{{template:วสธมฉปส head| }}
{{template:ฉบับปรับสำนวน head|}}
=บทนำ=
'''ปริเฉทที่ 14 ขันธนิทเทส'''
''(หน้าที่ 1)''
บัดนี้ เพราะเหตุที่สมาธิที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงออกแล้วด้วยธรรม โดยยกจิตเป็นประธาน ในพระคาถาว่า '''"สีเล ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญ ''' '''จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ"''' ดังนี้ เป็นต้น ย่อมเป็นอันภิกษุผู้ประกอบด้วย สมาธิภาวนาอันแน่วแน่ มีอานิสงส์อันบรรลุแล้วด้วยอำนาจแห่งอภิญญาอย่างนี้ เจริญแล้วโดยอาการทั้งปวง ต่อแต่นั้น พึงเจริญปัญญาโดยลำดับไป
=คำถามเรื่องปัญญา=
ก็ปัญญานั้น ไม่ใช่ทำได้อย่างง่ายนัก แม้เพื่อจะรู้แจ้ง เพราะทรงแสดงไว้โดยสังเขป จะป่วย กล่าวไปใยถึงการเจริญเล่า ฉะนั้น เพื่อจะแสดงความพิสดารและนัยแห่งภาวนาปัญญานั้น จึงมีปัญหานี้ว่า:
#ปัญญาคืออะไร?
#อะไรเป็นสภาวะของปัญญา?
#อะไรเป็นลักษณะ, รส, ปัจจุปัฏฐาน, ปทัฏฐานของปัญญา?
#ปัญญามีกี่อย่าง?
#ทำปัญญาให้เกิดต่อเนื่องได้อย่างไร?
#อะไรเป็นอานิสงส์ของปัญญาภาวนา?
=คำตอบเรื่องปัญญา=
==ปัญญาคืออะไร?==
พึงทราบวิสัชนาใน ข้อปัญหานั้นดังต่อไปนี้
ปัญหากรรมที่ว่า "ปัญญาคืออะไร?" นั้น มีวิสัชนาว่า ปัญญามีหลายอย่าง ต่างประการ อันจะวิสัชนาชี้แจงปัญญานั้นไปทุกอย่าง จะไม่พึงยังประโยชน์ ให้สำเร็จ ทั้งจะพึงเป็นไปเพื่อความเฝือยิ่งขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลาย จะกล่าวหมายเอาปัญญาที่ประสงค์ในที่นี้เท่านั้น คือวิปัสสนาญาณอันสัมปยุต ด้วยกุศลจิตเป็นปัญญา
==อะไรเป็นสภาวะของปัญญา?==
ปัญหาว่า '''อะไรเป็นสภาวะของปัญญา?''' เฉลย - ที่ชื่อว่าปัญญาเพราะอรรถว่ารู้ชัด ที่ชื่อว่ารู้ชัดนี้ คืออย่างไร คือความรู้โดยประการต่าง ๆ พิเศษยิ่งกว่าอาการคือ ความหมายรู้ และความรู้แจ้ง จริงอยู่ แม้เมื่อสัญญา วิญญาณ และปัญญา จะเป็นความรู้ด้วยกัน แต่สัญญาเป็นสักแต่ว่าความหมายรู้อารมณ์ เช่น รู้จักว่า สีเขียว สีเหลือง เป็นต้นเท่านั้น แต่ไม่อาจให้ถึง ความแทงตลอดซึ่งลักษณะว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาได้ วิญญาณย่อมรู้จักอารมณ์ว่า สีเขียว สีเหลือง เป็นต้นด้วยและย่อมให้ถึงความแทงตลอดซึ่งลักษณะได้ด้วย แต่ไม่อาจจะให้ ก้าวหน้าไปถึงความปรากฏแห่งมรรคได้ ส่วนปัญญาย่อมรู้อารมณ์และให้ถึง ความแทงตลอด ซึ่งลักษณะด้วยอำนาจแห่งนัยดังกล่าวแล้ว ทั้งให้ก้าวหน้าไป ถึงความปรากฏแห่งมรรคด้วย
''(หน้าที่ 2)''
อุปมาเหมือนคน 3 คน คนหนึ่งเป็นเด็กที่ยังไม่มีความรู้ (ในเรื่องการใช้จ่าย) คนหนึ่งเป็นชาวบ้าน (ธรรมดา) คนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ดูเงิน เมื่อเขาเห็นกองเหรียญ กษาปณ์ที่เขาวางไว้บนแผ่นกระดานที่ดูเงิน เด็กที่ยังไม่มีความรู้ ย่อมรู้แต่เพียงว่า เหรียญกษาปณ์ ที่สวย งาม ยาว สั้น สี่เหลี่ยมหรือกลมเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่า ของชนิดนี้ เขาสมมติว่า เป็นรัตนะ ใช้แลกเปลี่ยน เครื่องอุปโภคบริโภคของมวลมนุษย์ คนชาวบ้าน ย่อมรู้ว่า เหรียญกษาปณ์เป็นของสวยงาม และรู้ว่า เป็นของที่เขาสมมติเป็นรัตนะ ใช้แลกเปลี่ยนเครื่องอุปโภคบริโภคของมวลมนุษย์ แต่ไม่รู้จักเลือกว่า เหรียญนี้แท้ เหรียญนี้ปลอม เหรียญนี้มีราคาเพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนเจ้าหน้าที่ดูเงิน ย่อมรู้ประการเหล่านั้น ทั้งหมด และรู้จริง ๆ แม้แลดูเหรียญกษาปณ์ก็รู้ ได้ฟังเสียงเคาะ ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ชั่งดูด้วยมือก็รู้ และรู้จนกระทั่งว่า ทำที่บ้าน ที่หมู่บ้าน ในเมือง หรือที่ภูเขา ที่ฝั่งแม่น้ำ ชื่อโน้น และรู้จนกระทั่งว่าอาจารย์คนโน้นทำฉันใด
'''อุปไมยนี้ ก็พึงทราบฉันนั้น ก็'''สัญญา''' ย่อมเป็นเหมือนการเห็นเหรียญกษาปณ์ของเด็กที่ยังไม่มีความรู้ เพราะถือเอาสักว่า อาการ คือความปรากฏแห่งอารมณ์ ด้วยอำนาจสีเขียวเป็นต้น '''วิญญาณ'''ย่อมเป็นเหมือนว่าการเห็น เหรียญกษาปณ์ของชาวบ้าน เพราะถือเอาอาการของอารมณ์ด้วยอำนาจสีเขียวเป็นต้น และให้ถึงการแทงตลอดลักษณะที่สูงขึ้นไป ส่วน'''ปัญญา'''ย่อมเป็นเหมือนการเห็น เหรียญ กษาปณ์ของเจ้าหน้าที่ดูเงิน เพราะถือเอาอาการของอารมณ์ด้วยอำนาจสีเขียวเป็นต้น และให้ถึงการแทงตลอดลักษณะและให้ถึงความปรากฏแห่งมรรคแม้ที่สูงขึ้นไปกว่านั้น เพราะฉะนั้น ความรู้โดยประการต่าง ๆ ที่พิเศษยิ่งกว่าอาการคือความหมายรู้และความรู้แจ้ง นี้แหละพึงทราบว่า ความรู้ชัด คำแก้ปัญหาว่า '''"ที่ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด"''' ดังนี้ ข้าพเจ้ากล่าวหมายถึงความรู้ชัดนี้'''
ก็ปัญญานี้นั้น เป็นธรรมชาติที่ละเอียดเห็นได้ยาก เพราะมีความแตกต่างกันที่ บุคคลแยกไม่ได้ว่า ที่ใดมีสัญญาและวิญญาณ ที่นั้นไม่มีปัญญาโดยส่วนเดียว ก็ในกาลใด มีปัญญา ในกาลนั้น ปัญญาก็ยังแยกออกจากธรรมเหล่านั้นไม่ได้ว่า "นี้สัญญา นี้วิญญาณ นี้ปัญญา" เพราะเหตุนั้น
::::พระนาคเสนผู้มีอายุ จึงถวายพระพรแด่พระเจ้ามิลินทร์ว่า
::::"มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงทำอะไรที่บุคคลทำได้ยากแล้ว"
::::พระเจ้ามิลินทร์ตรัสถามว่า
::::"ท่านพระนาคเสนผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคทรงทำอะไร ที่ทำได้ยากหรือ"
::::"มหาบพิตร การกำหนดธรรม
''(หน้าที่ 3)''
::::ทั้งหลายเหล่านี้ที่ไม่มีรูปคือจิตและเจตสิกที่เป็นไปในอารมณ์เดียวกัน ซึ่งพระองค์ตรัสไว้ว่า
::::"นี้ผัสสะ นี้เวทนา นี้ปัญญา นี้เจตนา นี้จิต" ดังนี้ นั่นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก พระผู้มีพระภาค
::::ทรงทำแล้ว
==อะไรเป็นลักษณะ, รส, ปัจจุปัฏฐาน, ปทัฏฐานของปัญญา?==
ในปัญหาข้อว่า '''อะไรเป็นลักษณะ, รส, ปัจจุปัฏฐาน, ปทัฏฐานของปัญญา?''' นี้พึงทราบวินิจฉัย ดังต่อไปนี้
ปัญญา มีการแทงตลอดสภาวธรรมเป็น''ลักษณะ''
มีการกำจัดความมืดคือโมหะที่ปกปิดสภาวะความเป็นจริงของธรรมทั้งหลายเป็น''กิจ''
มีความไม่หลงเป็น''ผล'' ก็สมาธิเป็น''เหตุใกล้''ของปัญญานั้น โดยพระบาลีว่า '''"ผู้มีจิตตั้งมั่น ย่อมรู้ ย่อมเห็นตามความเป็นจริง"''' ดังนี้
==ปัญญามีกี่อย่าง?==
ปัญหาข้อว่า "ปัญญามีกี่อย่าง?" วิสัชชนาว่า
#อันดับแรก ว่าโดยลักษณะ คือการแทงตลอดสภาวธรรม ปัญญามีอย่างเดียวเท่านั้น
#ปัญญามี 2 อย่างคือ โลกียปัญญา 1 และโลกุตตรปัญญา 1 เป็น 2 อย่าง โดยนัยอย่างเดียวกันนั้น คือ ปัญญามีอาสวะ 1 และไม่มีอาสวะ 1 ปัญญาที่กำหนดนาม 1 และที่กำหนดรูป 1 ปัญญาที่เกิดร่วมกับโสมนัส 1 และที่ เกิดร่วมกับอุเบกขา 1 ปัญญาที่เป็นทัสสนภูมิ 1 และที่เป็นภาวนาภูมิ 1
#ปัญญาเป็น 3 อย่าง คือเป็นจินตามยปัญญา 1 สุตมยปัญญา 1 และภาวนามยปัญญา 1 โดยนัยเดียวกันนั้นคือ ปัญญาที่เป็นปริตตารัมมณะ 1 ที่เป็นมหัคคตารัมมณะ 1 และที่เป็นอัปปมาณารัมมณะ 1 ปัญญาที่เป็น อายโกศล 1 ที่เป็นอปายโกศล 1 และที่เป็นอุปายโกศล 1 และปัญญาโดย อภินิเวส 3 มีอัชฌัตตาภินิเวส (มุ่งมั่นข้างใน) เป็นต้น
#ปัญญาเป็น 4 อย่าง คือเป็นญาณในสัจ 4 และเป็นปฏิสัมภิทา 4
===อธิบายปัญญาหมวด 1===
ในส่วนแห่งปัญญาเหล่านั้น ปัญญาที่เป็นอย่างเดียว อธิบายไปแล้ว.
===อธิบายปัญญาหมวด 2===
'''ปัญญา 2 อย่าง'''
''' ในส่วนแห่งปัญญา 2 อย่าง มีอธิบายดังนี้'''
''(หน้าที่ 4)''
ปัญญาเป็น 2 อย่าง คือที่เป็นโลกียะ 1 และที่เป็นโลกุตตระ 1 อย่างนี้คือ ปัญญา ที่สัมปยุตด้วยโลกียมรรค เป็นโลกีปัญญา 1 และปัญญาที่สัมปยุตด้วยโลกุตตรมรรค เป็นโลกุตตรปัญญา 1
ในทุกะที่ 2 ปัญญาที่เป็นอารมณ์ของอาสวะทั้งหลายเป็นปัญญามีอาสวะ 1 และปัญญาที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะเหล่านั้นเป็นปัญญาไม่มีอาสวะ 1 แต่โดยอรรถ ปัญญา 2 อย่างนั้นก็คือโลกียปัญญาและโลกุตตรปัญญาเท่านั้นเอง นัยสาสวทุกะอื่น เช่น ปัญญาที่ประกอบกับอาสวะ เป็นปัญญามีอาสวะ และปัญญาที่ไม่ประกอบกับ อาสวะเป็นปัญญาไม่มีอาสวะดังนี้ ปัญญาเป็น 2 อย่าง โดยเป็นปัญญามีอาสวะและ ไม่มีอาสวะด้วยประการอย่างนี้
ในทุกะที่ 3 ปัญญา 2 อย่าง โดยเป็น นามววัฏฐาปนะ และ รูปววัฏฐาปนะ อย่างนี้คือปัญญาในการกำหนดอรูปขันธ์ 4 แห่งภิกษุผู้ใคร่จะเริ่มวิปัสสนาอันใด ปัญญาอันนี้ เป็นนามวัฏฐาปนปัญญา ปัญญาในการกำหนดรูปขันธ์อันใด ปัญญา อันนี้เป็นรูปววัฏฐาปนปัญญา
ในทุกะที่ 4 ปัญญา 2 อย่าง โดยเป็นโสมนัสสสหคตะ และ อุเปกขาสหคตะ (เกิดพร้อมด้วยโสมนัสและเกิดพร้อมด้วยอุเบกขา)อย่างนี้ คือ ปัญญาในกามาวจรกุศลจิต 2 ดวงและในมัคคจิตที่เป็นไปในจตุตถญาณ โดยปัญจกนัย 16 ดวง เป็นโสมนัสสสหคตปัญญา และปัญญาในกามาวจร กุศลจิต 2 ดวง ในมรรคจิตที่เป็นไปในปัญจมฌาน 4 ดวง เป็นอุเปกขา สหคตปัญญา
ในทุกะที่ 5 ปัญญา 2 อย่าง โดยเป็นทัสสนภูมิและภาวนาภูมิ อย่างนี้คือ ปัญญาในปฐมมรรค เป็นทัสสนภูมิปัญญา และปัญญาในมรรค 3 ที่เหลือเป็นภาวนาภูมิปัญญา
===อธิบายปัญญาหมวด 3===
ในติกะ มีอธิบายดังนี้
ในติกะที่ 1 ปัญญาที่มิได้ฟังจากคนอื่นได้มาเป็นจินตามยปัญญา เพราะสำเร็จโดยลำพังความคิดตนเอง ปัญญาที่ได้ฟังจากผู้อื่นแล้วได้มาเป็นสุตมยปัญญา เพราะสำเร็จด้วยอำนาจการฟัง ปัญญาที่ถึงอัปปนา สำเร็จด้วยอำนาจภาวนาอย่างใดก็แล้วแต่ เป็นภาวนามยปัญญา สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
::::"ในปัญญา 3 นั้น '''จินตามยปัญญาเป็นไฉน?''' บุคคลมิได้
''(หน้าที่ 5)''
::::ฟังจากผู้อื่นได้ซึ่งกัมมัสสกตาญาณ หรือสัจจานุโลมิกญาณว่า
::::รูปไม่เที่ยงก็ดี เวทนา สัญญา สังขาร
::::วิญญาณไม่เที่ยงก็ดี หรือได้ขันติ (ความอาจเห็นได้) ทิฏฐิ (ความเห็น)
::::รุจิ (ความพอใจ) มุติ (ความรู้) เปกขะ (การค้นพบ) ธัมมนิชฌารขันติ
::::(ความทนต่อความเพ่งธรรม) อันเป็นอนุโลมิกะ รูปเดียวกันนั้น ในกัมมายตนะ
::::ทั้งหลายที่บุคคลจัดทำด้วยโยคะ (คือปัญญา) ก็ดี ในสิปปายตนะทั้งหลาย
::::ที่บุคคลจัดทำด้วยโยคะก็ดี ในวิชาฐานะทั้งหลายที่บุคคลจัดทำด้วยโยคะก็ดี
::::ความรู้นี้เรียกว่า จินตามยปัญญา
::::'''สุตมยปัญญา เป็นไฉน ?''' บุคคได้ฟังจากผู้อื่นแล้วจึงได้
::::กัมมัสสกตาญาณ ความรู้นี้ เรียกว่า สุตมยปัญญา
::::'''ภาวนามยปัญญา เป็นไฉน ?''' ปัญญาของผู้เข้าสมาบัติทุกอย่าง
::::เรียกว่า ภาวนามยปัญญา
ปัญญาเป็น 3 อย่าง คือ จินตามยปัญญา 1 สุตมยปัญญา 1 และภาวนามยปัญญา 1 ดังกล่าวมาฉะนี้
ในติกะที่ 2 ปัญญาเป็น 3 อย่างคือปริตตารัมมณปัญญา 1 มหัคคตารัมมณปัญญา 1 และอัปปมาณารัมมณปัญญา 1 อย่างนี้คือปัญญาที่ ปรารภธรรมทั้งหลายที่เป็นกามาวจรเป็นไปเป็นปริตตารัมมณปัญญา ที่ปรารภธรรมทั้งหลาย ที่เป็นรูปาวจรและอรูปาวจรเป็นไป เป็นมหัคคตารัมมณปัญญา ปัญญาทั้ง 2 นั้น เป็นโลกียวิปัสสนาปัญญา ปัญญาที่ปรารภพระนิพพานเป็นไป เป็นอัปปมาณารัม มณปัญญา ปัญญานั้นเป็นโลกุตตรวิปัสสนาปัญญา
ในติกะที่ 3 ความเจริญชื่อว่าอายะ ความเจริญนั้นมี 2 ทาง คือ ทางที่ไม่เสื่อมจากประโยชน์ 1 ทางที่ให้เกิดประโยชน์ 1 ความฉลาดในทั้ง 2 ทางนั้น ชื่อว่า อายโกศล ดังพระบาลีว่า
::::ในโกศล 3 อย่างนั้น '''อายโกศล เป็นไฉน ?''' ผู้มีปัญญารู้ว่า เมื่อ
::::เรามนสิการธรรมเหล่านี้อยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น และ
::::อกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วก็ถูกละไป หรือว่า เมื่อเรามนสิการธรรมเหล่านี้อยู่
::::กุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น และกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อ
::::ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่ ปัญญาคือความรู้ทั่ว ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม
::::ความเห็นถูกต้องในความไม่เกิดขึ้น และความเสื่อมไปแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย และความเจริญ
::::แห่งกุศลธรรมทั้งหลายด้วย แห่งผู้มีปัญญานั้น นี้เรียกว่า อายโกศล
''(หน้า 6)''
::::ความเสื่อมชื่อว่า อปายะ ความเสื่อมแม้นั้นมี 2 ทาง คือทางเสื่อม
::::จากประโยชน์ 1 ทางที่ไม่เกิดประโยชน์ 1 ความฉลาดใน 2 ทางนั้น ชื่อว่า
::::อปายโกศล ดังพระบาลีว่า ในโกศล 3 นั้น อปายโกศล เป็นไฉน ? ผู้มี
::::ปัญญารู้ว่า เมื่อเรามนสิการธรรมเหล่านี้อยู่ กุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดก็
::::ไม่เกิดขึ้น ดังนี้เป็นต้น 1
ส่วนว่า ความฉลาดอันเป็นไปทันที คือเกิดขึ้นฉับพลันในอุบาย คือเหตุแห่งความสำเร็จแห่งธรรมทั้งหลายนั้น ๆ ทุกสถาน ชื่อว่า อุปายโกศล ดังพระบาลีว่า
::::ปัญญาอันเป็นอุบายในการละอกุศลธรรมและเจริญกุศลธรรมนั้น
::::ทุกอย่าง ชื่อว่า อุปายโกศล ดังนี้ 2
ปัญญาเป็น 3 อย่าง คือ อายโกศล อปายโกศล และอุปายโกศล ดังกล่าวมาฉะนี้
ในติกะที่ 4 ปัญญาเป็น 3 อย่าง มีอัชฌัตตาภินิเวสเป็นต้นอย่างนี้ คือ วิปัสสนาปัญญา ที่ปรารภถือเอาขันธ์ของตนเป็นอัชฌัตตาภินิเวสปัญญา ที่ปรารภถือเอาขันธ์ของผู้อื่นหรือรูปภายนอกที่ไม่เนื่องด้วยอินทรีย์ เป็น พหิทธาภินิเวสปัญญา (ปัญญาอันมุ่งมั่นข้างนอก) ที่ปรารภถือเอาทั้งสอง เป็น อัชฌัตตพหิทธาภินิเวสปัญญา (ปัญญาอันมุ่งมั่นทั้งข้างในทั้งข้างนอก)
===อธิบายปัญญาหมวด 4===
ในจตุกกะ ปัญญาเป็น 4 อย่างมีอธิบายดังนี้
ในจตุกกะที่ 1 ปัญญาเป็น 4 อย่าง คือญาณในสัจจะ 4 อย่างนี้ คือ ความรู้ปรารภ ทุกขสัจจะเป็นไป เป็นญาณในทุกข์ ความรู้ปรารภ ทุกขสมุทัยเป็นไป เป็นญาณในทุกขสมุทัย ความรู้ปรารภทุกขนิโรธเป็นไป เป็นญาณในทุกขนิโรธ ความรู้ปรารภทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาเป็นไป เป็นญาณ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
ในจตุกกะที่ 2 ความรู้ 4 อย่างที่ถึงความแตกฉานในวัตถุ 4 มี อรรถเป็นต้น ชื่อว่าปฏิสัมภิทา 4 ดังพระบาลีว่า ความรู้ในอรรถชื่อว่า อัตถปฏิสัมภิทา ความรู้ในธรรมชื่อว่า ธัมมปฏิสัมภิทา ความรู้ในการกล่าว อรรถและธรรมตามหลักภาษา (คือภาษาที่ดี ภาษาที่ถูกต้อง) ชื่อว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา ความรู้ในญาณทั้งหลาย ชื่อว่าปฏิภาณปฏิสัมภิทา ดังนี้
''(หน้า 7)''
'''อัตถปฏิสัมภิทา'''
ในวัตถุ 4 นั้น คำว่า "อรรถ" โดยสังเขปเป็นคำเรียกผลที่เกิดจากเหตุ จริงอยู่ ผลที่เกิดจากเหตุ ท่านเรียกว่า "อรรถ" เพราะเหตุที่ถึง คือบรรลุโดยทำนองแห่งเหตุ แต่ว่าโดยประเภท ธรรม 5 อย่างนี้คือ สิ่งที่เกิดเพราะปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง นิพพาน เนื้อความแห่งภาษิต วิบาก และกิริยา พึงทราบว่า ชื่อว่าอรรถ ความรู้อันถึงความแตกฉานในอรรถนั้น แห่งบุคคลผู้พิจารณาอรรถนั้น ชื่อว่า อัตถปฏิสัมภิทา
'''ธัมมปฏิสัมภิทา'''
คำว่า "ธรรม" นั้นเล่า โดยสังเขป เป็นคำเรียกปัจจัย จริงอยู่ ปัจจัยท่านเรียกว่า "ธรรม" เพราะเหตุที่จัดแจงผล คือยังผลนั้น ๆ ให้เป็นไป หรืออำนวยให้ถึงผลนั้น ๆ โดยประเภท ธรรม 5 อย่างนี้ คือ เหตุที่ยังผลให้เกิดอย่างใดอย่างหนึ่ง อริยมรรค ภาษิต กุศล และอกุศล พึงทราบว่า ชื่อว่าธรรม ความรู้อันถึงความแตกฉานในธรรมนั้นแห่งบุคคลผู้พิจารณาธรรมนั้น ชื่อว่า ธัมมปฏิสัมภิทา
แท้จริง อรรถนี้แหละ ท่านจำแนกแสดงไว้ในอภิธรรมโดยนัยว่า "ความรู้ในทุกข์เป็นอัตถปฏิสัมภิทา ความรู้ในทุกขสมุทัยเป็นธัมมปฏิสัมภิทา ความรู้ในทุกขนิโรธเป็นอัตถปฏิสัมภิทา ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาเป็นธัมมปฏิสัมภิทา"
ความรู้ในเหตุเป็นธัมมปฏิสัมภิทา ความรู้ในผลที่เกิดจากเหตุเป็นอัตถปฏิสัมภิทา ธรรมเหล่าใดเกิดแล้ว เป็นแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว เกิดเฉพาะแล้ว ปรากฏแล้ว ความรู้ในธรรมเหล่านี้เป็นอัตถปฏิสัมภิทา ธรรมเหล่านั้น เกิดแล้ว เป็นแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว เกิดเฉพาะแล้ว ปรากฏแล้ว จากธรรมใด ความรู้ในธรรมเหล่านั้นเป็นธัมมปฏิสัมภิทา
ความรู้ในชรามรณะเป็นอัตถปฏสัมภิทา ความรู้ในชรามรณสมุทัย เป็นธัมมปฏิสัมภิทา ฯลฯ ความรู้ในสังขารนิโรธเป็นอัตถปฏิสัมภิทา ความรู้ในสังขารนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นธัมมปฏิสัมภิทา
''(หน้า 8)''
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ธรรมอันเป็น สุตตะ เคยยะ เวทัลละ ความรู้ธรรมนี้เรียกว่า ธัมมปฏิสัมภิทา ภิกษุนั้น ย่อมรู้เนื้อความแห่งภาษิตนั้น ๆว่า "นี้เป็นความแห่งภาษิตนี้ นี้เป็นความแห่งภาษิตนี้" ความรู้เนื้อความแห่งภาษิตนี้ เรียกว่าอัตถปฏิสัมภิทา
ธรรมที่เป็นกุศล เป็นไฉน ? สมัยใดจิตเป็นกามาวจรกุศลเกิดขึ้น ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ความรู้ในธรรมเหล่านี้เป็นธัมมปฏิสัมภิทา ความรู้ในวิบากแห่งธรรมเหล่านั้น เป็นอัตถปฏิสัมภิทา
ข้อว่า "ความรู้ในการกล่าวอรรถและธรรมตามหลักภาษา" มีอรรถาธิบายว่า สภาวนิรุตติ (ภาษาแท้) คือถ้อยคำที่ใช้กันตายตัว ไม่วิปริตคลาดเคลื่อน ในอรรถและธรรมนั้น ความรู้ในการกล่าวถ้อยคำในการพูด การเปล่งถ้อยคำ ได้แก่ ความรู้อันถึงซึ่งความแตกฉานในมูลภาษาของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ได้แก่ ภาษามคธ ที่เป็นสภาวนิรุตติ (ภาษาแท้) ซึ่งได้ชื่อว่าธรรมนิรุตติ (ภาษาดี) นั้นโดยนัยว่า พอได้ยินถ้อยคำที่พูด หรือเปล่ง ก็รู้ว่า "นี่เป็นสภาวนิรุตติ นี่ไม่ใช่สภาวนิรุตติ" ดังนี้ เป็นนิรุตติปฏิสัมภอทา จริงอยู่ ผู้ถึงนิรุตติปฏิสัมภิทา พอได้ยินคำว่า "ผสโส เวทนา" ดังนี้เป็นต้น ก็รู้ได้ว่า นี่เป็นสภาวนิรุตติ แต่พอได้ยินคำว่า "ผสสา เวทโน" ดังนี้เป็นต้น ก็รู้ได้ว่า นี้ไม่เป็นสภาวนิรุตติ
'''ปฏิภาณปฏิสัมภิทา'''
ข้อว่า "ความรู้ในญาณทั้งหลาย" มีอรรถธิบายว่า ความรู้อันมีความรู้เป็นอารมณ์ แห่งบุคคลผู้พิจารณา ทำความรู้ในความรู้ทั้งปวงให้เป็นอารมณ์ หรือว่าความรู้อย่างกว้างขวางด้วยอำนาจอารมณ์และกิจของตนเป็นต้น ในความรู้ทั้งหลาย ตามที่กล่าวมานั้น เป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทา
'''ภูมิปฏิสัมภิทา'''
ก็แลปฏิสัมภิทาทั้ง 4 นั่น ย่อมถึงความแตกฉานในภูมิ 2 คือ ในเสขภูมิ 1 ในอเสขภูมิ 1 ในภูมิ 2 นั้น ปฏิสัมภิทาของพระอัครสาวกและของพระมหาสาวกทั้งหลายถึงความ
''(หน้า 9)''
แตกฉานในอเสขภูมิ ปฏิสัมภิทาของพระเสขอริยสาวกทั้งหลาย เช่น พระอานนทเถระ (เมื่อยังเป็นพระเสขะ) ท่านจิตตคฤหบดี และขุชชุตตราอุบาสิกา ถึงความแตกฉานในเสขภูมิ
'''ปฏิสัมภิทาแจ่มใสด้วยอาการ 5 อย่าง'''
อนึ่ง ปฏิสัมภิทาแม้ถึงความแตกฉานในภูมิ 2 อย่างนี้ จะแจ่มใสขึ้นก็ด้วยอาการ 5 เหล่านั้น คือด้วยอธิคม ด้วยปริยัติ ด้วยสวนะ ด้วยปริปุจฉา และด้วยปุพพโยคะ ในอาการเหล่านั้น การบรรลุพระอรหัต ชื่อว่าอธิคม การเล่าเรียนพระพุทธวจนะ ชื่อว่าปริยัติ การสนใจฟังพระสัทธรรมโดยเคารพ ชื่อว่าสวนะ การกล่าววินิจฉัยคัณฐีบทและอรรถบทในคัมภีร์ทั้งหลายมีบาลีและอรรถกถาเป็นต้น ชื่อว่าปริปุจฉา การประกอบเนือง ๆ ซึ่งวิปัสสนาถึงชั้นใกล้อนุโลมญาณ และโคตรภูญาณ โดยภาวะแห่งพระโยคาวจรผู้มีการไป ๆ มา ๆ อยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ชื่อว่าปุพพโยคะ
อาจารย์อื่นอีกพวกหนึ่งกล่าวว่า
ปัจจัยเครื่องอุดหนุนของปฏิสัมภิทา มี 8 คือ ปุพพโยคะ 1
พาหุสัจจะ 1 เทศภาษา 1 อาคม 1 ปริปุจฉา 1 อธิคม 1 ครุสันนิสัย 1
และมิตตสมบัติ 1
ในปัจจัยเหล่านั้น ปุพพโยคะก็มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล ความฉลาดในคัมภีร์และกระบวนศิลปะทั้งหลาย ชื่อว่า พาหุสัจจะ ความฉลาดในโวหาร ถ้อยคำ ท้องถิ่น ชื่อว่า เทศภาษา โดยพิเศษความฉลาดในโวหารของชาวมคธ ชื่อว่า เทศภาษา การเล่าเรียนพระพุทธวจนะ โดยที่สุดแม้เพียงโอปัมมวรรค ชื่อว่า อาคม การไต่ถามถึงคำวินิจฉัย เนื้อความแห่งคาถาแม้คาถาหนึ่ง ชื่อว่า ปริปุจฉา ความเป็นพระโสดาบันก็ดี ความเป็นพระสกทาคามีก็ดี ความเป็นพระอนาคามีก็ดี ความเป็นพระอรหันต์ก็ดี ชื่อว่า อธิคม การอยู่ในสำนักของครูทั้งหลาย ผู้มีสุตปฏิภาณมาก ชื่อว่า ครุสันนิสัย การได้มิตรทั้งหลายเห็นปานนั้น นั่นแล ชื่อว่า มิตตสมบัติ ด้วยประการฉะนี้
ในปัจจัยเหล่านั้น พระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย อาศัยปุพพโยคะและอธิคมเท่านั้น ก็ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา พระสาวกทั้งหลายอาศัยเหตุคือปัจจัยเหล่านั้นทุกอย่าง
''(หน้า 10)''
จึงได้บรรลุ อนึ่ง การประกอบกัมมัฏฐาน ภาวนาเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก สำหรับจะบรรลุปฏิสัมภิทาหามีไม่ แต่การบรรลุปฏิสัมภิทา สำหรับพระเสขะทั้งหลาย ก็มีขึ้นในที่สุดแห่งผลวิโมกข์ชั้นเสขะ สำหรับพระอเสขะทั้งหลายก็มีขึ้นในที่สุดแห่งผลวิโมกข์ชั้นอเสขะนั่นเองจริงอยู่ ปฏิสัมภิทาทั้งหลาย สำเร็จแต่พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ก็ด้วยอริยผลแห่งอริยบุคคลนั่นแล เช่นเดียวกับพระทศพลญาณ
คำว่า "ปัญญา 4 อย่าง คือปฏิสัมภิทา 4" ข้าพเจ้ากล่าวหมายเอาปฏิสัมภิทา เหล่านี้แล
==ทำปัญญาให้เกิดต่อเนื่องได้อย่างไร?==
===วิธีภาวนาอย่างย่อสำหรับท่องจำ===
ส่วนปัญหาว่า "ทำปัญญาให้เกิดต่อเนื่องได้อย่างไร?" นี้
ปัญญาประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ
'''ภูมิ (พื้นดิน)'''ของปัญญา ได้แก่ ธรรมทั้งหลายอันแยกประเภทเป็น ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ สัจจะ และปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น.
