{{template:วสธมฉปส head|}}
{{template:ฉบับปรับสำนวน head|}}
''' อภิญญานิทเทส ปริจเฉทที่ 13 '''
''(หน้าที่ 280)''
บัดนี้ ถึงวาระแสดงเรื่องทิพพโสตธาตุต่อไป นักศึกษาพึงทราบความแห่งพระบาลี เป็นต้นว่า พระโยคีนั้นเมื่อมีจิตตั้งมั่นอย่างนี้ ดังในทิพพโสตธาตุนิทเทสนั้นก็ดี ในอภิญญา 3 ต่อนั้นไปก็ดี ด้วยความหมายดังที่กล่าวไว้แล้วในตอนว่าด้วยอิทธิวิธนิทเทสเถิด ในพระบาลีว่าด้วยเรื่องอภิญญาทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้าจักขยายเฉพาะข้อความที่แปลกกันเท่านั้น
=ทิพพโสตธาตุกถา=
บรรดาคำเหล่านั้น ในคำว่า ด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์ นี้มีอธิบายดังต่อไปนี้
โสตธาตุชื่อว่าเป็นทิพย์ เพราะเป็นเช่นเดียวกับของทิพย์ ความจริงเป็นเรื่องธรรมดาที่ธาตุคือประสาทหูของพวกเทวดาเป็นธรรมชาติที่เกิดจากสุจริตกรรม มิได้เกลือกกลั้วด้วยโทษมีน้ำดี, เสมหะ และโลหิตเป็นต้น จึงสามารถรับอารมณ์แม้ในที่ไกลได้ เพราะพ้นจากสิ่งที่เข้าไปทำให้ขุ่นมัว แม้ธาตุคือประสาทหูอันสำเร็จด้วยญาณ ซึ่งบังเกิดขึ้นได้ด้วย กำลังแห่งวิริยภาวนาของภิกษุนี้เล่า ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ทิพย์ เพราะเป็นเหมือนของทิพย์ อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าเป็นทิพย์ เพราะพระโยคีได้ด้วยอำนาจทิพยวิหารและเพราะเหตุที่อิงอาศัยทิพยวิหารของตนชื่อว่า โสตธาตุ เพราะอรรถว่าได้ยิน และเพราะอรรถว่ามิใช่ชีวะ เป็นแต่เพียงธาตุเท่านั้น อนึ่ง ชื่อว่า โสตธาตุ แม้เพราะเป็นเพียงดัง โสตธาตุ เพราะทำกิจของโสตธาตุได้ด้วยโสตธาตุเพียงดังทิพย์นั้น คำว่า หมดจด คือบริสุทธิ์ปราศจากเครื่องเข้าไปเศร้าหมอง คำว่า ล่วงวิสัยของมนุษย์ คือล่วง ได้แก่ ดำรงอยู่ล่วงเลยหูเนื้อซึ่งเป็นวิสัยของมนุษย์ เพราะได้ยินเสียงล่วงอุปจารของมนุษย์ไป คำว่า ฟังได้ 2 เสียง คือฟังเสียงได้ 2 ชนิด 2 ชนิดอะไรบ้าง ? คือเสียงทิพย์ 1 เสียงมนุษย์ 1 มีอธิบายว่า เสียงของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ด้วยคำว่า ฟังได้ทั้ง 2 เสียงนี้ พึงทราบการกำหนดส่วนที่จะได้ยินเสียงดังนี้ คำว่า เสียงเหล่าใดทั้งไกลและใกล้ นั้นมีอธิบายว่า เสียงเหล่าใดอยู่ที่ไกล คือแม้จะอยู่ในจักรวาลอื่น และเสียงเหล่าใดอยู่ที่ใกล้จนชั้นที่สุดแม้แต่เสียงของสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่อยู่อาศัยในร่างกายของตน เธอย่อมได้ยินเสียงเหล่านั้นได้อย่างชัดเจนด้วยคำว่า เสียงเหล่าใดทั้งไกลและใกล้ นั้น พึงทราบการกำหนดอย่างไม่มีเขตแดน ดังนี้
''(หน้าที่ 281)''
ก็ทิพพโสตธาตุนี้ จะพึงให้เกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการอย่างไร ? คือภิกษุนั้นต้องเข้าฌานที่มีอภิญญาเป็นบาท พอออกแล้วมีจิตตั้งมั่นด้วยบริกรรมสมาธิ ตอนแรก ๆ พึงนึกถึงเสียงที่หยาบ มีเสียงราชสีห์ในป่าเป็นต้น ซึ่งอยู่ในที่ไกลที่มาปรากฏทางโสตประสาทตามปกติพึงนึกถึงเสียงที่ละเอียดเป็นชั้น ๆ ไปโดยลำดับ เริ่มต้นแต่เสียงที่หยาบกว่าเขาทั้งหมดอย่างนี้ คือ เสียงระฆังในวิหาร เสียงกลอง เสียงสังข์ เสียงที่พวกภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยพากันท่องบ่นอยู่อย่างเต็มกำลัง เสียงที่พวกคนผู้พูดอยู่ตามปกติเช่นว่า อะไรนะขอรับ อะไรกันคุณ เป็นต้น เสียงนก เสียงลม เสียงเท้า เสียงน้ำเดือดดังคลัก ๆ เสียงใบตาลที่แห้งกรอบอยู่ที่แดด เสียงมดดำ และมดแดง พระโยคีนั้นพึงสนใจสัททนิมิตแห่งเสียงทั้งหลายในทิศตะวันออก ในทิศตะวันตก ในทิศเหนือทิศใต้ ในทิศเบื้องล่าง ในทิศเบื้องบน ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ พระโยคีนั้นพึงสนใจสัททนิมิตแห่งเสียงทั้งหลายทั้งที่หยาบทั้งที่ละเอียด เสียงเหล่านั้นย่อมปรากฏชัดแก่พระโยคีนั้นผู้มีจิตดำรงอยู่ตามปกติ ก็เมื่อเธอมีจิตเป็นสมาธิด้วยการบริกรรม เสียงย่อมปรากฏชัดเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเธอมนสิการถึงสัททนิมิตอยู่นั่นแล มโนทวาราวัชชนะทำเสียงเหล่านั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นว่า ทิพพโสตธาตุ จักเกิดขึ้นในบัดนี้ เมื่อมโนทวาราวัชชนะนั้นดับแล้วชวนะ 4 หรือ 5 ดวงที่มีชวนะ 3 หรือ 4 ดวงข้างต้นมีกามาวจร มีชื่อว่า บริกรรม, อุปจาร, อนุโลม และโคตรภู ดวงที่ 4 หรือ 5 เป็นอัปปนาจิตชั้นรูปาวจร นับเข้าฌานหมวด 4 ย่อมแล่นไป ญาณใดซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับอัปปนาจิตนั้นในอัปปนาวิถีนั้นนี้พึงทราบว่าทิพพโสตธาตุ เบื้องหน้าแต่นั้น ทิพพโสตธาตุก็ตกไปในกระแสนั้น พระโยคีเมื่อทำทิพพโสตธาตุนั้นให้เกิดขึ้น กำลังกำหนดที่ระยะเพียงชั่วองคุลีเดียวว่าจะฟังเสียงในระยะนี้แล้วพึงให้ขยาย แต่นั้นพึงกำหนดด้วยอำนาจ 2 องคุลี 4 องคุลี 8 องคุลี คืบ ศอก ภายในห้องหน้ามุข ปราสาท บริเวณ สังฆาราม โคจรคาม และชนบท เป็นต้น จนตลอดถึงจักรวาล หรือกำหนดให้ยิ่งกว่านั้นก็ได้ กำหนดแล้วพึงให้ขยายออกไป พระโยคีนี้ได้บรรลุอภิญญาแล้วอย่างนี้ ย่อมได้ยินเสียงแม้ที่อยู่ภายในระยะโอกาสที่ทิพพโสตธาตุญาณที่มีฌานเป็นบาทเป็นอารมณ์ถูกต้องแล้ว ก็เมื่อฟังอย่างนี้ แม้หากจะมีเสียงกึกก้องเป็นอย่างเดียวกัน
''(หน้าที่ 282)''
กับเสียงสังข์กลอง และบัณเฑาะว์เป็นต้นดังขึ้นไปจนกระทั่งพรหมโลก เมื่อมีความมุ่งหมายจะกำหนดเฉพาะเสียงเดียว เธอก็อาจจะกำหนดแยกเสียงได้ว่านี้เสียงสังข์ นี้เสียงกลองได้ทีเดียว
จบทิพพโสตธาตุกถา
=เจโตปริยญาณกถา=
คำว่า ด้วยเจโตปริยญาณ ในเจโตปริญาณกถานี้ มีอธิบายดังต่อไปนี้ ญาณชื่อว่า ปริยะ เพราะอรรถว่าไปรอบ อธิบายว่า ย่อมกำหนดด้วยญาณอันกำหนดใจของผู้อื่นได้ ชื่อว่า เจโตปริยะ ญาณนั้นด้วย กำหนดใจของผู้อื่นได้ด้วย เหตุนั้นชื่อว่า เจโตปริยญาณ อธิบายว่าเพื่อประโยชน์แก่เจโตปริยญาณนั้น คำว่า ของสัตว์อื่น คือของสัตว์พวกที่เหลือ เว้นตนเสีย แม้คำว่า แห่งบุคคลอื่นนี้ ก็มีความหมายเป็นอันเดียวกันกับบทว่าของสัตว์พวกอื่นนี้เหมือนกัน แต่ที่ท่านทำพยัญชนะให้ต่างกัน ก็ด้วยอำนาจแห่งเวไนยสัตว์และด้วยความไพเราะแห่งเทศนา คำว่า กำหนดใจด้วยใจ คือ กำหนดใจเหล่านั้นของสัตว์ด้วยใจของตนเอง คำว่า รู้ชัด คือรู้ทุกสิ่งทุกประการ ด้วยอำนาจแห่งสัตว์ผู้มีราคะเป็นต้น
ถามว่า ก็ญาณนี้จะพึงให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ตอบว่า ก็ญาณนี้ย่อมสำเร็จด้วยอำนาจทิพยจักษุ ทิพยจักษุญาณนั้นเป็นบริกรรมแห่งเจโตปริยญาณนี้เอง เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นเจริญอาโลกกสิณแล้วมองเห็นสีแห่งโลหิตซึ่งเป็นไปอาศัยหทัยรูปของผู้อื่นด้วยจักษุดุจทิพย์แล้ว พึงสอบสวนดูจิต ก็เมื่อใดโสมนัสจิตเป็นไป เมื่อนั้นหทัยรูปย่อมมีสีแดงเป็นเช่นเดียวกับผลไทรสุกปลั่ง เมื่อใดโทมนัสจิตเป็นไป เมื่อนั้นหทัยรูปย่อมมีสีดำเช่นเดียวกับผลหว้าสุก เมื่อใดอุเบกขาจิตเป็นไป เมื่อนั้นหทัยรูปย่อมผ่องใสเช่นเดียวกับน้ำมันงา เหตุนั้นเธอเห็นสีเลือดหัวใจผู้อื่นว่า รูปนี้มีอินทรีย์คือ โสมนัสเป็นสมุฏฐาน รูปนี้มีอินทรีย์คือโทมนัสเป็นสมุฏฐาน รูปนี้มีอินทรีย์คืออุเบกขาเป็นสมุฏฐาน ดังนี้แล้ว เมื่อจะสอบสวน พึงทำเจโตปริญาณให้ถึงความแรงกล้าเถิด แม้เมื่อเจโตปริยญาณนั้นถึงความมีกำลังแรงกล้าอย่างนี้แล้ว เธอย่อมรู้ชัดถึงกามาวจรจิตและรูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต ทั้งหมดอยู่ จึงดำเนินเข้าหาจิตอื่นนั่นแลจากจิตนั้นได้โดยลำดับแม้เว้นการดูหทัยรูป จริงอยู่ แม้คำนี้ท่านก็กล่าวไว้ในอรรถกถาว่า
ถามว่า สำหรับอรูปสมาบัติ พระโยคีต้องการจะรู้จิตของผู้อื่นจะดูหทัยรูปของใคร ? จะมองอินทรีย์อันแปลก ๆ ของใคร ?
''(หน้าที่ 283)''
ตอบว่า ไม่ต้องดูของใคร อันนี้เป็นวิสัยของท่านผู้มีฤทธิ์ คือการที่จะนึกถึงจิตในแห่งใดแห่งหนึ่ง จึงรู้จักจิต 16 ประเภท ก็ถ้อยคำนี้ท่านกล่าวหมายถึงผู้ที่ไม่ได้ทำการสั่งสมไว้
ก็ในคำเป็นต้นว่า จิตมีราคะหรือ ดังนี้ มีอธิบายว่าจิตที่สหรคตด้วยโลภมูลจิต 8 ดวง พึงทราบว่าจิตมีราคะ จิตที่เป็นกุศลและอัพยากฤตอันเป็นไปในภูมิ 4 ที่เหลือชื่อว่าจิตที่ปราศจากราคะ ก็จิต 4 ดวงเหล่านี้คือ จิตที่ประกอบด้วยโทมนัส 2 ดวง จิตที่ประกอบด้วยวิจิกิจฉา 1 ดวง จิตที่ประกอบด้วยอุทธัจจะ 1 ดวง ไม่ได้ทำการรวบรวมเข้าในทุกะนี้ แต่พระเถระบางพวกก็ทำการรวบรวมทั้งจิต 4 ดวงนี้นั้นเข้าด้วย ก็จิตที่ประกอบด้วยโทมนัส 2 ดวง ชื่อว่า จิตมีโทสะ แม้จิตที่เป็นกุศลและอัพยากฤตเป็นไปในภูมิ 4 แม้ทั้งมวลชื่อว่า จิตที่ปราศจากโทสะ อกุศลจิต 10 ดวง ที่เหลือ ไม่ได้ทำการรวบรวมเข้าในทุกะนี้ แต่พระเถระบางพวกก็ทำการรวบรวมอกุศลจิต 10 ดวงนั้นเข้าด้วย ก็ในคำว่า มีโมหะ ปราศจากโมหะ นี้มีอธิบายว่า จิต 2 ดวง คือจิตที่สหรคตด้วยวิจิกิจฉา 1 ที่สหรคตด้วย อุจธัจจะ 1 ชื่อว่า จิตมีโมหะ ตามนัยที่เป็นไปเฉพาะ คือเป็นโมหะแท้ ๆ ไม่ปนด้วยโลภะ โทสะ ฝ่ายอกุศลจิตทั้ง 12 ดวง พึงทราบว่า จิตมีโมหะ เพราะโมหะเกิดในอกุศลทั้งปวง จิตที่เหลือชื่อว่าจิตปราศจากโมหะ ส่วนจิตที่คล้อยไปตามถิ่นเจตสิกและมิทธเจตสิกพึงทราบว่าเป็นจิตที่หดหู่ จิตที่คล้อยไปตามอุทธัจจเจตสิกพึงทราบว่าเป็นจิตที่ฟุ้งซ่าน จิตที่เป็นรูปาวจร และอรูปาวจรพึงทราบว่าเป็น มหัคคตจิต จิตที่เหลือจากนั้นพึงทราบว่ามิใช่ มหัคคตจิต จิตที่เป็นไปในภูมิ 3 แม้ทุกดวง พึงทาบว่า สอุตตรจิต จิตที่เป็น โลกุตตระ พึงทราบว่าเป็น อนุตตรจิต จิตที่บรรลุ อุปจาร และ อัปปนา พึงทราบว่าเป็น จิตที่ตั้งมั่น จิตที่ไม่บรรลุถึง อุปจาร และ อัปปนา ทั้ง 2 อย่างนั้นพึงทราบว่า จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น จิตที่บรรลุถึง ตทังควิมุตติ วิกขัมภนวิมุตติ สมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ และ นิสสรณวิมุตติ พึงทราบว่าเป็น วิมุตติจิต จิตที่ยังไม่ถึงวิมุตติทั้ง 5 อย่างนี้ พึงทราบว่ายังไม่เป็น วิมุตติจิต ภิกษุผู้ได้ เจโตปริยญาณ ดังที่ว่ามาทั้งหมดนี้ย่อมรู้ชัดแม้ทุกสิ่งทุกอย่างว่า จิตนี้มีราคะ ฯลฯ หรือยังไม่หลุดพ้น ดังนี้ได้
'''จบ เจโตปริยญาณกถา'''
''(หน้าที่ 284)''
=ปุพเพนิวาสานุสสติญาณกถา=
นักศึกษาพึงทราบวินิจฉัยใน ปุพเพนิวาสานุสสติญาณกถา ดังต่อไปนี้ คำว่า เพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณกถา นี้คือเพื่อประโยชน์แก่ญาณในการนึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยมาในกาลก่อน ที่ชื่อว่า ขันธ์ที่เคยอาศัยมาในกาลก่อน ก็คือขันธ์ที่เคยอยู่ครอบครองในกาลก่อน ได้แก่ชาติที่ล่วงไปแล้วนับไม่ถ้วน คำว่า อยู่ครอง คือ ที่ตนได้เคยครอบครองมา ที่ตนได้เคยเสวยผลมา ได้แก่ที่เกิดดับในสันดานของตน หรืออาการต่าง ๆ ที่อาศัยขันธ์ คำว่า อยู่ครอบครอง คือ อยู่ประจำโดยการอยู่อาศัยเป็นโคจร ได้แก่ที่กำหนดรู้ชัดด้วยวิญญาณของตน หรือ ที่กำหนดรู้ชัดได้ด้วยวิญญาณของผู้อื่น ในเวลาที่อนุสรณ์ถึงท่านผู้ตัดขาดวัฏสงสารถึงนิพพานแล้ว พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้นจึงจะมีนิวุฏฐธรรมเหล่านั้นได้ คำว่า นึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยมาในกาลก่อน คือ พระโยคีนึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยมาในกาลก่อนได้ด้วยสติใด สตินั้นชื่อว่า ปุพเพนิวาสานุสสติ ญาณอันสัมปยุตด้วยสตินั้นชื่อว่า ญาณ เพื่อประโยชน์แก่ญาณอันสัมปยุตด้วยสติ นึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยมาในกาลก่อนนี้ดังบรรยายมานี้ มีอธิบายว่า เพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือเพื่อการบรรลุถึงซึ่งญาณนี้ คำว่า มิใช่อย่างเดียว คือหลายอย่าง หรือที่ท่านให้เป็นไป คือพรรณนาได้หลายอย่าง คำว่า ขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยมาในกาลก่อน คือ สันดานที่ตนเคยอาศัยอยู่อาศัยครอบครองในภพนั้น ๆ ตั้งต้นแต่ภพที่เป็นอดีตล่วงมานี่เอง คำว่า นึกได้ คือระลึกย้อนไปตามลำดับแห่งขันธ์ หรือว่าตามลำดับจุติและปฏิสนธิ
ความจริง ชน 6 จำพวกย่อมระลึกถึงปุพเพสันนิวาสนี้ได้ คือ พวกเดียรถีย์ 1 พระสาวกปกติทั้งหลาย 1 พระมหาสาวกทั้งหลาย 1 พระอัครสาวกทั้งหลาย 1 พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย 1 พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ 1 ในชน 6 จำพวกนั้น พวกเดียรถีย์ระลึกได้เพียง 40 กัล์ปเท่านั้น ไม่ยิ่งไปกว่านั้นได้เลย เพราะเหตุไร ? เพราะมีปัญญาน้อย จริงอยู่ พวกเดียรถีย์เหล่านั้นเป็นผู้มีปัญญาน้อย เพราะยังกำหนดนามรูปไม่ได้ พระสาวกปกติทั้งหลายระลึกได้ 100 กัล์ปก็ได้ 1,000 กัล์ปก็ได้ เพราะมีปัญญามาก พระมหาสาวก 80 องค์ระลึกได้แสนกัล์ป พระอัครสาวกทั้งสองระลึกได้ 1 อสงไขย กำไรแสนกัล์ป พระ
