสัตว์พญานาคภูริทัตตะก็มิได้แสดงอาการแม้เพียงนึกขัดเคืองในใจในพราหมณ์นั้นแต่ประการใด ข้อนี้สมด้วยความบาลีในคัมภีร์จริยาปิฏกว่า
เมื่อหมอดูชื่ออาลัมพานะ จับเรายัดใส่ในข้องเล็กๆก็ดี ย่ำเหยียบเราด้วยส้นเท้า เพื่อให้อ่อนกำลังลงก็ดี เรามิได้โกรธเคืองในหมองูอาลัมพานะนั้นเลย ทั้งนี้เพราะเรากลัวศีลของเราจะขาดกระท่อนกระแท่นไป
7. เรื่องพยานาคชื่อจัมเปยยะ
เรื่องที่สี่ ครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคราช ชื่อจัมเปยยะ แม้พระโพธิสัตว์พญานาคจัมเปยยะนั้นจะได้ถูกหมองูทรมานเบียดเบียนอยู่ด้วยประการต่างๆ ก็มิได้แสดงอาการแม้เพียงนึกขัดเคืองในใจ ข้อนี้ สมด้วยความบาลีในคัมภีร์จริยาปิฏกว่า
แม้ในชาติเป็นจัมเปยยะนาคราชนั้น เราก็ได้ประพฤติธรรมจำอุโบสถศีล หมองูได้จับเอาเราไปเล่นกลอยู่ที่ประตูพระราชวัง เขาประสงค์จะให้เราแสดงเป็นสีอะไร คือเป็นสีเขียวสีเหลืองสีขาวหรือสีแสดแก่ เราก็คล้อยให้เป็นไปตามใจประสงค์ของเขา เรามีความตั้งใจอยู่ว่า "ขอให้หมองูนี่ได้ลาภมาก ๆ เถิด" และด้วยอานุภาพของเรา เราสามารถที่จะบันดาลที่ดอนให้กลายเป็นน้ำก็ได้
(หน้าที่ 101)
แม้บันดาลน้ำให้กลายเป็นที่ดอนก็ได้ ถ้าเราจะพึงโกรธเคืองเจ้าหมองูนั้น เราก็สามารถที่จะทำให้เขากลายเป็นเถ้าถ่านชั่วครู่เท่านั้น แต่ถ้าเราตกอยู่ใต้อำนาจอกุศลจิตเท่านั้น เราก็จักเสื่อมจากศีล เมื่อเสื่อมจากศีลแล้ว ความปรารถนาขั้นสุดยอด คือ ความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ของเราก็จะไม่สำเร็จสมประสงค์
เรื่องพญานาคชื่อสังขปาละ
เรื่องที่ห้า ครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคราชชื่อสังขปาละ พระโพธิสัตว์สังขปาละนั้น ถูกบุตรนายพราน 16 คนช่วยกันเอาหอกอย่างแหลมคมแทงเข้าที่ลำตัวถึง 8 แห่ง แล้วเอาเครือวัลย์ที่เป็นหนามร้อยเข้าไปในรูแผลที่แทงนั้น ๆ เอาเชือกอย่างมั่นเหนียวร้อยเข้าทางรูจมูกแล้วช่วยกันลากไป ลำตัวถูกครูดสีไปกับพื้นดิน พระโพธิสัตว์สังขปาละนาคราช ได้เสวยทุกข์อย่างใหญ่หลวง แม้พระโพธิสัตว์จะสามารถบันดาลให้บุตรนายพรานเหล่านั้นแหลกละเอียดเป็นเถ้าธุลี ด้วยวิธีเพียงแต่โกรธแล้วจ้องมองดูเท่านั้น แต่พระโพธิสัตว์ก็มิได้ทำการโกรธเคืองลืมตาจ้องมองดูเขาเหล่านั้นเลย ข้อนี้สมด้วยความบาลีในคัมภีร์ชาดกว่า
ดูก่อนนายอฬาระ เราอยู่จำอุโบสถศีลเป็นนิจทุกวันพระ 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ คราวครั้งนั้น ได้มีบุตรของนายพราน 16 คน พากันถือเชือกและบ่วงอย่างมั่นเหนียวไปหาเรา แล้วเขาได้ช่วยกันร้อยจมูกเรา ฉุดดึงเชือกที่ร้อยจมูกผูกตรึงเราหมดทั้งตัวแล้วลากเราไป ทุกข์อย่างใหญ่หลวงถึงเพียงนั้น เราก็ยังอดกลั้นได้ ไม่ยอมทำให้อุโบสถศีลกำเริบเศร้าหมอง
แท้ที่จริงนั้น พระบรมศาสดามิใช่ได้ทรงทำสิ่งที่น่าอัศจรรย์ไว้เพียงที่ยกมาแสดงเป็นตัวอย่างนี้เท่านั้น พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระจริยาวัตรอันน่าอัศจรรย์ แม้อย่างอื่น ๆ ไว้เป็นอเนกประการ ซึ่งมีปรากฏในชาดกต่าง ๆ เช่น มาตุโปสกชาดก เป็นอาทิ
(หน้าที่ 102)
ก็แหละ บัดนี้ เมื่อเจ้าได้อ้างอิงเอาพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ผู้ทรงมีพระขันติคุณอย่างไม่มีใครเสมอเหมือน ทั้งในโลกมนุษย์และโลกเทวดาว่าเป็นศาสดาของเจ้าดังนี้แล้ว การที่เจ้าจะยอมจำนนให้จิตโกรธแค้นเกิดขึ้นครอบงำได้อยู่ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ชอบไม่สมควรอย่างยิ่งเทียว
อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ 7
ด้วยพิจารณาความสัมพันธ์กันมาในสังสารวัฏ
ก็แหละ โยคีบุคคลผู้ซึ่งได้เข้าถึงความเป็นทาสของกิเลสมานานหลายร้อยหลายพันชาติ แม้จะได้พยายามพิจารณาถึงพระคุณคือพระจริยาวัตรของพระบรมศาสดาในปางก่อนโดยวิธีดังแสดงมาสักเท่าไรก็ตาม ความโกรธแค้นนั้นก็ยังไม่สงบอยู่นั่นแล คราวนี้โยคีบุคคลนั้นจงพิจารณาถึงความสัมพันธ์กันมาในสังสารวัฎอันยาวนาน ซึ่งสาวหาเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ โดยอุบายวิธีดังต่อไปนี้
แหละเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนไว้ ซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์สังยุตตนิกายนิทานวรรคว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่เกิดมาในโลกนี้นั้นที่จะไม่เคยเป็นมารดากัน ไม่เคยเป็นบิดากัน ไม่เคยเป็นพี่น้องชายกัน ไม่เคยเป็นพี่น้องหญิงกัน ไม่เคยเป็นบุตรกัน และไม่เคยเป็นธิดากัน เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่ายเลย
เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลพึงส่งจิตไปในคนคู่เวรกันอย่างนี้ว่า
ได้ยินว่า สตรีผู้นี้เคยเป็นมารดาของเรามาในชาติปางก่อน เขาเคยได้บริหารรักษาเราอยู่ในครรภ์ตลอดเวลา 10 เดือน ได้ช่วยล้างเช็ดปัสสาวะน้ำลายและน้ำมูกเป็นต้น ให้แก่เราโดยไม่รังเกียจ เห็นสิ่งปฏิกูลเหล่านั้นเหมือนฝุ่นจันทร์หอม ช่วยประคองเราให้นอนอยู่ในระหว่างอก อุ้มเราไปด้วยสะเอว ได้ทะนุถนอมเลี้ยงเรามาเป็นอย่างดี ฉะนี้
(หน้าที่ 103)
บุรุษผู้นี้เคยเป็นบิดาของเรามา เมื่อประกอบการค้าขาย ต้องเดินไปในทางทุรกันดาร เช่น ต้องไปด้วยอาศัยแพะเป็นพาหนะ และต้องเหนี่ยวรั้งไปด้วยไม้ขอเป็นต้น แม้ชีวิตก็ยอมเสียสละเพื่อประโยชน์แก่ตัวเรา ครั้นในยามเกิดสงครามประชิดติดพันกัน ทั้งสองฝ่ายก็ต้องเอาตนเข้าสู่สนามรบ บางครั้งต้องแล่นเรือผ่านมหาสมุทร อันเต็มไปด้วยภัยอันตราย และได้ทำกิจการอย่างอื่น ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำได้ด้วยความลำบากยากเข็ญ พยายามสั่งสมทรัพย์ไว้ด้วยอุบายต่าง ๆ ด้วยมั่นหมายว่า จักเลี้ยงดูลูก ๆ ทั้งหลายให้เป็นสุข ฉะนี้
บุรุษผู้นี้เคยเป็นพี่น้องชายของเรามา สตรีผู้นี้เคยเป็นพี่น้องหญิงของเรามา บุรุษผู้นี้เคยเป็นบุตรของเรามา สตรีผู้นี้เคยเป็นธิดาของเรามา และแต่ละบุคคลนั้นเคยได้ทำอุปการะแก่เรามาหลายอย่างหลายประการมาเป็นอันมาก
เพราะเหตุฉะนั้น การที่เราจะทำใจให้โกรธแค้นในบุคคลนั้น ๆ ย่อมเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง ฉะนี้
อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ 8
ด้วยพิจารณาอานิสงส์เมตตา
ถ้าพระโยคีได้พยายามพิจารณา โดยความสัมพันธ์กันมาในสังสารวัฏดังแสดงมาแล้ว ก็ยังไม่สามารถที่จะทำความโกรธแค้นให้ดับลงได้อยู่นั่นแล แต่นั้นโยคีบุคคลจงพิจารณาถึงอานิสงส์ของเมตตา ด้วยอุบายวิธีดังต่อไปนี้
"นี่แน่ พ่อมหาจำเริญ ! พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสสอนไว้แล้วมิใช่หรือว่าคนผู้เจริญเมตตาภาวนาพึงหวังได้แน่นอน ซึ่งอานิสงส์ 11 ประการ ของเมตตาเจโตวิมุติที่ตนส้องเสพหนักแล้ว ทำให้เจริญขึ้นแล้ว ทำให้มาก ๆ แล้ว ทำให้เป็นดุจฐานอันแน่นหนาแล้วทำให้มั่นคงแล้ว สั่งสมด้วยวสี 5 ดีแล้ว ทำให้บังเกิดขึ้นด้วยดีแล้ว"
อานิสงส์เมตตา 11 ประการ
อานิสงส์ของเมตตาเจโตวิมุติ 11 ประการนั้น คือ
1. นอนเป็นสุข คือ ไม่กลิ้ง ไม่กรน หลับอย่างสนิทเหมือนเข้าสมาบัติ มีลักษณะท่าทางเรียบร้อยงดงามน่าเลื่อมใส
(หน้าที่ 104)
2. ตื่นเป็นสุข คือ ตื่นขึ้นมาแล้ว ไม่ทอดถอนหายใจ ไม่สยิ้วหน้า ไม่บิดไปบิดมา มีหน้าตาชื่นบานเหมือนดอกประทุมที่กำลังแย้มบาน
3. ไม่ฝันร้าย คือ ไม่ฝันเห็นสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว เช่น พวกโจรรุมล้อม สุนัขไล่กัด หรือตกเหว ฝันเห็นแต่นิมิตที่ดีงาม เช่น ไหว้พระเจดีย์ ทำการบูชาและฟังธรรมเทศนา
4. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย คือ เป็นที่รักเป็นที่เจริญใจของคนทั้งหลายเหมือนพวงไข่มุกที่ห้อยอยู่หน้าอก หรือดอกไม้ที่ประดับอยู่บนเศียร
5. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย คือ ไม่ใช่เป็นที่รักของคนอย่างเดียว ยังเป็นที่รักตลอดไปถึงเหล่าเทวาอารักษ์ทั้งหลายด้วย
6. เทวดาทั้งหลายคอยเฝ้ารักษา คือ เทวดาทั้งหลายย่อมคอยตามรักษาเหมือนมารดาบิดาคอยตามรักษาบุตรและธิดา
7. ไฟ ยาพิษหรือศัสตรา ไม่กล้ำกรายในตัวของเขา คือ ไม่ถูกไฟไหม้ ไม่ถูกวางยาพิษ หรือไม่ถูกศัสตราอาวุธประหาร
8. จิตเป็นสมาธิเร็ว คือ เมื่อเจริญกรรมฐาน จิตสำเร็จเป็นอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิได้เร็ว
9. ผิวหน้าผ่องใส คือ หน้าตามีผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส เหมือนลูกตาลสุกที่หล่นจากขั้วใหม่ ๆ
10. ไม่หลงทำกาลกิริยา คือ ไม่หลงตาย คล้ายกับนอนหลับไปเฉย ๆ
11. เมื่อไม่บรรลุถึงคุณธรรมเบื้องสูง อย่างต่ำก็จะบังเกิดในพรหมโลก คือ ถ้ายังไม่ได้บรรลุพระอรหัตอันเป็นคุณเบื้องสูงยิ่งกว่าเมตตาฌาน พอเคลื่อนจากมนุษยโลก ก็จะเข้าสู่พรหมโลกทันที เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้น
นี่แน่ พ่อมหาจำเริญ ! ถ้าเจ้าจักไม่ทำจิตที่โกรธแค้นอยู่นี้ให้ดับไปเสียแล้ว เจ้าก็จักเป็นคนอยู่ภายนอกจากอานิสงส์เมตตา 11 ประการนี้ ฉะนี้
(หน้าที่ 105)
อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ 9
ด้วยพิจารณาแยกธาตุ
ถ้าโยคีบุคคลยังไม่สามารถที่จะทำความโกรธแค้นให้ดับลงได้ ด้วยอุบายวิธีดังแสดงมา คราวนี้จงนึกเอาคนคู่เวรนั้นมาพิจารณาแยกออกให้เห็นเป็นเพียงสักว่า ธาตุส่วนหนึ่ง ๆ ด้วยอุบายวิธีดังนี้
โยคีบุคคลพึงสอนตนโดยวิธีแยกธาตุว่า –
นี่แน่ พ่อมหาจำเริญ ! เมื่อเจ้าโกรธคนคู่เวรนั้น เจ้าโกรธอะไรเขาเล่า ? คือ ในอาการ 32 เจ้าโกรธผมหรือ ? ขนหรือ ? เล็บหรือ ? ฟันหรือ ? หนังหรือ ? หรือโกรธเนื้อ, เอ็น, กระดูก, เยื่อกระดูก, ม้าม หรือโกรธ หัวใจ, ตับ พังผืด, ไต, ปอด ? หรือโกรธ ไส้ใหญ่, ไส้น้อย, อาหารใหม่, อาหารเก่า, มันสมอง ? เจ้าโกรธ ดี, เสลด, หนอง, เลือด, เหงื่อ, มันข้นหรือ ? หรือโกรธ น้ำตา, น้ำมันเหลว, น้ำลาย, น้ำมูก, นำไขข้อ, น้ำมูตร ? หรือ ในธาตุ 4 เจ้าโกรธ ธาตุดิน, ธาตุน้ำ, ธาตุไฟ, ธาตุลม หรือ ?
อนึ่ง คนคู่เวรนั้น เพราะอาศัยขันธ์ 5 หรืออายตนะ 12 หรือธาตุ 18 เหล่าใด เขาจึงได้มีชื่ออย่างนั้น ในขันธ์ 5 นั้น เจ้าโกรธ รูปขันธ์หรือ ? หรือโกรธ เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, วิญญาณขันธ์ ? หรือ ในอายตนะ 12 นั้น เจ้าโกรธ จักขวายตนะ รูปายตนะหรือ ? หรือโกรธ โสตายตนะ สัททายตนะ, ฆานายตนะ คันธายตนะ, ชิวหายตนะ รสายตนะ, กายายตนะ โผฏฐัพพายตนะ, มนายตนะ ธัมมายตนะ ? หรือในธาตุ 18 นั้นเจ้าโกรธ จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุหรือ ? หรือโกรธ โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ, ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญานธาตุ, ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ, กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ, มโนธาตุ ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ?
เมื่อโยคีบุคคลพิจารณาแยกกระจายคนคู่เวรนั้นออกโดยภาวะที่เป็นธาตุ คือ เป็นเพียงชิ้นส่วนอันหนึ่งๆ ประกอบกันไว้ดังได้แสดงมา ฉะนี้ ก็จะมองเห็นสภาวธรรม ด้วยปัญญา เห็นแจ้งชัดว่าฐานสำหรับที่จะรองรับความโกรธ ย่อมไม่มีอยู่ในคนคู่เวรนั้น เพราะ ธาตุทั้งหลายแต่ละธาตุ ๆ มีผมเป็นต้นนั้น เป็นสิ่งอันใคร ๆ ไม่ควรจะโกรธ และนอกเหนือ
(หน้าที่ 106)
ไปจากธาตุทั้งหลายมีผมเป็นต้นนั้นแล้วก็หามีคนไม่ ซึ่งเปรียบเหมือนฐานสำหรับรองรับเมล็ดพันธ์ผักกาดไม่มีที่ปลายเหล็กจาร (เหล็กแหลม) และฐานสำหรับรองรับจิตรกรรม ไม่มีในอากาศ ฉะนั้น
อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ 10
ด้วยการให้ปันสิ่งของ
ส่วนโยคีบุคคลผู้ไม่สามารถที่จะพิจารณาโดยวิธีแยกธาตุดังแสดงมา ก็พึงทำการให้ปันสิ่งของ กล่าวคือ พึงให้ปันสิ่งของตนแก่คนคู่เวร ตนเองก็ควรรับสิ่งของของคนคู่เวรด้วย ถ้าแหละคนคู่เวร มีอาชีพบกพร่อง มีเครื่องบริขารชำรุด ใช้สอยไม่ได้ ก็พึงให้เครื่องบริขารของตนนั่นแหละแก่เธอ เมื่อโยคีบุคคลทำการให้ปันได้อย่างนี้ ความอาฆาตเคียดแค้นก็จะระงับลงโดยสนิททีเดียว และแม้ความโกรธของคนคู่เวรซึ่งติดตามมาตั้งแต่อดีตชาติ ก็จะระงับลงโดยทันทีเช่นเดียวกัน เหมือนดังความโกรธของพระมหาเถระรูปหนึ่งระงับลง เพราะได้บาตรซึ่งพระปิณฑปาติกเถระผู้ถูกขับออกจากเสนาสนะ ในวัดจิตตลบรรพตถึง 3 ครั้ง ได้มอบถวาย พร้อมกับเรียนว่า ท่านขอรับ บาตรใบนี้มีราคา 8 กหาปณะ อุบาสิกาผู้เป็นโยมหญิงของกระผมถวาย เป็นลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม ขอท่านได้กรุณาทำให้เป็นบุญลาภแก่มหาอุบาสิกาด้วยเถิด ฉะนี้
ขึ้นชื่อว่าการให้ปันนี้มีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ฉะนี้ สมด้วยวจนะประพันธ์อันพระโบราณาจารย์ได้ประพันธ์ไว้ว่า
อทนฺตทมนํ ทานํ ทานํ สพฺพตฺถสาธกํ
ทาเนน ปิยวาจาย อุนฺนมนฺติ นมนฺติ จ
การให้ปันเป็นอุบายทรมานคนพยศให้หายได้ การให้ปันเป็นเครื่องบันดาลให้ประโยชน์ทุก ๆ อย่างสำเร็จได้ ผู้ให้ปันย่อมฟูใจขึ้น ฝ่ายผู้รับปันย่อมอ่อนน้อมลง ทั้งนี้ ด้วยการให้ปันและด้วยวาจาอ่อนหวานเป็นเหตุ ฉะนี้
(หน้าที่ 107)
เจริญเมตตาถึงขั้นสีมาสัมเภท
เมื่อโยคีบุคคลได้พยายามบรรเทาความโกรธแค้นในคนคู่เวรให้ระงับลงได้แล้ว ด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ มีการระลึกถึงพระพุทธโอวาทในกกจูปมสูตรเป็นต้น ตามที่ได้แสดงมาฉะนี้แล้ว จิตของโยคีบุคคลนั้นก็จะแผ่ไป น้อมไปแม้ในคนคู่เวรนั้นได้ด้วยวิธีแห่งเมตตาภาวนา เช่นเดียวกับในคนที่รัก, เพื่อนที่รักมาก และคนเป็นกลาง ๆ นั่นเทียว ลำดับนั้น โยคีบุคคลพึงเจริญเมตตาให้บ่อย ๆ ขึ้น แล้วทำเมตตาให้เป็นสีมาสัมเภท กล่าวคือทำให้จิตเสมอกัน ในบุคคล 4 จำพวก ได้แก่ ตนเอง 1 คนที่รัก 1 คนเป็นกลาง ๆ 1 คนคู่เวร 1 ต่อไป
ลักษณะของสีมาสัมเภท
ลักษณะของเมตตาที่เป็นสีมาสัมเภทนั้นดังนี้ สมมุติว่าขณะที่โยคีบุคคลผู้เจริญเมตตากรรมฐานนั้น นั่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับคนที่รัก, คนเป็นกลาง ๆ และคนคู่เวร เป็นสี่ทั้งตนเอง ได้มีพวกโจรเข้าไปหาแล้วพูดว่า ท่านครับ ขอจงให้ภิกษุแก่เราสักรูปหนึ่งเถิด โยคีบุคคลถามว่า จะเอาไปทำไม พวกโจรตอบว่า จะนำไปฆ่าเอาเลือดในลำคอทำพลีกรรม ในกรณีเช่นนี้ ถ้าโยคีบุคคลนั้นตัดสินใจว่า จงเอารูปนั้นหรือรูปโน้นก็ได้ ดังนี้ ไม่ชื่อว่า ทำเมตตาให้เป็นสีมาสัมเภท ถ้าแม้โยคีบุคคลจะพึงตัดสินว่า เชิญเอาตัวฉันไปเถอะ อย่าเอาสามคนนั้นเลย ดังนี้ ก็ไม่ชื่อว่าได้ทำเมตตาให้เป็นสีมาสัมเภทเช่นเดียวกัน
ถาม - เพราะเหตุไร จึงไม่เป็นสีมาสัมเภท ?