'''มูล (ราก)'''ของปัญญา ได้แก่ วิสุทธิ 2 คือ สีลวิสุทธิและจิตตวิสุทธิ.
'''สรีระ (ลำต้น)'''ของปัญญา ได้แก่ วิสุทธิ 5 คือ ทิฏฐิวิสุทธิ 1 กังขาวิตรณวิสุทธิ 1 มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ 1 ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ 1 และญาณทัสสนวิสุทธิ 1.
ดังนั้น โยคีจึงทำปัญญาให้เกิดต่อเนื่องได้:
#ด้วยการสั่งสมสุตมยญาณ โดยการเล่าเรียนและไต่ถามในธรรมที่เป็นภูมิเหล่านั้น (ท่องจำและทำความเข้าใจจนปัญญามีความชำนาญ ชื่อว่า สุตมยญาณ).
#แล้วยังวิสุทธิ 2 ที่เป็นมูลให้ถึงพร้อม (โลกิยอัปปนา)
#แล้วทำวิสุทธิ 5 ที่เป็นสรีระให้ถึงพร้อม (โลกุตตรอัปปนา)
นี่เป็นความสังเขปในปัญหาข้อนี้ ส่วนความพิสดาร ดังต่อไปนี้ –
=วิธีภาวนาอย่างละเอียด=
(ตั้งแต่ตรงนี้ไปจนถึงปริจเฉทที่ 23 อยู่ในหัวข้อนี้ทั้งหมด)
คำใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า "'''ภูมิ (พื้นดิน)'''ของปัญญา ได้แก่ ธรรมทั้งหลายอันแยกประเภทเป็น ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ สัจจะ และปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น." ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบ วินิจฉัยความในคำนั้นเป็นอันดับแรก
==ขันธ์แบบอภิธัมมภาชนีย์==
คำว่า ขันธ์ ได้แก่ ขันธ์ 5 คือ รูปขันธ์ 1 เวทนาขันธ์ 1 สัญญาขันธ์ 1 สังขารขันธ์ 1 และวิญญาณขันธ์ 1
''(หน้า 11)''
===รูปขันธ์===
ในขันธ์ 5 นั้น ธรรมชาติที่มีความสลายไป โทรมไป เพราะปัจจัยที่เป็นข้าศึกทั้งหลาย มีหนาวเป็นต้นเป็นลักษณะ ทุกอย่างพึงทราบว่า ชื่อว่า รูปขันธ์ เพราะรวมธรรมชาติทั้งปวงนั้นเข้าด้วยกัน ธรรมชาตินี้ แม้เป็นอย่างเดียว โดยลักษณะคือความสลายไป แต่ก็นับเป็นสองโดยแยกเป็นภูตรูปและอุปาทายรูป
====รูป 28====
'''ภูตรูป'''
ในรูป 2 อย่างนั้น ภูตรูปมี 4 คือ ปฐวีธาตุ 1 อาโปธาตุ 1 เตโชธาตุ 1 และวาโยธาตุ 1 ลักษณะ รส (คือกิจ) ปัจจุปัฏฐาน (คือผล) ของธาตุ 4 ได้กล่าวไว้แล้วใน จตุธาตุววัฏฐาน แต่ว่าโดยปทัฏฐาน (คือเหตุใกล้) ธาตุทุกอย่างต่างก็มีธาตุที่เหลืออีก 3 อย่างเป็นปทัฏฐาน
'''อุปาทายรูป'''
อุปาทายรูปมี 24 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ ชีวิตินทรีย์ หทยวัตถุ กายวิญญัติ วจีวิญญัติ อากาสธาตุ รูปัสสะ ลหุตา (ความเบาแห่งรูป) รูปัสสะ มุทุตา (ความอ่อนแห่งรูป) รูปัสสะ กัมมัญญตา (ความคล่องแห่งรูป) รูปัสสะ อุปจยตา (ความเติบขึ้นแห่งรูป) รูปัสสะ สันตติ (ความสืบต่อแห่งรูป) รูปัสสะ ชรตา (ความทรุดโทรมแห่งรูป) รูปัสสะ อนิจจตา (ความไม่ยั่งยืนแห่งรูป) และกวฬิงการาหาร
'''ลักษณะเป็นต้นแห่งอุปาทายรูป'''
=====ปสาทรูป 5=====
ในอุปาทายรูปเหล่านั้น
ตา มีความผ่องใสแห่งภูตรูปพอกระทบรูปได้เป็นลักษณะ นัยหนึ่ง มีความผ่องใสแห่งภูตรูปที่มีความใคร่จะเห็นเป็นต้นเหตุเป็นสมุฏฐานเป็นลักษณะ มีการเวียนอยู่ในรูปทั้งหลายเป็นรส มีฐานที่รองรับจักขุวิญญาณเป็นปัจจุปัฏฐาน มีภูตรูปอันเกิดแต่กรรมที่ใคร่จะเห็นเป็นต้นเหตุเป็นปทัฏฐาน
''(หน้า 12)''
หู มีความผ่องใสแห่งภูตรูปพอกระทบเสียงได้เป็นลักษณะ นัยหนึ่ง มีความผ่องใส แห่งภูตรูปอันมีความใคร่จะฟังเป็นต้นเหตุเป็นสมุฏฐานเป็นลักษณะ มีการเวียนอยู่ในเสียงทั้งหลายเป็นรส มีฐานที่รองรับโสตวิญญาณเป็นปัจจุปัฏฐาน มีภูตรูปอันเกิดแต่กรรมที่มีความใคร่จะจะฟังเป็นต้นเหตุเป็นปทัฏฐาน
จมูก มีความผ่องใสแห่งภูตรูปพอกระทบกลิ่นได้เป็นลักษณะ นัยหนึ่ง มีความผ่องใสแห่งภูตรูป มีความใคร่จะดมเป็นต้นเหตุเป็นสมุฏฐานเป็นลักษณะ การเวียนอยู่ในกลิ่นทั้งหลายเป็นรส มีฐานที่รองรับฆานวิญญาณ เป็นปัจจุปัฏฐาน มีภูตรูปอันเกิดแต่กรรม ทีมีความใคร่จะดมเป็นต้นเหตุเป็นปทัฏฐาน
ลิ้น มีความผ่องใสแห่งภูตรูปพอกระทบรสได้เป็นลักษณะ นัยหนึ่ง มีความผ่องใสแห่งภูตรูป มีความใคร่จะลิ้มมีกรรมเป็นต้นเหตุเป็นสมุฏฐานเป็นลักษณะ มีการเวียนอยู่ในรสทั้งหลายเป็นกิจ มีฐานที่รองรับชิวหาวิญญาณเป็นปัจจุปัฏฐาน มีภูตรูปอันเกิดแต่กรรมที่มีความใคร่จะลิ้มเป็นต้นเหตุเป็นปทัฏฐาน
กาย มีความผ่องใสแห่งภูตรูปพอกระทบโผฏฐัพพะได้เป็นลักษณะ นัยหนึ่ง มีความผ่องใสแห่งภูตรูป ที่มีความใคร่จะถูกต้องเป็นต้นเหตุเป็นสมุฏฐานเป็นลักษณะ มีการเวียนไปในโผฏฐัพพะทั้งหลายเป็นรส มีฐานที่รองรับกายวิญญาณเป็นปัจจุปัฏฐาน มีภูตรูปอันเกิดแต่กรรมที่มีความใคร่จะถูกต้องเป็นต้นเหตุเป็นปทัฏฐาน
'''ลักษณะตาเป็นต้นตามมติเกจิอาจารย์'''
ฝ่ายอาจารย์บางพวกกล่าวว่า "ตา" ก็คือความผ่องใสแห่งภูตรูปที่ยิ่งด้วยธาตุไฟ หู จมูก และลิ้น ก็คือความผ่องใสแห่งภูตรูปที่ยิ่งด้วยธาตุลม ธาตุดิน และธาตุน้ำ กายก็คือความผ่องใสแห่งภูตรูปทุกอย่าง
อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า "ตา" คือความผ่องใสแห่งภูตรูปที่ยิ่งด้วยไฟ หู จมูก ลิ้น และกาย มีความผ่องใสแห่งภูตรูปทั้งหลายที่ยิ่งด้วยโพรง ลม น้ำ และดิน"
อาจารย์พวกนั้นบอกให้ท่านชักพระสูตรมาอ้าง ท่านจักไม่พบพระสูตรเป็นแน่แท้ทีเดียว
''(หน้า 13)''
อาจารย์บางพวกอ้างเหตุในคำของเกจิอาจารย์ที่กล่าวมานั้นว่า "เพราะธาตุมีธาตุไฟเป็นต้น อันมีรูปเป็นต้นเป็นคุณต้องช่วยอนุเคราะห์" อาจารย์พวกนั้นอันบัณฑิตพึงกล่าวได้ว่า "ใครกันเล่ากล่าวว่า สภาวะมีรูปเป็นอาทิเป็นคุณแก่ธาตุมีไฟเป็นต้น ? เพราะว่าในภูตรูปทั้งหลายมีความเป็นไปที่แยกกันไม่ออก" ใคร ๆ ก็กล่าวไม่ได้ว่า สิ่งนี้เป็นคุณแก่สิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นคุณแก่สิ่งนี้ แม้อาจารย์พวกนั้นจะพึงกล่าวต่อไปอีกว่า "ท่านทั้งหลายประสงค์เอากิจ เช่น การทรงไว้ของธาตุดินเป็นต้นได้ ก็เพราะความที่ภูตรูปนั้น ๆ มีมากในสัมภาระคือองค์อวัยวะนั้น ๆ ฉันใด ข้อที่ว่ารูปเป็นต้นเป็นคุณแก่ธาตุไฟเป็นอาทินั้นก็น่าจะประสงค์เอาได้ เพราะรูปเป็นต้นปรากฏเป็นจำนวนมากในสัมภาระที่ยิ่งด้วยธาตุไฟเป็นอาทิ ก็ฉันนั้น"
อาจารย์เหล่านั้น เราพึงกล่าวว่า "ข้าพเจ้าทั้งหลายก็พึงประสงค์ หากว่ากลิ่นในฝ่ายที่ยิ่งด้วยดินจะพึงเป็นกลิ่นยิ่งกว่ากลิ่นของดองที่ยิ่งด้วยน้ำ และสีของน้ำเย็นจะพึงจางกว่าสีของน้ำร้อนที่ยิ่งด้วยไฟบ้างละ ก็แต่เพราะทั้ง 2 อย่างนั้นไม่มี เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงเลิกคิดกำหนดความแตกต่างกันแห่งภูตรูปที่อาศัยช่องปสาทรูปมีตาเป็นต้นเสียเถิดถือเอาข้อยุตินี้ว่า "รูปเป็นรสต้นแห่งภูตรูปแม้ในกลาปเดียวกัน ไม่มีวิเศษก็ยังไม่เหมือนกันฉันใด ประสาททั้งหลายมีจักษุประสาทเป็นต้น แม้เหตุแห่งความวิเศษอย่างอื่นไม่มี ก็ไม่เหมือนกัน ฉันนั้น"
ก็อะไรเล่าเป็นเหตุที่ไม่สาธารณะแก่กันและกัน ? ก็กรรมนั่นซิเป็นเหตุแห่งความแปลกกันของปสาทรูปเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น ความแปลกกันแห่งปสาทรูป ย่อมมีได้เพราะความแปลกกันของกรรม หาใช่เพราะความแปลกกันของภูตรูปไม่ ด้วยว่า เมื่อภูตรูปมีความแปลกกัน ความผ่องใสย่อมไม่เกิดขึ้น แท้จริง พระโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า "เมื่อภูตรูปเสมอกัน ความผ่องใสจึงมี เมื่อภูตรูปไม่เสมอกัน ความผ่องใสก็ไม่มี" ดังนี้ ก็ในปสาทรูปแปลกกันเพราะกรรมอย่างนี้ ตาและหูรับวิสยรูปที่ไม่ถึงตัวได้ เพราะตาและหูเป็นเหตุแห่งวิญญาณในวิสยรูปที่อาศัยไม่ติดที่อาศัยของตนเลย จมูก ลิ้น และกายรับได้แต่วิสยรูปที่ถึงตัว เพราะจมูก ลิ้น และกาย เป็นเหตุแห่งวิญญาณในวิสยรูป ติดที่อาศัยของตน ๆ อยู่แล้วนั่นเอง โดยเป็นที่อาศัยและเป็นเองด้วย
''(หน้า 14)''
'''จักษุประสาทรูป'''
ในบรรดาปสาทรูป 5 อย่าง จักษุประสาทซึมซาบอยู่ตลอดเยื่อตา 7 ชั้น ประดุจน้ำมันที่ปุยนุ่น 7 ชั้น ซึมซาบตลอดปุยนุ่นทุกชั้น ในประเทศที่เกิดสรีรสันฐานแห่งคนผู้อยู่ตรงหน้า ในท่ามกลางแววตาดำ อันแวดล้อมด้วยแววตาขาวแห่งสัมภารจักษุ ที่มีขนตาขึ้นอยู่โดยรอบ วิจิตรด้วยแววตาดำและขาว สดใส ประดุจกลีบอุบลเขียว ที่ในโลกเขาเรียกกันว่า จักษุอันธาตุทั้ง 4 ทำหน้าที่ทรงอยู่สนานให้อบอุ่นและเคลื่อนไหว กระทำอุปการะแล้ว ประดุจขัตติยกุมารมีพระพี่เลี้ยงทั้ง 4 ทำหน้าที่อุ้มสนาน แต่งองค์ และถวายอยู่งานพัดเฝ้าประจำ อันฤดู จิต และอาหารคอยอุปถัมภ์ มีอายุเฝ้าเลี้ยงดู อันโคจรรูปมีสี กลิ่น และ รส เป็นต้น คอยแวดล้อม เมื่อว่าโดยประมาณมีประมาณเท่าหัวเล็น ย่อมให้สำเร็จเป็นวัตถุ และทวารแห่งวิถีจิต มีจักษุวิญญาณเป็นต้น ตั้งอยู่ตามควร
สมจริง ดังคำที่ท่านพระธรรมเสนาบดีกล่าวว่า
"จักษุประสาทที่เป็นเครื่องเห็นรูปนี้
เล็ก ละเอียด ประมาณเท่าหัวเล็น"
อนึ่ง โสตประสาทซึมซาบอยู่ในประเทศมีสัณฐานดังวงแหวน มีขนแดงเล็กงอกขึ้นแล้วภายในช่องโสตอันเป็นที่อาศัย อันธาตุมีประการดังกล่าวแล้วกระทำอุปการะและมีฤดู จิตและอาหารคอยอุปถัมภ์ มีอายุเฝ้าอนุบาล มีวรรณะเป็นต้นคอยแวดล้อม ให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารแห่งโสตวิญญาณเป็นต้น ตั้งอยู่ตามควร ฆานประสาทซึมซาบอยู่ในประเทศมีสัณฐานดังกีบแพะ ภายในช่องจมูกซึ่งเป็นที่อาศัย ได้รับความอุปถัมภ์ อนุบาลและความแวดล้อมมีประการดังกล่าวมาให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารแห่งฆาณวิญญาณเป็นต้น ตั้งอยู่ตามควร ชิวหาประสาทซึมซาบอยู่ในประเทศมีสัณฐานดังปลายกลีบอุบลเบื้องบนท่ามกลางลิ้นอันเป็นที่อาศัย ได้รับความอุปการะ อุปถัมภ์ อนุบาลและความแวดล้อมมีประการดังกล่าวมา ให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารแห่งชิวหาวิญญาณเป็นต้น ตั้งอยู่ตามควร ส่วนในกายนี้ ชื่อว่า อุปาทินนรูปมีอยู่เพียงไร ในอุปาทินนรูปทั้งหมด กายประสาทซึงซาบอยู่ประดุจใยในปุยฝ้าย ได้รับความอุปการะ อุปถัมภ์ อนุบาลและแวดล้อมมีประการ
''(หน้า 15)''
ดังกล่าวแล้ว ให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารแห่งกายวิญญาณเป็นต้น ตั้งอยู่ตามควร บัณฑิตจึงเห็นว่า ประสาทมีจักษุเป็นต้นเหล่านี้ น้อมไปตามอารมณ์ของตน มีรูปเป็นต้น ประดุจงูพอใจในจอมปลวก จระเข้พอใจในแม่น้ำ นกพอใจในอากาศ สุนัขบ้านพอใจในบ้าน และสุนัขจิ้งจอกพอใจในป่าช้า
=====โคจรรูป 4=====
ส่วนในโคจรรูปทั้งหลาย มีรูปเป็นต้น ต่อจากปสาทรูปไป มีนัยดังต่อไปนี้
รูป มีอันกระทบจักษุเป็นลักษณะ มีความเป็นวิสัยแห่งจักขุวิญญาณเป็นกิจ มีความเป็นโคจรแห่งจักขุวิญญาณนั้นแหละเป็นผล มีมหาภูตรูป 4 เป็นเหตุใกล้
ก็แล ข้อที่รูปมีมหาภูตรูป 4 เป็นปทัฏฐาน ฉันใด อุปาทายรูปทั้งปวงก็เป็นฉันนั้น แต่ในที่ใดมีความแปลกออกไป ข้าพเจ้าจึงจักกล่าวในที่นั้น
รูปมีมากอย่าง ด้วยอำนาจแห่งสี มีสีเขียว สีเหลือง เป็นต้น
เสียง มีการกระทบหูเป็นลักษณะ มีวิสัยแห่งโสตวิญญาณเป็นกิจ มีโคจรแห่งโสตวิญญาณเป็นผล มีมากอย่างโดยนัยเป็นต้นว่า เสียงกลอง เสียงตะโพน ฯลฯ
กลิ่น มีการกระทบจมูกเป็นลักษณะ มีวิสัยแห่งฆานวิญญาณเป็นกิจ มีโคจรแห่งฆานมีวิญญาณเป็นผล มีมากอย่างโดยนัยเป็นต้นว่า กลิ่นรากไม้ กลิ่นแก่นไม้ ฯลฯ
รส มีการกระทบลิ้นในลักษณะ มีวิสัยแห่งชิวหาวิญญาณเป็นกิจ มีโคจรแห่งชิวหาวิญญาณเป็นปัจจุปัฏฐาน มีมากอย่างโดยนัยเป็นต้นว่า รสรากไม้ รสลำต้น ฯลฯ
=====ภาวรูป 2=====
อิตถินทรีย์ มีภาวะแห่งหญิงเป็นลักษณะ มีการประกาศว่าหญิงเป็นกิจ มีภาวะคือการกระทำเพศของหญิง นิมิตของหญิง กิริยาของหญิง และท่าทางของหญิงเป็นผล
ปุริสินทรีย์ มีภาวะแห่งชายเป็นลักษณะ มีการประกาศว่าชายเป็นกิจ มีภาวะคือการกระทำเพศของชาย นิมิตของชาย กิริยาของชาย และท่าทางของชาย เป็นผล
''(หน้า 16)''
อิตถินทรีย์และปุริสินทรีย์ทั้ง 2 นั้น ปกแผ่ไปทั่วร่างของหญิงชายดังกายประสาทเหมือนกัน แต่ไม่ถึงกับจะกล่าวได้ว่า มันตั้งอยู่ในโอกาสที่กายประสาทตั้งอยู่ หรือว่ามันตั้งอยู่ในโอกาสที่กายประสาทมิได้ตั้งอยู่ก็ตาม ความปะปนกันก็ไม่มี ดังรูปกันรสเป็นต้น ฉะนั้น
=====ชิวิตรูป=====
ชีวิตินทรีย์ มีการตามรักษาสหัชรูปที่เกิดร่วมกับตนเป็นลักษณะ มีการให้สหัชรูปเหล่านั้นเป็นไปเป็นกิจ มีความดำรงไว้ได้ซึ่งสหัชรูปเหล่านั้นนั่นแหละเป็นผล มีภูตรูปที่ตนจะพึงให้เป็นไปเป็นเหตุใกล้
ก็แลชีวิตินทรีย์นั้น แม้เมื่อทำงาน มีลักษณะคือการตามรักษาเป็นต้นยังมีอยู่ ก็ย่อมตามรักษาสหัชรูป แต่ในขณะที่สหัชรูปที่ตนจะพึงตามรักษานั้น ยังมีอยู่เท่านั้น ดุจน้ำรักษาไม้น้ำมีอุบลเป็นต้นฉะนั้น อนึ่ง ย่อมรักษาธรรมที่เป็นปัจจุบันตามที่เป็นของของตน ดุจพระพี่เลี้ยง ก็ย่อมเลี้ยงพระกุมารที่ทรงกำเนิดมาเฉพาะหน้าแล้วตามหน้าที่ของตน อนึ่ง ชีวิตินทรีย์นั้นย่อมเป็นไปแต่โดยสัมพันธ์กับธรรมที่ตนให้เป็นไปเองเท่านั้น ดุจนายเรือย่อมเป็นไปโดยผูกพันกับสิ่งที่ตนให้เป็นไปฉะนั้น มิได้เป็นไปเบื้องบนจากการแตกทำลาย เพราะไม่มีตนและสิ่งที่ตนจะพึงให้เป็นไปด้วย อนึ่ง ย่อมไม่ดำรงไว้ได้ในภังคขณะ เพราะตัวเองก็กำลังแตกอยู่ เหมือนไส้และน้ำมันกำลังสิ้น ย่อมไม่ดำรงเปลวประทีปไว้ได้ฉะนั้น แต่พึงเห็นว่าชีวิตินทรีย์นั้นมิใช่ไร้อานุภาพในการเลี้ยงรักษา การให้เป็นไป และการดำรงไว้ซึ่งสหัชรูปนั้น เพราะชีวิตินทรีย์ยังกิจนั้น ๆ ให้สำเร็จในขณะตามที่กล่าวแล้ว
=====หทยวัตถุรูป=====
หทยวัตถุ มีการเป็นที่อาศัยแห่งมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุเป็นลักษณะ มีการรองรับธาตุเหล่านั้นไว้เป็นกิจ มีการแบกธาตุทั้งสองเป็นผล
หทยวัตถุ อาศัยโลหิตมีประการดังกล่าวแล้ว[วิสุทธิมรรค_ฉบับปรับสำนวน_ปริจเฉท_8_อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส#หทยมังสะ|ในกายคตาสติกถา]ได้อุปการภูตรูป 4 มีหน้าที่ค้ำจุนไว้เป็นต้น ทำให้ฤดู จิต และอาหารอุปถัมภ์อยู่ อายุคอยเลี้ยงรักษา ยังความเป็น
''(หน้า 17)''
วัตถุแห่งมโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ และธรรมอันสัมปยุตกับธาตุทั้งสองนั้น ให้สำเร็จตั้งอยู่ในภายในแห่งหัวใจ
=====วิญญัติรูป 2=====
การวิญญัตติรูป การเปลี่ยนอาการเป็นปัจจัยแก่การค้ำจุนกาย การทรงกาย และการไหวกายที่เป็นสหัชรูปแห่งวาโยธาตุ มีจิตให้กิริยามีการย่างก้าวเป็นต้นให้เป็นไป เป็นเหตุเกิดชื่อว่ากายวิญญัติ มีประกาศความประสงค์เป็นกิจ มีเหตุแห่งความไหวกายเป็นผล มีวาโยธาตุที่มีจิตเป็นเหตุเกิดเป็นเหตุใกล้ ก็กิริยาอันนี้ ท่านเรียกว่ากายวิญญัติ เพราะเป็นเหตุให้ผู้อื่นรู้ความประสงค์ด้วยการไหวกาย และเพราะตัวเองก็พึงรู้ได้ด้วยกายกล่าวคือความไหวกายนั้นด้วย ก็แลกิริยาทั้งหลายมีก้าวไปและถอยกลับเป็นต้น บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมเป็นไปได้ เพราะความไหวแม้แห่งอุตุชรูปเป็นต้น ที่สัมพันธ์กันโดยเฉพาะกับจิตตัชรูปที่ไหวเพราะวิญญัตินั้น
