วิสุทธิมรรค_03_กัมมัฏฐานคหณนิทเทส

อยู่ในระหว่างปรับสำนวน

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)

(หน้า 127)

เริ่มเรื่องสมาธิ

โดยเหตุที่โยคีบุคคลเมื่อตั้งตนไว้ในศีลอันบริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยคุณทั้งหลายมีความเป็นผู้มักน้อยเป็นต้น ซึ่งสำเร็จขึ้นด้วยการบำเพ็ญธุดงควัตรฉะนี้แล้ว จำต้องจะเจริญสมาธิภาวนาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ด้วยหัวข้อว่า จิตฺตํ โดยพระบาลีว่า สีเล ปติฏฺฐายนโร สปญฺโญ จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ ดังนี้ประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่ง โดยเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสมาธินั้นไว้อย่างย่อสั้นมาก ไม่ต้องกล่าวถึงที่จะเจริญภาวนา แม้แต่เพียงจะเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ก็ไม่ใช่จะเป็นสิ่งที่จะกระทำได้ง่ายเลย ฉะนั้น บัดนี้ เพื่อที่จะแสดงสมาธินั้นอย่างพิสดาร และเพื่อที่จะแสดงวิธีเจริญสมาธินั้น จึงขอตั้งปัญหากรรมเป็นมาตรฐานขึ้นไว้ดังต่อไปนี้ คือ –

คำถามเรื่องสมาธิ

  1. สมาธิคืออะไร?
  2. อะไรเป็นสภาวะของสมาธิ?
  3. อะไรเป็นลักษณะ, รส, ปัจจุปัฏฐาน, ปทัฏฐานของสมาธิ
  4. สมาธิมีกี่อย่าง
  5. อะไรเป็นความเศร้าหมองของสมาธิ อะไรเป็นความผ่องแผ้วของสมาธิ
  6. ทำภาวนาสมาธิได้อย่างไร และ
  7. อะไรเป็นอานิสงส์ของสมาธิภาวนา

(หน้า 128)

คำตอบเรื่องสมาธิ

บรรดาปัญหาเหล่านั้น มีคำว่าวิสัชนาดังต่อไปนี้ –

ปัญหาข้อว่า สมาธิคืออะไร? วิสัชนาว่า สมาธินั้นมีหลายอย่างหลายประการด้วยกัน การที่จะยกมาวิสัชนาแสดงให้แจ่มแจ้งทุก ๆ อย่างนั้น เห็นทีจะไม่สำเร็จสมความหมายเฉพาะที่ต้องการ กลับจะทำให้เกิดความฟั่นเฝือยิ่งขึ้นเสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอวิสัชนาเจาะเอาเฉพาะที่ต้องการในที่นี้ว่า ภาวะที่จิตมีอารมณ์อันเดียวฝ่ายกุศล ชื่อว่าสมาธิ

ปัญหาข้อว่า อะไรเป็นสภาวะของสมาธิ? นั้น มีวิสัชนาว่า ที่ชื่อว่าสมาธิ เพราะอรรถว่า ความตั้งมั่น ที่ว่า ความตั้งมั่น นี้ได้แก่อะไร ? ได้แก่ ความตั้งอยู่หรือความดำรงอยู่ของจิตและเจตสิกทั้งหลายในอารมณ์อันเดียวอย่างสม่ำเสมอ และโดยถูกทางด้วย เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิกทั้งหลายย่อมตั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างสม่ำเสมอ และโดยถูกทางด้วย ไม่ฟุ้งซ่านและไม่ส่ายไปในอารมณ์อื่น ด้วยอำนาจแห่งธรรมชาติใด ธรรมชาตินี้พึงทราบว่า คือ ความตั้งมั่น

ปัญหาข้อว่า อะไร เป็นลักษณะ, เป็นรส, เป็นอาการปรากฎ และเป็นปทัฏฐานของสมาธิ นั้น มีวิสัชนาว่า สมาธินั้นมีความไม่ฟุ้งซ่านเป็น ลักษณะ มีการกำจัดเสียซึ่งความฟุ้งซ่านเป็น รส มีการไม่หวั่นไหวเป็น อาการปรากฎ มีความสุขเป็น ปทัฎฐาน พระบาลีรับรองว่า สุขิโน จิตฺตํ สมาธิยติ จิตของบุคคลผู้มีความสุขย่อมตั้งมั่น ฉะนี้

ปัญหาข้อว่า สมาธิ มีกี่อย่าง นั้น มีวิสัชนาว่า-

1. สมาธิมีอย่างเดียว ด้วยมีลักษณะไม่ฟุ้ง เป็นประการแรก

(หน้า 129)

2. สมาธิมี 2 อย่าง ดังนี้คือ-หมวดที่ 1 โดยแยกเป็นอุปจารสมาธิ 1 อัปปนาสมาธิ 1 หมวดที่ 2 โดยแยกเป็น โลกิยสมาธิ 1 โลกุตตรสมาธิ 1 หมวดที่ 3 โดยแยกเป็นสัปปีติกสมาธิ สมาธิประกอบด้วยปีติ 1 นิปปีติกสมาธิ สมาธิปราสจากปีติ 1 หมวดที่ 4 โดยแยกเป็น สุขสหคตสมาธิ สมาธิประกอบด้วยสุขเวทนา 1 อุเปกขาสหคตสมาธิ สมาธิประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา 1

3. สมาธิมี 3 อย่าง ดังนี้คือ-หมวดที่ 1 โดยแยกเป็น หีนสมาธิ 1 มัชฌิมสมาธิ 1 ปณีตสมาธิ 1 หมวดที่ 2 โดยแยกเป็น สวิตักกสวิจารสมาธิ สมาธิมีทั้งวิตกมีทั้งวิจาร 1 อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ สมาธิไม่มีวิตกมีแต่วิจาร 1 อวิตักกาวิจารสมาธิ สมาธิไม่มีทั้งวิตกทั้งวิจาร 1 หมวดที่ 3 โดยแยกเป็น ปีติสหคตสมาธิ สมาธิประกอบด้วยปีติ 1 สุขสหคตสมาธิ สมาธิประกอบด้วยสุขเวทนา 1 อุเปกขาสหคตสมาธิ สมาธิประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา 1 หมวดที่ 4 โดยแยกเป็น ปริตตสมาธิ สมาธิมีประมาณน้อย 1 มหัคคตสมาธิ สมาธิอันยิ่งใหญ่ 1 อัปปมาณสมาธิ สมาธิอันหาประมาณมิได้ 1