ตอบ - เพราะเหตุทีเมื่อโยคีบุคคลยังมีความปรารถนาให้โจรเอาภิกษุรูปใดรูปหนึ่งอยู่นั้น ก็ชื่อว่าเธอเป็นผู้มีความมุ่งร้ายในภิกษุรูปนั้นอยู่ และเป็นผู้ยังมีความปรารถนาดีในภิกษุรูปอื่น ๆ นอกนี้ จิตไม่สม่ำเสมอในคนทั้ง 4 คน
ต่อเมื่อใดโยคีบุคคลนั้น ไม่เห็นคนที่ตนอยากจะให้แก่พวกโจรแม้สักคนหนึ่ง ในจำนวน 4 คนนั้น วางจิตไว้เสมอทั้งในตนและคนสามคนนั้น ดังนี้ จึงได้ชื่อว่าทำเมตตาให้เป็นสีมาสัมเภท สมด้วยวจนะประพันธ์อันพระโบราณาจารย์ประพันธ์ไว้ว่า
(หน้าที่ 108)
ภิกษุผู้เจริญเมตตากรรมฐานนั้น ตราบใดที่ยังเห็นแตกต่างกันอยู่ในบุคคล 4 จำพวก คือ ตน, คนที่รัก, คนเป็นกลาง ๆ และคนที่เกลียดชัง ในคนใดคนหนึ่ง เรียกได้เพียงว่าเธอเป็นผู้มีจิตปรารถนาดีในสัตว์ทั้งหลาย แต่ยังไม่จัดว่าเป็นผู้มีความรักด้วยเมตตาแท้ หรือเป็นผู้มีกุศลอันประเสริฐ ต่อเมื่อใด ภิกษุนั้นทำลายขอบเขตแห่ง เมตตา คือบุคคล 4 จำพวกเสียได้ จึงจะแผ่เมตตาแท้ไปได้ทั่วโลกมนุษย์กับทั้งโลกเทวดาอย่างสม่ำเสมอกัน ขอบเขตแห่งเมตตาไม่ปรากฏมีแก่ภิกษุใด เธอได้ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้ประเสริฐยิ่งใหญ่กว่าคนที่ยังเห็นแตกต่างในบุคคล 4 จำพวกข้างต้นนั้น
สีมาสัมเภทเท่ากับปฏิภาคนิมิต
ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันว่าโยคีบุคคลผู้เจริญเมตตากรรมฐานนี้ ได้สำเร็จถึงขั้นปฏิภาคนิมิตหรืออุปจารสมาธิแล้ว ทั้งนี้ตลอดเวลาที่สีมาสัมเภทยังเป็นไปอยู่อย่างสม่ำเสมอนั่นเทียว อธิบายว่า ในกรรมฐานอื่น ๆ เช่น กสิณกรรมฐานเป็นต้น ปฏิภาคนิมิตย่อมปรากฏให้เห็นเป็นอารมณ์ของฌานจิต โดยอาศัยอุคคหนิมิตที่ได้มาด้วยการภาวนา ซึ่งเรียกว่าดวงกสิณเป็นต้น ส่วนในเมตตากรรมฐานนี้ไม่มีปฏิภาคนิมิตปรากฏให้เห็นเหมือนอย่างนั้น แต่ว่าสีมาสัมเภทอันมีลักษณะดังแสดงมาที่โยคีบุคคลได้บรรลุแล้วนั้นแล จัดเป็นดุจปฏิภาคนิมิตในที่นี้ ด้วยมีลักษณะอาการคล้ายกับปฏิภาคนิมิตในกรรมฐานอื่น ๆ เพราะว่าเมื่อโยคีบุคคลเจริญเมตตากรรมฐานมาจนสำเร็จถึงขั้นสีมาสัมเภทแล้ว โดยเหตุที่ภาวนามีกำลังแก่กล้าขึ้น นิวรณ์ 5 ประการ อันเป็นศัตรูโดยตรงของฌานจึงเป็นอันโยคีบุคคลข่มไว้ได้แล้ว กิเลสทั้งหลายอันตั้งอยู่ในฐานะเดียวกันกับนิวรณ์ก็สงบลงหมดแล้ว จิตของโยคีบุคคลนั้นก็เป็นอันตั้งมั่นดีแล้ว ด้วยกำลังแห่งอุปจารสมาธินั่นเทียว
เมื่อโยคีบุคคลเจริญเมตตากรรมฐานถึงขั้นสีมาสัมเภทแล้วดังนั้น คราวนี้จงทำสีมาสัมเภทนั่นแหละให้เป็นนิมิตกรรมฐาน แล้วพยายามส้องเสพนิมิตนั้นให้หนักขึ้นทำให้
(หน้าที่ 109)
เจริญขึ้น เพียรทำให้มาก ๆ เข้า โยคีบุคคลก็จะบรรลุถึงซึ่งอัปปนาสมาธิอันได้แก่ปฐมฌานซึ่งเป็นฌานขั้นแรก โดยทำนองที่แสดงมาแล้วในปถวีกสิณนิทเทส ทั้งนี้ โดยจะไม่เป็นการลำบากอะไรเลย
ด้วยภาวนาวิธีเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าโยคีบุคคลผู้เจริญเมตตากรรมฐาน ได้บรรลุแล้วซึ่งปฐมฌาน ซึ่งประกอบด้วยเมตตาพรหมวิหาร อันละเสียได้ซึ่งองค์ 5 ประกอบด้วย องค์ 5 มีความงาม 3 ถึงพร้อมลักษณะ 10 ฉะนี้แล
โยคีบุคคลผู้ได้บรรลุถึงขั้นปฐมฌาน เป็นฌานลาภีบุคคลแล้ว แต่นั้นเมื่อพยายามเจริญกรรมฐานให้ยิ่งขึ้นไป โดยใช้นิมิตคือสีมาสัมเภทนั้นแหละเป็นอารมณ์กรรมฐาน ส้องเสพนิมิตนั้นให้หนักขึ้นทำให้เจริญขึ้นทำให้เพียรทำให้มาก ๆ เข้า ก็จะได้บรรลุถึงฌานขั้นสูงขึ้นไปโดยลำดับ กล่าวคือในกรณีที่นับจำนวนฌานเป็น 4 ขั้นที่เรียกว่า จตุกกนัย ก็จะได้บรรลุทุติยฌานและตติยฌานเป็นขั้นสุดท้าย ไม่ถึงขั้นจตุตถฌาน ในกรณีทีนับจำนวนฌานเป็น 5 ขั้น ที่เรียกว่าปัญจกนัย ก็จะได้บรรลุทุติยฌานและจตุตถฌานเป็นขั้นสุดท้าย ไม่ถึงขั้นปัญจมฌาน ทั้งนี้ เพราะเหตุที่จตุตถฌานโดยจตุกกนัย และปัญจมฌานโดยปัญจกนัย มีองค์ฌานเป็นอุเบกขาเวทนา เมตตานี้เป็นฝักฝ่ายแห่งโสมนัสเวทนา ดังนั้นเมตตากรรมฐานจึงไม่สามารถที่จะให้บรรลุถึงจตุตถฌานหรือปัญจมฌานได้ ด้วยประการฉะนี้
การแผ่เมตตาไปทั่วทิศและทั่วโลก
ก็แหละ โยคีบุคคลผู้เจริญเมตตากรรมฐานจนบรรลุถึงอัปปนาฌานเป็นฌานลาภีบุคคลนั้นแล้ว ย่อมแผ่เมตตาจิตโดยเจาะจงไปทั่วทุกทิศ คือ เป็นผู้ประกอบด้วยเมตตาอันสำเร็จด้วยอำนาจปฐมฌานเป็นต้นฌานใดฌานหนึ่ง ย่อมแผ่จิตเมตตาไปทางทิศใหญ่ทิศหนึ่ง มีทิศบูรพาเป็นต้น ถัดนั้นย่อมแผ่เมตตาจิตไปทางทิศใหญ่ที่สอง ถัดนั้นย่อมแผ่เมตตาจิตไป
(หน้าที่ 110)
ทางทิศใหญ่ที่สาม ถัดนั้นย่อมแผ่เมตตาจิตไปทางทิศใหญ่ที่สี่ โดยทำนองเดียวกัน ย่อมแผ่เมตตาจิตขึ้นไปทางทิศเบื้องบนจรดพรหมโลก ย่อมแผ่เมตตาจิตลงไปทางทิศเบื้องล่างจรดอเวจีมหานรก ย่อมแผ่เมตตาจิตไปทางทิศน้อยทั้ง 4 คือ ทิศอาคเนย์ ทิศพายัพ ทิศอีสาน ทิศหรดี ได้แก่ยังจิตอันประกอบด้วยเมตตาให้ระลึกแล่นไปในทิศทั้ง 10 ครบทุกทิศอย่างนี้ เหมือนนายสารถีควบม้าให้วิ่งไปทั่วบริเวณสนามม้า ฉะนั้น
และย่อมแผ่เมตตาจิตโดยไม่เจาะจงไปทั่วทั้งโลก คือโยคีผู้ฌานลาภีบุคคลนั้นเป็นผู้มีจิตประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์กว้างขวาง อันถึงความเป็นใหญ่โดยภูมิ อันไม่มีประมาณในสัตว์ อันไม่มีพยาบาทเป็นเหตุผูกเวรสัตว์ และอันไม่มีโทมนัสเป็นเหตุเบียดเบียนสัตว์ ย่อมแผ่เมตตาจิตไปยังโลกอันประกอบด้วยหมู่สัตว์ทุกชนิด ในประเทศต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก โดยเป็นผู้มีตนเสมอในสัตว์ทุกจำพวก คือ ทั้งคนชั้นต่ำ ชั้นกลาง และชั้นสูง ทั้งคนที่เป็นมิตร เป็นศัตรู และเป็นกลาง ๆ ทั้งที่เป็นสตรีหรือบุรุษ ทั้งที่เป็นพระอริยเจ้าหรือปุถุชน ทั้งที่เป็นเทวดาหรือมนุษย์ ด้วยประการฉะนี้
แต่อย่างไรก็ดี วิธีแผ่เมตตาไปทั่วทิศและทั่วโลกที่แสดงมานี้ จะสำเร็จเป็นไปได้ก็เฉพาะแต่โยคีบุคคลผู้ได้บรรลุถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ด้วยอำนาจแห่งปฐมฌานเป็นต้นเท่านั้น
วิธีการแผ่เมตตา 3 อย่าง
ก็แหละ วิธีการแผ่เมตตาไปทั่วทิศและทั่วโลกที่แสดงมานี้ ย่อมสำเร็จเป็นไปได้เฉพาะแต่โยคีบุคคลได้บรรลุถึงขั้นอัปปนาฌานแล้ว ฉันใด แม้วิธีการแผ่เมตตาที่ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค 3 อย่าง ดังจะแสดงต่อไปนี้ ก็สำเร็จเป็นไปได้เฉพาะแต่โยคีบุคคลผู้ได้บรรลุถึงขั้นอัปปนาฌานแล้วเช่นเดียวกัน คือ เมตตาเจโตวิมุติที่แผ่ไปโดยไม่เจาะจงบุคคล ซึ่งเรียกว่า อโนธิโสผรณา โดยอาการ 5 นั้นอย่างหนึ่ง เมตตาเจโตวิมุติที่แผ่ไปโดยเจาะจงบุคคล ซึ่งเรียกว่า โอธิโสผรณา โดยอาการ 7 นั้นอย่างหนึ่ง เมตตาเจโตวิมุติที่แผ่ไปในทิศซึ่งเรียกว่า ทิสาผรณา โดยอาการ 10 นั้นอย่างหนึ่ง ฉะนี้
(หน้าที่ 111)
อย่างไรก็ดี ผู้ปฏิบัติพึงศึกษาให้เข้าใจในวิธีการแผ่เมตตาไม่เจาะจงบุคคลโดยอาการ 5 เจาะจงบุคคลโดยอาการ 7 ตามที่ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคนั้น เพื่อถือเป็นหลักปฏิบัติต่อไปนี้
1. อโนธิโสผรณา
คำแผ่เมตตาไม่เจาะจงโดยอาการ 5
1. สพฺเพ สตฺตา อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอสัตว์ทั้งปวง จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
2. สพฺเพ ปาณา อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอปาณะทั้งปวง จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
3. สพฺเพ ภูตา อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอภูตทั้งปวง จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
4. สพฺเพ ปุคฺคลา อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอบุคคลทั้งปวง จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
5. สพฺเพ อตฺตภาวปริยาปนฺนา อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ, ขอผู้มีอัตภาพทั้งปวง จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
2. โอธิโสผรณา
คำแผ่เมตตาเจาะจงโดยอาการ 7
1. สพฺเพ อิตฺถิโย อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆาโหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอสตรีทั้งปวง จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน,จงอย่ามีทุกข์,จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
(หน้าที่ 112)
2. สพฺเพ ปุริสา อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอบุรุษทั้งปวง จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
3. สพฺเพ อริยา อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอพระอริยเจ้าทั้งปวง จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
4. สพฺเพ อนริยา อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอปุถุชนทั้งปวง จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
5. สพฺเพ เทวา อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ ขอเทวดาทั้งปวง จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
6. สพฺเพ มนุสฺสา อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ. ขอมนุษย์ทั้งปวง จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
7. สพฺเพ วินิปาติกา อเวรา โหนฺตุ อพยาปชฺชา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอพวกสัตว์วินิปาติกะทั้งปวง จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
3. ทิสาผรณา
วิธีแผ่เมตตาไปในทิศโดยอาการ 10
วิธีการแผ่เมตตาไปในทิศนั้น คือแผ่เมตตาไปในบุคคล 12 จำพวกนั้นที่อยู่ในทิศทั้ง 10 ได้แก่ทิศใหญ่ 4 ทิศน้อย 4 ทิศเบื้องล่าง 1 ทิศเบื้องบน 1 ทิศหนึ่งนับเป็นอาการแห่งภาวนาอันหนึ่ง จึงเรียกว่าโดยอาการ 10 มีคำสำหรับแผ่ดังต่อไปนี้
(หน้าที่ 113)
คำแผ่เมตตาในทิศโดยอาการ 10 วาระที่ 1
ในบุคคลที่ 1
1. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย ทิสาย สตฺตา อเวรา โหนฺต, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศบูรพา จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
2. สพฺเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย สตฺตา อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศประจิม จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์ จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
3. สพฺเพ อุตฺตราย ทิสาย สตฺตา อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศอุดร จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
4. สพฺเพ ทกฺขิณาย ทิสาย สตฺตา อเวรา โหนตุ, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศทักษิณ จงอย่าผูกเวรกัน, ขออย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
5. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย สตฺตา อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอสัตว์ทั้ปวงในทิศอาคเนย์ จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
6. สพฺเพ ปจฺฉิมาย อนุทิสาย สตฺตา อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศพายัพ จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
7. สพฺเพ อุตฺตราย อนุทิสาย สตฺตา อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศอีสาน จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
(หน้าที่ 114)
8. สพฺเพ ทกฺขิณาย อนุทิสาย สตฺตา อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศหรดี จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
9. สพฺเพ เหฏฐิมาย ทิสาย สตฺตา อเวรา โหนฺตุ อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศเบื้องล่าง จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
10. สพฺเพ อุปริมาย ทิสาย สตฺตา อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนฺต, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศเบื้องบน จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
คำแผ่เมตตาในทิศโดยอาการ 10 วาระที่ 2
ในบุคคลที่ 2
11. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย ทิสาย ปาณา อเวรา โหนฺตุ, อพยาปชฺชา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ, สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ. ขอปาณะทั้งปวงในทิศบูรพา จงอย่าผูกเวรกัน, จงอย่าเบียดเบียนกัน, จงอย่ามีทุกข์, จงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด
12. สพฺเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย ปาณา…..ปริหรนฺตุ. ขอปาณะทั้งปวงในทิศประจิม……ประคองตนไปให้รอดเถิด
13. สพฺเพ อุตฺตราย ทิสาย ปาณา…..ปริหรนฺตุ. ขอปาณะทั้งปวงในทิศอุดร…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
14. สพฺเพ ทกฺขิณาย ทิสาย ปาณา….ปริหรนฺตุ. ขอปาณะทั้งปวงในทิศทักษิณ…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
15. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย ปาณา….ปริหรนฺตุ. ขอปาณะทั้งปวงในทิศอาคเนย์…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
16. สพฺเพ ปจฺฉิมาย อนุทิสาย ปาณา…..ปริหรนฺตุ. ขอปาณะทั้งปวงในทิศพายัพ…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
(หน้าที่ 115)
17. สพฺเพ อุตฺตราย อนุทิสาย ปาณา…..ปริหรนฺตุ. ขอปาณะทั้งปวงในทิศอีสาน…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
18. สพฺเพ ทกฺขิณาย อนุทิสาย ปาณา…..ปริหรนฺตุ. ขอปาณะทั้งปวงในทิศหรดี…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
19. สพฺเพ เหฏฐิมาย ทิสาย ปาณา….ปริหรนฺตุ. ขอปาณะทั้งปวงในทิศเบื้องล่าง…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
20. สพฺเพ อุปริมาย ทิสาย ปาณา…..ปริหรนฺตุ. ขอปาณะทั้งปวงในทิศเบื้องบน….ประคองตนไปให้รอดเถิด
คำแผ่เมตตาในทิศโดยอาการ 10 วาระที่ 3
ในบุคคลที่ 3
21. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย ทิสาย ภูตา…..ปริหรนฺตุ. ขอภูตทั้งปวงในทิศบูรพา….ประคองตนไปให้รอดเถิด
22. สพฺเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย ภูตา….ปริหรนฺตุ. ขอภูตทั้งปวงในทิศประจิม…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
23. สพฺเพ อุตฺตราย ทิสาย ภูตา…..ปริหรนฺตุ. ขอภูตทั้งปวงในทิศอุดร….ประคองตนไปให้รอดเถิด
24. สพฺเพ ทกฺขิณาย ทิสาย ภูตา….ปริหรนฺตุ. ขอภูตทั้งปวงในทิศทักษิณ…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
25. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย ภูตา…..ปริหรนฺตุ. ขอภูตทั้งปวงในทิศอาคเนย์….ประคองตนไปให้รอดเถิด
26. สพฺเพ ปจฺฉิมาย อนุทิสาย ภูตา…..ปริหรนฺตุ. ขอภูตทั้งปวงในทิศพายัพ…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
27. สพฺเพ อุตฺตราย อนุทิสาย ภูตา…..ปริหรนฺตุ. ขอภูตทั้งปวงในทิศอีสาน…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
(หน้าที่ 116)
28. สพฺเพ ทกฺขิณาย อนุทิสาย ภูตา…..ปริหรนฺตุ. ขอภูตทั้งปวงในทิศหรดี…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
29. สพฺเพ เหฏฐิมาย ทิสาย ภูตา…..ปริหรนฺตุ. ขอภูตทั้งปวงในทิศเบื้องล่าง…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
30. สพฺเพ อุปริมาย ทิสาย ภูตา….ปริหรนฺตุ. ขอภูตทั้งปวงในทิศเบื้องบน…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
คำแผ่เมตตาในทิศโดยอาการ 10 วาระที่ 4
ในบุคคลที่ 4
31. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย ทิสาย ปุคฺคลา…..ปริหรนฺตุ. ขอบุคคลทั้งปวงในทิศบูรพา…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
32. สพฺเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย ปุคฺคลา…..ปริหรนฺตุ. ขอบุคคลทั้งปวงในทิศประจิม…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
33. สพฺเพ อุตฺตราย ทิสาย ปุคฺคลา…..ปริหรนฺตุ. ขอบุคคลทั้งปวงในทิศอุดร…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
34. สพฺเพ ทกฺขิณาย ทิสาย ปุคฺคลา….ปริหรนฺตุ. ขอบุคคลทั้งปวงในทิศทักษิณ…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
35. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย ปุคฺคลา…..ปริหรนฺตุ. ขอบุคคลทั้งปวงในทิศอาคเนย์…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
36. สพฺเพ ปจฺฉิมาย อนุทิสาย ปุคฺคลา…..ปริหรนฺตุ. ขอบุคคลทั้งปวงในทิศพายัพ…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
37. สพฺเพ อุตฺตราย อนุทิสาย ปุคฺคลา…..ปริหรนฺตุ. ขอบุคคลทั้งปวงในทิศอีสาน…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
38. สพฺเพ ทกฺขิณาย อนุทิสาย ปุคฺคลา….ปริหรนฺตุ. ขอบุคคลทั้งปวงในทิศหรดี…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
(หน้าที่ 117)
39. สพฺเพ เหฏฐิมาย ทิสาย ปุคฺคลา…..ปริหรนฺตุ. ขอบุคคลทั้งปวงในทิศเบื้องล่าง…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
40. สพฺเพ อุปริมาย ทิสาย ปุคฺคลา…..ปริหรนฺตุ. ขอบุคคลทั้งปวงในทิศเบื้องบน….ประคองตนไปให้รอดเถิด
คำแผ่เมตตาในทิศโดยอาการ 10 วาระที่ 5
ในบุคคลที่ 5
41. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย ทิสาย อตฺตภาวปริยาปนฺนา…..ปริหรนฺตุ. ขอผู้มีอัตภาพทั้งปวงในทิศบูรพา…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
42. สพฺเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย อตฺตภาวปริยาปนฺนา…..ปริหรนฺตุ. ขอผู้มีอัตภาพทั้งปวงในทิศประจิม…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
43. สพฺเพ อุตฺตราย ทิสาย อตฺตภาวปริยาปนฺนา…..ปริหรนฺตุ. ขอผู้มีอัตภาพทั้งปวงในทิศอุดร….ประคองตนไปให้รอดเถิด
44. สพฺเพ ทกฺขิณาย ทิสาย อตฺตภาวปริยาปนฺนา…ปริหรนฺตุ. ขอผู้มีอัตภาพทั้งปวงในทิศทักษิณ….ประคองตนไปให้รอดเถิด
45. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย อตฺตภาวปริยาปนฺนา…..ปริหรนฺตุ. ขอผู้มีอัตภาพทั้งปวงในทิศอาคเนย์…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
46. สพฺเพ ปจฺฉิมาย อนุทิสาย อตฺตภาวปริยาปนฺนา…..ปริหรนฺตุ. ขอผู้มีอัตภาพทั้งปวงในทิศพายัพ…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
47. สพฺเพ อุตฺตราย อนุทิสาย อตฺตภาวปริยาปนฺนา…..ปริหรนฺตุ. ขอผู้มีอัตภาพทั้งปวงในทิศอีสาน…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
48. สพฺเพ ทกฺขิณาย อนุทิสาย อตฺตภาวปริยาปนฺนา….ปริหรนฺตุ. ขอผู้มีอัตภาพทั้งปวงในทิศหรดี…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
49. สสสพฺเพ เหฏฐิมาย ทิสาย อตฺตภาวปริยาปนฺนา…..ปริหรนฺตุ. ขอผู้มีอัตภาพทั้งปวงในทิศเบื้องล่าง…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
(หน้าที่ 118)
50. สพฺเพ อุปริมาย ทิสาย อตฺตภาวปริยาปนฺนา…..ปริหรนฺตุ. ขอผู้มีอัตภาพทั้งปวงในทิศเบื้องบน…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
คำแผ่เมตตาในทิศโดยอาการ 10 วาระที่ 6
ในบุคลที่ 6
51. สพฺพา ปุรตฺถิมาย ทิสาย อิตฺถิโย…..ปริหรนฺตุ. ขอสตรีทั้งปวงในทิศบูรพา…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
52. สพฺพา ปจฺฉิมาย ทิสาย อิตฺถิโย…..ปริหรนฺตุ. ขอสตรีทั้งปวงในทิศประจิม…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
53. สพฺพา อุตฺตราย ทิสาย อิตฺถิโย…..ปริหรฺตุ. ขอสตรีทั้งปวงในทิศอุดร…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
54. สพฺพา ทกฺขิณาย ทิสาย อิตฺถิโย…..ปริหรนฺตุ. ขอสตรีทั้งปวงในทิศทักษิณ…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
55. สพฺพา ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย อิตฺถิโย…..ปริหรนฺตุ. ขอสตรีทั้งปวงในทิศอาคเนย์…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
56. สพฺพา ปจฺฉิมาย อนุทิสาย อิตฺถิโย…..ปริหรนฺตุ. ขอสตรีทั้งปวงในทิศพายัพ…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
57. สพฺพา อุตฺตราย อนุทิสาย อิตฺถิโย…..ปริหรนฺตุ. ขอสตรีทั้งปวงในทิศอีสาน…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