'''วจีวิญญัติ'''
การเปลี่ยนอาการ เป็นปัจจัยแห่งความกระทบกันแห่งอุปาทินนรูปแห่งปฐวีธาตุ ที่มีจิตยังความเปล่งวาจาให้เป็นไปเป็นเหตุเกิด ชื่อว่า วจีวิญญัติ มีประกาศความประสงค์เป็นกิจมีเหตุแห่งการเปล่งคำพูดเป็นผล มีปฐวีธาตุที่มีจิตเป็นเหตุเกิดเป็นผล ก็กิริยาอันนี้ท่านเรียกว่าวจีวิญญัติ เพราะเป็นเหตุให้ผู้อื่นรู้ความประสงค์ด้วยการเปล่งคำพูด และเพราะตัวเองพึงรู้ได้ด้วยวาจากล่าวคือการเปล่งคำพูดนั้น
เหมือนอย่างว่า บุคคลเห็นเครื่องหมายมีน้ำ หัววัวเป็นต้น ที่เขายกขึ้นผูกไว้ในป่า ก็รู้ได้ว่าน้ำมีอยู่ที่นั่นฉันใด แม้กายวิญญัติและวจีวิญญัติ บุคคลจับการไหวกายและการเปล่งวาจาได้ก็รู้ได้ฉันนั้น
=====ปริจเฉทรูป=====
อากาสธาตุ มีการตัดตอนรูปเป็นลักษณะ มีประกาศริมรอบของรูปเป็นกิจ มีขอบของรูปเป็นผล หรือมีความไม่ถูกภูตรูปสัมผัสและเป็นช่องเป็นรูปเป็นผล มีรูปที่ถูกตัดตอน
''(หน้า 18)''
แล้วเป็นเหตุใกล้ ในรูปทั้งหลายที่ถูกอากาศธาตุไรเล่าตัดตอนแล้วย่อมมีการกำหนดไว้ว่า รูปนี้ ทางบนนี้ ทางล่างนี้ และทางนี้ขวาง
=====วิการรูป 3=====
ลหุตา ความเบาแห่งรูป มีความไม่อึดอาดเป็นลักษณะ มีการบรรเทาเสียซึ่งความหนัก แห่งรูปทั้งหลายเป็นกิจ มีการเปลี่ยนได้เร็วเป็นผล มีรูปที่เบาเป็นเหตุใกล้
มุทุตา ความอ่อนสลวยแห่งรูป มีความไม่แข็งเป็นลักษณะ มีการบรรเทาเสียซึ่งความกระด้างทั้งหลายเป็นกิจ มีความไม่ขัดในกิริยาทั้งปวงเป็นผล มีรูปที่อ่อนเป็นเหตุใกล้
กัมมัญญตา ความควรแก่การงานแห่งรูป มีความคล่องแคล่วอันอนุกูลแก่กิริยาทางร่างกายเป็นลักษณะ มีการบรรเทาเสียซึ่งความไม่คล่องแคล่วเป็นกิจ มีความไม่ทุพพลภาพเป็นผล มีรูปที่ใช้การได้เป็นเหตูใกล้
ก็วิการรูปทั้ง 3นี้ ย่อมไม่ละกันและกัน แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น ความแปลกกันแห่งวิการรูป 3 นั้น ก็พึงทราบได้ดังนี้ คือ :–
รูปวิการใด เป็นความเบาแห่งรูปทั้งหลาย ดุจรูปของคนไม่มีโรค มีความไม่อึดอาดและความเปลี่ยนท่าได้เร็วเป็นอาการทั่ว ๆไป มีปัจจัยอันเป็นฝ่ายต่อต้านความกำเริบแห่งธาตุที่ทำให้รูปหนักเป็นเหตุเกิด รูปวิการนั้นจัดเป็นความเบาแห่งรูป
รูปวิการใด เป็นความอ่อนแห่งรูปทั้งหลาย ดุจหนังที่ขัดดีแล้ว มีความอ่อนโดยที่บังคับได้ในกิริยาทั้งปวงแปลก ๆ กัน เป็นอาการทั่ว ๆ ไป มีปัจจัยอันเป็นฝ่ายต่อต้านความกำเริบแห่งธาตุที่ทำให้รูปแข็งกระด้างเป็นเหตุเกิด รูปวิการนั้นจัดเป็นความอ่อนสลวยแห่งรูป
ส่วนรูปวิการใด เป็นความใช้การได้แห่งรูปทั้งหลาย ดุจทองที่หลอมดีแล้ว อนุกูลแก่กิริยาทางร่างกาย เป็นอาการทั่ว ๆไป มีปัจจัยฝ่ายต่อต้านความกำเริบแห่งธาตุที่ทำความไม่อนุกูลแก่กิริยาทางร่างกายเป็นเหตุเกิด รูปวิการนั้นจัดเป็นความควรแก่การงานแห่งรูป
''(หน้า 19)''
=====ลักขณรูป 4=====
อุปจยะ ความเติบแห่งรูป มีการก่อขึ้นเป็นลักษณะ มีการยังรูปทั้งหลาย ให้ผุดขึ้นไป ภายหน้าเป็นกิจ มีการมอบให้เป็นผล หรือมีความเป็นรูปบริบูรณ์เป็นผล มีรูปที่เติบแล้วเป็นเหตุใกล้
สันตติ ความสืบเนื่องแห่งรูป มีความเป็นไปเป็นลักษณะ มีความสืบต่อไว้เป็นกิจ มีความไม่ขาดสายเป็นผล มีรูปที่สืบต่อกันมาได้เป็นเหตุใกล้
รูปทั้งสองนี้เป็นชื่อแห่งชาติรูปเท่านั้น แต่ว่าตอนแสดงอุเทศ ท่านทำคำว่า อุปจยะ สันตติ ก็โดยที่ชาติรูปนั้นมีอาการเป็นไปต่าง ๆ และโดยอำนาจแห่งเวไนยด้วย แต่ความต่างกันโดยความหมายในบททั้งสองนั้นหามีไม่ เพราะเหตุนั้น ในนิทเทสแห่งบทเหล่านี้ จึงกล่าวไว้ว่า "อาจยะ การก่อขึ้นของอายตนะทั้งหลายอันใด รูปัสสะ อุปจยะ ความเติบแห่งรูป ก็อันนั้น รูปัสสะ อุปจยะ อันใด รูปัสสะ สันตติ ความสืบเนื่องแห่งรูปก็อันนั้น" ดังนี้ แม้ในอรรถกถาก็กล่าวว่า "ความเกิดขึ้น ชื่อว่าอาจยะ ความเติบขึ้น ชื่อว่าอุปจยะ ความเป็นไป ชื่อว่า สันตติ" แล้วทำอุปมาว่า "อาจยะ ได้แก่ การเกิดเหมือนเวลาที่น้ำซึม ในหลุมที่เขาขุดไว้ริมฝั่งน้ำ อุปจยะ ได้แก่ การเติบโตขึ้น เหมือนเวลาน้ำเต็มหลุม สันตติ ได้แก่ ความเป็นไปเหมือนเวลาที่น้ำล้นหลุมไป ฉะนั้น" และในที่สุดแห่งอุปมาท่านกล่าวว่า "ถามว่า - คำนิทเทสที่ว่าอาจยะ ความก่อขึ้นแห่งอายตนะทั้งหลายเป็นต้น เป็นอันท่านกล่าวข้อความอะไร ? ตอบว่า - ท่านกล่าวอาจยะด้วยอายตนะ กล่าวอายตนะด้วยอาจยะ" ดังนี้ เพราะเหตุนั้น การเกิดขึ้นทีแรกแห่งรูป พึงทราบว่าอาจยะ การเกิดขึ้นแห่งรูปเหล่าอื่นเกิดต่อเติมรูปขึ้นไป พึงทราบว่าอุปจยะ เพราะปรากฏโดยอาการเติบขึ้น การเกิดขึ้นแห่งรูปอื่น ๆ ที่เกิดต่อเติมรูปเหล่านั้นขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ พึงทราบว่า สันตติ เพราะปรากฏโดยอาการสืบเนื่องกัน
ชรตา ความทรุดโทรมแห่งรูป มีความแก่แห่งรูปเป็นลักษณะ มีอันนำเข้าไปใกล้เป็นกิจ มีสภาวะหยาบแข็งเป็นต้นยังมิได้หายไป แต่ความใหม่แห่งรูปก็หายไปได้เป็นผล ดุจความเก่าแห่งข้าวเปลือกฉะนั้น มีรูปแก่อยู่เป็นเหตุใกล้
ความแก่นี้ หมายเอาความแก่เปิดเผยเพราะแสดงความแปลกในอวัยวะมีฟันหักเป็นต้น ส่วนความแก่แห่งอรูปธรรม จัดเป็นปฏิจฉันนชรา ความแก่ปกปิด ความแปลกมีฟันหักเป็นต้น หามีแก่
''(หน้า 20)''
ปฏิจฉันนชรานั้นไม่ อนึ่ง ความชราของแผ่นดิน น้ำ ภูเขา พระจันทร์ และพระอาทิตย์ เป็นต้น ได้ชื่อว่า อวีจิชรา ชราไม่มีเปลว ความแปลกนั้นก็ไม่มีเหมือนกัน
อนิจจตา ความไม่ยั่งยืนแห่งรูป มีการแตกทำลายเป็นลักษณะ มีความทรุดลงไปเป็นกิจ มีความสิ้นความเสื่อมเป็นผล มีรูปแตกทำลายอยู่เป็นเหตุใกล้
=====โอชารูป=====
กวฬิงการาหาร มีโอชาเป็นลักษณะ มีการนำมาซึ่งรูปเป็นกิจ มีการค้ำจุนร่างกายไว้เป็นผล มีวัตถุอันพึงทำให้เป็นคำแล้วกลืนกินเป็นเหตุใกล้
สัตว์ทั้งหลาย ยังชีวิตให้เป็นไปได้ด้วยโอชาใด คำว่า กวฬิงการาหาร นี้ เป็นชื่อแห่งโอชานั้นแล
รูปที่มาในบาลีมีเท่านี้เอง
'''อุปาทายรูป เพิ่มเติมตามมติเกจิอาจารย์'''
แต่ในอรรถกถา ท่านนำเอารูปอื่น ๆ อีก คือ "พลรูป รูปคือกำลัง 1 สัมภวรูป รูปคือน้ำสัมภวะ 1 ชาติรูป รูปคือความเกิด 1 โรครูป รูปคือโรค 1 ตามมติของอาจารย์บางพวกมีอีกคือมิทธรูป รูปคือความง่วง" ดังนี้แล้ว ชักเอาคำบาลีมากล่าวว่า "อทฺธา มุนีสิ สมฺพุทโธ นตฺถิ นีวรณา ตว พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ตรัสรู้เองแน่แท้ นิวรณ์ทั้งหลายหามีแก่พระองค์ไม่" ดังนี้เป็นต้น แล้วคัดค้านว่า "มิทธรูป ไม่มีแต่อย่างเดียวเท่านั้น"
ในรูปนอกนี้ โรครูปก็เป็นอันถือเอาแล้ว โดยถือเอาชรตาและอนิจจตา ชาติรูป ก็เป็นอันถือเอาตามอุปจยะและสันตติ สัมภวรูปถือเอาตามอาโปธาตุ พลรูปถือเอาตามวาโยธาตุ เพราะเหตุนั้น จึงลงสันนิษฐานได้ว่า ในรูปเหล่านั้น ไม่มีรูปที่แยกเป็นส่วนหนึ่งแม้แต่รูปเดียว
อุปาทายรูปนี้มี 24 อย่าง กับภูตรูปที่กล่าวมาก่อน 4 อย่าง เพราะฉะนั้น จึงเป็นรูป 28 อย่าง ไม่หย่อนไม่ยิ่ง ด้วยประการฉะนี้
''(หน้า 21)''
====หมวดรูป====
'''รูป 1'''
รูปทั้งปวงนั้น มีอย่างเดียว โดยนัยเป็นต้นว่า รูปเป็นนเหตุ (ไม่ใช่เหตุ) เป็นอเหตุกะ (ไม่มีเหตุ) เป็นเหตุวิปยุต (ไม่ประกอบกับเหตุ) เป็นสัปปัจจยะ เป็นไปกับปัจจัย เป็นโลกิยะ (ถูกประกอบไว้ในโลก) เป็นสาวสะ (เป็นไปกับอาสวะ) เท่านั้น
'''รูป 2'''
มี 2 อย่าง หมวด 2 คือ อัชฌัตติกะ รูปภายใน พาหิระ รูปภายนอก 1 โอฬาริกะ รูปหยาบ สุขุม รูปละเอียด ทูเร รูปในที่ไกล สันติเก รูปในที่ใกล้ นิปผันนรูป รูปสำเร็จ คือสมบูรณ์ อนิปผันนะ (รูปไม่สำเร็จคือไม่สมบูรณ์) ปสาทรูป รูปใส นปสาทรูป รูปไม่ใส อินทรียรูป รูปเป็นใหญ่ อนินทรียรูป รูปไม่เป็นใหญ่ อุปาทินนรูป รูปที่กรรมครอง อนุปาทินนรูป รูปที่กรรมมิได้ครอง เป็นต้น
ในรูปเหล่านั้น รูป 5 อย่าง มีจักขุรูปเป็นต้น จัดเป็นอัชฌัตติกรูป เพราะเป็นไปเฉพาะอัตภาพ รูปที่เหลือ จัดเป็นพาหิรรูป เพราะเป็นไปภายนอกอัตภาพนั้น
รูป 12 อย่าง คือรูป 9 อย่าง มีจักขุรูปเป็นต้น มีรสรูปเป็นที่สุด กับธาตุ 3 อย่าง เว้นอาโปธาตุ จัดเป็นโอฬาริกรูป เพราะสามารถกระทบได้ รูปที่เหลือ จัดเป็นสุขุมรูป เพราะเป็นสิ่งตรงกันข้ามจากโอฬาริกรูปนั้น
รูปที่เป็นสุขุมรูปนั่นแหละ จัดเป็นทูเรรูป เพราะรู้ได้ยาก รูปนอกนี้ (คือโอฬาริกรูป) จัดเป็นสันติเกรูป เพราะรู้ได้ง่าย
รูป 18 อย่าง คือ ธาตุ 4 กับรูป 13 มีจักขุรูปเป็นต้น และกวฬิงการาหาร จัดเป็นนิปผันนรูป เพราะล่วงปริเฉทรูป วิการรูป และลักขณรูปเสีย แล้วกำหนดถือเอาได้โดยสภาพเดียว รูปที่เหลือ 10 จัดเป็นอนิปผันนรูป เพราะเป็นรูปตรงกันข้ามจากนิปผันนรูปนั้น
รูป 5 อย่าง มีจักขุรูปเป็นต้น ชื่อว่าปสาทรูป เพราะเป็นรูปใสผ่องดุจหน้าแว่น โดนเป็นปัจจัยรับอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นได้ รูปนอกนี้ชื่อว่า นปสาทรูป เพราะเป็นรูปตรงกันข้ามจากปสาทรูปนั้น
''(หน้า 22)''
ปสาทรูปนั่นเองรวมกับอินทรียรูป 3 มีอิตถินทรีย์เป็นต้น ชื่อว่าอินทรียรูป เพราะอรรถว่าเป็นใหญ่ รูปที่เหลือ ชื่ออนินทรียรูป เพราะเป็นรูปตรงกันข้ามจากอินทรียรูปนั้น
รูปที่ข้าพเจ้าจักกล่าวข้างหน้าว่า กัมมัชรูป จัดเป็นอุปาทินนรูป เพราะเป็นรูปที่กรรมครอง รูปที่เหลือ จัดเป็นอนุปาทินนรูป เพราะเป็นรูปตรงกันข้ามจากอุปาทินนรูปนั้น
'''รูป 3 '''
รูปทั้งปวงอีกนั่นแล เป็น 3 อย่าง ด้วยอำนาจแห่งติกะ (รูปหมวด 3) คือ สนิทัสสนติกะและกัมมชาทิติกะ ในรูปเหล่านั้น รูปายตนะ ในโอฬาริกรูป 12 เป็น สนิทัสสนสัปปฏิฆรูป รูปที่เห็นได้และกระทบได้ โอฬาริกรูปที่เหลือ 11 เป็นอนิทัสสนสัปปฏิฆรูป (รูปที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้) สุขุมรูปทั้งสิ้น เป็นอนิทัสสนอัปปฏิฆรูป (รูปที่เห็นไม่ได้และกระทบก็ไม่ได้) รูป 3 อย่าง ด้วยอำนาจแห่งสนิทัสสนติกะ ดังกล่าวมานี้ เป็นอันดับแรก ส่วนรูป 3 ด้วยอำนาจแห่งกัมมชาทิติกะ พึงทราบดังนี้คือ –
รูปที่เกิดแต่กรรม ชื่อกัมมัชรูป รูปที่เกิดแต่ปัจจัยอื่นนอกจากกรรมนั้น คือ จิต และอาหาร ชื่อว่า อกัมมัชรูป รูปที่เกิดแต่ปัจจัยอะไร ๆก็มิใช่ ชื่อว่า เนวกัมมัชนากัมมัชรูป
รูปที่เกิดแต่จิต ชื่อว่าจิตตัชรูป รูปที่เกิดแต่ปัจจัยอื่นจากจิตนั้น ชื่อว่าอจิตตัชรูป รูปที่เกิดแต่ปัจจัยอะไร ๆก็มิใช่ ชื่อว่า เนวจิตตัชนาจิตตัชรูป
รูปที่เกิดแต่อาหาร ชื่อว่าอาหารัชรูป รูปที่เกิดแต่ปัจจัยอื่นจากอาหารนั้น ชื่อว่าอนาหารัชรูป รูปที่เกิดแต่ปัจจัยอะไร ๆก็มิใช่ ชื่อว่า เนวอาหารัชนอนาหารัชรูป
รูปที่เกิดแต่ฤดู ชื่อว่าอุตุชรูป รูปที่เกิดจากปัจจัยอื่นจากฤดู ชื่อว่าอนุตุชรูป รูปที่เกิดแต่ปัจจัยอะไร ๆก็มิใช่ ชื่อว่าเนวอุตุชนอนุตุชรูป
รูป 3 อย่าง ด้วยอำนาจแห่งกัมมชาทิติกะ ดังกล่าวมาฉะนี้
''(หน้า 23)''
'''รูป 4'''
รูปทั้งปวงนั้นอีกแหละ แบ่งเป็น 4 อย่าง ด้วยอำนาจแห่งทิฏฐาทิจตุกกะ (รูป 4 มีทิฏฐรูปเป็นต้น) รูปารูปาทิจตุกกะ (รูป 4 มีรูปรูปเป็นต้น) และวัตถาทิจตุกกะ (รูป 4 มีวัตถุรูปเป็นต้น)
อันดับแรก รูป 4 อย่าง ด้วยอำนาจแห่งทิฏฐาทิจตุกกะพึงทราบดังนี้ คือ –
ในรูปเหล่านั้น รูปายตนะ ชื่อว่าทิฏฐรูป เพราะเป็นวิสัยแห่งการเห็น สัททายตนะ ชื่อว่าสุตรูป เพราะเป็นวิสัยแห่งการได้ยิน 3 อายตนะ คือ คันธะ รสะ โผฏฐัพพะ ชื่อว่า มุตรูป เพราะเป็นวิสัยแห่งอินทรีย์ที่รับอารมณ์ที่มาถึงเข้า รูปที่เหลือ ชื่อวิญญาตรูป เพราะเป็นวิสัยแห่งวิญญาณเท่านั้น
ส่วนรูป 4 ด้วยอำนาจแห่งรูปารูปาทิจตุกกะ พึงทราบดังนี้ คือในรูปเหล่านี้ที่เรียกว่านิปผันนรูปชื่อว่ารูปรูปอากาสธาตุ ชื่อปริจเฉทรูป รูปมีกายวิญญัติเป็นต้น มีกัมมัญญตาเป็นที่สุดชื่อว่าวิการรูป ความเกิดความแก่ และความแตกดับชื่อว่าลักขณรูป ส่วนรูป 4 ด้วยอำนาจแห่งวัตถาทิจตุกกะ พึงทราบดังนี้คือ ในรูปเหล่านี้ รูปใดเป็นหทัยรูป ที่เป็นวัตถุรูป ไม่เป็นทวารรูป วิญญัตติรูปทั้ง 2 เป็นทวารรูป ไม่เป็นวัตถุรูป ปสาทรูป เป็นทั้งวัตถุรูปและทวารรูป รูปที่เหลือไม่เป็นทั้งวัตถุรูปทั้งทวารรูป
รูป 4 อย่างด้วยอำนาจแห่งวัตถาทิจตุกกะ ดังกล่าวมาฉะนี้
'''รูป 5'''
รูปทั้งปวงนั้นอีก แบ่งเป็น 5 อย่างด้วยอำนาจแห่งรูปเหล่านี้ คือเอกัชรูป (รูปเกิดแต่ปัจจัยอย่างเดียว) ทวิชรูป (รูปเกิดแต่ปัจจัย 2 อย่าง) ติชรูป (รูปเกิดแต่ปัจจัย 3 อย่าง) จตุชรูป (รูปเกิดแต่ปัจจัย 4 อย่าง) นกุโตจิชาตรูป (รูปเกิดแต่ปัจจัยอะไร ๆก็มิใช่)
ในรูป 5 อย่างนั้น รูปที่เกิดแต่กรรมอย่างเดียวและรูปที่เกิดแต่จิตอย่างเดียว ชื่อว่า เอกัชรูป ในรูปที่เกิดแต่กรรมและรูปที่เกิดแต่จิต อินทริยรูปกับหทยวัตถุ เป็นรูปที่เกิดแต่กรรมอย่างเดียว วิญญัติรูปทั้งสอง เป็นรูปที่เกิดแต่จิตอย่างเดียว ส่วนรูปใดเกิดแต่จิตก็ดีแต่ฤดูก็ดี รูปนั้นชื่อว่าทวิชรูป ได้แก่ สัททายตนะ อย่างเดียว
''(หน้า 24)''
รูปเกิดแต่ฤดู จิต และอาหาร ชื่อว่าติชรูป ได้แก่ วิการรูป 3 มีลหุตาเป็นอาทินั่นแล
รูปเกิดแต่ปัจจัยทั้ง 4 มีกรรมเป็นต้น ชื่อว่าจตุชรูป ได้แก่ รูปที่เหลือ เว้นลักขณรูป (คือ ชาติ ชรา ภังคะ หรือ มรณะ)
ส่วนลักขณรูป เป็น นกุโตจิชาตรูป (รูปที่ไม่เกิดแต่ปัจจัยไหน ๆ) เพราะเหตุอะไร ? เพราะความเกิดแห่งความเกิดหามีไม่ และอีก 2 อย่าง เป็นความง่อมไป และแตกไปแห่งรูปที่เกิดแล้ว แม้ชาติที่เกิดแต่ปัจจัยอะไร ๆ ซึ่งท่านยอมให้ไว้ในบาลีว่า "ธรรมทั้งหลาย คือ รูปายตนะ สัททายตนะ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ อากาสธาตุ อาโปธาตุ รูปัสสลหุตา รูปัสสมุทุตา รูปัสสกัมมัญญตา รูปัสสอุปจยะ รูปัสสสันตติ กวฬิงการาหาร เหล่านี้ มี่จิตเป็นเหตุเกิด" ดังนี้เป็นต้น ก็พึงทราบว่า (ที่ท่านยอมให้) เพราะชนกปัจจัยแห่ง รูปทั้งหลาย ปรากฏในลักษณะ คืออานุภาพแห่งกิจ
===วิญญาณขันธ์===
====นามขันธ์ 4====
นี่เป็นกถามุขอย่างพิสดารในรูปขันธ์เป็นอันดับแรก
ส่วนในขันธ์นอกนี้ เวทนาขันธ์ พึงทราบว่า เพราะรวมธรรมชาติที่มีการเสวยรสารมณ์เป็นลักษณะสิ้นทุกอย่างเข้าด้วยกัน สัญญาขันธ์ เพราะรวมธรรมชาติที่มีความจำได้เป็นลักษณะสิ้นทุกอย่างเข้าด้วยกัน
สังขารขันธ์ เพราะรวมธรรมชาติที่มีการประสมเจตสิกเป็นลักษณะสิ้นทุกอย่างเข้าด้วยกัน วิญญาณขันธ์ เพราะรวมธรรมชาติที่มีความรู้แจ้งเป็นลักษณะสิ้นทุกอย่างเข้าด้วยกัน
ในขันธ์ทั้ง 4 นั้น เพราะเหตุที่เมื่อวิญญาณขันธ์อันบุคคลเข้าใจแล้ว ขันธ์นอกนี้ก็จะเป็นสิ่งที่พึงเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงจักทำวรรณนาจับวิญญาณขันธ์เป็นต้นไป
ก็คำว่า "วิญญาณขันธ์ พึงทราบว่า เพราะรวมธรรมชาติที่มีความรู้แจ้งเป็นลักษณะสิ้นทุกอย่างเข้าด้วยกัน" ดังนี้ ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้ว
''(หน้า 25)''
ถามว่า ธรรมชาติอันมีความรู้แจ้งเป็นลักษณะชื่อว่าวิญญาณเป็นไฉน ?
