{{template:วสธมฉปส head| }}
{{template:ฉบับปรับสำนวน head|}}
=อภิญญากถา=
'''อิทธิวิธนิทเทส ปริจเฉทที่ 12'''
''(หน้าที่ 237)''
'''อภิญญากถา'''
การเจริญสมาธินี้ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วว่า มีอภิญญาเป็นอานิสงส์ด้วยอำนาจแห่งโลกิยอภิญญาเหล่าใด บัดนี้ เพื่อจะทำอภิญญาเหล่านั้นให้สมบูรณ์ เพราะเหตุที่โยคีบุคคล ผู้ที่ได้บรรลุจตุตถฌานในปฐวีกสิณเป็นต้นแล้วควรทำความเพียรต่อไป ด้วยว่าเมื่อโยคีบุคคลทำได้อย่างนั้น การเจริญสมาธินั้นของเธอก็จักได้รับอานิสงส์และเป็นภาวนาที่มั่นคง เธอผู้ประกอบด้วยการเจริญสมาธิที่ได้รับอานิสงส์และเป็นภานาที่มั่นคง ก็จักทำการเจริญปัญญาให้สมบูรณ์ได้โดยง่ายแล เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นข้าพเจ้าจักเริ่มบรรยายถึงอภิญญากถาต่อไปก็เพื่อที่จะแสดงอานิสงส์แห่งการเจริญสมาธิ และเพื่อที่จะแสดงธรรมอันประณีต ๆ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป แก่เหล่ากุลบุตรผู้ได้สมาธิในจตุตถฌานแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตรัสโลกิยอภิญญาไว้ 5 ประการคือ : -
1. อิทฺธิวิธ การแสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ
2. ทิพฺพโสตธาตุญาน การรู้ดุจได้ยินด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์
3. เจโตปริยญาน การรู้จักกำหนดใจผู้อื่นได้
4. ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติญาน การรู้ในอันตามระลึกถึงชาติที่เคยอาศัยในกาลก่อนได้
5. สตฺตานํ จุตูปปาตญาน การรู้ในการจุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลายได้
โดย[http://www.84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=9&item=133&items=1 ทรงตรัส]ไว้ว่า โยคีบุคคลนั้นเมื่อจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตนุ่มนวลควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว ย่อมนำจิตคือน้อมจิตไปในฤทธิ์มีประการต่าง ๆ เธอย่อมได้บรรลุชนิดแห่งฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ แม้คนคนเดียวก็บันดาลให้เป็นหลายคนได้ ดังนี้
=14 ขั้นตอนฝึกอภิญญา=
ในโลกิยอภิญญา 5 ประการนั้น โยคีบุคคลผู้เริ่มบำเพ็ญต้องการจะแสดงฤทธิ์ให้ได้ต่าง ๆ เป็นต้นว่า แม้คนคนเดียวก็บันดาลให้เป็นหลายคนได้ ดังนี้ พึงทำสมาบัติ 8 แปดหนให้เกิดในกสิณ 8 มีโอทาตกสิณเป็นข้อสุดท้ายแล้ว พึงฝึกฝนจิตโดยอาการ 14 เหล่านี้ คือ : -
''(หน้าที่ 238)''
1. กสิณานุโลมโต โดยเข้าฌานอนุโลมตามกสิณ
2. กสิณปฏิโลมโต โดยเข้าฌานปฏิโลมลำดับกสิณ
3. กสิณานุโลมปฏิโลมโต โดยเข้าฌานอนุโลมและปฏิโลมลำดับกสิณ
4. ฌานานุโลมโต โดยเข้าอนุโลมลำดับฌาน
5. ฌานปฏิโลมโต โดยเข้าปฏิโลมลำดับฌาน
6. ฌานานุโลมปฏิโลมโต โดยเข้าทั้งอนุโลมและปฏิโลมฌาน
7. ฌานานุกฺกตกโต โดยลำดับกสิณแต่ข้ามฌาน
8. กสิณุกฺกนฺตกโต โดยลำดับฌานแต่ข้ามกสิณ
9. ฌานกสิณุกฺกนฺตกโต โดยข้ามฌานและกสิณ
10. องฺคสงฺกนฺติโต โดยเลื่อนองค์ฌาน
11. อารมฺมณสงฺกนฺติโต โดยเลื่อนอารมณ์
12. องฺคารมฺมณสงฺกนฺติโต โดยเลื่อนองค์ฌานและอารมณ์
13. องฺคววฏฺฐาปนโต โดยกำหนดองค์ฌาน
14. อารมฺมณววฏฺฐาปนโต โดยกำหนดอารมณ์
'''อธิบาย'''
ถามว่า – ก็ในอาการ 14 อย่างเหล่านี้ กสิณานุโลม เข้าฌานอนุโลมตามลำดับกสิณ เป็นไฉน ? ฯลฯ อารัมมณววัฏฐาปนะ การกำหนดอารมณ์ เป็นไฉน ?
ตอบว่า –
#ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเข้าฌานปฐวีกสิณ ถัดจากนั้นไปก็เข้าฌานในอาโปกสิณ ในกสิณอีก 8 ก็เข้าฌานตามลำดับอย่างนี้ได้ตั้ง 100 ครั้ง 1,000 ครั้ง นี้ชื่อว่า กสิณานุโลม คือเข้าฌานโดยอนุโลมกสิณ
#การเข้าฌานโดยปฏิโลม ตั้งแต่โอทาตกสิณอย่างนั้นนั่นแหละชื่อว่า กสิณปฏิโลม คือการเข้าฌานปฏิโลมลำดับกสิณ
#การเข้าฌานบ่อย ๆ ด้วยอำนาจอนุโลมและปฏิโลมลำดับกสิณอย่างนี้คือ ตั้งแต่ปฐวีกสิณไปจนถึงโอทาตกสิณ ตั้งแต่โอทาตกสิณย้อนกลับจนถึงปฐวีกสิณ ชื่อว่า กสิณานุโลมปฏิโลม คือการเข้าฌานตามลำดับและย้อนลำดับกสิณ
#ก็การเข้าฌานไปตามลำดับตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานบ่อย ๆ ชื่อว่า ฌานานุโลม คือ การเข้าตามลำดับฌาน
#การเข้าฌานบ่อย ๆ ตั้งแต่เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ย้อนกลับมาถึงปฐมฌาน ชื่อว่า ฌานปฏิโลม คือการ
#การเข้าฌานบ่อย ๆ ด้วยอำนาจตามลำดับและย้อนลำดับฌานอย่างนี้คือ ตั้งแต่ปฐมฌานไปจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน และตั้งแต่เนวสัญญานาสัญญายตนฌานย้อนกลับมาถึงปฐมฌาน ชื่อว่า ฌานานุโลมปฏิโลม คือ การเข้าฌานตามลำดับและย้อนลำดับ
#ส่วนการเข้าฌานก้าวไปตามลำดับกสิณแล้วข้ามฌานไปโดยที่เว้นฌานหนึ่งไว้ในระหว่างอย่างนี้ คือ เข้าปฐมฌานในปฐวีกสิณแล้วก็ข้ามไปเข้าตติยฌานในปฐวีกสิณเลยทีเดียว เพิกตติยฌานนั้นจากปฐวีกสิณนั้นแล้วจึงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน เพิกจากอากาสานัญจายตนฌานนั้นแล้วก็ข้ามไปเข้าอากิญจัญญายตนฌานเลยอย่างนี้ ชื่อว่าฌานานุกกันตกะ คือ เข้าฌานตามลำดับกสิณ แต่ข้ามลำดับฌาน การประกอบเนื้อความแม้ที่เริ่มจากอาโปกสิณเป็นต้นไป นักศึกษาพึงทำเหมือนอย่างเดียวกันนี้
#การเข้าฌานก้าวไปตามลำดับฌานแล้ว ข้ามกสิณไปโดยที่เว้นกสิณหนึ่งนั่นแลไว้ในระหว่าง โดยนัยนี้คือ เข้าปฐมฌานนั้นนั่นแหละในเตโชกสิณอีก ต่อนั้นก็ข้ามไปเข้าในนีลกสิณ ถัดจากนั้นก็ข้ามไปเข้าในโลหิตกสิณ อย่างนี้ชื่อว่า กสิณุกกันตกะ คือเข้าฌานไปตามลำดับฌาน แต่ข้ามลำดับกสิณ
#การเข้าฌานข้ามทั้งลำดับฌานและกสิณโดยนัยนี้ คือ เข้าปฐมฌานปฐวีกสิณแล้ว ต่อแต่นั้นจึงเข้าตติยฌานในเตโชกสิณ เพิกนีลกสิณแล้วเข้าอากาสานัญจายตนฌาน จากโลหิตกสิณไปเข้าอากิญจัญญายตนฌาน อย่างนี้ชื่อว่าฌานกสิณุกกันตกะ คือ ข้ามทั้งฌานและกสิณ
#ก็การเข้าปฐมฌานในปฐวีกสิณแล้ว เข้าฌานอื่นอีก (คือเข้าทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน) ในปฐวีกสิณนั้นนั่นเอง ชื่อว่า อังคสังกันติกะ คือ การเลื่อนองค์ฌาน
#การเข้าฌานเฉพาะฌานเดียวเท่านั้น ในกสิณทั้งหมดอย่างนี้ คือ เข้าปฐมฌานในปฐวีกสิณแล้ว เข้าปฐมฌานซ้ำอีกในอาโปกสิณ ฯลฯ เข้าปฐมฌานซ้ำอีกใน โอทาตกสิณ ดังนี้ชื่อว่า อารัมมณสังกันติกะ คือ การเลื่อนอารมณ์
#การเลื่อนองค์และอารมณ์ด้วยการสลับกันไปอย่างนี้ คือ เข้าปฐมฌานในปฐวีกสิณแล้วเข้าทุติยฌานในอาโปกสิณ เข้าตติยฌานในเตโชกสิณ เข้าจตุตถฌานในวาโยกสิณ เพิกนีลกสิณแล้ว เข้าอากาสานัญจายตนฌาน จากปีตกสิณเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน จากโลหิตกสิณเข้าอากิญจัญญายตนฌาน จากโอทาตกสิณเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นี้ชื่อว่าอังคารัมณสังกันติกะ คือ เลื่อนองค์และอารมณ์
#ส่วนการกำหนดเฉพาะเพียงองค์ฌานเท่านั้นอย่างนี้คือ กำหนดปฐมฌานว่ามีองค์ 5 แล้วกำหนดทุติยฌานว่ามีองค์ 3 กำหนดตติยฌานว่ามีองค์ 2 กำหนดจตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ว่ามีองค์ 2 เหมือนกัน ดังนี้ชื่อว่า อังคววัฏฐาปนะ คือ การกำหนดองค์
#อนึ่ง การกำหนดเฉพาะเพียงอารมณ์เท่านั้นอย่างนี้คือ การกำหนดว่าเป็นปฐวีกสิณ นี้เป็นอาโปกสิณ ฯลฯ นี้เป็นโอทาตกสิณ ดังนี้ชื่อว่าอารัมมณววัฏฐาปนะ คือ การกำหนดอารมณ์ อาจารย์พวกหนึ่งปรารถนาจะให้มีอังคารัมมณววัฏฐาปนะ คือการกำหนดทั้งองค์และอารมณ์เพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่ง แต่เพราะอังคารัมมณววัฏฐาปนะนั้น ไม่ได้มีมาในอรรถกถาทั้งหลายเลย จึงไม่มีความสำคัญในทางการเจริญภาวนาเลยแล
ก็พระโยคาวจรผู้เริ่มทำการบำเพ็ญเพียร ยังไม่ได้ฝึกจิตด้วยอาการ 14 อย่างเหล่านี้ ดังที่ได้บรรยายมานี้ ทั้งยังไม่เคยได้เจริญภาวนามาในปางก่อน จักทำการแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ให้สำเร็จได้ดังนั้น เป็นฐานะที่มีไม่ได้เลย จริงอยู่ การบริกรรมกสิณจัดว่าเป็นงานที่หนักสำหรับพระโยคาวจรผู้เริ่มทำการบำเพ็ญเพียร หนึ่งในร้อยคนหรือว่าในพันคนเท่านั้นจึงจะสามารถทำได้ การจะทำนิมิตให้เกิดขึ้นก็จัดว่าเป็นงานที่หนักสำหรับพระโยคาวจรผู้ทำบริกรรมกสิณได้แล้ว หนึ่งในร้อยคนหรือว่าพันคนเท่านั้นจึงจะสามารถทำได้ เมื่อนิมิตเกิดขึ้นแล้ว การจะขยายนิมิตนั้นไปจนถึงบรรลุอัปปนาได้ก็จัดว่าเป็นงานที่หนัก หนึ่งในร้อยคนหรือว่าในพันคนเท่านั้นจึงจะสามารถทำได้ การฝึกฝนจิตโดยอาการ 14 อย่าง จัดว่าเป็นงานที่หนักสำหรับพระโยคาวจรผู้ได้รับอัปปนาแล้ว หนึ่งในร้อยคนหรือว่าในพันคนเท่านั้นจึงจะสามารถทำได้ ชื่อว่าการแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ก็จัดว่าเป็นงานที่หนัก สำหรับพระโยคาวจรแม้เป็นผู้มีจิตอันได้ฝึกฝนแล้วโดยอาการ 14 อย่างก็ตามที หนึ่งในร้อยคนหรือว่าในพันคนเท่านั้นจึงจะสามารถทำได้ การจะเข้าฌานได้ฉับพลันก็ตาม จัดว่าเป็นงานที่หนักสำหรับผู้แม้จะแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้แล้วก็ตาม หนึ่งในร้อยคนหรือว่าพันคนเท่านั้นจึงจะเข้าฌานได้อย่างฉับพลัน ตัวอย่างเช่น ในเถรัมพัตถลวิหาร มีพระรักขิตเถระผู้อุปสมบทได้ 8 พรรษา นับว่าเป็นเอกในบรรดาภิกษุผู้มีฤทธิ์ประมาณ 30,000 รูป ที่พากันมาพยาบาลไข้พระมหาโรหณคุตตเถระ อานุภาพของพระรักขิตเถระนั้นได้กล่าวไว้แล้วในปฐวีกสิณนิทเทสนั้นแล ก็พระเถระได้เห็นอานุภาพนั้นของพระรักขิตเถระนั้นแล้วจึงกล่าวตักเตือนภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนท่านทั้งหลาย ถ้าหากจักไม่มีพระรักขิตแล้วไซร้ พวกเราทั้งหมดจักถูก
''(หน้าที่ 241)''
ติเตียนว่า ภิกษุเหล่านี้ไม่สามารถจะปกป้องพญานาคได้ เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าอาวุธประจำตัวที่จะพึงถือเที่ยวไปควรชำระล้างให้สนิทดีเสียก่อนแล้วจึงถือเที่ยวไปได้ ภิกษุทั้ง 30,000 รูปนั้น พากันปฏิบัติตามโอวาทของพระเถระแล้ว จึงได้เป็นผู้เข้าฌานได้อย่างฉับพลัน และถึงจะเข้าฌานได้อย่างฉับพลันแล้วก็ดี การที่จะเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ก็ยังจัดว่าเป็นงานที่หนักหนึ่งในร้อยคนหรือว่าในพันคนเท่านั้นจึงจะสามารถทำได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งมารบันดาลให้ฝนถ่านเพลิงตกลงในที่ศิริภัณฑวาหนบูชา (หมายถึงการบูชาด้วยประทีปเป็นการใหญ่เริ่มต้นแต่ที่เจติยคิรีแผ่ออกไปทั่วเกาะลังกา และเลยไปในทะเลอีกโยชน์หนึ่ง) พระเถระได้เนรมิตแผ่นดินขึ้นบนอากาศต้านทานฝนถ่านเพลิงไว้ได้
แต่สำหรับท่านผู้บำเพ็ญความเพียรอย่างแรงกล้ามาแต่ปางก่อน เช่นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอัครสาวกทั้งหลาย ถึงว่าจะเว้นจากการฝึกจิตตามลำดับขั้นตอนที่กล่าวมาทุกประการ การแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ และคุณทั้งหลายอย่างอื่นมีปฏิสัมภิทาเป็นประเภทก็ย่อมสำเร็จได้ เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรผู้จะเริ่มการฝึกฝนจิต ควรฝึกฝนจิตโดยอาการ 14 อย่างเหล่านี้ ทำจิตให้อ่อนควรแก่การงาน ด้วยอำนาจการเข้าฌาน ทำฉันทะให้เป็นประธาน ทำวิริยะให้เป็นประธาน ทำจิตตะให้เป็นประธาน ทำวิมังสาให้เป็นประธาน และด้วยอำนาจการทำจนชำนาญ ชำนาญในการนึกเป็นต้นแล้วพึงทำความพยายามในอิทธิวิธะเถิด เปรียบเหมือนช่างทองผู้ต้องการจะทำเครื่องประดับต่างชนิด ย่อมทำทองให้อ่อนควรแก่การทำเครื่องประดับ ด้วยกรรมวิธีการสูบเป่าไฟเป็นต้นแล้วจึงทำได้ ฉะนั้น และเปรียบเหมือนช่างหม้อผู้ต้องการจะทำภาชนะต่างชนิดย่อมทำดินให้อ่อน ขยำดีแล้วจึงทำได้ ฉะนั้น แต่ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยบุรพเหตุ แม้จะประพฤติให้เชี่ยวชาญเพียงจตุตถฌานในกสิณทั้งหมด ก็ทำได้
=อธิบายพระบาลีอิทธิวิธะ=
ก็ในอธิการนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงถึงวิธีที่พระโยคีควรทำความเพียรพยายาม [http://www.84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=9&item=133&items=1 จึงตรัสพระดำรัส]เป็นต้นว่า พระโยคีนั้น ครั้นเมื่อจิตตั้งมั่นอย่างนี้แล้ว ดังนี้ ในอธิการว่าด้วยการทำฤทธิ์ให้สำเร็จนั้น มีคำวินิจฉัยตามแนวแห่งความหมายของบาลีดังต่อไปนี้ ในบทพระบาลีเหล่านั้น บทว่า นั้น หมายถึงพระโยคีบุคคลผู้บรรลุจตุตถฌานได้แล้ว คำว่า อย่างนี้ นั่นเป็นเครื่องแสดงชี้ถึงลำดับแห่งจตุตถฌาน คำนี้มีอธิบายว่า ได้จตุตถฌาน
''(หน้าที่ 242)''
มาโดยลำดับตั้งแต่ปฐมฌานมา คำว่า ตั้งมั่น คือ ตั้งมั่นด้วยจตุตถฌานสมาธินี้ คำว่า ในจิต หมายเอาในรูปาวจรจิต
ก็ในคำว่า ปริสุทฺเธ เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ ชื่อว่าบริสุทธิ์แล้ว เพราะภาวะคือความบริสุทธิ์แห่งสติด้วยอำนาจอุเบกขา ก็เพราะบริสุทธิ์อย่างนั้นจึงชื่อว่าสะอาด อธิบายว่า ผ่องใส ชื่อว่าไม่มีกิเลสเครื่องรบกวน เพราะว่ากำจัดกิเลสเครื่องรบกวนมีราคะเป็นต้นได้ ด้วยการห้ำหั่นปัจจัยมีความสุขเป็นต้นเสียได้ เพราะความไม่มีกิเลสเครื่องรบกวนนั่นแล จึงชื่อว่าปราศจากอุปกิเลส ด้วยว่าจิตนั้นจักขุ่นมัวก็ด้วยกิเลสเครื่องรบกวน จิตชื่อว่าเป็นธรรมชาติอ่อน ก็เพราะเหตุที่ได้อบรมมาดีแล้ว อธิบายว่า จนเป็นจิตถึงความเป็นธรรมชาติคล่องแคล่ว เพราะว่าจิตที่บังคับได้ท่านเรียกว่าจิตที่อ่อน (ว่าง่าย) เพราะความเป็นจิตอ่อนนั่นแหละ จึงเป็นจิตควรแก่การงาน อธิบายว่า ทนต่อการงาน ใช้การได้ เพราะจิตที่อ่อนย่อมเป็นจิตที่ควรแก่การงาน ดุจทองคำที่ช่างทองไล่มลทินดีแล้ว ฉะนั้น ก็แลความอ่อนและควรแก่การงาน ทั้ง 2 อย่างนั้นจะมีได้ก็เพราะการอบรมที่ดีนั่นเอง สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่พิจารณาเห็นธรรมอย่างอื่นแม้สักข้อหนึ่ง ที่บุคคลอบรมแล้ว บำเพ็ญให้มากแล้ว จะเป็นธรรมชาติอ่อนและเหมาะควรแก่การงานเหมือนอย่างจิตนี้เลยนะภิกษุทั้งหลาย" ชื่อว่าตั้งมั่น เพราะตั้งอยู่ในคุณธรรมมีความเป็นจิตที่บริสุทธิ์เป็นต้นเหล่านี้เอง เพราะเหตุที่จิตตั้งมั่นอย่างนั้นจึงชื่อว่าถึงความไม่หวั่นไหวอธิบายว่า ไม่คลอนแคลน ไม่เอนเอียง อีกอย่างหนึ่งชื่อว่า ดำรงมั่น เพราะตั้งอยู่ในอำนาจของตน โดยที่เป็นธรรมชาติอ่อนและเหมาะควรแก่การงาน เพราะเป็นจิตที่คุณมีศรัทธาเป็นต้นประคับประคองแล้ว จึงชื่อว่าถึงความไม่หวั่นไหว แท้จริงจิตที่ได้รับการประคับประคองจากศรัทธาที่ตั้งมั่น ย่อมไม่หวั่นไหวไปตามความไม่เชื่อ จิตที่ได้รับการประคับประคองจากความเพียรที่ถูก ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความเกียจคร้าน จิตที่ได้รับการประคับประคองจากสติชอบ ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความประมาท จิตที่ได้รับการประคับประคองจากสมาธิชอบ ย่อมไม่หวั่นไหวไปตามความฟุ้งซ่าน จิตที่ได้รับการประคับประคองจากปัญญา ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยอำนาจอวิชชา และจิตที่ถึงความสว่างไสวแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยอำนาจความมืดคือกิเลสอีก จิตที่ได้รับการประคับประคองจากธรรม 6 ประการนี้แล้ว