58. สพฺพา ทกฺขิณาย อนุทิสาย อิตฺถิโย…..ปริหรนฺตุ. ขอสตรีทั้งหลายทิศหรดี…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
59. สพฺพา เหฏฐิมาย ทิสาย อิตฺถิโย…..ปริหรนฺตุ. ขอสตรีทั้งปวงในทิศเบื้องล่าง…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
60. สพฺพา อุปริมาย ทิสาย อิตฺถิโย…..ปริหรนฺตุ. ขอสตรีทั้งปวงในทิศเบื้องบน…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
(หน้าที่ 119)
คำแผ่เมตตาในทิศโดยอาการ 10 วาระที่ 7
ในบุคคลที่ 7
61. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย ทิสาย ปุริสา…..ปริหรนฺตุ. ขอบุรุษทั้งปวงในทิศบูรพา…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
62. สพฺเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย ปุริสา…..ปริหรนฺตุ. ขอบุรุษทั้งปวงในทิศประจิม…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
63. สพฺเพ อุตฺตราย ทิสาย ปุริสา…..ปริหรนฺตุ. ขอบุรุษทั้งปวงในทิศอุดร…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
64. สพฺเพ ทกฺขิณาย ทิสาย ปุริสา…..ปริหรนฺตุ. ขอบุรุษทั้งปวงในทิศทักษิณ….ประคองตนไปให้รอดเถิด
65. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย ปุริสา…..ปริหรนฺตุ. ขอบุรุษทั้งปวงในทิศอาคเนย์…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
66. สพฺเพ ปจฺฉิมาย อนุทิสาย ปุริสา….ปริหรนฺตุ. ขอบุรุษทั้งปวงในทิศพายัพ….ประคองตนไปให้รอดเถิด
67. สพฺเพ อุตฺตราย อนุทิสาย ปุริสา…..ปริหรนฺตุ. ขอบุรุษทั้งปวงในทิศอีสาน….ประคองตนไปให้รอดเถิด
68. สพฺเพ ทกฺขิณาย อนุทิสาย ปุริสา…..ปริหรนฺต. ขอบุรุษทั้งปวงในทิศหรดี…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
69. สพฺเพ เหฏฐิมาย ทิสาย ปุริสา….ปริหรนฺตุ. ขอบุรุษทั้งปวงในทิศเบื้องล่าง….ประคองตนไปให้รอดเถิด
70. สพฺเพ อุปริมาย ทิสาย ปุริสา….ปริหรฺตุ. ขอบุรุษทั้งหลายในทิศเบื้องบน…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
(หน้าที่ 120)
คำแผ่เมตตาในทิศโดยอาการ 10 วาระที่ 8
ในบุคคลที่ 8
71. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย ทิสาย อริยา….ปริหรนฺตุ. ขอพระอริยเจ้าทั้งปวงในทิศบูรพา….ประคองตนไปให้รอดเถิด
72. สพฺเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย อริยา….ปริหรนฺตุ. ขอพระอริยเจ้าทั้งปวงในทิศประจิม…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
73. สพฺเพ อุตฺตราย ทิสาย อริยา…..ปริหรนฺตุ. ขอพระอริยเจ้าทั้งปวงทิศอุดร…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
74. สพฺเพ ทกฺขิณาย ทิสาย อริยา….ปริหรนฺตุ. ขอพระอริยเจ้าทั้งปวงในทิศทักษิณ…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
75. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย อริยา….ปริหรนฺตุ. ขอพระอริยเจ้าทั้งปวงในทิศอาคเนย์…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
76. สพฺเพ ปจฺฉิมาย อนุทิสาย อริยา….ปริหรนฺตุ. ขอพระอริยเจ้าทั้งปวงในทิศพายัพ….ประคองตนไปให้รอดเถิด
77. สพฺเพ อุตฺตราย อนุทิสาย อริยา….ปริหรนฺตุ.ขอพระอริยเจ้าทั้งปวงในทิศอีสาน…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
78. สพฺเพ ทกฺขิณาย อนุทิสาย อริยา…..ปริหรนฺตุ. ขอพระอริยเจ้าทั้งปวงในทิศหรดี…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
79. สพฺเพ เหฏฐิมาย ทิสาย อริยา…..ปริหรนฺตุ. ขอพระอริยเจ้าทั้งปวงในทิศเบื้องล่าง…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
80. สพฺเพ อุปริมาย ทิสาย อริยา….ปริหรนฺตุ. ขอพระอริยเจ้าทั้งปวงในทิศเบื้องบน…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
(หน้าที่ 121)
คำแผ่เมตตาในทิศโดยอาการ 10 วาระที่ 9
ในบุคคลที่ 9
81. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย ทิสาย อนริยา…. ปริหรนฺตุ. ขอปุถุชนทั้งปวงในทิศบูรพา….ประคองตนไปให้รอดเถิด
82. สพฺเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย อนริยา…..ปริหรนฺตุ. ขอปุถุชนทั้งปวงในทิศประจิม…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
83. สพฺเพ อุตฺตราย ทิสาย อนริยา….ปริหรนฺตุ. ขอปุถุชนทั้งปวงในทิศอุดร….ประคองตนไปให้รอดเถิด
84. สพฺเพ ทกฺขิณาย ทิสาย อนริยา…..ปริหรนฺตุ. ขอปุถุชนทั้งปวงในทิศทักษิณ…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
85. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย อนริยา…..ปริหรนฺตุ. ขอปุถุชนทั้งปวงในทิศอาคเนย์…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
86. สพฺเพ ปจฺฉิมาย อนุทิสาย อนริยา…..ปริหรนฺตุ. ขอปุถุชนทั้งหลายในทิศพายัพ…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
87. สพฺเพ อุตฺตราย อนุทิสาย อนริยา…..ปริหรนฺตุ. ขอปุถุชนทั้งหลายในทิศอีสาน…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
88. สพฺเพ ทกฺขิณาย อนุทิสาย อนริยา…..ปริหรนฺตุ ขอปุถุชนทั้งหลายในทิศหรดี…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
89. สพฺเพ เหฏฐิมาย ทิสาย อนริยา…..ปริหรนฺตุ. ขอปุถุชนทั้งหลายในทิศเบื้องล่าง…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
90. สพฺเพ อุปริมาย ทิสาย อนริยา…..ปริหรนฺตุ. ขอปุถุชนทั้งปวงในทิศเบื้องบน…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
(หน้าที่ 122)
คำแผ่เมตตาในทิศโดยอาการ 10 วาระที่ 10
ในบุคคลที่ 10
91. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย ทิสาย เทวา….ปริหรนฺตุ. ขอเทวดาทั้งปวงในทิศบูรพา….ประคองตนไปให้รอดเถิด
92. สพเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย เทวา….ปริหรนฺตุ. ขอเทวดาทั้งปวงในทิศประจิม….ประคองตนไปให้รอดเถิด
93. สพฺเพ อุตฺตราย ทิสาย เทวา…..ปริหรนฺตุ. ขอเทวดาทั้งปวงในทิศอุดร…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
94. สพฺเพ ทกฺขิณาย ทิสาย เทวา….ปริหรนฺตุ. ขอเทวดาทั้งปวงในทิศทักษิณ…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
95. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย เทวา….ปริหรนฺตุ. ขอเทวดาทั้งปวงในทิศอาคเนย์…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
96. สพฺเพ ปจฺฉิมาย อนุทิสาย เทวา….ปริหรนฺตุ. ขอเทวดาทั้งปวงในทิศพายัพ…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
97. สพฺเพ อุตฺตราย อนุทิสาย เทวา….ปริหรนฺตุ. ขอเทวดาทั้งปวงในทิศอีสาน…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
98. สพฺเพ ทกฺขิณาย อนุทิสาย เทวา…..ปริหรนฺตุ. ขอเทวดาทั้งปวงทิศหรดี…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
99. สพฺเพ เหฏฐิมาย ทิสาย เทวา…..ปริหรนฺตุ. ขอเทวดาทั้งปวงในทิศเบื้อล่าง…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
100. สพฺเพ อุปริมาย ทิสาย เทวา…..ปริหรนฺตุ. ขอเทวดาทั้งปวงในทิศเบื้องบน…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
(หน้าที่ 123)
คำแผ่เมตตาในทิศโดยอาการ 10 วาระที่ 11
ในบุคคลที่ 11
101. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย ทิสาย มนุสฺสา…..ปริหรนฺตุ. ขอมนุษย์ทั้งปวงในทิศบูรพา…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
102. สพฺเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย มนุสฺสา….ปริหรนฺตุ. ขอมนุษย์ทั้งปวงในทิศประจิม…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
103. สพฺเพ อุตฺตราย ทิสาย มนฺุสฺสา….ปริหรนฺตุ. ขอมนุษย์ทั้งปวงในทิศทักษิณ…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
104. สพฺเพ ทกฺขิณาย ทิสาย มนุสฺสา…..ปริหรนฺตุ. ขอมนุษย์ทั้งปวงในทิศอุดร…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
105. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย มนุสฺสา…..ปริหรนฺตุ. ขอมนุษย์ทั้งปวงในทิศอาคเนย์….ประคองตนไปให้รอดเถิด
106. สพฺเพ ปจฺฉิมาย อนุทิสาย มนุสฺสา…..ปริหรนฺตุ. ขอมนุษย์ทั้งปวงในทิศพายัพ…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
107. สพฺเพ อุตฺตราย อนุทิสาย มนุสฺสา….ปริหรนฺตุ ขอมนุษย์ทั้งปวงในทิศอีสาน….ประคองตนไปให้รอดเถิด
108. สพฺเพ ทกฺขิณาย อนุทิสาย มนุสฺสา….ปริหรนฺตุ. ขอมนุษย์ทั้งปวงในทิศหรดี…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
109. สพฺเพ เหฏฐิมาย ทิสาย มนุสฺสา….ปริหรนฺตุ. ขอมนุษย์ทั้งปวงในทิศเบื้องล่าง…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
110. สพฺเพ อุปริมาย ทิสาย มนุสฺสา….ปริหรนฺตุ. ขอมนุษย์ทั้งปวงในทิศเบื้องบน…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
(หน้าที่ 124)
คำแผ่เมตตาในทิศโดยอาการ 10 วาระที่ 12
ในบุคคลที่ 12
111. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย ทิสาย วินิปาติกา…..ปริหรนฺตุ. ขอพวกสัตว์วินิปาติกะทั้งปวงในทิศบูรพา….ประคองตนไปให้รอดเถิด
112. สพฺเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย วินิปาติกา…..ปริหรนฺตุ. ขอพวกสัตว์วินิปาติกะทั้งปวงในทิศประจิม…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
113. สพฺเพ อุตฺตราย ทิสาย วินิปาติกา….ปริหรนฺตุ. ขอพวกสัตว์วินิปาติกะทั้งปวงในทิศอุดร…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
114. สพฺเพ ทกฺขิณาย ทิสาย วินิปาติกา…..ปริหรนฺตุ. ขอพวกสัตว์วินิปาติกะทั้งปวงในทิศทักษิณ…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
115. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย วินิปาติกา…..ปริหรนฺตุ. ขอพวกสัตว์วินิปาติกะทั้งปวงในทิศอาคเนย์….ประคองตนไปให้รอดเถิด
116. สพฺเพ ปจฺฉิมาย อนุทิสาย วินิปาติกา…..ปริหรนฺตุ. ขอพวกสัตว์วินิปาติกะทั้งปวงในทิศพายัพ…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
117. สพฺเพ อุตฺตราย อนุทิสาย วินิปาติกา…ปริหรนฺตุ. ขอพวกสัตว์วินิปาติกะทั้งปวงในทิศอีสาน…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
118. สพฺเพ ทกฺขิณาย อนุทิสาย วินิปาติกา…..ปริหรนฺตุ. ขอพวกสัตว์วินิปาติกะทั้งปวงในทิศหรดี…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
119. สพฺเพ เหฏฐิมาย ทิสาย วินิปาติกา….ปริหรนฺตุ. ขอพวกสัตว์วินิปาติกะทั้งปวงในทิศเบื้องล่าง…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
120. สพฺเพ อุปริมาย ทิสาย วินิปาติกา…..ปริหรนฺตุ. ขอพวกสัตว์วินิปาติกะทั้งปวงในทิศเบื้องบน…..ประคองตนไปให้รอดเถิด
วิธีแผ่เมตตาในทิศโดยอาการ 10 โดยปรารภบุคคล 12 จำพวก ดังแสดงมานี้รวมเป็นอาการแห่งภาวนา 120 (10X12 =120) เมื่อบวกที่แผ่โดยไม่เจาะจง 5 อาการ โดยเจาะจง 7 อาการเข้าด้วย จึงเป็น 132 อาการ (120+5+7=132) ด้วยประการฉะนี้
(หน้าที่ 125)
เมตตาอัปปนา 528
ก็แหละในวิธีการแผ่เมตตาโดยไม่เจาะจงได้อาการ 5 โดยเจาะจงได้อาการ 7 นั้น อาการภาวนาอย่างหนึ่ง ๆ เป็นเหตุให้ได้อัปปนาฌาน 4 อัปปนา โดยอาศัยบทภาวนาแต่ละบท ๆ ดังนี้
บทภาวนาว่า (สพฺเพ สตฺตา) อเวรา โหนฺตุ ขอสัตว์ทั้งหลายจงอย่าผูกเวรกัน นี้เป็นเหตุให้ได้อัปปนาอันหนึ่ง บทภาวนาว่า อพฺยาปชฺชา โหนฺตุ ขอสัตว์ทั้งปวงจงอย่าเบียดเบียนกัน นี้เป็นเหตุให้ได้อัปปนาอันหนึ่ง บทภาวนาว่า อนีฆา โหนฺตุ ขอสัตว์ทั้งปวงจงอย่ามีทุกข์ นี้เป็นเหตุให้ได้อัปปนาอันหนึ่ง บทภาวนาว่า สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีสุขประคองตนไปให้รอดเถิด นี้เป็นเหตุให้ได้อัปปนาอันหนึ่ง แม้ในการลงมือภาวนาครั้งแรก โยคีบุคคลต้องส่งจิตไปตามบทภาวนาทั้ง 4 บทก็จริง แต่เมื่อถึงวาระภาวนาจะเข้าถึงขั้นสำเร็จอัปปนาฌาน โยคีบุคคลก็สำรวมจิตอยู่เฉพาะแต่ในบทภาวนาที่ปรากฏชัดคล่องแคล่วกว่าเพียงบทเดียวเท่านั้น ฉะนั้น อัปปนาฌานจึงสำเร็จขึ้นทีละบทเป็นอัปปนาฌานอาการละ 4 อัปปนา เมื่อโยคีบุคคลเจริญหรือแผ่เมตตาได้สำเร็จอัปปนาครบทั้ง 4 บทโดยอาการ 5 จึงได้อัปปนาฌานในอโนธิโสผรณา คือ แผ่เมตตาโดยไม่เจาะจงนี้ 20 อัปปนา (5X4=20)
โดยทำนองเดียวกัน ในโอธิโสผรณา คือแผ่เมตตาโดยเจาะจงนั้น เมื่อนับโดยวิธีการแห่งภาวนามี 7 อาการ โดยบทสำหรับภาวนามี 4 บท เมื่อโยคีบุคคลเจริญหรือแผ่เมตตาครบ 7 อาการและ 4 บทแล้วก็ได้อัปปนาฌาน 28 อัปปนา (7x4=28)
ในทิสาผรณา คือที่แผ่ไปในทิศ โดยปรารภอโนธิโสบุคคล 5 จำพวกนั้น ทิศหนึ่งๆโดยบุคคลมี 5 โดยบทภาวามี 4 จึงได้อัปปนาฌานทิศละ 20 อัปปนา (5x4=20) เมื่อรวมทั้ง 10 ทิศ ได้อัปปนาฌานถึง 200 อัปปนา (10x20=200) ส่วนที่ปรารภโอธิโสบุคคล 7 จำพวกนั้น ทิศหนึ่งๆโดยบุคคลมี 7 โดยบทภาวนามี 4 จึงได้อัปปนาฌานทิศละ 28 อัปปนา (7x4=28) เมื่อรวมทั้ง 10 ทิศ ได้อัปปนาฌาน280 อัปปานา (10x28=280) จึงรวมอัปปนาฌานในทิสาผรณานี้เป็น 480 อัปปนา (200+280=480)
(หน้าที่ 126)
ด้วยประการฉะนี้ เมตตาอัปปนาฌานทั้งสิ้นที่ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค จึงมีจำนวน 528 อัปปนา คือ ในอโนธิโสผรณา 20 ในโอธิโสผรณา 28 และในทิสาผรณา 480 (20+28+480=528)
ก็แหละเมื่อโยคีบุคคลเจริญเมตตากรรมฐานด้วยภาวนาวิธีดังแสดงมา จนสำเร็จถึงขั้นอัปปนาฌาน หรือเรียกตามสำนวนบาลีว่า เมตตาเจโตวิมุติ แล้ว แม้แต่เพียงอัปปาอันใดอันหนึ่งในบรรดาอัปปนา 528 นั้น ย่อมจะได้ประสพอานิสงส์ถึง 11 ประการมี นอนเป็นสุข เป็นต้น ดังที่พรรณนามาแล้วโดยแท้แล
อธิบายอโนธิโสบุคคล 5 จำพวก
ในอโนธิโสบุคคล 5 จำพวก คือ สัตว์, ปาณะ, ภูต, บุคคล และ ผู้มีอัตภาพ นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้
คำว่า สัตตะ หรือ สัตวะ นั้น มีอรรถวิเคราะห์ว่า รูปาทีสุ ขนฺเธสุ ฉนฺทราเคน สตฺตา วิสตฺตาติ = สตฺตา ชนเหล่าใดที่ข้องติดอยู่ในขันธ์ทั้ง 5 มีรูปขันธ์เป็นต้นด้วยความกำหนัดพอใจ ชนเหล่านั้นเรียกว่า สัตตะ หรือ สัตวะ ข้อนี้สมจริงตามพระบาลีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรคว่า –
ดูก่อนราธะ ! ความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี และความใคร่อันใดในรูปขันธ์ บุคคลใดข้องติดอยู่ในรูปขันธ์ด้วยความพอใจ เป็นต้นนั้น เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงเรียกว่าสัตว์ ความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี และความใคร่อันใดในเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ บุคคลใดข้องติดอยู่ในเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ ด้วยควมพอใจเป็นต้นนั้น เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงเรียกว่าสัตว์ ความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี และความใคร่อันใด ในวิญญาณขันธ์ บุคคลใดข้องติดอยู่ในวิญญาณขันธ์ ด้วยความพอใจเป็นต้น เพราะเหตุนั้น บุคลนั้นจึงเรียกว่าสัตว์
(หน้าที่ 127)
ก็โวหารที่เรียกว่า สัตว์ นี้ใช้แพร่หลายไป แม้ในบุคคลที่ไม่มีความกำหนัดแล้วด้วย ทั้งนี้ด้วยศัพท์ที่ลามเลยไป เช่นเดียวกับโวหารที่เรียกว่าพัดก้านตาล ใช้เรียกแพร่ลามไปแม้ในพัดที่ต่างออกไปซึ่งทำด้วยตอกด้วย ฉะนั้น อนึ่ง พวกอาจารย์ผู้สนใจเพียงตัวอักษร ลงมติเอาว่า คำว่า สัตว์ นี้เป็นเพียงสักว่าชื่อเท่านั้น ไม่ต้องวิจารณ์ถึงความหมาย ฝ่ายพวกอาจารย์ผู้วิจารณ์ถึงความหมายก็ลงมติเอาว่า ที่ชื่อว่า สัตว์ เพราะประกอบด้วยความรู้บ้าง เพราะประกอบด้วยความแกล้วกล้าบ้าง เพราะประกอบด้วยเดชอำนาจบ้าง
คำว่า ปาณะ มีอรรถวิเคราะห์ว่า ปาณนตาย ปาณา สัตว์ทั้งหลายได้ชื่อว่า ปาณะ เพราะเป็นผู้มีลมหายใจ อธิบายว่า เพราะเป็นผู้มีความเป็นไปเนื่องด้วยลมหายใจเข้าออก
คำว่า ภูต มีอรรถวิเคราะห์ว่า กมมกิเลเสหิ ภูตตฺตา ภูตา สัตว์ทั้งหลายที่ได้ชื่อว่า ภูต เพราะเป็นผู้เกิดมาด้วยกรรมกิเลส อธิบายว่า เพราะเป็นผู้เกิดมาสมบูรณ์ดีแล้ว เพราะเป็นผู้บังเกิดปรากฏชัดแล้ว
คำว่า บุคคล มีอรรถวิเคราะห์ว่า ปุนฺติ วุจฺจติ นิรโย ตสมึ คลนฺติ คจฺฉนฺตีติ = ปุคฺคลา นรกเรียกว่า ปํุ ุ สัตว์เหล่าใดย่อมไปตกในนรกนั้น เพราะฉะนั้นสัตว์เหล่านั้นจึงเรียกว่าบุคคล
คำว่า ผู้มีอัตภาพ อธิบายว่า สรีระร่างกายเรียกว่าอัตภาพ อีกอย่างหนึ่งขันธ์ทั้ง 5 เรียกว่า อัตภาพ เพราะขันธ์ทั้ง 5 นั้น เป็นแดนอาศัยให้เกิดสมมติบัญญัติต่าง ๆ ขึ้น สัตว์เหล่าใดนับเนื่องอยู่ในอัตภาพนั้น คือกำหนดตั้งลงในอัตภาพนั้น เพราะฉะนั้นสัตว์เหล่านั้นจึงเรียกว่า ผู้มีอัตภาพ
แต่อย่างไรก็ดี คำว่าสัตว์ เป็นคำกำหนดหมายเอาสัตว์ทุกชนิด ไม่มีส่วนเหลือฉันใด แม้คำที่เหลือมีคำว่าปาณะเป็นต้นก็เป็นเช่นเดียวกัน พึงเข้าใจว่าคำทั้งหมดนั้นเป็นไวพจน์ คือใช้แทนคำว่า สัตว์ทั้งปวง เพราะยกขึ้นมาเรียกว่าปาณะบ้าง ว่าบุคคลบ้าง ด้วยอำนาจ เป็นคำที่แพร่ลามไปเหมือนกัน ความจริงแม้คำอื่นๆ ที่ใช้เป็นไวพจน์ของคำว่าสัตว์ทั้งปวงก็ยังมีอยู่ เช่นคำว่า สพฺเพ ชนฺตู สัตว์ผู้เกิดมาทั้งปวง และ สพฺเพ ชีวา สัตว์ผู้มีชีวิต
(หน้าที่ 128)
ทั้งปวงเป็นต้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเลือกเอาเพียง 5 คำเท่านั้น (สัตว์, ปาณะ, ภูต, บุคคล และอัตตภาวปริยาปันนะ) มาแสดงไว้ว่า เมตตาเจโตวิมุติที่แผ่ไปโดยไม่เจาะจง บุคคลโดยอาการ 5 อย่าง ฉะนี้ ก็โดยที่ทรงเลือกเอาแต่คำที่ปรากฏเด่นชัดเท่านั้น
ส่วนพวกเกจิอาจารย์เหล่าใด หากจะพึงประสงค์เอาว่า คำว่า สัตว์และปาณะเป็นต้น มีความแตกต่างกันแม้โดยความหมายโดยแท้ เพราะไม่ใช่แต่เพียงสักว่าเป็นคำไวพจน์อย่างเดียวเท่านั้น มติของพวกเกจิอาจารย์เหล่านั้นผิดไปจากบาลีที่แผ่ไปโดยไม่เจาะจงบุคคล เพราะถ้าถือเอาความหมายต่างกันว่า สัตว์ก็อย่างหนึ่ง ปาณะก็อย่างหนึ่ง เป็นต้นแล้ว ก็จะเป็นการแผ่เจาะจงบุคคลไป เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติทั้งหลายอย่าได้ถือเอาความหมายเหมือนอย่างที่พวกเกจิอาจารย์ประสงค์นั้นเลย พึงแผ่เมตตาจิตไปโดยไม่เจาะจงบุคคลด้วยอาการแห่งภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาอาการแห่งภาวนา 5 อย่างนั้น เทอญ
ส่วนโอธิโสบุคคล 7 จำพวกนั้น มีความหมายกระจ่างอยู่ในตัวแล้ว คือคู่แรกได้แก่สตรีและบุรุษนั้นท่านแสดงไว้ด้วยอำนาจแห่งเพศ คู่ที่สองที่ว่า อริยและปุถุชน นั้น ท่านแสดงไว้ด้วยอำนาจแห่งบุคคลเป็น 2 จำพวก ส่วนอีก 3 ประเภทหลัง คือ เทวดา, มนุษย์ และวินิปาติกสัตว์นั้น ท่านแสดงไว้ด้วยอำนาจภูมิเป็นที่บังเกิด อธิบายว่า ภูมิเป็นที่บังเกิดของโลกสิ้นทั้งมวลนั้น เมื่อว่าโดยลักษณะที่สูงต่ำเป็นต้นแล้ว มี 3 ขั้น คือ ภูมิขั้นสูง ได้แก่ภูมิเป็นที่บังเกิดของหมู่เทพทั้งหลายมี 26 ชั้น ได้แก่อรูปภูมิมี 4 ชั้น รูปภูมิมี 16 ชั้น ฉกามาวจรภูมิมี 6 ชั้น ภูมิชั้นกลางมี 1 ได้แก่มนุสสภูมิ คือ ภูมิเป็นที่บังเกิดของคนเราทั่วไป ภูมิขั้นต่ำมี 4 ชั้น ได้แกอบายภูมิ 1 วินิปาตภูมิ 1 นิรยภูมิ 1 พวกวินิปาติกสัตว์นั้น ได้แก่สัตว์ที่บังเกิดในวินิปาตภูมิ คือที่เรียกว่า อสูร หรือ อสุรกาย ผู้แปลเห็นว่า คำว่าวินิปาติกสัตว์นั้น น่าจะหมายเอาสัตว์ที่บังเกิดในภูมิชั้นต่ำหมดทั้ง 4 ภูมิ คือรวม ดิรัจฉาน, เปรต และสัตว์นรกด้วย
อธิบายอานิสงส์เมตตา 11 ประการ
ประการสุดท้ายในเมตตาภาวนานี้ ที่ว่าโยคีบุคคลผู้เมตตาวิหารี ย่อมหวังได้ซึ่ง อานิสงส์แห่งเมตตาเจโตวิมุติ 11 ประการนั้น มีอรรถาธิบายโดยพิสดาร ดังต่อไปนี้ –
(หน้าที่ 129)
1. อานิสงส์ประการที่ 1 ที่ว่า นอนเป็นสุข นั้น อธิบายว่า ชนทั้งหลายจำพวกที่ไม่ได้สำเร็จเมตตาเจโตวิมุติ เมื่อนอนก็ไม่นอนอยู่แต่ข้างขวาทางเดียว นอนกลิ้งกลับไปกลับมารอบตัว และนอนกรน คือขณะเมื่อหายใจเข้าทำเสียงดังอยู่โครก ๆ เช่นนี้ ชื่อว่านอนเป็นทุกข์ ส่วนเมตตาวิหารีบุคคลนี้ไม่นอนเหมือนอย่างนั้น ชื่อว่า นอนเป็นสุข แม้เมื่อนอนหลับสนิทแล้วก็มีอาการเหมือนกับคนเข้าสมาบัติ