ตอบว่า ธรรมชาติอันมีความรู้แจ้งเป็นลักษณะนั้น ชื่อว่าวิญญาณ ดังพระสารีบุตร เถระกล่าวแก่พระมหาโกฏฐิกะว่า "ดูกรอาวุโส เพราะเหตุที่ธรรมชาติย่อมรู้แจ้ง ย่อมรู้ต่าง ๆ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่าวิญญาณ" ดังนี้ คำว่า วิญญาณ จิต มโน โดยเนื้อความ ก็อันเดียวกัน วิญญาณนี้นั้น แม้เป็นอย่างเดียวตามสภาพ โดยลักษณะก็คือความรู้แจ้ง แต่เมื่อว่าโดยชาติแบ่งเป็น 3 อย่าง คือ กุศล อกุศล และอัพยากฤต
=====กุศลวิญญาณ=====
ในวิญญาณ 3 อย่างนั้น กุศลวิญญาณมี 4 โดยภูมิคือกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และโลกุตตระ ใน 4 ภูมินั้น กามาวจร มี 8 คือ โสมนัส อุเบกขา ญาณ และสังขาร กามาวจรวิญญาณ 8 อะไรบ้าง ? คือวิญญาณโสมนัสสหรคตญาณสัมปยุต เป็นอสังขาร 1 สสังขาร 1 ที่เป็นญาณวิปยุต เป็นอสังขาร 1 สสังขาร 1 (รวมเป็นฝ่ายโสมนัสสหรคต 4) วิญญาณอุเปกขาสหรคตญาณสัมปยุต เป็นอสังขาร 1 สสังขาร 1 ที่เป็นญาณวิปยุต เป็น อสังขาร 1 สสังขาร 1 รวมเป็นอุเปกขาสหรคต 4 (รวมเข้าด้วยกันทั้งสองฝ่ายจึงเป็น 8)
ก็ในกาลใด บุคคลอาศัยความพร้อมมูลแห่งไทยธรรมและปฏิคาหกเป็นต้น หรือเหตุแห่งโสมนัสอย่างอื่น เช่นเห็นอานิสงส์เกิดศรัทธาเต็มเปี่ยมเป็นต้น แล้วเป็นผู้ร่าเริงยินดี ทำความเห็นชอบโดยนัยว่า "ผลทานที่ให้แล้วมีอยู่" เป็นต้นให้ออกหน้า ไม่ขยักขย่อน คนอื่นก็มิได้ชักจูงทำบุญทำทานเป็นต้น ในกาลนั้น จิตของบุคคลนั้น เป็นโสมนัสสหรคตญาณสัมปยุต อสังขาร (ร่วมกับโสมนัสประกอบด้วยปัญญา ไม่มีใครจูงใจ) แต่ว่าในกาลใดบุคคลเป็นผู้ร่าเริง ยินดี ทำความเห็นชอบให้ออกหน้าโดยนัยที่กล่าวแล้ว แต่มัวขยักขย่อนด้วยอำนาจแห่งความเป็นผู้ปล่อยคือมีความอาลัยในไทยธรรมก็ดี คนอื่นชักจูงก็ดี จึงทำในกาลนั้น จิตของบุคคลเช่นนั้นก็เป็นสสังขาร (มีผู้อื่นจูงใจ)
ก็แล บทว่า "สังขาร" ในอรรถนี้ เป็นคำเรียกบุพพโยคะ (ความริเริ่ม) เป็นไปด้วยอำนาจของตนหรือของคนอื่นก็ตาม ในกาลใด เด็กอ่อนที่มีความคุ้นเคย เพราะได้เห็นการปฏิบัติของคนที่เป็นญาติ พบภิกษุเข้าก็เกิดโสมนัส ถวายของที่อยู่ในมือนิดหน่อยก็ดี ไหว้ก็ดี
''(หน้า 26)''
ในกาลนั้น จิตดวงที่ 3 ย่อมเกิดขึ้นแก่เด็ก แต่ในกาลใด ญาติทั้งหลาย ชักจูงบอกให้ถวาย บอกให้ไหว้ เด็กปฏิบัติอย่างนั้นได้ ในกาลนั้น จิตดวงที่ 4 ย่อมเกิดขึ้นแก่เด็ก
ในกาลใด บุคคลอาศัยความไม่พร้อมแห่งไทยธรรมและปฏิคาหกเป็นต้น หรือเหตุแห่งโสมนัสอื่น ๆ ไม่มี เป็นผู้ปราศจากโสมนัสในวิกัปทั้ง 4 ในกาลนั้น จิตอุเบกขาสหรคต 4 ที่เหลือ จึงเกิดขึ้นแล
กามาวจรกุศล 8 โดยโสมนัส อุเบกขา ญาณ และ สังขาร พึงทราบโดยนัยที่กล่าวมา ฉะนี้
ส่วนรูปาวจรกุศลมี 5 โดยประกอบขององค์ญาณ รูปาวจร 5 นี้เป็นไฉน ? รูปาวจร 5 คือ รูปฌานที่ 1 ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข และสมาธิ ที่ 2 วิตกก้าวล่วงไป ที่ 3 วิจารก้าวล่วงไป ที่ 4 ปีติคลายไป ที่ 5 สุขตกไป ประกอบด้วยอุเบกขาและสมาธิ
อรูปาวจรกุศลมี 4 ด้วยอำนาจการประกอบแห่งอรูป 4 คือ อรูปที่ 1 ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌานที่กล่าวแล้ว อรูปที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ก็ประกอบด้วยฌานที่เหลือ มีวิญญาณัญจายตนฌาน เป็นต้น
โลกุตตรกุศล มี 4 ประกอบด้วยมรรค 4
กุศลวิญญาณมี 21 อย่าง ดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก
=====อกุศลวิญญาณ=====
ส่วนอกุศลวิญญาณ โดยภูมิก็อย่างเดียว คือ เป็นกามาวจรภูมิอย่างเดียวเท่านั้น โดยมูลมี 3 คือ โลภมูล โทสมูล และโมหมูล ใน 3 มูลนั้น โลภมูลมี 8 โดยประเภทแห่งโสมนัส อุเบกขาทิฏฐิคตะ และ สังขาร โลภมูล 8 นี้ เป็นอย่างไร ? โลภมูล 8 คือ (อกุศลจิต) เป็น โสมนัสสหรคต ทิฏฐิคตสัมปยุต เป็นอสังขาร 1 สสังขาร 1 ที่เป็นทิฏฐิคตวิปยุต ก็อย่างนั้น คือเป็นอสังขาร 1 สสังขาร 1 เป็นอุเบกขาสหรคต ทิฏฐิคตสัมปยุต เป็นอสังขาร 1 สสังขาร 1 ที่เป็นทิฏฐิคตวิปยุตค ก็อย่างนั้น คือเป็นอสังขาร 1 สสังขาร 1 อุเบกขาสหรคต 4 (รวมทั้งสองฝ่ายด้วยกันจึงเป็น 8)
''(หน้า 27)''
ก็กาลใด บุคคลไม่ได้ทำความเห็นผิดโดยนัยว่า "โทษในกามทั้งหลายหามีไม่" เป็นอาทิให้ออกหน้า เป็นผู้ร่าเริงยินดีบริโภคกามก็ดี เชื่อถือมงคลมีทิฏฐิมงคล โดยเป็นสาระก็ดี มีจิตกล้าแข็งตามสภาพมิได้ถูกชักจูงเลย ในกาลนั้น อกุศลจิตดวงที่ 1 ย่อมเกิดขึ้น ในกาลใด บุคคลมีจิตเฉื่อยชา ถูกคนอื่นชักจูงให้ทำ ในกาลนั้น อกุศลจิตดวงที่ 2 ย่อมเกิดขึ้น
ในกาลใด บุคคลมิได้ทำความเห็นผิดให้ออกหน้า เป็นแต่ร่าเริงยินดี เสพเมถุนก็ดี เพ่งเล็งสมบัติของผู้อื่นก็ดี ลักของผู้อื่นก็ดี มีจิตกล้าแข็ง มิได้ถูกชักจูงเลย ในกาลนั้น อกุศลจิตดวงที่ 3 ย่อมเกิดขึ้น ในกาลใด บุคคลมีจิตเฉื่อยชา ถูกคนอื่นชักจูงให้ทำ ในกาลนั้น อกุศลจิตดวงที่ 4 ย่อมเกิดขึ้น
ส่วนว่า ในกาลใด บุคคลเป็นผู้ปราศจากโสมนัสในวิกัปทั้ง 4 เพราะอาศัยความไม่พร้อมแห่งกามทั้งหลายก็ตาม เพราะความไม่มีแห่งเหตุของโสมนัสอย่างอื่นก็ตาม ในกาลนั้น จิตอุเบกขาสหรคต 4 ดวงที่เหลือจึงเกิดขึ้นแล
โลภมูลจิต 8 โดยประเภทแห่งโสมนัส อุเบกขา ทิฏฐิคตะ และสังขาร พึงทราบโดยนัยที่กล่าวมาฉะนี้ ส่วนโทสมูลจิตมี 2 เท่านั้น คือโทมนัสสหรคต ปฏิฆสัมปยุต อสังขาร 1 สสังขาร 1 การเกิดขึ้นแห่งโทสมูลจิตนั้น พึงทราบในกาลที่กล้าแข็งและเฉื่อยชา แห่งจิตในโทษทั้งหลายมีปาณาติบาตเป็นต้น
โมหมูลจิตก็มี 2 เป็นอุเบกขาสหรคต วิจิกิจฉาสัมปยุต 1 อุทธัจจสัมปยุต 1 ความเป็นไปแห่งโมหมูลจิตนั้น พึงทราบในกาลที่ลังเลและฟุ้งซ่านแห่งจิตแล
อกุศลวิญญาณมี 12 โดยนัยที่กล่าวมาฉะนี้
=====อัพยากฤตวิญญาณ=====
อัพยากฤตวิญญาณ ว่าโดยประเภทแห่งชาติ มี 2 คือ วิปากจิต 1 กิริยาจิต 1 ใน 2 ชนิดนั้น วิปากจิต ว่าโดยภูมิมี 4 คือ กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต และโลกุตตรจิต ใน 4 ภูมินั้น กามาวจรมี 2 คือ กุศลวิปากจิต 1 อกุศลวิปากจิต 1
''(หน้า 28)''
'''กามาวจรกุศล – วิบาก - อเหตุกะ'''
กุศลวิปากจิตเล่าก็มี 2 คือเป็นอเหตุกะ 1 สเหตุกะ 1 ในกุศลวิบาก 2 นั้น วิญญาณที่เว้นจากวิปากเหตุ (เหตุแห่งวิบาก) มี อโลภะ เป็นต้น ชื่ออเหตุกะ อเหตุกะนั้นมี 8 คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนธาตุอันทำหน้าที่สัมปฏิจฉนจิต (รับอารมณ์) และมโนวิญญาณธาตุ 2 ทำหน้าที่สอบสวนอารมณ์
ในอเหตุกกุศลวิปากจิต 8 นั้น จักขุวิญญาณ อาศัยจักษุแล้วรู้แจ้งรูปเป็นลักษณะ มีอันทำแต่รูปเดียวให้เป็นอารมณ์เป็นกิจ มีความเป็นธรรมชาติมุ่งหน้าต่อรูป (อย่างเดียว) เป็นผล มีอันไปปราศแห่งกิริยามโนธาตุที่มีรูปเป็นอารมณ์เป็นเหตุใกล้
โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ที่อาศัยโสตะเป็นต้น รู้แจ้งซึ่งเสียงเป็นอาทิเป็นลักษณะ มีการทำแต่เสียงเป็นต้นอย่างเดียวให้เป็นอารมณ์เป็นกิจ มีธรรมชาติมุ่งหน้าต่อเสียงเป็นต้นเป็นผล มีความปราศจากไปแห่งกิริยามโนธาตุทั้งหลาย มีเสียงเป็นต้นเป็นอารมณ์เป็นเหตุใกล้
มโนธาตุ มีอันรู้แจ้งซึ่งอารมณ์มีรูปเป็นต้น ในลำดับแห่งวิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นอาทิเป็นลักษณะ มีการรับอารมณ์มีรูปเป็นต้นเป็นกิจ มีความเป็นอย่างนั้นคือเป็นสัมปฏิจฉนะเป็นผล มีความไปปราศจากวิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นต้นเป็นเหตุใกล้
มโนวิญญาณธาตุ อันทำหน้าที่สันตีรณะเป็นต้น ทั้งสองมีอันรู้แจ้งอารมณ์ 6 ในลำดับแห่งอเหตุกวิปากวิญญาณเป็นลักษณะ มีการสอบสวนอารมณ์เป็นต้นเป็นกิจ มีความเป็นอย่างนั้น (คือเป็นสันตีรณะเป็นต้น) เป็นผล มีหทยวัตถุเป็นเหตุใกล้
ส่วนความแตกต่างกัน (เป็นสอง) แห่งมโนวิญญาณธาตุนั้น เพราะประกอบด้วย โสมนัส 1 อุเบกขา 1 และเพราะแยกเป็นทวิฐานและปัญจฐาน
จริงอยู่ ในมโนวิญญาณธาตุ 2 นั้น ดวงหนึ่งชื่อว่าเป็นโสมนัสสัมปยุต เพราะมีอารมณ์อันน่าปรารถนาโดยส่วนเดียวเป็นสภาพ จัดเป็นทวิฐาน เพราะเป็นไปในปัญจทวาร และวิญญาณมีชวนะเป็นที่สุด ด้วยอำนาจสันตีรณะและตทารัมมณะ ดวงหนึ่งชื่อว่าเป็น
''(หน้า 29)''
อุเบกขาสัมปยุต เพราะมีความเป็นไปในอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ (อารมณ์อันน่าปรารถนาแต่พอปานกลาง) เป็นสภาพ จัดเป็นปัญจฐาน เพราะเป็นไปด้วยอำนาจแห่งสันตีรณะ ตทารัมมณะ ปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ
อนึ่ง อเหตุกวิปากวิญญาณทั้ง 8 นี้ ยังแบ่งเป็น 2 เพราะมีอารมณ์แน่นอนก็มี และมีอารมณ์ไม่แน่นอนก็มี แบ่งเป็น 3 โดยแยกเป็น อุเบกขา สุข โสมนัส จริงอยู่ ในวิญญาณเหล่านั้น วิญญาณทั้ง 5 จัดเป็นนิยตารมณ์ เพราะเป็นไปในอารมณ์ 5 มีรูปเป็นต้น ตามลำดับ วิญญาณที่เหลือ เป็นอนิยตารมณ์ เพราะในวิญญาณที่เป็นอนิยตารมณ์นั้น มโนธาตุเป็นไปในอารมณ์มีรูปเป็นต้นทั้ง 5 มโนวิญญาณธาตุทั้งสองเป็นไปในอารมณ์ 6 ส่วนวิญญาณ 3 นั้น กายวิญญาณประกอบด้วยสุข มโนวิญญาณธาตุที่เป็นทวิฐานประกอบด้วยโสมนัส วิญญาณที่เหลือ ประกอบด้วยอุเบกขา แล
วิญญาณ 8 ดวงอันเป็นอเหตุกะ ในกุศลวิบาก พึงทราบโดยประการที่กล่าวมาฉะนี้เป็นอันดับแรก (อัพยากฤตวิญญาณกามาวจรภูมิ)
'''กามาวจรกุศล – วิบาก – สเหตุกะ'''
ส่วนอัพยากฤตวิญญาณที่ประกอบด้วยวิปากเหตุมีอโลภะเป็นต้น ชื่อว่าสเหตุกะ สเหตุกอัพยากฤตนั้นก็มี 8 โดยสัมปยุตธรรมมีโสมนัสเป็นต้น ดังกามาวจรกุศลวิญญาณ แต่สเหตุกอัพยากฤตนี้ หาเหมือนกุศลวิญญาณ ซึ่งเป็นไปในอารมณ์ 6 ด้วยอำนาจแห่ง บุญกิริยามีทานเป็นต้นไม่ เพราะสเหตุกอัพยากฤตวิญญาณนี้ เป็นไปในอารมณ์ 6 ที่นับเนื่องในปริตตธรรม คือกามาวจรเท่านั้น ด้วยอำนาจแห่งกิจคือ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และตทารัมมณะ ส่วนความเป็นสสังขารและอสังขารในสเหตุกอัพยากฤตวิญญาณนี้ บัณฑิตพึงทราบ ด้วยอำนาจของที่มา อนึ่ง แม้เมื่อความแปลกกันแห่งสัมปยุตธรรมไม่มี ก็พึงทราบว่าวิปากวิญญาณเป็นธรรมชาติไม่มีอุตสาหะกำลังชักจูง ดุจเงาหน้าบานกระจกเงาเป็นต้น ส่วนกุศลวิญญาณมีอุตสาหะกำลังชักจูง ดุจใบหน้าของคนบนกระจก
''(หน้า 30)''
'''กามาวจรอกุศลวิบาก'''
อกุศลวิปากวิญญาณ เป็นอเหตุกะอย่างเดียวเท่านั้น อกุศลวิปากวิญญาณนั้นมี 7 คือ จักขุวิญญาณ 1 โสตวิญญาณ 1 ฆานวิญญาณ 1 ชิวหาวิญญาณ 1 กายวิญญาณ 1 มโนธาตุที่ทำหน้าที่สัมปฏิจฉนะ 1 มโนวิญญาณธาตุ ชนิดปัญจฐานอันทำหน้าที่สันตีรณะเป็นต้น 1 อกุศลวิบาก 7 นั้น ว่าโดยลักษณะเป็นต้นพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในอเหตุกวิบากฝ่ายกุศลนั้นเถิด เป็นแต่กุศลวิปากวิญญาณ เป็นอิฏฐารมณ์และอิฏฐมัชฌัตตารมณ์เท่านั้น อกุศลวิปากวิญญาณเหล่านี้ก็เป็นอนิฏฐารมณ์และอนิฏฐมัชฌัตตารมณ์ อนึ่ง กุศลวิปากวิญญาณเหล่านั้นมี 3 โดยประเภท คือ อุเบกขา สุข โสมนัส กายวิญญาณเหล่านี้เป็นทุกขสหรคตวิญญาณอย่างเดียว ที่เหลือเป็นอุเบกขาสหรคต อุเบกขาในอกุศลวิปากวิญญาณ ก็เป็นอุเบกขาอย่างเลว ไม่เฉียบนัก คล้ายทุกข์ อุเบกขาในฝ่ายกุศลวิบากทั้งหลาย เป็นอุเบกขาอย่างประณีต แต่ก็ไม่สู้เฉียบ คล้ายสุข
กามาวจรวิปากวิญญาณมี 23 โดยรวมอกุศลวิบาก 7 นี้ และกุศลวิบาก 16 ที่กล่าวมาแล้ว ด้วยประการฉะนี้
'''รูปาวจรวิญญาณ อรูปาวจรวิญญาณ และโลกุตตรวิบาก'''
ส่วนรูปาวจรวิบากวิญญาณก็มี 5 ประดุจรูปาวจรกุศล แต่รูปาวจรกุศลเป็นไปในชวนวิถีในทางสมาบัติ รูปาวจรวิบาก เป็นไปในทางปฏิสนธิ ภวังค์และจุติ
อนึ่ง รูปาวจรวิบาก มี 4 ฉันใด แม้อรูปาวจรวิบากก็มี 4 ฉันนั้น แม้ประเภทแห่งความเป็นไปของอรูปาวจรวิบาก ก็มีนัยดังกล่าวแล้วในรูปาวจรวิบาก
โลกุตตรวิบาก จัดเป็น 4 เพราะเป็นผลของจิตที่ประกอบด้วยมรรค 4 เป็นไป 2 ทาง คือทางมัคควิถี 1 ทางผลสมาบัติ 1 วิปากวิญญาณทั้งสิ้นมี 36 ในภูมิ 4 ดังกล่าวมาฉะนี้
'''กิริยาวิญญาณ'''
ส่วนกิริยาวิญญาณ โดยประเภทแห่งภูมิ มี 3 คือ กามาวจร 1 รูปาวจร 1 อรูปาวจร 1 ใน 3 ภูมินั้น กามาวจรมี 2 คือ อเหตุกะและสเหตุกะ ใน 2 อย่างนั้น
''(หน้าที่ 31)''
กามาวจรกิริยาวิญญาณที่เว้นจากกิริยาเหตุมีอโลภะเป็นต้น ชื่อว่าอเหตุกะ อเหตุกะนั้นมี 2 โดยแยกเป็นมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ ในอเหตุกะ 2 นั้นมโนธาตุมีการนำหน้าวิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นอาทิ รู้แจ้งอารมณ์มีรูปเป็นต้นเป็นลักษณะ มีความรำพึงเป็นกิจ มีความเป็นธรรมชาติมุ่งหน้าต่ออารมณ์มีรูปเป็นต้นเป็นผล มีความตัดขาดภวังค์เป็นเหตุใกล้
ส่วนมโนวิญญาณธาตุ มี 2 คือ สาธารณะแก่พระเสขะ พระอเสขะ และปุถุชน 1 ไม่ทั่วไป คือเฉพาะพระอเสขะ 1 ใน 2 อย่างนั้น มโนวิญญาณธาตุที่เป็นสาธารณะ ได้แก่ อเหตุกกิริยา ที่เกิดพร้อมกับอุเบกขา มีอันรู้แจ้งอารมณ์ 6 เป็นลักษณะ มี โวฏฐัพพนะและอาวัชชนะในปัญจทวารและมโนทวาร ด้วยอำนาจแห่งกิจคือโวฏฐัพพนะทำกิจในปัญจทวาร ส่วนอาวัชชนะทำกิจในมโนทวารเป็นกิจ มีความเป็นเช่นนั้น คือมีโวฏฐัพพนะและอาวัชชนะเป็นผล มีความไปปราศแห่งอเหตุกวิบาก มโนวิญญาณธาตุ (ในโวฏฐัพพนกาล) และภวังค์ (ในอาวัชชนกาล) อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเหตุใกล้ (ส่วนมโนวิญญาณธาตุที่ไม่ทั่วไป) ได้แก่ อเหตุกกิริยาที่สหรคตกับโสมนัส มีอันรู้แจ้งอารมณ์ 6 เป็นลักษณะ อันยังความยิ้มแย้มในเพราะวัตถุไม่ดีอะไรนัก ให้เกิดขึ้นแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยอำนาจแห่งกิจเป็นกิจ มีความเป็นอย่างนั้น (คือเป็นหสิตุปปาทะ) เป็นผลมีหทยวัตถุเป็นเหตุใกล้ในส่วนเดียว (เพราะเกิดแต่ในปัญจโวการภพเท่านั้น) กามาวจรกิริยาวิญญาณที่เป็นอเหตุกะ มี 3 ดังกล่าวมาฉะนี้
ส่วนที่เป็นสเหตุกะมี 8 โดยต่างแห่งสัมปยุตธรรมมีโสมนัสเป็นต้นเหมือนกุศลวิญญาณ แต่ที่แปลกกันระหว่างกุศลวิญญาณและกิริยาวิญญาณ คือกุศลวิญญาณย่อมเกิดแก่พระเสขะและปุถุชนเท่านั้น กิริยาวิญญาณเกิดแก่พระอรหันต์พวกเดียว กิริยาวิญญาณที่เป็นกามาวจรมี 11 ดังนี้ เป็นข้อแรก
ส่วนที่เป็นรูปาวจรและอรูปาวจรมี 5 และ 4 เหมือนกุศลวิญญาณ ความแตกต่างจากกุศลวิญญาณของกิริยาวิญญาณทั้งสองนั้น ก็พึงทราบโดยว่าเกิดขึ้นแก่พระอรหันต์เท่านั้น
กิริยาวิญญาณทั้งหมดใน 3 ภูมิเป็น 20 ดังนี้
''(หน้าที่ 32)''
=====กิจ 14 ของวิญญาณ=====
โดยประการดังกล่าวมานี้ วิญญาณทั้งสิ้น มีกุศลวิญญาณ 21 อกุศลวิญญาณ 12 วิปากวิญญาณ 36 กิริยาวิญญาณ 20 รวมเป็นวิญญาณ 89 เป็นไปโดยอาการ 14 ด้วยอำนาจแห่งปฏิสนธิ ภวังค์ อาวัชชนะ ทัสสนะ (เห็น) สวนะ (ได้ยิน) ฆายนะ (ได้กลิ่น) สายนะ (ได้รส) ผุสนะ (ได้ถูกต้อง) สัมปฏิจฉนะ สันตีรนะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ ตทารัมมนะ และจุติ
ถามว่า เป็นอย่างไร ?
'''1. ปฏิสนธิ'''
แก้ว่า ในกาลใด สัตว์เกิดในเทวโลกหรือมนุสสโลก ด้วยอานุภาพแห่งกามาวจรกุศล 8 ในกาลนั้น วิปากจิต 9 ดวง คือ สเหตุกกามาวจรวิบาก 8 และอเหตุกมโนวิญญาณธาตุที่เป็นอุเบกขาสหรคต เป็นวิบากแห่งทวิเหตุกกุศลอย่างอ่อนของพวกสัตว์ที่ถึงความวิกลมีกะเทยเป็นต้น ในหมู่มนุษย์ ย่อมทำกรรม กรรมนิมิต และคตินิมิต อย่างใดอย่างหนึ่งที่ปรากฏใกล้จะตายให้เป็นอารมณ์เป็นไปด้วยอำนาจปฏิสนธิ ในกาลใด สัตว์เกิดในรูปภพและอรูปภพ ด้วยอานุภาพแห่งรูปาวจรกุศลและอรูปาวจรกุศล ในกาลนั้น รูปาวจรวิปากจิต และอรูปาวจรวิปากจิต 9 ดวง ย่อมทำกรรมนิมิตปรากฏในเวลาจะตายให้เป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจปฏิสนธิ ในกาลใด สัตว์ทั้งหลายเกิดในรูปภพและอรูปภพด้วยอานุภาพแห่ง รูปาวจรกุศล และอรูปาวจรกุศล ในกาลนั้น รูปาวจรวิปากจิตและอรูปาวจรวิปากจิต 9 ดวงย่อมทำกรรมนิมิตที่ปรากฏในเวลาจะตายแห่งสัตว์ทั้งหลายเป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจปฏิสนธิ อนึ่ง ในกาลใด สัตว์เกิดในอบายด้วยอานุภาพแห่งอกุศล ในกาลนั้น อเหตุกมโนวิญญาณธาตุ ที่เป็นวิบากแห่งอกุศลดวง 1 ย่อมทำกรรม กรรมนิมิต และคตินิมิต อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏในเวลาจะตายแห่งสัตว์เหล่านั้นให้เป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจปฏิสนธิแล
ความเป็นไปแห่งวิปากวิญญาณ 19 ดวง ด้วยอำนาจปฏิสนธิ บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาในวิญญาณขันธนิทเทส (ในอาการ 14)
''(หน้าที่ 33)''
'''2. ภวังค์'''
เมื่อปฏิสนธิวิญญาณดับ (คือทำกิจเสร็จ) แล้ว วิญญาณชื่อภวังค์ คอยติดตาม ปฏิสนธิวิญญาณนั้น ๆ อยู่ เป็นวิบากแห่งกรรมนั้น ๆ อย่างเดียวกับปฏิสนธิวิญญาณนั่นเอง อันเป็นเช่นนั้น ในอารมณ์มีกรรมเป็นต้นนั้นเป็นไป เมื่อจิตตุปบาทอื่น ที่เป็นเหตุยังความสืบต่อ แห่งภวังค์ให้หมุนกลับไม่มี ภวังควิญญาณนั้น ย่อมเป็นไปในความหลับเป็นต้น แห่งผู้ไม่ฝัน โดยอาการสืบต่อเช่นนั้นอีกแล้วก็เป็นเช่นนั้นอีกดังนี้ จะนับประมาณจำนวนจิตมิได้โดยแท้ดังกระแสน้ำ ฉะนั้น
ความเป็นไปแห่งวิญญาณเหล่านั้นแหละ แม้ด้วยอำนาจแห่งภวังค์ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้
'''3. อาวัชชนะ'''
เมื่อความสืบต่อแห่งภวังค์เป็นไปอย่างนั้น ในกาลใด อินทรีย์ของสัตว์ควรแก่การรับอารมณ์ได้ ในกาลใด อินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายควรแก่การรับอารมณ์ ในกาลนั้น เมื่อรูปถึงคลองจักษุเข้า ความประสานเข้าระหว่างจักษุประสาทกับรูปก็มีขึ้น ด้วยอานุภาพแห่งความประสานกัน ภวังคจลนะก็มีขึ้น ครั้นภวังค์ดับไป กิริยามโนธาตุทำรูปนั้นนั่นแหละให้เป็นอารมณ์ เป็นดังตัดภวังค์ ยังอาวัชชนกิจ กิจคือความคำนึงถึงอารมณ์ให้สำเร็จเกิดขึ้นในโสตทวารเป็นต้น ก็ดุจนัยนี้ แต่ในมโนทวาร เมื่ออารมณ์ทั้ง 6 มาถึงเข้า อเหตุกกิริยามโนวิญญาณธาตุที่สหรคตกับอุเบกขา เป็นดังตัดภวังค์ ยังอาวัชชนกิจให้สำเร็จเกิดขึ้นในลำดับแห่งภวังคจลนะแล
ความเป็นไปแห่งกิริยาวิญญาณ 2 ดวง ด้วยอำนาจอาวัชชนะ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้
'''4 - 8. ทัสสนะ สวนะ ฆายนะ สายนะ ผุสนะ'''
ในลำดับแห่งอาวัชชนะข้อแรก จักขุวิญญาณอันมีจักษุประสาทเป็นที่ตั้ง ยังทัสสนกิจ (กิจคือการเห็น) ให้สำเร็จเป็นไปในจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร วิญญาณยังมีกิจมีสวนกิจเป็นต้นให้สำเร็จเป็นไปในทวารมีโสตทวารเป็นอาทิ วิญญาณที่เป็นไป
''(หน้าที่ 34)''
ในอารมณ์น่าปรารถนาและน่าปรารถนาปานกลาง เป็นกุศลวิบากที่เป็นไปในอารมณ์ไม่น่าปรารถนา แลไม่น่าปรารถนาปานกลาง ก็เป็นอกุศลวิบาก
ความเป็นไปแห่งวิปากวิญญาณ 10 (คือเป็นกุศลวิบากวิญญาณ 5 อกุศลวิบาก 5) ด้วยอำนาจแห่งทัสสนะ (เห็น) สวนะ (ได้ยิน) ฆายนะ (ได้กลิ่น) สายนะ (ได้รส) ผุสนะ (ได้ถูกต้อง) พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้
'''9. สัมปฏิจฉนะ'''
โดยบาลีว่า "จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนธาตุอันเกิดแต่จิตนั้น ที่เป็นไปในลำดับแห่งจักขุวิญญาณธาตุ ที่เกิดขึ้นดับไปแล้วย่อมเกิดขึ้น" ดังนั้นเป็นต้น มโนธาตุที่เป็นไปในลำดับแห่งวิญญาณ มีจักษุวิญญาณเป็นต้น หากเป็นไปในลำดับแห่งกุศลวิปากวิญญาณ ก็เป็นกุศลวิบาก หากเป็นไปในลำดับแห่งอกุศลวิปากวิญญาณ ก็เป็นอกุศลวิบาก ทำกิจรับเอาอารมณ์แห่งวิญญาณเหล่านั้นแหละเกิดขึ้น