''(หน้าที่ 243)''
ย่อมเป็นจิตถึงความไม่หวั่นไหว จิตที่ประกอบด้วยองค์ 8 ประการเหล่านี้ (คือ 1. สมาหิเต เมื่อจิตตั้งมั่น 2. ปริสุทฺเธ บริสุทธิ์ 3. ปริโยทาเต ผ่องแผ้ว 4. อนงฺคเณ ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน 5. วิคตุปกิเลส ปราศจากอุปกิเลส 6. มุมุภูเต เป็นธรรมชาตินุ่มนวล 7. กมฺมนิเย เพราะควรแก่การงาน 8. ฐิเต อาเนญฺชปฺปตฺเต ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว) ย่อมควรแก่อภินิหารเพื่อทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งซึ่งอภิญญาสัจฉิกรณียธรรมทั้งหลาย นักศึกษาพึงทราบอีกอธิบายหนึ่งว่า ชื่อว่า ตั้งมั่น เพราะเป็นสมาธิในจตุตถฌาน, ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะว่า เป็นจิตที่ไกลจากนิวรณธรรม, ชื่อว่า ผ่องแผ้ว เพราะก้าวล่วงองค์ฌานมีวิตกเป็นต้นได้, ชื่อว่า ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน เพราะไม่มีความเลวซิ่งดิ่งลงสู่ความอยากอันเป็นข้าศึกต่อการได้ฌาน, ชื่อว่า ปราศจากอุปกิเลส เพราะปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตมีอภิชชา เป็นต้น, ก็จิตที่ประกอบด้วยองค์ทั้ง 2 คือ อนงฺคเณ และ วิคตุปกิเลเส นี้ นักศึกษาพึงทราบเนื้อหาสาระตามที่ปรากฏในอนังคณสูตร และวัตถสูตรเถิด ชื่อว่าธรรมชาตินุ่มนวล เพราะถึงความเชี่ยวชาญ ชื่อว่าเหมาะควรแก่การงาน เพราะเข้าถึงความเป็นบาทแห่งฤทธิ์ ชื่อว่า ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เพราะเข้าถึงความเป็นจิตประณีต โดยความบริบูรณ์แห่งภาวนา อธิบายว่า ย่อมชื่อว่าตั้งมั่นไม่ยอมถึงความหวั่นไหว จิตที่ประกอบด้วยองค์ 8 ประการดังที่ว่ามานี้ ย่อมจัดเป็นจิตควรแก่อภินิหาร คือเป็นบาทเป็นปทัฏฐาน เพื่อทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งซึ่งอภิญญาสัจฉิกรณียธรรมทั้งหลายได้แล
==อิทธิในนิทเทสนี้เฉพาะอธิษฐาน วิกุพพนา มโนมยา==
นักศึกษาพึงทราบวินิจฉัยในพระบาลีที่ว่า ย่อมนำจิต คือน้อมนำจิตไปในฤทธิ์มีอย่างต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ชื่อว่าฤทธิ์ เพราะอรรถว่าเป็นความสำเร็จ อธิบายว่า เพราะอรรถว่าเป็นผลแห่งความสำเร็จ และเพราะอรรถว่าได้รับความสำเร็จ จริงอยู่ สิ่งใดย่อมเผล็ดผลและบุคคลได้รับเฉพาะสิ่งใด สิ่งนั้นก็เรียกได้ว่าสำเร็จ สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "เมื่อบุคคลกำลังมุ่งหวังต่อกามวัตถุอยู่ หากว่าสิ่งที่มุ่งหวังนั้นย่อมสำเร็จแก่เขาไซร้" ดังนี้ อนึ่ง ท่านพระสารีบุตร[http://www.84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=31&siri=81 อธิบายไว้ในปฏิสัมภิทามรรค]ว่า "เนกขัมมะ ชื่อว่าฤทธิ์ เพราะอรรถว่าย่อมสำเร็จ ชื่อว่าปาฏิหาริย์ เพราะอรรถว่านำปฏิปักขธรรมไปเสีย อรหัตมรรคชื่อว่าฤทธิ์ เพราะอรรถว่าย่อมบรรลุผล ชื่อว่าปาฏิหาริย์ เพราะอรรถว่าย่อมนำไปเฉพาะ"ดังนี้ อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าฤทธิ์ เพราะอรรถว่าเป็น
''(หน้าที่ 244)''
ความสำเร็จผล คำว่า ฤทธิ์ นี้ เป็นชื่อของความถึงพร้อมแห่งอุบาย จริงอยู่ ความถึงพร้อมแห่งอุบาย ย่อมสำเร็จได้ เพราะประสบผลตามที่ต้องประสงค์ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า "จิตตะคฤหบดีนี้แล มีศีลมีธรรมอันงาม ถ้าหากเธอจักตั้งความปรารถนาว่า "ขอเราพึงได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิในอนาคตกาลโน้นเทอญ" ดังนี้ ก็จักสำเร็จผลได้ เพราะผู้มีศีลเป็นผู้มีความตั้งใจปรารถนาหมดจด" อีกความหมายหนึ่งว่า ชื่อว่าฤทธิ์ เพราะเป็นเหตุสำเร็จผลแห่งสัตว์ทั้งหลาย อธิบายว่า คำว่า สำเร็จ ก็คือ เจริญ รุ่งเรือง ถึงความเป็นคุณชั้นสูง ฤทธิ์นั้นมี 10 อย่าง สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า คำว่า ฤทธิ์ ได้แก่ฤทธิ์ 10 อย่าง และกล่าวต่อไปอีกว่า ฤทธิ์ 10 อย่าง เป็นไฉน ? ฤทธิ์ 10 อย่างคือ –
1. อธิฏฺฐานาอิทฺธิ ฤทธิ์อธิษฐาน
2. วิกุพฺพานาอิทฺธิ ฤทธิ์ที่ทำเป็นได้หลายอย่าง
3. มโนมยาอิทฺธิ ฤทธิ์ที่สร้างรูปมีใจครอง
4. ฌานวิปฺผาราอิทฺธิ ฤทธิ์ที่มีญาณปกป้อง
5. สมาธิวิปฺผาราอิทฺธิ ฤทธิ์ที่มีสมาธิปกป้อง
6. อริยาอิทฺธิ ฤทธิ์ของพระอริยะ
7. กมฺมวิปากชาอิทธิ ฤทธิ์ที่เกิดแต่ผลแห่งกรรม
8. ปุญฺญวโตอิทฺธิ ฤทธิ์ของผู้มีบุญ
9. วิชฺชามยาอิทฺธิ ฤทธิ์ที่สำเร็จด้วยวิทยา
10. ตตฺถ ตตฺถ สมฺมา ปโยคปจฺจยา อิชฺฌนฏฺเฐน อิทฺธิ ฤทธิ์ที่หมายความว่าเป็นเครื่องสำเร็จ เพราะความประกอบโดยชอบในกิจนั้น ๆ เป็นปัจจัย
'''1. อธิฏฐานาอิทธิ'''
ในบรรดาฤทธิ์ทั้ง 10 อย่างนั้น ฤทธิ์ที่ท่านจำแนกแสดงอย่างนี้ว่า ตามปกติ พระโยคีเป็นคนคนเดียว แต่นึกให้เป็นมากคนได้ คือให้เป็นร้อยคน พันคน หรือหมื่นคน พอนึกแล้วจึงอธิษฐานด้วยญาณว่า ขอเราจงกลายเป็นคนหลายคนเถิด ดังนี้ ชื่อว่า อธิฏฐานาอิทธิ เพราะสำเร็จด้วยอำนาจการอธิษฐาน
''(หน้าที่ 245)''
'''2. วิกุพพนาอิทธิ'''
ฤทธิ์ที่มีมาอย่างนี้ว่า พระโยคีนั้นละเพศปกติของตนแล้ว แสดงเป็นเพศเด็กก็ได้ แสดงเป็นเพศนาคก็ได้ ฯลฯ แสดงเป็นกบวนทัพหลาย ๆ วิธีก็ได้ อย่างนี้ชื่อว่า วิกุพฺพนาอิทฺธิ เพราะแสดงให้เป็นไปด้วยอำนาจการละเพศเดิมของตนแล้วแสดงให้เป็นเพศต่าง ๆ
'''3. มโนมยาอิทธิ'''
ฤทธิ์ที่มีมาโดยความหมายอย่างนี้ว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เนรมิตร่างกายเดิมเป็นกายอื่นให้เป็นรูปมีจิตใจ อย่างนี้ชื่อว่า มโนมยาอิทฺธิ เพราะบันดาลให้สำเร็จเป็นสรีระอื่นที่มีจิตใจครอง ภายในสรีระร่างเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก
'''4. ญาณวิปผาราอิทธิ'''
ก็คุณวิเศษที่เกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งญาณ ในกาลก่อนหรือภายหลังแต่ความเป็นไปแห่งญาณก็ดี ในขณะที่ญาณเป็นไปอยู่ก็ดี ชื่อว่า ญาณวิปฺผาราอิทฺธิ สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้ในบาลีว่า ฤทธิ์ชื่อว่า ญาณวิปฺผารา เพราะเป็นอรรถคือการละความสำคัญว่าเที่ยงย่อมสำเร็จได้ด้วยอนิจจานุปัสสนา ฯลฯ ฤทธิ์ชื่อว่า ญาณวิปฺผารา เพราะโดยอรรถคือการละกิเลสได้ทั้งหมด ย่อมสำเร็จได้ด้วยอรหัตมรรค เหมือนฤทธิ์ที่มีญาณปกป้องของท่านพากุละ เหมือนฤทธิ์ที่มีญาณปกป้องของท่านสังกิจจะ และเหมือนฤทธิ์ที่มีญาณปกป้องของท่านภูตบาล ฉะนั้น ในท่านทั้ง 3 นั้นจะเล่าถึงเรื่องท่านพระพากุละเป็นอันดับแรก
'''เรื่องพระพากุละ'''
ครั้งที่ท่านยังเป็นเด็กเล็ก ๆ ในวันทำพิธีมงคล เขาให้เอาไปอาบน้ำในแม่น้ำ เพราะความเลินเล่อของหญิงแม่เลี้ยง จึงพลัดตกลงไปในกระแสน้ำ ปลากลืนท่านเข้าไปในท้องแล้วแหวกว่ายไปถึงท่าน้ำกรุงพาราณสี ณ ที่ท่าน้ำกรุงพาราณสีนั้นมีชาวประมงคนหนึ่งจับปลาตัวนั้นได้แล้ว นำไปขายให้ภิริยาของท่านเศรษฐี นางเกิดความชอบใจปลาตัวนั้นจึงพูดว่า เราจักลงมือต้มปลาเอง ว่าแล้วก็ทำการผ่าท้องปลา ทันทีนั้นก็พบเด็กมีรูปร่างขาวเหลืองดังทองคำอยู่ในท้องปลา จึงดีใจพูดว่าเราได้ลูกแล้ว การที่เด็กอยู่ในท้องปลาไม่มีโรค
''(หน้าที่ 246)''
ภัยเบียดเบียนดังนี้ ชื่อว่า ญาณวิปฺผาราอิทฺธิ คือฤทธิ์ที่มีญาณปกป้องคุ้มครองรักษา เพราะเกิดขึ้นด้วยอานุภาพอรหัตมรรคญาณ ที่ท่านพากุละผู้เกิดในภพสุดท้ายจะพึงบรรลุโดยอัตภาพนั้น ส่วนเรื่องของท่านพระพากุละ นักปราชญ์ควรเล่าให้พิสดาร
'''เรื่องพระสังกิจจเถระ'''
อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อพระสังกิจจะเถระยังอยู่ในครรภ์ มารดาได้ถึงแก่กรรม พวกสัปเหร่อยกศพหญิงนั้นขึ้นสู่เชิงตะกอน ขณะกำลังเผาก็ใช้หลาวเหล็กทิ่มแทง ทารกถูกปลายหลาวแทงที่หางตา จึงส่งเสียงร้องขึ้น ขณะนั้น ชนทั้งหลายจึงได้ยกศพนั้นลงมาเพราะรู้ว่าเด็กในท้องยังมีชีวิตอยู่จึงผ่าท้องแล้ว ได้ให้ทารกนั้นแก่ยายไป เด็กคนนั้นได้รับการเลี้ยงดูจากคุณยายจนเติบใหญ่ ต่อมาได้บวชแล้วบรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา 4 การที่ทารกอยู่ในเชิงตะกอนฟืน ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ก็ด้วยเหตุแห่งเนื้อความตามที่กล่าวไว้แล้วนั่นแล ดังนี้จัดเป็น ญาณวิปฺผาราอิทฺธิ ของท่านพระสังกิจจะ
'''เรื่องเด็กภูตบาล'''
อีกเรื่องหนึ่ง บิดาของเด็กภูตบาลเป็นคนยากจนเข็ญใจ อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์ บิดากับเด็กภูตบาลนั้นขับเกวียนไปในดงเพื่อหาฟืน พอทำการบรรทุกฟืนเรียบร้อยแล้ว ในเวลาเย็นกลับมาจะใกล้ประตูเมืองอยู่แล้ว บังเอิญโคทั้งสองตัวของเขาเกิดพยศสลัดแอกออกวิ่งเข้าไปในเมือง เขาจึงให้ลูกน้อยนั่งรออยู่ที่ใกล้เกวียน แล้วตนเองก็รีบติดตามโคเข้าไปในเมืองอย่างไม่รอรี เมื่อบิดาของเด็กนั้นยังมิทันได้ออกมา นายทวารก็ปิดประตูเมืองเสียแล้ว (จำต้องทิ้งลูกน้อยให้นอนอยู่นอกเมืองเพียงคนเดียว) การที่เด็กอยู่นอกเมืองตลอด 3 ยามแห่งราตรี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ทั้งที่มียักษ์ร้ายเที่ยวสัญจรไปมาอยู่ก็ตาม ดังนี้ชื่อว่า ญาณวิปฺผาราอิทฺธิ คือฤทธิ์ที่มีญาณปกป้องคุ้มครอง โดยนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วแล อันเรื่องนี้ก็น่าเล่าให้พิสดาร
'''5. สมาธิวิปผาราอิทธิ'''
คุณวิเศษที่เกิดด้วยอำนาจสมถะในกาลก่อน หรือภายหลังสมาธิ หรือในขณะแห่งสมาธินั้น ชื่อว่า สมาธิวิปฺผาราอิทฺธิ คือฤทธิ์ที่ปกป้องด้วยสมาธิ สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้
''(หน้าที่ 247)''
ว่า ชื่อว่าฤทธิ์ที่ปกป้องด้วยสมาธิ เพราะอรรถคือการละนิวรณธรรมทั้งหลาย สำเร็จได้ด้วยปฐมฌาน ฯลฯ ชื่อว่าฤทธิ์ที่ปกป้องด้วยสมาธิ เพราะอรรถคือการละอากิญจัญญายตนสมาบัติ สำเร็จได้ด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เหมือนฤทธิ์ที่ปกป้องด้วยสมาธิของท่านพระสารีบุตร.....ของท่านสัญชีวะ.....ของท่านพระขาณุโกณฑัญญะ....ของนางอุตตราอุบาสิกา และเหมือนฤทธิ์ที่ปกป้องด้วยสมาธิของพระนางสามาวดีอุบาสิกา ฉะนั้น ในท่านเหล่านั้น จะเล่าถึงเรื่องพระสารีบุตรพอเป็นนิทัศนะต่อไป
'''เรื่องพระเสรีบุตรเถระ'''
ในคราวที่ท่านพระสารีบุตรเถระ กับพระมหาโมคคัลลานเถระพักอยู่ที่วิหารชื่อว่ากโปตกันทรา ปลงผมเสร็จแล้วใหม่ ๆ ในคืนนั้นเดือนหงาย จึงพากันออกมานั่งอยู่กลางแจ้ง ในขณะนั้นยักษ์ร้ายตนหนึ่ง แม้จะถูกเพื่อนยักษ์ด้วยกันห้ามก็ไม่ฟัง ได้ตีที่ศีรษะของพระเถระดังแรงเหมือนเสียงฟ้าร้อง พระเถระได้สมาบัติในขณะที่ยักษ์นั้นตี พระเถระจึงมิได้มีความเจ็บปวดแต่อย่างใดเพราะการตีนั้นเลย นี้ชื่อว่าฤทธิ์ที่ปกป้องด้วยสมาธิของท่านพระสารีบุตรเถระนั้น ก็เรื่องนี้มีมาในอุทานนั้นนั่นแล
'''เรื่องพระสัญชีวเถระ'''
ฝ่ายพระสัญชีวะเถระกำลังเข้านิโรธสมาบัติอยู่ พวกคนเลี้ยงโคเข้าใจว่าท่านตายแล้วจึงขนหญ้า ไม้ และมูลโคมาสุมแล้วจุดไฟเผาท่าน แม้แต่เส้นด้ายที่จีวรของท่านก็มิได้ไหม้ นี้ชื่อว่าฤทธิ์ที่ปกป้องด้วยสมาธิซึ่งเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งสมถะ ซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจ อนุปุพพสมาบัติของท่าน ก็เรื่องนี้มีมาในพระสูตรนั่นแล
'''เรื่องพระขาณุโกณทัญญเถระ'''
ฝ่ายพระขาณุโกณฑัญญเถระ ตามปกติท่านเข้าสมาบัติอยู่เสมอ คืนหนึ่งท่านนั่งเข้าสมบัติอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง พวกโจร 500 ลักของเขาเดินไปอยู่ คิดกันว่าบัดนี้ไม่มีใครตามเรามาได้ จึงต้องการพักผ่อน เมื่อจะวางของลงสำคัญว่านี่เป็นหัวตอ จึงวางสิ่งของทั้งหมดไว้บนพระเถระนั่นแหละ เมื่อโจรเหล่านั้นพักผ่อนหายเหนื่อยแล้วจะเดินทางต่อไปพอเวลาหยิบห่อสิ่งของที่วางไว้ทีแรก พอดีพระเถระออกจากสมาบัติตามเวลาที่กำหนดไว้พวกโจรเหล่านั้นเห็นอาการเคลื่อนไหวของพระเถระจึงกลัว ร้องลั่น พระเถระจึงบอกว่าอย่ากลัวเลยโยม อาตมาภาพเป็นพระสงฆ์ พวกโจรเหล่านั้นพากันมาไหว้ด้วยความเลื่อมใสใน
''(หน้าที่ 248)''
พระเถระ ขอบวชแล้วได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา 4 ในเรื่องนี้ พระเถระถึงจะถูกสิ่งของ 500 ห่อทับถม ก็ไม่มีอาการอาพาธเลย ดังนี้ชื่อว่า ฤทธิ์ที่ปกป้องด้วยสมาธิ
'''เรื่องนางอุตตราอุบาสิกา'''
ฝ่ายนางอุตตราอุบาสิกา ผู้เป็นธิดาของท่านปุณณกะเศรษฐี ถูกนางแพศยาชื่อว่าสิริมาคิดริษยาเอากะทะน้ำมันที่เดือดพล่านเทรดบนศีรษะของนางอุตตรานั้น นามอุตตราเข้าเมตตาสมบัติในทันทีนั่นเอง น้ำมันได้กลิ้งตกไปดุจหยาดน้ำกลิ้งตกจากใบบัว ฉะนั้น นี้ชื่อว่าฤทธิ์ที่ปกป้องด้วยสมาธิของนางอุตตรานั้น ส่วนเรื่องละเอียดนักปราชญ์ควรเล่าให้พิสดาร
'''เรื่องพระนางสามาวดี'''