2. ประการที่ 2 ที่ว่า ตื่นเป็นสุข นั้น อธิบายว่า ชนเหล่าอื่นที่ไม่ได้สำเร็จเมตตาเจโตวิมุตินั้น โดยเหตุที่นอนเป็นทุกข์ไม่ได้ความสุขในขณะที่หลับอยู่ เมื่อตื่นขึ้นมาจึงถอดถอนหายใจใหญ่ สยิ้วหน้า บิดไปบิดมาข้างโน้นข้างนี้ ดังนี้ ชื่อว่า ตื่นเป็นทุกข์ ฉันใด ส่วนเมตตาวิหารีบุคคลนี้ ตื่นขึ้นมาแล้วไม่เป็นทุกข์อย่างนั้น ตื่นขึ้นมาอย่างสบายไม่มีอาการอันน่าเกลียด ชื่นบานเหมือนกับดอกประทุมที่กำลังแย้มบาน
3. ประการที่ 3 ที่ว่า ไม่ฝันร้าย นั้น อธิบายว่า เมตตาวิหารีบุคคลเมื่อฝันเห็นสุบินนิมิต ก็เห็นแต่สุบินนิมิตที่ดี ๆ ทั้งนั้น เช่นฝันว่าได้ไปไหว้พระเจดีย์ ได้ไปทำการบูชาพระรัตนตรัย หรือได้ฟังพระธรรมเทศนา ส่วนชนเหล่าอื่นที่ไม่ได้สำเร็จเมตตาเจโตวิมุติย่อมฝันเห็นนิมิตอันน่าเกลียดน่ากลัวต่าง ๆ เช่นฝันว่า ตนถูกพวกโจรมารุมล้อมถูกพวกสุนัขป่าไล่ขบกัด หรือตกลงไปในเหว ฉันใด เมตตาวิหารีบุคคลไม่ฝันเห็นสุบินนิมิตอันเลวร้ายเช่นนั้น
4. ประการที่ 4 ที่ว่า เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย นั้น อธิบายว่าเมตตาวิหารีบุคคลย่อมเป็นที่รักใคร่เป็นที่เจริญใจของคนทั้งหลาย เหมือนสร้อยไข่มุกที่พาดอยู่ที่หน้าอก หรือเหมือนดอกไม้ที่ปักอยู่บนศีรษะ ย่อมเป็นที่เจริญใจของคนทั้งหลาย ฉะนั้น
5. ประการที่ 5 ที่ว่า เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย นั้น อธิบายว่า เมตตาวิหารีบุคคลย่อมเป็นที่รักใคร่เป็นที่เจริญใจของพวกมนุษย์ ฉันใด ก็ย่อมเป็นที่รักใคร่เป็นที่เจริญใจแม้ของอมนุษย์ ฉันนั้น เช่น พระวิสาขเถระเป็นตัวอย่าง
เรื่องพระวิสาขเถระ
มีเรื่องเล่าว่า พระวิสาขเถระนั้น เดิมเป็นคหบดีชั้นกุฏุมพีอยู่ในเมืองปาฏลีบุตรในชมพูทวีป เมื่อเขาอยู่ในเมืองปาฏลีบุตรนั่นแล ได้ยินข่าวเล่าลือมาว่า ลังกาทวีป
(หน้าที่ 130)
นั้น เป็นประเทศที่ประดับประดาสง่างามไปด้วยระเบียบพระเจดีย์ มีความรุ่งเรืองเหลืองอร่ามไปด้วยผ้ากาวสาวพัสตร์ ในลังกาทวีปนั้น ใครๆ ก็ตามสามารถที่จะนั่งหรือจะนอนได้อย่างสบายปลอดภัยในที่ตนต้องประสงค์ และสัปปายะทุก ๆ อย่าง คือ อากาสสัปปายะ เสนาสนสัปปายะ บุคคลสัปปายะ ธรรมสวนสัปปายะ เป็นสิ่งที่หาได้ง่ายดายในลังกาทวีปนั้น
กุฏุมพีวิสาขะ จึงได้ตัดสินใจมอบกองโภคสมบัติของตนให้แก่บุตรภริยา มีทรัพย์ขอดติดชายผ้าอยู่เพียงกหาปณะเดียวเท่านั้น ออกจากบ้านไปคอยเรืออยู่ทีท่ามหาสมุทรประมาณเดือนหนึ่ง โดยที่กุฏุมพีวิสาขะเป็นคนฉลาดในเชิงโวหาร เขาได้ซื้อสิ่งของ ณ ที่นี้ไปขาย ณ ที่โน้น รวบรวมทรัพย์ได้ถึงพันกหาปณะภายในระหว่าเดือนหนึ่งนั้น ทั้งนี้ด้วยการค้าขายอันชอบธรรม เขาได้ไปถึงวัดมหาวิหารในลังกาทวีปโดยลำดับ ครั้นแล้วก็ได้ขอบวชทันที
เมื่อพระอุปัชฌาย์พาเขาไปยังสีมาเพื่อจะทำการบวชให้นั้น เขาได้ทำห่อทรัพย์พันกหาปณะนั้นให้ร่วงจากภายในเกลียวผ้าตกลงไปที่พื้น พระอุปัชฌาย์จึงถามว่า นั่นอะไร เขาเรียนว่า ทรัพย์จำนวนหนึ่งพันกหาปณะขอรับผม พระอุปัชฌาย์จึงแนะนำว่า อุบาสกทรัพย์นี้นับแต่เวลาที่บวชแล้ว เธอไม่อาจจะใช้จ่ายได้ จงใช้จ่ายเสียเดี๋ยวนี้ วิสาขะอุบาสกจึงคิดในใจว่า คนทั้งหลายที่มาในงานบวชของวิสาขะ จงอย่าได้มีมือเปล่ากลับไปเลย ครั้นแล้วก็แก้ห่อทรัพย์นั้นหว่านโปรยทานไปในโรงอุโบสถ แล้วจึงบรรพชาอุปสมบท
วิสาขะภิกษุนั้น เมื่อบวชได้พรรษา 5 ก็ท่องจำมาติกาทั้งสองได้อย่างคล่องแคล่ว ปวารณาออกพรรษาแล้วได้เรียนเอากรรมฐานอันเป็นที่สบาย เหมาะแก่อัธยาศัยของตนแล้วก็ไป ๆ มา ๆ หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปอยู่วัดละ 4 เดือน เมื่อพระวิสาขเถระเที่ยวผลัดเปลี่ยนไปอยู่ในวัดต่าง ๆ อย่างนั้น วันหนึ่งได้เห็นสถานที่ระหว่างป่าอันเป็นรมณียสถานน่ารื่นรมย์แห่งหนึ่ง จึงได้นั่งเข้าสมาบัติอยู่ ณ โคนต้นไม้ต้นหนึ่งในระหว่างป่านั้น ครั้นออกจากสมาบัติแล้วขณะที่ยืนอยู่ระหว่างป่า ได้พิจารณาดูคุณสมุทัยของตนด้วยความปีติโสมนัสเมื่อจะบันลือสีหนาทจึงได้กล่าวเถรภาษิตนี้ ความว่า –
(หน้าที่ 131)
ตลอดเวลาที่เราได้อุปสมบทแล้วมา ตลอดเวลาที่ เราได้มาอยู่ ณ ที่นี้ ความประมาทพลาดพลั้งของเราในระหว่างนี้ไม่มีเลย ช่างเป็นลาภของเธอแท้ ๆ หนอ ท่านผู้เนียรทุกข์
พระวิสาขเถระ เมื่อเดินทางไปยังวัดจิตตลบรรพต ครั้นไปถึงตรงทางแยก 2 แพร่ง ได้ยืนคิดอยู่ว่า ทางที่จะไปวัดจิตตลบรรพตนั้น จะเป็นทางนั้นหรือทางนี้หนอ ขณะรุกขเทวดาที่สิงอยู่ ณ ที่ภูเขาได้เหยียดหัตถ์ออกแล้วชี้บอกแก่พระเถระว่า ทางนี้เจ้าข้า พระเถระไปถึงวัดจิตตลบรรพตแล้วก็ได้อยู่ ณ ที่นั้นจนครบ 4 เดือน ในคืนสุดท้ายได้ตั้งใจไว้ว่า พรุ่งนี้เราจักต้องไปแต่เช้า ดังนี้แล้ว จึงเตรียมตัวจำวัด รุกขเทวดาตนหนึ่งซึ่งสิงอยู่บนต้นแก้ว ตรงที่ปลายทางจงกรม ได้มานั่งร้องไห้อยู่ที่ขั้นบันได
พระเถระจึงถามว่านั่นใคร ? เทวดาเรียนตอบว่า ดิฉันมณิลิยา เจ้าข้า พระเถระซักว่า เธอร้องไห้ทำไม? เทวดาเรียนว่า เพราะอาศัยที่พระผู้เป็นเจ้าจะจากไป เจ้าข้า พระเถระจึงถามว่า เมื่อฉันอยู่ ณ ที่นี้ เป็นคุณประโยชน์อะไรแก่พวกเธอหรือ ? เทวดาจึงเรียนตอบว่า ท่านคะ เมื่อพระผู้เป็นเจ้าอยู่ ณ ที่นี้ พวกเทวดาและอมนุษย์ทั้งหลายต่างก็ได้มีเมตตาอารีแก่กันและกัน เจ้าค่ะ แต่บัดนี้เมื่อพระผู้เป็นเจ้าจะจากไปเสียแล้ว พวกเทวดาและอมนุษย์ก็คงจักทำการทะเลาะวิวาท จักกล่าวคำหยาบแก่กันและกันเป็นแน่ เจ้าค่ะ พระเถระจึงได้บอกแก่เทวดาว่า ถ้าฉันอยู่ ณ ที่นี้ ความอยู่ผาสุกสำราญย่อมมีแก่พวกเธอ ฉันดีใจมาก ดังนี้ แล้วได้อยู่ ณ วัดนั้นต่อไป จนครบ 4 เดือนอีก ครั้นครบ 4 เดือนแล้วก็ได้คิดจะไปเหมือนอย่างเดิมอีก แม้เทวดามณิลิยานั้นก็ได้ไปร้องไห้เหมือนนั้นอีก โดนอุบายนี้พระเถระเลยอยู่ ณ ที่วัดนั้นและปรินิพพาน ณ ที่วัดนั้นนั่นแล เมตตาวิหารีบุคคล ย่อมเป็นที่รักใคร่เป็นที่เจริญใจของอมนุษย์ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้
6. ประการที่ 6 ที่ว่า เทวดาทั้งหลายคอยเฝ้ารักษา นั้น อธิบายว่า เทวดาทั้งหลาย ย่อมคอยเฝ้ารักษาเมตตาวิหารีบุคคลเสมือนบิดามารดาคอยเฝ้ารักษาบุตร ฉะนั้น
(หน้าที่ 132)
7. ประการที่ 7 ที่ว่า ไฟ, ยาพิษ, หรือศัตรา ไม่กล้ำกรายในตัวของเขา นั้น อธิบายว่า ไฟไม่กล้ำกรายเข้าไปในกายของเมตตาวิหารีบุคคล เช่นอุบาสิกาชื่ออุตตราเป็นตัวอย่าง หรือยาพิษไม่กำซาบเข้าไปในร่างกายของเมตตาวิหารีบุคคล เช่น อุบาสิกาชื่ออุตตรา เป็นตัวอย่าง หรือยาพิษไม่กำซาบเข้าไปในร่างกายของเมตตาวิหารีบุคคล เช่น พระจูฬสีวเถระผู้ชำนาญสังยุตตนิกายเป็นตัวอย่าง หรือศัสตราไม่บาดร่างกายของเมตตาวิหารีบุคคล เช่น สังกิจจสามเณรเป็นตัวอย่าง เฉพาะข้อว่าศัสตราไม่บาดนี้ ควรยกเรื่องแม่โคนมมาแสดง เป็นตัวอย่างประกอบดังนี้
ได้ยินว่า มีแม่โคนมอยู่ตัวหนึ่งกำลังยืนให้น้ำนมแก่ลูกอยู่ ขณะนั้นนายพรานคนหนึ่งตกลงใจว่า เราจักแทงมันดังนี้ แล้วได้ตวัดมือพุ่งหอกเข้าใส่ทันที แต่หอกนั้นพอไปจรดลำตัวของแม่โคนมนั้น ก็ม้วนพับเหมือนกับใบตาล นี้ไม่ใช่เป็นด้วยกำลังแห่งอุปจารสมาธิหรือไม่ใช่ด้วยกำลังแห่งอัปปนาสมาธิเลย แต่เพราะความมีใจรักลูกอันมีกำลังรุนแรงอย่างเดียว เมตตามีอานุภาพอันยิ่งใหญ่อย่างนี้แล
8. ประการที่ 8 ที่ว่า จิตเป็นสมาธิเร็ว นั้น อธิบายว่า เมื่อพิจารณากรรมฐาน จิตของเมตตาวิหารีบุคคลย่อมเป็นสมาธิได้อย่างรวดเร็วทีเดียว ไม่มีความเฉื่อยชาเลย
9. ประการที่ 9 ที่ว่า ผิวหน้าผ่องใส นั้น อธิบายว่า ใบหน้าของเมตตาวิหารีบุคคลนี้ ย่อมมีผิวพรรณผ่องใสเหมือนลูกตาลสุกที่หล่นจากขั้วใหม่ ๆ ฉะนั้น
10. ประการที่ 10 ที่ว่า ไม่หลงทำกาลกิริยา นั้น อธิบายว่า การตายด้วยความหลงย่อมไม่มีแก่เมตตาวิหารีบุคคล คือ เมตตาวิหารีบุคคลไม่หลงทำกาลกิริยาเลย เมื่อตายเป็นเสมือนคนนอนหลับ ฉะนั้น
11. ประการที่ 11 ที่ว่า เมื่อไม่ได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูง อย่างต่ำก็จะบังเกิดในพรหมโลก นั้น อธิบายว่า เมตตาวิหารีบุคคลเมื่อยังไม่สามารถที่จะบรรลุถึงซึ่งพระอรหัตอันเป็นชั้นสูงยิ่งกว่าเมตตาสมาบัติ ครั้นเคลื่อนจากมนุษย์โลกนี้แล้ว ก็จะเข้าถึงพรหมโลกทันที เป็นเสมือนหลับแล้วตื่นขึ้น ฉะนี้
ก็แหละอานิสงส์ทั้งหลายมีนอนเป็นสุขเป็นต้นในเมตตาภาวนานี้ แม้โยคีบุคคลทั้งหลายผู้ได้สำเร็จฌานด้วยอำนาจกรรมฐานอื่นนอกไปจากพรหมวิหารกรรมฐานนี้ ก็ย่อมได้ประสพแม้โดยแท้ สมด้วยคาถาประพันธ์อันพระโบราณาจารย์แสดงไว้ มีอาทิว่า
(หน้าที่ 133)
มุนีทั้งหลายผู้มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในอารมณ์กรรมฐานในภายใน ย่อมนอนเป็นสุข พระสาวกทั้งหลายของ พระโคดมพุทธเจ้า ย่อมตื่นชนิดที่ตื่นด้วยดี ในกาลทุกเมื่อ ฉะนี้
แต่แม้กระนั้น ผู้ที่ได้สำเร็จพรหมวิหารกรรมฐานทั้งหลาย ย่อมได้ประสบอานิสงส์ครบทั้งหมดนี้โดยไม่มีเศษเหลือ ทั้งนี้เพราะเหตุว่าพรหมวิหารธรรม 4 เป็นข้าศึกโดยตรงของนิวรณกิเลสทั้งหลายมีพยาบาทเป็นต้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสพระพุทธโอวาทไว้ ซึ่งปรากฏในคัมภีร์ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค….มีอาทิว่า :-
ดูก่อนอาวุโส ก็เมตตาเจโตวิมุติ นี้นั้น เป็นธรรม เครื่องสลัดออกซึ่งพยาบาท ฉะนี้
อนึ่ง โทษทั้งหลายมีนอนเป็นทุกข์เป็นต้น ย่อมบังเกิดแก่หมู่สัตว์ ก็ด้วยอำนาจนิวรณกิเลสมีพยาบาทเป็นต้น เพราะฉะนั้นเมื่อพรหมวิหารธรรม ซึ่งเป็นปฏิปักษ์แก่นิวรณกิเลส มีพยาบาทเป็นต้นนั้น อันโยคีบุคคลบำเพ็ญปฏิบัติให้สำเร็จแล้ว อานิสงส์ทั้งหลายมีนอนเป็นสุขเป็นต้น ก็เป็นอันอยู่ในเงื้อมมือแล้วนั่นเทียว
เมตตาภาวนา จบ
(หน้าที่ 134)
โยคีบุคคลมีความประสงค์จะเจริญกรุณาพรหมวิหารนั้น ประการแรกพึงเตรียมการทำบุพกิจเบื้องต้นเสียให้เสร็จสิ้น นับแต่ตัดปลิโพธความกังวล 10 ประการให้สิ้นห่วงตลอดจนถึงการนั่ง ณ อาสนะอย่างเรียบร้อย เหมือนอย่างที่ได้แสดงไว้แล้วในเมตตาภาวนาครั้นแล้วพึงพิจารณาให้เห็นโทษของวิหิงสาคือการเบียดเบียนสัตว์ และอานิสงส์ของกรุณาเสียก่อน เมื่อได้เห็นโทษและอานิสงส์อย่างเด่นชัดแล้ว จึงเริ่มลงมือเจริญกรุณาพรหมวิหารต่อไป
โทษของวิหิงสาและอานิสงส์ของกรุณา
ก็แหละ คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีชาติมีสันดานชอบทรมานเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยมือของตนบ้าง ด้วยการขว้างด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยทุบตีด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยฟันแทงด้วยศัสตราอาวุธบ้าง หรือด้วยวิธีการอื่น ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง ก็ผลวิบากอันเลวทรามของการเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายเช่นนั้น ย่อมจะตามสนองเขาทั้งในโลกปัจจุบันและอนาคตไม่ต้องสงสัย
เป็นความจริงทีเดียว ผู้ใดเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยการทำให้ถึงสิ้นชีวิตบ้าง ด้วยการตัดอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งให้ทนทุกข์ทรมานบ้าง ด้วยทำให้เสียทรัพย์บ้าง ด้วยทำให้เสื่อมลาภบ้าง ด้วยทำให้พลัดที่นาคลาที่อยู่บ้าง ด้วยทำให้เสียผลประโยชน์บ้าง ด้วยทำให้เสื่อมยศบ้าง ด้วยทำให้เก้อเขินในที่ประชุมบ้าง โดยที่สุดแม้การคอยจ้องจับผิดตามความจริง อันการเป็นอยู่ด้วยความประมาทของเขาผู้นั้นเช่นกล่าวมานี้ ย่อมจะบันดาลให้เป็นไปเพื่อไม่ให้เขาได้ลาภที่ยังไม่ได้ เพื่อเสื่อมลาภที่เขาได้มาแล้ว แม้ในโลกที่เห็นๆกันนี้ทีเดียว กล่าวคือ ชื่อเสียงอันเลวทรามของเขาซึ่งมีการเบียดเบียนสัตว์นั้นเป็นเหตุ ย่อมกระพือสะพัดไป เมื่อเข้าสู่สมาคม เขาจะเป็นคนไม่แกล้วกล้า ไม่สง่าผ่าเผย ครั้นถึงคราวตายเขาจะเป็นคนหลงตาย เมื่อแตกกายตายไปแล้ว ทุคติภูมิเป็นสิ่งที่เขาต้องหวังได้ และภายหลังเมื่อเขามาเกิดเป็นมนุษย์ในสุคติภูมิ เขาจะเป็นคนได้ชาติกำเนิดเลวมีตระกูลต่ำ จะเป็นคนมีผิวพรรณ
(หน้าที่ 135)
ทราม น่าเกลียดน่าชัง เขาจะเป็นคนมีโรคาพาธมาก เขาจะเป็นคนตกทุกข์ได้ยาก มีข้าวน้ำ โภชนะอาหารบกพร่อง เขาจะเป็นคนมีอายุสั้น มีชีวิตอยู่ในโลกนี้น้อย ฉะนี้
โยคีบุคคลจงพิจารณาให้เห็นโทษของวิหิงสา คือการเบียดเบียนสัตว์อย่างปราศจากกรุณา อันสืบเนื่องติดสันดานคนมาเป็นอเนกประการเช่นที่พรรณนามานี้ ครั้นแล้วจงพิจารณาให้เห็นอานิสงส์ของกรุณาคือความสงสารสัตว์ โดยประการตรงกันข้ามกับโทษวิหิงสาตามที่พรรณนามาแล้ว เมื่อเห็นโทษและคุณเด่นชัดแล้วจึงเริ่มลงมือเจริญกรุณากรรมฐาน โดยวิธีแห่งการภาวนา ดังจะได้แสดงต่อไป
ห้ามเจริญคนใน 5 จำพวกอันดับแรก
ก็แหละ เมื่อโยคีบุคคลเริ่มแรกจะเจริญกรุณากรรมฐานนั้น จงอย่าเจริญไปใน บุคคล 5 จำพวกนี้เป็นอันดับแรก คือ คนที่รัก 1 เพื่อนที่รักมาก 1 คนเป็นกลางๆ 1 คนที่เกลียดชัง 1 คนคู่เวร 1 เพราะคนเป็นที่รักก็ย่อมตั้งอยู่ในฐานะของคนเป็นที่รัก เพื่อนที่รักมากก็ตั้งอยู่ในฐานะเพื่อนที่รักมาก คนที่เป็นกลางๆ ก็ตั้งอยู่ในฐานะคนเป็นกลางๆ คนที่เกลียดชังก็ตั้งอยู่ในฐานะคนที่เกลียดชัง และคนคู่เวรก็ตั้งอยู่ในฐานะคนคู่เวรอย่างเดิมนั่นเอง ไม่ใช่เป็นวิสัยที่จะทำให้เกิดความกรุณาในอันดับแรกได้ อธิบายว่า เมื่อโยคีบุคคลผู้ปรารภจะเจริญกรุณาไปในบุคคลที่รักนั้น ภาวนาแห่งความรักยังมิได้พรากออกไปจากจิต เมื่อความรักยังมิได้เพราะออกไป กรุณาก็จะขึ้นในจิตมิได้ เป็นธรรมดานิยมดังนี้ แม้ในบุคคลนอกนี้ก็เป็นทำนองเดียวกัน เพราะเหตุนี้ จึงห้ามมิให้เจริญกรุณาไปเป็นอันดับแรก ในบุคคล 5 จำพวกนั้น
ส่วนคนเพศตรงข้าม กับคนที่ตายแล้ว ไม่เป็นเขตที่ควรจะนำมาเจริญเป็นอารมณ์ของกรุณากรรมฐานตลอดกาล เพราะเหตุดังที่แสดงไว้ในเมตตาภาวนานั่นแล
คนที่ควรเจริญภาวนาถึงอันดับแรกที่ 1
โดยเหตุที่พระพุทธองค์ได้ตรัสแสดงเป็นแบบอย่างไว้ ซึ่งปรากฏในคัมภีร์วิภังคปกรณ์ดังนี้
(หน้าที่ 136)
ภิกษุผู้มีจิตประกอบด้วยกรุณา ย่อมแผ่กรุณาจิตไปทางทิศหนึ่งอยู่นั้น คือ ทำอย่างไร? ภิกษุผู้มีจิตประกอบด้วยกรุณา ย่อมแผ่กรุณาจิตไปยังสัตว์ทั้งปวงทุกๆจำพวก เหมือนอย่างที่ได้เห็นคนอื่น ซึ่งเข็ญใจได้ทุกข์ ซ้ำประกอบด้วยบาปกรรมทำชั่วคนหนึ่งแล้ว พึงเกิดความกรุณาขึ้น ฉะนั้น
ดังนั้น โยคีบุคคลเมื่อได้เห็นใครๆก็ตาม ซึ่งเป็นคนที่น่าสงสารได้ประสบความลำบากอย่างยิ่ง เป็นคนเข็ญใจได้ทุกประกอบกรรมทำทุจริต เป็นคนกำพร้าขาดอาหาร วางกระเบื้องขอทานไว้ข้างหน้า นั่งอยู่ในโรงพักคนอนาถา มีหมู่หนอนไต่ออกจากแผลที่มือและเท้า ส่งเสียงครวญคร่ำพร่ำพรรณนาอยู่ฉะนี้แล้ว พึงยังกรุณาจิตให้เป็นไปในคนเช่นนั้นเป็นอันดับแรกก่อนกว่าคนทุกจำพวก ด้วยบทภาวนาว่า –
กิจฺฉํ วตายํ สตฺโต อาปนฺโน, อปฺเปว นาม อิมมหา ทุกฺขา มุจฺเจยฺย
สัตว์ผู้นี้ประสบความลำบากแท้หนอ ขอจงพ้นจากทุกข์นี้เสียเถอะหนา
อีกแบบหนึ่งว่า
อยํ สตฺโต ทุกฺขา มุจฺจตุ
ขอสัตว์ผู้นี้ จงพ้นจากทุกข์เสียเถิด
สำหรับตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปว่า-
เอเต สตฺตา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ จงพ้นจากทุกข์เสียเถิด
หรือว่า –
สพฺเพ สตฺตา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เสียเถิด
(หน้าที่ 137)
ด้วยภาวนาวิธีนี้ โยคีบุคคลจงพยายามภาวนา คือส่งจิตอันประกอบด้วยกรุณาไปพร้อมกับบทภาวนานั้นๆ อย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนให้กรุณาปรากฏขึ้นในใจอย่างเด่นชัด จนสำเร็จถึงขั้นอัปปนาฌานเป็นที่สุด ทำนองเดียวกับเมตตาภาวนานั่นแล
คนที่ควรเจริญกรุณาถึงอันดับแรกที่ 2
ในกรณีที่โยคีบุคคลไม่ได้พบเห็นคนเข็ญใจได้ทุกข์เช่นที่กล่าวแล้วนั้นมาเป็นอารมณ์ของกรรมฐานเป็นอันดับแรก จงเจริญกรุณาไปแม้ในบุคคลผู้มีความสุข แต่ชอบทำบาปกรรมอยู่ โดยยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับคนที่กำลังจะถูกประหารชีวิต
จะพึงปฏิบัติอย่างไร ?
พึงปฏิบัติดังต่อไปนี้ เหมือนอย่างว่าพวกราชบุรุษจับโจรพร้อมทั้งของกลางได้แล้ว เมื่อพระราชามีพระราชโองการให้ประหารชีวิต จึงมัดโจรนั้นแล้วลงแส้ครั้งละ 4 เส้น ๆ จนถึงร้อยครั้ง แล้วนำไปสู่ที่ตะแลงแกง เพื่อจะทำการประหารชีวิต ขณะนั้นมนุษย์ทั้งหลายเห็นแล้วพากันให้ของขบเคี้ยวบ้าง ของรับประทานบ้าง ให้ดอกไม้ของหอมเครื่องไล้ทา และหมากพลูบุหรี่บ้างแก่โจรนั้น แม้ว่าโจรนั้นจะได้เคี้ยวกินอยู่ บริโภคใช้สอยอยู่ซึ่งสิ่งของเหล่านั้นอย่างบริบูรณ์ ดูคล้ายๆกับคนมีความสุข คนที่เพียบพร้อมด้วยโภคสมบัติก็จริงแต่ก็ไม่มีใครเลยที่จะสำคัญเห็นว่า โจรนี้มีความสุขมีโภคทรัพย์มาก มีแต่จะกรุณาสงสารเขาโดยฝ่ายเดียวว่า เจ้าโจรนี้จักต้องตายอยู่เดี๋ยวนี้แล้ว เพราะเขาใกล้ต่อความตายเข้าไปทุกๆฝีเท้าที่เขาย่างไป ดังนี้ฉันใด
แม้โยคีบุคคลผู้เจริญกรุณากรรมฐานก็เหมือนกัน พึงส่งจิตไปในคนที่มีความสุข แต่เป็นผู้ชอบทำแต่บาปกรรมนั้นอย่างนี้ว่า คนผู้นี้ ถึงแม้ขณะนี้เขาจะมีความสุขเพียบพร้อมอยู่ด้วยการเสวยสุขและบริโภคใช้สอยโภคสมบัติอย่างสมบูรณ์พูนสุขก็ตาม แต่เขาจักต้องได้เสวยทุกข์กายทุกข์ใจอยู่มิใช่น้อยในอบายภูมิทั้งหลายในภายหน้า เพราะเหตุที่เขาไม่ทำกัลยาณกรรมไว้ด้วยกายทวาร วจีทวาร และมโนทวาร แม้สักทวารเดียว หรือจะใช้บทสำหรับภาวนาดังที่แสดงไว้ข้างต้นนั้นก็ได้
ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันว่า คนที่ควรเจริญกรุณาไปถึงเป็นอันดับแรกนั้น มี 2 จำพวก คือคนเข็ญใจได้ทุกข์ 1 คนที่มีความมั่งมีศรีสุขแต่ชอบทำแต่บาปกรรม 1 ฉะนี้
(หน้าที่ 138)
เจริญภาวนาไปในคนที่รักเป็นต้น
เมื่อโยคีบุคคลได้เจริญกรุณาไปในบุคคลจำพวกแรก โดยภาวนาวิธีดังแสดงมาอย่างนั้นแล้ว อันดับต่อจากนั้นพึงเจริญกรุณาให้เป็นไปในบุคคลตามลำดับดังนี้ คือคนที่รัก ถัดนั้นคนเป็นกลางๆ ถัดนั้นคนคู่เวร ด้วยภาวนาวิธีดังที่แสดงมาแล้วนั้น
ในการปฏิบัติ โยคีบุคคลพึงเลือกยกเอาส่วนแห่งทุกข์ของคนที่รัก ซึ่งปรากฏเห็นอยู่ในชาติปัจจุบันหรือที่จะเกิดแก่เขาในชาติต่อ ๆ ไป แล้วจึงเจริญกรุณาให้เป็นไปในคนที่รัก ต่อจากนั้นพึงเลือกยกเอาส่วนแห่งทุกข์ของคนเป็นกลาง ที่ปรากฏเห็นอยู่ในชาติปัจจุบัน หรือที่จะบังเกิดมีแก่เขาในชาติต่อ ๆ ไป แล้วจึงเจริญกรุณาให้เป็นไปในคนเป็นกลาง ๆ ต่อจากนั้นพึงเลือกยกเอาส่วนแห่งทุกข์ของคนคู่เวร ที่ปรากฏเห็นอยู่ในชาติปัจจุบัน หรือที่จะเกิดมีขึ้นแก่เขาในชาติต่อ ๆ ไป แล้วจึงเจริญกรุณาให้เป็นไปในคนคู่เวร ฉะนี้
อธิบายว่า คน 2 จำพวก ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุณาที่แสดงมาในอันดับแรกนั้น ย่อมเป็นเหตุให้กรุณาภาวนาสำเร็จโดยง่ายก็จริง แต่โยคีบุคคลอย่าได้พอใจอยู่เพียงเท่านั้นต้องทำกรุณาภาวนาในคน 2 จำพวกนั้น ในคนใดคนหนึ่งให้คล่องแคล่ว จนมีจิตอ่อนนิ่มนวล ควรแก่การงานแล้ว ลำดับนั้นพึงเจริญกรุณาให้เป็นไปในคนที่รัก ลำดับต่อจากนั้นในคนเป็นกลาง ๆ ลำดับต่อจากนั้นในคนคู่เวร ทั้งนี้เพื่อทำกรุณาให้เป็นสิมาสัมเภทต่อไป
ในทางปฏิบัตินั้น โยคีบุคคลต้องทำจิตให้อ่อนนิ่มนวลควรแก่การงานในส่วนแห่งบุคคลแต่ละประเภทนั้น ๆ ส่วนหนึ่ง ๆ คือทำให้ชำนาญด้วยสีทั้ง 5 เสียก่อน ครั้นแล้วจึงเจริญกรุณาไปในบุคคลนั้น ๆ ตามลำดับ วิธีการเจริญกรุณากรรมฐานในบุคคลตามลำดับนี้ พึงทราบโดยทำนองเดียวกันกับที่แสดงไว้แล้วในเมตตากรรมฐานทุกประการ
ส่วนโยคีบุคคลผู้ไม่มีคนคู่เวร หรือผู้ไม่มีความผูกเวรกับใคร ๆ ทั้ง ๆ ที่มีคนทำความเสียหายให้อยู่ เพราะเป็นชาติเชื้อมหาบุรุษมีอัธยาศัยอันกว้างใหญ่นั้น ไม่จำต้องทำความขวนขวายในกรณีที่ว่า จิตของเราอ่อนนิ่มนวลควรแก่การงานแล้ว บัดนี้ เราจักส่งกรุณาจิตไปในคนคู่เวร ดังนี้ เพราะกรณีที่จะต้องปฏิบัติเช่นนั้นเฉพาะแต่โยคีบุคคลผู้มีคนคู่เวรเท่านั้น
(หน้าที่ 139)
ในการเจริญกรุณาไปในคนคู่เวรนั้น ถ้าแหละความโกรธแค้นจะพึงเกิดขึ้นแก่โยคีบุคคล โดยทำนองที่แสดงไว้ในเมตตาภาวนานั้น โยคีบุคคลพึงทำการบรรเทาความโกรธแค้นนั้นให้ระงับลง ด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ ดังที่แสดงไว้ในเมตตาภาวนานั้นแหละ เช่น ต้องหวนกลับไปเจริญกรรมฐานในบุคคลจำพวกต้น ๆ เสียใหม่ หรือพิจารณาถึงพระพุทธโอวาทต่าง ๆ มีพระโอวาทในกกจูปมสูตร เป็นต้น
เจริญกรุณาในคนทำดีและมีความสุข
การเจริญกรุณากรรมฐานที่แสดงมาแล้วนั้น เป็นการเจริญไปในคนที่ตกทุกข์ได้ยากในชาติปัจจุบัน และคนที่มีความสุขในปัจจุบันแต่จะได้ประสบทุกข์ในชาติหน้า คราวนี้จะแสดงวิธีการเจริญกรุณากรรมฐานในคนที่มีความสุขและได้ทำแต่ความดี ไม่ได้ทำความชั่วเลย