ความเป็นไปแห่งวิปากวิญญาณ 2 ด้วยอำนาจแห่งสัมปฏิจฉนะ (รับเอา) พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้
'''10. สันตีรณะ'''
อนึ่งเล่า โดยบาลีว่า "จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุ เกิดแต่จิตนั้น ย่อมเกิดขึ้นในลำดับแห่งมโนธาตุที่เกิดขึ้นดับไปแล้ว" ดังนี้เป็นต้น วิปากอเหตุกมโนวิญญาณธาตุที่เป็นลำดับแห่งอกุศลวิบากมโนธาตุ ก็เป็นอกุศลวิบาก ที่เป็นไปในอิฏฐารมณ์ ก็เป็นโสมนัสหรคต ที่เป็นอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ ก็เป็นอุเบกขาสหรคต ทำกิจสอบสวนอารมณ์ ที่มโนธาตุรับเอาไว้นั่นแหละเกิดขึ้น
ความเป็นไปแห่งวิปากวิญญาณ 3 ด้วยอำนาจแห่งสันตีรณะ (สอบสวน) พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้
''(หน้าที่ 35)''
'''11. โวฏฐัพพนะ'''
กิริยาเหตุกมโนวิญญาณธาตุ เป็นอุเบกขาสหรคต วิเคราะห์ดูอารมณ์นั่นแหละ เกิดขึ้นในลำดับแห่งสันตีรณะแล
ความเป็นไปแห่งกิริยามโนวิญญาณดวงเดียว ด้วยอำนาจแห่งโวฏฐัพพนะ (วิเคราะห์ดู) พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้
'''12. ชวนะ'''
ในลำดับแห่งโวฏฐัพพนะ ถ้าอารมณ์มีรูปเป็นต้น เป็นมหันตารมณ์ (อารมณ์ใหม่) ไซร้ ทีนั้นชวนะ 6 หรือ 7 ดวง ย่อมแล่นไปในอารมณ์ตามที่โวฏฐัพพนะวิเคราะห์ไว้แล้ว ด้วยอำนาจแห่งกามาวจรกุศล 8 บ้าง อกุศล 12 บ้าง กามาวจรกิริยาที่เหลือ 9 บ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง นี่เป็นนัยในปัญจทวารเท่านั้น ส่วนมโนทวาร กามาวจรชวนะ 29 ยอมแล่นไปในลำดับมโนทวาราวัชชนะต่อแต่โคตรภูไป บรรดาชวนะเหล่านี้ คือทางรูปาวจรกุศลชวนะ 5 กิริยาชวนะ 5 ทางอรูปาวจรกุศลชวนะ 4 กิริยาชวนะ 4 ทางโลกุตตรมัคคจิต 4 ผลจิต 4 ชวนะใด ๆ ได้ปัจจัยแล้ว ชวนะนั้น ๆย่อมแล่นไปแล
ความเป็นไปแห่งวิปากวิญญาณ เป็นกุศล อกุศล และกิริยา (รวม) 55 ดวง ด้วยอำนาจชวนะ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้
'''13. ตทารัมมณะ'''
ในที่สุดแห่งชวนะ ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอติมหันตารมณ์ (อารมณ์ใหญ่ยิ่ง) ในปัญจทวาร และเป็นวิภูตารมณ์ (อารมณ์ที่ปรากฏชัด) ในมโนทวารไซร้ ที่นั้นวิปากวิญญาณ ในบรรดาสเหตุกกามาวจรวิบาก 8 และวิบากอเหตุกมโนวิญญาณธาตุ 3 อย่างใดอย่างหนึ่ง อันติดตามชวนะแล่นไปในอารมณ์อื่น นอกจากอารมณ์ของภวังค์ ดังน้ำอันไหลทวนกระแสไป ติดตามเรือที่แล่นทวนกระแสในระหว่างนิดหน่อยติดตามเรือที่แล่นไปทวนกระแส ย่อมเกิดขึ้น 2 ขณะหรือขณะเดียวกัน ด้วยสามารถของปัจจัยนั้นตามที่ตนได้ ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์มีอิฏฐารมณ์เป็นอาทิ และแห่งปุริมกรรม และแห่งจิตมีชวนจิตเป็นต้น ในที่สุดแห่ง
''(หน้าที่ 36)''
กามาวจรชวนะของกามาวจรสัตว์ทั้งหลาย วิปากวิญญาณนี้นั้น เป็นจิตควรแก่ความเป็นไปในอารมณ์ของภวังค์ ในที่สุดแห่งชวนะ (แต่) เพราะมันทำอารมณ์ของชวนะนั้นให้เป็นอารมณ์เป็นไปอีก จึงเรียกว่าตทารัมมณะ (มีอารมณ์ของชวนะนั้นเป็นอารมณ์)
ความเป็นไปแห่งวิปากวิญญาณ 11 ดวง ด้วยอำนาจแห่งตทารัมมณะ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้
'''14. จุติ'''
ก็แล ในที่สุดแห่งตทารัมมณะ ภวังค์นั่นเองเป็นไปอีก ครั้นภวังค์ขาดวิถีวิญญาณมีอาวัชชนะเป็นต้น ก็เป็นไปอีกแล
จิตตสันดานที่มีปัจจัย อันได้แล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปแล้ว ๆ เล่า ๆ ด้วยอำนาจแห่งจิตนิยม คืออาวัชชนะย่อมมีในลำดับแห่งภวังค์ วิญญาณกิจมีการเห็น (รูป) เป็นต้น ย่อมมีในลำดับแห่งอาวัชชนะดังนี้เป็นอาทิอยู่นั่นเอง จนกว่าภวังค์ในภพหนึ่งจะสิ้นไป จริงอยู่ในภพหนึ่ง ภวังคจิตดวงใดเป็นดวงสุดท้ายภวังคจิตดวงนั้น ท่านเรียกว่า จุติจิต เพราะเคลื่อนไปจากภพนั้น ฉะนั้น แม้จุติจิตนั้นก็มี 19 ดวงเหมือนกันกับปฏิสนธิจิตและภวังคจิต
ความเป็นไปแห่งวิปากวิญญาณ 19 ดวง ด้วยอำนาจแห่งจุติ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้
จิตตสันดานอันไม่ขาดสายของสัตว์ทั้งหลาย ผู้ท่องเที่ยวอยู่ในภพ คติ ฐิติ และนิวาสทั้งหลาย ย่อมเป็นไปดังนี้ คือ จากจุติก็ปฏิสนธิอีก ต่อปฏิสนธิก็ภวังค์อีกอยู่นั่นเอง แต่ในสัตว์ทั้งหลายนั้นท่านผู้ใดได้บรรลุพระอรหันต์ เมื่อจุติของท่านดับแล้ว จิตก็เป็นอันดับทีเดียวแล
นี่เป็นกถามุขอย่างพิสดาร ในวิญญาณขันธ์
===เวทนาขันธ์===
บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในข้อที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า "เวทนา ที่เรียกว่าเวทนาขันธ์ เพราะรวมธรรมชาติที่มีการเสวยรสอารมณ์เป็นลักษณะทุกอย่างเข้าด้วยกัน" ต่อไปนี้ –
''(หน้าที่ 37)''
ธรรมชาติที่มีการเสวยรสอารมณ์ เป็นลักษณะ ก็คือเวทนานั่นเอง ดังพระสารีบุตรเถระกล่าวว่า "ดูกรอาวุโส เพราะเหตุที่ธรรมชาตินั้นย่อมเสวยรสอารมณ์ย่อมรู้สึกสุขทุกข์ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่าเวทนา" ดังนี้
'''เวทนา 1 เวทนา 3'''
เวทนานั้นเมื่อว่าตามสภาพก็มีอย่างเดียว โดยลักษณะคือเสวยรสอารมณ์ เมื่อว่าโดยชาติ มี 3 คือ กุศล อกุศล และอัพยากฤต ในเวทนา 3 นั้น พึงทราบว่า เวทนาที่สัมปยุตด้วยกุศลวิญญาณที่กล่าวไว้โดยนัยว่า "กามาวจรวิญญาณมี 8 โดยต่างแห่งโสมนัส อุเบกขา ญาณ และสังขาร" ดังนี้เป็นต้น จัดเป็นกุศล เวลาที่สัมปยุตด้วยอกุศล ก็จัดเป็นอกุศล เวลาที่สัมปยุตด้วยอัพยากฤตจัดเป็นอัพยากฤตวิญญาณ
'''เวทนา 5'''
เวทนานั้นเมื่อแยกตามสภาวะก็มี 5 คือ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา ในเวทนา 5 นั้น สุขสัมปยุตด้วยกายวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก ทุกข์สัมปยุตด้วยกายวิญญาณที่เป็นอกุศลวิบาก โสมนัสสัมปยุตด้วยวิญญาณ 62 คือ ฝ่ายกามาวจร วิญญาณกุศล 4 สเหตุกวิบาก 4 อเหตุกวิบาก 1 สเหตุกกิริยา 4 อเหตุกกิริยา 1 อกุศล 4 (เป็น 18) ฝ่ายรูปาวจรวิญญาณ กุศล 4 เว้นปัญจมฌานวิญญาณ วิบาก 4 กิริยา 4 (เป็น 12) ฝ่ายโลกุตตรวิญญาณ ที่ไม่ประกอบด้วยฌานหามีไม่ เหตุนั้น โลกุตตรวิญญาณ 8 จึงเป็นโลกุตตรวิญญาณ 40 ด้วยอำนาจแห่งฌาน 5 ในโลกุตตรวิญญาณ 40 นั้น เว้นวิญญาณที่เป็นไปในปัญจมฌาน 8 เสีย เหลือกุศลวิบาก 32 (รวม 62) โทมนัสสัมปยุตด้วยอกุศลวิญญาณ 2 อุเบกขาสัมปยุตวิญญาณ 55 ที่เหลือ
'''ลักษณะเป็นต้น ของเวทนา 5'''
ในเวทนา 5 นั้น สุขมีการเสวยโผฏฐัพพะอันน่าปรารถนาเป็นลักษณะ มีอันเพิ่มสัมปยุตธรรมทั้งหลายเป็นกิจ มีความสบายทางกายเป็นผล มีกายินทรีย์เป็นเหตุใกล้ ทุกข์มีการเสวยโผฏฐัพพะที่ไม่น่าปรารถนาเป็นลักษณะ มีลดสัมปยุตธรรมทั้งหลายลงเป็นกิจ มี
''(หน้าที่ 38)''
ความไม่สบายทางกายเป็นผล มีกายินทรีย์เป็นเหตุใกล้ โสมนัสมีการเสวยอิฏฐารมณ์เป็นลักษณะ มีการเสวยสุขด้วยอาการพอใจไม่อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นกิจ มีความสบายใจเป็นผล มีความระงับแห่งนามกายเป็นเหตุใกล้ โทมนัสมีการเสวยอนิฏฐารมณ์เป็นลักษณะ มีการเสวยทุกข์ด้วยอาการไม่พอใจอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นกิจ มีความไม่สบายใจเป็นผล มีหทยวัตถุเป็นเหตุใกล้โดยส่วนเดียวเท่านั้น อุเบกขามีการเสวยมัชฌัตตารมณ์เป็นลักษณะ มีการไม่เพิ่มและไม่ลดสัมปยุตธรรมเป็นกิจ มีความละเอียดเป็นผล มีจิตที่ปราศจากปีติเป็นเหตุใกล้
นี้คือ กถามุขอย่างพิสดารในเวทนาขันธ์
===สัญญาขันธ์===
บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในข้อที่ว่า "สัญญาขันธ์ที่เรียกอย่างนั้น เพราะรวมธรรมชาติที่มีความจำได้เป็นลักษณะสิ้นทุกอย่างเข้าด้วยกัน" ดังนี้
อันธรรมชาติที่มีความจำได้เป็นลักษณะ ก็คือสัญญานั่นเอง ดังพระสารีบุตรเถระกล่าวว่า "ดูกรอาวุโส เพราะเหตุที่รู้จำได้นั้น จึงเรียกว่าสัญญา" ดังนี้
'''สัญญา 1 สัญญา 3'''
สัญญาว่าตามสภาพก็มีอย่างเดียวโดยลักษณะคือจำได้ แต่ว่าโดยชาติมี 3 คือ กุศล อกุศล และอัพยากฤต ในสัญญา 3 นั้น สัญญาที่สัมปยุตด้วยกุศลวิญญาณจัดเป็นกุศลสัญญา ที่สัมปยุตด้วยอกุศลวิญญาณจัดเป็นอกุศล สัญญาที่สัมปยุตด้วยอัพยากฤตวิญญาณจัดเป็นอัพยากฤต เพราะว่าวิญญาณที่ไม่ประกอบด้วยสัญญาหามีไม่ ฉะนั้น ประเภทแห่งวิญญาณมีเท่าใด ประเภทแห่งสัญญาก็มีเท่านั้นแล
'''ลักษณะเป็นต้นแห่งสัญญา'''
สัญญามีประเภทเท่ากันกับวิญญาณ เมื่อว่าโดยอาการมีลักษณะเป็นต้น สัญญาทั้งปวงนั้นมีความจำได้เป็นลักษณะ มีการทำเครื่องหมายไว้จำต่อไปว่า "นั่นคือสิ่งนั้น" เป็นกิจ ดังช่างไม้ทำเครื่องหมายไว้ในตัวไม้เป็นอาทิ มีการทำความมั่นใจตามเครื่องหมาย
''(หน้าที่ 39)''
ที่ยึดไว้เป็นผล ดังคนตาบอดคลำช้าง มั่นใจตามเครื่องหมายที่ตนจับได้ มีอารมณ์ที่ปรากฏเป็นเหตุใกล้ ดังความจำที่เกิดขึ้นแก่ลูกเนื้อ ในหุ่นคนที่ผูกด้วยหญ้าว่าเป็นคนจริง ๆ ฉะนั้นแล
นี้เป็นกถามุขอย่างพิสดารในสัญญาขันธ์
===สังขารขันธ์===
ส่วนข้อที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า "สังขารขันธ์พึงทราบว่าเรียกอย่างนั้น เพราะรวมธรรมชาติมีการประสมเจตสิกเป็นลักษณะสิ้นทุกอย่างเข้าด้วยกัน" ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้
ธรรมชาติที่ทำให้เป็นกลุ่มชื่อว่ามีการประสมเป็นลักษณะ ธรรมชาตินั้นคืออะไร ? คือสังขารนั่นเอง ดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะธรรมเหล่านั้นย่อมประสบสิ่งที่เป็นสังขตะแล จึงได้ชื่อว่า สังขาร (แปลว่าธรรมผู้ประสม)" ดังนี้
'''ลักษณะแห่งสังขาร'''
สังขารเหล่านั้น มีการประสมเป็นลักษณะ มีการประมวลเข้าเป็นกิจ มีความเผยออกไปเป็นผล มีขันธ์ 3 ที่เหลือเป็นเหตุใกล้
'''สังขาร 1 สังขาร 3'''
สังขารทั้งหลาย แม้เป็นอย่างเดียวโดยลักษณะเป็นต้นด้งกล่าวมานี้ แต่ว่าโดยชาติก็เป็น 3 คือ กุศล อกุศล และอัพยากฤต ในสังขาร 3 นั้น สังขารที่สัมปยุตด้วยกุศลวิญญาณจัดเป็นกุศล ที่สัมปยุตด้วยอกุศลวิญญาณจัดเป็นอกุศล สังขารที่สัมปยุตด้วยอัพยากฤต จัดเป็นอัพยากฤต
====กุศลสังขาร 36====
ในสังขารเหล่านั้น ก่อนอื่น สังขารที่สัมปยุตด้วยกามาวจรกุศลวิญญาณ ดวงที่ 1 (คือวิญญาณที่เป็นโสมนัสสหรคต ญาณสัมปยุต อสังขาร) มี 36 คือ เป็นนิยตะ มาในบาลี
''(หน้าที่ 40)''
โดยรูปของตน (คือไม่ปะปน) 27 เป็นเยวาปนกะ 4 เป็นอนิยตะ 5 ในสังขาร 36 นั้นสังขาร 27 คือ ผัสสะ เจตนา วิตก วิจาร ปีติ วิริยะ ชีวิต สมาธิ สัทธา สติ หิริ โอตัปปะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ กายลหุตา จิตตลหุตา กายมุทุตา จิตตมุทุตา กายกัมมัญญตา จิตตกัมมัญญตา กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา กายุชุกตา จิตตุชุกตา เหล่านี้เป็นนิยตะ มาในบาลี โดยรูปของตน สังขาร 4 คือ ฉันทะ อธิโมกข์ มนสิการ ตัตรมัชฌัตตตา นี้เป็นเยวาปนกะ (เป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้) สังขาร 5 คือกรุณา มุทิตา กายทุจริตวิรัติ วจีทุจริตวิรัติ มิจฉาชีววิรัติ นี้เป็นอนิยตะ เพราะ สังขาร 5 นั้นย่อมเกิดในบางครั้ง แม้เมื่อเกิดเล่าก็หาเกิดร่วมกันไม่ (จึงชื่อว่าอนิยตะ)
'''อรรถาธิบายสังขาร 36 และนิยตสังขาร 27'''
'''1. ผัสสะ'''
วินิจฉัยในบทเหล่านั้น สภาวธรรมใดย่อมถูกต้อง เหตุนั้น สภาวธรรมนั้นจึงชื่อว่า ผัสสะ (ผู้ถูกต้อง) ผัสสะนี้นั้น มีการถูกต้องเป็นลักษณะ มีการทำให้กระทบกันเป็นกิจ มีการร่วมกันเข้า (แห่งจิตกับอารมณ์) เป็นผล มีอารมณ์ที่มาปรากฏ (แห่งจิต) เป็นเหตุใกล้
จริงอยู่ ผัสสะนี้แม้เป็นอรูปธรรม ก็ย่อมเป็นไปในอารมณ์ ด้วยอาการ (ดุจ) ถูกต้อง (จึงว่ามีการถูกต้องเป็นลักษณะ) อนึ่ง ผัสสะนั้น แม้ไม่ติดอยู่ (ที่ไหน) สักแห่ง ก็ยังจิตและอารมณ์ให้กระทบกันได้ ดังรูปกระทบจักษุและเสียงกระทบหูฉะนั้น (จึงว่า มีการทำให้กระทบกันเป็นกิจ) ชื่อว่ามีการร่วมกันเข้าเป็นปัจจุปัฏฐาน เพราะปรากฏด้วยอำนาจเหตุของตน กล่าวคือติกสันนิบาต (ความร่วมกันเข้าแห่งธรรม 3 คือ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ) ชื่อว่ามีอารมณ์ที่มาปรากฏเป็นปทัฏฐาน เพราะเกิดขึ้นในอารมณ์ที่สมันนาหาร (การประมวลความคิด) อันควรแก่ผัสสะนั้นและอินทรีย์ด้วย (ช่วยกัน) แต่ให้โดยไม่มีระหว่างทีเดียว
แต่ว่าโดยความเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา ผัสสะนี้ บัณฑิตพึงเห็นเป็นดังแม่โคหนังเปิกเถิด
''(หน้าที่ 41)''
'''2. เจตนา'''
ธรรมชาติใดย่อมคิด อธิบายว่าย่อมพัวพัน (อารมณ์) เหตุนั้นธรรมชาตินั้น จึงชื่อว่าเจตนา (ธรรมชาติผู้คิด) เจตนานั้น มีภาวะคือความจงใจเป็นลักษณะ มีความเคลื่อนไหวเป็นกิจ มีความจัดแจงเป็นผล คือยังกิจของตนและกิจของผู้อื่นให้สำเร็จ ดุจคนผู้ใหญ่มีศิษย์ผู้ใหญ่ (ของทิศาปาโมกข์) และนายช่างไม้ใหญ่เป็นต้น ก็แลเจตนานี้ เมื่อเป็นโดยภาวะที่ยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้แข็งขันขึ้น ย่อมปรากฏในเมื่อนึกถึงงานรีบด่วนเป็นต้น
'''3 - 4 - 5 . วิตก วิจาร ปีติ'''
คำใดพึงเป็นข้อที่ควรกล่าวในวิตก วิจาร และปีติ คำนั้นทั้งหมด ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้ว ในตอนพรรณนาปฐมฌานในปฐวีกสิณนิทเทส
'''6. วิริยะ'''
ความกล้าชื่อว่าวิริยะ วิริยะนั้นมีความแข็งขันเป็นลักษณะ มีการค้ำจุนสหชาตธรรมทั้งหลายเป็นกิจ มีภาวะไม่จมลงเป็นผล มีความสังเวชเป็นเหตุใกล้ ตามบาลีว่า "ผู้มีความสังเวชแล้วย่อมทำความเพียรโดยแยบคาย" หรือว่ามีวัตถุแห่งวิริยารัมภะ (เรื่องที่จะต้องใช้ความเพียร) เป็นเหตุใกล้ก็ได้
วิริยะนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า บุคคลทำโดยถูกทางแล้ว ย่อมเป็นมูลแห่งสมบัติทั้งปวง
'''7. ชีวิต'''
สหชาตธรรมทั้งหลาย ย่อมเป็นอยู่ด้วยธรรมชาตินั้น เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าชีวิต (แปลว่าธรรมชาติเครื่องเป็นอยู่แห่งสหชาตธรรม) นัยหนึ่ง ธรรมชาตินั้นเป็นอยู่เอง เหตุนั้น จึงชื่อว่าชีวิต (แปลว่าธรรมชาติผู้เป็นอยู่) นัยหนึ่ง ธรรมชาตินั้นเป็นเพียงความเป็นอยู่เท่านั้น เหตุนั้น จึงชื่อว่าชีวิต (แปลว่าความเป็นอยู่) ส่วนลักษณะเป็นต้นแห่งชีวิตนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในชีวิตแห่งรูปเถิด ความต่างกันในชีวิต 2 นั่น ก็คืออันนั้นเป็นชีวิตแห่งรูปธรรมทั้งหลาย อันนี้เป็นชีวิตแห่งอรูปธรรมทั้งหลายเท่านั้นเอง
''(หน้าที่ 42)''
'''8. สมาธิ'''
อรรถแห่งสมาธิศัพท์
ธรรมใดตั้งจิตไว้เสมอในอารมณ์ เหตุนั้น ธรรมนั้นชื่อว่าสมาธิ (ธรรมผู้ตั้ง (จิต) ไว้เสมอ) นัยหนึ่ง ธรรมใดตั้งจิตไว้โดยชอบในอารมณ์ เหตุนั้น ธรรมนั้นจึงชื่อว่าสมาธิ (ธรรมผู้ตั้ง (จิต) ไว้โดยชอบ) นัยหนึ่ง ธรรมชาติที่ชื่อว่าสมาธินั้น ก็คือความตั้งมั่นแห่งจิตเท่านั้นเอง
'''ลักษณะแห่งสมาธิ'''
สมาธินั้นมีความไม่พล่านไปเป็นลักษณะ หรือว่ามีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะก็ได้ มีการประมวลสหชาตธรรมทั้งหลายไว้ (ให้เป็นกลุ่ม) เป็นกิจ ดุจน้ำผนึกเอาจุณสำหรับสนานไว้ (ให้เป็นก้อน) ฉะนั้น มีความสงบระงับเป็นผล มีความสุขเป็นเหตุใกล้โดยพิเศษ
สมาธินี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นความตั้งอยู่แห่งจิต ดุจความตั้งอยู่แห่งเปลวประทีปในที่ไม่มีลม ฉะนั้น
'''9. สัทธา'''
บุคคลทั้งหลาย ย่อมเชื่อด้วยธรรมชาตินั้น เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าสัทธา (แปลว่าธรรมชาติเป็นเหตุเชื่อ) นัยหนึ่ง ธรรมชาตินั้นย่อมเชื่อเอง เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าสัทธา (แปลว่าธรรมชาติผู้เชื่อ) นัยหนึ่ง ธรรมชาตินั่นเป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าสัทธา (แปลว่าความเชื่อ)
'''ลักษณะแห่งสัทธา'''
สัทธานั้น มีความเชื่อเป็นลักษณะ หรือว่ามีความวางใจเป็นลักษณะก็ได้ มีการทำให้ใสเป็นกิจ ดังแก้วอุทกปสาทกะ (แก้วทำน้ำให้ใส) หรือว่ามีความแล่นไป (ตามอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความเชื่อ) เป็นกิจ ดุจแล่นไป (คือไหลลอยตามกระแสน้ำอันเชี่ยว) ในการ
''(หน้าที่ 43)''
ข้ามห้วงน้ำ (ที่บ่ามา) ฉะนั้น มีความไม่ขุนมัวเป็นผล หรือว่า มีอธิมุติ (ความตัดสินใจ) เป็นผลก็ได้ มีสัทไธยวัตถุ (วัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความเชื่อ) เป็นเหตุใกล้ หรือว่ามีโสตาปัตติยังคะมีสัทธัมมสวนะเป็นต้นเป็นเหตุใกล้ก็ได้
สัทธานี้ บัณฑิตพึงเหมือนว่าเป็นเหมือนมือ เหมือนทรัพย์เครื่องปลื้มใจ และเหมือนพืชฉะนั้น
'''10. สติ'''
บุคคลทั้งหลายย่อมระลึกได้ด้วยธรรมชาตินั้น เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าสติ (แปลว่าธรรมชาติเป็นเหตุระลึกได้) นัยหนึ่ง ธรรมชาตินั่นย่อมระลึกได้เอง เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าสติ (แปลว่าธรรมชาติอันระลึกได้) นัยหนึ่ง ธรรมชาตินั้น สักว่าเป็นอันระลึกได้เท่านั้น เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าสติ (แปลว่าความระลึกได้)
สตินั้น มีความไม่ใจลอยเป็นลักษณะ มีอันทำให้ไม่หลงลืมเป็นกิจ มีอันคุ้มครอง (ใจ) ไว้ได้เป็นผล หรือมีความเป็นเหตุมุ่งหน้า (จดจ่อ) ต่ออารมณ์ (ของจิต) เป็นผลก็ได้ มีความจำมั่นคงเป็นเหตุใกล้ หรือว่ามีสติปัฏฐานมีกายเป็นต้น เป็นเหตุใกล้ก็ได้
อันสตินี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นเหมือนเสาเขื่อน เพราะปักลงไปมั่นคงในอารมณ์ และเป็นเหมือนนายประตู เพราะรักษาทวารมีจักขุทวารเป็นอาทิ
'''11 - 12. หิริ โอตตัปปะ'''
ธรรมชาติใดย่อมละอาย เพราะความประพฤติชั่วมีกายทุจริตเป็นต้น เหตุนั้นธรรมชาตินั้น จึงชื่อว่าหิริ คำว่า หิรินั่นเป็นคำเรียกความละอาย
ธรรมชาติใดย่อมกลัว เพราะความประพฤติชั่วเหล่านั้นแหละ เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าโอตตัปปะ คำว่า โอตตัปปะนั้นเป็นคำเรียกความหวาดกลัวแต่บาป
'''ลักษณะแห่งหิริ โอตตัปปะ'''
ในหิริและโอตตัปปะนั้น หิริมีความเกลียดแต่บาปเป็นลักษณะ โอตตัปปะมีความสะดุ้งกลัวแต่บาปเป็นลักษณะ หิริมีความไม่ทำบาปทั้งหลาย โดยอาการละอายเป็นกิจ โอตตัปปะ
''(หน้าที่ 44)''
มีความไม่ทำบาปทั้งหลายโดยอาการสะดุ้งกลัวเป็นกิจ อนึ่ง ทั้งสองอย่างนั้น มีอันหดกลับจากบาปโดยประการที่กล่าวแล้วนั้นเป็นผล มีความเคารพตนและเคารพผู้อื่นเป็นเหตุใกล้ จริงอยู่ บุคคลทำตนให้เป็นที่เคารพ จึงละบาปได้ ด้วยความละอาย ดุจกลุพธู ทำคนอื่นให้เป็นที่เคารพ จึงละบาปได้ด้วยความสะดุ้งกลัว ดุจหญิงแพศยา ฉะนั้น
ก็แลธรรม 2 ประการนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นโลกปาลกธรรม
'''13 - 14 - 15. อโลภะ อโทสะ อโมหะ'''
สัตว์ทั้งหลายไม่โลภด้วยธรรมนั้นเป็นเหตุ ธรรมนั้นจึงชื่อว่าอโลภะ (แปลว่าธรรมเป็นเหตุไม่โลภแห่งสัตว์ทั้งหลาย) นัยหนึ่ง ธรรมใดไม่โลภอยู่เอง ธรรมนั้นชื่อว่าอโลภะ (แปลว่าธรรมอันไม่โลภ) นัยหนึ่ง ธรรมชาตินั้นสักว่าเป็นอันไม่โลภเท่านั้น เหตุนั้นจึงชื่อว่าอโลภะ (แปลว่าความไม่โลภ) นัยหนึ่ง แม้อโทสะ และอโมหะ ก็นัยเดียวกัน
'''ลักษณะแห่งอโลภะ อโทสะ อโมหะ'''