4. สมาธิมี 4 อย่าง ดังนี้คือ-หมวดที่ 1 โดยแยกเป็น ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญาสมาธิ สมาธิที่มีปฏิปทาลำบากทั้งรู้ช้า 1 ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญาสมาธิ สมาธิที่มีปฏิปทาลำบากแต่รู้เร็ว 1 สุขาปฏิปทาทันธาภิญญาสมาธิ สมาธิที่มีปฏิปทาสบายแต่รู้ช้า 1 สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญาสมาธิ สมาธิที่มีปฏิปทาสบายด้วยรู้เร็วด้วย 1 หมวดที่ 2 โดยแยกเป็น ปริตตปริตตารัมมณสมาธิ สมาธที่ไม่คล่องแคล่วและไม่ได้ขยายอารมณ์ 1 ปริตตอัปปมาณารัมมณสมาธิ สมาธิที่ไม่คล่องแคล่วแต่ขยายอารมณ์ 1 อัปปมาณปริตตารัมมณสมาธิ สมาธิที่คล่องแคล่วแต่ไม่ได้ขยายอารมณ์ 1 หมวดที่ 3 โดยแยกเป็นองค์แห่งฌาน 4 คือ องค์แห่งปฐมฌาน 1 องค์แห่งทุติยฌาน 1 องค์แห่งตติยฌาน 1 องค์แห่งจตุตถฌาน 1 หมวดที่ 4 โดยแยกเป็น หานภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งความเสื่อม 1 ฐิติภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งความติดแน่น 1 วิเสสภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งคุณวิเศษ 1 นิพเพธภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งอันแทงทะลุสัจธรรม 1 หมวดที่ 5 โดยแยก

(หน้า 130)

เป็น กามาวจรสมาธิ สมาธิเป็นกามาวจร 1 รูปาวจรสมาธิ สมาธิเป็นรูปาวจร 1 อรูปาวจรสมาธิ สมาธิเป็นอรูปาวจร 1 อปริยาปันนสมาธิ สมาธิเป็นโลกุตตระ 1 หมวดที่ 6 โดยแยกเป็น ฉันทาธิปติสมาธิ สมาธิมีฉันทะเป็นอธิบดี 1 วีริยาธิปติสมาธิ สมาธิมีวีริยะเป็นอธิบดี 1 จิตตาธิปติสมาธิ สมาธิมีจิตเป็นอธิบดี 1 วิมังสาธิปติสมาธิ สมาธิมีวิมังสาคือปัญญาเป็นอธิบดี 1

5. สมาธิมี 5 อย่าง ดังนี้คือ- โดยแยกเป็น องค์แห่งฌาน 5 ในปัญจกนัย ได้แก่ องค์แห่งปฐมฌาน 1 องค์แห่งทุติยฌาน 1 องค์แห่งตติฌาน 1 องค์แห่งจตุตถฌาน 1 องค์แห่งปัญจมฌาน 1

ในสมาธิอย่างเดียวและสมาธิมี 2 อย่างนั้น สมาธิที่มีส่วนอย่างเดียวมีเนื้อความกระจ่างอยู่แล้ว (คือ ด้วยมีลักษณะไม่ฟุ้ง) ไม่ต้องพรรณนาความอีก

ในสมาธิที่มีส่วน 2 อย่าง หมวดที่ 1 ที่ว่า สมาธิมี 2 อย่าง โดยแยกเป็นอุปจารสมาธิ 1 อัปปนาสมาธิ 1 นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้- ภาวะที่จิตเป็นเอกัคคตา ที่โยคีบุคคลได้มาด้วยอำนาจกัมมัฏฐาน 10 เหล่านี้คือ อนุสสติ 6 (พุทธานุสสติถึงเทวตานุสสติ) มรณสติ 1 อุปสมานุสสติ 1 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถาน 1 นี้อย่างหนึ่ง กับเอกัคคตาในบุพภาคเบื้องต้นแห่งอัปปนาสมาธิทั้งหลายอย่างหนึ่ง เอกัคคตาชนิดนี้เรียกว่า อุปจารสมาธิ ส่วนเอกัคคตาถัดไปแต่บริกรรมภาวนา เอกัคคตาชนิดนี้ เรียกว่า อัปปนาสมาธิ เพราะมีพระบาลีรับรองว่า บริกรรมภาวนาแห่งปฐมฌาน ย่อมเป็นปัจจัยแก่ปฐมฌานโดยอนันตรปัจจัย ฉะนี้

(หน้า 131)

หมวดที่ 2 ที่ว่า สมาธิมี 2 อย่าง โดยแยกเป็น โลกิยสมาธิ 1 โลกุตตรสมาธิ 1 นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้- เอกัคคตาที่ประกอบด้วยกุศลจิต ในภูมิ 3 คือ กามภูมิ, รูปภูมิ และอรูปภูมิ เรียกว่า โลกิยสมาธิ เอกัคคตาที่ประกอบด้วยอริยมัคคจิต เรียกว่า โลกุตตรสมาธิ

หมวดที่ 3 ที่ว่า สมาธิมี 2 อย่าง โดยแยกเป็น สัปปีติกสมาธิ 1 นิปปีติกสมาธิ 1 นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้- เอกัคคตาในฌาน 2 ข้างต้นในจตุกกนัย และในฌาน 3 ข้างต้นในปัญจกนัย เรีกว่า สัปปีติกสมาธิ คือสมาธิที่ประกอบด้วยปีติ เอกัคคตาในฌาน 2 ที่เหลือข้างปลาย เรียกว่า นิปปีติกสมาธิ คือสมาธิที่ปราศจากปีติ ส่วนอุปจารสมาธิที่ประกอบด้วยปีติก็มี ที่ปราศจากปีติก็มี