''(หน้าที่ 285)''
ปัจเจกพระพุทธเจ้าระลึกได้ 2 อสงไขย กำไรแสนกัล์ป ก็อภินิหารของท่านเหล่านั้นมีกำหนด ประมาณไว้เท่านี้ ส่วนอภินิหารของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่มีกำหนดกาล
อนึ่ง พวกเดียรถีย์ระลึกได้เฉพาะลำดับแห่งขันธ์เท่านั้น ไม่สามารถจะละลำดับขันธ์แล้วมาระลึกโดยจุติและปฏิสนธิได้เลย จริงอยู่ เดียรถีย์เหล่านั้นไม่มีการแวะลงสู่ที่ที่ตนปรารถนาได้ เช่นเดียวกับคนตาบอด คือคนตาบอดละไม้เท้าเสียแล้วย่อมเดินไปไม่ได้ฉันใด พวกเดียรถีย์ละลำดับแห่งขันธ์แล้วย่อมระลึกไม่ได้ ฉันนั้น พระสาวกปกติทั้งหลายย่อมระลึกตามลำดับขันธ์ได้ ทั้งระลึกต่อไปด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิก็ได้ พระมหาสาวก 80 ก็เหมือนกัน ส่วนพระอัครสาวกทั้งสองไม่ต้องมีการระลึกตามลำดับขันธ์ เพราะว่า ท่านเห็นจุติแห่งอัตภาพหนึ่งแล้วเห็นปฏิสนธิและเห็นจุติแห่งอัตภาพอื่นอีกแล้วจึงเห็นปฏิสนธิ ท่านก้าวข้ามไปด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิ ด้วยอาการอย่างนี้แล พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เหมือนกัน แต่สำหรับพระพุทธเจ้าทั้งหลาย กิจด้วยการระลึกตามลำดับขันธ์ไม่มีเลย กิจด้วยการระลึกข้ามไปด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิก็ไม่มี จริงอยู่ พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทรงมีพระประสงค์จะทราบถึงที่ใด ๆ ในเบื้องต่ำหรือเบื้องบนก็ตาม ถึงเวลาจะผ่านไปตั้งหลายโกฏิกัล์ป ที่นั้น ๆ ก็ย่อมปรากฏขึ้นทันที เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นจึงทรงย่นย่อได้หลาย ๆ โกฏิกัล์ป ดุจย่นย่อบาลีด้วยมีเปยยาล (ฯเปฯ) ฉะนั้น ทรงพระประสงค์จะทรงทราบตรงที่ใด ๆ ในกัล์ปใดในภพใด ก็ก้าวเจาะลงในพระญาณในที่นั้น ๆ ในกัล์ปนั้นในภพนั้นได้เลย ทรงดำเนินพระญาณไปได้อย่างแม่นยำ ปานดังราชสีห์ปบสัตว์ในที่นั้น ๆ ฉะนั้น ก็พระญาณของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นซึ่งดำเนินไปอย่างนี้ย่อมไม่ผิดพลาดในชาติอันเป็นระหว่าง ๆ เมื่อไม่ผิด ไม่พลาด ย่อมจับเอาเฉพาะที่ซึ่งพระองค์ปรารถนา ๆ ทีเดียว เปรียบเหมือนอย่างลูกศรที่นายขมังธนู เช่นท่านสรภังคาจารย์ผู้ทำการอบรมยิงขนทราย ยิงไปแล้วมิได้กระทบต้นไม้ และเครือเถาเป็นต้นในระหว่าง ย่อมถูกต้องเป้าหมายไม่ผิดไม่พลาด ฉันนั้น
ก็ในพวกชนผู้นึกถึงปุพเพสันนิวาสได้เหล่านี้ การเห็นปุพเพสันนิวาส (ระลึกชาติได้) ของพวกเดียรถีย์ ย่อมปรากฏเป็นเช่นเดียวกับแสงสว่างแห่งหิ่งห้อย การระลึกชาติได้ของพระสาวกปกติย่อมปรากฏเป็นเช่นเดียวกับแสงประทีป การระลึกชาติได้ของพระมหาสาวก
''(หน้าที่ 286)''
ย่อมปรากฏเป็นเช่นเดียวกับแสงคบเพลิง การระลึกชาติได้ของพระอัครสาวกย่อมปรากฏเป็นเช่นเดียวกับแสงดาวประจำรุ่ง การระลึกชาติได้ของพระปัจเจกพุทธเจ้าย่อมปรากฏเป็นเช่นเดียวกับแสงพระจันทร์ การระลึกชาติได้ของพระพุทธเจ้าย่อมปรากฏเป็นเช่นเดียวกับแสงพระอาทิตย์พันดวงในฤดูร้อน อันประดับประดาแล้วด้วยพระรัศมีตั้งพันรัศมี
อนึ่ง การระลึกชาติได้ของพวกเดียรถีย์เป็นดุจการเดินไปด้วยปลายไม้เท้าของคนตาบอด การระลึกชาติได้ของพระสาวกปกติเป็นดุจการเดินทางไปบนสะพานไม้ท่อน การระลึกชาติได้ของพระมหาสาวกเป็นดุจการเดินไปบนสะพานสำหรับเดินเท้า การระลึกชาติได้ของพระอัครสาวกเป็นดุจการไปบนสะพานสำหรับเกวียนที่จะผ่านไปได้ การระลึกชาติได้ของพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นดุจการเดินไปตามทางเดินเท้าที่ใหญ่ การระลึกชาติได้ของพระพุทธเจ้า เป็นดุจการเดินไปตามทางเกวียนใหญ่
แต่ในอธิการนี้ ท่านประสงค์ถึงการระลึกชาติได้ของพวกพระสาวก เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าว คำว่า นึกได้ คือตามนึกไปเป็นขั้นตอนด้วยสามารถลำดับขันธ์ หรือด้วยสามารถจุติและปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้เริ่มบำเพ็ญเพียรเพื่อต้องการระลึกชาติได้อย่างนั้น เวลากลับจากบิณฑบาตหลังอาหารไปในที่ลับหลีกเร้นอยู่ เข้าฌานทั้ง 4 โดยลำดับ ออกจากฌานที่ 4 ซึ่งเป็นบาทแห่งอภิญญา พึงนึกถึงการนั่งครั้งสุดท้าย แต่นั้นพึงนึกถึงกิจที่ตนทำทั้งกลางคืนกลางวันทั้งสิ้น โดยย้อนถอยหลังอย่างนี้คือ การให้ปูอาสนะ การเข้าสู่เสนาสนะ การเก็บบาตรจีวร การฉันภัตตาหาร เวลากลับมาจากบ้าน เวลาเที่ยวบิณฑบาตในบ้าน เวลาเข้าสู่บ้านเพื่อบิณฑบาตในบ้าน เวลาออกจากวิหาร เวลาไหว้ลานพระเจดีย์ และลานพระศรีมหาโพธิ์ เวลาล้างบาตร เวลารับบาตร กิจที่ทำแล้วตั้งแต่การรับบาตร ตราบเท่าถึงการล้างหน้า กิจที่ทำแล้วในเวลาใกล้รุ่ง กิจที่ทำแล้วในมัชฌิมยาม กิจที่ทำแล้วในปฐมยาม ก็กิจเพียงเท่านี้ย่อมปรากฏแม้แต่จิตปกติ แต่ปรากฏแจ่มอย่างยิ่งแก่จิตที่เป็นสมาธิ เพราะการบริกรรม ก็หากว่าในกิจเหล่านี้บางอย่างไม่ปรากฏไซร้ ต้องเข้าฌานที่เป็นบาทอีก ออกแล้วจึงนึกถึง ทำได้ถึงเพียงนี้กิจย่อมปรากฏดุจประทีปลุกโพลงแล้วพึงนึกถึงกิจที่ตนทำโดยถอยหลังอย่างเดียวดังพรรณนามานี้ แม้ในวันที่ 2 แม้ในวันที่ 3 ที่ 4 ที่ 5
''(หน้าที่ 287)''
แม้ใน 10 วัน แม้ในกึ่งเดือน แม้ทั้งเดือน หรือตลอด 10 ปี 20 ปีโดยอุบายนี้อยู่ พึงนึกถึงนามรูปซึ่งเป็นไปในขณะจุติในภพก่อนได้ ก็ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตย่อมอาจเพื่อจะเพิกปฏิสนธิ ทำนามรูปในขณะจุติให้เป็นอารมณ์ได้โดยวาระเดียวเท่านั้น ก็เพราะนามที่นามรูปในภพก่อนดับไม่มีเหลือ นามรูปอื่นเกิดขึ้น เหตุนั้นฐานนั้นอันคนทรามปัญญาจึงมองเห็นได้ยาก ดุจที่มืดมิดอันของหนาทึบครอบเทินไว้ในเบื้องบน ภิกษุนั้นไม่พึงทอดธุระเสียโดยท้อใจว่า เราไม่อาจเพิกปฏิสนธิทำนามรูปซึ่งเป็นไปในขณะจุติให้เป็นอารมณ์ได้ ก็เธอพึงเข้าฌานที่เป็นบาทนั่นแหละบ่อย ๆ และเธอออกจากฌานนั้นแล้วพึงนึกถึงที่นั้นเถิด ด้วยว่าเมื่อเธอทำไปอย่างนี้ ก็เปรียบเหมือบุรุษผู้มีกำลัง เริ่มจะตัดต้นไม้ใหญ่เพื่อจะนำมาทำเป็นช่อฟ้าเรือนยอด พอเริ่มตัดกิ่งและใบเท่านั้น คมขวานก็บินยู่ไป ไม่สามารถจะตัดไม้ใหญ่ได้ทอดธุระเสียเลย ไปสู่โรงตีเหล็กให้ช่างตีขวานให้คมแล้ว กลับมาตัดใหม่อีก ขวานก็บิ่นยู่อีกเป็นวาระที่สอง จึงไปให้ช่างตีขวานให้คมอีกเหมือนเดิมแล้วกลับมาตัดอีก เมื่อเธอตัดอยู่อย่างนี้ไม่นานนักก็จะพึงโค่นต้นไม้ใหญ่ลงได้ เพราะต้นไม้ที่ตัดไปแล้วไม่ต้องมีการตัดอีกและที่ยังไม่ได้ตัดก็ต้องตัดอีกต่อไป ฉันใด พระโยคีออกจากฌานที่เป็นบาท ไม่นึกถึงฐานะที่ตนนึกในกาลก่อน นึกเฉพาะแต่ปฏิสนธิอย่างเดียว ไม่นานนักก็จะเพิกปฏิสนธิ ทำนามรูปซึ่งเป็นไปในขณะจุติให้เป็นอารมณ์ได้ ฉันนั้น นักปราชญ์พึงแสดงใจความอย่างนี้ โดยเปรียบเหมือนคนผ่าฟืนและช่างโกนผมเป็นต้นก็ได้
ก็ในญาณเหล่านั้น ญาณที่ทำนามรูปให้เป็นอารมณ์เป็นไปแล้ว ตั้งแต่การนั่งครั้งหลังจนถึงปฏิสนธิ ย่อมไม่ชื่อว่าปุพเพนิวาสญาณ แต่ญาณนั้นชื่อว่าเป็นญาณที่สัมปยุตด้วยบริกรรมสมาธิ อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่าอตีตังสญาณดังนี้ก็มี คำของอาจารย์พวกหนึ่ง นั้นไม่ถูก เพราะอตีตังสญาณหมายถึงรูปาวจร ส่วนบริกรรมสมาธิเป็นกามาวจร ก็ในเวลาใด มโนทวาราวัชชนะก้าวล่วงปฏิสนธิทำนามรูปซึ่งเป็นไปในขณะจุติให้เป็นอารมณ์ แล้วเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ก็ครั้นเมื่อมโนทวาราวัชชนะนั้นดับแล้ว ชวนะ 4 หรือ 5 ดวงที่ดวงต้นเป็นกามาวจรมีนามว่าบริกรรมเป็นต้น ดวงสุดท้ายเป็นอัปปนาจิต นับเนื่องในจตุตถฌานชั้นรูปาวจร ตามนัยที่กล่าวมาแล้วในก่อน ทำนามรูปนั่นแหละให้เป็นอารมณ์ย่อมแล่นไป ใน
''(หน้าที่ 288)''
เวลานั้นญาณร่วมกับจิตนั้นอันใดย่อมเกิดแก่ภิกษุนั้น ญาณนี้ชื่อว่าปุพเพนิวาสานุสสติญาณ พระโยคีย่อมระลึกถึงปุพเพสันนิวาสได้หลายอย่าง ด้วยสติอันสัมปยุตด้วยญาณนั้น นี้คืออะไร ? คือนึกถึงปุพเพสันนิวาสมีหลายอย่างพร้อมทั้งอาการและพร้อมทั้งอุทเทศดังบรรยายมานี้ตลอด ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ ฉะนี้แล
ในบทเหล่านั้น บทว่า ตลอดชาติหนึ่งบ้าง คือนึกได้ซึ่งขันธสันดานอันนับเนื่องในภพหนึ่ง ซึ่งมีปฏิสนธิเป็นต้นมีจุติเป็นปริโยสาน แม้ในคำเป็นต้นว่า สองชาติ ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน ก็ในคำเป็นต้นว่า ตลอดสังวัฏกัปเป็นอเนก มีอธิบายว่า กัปที่เสื่อมอยู่พึงทราบว่าสังวัฏกัป กัปที่เจริญอยู่พึงทราบว่าวิวัฏกัป ในกัปทั้ง 2 นั้น สังวัฏฏัฏฐายีสัตว์ ท่านกำหนดถือเอาด้วยสังวัฏกัป เพราะเหตุไร ? เพราะมีสังวัฏกัปนั้นเป็นมูล ส่วนวิวัฏฏัฏฐายีสัตว์ท่านกำหนดด้วยวิวัฏกัป ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ อสงไขยกัปเหล่าใดซึ่งตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสงไขยแห่งกัป 4 อย่างเหล่านี้ 4 อย่างเป็นไฉน ? คือ สังวัฏฏอสงไขย 1 สังวัฏฏัฏฐายีอสงไขย 1 วิวัฏฏอสงไขย 1 วิวัฏฏัฏฐายีอสงไขย 1 ดังนี้ อสงไขย เหล่านั้นย่อมเป็นอันพระองค์กำหนดไว้ดีแล้ว
'''เหตุอสงไขยสลาย'''
ในอสงไขยเหล่านั้น มีเหตุสลาย 3 อย่างคือ อาโปสังวัฏฏะ สลายเพราะน้ำ 1 เตโชสังวัฏฏะ สลายเพราะไฟ 1 วาโยสังวัฏฏะ สลายเพราะลม 1
แดนของสังวัฏฏะถึงความสลายมี 3 ชั้น คือ พรหมโลกชั้นอาภัสสรา 1 พรหมโลกชั้นสุภกิณหา 1 พรหมโลกชั้นเวหัปผลา 1 ก็เมื่อใดกัปย่อมย่อยยับไปเพราะไฟ โลกย่อมถูกไฟไหม้ภายใต้แต่ชั้นอาภัสสราพรหมลงมา เมื่อใดกัปย่อมย่อยยับไปเพราะน้ำ โลกย่อมถูกน้ำละลายภายใต้ชั้นสุภกิณหาพรหมลงมา เมื่อใดกัปย่อมย่อยยับไปเพราะลม โลกย่อมถูกลมพัดกระจัดกระจาย ภายใต้แต่ชั้นเวหัปผลาพรหมลงมา แต่เมื่อว่าโดยพิสดาร สิ้นเขตแห่งพระพุทธเจ้ายุคหนึ่ง กัปก็ย่อมฉิบหายไปแม้ทุกเมื่อไป
'''เขตของพระพุทธเจ้า 3'''
ธรรมดาว่าเขตแห่งพระพุทธเจ้ามี 3 คือ เขตที่ทรงอุบัติ 1 เขตแห่งพระอาชญา 1 เขตตามวิสัย 1 ในบรรดาพุทธเขตทั้ง 3 นั้น เขตที่ทรงอุบัติมีจักรวาลหมื่นหนึ่งเป็นที่สุด
''(หน้าที่ 289)''
ซึ่งเป็นเขตที่สัตว์หวั่นไหวในเพราะเหตุอัศจรรย์ทั้งหลาย มีการถือปฏิสนธิแห่งพระตถาคตเจ้าเป็นต้น เขตพระอาชญามีแสนโกฏิจักรวาลเป็นที่สุด เป็นที่ซึ่งอานุภาพแห่งพระปริตรเหล่านี้ คือ รัตนปริตร, ขันธปริตร, ธชัคคปริตร, อาฏานาฏิยปริตร และโมรปริตรดำเนินไปเขตตามวิสัยไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ซึ่งตรัสไว้ว่า ก็หรือจะพึงหวังเท่าใดคือในที่ซึ่งพระตถาคตเจ้าจำนงสิ่งใด ๆ ก็ทรงรู้สิ่งนั้น ๆ ได้ ในพุทธเขตทั้ง 3 เหล่านี้ดังแถลงมา เขตพระอาชญาอย่างเดียวเท่านั้นย่อมพินาศไป ก็เมื่อเขตพระอาชญานั้นพินาศไปอยู่ แม้เขตที่ทรงอุบัติก็พลอยพินาศไปด้วย และเมื่อพินาศก็พินาศร่วมกันนั่นเอง แม้เมื่อดำรงอยู่ก็ดำรงอยู่ร่วมกัน การพินาศและการดำรงอยู่ของพุทธเขตทั้ง 2 อย่างนั้นนักศึกษาพึงทราบอย่างนี้แล
ก็ในสมัยใดกัปพินาศไปด้วยไฟ มหาเมฆที่ทำกัปให้พินาศตั้งขึ้นแต่ต้นเทียว ยังฝนใหญ่ให้ตกลงครั้งหนึ่งทั่วไปตลอดแสนโกฏิจักรวาล พวกมนุษย์พากันร่าเริงดีใจนำพืชพันธุ์ทุกชนิดออกมาหว่าน ครั้นเมื่อข้ากล้างอกขึ้นพอโคกินได้ มหาเมฆร้องเหมือนฟ้าไม่โปรยฝนลงมาแม้แต่หยดเดียว ในเวลานั้นฝนขาดหายไปเลย จริงอยู่ พระดำรัสนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงหมายถึงเนื้อความนั้นตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยที่ฝนไม่ตกลงมาตลอดหลายปี, หลายร้อยปี, หลายพันปี, หลายแสนปีมีอยู่ สัตว์ผู้อาศัยฝนเลี้ยงชีพและพวกเทวดาผู้เข้าไปอาศัยดอกไม้และผลไม้เลี้ยงชีพ สิ้นชีวิตแล้วย่อมไปเกิดในพรหมโลก เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าอย่างนี้ น้ำในที่นั้น ๆ ย่อมเหือดแห้งไป ลำดับต่อมา ปลาและเต่าก็ดี สัตว์นรกก็ดี ทำกาละแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลก อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า ในจำนวนสัตว์เหล่านั้น พวกสัตว์นรกย่อมฉิบหายไปพร้อมกับความปรากฏขึ้นแห่งพระอาทิตย์ดวงที่ 7
มีคำถามสอดเข้ามาว่า สัตว์โลกผู้ไม่ได้ฌานจะไปบังเกิดในพรหมโลกไม่ได้ ก็บรรดาสัตว์เหล่านี้ บางพวกก็แร้นแค้นอดอยากเพราะข้าวแพง บางพวกก็ไม่ควรเพื่อบรรลุฌาน อย่างนี้แล้วสัตว์เหล่านั้นจะไปบังเกิดในพรหมโลกนั้นได้อย่างไร ?