ในธรรม 3 ประการนั้น อโลภะมีความที่จิตไม่กำหนัด (ไม่อยากได้) ในอารมณ์เป็นลักษณะ นัยหนึ่ง มีความที่จิตไม่ติดข้องอยู่ในอารมณ์เป็นลักษณะ ประหนึ่งหยาดน้ำ ไม่ติดในกลีบบัวฉะนั้น มีความไม่หวงแหน (ในอารมณ์) เป็นกิจ ประหนึ่งภิกษุผู้พ้นแล้ว (จากฆราวาสกิจ ไม่หวงแหนวัตถุแห่งฆราวาส) ฉะนั้น มีความต้องการในอันไม่ติดแช่อยู่ในอารมณ์) เป็นผล ประหนึ่งคนที่ตกอยู่ในที่โสโครก (ไม่ต้องการจะติดแช่อยู่ในที่โสโครกนั้น) ฉะนั้น
อโทสะ มีความไม่ดุร้ายเป็นลักษณะ นัยหนึ่ง มีความไม่ถือผิดเป็นลักษณะ ประหนึ่งมิตรผู้อารีฉะนั้น มีอันขจัดความอาฆาตเสียได้เป็นกิจ นัยหนึ่ง มีอันขจัดความรุ่มร้อนเสียได้เป็นกิจ ประหนึ่งไม้จันทน์ (อันมีรสเย็น) ฉะนั้น มีโสมภาพ (ความสุภาพ ความเยือกเย็น) เป็นผล ประหนึ่งพระจันทร์เพ็ญ (มีรัศมีเย็น) ฉะนั้น
อโมหะ มีความ (รู้แจ้ง) แทงตลอดตามสภาพ (แห่งธรรม) เป็นลักษณะ นัยหนึ่ง มีความ (รู้แจ้ง) แทงตลอดไม่ผิดพลาดเป็นลักษณะ ประหนึ่งการแทงทะลุ (ตรงเป้า) แห่ง
''(หน้าที่ 45)''
ลูกธนูที่นายขมังธนูผู้ฉลาดยิงไปฉะนั้น มีอันส่องอารมณ์ (ให้เห็นตามสภาพ)เป็นกิจประหนึ่งประทีปฉะนั้น มีความไม่หลงลืมเป็นผล ประหนึ่งผู้ชี้ทางที่ชำนาญชี้ทางแก่คนไปป่าฉะนั้น
อันธรรมทั้ง 3 นี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นมูลแห่งกุศลธรรมทั้งปวง
'''16 - 17. กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ'''
ความระงับแห่งกาย ชื่อว่ากายปัสสัทธิ ความระงับแห่งจิต ชื่อว่าจิตตปัสสัทธิ แต่คำว่ากายในบทกายปัสสัทธินี้ ประสงค์เอาขันธ์ 3 มีเวทนาเป็นต้น ก็แลกายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิ รวมเข้าด้วยกันทั้งสองนั้น มีความระงับไปแห่งความเร่าร้อนกายและจิตเป็นลักษณะ มีอันบีบเอาความเร่าร้อนกายและจิตออกไปเป็นกิจ มีความเยือกเย็นโดยไม่มีความกระวนกระวายกายและจิตเป็นผล มีกายและจิตเป็นเหตุใกล้
กายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธินี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสมีอุทธัจจะเป็นอาทิ อันทำความไม่ระงับแห่งกายและจิต
'''18 - 19. กายลหุตา จิตตลหุตา'''
ความเบาแห่งกายชื่อว่ากายลหุตา ความเบาแห่งจิตชื่อว่าจิตตลหุตา กายลหุตาและจิตตลหุตานั้น มีความเข้าไประงับแห่งความหนักของกายและจิตเป็นลักษณะ มีอันบีบเอาความหนักแห่งกายและจิตออกไปเป็นกิจ มีความไม่อืดอาดแห่งกายและจิตเป็นผล มีกายและจิตเป็นเหตุใกล้
ลหุตานี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสมีถีนมิทธะเป็นต้นที่ทำความหนักแห่งกายและจิต
'''20 - 21. กายมุทุตา จิตตมุทุตา'''
ความอ่อนแห่งกายชื่อว่ากายมุทุตา ความอ่อนแห่งจิตชื่อว่าจิตตมุทุตา กายมุทุตาและจิตตมุทุตานั้น มีความเข้าไประงับแห่งความกระด้างของกายและจิตเป็นลักษณะ มีอันบีบเอา
''(หน้าที่ 46)''
ความกระด้างแห่งกายและจิตออกไปเป็นกิจ มีความไม่ข้องขัดเป็นผล มีกายและจิตเป็นเหตุใกล้
มุทุตานี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสมีทิฏฐิและมานะเป็นต้น ที่ทำความกระด้างแห่งกายและจิต
'''22 - 23. กายกัมมัญญตา จิตตกัมมัญญตา'''
ความควรแก่การงานแห่งกาย ชื่อว่า'''กายกัมมัญญตา''' ความควรแก่การงานแห่งจิต ชื่อว่า'''จิตตกัมมัญญตา''' กายกัมมัญญตาและจิตตกัมมัญญตานั้น มีความเข้าไประงับแห่งความไม่ควรแก่การงานของกายและจิตเป็นลักษณะ มีอันบีบเอาความไม่ควรแก่การงานของกายและจิตออกไปเป็นกิจ มีความถึงพร้อมแห่งการทำอารมณ์เป็นผล มีกายและจิตเป็นเหตุใกล้
กัมมัญญตานี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสมีนิวรณ์ที่เหลือเป็นต้น ที่ทำความไม่ควรแก่การงานแห่งกายและจิต นำมาซึ่งความเลื่อมใสในวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสทั้งหลาย นำมาซึ่งความควรแก่อันประกอบด้วยประการต่าง ๆ ในการทำประโยชน์ทั้งหลาย ดังความหมดจด (จากมลทิน) แห่งทอง (ควรแก่อันประกอบเป็นอลังการต่าง ๆ ชนิด) ฉะนั้น
'''24 - 25. กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา'''
ความคล่องแห่งกาย ชื่อว่า'''กายปาคุญญตา''' ความคล่องแห่งจิต ชื่อว่า'''จิตตปาคุญญตา''' กายปาคุญญตาและจิตตปาคุญญตานั้น มีความไม่เป็นไข้แห่งกายและจิตเป็นลักษณะ มีอันบีบเอาความเป็นไข้แห่งกายและจิตออกไปเป็นกิจ มีความไร้โทษ (แห่งกายและจิต) เป็นผล มีกายและจิตเป็นเหตุใกล้
ปาคุญญตานี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อบาปธรรมมีอสัทธิยะเป็นต้น ที่ทำความเป็นไข้แห่งกายและจิต
''(หน้าที่ 47)''
'''26 - 27. กายุชุกตา จิตตุชุกตา'''
ความตรงแห่งกายชื่อว่ากายุชุกตา ความตรงแห่งจิตชื่อว่าจิตตุชุกตา กายุชุกตาและจิตตุชุกตานั้น มีความซื่อตรงแห่งกายและจิตเป็นลักษณะ มีอันบีบเอาความคดแห่งกายและจิตออกไปเป็นกิจ มีความไม่คด (แห่งกายและจิต) เป็นผล มีกายและจิตเป็นเหตุใกล้
อุชุกตานี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นปฏิปักษ์แก่อุปกิเลสมีมายาและสาไถยเป็นต้น ที่ทำความคดโกงแห่งกายและจิต
'''เยวาปนกสังขาร 4'''
'''1. ฉันทะ'''
คำว่า'''ฉันทะ'''นั้น เป็นคำเรียกกัตตุกัมยตา (ความใคร่จะทำ) เพราะเหตุนั้น ฉันทะนั้นจึงมีความใคร่จะทำเป็นลักษณะ มีอันแสวงหาอารมณ์เป็นกิจ มีความต้องการด้วยอารมณ์เป็นผล อารมณ์นั้นนั่นแหละเป็นเหตุใกล้ของฉันทะนั้น
อันฉันทะนี้ ในการจะถือเอาอารมณ์ บัณฑิตพึงเห็นว่า เหมือนใจยื่นมือออกไป ฉะนั้น
'''2. อธิโมกข์'''
ความน้อมใจเชื่อชื่อว่า'''อธิโมกข์''' อธิโมกข์นั้นมีการลงความเห็นเป็นลักษณะ มีอันไม่รวนเรเป็นกิจ มีความตัดสินใจเป็นผล มีสันนิฏเฐยยธรรม (เรื่องที่จะต้องลงความเห็น) เป็นเหตุใกล้
อธิโมกข์นี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นดังเสาเขื่อน เพราะความที่นิ่งอยู่ในอารมณ์
'''3. มนสิการ'''
การทำ (อารมณ์) ในใจ ชื่อว่า'''มนสิการ''' นัยหนึ่ง เจตสิกธรรมใดย่อมทำใจให้ไม่เหมือนใจเดิม (คือใจภวังค์) เหตุนี้เจตสิกธรรมนั้นจึงชื่อว่ามนสิการ (แปลว่า เจตสิกธรรมอันทำใจให้ผิดเดิม) ดังนี้ก็ได้ มนสิการนี้นั้นมี 3 ประการคืออารัมมณปฏิปาทกะ (มนสิการอันจัดแจงในอารมณ์) วิถีปฏิปาทกะ (มนสิการอันจัดแจงในวิถีจิต) ชวนปฏิปาทกะ (มนสิการอันจัดแจงในชวนจิต)
''(หน้าที่ 48)''
ในมนสิการ 3 นั้น '''อารัมมณปฏิปาทกะ'''ชื่อว่ามนสิการ เพราะทำ (อารมณ์) ไว้ในใจ อารัมมณปฏิปาทกมนสิการนั้น มีการยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้แล่นไป (มุ่งหน้าสู่อารมณ์) เป็นลักษณะ มีอันผูกสัมปยุตธรรมทั้งหลายไว้ในอารมณ์เป็นกิจ มีความจดจ่อต่ออารมณ์เป็นผล มีอารมณ์เป็นเหตุใกล้
มนสิการนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นธรรมจัดเข้าในสังขารขันธ์เพราะความเป็นธรรมยังสัมปยุตธรรมให้ดำเนินไปในอารมณ์ ดุจสารถี (ยังม้าให้แล่นไป) ฉะนั้น
ส่วนคำว่า '''วิถีปฏิปาทกะ''' (มนสิการอันจัดแจงในวิถี) นั่นเป็นคำเรียกปัญจทวาราวัชชนะ คำว่าชวนปฏิปาทกะ (มนสิการอันจัดแจงในชวนะ) นั่น เป็นคำเรียกมโนทวาราวัชชนะ มนสิการทั้งสองนั้นไม่ประสงค์เอาในที่นี้
'''4. ตัตรมัชฌัตตตา'''
ความเป็นกลางในธรรมทั้งหลายเหล่านั้นชื่อว่าตัตรมัชฌัตตตา ตัตรมัชฌัตตตานั้นมีการนำจิตและเจตสิกทั้งหลายไปโดยเสมอเป็นลักษณะ มีอันห้ามเสียซึ่งความหย่อนและความยิ่งเป็นกิจ หรือนัยหนึ่งมีอันเข้าไปตัดเสียซึ่งความตกไปเป็นฝักฝ่ายเป็นกิจ มีความเป็นกลางเป็นผล
ตัตรมัชฌัตตตานี้ โดยที่เป็นความวางเฉยแห่งจิตและเจตสิกทั้งหลาย บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นเหมือนสารถีผู้เพ่งดูอยู่เฉย ๆ ซึ่งม้าอาชาไนย (เทียมรถ) ที่วิ่งไปเรียบแล้วฉะนั้น
'''อนิยตสังขาร 5'''
'''1 - 2. กรุณา มุทิตา'''
กรุณาและมุทิตา พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในพรหมวิหารนิทเทสเถิด แท้จริงความแปลกกันก็มีเพียงว่ากรุณาและมุทิตา (ในพรหมวิหาร) นั้นเป็นรูปาวจรถึงอัปปนา (ส่วน) กรุณา และมุทิตา (ในอนิยตสังขาร) นี้เป็นกามาวจรเท่านี้เอง แต่อาจารย์บางพวกก็ต้องการเอาเมตตาและอุเบกขาเข้าในอนิยตสังขารด้วย คำของอาจารย์เหล่านั้นไม่ควรถือเอา เพราะว่าโดยความแล้ว เมตตาก็คืออโทสะ อุเบกขาก็คือตัตรมัชฌัตตุเบกขานั่นเองแล
''(หน้าที่ 49)''
'''3 - 4 - 5. กายทุจริตวิรัติ ฯลฯ'''
ความเว้นจากกายทุจริตชื่อว่ากายทุจริตวิรัติ แม้ในวิรัติที่เหลือก็นัยนี้ ส่วนว่าโดยอาการมีลักษณะเป็นอาทิ วิรัติทั้ง 3 นั้น มีความไม่ก้าวล่วงวัตถุแห่งทุจริตมีกายทุจริตเป็นต้น มีอธิบายว่า ไม่ทำลาย (วัตถุเหล่านั้น) เป็นลักษณะ มีอันสยิ้ว (คือทำหน้านิ่วและกิริยาเกลียดชัง) แต่วัตถุแห่งทุจริตมีกายทุจริตเป็นต้นเป็นกิจ มีความไม่กระทำเป็นผล มีคุณธรรมมีสัทธา หิริ โอตตัปปะ และอัปปิจฉตา เป็นอาทิ เป็นเหตุใกล้
วิรัตินี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นภาวะที่จิตเบือนหน้าจากการทำบาปก็ได้
'''สังขารอะไรสัมปโยคกับกุศลวิญญาณดวงไหน'''
สังขาร 36 ดังกล่าวมานี้แล พึงทราบว่า ถึงความสัมปโยคกับกามาวจรกุศลวิญญาณดวงที่ 1 (คือวิญญาณที่เป็นโสมนัสสหรคต ญาณสัมปยุต อสังขาร) ก็แล สังขารที่สัมปโยคกับกามาวจรกุศลวิญญาณดวงที่ 1 เป็นฉันใด แม้ที่สัมปโยคกับกามาวจรกุศลวิญญาณดวงที่ 2 ก็เป็นฉันนั้น ความแปลกในวิญญาณดวงที่ 2 นี้ มีเพียงแต่ว่าสสังขารเท่านั้น ส่วนสังขารเว้นอโมหะที่เหลือ (35) พึงทราบว่าสัมปโยคกับวิญญาณดวงที่ 3 (คือโสมนัสสหรคต ญาณวิปยุต อสังขาร) ที่สัมปโยคกับวิญญาณดวงที่ 4 ก็อย่างนั้น แปลกแต่ในวิญญาณดวงที่ 4 นี้เป็นสสังขารเท่านั้น ส่วนว่า ในสังขารทั้งหลายที่กล่าวในวิญญาณดวงที่ 1 สังขารเว้นปีติ ที่เหลือย่อมถึงความสัมปโยคกับวิญญาณดวงที่ 5 (คืออุเบกขาสหรคต ญาณสัมปยุต อสังขาร) และแม้ที่สัมปโยคกับวิญญาณดวงที่ 6 ก็เช่นเดียวกับที่สัมปโยคกับวิญญาณดวงที่ 5 ด้วยว่าดวงวิญญาณดวงที่ 6 นั้น ก็มีแปลกแต่เพียงเป็นสสังขารเท่านั้น ส่วนสังขารเว้นอโมหะ ที่เหลือพึงทราบว่า สัมปโยคกับวิญญาณดวงที่ 7 (คืออุเบกขาสหรคต ญาณวิปยุต อสังขาร) ที่สัมปโยคกับวิญญาณดวงที่ 8 ก็อย่างนั้น แปลกแต่วิญญาณดวงที่ 8 นั้นเป็นสสังขารเท่านั้น
ส่วนว่าในสังขารทั้งหลายที่กล่าวในกามาวจรกุศลวิญญาณดวงที่ 1 สังขารเว้นวิรัติ 3 ที่เหลือ ถึงความสัมปโยคกับปฐมวิญญาณในรูปาวจรกุศล แต่นั้นสังขารทั้งหลายเว้นวิตก (เหลือ 32) สัมปโยคกับทุติยวิญญาณ แต่นั้นสังขารเว้นวิจาร (เหลือ 31) สัมปโยค
''(หน้าที่ 50)''
กับตติยวิญญาณ แต่นั้นสังขารเว้นปีติ (เหลือ 30) สัมปโยคกับจตุตถวิญญาณ แต่นั้นสังขารเว้นกรุณาและมุทิตาในฝ่ายอนิตยสังขาร (เหลือ 28) สัมปโยคกับปัญจมวิญญาณ
สังขารในอรูปกุศลวิญญาณ 4 ก็คือสังขาร (ในรูปาวจรปัญจมวิญญาณ) เหล่านั้นแหละด้วยว่าความเป็นอรูปาวจรเท่านั้น เป็นความแปลกในอรูปกุศลนั้น
ในโลกุตตรวิญญาณทั้งหลาย สังขารในมัคควิญญาณที่มีปฐมฌาน พึงทราบโดยนัยที่กล่าวในปฐมรูปาวจรวิญญาณ เป็นข้อแรก (ข้อต่อไป) สังขารในมัคควิญญาณอันต่างโดยเป็นมัคควิญญาณที่มีทุติยฌานเป็นต้น ก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวในวิญญาณเป็นลำดับไปมีทุติยรูปาวจรวิญญาณเป็นต้นเหมือนกัน แต่นี่เป็นความแปลกในโลกุตตรวิญญาณนี้ คือกรุณาและมุทิตาไม่มี 1 วิรัติเป็นนิยตะ 1 เป็นโลกุตระ 1
สังขารทั้งหลายที่เป็นกุศลเท่านั้น บัณฑิตพึงทราบโดยประการที่กล่าวมาฉะนั้น เป็นอันดับแรก
====อกุศลสังขารโลภมูล 17====
ในอกุศลสังขารทั้งหลาย ก่อนอื่น สังขารที่สัมปยุตด้วยอกุศลวิญญาณดวงที่ 1 ในโลภมูล (คือวิญญาณที่เป็นโสมนัสสหรคต ทิฏฐิคตสัมปยุต อสังขาร) มี 17 คือเป็นนิยตะมาโดยรูปของตน 13 เป็นเยวาปนกะ 4 ในอกุศลสังขาร 17 นั้น สังขาร 13 คือ ผัสสะ เจตนา วิตก วิจาร ปีติ วิริยะ ชีวิต สมาธิ อหิริกะ อโนตตัปปะ โลภะ โมหะ มิจฉาทิฏฐิ เหล่านี้เป็นนิยตะมาโดยรูปของตน สังขาร 4 คือ ฉันทะ อธิโมกข์ อุทธัจจะ มนสิการ นี้เป็นเยวาปนกะ
'''อรรถาธิบายอกุศลสังขาร โลภมูลบางข้อ'''
'''อรรถาธิบายในอกุศลสังขารเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบดังต่อไปนี้'''
'''อหิริกะ อโนตตัปปะ'''
บุคคลใดไม่ละอาย เหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่าอหิริโก (แปลว่าผู้ไม่ละอาย) ความเป็นแห่งผู้ไม่ละอาย ชื่อว่าอหิริกํ (แปลว่าความไม่อาย) ความไม่กลัวชื่อว่าอโนตตัปปะ ใน 2 อย่างนั้น
''(หน้าที่ 51)''
อหิริกะมีความไม่รังเกียจแต่ทุจริตมีกายทุจริตเป็นต้นเป็นลักษณะ หรือว่า มีความไม่ละอายแต่ทุจริตทั้งหลายเป็นลักษณะ (ก็ได้) อโนตตัปปะ มีความไม่พรั่นแต่ทุจริตทั้งหลายนั่นแลเป็นลักษณะ หรือว่า มีความไม่สะดุ้งกลัวแต่ทุจริตทั้งหลายนั้นเป็นลักษณะ (ก็ได้) นี่เป็นความสังเขปในอหิริกะและอโนตตัปปะนั้น ส่วนความพิสดาร พึงทราบโดยทำนองความที่ตรงกันข้ามกับความแห่งหิริและโอตตัปปะที่กล่าวแล้วนั้นเถิด
'''โลภะ โมหะ'''
สัตว์ทั้งหลายย่อมโลภด้วยเจตสิกธรรมนั้นเป็นเหตุ เจตสิกธรรมนั้นจึงชื่อว่าโลภะ (แปลว่าธรรมเป็นเหตุโลภแห่งสัตว์ทั้งหลาย) นัยหนึ่ง เจตสิกธรรมใดย่อมโลภอยู่เอง เจตสิกธรรมนั้นชื่อว่าโลภะ (แปลว่าธรรมอันโลภ) นัยหนึ่ง ธรรมชาตินั้นสักว่าเป็นอันโลภเท่านั้นเหตุนั้นจึงชื่อว่าโลภะ (แปลว่าความโลภ)
สัตว์ทั้งหลายย่อมหลงด้วยเจตสิกธรรมนั้นเป็นเหตุ เจตสิกธรรมนั้นจึงชื่อว่าโมหะ (แปลว่าธรรมเป็นเหตุหลงแห่งสัตว์ทั้งหลาย) นัยหนึ่ง เจตสิกธรรมใดย่อมหลงอยู่เอง เจตสิกธรรมนั้นชื่อว่าโมหะ (แปลว่าธรรมอันหลง) นัยหนึ่ง ธรรมชาตินั้นสักว่าเป็นอันหลงเท่านั้น เหตุนั้นจึงชื่อว่าโมหะ (แปลว่าความหลง)
ในโลภะและโมหะนั้น โลภะมีความยึดอารมณ์ไว้เป็นลักษณะ ดุจตังสำหรับดักลิง (ยึดลิงที่มาต้องเข้าไว้) ฉะนั้น มีอันตั้งหน้าเกาะติดไปเป็นกิจ ดุจชิ้นเนื้อที่คนโยนลงไปในกระทะอันร้อน (ก็ตั้งหน้าติดไหม้ไปในกระทะนั้น) ฉะนั้น มีอันไม่ยอมสละเป็นผล ดุจสีป้ายตามผสมน้ำมัน (ป้ายแล้วติด ล้างออกยาก) ฉะนั้น มีความเห็นว่าน่ายินดีในสัญโญชนียธรรมทั้งหลายเป็นเหตุใกล้
โลภะนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เมื่อมันขยายตัวขึ้นจนเป็นแม่น้ำคือตัณหา ก็มีแต่พาไปนรกเท่านั้น ดังแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว ก็มีแต่พาไปสู่มหาสมุทรฉะนั้น
โมหะ มีความบอดแห่งจิตเป็นลักษณะ นัยหนึ่ง มีความไม่รู้เป็นลักษณะ มีความไม่เข้าใจตลอดเป็นกิจ นัยหนึ่ง มีอันปกปิดเสียซึ่งสภาพอารมณ์เป็นกิจ มีความปฏิบัติ
''(หน้าที่ 52)''
ไม่ชอบเป็นผล นัยหนึ่ง มีความมืด (คือโง่เขลา) เป็นผล มีความทำในใจโดยไม่แยบคายเป็นเหตุใกล้
โมหะนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นมูลแห่งอกุศลทั้งปวง
'''มิจฉาทิฏฐิ'''
สัตว์ทั้งหลายย่อมเห็นผิดด้วยธรรมชาตินั้นเป็นเหตุ ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ (แปลว่าธรรมชาติเป็นเหตุเห็นผิดแห่งสัตว์ทั้งหลาย) นัยหนึ่ง ธรรมชาติใดย่อมเห็นผิดอยู่เอง ธรรมชาตินั้นชื่อมิจฉาทิฏฐิ (แปลว่าธรรมชาติอันเห็นผิด) นัยหนึ่ง ธรรมชาตินั้นสักว่าเป็นอันเห็นผิด เหตุนั้นจึงชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ (แปลว่าความเห็นผิด)
มิจฉาทิฏฐินั้น มีความยึดมั่นโดยไม่ถูกทางเป็นลักษณะ มีการจับเอาผิด ๆ เป็นกิจ มีความปักใจผิดเป็นผล มีโทษอันมีความไม่อยากเห็นพระอริยะทั้งหลายเป็นต้นเป็นเหตุใกล้ มิจฉาทิฏฐินี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นบรมวัชชะ (มีโทษอย่างยิ่ง)
'''อุทธัจจะ'''
ความที่จิตฟุ้งซ่านชื่อว่าอุทธัจจะ อุทธัจจะนั้นมีความไม่สงบราบเป็นลักษณะ ดุจน้ำกระเพื่อมเพราะลมตีฉะนั้น มีความไม่หยุดนิ่งเป็นกิจ ดุจธงและผืนผ้าอ้นโบกสะบัดเพราะลมต้องฉะนั้น มีอาการหมุน (กระจัดกระจาย) ไปเป็นผล ดุจเถ้าอันฟุ้งกระจายเพราะถูกทุ่มด้วยก้อนหินฉะนั้น มีความทำในใจโดยไม่แยบคาย เพราะความไม่สงบลงแห่งใจเป็นผล
อุทธัจจะนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นความซัดส่าย (ไปมา) แห่งจิต
อกุศลสังขารที่เหลือ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในกุศลสังขารเถิด ด้วยว่าความเป็นอกุศลและความเป็นเจตสิกธรรมเลวทรามด้วยความเป็นอกุศลเท่านั้น เป็นความแปลกของมันจากกุศลสังขารเหล่านั้น
''(หน้าที่ 53)''
'''สังขารอะไรสัมปโยคกับอกุศลวิญญาณดวงไหน'''
สังขาร 17 ดังกล่าวมานี้ พึงทราบว่า ถึงความสัมปโยคกับอกุศลวิญญาณดวงที่ 1 (ในโลภมูลคือวิญญาณที่เป็นโสมนัสสหรคต ทิฏฐิคตสัมปยุต อสังขาร) ก็แลสังขารที่สัมปโยคกับอกุศลวิญญาณดวงที่ 1 (นี้) เป็นฉันใด แม้ที่สัมปโยคกับอกุศลวิญญาณดวงที่ 2 ก็เป็นฉันนั้น ส่วนว่าความต่างในอกุศลวิญญาณดวงที่ 2 นี้ ก็คือความเป็นสสังขาร และถีนมิทธะ เป็นอนิยตะ
'''ถีนมิทธะ'''
ในถีนมิทธะนั้น ความท้อแท้ชื่อว่าถีนะ ความง่วงงุนชื่อว่ามิทธะ ขยายความว่า กิริยาที่ม้วนกลับ (คือถอย) เสีย ด้วยหมดอุตสาหะ (มิทธะก็คือ) ทลายลง (คือเลิกล้ม) เสียด้วยหมดความสามารถ ถีนะด้วยมิทธะด้วย (รวมกัน) ชื่อว่าถีนมิทธะ ในสองอย่างนั้น ถีนะมีความไม่มีอุตสาหะเป็นลักษณะ มีอันคลายความเพียรเสียเป็นกิจ มีอันจมอยู่เป็นผล มิทธะมีอันไม่ควรแก่การงาน (คือไม่คล่องแคล่ว) เป็นลักษณะ มีอันปิด (ทวาร) ลงเป็นกิจมีอันหู่เข้าเป็นผล หรือว่า มีอันหลับโงกเป็นผล (ก็ได้) ทั้งสองอย่างด้วยกันมีความทำในใจโดยไม่ถูกทาง ในเพราะความไม่ยินดี (ในกุศลธรรม) และความคร้านกายเป็นต้นเป็นเหตุใกล้
ในสังขารทั้งหลายที่กล่าวในอกุศลวิญญาณดวงที่ 1 สังขาร เว้นมิจฉาทิฏฐิที่เหลือ (16) พึงทราบว่า สัมปโยคกับอกุศลวิญญาณดวงที่ 3 (คือโสมนัสสหรคต ทิฏฐิคตวิปยุต อสังขาร) แต่มานะในอกุศลวิญญาณดวงที่ 3 นี้เป็นอนิยตะ นี่เป็นความแปลก
'''มานะ'''
มานะนั้น มีความหยิ่งเป็นลักษณะ มีความยกตัวเป็นกิจ มีความใคร่เป็นเช่นธง (คืออยากเดิน) เป็นผล
มานะนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นดังความบ้า
ในสังขารทั้งหลายที่กล่าวในอกุศลวิญญาณดวงที่ 2 (คือโสมนัสสหรคต ทิฏฐิคตสัมปยุต สสังขาร) สังขารที่เหลือเว้นมิจฉาทิฏฐิพึงทราบว่า สัมปโยคกับอกุศลวิญญาณ
''(หน้าที่ 54)''
ดวงที่ 4 (คือโสมนัสสหรคต ทิฏฐิคตวิปยุต สสังขาร) แม้ในอกุศลวิญญาณดวงที่ 4 นี้เล่า มานะก็เป็นสังขารในจำพวกอนิยตะเหมือนกัน ส่วนว่าในสังขารทั้งหลายที่กล่าวในอกุศลวิญญาณดวงที่ 1 สังขารที่เหลือเว้นปีติถึงความสัมปโยคกับอกุศลวิญญาณดวงที่ 5 (คืออุเบกขาสหรคต ทิฏฐิคตสัมปยุต อสังขาร) และแม้สังขารที่สัมปโยคกับอกุศลวิญญาณดวงที่ 6 (คืออุเบกขาสหรคต ทิฏฐิคตสัมปยุต สสังขาร) ก็เหมือนสังขารที่สัมปโยคกับอกุศลวิญญาณดวงที่ 5 แปลกกันแต่ในดวงที่ 6 นี้เป็นสสังขารและถีนมิทธะเป็นอนิยตะในสังขารทั้งหลายที่กล่าวในอกุศลวิญญาณดวงที่ 5 สังขารที่เหลือเว้นทิฏฐิพึงทราบว่าสัมปโยคกับอกุศลวิญญาณดวงที่ 7 (คืออุเบกขาสหรคต ทิฏฐิคตวิปยุต อสังขาร) แต่ในอกุศลวิญญาณดวงที่ 7 นี้ มานะเป็นอนิยตะ ในสังขารทั้งหลายที่กล่าวในอกุศลวิญญาณดวงที่ 6 สังขารที่เหลือเว้นทิฏฐิพึงทราบว่า สัมปโยคกับอกุศลวิญญาณดวงที่ 8 (คืออุเบกขาสหรคต ทิฏฐิคตวิปยุต สสังขาร) แม้ในอกุศลวิญญาณดวงที่ 8 นี้เล่า มานะก็เป็นสังขารในจำพวกอนิยตะเหมือนกันแล
'''อกุศลสังขารโทสมูล 18'''