สำหรับคนผู้มีความสุขอย่างเพียบพร้อม และทำแต่คุณงามความดีมาโดยตลอดนั้น เมื่อโยคีบุคคลได้เห็นเขาประสบกับความสูญเสียอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นความสูญเสียญาติที่รัก หรือเกิดเป็นโรคภัยไข้เจ็บ หรือเกิดความสูญเสียโภคทรัพย์เป็นต้น หรือแม้ไม่ได้เห็นด้วยตาเพียงแต่ได้ทราบข่าวเช่นนั้นก็ตาม แล้วพึงเจริญกรุณาในบุคคลเช่นนั้น โดยคลุม ๆ เอาทั้งหมดอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ก็นับว่ายังเป็นคนมีทุกข์อยู่นั่นเทียว เพราะแม้ถึงเขาจะไม่มีความสูญเสียอะไร ๆ เลยสักอย่างเดียวก็ตาม แต่ก็นับได้ว่า เป็นคนยังไม่ข้ามพ้นทุกข์ในวัฏสงสารอยู่นั่นเอง ฉะนี้
กรุณาสีมาสัมเภท
ครั้นแล้วโยคีบุคคลพึงทำกรุณาให้เป็นสีมาสัมเภทในบุคคล 4 จำพวก คือ ตนเอง 1 คนที่รัก 1 คนเป็นกลาง ๆ 1 คนคู่เวร 1 โดยพยายามเจริญกรุณากรรมฐานแล้ว ๆ เล่า ๆ ด้วยภาวนาวิธี จนทำให้เกิดขึ้นเสมอกันในบุคคล 4 จำพวกนั้น ฉันเดียวกับในเมตตาภานา
(หน้าที่ 140)
บรรลุถึงอัปปนาฌาน
ต่อแต่นั้น โยคีบุคคลพึงซ่องเสพให้หนักขึ้นซึ่งนิมิตกรรมฐานอันได้แก่สีมาสัมเภทนั้น ทำนิมิตให้เจริญขึ้นมาก ๆ ภาวนาให้มาก ๆ เข้า พึงยังอัปปนาฌานให้เกิดก้าวหน้าขึ้นไปด้วยสามารถแห่งฌาน 3 โดยจตุกกนัย และฌาน 4 โดยปัญจกนัย โดยทำนองที่ได้แสดงมาแล้วในเมตตาภาวนาทุกประการ
ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันว่าโยคีบุคคลผู้เจริญกรุณาพรหมวิหาร ได้ปฏิบัติถึงขั้นสุดยอดแห่งกรุณากรรมฐานนี้โดยสมบูรณ์แล้วแล
วิธีการแผ่กรุณา 3 อย่าง
ลำดับต่อไปนี้ ผู้ปฏิบัติพึงศึกษาให้เข้าใจในวิธีการแผ่กรุณา 3 อย่าง ตามที่ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคดังนี้ คือการแผ่กรุณาอย่างไม่เจาะจงเรียกว่า อโนธิโสผรณา โดยอาการ 5 นั้นอย่างหนึ่ง การแผ่กรุณาอย่างเจาะจงที่รียกว่า โอธิโสผรณา โดยอาการ 7 นั้นอย่างหนึ่ง การแผ่กรุณาไปในทิศที่เรียกว่า ทิสาผรณา โดยอาการ 10 นั้นอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอาการแห่งภาวนาวิธี ดังต่อไปนี้ : -
1. อโนธิโสผรณา
คำแผ่กรุณาไม่เจาะจงโดยอาการ 5
1. สพฺเพ สตฺตา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
2. สพฺเพ ปาณา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอปาณะทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
3. สพฺเพ ภูตา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอภูตทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
4. สพฺเพ ปุคฺคลา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอบุคคลทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
5. สพฺเพ อตฺตภาวปริยาปนฺนา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอผู้มีอัตภาพทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
(หน้าที่ 141)
2. โอธิโสผรณา
คำแผ่กรุณาเจาะจงโดยอาการ 7
1. สพฺเพ อิตฺถิโย ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอสตรีทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
2. สพฺเพ ปุริสา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอบุรุษทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
3. สพฺเพ อริยา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอพระอริยเจ้าทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
4. สพฺเพ อนริยา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอปุถุชนทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
5. สพฺเพ เทวา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอเทวดาทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
6. สพฺเพ มนุสฺสา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอมนุษย์ทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
7. สพฺเพ วินิปาติกา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอพวกสัตว์วินิปาติกะทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์เถิด
3. ทิสาผรณา
วิธีการแผ่กรุณาไปในทิศโดยอาการ 10
วิธีการแผ่กรุณาไปในทิศนั้น คือ ยกเอาอโนธิโสบุคคล 5 จำพวก โอธิโสบุคคล 7 จำพวก รวมเป็น 12 บุคคล ไปตั้งไว้ในทิศทั้ง 10 แล้วแผ่กรุณาไปในบุคคล 12 จำพวก ที่อยู่ในทิศทั้ง 10 นั้น จึงเรียกว่าแผ่ไปในทิศโดยอาการแห่งภาวนา 10 อาการ เมื่อว่าโดยบุคคลเป็น 12 วาระ ตัวอย่างดังต่อไปนี้
คำแผ่กรุณาในทิศโดยอาการ 10 วาระที่ 1
ในบุคคลที่ 1
1. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย ทิสาย สตฺตา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศบูรพา จงพ้นทุกข์เถิด
(หน้าที่ 142)
2. สพฺเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย สตฺตา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศประจิม จงพ้นจากทุกข์เถิด
3. สพฺเพ อุตฺตราย ทิสาย สตฺตา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศอุดร จงพ้นจากทุกข์เถิด
4. สพฺเพ ทกฺขิณาย ทิสาย สตฺตา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศทักษิณ จงพ้นจากทุกข์เถิด
5. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย สตฺตา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศอาคเนย์ จงพ้นจากทุกข์เถิด
6. สพฺเพ ปจฺฉิมาย อนุทิสาย สตฺตา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศพายัพ จงพ้นจากทุกข์เถิด
7. สพฺเพ อุตฺตราย อนุทิสาย สตฺตา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศอีสาน จงพ้นจากทุกข์เถิด
8. สพฺเพ ทกฺขิณาย อนุทิสาย ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศหรดี จงพ้นจากทุกข์เถิด
9. สพฺเพ เหฏฐิมาย ทิสาย สตฺตา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศเบื้องต่ำ จงพ้นจากทุกข์เถิด
10. สพฺเพ อุปริมาย ทิสาย สตฺตา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศเบื้องบน จงพ้นจากทุกข์เถิด
ส่วนคำแผ่กรุณาไปในทิศโดยอาการ 10 ในบุคคลอีก 11 จำพวกตั้งแต่จำพวกที่ 2 คือ สพฺเพ ปาณา ปาณะทั้งปวง ถึงจำพวกที่ 12 สพฺเพ วินิปาติกา พวกสัตว์ วินิปาติกะทั้งปวงนั้น ผู้ปฏิบัติจงนำมาประกอบเรื่องทำนองเดียวกับบุคคลที่ 1 ต่างแต่ต้องยกเอาบุคคลนั้น ๆ มาประกอบแทนตรงที่ว่า สตฺตา ในคำบาลี กับตรงที่ว่า สัตว์ ในคำไทยเท่านั้น เห็นว่าผู้ปฏิบัติสามารถที่จะนำมาประกอบได้เอง จึงไม่ยกมาแสดงไว้เต็มรูปในที่นี้
(หน้าที่ 143)
กรุณาอัปปนา 132
ในกรุณาภาวนานี้ เมื่อโยคีบุคคลปฏิบัติจนได้สำเร็จถึงขั้นอัปปนาฌานและทำการแผ่กรุณาจิตไปโดยอาการ 5 ในอโนธิโสบุคคล โดยอาการ 7 ในโอธิโสบุคคล และโดยอาการ 10 ในบุคคล 12 จำพวก โดยภาวนาวิธีดังแสดงมา ก็จะได้อัปปนาฌานทั้งหมด 132 อัปปนา ในอโนธิโสผรณา 5 ในโอธิโสผรณา 7 ในทิสาผรณา 120 (5+7+ 120 = 132)
อานิสงส์กรุณา
ก็แหละ โยคีบุคคลผู้เจริญกรุณาภาวนา จนสำเร็จถึงขั้นอัปปนาฌานเป็นฌานลาภีบุคคลแล้ว ย่อมมีอันหวังได้ซึ่งอานิสงส์แห่งกรุณา 11 ประการ มี นอนเป็นสุข เป็นต้น ฉันเดียวกับเมตตาภาวนาทุกประการนั่นเทียว
กรุณาภาวนา จบ
………………
โยคีบุคคลผู้มีความประสงค์จะเจริญมุทิตาพรหมวิหารนั้น ประการแรกพึงเตรียมทำบุพกิจเบื้องต้นให้เสร็จสิ้นก่อน นับตั้งแต่ตัดปลิโพธความกังวล 10 ประการ จนถึงไปนั่ง ณ อาสนะอย่างเรียบร้อย เหมือนอย่างที่ได้แสดงไว้แล้วในเมตตาภาวนาทุกประการ ครั้นแล้วจึงลงมือเจริญมุทิตากรรมฐานต่อไป
ห้ามเจริญในบุคคล 3 จำพวกอันดับแรก
ก็แหละ เมื่อโยคีบุคคลจะเจริญมุทิตากรรมฐานนั้น ห้ามมิให้เจริญไปในบุคคล 3 จำพวกนี้เป็นอันดับแรก คือคนที่รัก 1 คนเป็นกลาง ๆ 1 คนคู่เวร 1 เพราะเหตุว่า แม้คนเป็นที่รักนั้นก็ไม่เป็นบรรทัดฐานพอที่จะให้มุทิตาเกิดขึ้นได้ในอันดับแรก ด้วยมาตรว่า ภาวะที่เป็นที่รักเท่านั้น
(หน้าที่ 144)
อธิบายว่า คนผู้อยู่ในฐานะเป็นที่รักกันอย่างธรรมดา แต่เป็นผู้ขาดคุณสมบัติพิเศษ ประจำตัว เช่น ความเป็นผู้มีหน้าตาเบิกบานแช่มชื่นเสมอ ความเป็นผู้ฉลาดทักทายปราศรัยก่อน ความเป็นผู้พูดจาไพเราะ มีมารยาทละเอียดอ่อนโยน และความสนุกร่าเริง เป็นต้น อันเป็นผลสำเร็จมาด้วยปฏิสนธิวิญญาณ ที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา คนผู้ขาดคุณสมบัติประจำตัวเช่นที่กล่าวมานี้ แม้จะนับเนื่องอยู่ในเครือคนที่รักนับถือกันก็ตาม ก็ไม่พอที่จะเป็นเหตุให้มุทิตาพรหมวิหารนี้ เกิดขึ้นในจิตสันดานของผู้ปฏิบัติในอันดับแรกได้ ยิ่งคนเป็นกลางๆ และคนคู่เวรด้วยแล้วก็ไม่ต้องพูดถึงกันละ ยิ่งห่างไกลจากความเป็นบรรทัดฐานแห่งมุทิตาภาวนาอันดับแรกมากทีเดียว
ส่วนคนต่างเพศ กับคนที่ตายแล้ว จะเอามาเป็นเขตหรืออารมณ์ ของมุทิตากรรมฐานนี้ไม่ได้เลย โดยส่วนเดียว เพราะเหตุไร ? ได้แสดงไว้แล้วในเมตตาภาวนา
คนที่ควรเจริญมุทิตาถึงอันดับแรก
ก็แหละ เพื่อนที่รักมาก จัดเป็นบุคลที่เป็นบรรทัดฐานพอที่จะให้มุทิตาเกิดขึ้นได้ในอันดับแรก หรือคนประเภทที่ท่านอรรถกถาจารย์เรียกว่า เพื่อนใจนักเลง ซึ่งเป็นผู้มีอัธยาศัยสนุกร่าเริง ยิ้มก่อนพูดเสมอ นับเป็นบุคคลที่ควรเจริญมุทิตาไปถึงเป็นอันดับแรกได้เช่นเดียวกัน หรือคนที่รักนั่นแหละ แต่เป็นผู้สมบูรณ์พูนสุขมีเครื่องบำรุงบำเรออย่างเพียบพร้อม กำลังร่าเริงบันเทิงใจอยู่ ก็เช่นเดียวกัน
เมื่อโยคีบุคคลได้เห็นมาด้วยตาเองก็ดี หรือเพียงแต่ได้ทราบข่าวดี แล้วพึงเจริญมุทิตาให้เป็นไปในบุคคลเห็นปานนั้นเป็นอันดับแรก ก่อนกว่าบุคคลประเภทอื่น คือ พึงเจริญด้วยบทภาวนาว่า –
โมทติ วตายํ สตฺโต อโห สาธุ, อโห สุฏฐุ
สัตว์ผู้นี้ร่าเริงจริงหนอ, ขออนุโมทนาด้วยเถอะหนา,
หรืออีกแบบหนึ่งว่า –
อยํ สตฺโต ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ผู้นี้ จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
(หน้าที่ 145)
ถ้าตั้งแต่ 2 คนขึ้นให้ว่า –
เอเต สตฺตา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์เหล่านี้ จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
หรือว่า –
สพฺเพ สตฺตา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
โยคีบุคคลพึงนึกภาวนาในใจไปตามบทภาวนานี้อย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ จนมุทิตาจะปรากฏชัดขึ้นในใจและได้บรรลุถึงขั้นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิตามลำดับ
เพราะอาศัยอำนาจความหมายนี้นั่นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสวิธีเจริญมุทิตาภาวนาไว้เป็นแบบอย่าง ซึ่งมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์วิภังคปกรณ์ ดังนี้ –
ภิกษุผู้มีจิตประกอบด้วยมุทิตา ย่อมแผ่มุทิตาจิตไป
ทางทิศหนึ่งอยู่นั้น คือทำอย่างไร ? ภิกษุผู้มีจิตประกอบ
ด้วยมุทิตา ย่อมแผ่มุทิตาจิตไปยังสัตว์ทั้งปวงทุก ๆ จำพวก
เหมือนอย่างที่ได้เห็นคนอื่น ซึ่งเป็นที่รักใคร่เป็นที่เจริญใจ
คนหนึ่งแล้ว พึงพลอยโมทนายินดีด้วย ฉะนั้น
เจริญมุทิตาในคนที่รักผู้ตกยาก
ถ้าแหละ เพื่อนใจนักเลงหรือคนที่รักของโยคีบุคคลนั้น เมื่อก่อนเขาเป็นคนมีความสมบูรณ์พูนสุข แต่มาบัดนี้ได้เปลี่ยนภาวะมาเป็นคนเข็ญใจได้ทุกข์และประกอบกรรมทำชั่วขึ้นเช่นนี้ โยคีบุคคลต้องระลึกถึงสภาพที่เขาเคยสมบูรณ์พูนสุขในปางอดีตนั้นแล้ว ยกเอาอาการที่เขาเคยสนุกร่าเริงขึ้นมาพิจารณาว่า คนผู้นี้ เมื่อครั้งอดีตเขาได้เคยเป็นคนร่ำรวยมีบริวารมาก เป็นคนสนุกร่าเริงเสมอเป็นนิจ ดังนี้แล้ว พึงเจริญมุทิตาให้เป็นไป อนึ่ง พึงยกเอาแม้อาการที่เขาพึงสนุกร่าเริงต่อไปในภายหน้าขึ้นมาพิจารณาว่า ชีวิตในอนาคตของคนผู้นี้ เขาจักได้สมบัตินั้นกลับคืนมาอีก เขาจักได้ไปบนคอช้าง หรือบนหลังม้า หรือบนวอทองคำเป็นแน่ ดังนี้แล้ว พึงเจริญมุทิตาให้เป็นไปในบุคคลนั้นเถิด
(หน้าที่ 146)
เจริญมุทิตาในคนกลางๆ และคนคู่เวร
ในที่นี้ คำว่า เพื่อนที่รักมากซึ่งเรียกว่าเพื่อนใจนักเลงกับคนที่รัก สองบุคคลนี้รวมเรียกว่าคนที่รักประเภทเดียวกัน เพราะเป็นผู้มีสภาพเป็นที่รักเหมือนกัน เมื่อโยคีบุคคลได้เจริญมุทิตากรรมฐานให้เกิดขึ้นในคนที่รักเช่นนั้นแล้ว ถัดนั้นพึงเจริญมุทิตาไปในบุคคลตามลำดับดังนี้ คือ คนเป็นกลางๆ และคนคู่เวร วิธีปฏิบัตินั้นดังนี้
เมื่อโยคีบุคคลได้เจริญมุทิตากรรมฐาน ให้เกิดมีขึ้นในเพื่อนที่รักมาก หรือเพื่อนใจนักเลงนั้นแล้ว พึงทำกรรมฐานนั้นให้คล่องแคล่ว ให้อ่อนนิ่มนวลควรแก่การงานเสียก่อน แล้วจึงเจริญมุทิตาไปในคนที่รัก ครั้นทำกรรมฐานในคนที่รักให้คล่องแคล่ว ให้อ่อนนิ่มนวลควรแก่การงานแล้ว จึงเจริญมุทิตาไปในคนกลาง ๆ ครั้นทำกรรฐานในคนเป็นกลาง ๆ ให้คล่องแคล่วให้อ่อนนิ่มนวลควรแก่การงานแล้ว ถัดนั้นจึงเจริญมุทิตาไปในคนคู่เวร แล้วพึงทำอัปปนาฌานให้เจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับต่อไป
มุทิตาสีมาสัมเภท
ก็แหละ ในกรณีที่เจริญมุทิตาไปในคนคู่เวรนั้น ถ้าความโกรธแค้นเกิดขึ้นแก่โยคีโดยนัยที่ได้แสดงมาแล้วในเมตตาภาวนา โยคีบุคคลพึงพยายามบรรเทาความโกรธแค้นให้ระงับลงด้วยอุบายวิธีที่ได้แสดงไว้แล้วในเมตตาภาวนานั่นแล
ครั้นแล้วพึงทำมุทิตาให้เป็นสีมาสัมเภท โดยทำจิตให้เสมอในบุคคล 4 จำพวก คือ คนที่รัก 1 คนเป็นกลาง ๆ 1 คนคู่เวร 1 และตนเอง 1 ฉะนี้
บรรลุถึงอัปปนาฌาน
แต่นั้นโยคีบุคคลพึงส้องเสพนิมิตกรรมฐาน คือ สีมาสัมเภทนั้นให้หนักขึ้นทำให้นิมิตเจริญขึ้น ภาวนาให้มาก ๆ เข้า จนให้บรรลุถึงซึ่งอัปปนาฌาน แล้วทำอัปปนาฌาน ให้เจริญก้าวหน้าขึ้นไปด้วยสามารถฌาน 3 โดยจตุกกนัยและฌาน 4 โดยปัญจกนัย โดยทำนองที่แสดงมาแล้วในเมตตาภาวนาทุกประการ
ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันว่าโยคีบุคคลผู้เจริญมุทิตาพรหมวิหาร ได้ปฏิบัติถึงขั้นสุดยอดแห่งมุทิตากรรมฐานนี้โดยบริบูรณ์แล้วแล
(หน้าที่ 147)
วิธีแผ่มุทิตา 3 อย่าง
ลำดับต่อไปนี้ ผู้ปฏิบัติพึงศึกษาให้เข้าใจวิธีการแผ่มุทิตาจิต 3 อย่างตามที่ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค คือ การแผ่มุทิตาอย่างไม่เจาะจงที่เรียกว่าอโนธิโสผรณา โดยอาการ 5 นั้นอย่างหนึ่ง การแผ่มุทิตาอย่างเจาะจงที่เรียกว่าโอธิโสผรณาโดยอาการ 7 นั้นอย่างหนึ่ง การแผ่มุทิตาไปในทิศที่เรียกว่าทิสาผรณาโดยอาการ 10 นั้นอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอาการแห่งภาวนาวิธี ดังต่อไปนี้
1. อโนธิโสผรณา
คำแผ่เมตตามุทิตาไม่เจาะจงโดยอาการ 5
1. สพฺเพ สตฺตา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
2. สพฺเพ ปาณา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอปาณะทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
3. สพฺเพ ภูตา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอภูตทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
4. สพฺเพ ปุคฺคลา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอบุคคลทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
5. สพฺเพ อตฺตภาวปริยาปนฺนา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอผู้มีอัตภาพทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
2. โอธิโสผรณา
คำแผ่มุทิตาเจาะจงโดยอาการ 7
1. สพฺพา อิตฺถิโย ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอสตรีทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
2. สพฺเพ ปุริสา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอบุรุษทั้งปวง จงอย่าพลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
(หน้าที่ 148)
3. สพฺเพ อริยา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺต
ขอพระอริยเจ้าทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
4. สพฺเพ อนริยา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอปุถุชนทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
5. สพฺเพ เทวา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอเทวดาทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
6. สพฺเพ มนุสฺสา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอมนุษย์ทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
7. สพฺเพ วินิปาติกา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉฺตุ
ขอพวกสัตว์วินิปาติกะทั้งปวง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
3. ทิสาผรณา
วิธีการแผ่มุทิตาไปในทิศโดยอาการ 10
วิธีการแผ่มุทิตาไปในทิศนั้น คือยกเอาอโนธิโสบุคคล 5 จำพวก โอธิโสบุคคล 7 จำพวก รวมเป็น 12 บุคคลไปตั้งไว้ในทิศทั้ง 10 แล้วแผ่มุทิตาไปในบุคคล 12 จำพวก ที่อยู่ในทิศทั้ง 10 นั้น จึงเรียกว่าแผ่ไปในทิศโดยอาการแห่งภาวนา 10 อาการ เมื่อว่าโดยบุคคล เป็น 12 วาระ ตัวอย่างดังต่อไปนี้
คำแผ่มุทิตาในทิศโดยอาการ 10 วาระที่ 1
ในบุคคลที่ 1
1. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย ทิสาย สตฺตา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศบูรพา จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
2. สพฺเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย สตฺตา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศประจิม จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
3. สพฺเพ อุตฺตราย ทิสาย สตฺตา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศอุดร จงอย่าพลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
(หน้าที่ 149)
4. สพฺเพ ทกฺขิณาย ทิสาย สตฺตา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศทักษิณ จงอย่าได้พลัดพรากจากสบัติที่ได้แล้วเลย
5. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย สตฺตา ยถาลทธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศอาคเนย์ จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
6. สพฺเพ ปจฺฉิมาย อนุทิสาย สตฺตา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศพายัพ จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
7. สพฺเพ อุตฺตราย อนุทิสาย สตฺตา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศอีสาน จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
8. สพฺเพ ทกฺขิณาย อนุทิสาย สตฺตา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศหรดี จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
9. สพฺเพ เหฏฐิมาย ทิสาย สตฺตา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศเบื้องล่าง จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
10. สพฺเพ อุปริมาย ทิสาย สตฺตา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ
ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศเบื้องบน จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย
ส่วนคำแผ่กรุณาไปในทิศโดยอาการ 10 ในบุคคลอีก 11 จำพวกตั้งแต่จำพวกที่ 2 สพฺเพ ปาณา ปาณะทั้งปวง ถึงจำพวก 12 สพฺเพ วินิปาติกา พวกสัตว์วินิปาติกาทั้งปวงนั้น ผู้ปฏิบัติจงนำมาประกอบเรื่องโดยทำนองเดียวกับบุคคลที่ 1 ต่างแต่ต้องยกเอาบุคคลนั้น ๆ มาประกอบแทนตรงที่ว่า สตฺตา ในคำบาลี กับตรงที่ว่า สัตว์ ในคำไทยเท่านั้น เห็นว่าผู้ปฏิบัติสามารถที่จะนำมาประกอบได้เอง จึงไม่ได้ยกมาแสดงไว้เต็มรูป
มุทิตาอัปปนา 132
ในมุทิตาภาวนานี้ เมื่อโยคีบุคคลปฏิบัติจนได้สำเร็จถึงขั้นอัปปนาฌานและทำการแผ่มุทิตาจิตไปโดยอาการ 5 ในอโนธิโสบุคคล โดยอาการ 7 ในโอธิโสบุคคล และโดยอาการ 10 ในบุคคล 12 จำพวก โดยภาวนาวิธีดังแสดงมา ก็จะได้อัปปนาฌานทั้งหมด
(หน้าที่ 150)
132 อัปปนาคือ อัปปนาในอโนธิโสผรณา 5 ในอโนธิโสผรณา 7 และในทิสาผรณา 120 (5+7+120 = 132)
อานิสงส์มุทิตา
ก็แหละโยคีบุคคลผู้เจริญมุทิตาจนได้สำเร็จถึงขั้นอัปปนาฌานเป็นฌานลาภีบุคคลแล้ว ย่อมมีอันหวังได้ซึ่งอานิสงส์แห่งมุทิตาถึง 11 ประการ มี นอนเป็นสุข เป็นต้น ฉันเดียวกับเมตตาภาวนาทุกประการนั่นแล
มุทิตาภานาจบ
…………………..