ตอบว่า เกิดได้ด้วยอำนาจฌานที่ตนได้ไว้แล้วในเทวโลก จริงอยู่ ในกาลนั้นพวกเทวดาชั้นกามาวจร กลุ่มที่ชื่อว่าโลกยูพหะ กระบวนการกู้โลก ทราบว่าโดยล่วงไปได้แสนปี ความสิ้นกัปจักมี ดังนี้ แล้วปล่อยเศียรไม่โพกผ้าสยายผมไม่เกล้าตกแต่ง ร้องไห้จนน้ำตานองหน้า เอามือเช็ดน้ำตา นุ่งผ้าสีแดงทรงเพศแปลกประหลาดยิ่งนัก เที่ยวร้อง
''(หน้าที่ 290) ''
บอกไปในถิ่นมนุษย์อย่างนี้ว่า "ชาวเราเอ๋ย จากนี้ล่วงไปแสนปีกัปจักสิ้นไป โลกนี้จักฉิบหาย น้ำในทะเลหลวงก็จักแห้ง และมหาปฐพีนี้ทั้งขุนเขาสิเนรุก็จักถูกไฟไหม้พินาศไปหมด ความพินาศจักเกิดมีจนกระทั่งพรหมโลก ชาวเราเอ๋ย พวกท่านจงเจริญเมตตา จงเจริญกรุณา จงเจริญมุทิตา จงเจริญอุเบกขา จงบำรุงมารดา จงบำรุงบิดา และจงเป็นผู้อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองให้เป็นประจำเถิด" พวกมนุษย์และภุมเทวดาโดยส่วนมาก ที่ได้ยินคำเตือนของเทวดาเหล่านั้นแล้วเกิดความสลดใจเป็นอย่างมาก มีจิตเอ็นดูต่อกันและกัน พากันทำบุญมีการเจริญเมตตาเป็นต้น พอสิ้นชีพก็ได้ไปเกิดในเทวโลก บริโภคสุทธาโภชน์อันเป็นทิพย์ในเทวโลกนั้นแล้วทำการบริกรรมวาโยกสิณ มีโอกาสได้ฌาน ส่วนพวกสัตว์อื่นจากนั้นคือพวกอบายไปเกิดในเทวโลกได้ด้วยอปราปริยเวทนียกรรม ตามธรรมดาแล้วสัตว์ผู้ท่องเที่ยวไปในสงสารจะเว้นขาดจากอปราปริยเวทนียกรรมย่อมไม่มี ถึงสัตว์เหล่านั้นก็ย่อมมีโอกาสที่จะได้ฌานในเทวโลกนั้น ๆ เหมือนกัน สัตว์ทั้งหมดย่อมไปเกิดในพรหมโลกได้ด้วยอำนาจฌานที่ได้แล้วในเทวโลก ด้วยประการฉะนี้แล
อนึ่ง นับตั้งแต่ฝนไม่ตกลงมาโดยเวลาที่ล่วงไปอันยาวนาน พระอาทิตย์ดวงที่ 2 ก็เกิดขึ้น สมดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้นมีอยู่ ดังนี้เป็นต้น นักปราชญ์ควรสวดสัตตสุริยสูตรประกอบให้พิสดารเถิด ก็แลเมื่อพระอาทิตย์ดวงที่ 2 นั้นปรากฏขึ้นแล้ว การกำหนดว่ากลางคืนหรือกลางวันก็มิได้รู้กันเลย พระอาทิตย์ดวงหนึ่งโผล่ขึ้น ดวงหนึ่งก็ตก โลกจึงมิได้ขาดจากแสงแผดเผาแห่งพระอาทิตย์เลย ก็ในพระอาทิตย์ปกติย่อมมีสุริยเทพบุตร ฉันใด ในพระอาทิตย์ที่ทำกัปให้พินาศไม่มีเหมือนอย่างนั้น ในพระอาทิตย์ 2 ดวงนั้น เมื่อพระอาทิตย์ปกติเป็นไปอยู่ เมฆก็ดีเปลวควันก็ดีย่อมลอยไปในอากาศ ครั้นพระอาทิตย์ที่ทำกัปให้พินาศเป็นไป ท้องฟ้าปราศจากเมฆและหมอกใสไม่มัวดุจวงแว่นส่องหน้า เว้นแม่น้ำ 5 สายคือ คงคา, ยมุนา, อจิรวดี, มหี เสียแล้ว น้ำในแม่น้ำที่เหลือมีแม่น้ำน้อยเป็นต้น ย่อมเหือดแห้งไป ต่อจากนั้นโดยล่วงไปเป็นเวลานานแสนนาน พระอาทิตย์ดวงที่ 3 จึงเกิดผุดขึ้น เพราะเหตุที่ปรากฏแล้วเท่านั้น ถึงแม่น้ำใหญ่ก็เหือดแห้งไปได้ จากนั้นผ่านไปเป็นเวลานานพระอาทิตย์ดวงที่ 4 จึงผุดขึ้น เพราะเหตุที่ปรากฏแล้วนั้น สระใหญ่ 7 สระเหล่านี้ คือสระสีหปาตนะ 1 หังสปาตนะ 1 กัณณมุณฑกะ 1
''(หน้าที่ 291)''
รถการทหะ 1 อโนตัตตทหะ 1 ฉัททันตหะ 1 กุณาลทหะ 1 ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำมหานทีในป่าหิมพานต์ก็ย่อมเหือดแห้ง ผ่านจากนั้นไปเป็นเวลานาน พระอาทิตย์ดวงที่ 5 ก็ผุดโผล่ขึ้น พอโผล่ขึ้นแล้วน้ำในมหาสมุทรย่อมไม่มีเหลือเลยแม้แต่เพียงจะเปียกข้อนิ้ว โดยล่วงไปแห่งกาลนานยืดยาว แต่นั้นพระอาทิตย์ดวงที่ 6 ก็ผุดโผล่ขึ้นแล้ว จักรวาลทั้งสิ้นก็เกิดเป็นกลุ่มควันตลบไปหมด ยางคืออาโปธาตุก็หมดไปเพราะถูกควันรม ก็จักรวาลนี้เป็นฉันใด แม้จักรวาลตั้งแสนโกฏิก็เป็นฉันนั้น จากเวลานั้นผ่านไปเป็นเวลายาวนาน พระอาทิตย์ดวงที่ 7 ก็ผุดโผล่ขึ้น พอผุดโผล่ขึ้นแล้วจักรวาลทั้งสิ้นก็มีเปลวเป็นอันเดียวกันพร้อมทั้งแสนโกฏิจักรวาล ยอดเขาสิเนรุอันมีขนาดประมาณตั้ง 100 โยชน์เป็นต้น ก็พังพินาศอันตธานไปในอากาศนั่นเอง เปลวไฟก็ลุกขึ้นติดไหม้ชั้นจาตุมมหาราช พอไหม้วิมานทอง, วิมานรัตนะ, วิมานแก้วมณีในชั้นจาตุมมหาราชแล้ว ก็ไหม้ติดชั้นดาวดึงส์ โดยอุบายนี้แล จึงติดไหม้ตลอดไปถึงภูมิปฐมฌาน ไหม้พรหมโลกทั้ง 3 ในภูมิปฐมฌานนั้นแล้วลุกขึ้นไปติดอาภัสสรพรหมอยู่ เปลวไฟนั้นยังมีเชื้ออยู่แม้ประมาณเท่าอณูหนึ่งเพียงใด ก็ไม่ดับไปเพียงนั้น ก็เพราะเชื้อทุกอย่างสิ้นสูญ ย่อมดับไปไม่เหลือจนชั้นเถ้าถ่านดุจเปลวไฟไหม้เนยใสและน้ำมัน ฉะนั้น อากาศเบื้องบนพร้อมกับอากาศเบื้องล่างได้มืดสนิทไปหมด
ต่อจากนั้นล่วงไปเป็นเวลานาน มีมหาเมฆตั้งขึ้นยังฝนละเอียดให้ตกในชั้นแรก หลั่งอยู่ทางท่อธารมีประมาณเท่าก้านบัว, ไม้เท้า, สาก และประมาณเท่าลำตาลเป็นต้นโดยลำดับ ทำที่ที่ไฟไหม้ทั้งหมดในแสนโกฏิจักรวาลให้เต็มแล้วจึงหายไป ลมพัดอุ้มน้ำนั้นไว้ ข้างล่างและข้างขวาง จนทำให้น้ำนั้นงวดเป็นแท่ง น้ำมันกลับเป็นก้อนคล้ายหยาดน้ำบนใบบัวฉะนั้น
หากจะถามว่า ลมจะทำกระแสน้ำเป็นอันมากเห็นปานนั้นให้กลายเป็นก้อนเป็นแท่งได้อย่างไร ?