ส่วนในโทสมูล 2 อันดับแรก สังขารที่สัมปยุตด้วยอกุศลวิญญาณดวงที่ 1 (คือ โทมนัสสหรคต ปฏิฆสัมปยุต อสังขาร) มี 18 คือเป็นนิยตะมาโดยรูปของตน 11 เป็นเยวาปนกะ 4 เป็นอนิยตะ 3 ในอกุศลสังขาร 18 นั้น สังขาร 11 คือ ผัสสะ เจตนา วิตก วิจาร วิริยะ ชีวิต สมาธิ อหิริกะ อโนตตัปปะ โทสะ โมหะ เหล่านี้ เป็นนิยตะมาโดยรูปของตน สังขาร 4 คือ ฉันทะ อธิโมกข์ อุทธัจจะ มนสิการ นี้เป็นเยวาปนกะ สังขาร 3 คือ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ นี้เป็นอนิยตะ
'''อรรถาธิบายอกุศลสังขารโทสมูลบางข้อ'''
'''โทสะ'''
พึงทราบอรรถในบทเหล่านั้น (ดังนี้) สัตว์ทั้งหลายย่อมประทุษร้ายด้วยเจตสิกธรรมนั้น เหตุนั้น เจตสิกธรรมนั้น จึงชื่อว่าโทสะ (แปลว่าธรรมเป็นเหตุประทุษร้ายแห่งสัตว์ทั้งหลาย) นัยหนึ่ง ธรรมชาตินั้นสักว่าเป็นประทุษร้ายเท่านั้นจึงชื่อว่าโทสะ (แปลว่าความประทุษร้าย)
''(หน้า 55)''
โทสะนั้น มีความดุเป็นลักษณะ ดังอสรพิษที่ถูกตี มีความพลุ่งพล่านไปเป็นกิจ ดังถูกพิษแทรก นัยหนึ่ง มีอันเผาที่อาศัยของตนเสียเป็นกิจ ดังไฟป่า มีความประทุษร้ายเป็นปัจจุปัฏฐาน ดังข้าศึกได้โอกาส มีอาฆาตวัตถุ (เรื่องที่จะให้เกิดอาฆาต) เป็นปทัฏฐาน
โทสะนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นเหมือนน้ำมูตรเน่าระคนยาพิษฉะนั้น
'''อิสสา'''
ความประพฤติหึงหวงชื่อว่าอิสสา (ริษยา) อิสสานั้นมีความทนไม่ได้ต่อสมบัติ (ความได้ดี) ของคนอื่นเป็นลักษณะ มีความไม่ยินดีด้วยในสมบัติของผู้อื่นนั้นแหละเป็นกิจ มีความเบือนหน้าจากสมบัติของผู้อื่นนั้นเป็นผล มีสมบัติของผู้อื่นเป็นเหตุใกล้
อิสสานี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นสังโยชน์ (เครื่องผูกมัดจิต)
'''มัจฉริยะ'''
ความตระหนี่ชื่อว่ามัจฉริยะ มัจฉริยะนั้น มีการปิดซ่อนสมบัติทั้งหลายของตนที่ได้มาแล้ว หรือ ที่พึงได้ก็ตามไว้เป็นลักษณะ มีความทนไม่ได้ต่อความที่สมบัติทั้งหลายของตนนั้น จะเป็นของที่ไปกับคนอื่น ๆ เป็นกิจ มีความสยิ้วเป็นผล นัยหนึ่ง มีความเป็นเสื้อเกราะที่รัดกุม (คือความเหนียวแน่น) เป็นผล มีสมบัติของตนเป็นเหตุใกล้
มัจฉริยะนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่าเป้นความผิดรูป (คือพิการ) แห่งใจ
'''กุกกุจจะ'''
การทำ (ทางใจ) อันบัณฑิตเกลียด (คือไม่ดี) ชื่อว่ากุกตะ ภาวะแห่งกุกตะนั้นชื่อว่ากุกกุจจะ (แปลว่า ความเป็นการทำ (ทางใจ) อันบัณฑิตเกลียด) กุกกุจจะนั้น มีความทำให้ร้อนใจในภายหลังเป็นลักษณะ มีความเศร้าใจถึงการที่ทำและการที่มิได้ทำเป็นกิจ มีความเดือดร้อนเป็นผล มีการที่ทำและการที่มิได้ทำเป็นเหตุใกล้
กุกกุจจะนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เหมือนความเป็นทาส
อกุศลสังขารที่เหลือ ก็มีประการดังกล่าวแล้วนั่นแล
''(หน้า56)''
สังขาร 18 ที่กล่าวมานี้แล บัณฑิตพึงทราบว่า ถึงความสัมปโยคกับอกุศลวิญญาณที่เป็นโทสมูลดวงที่ 1 ก็แลสังขารที่ถึงความสัมปโยคกับอกุศลวิญญาณโทสมูลดวงที่ 1 ก็แลสังขารที่ถึงความสัมปโยคกับอกุศลวิญญาณโทสมูลดวงที่ 1 เป็นฉันใด แม้ที่ถึงความสัมปโยคกับโทสมูลดวงที่ 2 ก็ฉันนั้น แต่ความแปลก (ในดวงที่ 2 นี้) ก็คือเป็นสสังขารและในพวกอนิยตะมีถีนมิทธะด้วย
'''อกุศลสังขารโมหมูล 13'''
ส่วนในโมหมูล 2 (ว่า) ทางวิจิกิจฉาสัมปยุตก่อน สังขาร (เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุต) 13 คือ (เป็นนิยตะ) มาโดยรูปของตน 11 คือ ผัสสะ เจตนา วิตก วิจาร วิริยะ ชีวิต จิตตฐิติ (ความหยุดแห่งจิต) อหิริกะ อโนตตัปปะ โมหะ วิจิกิจฉา และเป็นเยวาปนกะ 2 คือ อุทธัจจะและมนสิการ ในคำเหล่านั้น คำว่า จิตตฐิติ หมายเอาอาการสักว่าความหยุดแห่งปวัตติจิต (เป็นขณะ ๆ) ไก้แก่ สมาธิอย่างอ่อน
ความแน่ใจปราศไปแล้ว เหตุนั้นจึงชื่อว่าวิจิกิจฉา วิจิกิจฉานั้นมีความสงสัยเป็นลักษณะ มีอันไหวไปเป็นกิจ มีอันไม่ชี้ขาดเป็นผล นัยหนึ่งว่า มีอันถือเอาหลายอย่างเป็นผล มีความทำในใจโดยไม่ถูกทางในเพราะความลังเลเป็นเหตุใกล้
วิจิกิจฉานี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นธรรมชาติอันทำอันตราย (ขัดขวาง) แก่การปฏิบัติ
สังขาร (วิจิกิจฉาสัมปยุต) ที่เหลือ ก็มีประการดังกล่าวแล้วนั่นแล
(ว่า) ทางอุทธัจจสัมปยุต ในสังขารทั้งหลายที่กล่าวในวิจิกิจฉาสัมปยุต เว้นวิจิกิจฉาสังขารที่เหลือ 12 เป็นอุทธัจจสัมปยุต แต่เพราะในอุทธัจจสัมปยุตนี้ ไม่มีวิจิกิจฉาอธิโมกข์ (ความตัดสินใจ) จึงเกิดขึ้น รวมกับอธิโมกข์นั้นก็เป็น 13 เหมือนกัน และเพราะมีอธิโมกข์ร่วม (จิตตฐิติ) จึงเป็นสมาธิมีกำลังมากกว่า อนึ่ง อุทธัจจะใดในอุทธัจจสัมปยุตนี้ อุทธัจจะนั้นมาโดยรูปของตนแท้ อธิโมกข์และมนสิการ มาโดยเป็นเยวาปนกะแล
สังขารที่เป็นอกุศลทั้งหลาย พึงทราบโดยประการที่กล่าวมาฉะนี้
''(หน้า 57)''
====อัพยากฤตสังขารฝ่ายวิบาก====
'''อเหตุกวิบาก'''
ในอัพยากฤตสังขารทั้งหลาย อันดับแรก อัพยากฤตสังขารฝ่ายวิบากมี 2 โดยแยกเป็นอเหตุกะและสเหตุกะ ใน 2 อย่างนั้น อัพยากฤตสังขารที่สัมปยุตด้วยอเหตุกวิปากวิญญาณจัดเป็นอเหตุกสังขาร ในอเหตุกสังขารทั้งหลายนั้น ข้อแรก สังขารที่สัมปยุตด้วยจักขุวิญญาณทั้งที่เป็นกุศลวิบากและอกุศลวิบากมี 5 คือ สังขารที่มาโดยรูปของตน 4 คือ ผัสสะ เจตนา ชีวิต จิตตฐิติ ที่เป็นเยวาปนกะมีแต่มนสิการอย่างเดียว แม้ที่สัมปยุตด้วย โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ และกายวิญญาณ ก็ 5 นั่นแหละ ในมโนธาตุที่เป็นวิบากทั้งสองฝ่าย (คือทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล) มี 8 คือสังขาร 5 นั้น และ วิตก วิจาร อธิโมกข์ด้วย แม้ในอเหตุกมโนวิญญาณธาตุทั้ง 3 (คืออุเบกขาสหรคต สุขสหรคต โสมนัสสหรคต) ก็อย่างนั้น แต่ในอเหตุกมโนวิญญาณธาตุนี้ มโนวิญญาณธาตุใดเป็นโสมนัสสหรคต ปีติ (ที่เกิด) พร้อมกับมโนวิญญาณธาตุนั้น พึงทราบว่า เป็นอธิกปีติ (ปีติยิ่ง)
'''สเหตุกวิบาก'''
ส่วนอัพยากฤตสังขารที่สัมปยุตด้วยสเหตุกวิปากวิญญาณ จัดเป็นสเหตุกสังขาร ในสเหตุกสังขารทั้งหลายนั้น ข้อแรก สังขารที่สัมปยุตด้วยกามาวจรวิปากวิญญาณ 8 ก็เป็นเช่นเดียวกับสังขารที่สัมปยุตด้วยกามาวจรกุศลวิญญาณ 8 นั่นเอง แต่กรุณาและมุทิตาใดในจำพวกนิยตสังขาร กรุณาและมุทิตานั้นไม่มีในพวกวิปากสังขาร เพราะกรุณาและมุทิตาเป็นสัตตารมณ์ (มีสัตว์เป็นอารมณ์) ฝ่ายกามาวจรวิปากสังขารทั้งหลาย เป็นปริตตารมณ์ (มีกามาวจรธรรมเป็นอารมณ์) ส่วนเดียว และมิใช่แต่กรุณาและมุทิตาเท่านั้น แม้วิรัติทั้งหลาย ก็ไม่มีในพวกวิปากสังขาร เพราะท่านกล่าวว่า "สิกขาบท 5 เป็นกุศลเท่านั้น" ส่วนอัพยากฤตสังขารทั้งหลาย ที่สัมปยุตด้วยวิปากวิญญาณ ที่เป็นรูปาวจร อรูปาวจร และโลกุตตระ ก็เป็นเช่นเดียวกับสังขารที่สัมปยุตด้วยกุศลวิญญาณแห่งวิปากวิญญาณเหล่านั้นนั่นเอง
''(หน้า 58)''
====อัพยากฤตสังขารฝ่ายกิริยา====
แม้อัพยากฤตสังขารฝ่ายกิริยาก็เป็น 2 โดยแยกเป็นอเหตุกะและสเหตุกะ ในสองอย่างนั้น อัพยากฤตสังขารทั้งหลายที่สัมปยุตด้วยอเหตุกกิริยาวิญญาณจัดเป็นอเหตุกะ อเหตุกกิริยาสังขารเหล่านั้น ก็เสมอกับสังขารที่ประกอบด้วยกุศลวิปากมโนธาตุ และอเหตุกมโนวิญญาณธาตุทั้งคู่ แต่วิริยะ (ที่ประกอบ) ด้วยมโนวิญญาณธาตุทั้งคู่เป็นอธิกวิริยะ (วิริยะยิ่ง) และสมาธิก็เป็นสมาธิถึงซึ่งความมีกำลังเพราะมีวิริยะร่วม นี่เป็นความแปลกในสังขารที่ประกอบด้วยมโนวิญญาณธาตุทั้งคู่นั้น
ส่วนอัพยากฤตสังขารทั้งหลาย ที่สัมปยุตด้วยสเหตุกกิริยาวิญญาณจัดเป็นสเหตุกะในสเหตุกกิริยาสังขารเหล่านั้น ข้อแรก สังขารที่สัมปยุตด้วยกามาวจรกิริยาวิญญาณ 8 เว้นวิรัติ ก็เป็นเช่นกับสังขารที่สัมปยุตด้วยกามาวจรกุศล 8 สังขารที่สัมปยุตด้วยรูปาวจรกิริยาวิญญาณและอรูปาวจรกิริยาวิญญาณเล่า ก็เป็นเช่นสังขารที่สัมปยุตกับตัวกุศลวิญญาณแห่งกิริยาวิญญาณเหล่านั้นทุกประการเหมือนกันแล
สังขารทั้งหลายแม้ที่เป็นอัพยากฤต บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่กล่าวมาฉะนี้
นี่เป็นกถามุขอย่างพิสดารในสังขารขันธ์
นี่เป็นกถามุขอย่างพิสดารในขันธ์ทั้งหลายตามนัยแห่งภาชนีย์ในพระอภิธรรมเท่านี้ก่อน
==ขันธ์แบบสุตตันตภาชนีย์==
'''แจกขันธ์โดยกาลเป็นต้นตามนัยพระสูตร'''
ก็แลขันธ์ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้า (ทรงจำแนก) ให้พิสดารอย่างนี้ว่า "รูปทุกอย่างทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรืออยู่ในที่ใกล้ก็ตาม กลุ่มรูปนี้เรียกว่า รูปขันธ์ เพราะรวบรวมรูป (ที่แจงมา) นั้นเข้าด้วยกัน เวทนาทุกอย่างทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ กลุ่มเวทนานี้ เรียกว่า เวทนาขันธ์ เพราะรวบรวมเวทนา (ที่แจ้งมา) นั้นเข้าด้วยกัน สัญญา
''(หน้า 59)''
ทุกอย่างทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ กลุ่มสัญญานี้เรียกว่า สัญญาขันธ์ เพราะรวบรวมสัญญา (ที่แจ้งมา) นั้นเข้าด้วยกัน สังขารทุกอย่างทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ กลุ่มสังขารนี้เรียกว่า สังขารขันธ์ เพราะรวบรวมสังขาร (ที่แจงมา) นั้นเข้าด้วยกัน วิญญาณทุกอย่าง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือเป็นภายนอกก็ตาม ฯลฯ กลุ่มวิญญาณนี้เรียกว่าวิญญาณขันธ์ เพราะรวบรวมวิญญาณ (ที่แจงมา) นั้นเข้าด้วยกัน" ดังนี้
'''อรรถาธิบายรูปวิภาค'''
ในบทบาลีเหล่านั้น บทว่า '''ยงฺกิญฺจิ''' ทุกอย่าง เป็นคำ (มีความหมายว่า) ถือเอาหมดไม่มีเหลือ บทว่า '''รูป''' รูปเป็นคำจำกัดสิ่งที่ประสงค์โดยเฉพาะด้วยบททั้งสอง ดังนี้ ก็เป็นอันได้ทรงทำความกำหนดเอารูปอย่างไม่เหลือหลอ ต่อนั้นจึงทรงเริ่มจำแนกรูปนั้น โดยกาลมีอดีตเป็นอาทิ จริงอยู่ รูปนั้น บ้างก็เป็นอดีต บ้างก็แตกต่างเป็นอนาคตเป็นต้นแล นัยแม้ในขันธ์ที่เหลือมีเวทนาเป็นต้น ก็ดุจนัยนี้
'''รูปขันธ์'''
ในขันธ์ทั้งหลายนั้น ข้อแรก รูปจัดเป็นอดีตโดยส่วน 4 ด้วยอำนาจแห่งอัทธาสันตติ สมัย และขณะ ที่เป็นอนาคตและปัจจุบันก็อย่างนั้น
ในส่วน 4 นั้น ว่าโดยอัทธาก่อน ในภพหนึ่ง รูปของบุคคลผู้หนึ่งในกาลก่อนแต่ปฏิสนธิ จัดเป็นอดีต รูปในกาลต่อแต่จุติไปเป็นอนาคต รูปในระหว่างกาลทั้งสองนั้นจัดเป็นปัจจุบัน
ว่าโดย '''สันตติ''' รูปอันมีอุตุ ที่เป็นสภาคอันหนึ่งเป็นสมุฏฐาน และมีอาการ (ที่เป็นสภาค) อันหนึ่งเป็นสมุฏฐาน แม้เป็นไปด้วยอำนาจระยะกาลเป็นเบื้องต้นและเบื้องปลายก็ดีจัดเป็นปัจจุบัน รูปที่อุตุและอาหารเป็นวิสภาคเป็นสมุฏฐาน ในกาลก่อนแต่นั้นจัดเป็นอดีตภายหลังแต่นั้นจัดเป็นอนาคต ฝ่ายรูปที่เกิดแต่จิต มีวิถีจิตหนึ่ง ชวนจิตหนึ่ง และสมาปัตติจิตหนึ่งเป็นสมุฏฐานจัดเป็นปัจจุบัน รูปในกาลก่อนแต่นั้นจัดเป็นอดีต รูปในกาลภายหลังนั้น
''(หน้า 60)''
เป็นอนาคต สำหรับรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน หามีการแยกประเภทเป็นอดีตเป็นต้น ด้วยอำนาจสันตติเป็นส่วนหนึ่งต่างหากไม่ แต่ความเป็นอดีตเป็นต้นแห่งรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานนั้น พึงทราบ (ว่าเป็น) โดยเป็นอุปถัมภกปัจจัยของรูปที่มีอุตุอาหาร และจิตเป็นสมุฏฐาน เหล่านั้นแหละ
ว่า '''โดยสมัย''' รูปสมัยนั้น ๆ อันเป็นไปโดยสืบต่อกันในสมัยทั้งหลายมีครู่หนึ่ง ตอนเช้า ตอนเย็น และตอนกลางวันเป็นต้นจัดเป็นปัจจุบัน รูปในสมัยก่อนแต่นั้นจัดเป็นอดีต รูปในสมัยหลังแต่นั้นจัดเป็นอนาคต
ว่า '''โดยขณะ''' รูปที่เนื่องอยู่ในขณะ 3 มีอุปปาทขณะเป็นต้นจัดเป็นปัจจุบัน รูปก่อนนั้นจัดเป็นอนาคต รูปหลังจากนั้นจัดเป็นอดีต อีกอย่างหนึ่ง รูปที่มีเหตุกิจและปัจจัยกิจล่วงไปแล้วจัดเป็นอดีต รูปที่มีเหตุกิจเสร็จแล้วแต่ปัจจัยกิจยังไม่เสร็จ จัดเป็นปัจจุบัน รูปที่กิจทั้งสองยังไม่ถึงเข้าจัดเป็นอนาคต หรือว่า รูปในขณะทำกิจของตนเป็นปัจจุบัน รูปก่อนนั้นเป็นอนาคต รูปหลังนั้นเป็นอดีต
ก็แลในกถาจำแนกรูปนี้ ขณาทิกถา (ว่าด้วยขณะ) อย่างเดียว ไม่มีปริยาย กถาที่เหลือมีปริยาย
ประเภทรูปภายในและรูปภายนอก มีนัยดังกล่าวมาแล้วนั่นแล แต่ว่า ในสุตตันตนัยนี้ พึงทราบว่า แม้รูปที่มีอยู่ภายในตนของตนก็จัดเป็นภายใน และแม้รูปที่เป็นภายในของบุคคลอื่น ก็จัดเป็นภายนอกด้วย ประเภทรูปหยาบและรูปละเอียด ก็มีนัยดังกล่าวแล้วเหมือนกัน
ประเภทรูปเลวและรูปปราณีต เป็น 2 คือ โดยปริยาย 1 (คือแยกเป็นชั้นๆ) โดยนิปปริยาย 1 (คือไม่แยกเป็นชั้นๆ) ใน 2 อย่างนั้น ความเป็นรูปเลว และรูปประณีตโดยปริยาย พึงทราบโดยปริยาย คือรูปของเทพเหล่าสุทัสสา เลวกว่ารูปของเทพเหล่าอกนิฏฐา รูปของเทพเหล่าสุทัสสีนั้นแหละ ประณีตกว่ารูปของเทพเหล่าสุทัสสา ดังนี้ จนกระทั่งถึงรูปของพวกสัตว์นรก (เลวกว่ารูปของพวกมนุษย์) สว่นความเป็นรูปเลว และรูปประณีตโดยนิปปริยาย พึงทราบว่า อกุศลวิปากวิญญาณเกิดขึ้นในรูปใด รูปนั้นก็เป็นรูปเลว กุศลวิปากวิญญาณเกิดขึ้นในรูปใด รูปนั้นก็เป็นรูปประณีต
''(หน้า 61)''
แม้ข้อว่า รูปไกลรูปใกล้นี้ ก็มีนัยกล่าวมาแล้วเหมือนกัน แต่ว่าในข้อนี้ พึงทราบความเป็นรูปไกลและรูปใกล้โดยอาศัยเทียบกันโดยโอกาส (คือที่ตั้งอยู่ของรูปนั้น ๆ) ด้วย
ในปาฐะว่า '''ตเทกชฺฌํ อภิสญฺญูหิตฺวา อภิสงฺขิปิตฺวา''' เพราะรวบรวมรูป (ที่แจงมา) นั้นเข้าด้วยกัน นี้ มีความ (ดัง) นี้ว่า จากรูปนี้เรียกว่ารูปขันธ์ เพราะทำรูปที่ทรงแจงออกเป็นส่วน ๆ ด้วยบททั้งหลาย มีอดีตเป็นต้นนั้นทั้งสิ้น เข้าเป็นกองด้วยปัญญา ในความเป็นอย่างเดียว ที่ได้แก่ รุปปนลักษณะ (ลักษณะที่รู้ทำลายได้) ด้วยปาฐะนี้ เป็นอันแสดงว่ารูปทั้งสิ้น ชื่อว่ารูปขันธ์ เพราะเข้าถึงความ (รวมเข้า) เป็นกอง ได้ในรูปปนลักษณะ ด้วยขึ้นชื่อว่ารูปขันธ์ จะเป็นอื่นไปจากรูปหามีไม่
ก็แล รูป (ได้ชื่อว่ารูปขันธ์ เพราะเข้าถึงความ (รวมเข้า) เป็นกองในรุปปนลักษณะได้) ฉันใด แม้เวทนาเป็นต้น ก็ได้ชื่อว่าขันธ์มีเวทนาขันธ์เป็นอาทิ เพราะเข้าถึงความ (รวมเข้า) เป็นกอง ในลักษณะทั้งหลายมีเวทยิตลักษณะ (ลักษณะที่รู้รสเสวยอารมณ์) เป็นต้นได้ ฉันนั้น ด้วยว่าขึ้นชื่อว่าขันธ์ทั้งหลายมีเวทนาขันธ์เป็นอาทิ จะเป็นอื่นไปจากเวทนาเป็นต้นหามีไม่
ส่วน ในการจำแนกโดยกาลมีอดีตเป็นต้น ในเวทนาขันธ์ พึงทราบความเป็นอดีตอนาคตและปัจจุบันแห่งเวทนา ด้วยอำนาจสันตติและด้วยอำนาจขณะเป็นต้น
ในสันตติและขณะเป็นต้นนั้น ว่าโดยสันตติ เวทนาที่เนื่องอยู่ในวิถีจิตหนึ่ง ชวนจิตหนึ่งและสมาปัตติจิตหนึ่ง และเวทนาที่เป็นไปโดยประกอบอยู่กับอารมณ์อย่างเดียวเป็นปัจจุบัน เวทนาในกาลก่อนแต่นั้นเป็นอดีต เวทนาในกาลภายหลังแต่นั้นเป็นอนาคต
ว่าโดยขณะเป็นต้น เวทนาที่เนื่องอยู่ในขณะ 3 และเวทนาที่กำลังทำกิจของตนที่เป็นตอนต้น ตอนปลาย และตอนกลางเป็นปัจจุบัน เวทนาในขณะก่อนนั้นเป็นอดีต เวทนาในขณะภายหลังนั้นเป็นอนาคต
ประเภทเวทนาภายในภายนอก พึงทราบโดยเป็นเวทนาภายในตนของตนและของบุคคลอื่น ประเภทเวทนาหยาบละเอียด พึงทราบด้วยอำนาจแห่งชาติ สภาวะ บุคคล โลกิยะ และโลกุตระ ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์วิภังค์ โดยนัยว่า "เวทนาที่เป็นอกุศลเป็นเวทนาหยาบ เวทนาที่เป็นกุศลและอัพยากฤต เป็นเวทนาละเอียด" ดังนี้เป็นต้น
''(หน้า 62)''
ก่อนอื่น ว่าโดยธรรมชาติ เวทนาที่เป็นอกุศล หยาบกว่าเวทนาที่เป็นกุศล เหตุมีความเป็นไปไม่สงบ (ไม่เรียบราบ) เพราะเป็นเหตุแห่งการทำกรรมที่มีโทษ และเพราะมีความเร่าร้อนด้วยกิเลส หยาบกว่าเวทนาที่เป็นวิบากอัพยากฤต เพราะเป็นไปกับความพยายาม (ที่จะให้มีวิบาก) เพราะเป็นไปกับความอุตสาหะ (คือความสามารถในอันทำวิบากให้เกิด) เพราะเป็นไปกับวิบาก (คือวิบาก) เพราะมีความเร่าร้อนด้วยกิเลส เพราะเป็นไปกับความลำบาก และเพราะเป็นไปกับโทษ หยาบกว่าเวทนาที่เป็นกิริยาอัพยากฤต เพราะเป็นไปกับวิบาก เพราะมีความเร่าร้อนด้วยอำนาจกิเลส เพราะเป็นไปกับความลำบาก และเพราะเป็นไปกับโทษ ส่วนเวทนาที่เป็นกุศลและเวทนาที่เป็นอัพยากฤต ละเอียดกว่าเวทนาที่เป็นอกุศล โดยปริยายต่างจากปริยายที่กล่าวแล้ว (ตรงกันข้าม) เวทนาที่เป็นกุศลและอกุศลทั้งสองหยาบกว่าเวทนาที่เป็นอัพยากฤตทั้งสองฝ่าย เพราะเป็นไปกับความพยายาม เพราะเป็นไปกับความอุตสาหะ และเพราะเป็นไปกับวิบากตามที่ควรกัน เวทนาที่เป็นอัพยากฤตทั้งสองฝ่ายเล่า ก็ละเอียดกว่าเวทนาที่เป็นกุศลและเวทนาที่เป็นอกุศลทั้งสองนั้น โดยปริยายต่างจากปริยายที่กล่าวแล้ว (ตรงข้าม)
ความเป็นเวทนาหยาบละเอียดด้วยอำนาจแห่งชาติ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก
ส่วนว่าโดยสภาวะ ทุกขเวทนาหยาบกว่าเวทนา 2 นอกนี้ไม่มีอัสสาทะ (ไม่มีรสอร่อย) เพราะเป็นไปกับความเผยตัว เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความหวาดกลัว และเพราะข่มเอาฝ่ายเวทนา 2 นอกนี้ ก็ละเอียดกว่าทุกขเวทนา เพราะเป็นที่ยินดี เพราะละเอียด เพราะประณีต เพราะน่าชอบใจ และเพราะเป็นกลาง ๆ ตามที่ควรกัน ส่วนสุขเวทนาและทุกขเวทนาทั้งสองหยาบกว่าอทุกขมสุขเวทนา เพราะเป็นไปกับความเผยตัว เพราะทำความไหวตัว และเพราะความปรากฏ อทุกขมสุขเวทนานั้นละเอียดกว่าสุขเวทนาและทุกขเวทนาทั้งสองนั้น โดยปริยายต่างจากปริยายที่กล่าวแล้ว (ตรงกันข้าม)
ความเป็นเวทนาหยาบละเอียดด้วยอำนาจแห่งสภาวะ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้
''(หน้า 63)''
ส่วนว่าโดยบุคคล เวทนาของบุคคลผู้มิได้เข้าสมาบัติ หยาบกว่าเวทนาของท่านผู้เข้าสมาบัติ เพราะเวทนาของท่านผู้เข้าสมาบัตินั้นซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ เวทนานอกนี้ (คือเวทนาของท่านผู้เข้าสมาบัติ) ก็ละเอียด (กว่าเวทนาอีกฝ่าย) โดยปริยายตรงกันข้าม
ความเป็นเวทนาหยาบละเอียดด้วยอำนาจแห่งบุคคล พึงทราบโดยนัยดังกล่าวมานี้
ส่วนว่าโดยโลกิยะและโลกุตตระ เวทนาที่เป็นไปกับอาสวะเป็นโลกิยเวทนา เวทนาที่เป็นไปกับอาสวะนั้น หยาบกว่าเวทนาอันหาอาสวะมิได้ เพราะเป็นเหตุเกิดอาสวะ เพราะเกื้อกูลแก่โอฆะ เพราะเกื้อกูลแก่โยคะ เพราะเกื้อกูลแก่คันถะ เพราะเกื้อกูลแก่นิวรณ์ เพราะเกื้อกูลแก่อุปาทาน เพราะเกี่ยวเนื่องด้วยสังกิเลส และเพราะมีทั่วไปแก่ปุถุชน เวทนา อันหาอาสวะมิได้นั้นละเอียดกว่าเวทนาที่เป็นไปกับอาสวะ โดยปริยายตรงกันข้าม
ความเป็นเวทนาหยาบละเอียด ด้วยอำนาจแห่งโลกิยะและโลกุตตระ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวมานี้
'''หยาบละเอียดเป็นส่วน ๆ อย่าให้ปนกัน'''
ความปนคละกันด้วยอำนาจแห่งชาติเป็นต้น ในความหยาบละเอียดตามที่กล่าวมานั้นบัณฑิตพึงกันเสีย (อย่าให้ปนกันวุ่น) เพราะว่าเวทนาที่สัมปยุตด้วยกายวิญญาณอันเป็นอกุศลวิบาก แม้จัดเป็นเวทนาละเอียด เพราะเป็นอัพยากฤตโดยชาติ แต่ก็เป็นเวทนาหยาบโดยส่วนอื่นมีสภาวะเป็นต้น สมพระบาลีว่า "อัพยากฤตเวทนา เป็นเวทนาละเอียด ทุกขเวทนาเป็นเวทนาหยาบ เวทนาของผู้มิได้เข้าสมาบัติเป็นเวทนาหยาบ เวทนาของผู้เข้าสมาบัติเป็นเวทนาละเอียด เวทนาที่เป็นไปกับอาสวะเป็นเวทนาหยาบ เวทนาอันหาอาสวะมิได้ เป็นเวทนาละเอียด" ดังนี้ และทุกขเวทนาเป็นฉันใด แม้สุขเวทนาเป็นต้น ก็เป็นเวทนาหยาบโดยชาติ แต่ละเอียดโดยสภาวะเป็นอาทิฉันนั้น เพราะเหตุนั้น ความปนคละกันด้วยอำนาจแห่งชาติเป็นต้นจะไม่มีด้วยประการใด ความหยาบละเอียดแห่งเวทนาทั้งหลาย บัณฑิตก็พึงทราบด้วยประการนั้นเถิด คือ (เช่น) ว่า อัพยากฤตเวทนา เป็นเวทนาละเอียดกว่ากุศลเวทนา และอกุศลเวทนา โดยชาติก็ไม่ต้องไปแตะต้องถึงความต่างโดยส่วนอื่นมีสภาวะเป็นต้นดังนี้ว่า "ในเวทนาเหล่านั้น อัพยากฤตเวทนาเป็นไฉน เป็นทุกข์หรือ เป็นสุขหรือ เป็นของท่านผู้เข้าสมาบัติ