พระอัครมเหสีของพระเจ้าอุเทน ทรงพระนามว่า พระนางเจ้าสามาวดี มาคัณฑิยพราหมณ์ปรารถนาตำแหน่งอัครมเหสีแก่ธิดาของตน จึงใช้ไห้คนเอางูพิษใส่เข้าไปในพิณของพระนางสามาวดีนั้นแล้ว ทูลพระเจ้าแผ่นดินว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระนางสามาวดีทรงคิดจะปลงพระชนม์พระองค์ จึงจับเอางูพิษใส่ไว้ในพิณ พระราชาทอดพระเนตรเห็นงูพิษนั้นแล้วก็ทรงกริ้ว ทรงพระราชดำริว่า เราจักฆ่านางสามาวดี จึงยกธนูขึ้นแล้วสอดสายธนูอันกำซาบด้วยยาพิษเข้า พระนางสามาวดีพร้อมทั้งบริวารจึงแผ่เมตตาไปยังพระราชา พระราชาไม่สามารถจะยิงลูกศรไปได้ และจะลดคันศรลงก็ไม่ได้ ได้ทรงยืนสั่นอยู่ ลำดับนั้นพระราชเทวีจึงกราบทูลท้าวเธอว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ทรงลำบากหรือไม่พระเจ้าข้า พระราชาตรัสสารภาพว่า จ้ะ ฉันกำลังลำบาก พระนางเจ้าจึงกราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์จงทรงลดธนูลงเถิด ลูกศรตกลงแล้วในที่ใกล้พระบาทพระราชาทันที ครานั้น พระเทวีจึงทรงสั่งสอนท้าวเธอว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า บุคคลไม่ควรทำร้ายต่อผู้ที่มิได้ทำร้าย การที่พระราชาไม่สามารถจะปล่อยลูกศรไปได้ดังที่ได้บรรยายมานั้น ชื่อว่าฤทธิ์ที่ปกป้องด้วยสมาธิ ของพระนางสามาวดีอุบาสิกาแล
'''6. อริยาอิทธิ'''
ก็การอยู่ของท่านผู้มีความสำคัญในของปฏิกูลเป็นต้นว่าเป็นของไม่ปฏิกูลเป็นต้นอยู่เป็นนิตย์ ชื่อว่า อริยาอิทฺธิ คือฤทธิ์ของพระอริยะ สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า ฤทธิ์
''(หน้าที่ 249)''
ของพระอริยะเป็นไฉน ? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ หากจะหวังว่าเราพึงเป็นผู้มีความสำคัญในของปฏิกูลว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ดังนี้ไซร้ เธอย่อมเป็นผู้มีความสำคัญว่าไม่เป็นของปฏิกูลในของที่ปฏิกูลนั้นอยู่ ฯลฯ เป็นผู้วางเฉยมีสตินึกรู้สึกอยู่ในของปฏิกูลนั้นดังนี้ ก็ฤทธิ์นี้ท่าน เรียกว่า อริยาอิทฺธิ ฤทธิ์ของพระอริยะ เพราะบังเกิดแก่พระอริยะทั้งหลาย ผู้มีความเชี่ยวชาญทางใจอย่างเดียว จริงอยู่ พระขีณาสพผู้ประกอบด้วยฤทธิ์นี้ ย่อมทำการแผ่เมตตาหรือใฝ่ใจโดยความเป็นธาตุไปในวัตถุที่ปฏิกูลไม่น่าปรารถนา เป็นผู้มีความสำคัญหมายว่าไม่น่าเกลียดอยู่ และทำการแผ่โดยเป็นของไม่งาม หรือใฝ่ใจว่าไม่เที่ยง ในวัตถุที่ไม่น่าเกลียด คือที่น่าปรารถนา เป็นผู้มีความสำคัญหมายว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ อนึ่ง ย่อมทำการแผ่เมตตา หรือใฝ่ใจโดยความเป็นธาตุนั้นแล ในของทั้งที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูล เป็นผู้มีความสำคัญใน ของปฏิกูลและไม่ปฏิกูลว่า ไม่ปฏิกูลอยู่ และทำการแผ่ว่าไม่งาม หรือใฝ่ใจว่าไม่เที่ยงนั่นแล ในวัตถุทั้งไม่ปฏิกูลและปฏิกูล เป็นผู้มีความสำคัญหมายในของปฏิกูลและไม่ปฏิกูลว่าเป็นของ ปฏิกูลอยู่ อนึ่ง ท่านยังอุเบกขามีองค์ 6 ซึ่งท่านกล่าวไว้โดยนัยเป็นต้นว่า เห็นรูปด้วยตา แล้วไม่ดีใจไม่เสียใจให้เป็นไปอยู่ ย่อมพรากห่วงทั้ง 2 คือทั้งในปฏิกูลและไม่ปฏิกูล วางเฉย มีสติรู้สึกอยู่ ก็เนื้อความนี้แหละท่านจำแนกไว้ในปฏิสัมภิทาโดยนัยเป็นต้นว่า อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีความสำคัญหมายว่าไม่ปฏิกูลในของปฏิกูลอยู่ คือ ภิกษุแผ่เมตตา หรือน้อมนำไปโดยธาตุในวัตถุอันไม่น่าปรารถนาเป็นต้น ดังนี้ ฤทธิ์ดังกล่าวมานี้ ท่านเรียกว่า ฤทธิ์ของพระอริยะ เพราะบังเกิดเฉพาะแก่ผู้ประเสริฐ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางใจดังนี้แล
'''7. กัมมวิปากชาอิทธิ'''
ก็กิริยาที่บินไปในกลางหาวเป็นต้นแห่งหมู่นกเป็นต้น ชื่อว่า กมฺมวิปากชาอิทฺธิ ฤทธิ์เกิดแต่ผลของกรรม สมดังที่ท่านแสดงไว้ว่า ฤทธิ์เกิดแต่ผลของกรรมเป็นไฉน ? คือฤทธิ์ของนกทุกจำพวก ของเทวดาทุกจำพวก ของมนุษย์บางพวก ของสัตว์วินิปาติกะบางพวก นี้ชื่อว่าฤทธิ์เกิดแต่ผลของกรรม จริงอยู่ บรรดาสัตว์ทั้งหมดนี้ การไปโดยอากาศเว้นขาดจากฌานและวิปัสสนา ของนกทุกจำพวกและของเทวดาทั้งหมด และของมนุษย์บางพวก
''(หน้าที่ 250)''
ผู้เกิดในต้นกัปป์ก็เหมือนกัน อนึ่ง การไปโดยอากาศของวินิปาติกะสัตว์บางพวกเป็นต้นว่านางยักษิณีชื่อปิยังกรมารดา ชื่ออุตตรมารดา ชื่อปุสสมิตตา ชื่อธรรมคุตตาเป็นต้น ก็เช่นเดียวกัน ชื่อว่า กมฺมวิปากชาอิทฺธิ ฤทธิ์เกิดแต่ผลของกรรม
'''8. ปุญญวโตอิทธิ'''
ก็การไปกลางหาวเป็นต้น ของพระเจ้าจักรพรรดิเป็นต้น ชื่อว่า ปุญฺญวโตอิทฺธิ ฤทธิ์ของผู้มีบุญ สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ฤทธิ์ของผู้มีบุญเป็นไฉน ? พระเจ้าจักรพรรดิ พร้อมด้วยจตุรงคเสนา จนชั้นคนผูกม้าและคนผู้โค ก็ไปสู่กลางหาวได้ ฤทธิ์ของโชติกคฤหบดีผู้มีบุญ..... ฤทธิ์ของท่านชฏิลคฤหบดีผู้มีบุญ..... ฤทธิ์ของท่านโฆสกคฤหบดีผู้มีบุญ....ฤทธิ์ของท่านมณฑกคฤหบดีผู้มีบุญ.....ฤทธิ์ของผู้มีบุญมากทั้ง 5 ท่าน ก็ไปสู่กลางหาวได้ เหมือนกัน ก็ว่าโดยสังเขป คุณพิเศษซึ่งสำเร็จในเมื่อบุญสมภารถึงแก่ความเต็มที่แล้ว ชื่อว่าฤทธิ์ของท่านผู้มีบุญ ก็ในบรรดาผู้มีบุญเหล่านั้น สำหรับท่านโชติกคฤหบดี มีปราสาทแก้วมณี และต้นกัลปพฤกษ์ 64 ต้น ชำแรกแผ่นดินขึ้นมาปรากฏ ดังนี้ชื่อว่า ฤทธิ์ของผู้มีบุญสำหรับท่านโชติกะนั้น ภูเขาทองคำสูง 80 ศอกเกิดขึ้นแล้วแก่ท่านชฏิละ นี้ชื่อฤทธิ์ของผู้มีบุญสำหรับชฏิลคฤหบดีนั้น ความไม่มีโรคของท่านโฆสกะ แม้ในเมื่อถูกท่านเศรษฐีทำความพยายามเพื่อจะฆ่าในที่ทั้ง 7 แห่ง นี้ชื่อว่าฤทธิ์ของท่านผู้มีบุญ การที่แพะทำด้วยแก้ว 7 ประการ ปรากฏแก่ท่านเมณฑกะ ในที่นาเพียงแต่ไถได้รอยเดียว นี้ชื่อว่าฤทธิ์ของท่านผู้มีบุญ ธรรมดาว่าบุคคลผู้มีบุญมาก 5 คน คือ เมณฑกเศรษฐี 1 นางจันทปทุมาภรรยาเศรษฐีนั้น 1 นายธนัญชัยเศรษฐีบุตร 1 นางสุมนเทวีลูกสะใภ้ 1 นายปุณณะคนรับใช้ 1 ในคนทั้ง 5 นั้น ในเวลาที่เศรษฐีดำกล้าแล้วแหงนดูอากาศ ฉาง 1,250 ฉางย่อมเต็มด้วยข้าวสาลีแดงอันตกจากอากาศ เมื่อภิริยาถือข้าวสุกแม้เพียงทะนานหนึ่งเลี้ยงชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นภัตไม่ได้สิ้นไปเลย เมื่อบุตรถือถุงบรรจุกหาปณะพันหนึ่ง ให้แม้แก่ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นอยู่กหาปณะก็ไม่ได้หมดสิ้นไปเลย เมื่อลูกสะใภ้ถือข้าวเปลือกเพียงทะนานเดียวแจกให้แม้แก่ชมพูทวีปทั้งสิ้น ข้าวเปลือกก็มิได้หมดสิ้นไปเลย เมื่อทาสเอาไถอันเดียวไถอยู่ เป็นรอยถึง 14 รอยคือ ข้างนี้ 7 รอย ข้างโน้น 7 รอย นี้ชื่อว่าฤทธิ์แห่งผู้มีบุญของชนเหล่านั้น
''(หน้าที่ 251)''
'''9. วิชชามยาอิทธิ'''
ก็การไปในกลางหาวเป็นต้น ของพวกวิชาธรเป็นต้น ชื่อว่า วิชฺชามยาอิทฺธิ ฤทธิ์สำเร็จด้วยวิทยา สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ฤทธิ์ที่สำเร็จด้วยวิทยาเป็นไฉน ? พวกวิชาธรร่ายวิทยาแล้วไปสู่เวหาส แสดงช้างในอากาศอันเวิ้งว้างก็ได้ ฯลฯ แสดงเป็นกองทัพให้เป็นหลายกองก็ได้
'''10. อิชฌนัฏเฐนอิทธิ'''
ส่วนว่า ความสำเร็จแห่งการงานนั้น ๆ ด้วยความเพียรพยายามที่ถูกต้องนั้น ๆ ชื่อว่าฤทธิ์ เพราะอรรถว่าสำเร็จแต่ปัจจัยคือความเพียรชอบในกิจนั้น ๆ สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ชื่อว่าฤทธิ์ เพราะสำเร็จแต่ปัจจัยคือความเพียรพยายามชอบในคุณความดีนั้น ๆ เพราะอรรถคือการละกามฉันทะสำเร็จได้ด้วยเนกขัมมะ ฯลฯ ชื่อว่าฤทธิ์เพราะอรรถว่าสำเร็จแต่ปัจจัยคือความเพียรพยายามชอบในคุณความดีนั้น ๆ เพราะอรรถคือการละกิเลสทุกอย่าง ย่อมสำเร็จได้ด้วยอรหัตมรรค ดังนี้ ก็บาลีในที่นี้เหมือนบาลีก่อนนั่นเอง แต่นำมาอีกก็มุ่งที่จะแสดงถึงความเพียรพยายามชอบคือข้อปฏิบัติที่แท้จริง แต่ในอรรถกถาที่เกี่ยวกับเรื่องฤทธิ์นี้ ท่านอธิบายไว้ว่า ศิลปกรรมบางอย่างเช่นการจัดขบวนเกวียนเป็นต้น เวชกรรมบางอย่าง การเล่าเรียนจนจบไตรเภท การเล่าเรียนจนจบพระไตรปิฏก โดยที่สุดคุณวิเศษที่เกิดขึ้น เพราะกรรมนั้น ๆ จนชั้นการไถและการหว่านเป็นต้น ก็ชื่อว่าฤทธิ์ เพราะอรรถว่าสำเร็จแต่ปัจจัยคือความเพียรพยายามชอบในกิจการงานนั้น ๆ
บรรดาฤทธิ์ทั้ง 10 อย่าง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ อธิฏฺฐานาอิทฺธิ ฤทธิ์ที่แสดงด้วยการอธิฐานเท่านั้น มีปรากฏแล้วในนิทเทสแห่งอิทธิวิธะนี้ แต่ในนิทเทสนี้มีเนื้อความมุ่งหมายถึงวิกุพพนาฤทธิ์และมโนมยาฤทธิ์ด้วยเหมือนกัน
คำว่า เพื่อฤทธิ์ชนิดหนึ่ง นั้นคือ เพื่อส่วนหนึ่งแห่งฤทธิ์ ได้แก่ เพื่อฤทธิ์ที่ทำได้หลาย ๆ อย่าง คำว่า ย่อมนำ คือย่อมน้อมจิตไป อธิบายว่า ภิกษุนั้นเมื่อฌานที่มีอภิญญาเป็นบาทเกิดขึ้นในจิตนั้นด้วยวิธีการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ย่อมน้อมจิตบริกรรมเพื่อ บรรลุถึงฤทธิ์ชนิดหนึ่ง พรากจิตจากอารมณ์กสิณแล้ว ส่งจิตนั้นมุ่งตรงต่อฤทธิ์ชนิดหนึ่ง
''(หน้าที่ 252)''
คำว่า น้อมนำ คือ ทำจิตให้โน้มไปสู่ฤทธิ์ที่ตนจะพึงบรรลุ โอนไปในฤทธิ์ที่ตนจะพึงบรรลุ คำว่า นั้น ได้แก่ ภิกษุนั้นผู้มีอภินิหารแห่งใจอันตนกระทำแล้วอย่างนี้ คำว่า มีหลายอย่าง คือ มีหลายชนิด ได้แก่ มีชนิดต่าง ๆ กัน คำว่า อิทธิวิธะ แปลว่าส่วนแห่งฤทธิ์ คำว่า บรรลุ คือเสวย ถูกต้อง ทำให้แจ้ง ได้แก่ ถึง
บัดนี้ เมื่อจะแสดงว่าส่วนแห่งฤทธิ์นั้นมีหลายชนิด จึงตรัสคำเป็นต้นว่า แม้เป็นคนคนเดียว ดังนี้ บรรดาบทเหล่านั้น คำว่า แม้เป็นคนคนเดียว คือ ตามธรรมดาก่อนที่จะแสดงฤทธิ์เป็นคนคนเดียว คำว่า บันดาลให้เป็นคนหลายคนได้ คือ เธอเป็นผู้ต้องการจะเดินจงกรม หรือต้องการจะทำการสาธยาย หรือต้องการจะถามปัญหา ในสำนักของภิกษุหลายรูปที่นิรมิตขึ้น จะเป็นร้อยรูปก็ได้ พันรูปก็ได้ ถามว่า ก็ภิกษุนี้จะเป็นอย่างนั้นได้จะต้องทำอย่างไร ? ตอบว่า เธอจะต้องทำภูมิ 4 แห่งฤทธิ์ และบาท 4 บท 8 มูล 16 แห่งฤทธิ์ให้ถึงพร้อมแล้วอธิษฐานด้วยฌานจึงจะเป็นอย่างนั้นได้
ในคุณสมบัติเหล่านั้น คำว่า ภูมิ 4 พึงทราบว่า ได้แก่ฌาน 4 สมดังคำที่พระธรรมเสนาบดีกล่าวไว้ว่า ภูมิ 4 ของฤทธิ์เป็นไฉน ? คือ ปฐมฌาน จัดเป็นวิเวกชภูมิ (ภูมิอันเกิดแต่วิเวก) ทุติยฌาน จัดเป็นปีติสุขภูมิ (ภูมิอันเกิดแต่ปีติและสุข) ตติยฌาน จัดเป็นอุเปกขาสุขภูมิ (ภูมิอันเกิดแต่อุเบกขาและสุข) จตุตถฌาน จัดเป็น อทุกขมสุขภูมิ (ภูมิอันมีสภาวะไม่มีทุกข์และไม่มีสุข) เหล่านี้เป็นภูมิ 4 ของฤทธิ์ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ฤทธิ์ เพื่อบรรลุถึงฤทธิ์ เพื่อทำการแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง เพื่อได้รับอานิสงส์ต่าง ๆ แห่งฤทธิ์ เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญทางฤทธิ์ และเพื่อความแกล้วกล้าทางฤทธิ์ ดังนี้ ก็เพราะพระโยคีหยั่งลง สู่สุขสัญญาและลหุสัญญา ด้วยความซาบซ่านแห่งปีติและด้วยความซาบซ่านแห่งสุข แล้วเป็นผู้มีกายอ่อนนุ่มนวล เหมาะควรแก่การงาน ย่อมถึงซึ่งฤทธิ์ ฉะนั้น ในบรรดาฌานเหล่านั้น ฌาน 3 ตอนต้นพึงทราบว่าเป็นภูมิสำหรับปรุง เพราะเป็นไปเพื่อได้ฤทธิ์โดยบรรยายมานี้ แต่ฝ่ายฌานที่ 4 เป็นภูมิปกติ เพื่อได้ฤทธิ์ทีเดียว
คำว่า บาท 4 พึงทราบว่า ได้แก่อิทธิบาท 4 สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า บาทแห่งฤทธิ์ 4 อย่างเป็นไฉน ? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญอิทธิบาทประกอบด้วย
''(หน้าที่ 253)''
ฉันทสมาธิ และปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทประกอบด้วย วิริยะ จิตตะ วิมังสา สมาธิ และปธานสังขาร เหล่านี้เป็นบาทของฤทธิ์ 4 ย่อมเป็นไปเพื่อได้ฤทธิ์ ฯลฯ เพื่อความแกล้วกล้าด้วยฤทธิ์ ดังนี้ ก็ในอธิการนี้ สมาธิมีความพอในเป็นเหตุ หรือยิ่งด้วยความพอใจ ชื่อว่า ฉันทสมาธิ คำนี้เป็นชื่อของ สมาธิ ที่พระโยคีทำความเป็นผู้ประสงค์จะบำเพ็ญให้เป็นใหญ่ได้แล้ว สังขารอันเป็นประธานชื่อว่า ปธานสังขาร คำนี้เป็นชื่อของความเพียร เป็นเหตุตั้งไว้ชอบที่ทำกิจ 4 อย่างให้สำเร็จ คำว่า ประกอบด้วย คือประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร คำว่า อิทธิบาท ได้แก่ กองจิตและเจตสิกที่เหลืออันเป็นบาท เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งพำนักแห่งฉันทสมาธิ และปธานสังขารอันสัมปยุตด้วยอภิญญาจิต ซึ่งถึงอันนับว่าฤทธิ์เพราะอรรถว่าสำเร็จ โดยบรรยายว่าความสำเร็จ หรือโดยบรรยายนี้ว่า เป็นเครื่องสำเร็จแห่งสัตว์ คือเป็นเครื่องรุ่งเรืองเจริญงอกงามแห่งปวงสัตว์ สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า ชื่อว่า อิทธิบาท ได้แก่เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ของผู้เป็นอย่างนั้น อีกนัยหนึ่งชื่อว่า บาท เพราะเป็นเหตุให้สัตว์ถึง ความว่า เป็นเหตุให้สัตว์บรรลุ บาทแห่งฤทธิ์ชื่อว่า อิทธิบาท คำว่า อิทธิบาทนี้ เป็นชื่อแห่งหมวดธรรมมีฉันทะเป็นต้นก็ได้ เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุอาศัยฉันทะจึงได้สมาธิ และได้ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง นี้เรียกว่าฉันทสมาธิ เธอพยายามเพื่อให้ธรรมที่เป็นอกุศลลามกที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ฯลฯ นี้เรียกว่าปธานสังขาร ฉันทะนี้แลฉันทสมาธินี้และปธานสังขารเหล่านี้ดังกล่าวมาแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งประกอบด้วยฉันทสมาธิและประธานสังขาร แม้ในอิทธิบาทที่เหลือนักศึกษาก็พึงทราบเนื้อความอย่างนี้เหมือนกัน
คำว่า บท 8 นักศึกษาพึงทราบว่าได้แก่บท 8 มีฉันทะเป็นต้น สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า บท 8 แห่งฤทธิ์เป็นไฉน ? คือ หากภิกษุอาศัยความพอใจได้สมาธิ ได้ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ฉันทะไม่ใช่สมาธิ สมาธิก็ไม่ใช่ฉันทะ ฉันทะเป็นบทหนึ่ง สมาธิก็เป็นอีกบทหนึ่ง หากภิกษุอาศัยวิริยะได้สมาธิได้ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งไซร้ วิริยะไม่ใช่สมาธิ สมาธิก็ไม่ใช่วิริยะ วิริยะเป็นบทหนึ่ง สมาธิก็เป็นอีกบทหนึ่ง หากภิกษุอาศัยจิตตะ ได้สมาธิได้ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งไซร้ จิตตะไม่ใช่สมาธิ สมาธิก็ไม่ใช่จิตตะ จิตตะ