ตอบว่า เพราะน้ำเปิดช่องให้โอกาส คือ น้ำนั้นย่อมเปิดช่องให้โอกาสแก่ลมนั้นในที่นั้น ๆ น้ำนั้นถูกลมรวบรวมทำให้เป็นก้อนย่อมงวดลงมาในเบื้องต่ำโดยลำดับ เมื่อน้ำงวดลง ๆ พรหมโลกก็เกิดปรากฏขึ้นในที่ที่เคยเป็นพรหมโลก และเทวโลกทั้งหลายก็เกิดปรากฏขึ้นในที่ที่เคยเป็นเทวโลกกามาวจร 5 ชั้นเบื้องบน ก็เมื่อน้ำนั้นงวดลงมาถึงพื้นดินที่เคย
''(หน้าที่ 292)''
'''มีทีแรก ลมมีกำลังย่อมเกิดขึ้น ลมเหล่านั้นย่อมปิดน้ำนั้นทำมิให้ไหลบ่าออกไปได้ดุจน้ำในกระบอกกรองน้ำที่อุดช่องอากาศไว้ ฉะนั้น น้ำมีรสอร่อยถึงความสิ้นเหือดไป ทำให้เกิดง้วนดินเป็นฝาขึ้น ง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสีกลิ่นและรสเช่นเดียวกับหน้าข้าวปายาสที่ไม่ใช้น้ำธรรมดาหุง คือใช้น้ำนมหุง ฉะนั้น'''
ก็ในเวลานั้น สัตว์ที่บังเกิดขึ้นครั้งก่อนในอาภัสสรพรหมโลก เคลื่อนจากพรหมโลกนั้นเพราะสิ้นอายุหรือเพราะหมดบุญ ย่อมเป็นสัตว์เกิดผุดขึ้นในโลกนี้ สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้มีแสงอยู่ในตัว ท่องเที่ยวไปได้ในท้องฟ้า สัตว์เหล่านั้นได้ลิ้มรสง้วนดินนั้น ด้วยถูกตัณหาครอบงำแล้วจึงพยายามลงมือปั้นกินเป็นคำ ๆ ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในอัคคัญญสูตรแล ครั้นต่อมารัศมีในตัวของสัตว์เหล่านั้นก็อันตรธานสูญหายไป เกิดความมืดมิดขึ้นแทน พวกสัตว์นั้นเห็นความมืดมิดเข้าก็หวาดกลัว แต่นั้นดวงอาทิตย์ใหญ่ประมาณได้ 50 โยชน์บริบูรณ์ก็ปรากฏขึ้น ทำความกลัวของสัตว์เหล่านั้นให้หายไป กลับทำให้เกิดความกล้าหาญองอาจ สัตว์เหล่านั้นเห็นดวงอาทิตย์นั้นแล้ว ยินดีร่าเริงว่า พวกเราได้แสงสว่างแล้ว ดังนี้ จึงปรึกษาหารือกันว่า ดวงวิเศษนั้นกำจัดความกลัวของพวกเราให้สูญหายไปสิ้น กลับทำให้เกิดความกล้าหาญขึ้นแทนที่ เพราะเหตุนั้น ดวงวิเศษนี้จึงเป็นสุริยะ (บันดาลให้เกิดความกล้าหาญ) ดังนี้ จึงลงมติขนานนามดวงวิเศษนั้นว่า พระสุริยะ (พระอาทิตย์) ครั้นต่อมาเมื่อพระอาทิตย์ทำหน้าที่ส่องแสงสว่างในเวลากลางวันแล้วก็อัสดงคตไป สัตว์ทั้งหลายก็พากันกลัวอีกว่า บัดนี้แสงสว่างที่พวกเราเคยได้รับก็กลับหายไปเสียอีกแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงรำพึงอย่างนี้ว่า ถ้าพวกเราได้แสงสว่างอย่างอื่น ก็จะพึงเป็นการดี ดวงจันทร์ใหญ่ประมาณได้ 49 โยชน์ก็ปรากฏขึ้น ดูเหมือนจะรู้ใจของสัตว์เหล่านั้น พอสัตว์เหล่านั้นเห็นดวงจันทร์นั้นแล้ว ก็ยินดีปรีดายิ่งนัก ปรึกษากันว่า ดวงวิเศษนี้ปรากฏขึ้นคล้าย ๆ จะทราบความพอใจ (ฉันทะ) ของพวกเรา เหตุนั้นดวงวิเศษนี้จึงเป็นดวงให้เกิดความพอใจ ดังนี้ จึงลงมติตั้งชื่อดวงวิเศษนั้นว่า พระจันทร์ เมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์ปรากฏขึ้นดังนี้แล้ว ดวงดาวนักษัตรก็ปรากฏขึ้นตามกันมา นับแต่นั้นมากลางคืนและกลางวันก็ปรากฏ ลำดับต่อมาก็ปรากฏเป็น เดือน, ครึ่งเดือน, ฤดูและปี เขาสิเนรุเขาจักรวาลและเขาหิมพานต์ปรากฏขึ้นในวันเดียวกัน
''(หน้าที่ 293)''
'''กับที่พระจันทร์และพระอาทิตย์ปรากฏขึ้นนั่นแหละ ก็แล ภูเขาเหล่านั้นปรากฏขึ้นไม่ก่อนไม่หลังกันในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 ปรากฏขึ้นอย่างไร ? คือเปรียบเหมือนเมื่อข้าวฟ่างที่พ่อครัวกำลังต้ม ฟองย่อมผุดขึ้นพร้อม ๆ กันทีเดียว แต่บางส่วนก็ปูดขึ้น บางแห่งก็เป็นบุ๋ม ๆ บางแห่งก็ราบเรียบ ฉันใด ในสถานที่สูง ๆ ก็เป็นภูเขา ในสถานที่ต่ำ ๆ ก็เป็นทะเล ในสถานที่ราบเรียบก็เป็นทวีป ฉันนั้น '''
ครั้นต่อมาเมื่อสัตว์เหล่านั้นบริโภคง้วนดินนั้นเข้าไปแล้ว ทำให้บางพวกมีผิวพรรณงดงาม บางพวกก็มีผิวพรรณดำหยาบไม่งาม ใน 2 พวกนั้น พวกที่มีผิวพรรณงาม ก็ดูหมิ่นพวกที่มีผิวพรรณไม่งาม เพราะการดูหมิ่นของพวกที่มีผิวพรรณงดงามเหล่านั้นเป็นต้นเหตุ แผ่นดินที่เคยมีรสอร่อยแต่เดิมก็กลับอันตรธานหายไปสิ้น ภาคพื้นก็ปรากฏกลายเป็นสะเก็ดดินขึ้นแทนที่ ต่อมาแม้สะเก็ดดินนั้นก็อันตรธานหายไปอีก เพราะการดูหมิ่นกันนั้นอีกนั่นแหละ ต่อมาเครือดินก็เกิดขึ้นแทนเพราะการดูหมิ่นเหยียดหยามกันอีกเหมือนกัน แม้เครือดินก็ยังตั้งอยู่ไม่ได้ คืออันตรธานหายไปอีก ข้าวสาลีที่ไม่ต้องหุงด้วยไฟฟืน เป็นเมล็ดข้าวสารที่ไม่มีรำ ไม่มีแกลบ มีกลิ่นหอม ย่อมเกิดขึ้นเอง ต่อมาภาชนะก็เกิดแก่สัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นใส่ข้าวสาลีลงในภาชนะแล้วตั้งไว้บนหลังแผ่นหิน เปลวไฟลุกขึ้นเอง แล้วหุงข้าวนั้นจนสุก ข้าวสาลีนั้นเป็นข้าวสุกสวยเช่นเดียวกันกับดอกมะลิ ข้าวสุกนั้นไม่ต้องไปประสมด้วยแกงและกับ สัตว์เหล่านั้นต้องการจะบริโภครสอย่างใดก็เป็นรสอย่างนั้นดังใจหมาย เมื่อสัตว์เหล่านั้นกลืนกินอาหารหยาบนั้นเข้าไป จำเดิมแต่นั้นมูตรและกรีสย่อมเกิด ครั้นคราวนี้ปากแผลก็แตกออกเป็นทวาร 9 คือ นัยน์ตา 2 หู 2 จมูก 2 ปาก 1 ทวารหนัก 1 ทวารเบา 1 รวมเป็นทวาร 9 เพื่อให้สัตว์เหล่านั้นได้ถ่ายมูตรและกรีสออกมา ความเป็นชายก็ปรากฏแก่ชายความเป็นหญิงก็ปรากฏแม้แก่หญิง เล่ากันว่า ในเวลานั้น หญิงเพ่งเล็งดูชายเกินขอบเขต และชายก็เพ่งเล็งดูหญิงจนเกินขอบเขต อาศัยการเพ่งเล็งของชายและหญิงเหล่านั้นเป็นต้นเหตุ ความต้องการอันเร่าร้อนในกามารมณ์ย่อมเกิดขึ้น แต่นั้นจึงคบคู่เสพสุขอยู่ด้วยกัน ชนเหล่านั้นถูกพวกวิญญูชนตำหนิติเตียนขัดขวางอยู่ เพราะการเสนออสัทธรรมเป็นต้นเหตุ จึงได้ปลูกสร้างเรือนเพื่อจะปกปิดอสัทธรรมนั้น
''(หน้าที่ 294)''
ชนเหล่านั้นอยู่ครองเรือนต่อมา ก็ได้เอาเยี่ยงอย่างสัตว์ผู้มีสันดานเกียจคร้านผู้หนึ่งเข้า จึงได้พากันทำการสั่งสมทัพพสัมภาระต่าง ๆ ไว้ ตั้งแต่นั้นมาทั้งรำทั้งแกลบก็เกิดหุ้มเมล็ดข้าวสาร แม้ที่ที่ตนเกี่ยวแล้วก็ไม่งอกขึ้นอีก พวกเขาจึงประชุมปรับทุกข์กันว่า "ชาวเราเอ๋ย ธรรมอันลามกเกิดปรากฏขึ้นในหมู่สัตว์เสียแล้วละหนอ เมื่อก่อนพวกเราคิดอยากได้อะไรก็สำเร็จดังใจคิด" ดังนี้ นักศึกษาพึงทำข้อความนี้ให้พิสดารตามเนื้อความที่ท่านได้กล่าวไว้ในอัคคัญญสูตรเถิด ต่อนั้นมาพวกเขาจึงได้ปักปันเขตแดนกัน จำเนียรกาลผ่านมายังมีสัตว์ผู้หนึ่งได้ถือเอาส่วนของผู้อื่นโดยที่เจ้าของมิได้ให้ ชนทั้งหลายจึงด่าว่าติเตียนบุรุษผู้นั้น 2 ครั้ง ครั้งที่ 3 จึงตัดสินโทษประหารด้วยฝ่ามือก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น
เมื่อกาลักทรัพย์ การทะเลาะ การพูดเท็จ และการจับท่อนไม้ ขั้นลงอาชญาเกิดขึ้น ดังบรรยายมานี้ ชนเหล่านั้นจึงประชุมคิดกันว่า ถ้ากระไรเราพึงสมมุติสัตว์ผู้หนึ่งบรรดาพวกเราซึ่งเป็นผู้ที่สามารถข่มคนที่ควรข่มได้ ตำหนิคนที่ควรตำหนิได้ ขับไล่คนที่ควรขับไล่ได้ โดยชอบธรรม และเราจะแบ่งส่วนแห่งข้าวสาลีให้แก่เขาผู้นั้น ก็เมื่อสัตว์ทั้งหลายทำการนัดหมายกันอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้แล เป็นพระโพธิสัตว์ในกัปนี้เป็นครั้งแรก เป็นผู้มีรูปร่างสง่าผ่าเผย, น่าดู, มีศักดิ์ใหญ่ยิ่ง, เต็มเปี่ยมพร้อมด้วยความรู้สามารถทำการปราบและปลอบได้ กำลังเด่นอยู่ในหมู่สัตว์เหล่านั้นโดยสมัยนั้น เขาทั้งหลายจึงเข้าไปหาพระโพธิสัตว์นั้น อ้อนวอนให้ท่านรับตำแหน่ง แล้วจึงสมมุติ (แต่งตั้ง) ขึ้น พระโพธิสัตว์นั้นปรากฏโดยพระนาม มี 3 นาม คือ ทรงพระนามว่า มหาสมมุติ เพราะเป็นผู้ที่มหาชนนั้นสมมุติขึ้นแล้ว ทรงพระนามว่า กษัตริย์ เพราะเป็นใหญ่แห่งการเกษตร (นา) ทั้งหลาย และทรงพระนามว่า ราชา เพราะยังใจผู้อื่นให้ชื่นชมยินดี ปกครองโดยชอบธรรม จริงอยู่ ตำแหน่งใดเป็นตำแหน่งที่อัศจรรย์มีอยู่ในโลก พระโพธิสัตว์ย่อมเป็นคนแรกที่จะได้รับตำแหน่งนั้นแล ครั้นวงศ์กษัตริย์ยกพระโพธิสัตว์เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งขึ้นอย่างนั้นแล้ว แม้วรรณะทั้งหลายมีวรรณะพราหมณ์เป็นต้น ก็พากันก่อตั้งขึ้นโดยลำดับ
'''กัป 4'''
ในกัปทั้ง 4 นั้น ตั้งแต่มหาเมฆใหญ่ยังกัปให้พินาศ จนกระทั่งเปลวไฟดับสูญไป นี้เป็นอสงไขยหนึ่ง ขนานนามว่า สังวัฏฏะ ตั้งแต่ขาดเปลวเพลิงที่ทำกัปให้พินาศสูญสิ้นไป
''(หน้าที่ 295)''
'''จนถึงมหาเมฆตกเต็มที่ยังแสนโกฏิจักรวาลให้เต็ม นี้เป็นอสงไขยที่ 2 ขนานนามว่า สังวัฏฏัฏฐายี ตั้งแต่มหาเมฆตกเต็มที่มาจนถึงพระจันทร์และพระอาทิตย์ปรากฏ นี้เป็นอสงไขยที่ 3 ขนานนามว่า วิวัฏฏะ ตั้งแต่พระจันทร์และพระอาทิตย์ปรากฏมาจนถึงมหาเมฆยังกัปให้พินาศใหม่อีก นี้เป็นอสงไขยที่ 4 ขนานนามว่า วิวัฏฏัฏฐายี อสงไขย 4 เหล่านี้ จัดเป็นมหากัปหนึ่ง การพินาศด้วยไฟและการตั้งขึ้นใหม่ นักศึกษาพึงทราบตามที่ได้แถลงมานี้ก่อน'''
ส่วนในสมัยที่กัปพินาศไปด้วยน้ำ คำว่า แต่ต้นทีเดียวมหาเมฆยังกัปให้พินาศตั้งขึ้นดังนี้ นักศึกษาพึงให้พิสดารตามนัยที่กล่าวไว้ในตอนก่อน แต่ส่วนที่แปลกกันมีดังต่อไปนี้
'''กัปพินาศด้วยน้ำ'''
คือเหมือนอย่างว่า ในที่นั้นดวงอาทิตย์ที่ 2 ปรากฏขึ้น ในที่นี้ต้องว่า มหาเมฆ น้ำกรดยังกรดยังกัปให้พินาศตั้งขึ้น ฝนน้ำกรดนั้นชั้นต้นก็หลั่งฝนเมล็ดละเอียดตกเต็มจักรวาลทั้งแสนโกฏิด้วยท่อธาราใหญ่โดยลำดับ แผ่นดินและภูเขาเป็นต้นที่ฝนน้ำกรดตกถูกแล้วย่อมละลาย น้ำกรดนั้นถึงจะถูกลมพัดก็ทานไว้ได้โดยรอบด้าน น้ำกรดท่วมตั้งแต่แผ่นดินจนถึงพรหมโลกชั้นทุติยฌานภูมิ ทำพรหมโลก 3 ชั้นให้ละลายในที่นั้นแล้วดำรงอยู่จรดสุภกิณหพรม น้ำกรดนั้นสิ่งที่นับว่าเป็นสังขารแม้เพียงอณูหนึ่งยังมีอยู่ตราบใด ก็ยังไม่ระงับไปตราบนั้น ครั้นท่วมสังขารทุกอย่างให้ไปตามน้ำหมดแล้ว ก็งวดถึงความสูญหายไปโดยพลัน อากาศเบื้องบนกับเบื้องล่างได้มืดมิดเป็นอันเดียวกัน คำทั้งหมดเช่นเดียวกับคำที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้ว ก็ในอธิการนี้ โลกนับอาภัสสรพรหมโลกเป็นต้นเกิดปรากฏขึ้น ต่อมาสัตว์เคลื่อนจากสุภกิณหพรหมเกิดขึ้นในที่อภัสสรพรหมเป็นต้น ในอสงไขยทั้ง 4 เหล่านี้ ตั้งแต่มหาเมฆยังกัปให้พินาศจนถึงหมดน้ำกรดยังกัปให้พินาศ นี้จัดเป็นอสงไขยที่ 1 ตั้งแต่น้ำขาดสูญจนถึงมหาเมฆตกลงเต็มที่ นี้เป็นอสงไขยที่ 2 ตั้งแต่มหาเมฆตกเต็มที่จนถึงพระจันทร์และพระอาทิตย์ปรากฏนี้เป็นอสงไขยที่ 3 ตั้งแต่พระจันทร์และพระอาทิตย์ปรากฏมาจนถึงมหาเมฆยังกัปให้พินาศใหม่อีก นี้เป็นอสงไขยที่ 4 อสงไขยทั้ง 4 นี้จัดเป็นมหากัปหนึ่ง ความพินาศด้วยน้ำและการตั้งขึ้นใหม่ นักปราชญ์พึงทราบดังกล่าวมานี้เถิด
''(หน้าที่ 296)''
'''กัปพินาศด้วยลม'''
ในสมัยที่กัปพินาศด้วยลม คำว่า ชั้นต้นมหาเมฆยังกัปให้พินาศตั้งขึ้น ดังนี้ บัณฑิตพึงให้พิสดารตามนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนก่อนแล ส่วนความแปลกกันมีดังต่อไปนี้ คือ เหมือนอย่างว่าในที่นั้นมีพระอาทิตย์ดวงที่ 2 ปรากฏขึ้น ในที่นี้ลมตั้งขึ้นเพื่อยังกัปให้พินาศนั่นเอง ลมนั้นชั้นต้นก็หอบเอาธุลีหยาบ ๆ ให้ตั้งขึ้น ต่อมาก็หอบเอาธุลีละเอียดให้ตั้งขึ้น ต่อมาก็พัดหอบเอาทรายละเอียด, ทรายหยาบ, ก้อนกรวด, ก้อนหิน เป็นต้น ตราบเท่าจนถึงหอบพัดพาเอาก้อนหินเท่า ๆ เรือนยอดและต้นไม้ใหญ่ที่เกิดอยู่ในที่สูง ๆ ต่ำ ๆ ให้ตั้งขึ้น หินและต้นไม้เหล่านั้นลอยจากแผ่นดินไปสู่กลางหาว ไม่กลับตกลงอีก แหลกละเอียดฉิบหายไปในอากาศนั่นเอง จำเนียรกาลนานมาลมก่อตัวขึ้นภายใต้แผ่นดินใหญ่แล้ว ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นลำดับจนพลิกเอาแผ่นดิน ทำให้มีรากในเบื้องบนแล้วพัดขึ้นไปคว้างอยู่บนอากาศ ที่ส่วนหนึ่ง ๆ แห่งแผ่นดินมีประมาณ 100 โยชน์ก็มี ประมาณ 200,300,400,500 โยชน์ก็มีแตกออกแล้วถูกกำลังลมพัดหอบขึ้นไป แล้วแหลกละเอียดเป็นผุยผงหายไปในอากาศนั่นเอง ภูเขาจักรวาลก็ดี ภูเขาสิเนรุก็ดี พลอยถูกลมพัดซัดไปในอากาศด้วย ภูเขาทั้ง 2 นั้นกระทบกันแหลกละเอียดเป็นผุยผงพินาศไป ลมทำวิมานแห่งภุมมัฏฐกเทวดาและวิมานแห่งอากาสัฏฐกเทวดาให้วอดไปโดยทำนองนี้แล้ว ทำกามาวจรเทวโลก 6 ชั้นให้พินาศ แล้วยังจักรวาลทั้งแสนโกฏิให้ย่อยยับอยู่ ในกาลนั้นภูเขาจักรวาลกับภูเขาจักรวาล ภูเขาหิมพานต์กับภูเขาหิมพานต์ ภูเขาสิเนรุกับภูเขาสิเนรุกระทบกันและกันจนแหลกเป็นผุยผง ลมพัดเริ่มต้นแต่แผ่นดินไปจนถึงพรหมตติยฌานภูมิ ลมทำพรหมโลก 3 ชั้นในตติยฌานภูมินั้นให้พินาศ แล้วไปหยุดจรดพรหมโลกชั้นเวหัปผละ ลมนั้นทำสิ่งที่นับว่าเป็นสังขารทั้งปวงให้สลายไปอย่างนี้แล้ว ตัวเองก็สลายไปด้วย อากาศเบื้องบนกับทั้งอากาศเบื้องล่างก็มืดมิดเป็นอันเดียวกันแล คำที่เหลือทั้งหมดก็เป็นเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวไว้แล้ว ในอธิการที่กัปพินาศไปด้วยลมนี้ โลกตั้งแต่สุภกิณหพรหมโลกเป็นต้นยังปรากฏอยู่ ฝ่ายสัตว์ทั้งหลายเคลื่อนจากเวหัปผลพรหมแล้ว เกิดฐานะแห่งสุภกิณหพรหมเป็นต้น
''(หน้าที่ 297)''
'''อสงไขย 4'''
ในอสงไขยทั้ง 4 นั้น นับตั้งแต่มหาเมฆทำกัปให้พินาศจนถึงลมทำกัปให้พินาศสูญสิ้นนี้ เป็นอสงไขยหนึ่ง ตั้งแต่ขาดลมมาจนถึงมหาเมฆตกเต็มที่ นี้เป็นอสงไขยที่ 2 ตั้งแต่มหาเมฆตกลงเต็มที่มาจนถึงพระจันทร์และพระอาทิตย์ปรากฏ นี้เป็นอสงไขยที่ 3 ตั้งแต่พระจันทร์และพระอาทิตย์ปรากฏมาจนถึงมหาเมฆทำกัปให้พินาศใหม่อีก นี้เป็นอสงไขยที่ 4 อสงไขยทั้ง 4 เหล่านี้ จัดเป็นมหากัปหนึ่ง การพินาศด้วยลมและการตั้งขึ้นใหม่ นักศึกษาพึงทราบดังบรรยายมาฉะนี้
ถามว่า – โลกพินาศไปอย่างนี้เพราะเหตุไร ?