การภาวนาอุเบกขาพรหมวิหารนี้ มีข้อแปลกจากพรหมวิหาร 2 ข้างต้น ที่โยคีบุคคลควรทราบ คือพรหมวิหาร 3 ข้างต้นนั้น ใคร ๆ ก็ตามเมื่อมีความประสงค์จะเจริญภาวนาแล้ว ก็ลงมือปฏิบัติกันได้ทุกคนและโดยทันทีทีเดียว ส่วนอุเบกขาพรหมวิหารนี้ หาปฏิบัติเช่นนั้นได้ไม่ ผู้ที่จะลงมือปฏิบัติมีเขตจำกัดไว้เป็นธรรมนิยมเฉพาะแต่ผู้ที่เป็นฌานลาภีบุคคล คือผู้ได้ปฏิบัติพรหมวิหาร 3 เบื้องต้นข้อใดข้อหนึ่งจนได้บรรลุถึงขั้นตติยฌานโดยจตุกกนัยหรือจตุตถฌานโดยปัญจกนัยมาแล้วเท่านั้น จึงจะลงมือเจริญภาวนาอุเบกขาพรหมวิหารเป็นผลสำเร็จมาแต่พรหมวิหาร 3 ข้างต้นโดยเฉพาะ และอุเบกขาพรหมวิหารนี้ เข้าประกอบได้แต่ในจตุตถฌานโดยจตุกกนัยหรือในปัญจมฌานโดยปัญจกนัยเท่านั้น หาได้ประกอบในฌานต้น ๆ ไม่
เจริญอุเบกขาในบุคคลกลางๆอันดับแรก
เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลผู้ฌานลาภี มีความประสงค์จะเจริญอุเบกขาพรหมวิหารนั้น ก่อนแต่จะลงมือปฏิบัติ ต้องเข้าสู่ตติยฌานที่ตนได้ทำให้ชำนาญคล่องแคล่วมาด้วยวสี 5 ด้วยอำนาจฌาน 3 หรือฌาน 4 แล้วแต่กรณีที่ได้สำเร็จมาในเมตตาหรือกรุณาหรือมุทิตากรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ครั้นออกจากตติยฌานแล้ว พึงพิจารณาให้เห็นโทษของเมตตา, กรุณา และมุทิตาว่า ต่างก็ยังมีการต้องสาละวนสนใจอยู่ในสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการส่งจิตไปว่า
(หน้าที่ 151)
ขอให้สัตว์ทั้งปวงจงมีความสุขเถิด เป็นต้น และยังมีอาการเป็นไปใกล้ต่อความรักและความชังอยู่ กับทั้งยังมีอาการเป็นไปใกล้ต่อความดีใจในอันที่จะต้องส่งจิตไปว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุขเถิด (เมตตา) ขอสัตว์ทั้งปวงจงพ้นจากทุกข์เสียเถิด (กรุณา) ขอสัตว์ทั้งปวงจงเจริญ ๆ เถิด (มุทิตา) ประกอบด้วยมีองค์ฌานที่หยาบ เพราะฌานนั้น ๆ ยังประกอบด้วยโสมนัสเวทนาอยู่ ฉะนี้ ครั้นแล้วพึงพิจารณาให้เห็นอานิสงส์ของอุเบกขาพรหมวิหาร เป็นต้นว่า เป็นสภาพที่ละเอียดสุขุม ประณีต ห่างไกลจากกิเลสมาก และมีผลอันกว้างใหญ่ไพศาลกว่าพรหมวิหาร 3 ข้างต้น ฉะนี้
ลำดับนั้น โยคีบุคคลพึงเพ่งจิตเป็นกลาง ๆ ไปยังผู้คนเป็นกลาง ๆ กับตน อย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ โดยวิธีที่มองในแง่ที่คนทุกคนรวมทั้งตนเองด้วยเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตนว่า คนผู้นี้เมื่อเขาจะมาเกิดในโลกนี้ หากเขามาด้วยอำนาจกรรมที่เขาได้ทำเอาไว้เอง เมื่อเขาจะจากโลกนี้ไปนั้นเล่า เขาก็จะต้องไปด้วยอำนาจกรรมที่เขาได้ทำไว้เอง แม้ตัวเราบ้างก็เหมือนกัน เมื่อจะมาในโลกนี้หรือจะจากโลกนี้ไปก็สำเร็จด้วยอำนาจกรรมที่ตัวเราเองได้ทำไว้เองทั้งสิ้น การที่เราจะช่วยกอบโกยเอาความสุขใจมาให้ หรือจะช่วยปลดปลิดความทุกข์ใจออกให้แก่ผู้คนนี้ด้วยความพยายามของเราเองนั้น หาใช่วิสัยที่จะเป็นไปได้ไม่ และการมัวสาละวนวุ่นวายอยู่ในสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการแผ่เมตตาจิตบ้างกรุณาจิตบ้าง มุทิตาจิตบ้างไปถึงเขาผู้นี้ มิใช่เป็นการกระทำที่ถูกต้องตรงตามความมุ่งหมายแท้ทีเดียว การวางใจไว้เป็นกลาง ๆ ในสัตว์ทั้งปวงนี้ต่างหาก เป็นมรรคาที่พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ดำเนินไปแล้ว และเป็นปฏิปทาที่ตรงเป้าหมายในทางปฏิบัติ โยคีบุคคลพึงส่งจิตไปในบุคคลนั้นด้วยบทภาวนาดังนี้ว่า : -
อยํ สตฺโต กมฺมสฺสโก โหติ
สัตว์ผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
ถ้าตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปว่า : -
เอเต สตฺตา กมฺมสฺสกา โหนฺติ
สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
(หน้าที่ 152)
หรือว่า : -
สพฺเพ สตฺตา กมฺมสฺสกา โหนฺติ
สัตว์ทั้งปวงเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
ทั้งนี้ด้วยวิธีที่นึกภาวนาในใจบ่อย ๆ หลายครั้งหลายหน จนกว่าอุเบกขา คือ ความเป็นกลาง ๆ ในบุคคลนั้น จะปรากฏขึ้นในจิตอย่างเด่นชัด เมื่อโยคีบุคคลพยายามปฏิบัติอยู่โดยทำนองนี้ ความวางใจเป็นกลาง ๆ อย่างปกติในบุคคลนั้น ก็จะเป็นสภาพที่ตั้งอยู่อย่างแน่วแน่ไม่แลบออกไปหาอารมณ์ภายนอกอื่น ๆ นี่คือลักษณะของอุปจารภาวนา และขณะนั้นนิวรณ์ 5 ย่อมถูกข่มให้สงบไปด้วยอำนาจพลังแห่งภาวนา กิเลสทั้งหลายก็สงบลงตามกันด้วยประการ ฉะนี้
เจริญอุเบกขาในคนที่รักเป็นต้น
ลำดับนั้น โยคีบุคคลพึงเจริญอุเบกขาที่ได้ทำให้บังเกิดขึ้นแล้วในคนเป็นกลาง ๆ นั้น ไปในบุคคลประเภทอื่น ๆ มีคนผู้เป็นที่รักเป็นต้นต่อไป เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเป็นแบบอย่างไว้ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์วิภังคปกรณ์ ดังนี้ : -
ภิกษุผู้มีจิตประกอบด้วยอุเบกขา ย่อมแผ่อุเบกขาจิตไปทางทิศหนึ่งอยู่นั้น คือทำอย่างไร ? ภิกษุผู้มีจิตประกอบด้วยอุเบกขา ย่อมแผ่อุเบกขาจิตไปในสัตว์ทั้งปวง เหมือนอย่างที่ได้เห็นคนอื่นซึ่งไม่รักไม่ชังคนหนึ่ง แล้วพึงเป็นผู้เฉยๆ อยู่ฉะนั้น
เพราะฉะนั้น เมื่อโยคีบุคคลได้เจริญอุเบกขาให้เกิดในคนเป็นกลาง ๆ เป็นอันดับแรกดังนั้นแล้ว พึงฝึกทำอุเบกขาจิตนั้นให้อ่อนนิ่มนวลควรแก่การงานด้วยวสี 5 จนได้ที่แล้ว แต่นั้นพึงพยายามเจริญอุเบกขาให้เกิดในคนที่รักต่อไป ครั้นทำอุเบกขาจิตในคนที่รักให้อ่อนนิ่มนวลควรแก่การงานจนได้ที่แล้ว ถัดนั้นพึงเจริญอุเบกขาให้เกิดในเพื่อนใจนักเลงต่อไป ครั้นทำอุเบกขาจิตให้อ่อนนิ่มนวลควรแก่การงานจนได้ที่แล้ว ถัดนั้นพึงเจริญอุเบกขาให้เกิดในคนคู่เวรต่อไป ฉะนี้
(หน้าที่ 153)
อุเบกขาสีมาสัมเภท
ครั้นแล้ว โยคีบุคคลพึงพยายามเจริญอุเบกขาจิตให้เป็นสีมาสัมเภทโดยวางใจไว้เป็นกลาง ๆ ในบุคคลเหล่านี้ คือคนที่รัก 1 เพื่อนใจนักเลง 1 คนคู่เวร 1 และตนเอง 1 เมื่อได้ปฏิบัติถึงขั้นสีมาสัมเภทแล้ว ฉะนี้ พึงซ่องเสพให้หนักยิ่งขึ้นซึ่งสมถนิมิต คือ สีมาสัมเภทนั้น ทำให้เจริญขึ้น ภาวนาให้มาก ๆ เข้า ด้วยภาวนาวิธีดังที่ได้แสดงมาแล้วนั่นแล
ในที่นี้ เหตุที่ท่านยกเอาตนเองมาตั้งไว้ในลำดับหลังสุดนั้น ก็เพราะการที่จะวางใจไว้เป็นกลาง ๆ ในตนเองเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก ยากยิ่งกว่าคนคู่เวรเสียอีก ทั้งนี้ ด้วยความเห็นแก่ตนเป็นภาวะที่มีกำลังมากโดยธรรมนิยมของโลกียปุถุชนนั่นเอง
บรรลุจตุตถฌาน
ก็แหละ เมื่อโยคีบุคคลได้พยายามอย่างมุ่งมั่นด้วยการซ่องเสพนิมิตกรรมฐานอยู่อย่างนั้น ไม่ช้าไม่นานสักเท่าไร จตุตถฌานอันมีอุเบกขาพรหมวิหารเป็นนิมิตก็สำเร็จบังเกิดขึ้นมา ซึ่งมีคุณลักษณะเหมือนอย่างที่ได้แสดงมาแล้วในปถวีกสิณภาวนานั่นแล
ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันโยคีบุคคลผู้เจริญอุเบกขาพรหมวิหารภาวนา ได้ปฏิบัติถึงขั้นสุดยอดแห่งอุเบกขากรรมฐานนี้โดยบริบูรณ์แล้วแล
อาการเกิดขึ้นแห่งจตุตถฌานในปถวีกสิณ
ก็แหละ ลักษณะอาการที่บังเกิดขึ้นของจตุตถฌาน ที่ท่านแสดงไว้ในปถวีกสิณนั้น ข้าพเจ้าขอยกมาไว้ ณ ที่นี้อีกวาระหนึ่ง เพื่อสนองเจตนาของผู้ใคร่จะทราบ และเพื่อช่วยส่งเสริมความเข้าใจในที่นี้ให้เด่นชัดขึ้น ดังต่อไปนี้
เมื่อโยคีผู้ฌานลาภีบุคคล ซึ่งทำฌานให้แคล่วคล่องดีแล้วด้วยวสีทั้ง 5 ออกจากตติยฌานที่ตนทำให้ชำนาญดีแล้วนั้น พิจารณาเห็นโทษในตติยฌานว่า สมาบัตินี้ยังใกล้ต่อปีติอันเป็นข้าศึกอยู่ และฌานก็มีกำลังอ่อนเพราะสุขอันเป็นองค์ฌานเป็นสภาพที่หยาบ ครั้นแล้วก็ใฝ่ใจไปถึงจตุตถฌานโดยเห็นเป็นสภาพที่ละเอียดประณีตกว่า จึงคลายความพอใจในตติยฌานเสีย แล้วลงมือพยายามภาวนาต่อเพื่อให้ได้บรรลุจตุตถฌานต่อไป
(หน้าที่ 154)
ก็แหละ ขณะใดโยคีบุคคลออกจากตติยฌานแล้วใช้สติสัมปชัญญะกำหนดพิจารณาองค์ฌานอยู่นั้น ความสุขอันใดได้แก่โสมนัสเวทนาก็จะปรากฏให้เห็นโดยเป็นภาวะที่หยาบเด่นชัดขึ้น อุเบกขาเวทนากับเอกัคคตา (ภาวะที่จิตมีอารมณ์ดิ่งเป็นหนึ่ง) ก็จะปรากฏให้เห็นเป็นภาวะที่ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น ขณะนั้นแลกำลังที่โยคีบุคคลพิจารณาสมถนิมิตอยู่ว่า ปถวี ปถวี หรือ ดิน ดิน ดังนี้เพื่อละองค์ฌานที่หยาบนั้น และให้ได้มาซึ่งองค์ฌานที่ละเอียดต่อไป และรู้สึกขึ้นว่า จตุตถฌานจะเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้แล้ว มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งมีปถวีกสิณนั้นแหละเป็นอารมณ์ทำหน้าที่ตัดกระแสภวังคจิตแล้วก็เกิดขึ้นมาแทนทันที ถัดนั้นและในอารมณ์เดียวกันนั้น ชวนจิตก็เกิดขึ้น 4 ครั้งหรือ 5 ครั้งแล้วแต่กรณี (สำหรับโยคีเป็นติกขบุคคลมีปัญญากล้า ชวนจิตเกิดขึ้นเพียง 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 เรียกว่า อุปจาระ ที่ 2 อนุโลม ที่ 3 โคตรภู ที่ 4 คือจตุตถฌาน สำหรับโยคีผู้เป็นมันทบุคคลปัญญาอ่อน ชวนจิตเกิดขึ้น 5 ครั้ง คือ บริกรรม อุปจาระ อนุโลม โคตรภู และจตุตฌาน ตามลำดับ)
ชวนจิตดวงสุดท้าย คือ ครั้งที่ 4 หรือ ครั้งที่ 5 นั้น คือ ตัวจตุตถฌานจัดเป็นรูปาวจรกุศล ส่วนชวนจิตดวงต้น ๆ คือ บริกรรม อุปจาระ อนุโลม และโคตรภู ยังเป็นกามาวจรกุศลอยู่ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าโยคีบุคคลนี้ได้บรรลุถึงซึ่งจตุตถฌานอันมีสติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาเวทนา ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์เสียแล้ว โสมนัสเวทนาและโทมนัสเวทนาก็ดับมาแล้วตั้งแต่ต้น
ด้วยประการฉะนี้ จตุตถฌานหรือฌานที่ 4 โดยจตุกกนัยอันมีปถวีกสิณเป็นนิมิตซึ่งองค์ละ 1 ประกอบด้วยองค์ 2 มีความงาม 3 สมบูรณ์ด้วยลักษณะ 10 เป็นอันโยคีบุคคลนี้ได้บรรลุแล้วแล
อุเบกขาจตุตถฌานมีเหตุจำกัด
ถามว่า - อุเบกขาจตุตถฌานนี้ จะเกิดแก่โยคีบุคคลผู้สำเร็จตติยฌานในปถวีกสิณเป็นต้นได้ไหม ? เพราะเหตุไร ?
ตอบว่า - ไม่ได้ เพราะเหตุที่อุเบกขาจตุตถฌานนี้ กับปถวีกสิณตติยฌาน เป็นต้น เป็นสภาพมีอารมณ์ไม่ถูกส่วนกัน อุเบกขาจตุตถฌานนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะแก่ฌานลาภีบุคคล
(หน้าที่ 155)
ผู้ได้ตติยฌานมาในพรหมวิหาร 3 เบื้องต้นเท่านั้น เพราะเป็นสภาพมีอารมณ์ถูกส่วนกัน คือ มีสัตว์บัญญัติเป็นอารมณ์เหมือนกัน ส่วนปถวีตติยฌานเป็นต้น ก็มีกสิณนิมิตเป็นต้น เป็นอารมณ์ ฉะนี้
วิธีการแผ่อุเบกขา 3 อย่าง
ลำดับต่อไปนี้ ผู้ปฏิบัติพึงศึกษาให้เข้าใจวิธีการแผ่อุเบกขา 3 อย่างตามที่ท่านแสดงเป็นแบบไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค คือ การแผ่อุเบกขาอย่างไม่เจาะจงที่เรียกว่า อโนธิโสผรณาโดยอาการ 5 นั้นอย่างหนึ่ง การแผ่อุเบกขาอย่างเจาะจงที่เรียกว่าโอธิโสผรณา โดยอาการ 7 นั้นอย่างหนึ่ง การแผ่อุเบกขาไปในทิศที่เรียกว่าทิสาผรณาโดยอาการ 10 นั้นอย่างหนึ่ง ซึ่งมีตัวอย่างแห่งภาวนาวิธีดังต่อไปนี้ –
1. อโนทิโสผรณา
คำแผ่อุเบกขาไม่เจาะจงโดยอาการ 5
1. สพฺเพ สตฺตา กมฺมสฺสกา โหนฺติ
สัตว์ทั้งปวงเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
2. สพฺเพ ปาณา กมฺมสฺสกา โหนฺติ
ปาณะทั้งปวงเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
3. สพฺเพ ภูตา กมฺมสฺสกา โหนฺติ
ภูตทั้งปวงเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
4. สพฺเพ ปุคฺคลา กมฺมสฺสกา โหนฺติ
บุคคลทั้งปวงเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
5. สพฺเพ อตฺตภาวปริยาปนฺนา กมฺมสฺสกา โหนฺติ
ขอผู้มีอัตภาพทั้งปวงเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
(หน้าที่ 156)
2. โอธิโสผรณา
คำแผ่อุเบกขาเจาะจงโดยอาการ 7
1. สพฺพา อิตฺถิโย กมฺมสฺสกา โหนฺติ สตรีทั้งปวงเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
2. สพฺเพ ปุริสา กมฺมสฺสกา โหนฺติ บุรุษทั้งปวงเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
3. สพฺเพ อริยา กมฺมสฺสกา โหนฺตุ พระอริยเจ้าทั้งปวงเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
4. สพฺเพ อนริยา กมฺมสฺสกา โหนฺติ ปุถุชนทั้งปวงเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
5. สพฺเพ เทวา กมฺมสฺสกา โหนฺติ เทวดาทั้งปวงเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
6. สพฺเพ มนุสฺสา กมฺมสฺสกา โหนฺติ มนุษย์ทั้งปวงเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
7. สพฺเพ วินิปาติกา กมฺมสฺสกา โหนฺติ พวกสัตว์วินิปาติกะทั้งปวงเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
3. ทิสาผรณา
วิธีแผ่อุเบกขาไปในทิศโดยอาการ 10
วิธีแผ่อุเบกขาไปในทิศนั้น คือยกเอาอโนธิโสบุคคล 5 จำพวก โอธิโสบุคคล 7 จำพวก รวมเป็น 12 จำพวก ไปตั้งไว้ในทิศทั้ง 10 แล้วแผ่อุเบกขาไปในบุคคล 12 จำพวกที่อยู่ในทิศทั้ง 10 นั้น จึงเรียกว่าแผ่ไปในทิศโดยอาการแห่งภาวนา 10 อาการ เมื่อว่าโดยบุคคลเป็น 12 วาระ ตัวอย่างดังต่อไปนี้ –
(หน้าที่ 157)
คำแผ่อุเบกขาในทิศโดยอาการ 10 วาระที่ 1
ในบุคคลที่ 1
1. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย ทิสาย สตฺตา กมฺมสฺสกา โหนฺติ สัตว์ทั้งปวงในทิศบูรพา เป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
2. สพฺเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย สตฺตา กมฺมสฺสกา โหนฺติ ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศประจิม เป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
3. สพฺเพ อุตฺตราย ทิสาย สตฺตา กมฺมสฺสกา โหนฺติ ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศอุดร เป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
4. สพฺเพ ทกฺขิณาย ทิสาย สตฺตา กมฺมสฺสกา โหนฺติ สัตว์ทั้งปวงในทิศทักษิณ เป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
5. สพฺเพ ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย สตฺตา กมฺมสฺสกา โหนฺติ สัตว์ทั้งปวงในทิศอาคเนย์ เป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
6. สพฺเพ ปจฺฉิมาย อนุทิสาย สตฺตา กมฺมสฺสกา โหนฺติ สัตว์ทั้งปวงในทิศพายัพ เป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
7. สพฺเพ อุตฺตราย อนุทิสาย สตฺตา กมฺมสฺสกา โหนฺติ สัตว์ทั้งปวงในทิศอีสาน เป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
8. สพฺเพ ทกฺขิณาย อนุทิสาย สตฺตา กมฺมสฺสกา โหนฺติ สัตว์ทั้งปวงในทิศหรดี เป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
9. สพฺเพ เหฏฐิมาย ทิสาย สตฺตา กมฺมสฺสกา โหนฺติ สัตว์ทั้งปวงในทิศเบื้องล่าง เป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
10. สพฺเพ อุปริมาย ทิสาย สตฺตา กมฺมสฺสกา โหนฺติ สัตว์ทั้งปวงในทิศเบื้องบน เป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน
ส่วนการแผ่อุเบกขาไปในทิศโดยอาการ 10 ในบุคคลอีก 11 จำพวก หรือ 11 วาระ ตั้งแต่จำพวกที่ 2 สพฺเพ ปาณา ปาณะทั้งปวง ถึงจำพวกที่ 12 สพฺเพ
(หน้าที่ 158)
วินิปาติกา พวกสัตว์วินิปาติกะทั้งปวงนั้น ผู้ปฏิบัติจงนำมาประกอบเรื่องโดยทำนองเดียวกับ วาระที่ 1 ต่างแต่ต้องยกเอาบุคคลประเภทนั้น ๆ มาประกอบแทนตรงที่ว่า สตฺตา ในคำบาลี หรือตรงที่ว่า สัตว์ ในคำไทยเท่านั้น เห็นว่าผู้ปฏิบัติสามารถที่จะนำมาประกอบได้เอง จึงไม่ยกมาแสดงไว้เต็มรูปในที่นี้
อุเบกขาอัปปนา 132
ในอุเบกขาภาวนานี้ เมื่อโยคีบุคคลปฏิบัติจนได้บรรลุถึงขั้นอัปปนาจตุตตถฌานและได้ทำการแผ่อุเบกขาไปโดยอาการแห่งภาวนา 5 ในอโนธิโสบุคคล โดยอาการแห่งภาวนา 7 ในโอธิโสบุคคล และโดยอาการแห่งภาวนา 10 ในบุคคล 12 จำพวก โดยภาวนาวิธีดังแสดงมาก็จะได้อัปปนาฌานทั้งสิ้น 132 อัปปนา คือ อัปปนาในอโนธิโสผรณา 5 ในโอธิโสผรณา 7 และในทิสาผรณา 120 (5+7+120 = 132)
อานิสงส์อุเบกขา
ก็แหละ โยคีบุคคลผู้เจริญอุเบกขาพรหมวิหารนี้จนได้สำเร็จขั้นอัปปนาจตุตถฌาน เป็นจตุตถฌานลาภีบุคคลแล้ว ย่อมมีอันหวังได้ซึ่งอานิสงส์ถึง 11 ประการ มี นอนเป็นสุข เป็นต้น ฉันเดียวกับเมตตาพรหมวิหารทุกประการนั่นแล
อุเบกขาภาวนา จบ.
……………….
พรหมุตฺตเมน กถิเต พรหมวิหาเร อิเม อิติ
วิทิตวา ภิยฺโย เอเตสุ อยํ ปกิณฺณกกถาปิ วิญฺเญยฺยา
นักศึกษาเมื่อได้เรียนรู้พรหมวิหาร 4 นี้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพรหมชั้นสุดยอด ทรงแสดงโปรดเวไนยสัตว์ ด้วยประการดังพรรณนามาในภาวนาวิธีนั้นฉะนี้แล้ว พึงศึกษาให้รู้ข้อเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ในพรหมวิหาร 4 นี้ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกดังต่อไปนี้
(หน้าที่ 159)
ในพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา นั้นนักศึกษาพึงทราบอรรถวิเคราะห์ของเมตาเป็นอันดับแรก ดังนี้ –
คำว่า เมตตา มีอรรถวิเคราะห์ว่า เมชฺชตีติ = เมตฺตา สินิยหตีติ อตฺโถ ธรรมชาติ ที่รักใคร่ เรียกว่า เมตตา ไขความว่า ธรรมชาติที่ห่วงใยในอันที่จะทำประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย อีกนัยหนึ่งว่า เมชฺชตีติ = มิตฺโต ผู้ใดยอมรักใคร่กัน ผู้นั้นเรียกว่ามิตร มิตฺเต ภวาติ = เมตฺตา อัธยาศัยที่ใคร่ประโยชน์ซึ่งเกิดมีในมิตรเรียกว่า เมตตา, อีกนัยหนึ่ง มิตฺตสฺส เอสา ปวตฺตตีติ = เมตฺตา อัธยาศัยที่ใคร่ประโยชน์ที่เป็นไปต่อมิตรเรียกว่า เมตตา
คำว่า กรุณา มีอรรถวิเคราะห์ว่า ปรทุกฺเข สติ สาธูนํ หทยกมฺปนํ กโรตีติ = กรุณา ธรรมชาติใด เมื่อสัตว์อื่นประสบทุกข์ย่อมทำความสะเทือนใจให้แก่สาธุชนทั้งหลาย ธรรมชาตินั้นเรียกว่า กรุณา, อีกนัยหนึ่ง กิณาติ ปรทุกฺขํ หึสติ วินาเสตีติ = กรุณา ธรรมชาติใดย่อมช่วยถ่ายถอนทุกข์ของสัตว์อื่น คือช่วยกำจัดช่วยปลดเปลื้องทุกข์ของสัตว์อื่นให้หมดไป ธรรมชาตินั้นเรียกว่า กรุณา อีกนัยหนึ่ง กิริยติ ทุกฺขิเตสุ ผรณวเสน ปสาริยตีติ = กรุณา ธรรมชาติใดอันบุคคลแผ่กระจายไป คือ ระลึกไปในสัตว์ทั้งหลายผู้ประสบทุกข์ ด้วยรับเอามาเป็นทุกข์เสียเอง ธรรมชาตินั้นเรียกว่า กรุณา
คำว่า มุทิตา มีอรรถวิเคราะห์ว่า โมทนฺติ ตาย ตํ สมงฺคิโนติ = มุทิตา ชนทั้งหลายย่อมยินดีต่อผู้พรั่งพร้อมด้วยสมบัตินั้นด้วยธรรมชาตินั้น ธรรมชาตินั้นเป็นเหตุให้ยินดีต่อผู้พรั่งพร้อมด้วยสมบัตินั้น เรียกว่า มุทิตา อีกนัยหนึ่ง สยํ โมทตีติ = มุทิตา ธรรมชาติใดย่อมยินดีเอง ธรรมชาตินั้นเรียกว่า มุทิตา อีกนัยหนึ่ง โมทนมตฺตเมวตนฺติ = มุทิตา ธรรมชาติมาตรว่าความยินดีนั้นนั่นเทียว เรียกว่า มุทิตา
คำว่า อุเบกขา มีอรรถวิเคราะห์ว่า อเวรา โหนฺตุ อาทิพยาปารปฺปหาเนน มชฺฌตฺตภาวูปคมเนน จ อุเปกฺขตีติ = อุเปกฺขา ธรรมชาติใดย่อมเห็นเสมอกัน โดยละความขวนขวายว่าสัตว์ทั้งปวงจงอย่าผูกเวรกันเป็นต้น และโดยเข้าถึงภาวะเป็นกลางๆ ธรรมชาตินั้นเรียกว่า อุเบกขา
(หน้าที่ 160)
ลักษณะเป็นต้นของพรหมวิหาร 4 นี้ มีอรรถธิบายตามลำดับดังต่อไปนี้ –
เมตตา มีอันเป็นไปโดยอาการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายเป็นลักษณะ มีอันน้อมนำเข้ามาซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายเป็นกิจ มีอันกำจัดซึ่งความอาฆาตเป็นผลปรากฏ มีอันได้เห็นภาวะที่น่าเจริญใจของสัตว์ทั้งหลายเป็นบรรทัดฐาน มีความสงบแห่งพยาบาทเป็นสมบัติ มีการเกิดความห่วงใยด้วยตัณหาเป็นความวิบัติของเมตตานี้
กรุณา มีอันเป็นไปโดยอาการช่วยบรรเทาทุกข์แก่สัตว์ทั้งหลายเป็นลักษณะ มีอันไม่นิ่งดูดายต่อทุกข์ของสัตว์อื่นเป็นกิจ มีการไม่เบียดเบียนสัตว์อื่นเป็นผลปรากฏ มีอันได้เห็นสภาพอันน่าอนาถของสัตว์ทั้งหลายผู้ถูกทุกข์ครอบงำแล้วเป็นบรรทัดฐาน มีความระงับซึ่งการเบียดเบียนสัตว์เป็นสมบัติ มีการเกิดความโศกเศร้าเป็นความวิบัติของกรุณานี้
มุทิตา มีความยินดีด้วยเป็นลักษณะ มีความไม่ริษยาเป็นกิจ มีอันจำกัดความไม่ไยดีด้วยเป็นผลปรากฏ มีอันได้เห็นสมบัติของสัตว์ทั้งหลายเป็นบรรทัดฐาน มีความสงบแห่งความไม่ไยดีด้วยเป็นสมบัติ มีอันเกิดความร่าเริงเป็นความวิบัติของมุทิตานี้
อุเบกขา มีอันเป็นไปโดยอาการเป็นกลางๆ ในสัตว์ทั้งหลายเป็นลักษณะ มีอันเห็ภาวะที่สม่ำเสมอกันในสัตว์ทั้งหลายเป็นกิจ มีอันสงบความเสียใจและความดีใจเป็นผลปรากฏ มีอันพิจารณาเห็นภาวะที่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตนเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งมีอาการเป็นไปอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน สัตว์เหล่านั้นจักได้ประสบความสุขก็ดี จักพ้นจากทุกข์ก็ดี จักเสื่อมจากสมบัติที่ตนมีอยู่แล้วก็ดี เพราะความชอบใจของใครเล่า (นอกจากของกรรมเท่านั้น) มีการสงบแห่งความเสียใจและความดีใจเป็นสมบัติ มีอันเกิดความเพิกเฉยเพราะความไม่รู้อันอาศัยกามคุณเป็นความวิบัติของอุเบกขานี้
ก็แหละ สุขอันเกิดแต่ปัญญาที่เห็นแจ้งชัดอันเป็นภายในก็ดี สมบัติอันบุคคลจะพึงได้ในภพที่ไปบังเกิดก็ดี จัดเป็นประโยชน์ส่วนที่ร่วมกันของพรหมวิหารทั้ง 4 ส่วนการปราบเสียได้ซึ่งกิเลสมีพยาบาทเป็นต้น จัดเป็นประโยชน์ส่วนเฉพาะแต่ละประการของพรหม –
(หน้าที่ 161)
วิหารทั้ง 4 กล่าวคือ เมตตาเป็นประโยชน์ในอันปราบพยาบาท คือความุ่งร้าย กรุณาเป็นประโยชน์ในอันปราบวิหิงสา คือการเบียดเบียน มุทิตา เป็นประโยชน์ในอันปราบอรติ คือการไม่ไยดีด้วย อุเบกขา เป็นประโยชน์ในอันปราบราคะคือความกำหนัด ข้อนี้สมด้วยพระบาลีในคัมภีร์ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค มีอาทิว่า –
ดูก่อนอาวุโส เมตตาเจโตวิมุตินี้นั้น เป็นเครื่อง
สลัดออกเสียซึ่งพยาบาท ดูก่อนอาวุโส กรุณาเจโตวิมุตินี้
นั้น เป็นเครื่องสลัดออกเสียซึ่งวิหิงสา ดูก่อนอาวุโส มุทิตา
เจโตวิมุตินี้นั้น เป็นเครื่องสลัดออกเสียซึ่งอรติ ดูก่อนอาวุโส
อุเบกขาเจโตวิมุตินี้นั้น เป็นเครื่องสลัดออกเสียซึ่งราคะ
แหละในพรหมวิหารทั้ง 4 นี้ แต่ละประการนั้น มีอกุศลธรรมที่เป็นข้าศึก อย่างละ 2 ๆ โดยจัดเป็นข้าศึกใกล้อย่างหนึ่ง ข้าศึกไกลอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ : -
ข้าศึกของเมตตา
ราคะ เป็นข้าศึกใกล้ของเมตตาพรหมวิหาร เพราะมีส่วนเข้ากันได้โดยมองในแง่ที่เป็นคุณด้วยกัน เหมือนศัตรูของบุรุษที่อยู่ใกล้ชิด ฉะนั้น ราคะนั้นย่อมได้ช่องโอกาสเกิดขึ้นเร็วมาก ดังนั้น ผู้ปฏิบัติต้องคอยช่วงชิงกันเมตตาจากราคะไว้ให้จงดี
พยาบาท เป็นข้าศึกไกลของเมตตาพรหมวิหาร เพราะมีส่วนเข้ากันไม่ได้โดยส่วนของตน เหมือนศัตรูของบุรุษซึ่งซุ่มอยู่ในที่รกชัฏแห่งภูเขา ฉะนั้น เพราะเหตุนั้นผู้ปฏิบัติจึงจำต้องเจริญเมตตาภาวนา โดยไม่ต้องเกรงกลัวแต่พยาบาทนั้น แต่ที่จักเจริญเมตตากรรมฐานด้วย จักทำพยาบาทโกรธเคืองด้วย ในขณะเดียวกัน ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้
(หน้าที่ 162)
ข้าศึกของกรุณา
โทมนัส ความเสียใจอันอาศัยกามคุณเป็นข้าศึกใกล้ของกรุณาพรหมวิหาร เพราะมีส่วนเข้ากันได้โดยมองในแง่วิบัติของสัตว์ทั้งหลายเหมือนกัน โทมนัสอาศัยกามคุณมาในบาลี มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก มีอาทิว่า : -
เมื่อบุคคลละห้อยใจถึงสิ่งที่ไม่ได้มาโดยสมหวัง คือ รูปที่เห็นด้วยตา อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าเจริญใจ น่ารื่นรมย์ ซึ่งอิงอาศัยตัณหาก็ดี เมื่อคิดทอดถอนใจในสิ่งที่เคยได้มาแล้วในก่อน ซึ่งล่วงเลยไปเสียแล้ว ดับสูญไปเสียแล้ว เปลี่ยนแปลงไปเสียแล้วก็ดี โทมนัสก็ย่อมเกิดขึ้นโทมนัสเห็นปานฉะนี้นั้นเรียกว่า โทมนัสอาศัยกามคุณ
วิหิงสา เป็นข้าศึกไกลของกรุณาพรหมวิหาร เพราะมีส่วนเข้ากันไม่ได้โดยส่วนของตน ด้วยเหตุฉะนี้ ผู้ปฏิบัติจึงจำต้องเจริญกรุณากรรมฐานโดยไม่ต้องเกรงกลัวแต่วิหิงสานั้น แต่ที่จักเจริญกรุณาด้วย จักเบียดเบียนสัตว์ด้วยมือเป็นต้นด้วยในขณะเดียวกัน มิใช่ฐานะที่จะพึงทำได้
ข้าศึกของมุทิตา
โสมนัส ความดีใจอาศัยกามคุณเป็นข้าศึกใกล้ของมุทิตาพรหมวิหาร เพราะมีส่วนเข้ากันได้ โดยมองในแง่สมบัติสมบูรณ์ของสัตว์ทั้งหลายเหมือนกัน โสมนัสอาศัยกามคุณมาในบาลีมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก มีอาทิว่า : -
เมื่อบุคคลพิจารณารำพึงถึงสิ่งที่ได้มาโดยสมหวังคือรูปที่เห็นด้วยตา อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าเจริญใจน่ารื่นรมย์ ซึ่งอิงอาศัยตัณหาก็ดี หรือนึกรำพึงถึงสิ่งที่เคยได้มาแล้วในก่อน ซึ่งล่วงเลยไปแล้ว ดับสูญไปแล้ว เปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ดี โสมนัสย่อมเกิดขึ้น โสมนัสเห็นปานฉะนี้ นั้น เรียกว่า โสมนัสอาศัยกามคุณ
(หน้าที่ 163)
อัญญานุเบกขา
อรติ ความไม่ไยดีด้วยเป็นข้าศึกไกลของมุทิตาพรหมวิหาร เพราะมีส่วนเข้ากันไม่ได้โดยส่วนของตน ด้วยเหตุดังนี้ ผู้ปฏิบัติจึงจำต้องเจริญมุทิตากรรมฐานโดยไม่ต้องเกรงกลัวแต่อรตินั้น ก็แหละ จักยินดีด้วยจักเบื่อหน่ายในเสนาสนะอันสงัดหรือในกุศลธรรมอันยิ่งด้วยในขณะเดียวกัน ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะพึงทำได้
ข้าศึกของอุเบกขา
อัญญานุเบกขา ความเพิกเฉยเพราะความไม่รู้อาศัยกามคุณ เป็นข้าศึกใกล้ของ อุเบกขาพรหมวิหาร เพราะมีส่วนเข้ากันได้โดยไม่พิจารณาถึงโทษและคุณเหมือนกัน อัญญานุเบกขาอาศัยกามคุณ มาในบาลีมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก มีอาทิว่า : -
เพราะเห็นรูปด้วยตา อุเบกขาความเพิกเฉยย่อมเกิดแก่ปุถุชน ผู้ยังเขลา ยังหลง ยังชนะกิเลสไม่ได้เป็นส่วน ๆ ยังไม่ชนะวิบากกรรม ยังมองไม่เห็นโทษ ศึกษายังไม่ถึงขีด ยังเป็นอันธปุถุชน อุเบกขาชนิดนี้นั้นยังไม่ล่วงพ้นกิเลสซึ่งมีรูปเป็นอารมณ์ ฉะนั้น อุเบกขานี้จึงเรียกว่า อุเบกขาอาศัยกามคุณ
ราคะ ความกำหนัด ปฏิฆะ ความขัดเคือง เป็นข้าศึกไกลของอุเบกขาพรหมวิหาร เพราะมีส่วนเข้ากันไม่ได้โดยส่วนของตน ด้วยเหตุดังนั้น ผู้ปฏิบัติจำต้องเพ่งเฉย โดยไม่ต้องเกรงกลัวแต่ราคะและปฏิฆะนั้น แต่ก็จักเพ่งเฉยด้วยจักกำหนัดหรือขัดเคืองกัน ในขณะเดียวกันด้วย ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะพึงทำได้
(หน้าที่ 164)
ก็แหละ กัตตุกัมยตาฉันทะเป็นเบื้องต้น ของพรหมวิหารหมดทั้ง 4, การข่มนิวรณ์ 5 ให้สงบระงับไป เป็นท่ามกลาง, อัปปนาฌาน เป็นที่สุด. :อารมณ์(ของพรหมวิหาร) เป็นบัญญัติธรรม คือ สัตว์หนึ่งตน หรือ สัตว์หลายตนก็ตาม. ก็แหละ โยคีบุคคลได้บรรลุถึงอุปจารฌานหรืออัปปนาฌานนั้นแล้ว พึงทำการขยายอารมณ์ของพรหมวิหารให้กว้างขวางออกไปตามลำดับ.