''(หน้าที่ 254)''
เป็นบทหนึ่ง สมาธิก็เป็นอีกบทหนึ่ง หากภิกษุอาศัยวิมังสาได้สมาธิได้ความจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง วิมังสาไม่ใช่สมาธิ สมาธิก็ไม่ใช่วิมังสา วิมังสาเป็นบทหนึ่ง สมาธิก็เป็นอีกบทหนึ่ง เหล่านี้คือบท 8 แห่งฤทธิ์ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ฤทธิ์ ฯลฯ เพื่อความแกล้วกล้าทางฤทธิ์ ดังนี้ ก็ในอธิการนี้ ความพอใจคือความเป็นผู้ใคร่เพื่อทำฤทธิ์ให้เกิดขึ้น ซึ่งประกอบแล้วโดยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสมาธิ ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ฤทธิ์ ความเพียรเป็นต้นก็เหมือนกันเพราะเหตุนั้น นักศึกษาพึงทราบว่า เหล่านี้เป็นบท 8 ที่ท่านกล่าวไว้
'''มูลของฤทธิ์ 16'''
นักศึกษาพึงทราบความที่จิตไม่หวั่นไหวโดยอาการ 16 ว่าเป็นมูล 16 สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า มูลของฤทธิ์มีเท่าไร ? มูลของฤทธิ์มี 16 คือ จิตที่ไม่ฟุบลงชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความเกียจคร้าน 1 จิตที่ไม่ฟูขึ้น ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความฟุ้งซ่าน 1 จิตไม่กำหนัดชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความกำหนัด 1 จิตไม่ขุ่นข้องชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยพยาบาท 1 จิตไม่เกาะเกี่ยวชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยทิฐิ 1 จิตไม่ผูกพันชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยฉันทราคะ 1 จิตหลุดพ้น ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยกามราคะ 1 จิตไม่พัวพัน ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยกิเลส 1 จิตที่ทำมิให้มีเขตแดน ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยเขตแดนคือกิเลส 1 จิตที่ถึงความเป็นธรรมชาติมีอารมณ์เป็นหนึ่งชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยกิเลสต่าง ๆ 1 จิตที่ศรัทธาประคองแล้ว ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยอสัทธิยะ 1 จิตที่วิริยะประคองแล้ว ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยโกสัชชะ 1 จิตที่สติประคองแล้วชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความประมาท 1 จิตที่สมาธิประคองแล้วชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยอุทธัจจะ 1 จิตที่ปัญญาประคองแล้วชื่อ อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยอวิชชา 1 จิตที่ถึงความสว่างแล้วชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความมืดคืออวิชชา 1 อาเนญชะเหล่านี้ชื่อว่าเป็นมูล 16 แห่งฤทธิ์ ย่อมเป็นไปเพื่อความได้ฤทธิ์ ฯลฯ เพื่อความแกล้วกล้าทางฤทธิ์
''(หน้าที่ 255)''
อันที่จริง ความข้อนี้สำเร็จแล้วแม้ด้วยคำเป็นต้นว่า เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วอย่างนี้เป็นต้นแม้ก็จริง แต่กระนั้นท่านก็กล่าวไว้อีก เพื่อแสดงว่าปฐมฌานเป็นต้นเป็นภูมิเป็นบาท เป็นบทและเป็นมูลของฤทธิ์ อนึ่ง นัยก่อนเป็นนัยที่มาในพระสูตร ส่วนในนี้มาในปฏิสัมภิทา การที่ท่านกล่าวไว้อีก ก็เพื่อจะให้มีฉงนในข้อความทั้ง 2 ดังกล่าวมาแล้วแล.
คำว่า อธิษฐานด้วยฌาน มีอธิบายว่า ก็พระโยคีนี้นั้นบำเพ็ญธรรมอันเป็นภูมิเป็นบาทเป็นบทและเป็นมูลแห่งฤทธิ์เหล่านี้ให้ถึงพร้อมแล้ว จึงเข้าฌานมีอภิญญาเป็นบาทออกแล้ว หากเธอต้องการจะนิรมิตตนเองให้เป็นคน 100 คน ก็ต้องทำบริกรรมว่า สตํ โหมิ สตํ โหมิ เราจงเป็นคน 100 คน เราจงเป็นคน 100 คนเถิด แล้วเข้าฌานมีอภิญญาเป็นบาทอีก ออกแล้วจึงอธิษฐาน เธอพร้อมกับจิตที่อธิษฐานแล้วก็จะเป็นคน 100 คนขึ้นมาทันที แม้จะให้เป็นคน 1,000 คนก็ทำตามแบบนี้แหละ ถ้าหากเมื่อเธอทำอย่างนี้แล้วไม่สำเร็จ ต้องทำบริกรรมใหม่ เข้าสมบัติซ้ำเป็นครั้งที่ 2 อีก ออกแล้วจึงอธิษฐานเถิด แต่ในอรรถกถาสังยุตนิกายกล่าวไว้ว่า จะเข้าครั้งเดียวหรือสองครั้งก็ใช้ได้ ในการอธิษฐานจิตนั้น จิตซึ่งมีฌานเป็นบาทมีนิมิตเป็นอารมณ์ จิตที่บริกรรมมีร้อยคนหรือพันคนเป็นอารมณ์ก็ได้ แต่ก็อารมณ์เหล่านั้นแลเป็นด้วยอำนาจวรรณะ มิใช่ด้วยอำนาจบัญญัติ แม้จิตอธิษฐานมีคนตั้งร้อยคนหรือตั้งพันคนเป็นอารมณ์ก็เหมือนกัน จิตนั้นดุจอัปปนาจิต ซึ่งกล่าวแล้วในก่อนเกิดดวงเดียวเท่านั้น รองจากโคตรภูญาณ นับเข้าเป็นฌานที่ 4 ชั้นรูปาวจร ก็แม้คำใดที่ท่านพระสารีบุตรเถระกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทามรรคว่า ตามปกติคนคนเดียวนึกให้เป็นหลายคน คือ ตั้งร้อยคน ตั้งพันคน หรือตั้งแสนคน ครั้นนึกแล้วก็อธิฐานด้วยญานว่า พหุโก โหมิ เราจงเป็นคนมากคน ดังนี้ ย่อมกลายเป็นคนมากคนได้ เหมือนอย่างท่านพระจุลปันถก ในคำนั้น คำว่า นึก ท่านกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทามรรคนั้นด้วยสามารถแห่งการบริกรรมนั่นแล คำว่า ครั้นนึกแล้วจึงอธิษฐานด้วยฌาน ท่านกล่าวแล้ว ด้วยอำนาจแห่งอภิญญาฌาน เพราะเหตุนั้น พระโยคีนึกให้เป็นมากคนอยู่ ต่อแต่นั้นไปจึงเข้าสมาบัติในที่สุดแห่งจิตบริกรรมเหล่านั้น ออกจากสมาบัติแล้ว จึงนึกว่า เราจงเป็นคนมากคนอีก เบื้องหน้าแต่นั้นจึงอธิษฐานด้วยอภิญญาณดวงหนึ่ง ซึ่งได้นามว่า อธิษฐาน ด้วย
''(หน้าที่ 256)''
อำนาจที่เป็นเหตุให้สำเร็จอันเกิดขึ้นในระหว่างแห่งจิตที่เป็นบุพภาค 3 หรือ 4 ดวง ซึ่งเป็นไปแล้ว นักศึกษาพึงเข้าใจความหมายในบาลีปฏิสัมภิทานี้ ดังอธิบายมานี้แล อนึ่ง คำใดซึ่งได้กล่าวไว้ว่า เหมือนอย่างท่านจุลปันถกดังนี้ คำนั้นท่านกล่าวไว้แล้วเพื่อชี้ประจักษ์พยานแห่งการอธิษฐานให้เป็นคนมากคนได้ ก็ข้อความอันนั้นควรยกเรื่องขึ้นแสดงประกอบดังนี้
'''เรื่องพระจุลปันถก'''
เล่าสืบต่อกันมาว่า พี่น้องทั้ง 2 คนนั้นได้ชื่อว่า ปันถก เพราะท่านเกิดในหนทาง ท่านทั้งสองคนนั้นคนพี่ชื่อว่ามหาปันถก ท่านมหาปันถกนั้นบวชแล้วได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา 4 ประการ พอท่านเป็นพระอรหันต์แล้วจึงให้น้องชายผู้ชื่อว่าจุลปันถกบวชบ้างได้ให้ท่องคาถานี้ว่า –
ปทุมํ ยถา โกกนุทํ สุคนฺธํ
ปาโต สิยา ผุลฺลมวีตคนฺธํ
องฺคีรสํ ปสฺส วิโรจมานํ
ตปนฺตมาทิจฺจมิวนฺตลิกฺเข
ดอกบัวโกกนุทกลิ่นหอมบานแต่เช้าไม่ไร้กลิ่น ฉันใด
เจ้าจงดูพระอังคีรสเจ้า พระองค์ผู้ไพโรจน์เจิดจ้าปานดวงพระ
อาทิตย์ ทอแสงอยู่ในอากาศ ฉะนั้น
ตั้ง 4 เดือนพระจุลปันถกนั้นก็ไม่สามารถจะท่องคาถานี้ให้คล่องได้ เวลาผ่านมาพระเถระจึงกล่าวแก่เธอว่า เธอเป็นคนอาภัพในพระศาสนา จึงขับออกจากวัด ก็ในเวลานั้น พระเถระเป็นภัตตุเทสก์ หมอชีวกเข้าไปหาพระเถระแล้วเรียนว่า ท่านขอรับ พรุ่งนี้ขอพระคุณท่านนิมนต์พาภิกษุ 500 รูปพร้อมทั้งพระผู้มีพระภาคเจ้า ไปรับภิกษาในเรือนของพวกกระผมด้วยเถิด แม้พระเถระรับนิมนต์แล้วว่า เรารับนิมนต์เพื่อภิกษุที่เหลือเว้นท่านจุลปันถกเสีย พระจุลปันถกจึงยืนร้องไห้ที่ซุ้มประตู พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล็งดูทราบด้วยทิพยจักษุญาณ เสด็จเข้าไปหาเธอแล้วตรัสถามว่าร้องไห้ทำไม ? เธอกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุที่ไม่สามารถจะท่องจำหนังสือได้ จะลงมติ
''(หน้าที่ 257)''
ว่าเป็นผู้อาภัพในศาสนาของเรานั้นไม่ถูก อย่าเศร้าโศกไปเลยนะเธอ ดังนี้แล้ว ทรงจับแขนพระจุลปันถกพาเข้าไปยังวิหาร ด้วยฤทธานุภาพทรงเนรมิตท่อนผ้าเก่าขึ้นผืนหนึ่งแล้วได้ประทานให้ด้วยทรงสั่งกำชับว่า เอาเถอะภิกษุ เธอจงลูบคลำผ้าผืนนี้ แล้วทำการท่องอยู่ในใจบ่อย ๆ ว่า รโชหรณํ รโชหรณํ ผ้าสำหรับเช็ดธุลี ผ้าสำหรับเช็ดธุลี ดังนี้ เมื่อเธอทำอยู่อย่างนั้นผ้านั้นได้กลายเป็นสีดำ เธอจึงกลับได้สติว่า ผ้าผืนนี้เดิมเป็นผ้าสะอาด ความเศร้าหมองในผ้าผืนนี้ไม่มี แต่นี่เป็นความเศร้าหมองที่เกิดจากอัตภาพแท้ ๆ ดังนี้แล้ว จึงพิจารณาหยั่งรู้ลงไปในขันธ์ 5 เจริญวิปัสสนา ได้บรรลุญาณอันใกล้โคตรภูญาณให้ถึง อนุโลมญาณ ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระโอภาสคาถาแก่เธอว่า –
ราคะเรียกชื่อว่าธุลี ไม่เรียกว่าละออง คำว่าธุลีนี้เป็น
ชื่อของราคะ บัณฑิตละธุลีนี้แล้ว ท่านเหล่านั้นย่อมอยู่ใน
พระศาสนาแห่งพระศาสดาผู้ปราศจากธุลี โทสะ ฯลฯ
โมหะ เรียกชื่อว่าธุลี แต่ไม่เรียกว่าละออง คำว่าธุลีนี้เป็น
ชื่อของโมหะ บัณฑิตละโมหะนี้ขาดแล้ว ท่านเหล่านั้นย่อม
อยู่ในพระศาสนาของพระศาสดาผู้ปราศจากธุลี
ในที่สุดแห่งพระคาถา พระจุลปันถกนั้นมีโลกุตตรธรรม 9 ซึ่งมีปฏิสัมภิทา 4 และอภิญญา 6 เป็นบริวารอยู่ในเงื้อมมือแล ในวันที่ 2 พระศาสดาได้เสด็จไปบ้านของหมอชีวกพร้อมด้วยหมู่ภิกษุ ครั้นในที่สุดน้ำทักษิโณทก เมื่อจะถวายข้าวยาคู พระศาสดาทรงปิดบาตรด้วยพระหัตถ์ หมอชีวกจึงกราบทูลถามว่า "อะไร พระเจ้าข้า ?" ตรัสว่า "ในวิหารยังมีภิกษุอยู่อีกรูปหนึ่ง" หมอชีวกนั้นใช้คนใช้ไปว่า เองจงนิมนต์พระผู้เป็นเจ้ามาโดยเร็ว แต่เมื่อพระผู้เป็นมีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากพระวิหาร
พระจุลปันถกนิรมิตตนให้เป็นคนได้ตั้งพันคน นั่งในสวนมะม่วงอันร่มรื่น พร้อมที่จะมาได้ตลอดเวลา
ครั้นบุรุษนั้นไปแล้วเห็นอารามเหลืองเป็นอันเดียวกันด้วยผ้ากาสาวะ จึงรีบกลับมาทูลว่า "พระเจ้าข้า อารามเต็มไปด้วยหมู่ภิกษุ ข้าพระองค์ไม่ทราบว่ารูปไหนคือพระ
''(หน้าที่ 258)''
ผู้เป็นเจ้าที่ว่านั้น" ครานั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบอกแก่เธอว่า "ไปอีกครั้ง ครานี้เธอเห็นรูปใดก่อน จงจับรูปนั้นที่ชายจีวรแล้วบอกว่า 'พระศาสดารับสั่งหาท่าน' แล้วจงนำพามา" บุรุษนั้นไปแล้ว ได้จับที่ชายจีวรของพระเถระไว้จนมั่นฉับพลัน ภิกษุที่เธอนิรมิตขึ้นทั้งหมดก็หายวับไป พระเถระจึงใช้ให้บุรุษนั้นล่วงหน้าไปก่อนว่า ไปเถิดนะท่าน แล้วทำการชำระร่างกายมีล้างหน้าเป็นต้นเสร็จแล้ว ไปนั่งบนอาสนะที่เขาตระเตรียมไว้เสียก่อน ที่ท่านกล่าวว่าด้วยตัวอย่างเช่นพระจุลปันถก ก็มีความหมายดังกล่าวมานี้แล
ในบรรดาภิกษุเป็นจำนวนมากที่พระจุลปันถกนิรมิตขึ้นเหล่านั้น มีรูปร่างเช่นเดียวกับพระจุลปันถกผู้มีฤทธิ์ เพราะท่านนิรมิตขึ้นโดยไม่ได้กำหนดให้มีอาการต่างกัน ภิกษุมีฤทธิ์ทำการยืนหรือนั่งเป็นต้นก็ดี ทำการพูดหรือนิ่งเป็นต้นก็ดีใด ๆ ภิกษุนิรมิตเหล่านั้นก็ทำกิริยานั้น ๆ เหมือนกัน ก็ถ้าผู้นิรมิตต้องการให้มีรูปร่างต่าง ๆ กัน คือบางพวกอยู่ในระดับปฐมวัย บางพวกอยู่ในระดับมัชฌิมวัย บางพวกอยู่ในระดับปัจฉิมวัย โดยนัยนั้นนิรมิตให้พวกหนึ่งมีผมยาว พวกหนึ่งมีศีรษะโล้น พวกหนึ่งมีผมหงอกประปราย พวกหนึ่งมีจีวรสีแดงปนอยู่ครึ่งหนึ่ง พวกหนึ่งมีจีวรสีเหลืองล้วน หรือนิรมิตให้พวกหนึ่งทำกิจวัตรเช่นสวดไปตามบทบาลี กล่าวอธิบายธรรม สวดคาถาด้วยทำนองสรภัญญะวิธี ถามปัญหา ตอบปัญหา เผาบาตร เย็บซักจีวร เป็นต้น หรือว่า เป็นผู้ประสงค์จะทำภิกษุนิรมิตให้มีกิริยาต่าง ๆ อย่างอื่นอีกก็ได้ ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นออกจากฌานอันเป็นบาทแล้วพึงทำบริกรรมโดยวิธีนี้ว่า ภิกษุมีประมาณเท่านี้จงเป็นคนรุ่นปฐมวัย แล้วเข้าฌานอีกออกแล้วจึงอธิษฐานพร้อมกับจิตที่คิดอธิษฐาน ภิกษุที่เธอนิรมิตนั้นย่อมมีกิริยาอาการดังที่ปรารถนาทุก ๆ อย่างทันที ในคำว่าแม้มากคนก็แปลงเป็นคนเดียวได้ ก็มีนัยเหมือนกันนี้
ส่วนความที่แปลกกันออกไปมีดังต่อไปนี้ ภิกษุนี้นิรมิตให้มากคนอย่างนี้แล้วคิดเห็นว่า เราคนเดียวจักจงกรม จักทำการสวด จักถามปัญหาอีกหรือคิดว่าวิหารนี้มีภิกษุน้อย ถ้าหากทายกบางพวกจักมาจักเข้าใจตัวเราว่า ภิกษุเหมือนเป็นพิมพ์เดียวตั้งมากมายเช่นนี้จักมีแต่ที่ไหน นี้เป็นอานุภาพของพระเถระเจ้าเป็นแม่นมั่น หรือในระหว่างนั้นต้องการจะเป็นคนคนเดียวก็ได้ เพราะมีความปรารถนาน้อยดังนี้ จะต้องเข้าฌานเป็นบาทออกแล้ว
''(หน้าที่ 259)''
จักต้องทำบริกรรมว่า เอโก โหมิ เราจงเป็นคนคนเดียว ดังนี้ แล้วเข้าสมาบัติอีก ออกแล้วจึงอธิษฐานว่า เอโก โหมิ เราจงเป็นคนคนเดียว พร้อมกับจิตที่คิดอธิษฐานนั่นแลเธอจะกลายเป็นคนคนเดียว แต่เมื่อไม่ทำอย่างนั้น ตัวเองเท่านั้นจะเป็นคนคนเดียวด้วยอำนาจกาลตามที่กำหนดไว้
ในบทว่า ทำให้แจ้ง ทำภายนอก ดังนี้ ความว่าทำอาวิภาพและทำติโรภาพท่านหมายเอาฤทธิ์ทั้ง 2 นี้และกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาว่า คำว่า อาวิภาพ คือไม่มีอะไรกีดขวาง ไม่มีอะไรปิดบัง เปิดเผย ปรากฏชัด คำว่า ติโรภาพ คือมีบางสิ่งกีดขวาง มีบางสิ่งปิดบัง ปิดไว้ ครอบไว้ ใน 2 อย่างนั้น ภิกษุผู้มีฤทธิ์นี้ต้องการทำอาวิภาพ ย่อมทำที่มืดให้สว่าง หรือทำที่ลี้ลับให้เปิดเผย หรือทำที่ไม่ใช่ช่องทางให้เป็นช่องทาง ทำอย่างไร ? คือภิกษุผู้มีฤทธิ์นี้ต้องการจะทำตนหรือบุคคลอื่นให้เห็นบุคคลแม้ที่ถูกบางสิ่งปิดบังไว้หรือแม้ยืนอยู่ในที่ไกล ต้องออกจากฌานที่เป็นบาทแล้วรำลึกว่า ที่มืดตรงนี้จงสว่าง ที่ลี้ลับนี้จงปิดเผย ที่ไม่ใช่ช่องทางนี้จงเป็นช่องทาง แล้วทำบริกรรมอธิษฐานตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล พร้อมกับจิตที่อธิษฐานก็จะเป็นเหมือนอย่างที่อธิษฐานไว้ทันที บุคคลอื่นแม้ยืนอยู่ไกลย่อมเห็นได้ฝ่ายตัวเองต้องการจะเห็นก็เห็นได้
'''พระพุทธเจ้าทรงทำพระปาฏิหาริย์'''