ตอบว่า - เพราะเหตุแห่งอกุศลมูล คือเมื่ออกุศลมูลหนาแน่นขึ้นแล้ว โลกย่อมพินาศไปอย่างนี้ ก็โลกนั้นแลเมื่อราคะมีหนาแน่นกว่าย่อมพินาศด้วยไฟ เมื่อโทสะหนาแน่นกว่า ย่อมพินาศด้วยน้ำ แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เมื่อโทสะหนาแน่นกว่าโลกย่อมพินาศด้วยไฟ เมื่อราคะหนาแน่นกว่า โลกย่อมพินาศด้วยน้ำ เมื่อโมหะหนาแน่นกว่าโลกย่อมพินาศด้วยลม ก็เมื่อโลกพินาศด้วยอกุศลมูลเป็นเหตุอย่างนี้ ย่อมพินาศด้วยไฟ 7 ครั้ง ติดๆกันไป ครั้งที่ 8 จึงพินาศด้วยน้ำ พินาศด้วยไฟ 7 ครั้งอีก ครั้งที่ 8 จึงพินาศด้วยน้ำอีก ตามนัยนี้ เมื่อพินาศไปอยู่ในวาระที่ 8 อย่างนี้ พินาศด้วยน้ำ 7 ครั้ง พินาศด้วยไฟ 7 ครั้งอีกด้วยอาการพินาศเพียงเท่านี้ จึงเป็น 63 กัปล่วงไปแล้ว ในระหว่างนี้ลมได้โอกาสห้ามวาระที่พินาศด้วยน้ำแม้ที่ถึงแล้วเสียได้ กำจัดถึงสุภกิณหพรหมซึ่งมีอายุ 64 กัปบริบูรณ์ ยังโลกให้พินาศอยู่
ภิกษุนึกตลอดกัป แม้เมื่อจะนึกถึงขันธ์ที่ตนเคยอาศัยในก่อน ย่อมนึกได้กระทั่งถึงสังวัฏกัปไม่น้อย วิวัฏกัปไม่น้อย สังวัฏวิวัฏกัปไม่น้อย ในบรรดากัปเหล่านี้ที่มีอยู่, นึกได้อย่างไร ? คือนึกโดยนัยว่า เราเกิดแล้วในที่โน้นเป็นต้น
ในบทมาติกาเหล่านั้น บทมาติกาว่า เราเกิดในที่โน้น คือเราได้เกิดในภพโน้น ในกำเนิดหรือคติโน้น หรือวิญญาณฐิติโน้น หรือสัตตาวาสโน้น หรือหมู่สัตว์โน้น ในสังวัฏกัปโน้น ข้อว่า มีชื่ออย่างนี้ คือ ชื่อว่าติสสะหรือปุสสะ ข้อว่า มีโคตรอย่างนี้ คือเป็นกัจจายนโคตร หรือกัสสหโคตร คำทั้ง 2 นี้ท่านกล่าวด้วยมุ่งถึงการระลึกถึงชื่อและโคตร
''(หน้าที่ 298)''
ของตนในภพที่ล่วงไปแล้วของภิกษุนั้น ก็ถ้าว่าในเวลานั้นต้องการจะนึกถึงวรรณสมบัติ หรือ การเลี้ยงชีพเศร้าหมอง หรือประณีต สุขหรือทุกข์มาก อายุน้อยหรือมากของตน เธอก็ย่อมนึกถึงสิ่งนั้นได้เหมือนกัน เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีวรรณอย่างนี้ ฯลฯ มีที่สุดแห่งอายุเพียงเท่านี้ ก็ในคำเหล่านั้น คำว่า มีวรรณะอย่างนี้ คือ มีผิวขาวหรือผิวคล้ำ คำว่า มีอาหารอย่างนี้ คือ มีข้าวสาลีเนื้อและข้าวสุกเป็นอาหาร หรือว่ามีการบริโภคผลไม้เป็นอยู่ คำว่า เสวยสุขและทุกข์อย่างนี้ คือ เสวยสุขและทุกข์ทางกายและใจ หรือที่มีชนิดเจือด้วย เหยื่อล่อหรือไม่มีเหยื่อล่อเป็นต้น โดยประการหลายหลาก คำว่า มีที่สุดแห่งอายุเพียงเท่านี้ คือมีที่สุด อายุประมาณ 100 ปี หรือมีอายุตั้ง 84,000 กัปเป็นที่สุดอย่างนี้ คำว่า เรานั้นเคลื่อนจากที่นั้น แล้วเกิดในที่โน้น คือ เรานั้นเคลื่อนจากภพกำเนิด คติ วิญญาณฐิติ สัตตาวาส หมู่สัตว์นั้น บังเกิดในภพ กำเนิด คติ วิญญาณฐิติ สัตตาวาส หรือหมู่สัตว์โน้นอีก คำว่า เราเกิดแม้ในที่นั้น คือต่อมาเราได้เกิดในภพ กำเนิด คติ วิญญาณฐิติ สัตตาวาสหมู่สัตว์แม้นั้นอีก คำว่า มีชื่ออย่างนี้เป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล
อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุคำที่ว่า เราเกิดในที่โน้นนี้ เป็นการนึกได้ตามปรารถนาแห่งภิกษุผู้นึกขึ้นไปโดยลำดับ คำว่า เราเคลื่อนจากที่นั้น ได้แก่เป็นการพิจารณาของภิกษุผู้นึกถอยกลับ เหตุนั้นพึงทราบว่า คำว่า เราเกิดในที่โน้นนี้ ท่านกล่าวหมายถึงที่เกิดของภิกษุนั้นอันรับรองการเกิดในที่นี้ว่าเกิดในที่นี้ ส่วนคำว่า เราเกิดแม้ในที่นั้น เป็นต้น ท่านกล่าวเพื่อแสดงการระลึกถึงชื่อและโคตรเป็นต้น ในสถานที่บังเกิดในระหว่างแห่งอุบัตินี้ในที่นั้น คำว่า เรานั้นเคลื่อนจากที่นั้นแล้วบังเกิดในที่นี้ คือเรานั้นเคลื่อนจากฐานะที่บังเกิดรองจากภพนั้นแล้ว มาบังเกิดในสกุลกษัตริย์หรือในสกุลพราหมณ์ชื่อโน้นในภพนี้ บทว่า อิติ แปลว่า อย่างนี้ คำว่า มีอาการอุเทศ คือชื่อว่ามีอุเทศด้วยสามารถแห่งชื่อและโคตร ชื่อว่ามีอาการด้วยสามารถแห่งวรรณะเป็นต้น จริงอยู่ สัตว์อันบุคคลย่อมแสดงว่า ติสสะ กัสสปะ ดังนี้ ด้วยชื่อและโคตร ย่อมปรากฏโดยไม่เหมือนกันว่าคล้ำหรือขาว ด้วยวรรณะเป็นเหตุนั้น ชื่อและโคตรจึงชื่อว่าอุเทศ นอกจากนี้จึงชื่อว่าอาการ คำว่า นึกถึงปุพเพสันนิวาสมีอย่างต่าง ๆ นี้ มีเนื้อความชัดอยู่แล้วนั่นแล
จบ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณกถา
''(หน้าที่ 299)''
=จุตูปปาตญาณกถา=
เนื้อความในเรื่องความรู้ในจุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลายนักศึกษาพึงทราบดังต่อไปนี้ คำว่า เพื่อจุตูปปาตญาณ คือ เพื่อรู้การตายและการเกิด อธิบายว่า จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลายที่พระโยคีรู้ได้ด้วยญาณใด ก็น้อมนำจิตเข้าไปเพื่อญาณนั้น คือ เพื่อทิพยจักษุญาณ คำว่า น้อมนำจิต คือ นำเข้าไปเฉพาะ ได้แก่นำบริกรรมจิตมุ่งเข้าไป คำว่า นั้น คือ ภิกษุผู้มีการนำจิตมุ่งไปได้ทำแล้วนั้น ก็ในคำว่า เป็นทิพย์เป็นต้น มีอธิบายว่า ชื่อว่าเป็นทิพย์เพราะเป็นเหมือนของทิพย์ คือปสาทจักษุของพวกเทพเจ้าซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจสุจริตกรรม มิได้เกลือกกลั้วด้วยดี, เสมหะ, เลือดเป็นต้น สามารถจะรับอารมณ์แม้ในที่ไกล ๆ ได้ เพราะพ้นจากอุปกิเลส เป็นปสาทจักษุทิพย์ แม้ญาณจักษุนี้ของภิกษุนั้นบังเกิดได้ด้วยกำลังแห่งวิริยภาวนา เช่นเดียวกับปสาทจักษุนั้น เหตุนั้น จึงชื่อว่าเป็นทิพย์ เพราะเหมือนของทิพย์ อนึ่ง ชื่อว่า เป็นทิพย์ เพราะได้ด้วยอำนาจทิพพวิหารและเพราะตนได้อาศัยทิพพวิหาร ชื่อว่า เป็นทิพย์ แม้เพราะเหตุที่สว่างไสวมากด้วยการกำหนดถือด้วยอาโลกกสิณ ชื่อว่า เป็นทิพย์ แม้เพราะเหตุที่มีภูมิที่ไปได้มาก เพราะเห็นรูปที่อยู่ในภายนอกฝาเป็นต้นได้ชัดเจน ข้อความนั้นทั้งหมดนักศึกษาพึงทราบตามแนวแห่งคัมภีร์ศัพทศาสตร์นั้นเถิด ญาณนั้นชื่อว่าจักษุ เพราะอรรถว่าเห็น อนึ่ง ชื่อว่าจักษุ เพราะเป็นดังตาเหตุทำหน้าที่ของตา จักษุนั้นจัดว่าหมดจดเพราะเป็นเหตุแห่งทิฏฐิวิสุทธิด้วยการเห็นได้ทั้งจุติทั้งอุปบัติ เพราะว่าผู้ใดเห็นแต่จุติอย่างเดียวไม่เห็นอุปบัติ ผู้นั้นย่อมยึดมั่นอุจเฉททิฏฐิ ผู้ใดเห็นแต่อุบัติอย่างเดียวไม่เห็นจุติ ผู้นั้นย่อมยึดมั่นสัสสตทิฏฐิ เพราะความเกิดปรากฏขึ้นแห่งสัตว์ใหม่ ส่วนผู้ใดเห็นทั้ง 2 อย่าง ผู้นั้นย่อมล่วงพ้นจากทิฏฐิ 2 อย่างนั้นเสียได้ เหตุนั้นความเห็นของผู้นั้นจึงเป็นเหตุแห่งทิฏฐิวิสุทธิ
จริงอยู่ การเห็นจุติและอุปบัติทั้ง 2 อย่างนี้ พวกที่นับว่าเป็นโอรสพระพุทธเจ้าเท่านั้นจึงเห็นได้ การเห็นนั้นท่านกล่าวว่าชื่อว่า หมดจด เพราะเป็นเหตุแห่งทิฏฐิวิสุทธิ ด้วยการเห็นทั้งจุติและอุปบัติ ตาคือญาณอันหมดจดนั้นพึงทราบว่าพ้นวิสัยของมนุษย์ธรรมดา เพราะเห็นรูปได้ไกลกว่ามนุษย์ธรรมดา หรือเพราะเห็นได้ไกลยิ่งกว่าตาเนื้อของมนุษย์
''(หน้าที่ 300)''
ธรรมดา ย่อมเห็นด้วยตาทิพย์นั้นอันหมดจดล่วงพ้นวิสัยที่มนุษย์ธรรมดาจะเห็นได้ คำว่า เห็นสัตว์ คือดูแลสัตว์เห็นได้ดุจตาเนื้อของมนุษย์ธรรมดา ในคำว่า ผู้จุติและอุปบัติอยู่นี้ หมายความว่า ในขณะจุติในขณะอุปบัติที่ใคร ๆ ไม่อาจจะเห็นได้ด้วยตาทิพย์ ก็สัตว์เหล่าใดใกล้จะจุติ คือจักจุติในบัดนี้ เหตุนั้นสัตว์เหล่านั้นท่านมีความประสงค์ว่าผู้จุติอยู่ ก็แลสัตว์เหล่าใดถือปฏิสนธิแล้ว คือ บังเกิดแล้วในบัดนี้ สัตว์เหล่านั้นท่านมีความประสงค์ว่าผู้อุปบัติอยู่ ท่านแสดงว่า เห็นสัตว์เหล่านั้นผู้จุติและอุปบัติอยู่เช่นนั้น คำว่า ผู้เลว คือถ่อย ทราม ต่ำช้า ที่คนดูหมิ่นได้ด้วยอำนาจชาติสกุลและโภคะเป็นต้นอันทราม เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยวิบากอันเผล็ดผลมาจากโมหะ คำว่า ประณีต คือที่ตรงกันข้ามจากนั้น เพราะประกอบด้วยวิบากอันเผล็ดผลมาจากอโมหะ คำว่า ผู้มีผิวพรรณดี คือผู้ประกอบด้วยผิวพรรณน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพราะประกอบด้วยวิบากอันหลั่งออกมาจากอโทสะ คำว่า ผู้มีผิวพรรณทราม คือผู้ประกอบด้วยผิวพรรณไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เพราะประกอบด้วยวิบากอันหลั่งออกมาจากโทสะ เนื้อความแห่งคำทั้ง 2 นั้นก็คือผู้มีรูปร่างงดงามและผู้มีรูปร่างขี้เหร่ คำว่า ผู้ไปดี คือไปสู่สุคติหรือเป็นคนมั่งคั่งมีทรัพย์สมบัติมากหลาย เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยวิบากอันหลั่งออกมาจากความไม่โลภ คำว่า ผู้ไปไม่ดี คือไปสู่ทุคติ หรือเป็นคนยากไร้เข็ญใจมีข้าวและน้ำอัตคัตเพราะประกอบด้วยวิบากอันหลั่งออกจากโลภะ คำว่า ผู้เข้าถึงตามกรรม คือตนเองสั่งสมกรรมใด ๆ ไว้ก็เข้าไปรับผลกรรมนั้น ๆ
ในบทเหล่านั้น ด้วยบทเป็นต้นว่า ผู้จุติอยู่ ดังนี้ ท่านกล่าวมุ่งถึงหน้าที่ของทิพยจักษุ ส่วนบทนี้ท่านกล่าวถึงหน้าที่ของ ยถากัมมุปคญาณ คือญาณเป็นเครื่องให้รู้ถึง สัตว์ผู้เข้าไปรับผลตามกรรมที่ทำมา และลำดับแห่งการบังเกิดของญาณนั้น ดังนี้ ภิกษุในพระศาสนานี้ เจริญอาโลกกสิณมุ่งตรงต่อนรกที่อยู่ภาคใต้ ย่อมเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้เกิดในนรก กำลังเสวยทุกข์อย่างแสนสาหัส ก็ความเห็นอันนั้นจัดว่าเป็นหน้าที่ของทิพยจักษุนั้นนั่นแล เธอนั้นใส่ใจอย่างนี้ว่า สัตว์เหล่านี้ทำกรรมอไรไว้หนอจึงมาเสวยทุกข์นี้ ครั้นคราวนี้ญาณนั้นมีกรรมเป็นอารมณ์ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นว่า เขาทำกรรมอย่างนี้ไว้ อนึ่ง ภิกษุเจริญอาโลกกสิณมุ่งตรงต่อเทวโลกเบื้องบน เห็นหมู่เทพในนันทวัน, มิสกวัน, และปารุสกวันเป็นต้น ผู้กำลังเสวยสมบัติอย่างมโหฬาร การเห็นแม้อย่างนี้จัดว่าเป็นหน้าที่ของทิพยจักษุนั้นนั่นแล
''(หน้าที่ 301)''
เธอจึงใส่ใจอย่างนี้ว่า หมู่เทพเหล่านี้ทำกรรมอะไรไว้หนอ จึงได้มาเสวยสมบัติเห็นปานนี้ ครั้นคราวนี้ญาณมีกรรมเป็นอารมณ์ย่อมเกิดปรากฏแก่เธอนั้นว่า เขาทำกรรมชื่อนี้ไว้ นี้ชื่อว่า ยถากัมมุปคญาณ สำหรับญาณนี้ไม่มีบริกรรมเป็นแผนกหนึ่ง ก็การไม่มีบริกรรมเป็นแผนกหนึ่งของญาณนี้ ฉันใด แม้อนาคตังสญาณก็ย่อมเป็นฉันนั้นนั่นแล จริงอยู่ ญาณที่เป็นบาทของทิพยจักษุนั่นแหละย่อมสำเร็จพร้อมกับทิพยจักษุทีเดียว