หมวดที่ 4 ที่ว่า สมาธิมี 2 อย่าง โดยแยกเป็น สุขสหคตสมาธิ 1 อุเปกขาสหคตสมาธิ 1 นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้- เอกัคคตาในฌาน 3 ข้างต้นในจตุกกนัย และในฌาน 4 ข้างต้นในปัญจกนัย เรียกว่า สุขสหคตสมาธิ คือสมาธิที่ประกอบด้วยสุขเวทนาเอกัคคตาในฌานที่เหลือข้างปลาย เรียกว่า อุเปกขาสหคตสมาธิ คือสมาธิที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ส่วนอุปจารสมาธิที่ประกอบด้วยสุขเวทนาก็มี ที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาก็มี

ในสมาธิที่แยกเป็น 3 อย่าง หมวดที่ 1 ที่ว่า สมาธิมี 3 อย่างโดยแยกเป็น หีนสมาธิ 1 มัชฌิมสมาธิ 1 ปณีตสมาธิ 1 นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้- สมาธิที่พอได้บรรลุยังไม่ได้ส้องเสพให้หนัก ยังไม่ได้ทำให้มาก ๆ เรียกว่า หีนสมาธิ คือสมาธิขั้นต่ำ สมาธิที่ทำให้เกิดขึ้นยังไม่ได้ที่ คือยังไม่ได้ทำให้ถึงความคล่องแคล่วเป็นอย่างดี เรียกว่า มัชฌิมสมาธิ สมาธิขั้นกลาง สมาธิที่ทำให้เกิดขึ้นได้ที่ดีแล้ว คือถึงความเป็นวสีมีความสามารถอย่างคล่องแคล่วแล้ว เรียกว่า ปณีตสมาธิ สมาธิขั้นประณีต ไขความว่า ที่ชื่อว่า หีนสมาธิ เพราะให้เป็นไปด้วยความปรารถนาผลบุญอันโอฬาร ที่ชื่อว่า มัชฌิมสมาธิ เพราะให้เป็นไปด้วยจะให้สำเร็จอภิญญาโลกีย์ ที่ชื่อว่า ปณีตสมาธิ เพราะท่านผู้ดำรงอยู่ในอริยภาพให้เป็นไปด้วยปรารถนาความสงัดจิต อีกนัยหนึ่ง ที่ชื่อว่า หีนสมาธิ เพราะให้เป็นไปเพื่อ

(หน้า 132)

ประโยชน์ส่วนตน ด้วยต้องการภวสมบัติ ที่ชื่อว่า มัชฌิมสมาธิ เพราะให้เป็นไปด้วยอัธยาศัยที่ไม่โลภอย่างเดียว ที่ชื่อว่า ปณีตสมาธิ เพราะให้เป็นไปเพื่อประโยชน์คนอื่น อีกนัยหนึ่ง ที่ชื่อว่า หีนสมาธิ เพราะให้เป็นไปด้วยมีอัธยาศัยติดอยู่ในวัฏฏะ ที่ชื่อว่า มัชฌิมสมาธิ เพราะให้เป็นไปด้วยอัธยาศัยชอบความสงัด ที่ชื่อว่า ปณีตสมาธิ เพราะให้เป็นไปด้วยอัธยาศัย ใคร่ปราศจากวัฏฏ ด้วยต้องการให้บรรลุถึงโลกุตตรธรรม

หมวดที่ 2 ที่ว่า สมาธิ มี 3 อย่าง โดยแยกเป็น สวิตักกสวิจารสมาธิ 1 อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ 1 อวิตักกาวิจารสมาธิ 1 นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ - สมาธิในปฐมฌานรวมทั้งอุปจารสมาธิ เรียกว่า สวิตักสวิจารสมาธิ สมาธิมีทั้งวิตกทั้งวิจาร สมาธิในทุติยฌานในปัญจกนัย เรียกว่า อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ สมาธิไม่มีวิตกมีแต่วิจารอธิบายว่า โยคีบุคคลใดเห็นโทษแต่ในวิตกอย่างเดียวไม่เห็นโทษในวิจาร จึงปรารถนาที่จะละวิตกอย่างเดียว ผ่านพ้นปฐมฌานไป โยคีผู้นั้นย่อมได้สมาธิที่ไม่มีวิตกมีแต่วิจาร ข้อว่าอวิตักกวิจารมัตตสมาธินั้น หมายเอาสมาธิที่กล่าวนี้ เอกัคคตาในฌาน 3 สำหรับจตุกกนัยมีทุติยฌานเป็นต้นไป สำหรับปัญจกนัย มีตติยฌานเป็นต้นไป เรียกว่า อวิตักกาวิจารสมาธิ สมาธิไม่มีทั้งวิตกทั้งวิจาร

หมวดที่ 3 ที่ว่า สมาธิมี 3 อย่าง โดยแยกเป็น ปีติสหคตสมาธิ 1 สุขสหคตสมาธิ 1 อุเปกขาสหคตสมาธิ 1 นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้- เอกัคคตาในฌาน 2 เบื้องต้นในจตุกกนัย และในฌาน 3 เบื้องต้นในปัญจกนัย เรียกว่า ปีติสหคตสมาธิ สมาธิประกอบด้วยปีติ เอกัคคตาในฌานที่ 3 และฌานที่ 4 ในจตุกกนัยและปัญจกนัยนั้นนั่นแหละ เรียกว่า สุขสหคตสมาธิ สมาธิประกอบด้วยสุขเวทนา เอกัคคตาในฌานอันสุดท้ายทั้งในจตุกกนัยและปัญจกนัย คือในจตุตถฌานหรือในปัญจมฌาน เรียกว่า อุเปกขาสหคตสมาธิ สมาธิประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ส่วนอุปจารสมาธิ ประกอบด้วยสุขเวทนาก็มี ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาก็มี