ถามว่า ก็ปาฏิหาริย์นี้ใครเคยทำ ? ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเคยทำมาแล้ว จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงรับนิมนต์จากนางจุลสุภัททาแล้วเสด็จไปยังกรุงสาเกตอันมีระยะทาง 7 โยชน์คั่นในระยะจากกรุงสาวัตถีด้วยเรือนยอด 500 ซึ่งวิสสุกรรมเทพบุตรนิมิตแล้ว ทรงอธิษฐานให้ชาวเมืองสาเกตเห็นชาวกรุงสาวัตถี และให้ชาวกรุงสาวัตถีเห็น ชาวเมืองสาเกต เสด็จลงในท่ามกลางพระนครทีเดียว ทรงแสดงแยกแผ่นดินออกเป็น 2 ภาคตราบเท่าถึงอเวจีมหานรก และทรงแสดงแหวกอากาศออกเป็น 2 ภาคตลอดถึงพรหมโลก ก็ความข้อนี้นักปราชญ์พึงแสดงตัวอย่าง แม้ด้วยเรื่องการเสด็จลงจากเทวโลก นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ทรงปลดเปลื้องสัตว์ 84,000 ให้พ้นจากเครื่องจองจำ ทรงรำพึงว่าพระพุทธเจ้าในอดีตเสด็จไปที่ไหน ในที่สุดแห่งยมกปาฏิหาริย์ได้ทรงเห็นว่าไป
''(หน้าที่ 260)''
สู่ดาวดึงส์ ครั้งนั้นพระองค์ทรงใช้พระบาทข้างหนึ่งเหยียบพื้นปฐพีแล้ว ทรงให้พระบาทข้างที่ 2 ประดิษฐานบนยอดภูเขายุคันธร ทรงยกพระบาทข้างแรกอีกแล้วทรงเหยียบยอดเขาสิเนรุ ทรงจำพรรษาบนพื้นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์บนดาวดึงส์สวรรค์นั้น ทรงเริ่มตรัสแสดงพระอภิธรรมกถาตั้งแต่ต้นแก่หมู่เทวดาในหมื่นจักรวาลซึ่งมาประชุมกัน ในเวลาเสด็จภิกษาจาร เนรมิตพระพุทธนิมิตแทนพระองค์ พระพุทธนิมิตนั้นทรงทำหน้าที่แทน ทรงแสดงธรรมแทนพระองค์ พระพุทธนิมิตนั้นทรงทำหน้าที่แทนทรงแสดงธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเคี้ยวไม้ชำระฟันนาคลดา ทรงล้างพระพักตร์ที่สระอโนดาตแล้ว ทรงรับบิณฑบาตในอุตตรกุรุทวีปแล้วทรงเสวยที่ริมขอบสระอโนดาต พระเสรีบุตรเถระไปในที่สระอโนดาตนั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้นัยแก่พระเถระว่า ในวันนี้เราแสดงธรรมเท่านี้ ทรงแสดงพระอภิธรรมกถาไม่หยุดตลอด 3 เดือน ด้วยประการฉะนี้ เพราะได้ฟังพระอภิธรรมกถานั้น หมู่เทวดาจำนวน 80 โกฏิจึงได้ตรัสรู้พระธรรม บริษัทประมาณ 12 โยชน์แม้ที่มาประชุมกันในคราวแสดงพระยมกปาฏิหาริย์ ได้ตั้งค่ายอยู่ด้วยประสงค์ว่า เราเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสียก่อนแล้วจึงจักไป จุลอนาถบิณฑิกเศรษฐีคนเดียวบำรุงบริษัทนั้นด้วยปัจจัยทุกอย่าง พวกมนุษย์พากันอ้อนวอนถามพระอนุรุทธเถระเพื่อทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ไหน พระเถระเจริญอาโลกกสิณ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงจำพรรษาในภพดาวดึงส์นั้น ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ ครั้นเห็นแล้วจึงแจ้งให้ทราบ บริษัทเหล่านั้นอ้อนวอนพระมหาโมคคัลลานเถระ เพื่อถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า พระเถระดำลงในแผ่นดินใหญ่ในท่ามกลางบริษัทนั่นแหละชำแรกเขาสิเนรุผุดขึ้น ณ ที่ใกล้พระบาทพระตถาคตเจ้า ถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ ได้ทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "พระพุทธเจ้าข้า ชาวชมพูทวีปขอกราบถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกล่าวว่าพวกข้าพเจ้าเห็นพระศาสดาเสียก่อนจึงจักไป" ดูก่อนโมคคัลลานะเดี๋ยวนี้ พระธรรมเสนาบดีผู้เชฏฐภาดาของเธอยู่ที่ไหน ?" "อยู่ในเมืองสังกัส พระพุทธเจ้าข้า" "ดูก่อนโมคคัลลานะ ผู้ต้องการจะพบเห็นเรา พรุ่งนี้จงมาถึงเมืองสังกัส พรุ่งนี้เราจักลงที่เมืองสังกัส ในวันอุโบสถเพ็ญวันมหาปวารณา" "สาธุ พระพุทธเจ้าข้า" พระเถระถวายบังคมพระทศพลแล้วลงตามทางที่มาเหมือนเดิม ถึงสำนักของพวกมนุษย์ ทั้งในเวลาไป
''(หน้าที่ 261)''
และมา ท่านอธิษฐานให้มนุษย์ทั้งหลายเห็นท่านอยู่ พระมหาโมคคัลลานเถระได้ทำปาฏิหาริย์อาวิภาพในกาลนั้นเป็นครั้งแรก พระมหาโมคคัลลานะนั้นมาอย่างนี้แล้วแจ้งความเช่นนั้น มิได้ทำความสำคัญว่าไกลเลย บอกว่ารับประทานอาหารเข้าแล้วจึงจะออก พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่ท้าวสักกเทวราชว่า "มหาบพิตร พรุ่งนี้อาตมภาพจะลงสู่มนุษยโลก" ท้าวสักกเทวราช จึงบังคับวิสสุกรรมเทพบุตรว่า "แน่พ่อ ! พรุ่งนี้พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะเสด็จลงสู่มนุษยโลก เธอจงนิรมิตบันได 3 ชนิดคือ บันไดหนึ่งเป็นทองคำ บันไดหนึ่งเป็นเงิน และบันไดหนึ่งเป็นแก้วมณี" วิสสุกรรมเทพบุตรได้ทำตามเทวบัญชาทุกอย่าง ในวันที่ 2 พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับยืนอยู่บนยอดเขาสิเนรุ ทรงดูแลโลกธาตุเบื้องทิศบูรพา จักรวาลตั้งหลายแสนเปิดโล่งแจ้งดุจลานเดียวกัน ก็ทางทิศบูรพามองเห็นได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งฉันใด แม้ทางทิศปัจฉิมก็ดี ทิศอุดรก็ดี ทิศทักษิณก็ดี ก็มองเห็นได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งทั้งหมด ฉันนั้น เบื้องต่ำมองเห็นจนถึงอเวจีมหานรก เบื้องบนมองเห็นจนถึงรูปพรหมชั้นอกนิฏฐภพ พูดกันต่อ ๆ มาว่า วันนั้นชื่อว่าเป็น วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก ฝ่ายพวกมนุษย์ก็เห็นหมู่เทวดา ฝ่ายพวกเทวดาก็เห็นหมู่พวกมนุษย์ ในเวลาที่จะดูกันนั้นพวกมนุษย์ไม่ต้องแหงนดูข้างบน พวกเทวดาก็ไม่ต้องก้มดูข้างล่าง สัตว์ทุกจำพวกเห็นกันและกันอย่างจังหน้าทีเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลงโดยบันไดแก้วในท่ามกลาง ทวยเทพกามาวจรทั้ง 6 ชั้น ลงโดยบันไดทองด้านซ้ายมือ พวกพรหมชั้นสุทธาวาสและมหาพรหมลงโดยบันไดเงินด้านขวามือ ท้าวสักกเทวราชทรงถือบาตรและจีวร ท้าวมหาพรหมทรงถือเศวตฉัตรใหญ่ ประมาณ 3 โยชน์ ท้าวสุยามะทรงถือพัดวาลวีชนี ปัญจสิขเทพบุตรผู้เป็นนักระบำถือพิณสีเหลืองซึ่งมีสีดุจผลมะตูมใหญ่ประมาณ 3 คาวุต ทำการบูชาพระตถาคตเจ้าตามเสด็จลงมาในวันนั้น ปวงสัตว์ผู้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจะไม่เกิดความรักในความเป็นพระพุทธเจ้าแล้วไม่มี พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำปาฏิหาริย์อาวิภาพในที่นี้ดังนี้แล
'''เรื่องพระธัมมทินนเถระ'''
ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง เฉพาะเรื่องพระเถระชื่อว่าธัมมทินนะ สำนักตฬังครวิหารในเกาะลังกา นั่งในลานพระเจดีย์ในติสสมหาวิหารกล่าวอปัณณกสูตรซึ่งมีความว่า ดูก่อนภิกษุ
''(หน้าที่ 262)''
ทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 3 ประการย่อมเป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิดทางอยู่เป็นนิตย์แล ได้คว่ำพัดลงเบื้องล่าง พื้นที่ได้ราบเป็นอันเดียวกันตราบเท่าจนถึงอเวจีมหานรก แต่นั้นได้หงายพัดขึ้นเบื้องบน อากาศได้โปร่งเป็นอันเดียวกันตลอดถึงพรหมโลก พระเถระแสดงธรรมสำทับด้วยภัยในนรก ก่อให้หลงด้วยความสุขในสวรรค์อยู่ บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี และบางพวกได้เป็นพระอรหันต์แล
ก็แหละ พระโยคีผู้ต้องการทำติโรภาพ ย่อมทำที่สว่างให้มืด หรือทำที่ไม่กำบังให้เป็นที่กำบัง ทำที่เป็นทางมิให้เป็นทาง ทำอย่างไร ? คือพระโยคีนี้ต้องการทำตนหรือผู้อื่นแม้ไม่มีอะไรบังหรือยืนอยู่ใกล้ ๆ กัน ก็มองไม่เห็นได้ โดยออกจากฌานที่เป็นบาทแล้วรำพึงอยู่ว่า ที่สว่างนี้จงเป็นที่มืดเถิด หรือว่าที่ไม่กำบังนี้จงกลายเป็นที่กำบัง หรือว่าที่เป็นช่องทางนี้จงเป็นที่ที่คนมองไม่เห็นเถิด แล้วทำบริกรรมอธิฐานตามเนื้อความที่ได้กล่าวแล้วนั้นแหละพร้อมกับจิตที่อธิษฐานนั้น ก็จะกลายเป็นเหมือนอย่างที่อธิษฐานทุกประการโดยฉับพลัน ชนเหล่าอื่นแม้ยืนอยู่ใกล้ก็แลไม่เห็น ถึงตัวเองไม่ต้องการจะเห็นก็ไม่เห็นแล
ถามว่า – ก็ปาฏิหาริย์นี้ใครเคยทำมา ? ตอบว่า – พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ทรงเคยทำมา จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำยสกุลบุตรผู้ซึ่งนั่งในที่ใกล้แท้ ๆ มิให้บิดาพบเห็นได้ อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำการลุกรับแก่พระมหากัปปินะสิ้นหนทางระยะ 120 โยชน์ ทำมหากัปปินะนั้นให้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล และทำอำมาตย์พันคนของท้าวเธอให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระนางอโนชาเทวี มีหญิงพันคนเป็นบริวารมาตามทางพระมหากัปปินะนั้นแม้มานั่งอยู่ในที่ใกล้ พระองค์ยังทรงทำมิให้เห็นพระราชาพร้อมทั้งบริษัท เมื่อพระนางทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงเห็นพระราชาบ้างหรือ ? จึงตรัสว่า ก็ท่านจะแสวงหาพระราชาดีหรือ หรือว่าแสวงหาตนดีกว่า พระนางจึงกราบทูลว่า แสวงหาตนดีกว่าพระเจ้าข้า ดังนี้ จึงทรงแสดงธรรมเหมือนอย่างนั้นแก่พระนางอโนชาเทวี ผู้ประทับนั่งเรียบร้อยแล้วนั้น ให้พระนางนั้นรวมทั้งหญิงพันคนดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ให้พวกอำมาตย์ดำรงอยู่ในอนาคามิผล ให้พระราชาดำรงอยู่ในอรหัตผลแล อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของพระมหินทเถระ ผู้เมื่อทำมิให้พระราชาเห็นชนที่เหลือซึ่งมากับตนในวันที่มาสู่เกาะลังกา ชื่อว่าทำปาฏิหาริย์ติโรภาพนี้เหมือนกัน
''(หน้าที่ 263)''
อีกอย่างหนึ่ง ปาฏิหาริย์ที่ปรากฏแม้ทุกอย่างชื่อว่า อาวิภาพ ปาฏิหาริย์ที่ไม่ปรากฏทุกอย่างชื่อว่า ติโรภาพ บรรดาปาฏิหาริย์ทั้ง 2 ประเภทนั้น สำหรับปาฏิหาริย์ที่ปรากฏคือ ฤทธิ์ก็ปรากฏ คนมีฤทธิ์ก็ปรากฏเช่นกัน ข้อนั้นพึงแสดงเรื่องยมกปาฏิหาริย์เป็นตัวอย่าง
'''พระตถาคตทรงทำยมกปาฏิหาริย์'''
จริงอยู่ พระตถาคตเจ้าทรงทำยมกปาฏิหาริย์อันมิได้ทั่วไปแก่พระสาวกทั้งหลายในกาลนี้ ในสมาคมนั้นปาฏิหาริย์ทั้ง 2 อย่าง ปรากฏแล้วอย่างนี้คือ กองไฟเป็นไปแต่พระกายเบื้องบน สายน้ำเป็นไปแต่พระกายเบื้องล่าง สำหรับปาฏิหาริย์ที่ไม่ปรากฏ ย่อมปรากฏเฉพาะฤทธิ์เท่านั้น ส่วนผู้มีฤทธิ์หาปรากฏไม่ ข้อนั้นพึงแสดงด้วยมหากสูตรและพรหมนิมันตนิกสูตร จริงอยู่ ในที่นั้น ฤทธิ์ของท่านพระมหากะและของพระผู้มีพระภาคเจ้าปรากฏแล้ว แต่ท่านผู้แสดงฤทธิ์ไม่ปรากฏ สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า "ท่านจิตตคฤหบดีนั่งอยู่ส่วนข้างหนึ่งแล้วกล่าวกะท่านพระมหากะว่า 'ท่านขอรับ กระผมขอโอกาส คือ ขอพระเป็นเจ้ามหากะจงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมชั้นเยี่ยมของมนุษย์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด' พระมหากะกล่าวว่า 'ดูก่อนคฤหบดี ถ้าอย่างนั้นท่านจงให้คนปูผ้าอุตตราสงค์ตรงที่ระเบียงแล้วเกลี่ยฟ่อนหญ้าเอาไว้' 'อย่างนั้นหรือขอรับ' ท่านจิตตคฤหบดีพูดจบก็รับปฏิบัติตามคำของท่านมหากะ ใช้คนปูผ้าอุตตราสงค์เข้าตรงที่ระเบียงเกลี่ยฟ่อนหญ้าไว้แล้ว ต่อจากนั้นแลท่านพระมหากะก็เข้าไปสู่วิหาร บันดาลอิทธาภิสังขารเช่นนั้น ให้เป็นเปลวไฟออกมาทางช่องลูกดาลและช่องระหว่างลิ่ม ทำหญ้าให้ไหม้แล้ว แต่ไม่ให้ผ้าอุตตราสงค์ไหม้" อีกอย่างหนึ่ง สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ระยะนั้นแลเราบันดาลอิทธาภิสังขารเช่นนั้นว่า 'ขอให้พรหมและบริษัทของพระพรหมและพรหมปริสัชชา จงได้ยินเสียงของเรา แต่ก็อย่าได้เห็นเราเลย' ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ดังนี้ ทรงหายไปแล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า : -
เราเห็นภัยในภพอย่างชัดแจ้ง เห็นภพและเห็นสัตว์ผู้แสวงหา
'''ความปราศจากภพ จึงไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลินและไม่ยึดมั่นถือมั่นภพ'''
'''เอาไว้เลย"'''
''(หน้าที่ 264)''
ในข้อบาลีว่า ทะลุไปข้างนอกฝานอกกำแพงนอกภูเขาได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างเปล่านี้ มีอธิบายความว่า คำว่า นอกฝา คือ ฟากฝา อธิบายว่า ส่วนฟากข้างโน้นแห่งฝา ในบทนอกจากนี้ก็มีความหมายอย่างนี้เหมือนกัน ก็คำว่า ฝา นี้เป็นชื่อของฝาเรือน ชื่อว่า กำแพง ได้แก่ กำแพงที่ล้อมเรือน, วัด หรือบ้านเป็นต้น ชื่อว่า ภูเขา ได้แก่ภูเขาดิน หรือภูเขาหิน คำว่า ทะลุไม่มีติด คือไม่ขัดข้อง คำว่า เหมือนที่ว่าง คือ เหมือนในกลางอากาศ ก็พระโยคีผู้มีความประสงค์ในการไปดังนั้น เข้าอากาสกสิณออกแล้ว รำพึงถึงฝา หรือกำแพงหรือภูเขาแห่งใดแห่งหนึ่ง แม้เป็นภูเขาสิเนรุหรือเป็นภูเขาจักรวาลก็ได้ ทำบริกรรมแล้วพึงอธิษฐานว่า "อากาโส โหตุ ของจงเป็นที่ว่าง" ดังนี้ ฝาเป็นต้นย่อมกลายเป็นที่ว่างได้ทันที เมื่อต้องการจะลงข้างล่างหรือต้องการจะขึ้นข้างบนก็จะเป็นโพรงไปได้ เมื่อต้องการจะทะลุไป ก็เป็นช่องให้ไปได้ พระโยคีจะทะลุไปในที่นั้นได้โดยไม่ติดขัดเลย ฝ่ายพระจุฬาภยเถระผู้ทรงพระไตรปิฏกกล่าวแย้งในข้อนี้ว่า "ดูก่อนอาวุโส ก็การเข้าอากาสกสิณมีประโยชน์อย่างไร ? มิน่าพระโยคีผู้ต้องการนิมิช้างม้าเป็นต้น มิต้องเข้ากสิณช้างกสิณม้าเป็นต้นหรือ ก็ความเป็นผู้ทำบริกรรมในกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ชำนาญในสมาบัติ 8 เท่านั้น เป็นสำคัญมิใช่หรือ เหตุนั้น ต้องการจะเข้ากสิณอย่างใด จงเข้ากสิณอย่างนั้นเถิด" พวกภิกษุจึงพากันกล่าวแย้งว่า "ท่านขอรับ อากาสกสิณเท่านั้นมาในพระบาลี เหตุนั้น การเข้าอากาสกสิณนั่น จึงควรกล่าวได้โดยแท้" ในการอธิฐานให้เป็นที่ว่างนั้น มีบาลีดังต่อไปนี้คือ ตามปกติพระโยคีผู้ได้อากาสกสิณสมาบัติ ย่อมรำพึงถึงภายนอกฝาภายนอกกำแพงภายนอกภูเขา ครั้นนึกถึงแล้วย่อมอธิษฐานด้วยฌานว่า อากาโส โหตุ ขอจงเป็นที่ว่างเถิด ดังนี้ ก็จะกลายเป็นอากาศที่ว่างสมหวัง เธอย่อมไปมิได้ติดขัดทั้งภายนอกฝาภายนอกกำแพงภายนอกภูเขา โดยปกติมนุษย์ผู้ไม่มีฤทธิ์จะไปไหนได้ไม่ติดขัดในที่เฉพาะไม่มีอะไรขวางกั้น ไม่มีอะไรปิดบัง ฉันใด ภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นก็เหมือนกัน ฉันนั้น เป็นผู้มีความชำนาญทางใจ ไปไหนก็ไม่ติดขัดทั้งภายนอกฝาภายนอกกำแพงภายนอกภูเขา เหมือนไปในที่ว่างฉะนั้น
ถามว่า – ก็ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอธิษฐานแล้วไปอยู่อย่างนั้น เกิดมีภูเขาหรือต้นไม้ผุดขึ้นกั้นในระหว่างทาง เธอจะต้องเข้าสมาบัติแล้วอธิษฐานอีกหรือไม่ ?