ในคำว่า ด้วยกายทุจริตเป็นต้น มีความหมายว่า กรรมที่บุคคลประพฤติแล้วชั่วช้าเลวทราม หรือกรรมชั่วช้าเลวทรามที่บุคคลประพฤติแล้ว เพราะเป็นกรรมเน่าด้วยกิเลส เหตุนั้น กรรมนั้นจึงชื่อว่าทุจริต ทุจริตทางกายหรือทุจริตที่เกิดขึ้นแต่กาย ชื่อว่ากายทุจริต แม้ในบทนอกจากนี้ก็มีความหมายอย่างนี้เหมือนกัน คำว่า ประกอบแล้ว คือเป็นผู้พร้อมเพรียง คำว่า เป็นผู้เข้าไปว่ากล่าวพระอริยะทั้งหลาย คือเป็นผู้มุ่งความฉิบหายแก่พระอริยะคือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกของพระพุทธเจ้า โดยที่สุดแม้คฤหัสถ์ผู้เป็นโสดาบัน เป็นผู้เข้าไปกล่าวว่า มีอธิบายว่า ด่าแดกดันด้วยอันติมวัตถุ หรือด้วย การกำจัดเสียซึ่งคุณงามความดี ใน 2 อย่างนั้น เมื่อเธอพูดว่า แม้ธรรมสำหรับสมณะก็ไม่มีแก่ท่านเหล่านี้ ท่านเหล่านี้ไม่ใช่สมณะเลย ดังนี้ พึงทราบว่าด่าด้วยอันติมวัตถุ เมื่อเธอพูดคำเป็นต้นว่า ฌานวิโมกข์ มรรค ผล ไม่มีแก่คนเหล่านี้ พึงทราบว่า ด่าด้วยการมุ่งที่จะกำจัดคุณงามความดี ก็ผู้นั้นรู้อยู่ก็ดีไม่รู้อยู่ก็ดียังขืนด่า จัดว่าเป็นอริยุปวาททั้ง 2 อย่างแล กรรมนั้นเป็นกรรมหนักเช่นเดียวกับอนันตริยกรรม ห้ามสวรรค์ห้ามมรรคผลนิพพาน แต่ก็ยังพอเยียวยาได้ เพื่อจะทำเนื้อความนั้นให้แจ่มแจ้ง นักศึกษาควรทราบเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง
เล่ากันมาว่า พระเถระกับภิกษุหนุ่มไปบิณฑบาตด้วยกันในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พอเดินถึงบ้านหลังแรกเท่านั้น พระทั้ง 2 รูป ก็ได้รับบิณฑบาตเป็นข้าวยาคูร้อนกระบวยหนึ่ง พระเถระเกิดมีลมเสียดแทงขึ้นในท้อง ท่านจึงคิดว่า ข้าวยาคูนี้ช่างเหมาะแก่โรคของเราเสียจริง เราจักดื่มมันตอนที่ยังอุ่น ๆ นี่แหละ ท่านจึงนั่งดื่มบนท่อนไม้ที่พวกคนชาวบ้านนำมาเพื่อทำธรณีประตู ฝ่ายภิกษุหนุ่มเกิดความรังเกียจท่านจึงกล่าวติเตียนว่า พระแก่นี่หิวจัดตะกละมากทำให้เราได้รับความอับอาย พระเถระเที่ยวไปยังบ้านแล้วกลับมายังวัด จึงถามภิกษุหนุ่มนั้นว่า "ผู้มีอายุ เธอมีที่พึ่งในพระศาสนานี้หรือยังล่ะ ?" พระภิกษุหนุ่มบอกว่า "มีซิครับ ก็ผม
''(หน้าที่ 302)''
เป็นพระโสดาบัน" พระเถระพูดว่า "ถ้าอย่างนั้นเธออย่าได้ทำความพยายามเพื่อมรรคผลชั้นสูง ๆ ต่อไปเลย" พระภิกษุหนุ่มย้อนถามว่า "เพราะเหตุไรครับ ?" พระเถระตอบว่า "ก็เพราะว่าเธอได้ว่าร้ายพระขีณาสพแล้วละซิ" ภิกษุหนุ่มนั้นได้สำนึกผิดขอขมาพระเถระแล้ว ด้วยการขอขมานั้น กรรมของเธอจึงได้เป็นปกติดังเดิม เพราะเหตุนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งไปว่าร้ายพระอริยเจ้า ผู้นั้นต้องไปขอขมาท่านเสีย ถ้าตนแก่พรรษากว่า พึงนั่งกระโหย่งไม่ต้องไหว้ กล่าวคำขอขมาว่า "อหํ อายสฺมนฺตํ อิทญฺจิทญฺจ อวจํ, ตมฺเม ขมาหิ ฉันได้กล่าวด้วยคำอย่างนี้อย่างนี้กะเธอ ขอเธอจงยกโทษนั้นแก่ฉันเถิด" ถ้าตนอ่อนพรรษากว่าต้องไหว้แล้วนั่งกระโหย่งประคองอัญชลีขอขมาว่า "อหํ ภนฺเต ตุมเห อิทญฺจิทญฺจ อวจํ, ตมฺเม ขมถ ท่านขอรับ กระผมได้กล่าวถ้อยคำอย่างนี้อย่างนี้กะท่าน ขอท่านได้โปรดยกโทษนั้นแก่กระผมด้วยเถิด" ถ้าท่านหลีกไปที่อื่นเสียแล้วพึงไปขอขมาด้วยตัวเอง หรือส่งสัทธิวิหาริกเป็นต้นให้ไปขอขมาแทนตนก็ได้ ก็ถ้าไม่สามารถจะไปเองได้ทั้งไม่สามารถจะส่งผู้อื่นไปแทนได้ ภิกษุเหล่าใดอยู่ในวัดนั้นพึงไปสู่สำนักของภิกษุเหล่านั้น ถ้าอ่อนพรรษากว่าพึงนั่งกระโหย่ง ถ้าแก่พรรษากว่าพึงปฏิบัติตามนัยแห่งวัตรที่พึงทำให้ท่านผู้แก่พรรษาดังกล่าวแล้วนั่นแล แล้วกล่าวขอขมาว่า "อหํ ภนฺเต อสุกํ นาม อายสฺมนฺตํ อิทญฺจิทญฺจ อวจํ, ขมตุ เม โส อายสฺมา ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าได้กล่าวคำ ๆ นี้กะท่านผู้มีอายุชื่อโน้น กะท่านผู้มีอายุชื่อโน้น ขอท่านผู้มีอายุรูปนั้นจงยกโทษแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด" แม้เธอไม่ขอขมาต่อหน้าพึงทำการขอขมาดังว่ามานี้นั่นแล หากท่านเป็นภิกษุเที่ยวไปผู้เดียวไม่ปรากฏที่อยู่ไม่ปรากฏที่ไป พึงไปหาภิกษุผู้เป็นบัณฑิตรูปหนึ่งแล้วพึงกล่าวว่า "ท่านขอรับ กระผมได้กล่าวถ้อยคำอย่างนี้ ๆ กะท่านผู้มีอายุชื่อโน้น บัดนี้ความเดือดร้อนในใจเกิดมีแก่กระผมทุกครั้งที่นึกถึงท่าน นี่กระผมจะทำอย่างไรดี ?" ภิกษุผู้บัณฑิตนั้นจะกล่าวว่า "อย่าคิดไปเลยคุณ พระเถระท่านไม่ถือเป็นโทษดอก จงสบายใจเสียเถิด" ฝ่ายภิกษุนั้นพึงผินหน้าไปทางที่พระอริยเจ้าท่านไป แล้วประคองอัญชลีกล่าวว่า "ขอท่านจงยกโทษให้กระผมเถิด" ถ้าหากพระเถระรูปนั้นปรินิพพานเสียแล้ว ก็ควรไปยังที่ใกล้เตียงนอนปรินิพพานของท่าน ถึงจะไปยังป่าช้าก็ให้ท่านยกโทษให้แก่ตนได้ เมื่อทำได้ดังนี้กรรมนั้นไม่เป็นอันห้ามสวรรค์และไม่กั้นมรรคผลนิพพาน ก็จะกลับเป็นปกติดังเดิม
''(หน้าที่ 303)''
คำว่า เป็นคนมิจฉาทิฏฐิ คือเป็นคนมีความเห็นวิปริต คำว่า สมาทานกรรมของมิจฉาทิฏฐิ คือผู้มีกรรมหลายอย่างที่ตนยึดมั่นไว้ด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ ทั้งยังจะชักชวนคนอื่น ๆ ไปในทางกายกรรมเป็นต้นอันมีมิจฉาทิฏฐิเป็นเหตุอีกด้วย อนึ่ง ในอธิการนี้ พึงทราบว่า แม้เมื่ออริยุปวาทท่านสงเคราะห์แล้วด้วยศัพท์คือวจีทุจริต และเมื่อมิจฉาทิฏฐิ ท่านสงเคราะห์แล้วด้วยศัพท์คือมโนทุจริตก็ดี การกล่าวทั้ง 2 บทนี้ไว้อีกก็เพื่อจะแสดงถึงว่ากรรมทั้ง 2 เหล่านี้มีโทษมาก จริงอยู่ อริยุปวาทมีโทษมากเพราะเป็นเช่นเดียวกับอนันตริยกรรม จริงอย่างนั้น ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า ดูก่อนสารีบุตร ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา พึงบรรลุพระอรหัตในภพนี้ได้เลย ฉันใด ดูก่อนสารีบุตร เรากล่าวอุปมัยนี้ว่าเหมือนอย่างนั้น คือเป็นที่แน่นอนทีเดียว คนที่ไม่ละวาจานั้น ไม่ละจิตนั้น ไม่ละทิฏฐินั้น จะต้องถูกวาจา จิต และทิฏฐินั้นฝังแล้ว เหมือนถูกนายนิรบาลฝังไว้แล้วในนรกฉะนั้น ก็ความชั่วอย่างอื่นที่จะชื่อว่าโทษมากกว่ามิจฉาทิฏฐินั้นเห็นจะไม่มีแน่ สมดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เคยเห็นธรรมอย่างอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่จะมีโทษมากยิ่งเหมือนมิจฉาทิฏฐินี้เลยนะภิกษุทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฏฐิเป็นยอดของโทษ คำว่า เพราะกายแตก คือเพราะสละอุปาทินนขันธ์ คำว่า เบื้องหน้าแต่ตาย คือในการถือเอาขันธ์ซึ่งเกิดใหม่ในลำดับแห่งอุปาทินนขันธ์นั้น อีกอย่างหนึ่ง คำว่า เพราะกายแตก คือเพราะชีวิตินทรีย์ขาดสิ้นไป คำว่า เบื้องหน้าแต่ตาย คือต่อจากจุติจิตไป คำว่า อบาย เป็นต้น ทุกคำใช้เป็นคำเรียกแทนนรกนั่นเอง จริงอยู่ นรกได้ชื่อว่าอบายเพราะปราศจากความเจริญ ซึ่งสมมติว่าเป็นบุญ อันเป็นเหตุแห่งสวรรค์และนิพพาน หรือเพราะไม่มีความเจริญแห่งความสุขทั้งหลาย อบายนั้นเป็นที่ถึงทุกข์คือเป็นที่พำนักแห่งทุกข์ เหตุนั้น จึงชื่อว่าทุคติ อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า ทุคติ เพราะเป็นคติที่เกิดแล้วด้วยกรรมชั่ว เพราะเป็นผู้มากไปด้วยโทษ ผู้ทำชั่วย่อมตกไปในที่นั้นโดยปราศจากอำนาจกีดขวาง เหตุนั้น ที่นั้นจึงชื่อว่า วินิบาต หรือผู้ทำชั่วย่อมย่อยยับตกไปในที่นี้ มีองค์อวัยวะน้อยใหญ่แตกสลาย แม้เพราะเหตุนี้ จึงชื่อว่า วินิบาต ความเจริญที่รู้ได้ด้วยความแช่มชื่น ไม่มีในที่นี้ เหตุนั้นที่นี้จึงชื่อว่า นิรยะ อีกอย่างหนึ่งท่านแสดงถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานด้วยศัพท์ว่า อปาย จริงอยู่ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานชื่อว่า
''(หน้าที่ 304)''
อปาย เพราะปราศจากสุคติ แต่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนี้ไม่จัดเป็นทุคติ เพราะเป็นที่สมภพแห่งดิรัจฉานจำพวกที่มีศักดาใหญ่ เช่นนาคราชเป็นต้น ท่านแสดงถึงแหล่งที่อยู่ของเปรตไว้ด้วยศัพท์ว่า ทุคติ จริงอยู่ แหล่งที่อยู่ของเปรตนั้นได้ชื่อว่าอบายด้วยและชื่อว่าทุคติด้วย เพราะปราศจากสุคติและเพราะเป็นที่ถึงความทุกข์ แต่ก็ไม่ชื่อว่าวินิบาต เพราะเปรตวิสัยนั้นไม่ได้ตกไปอย่างย่อยยับเช่นกับอสุรกาย ท่านแสดงอสุรกายไว้ด้วยศัพท์ว่า วินิบาต จริงอยู่ อสุรกายนั้นชื่อว่าอบายและทุคติตามความหมายที่ได้กล่าวไว้แล้ว และท่านเรียกว่า วินิบาตเพราะอสุรกายนั้นตกไปจากความเจริญแห่งสมบัติทุกประการ ท่านแสดงถึงนรกนั้นนั่นเอง อันมีหลายอย่างเช่นอเวจีมหานรกเป็นต้น ด้วยศัพท์ว่า นรก คำว่า เข้าถึงแล้ว คือเข้าไปแล้ว อธิบายว่า เกิดเฉพาะแล้วในอบายเป็นต้นนั้น ฝ่ายที่ดีนักศึกษาพึงทราบโดยปริยายที่ตรงกันข้ามจากฝ่ายชั่วที่กล่าวมาแล้วนั้นเถิด ส่วนข้อความที่แปลกกัน มีดังต่อไปนี้
ก็ในที่นั้นท่านสงเคราะห์แม้คติของมนุษย์ไว้ ด้วยศัพท์ คือ สุคติ ถึงเทวคติท่านก็สงเคราะห์อย่างเดียวกันด้วยศัพท์ว่า สวรรค์ในบทเหล่านั้นพึงทราบอรรถวิเคราะห์ดังต่อไปนี้ว่า ชื่อว่าสุคติ เพราะดำเนินไปอย่างงดงาม ชื่อว่าสวรรค์ เพราะภาวะที่เลิศด้วยดีด้วยอารมณ์มี รูปารมณ์ เป็นต้น สวรรค์นั้นแม้ทั้งหมดท่านเรียกว่า โลก เพราะอรรถว่า มีอันจะต้องทรุดโทรมไป บทว่า ด้วยจักษุทิพย์อย่างนี้ทั้งหมด จัดเป็นคำสรุป ความย่อในคำนิคมนั้นว่า เห็นด้วยตาทิพย์อย่างนี้
ก็กุลบุตรผู้เริ่มบำเพ็ญความเพียรเพื่อต้องการจะเห็นอย่างนี้ พึงทำฌานมีอภิญญาเป็นบาท ซึ่งมีกสิณเป็นอารมณ์ ให้ควรแก่อภินิหารโดยอาการทุกอย่างแล้ว พึงทำกสิณ 3 ชนิด เหล่านี้ คือ เตโชกสิณ 1 โอทาตกสิณ 1 อาโลกกสิณ 1 อย่างใดอย่างหนึ่งให้ใกล้ต่อการเกิดขึ้นแห่งทิพยจักษุญาณ พึงขยายทำอุปจารฌานให้เป็นโคจรแล้วพึงหยุดไว้ อธิบายว่าไม่พึงยังอัปปนาให้เกิดในอารมณ์นั้น เพราะถ้าเธอให้อัปปนาเกิดขึ้น อารมณ์นั้นจะเป็นที่อาศัยแห่งฌานที่เป็นบาท ไม่เป็นที่อาศัยแห่งบริกรรม ก็ในกสิณทั้ง 3 เหล่านี้ อาโลกสิณนั่นเท่านั้นประเสริฐกว่า เหตุนั้น พึงยังอาโลกกสิณนั้น หรือกสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดากสิณนอกจากนี้ให้เกิดขึ้น ตามนัยดังที่ได้กล่าวแล้วในกสิณนิทเทส แล้วพึงหยุดอยู่ในอุปจารภูมินั่นแหละก่อน จึงค่อยให้ขยายไป ก็แม้นัยแห่งการขยายฌานนี้ นักศึกษาพึงทราบได้จากที่
''(หน้าที่ 305)''
ได้กล่าวไว้แล้วในกสิณนิทเทสนั้นแล เธอจะพึงเห็นรูปในภายในฐานะที่ได้ขยายแล้ว ๆ ก็เมื่อพระโยคีนั้นเห็นรูปอยู่ วาระแห่งบริกรรมย่อมผ่านพ้นไป แต่นั้นแสงสว่างแห่งอาโลกสิณก็หายไป เมื่อแสงสว่างนั้นหายไปแล้ว แม้รูปก็จะไม่ปรากฏด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นพระโยคีนี้ก็จะต้องเข้าฌานที่เป็นบาทนั้นแหละบ่อย ๆ ออกจากฌานนั้นแล้วพึงแผ่แสงสว่าง แสงสว่างจะแจ่มจ้าอยู่ได้นานขึ้นโดยลำดับด้วยอาการอย่างนี้ ก็ในอธิการนี้ พระโยคีกำหนดที่มีประมาณเท่าใดว่า อาโลโก โหตุ แสงสว่างจงมีอยู่ในที่นี้เถิด ดังนี้ แสงสว่างย่อมตั้งอยู่ในที่กำหนดแล้วนั่นแล แม้เธอจะนั่งดูอยู่ทั้งวันก็เห็นรูปได้ทั้งวัน ก็บุรุษผู้เดินทางตลอดราตรีด้วยคบเพลิงหญ้า ย่อมเป็นข้ออุปมาในเรื่องนี้ได้