''(หน้า 64)''
หรือ เป็นของผู้มิได้เข้าสมาบัติหรือ เป็นสาสวะหรือ เป็นอนาสวะหรือ" นัยในเวทนาทั้งปวงก็นัยนี้
'''นัยหนึ่งหยาบละเอียดโดยเทียบกัน'''
อีกนัยหนึ่ง โดยบาลีว่า "ก็หรือเวทนาหยาบละเอียด พึงเห็นโดยเทียบเคียง เวทนานั้น ๆ" ดังนี้ พึงทราบว่า ในเวทนาอื่นมีอกุศลเวทนาเป็นต้น เวทนาที่เป็นโทสสหรคตหยาบกว่าเวทนาที่เป็นโลภสหรคต เพราะ (โทสะ) เผาที่อาศัยของตนเหมือนไฟ เวทนาที่เป็นโลภสหรคต ก็เป็นละเอียดไป โทสสหรคตเวทนาเล่า ที่เป็นนิยตะเป็นหยาบ ที่เป็นอนิยตะก็เป็นละเอียดไป นิยตะเล่า ที่เป็นกัปปัฏฐิติกะ เป็นหยาบ นอกนี้เป็นละเอียดไป แม้ในพวกที่เป็นกัปปัฏฐิติกะ ที่เป็นอสังขาริกเป็นหยาบ นอกนี้ (คือ ที่เป็นสสังขาริก) ก็เป็นละเอียดไป ฝ่ายเวทนาโลภสหรคต ที่เป็นทิฏฐิสัมปยุตเป็นหยาบ นอกนี้ (คือทิฏฐิวิปยุต) เป็นละเอียด แม้ทิฏฐิสัมปยุตนั้นเล่าที่เป็นนิยตะ เป็นกัปปัฏฐิติกะ เป็นอสังข่ริก ก็เป็นหยาบ นอกนี้ก็เป็นละเอียดไป
แต่ (เมื่อว่า) โดยไม่แปลกกัน (คือไม่แยกเป็นโทสสหรคต โลภสหรคต) อกุศลเวทนา ที่มีวิบากมากเป็นหยาบ ที่มีวิบากน้อยเป็นละเอียด ส่วนกุศลเวทนาที่มีวิบากน้อย เป็นหยาบที่มีวิบากมากเป็นละเอียด
อนึ่ง กามาวจรกุศลเวทนาเป็นหยาบ รูปาวจรเป็นกุศลเวทนาเป็นละเอียด อรูปาวจรกุศลเวทนาละเอียดกว่ารูปาวจรกุศลเวทนานั้น โลกุตตรเวทนาละเอียดกว่าอรูปาวจรกุศลเวทนานั้น กามาวจรเวทนาเล่าที่เป็นทานมัยจัดเป็นหยาบ ที่เป็นสีลมัยเป็นละเอียด ที่เป็นภาวนามัยละเอียดกว่าที่เป็นสีลมัย แม้ภาวนามัยเล่า ที่เป็นทุเหตุกะเป็นหยาบ ที่เป็นติเหตุกะเป็นละเอียด ติเหตุกะเล่า ที่เป็นสสังขาริกเป็นหยาบ ที่เป็นอสังขาริกเป็นละเอียด ส่วนรูปาวจรเวทนาที่เป็นไป ความหยาบละเอียดแห่งเวทนาที่เป็นวิบากและกิริยาในปฐมฌานเป็นหยาบ ที่เป็นไปในทุติยฌานเป็นละเอียด ที่เป็นไปในตติยฌานละเอียดกว่าที่เป็นไปในทุติยฌาน ที่เป็นไปในปัญจมฌานละเอียดกว่าที่เป็นไปในจตุตถฌานแท้ ข้างอรูปาวจรเวทนาที่สัมปยุตด้วยอากาสานัญจายตนะหยาบ ที่สัมปยุตด้วยวิญญาณณัญจายตนะเป็นละเอียด ที่สัมปยุตด้วยอากิญจัญญายตนะละเอียดกว่าที่สัมปยุตด้วยวิญญาณนัญจายตนะ ที่
''(หน้า 65)''
สัมปยุตด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนะ ละเอียดกว่าที่สัมปยุตด้วยอากิญจัญญายตนะแท้ฝ่ายโลกุตตรเวทนา ที่สัมปยุตด้วยโสดาปัตติมรรคเป็นหยาบ ที่สัมปยุตด้วยอรหัตตมรรค ละเอียดกว่าที่สัมปยุตด้วยอนาคามิมรรคแท้
นัยในเวทนาที่เป็นวิบากและที่เป็นกิริยาในภูมินั้น ๆ และในเวทนาที่กล่าวด้วยอำนาจภาวะมีทุกขเวทนาเป็นต้น ด้วยอำนาจบุคคลมีอสมาปันนเวทนา (เวทนาของผู้มิได้เข้าสมาบัติ) เป็นต้น และด้วยอำนาจโลกิยะและโลกุตตระมีสาสวเวทนา (เวทนาที่เป็นไปกับอาสวะเป็นต้นก็นัยเดียวกัน)
เมื่อว่าโดยโอกาส ทุกขเวทนาในนรกเป็นหยาบ ทุกขเวทนาในกำเนิดดิรัจฉานเป็นละเอียด ทุกขเวทนาในกำเนิดมนุษย์ละเอียดกว่าทุกขเวทนาในกำเนิดดิรัจฉาน ทุกขเวทนาในเหล่าเทพชั้นจาตุมมหาราชิกาละเอียดกว่าทุกขเวทนาในกำเนิดมนุษย์ ทุกขเวทนาในเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์ละเอียดกว่าทุกขเวทนาในเหล่าเทพชั้นยามะ ทุกขเวทนาในเหล่าเทพชั้นนิมมานรดีละเอียดกว่าทุกขเวทนาในเหล่าเทพชั้นดุสิต ทุกขเวทนาในเหล่าเทพชั้นปรนิมมิตสวัตดีละเอียด กว่าทุกขเวทนาในเหล่าเทพชั้นนิมมานรดีแท้ ก็แลทุกขเวทนาประกอบ (ความ) ฉันใด แม้สุขเวทนา ก็พึงประกอบ (ความ) ตามควรในภูมิทั้งปวง ฉันนั้นเถิด
อนึ่ง ว่าโดยวัตถุ เวทนาทุกอย่างที่มีวัตถุเลวเป็นเวทนาหยาบ ที่มีวัตถุประณีตเป็นเวทนาละเอียด
ในประเภทเลวประณีต พึงเห็นเถิดว่า เวทนาใดหยาบ เวทนานั้นก็เลว และเวทนาใดละเอียด เวทนานั้นก็ประณีต
ส่วนทูเรบท (บทว่าไกล) ท่านจำแนกไว้ในคัมภีร์วิภังค์โดยนัยว่า เวทนาที่เป็นอกุศลไกลแต่เวทนาที่เป็นกุศลและอัพยากฤต ดังนี้เป็นต้น สันติเกบท (บทว่าใกล้) ท่านก็จำแนกไว้ในคัมภีร์วิภังค์โดยนัยว่า เวทนาที่เป็นอกุศลใกล้กับเวทนาที่เป็นอกุศล (ด้วยกัน) ดังนี้เป็นต้น เพราะเหตุนั้น อกุศลเวทนา จึงชื่อว่าไกลแต่กุศลเวทนาและอัพยากฤตเวทนา เพราะเป็นวิสภาคกัน เพราะไม่เกี่ยวกัน และเพราะไม่สนกัน กุศลเวทนาและอัพยากฤตเวทนาไกลแต่อกุศลเวทนาก็อย่างนั้น (คือเพราะเหตุอย่างกัน) ในวาระทั้งปวง ก็นัยนี้ ส่วนอกุศลเวทนาใกล้กับอกุศลเวทนา (ด้วยกัน) ก็เพราะเป็นสภาคกันและเพราะสมกันด้วยแล
''(หน้า 66)''
นี่เป็นกถามุขอย่างพิสดาร ในการจำแนกเวทนาขันธ์โดยส่วนต่าง ๆ ที่เป็นอดีตเป็นต้น
แม้กถามุขอย่างพิสดาร ในการจำแนกสัญญาเป็นต้น ที่สัมปยุตกับเวทนานั้น ๆ ก็พึงทราบโดยนัยดังนี้แล
==นัยวินิจฉัยขันธ์ 6 ประการ==
ก็แล ครั้นทราบอย่างนี้แล้ว
'''เพื่อความแตกฉานแห่งความรู้ในขันธ์ทั้งหลายนั้นแหละ ผู้มีปัญญาพึงทราบนัยสำหรับวินิจฉัย โดยชอบคือ โดยลำดับ โดยความแปลกกัน ด้วยไม่หย่อน ไม่ยิ่ง โดยอุปมา โดยเป็นสิ่งพึงเห็นด้วยอาการทั้ง 2 และโดยความสำเร็จเป็นประโยชน์แก่ผู้เห็น อย่างนั้น (ต่อไป)'''
===นัยโดยลำดับ===
ในนัย 6 ประการนั้น ในข้อว่า "โดยลำดับ" นี้มีวินิจฉัยว่า ลำดับมีมากอย่าง คือลำดับแห่งความเกิดขึ้น ลำดับแห่งการละ ลำดับแห่งการปฏิบัติ ลำดับแห่งภูมิ ลำดับแห่งการแสดง ในลำดับ 5 อย่างนั้น ลำดับเช่นว่า รูป (เกิด) เป็นกลละก่อน ต่อกลละไปเป็นอัพพุทะดังนี้ ชื่อว่า '''ลำดับแห่งความเกิดขึ้น''' ลำดับเช่นว่า ธรรมทั้งหลายที่พึงละด้วยภาวนา (คือสกคาทามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค) ดังนี้ ชื่อว่า '''ลำดับการละ''' ลำดับเช่นว่า "สีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ" ดังนี้ ชื่อว่า '''ลำดับแห่งการปฏิบัติ''' ลำดับเช่นว่า ธรรมทั้งหลายเป็นกามาวจร ธรรมทั้งหลายเป็นรูปาวจร ดังนี้ ชื่อว่า '''ลำดับแห่งภูมิ''' ลำดับเช่นว่า สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 หรือว่า ทานกถา สีลกถา ดังนี้ ชื่อว่า '''ลำดับแห่งการแสดง'''
ในลำดับเหล่านั้น ก่อนอื่น ลำดับแห่งความเกิดขึ้นใช้ไม่ได้ในที่นี้ เพราะขันธ์ทั้งหลาย มิได้เกิดขึ้นโดยกำหนดก่อนหลัง ดังกลลรูปเป็นต้น ลำดับแห่งการละก็ใช้ไม่ได้ เพราะขันธ์ที่เป็นกุศลและอัพยากฤตมิใช่สิ่งที่จะพึงละ ลำดับแห่งการปฏิบัติก็ใช้ไม่ได้ เพราะขันธ์ทั้งหลายที่เป็นอกุศลมิใช่สิ่งที่พึงปฏิบัติ ลำดับแห่งภูมิก็ใช้ไม่ได้ เพราะขันธ์ (4) มีเวทนาเป็นต้นเป็นสิ่งที่เนื่องในภูมิทั้ง 4 แต่ลำดับแห่งการแสดงใช้ได้ ด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้า
''(หน้า 67)''
ทรงหวังประโยชน์ ใคร่จะโปรดเวไนยชนผู้ตกอยู่ในอัตตคาหะ (ความยึดถือว่าเป็นตน) ในขันธ์ทั้ง 5 โดยไม่แยกกัน ให้หลุดพ้นจากอัตตคาหะด้วย (ให้) เห็นโดยกระจายกลุ่มก้อนออกไป จึงทรงแสดงรูปขันธ์อันเป็นส่วนหยาบ เป็นอารมณ์แห่งจักขุเป็นต้นก่อน เพื่อ (ให้เวไนย) ชนนั้น (กำหนด) จับเอาได้ง่าย ต่อนั้นจึงทรงแสดงเวทนาอันเป็นส่วนความรู้สึก ในรูปอันน่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ทรงแสดงสัญญาอันเป็นส่วนความยึด (จำ) อาการแห่งอารมณ์ของเวทนา โดยนัยตามที่กล่าวว่า รู้สึกสิ่งใด ก็จำสิ่งนั้น ดังนี้ ทรงแสดงสังขาร อันเป็นส่วนความปรุงแต่ง (นึกคิด) ไปตามอำนาจแห่งสัญญา ทรงแสดงวิญญาณอันเป็นที่อาศัยแห่งขันธ์ 4 มีเวทนาเป็นต้นนั้น และเป็นอธิบดีแห่งขันธ์ 4 นั้นด้วย
นัยสำหรับวินิจฉัยโดยลำดับ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นประการแรก
===นัยโดยแปลกกัน===
ข้อว่า โดยแปลกกัน คือโดยแปลกกันแห่งขันธ์ทั้งหลายและแห่งอุปาทานขันธ์ทั้งหลาย ก็ความแปลกกันแห่งขันธ์และอุปาทานขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้นคืออะไร ? (คือ) ในขันธ์และอุปาทานขันธ์ทั้งหลายทั้งสองนั้น ก่อนอื่น ขันธ์ทั้งหลายพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยไม่มีอะไรแปลก (ส่วน) อุปาทานขันธ์ตรัสไว้แปลก โดยความเป็นขันธ์ที่เป็นไปกับอาสวะและเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ดังตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ 5 (และ) อุปาทานขันธ์ 5 แก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังเรื่องขันธ์นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลายก็ขันธ์ 5 เป็นอย่างไร ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปทุกอย่างทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรืออยู่ในที่ใกล้ก็ตาม กลุ่มรูปนี้เรียกว่ารูปขันธ์ เวทนาทุกอย่างทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ กลุ่มเวทนานี้ เรียกว่า เวทนาขันธ์ สัญญาทุกอย่างทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ กลุ่มสัญญา นี้เรียกว่า สัญญาขันธ์ สังขารทุกอย่างทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ กลุ่มสังขารนี้เรียกว่า สังขารขันธ์ วิญญาณทุกอย่างทั้งที่เป็น อดีตอนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ กลุ่มวิญญาณนี้เรียกว่า วิญญาณขันธ์ ดูกรภิกษุทั้งหลายกลุ่มเหล่านี้เรียกว่า เรียกว่าขันธ์ 5
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุปาทานขันธ์ 5 เป็นอย่าง ๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปทุกอย่างทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรืออยู่ในที่ใกล้ก็ตาม เป็นไปกับอาสวะ
''(หน้า 68)''
เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน นี่เรียกว่า รูปูปาทานขันธ์ เวทนาทุกอย่าง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ เป็นไปกับอาสวะ เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน นี้เรียกว่า เวทนูปาทานขันธ์ สัญญาทุกอย่าง ฯลฯ เป็นไปกับอาสวะ เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน นี้เรียกว่า สัญญูปาทานขันธ์ สังขารทุกอย่าง ฯลฯ เป็นไปกับอาสวะ เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน นี้เรียกว่า สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณทุกอย่าง ฯลฯ เป็นไปกับอาสวะ เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน นี่เรียกว่า วิญญาณูปาทานขันธ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ 5 ดังนี้
ก็แล ในขันธ์ทั้งหลายนี้ ขันธ์ 4 มีเวทนาเป็นต้น เป็นอนาสวะบ้างก็มี เป็นสาสวะบ้างก็มี ฉันใด รูปหาเป็นฉันนั้นไม่ แต่เพราะเหตุที่รูปนั้นเป็นขันธ์ก็ถูก ด้วยอรรถว่าเป็นกอง เหตุนั้นจึงตรัสไว้ในพวกขันธ์ (แท้) (และ) เพราะรูปนั้น เป็นอุปาทานขันธ์ก็ถูก ด้วยอรรถว่าเป็นกองด้วย ด้วยอรรถว่าเป็นสาสวะด้วย เหตุนั้นจึงตรัสไว้ในพวกอุปาทานขันธ์ ส่วนขันธ์ 4 มีเวทนาเป็นต้น ที่เป็นอนาสวะตรัสไว้ในพวกขันธ์ (แท้) เท่านั้น ที่เป็นสาสวะตรัสไว้ในพวกอุปาทานขันธ์
ก็แล เนื้อความในคำว่า "อุปาทานขันธ์" นี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า "ขันธ์ทั้งหลายเป็นที่โคจรแห่งอุปาทาน ชื่อว่า อุปาทานขันธ์" ดังนี้เถิด
แต่ในปกรณ์วิสุทธิมรรคนี้ หมายเอาทั้งขันธ์ (แท้) ทั้งอุปาทานขันธ์ หมดนั้นรวมกันเข้าว่า "ขันธ์"
===นัยโดยไม่หย่อนไม่ยิ่ง===
ข้อว่า "โดยไม่หย่อนไม่ยิ่ง" มีวินิจฉัยว่า ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสขันธ์แต่ 5 เท่านั้นไม่หย่อนไม่ยิ่ง ? แก้ว่า เพราะทรงสงเคราะห์ (รวบรวม) สังขตธรรมทั้งปวงเข้าด้วยกันตามที่เป็นสภาคกัน 1 เพราะวัตถุแห่งความยึดถือว่าเป็นตน เป็นของตนมีเพียงนั้น 1 เพราะรวบเอาธรรมที่จัดเป็นขันธ์อื่น ๆ ไว้ในนั้นได้ 1
ด้วยว่า ในบรรดาสังขตธรรมทั้งหลาย อันมีประเภทเป็นเอนก เมื่องสงเคราะห์เข้าตามที่เป็นสภาคกัน รูปจัดเป็นขันธ์อันหนึ่ง โดยที่สงเคราะห์เอาธรรมที่เป็นสภาคกับรูปเข้าด้วยกัน เวทนาก็จัดเป็นขันธ์อันหนึ่ง โดยที่สงเคราะห์เอาธรรมที่เป็นสภาคกับเวทนาเข้าด้วยกัน ในขันธ์
''(หน้า 69)''
ที่เหลือมีสัญญาเป็นต้น ก็นัยนี้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสขันแต่ 5 เท่านั้น เพราะทรงสงเคราะห์สังขตธรรมทั้งปวง เข้าด้วยกันตามที่เป็นสภาคกัน
อนึ่ง วัตถุแห่งความยึดถือว่า เป็นตน เป็นของของตนนั่น มีเพียงนั้นคือ มี 5 มีรูปเป็นต้น สมพระบาลีว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูปแหละมีอยู่ ความเห็น (ผิด) อาศัยรูปบดรูป จึงเกิดขึ้น อย่างนี้ว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวของเรา เมื่อเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณมีอยู่ ความเห็น (ผิด) อาศัยวิญญาณ ยึดวิญญาณ จึงเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวของเรา ดังนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่ามี 5 เท่านั้น เพราะวัตถุแห่งความยึดถือว่าเป็นตน เป็นของตน มีเพียงนั้นประการ 1
อนึ่งเล่า ธรรมขันธ์ 5 อื่นมีศีลเป็นต้นอันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ แม้ธรรมขันธ์ทั้งหลายนั้น ก็ถึงซึ่งความรวบรวมเข้าในขันธ์ 5 นี้แหละได้ เพราะธรรมขันธ์ทั้งหลายนั้น นับเข้าในสังขารขันธ์ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสขันธ์แต่ 5 เท่านั้น เพราะรวบเอาธรรมที่จัดเป็นขันธ์อื่น ๆ ไว้ในนั้นได้ประการ 1
นัยสำหรับวินิจฉัย โดยไม่หย่อนไม่ยิ่ง พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้
===นัยโดยอุปมา===
ก็แลวินิจฉัยในข้อว่า "โดยอุปมา" นี้ บัณฑิตพึงทราบ (ดังนี้) ว่า รูปูปาทานขันธ์ เปรียบเหมือนโงพยาบาล เพราะเป็นที่อาศัย อยู่แห่งวิญญาณูปาทานขันธ์เอาเปรียบเหมือนคนไข้ โดยเป็นวิถี (พื้นฐาน) เป็นทวารและอารมณ์ (แห่งวิญญาณนั้น) เวทนูปาทานขันธ์ เปรียบเหมือนความไข้ เพราเป็นธรรมชาติอาพาธ สัญญูปาทานขันธ์เปรียบเหมือนสมุฏฐานแห่งความไข้ เพราะเป็นแดนเกิดแห่งเวทนาที่ประกอบด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น โดยเป็นสัญญา (อกุศล) มีกามสัญญาเป็นอาทิ สังขารูปาทานขันธ์ เปรียบเหมือนการเสพของแสลง เพราะเป็นเหตุแห่งความไข้ คือเวทนา สมพระบาลี "สังขารทั้งหลายย่อมปรุงแต่งเวทนาเพื่อ (ให้คง) เป็นเวทนา (ตามสภาวะ)" นัยเต็มเท่านั้น วิญญาณูปาทานขันธ์ เปรียบเหมือนคนไข้ เพราะไม่พ้นจากความไข้คือเวทนา โดยพระบาลีว่า "เพราะอกุศลกรรมอันบุคคลทำไว้สั่งสมไว้ กายวิญญาณที่เป็นวิบากจึงเกิดขึ้น เป็นวิญญาณที่ร่วมไป (คละเคล้าไป) กับทุกข์" ดังนี้
''(หน้า 70)''
อีกนัยหนึ่ง อุปาทานขันธ์ทั้งหลายนั้น เปรียบเหมือนคุกและการลงโทษ เจ้าหน้าที่ผู้ลงโทษ นักโทษ และเหมือนภาชนะแห่งโภชนะ (ข้าว) กับข้าว ผู้เลี้ยง (พ่อครัว) และผู้กิน (ก็ได้)
นัยสำหรับวินิจฉัยโดยอุปมาบัณฑิต พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้
===นัยโดยความเป็นสิ่งพึงเห็นโดยอาการ 2===
ข้อว่า '''"โดยเป็นสิ่งพึงเห็นโดยอาการ 2"''' ความว่า ก็นัยสำหรับวินิจฉัยในข้อนี้ บัณฑิตพึงทราบโดยเป็นสิ่งพึงเห็นโดยอาการ 2 อย่างนี้ คือโดยสังเขป 1 โดยพิสดาร 1 จริงอยู่ โดยสังเขป อุปาทานขันธ์ 5 พึงเห็นโดยเป็นข้าศึกผู้เงื้อดาบ (จ้องจะฆ่า) ตามนัยที่ตรัสไว้ในอาสีวิสูปมสูตร โดยเป็นของหนัก ตาม (ที่ตรัสใน) ขัชชนียปริยาย โดยเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นสังขตะ และเป็นผู้ฆ่า ตาม (ที่ตรัสใน) ยมกสูตร ส่วนว่าโดยพิสดารในที่นี้ รูปพึงเห็นเหมือนก้อนฟองน้ำ เพราะไม่ทนต่อการบีบคั้น เวทนาพึงเห็นเหมือนต่อมน้ำ เพราะเป็นสิ่งน่ายินดี (คือดูงาม) อยู่ครู่เดียว สัญญาพึงเห็นเหมือนพยับแดดเพราะล่อใจ สังขารพึงเห็นเหมือนต้นกล้วย เพราะไม่มีแก่น วิญญาณพึงเห็นเหมือนกลเพราะเป็นสิ่งลวง
ว่าโดยพิเศษอีกนัยหนึ่ง อัชฌัตติกรูป (รูปภายในคือรูปของตน) แม้โอ่อา ก็พึงเห็นว่าเป็นของไม่งาม เวทนาพึงเห็นว่าเป็นทุกข์ เพราะไม่พ้นจากความเป็นทุกข์ สัญญาและสังขารพึงเห็นว่าเป็นอนัตตา เพราะไม่เชื่อฟัง วิญญาณพึงเห็นว่าเป็นอนิจจัง เพราะมีสภาวะเกิดขึ้นเสื่อมไป
===นัยโดยความสำเร็จประโยชน์แก่ผู้เห็นอย่างนั้น===
ข้อว่า '''"โดยความสำเร็จประโยชน์แก่ผู้เห็นอย่างนั้น"''' มีความว่า ก็แล ความสำเร็จ ประโยชน์อันใด ย่อมมีแก่ผู้เห็นโดยอาการ 2 โดยเป็นอย่างสังเขปและอย่างพิสดารดังกล่าวมานั้น บัณฑิตพึงทราบนัยสำหรับวินิจฉัย โดยความสำเร็จประโยชน์นั้นอีกบ้าง ข้อนี้คืออย่างไร ? คือข้อแรก โดยสังเขป พระโยคาวจรผู้เห็นอุปาทานขันธ์ 5 โดยความเป็นข้าศึกผู้เงื้อดาบ (จ้องจะฆ่าคน) เป็นต้น อยู่ ย่อมไม่เดือดร้อน เพราะขันธ์ทั้งหลายส่วนโดย
''(หน้า 71)''
พิสดาร ผู้เห็นขันธ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้น โดยความเห็นเช่นก้อนฟองน้ำเป็นอาทิอยู่ ก็ชื่อว่าไม่เป็นผู้เห็นสาระในสิ่งที่ไม่เป็นสาระทั้งหลาย
ว่าโดยพิเศษอีกนัยหนึ่งเล่า ผู้เห็นอัชฌัตติกรูป โดยความเป็นของไม่งาม ชื่อว่ากำหนดรู้กวฬิงการาหาร ย่อมละความวิปลาสว่างามในสิ่งที่ไม่งามเสียได้ ย่อมข้ามกามโอฆะได้ ย่อมแยกตนออกจากกามโยคะได้ ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ทางกามาสวะ ย่อมทำลายกายคันถะ (เครื่องร้อยรัดนามกาย) คืออภิชฌาเสียได้ ย่อมไม่ถือมั่นกามุปาทาน ผู้เห็นเวทนาโดยความเป็นทุกข์ ชื่อว่ากำหนดรู้ผัสสาหาร ย่อมละความวิปลาสว่าเป็นสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์เสียได้ ย่อมข้ามภวโอฆะ ย่อมแยกตัวออกจากกายคันถะคือพยาบาทได้ ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ทางภวาสวะย่อมเอาตัวออกจากภวโยคะ เป็นผู้หาอาสวะมิได้ทางภวาสวะย่อมทำลายกายคันถะคือพยาบาทได้ ย่อมไม่ถือมั่นสีลัพพตุปาทาน ผู้เห็นสัญญาและสังขารทั้งหลายโดยความเป็นอนัตตา ชื่อว่ากำหนดรู้มโนสัญเจตนาหาร ย่อมละความวิปลาส ว่าเป็นตนในสิ่งที่ไม่ใช่ตนเสียได้ ย่อมข้ามทิฏฐิโอฆะได้ ย่อมแยกตนออกจากทิฏฐิโยคะได้ ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ทางทิฏฐาสวะ ย่อมทำลายกายคันถะคืออิทังสัจจาภินิเวส (ความปักใจว่า นี่เท่านั้นจริง) เสียได้ ย่อมไม่ถือมั่นอัตตวาทุปาทาน ผู้เห็นวิญญาณโดยความเป็นอนิจจัง ชื่อว่ากำหนดรู้วิญญาณาหาร ย่อมละความวิปลาสว่าเที่ยง ในสิ่งที่ไม่เที่ยงเสียได้ ย่อมข้ามอวิชชาโอฆะ ย่อมแยกตนออกจากอวิชชาโยคะได้ ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ทางอวิชชาสวะ ย่อมทำลายกายคันถะคือลัพพตปรามาสได้ ย่อมไม่ถือมั่นทิฏฐุปาทาน
'''เพราะเหตุที่การเห็น (ขันธ์) โดยความเป็น'''
'''เพชฌฆาตเป็นต้น มีอานิสงส์มาก ดังนี้ เพราะเหตุนั้น'''
'''ผู้มีปัญญาพึงเห็นขันธ์ทั้งหลาย โดยความเป็น'''
'''เพชฌฆาตเป็นต้นเทอญ'''
'''ปริเฉทที่ 14 ชื่อขันธนิทเทส'''
'''ในอธิการแห่งปัญญาภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค'''
'''อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน ดังนี้'''
==ดูเพิ่ม==
*'''[http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/sutta23.php ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค]'''
*'''[[วิสุทธิมรรค ฉบับปรับสำนวน]] (สารบัญ)'''