''(หน้าที่ 265)''
ตอบว่า – โทษในการที่จะเข้าสมาบัติแล้วอธิษฐานอีกนั้นย่อมไม่มี เพราะว่าการเข้าสมาบัติแล้วอธิษฐานใหม่อีกย่อมเป็นเหมือนกับการถือนิสัยในสำนักของพระอุปัชฌาย์ ก็เพราะภิกษุนี้อธิษฐานแล้วว่า จงเป็นที่ว่าง ดังนี้ ก็คงเป็นที่ว่างดังหมายอีกนั่นแหละ ข้อที่ว่าอาศัยกำลังการอธิษฐานคราวแรกของพระโยคีนั้น ภูเขาหรือต้นไม้อื่นจักเกิดผุดขึ้นตามฤดูในระหว่างทาง ดังนี้ เป็นฐานะที่มีไม่ได้เลย การนิรมิตความแรกย่อมมีกำลังกว่าฤทธิ์อื่นที่ผู้มีฤทธิ์นิรมิตขึ้นแล้ว อันการนิรมิตนอกจากนี้ จะต้องมีก่อนหรือหลังแห่งการนิรมิตทีแรกนั้น
ในข้อบาลีว่า ทำการผุดขึ้นและดำลงแม้ในแผ่นดินนี้ มีอธิบายว่า การโผล่ขึ้นเรียกว่าการผุดขึ้น การจมลงเรียกว่าการดำลง การโผล่ขึ้นและดำลง เรียกว่าการดำผุด พระโยคีผู้ต้องการทำให้เป็นอย่างนั้น เข้าอาโปกสิณออกแล้วกำหนดว่าแผ่นดินในที่ประมาณเท่านี้จงเป็นน้ำ ทำบริกรรมแล้วพึงอธิษฐานตามนัยดังที่ได้กล่าวแล้วแล พร้อมกับด้วยการอธิษฐานแผ่นดินในที่ตามที่ได้กำหนดไว้ย่อมกลายเป็นน้ำทันที เธอจึงทำการดำผุดในน้ำนั้นในการอธิษฐานให้เป็นน้ำนั้น มีพระบาลีดังต่อไปนี้ คือ ตามปกติพระโยคีผู้ได้อาโปกสิณสมาบัติ รำพึงถึงแผ่นดิน ครั้นรำพึงแล้วจึงอธิษฐานด้วยฌานว่า อุทกํ โหตุ จงเป็นน้ำดังนี้ แผ่นดินย่อมกลายเป็นน้ำทันที เธอจึงทำการดำผุดในแผ่นดิน ตามปกติพวกมนุษย์ที่ไม่มีฤทธิ์ ย่อมทำการดำผุดในน้ำได้ ฉันใด ภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นเป็นผู้มีความชำนาญทางใจ ย่อมทำการดำผุดในแผ่นดินคล้ายในน้ำได้ ฉันนั้น และมิใช่จะทำได้แต่เพียงการดำผุดเท่านั้นยังทำการอาบ, ดื่ม, ล้างหน้า และล้างสิ่งของเป็นต้นตามที่ตนปรารถนา จะทำได้อีกด้วย และมิใช่จะอธิษฐานให้เป็นน้ำได้อย่างเดียว ถ้าต้องการเนยใส น้ำผึ้ง น้ำมัน น้ำอ้อย เป็นต้น ก็นึกอธิษฐานให้สิ่งของนั้น ๆ เป็นสิ่งนี้ ๆ และมีประมาณเท่านี้ แล้วทำบริกรรมอธิษฐานอยู่ย่อมเป็นสมดังอธิษฐานทีเดียว เมื่อยกขึ้นใส่ไว้ในภาชนะ เนยใสก็คงเป็นเนยใส น้ำมันเป็นต้น ก็คงเป็นน้ำมันเป็นต้น น้ำก็คงเป็นน้ำตามเดิม เธอต้องการจะให้น้ำนั้นเปียกก็เปียก ไม่ต้องการจะให้เปียกก็ไม่เปียก และแผ่นดินนั้นย่อมเป็นน้ำเฉพาะท่านผู้มีฤทธิ์เท่านั้น สำหรับชนที่เหลือ ก็คงเป็นแผ่นดินเหมือนเดิม ที่แผ่นดินนั้นมนุษย์ทั้งหลายจะเดินก็เดินไปได้ จะไปด้วยยานพาหนะก็ทำได้ จะทำกสิกรรมก็ทำได้ ก็ถ้าภิกษุผู้มีฤทธิ์นี้ปรารถนาว่า จงเป็นน้ำแม้แก่ชน
''(หน้าที่ 266)''
เหล่านั้น ก็เป็นได้ดังปรารถนา แต่ครั้นล่วงกาลที่กำหนดไว้แล้ว เว้นน้ำตามธรรมดาในหม้อและบึง เป็นต้น นั้นเสีย สถานที่ที่ท่านผู้มีฤทธิ์กำหนดไว้ย่อมคืนเป็นแผ่นดินดังเดิม
ในบทพระบาลีว่า เดินไปบนน้ำที่ไม่แตกนี้ มีอธิบายว่า น้ำที่เรียกว่าแยกแตกออกจากกัน เพราะบุคคลเหยียบแล้วจมลง น้ำที่ตรงกันข้ามเรียกว่าไม่แยกแตกออก ก็พระโยคีผู้ต้องการจะไปโดยอาการอย่างนั้น ต้องเข้าปฐวีกสิณออกแล้วกำหนดว่า น้ำในที่ประมาณเท่านี้ จงกลายเป็นดิน ดังนี้ แล้วพึงทำบริกรรมอธิษฐานตามนัยดังที่ได้กล่าวไว้แล้วนั่นแลพร้อมกับด้วยการอธิษฐาน น้ำตามสถานที่ท่านผู้มีฤทธิ์กำหนดไว้ย่อมกลายเป็นดินดังปรารถนา ท่านผู้มีฤทธิ์ย่อมเดินไปบนน้ำนั้นได้
'''อธิษฐานให้เป็นดิน'''
ในการอธิษฐานให้เป็นดินนั้น มีพระบาลีดังต่อไปนี้คือ ตามปกติภิกษุผู้ได้ปฐวีกสิณสมาบัตินึกถึงน้ำ ครั้นนึกแล้วจึงอธิษฐานด้วยฌานว่า ปฐวี โหตุ ของจงเป็นดิน ดังนี้ น้ำก็กลายเป็นดินได้ เธอย่อมเดินไปบนน้ำที่ไม่แตกได้ตามปกติ พวกมนุษย์ผู้ไม่มีฤทธิ์ ย่อมเดินไปบนแผ่นดินที่ไม่แตกได้ ฉันใด ภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นมีความชำนาญทางใจ ย่อมเดินไปบนน้ำที่ไม่แตกได้เหมือนเดินไปบนแผ่นดิน ฉันนั้น และมิใช่แต่จะเดินไปเท่านั้น ยังจะเคลื่อนไหวอิริยาบถตามที่ตนปรารถนาได้อีกด้วย และมิใช่แต่จะนึกอธิษฐานให้เป็นแผ่นดินได้อย่างเดียวเท่านั้น ยังจะนึกอธิษฐานให้เป็นแก้วมณี ทองคำ ภูเขา และต้นไม้เป็นต้น อย่างไรก็ได้ตามปรารถนา ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว น้ำที่อธิษฐานแล้วย่อมเป็นดังอธิษฐาน และน้ำนั้นย่อมเป็นดินสำหรับผู้มีฤทธิ์เท่านั้น เป็นน้ำตามเดิมแก่คนที่เหลือ ปลา เต่า และสัตว์ที่เกิดในน้ำเป็นต้น ย่อมอยู่อาศัยได้ตามสบาย ก็ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์นี้จะต้องการจะทำน้ำนั้นให้กลายเป็นดินสำหรับพวกมนุษย์อื่น ก็ย่อมทำได้เหมือนกัน แต่น้ำที่ถูกอธิษฐานให้เป็นดินนั้นจะกลายเป็นน้ำตามเดิมก็ต่อเมื่อพ้นจากเวลากำหนดอธิษฐานไว้แล้ว
คำว่า ก้าวไปด้วยบัลลังก์ คือ ไปได้ทั้งคู้บัลลังก์ ชื่อว่านกมีปีก คือนกประกอบด้วยปีกทั้งหลาย ก็พระโยคีผู้มีความต้องการจะทำอย่างนี้ พึงเข้าปฐวีกสิณออกแล้ว
''(หน้าที่ 267)''
ถ้าต้องการจะเป็นผู้นั่งไป ต้องกะที่ประมาณเท่าบัลลังก์ ทำบริกรรมแล้วจึงอธิษฐานตามนัย ดังที่ได้กล่าวแล้วนั่นแล ถ้าต้องการจะเป็นผู้นอนไป ต้องกำหนดที่ประมาณเท่าเตียง ถ้าต้องการจะไปด้วยเท้า ต้องกำหนดที่ประมาณเท่าหนทาง กำหนดที่ตามเหมาะสมอย่างนี้แล้วจึงอธิษฐานว่า ปฐวี โหตุ จงเป็นดิน ตามวิธีการที่กล่าวแล้วนั่นแล พร้อมกับด้วยการอธิษฐาน อากาศนั้นย่อมกลายเป็นดินได้ทันที การคู้บัลลังก์เดินไปในอากาศได้นั้น มีพระบาลีดังต่อไปนี้ว่า ท่านผู้มีฤทธิ์ย่อมไปได้ด้วยบัลลังก์ในอากาศก็ได้เหมือนอย่างนกมีปีก คือ ตามปกติผู้ได้ปฐวีกสิณสมาบัติ นึกให้เป็นอากาศ ครั้นนึกแล้วก็ได้อธิษฐานด้วยฌานว่า ปฐวี โหตุ จงเป็นแผ่นดิน ดังนี้ ย่อมกลายเป็นแผ่นดินได้ในอากาศอันเวิ้งว้างนั้น ท่านผู้มีฤทธิ์ นั้นจะเดินก็ได้ ยืนก็ได้ นั่งก็ได้ สำเร็จการนอนก็ได้ ตามปกติบนแผ่นดินพวกมนุษย์ ที่ไม่มีฤทธิ์ย่อมจงกรมได้ ฯลฯ สำเร็จการนอนก็ได้ ฉันใด ภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นมีความชำนาญทางใจย่อมเดินก็ได้ ฯลฯ สำเร็จการนอนก็ได้ เพราะอะไร ? เพราะในอากาศเวิ้งว้างเหมือนกัน ฉันนั้น ก็ภิกษุผู้ต้องการจะไปในอากาศต้องเป็นผู้ได้ทิพยจักษุด้วย เพื่อจะได้เห็นภูเขาหรือต้นไม้เป็นต้นที่มีฤดูเป็นสมุฏฐาน หรือที่พวกนาคและสุบรรณเป็นต้นริษยานิรมิตขึ้นในระหว่างนี้ต้องได้ทิพยจักษุ
ถามว่า - เห็นภูเขาเป็นต้นเหล่านั้นแล้ว พึงทำอย่างไร ?
ตอบว่า - ต้องเข้าฌานที่เป็นบาท ออกแล้วทำการบริกรรมอธิษฐานว่า อากาโส โหตุ จงเป็นที่ว่าง ดังนี้ แต่พระเถระกล่าวว่า ดูก่อนอาวุโส การเข้าสมาบัติจะมีประโยชน์อะไร จิตของภิกษุนั้นมั่นคงอยู่แล้วมิใช่หรือ เพราะเหตุนั้น สถานที่ที่เธออธิษฐานว่า จงเป็นที่ว่าง ก็ต้องเป็นที่ว่างได้อย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าท่านจะกล่าวไว้อย่างนี้ก็จริง แต่ก็พึงปฏิบัติตามนัยที่ท่านกล่าวไว้แล้วในติโรกุฑฑปาฏิหาริย์ซ้ำอีก อนึ่ง ท่านผู้ไปได้ในอากาศนี้จะต้องได้ทิพยจักษุ ทั้งนี้ ก็เพื่อลงไปในโอกาสอันเหมาะสม เพราะถ้าเธอลงในที่ไม่เหมาะสมจะเป็นท่าน้ำหรือประตูบ้านก็ตาม เธอก็จะปรากฏแก่มหาชน เพราะฉะนั้น เธอแลเห็นด้วยทิพยจักษุแล้ว เว้นจากที่อันไม่เหมาะสมเสียลงแต่ที่อันเหมาะสมเท่านั้นแล
''(หน้าที่ 268)''
'''ใช้มือคลำพระจันทร์และพระอาทิตย์'''
ในข้อว่า เอาฝ่ามือจับคลำพระจันทร์และพระอาทิตย์แม้เหล่านี้ อันมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ มีอธิบายว่า พึงทราบว่าพระจันทร์และพระอาทิตย์ชื่อว่ามีฤทธิ์มาก เพราะโคจรไปข้างบนได้ 42,000 โยชน์ และชื่อว่ามีอานุภาพมากเพราะทำแสงสว่างในขณะเดียวกันทั่วทั้ง 3 ทวีป อีกนัยหนึ่ง พระจันทร์และพระอาทิตย์ชื่อว่ามีฤทธิ์มาก เพราะโคจรไปข้างบน และทำความสว่างไสวอย่างนี้ได้ และชื่อว่ามีอานุภาพมากเพราะว่าเป็นธรรมชาติที่มีฤทธิ์มากนั่นเอง คำว่า จับ คือจับต้องหรือถูกเฉพาะในที่ส่วนหนึ่ง คำว่า คลำ คือลูบคลำไปรอบ ๆ ดุจคลำพื้นแว่น (กระจก) ก็ฤทธิ์ชนิดนี้ย่อมเป็นผลสำเร็จ แก่พระโยคีนี้ก็ด้วยอำนาจฌานที่มีอภิญญาเป็นบาทอย่างเดียว สำหรับฤทธิ์ชนิดนี้ไม่ต้องมีการเข้ากสิณสมาบัติ สมดังที่ท่านสารีบุตรเถระกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคว่า คำว่าเอาฝ่ามือจับลูบคลำพระจันทร์และพระอาทิตย์แม้เหล่านี้อันมีฤทธิ์มากอย่างนี้มีอานุภาพมากอย่างนี้ มีอธิบายว่า ท่านผู้มีฤทธิ์ในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความชำนาญทางใจ นึกถึงพระจันทร์และพระอาทิตย์ ครั้นนึกแล้วจึงอธิษฐานด้วยฌานว่า หตฺถปาเส โหนฺตุ จงอยู่ในอุ้งมือ ดังนี้ พระจันทร์และพระอาทิตย์เหล่านั้นย่อมอยู่ในอุ้งมือทีเดียว ท่านผู้นั้นจะนั่งหรือนอนก็ตามย่อมเอามือจับต้องลูบคลำพระจันทร์และพระอาทิตย์ได้เสมอ ตามปกติพวกมนุษย์ผู้ไม่มีฤทธิ์ย่อมจับต้องลูบคลำสิ่งของบางอย่างในอุ้งมือได้ ฉันใด ท่านผู้มีฤทธิ์นั้น ฯลฯ ก็ย่อมลูบคลำได้ ฉันนั้น ท่านผู้มีฤทธิ์นั้น ผิว่าต้องการจะเดินจับต้องก็เดินไปจับต้องได้ แม้ต้องการจะนั่งหรือนอนจับต้องก็อธิษฐานในที่นั้นนั่นแหละว่า จงอยู่ในอุ้งมือ ด้วยกำลัง แห่งการอธิษฐานพระจันทร์และพระอาทิตย์ก็จะเป็นดุจผลตาลที่หลุดร่วงจากขั้วมาตกอยู่ในอุ้งมือท่านผู้มีฤทธิ์ และท่านผู้มีฤทธิ์จะลูบคลำหรือจะยื่นมือไปลูบคลำก็ย่อมได้
ถามว่า - ก็เมื่อยื่นมือออกไป สิ่งที่มีใจครองยื่นไปหรือสิ่งที่ไม่มีใจครองยื่นไป?