หมวดที่ 4 ที่ว่าสมาธิมี 3 อย่าง โดยแยกเป็น ปริตตสมาธิ 1 มหัคคตสมาธิ 1 อัปปมาณสมาธิ 1 นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้- เอกัคคตาในอุปจารฌานภูมิ คือในจิตตุปบาทที่ประกอบด้วยอุปจารฌาน เรียกว่า ปริตตสมาธิ สมาธิมีประมาณน้อย ( หรือกามาวรจรสมาธิ )

(หน้าที่ 133)

เอกัคคตาในรูปาวจรกุศลจิตและอรูปาวจรกุศลจิต เรียกว่า มหัคคตสมาธิ สมาธิอันยิ่งใหญ่อธิบายว่า สมาธิที่ถึงภาวะอันยิ่งใหญ่โดยการข่มกิเลส 1 โดยมีผลอันไพบูลย์กว้างขวาง 1 โดยสืบต่ออยู่ได้นาน ๆ 1 หรือสมาธิที่ดำเนินไปด้วยคุณอันยี่งใหญ่มีฉันทะอันยิ่งใหญ่เป็นต้น เรียกว่า มหัคคตสมาธิ เอกัคคตาที่ประกอบด้วยอริยมัคคจิต คือที่เกิดร่วมกับอริยมัคคจิต เรียกว่า อัปปมาณสมาธิ สมาธิอันหาประมาณมิได้ หรือสมาธิอันมีธรรมหาประมาณมิได้เป็นอารมณ์

ในสมาธิที่แยกเป็น 4 อย่างหมวดที่ 1 ที่ว่า สมาธิมี 4 อย่างโดยแยกเป็นทุขาปฎิปทาทันธาภิญญาสมาธิ เป็นต้นนั้น มีอรรถาธิบายดังนี้คือ-

สมาธิ 4 อย่าง ได้แก่ ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญาสมาธิ 1 ทุกขาปฎิปทาขิปปาภิญญาสมาธิ 1 สุขาปฎิปทาทันธาภิญญาสมาธิ 1 สุขาปฎิปทาขิปปาภิญญาสมาธิ 1

อธิบายว่า ในปฎิปทาและอภิญญา 2 อย่างนั้น การเจริญภาวนาสมาธิที่ดำเนินไปนับตั้งแต่ลงมือสำรวจจิตเจริญกัมมัฎฐานครั้งแรก จนถึงอุปจารฌานของฌานนั้น ๆ เกิดขึ้นเรียกว่า ปฎิปทา คือการปฎิบัติ ส่วนปัญญาที่ดำเนินไป นับตั้งแต่อุปจารฌานไปจนถึงอัปปนาฌาน เรียกว่า อภิญญา คือการรู้แจ้ง ก็แหละปฎิปทาคือการปฎิบัตินี้นั้น ย่อมเป็นทุกข์คือลำบาก ส้องเสพไม่สะดวกสำหรับโยคีบุคคลบางคน เพราะการรบเร้าและยึดครองของธรรมที่เป็นข้าศึกมีนิวรณ์เป็นต้น แต่เป็นความสะดวกสบายสำหรับโยคีบุคคลบางคนเพราะไม่มีการรบเร้าและยึดครองของธรรมที่เป็นข้าศึก แม้อภิญญาคือการรู้แจ้งก็เป็นการเชื่องช้าเฉื่อยชา ไม่เกิดโดยฉับพลันสำหรับโยคีบุคคลบางคน แต่สำหรับโยคีบุคคลบางคนก็รวดเร็วไม่เฉื่อยชาเกิดโดยฉับพลัน

ก็แหละ ธรรมอันเป็นที่สบายและไม่เป็นที่สบาย 1 บุพกิจเบื้องต้นมีการตัดปลิโพธคือเครื่องกังวลให้สิ้นห่วง 1 และความฉลาดในอัปปนาทั้งหลาย 1 เหล่าใด ที่ข้าพเจ้าจักยกมาพรรณนาข้างหน้า ในบรรดาธรรมเหล่านั้น โยคีบุคคลใดเป็นผู้ส้องเสพธรรมอันไม่เป็นที่

(หน้าที่ 134)

สบาย โยคีบุคคลผู้นั้นย่อมมีปฏิปทาคือการปฏิบัติลำบากเป็นทุกข์ และมีอภิญญาคือการรู้แจ้งเชื่องช้า โยคีบุคคลผู้ส้องเสพธรรมอันเป็นที่สบาย ย่อมมีปฏิปทาคือการปฏิบัติสะดวกสบาย และมีอภิญญาคือการรู้แจ้งอย่างรวดเร็ว ส่วนโยคีบุคคลใด ในตอนต้นก่อนแต่ได้บรรลุอุปจารสมาธิ ส้องเสพธรรมอันไม่เป็นที่สบาย ตอนหลังจากที่บรรลุอุปจารสมาธิแล้ว ได้ส้องเสพธรรมอันเป็นที่สบาย หรือในตอนต้นได้ส้องเสพธรรมอันเป็นที่สบาย ตอนหลังได้ส้องเสพธรรมอันไม่เป็นที่สบาย พึงทราบว่า ปฏิปทาและอภิญญาของโยคีบุคคลนั้นคละกัน อธิบายว่า โยคีบุคคลใดในตอนต้นส้องเสพธรรมอันไม่เป็นที่สบาย ตอนหลังได้ส้องเสพธรรมอันเป็นที่สบาย โยคีบุคคลนั้นมีปฏิปทาลำบากเป็นทุกข์ แต่มีอภิญญาการรู้แจ้งอย่างรวดเร็ว ส่วนโยคีบุคคลใด ในตอนต้นส้องเสพธรรมอันเป็นที่สบาย ตอนหลังได้ส้องเสพธรรมอันไม่เป็นที่สบาย โยคีบุคคลนั้น มีปฏิปทาสะดวกสบาย แต่มีอภิญญาการรู้แจ้งเชื่องช้า พึงทราบสมาธิที่ 2 และที่ 3 เพราะความคละกันแห่งสมาธิที่ 1 และที่ 4 ฉะนี้