ได้ยินว่า ชายผู้หนึ่งใช้คบเพลิงหญ้าส่องทางเดินไปในเวลากลางคืน คบเพลิงนั้นของเขาหรี่ลง ทีนี้เองเขาจึงไม่รู้ชัดว่าทางเดินนั้นเรียบหรือขรุขระกันแน่ เขาจึงใช้วิธีการเขี่ยคบเพลิงนั้นที่แผ่นดิน ทำให้มันลุกโพลงขึ้นใหม่ พอคบเพลิงนั้นลุกโพลงขึ้น ก็ได้ส่องแสงสว่างไสวมากกว่าเดิม เมื่อชายนั้นทำคบเพลิงที่หรี่ลงแล้วให้โพลงขึ้นใหม่อย่างนี้บ่อย ๆ พระอาทิตย์ก็โผล่ขึ้นโดยลำดับ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นแล้วเขาคิดว่าเราไม่ต้องใช้คบเพลิง จึงทิ้งคบเพลิงนั้นเสีย เดินไปได้จนตลอดวัน พึงทราบความหมายในข้ออุปมานั้นดังต่อไปนี้ แสงสว่างแห่งกสิณในเวลาบริกรรม เป็นดุจแสงสว่างแห่งคบเพลิง เมื่ออาโลกกสิณหายไปเพราะล่วงวาระแห่งการบริกรรมของพระโยคีผู้ดูแลดูรูปอยู่จึงมองไม่เห็นรูป ดุจการไม่เห็นที่เรียบและที่ขรุขระในเมื่อคบเพลิงหรี่ลง ฉะนั้น การเข้าบ่อย ๆ เปรียบเหมือนการพยายามเขี่ยคบเพลิงบ่อย ๆ ฉะนั้น การแผ่แสงสว่างให้มีกำลังกว่าเดิมของพระโยคีผู้ทำบริกรรมบ่อย ๆ ก็ดุจการทำคบเพลิงให้สว่างไสวกว่าเก่า ฉะนั้น การที่แสงสว่างอันแรงกล้าคงอยู่ตามที่ที่กำหนดไว้ เปรียบดังการขึ้นไปแห่งพระอาทิตย์นั้น ฉะนั้น การทิ้งแสงสว่างเล็กน้อยเสีย แลดูรูปด้วยแสงสว่างอันแจ่มจ้าทั้งวัน เปรียบดุจการทิ้งคบเพลิงเสีย แล้วเดินไปได้ทั้งวัน ในการเห็นรูปนั้นเมื่อใด รูปนี้คือรูปที่อยู่ภายในท้อง รูปที่อาศัยหทัยวัตถุ รูปที่อาศัยอยู่ใต้พื้นดิน รูปที่อยู่นอกฝา นอกภูเขา นอกกำแพง และรูปที่อยู่ในจักรวาลอื่น อันไม่มาปรากฏทางตาเนื้อของภิกษุนั้น ก็มาปรากฏทางญาณจักษุของภิกษุนั้นได้ คือ ดุจปรากฏแก่ตาเนื้อ ในเวลานั้นทิพยจักษุย่อมเป็นอันเกิดแล้ว แต่ในอธิการนี้ ทิพยจักษุนั้นสามารถเห็นรูปได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถจะ
''(หน้าที่ 306)''
เห็นบุพพภาคแห่งจิตได้ ก็ทิพยจักษุนี้นั้นย่อมเป็นอันตรายแก่ปุถุชน เพราะเหตุไร ? เพราะปุถุชนนั้นอธิษฐานว่า จงสว่าง ดังนี้ ณ ในที่ใด ๆ ที่นั้น ๆ ย่อมสว่างจ้าเป็นอันเดียวกัน แม้แทรกเข้าไปตลอดแผ่นดิน ทะเล และภูเขา ครั้นคราวนี้เมื่อเธอเห็นรูปยักษ์และผีเสื้อเป็นต้นอันน่ากลัวในที่นั้น ๆ ความหวาดกลัวย่อมเกิดขึ้น เพราะเหตุที่เธอถึงความฟุ้งซ่านแห่งใจ เป็นผู้หัวเสียเพราะญาณ ฉะนั้น พึงเป็นผู้ไม่ประมาทในการเห็นรูปเถิด
ในข้อนั้นมีลำดับการเกิดของทิพยจักษุดังต่อไปนี้ เมื่อในมโนทวาราวัชชนจิตทำรูปมีประการดังกล่าวแล้วนั้นให้เป็นรูปารมณ์เกิดขึ้นแล้วดับไป ชวนะ 4 หรือ 5 ดวงทำรูปนั้น นั่นแหละให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น คำทั้งหมดนักศึกษาพึงทราบตามนัยก่อนนั่นแล แม้ในที่นี้บุพพภาคจิตที่มีวิตกวิจารเป็นกามาวจร ในที่สุดเป็นจิตยังประโยชน์ให้สำเร็จ ประกอบด้วยฌานที่ 4 เป็นรูปาวจร ญาณซึ่งเกิดพร้อมกับจิตนั้นแลท่านเรียกว่า สตฺตานํ จุตูปปาตญาณบ้าง ทิพพจักษุญาณบ้างแล
จบ จุตูปปาตญาณกถา
=ความเบ็ดเตล็ดในอภิญญา=
พระโลกนาถเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งขันธ์ 5 ได้ทรงตรัสอภิญญา 5 เหล่าใดไว้ พระโยคีเข้าใจอภิญญาเหล่านั้น แล้วพึงทราบถึงเรื่องเบ็ดเตล็ดในอภิญญาเหล่านี้ ดังต่อไปนี้
จริงอยู่ ในอภิญญา 5 เหล่านี้ ทิพยจักษุกล่าวคือจุตูปปาตญาณ มีญาณเครื่องล้อมกำกับอยู่ 2 คือ อนาคตังสญาณ ญาณเครื่องรู้ในส่วนอนาคต 1 ยถากัมมุปคญาณ ญาณเครื่องรู้ว่าสัตว์เข้าถึงตามกรรม 1 ญาณ 2 เหล่านี้แหละอภิญญา 5 มีอิทธิวิธเป็นต้น รวมกันเป็นญาณฝ่ายอภิญญา 7 มาแล้วในที่นี้ดังนี้แล บัดนี้ เพื่อไม่ให้หลงในการจำแนกอารมณ์แห่งอภิญญาญาณเหล่านั้น
บัณฑิตพึงแสดงความเป็นไปแห่งอภิญญาญาณ 7 ในอารัมมณติกะ 4
ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ได้ทรงตรัสไว้แล้ว
นี้เป็นการแสดงในอารัมมณติกะนั้น
''(หน้าที่ 307)''
'''หมวด 3 แห่งอารมณ์ 4 อย่าง'''
จริงอยู่ หมวด 3 แห่งอารมณ์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ได้ทรงตรัสไว้มี 4 อย่าง 4 อย่างเป็นไฉน ? คือ ปริตตารัมมณัตติกะ หมวด 3 แห่งปริตรตารมณ์ 1 มัคคารัมมณัตติกะ หมวด 3 แห่งมัคคารมณ์ 1 อตีตารัมมณัตติกะ หมวด 3 แห่งอตีตารมณ์ 1 และอัชฌัตตารัมมณัตติกะ หมวด 3 แห่งอัชฌัตตารมณ์ 1
ในอภิญญาญาณเหล่านั้น อิทธิวิธญาณเป็นไปในอารมณ์ 7 คือ ปริตรตารมณ์ 1 มหัคคตารมณ์ 1 อตีตารมณ์ 1 อนาคตารมณ์ 1 ปัจจุบันนารมณ์ 1 อัชฌัตตารมณ์ 1 พหิทธารมณ์ 1
'''อิทธิวิธในอารมณ์ 7 อย่าง'''
เป็นไปอย่างไร ? คือ อิทธิวิธญาณนั้น เมื่อใดพระโยคีทำกายให้อิงอาศัยจิต ต้องการไปด้วยกายมิได้ปรากฏ จึงน้อมกายไปด้วยอำนาจของจิต รวบรวมวางรูปกายลงในมหัคคตจิต เมื่อนั้นอารมณ์ที่ได้ด้วยการเข้าไปประกอบย่อมมี เพราะทำอธิบายอย่างนี้ อิทธิวิธญาณนั้นจึงชื่อว่า ปริตตารมณ์ เพราะมีรูปกายเป็นอารมณ์ เมื่อใดพระโยคีทำจิตให้อิงอาศัยกาย ต้องการไปด้วยกายอันปรากฏ จึงน้อมจิตไปด้วยอำนาจแห่งกายที่รวบรวมลงในจิต อันประกอบไปด้วยฌานที่เป็นบาทในรูปกาย เมื่อนั้นอารมณ์ที่ตนได้ด้วยการเข้าไปประกอบย่อมมี เพราะทำอธิบายดังว่ามานี้ อิทธิวิธญาณนั้นจึงชื่อว่า มหัคคตารมณ์ เพราะมีมหัคคจิตเป็นอารมณ์ อนึ่ง เพราะเหตุที่พระโยคีทำจิตนั้นนั่นแลให้เป็นจิตที่ล่วงไปแล้วที่ดับไปแล้วให้เป็นอารมณ์ เหตุนั้น อิทธิวิธญาณนั้นจึงชื่อว่า เป็นอตีตารมณ์ เมื่อพระโยคีอธิษฐาน อนาคตารมณ์ ดุจพระมหากัสสปเถระเป็นต้น อธิษฐานในเวลาบรรจุพระมหาธาตุ อิทธิวิธญาณนั้นชื่อว่าเป็น อนาคตารมณ์ นัยว่า พระมหากัสสปเถระ เมื่อจะทำการบรรจุพระมหาธาตุ ได้อธิษฐานว่า กลิ่นเหล่านี้จงอย่าเหือดหาย ดอกไม้จงอย่าแห้ง ประทีปจงอย่าดับตลอด 218 ปี ในอนาคตกาล สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดได้เป็นเหมือนอย่างการอธิษฐานนั้น พระอัสสคุตตเถระเห็นหมู่ภิกษุอยู่ในเสนาสนะสำหรับประพฤติวัตรฉันข้าวตากอยู่ จึงอธิษฐานว่า บ่อน้ำนี้จงกลายเป็นน้ำนมส้มในเวลาก่อนฉันอาหารเช้าทุกวันเถิด น้ำที่พวกภิกษุตักเอา
''(หน้าที่ 308)''
ในเวลาก่อนฉันอาหารจงเป็นน้ำนมส้ม ในเวลาหลังอาหารจงกลับเป็นน้ำธรรมดาเหมือนเดิมเถิด ก็อิทธิวิธญาณชื่อว่า ปัจจุปันนารมณ์ ในเวลาทำกายให้อิงอาศัยจิตไปด้วยกายที่ไม่ปรากฏ อิทธิวิธญาณนั้นชื่อว่าเป็น อัชฌัตตารมณ์ เพราะทำจิตที่พร้อมด้วยกายของตนให้เป็นอารมณ์ ในเวลาที่น้อมจิตไปด้วยอำนาจกาย หรือน้อมกายไปด้วยอำนาจจิต และในเวลานิรมิตตนเป็นเพศกุมารน้อยเป็นต้น อนึ่ง อิทธิวิธญาณนั้น ชื่อว่าเป็น พหิทธารมณ์ ในเวลาที่เห็นช้างและม้าเป็นต้นในภายนอก
ความเป็นไปแห่งอิทธิวิธญาณในอารมณ์ 7 อย่าง พึงทราบดังได้พรรณนามานี้แล
=ทิพพโสตธาตุญาณ'''
ทิพพโสตธาตุญาณย่อมเป็นในอารมณ์ 4 ด้วยอำนาจ ปริตตารมณ์ 1 ปัจจุปันนารมณ์ 1 อัชฌัตตารมณ์ 1 พหิทธารมณ์ 1 เป็นอย่างไร ? คือ ทิพพโสตธาตุญาณนั้นเป็นปริตตารมณ์ ได้แก่มีอารมณ์เป็นกามาวจร เพราะเหตุทำเสียงให้เป็นอารมณ์ และเพราะเหตุว่าเสียงเป็นปริตตะคือกามาวจร และชื่อว่าเป็นปัจจุปันนารมณ์เฉพาะที่ทำปัจจุบันให้เป็นอารมณ์แล้วเป็นไป ทิพพโสตธาตุญาณนั้นชื่อว่าเป็นอัชฌัตตารมณ์ ในเวลาฟังเสียงในท้องของตน ชื่อว่าเป็นพหิทธารมณ์ในเวลาฟังเสียงของผู้อื่น
พึงทราบความเป็นไปแห่งทิพพโสตธาตุญาณในอารมณ์ 4 ดังอธิบายมานี้
'''เจโตปริยญาณ'''
เจโตปริยญาณย่อมเป็นไปในอารมณ์ 8 ด้วยอำนาจปริตตารมณ์ 1 มหัคคตารมณ์ 1 อัปปมาณารมณ์ 1 มัคคารมณ์ 1 อตีตารมณ์ 1 อนาคตารมณ์ 1 ปัจจุปันนารมณ์ 1 พหิทธารมณ์ 1 เป็นอย่างไร ? คือ เจโตปริยญาณนั้นย่อมชื่อว่าเป็นปริตตารมณ์ในเวลารู้กามาวจรจิตแห่งผู้อื่น ชื่อว่าเป็นมหัคคตารมณ์ในเวลารู้รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต ชื่อว่าเป็นอัปปมาณารมณ์ในเวลารู้มรรคและผล แต่สำหรับญาณนี้ปุถุชนไม่รู้จิตของพระโสดาบัน พระโสดาบันก็ไม่รู้จิตของพระสกทาคามี พึงโยงไปอย่างนี้จนตราบเท่าถึงพระอรหันต์ แต่
''(หน้าที่ 309)''
พระอรหันต์ย่อมรู้จิตของคนทุกจำพวก แม้ท่านผู้วิเศษอื่นชั้นสูงขึ้นไปก็รู้จิตของผู้ตั้งอยู่ในผลชั้นต่ำได้ พึงทราบความแปลกกันดังต่อไปนี้ เจโตปริยญาณย่อมเป็นมัคคารมณ์ในเวลามีจิตสัมปยุตด้วยมรรคเป็นอารมณ์ ก็ในเวลาใดพระโยคีย่อมรู้จิตของผู้อื่นในภายใน 7 วันที่ล่วงไปแล้ว และในภายใน 7 วันที่ยังมาไม่ถึง ในเวลานั้นเจโตปริยญาณนั้นจัดว่าเป็น อตีตารมณ์และอนาคตารมณ์
'''ปัจจุบัน 3 อย่าง'''
เจโตปริยญาณนั้น จัดเป็นปัจจุปันนารมณ์ได้อย่างไร ? อันปัจจุบันมี 3 อย่าง คือ ปัจจุบันโดยขณะ 1 ปัจจุบันโดยสันตติ 1 ปัจจุบันโดยกาลยาวนาน 1 ในปัจจุบัน 3 อย่างนั้น อารมณ์ที่ถึงความเกิดขึ้นดำรงอยู่และสลายไป (อุปปาทขณะ ฐิติขณะ และ ภังคขณะ) ชื่อว่า ปัจจุบันโดยขณะ อารมณ์ที่นับเนื่องในวาระสืบต่อ 1 หรือ 2 ขณะ ชื่อว่า ปัจจุบันโดยสันตติ ในปัจจุบันโดยสันตตินั้น ได้แก่เมื่อพระโยคีนั่งในที่มืดแล้วไปสู่ที่แจ้ง อารมณ์ยังไม่ปรากฏก่อน แต่พึงทราบว่าเป็นวาระแห่งสันตติ 1 หรือ 2 วาระ ในระยะที่อารมณ์นั้นปรากฏ แม้เมื่อพระโยคีไปในที่สว่างแล้วเข้าไปสู่ห้องน้อย รูปยังไม่ปรากฏทันทีก่อน ก็ในระยะที่รูปนั้นปรากฏนี้พึงทราบว่าเป็นวาระแห่งสันตติ 1 และ 2 วาระ อนึ่งพระโยคียืนในที่ไกลเห็นความเคลื่อนไหวมือของคนย้อมผ้า และความเคลื่อนไหวคือการเคาะระฆังและตีกลองเป็นต้นยังไม่ได้ยินเสียงในทันที ในระหว่างที่เธอได้ยินเสียงนั้น พึงทราบว่าเป็นวาระแห่งสันตติต่อ 1 วาระ หรือ 2 วาระ อาจารย์ผู้กล่าวคัมภีร์มัชฌิมนิกายอธิบายไว้เพียงเท่านี้ ฝ่ายอาจารย์ผู้กล่าวคัมภีร์สังยุตตนิกาย กล่าวถึงสันตติไว้ 2 อย่างคือ สันตติของรูป 1 สันตติของสิ่งที่เป็นนาม 1 แล้วกล่าวว่า เมื่อบุคคลเหยียบน้ำไปชั่วระยะรอยน้ำที่คนเหยียบไปริมตลิ่งยังไม่ใส นี้ชื่อว่า รูปสันตติหนึ่ง เมื่อคนเดินทางมาไกลชั่วระยะความร้อนในร่างกายยังไม่สงบระงับนี้ชื่อว่า รูปสันตติหนึ่ง เมื่อคนเดินมาจากแดดแล้วเข้าห้องชั่วระยะที่ความมืดหน้ามัวตายังไม่หายไป นี้ก็ชื่อว่า รูปสันตติหนึ่ง เมื่อพระโยคีมนสิการกรรมฐานอยู่ในห้องแล้วเปิดหน้าต่างมองออกไปในตอนกลางวัน ชั่วระยะที่ความพร่าแห่งนัยน์ตายังไม่หายไป นี้ก็ชื่อว่า รูปสันตติหนึ่ง วาระแห่งชวนะ 2,3 ชื่อว่า
''(หน้าที่ 310)''
นามสันตติ คือสันตติของสิ่งที่เป็นนาม ดังนี้แล้วกล่าวว่า สันตติทั้ง 2 นั้น ชื่อว่า สันตติปัจจุบัน คือปัจจุบันโดยสันตติ