ตอบว่า – สิ่งที่ไม่มีใจครองอาศัยสิ่งที่มีใจครองยื่นไป ในข้อนั้น ท่านพระจูฬนาคเถระ ผู้ทรงพระไตรปิฏกกล่าวไว้ว่า "ดุก่อนอาวุโส ก็สิ่งที่มีใจครองเป็นได้ทั้งเล็กทั้งใหญ่ไม่มีมิใช่หรือ ? เมื่อใดภิกษุออกไปโดยช่องลูกดาลเป็นต้น เมื่อนั้นสิ่งที่มีใจครองก็เป็นของเล็ก
''(หน้าที่ 269)''
เมื่อใดภิกษุทำอัตภาพให้ใหญ่ เมื่อนั้นก็เป็นของใหญ่ได้ เช่นอัตภาพของพระมหาโมคคัลลานเถระมิใช่หรือ ?"
เล่าสืบกันมาว่า ในสมัยหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลนิมนต์ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พรุ่งนี้ขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุ 500 รูป จงรับภิกษาในเรือนของข้าพระองค์เถิด" แล้วทูลลากลับไป พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับแล้ว เวลากลางวันและเวลากลางคืนนั้นผ่านไป ในเวลาใกล้รุ่งทรงตรวจดูโลกธาตุหมื่นจักรวาล ลำดับนั้น พระยานาคชื่อว่า นันโทปนันทะ ได้มาปรากฏในพระญาณของพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรำพึงอยู่ว่า นาคราชนี้มาปรากฏในญาณของเรา อุปนิสัยของนาคราชนี้มีหรือไม่หนอ จึงทรงเห็นว่า นาคราชนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย จึงทรงนึกต่อไปว่าใครหนอจะพึงปลดเปลื้องนาคราชนี้จากมิจฉาทิฏฐิได้ จึงได้ทรงเห็นพระมหาโมคคัลลานเถระแล้ว แต่นั้น ครั้นเมื่อราตรีสว่าง ทรงทำการปฏิบัติสรีระแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มา ทรงรับสั่งว่า "ดูก่อนอานนท์ เธอจงบอกแก่ภิกษุ 500 รูปให้ทราบว่า "ตถาคตจะไปเที่ยวเทวโลก"
ก็ในวันนั้น พวกนาคผู้เป็นบริวารได้จัดสถานที่ที่ดื่มสุราให้แก่นันโทปนันทนาคราชเธอมีเศวตฉัตรเป็นทิพย์ที่เขากั้นไว้บนบัลลังก์แก้วอันเป็นทิพย์ มีนักฟ้อน 3 พวก และพวกนาคบริษัทแวดล้อมแล้ว ได้นั่งแลดูวิธีจัดแจงอาหารและเครื่องดื่มซึ่งให้เข้าไปตั้งไว้ในภาชนะทิพย์ ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบันดาลให้นาคราชนั้นเห็นพระองค์แล้ว เสด็จมุ่งพระพักตร์ไปทางเทวโลกชั้นดาวดึงส์พร้อมกับภิกษุ 500 รูป โดยผ่านที่สุดเพดานของนันโทปนันทนาคราชนั่นแล
ก็โดยสมัยนั้นแล นันโทปนันทนาคราชเกิดความคิดเห็นชั่วช้าลามกถึงขนาดนี้ว่า "ชิ ! สมณะหัวดล้นเหล่านี้เข้า ๆ ออกๆ ผ่านภพดาวดึงส์ของเทวดาอยู่ได้ ดูจะใช้อำนาจเหนือเราขึ้นทุกที ขอประกาศว่า "ตั้งแต่บัดนี้ไป เราจักไม่ยอมให้พวกสมณะเหล่านี้ผ่านไปโปรยฝุ่นติดเข้าใส่หัวเราเด็ดขาด" จึงลุกขึ้นไปยังเชิงเขาสิเนรุ ละอัตภาพนั้นเอาขนดโอบพันรอบภูเขาสิเนรุเป็น 7 ชั้น แผ่พังพาน ณ เบื้องบนปกคลุมถึงภพดาวดึงส์ด้วยพังพานอันงุ้มลงให้มืดมองไม่เห็น
''(หน้าที่ 270)''
ครั้งนั้นแล ท่านพระรัฐบาลกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพระองค์ยืนอยู่ตรงนี้มองไปเห็นภูเขาสิเนรุ เห็นภูเขาที่ล้อมรอบเขาสิเนรุ เห็นภพดาวดึงส์ เห็นเวชยันต์ปราสาท เห็นธงบนยอดเวชยันต์ปราสาทได้ชัดเจน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัย บัดนี้ข้าพระองค์จึงไม่เห็นภูเขาสิเนรุ ฯลฯ ไม่เห็นธงบนยอดเขาเวชยันต์ปราสาทได้" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสชี้แจงว่า "ดูก่อนรัฐบาล นาคราชชื่อนันโทปนันทะนี้มีความขุ่นเคืองแค้นต่อพวกเธอ จึงเอาขนดโอบพันรอบเขาสิเนรุถึง 7 ชั้น เอาพังพานปกปิดกั้นไว้เบื้องบน จึงทำให้มืดอยู่อย่างนี้" พระรัฐบาลนั้นกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ ข้าพระองค์จะทรมานนาคราชนั้นเอง" พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาตต่อมาภิกษุแม้ทั้งหมดก็ได้พากันลุกขึ้นกราบทูลตามลำดับ มีท่านพระภัททิยะ ท่านพระราหุลเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ทรงอนุญาต ในที่สุดพระมหาโมคคัลลานเถระจึงกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะทรมานนาคราชนั้นเองพระเจ้าข้า" พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตว่า "เธอจงทรมานเถิด โมคคัลลานะ"
พระเถระจึงละอัตภาพแปลงเพศเป็นนาคราชรูปร่างใหญ่โต เอาขนดโอบพันทับขนดของนันโทปนันทนาคราชถึง 14 ชั้น วางพังพานของตนทับเหนือพังพานของนาคราชนั้นแล้ว บีบรัดเข้ากับภูเขาสิเนรุ นาคราชบังหวนควันแล้ว แม้พระเถระกล่าวว่า "มิใช่ว่าการบังหวนควันจะมีแต่ในสรีระของท่านเท่านั้น ควันในสรีระของเราก็มีเหมือนกัน" ดังนี้จึงบังหวนควันตอบไปบ้าง ควันของนาคราชไม่ได้เป็นอันตรายแก่พระเถระเลย แต่ควันของพระเถระเป็นอันตรายต่อนาคราช แต่นั้นนาคราชจึงโพลงเป็นไฟขึ้น แม้พระเถระก็กล่าวว่า "ไฟมิใช่จะมีในสรีระของท่านอย่างเดียวเท่านั้น ไฟในสรีระของเราก็มี" ดังนี้ จึงโพลงเป็นไฟขึ้นแล้ว ไฟของนาคราชไม่ทำอันตรายแก่พระเถระได้ แต่ไฟของพระเถระทำอันตรายแก่นาคราชได้ นาคราชจึงคิดว่า "นาคราชนี้บีบเรากับภูเขาสิเนรุแล้ว บังหวนควันและโพลงเป็นไฟขึ้นก็ได้" จึงซักถามว่า "แน่พ่อ พ่อเป็นใครกันนะ" พระมหาโมคคัลลานะจึงตอบว่า "นันทะ เราคือโมคคัลลานะ" "ท่านเอ๋ย ขอท่านจงตั้งอยู่โดยความเป็นภิกษุของตนเถิด" พระเถระละอัตภาพนั้นแล้ว เข้าไปโดยช่องหูขวาของนาคราชนั้นแล้วออกโดยช่องหูซ้าย เข้าไปโดยช่องหูซ้ายออกโดยช่องหูขวา เข้าไปโดยช่องจมูกขวาแล้วออกช่องจมูกซ้าย เหมือนเช่น
''(หน้าที่ 271)''
นั้นเข้าโดยช่องจมูกซ้ายออกโดยช่องจมูกขวา ขณะนั้นนาคราชจึงอ้าปาก พระเถระเข้าไปทางปากแล้วเดินจงกรมอยู่ภายในท้อง โดยทิศปราจีนและทิศปัจฉิม พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเตือนว่า "โมคคัลลานะ จงใส่ใจระวังนะว่า นาคราชตัวนี้มีฤทธิ์มาก" พระเถระจึงทูลว่า "พระเจ้าข้า อิทธิบาททั้ง 4 ข้าพระองค์อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานได้แล้ว ทำให้มั่นคงแล้ว ตามตั้งไว้แล้ว บ่มสุกแล้ว ปรารภดีแล้วพระเจ้าข้า เพียงแต่นันโทปนันทนาคราชเท่านั้น สบายพระทัยได้ นาคราชเช่นนันโทปนันทะตั้งพันตั้งแสน ข้าพระองค์ก็ยังทรมานได้เลย"
ฝ่ายนาคราชก็คิดว่า "สมณะรูปนี้เวลาเข้าไปเราไม่ทันได้เห็นก่อน เอาเถิดในเวลาออกมาเราจักงับมันเคี้ยวเสียให้ยับในระหว่างฟันในบัดนี้" ดังนี้แล้ว จึงแสร้งพูดว่า "ท่านเจ้าข้า นิมนต์ออกมาเถิด อย่าเที่ยวเดินไป ๆ มา ๆ อยู่ในท้อง จนทำให้ข้าพเจ้าลำบากเลย" พระเถระได้ออกมายืนข้างนอกแล้ว นาคราชเห็นแล้วฉุกคิดว่า "พระสมณะรูปนี้ คือท่านองค์นั้น" จึงพ่นลมออกทางจมูก พระเถระเข้าจตุตถฌานแล้ว แม้แต่ขุมขนของพระเถระนั้นลมก็ไม่สามารถจะให้หวั่นไหวได้ นัยว่า พวกภิกษุที่เหลือก็อาจทำปาฏิหาริย์ทุกอย่างได้ตั้งแต่ต้น แต่เมื่อถึงที่นี้จักไม่อาจเป็นผู้เข้าได้ฉับพลันอย่างนี้ได้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุเหล่านั้นทรมานนาคราช นาคราชจึงคิดว่า "เราไม่สามารถจะทำให้ขุมขนของพระสมณะนี้หวั่นไหวด้วยลมจมูกได้เลย พระสมณะนี้มีฤทธิ์มาก" พระเถระจึงละอัตภาพนิรมิตเป็นรูปครุฑแสดงการกระพือปีกอย่างครุฑไล่ติดตามนาคราชไป นาคราชจึงละอัตภาพนั้น นิรมิตเป็นเพศมาณพน้อยกล่าวอยู่ว่า "ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอถึงท่านว่าเป็นสรณะ" ไหว้เท้าพระเถระแล้ว พระเถระจึงกล่าวว่า "นันทะ พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ท่านจงมา เราจักพาไป" ดังนี้ ครั้นทรมานนาคราชให้สิ้นพยศได้แล้ว จึงได้ไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า นาคราชถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระองค์ว่าเป็นที่พึ่ง" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "จงเป็นผู้มีความสุขเถิดนาคราช ดังนี้ มีภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว ได้เสด็จไปสู่นิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกะ
ท่านอนาถบิณฑิกะกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนวันนี้พระองค์จึงเสด็จมาถึงสายนัก" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "โมคคัลลานะกับนันโทปนันทะได้ทำสงครามกันขึ้น"
''(หน้าที่ 272)''
ท่านอนาถบิณฑิกะทูลถามว่า "ใครชนะใครแพ้ พระเจ้าข้า" พระองค์ตรัสว่า "โมคคัลลานะชนะ นันโทปนันทะแพ้" ท่านอนาถบิณฑิกะจึงทูลว่า "พระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงรับภัตของข้าพระองค์ โดยติดต่อกัน 7 วัน ข้าพระองค์จักทำสักการะแก่พระเถระให้ตลอด 7 วัน" ดังนี้ แล้วได้ทำสักการะเป็นอันมาก แก่ภิกษุประมาณ 500 รูป อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ตลอด 7 วัน
คำว่า เมื่อใดทำอัตภาพให้ใหญ่ เมื่อนั้นก็เป็นอัตภาพอันใหญ่ เช่นอัตภาพของพระมหาโมคคัลลานเถระ ดังนี้ ท่านกล่าวหมายถึงอัตภาพใหญ่ซึ่งพระมหาโมคคัลลานะทำแล้วในเวลาที่ท่านทรมานนันโทปนันทนาคราชนี้ ดังบรรยายมานี้ แม้เมื่อท่านจะกล่าวอย่างนั้น พวกภิกษุก็ยังกล่าวว่า สังขารที่ไม่มีใจครองนั้นแหละย่อมเจริญขึ้น เพราะอาศัยสังขารที่มีใจครอง ในเรื่องนี้เป็นอันยุติเพียงเท่านี้
'''อธิบายผู้มีฤทธิ์แสดงฤทธิ์'''
ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นทำอย่างนี้แล้ว มิใช่จะลูบคลำพระจันทร์และพระอาทิตย์เท่านั้น ถ้าปรารถนาจะทำเป็นกระเบื้องเช็ดเท้าวางไว้แทบเท้าก็ได้ ทำเป็นตั่งนั่งก็ได้ ทำเป็นเตียงนอนก็ได้ ทำเป็นพนักอิงพิงก็ได้ ท่านผู้มีฤทธิ์ผู้หนึ่งทำได้ ฉันใด แม้ผู้มีฤทธิ์อื่นอีกก็ทำได้ ฉันนั้น จริงอยู่ เมื่อภิกษุหลายแสนรูปพากันทำอยู่อย่างนี้ ปาฏิหาริย์ย่อมสำเร็จแก่ภิกษุเหล่านั้น และแต่ละรูปก็จะเหมือนกันทีเดียว อนึ่ง ถึงพระจันทร์และพระอาทิตย์ก็คงโคจรส่องแสงอยู่อย่างเดิม เปรียบเหมือนในตุ่มพันลูกที่เต็มด้วยน้ำ ดวงจันทร์ย่อมปรากฏในตุ่มทุก ๆ ตุ่ม และพระจันทร์ก็ยังโคจรและส่องแสงสว่างอยู่เหมือนเดิม ฉันใด ปาฏิหาริย์นี้ก็มีอุปมาเหมือนกันอย่างนั้น
ข้อว่า จรดพรหมโลก คือทำพรหมโลกให้เป็นเขตกำหนด คำว่า ยังอำนาจให้เป็นไปทางกาย คือ ทำอำนาจให้เป็นไปทางกายของตนในพรหมโลกนั้น ความหมายแห่งข้อนั้น นักศึกษาพึงทราบโดยคล้อยตามบาลีนั้นเถิด ก็บาลีในอธิการนี้ มีดังต่อไปนี้ คำว่า ยังอำนาจให้เป็นไปทางกายตลอดถึงพรหมโลก มีอธิบายว่า ถ้าภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้น มีความชำนาญทางใจ ต้องการจะไปสู่พรหมโลก ย่อมอธิฐานถึงไกลแสนไกลให้ใกล้ก็ได้ว่า สนฺติเก โหตุ จงมีในที่ใกล้ ดังนี้ ที่ไกลย่อมกลายเป็นที่ใกล้ได้ดังหมาย ย่อมอธิษฐาน
''(หน้าที่ 273)''
แม้ที่ใกล้ให้ไกลก็ได้ว่า ทูเร โหตุ จงมีในที่ไกล ดังนี้ ที่ใกล้ก็ย่อมกลายเป็นที่ไกลได้ดังหมาย แม้ของมากมายก็อธิฐานให้เป็นของน้อยได้ว่า โถกํ โหตุ จงมีของน้อยดังนี้ ของมากมายก็ย่อมกลายเป็นของน้อยได้ดังหมาย แม้ของน้อยก็อธิษฐานให้เป็นของมากมายได้ว่า พหุกํ โหตุ จงเป็นของมาก ดังนี้ ของน้อยก็ย่อมกลายเป็นของมากได้ดังหมาย จะใช้จักษุดุจทิพย์แลดูรูปของพรหมนั้นก็ได้ จะใช้โสตธาตุปานทิพย์ฟังเสียงของพรหมนั้นก็ได้ จะใช้เจโตปริยญาณกำหนดรู้จักใจของพรหมนั้นก็ได้ ถ้าหากภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นมีความชำนาญทางใจ ต้องการจะไปยังพรหมโลกด้วยทั้งร่างกายที่ปรากฏชัด ๆ ย่อมน้อมจิตด้วยอำนาจแห่งกาย อธิษฐานจิตด้วยอำนาจแห่งกาย ครั้นน้อมจิตด้วยอำนาจแห่งกาย อธิษฐานจิตด้วยอำนาจแห่งกายแล้ว หยั่งลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญา เธอย่อมมีกายปรากฏชัด ๆ ไปสู่พรหมโลกได้ดังหมาย ถ้าภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นมีความชำนาญทางใจ ต้องการจะไปสู่พรหมโลกด้วยทั้งกายที่มิได้ปรากฏ จึงน้อมกายด้วยอำนาจแห่งจิต อธิษฐานกายด้วยอำนาจแห่งจิต ครั้นน้อมกายด้วยอำนาจแห่งจิต อธิษฐานกายด้วยอำนาจแห่งจิตแล้ว หยั่งลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญา ย่อมไปสู่พรหมโลกด้วยทั้งกายที่มิได้ปรากฏ ภิกษุผู้มีฤทธิ์ นั้นย่อมนิรมิตรูปที่สำเร็จด้วยใจอันมีอวัยวะน้อยใหญ่ครบทุกอย่าง มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ข้างหน้าพรหมนั้น หากภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นเดินไป ถึงแม้ภิกษุที่นิรมิตแล้วก็เดินในที่นั้น ถ้าหากภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้น ยืน นั่ง นอน ภิกษุนิรมิตก็สำเร็จการยืน นั่ง นอน ในที่นั้น ถ้าภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้น บังหวนควัน โพลงเป็นไฟ กล่าวธรรม ถามปัญหา ถูกถามปัญหา ย่อมแก้ แม้ภิกษุนิรมิต ฯลฯ ถูกถามปัญหา ย่อมแก้ ณ ที่นั้นได้ ภิกษุผู้มีฤทธิ์ยืนร่วมเจรจาซักถามกับพรหมนั้น แม้นิรมิต ภิกษุก็ยืนร่วม, เจราจา ซักถาม กับพรหม ณ ที่นั้น รวมความว่าภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นทำกิจใด ๆ นิรมิตภิกษุนั้นก็ทำกิจนั้นได้ด้วย ฉะนี้
ในพระบาลีนั้นคำว่า อธิษฐานแม้ที่ไกลให้ใกล้ก็ได้ คือ ออกจากฌานที่เป็นบาทแล้วนึกถึงเทวโลกหรือพรหมโลกในที่ไกลกว่า สนฺติเก โหตุ ของจงเป็นที่ใกล้ ดังนี้แล้วจึง ทำบริกรรมเข้าฌานอีก แล้วอธิษฐานด้วยฌานว่า ขอจงเป็นที่ใกล้ ที่ไกลย่อมกลายเป็นที่ใกล้ได้ดังหมาย แม้ในบทที่เหลือก็มีความหมายอย่างนี้เหมือนกัน
''(หน้าที่ 274)''
ถามว่า – ในปาฏิหาริย์นั้น ใครได้ย่อที่ไกลทำให้เป็นที่ใกล้ได้ ?