สำหรับโยคีบุคคลผู้ไม่ได้จัดแจง ทำบุพกิจเบื้องต้นมีการตัดปลิโพธเครื่องกังวลให้สิ้นห่วงเป็นต้นเสียก่อน แล้วลงมือประกอบเจริญภาวนาก็เหมือนกัน คือย่อมมีปฏิปทาการปฏิบัติลำบากเป็นทุกข์ โดยปริยายตรงกันข้าม สำหรับโยคีบุคคลผู้จัดแจงทำบุพกิจให้เสร็จสิ้นแล้ว จึงลงมือประกอบการเจริญภาวนา ย่อมมีปฏิปทาสะดวกสบาย ส่วนโยคีบุคคลผู้ไม่ได้ท่องจำอัปปนาโกศล คือความเป็นผู้ฉลาดในอัปปนาให้สำเร็จก่อน ย่อมมีอภิญญาการรู้แจ้งอย่างเชื่องช้า ผู้ที่ท่องจำอัปปนาโกศลให้สำเร็จก่อน ย่อมมีอภิญญาการรู้แจ้งอย่างรวดเร็ว

อีกประการหนึ่ง พึงทราบประเภทของปฏิปทาและอภิญญานี้ด้วยอำนาจแห่งตัณหาและอวิชชา 1 ด้วยอำนาจแห่งสมถาธิการและวิปัสสนาธิการ 1 ต่อไป กล่าวคือ โยคีบุคคลผู้อันตัณหาครอบงำ ย่อมมีปฏิปาทาเป็นทุกข์ ผู้ไม่ถูกตัณหาครอบงำ ย่อมมีปฏิปทาสะดวกสบาย และโยคีบุคคลผู้มีอวิชชาครอบงำ ย่อมมีอภิญญาเชื่องช้า ผู้ที่ไม่ถูกอวิชชาครอบงำ ย่อมมีอภิญญารวดเร็ว และโยคีบุคคลผู้มีอธิการอันไม่ได้ทำไว้ในสมถภาวนา ย่อมมีปฏิปทาลำบากเป็นทุกข์ ผู้มีอธิการโดยไม่ได้ทำไว้ในวิปัสสนาภาวนา ย่อมมีอภิญญาเชื่องช้า ผู้มีอธิการอันได้ทำไว้แล้ว ย่อมมีอภิญญารวดเร็ว

(หน้าที่ 135)

พึงทราบประเภทของปฏิปทาและอภิญญาเหล่านี้ แม้ด้วยอำนาจแห่งกิเลสและอินทรีย์ 5 อีก กล่าวคือโยคีบุคคลผู้มีกิเลสรุนแรง แต่มีอินทรีย์ย่อหย่อน ย่อมมีปฏิปทาลำบากเป็นทุกข์ และมีอภิญญาเชื่องช้า ส่วนผู้มีอินทรีย์แก่กล้า ย่อมมีอภิญญารวดเร็ว และโยคีบุคคลผู้มีกิเลสบางเบา มีอินทรีย์ย่อหย่อน ย่อมมีปฏิปทาสะดวกสบาย แต่มีอภิญญาเชื่องช้า ส่วนผู้มีอินทรีย์แก่กล้า ย่อมมีอภิญญารวดเร็ว

ด้วยประการฉะนี้ ในปฏิปทาและอภิญญาเหล่านี้ โยคีบุคคลใดได้บรรลุซึ่งสมาธิ ด้วยปฏิปทาอันลำบากเป็นทุกข์และด้วยอภิญญาอันเชื่องช้า สมาธิของโยคีบุคคลนั้น เรียกว่า ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญาสมาธิ โยคีบุคคลใดได้บรรลุซึ่งสมาธิด้วยปฏิปทาอันลำบากเป็นทุกข์และด้วยอภิญญาอันรวดเร็ว สมาธิของโยคีบุคคลนั้น เรียกว่า ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญาสมาธิ โยคีบุคคลใดได้บรรลุซึ่งสมาธิด้วยปฏิปทาอันสะดวกสบายและด้วยอภิญญาอันเชื่องช้า สมาธิของโยคีบุคคลนั้น เรียกว่า สุขาปฏิปทาทันธาภิญญาสมาธิ โยคีบุคคลใดได้บรรลุซึ่งสมาธิด้วยปฏิปทาอันสะดวกสบายและด้วยอภิญญาอันรวดเร็ว สมาธิของโยคีบุคคลนั้น เรียกว่า สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญาสมาธิ

หมวดที่ 2 ที่ว่า สมาธิมี 4 อย่างโดยแยกเป็น ปริตตปริตตารัมมณสมาธิ เป็นต้น นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ คือ –

สมาธิ 4 อย่างได้แก่ ปริตตปริตตารัมมณสมาธิ 1 ปริตตอัปปมาณารัมมณสมาธิ 1 อัปปมาณปริตตารัมมณสมาธิ 1 อัปปมาณอัปปมาณารัมมณสมาธิ 1 อธิบายว่าในสมาธิเหล่านั้น สมาธิใดยังไม่คล่องแคล่ว ไม่สามารถที่จะเป็นปัจจัยแก่ฌานเบื้องสูงขึ้นไปได้ สมาธินี้ชื่อว่า ปริตตสมาธิ สมาธิมีประมาณน้อย ส่วนสมาธิใดเป็นไปในอารมณ์ ที่ไม่ได้ขยาย สมาธินั้นชื่อว่า ปริตตารัมมณสมาธิ สมาธิมีอารมณ์มีประมาณน้อย สมาธิใดคล่องแคล่วแล้ว เจริญให้เกิดขึ้นได้ที่แล้ว สามารถที่จะเป็นปัจจัยแก่ฌานเบื้องสูงขึ้นไปได้ สมาธินี้ชื่อว่า อัปปมาณสมาธิ สมาธิหาประมาณมิได้ และสมาธิใดเป็นไปในอารมณ์ที่ขยายแล้ว สมาธินี้ชื่อว่า อัปปมาณารัมมณสมาธิ สมาธิมีอารมณ์หาประมาณมิได้ ส่วนนัยที่คละกันแห่งสมาธิที่ 1 และที่ 4 ซึ่งสงเคราะห์เข้าเป็นสมาธิที่ 2 และที่ 3 พึงทราบ โดยความคละกันแห่งลักษณะที่กล่าวแล้วดังนี้คือ สมาธิใดยังไม่คล่องแคล่ว ไม่สามารถที่จะ