'''ปัจจุบันโดยยาวนาน'''
ส่วนธรรมชาติที่กำหนดไว้ชั่วภพหนึ่ง ชื่อว่า ปัจจุบันโดยกาลอันยาวนาน ดังที่พระมหากัจจายนเถระหมายถึง กล่าวไว้ในภัทเทกรัตตสูตรว่า ดูก่อนอาวุโส ก็ใจและธรรมทั้ง 2 อย่างนั้นจัดเป็นปัจจุบัน เมื่อใจและธรรมทั้งสองนั้นเกิดขึ้นเฉพาะแล้วย่อมมีวิญญาณ เนื่องด้วยฉันทราคะ เพราะเหตุที่วิญญาณเนื่องด้วยฉันทราคะ ชนจึงยินดียิ่งซึ่งปัจจุบันนั้น เมื่อมีความยินดีในปัจจุบันนั้นอยู่ ย่อมง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมที่เป็นปัจจุบัน ก็ในปัจจุบันทั้ง 2 นี้ ปัจจุบันโดยสันตติมาในอรรถกถาทั้งหลาย ส่วนปัจจุบันโดยกาลอันยาวนานมาในพระสูตรแล
'''มติอาจารย์บางพวก'''
ในปัจจุบันเหล่านั้น อาจารย์บางพวกกล่าวว่า จิตที่เป็นปัจจุบันโดยขณะจัดเป็นอารมณ์แห่งเจโตปริยญาณ เพราะเหตุไร ? เพราะจิตของภิกษุผู้มีฤทธิ์และของผู้อื่นย่อมเกิดขึ้นในขณะเดียวกันได้ การอุปมาแห่งจิตเหล่านั้น มีดังต่อไปนี้ คือเหมือนอย่างเมื่อบุคคลเอาดอกไม้กำหนึ่งเหวี่ยงซัดไปในอากาศ ดอกไม้ดอกหนึ่งจะเสียบก้านเข้ากับก้านของดอกไม้อีกดอกหนึ่งได้เป็นแน่แท้ ฉันใด เมื่อพระโยคีนึกถึงจิตของมหาชนด้วยอำนาจเป็นพวกหมู่โดยมุ่งหวังว่าเราจักรู้จิตของผู้อื่น จิตของคนคนหนึ่งย่อมจะประสานเข้ากับจิตดวงหนึ่งของผู้ใดผู้หนึ่งในหมู่นั้น ในอุปปาทขณะหรือฐิติขณะหรือภังคขณะก็ได้โดยแท้ ฉันนั้น แต่คำ ของเกจิอาจารย์นั้นถูกคัดค้านเสียแล้วในอรรถกถาทั้งหลายว่า คำนั้นไม่ถูก เพราะพระโยคีเมื่อนึกอยู่ตั้ง 100 ปี 1,000 ปี ย่อมนึกด้วยจิตใด และย่อมรู้ด้วยจิตใด จิตทั้ง 2 เหล่านั้นไม่มีฐานร่วมกันเลย และเพราะโทษ คืออาวัชชนจิตและชวนจิตทั้งหลายถึงความมีอารมณ์แตกต่างกันไปในฐานะที่ไม่ควร ส่วนปัจจุบันโดยสันตติและปัจจุบันโดยกาลอันยาวนานพึงทราบว่า เป็นอารมณ์แห่งเจโตปริยญาณได้ พระอรรถกถาจารย์กล่าวอธิบายไว้ในอรรถกถาสังยุตตนิกายว่า ในปัจจุบัน 2 อย่างนั้น จิตของผู้อื่นที่มีในเวลาประมาณ 2,3
''(หน้าที่ 311)''
ชวนวิถี ด้วยอำนาจเป็นอตีตารมณ์และเป็นอนาคตารมณ์ แต่ชวนวิถีซึ่งเป็นไปอยู่อันใด จิตนั้นทั้งหมดชื่อว่า ปัจจุบันโดยสันตติ ส่วนปัจจุบันโดยกาลอันยาวนาน พึงแสดงโดยวาระแห่งชวนะแล คำนั้นท่านกล่าวไว้ดีแล้ว จะชี้แจงข้อความในคำนั้นดังต่อไปนี้ ภิกษุผู้มีฤทธิ์ต้องการจะทราบจิตของผู้อื่นจึงอาวัชชนาการไป อาวัชชนจิตทำสิ่งที่เป็นปัจจุบันโดยขณะให้เป็นอารมณ์ ดับพร้อมกับสิ่งซึ่งเป็นปัจจุบันโดยขณะนั้น ต่อจากนั้นมีชวนจิต 4 หรือ 5 ดวง ซึ่งดวงที่สุดเป็นจิตประกอบด้วยฤทธิ์ ดวงที่เหลือเป็นกามาวจร แม้บรรดาชวนจิตทั้งปวงเปล่านั้น จิตที่ดับนั้นแลจัดว่าเป็นอารมณ์ แต่ก็จิตเหล่านั้นไม่มีอารมณ์ต่างกันเลย เพราะมีอารมณ์เป็นปัจจุบันด้วยสามารถแห่งระยะกาลอันยาวนาน จริงอยู่ แม้ในภาวะที่มีอารมณ์เดียวจิตอันประกอบด้วยฤทธิ์เท่านั้นย่อมรู้จักจิตของผู้อื่น ฝ่ายจิตนอกนี้หารู้ไม่ เปรียบดุจในจักขุทวาร จักขุวิญญาณเท่านั้นเห็นรูป ส่วนวิญญาณนอกจากนี้หาเห็นไม่ เจโตปริยญาณดังที่ว่ามานี้ ชื่อว่าเป็นปัจจุปันนารมณ์ด้วยอำนาจปัจจุบันโดยสันตติและปัจจุบันโดยกาลอันยาวนาน อีกนัยหนึ่ง แม้ปัจจุบันโดยสันตติย่อมเป็นไปในปัจจุบันโดยกาลอันยาวนานเท่านั้น เหตุนั้น เจโตปริยญาณนี้ พึงทราบว่า เป็นปัจจุปันนารมณ์ ด้วยสามารถแห่งปัจจุบันโดยกาลอันยาวนานนั่นแล และพึงทราบว่า เป็นพหิทธารมณ์ก็ได้ เพราะมีจิตของผู้อื่นเป็นอารมณ์นั่นแล
ความเป็นไปในอารมณื 8 แห่งเจโตปริยญาณ พึงทราบดังบรรยายมาฉะนี้แล
'''ปุพเพนิวาสญาณในอารมณ์ 8 อย่าง'''
ปุพเพนิวาสญาณ ย่อมเป็นไปในอารมณ์ 8 คือ ปริตตารมณ์ 1 มหัคคตารมณ์ 1 อัปปมาณารมณ์ 1 มัคคารมณ์ 1 อตีตารมณ์ 1 อัชฌัตตารมณ์ 1 พหิทธารมณ์ 1 นวัตตัพพารมณ์ 1
เป็นอย่างไร ? คือ ปุพเพนิวาสญาณนั้น ในกาลที่ระลึกถึงขันธ์ที่เป็นกามาวจรก็เป็นปริตตารมณ์ ในกาลที่ระลึกถึงขันธ์ที่เป็นรูปาวจรก็เป็นมหัคคตารมณ์ ในกาลที่ระลึกถึงด้วยมรรคที่ตนเองหรือคนอื่นเจริญ และระลึกถึงผลที่จนเองหรือคนอื่นได้ทำให้แจ้งแล้วในอดีตกาลแล้ว ก็เป็นอัปปมาณารมณ์ ในกาลที่ระลึกถึงมรรคที่ตนเองหรือคนอื่นได้เจริญแล้ว
''(หน้าที่ 312)''
อย่างเดียว ก็เป็นมัคคารมณ์ แต่โดยที่แน่นอนแล้ว ปุพเพนิวาสญาณนี้จัดเป็นอตีตารมณ์แท้ในญาณเหล่านั้น ถึงเจโตปริยญาณ และยถากัมมุปคญาณจะจัดเป็นอตีตารมณ์ก็จริง ถึงกระนั้นบรรดาญาณทั้ง 2 นั้น จิตที่ล่วงไปแล้วในภายใน 7 วัน จัดเป็นอารมณ์แห่งเจโตปริยญาณเพราะเจโตปริยญาณนั้น ไม่รู้จักขันธ์อื่นหรือสังขารอันเนื่องด้วยขันธ์ แต่ก็เพราะมีจิตสัมปยุตด้วยมรรคเป็นอารมณ์ ท่านจึงเรียกว่าเป็นมัคคารมณ์โดยปริยาย จริงอยู่ ธรรมชาติที่ล่วงไปแล้ว ซึ่งเป็นแต่เพียงเจตนาเท่านั้นจัดว่าเป็นอารมณ์แห่งยถากัมมุปคญาณ แต่สำหรับปุพเพนิวาสญาณขันธ์ที่ล่วงไปแล้ว หรือสังขารบางอย่างซึ่งเนื่องด้วยขันธ์ อันจะชื่อว่าไม่เป็นอารมณ์หามีไม่ เพราะปุพเพนิวาสญาณนั้นมีคติเสมอด้วยสัพพัญญุตญาณ
ในธรรมคือขันธ์อันล่วงไปแล้ว และสังขารอันเนื่องด้วยขันธ์ นักศึกษาพึงทราบความแตกต่างกันดังนี้แล
'''มติอรรถกถาจารย์'''
เนื้อความในอรรถกถาที่เกี่ยวข้องกับญาณนี้มีดังต่อไปนี้ ก็เพราเหตุที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ปัฏฐานว่า ขันธ์ซึ่งเป็นกุศลเป็นปัจจัยโดยอารัมมณปัจจัยแห่งอิทธิวิธญาณ เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ และยถากัมมุปคญาณ ฉะนั้น ขันธ์ทั้ง 4 จึงเป็นอารมณ์แห่งเจโตปริยญาณและยถากัมมุปคญาณได้ แม้ในญาณทั้ง 2 นั้น ขันธ์ทั้งที่เป็นกุศลและที่เป็นอกุศลนั่นแลเป็นอารมณ์แห่งยถากัมมุปคญาณได้ ก็แลปุพเพนิวาสญาณนั้นจัดเป็นอัชฌัตตารมณ์ ในเวลาที่นึกถึงขันธ์ของตน จัดเป็นพหิทธารมณ์ในเวลาที่นึกถึงขันธ์ของคนอื่น จัดเป็นนวัตตัพพารมณ์ ในเวลาที่นึกถึงชื่อ, โคตร, แผ่นดิน, และนิมิตเป็นต้น โดยนัยเช่นว่าในอดีตกาล ได้มีพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี พระมารดาของพระองค์ทรงพระนามว่าพันธุมดี พระบิดาทรงพระนามว่าพันธุมา ก็ในบทว่า ชื่อและโคตรนี้ พึงเพ่งถึงเนื้อความแห่งพยัญชนะที่สำเร็จได้โดยสมมุติซึ่งเนื่องด้วยขันธ์ ไม่พึงเพ่งถึงแต่พยัญชนะอย่างเดียวเพราะพยัญชนะเป็นกามาวจร เพราะท่านสงเคราะห์เข้าตามบ่อเกิดแห่งศัพท์ สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า นิรุตติปฏิสัมภิทามีกามาวจรเป็นอารมณ์ เนื้อความนี้นับว่า เป็นความถูกใจของพวกข้าพเจ้า
ความเป็นไปในอารมณ์ 8 แห่งปุพเพนิวาสญาณพึงทราบความหมายดังบรรยายมาฉะนี้แล
''(หน้าที่ 313)''
'''ทิพพจักขุญาณในอารมณ์ 4 อย่าง'''
ทิพพจักขุญาณย่อมเป็นในอารมณ์ 4 คือ ปริตตารมณ์ 1 ปัจจุปันนารมณ์ 1 อัชฌัตตารมณ์ 1 พหิทธารมณ์ 1
เป็นอย่างไร ?
คือ ทิพพจักขุญาณนั้น ชื่อว่าเป้นปริตตารมณ์เพราะทำรูปให้เป็นอารมณ์ และรูปก็เป็นกามาวจรด้วย ชื่อว่า เป็นปัจจุปันนารมณ์ ก็เพราะเป็นไปในรูปเฉพาะที่มีอยู่ ชื่อว่าเป็น อัชฌัตตารมณ์ ในเวลาที่เห็นรูปอันอยู่ในท้องของตนเป็น ชื่อว่าเป็น พหิทธารมณ์ ในเวลาที่เห็นรูปของผู้อื่น
ความเป็นไปในอารมณ์ 4 แห่งทิพพจักขุญาณพึงทราบความหมายดังบรรยายมาฉะนี้
'''อนาคตังสญาณในอารมณ์ 8 อย่าง'''
อนาคตังสญาณย่อมเป็นไปในอารมณ์ 8 คือ ปริตตารมณ์ 1 มหัคคตารมณ์ 1 อัปปมาณารมณ์ 1 มัคคารมณ์ 1 อนาคตารมณ์ 1 อัชฌัตตารมณ์ 1 พหิทธารมณ์ 1 นวัตตัพพารมณ์ 1
เป็นไปอย่างไร ?
คือ อนาคตังสญาณนั้นชื่อว่าเป็น ปริตตารมณ์ ในเวลาที่รู้ว่าสัตว์นี้จักเกิดในชั้นกามาวจรในอนาคตกาล ชื่อว่าเป็น มหัคคตารมณ์ ในเวลาที่รู้ว่าสัตว์นี้จักเกิดในรูปาวจรหรืออรูปาวจร ชื่อว่าเป็น อัปปมาณารมณ์ ในเวลาที่รู้ว่าเขาจักทำมรรคให้เจริญ เขาจักทำให้แจ่มแจ้งซึ่งผล ชื่อว่าเป็น มัคคารมณ์ ในเวลาที่รู้ว่าเขาจักทำมรรคให้เจริญอย่างเดียวแต่ว่า โดยแน่แท้แล้ว อนาคตังสญาณนี้มีอารมณ์เป็นอนาคตอย่างเดียวเท่านั้น ในอารมณ์เหล่านั้น แม้เจโตปริยญาณจะเป็นอนาคตารมณ์ได้ก็จริงแล แต่ทว่า เจโตปริยญาณนั้นมีจิตที่เป็นอนาคตภายในระยะ 7 วันเท่านั้นเป็นอารมณ์ เพราะเจโตปริยญาณนั้นย่อมไม่รู้ถึงขันธ์อื่น หรือสังขารอันเนื่องด้วยขันธ์เลย แต่สิ่งอะไร ๆ ในอนาคตชื่อว่ามิได้เป็นอารมณ์แห่งอนาคตังสญาณหามีไม่ ตามข้อความที่กล่าวมาแล้วในปุพเพนิวาสญาณ ชื่อว่าเป็นอัชฌัตตา –
''(หน้าที่ 314) ''
รมณ์ได้ในเวลาที่รู้ว่าเราจักเกิดในที่โน้น ชื่อว่าเป็นพหิทธารมณ์ได้ในเวลาที่รู้ว่าคนโน้นจักเกิดในที่โน้น ในเวลาที่รู้ชื่อและโคตรโดยนัยเป็นต้นว่า ในอนาคต พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า เมตเตยะ จักเสด็จอุบัติขึ้น พราหมณ์ชื่อว่าสุพรหมาจักเป็นพระบิดาของพระองค์ พราหมณีชื่อว่าพรหมวดีจักเป็นพระมารดาของพระองค์ ดังนี้จัดเป็น นวัตตัพพารมณ์ ตามนัยดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในปุพเพนิวาสญาณนั่นแล
ความเป็นไปในอารมณ์ 8 แห่งอนาคตังสญาณ นักศึกษาพึงทราบความหมาย ดังได้บรรยายมาฉะนี้แล
'''ยถากัมมุปคญาณในอารมณ์ 5 อย่าง'''
ยถากัมมุปคญาณเป็นไปในอารมณ์ 5 คือ ปริตตารมณ์ 1 มหัคคตารมณ์ 1 อตีตารมณ์ 1 อัชฌัตตารมณ์ 1 พหิทธารมณ์ 1
เป็นไปอย่างไร ? คือ ยถากัมมุปคญาณนั้นย่อมชื่อว่าเป็น ปริตตารมณ์ ในเวลาที่รู้กรรมที่เป็นกามาวจร เป็น มหัคคตารมณ์ ในเวลาที่รู้กรรมที่เป็นรูปาวจรและอรูปาวจร เป็น อตีตารมณ์ เพราะเหตุที่รู้เฉพาะอดีต เป็น อัชฌัตตารมณ์ ในเวลาที่รู้กรรมของตน เป็น พหิทธารมณ์ ในเวลาที่รู้กรรมของผู้อื่น
ความเป็นไปในอารมณ์ 5 แห่งยถากัมมุปคญาณ นักศึกษาพึงทราบข้อความ ดังที่ได้บรรยายมาฉะนี้แล
ส่วนในอธิการนี้ คำใดที่ท่านกล่าวไว้ว่า อัชฌัตตารมณ์และพหิทธารมณ์ ดังนี้ คำนั้นท่านกล่าวไว้ด้วยมีอรรถาธิบายว่า ยถากัมมุปคญาณนั้นในเวลาที่รู้กรรมภายในคือของตนเองตามกาลเวลา และในเวลาที่รู้กรรมภายนอกคือของตนอื่นตามกาลเวลา ก็จัดเป็นอัชฌัตตพหิทธารมณ์ได้บ้างเหมือนกัน ฉะนี้แล
'''อภิญญานิทเทส ปริจเฉทที่ 13'''
'''ในปกรณ์พิเศษชื่อวิสุทธิมรรค ที่ข้าพเจ้ารจนาขึ้นไว้'''
'''เพื่อให้เกิดความปราโมทย์แก่สาธุชนทั้งหลาย'''
'''ยุติลงด้วยประการฉะนี้'''
'''................................'''
==ดูเพิ่ม==
*'''[http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/sutta23.php ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค]'''
*'''[[วิสุทธิมรรค ฉบับปรับสำนวน]] (สารบัญ)'''