ตอบว่า – พระผู้มีพระภาคเจ้า จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปสู่เทวโลกในกาลที่เสร็จยมกปาฏิหาริย์ ทรงทำภูเขายุคนธรและภูเขาสิเนรุให้ใกล้ ทรงยกพระบาทข้างหนึ่งจากพื้นปฐพี ทรงเหยียบที่ภูเขายุคนธร ทรงปลงพระบาทที่ 2 ลงบนยอดภูเขาสิเนรุ
ถามว่า – คนอื่นใครเล่าที่ได้เคยทำแล้ว ?
ตอบว่า – พระมหาโมคคัลลานเถระ จริงอยู่ พระเถระย่นทางไปสู่เมืองสังกัสประมาณ 30 โยชน์ ยังบริษัท 12 โยชน์ ผู้ทำภัตกิจจากกรุงสาวัตถีให้ถึงในทันใดนั้นนั่นเอง
ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ท่านพระจูฬสมุททเถระ ได้ทำในเกาะลังกา เล่ากันมาว่า ในสมัยอดอยาก พระภิกษุ 700 รูป ได้ไปสู่สำนักของพระเถระแต่เช้าตรู่ พระเถระคิดว่า พระภิกษุสงฆ์มีมาก จักมีบ้านที่ภิกขาจารที่ไหน ดังนี้ ไม่มองเห็นในทวีปลังกาทั้งหมด แต่มองเห็นว่าจักมีในเมืองปาฏลีบุตรฟากโน้น จึงให้ภิกษุทั้งหลายถือเอาบาตรและจีวรแล้วพูดว่า "มาเถิดอาวุโส เราจักไปสู่ที่ภิกขาจาร" ย่นแผ่นดิน ไปสู่กรุงปาฏลีบุตร แล้วพระภิกษุทั้งหลาย ถามว่า "เมืองนี้คือเมืองไหนขอรับ ? ตอบว่า "เมืองปาฏลีบุตร อาวุโส" ถามว่า "ท่านขอรับ เมืองปาฏลีบุตรอยู่ในที่ไกล ?" ตอบว่า "ดูก่อนอาวุโส พระเถระผู้เฒ่าย่นแม้ที่ไกลทำให้ใกล้ก็ได้" ถามว่า "มหาสมุทรอยู่ที่ใหนขอรับ ?" ตอบว่า "ดูก่อนอาวุโส ท่านข้ามเหมืองเขียวแห่งหนึ่งมาในระหว่างทาง มิใช่หรือ ?" พระภิกษุทั้งหลายพูดว่า "จริงละขอรับ แต่มหาสมุทรเป็นของใหญ่" พระเถระพูดว่า "ดูก่อนอาวุโส พระเถระผู้เฒ่าทั้งหลายทำแม้ของใหญ่ให้เป็นของเล็กก็ได้" ก็พระเถระนี้เป็นฉันใด แม้พระติสสทัตตเถระก็เป็นฉันนั้น ท่านสรงน้ำในเวลาเย็นห่มผ้าอุตตราสงค์แล้วเกิดคิดขึ้นว่า จักไหว้ต้นพระมหาโพธิ์ได้ทำให้เป็นที่ใกล้แล้ว
ถามว่า - ก็ใครเล่าถือเอาที่ใกล้ทำให้เป็นที่ไกลได้ ?
ตอบว่า - พระผู้มีพระภาคเจ้า จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคได้ทรงทำที่ระหว่างพระองค์กับพระองคุลิมาล แม้ใกล้ก็ทรงทำให้ไกลได้
''(หน้าที่ 275)''
ถามว่า - ใครหรือได้ทำของมากให้เป็นของน้อย ?
ตอบว่า - พระมหากัสสปเถระ นัยว่า ในวันเล่นนักษัตรฤกษ์ในกรุงราชคฤห์ พวกเด็กผู้หญิง 500 คนพากันทำขนมมีลักษณะคล้ายดวงจันทร์แล้วไปเล่นนักษัตร พบพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วมิได้ถวายอะไร ๆ เลย แต่ครั้นพบพระเถระซึ่งมาข้างหลังจึงชวนกันว่า พระเถระของพวกเรากำลังมา พวกเราจักถวายขนมทั้งหมด จึงถือเอาขนมเข้าไปหาพระเถระแล้ว พระเถระเอาบาตรออกแล้วได้ทำขนมทั้งหมดให้พอเต็มบาตรใบเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งรอพระเถระอยู่ข้างหน้า พระเถระได้นำมาถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
ก็ในเรื่องอิลลิสเศรษฐี พระมหาโมคคัลลานเถระได้ทำของน้อยให้กลายเป็นของมาก และในเรื่องกากวฬิยะ พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงทำของน้อยให้เป็นของมาก เล่ากันมาว่า พระมหากัสสปเถระเข้าพักอยู่ด้วยสมาบัติตลอด 7 วัน เมื่อจะทำการสงเคราะห์แก่คนเข็ญใจ ได้ยืนอยู่ที่ประตูเรือนของมนุษย์เข็ญใจ ชื่อว่ากากวฬิยะ ภริยาของนายกากวฬิยะนั้นเห็นพระเถระ แล้วได้เกลี่ยข้าวยาคูซึ่งไม่เค็มไม่เปรี้ยวอันตนต้มเพื่อสามีลงไปในบาตร พระเถระรับข้าวยาคูนั้นแล้วได้วางไว้บนพระหัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอธิษฐานทำให้เพียงพอแก่พระภิกษุหมู่ใหญ่ ข้าวยาคูที่นำมาด้วยบาตรใบเดียวก็เพียงพอแก่พระภิกษุทุกรูป ฝ่ายนายกากวฬิยะก็ได้ตำแหน่งเศรษฐีในวันที่ 7 นั้นแล และมิใช่แต่จะทำของน้อยให้เป็นของมากได้เท่านั้น แม้สิ่งที่ตนมุ่งหมายในบรรดาสิ่งของเป็นต้นว่าของอร่อยทำให้ไม่อร่อย หรือของไม่อร่อยทำให้อร่อย ทั้งหมดย่อมสำเร็จแก่ท่านผู้มีฤทธิ์ ความจริงก็เป็นเช่นนั้น พระเถระชื่อมหาอนุฬะเห็นพระภิกษุมากด้วยกันไปเที่ยวบิณฑบาตได้แต่ภัตทีเลว ๆ นั่งฉันอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำ จึงอธิษฐานว่าน้ำในแม่น้ำจงเป็นเนยใส แล้วได้ให้สัญญาแก่พวกสามเณร สามเณรเหล่านั้นได้เอาขันไปตักน้ำมาถวายแก่หมู่พระภิกษุ ภิกษุทุกรูปพากันฉันอาหารกับเนยใสอย่างเอร็ดอร่อย
คำว่า ด้วยตาทิพย์ คือภิกษุผู้มีฤทธิ์ยืนอยู่ ณ ที่นี้เอง ทำแสงสว่างให้ขยายออกแล้วมองเห็นรูปของพรหมนั้น และยืนอยู่ ณ ที่นี้เอง เมื่อพรหมนั้นกล่าวก็ได้ยินเสียง และรู้วาระจิตของเขาได้
''(หน้าที่ 276)''
คำว่า น้อมจิตไปด้วยอำนาจแห่งกาย คือน้อมจิตไปด้วยอำนาจแห่งกรัชกาย คือ ยึดจิตซึ่งมีฌานเป็นบาทวางลงในกาย คือ ทำให้คล้อยตามร่างกายให้ไปช้า ๆ เพราะว่าการไปด้วยกายเป็นของช้ากว่าใจ คำว่า หยั่งลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญา คือ หยั่งลง, เข้าไป, ถูกต้อง, ถึงพร้อม ด้วยสุขสัญญาและลหุสัญญา อันเกิดพร้อมกับจิตที่มีฤทธิ์ซึ่งมีฌานเป็นบาทเป็นอารมณ์ ที่ชื่อว่าสุขสัญญา ได้แก่สัญญาอันสัมปยุตด้วยอุเบกขา จริงอยู่ อุเบกขาท่านกล่าวว่า เป็นสุขอันสงบ ก็สัญญานั้นนั่นแหละพึงทราบชื่อว่าลหุสัญญาก็ได้ เพราะพ้นจากนิวรณ์และข้าศึกมีวิตกเป็นต้น ก็เมื่อภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นหยั่งลงสู่สัญญานั้น แม้กรัชกายก็เบาปานปุยนุ่น เธอย่อมไปได้ถึงพรหมโลกพร้อมทั้งร่างกายที่เบาและมองเห็นกันอยู่นี้แหละ ดุจปุยนุ่นซึ่งถูกลมพัดลอยขึ้นไปได้แล้วฉะนั้น ก็เมื่อไปอย่างนี้ ถ้าต้องการก็จะนิรมิตหนทางในอากาศด้วยอำนาจปฐวีกสิณไปได้ด้วยเท้า หรือถ้าต้องการจะอธิษฐานเป็นลมด้วยอำนาจวาโยกสิณไปตามลมดุจปุยนุ่นก็ได้ อีกอย่างหนึ่ง ความเป็นผู้ต้องการจะไปนั่นแหละเป็นสำคัญในปาฏิหาริย์นี้ เพราะเมื่อมีความพอใจจะไปอยู่ เธอทำการอธิษฐานจิตอย่างนี้แล้ว อันกำลังแห่งการอธิษฐานส่งขึ้นไปแล้ว ย่อมลอยไปอย่างเห็น ๆ อยู่ ดุจลูกศรที่นายขมังธนูยิงขึ้นไปฉะนั้น
คำว่า น้อมกายไปด้วยอำนาจของใจ คือ ยึดเอากายไปวางไว้ที่จิต (ทำกายให้เบาเหมือนจิต) คือเอาเยี่ยงอย่างใจ ได้แก่ไปได้เร็วเหมือนใจ จริงอยู่ การไปของใจเป็นอาการที่รวดเร็ว คำว่า หยั่งลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญา คือ หยั่งลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญาอันเกิดพร้อมกับจิตซึ่งมีฤทธิ์มีรูปกายเป็นอารมณ์ คำที่เหลือพึงทราบตามความดังที่กล่าวไว้แล้วนั่นแล ก็ปาฏิหาริย์ที่น้อมกายไปด้วยอำนาจแห่งใจนี้ ก็คือไปได้อย่างใจนั่นเอง เมื่อเกิดปัญหาขึ้นว่า ก็พระโยคีนี้เมื่อไปด้วยกายอันไม่ปรากฏอยู่อย่างนี้ ย่อมไปในขณะที่อธิษฐานจิตนั้นเกิดขึ้น หรือว่าขณะที่อธิษฐานจิตแล้วดำรงอยู่ หรือว่าในขณะที่อธิษฐานจิตดับแห่งอธิษฐานจิตนั้นดังนี้แล้ว พระเถระจึงกล่าวว่า ไปได้ทั้ง 3 ขณะ ถามว่า ก็ผู้มีฤทธิ์นั้นไปเอง หรือว่าส่งรูปที่นิรมิตไป ? ตอบว่า เรื่องนี้ทำการส่งไปได้ตามสบายใจ แต่ในที่นี้ท่านซักตัวอย่างมาเฉพาะการไปด้วยตัวเอง ของท่านผู้มีฤทธิ์เท่านั้น คำว่า สำเร็จ
''(หน้าที่ 277)''
ด้วยใจ คือ แล้วแต่ใจจะนิรมิต เพราะรูปนั้นนิรมิตขึ้นได้ด้วยจิตอธิษฐานนิรมิต คำว่า มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง นี้ ท่านกล่าวไว้ด้วยอำนาจที่ตั้งอยู่ของ ตา, หู เป็นต้น แปลกอยู่ว่า ปสาทรูป 4 มีจักขุปสาทรูปเป็นต้น ไม่มีในรูปที่ภิกษุนิรมิตแล้วนั้น คำว่า ถ้าภิกษุผู้มีฤทธิ์กำลังเดินอยู่แม้รูปที่นิรมิตนั้นก็เดินไปในที่นั้นด้วย เป็นต้นทั้งหมดนี้ ท่านกล่าวหมายถึงการนิรมิตรูปของพวกพระสาวก ส่วนรูปที่พระพุทธเจ้าทรงนิรมิตขึ้น ย่อมทำดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำก็ได้ หรือทำกิจอย่างอื่นตามความพอพระทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้
ก็ในอธิการนี้ ภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นอยู่ ณ ที่นี้เอง มองเห็นรูปได้ด้วยตาทิพย์ ฟังเสียงได้ด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์ กำหนดใจด้วยเจโตปริยญาณแม้ใด ด้วยฤทธิ์เพียงเท่านี้ยังไม่ชื่อว่าทำอำนาจให้เป็นไปทางกาย แม้ภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นอยู่ ณ ที่นี้เอง ยืนร่วมเจรจาสนทนากับพรหมนั้นแม้ใด แม้ด้วยฤทธิ์เพียงเท่านี้ยังไม่ชื่อว่าทำอำนาจให้เป็นไปทางกาย แม้การอธิษฐานของภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นเป็นต้นว่า อธิษฐานแม้ที่ไกล ๆ ให้เป็นที่ใกล้แม้ใด แม้ด้วยฤทธิ์เพียงเท่านี้ก็ยังไม่ชื่อว่าทำอำนาจให้เป็นไปทางกายเลย แม้ภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นไปสู่พรหมโลกด้วยทั้งกายที่ยังปรากฏหรือไม่ปรากฏก็ได้แม้ใด แม้ด้วยฤทธิ์เท่านี้ก็ยังไม่ชื่อว่าทำอำนาจให้เป็นไปทางกาย ก็แล ภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นปฏิบัติตามวิธีที่ท่านกล่าวไว้โดยใจความเป็นต้นว่า ภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นนิรมิตรูปข้างหน้าพรหมนั้นก็ได้อันใด ด้วยฤทธิ์มีประมาณเท่านี้จึงจะชื่อว่าทำอำนาจให้เป็นไปทางกายได้ ส่วนคำที่เหลือในบทนี้ ท่านกล่าวไว้ก็เพื่อแสดงถึงบุรพภาคแห่งฤทธิ์ ซึ่งเป็นเหตุทำอำนาจให้เป็นไปทางกายได้
'''จบอธิษฐานฤทธิ์เพียงเท่านี้ก่อน'''
'''วิกุพพนาและมโนมยาฤทธิ์'''
ส่วนวิกุพพนาฤทธิ์และมโนมยาฤทธิ์ มีข้อแตกต่างกันดังต่อไปนี้ อันดับแรกพระโยคีผู้เมื่อจะทำวิกุพพนาฤทธิ์ พึงอธิษฐานแปลงเพศให้เป็นไปตามที่ตนมุงปรารถนาได้ ทุก ๆ เพศ เช่นแปลงเพศเป็นเด็กน้อยเป็นต้น ซึ่งท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นละเพศเดิมของตนแล้ว แสดงเพศแปลงเป็นเด็กน้อย หรือแสดงเพศแปลงเป็นนาค แสดง
''(หน้าที่ 278)''
เพศแปลงเป็นครุฑ แสดงเพศแปลงเป็นอสูร แสดงเพศแปลงเป็นพระอินทร์ แสดงเพศแปลงเป็นเทวดา แสดงเพศแปลงเป็นพระพรหม แสดงเพศแปลงเป็นทะเล แสดงเพศแปลงเป็นภูเขา แสดงเพศแปลงเป็นราชสีห์ แสดงเพศแปลงเป็นเสือโคร่ง แสดงเพศแปลงเป็นเสือเหลือง แสดงเพศแปลงเป็นทัพช้าง ทัพม้า ทัพรถ และเป็นทัพเดินเท้าก็ได้ หรือแสดงเพศแปลงเป็นกองทัพแม้ตั้งหลาย ๆ ขบวนก็ได้ ก็เมื่อจะอธิษฐาน พึงออกจากฌานมีอภิญญาเป็นบาท มีปฐวีกสิณเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ พึงนึกถึงเด็กน้อยของตนเท่านั้น ครั้นนึกแล้วในที่สุดบริกรรมต้องเข้าสมาบัติใหม่ออกแล้วจึงอธิษฐานว่า เอวรูโป นาม กุมารโก โหมิ ขอให้เราจงเป็นเด็กน้อยเห็นปานนี้เถิด พร้อมกับจิตที่อธิษฐาน เธอก็จะเป็นเด็กน้อยทันที ตัวอย่างเช่นพระเทวทัต แม้ในเพศทั้งปวงมีการแสดงเพศแปลงเป็นนาคเป็นต้นก็มีวิธีการอย่างนี้แล แต่คำว่าแสดงเพศแปลงเป็นทัพช้างเป็นต้น ในบทมาติกานั้นท่านกล่าวแล้วด้วยอำนาจการแสดงเพศแปลงเป็นช้างเป็นต้น แม้ภายนอก ในกรณีอย่างนี้อย่าพึงอธิษฐานว่า หตฺถี โหมิ ขอให้เราจงเป็นช้างเถิด แต่ต้องอธิษฐานว่า หตฺถี โหตุ ขอจงเป็นช้างเถิด แม้ในทัพม้าเป็นต้น ก็มีความหมายอย่างนี้เหมือนกัน ทำอย่างนี้ชื่อว่า วิกุพพนาฤทธิ์ คือ ฤทธิ์ที่แสดงทำให้เป็นได้หลาย ๆ อย่าง
'''มโนมยาฤทธิ์'''
ก็พระโยคีผู้ต้องการจะเจริญมโนมยาฤทธิ์ พึงออกจากฌานที่เป็นบาทแล้ว นึกถึงกายก่อนแล้วอธิษฐานตามวิธีการที่กล่าวแล้วว่า สุสิโร โหตุ ขอจงเป็นโพลง ดังนี้ ร่างกายก็ย่อมเป็นโพรงขึ้นได้ดังใจหมาย ต่อจากนั้นจึงค่อยนึกถึงกายอื่นไว้ภายในของกายนั้น ทำบริกรรมแล้วจึงอธิษฐานตามนัยดังที่กล่าวไว้แล้วนั่นแหละว่า กายอื่น จงมีในภายในกายนั้น พระโยคีนั้นย่อมชักกายนั้นออกกลับมาได้ คล้ายชักไส้หญ้าปล้องออกจากหญ้าปล้อง และดุจชักดาบออกจากฝัก และมีครุวนาดุจดังงูออกจากขวด ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พระสารีบุตรจึงกล่าวไว้ว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมนิรมิตกายให้เป็นอย่างอื่นจากร่างกายนี้ ให้มีรูปร่างสำเร็จแล้วตามใจปรารถนา มีองค์อวัยวะครบถ้วนทุกอย่าง มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง
''(หน้าที่ 279)''
เช่นเดียวกับบุรุษชักไส้หญ้าปล้องออก บุรุษนั้นแลก็จะพึงมีความรู้อย่างนี้ว่า ส่วนนี้เป็นหญ้าปล้อง ส่วนนี้เป็นไส้หญ้าปล้อง หญ้าปล้องเป็นส่วนหนึ่ง ไส้หญ้าปล้องก็เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก แต่ว่าไส้หญ้าปล้อง เราชักออกจากหญ้าปล้อง ดังนี้เป็นต้น ก็ในข้ออุปมาเหล่านี้ท่านกล่าวไว้ในที่นี้ เพื่อแสดงว่า ไส้หญ้าปล้องเป็นต้นเป็นของคล้ายกับหญ้าปล้องเป็นต้น ฉันใด รูปที่สำเร็จด้วยใจก็เป็นของคล้ายกันกับภิกษุผู้มีฤทธิ์ฉันนั้น นี้ชื่อว่า มโนมยาฤทธิ์ ฤทธิ์ที่สำเร็จด้วยใจ
'''อิทธิวิธนิทเทส ปริจเฉทที่ 12'''
'''ในปกรณ์วิเศษ ชื่อวิสุทธิมรรค'''
'''อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นไว้เพื่อความปราโมทย์แห่งสาธุชน'''
'''ยุติลงด้วยประการฉะนี้'''
=ดูเพิ่ม=
*'''ขุททกนิกาย [[ปฏิสัมภิทามรรค ฉบับปรับสำนวน]]'''
*'''[[วิสุทธิมรรค ฉบับปรับสำนวน]] (สารบัญ)'''