(หน้าที่ 136)

เป็นปัจจัยแก่ฌานเบื้องสูงขึ้นไปได้ แต่เป็นไปในอารมณ์ที่ขยายแล้ว สมาธินี้ชื่อว่า ปริตตอัปปมาณารัมมณสมาธิ สมาธิมีประมาณน้อยมีอารมณ์หาประมาณมิได้ ส่วนสมาธิใดคล่องแคล่วแล้ว สามารถที่จะเป็นปัจจัยแก่ฌานเบื้องสูงขึ้นไปได้ แต่เป็นไปในอารมณ์ที่ไม่ได้ขยาย สมาธินี้ชื่อว่า อัปปมาณปริตตารัมมณสมาธิ สมาธิหาประมาณมิได้มีอารมณ์มีประมาณน้อย

หมวดที่ 3 ที่ว่า สมาธิมี 4 อย่าง โดยแยกเป็นองค์แห่งฌาน 4 นั้น โดยแยกเป็นองค์แห่งฌาน 4 นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ คือ –

ปฐมฌานมีองค์ 5 ด้วยอำนาจวิตก 1 วิจาร 1 ปีติ 1 สุข 1 สมาธิ 1 ซึ่งข่มนิวรณ์ได้แล้ว เหนือจากปฐมฌานไป วิตกกับวิจารสงบลง ทุติยฌานจึงมีเพียงองค์ 3 คือ ปีติ 1 สุข 1 สมาธิ 1 เหนือจากทุติฌานไป ปีติสร่างหายไป ตติฌานจึงมีเพียงองค์ 2 คือ สุข 1 สมาธิ 1 เหนือจากตติยฌานไปละสุขเสีย แต่จตุตถฌานคงมีองค์ 2 ด้วยอำนาจสมาธิ 1 ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา 1 ด้วยประการฉะนี้ องค์แห่งฌาน 4 เหล่านี้จึงเป็นสมาธิ 4 อย่าง

สมาธิ 4 อย่างโดยแยกเป็นองค์ฌาน 4 ยุติเพียงเท่านี้

หมวดที่ 4 ที่ว่า สมาธิมี 4 โดยแยกเป็น หานภาคิยสมาธิ เป็นต้น มีอรรถาธิบาย ดังนี้ คือ –

สมาธิ 4 อย่างได้แก่ หานภาคิยสมาธิ 1 ฐิติภาคิยสมาธิ 1 วิเสสภาคิยสมาธิ 1 นิพเพธภาคิยสมาธิ 1 อธิบายว่า ในสมาธิ 4 อย่างนั้น พึงทราบว่า ที่ชื่อว่า หานภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งความเสื่อม ด้วยอำนาจของความรบกวนของธรรมเป็นข้าศึกของฌานนั้น ๆ มีนิวรณ์, วิตกและวิจาร เป็นต้น ชื่อว่า ฐิติภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งความติดแน่น ด้วยอำนาจความติดแน่นด้วยสติอันสมควรแก่สมาธินั้น ที่ชื่อว่า วิเสสภาคิยสมาธิสมาธิเป็นไปในส่วนแห่งคุณวิเศษ ด้วยอำนาจเป็นเหตุบรรลุซึ่งคุณวิเศษเบื้องสูงขึ้นไป และที่ชื่อว่า นิพเพธภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งอันแทงทะลุสัจธรรม ด้วยอำนาจความใฝ่ใจในสัญญาอันประกอบด้วยนิพพิทาญานและความเร่งเร้า เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า –

(หน้าที่ 137)

บุคคลผู้ใดสำเร็จปฐมฌาน ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายอันประกอบด้วยความหมายมั่นในกามคุณ ย่อมเร่งเร้ารบกวนอยู่ ปัญญาก็ยังมีส่วนแห่งความเสื่อม, สติอันสมควรแก่ฌานนั้น ย่อมติดแน่น ปัญญาก็มีส่วนแห่งความติดมั่น, ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายอันประกอบด้วยฌานที่ไม่มีวิตก ย่อมเร่งเร้า ปัญญาก็มีส่วนแห่งคุณวิเศษ, ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายอันประกอบด้วยญาณเป็นเหตุให้เบื่อหน่าย ย่อมเร่งเร้า ปัญญามีส่วนแห่งความแทงทะลุสัจธรรม ประกอบด้วยธรรมอันคลายความกำหนัด

ก็แหละ แม้สมาธิที่ประกอบด้วยปัญญานั้น ก็จัดเป็นสมาธิ 4 อย่าง ฉะนี้

สมาธิ 4 อย่างโดยแยกเป็น หานภาคิยสมาธิ เป็นต้น ยุติเพียงเท่านี้

หมวดที่ 5 ที่ว่ามี 4 อย่างโดยแยกเป็น กามาวจรสมาธิ เป็นต้นนั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ คือ –

สมาธิ 4 อย่างนั้น คือ กามาวจรสมาธิ 1 อรูปาวจรสมาธิ 1 อปริยาปันนสมาธิ 1 อธิบายว่า ในสมาธิ 4 อย่างนั้น เอกัคคตาในอุปจารฌานแม้ทั้งสิ้น เรียกว่า กามาวจรสมาธิ จิตเตกัคคตาอันเป็นรูปาวจรกุศล เรียกว่า รูปาวจรสมาธิ จิตเตกัคคตาอันเป็นอรูปาวจรกุศล เรียกว่า อรูปาวจรสมาธิ จิตเตกัคคตาอันเป็นโลกุตตรกุศล เรียกว่า อปริยาปันนสมาธิ