ลำดับแห่งการขยายอารมณ์ของพรหมวิหารนั้น ดังนี้
ฉันเดียวกับชาวนาผู้ฉลาด กะกำหนดเขตที่ตนเองจะไถเสียก่อนแล้วจึงไถนาในภายหลัง โยคีผู้ฌานลาภีบุคคลนี้ก็เหมือนกัน ในอันดับแรกก็พึงกำหนดเอาเขตอารมณ์กรรมฐานเพียงอาวาสเดียวก่อน แล้วจึงแผ่เมตตาจิตไปในสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในอาวาสนั้น โดยบทภาวนามีอาทิว่า อิมสฺมึ อาวาเส สตฺตา อเวรา โหนฺตุ ขอสัตว์ทั้งหลายในอาวาสนี้ จงอย่าผูกเวรกัน ฉะนี้
(หน้าที่ 165)
ครั้นโยคีบุคคลได้ทำฌานจิตนั้นให้อ่อนนิ่มนวลควรแก่การงานด้วยวสี 5 แล้ว จึงกำหนดเขตขยายให้กว้างขวางออกไปเป็น 2 อาวาส แล้วจึงขยายออกไปเป็น 3 อาวาส 4 อาวาส 6 – 7 – 8 – 9 – 10 อาวาส ตรอกหนึ่ง ครึ่งหมู่บ้าน หมู่บ้านหนึ่ง จังหวัดหนึ่ง รัฐหนึ่ง ทิศหนึ่ง ตามลำดับโดยทำนองนี้ โยคีบุคคลพึงขยายอารมณ์ของเมตตาไปจนกระทั่งจักรวาลหนึ่ง หรือพึงเจริญเมตตาฌานไปในสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ ณ ที่นั้น ๆ โดยประณีตยิ่งขึ้นไปกว่านั้น
แม้กรุณา, มุทิตา และอุเบกขาภาวนา โยคีบุคคลก็พึงขยายอารมณ์ให้กว้างขวางออกไปด้วยประการฉันเดียวกันนี้
อธิบายจากมหาฏีกา
อธิบาย "กัตตุกัมยตาฉันทะ คือ ความพอใจใคร่ที่จะทำการปฏิบัติเป็นเบื้องต้น" ว่า ที่ว่ากัตตุกัมยตาฉันทะเป็นเบื้องต้นของพรหมวิหารนั้น เพราะมีบาลีรับสมอ้างในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาตว่า กุศลธรรมทั้งหลายเป็นมูลราก ฉะนี้ อีกอย่างหนึ่ง คำที่ว่า กัตตุกัมยตาฉันทะ เป็นเบื้องต้นของพรหมวิหารนี้ เพราะมีฉันทะชนิดนี้เป็นไปด้วยอำนาจความปรารถนาอันแรงกล้า ในอันที่จะทำให้สัตว์ทั้งหลายปราศจากโทษ ด้วยใคร่ที่จะช่วยแสวงหาประโยชน์ และช่วยปลดเปลื้องทุกข์เป็นต้น ถึงแม้ว่าอุเบกขาพรหมวิหาร จะไม่มีฉันทะในอันที่จะแสวงหาประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งหลายเลยก็ตาม แต่ก็ยังเป็นไปโดยอาการที่เพ่งพิจารณาว่า การที่ไม่ขวนขวายช่วยเหลือในสัตว์เหล่านั้น ก็หาเป็นการปฏิบัติที่ผิดทำนองคลองธรรมไม่ เหมือนมารดาเพ่งดูเฉยในบุตรผู้ขวนขวายประกอบการงานด้วยลำพังตนเองได้แล้วฉะนั้น
อธิบาย "การข่มนิวรณ์ 5 ให้สงบระงับไปเป็นท่ามกลาง" ว่า การข่มนิวรณ์ 5 และกิเลสทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในฐานะเดียวกันให้สงบระงับไป นี้เป็นท่ามกลางของพรหมวิหารทั้ง 4
อธิบาย "อัปปนาฌานเป็นที่สุด" ว่า อัปปนาฌาน ได้แก่รูปาวจรฌาน 4 หรือ 5 เป็นที่สุดของพรหมวิหารทั้ง 4 คือ เมื่อโยคีบุคคลได้บรรลุถึงอัปปนาฌานขั้นสุดแล้ว ก็เป็นอันหมดกิจของพรหมวิหารภาวนา ด้วยประการฉะนี้
จบ อธิบายจากมหาฏีกา
ก็แหละ เหมือนอย่างว่า อรูปฌาน 4 เป็นผลสำเร็จของกสิณฌานทั้งหลาย เพราะกสิณฌานทั้งหลายเป็นเหตุให้อรูปฌานสำเร็จโดยบริบูรณ์ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เป็นผลสำเร็จของสมาธิในอรูปฌาน 4 และในอรูปฌาน 3 ขั้นต่ำ เพราะโยคีบุคคลได้บรรลุสมาธิเหล่านั้นมาโดยลำดับแล้ว จึงจะบรรลุเนวสัญญนาสัญญายตนฌาน, ผลสมาบัติเป็นผลสำเร็จของวิปัสสนา เพราะผลสมาบัตินั้นโยคีบุคคลพึงได้มาด้วยอานุภาพของวิปัสสนา และที่จะเข้าผลสมาบัติได้ก็ด้วยอำนาจของวิปัสสนา นิโรธสมาบัติเป็นผลสำเร็จของสมถะและวิปัสสนาประกอบกันทั้งสองอาการแห่งผลธรรมเหล่านี้ ฉันใด อุเบกขาพรหมวิหารในที่นี้ก็เป็นผลสำเร็จของพรหมวิหาร 3 ข้างต้น ฉันนั้น
เหมือนอย่างนายช่างเรือนยังไม่ได้ยกเสาขึ้นตั้ง หรือแม้ตั้งเสาขึ้นแล้วต่ยังมิได้ยกขื่อขึ้นพาด ก็ไม่สามารถที่จะยกเครื่องบนหรือพาดกลอนในอากาศได้ ฉันใด อันโยคีบุคลผู้จะเจริญอุเบกขาพรหมวิหารนี้ เมื่อเว้นเสียซึ่งตติยฌานในพรหมวิหาร 3 ข้างต้นแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะเจริญจตุตถฌานอันประกอบด้วยอุเบกขาให้เกิดขึ้นได้ ฉันนั้น
ณ ทีนี้หากจะพึงตั้งปัญหาขึ้นดังนี้ว่า : -
1. เพราะเหตุไร เมตตา, กรุณา, มุทิตา และอุเบกขานี้จึงเรียกว่าพรหมวิหาร ?
(หน้าที่ 166)
2. เพราะเหตุไร พรหมวิหารจึงมีเพียง 4 อย่าง ?
3. พรหมวิหาร 4 มีกฏเกณฑ์จัดลำดับอย่างไร ? และ
4. เพราะเหตุไร ในคัมภีร์อภิธรรมปิฏก จึงเรียกพรหมวิหารนี้ว่า อัปปมัญญา ?
1. ทำไมจึงเรียกว่าพรหมวิหาร?
จะวิสัชนาปัญหา 4 ข้อน้เป็นลำดับดังต่อไปนี้
นักศึกษาพึงทราบว่า การที่ธรรม 4 อย่างคือเมตตา, กรุณา, มุทิตา และอุเบกขา ได้ชื่อว่าพรหมวิหารนั้น โดยอรรถว่าเป็นคุณธรรมอันประเสริฐอย่างหนึ่ง โดยภาวะเป็นคุณธรรมที่ปราศจากโทษอย่างหนึ่ง ฉะนี้ก่อน
ขยายความต่อไปว่า ธรรม 4 อย่างนี้เป็นเครื่องอยู่อย่างประเสริฐด้วยเป็นข้อปฏิบัติชอบในสัตว์ทั้งหลาย อธิบายว่า กรรมฐานอื่นๆ นอกจากพรหมวิหารนี้ เป็นข้อปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนอย่างเดียว ส่วนพรหมวิหารกรรมฐานนี้เป็น้อปฏิบัติเพื่อสัตว์อื่น เพราะต้องส่งจิตไปให้สัตว์อื่นโดยนัยเป็นต้นว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุขเถิด ฉะนี้
เหมือนอย่างว่า พวกพรหมโดยกำเนิดย่อมอยู่อย่างที่มีจิตปราศจากโทษ ฉันใด, อนึ่ง พระมหาสัตว์ได้แก่พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งสร้างคุณธรรมให้เพิ่มพูนยิ่ง ๆ ขึ้นไป โดยสร้างพุทธการกธรรมมีทานบารมีเป็นต้นอันเป็นเหตุแห่งพุทธภูมิทั้งปวงให้เต็มบริบูรณ์ เรียกว่า พรหม และพรหมพระโพธิสัตว์เหล่านั้น ย่อมเป็นอยู่อย่างมีจิตปราศจากโทษ ด้วยมุ่งแสวงหาประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งปวง (เมตตา) 1 ด้วยช่วยปลดเปลื้องสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งปวง (กรุณา) 1 ด้วยพลอยยินดีต่อสมบัติของสัตว์ทั้งปวง (มุทิตา) 1 และด้วยยึดมั่นอยู่ในภาวะเป็นกลาง ๆ (อุเบกขา) 1 ฉันใด, โยคีบุคคลทั้งหลายผู้ประกอบด้วย พรหมวิหารธรรม 4 นี้ ย่อมเป็นอยู่เหมือนอย่างพรหมโดยกำเนิดและพรหมพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ฉันนั้น
ด้วยประการฉะนี้แหละ ธรรม 4 อย่างนี้จึงเรียกว่าพรหมวิหารโดยอรรถว่า เป็นคุณธรรมอันประเสริฐ และโดยภาวะที่เป็นคุณธรรมปราศจากโทษ
2. ทำไมพรหมวิหารจึงมี 4?
ส่วนปัญหาอีก 3 ข้อหลังมีว่า เพราะเหตุไร พรหมวิหารจึงมีเพียง 4 อย่าง เป็นต้น จะวิสัชนาต่อไปตามลำดับดังนี้
(หน้าที่ 167)
การที่พรหมวิหารมีเพียง 4 อย่างนั้น ด้วยอำนาจที่เป็นทางบริสุทธิ์ของผู้มากหนาไปด้วยพยาบาทเป็นต้น การจัดลำดับพรหมวิหาร 4 อย่าง จัดด้วยอำนาจอาการที่มุ่งทำประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายเป็นต้น และพรหมวิหาร 4 ที่ได้ชื่อว่าอัปปมัญญา เพราะประพฤติเป็นไปในอารมณ์อันหาประมาณมิได้
ขยายความว่า ในพรหมวิหาร 4 นี้ เพราะเมตตาเป็นทางบริสุทธิ์ของผู้มากหนาไปด้วยพยาบาท กรุณาเป็นทางบริสุทธิ์ ของผู้มากหนาไปด้วยวิหิงสา มุทิตาเป็นทางบริสุทธิ์ ของผู้มากหนาไปด้วยอรติ และอุเบกขาเป็นทางบริสุทธิ์ของผู้มากหนาไปด้วยราคะ นี้ประการหนึ่ง
เพราะการส่งใจไปในสัตว์ทั้งหลายมีเพียง 4 อย่าง คือด้วยมุ่งนำประโยชน์มาให้ (เมตตา) 1 ด้วยมุ่งช่วยบำบัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ (กรุณา) 1 ด้วยพลอยยินดีต่อสมบัติ (มุทิตา) 1 ด้วยสิ้นห่วงใย (อุเบกขา) 1 นี้ประการหนึ่ง
เพราะในเมื่อบุตร 4 คน คนหนึ่งยังเป็นเด็ก คนหนึ่งกำลังป่วย คนหนึ่งเป็นหนุ่ม อีกคนหนึ่งประกอบการงานได้ด้วยลำพังตนเองแล้ว มารดาย่อมปรารถนาที่จะให้บุตรคนเป็นเด็กเจริญเติบโตขึ้น (เมตตา) ปรารถนาที่จะช่วยบำบัดความเจ็บป่วยให้แก่บุตรคนที่กำลังป่วย (กรุณา) ปรารถนาที่จะให้บุตรคนเป็นหนุ่มดำรงอยู่ในความเป็นหนุ่มนาน ๆ (มุทิตา) และไม่ขวนขวายวุ่นวายด้วยประการไร ๆ ทั้งสิ้น ในบุตรคนที่ประกอบการงาน ด้วยลำพังตนเองได้แล้ว (อุเบกขา) ฉันใด, แม้โยคีผู้อัปปมัญญาวิหารี (คือผู้เป็นอยู่ด้วยอัปปมัญญา 4 ประการ) ก็จะพึงประพฤติเป็นไปในสัตว์ทั้งหลายทุก ๆ จำพวก ด้วยอำนาจ เมตตา, กรุณา, มุทิตา และอุเบกขา เหมือนอย่างนั้น นี้ประการหนึ่ง
ฉะนั้น อัปปมัญญาหรือพรหมวิหาร จึงมีเพียง 4 อย่าง ด้วยอำนาจที่เป็นทางบริสุทธิ์ของผู้มากหนาไปด้วยพยาบาทเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้
ทำไมจึงเรียงพรหมวิหารเช่นนี้?
เหตุที่ให้จัดเรียงพรหมวิหารนั้น เพราะเมื่อโยคีบุคคลผู้จะเจริญพรหมวิหารให้ครบทั้ง 4 ประการ จำต้องปฏิบัติในสัตว์ทั้งหลายด้วยประการ 4 อย่างตามลำดับ คือ : -
(หน้าที่ 168)
1. ด้วยความประพฤติเป็นไปในอาการที่มุ่งช่วยทำประโยชน์ เป็นอันดับแรก ประกอบด้วยเมตตา นี้ก็มีลักษณะเป็นไปโดยอาการที่มุ่งช่วยทำประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายด้วย
2. ถัดนั้น โยคีบุคคลได้เห็นมาเอง หรือเพียงได้ฟังข่าว หรือกำหนดขึ้นเอง ซึ่งความโชกโชนด้วยทุกข์ของสัตว์ทั้งหลายผู้ซึ่งตนมุ่งช่วยทำประโยชน์ให้นั้นแล้ว จำเป็นต้องปฏิบัติในสัตว์เหล่านั้น ด้วยประพฤติโดยอาการช่วยบรรเทาทุกข์นั้นให้ประกอบด้วยกรุณานี้ก็มีลักษณะเป็นไปโดยอาการช่วยบรรเทาทุกข์ด้วย
3. ถัดนั้น โยคีบุคคลได้เห็นสมบัติของสัตว์เหล่านั้น ผู้ซึ่งตนช่วยทำประโยชน์ให้ ช่วยบรรเทาทุกข์ให้อยู่นั้นแล้ว จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติในสัตว์เหล่านั้น ด้วยพลอยยินดีต่อสมบัติของเขาประกอบด้วยมุทิตา นี้ก็มีลักษณะพลอยยินดีอยู่ด้วย
4. ถัดนั้น โยคีบุคคลจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติในสัตว์เหล่านั้นด้วยอาการเป็นกลาง ๆ กล่าวคือ วางเฉย เพราะไม่สิ่งจำต้องทำเป็นประการที่ 4 อีกแล้ว ประกอบด้วยอุเบกขา นี้ก็มีลักษณะที่เป็นไปโดยอาการเป็นกลาง ๆ อยู่ด้วย
ฉะนั้น เมตตา ท่านจึงแสดงไว้เป็นอันดับแรกของพรหมวิหารนี้ ด้วยอำนาจอาการที่มุ่งช่วยทำประโยชน์เป็นต้น ถัดนั้นท่านจึงแสดงกรุณาเป็นอันดับที่ 2 มุทิตาเป็นอันดับที่ 3 และอุเบกขาเป็นอันดับที่ 4 นักศึกษาพึงเข้าใจการจัดลำดับของพรหมวิหารนี้ ด้วยประการฉะนี้
แต่อย่างไรก็ดี การจัดลำดับพรหมวิหารที่แสดงมานี้ ท่านได้แสดงไว้โดยที่เป็นไปโดยมาก มิใช่แสดงอย่างตายตัวว่าต้องเป็นไปตามลำดับนี้เสมอไป เพราะการกำหนดลำดับแห่งภาวนา 3 ข้างต้น มีเมตตาภาวนาเป็นต้นนั้น หาได้กำหนดอย่างตายตัวไม่ โยคีบุคคลจะเจริญภาวนาข้อใดเป็นอันดับแรกก็ได้ทั้งนั้น
ทำไมในอภิธรรมปิฎกจึงเรียกว่าอัปปมัญญา
แหละเพราะเหตุที่อัปปมัญญาหมดทั้ง 4 ประการนี้ ย่อมเป็นไปในอารมณ์ที่หาประมาณมิได้ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายไม่มีกำหนดประมาณจึงเป็นอารมณ์ของอัปปมัญญาทั้ง 4
(หน้าที่ 169)
นี้ อัปปมัญญาทั้ง 4 ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจที่แผ่ไปอย่างทั่วสิ้น โดยมิได้ถือเอากำหนดประมาณว่า ต้องเจริญเมตตาเป็นต้นไปในประเทศเท่านี้แม้ของสัตว์ผู้เดียว อธิบายว่าในกรรมฐานอื่นๆ เช่นอุทธุมาตกอสุภเป็นต้น โยคีบุคคลย่อมถือเอานิมิตเฉพาะในประเทศที่ถึงภาวะพองขึ้นของร่างกายเป็นต้น มิได้ถือเอาหมดทั่วทั้งร่างกาย ส่วนอัปปมัญญานี้ไม่ถือเอากำหนดประมาณเหมือนอย่างนั้น
เพราะเหตุดังแสดงมา ท่านจึงแสดงความสังเขปไว้ว่า ที่พรหมวิหารมีเพียง 4 อย่างนั้น ด้วยอำนาจที่เป็นทางบริสุทธิ์ของผู้มากหนาไปด้วยพยาบาทเป็นต้น ที่จัดลำดับของพรหมวิหารนี้ จัดด้วยอำนาจอาการที่มุ่งทำประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายเป็นต้น และพรหมวิหาร 4 นี้ ที่ได้ชื่อว่าอัปปมัญญา เพราะประพฤติเป็นไปในอารมณ์อันหาประมาณมิได้ ฉะนี้
ก็แหละ ในอัปปมัญญา 4 นี้ แม้ถึงจะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน ในข้อที่มีอารมณ์หาประมาณมิได้เหมือนกัน ตามที่แสดงมาแล้ว แต่อัปปมัญญา 3 ข้อต้น คือ เมตตา กรุณา และมุทิตา เป็นเหตุให้สำเร็จฌานเพียง 3 ขั้น โดยจตุกกนัย และเพียง 4 ขั้น โดยปัญจกนัย เท่านั้น
ถาม – เพราะเหตุไร จึงให้สำเร็จฌานแค่ขั้นนั้น ?
ตอบ – เพราะเมตตา กรุณา และมุทิตา พรากจากโสมนัสเวทนาไม่ได้ คือต้องประกอบด้วยโสมนัสเวทนาเสมอ
ถาม – การที่ เมตตา กรุณา และมุทิตา พรากจากโสมนัสเวทนาไม่ได้นี้ เป็นด้วยเหตุอะไรหรือ ?
ตอบ – เป็นด้วยเหตุที่ เมตตา กรุณา และมุทิตา เป็นคุณเครื่องสลัดออกซึ่งข้าศึกทั้งหลายมีพยาบาทเป็นต้น อันโทมนัสเวทนาเป็นเหตุให้เกิดขึ้น
ไขความว่า คุณธรรมประเภทใดเป้นเครื่องสลัดออกซึ่งกิเลสชนิดใด คุณธรรมประเภทนั้น จัดเป็นข้าศึกของกิเลสชนิดนั้นโดยตรงทีเดียว เหมือนอย่างเนกขัมมคุณ (การ
(หน้าที่ 170)
ถือบวชเป็นต้น) ย่อมเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งกามคุณทั้งหลาย อรูปฌาน 4 ย่อมเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งรูปฌาน 4 นิพพานย่อมเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งสังขารธรรมทั้งหลาย ฉันใด เมตตา กรุณา และมุทิตา อันเป็นคุณเครื่องสลัดออกซึ่งพยาบาท, วิหิงสา และอรติ อันประกอบด้วยโทมนัสเวทนาก็ย่อมจะเว้นจากโสมนัสเวทนาไม่ได้ ฉันนั้น
อนึ่ง ด้วยคำว่า เมตตา กรุณา และมุทิตา เป็นคุณเครื่องสลัดออกนี้ นักศึกษาพึงเข้าใจว่า แม้เมตตา กรุณา และมุทิตา อันเป็นไปในส่วนเบื้องต้น ก็ต้องประกอบด้วยอุเบกขาเวทาอยู่ด้วยเหมือนกัน เพราะเป็นภาวะที่ยังสลัดออกไม่ได้ซึ่งธรรมอันเป็นข้าศึก
เป็นความจริงอย่างนั้น อารย์ทั้งหลายยอมรับรองต้องกันว่า อัปปมัญญาเจตสิก 2 ดวง ได้แก่กรุณากับมุทิตานั้น ย่อมเกิดได้ในจิตตุปบาท 28 ดวง คือมหากุศลจิต 8 ดวง มหากิริยาจิต 8 ดวง รูปาวจรฌานจิต 12 ดวง (เว้นปัญจมฌานจิต 3 ดวง) ฉะนี้
ส่วนอัปปมัญาข้อสุดท้าย คืออุเบกขานั้น เป็นเหตุให้สำเร็จฌานอันสุดท้ายเพียงฌานเดียว (คือจตุตถฌานหรือปัญจมฌานแล้วแต่กรณี)
ถาม – เพราะเหตุไร อุเบกขาจึงให้สำเร็จฌานเพียงฌานเดียวเท่านั้น ?