สมาธิ 4 อย่างโดยแยกเป็น กามาวจรสมาธิ เป็นต้น ยุติเพียงเท่านี้

หมวดที่ 6 ที่ว่า สมาธิมี 4 อย่างโดยแยกเป็น อธิบดี 4 นั้น มีอรรถาธิบายโดยมีพระบาลีรับสมอ้าง ดังนี้ คือ-

ถ้าภิกษุทำฉันทะให้เป็นอธิบดีแล้ว ได้สมาธิ ได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์อันเดียว สมาธินี้เรียกว่า ฉันทาธิปติสมาธิ ถ้าภิกษุทำวีริยะให้เป็น

(หน้าที่ 138)

อธิบดีแล้ว ได้สมาธิ ได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์อันเดียวสมาธินี้เรียกว่า วีริยาธิปติสมาธิ ถ้าภิกษุทำจิตให้เป็นอธิบดีแล้วได้สมาธิ ได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์อันเดียว สมาธินี้เรียกว่า จิตตาธิปติสมาธิ ถ้าภิกษุทำวิมังสาคือปัญญาให้เป็นอธิบดีแล้ว ได้สมาธิ ได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์อันเดียว สมาธินี้เรียกว่า วิมังสาธิปติสมาธิ

สมาธิ 4 อย่าง โดยแยกเป็นอธิบดี 4 ยุติเพียงเท่านี้

ในสมาธิที่แยกเป็น 5 อย่างนั้น นักศึกษาพึงทราบภาวะที่แยกสมาธิเป็น 5 อย่าง ด้วยอำนาจแห่งองค์ฌานทั้ง 5 ในปัญจกนัยดังนี้ คือ –

ฌานที่จัดเป็น 5 ฌานนั้น เพราะแยกทุติยฌานที่กล่าวไว้ในประเภทแห่งฌานโดยจตุกกนัยเป็น 2 ฌานอย่างนี้คือ เป็นทุติยฌานด้วยก้าวล่วงแต่วิตก 1 เป็นตติยฌานด้วยก้าวล่วงทั้งวิตกวิจาร 1 (นอกนั้นเหมือนในจตุกกนัย กล่าวคือ ปฐมฌานมีองค์ 5 ได้แก่ วิตก, วิจาร, ปีติ, สุข, และสมาธิ, ทุติยฌานมีองค์ 4 ได้แก่ วิจาร, ปีติ, สุข, และสมาธิ, ตติยฌานมีองค์ 3 ได้แก่ ปีติ, สุข, และสมาธิ, จตุตถฌานมีองค์ 2 ได้แก่ สุข และสมาธิ ปัญจมฌานมีองค์ 2 ได้แก่ อุเบกขาและสมาธิ) ก็แหละ องค์แห่งฌาน 5 เหล่านั้น เรียกว่า สมาธิ 5 อย่างด้วยประการฉะนี้

ก็แหละ ในปัญหา 2 ข้อที่ว่า อะไรเป็นความเศร้าหมองของสมาธิ และ อะไรเป็นความผ่องแผ้วของสมาธิ นี้ พระผู้มีพระภาคทรงวิสัชนาไว้ ในฌานวิภังค์แห่งคัมภีร์วิภังคปกรณ์แล้วนั่นเทียว เป็นความจริงทีเดียว ในฌานวิภังค์นั้นท่านแสดงไว้ว่า ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งความเสื่อม ชื่อว่า สังกิเลสคือความเศร้าหมองธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งคุณวิเศษ ชื่อว่า โวทานะคือความผ่องแผ้ว

ในธรรม 2 อย่างนั้น ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งความเสื่อม นักศึกษาพึงทราบโดยนัยดังนี้ว่า บุคคลผู้ใดสำเร็จปฐมฌาน ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายซึ่ง

(หน้าที่ 139)

ประกอบด้วยความมุ่งมั่นในกามคุณ ย่อมรบเร้าได้อยู่ ปัญญาก็มีส่วนแห่งความเสื่อม อธิบายว่า โยคีบุคคลผู้ได้สำเร็จปฐมฌานอันไม่คล่องแคล่ว เมื่อออกจากปฐมฌานนั้นแล้ว ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลาย ซึ่งเป็นสภาวะที่ประกอบด้วยความมั่นหมายในกามคุณด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ย่อมรบเร้า คือกระตุ้นเตือนได้อยู่ ปัญญาในปฐมฌานของโยคีบุคคลนั้นก็เสื่อมไป ด้วยอำนาจความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายที่มุ่งดิ่งไปหากามคุณ เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงมีส่วนแห่งความเสื่อม

ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งคุณวิเศษ นักศึกษาพึงทราบโดยนัยดังนี้ว่า ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายอันประกอบด้วยฌานที่ไม่วิตก ย่อมเร่งเร้า ปัญญาก็มีส่วนแห่งคุณวิเศษ อธิบายว่า เมื่อโยคีผู้ฌานลาภีบุคคลนั้นใฝ่ใจถึงทุตติยฌานอันไม่มีวิตกอยู่ ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายซึ่งประกอบด้วยฌานอันไม่มีวิตก ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ย่อมเร่งเร้า คือกระตุ้นเตือน ซึ่งโยคีบุคคลนั้นผู้ออกจากปฐมฌานอันคล่องแคล่วแล้ว ทั้งนี้เพื่อต้องการที่จะบรรลุซึ่งทุติยฌานต่อไป ปัญญาในปฐมฌานของโยคีบุคคลนั้น ด้วยอำนาจความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายที่มุ่งหน้าสู่ทุติยฌาน ชื่อว่า เป็นปัญญามีส่วนแห่งคุณวิเศษ เพราะเป็นปทัฏฐานแห่งการบังเกิดขึ้นของทุติยฌาน อันนับเป็นคุณวิเศษ

แต่อย่างไรก็ดี ณ ที่นี้ประสงค์เอาสมาธิซึ่งประกอบด้วยปัญญานั้น ส่วนหานภาคิยธรรม ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งความเสื่อม และวิเสสภาคิยธรรม ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งคุณวิเศษ ในทุติยฌานเป็นต้น นักศึกษาพึงทราบโดยวิธีที่กล่าวไว้แล้วในปฐมฌานนี้