ตอบ – เพราะอุเบกขาต้องประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาเสมอ จึงให้สำเร็จฌานขั้นต้น ๆ ซึ่งยังประกอบด้วยโสมนัสเวทนาอยู่ไม่ได้
อุเบกขาพรหมวิหาร ซึ่งมีลักษณะเป็นไปโดยอาการเป็นกลาง ๆ ในสัตว์ทั้งหลายนั้น เมื่อเว้นเสียซึ่งอุเบกขาเวทนาแล้ว ก็เกิดขึ้นไม่ได้ทีเดียวเช่นเดียวกับปาริสุทธุเบกขาในอุเบกขา 10 ประการ ปาริสุทธุเบกขานั้นย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ในจิตบางดวง เพราะเหตุที่เว้นซึ่งอุเบกขาเวทนา (ในจิตทั้งหมด 121 ดวงนั้น 66 ดวง ที่อุเบกขาเวทนาเกิดร่วมไม่ได้ ที่เหลือ 55 ดวง อุเบกขาเวทนาเกิดร่วมเสมอ)
เสนอทรรศนะขัดแย้ง
ก็แหละ หากจะพึงมีนักศึกษาคนใด เสนอทรรศนะขัดแย้งฉะนี้ว่า เพราะในคัมภ์อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงอัปปมัญญาทั้ง 4 โดยไม่ต่างกันไว้ดังนี้:-
(หน้าที่ 171)
ในการนั้นแหละ ภิกษุ ! เธอพึงเจริญสมาธินี้ อันมีทั้งวิตกมีทั้งวิจารให้เกิดขึ้น, เธอพึงเจริญสมาธินี้อันไม่มีวิตกมีแต่วิจารให้เกิดขึ้น, เธอพึงเจริญสมาธินี้อันไม่มีทั้งวิตก ไม่มีทั้งวิจารให้เกิดขึ้น, เธอพึงเจริญสมาธินี้อันมีปีติให้เกิดขึ้น, เธอพึงเจริญสมาธินี้อันไม่มีปีติให้เกิดขึ้น, เธอพึงเจริญสมาธินี้ประกอบกับสุขเวทนาให้เกิดขึ้น เธอพึงเจริญสมาธินี้ ประกอบกับอุเบกขาเวทนาให้เกิดขึ้น
เพราะเหตุที่อัปปมัญญาทั้ง 4 เป็นสภาพที่ประกอบกับอุเบกขาเวทนาเช่นเดียวกับที่ประกอบด้วยวิตกเป็นต้น มีปรากฏในพระพุทธวจนะนี้อยู่ชัด ๆ ฉะนั้นอัปปมัญญาทั้ง 4 จึงเป็นเหตุให้สำเร็จฌาน 4 โดยจตุกกนัย หรือฌาน 5 โดยปัญจกนัยได้ด้วยเหมือนกันทั้ง 4 ประการ
แถลงแก้ทรรศนะขัดแย้ง
บัณฑิตพึงชี้แจงแก่นักศึกษาคนนั้นดังนี้ เธออย่าได้เข้าใจเช่นนั้นเลย เพราะถ้าจะยกเอาข้อความที่ทรงแสดงไว้ในมูลสมาธิมารวมเข้าในพรหมวิหารทั้ง 4 ประการ โดยถือว่าทรงแสดงไว้โดยลำดับกันแล้ว แม้กายานุปัสสนาเป็นต้น ก็พึงเป็นเหตุให้สำเร็จฌาน 4 หรือฌาน 5 ได้ด้วย แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะกายานุปัสสนาเป็นต้นนั้น ท่านแสดงไว้ด้วยสามารถแห่งวิปัสสนากรรมฐานต่างหาก ที่จริงนั้น แม้เพียงปฐมฌานก็มีไม่ได้ ในเวทนานุปัสสนาเป็นต้น ตั้งแต่ทุติยฌานขึ้นไปไม่ต้องพูดถึง ยิ่งจะมีไม่ได้ทีเดียว
เพราะฉะนั้น นักศึกษาอย่าได้ถือเอาเพียงแต่เงาของพยัญชนะแล้วมากล่าวตู่พระผ้มีพระภาคเจ้าเลย อันพระพุทธวจนะนั้นลึกซึ้งยิ่งนัก นักศึกษาควรเข้าไปหาอาจารย์แล้วศึกษาเอาอรรถาธิบายของพระพุทธวจนะให้ได้อย่างละเอียดหมดจดทีเดียว
อรรถาธิบาย
ก็แหละ ในพระพุทธวจนะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโปรดภิกษุรูปนั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ : -
(หน้าที่ 172)
มีเรื่องอยู่ว่า ภิกษุรูปนั้นได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงแสดงธรรมโปรดอย่างนี้ว่า "ข้าแต่สมเด็จพระพุทธองค์ ข้าพระพุทธเจ้าฟังธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าบทใดแล้ว จะพึงเป็นผู้ปลีกตนออกจากหมู่อยู่แต่ลำพังผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตมุ่งตรงไปยังพระนิพพาน ขอได้ทรงพระกรุณาโปรดแสดงพระธรรมเทศนาบทนั้นแต่โดยย่อโปรดข้าพพุทธเจ้าด้วยเถิด" ฉะนี้
โดยเหตุที่แม้เมื่อครั้งก่อน ภิกษุรูปนี้นั้นฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ก็มัวง่วนอยู่แต่ในวัดนั้นเองแหละ ไม่ปรารถนาที่จะหลีกออกไปบำเพ็ญสมณธรรม ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสรุกรานเธอว่า "น่าครหาจริง ๆ เทียว ทีมีโมฆบุรุษบางจำพวกอยู่ในศาสนานี้ เพียงแต่อาราธนาให้เราแสดงธรรมเท่านั้น แต่เมื่อเราแสดงธรรมโปรดแล้วก็ยังสำคัญอยู่ในอันที่จะติดสอยห้อนตามเราอยู่นั่นเอง"
และโดยเหตุที่ภิกษุรูปนี้นั้น เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหัต ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงโอวาทเธอซ้ำอีก จึงได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด ซึ่งมีความว่า : -
เพราะเหตุนี้แหละ ภิกษุ ! เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แลบออกไปรับอารมณ์ภายนอก จักดำรงอยู่ด้วยดีในอารมณ์กรรมฐานภายใน อนึ่ง อกุศลธรรมอันลามกมีกามฉันทะเป็นต้น ที่ข่มไว้ไม่อยู่ เกิดขึ้นมาแล้วจักไม่ครอบงำจิตของเราตั้งอยู่ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แหละภิกษุ
ด้วยพระพุทธโอวาทนี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงมูลสมาธิคือจิตแรกมีอารมณ์เดียว ด้วยอำนาจอารมณ์กรรมฐานที่เกิดขึ้นในตน โปรดภิกษุรูปนั้น
ลำดับนั้น เมื่อจะทรงกระตุ้นเตือนภิกษุรูปนั้นว่า เธออย่าพึงได้พอใจด้วยผลการปฏิบัติเพียงเท่านั้น จงเพียรทำมูลสมาธินั้นให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงภาวนาวิธีด้วยสามารถแห่งเมตตากรรมฐานโปรดภิกษุรูปนั้น ความว่า : -
(หน้าที่ 173)
ในกาลใดแล ภิกษุ ! เธอห้ามจิตไม่ให้แลบออกไปรับอารมณ์ภายนอก ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ด้วยดีในอารมณ์กรรมฐานภายใน อนึ่ง อกุศลธรรมอันลามกมีกามฉันทะเป็นต้นที่ข่มไว้ไม่อยู่เกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่ครอบงำจิตของเธอตั้งอยู่ได้ ในกาลนั้นแหละภิกษุ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ เราจักทำเมตตาเจโตวิมุติให้เกิดขึ้น จักทำให้มาก ๆ จักทำให้เป็นดุจยานที่เตรียมพร้อมแล้ว จักทำให้เป็นดุจฐานที่แน่นหนาแล้ว จักทำให้มั่นคงแล้ว จึงสั่งสมด้วยวสี 5 ด้วยดี จักปรารภด้วยดีแล้ว เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แลภิกษุ
ครั้นแล้วได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดต่ออีกความว่า : -
ในกาลใดแล ภิกษุ ! สมาธินี้อันเธอทำให้เกิดขึ้นแล้ว ทำให้มาก ๆ แล้วอย่างนี้ ในกาลนั้นแหละภิกษุ เธอพึงเจริญมูลสมาธินี้อันมีทั้งวิตกมีทั้งวิจารให้เกิดขึ้น, เธอพึงเจริญมูลสมาธินี้อันไม่มีวิตก มีแต่วิจารให้เกิดขึ้น, เธอพึงเจริญมูลสมาธินี้อันไม่มีทั้งวิตกไม่มีทั้งวิจารให้เกิดขึ้น, เธอพึงเจริญมูลสมาธินี้อันมีปีติให้เกิดขึ้น, เธอพึงเจริญมูลสมาธินี้อันไม่มีปีติให้เกิดขึ้น, เธอพึงเจริญมูลสมาธินี้อันประกอบกับสุขเวทนาให้เกิดขึ้น, เธอพึงเจริญมูลสมาธินี้อันประกอบกับอุเบกขาเวทนาให้เกิดขึ้น
นักศึกษาพึงทราบอรรถาธิบายของพระพุทธวจนะที่แสดงมาแล้วนี้ ดังนี้
ดูก่อนภิกษุ ในกาลใด มูลสมาธินี้อันเธอได้ทำให้เกิดขึ้นแล้ว ด้วยสามารถแห่งเมตตาภาวนาอย่างนี้ ในกาลนั้นเธออย่าได้ถึงความพอใจด้วยผลแห่งการปฏิบัติเพียงเท่านั้น เธอพึงเจริญสมาธินี้โดยนัยว่า อันมีทั้งวิตกมีทั้ง
(หน้าที่ 174)
วิจารเป็นต้นให้เกิดขึ้น ทำใหบรรลุถึงซึ่งฌาน 4 และฌาน 5 แม้ในอารมณ์กรรมฐานอื่น ๆ มีปถวีกสิณเป็นต้น
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงภาวนาวิธีอันมีเมตตาเป็นประธานดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงภาวนาวิธีอันมีพรหมวิหารที่เหลือมีกรุณาเป็นต้น เป็นประธาน แก่ภิกษุรูปนั้นว่า "เธอจงทำการภาวนาด้วยสามารถแห่งฌาน 4 และฌาน 5 ในอารมณ์อื่น ๆ ต่อไป" จึงได้ตรัสพระธรรมเทศนามีอาทิว่า : -
ในกาลใดแล ภิกษุ ! สมาธินี้อันเธอทำให้เกิดขึ้นแล้ว ทำให้มาก ๆ แล้วอย่างนี้ ในกาลนั้นแหละภิกษุ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักทำกรุณาเจโตวิมุติให้เกิดขึ้น
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงภาวนาวิธีอันมีพรหมวิหารมีเมตตาเป็นต้น เป็นประธาน ด้วยความสามารถแห่งฌาน 4 และฌาน 5 ฉะนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงภาวนาวิธีอันมีกายานุปัสสนาเป็นต้นเป็นประธานโปรดภิกษุรูปนั้นต่อไป จึงได้ตรัสพระธรรมเทศนา มีอาทิว่า: -
ในกาลใดแล ภิกษุ ! สมาธินี้อันเธอทำให้เกิดขึ้นแล้ว ทำให้มาก ๆ แล้วอย่างนี้ ในกาลนั้นแหละภิกษุ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักพิจารณาให้เห็นกายที่กายอยู่
ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงยังพระธรรมเทศนาให้จบลงด้วยยอดธรรม คือพระอรหัต ความว่า : -
ในกาลใดแล ภิกษุ ! สมาธินี้อันเธอได้ทำให้เกิดขึ้นแล้ว ได้ทำให้เกิดขึ้นดีแล้วอย่างนี้ ในกาลนั้นแหละภิกษุเธอจักเดินไปโดยทางไหน ๆ ก็ตาม เธอจักเดินไปอย่างผาสุกจริง ๆ เธอจักยืนอยู่ ณ ที่ไหน ๆ ก็ตาม เธอจักยืนอยู่อย่างผาสุกจริง ๆ เธอจักนั่งอยู่ ณ ที่ไหน ๆ ก็ตาม เธอจักนั่ง
(หน้าที่ 175)
อยู่อย่างผาสุกจริง ๆ เธอจักนอน ณ ที่ไหน ๆ ก็ตาม เธอจักนอนอย่างผาสุกจริง ๆ
ด้วยเหตุดังที่ได้แถลงมานี้ จึงเป็นอันยุติได้ว่าอัปปมัญญา 3 ประการข้างต้น มีเมตตาเป็นอาทินั้น เป็นเหตุให้สำเร็จฌาน 3 โดยจตุกกนัย และฌาน 4 โดยปัญจกนัยเพียงแค่นั้น ส่วนอุเบกขาประการสุดท้าย เป็นเหตุให้สำเร็จฌานที่เหลือสุดท้ายเพียงฌานเดียว คือ จตุตถฌาน หรือปัญจมฌานแล้วแต่กรณี ฉะนี้แล
แม้ในคัมภีร์พระอภิธรรมปิฏก เช่นจิตตุปปาทกัณฑ์ในธรรมสังคณีปกรณ์และอัปปมัญญาวิภังค์ในวิภังคปกรณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงแสดงจำแนกอัปปมัญญา 4 ประการไว้ เหมือนอย่างเดียวกันนี้นั่นเทียว
อัปปมัญญา 4 ประการนี้ แม้จะได้ดำรงสภาพอยู่เป็น 2 ส่วน ด้วยอำนาจให้สำเร็จฌาน 3 หรือฌาน 4 อย่างหนึ่ง ด้วยอำนาจที่ให้สำเร็จฌานสุดท้ายฌานเดียวอย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะดังแสดงมาแล้วนั้นก็ตาม แต่ก็ยังมีอานุภาพพิเศษซึ่งซึ่งไม่เหมือนกันแต่ละประการ ๆ ด้วยอำนาจที่มีสุภวิโมกข์เป็นผลขั้นสุดยอดเป็นต้นอันนักศึกษาจะพึงศึกษาให้เข้าใจต่อไปดังนี้
ในหลิททวนสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงอัปปมัญญา 4 ประการนี้ไว้โดยมีความต่างกัน ด้วยภาวะที่มีสุภวิโมกข์เป็นผลขั้นสุดยอดเป็นต้น ดังมีพระบาลีในคัมภีร์ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ซึ่งมีใจความว่า : -
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เมตตาเจโตวิมุติ มีสุภวิโมกข์เป็นผลขั้นสุดยอด, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า กรุณาเจโตวิมุติมีอากาสานัญจายตนฌานเป็นผลขั้นสุดยอด ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเรากล่าวว่า มุทิตาเจโตวิมุติ มีวิญญาณัญจายตนฌานเป็นผลสุดยอด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า อุเบกขาเจโตวิมุติ มีอากิญจัญญายตนฌานเป็นผลขั้นสุดยอด
(หน้าที่ 176)
ถาม – เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงอัปปมัญญา 4 ประการนี้ โดยมีความต่างกันแต่ละประการดังนั้น ?
ตอบ – เพราะอัปปมัญญา 4 ประการนี้ ต่างเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่วิโมกข์ ๆ อันมีสุภวิโมกข์เป็นต้น ดังจะอธิบายต่อไป
เมตตามีสุภวิโมกข์เป็นผลขั้นสุดยอด
มีความจริงอยู่ว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมไม่เป็นสิ่งที่พึงรังเกียจสำหรับเมตตา วิหารีบุคคล (คนมีจิตประกอบด้วยเมตตา) ฉะนั้นเมื่อโยคีบุคคลผู้เมตตาวิหารีนั้นน้อมจิตไป ในอารมณ์กรรมฐานทั้งหลาย เช่นสีเขียวเป็นต้น อันเป็นสีที่บริสุทธิ์สะอาด ซึ่งเป็นสิ่งที่เมตตาวิหารีบุคคลไม่พึงรังเกียจ เพราะได้อบรมมาโดยอาการที่ไม่น่ารังเกียจด้วยอำนาจเมตตาภาวนา จิตของเธอย่อมจะแล่นไปในอารมณ์ของกรรมฐานมีสีเขียวเป็นต้น โดยง่ายดายทีเดียว เพราะฉะนั้น เมตตาจึงเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่สุภวิโมกข์โดยปกตูปนิสัย นอกเหนือไปจากสุภวิโมกข์แล้ว เมตตาย่อมเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่วิโมกข์อะไรอื่นหาได้ไม่
ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงว่า เมตตาเจโตวิมุติมีสุภวิโมกข์ เป็นผลขั้นสุดยอด
กรุณามีอากาสานัญจายตนฌานเป็นผลขั้นสุดยอด
ก็แหละ เมื่อโยคีผู้กรุณาวิหารีบุคคล (ผู้มีจิตประกอบด้วยกรุณา) พิจารณาเห็นทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมีลักษณะรูปร่างที่มีไม้ค้อนอันเป็นเครื่องประหารกันเป็นต้น เป็นนิมิต เธอย่อมเห็นแจ้งชัดซึ่งโทษในรูป เพราะรูปเป็นที่บังเกิดเป็นไปของกรุณา เมื่อเป็นเช่นนี้ โยคีผู้กรุณาวิหารีบุคคลนั้น จึงเพิกถอนกสิณ 9 อย่าง (เว้นอากาศกสิณ) มีปถวีกสิณเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ได้เห็นแจ้งชัดซึ่งโทษในรูปนั้น แล้วน้อมภาวนาจิตไปในอากาศตรงที่เพิกถอนรูปออกแล้วนั้น จิตของเธอก็ย่อมจะแล่นไปตรงที่อากาศนั้นโดยง่ายดายทีเดียว เพราะฉะนั้น กรุณาจึงเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่อากาสานัญจายตนฌานโดยปกตูปนิสัย นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว กรุณาย่อมเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่วิโมกข์อะไรอื่นหาได้ไม่
ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงแสดงว่า กรุณาเจโตวิมุติมีอากาสานัญจายตนฌานเป็นผลขั้นสุดยอด
(หน้าที่ 177)
มุทิตามีวิญญานัญจายตนฌานเป็นผลขั้นสุดยอด
ก็แหละ เมื่อมุทิตาวิหารีบุคคล (ผู้มีจิประกอบด้วยมุทิตา) พิจารณาเห็นวิญญานของสัตว์ทั้งหลายผู้ได้ความปราโมทย์ ด้วยเหตุอันให้เกิดความปราโมทย์นั้น ๆ มีโภคสมบัติเป็นต้น จิตที่ถูกอบรมมาด้วยการยึดถือวิญญาณย่อมเกิด เพราะวิญญาณเป็นที่บังเกิดเป็นไป ของมุทิตา เมื่อเป็นเช่นนี้ โยคีผู้มุทิตาวิหารีบุคคลนั้นย่อมก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานที่ตนได้บรรลุมาแล้วโดยลำดับ แล้วน้อมภาวนาจิตไปในอรูปวิญญาณที่หนึ่ง อันมีอากาศนิมิตเป็นอารมณ์นั้น วิญญาณัญจายตนจิตของเธอย่อมจะแล่นไปในอรูปวิญญาณที่หนึ่งนั้นโดยง่ายดายทีเดียว เพราะฉะนั้น มุทิตาจึงเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่วิญญาณณัญจายตนฌานโดยปกตูปนิสัย นอกเหนือไปจากนั้น มุทิตาย่อมเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่วิโมกข์อะไรอื่นหาได้ไม่
ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงว่า มุทิตาเจโตวิมุติ มีวิญญาณัญจายตนฌานเป็นผลขั้นสุดยอด
อุเบกขามีอากิญจัญญายตนฌานเป็นผลขั้นสุดยอด
ก็แหละ โยคีผู้อุเบกขาวิหารีบุคคล (ผู้มีจิตประกอบด้วยอุเบกขา) นั้น ย่อมมีจิตเหนื่อยหน่ายต่อการยึดถืออารมณ์อันไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ โดยเบือนหน้าหนีจากการยึดถือโดยปรมัตถ์เช่นสุขทุกข์เป็นต้น เพราะไม่มีความห่วงใยว่า ขอสัตว์ทั้งหลายจงมีสุขเถิด หรือขอสัตว์ทั้งหลายจงพ้นจากทุกข์เสียเถิด หรือขอสัตว์ทั้งหลายอย่าได้พรากจากสุขที่ตนได้แล้วเลยฉะนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้โยคีบุคคลผู้อุเบกขาวิหารีนั้น ซึ่งเป็นผู้มีจิตใจได้อบรมมาโดยความเบือนหน้าหนีจากการยึดถือโดยปรมัตถ์ และเป็นผู้มีจิตเหนื่อยหน่ายต่อการยึดถืออารมณ์อันไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ย่อมก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานที่ตนได้บรรลุมาแล้วโดยลำดับเสีย แล้วน้อมภาวนาจิตไปในภาวะอันไม่มีอยู่ของวิญญาณอันเป็นปรมัตถ์ ซึ่งไม่มีอยู่โดยสภาวะอากิญจัญญายตนจิตของเธอ ย่อมจะแล่นไปในภาวะที่ไม่มีอยู่ของวิญญาณนั้นโดยง่ายดายทีเดียว เพราะฉะนั้น อุเบกขาจึงเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่อากิญจัญญายตนฌานโดยปกตูปนิสัย นอกเหนือไปจากนั้น อุเบกขาย่อมเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่วิโมกข์อะไรอื่นหาได้ไม่
ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงว่า อุเบกขาเจโตวิมุติมีอากิญจัญญายตนฌานเป็นผลขั้นสุดยอด
(หน้าที่ 178)
เมื่อนักศึกษาได้เข้าใจอานุภาพพิเศษที่ต่างกันของอัปปมัญญานี้ โดยมีสุภวิโมกข์เป็นผลขั้นสุดยอดเป็นต้นดังแสดงมาฉะนี้แล้ว พึงศึกษาให้เข้าใจต่อไปอีกว่า อัปปมัญญา 4 ประการนี้ เป็นคุณสมุทัยทำให้กัลยาณธรรมทั้งปวงมีทานบารมีเป็นต้นให้เต็มบริบูรณ์ เป็นประการสุดท้าย ดังต่อไปนี้
เป็นธรรมดา พระโพธิสัตว์ทั้งหลายซึ่งเป็นผู้มีจิตเป็นไปอย่างสม่ำเสมอในสรรพสัตว์ทุกจำพวก โดยเป็นผู้มีอัธยาศัยมุ่งทำประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยอำอาจเมตตา 1 โดยเป็นผู้นิ่งดูดายไม่ได้ต่อทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย ด้วยอำนาจกรุณา 1 โดยเป็นผู้มีความประสงค์ที่จะให้สมบัติอันวิเศษที่สัตว์ทั้งหลายได้มาแล้วให้ดำรงคงสภาพอยู่นาน ๆ ด้วยอำนาจมุทิตา 1 โดยเป็นผู้ไม่ตกไปในความเป็นฝักเป็นฝ่ายในสัตว์ทั้งหลายด้วยอำนาจอุเบกขา 1 พระโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้มีคุณลักษณะเห็นปานฉะนี้ ย่อมเพียรสร้างบารมีธรรม 10 ประการ ให้บริบูรณ์ในขันธสันดานอย่างนี้ คือ บำเพ็ญทานอันเป็นเหตุแห่งความสุขแก่สัตว์ทั้งหลาย โดยทั่วหน้ากัน โดยไม่แบ่งพรรคแบ่งพวกว่า คนนี้ควรให้ คนนั้นไม่ควรให้ (1. ทาน), สมาทานศีล เว้นการประหัตประหารสัตว์ทั้งหลายทุกตัวตน โดยไม่มีการยกเว้น (2. ศีล), บำเพ็ญเนกขัมมะ ได้แก่การถือบวชเป็นต้น อันเป็นเหตุแห่งความสุขของสัตว์ทั้งหลาย และเพื่อทำศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งขึ้น (3. เนกขัมมะ), อบรมบ่มปัญญาให้สว่างกระจ่างแจ้ง เพื่อทำลายโมหะไม่ให้หลงงมงายในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย (4. ปัญญา), บำเพ็ญเพียรชนิดที่ติดต่อกันไปไม่ให้ชะงักงัน เพื่อความเจริญแห่งประโยชน์สุขของสัตว์ทั้งหลาย (5. วิริยะ), แม้เมื่อได้บรรลุถึงความเป็นวีรภาพด้วยอำนาจความเพียรขั้นสุดยอดแล้ว ย่อมอดกลั้นได้ต่อความผิดมีประการต่าง ๆ ของสัตว์ทั้งหลายที่ตกมาถึงตน (6. ขันติ), รักษา ปฏิญญาที่ตนได้ทำไว้ว่า จักทำสิ่งนี้จักให้สิ่งนั้นแก่ท่านไม่ให้เคลื่อนคลาด (7. สัจจะ), เป็นผู้มุ่งมั่นไม่หวั่นไหวในพุทธการกธรรมที่ตนสมาทานแล้ว เพื่อประโยชน์สุขของสัตว์ทั้งหลาย (8. อธิฏฐานะ), เป็นผู้เริ่มต้นทำอุปการะแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตาปรารถนาดีอย่างแน่วแน่ (9. เมตตา), และไม่หวังผลตอบแทนอย่างใด ๆ ทั้งสิ้นจากสัตว์ทั้งหลายด้วยอุเบกขา (10. อุเบกขา)
(หน้าที่ 179)
พระโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้อัปปมัญญาวิหารี ย่อมเพียรสร้างบารมีธรรมทั้งหลาย ดังบรรยายมานี้ ตลอดถึงสรรพกัลยาณธรรมแม้ทุกอย่าง ต่างด้วยทศพลญาณ 10 เวสารัชญาณ 4 อสาธารณญาณ 6 และพุทธรรม 18 ให้เต็มบริบูรณ์ในขันธสันดาน ด้วยประการฉะนี้
อัปปมัญญา 4 ประการนี้ ย่อมเป็นคุณสมุทัยทำสรรพกัลยาณธรรมทุก ๆ อย่าง มีทานบารมีเป็นต้นให้เต็มบริบูรณ์ ด้วยประการดังที่ได้พรรณนามาฉะนี้แล
พรหมวิหารนิทเทส ซึ่งนับเป็นปริทเฉทที่ 9
ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิเศษวิสุทธิมรรค
อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นไว้
เพื่อให้เกิดความปีติปราโมทย์แก่สาธุชนทั้งหลาย
ยุติลงเพียงเท่านี้
……………………….