ขั้นตอนทำสมาธิให้เกิดต่อเนื่องอย่างย่อ

ก็แหละ ในปัญหาข้อที่ว่า ทำภาวนาสมาธิได้อย่างไร นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ –

สมาธิอันประกอบด้วยอริยมรรคนี้ใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในคำมีอาทิว่า สมาธิมี 2 อย่าง โดยแยกเป็น โลกิยสมาธิ 1 โลกุตตรสมาธิ 1 ฉะนี้ นัยแห่งการภาวนาซึ่งสมาธิอัน

(หน้าที่ 140)

ประกอบด้วยอริยมรรคนั้น ท่านสงเคราะห์เข้าไว้กับนัยแห่งปัญญาภาวนาแล้วนั่นเทียว เพราะว่า เมื่อปัญญาอันโยคีบุคคลภาวนาให้เกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นอันได้ภาวนาให้สมาธินั้นเกิดขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น อริยมัคคสมาธินั้น ข้าพเจ้าจะไม่ยกเอามาอธิบายไว้แผนกหนึ่งต่างหากจากปัญญาภาวนาแต่ประการใดว่า อริยมัคคสมาธินั้นพึงเจริญภาวนาอย่างนี้ ๆ

บทบริกรรมกรรมฐาน

ส่วนสมาธิที่เป็นโลกิยะนี้ใด สมาธินั้นข้าพเจ้าจะยกมาอธิบายด้วยภาวนาวิธีต่อไปดังนี้ –

  1. โยคีบุคคลชำระศีลทั้งหลายให้บริสุทธิ์ตามนัยที่ได้แสดงมาในสีลนิทเทสนั้นแล้ว พึงตั้งตนไว้ในศีลอันบริสุทธิ์ดีแล้วนั้น
  2. ครั้นแล้วพึงทำการตัดเครื่อง (ปลิโพธ) กังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นตัดเล็บโกนหนวดเป็นต้น ให้สิ้นเสร็จเรียบร้อย หลังจากนั้นจึงควรลงมือภาวนาสมาธินั้น โดยไม่ทำขั้นตอนทำภาวนาทุก ๆ อย่างให้ขาดตกบกพร่องไป

นี้เป็นวิธีภาวนาอย่างสังเขปในสมาธิภาวนานี้

อธิบายรายละเอียดของขั้นตอนทำสมาธิให้เกิดต่อเนื่อง

ส่วนวิธีภาวนาอย่างละเอียด มีอรรถาธิบายตามลำดับ มีดังต่อไปนี้ –

คำใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้โดยสังเขปว่า บรรดาปลิโพธเครื่องกังวล 10 ประการ อย่างใดมีอยู่แก่ตน ก็จงตัดปลิโพธเครื่องกังวลอย่างนั้นเสียให้สิ้นห่วง ดังนี้ ในคำนั้นมีอรรถาธิบายโดยพิสดาร ดังนี้ –

(หน้าที่ 141)

อาวาโส จ กุลํ ลาโก คโณ กมฺมญจ ปญฺจมํ

อทฺธานํ ญาติ อาพาโธ คนฺโถ อิทฺธีติ เต ทส

ปลิโพธ เครื่องทำให้เกิดความกังวลนั้น มีอยู่ 10 ประการ คือ

1. อาวาสปลิโพธ เครื่องกังวลคือที่อยู่

2. กุลปลิโพธ เครื่องกังวลคือตระกูล

3. ลาภปลิโพธ เครื่องกังวลคือลาภสักการะ

4. คณปลิโพธ เครื่องกังวลคือหมู่คณะ

5. กัมมปลิโพธ เครื่องกังวลคือนวกรรม

6. อัทธานปลิโพธ เครื่องกังวลคือการเดินทาง

7. ญาติปลิโพธ เครื่องกังวลคือ ญาติ

8. อาพาธปลิโพธ เครื่องกังวลคือโรคภัยไข้เจ็บ

9. คันถปลิโพธ เครื่องกังวลคือการเล่าเรียน

10. อิทธิปลิโพธ เครื่องกังวลคือการแสดงอิทธิฤทธิ์

ในปลิโพธ 10 ประการนั้น มีอรรถาธิบายตามลำดับ ดังนี้ - ที่อยู่นั่นเอง ชื่อว่า อาวาสปลิโพธ ได้แก่เครื่องกังวลคือที่อยู่ แม้ในปลิโพธอื่น ๆ มีกุลปลิโพธเป็นต้น ก็มีความหมายทำนองเดียวกันนี้

อธิบายอาวาสปลิโพธ

ห้องเล็ก ๆ แม้เพียงห้องเดียว บริเวณแม้เพียงแห่งเดียว หรือแม้ทั่วทั้งสังฆาราม เรียกว่า ที่อยู่ ที่อยู่นี้นั้นหาได้เป็นเครื่องกังวลแก่ภิกษุไปเสียหมดทุกรูปไม่ หากแต่ภิกษุใดกำลังขวนขวายอยู่ในการก่อสร้างเป็นต้นในวัดนั้น หรือเป็นผู้สะสมสิ่งของไว้มากในวัดนั้น หรือเป็นผู้มีความห่วงใยมีจิตผูกพันอยู่ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งในวัดนั้น ที่อยู่ย่อมเป็นเครื่องกังวลเฉพาะแก่ภิกษุนั้น หาเป็นเครื่องกังวลแก่ภิกษุอื่นนอกนี้ก็หาไม่ ในประการที่ที่อยู่ไม่เป็นเครื่องกังวลแก่ภิกษุนี้นั้น มีเรื่องตัวอย่างดังต่อไปนี้ –

(หน้าที่ 142)

เรื่องภิกษุ 2 รูป

ได้ยินว่า มีกุลบุตรอยู่ 2 คน ได้พากันออกจากเมืองอนุราธปุระไปโดยลำดับ แล้วพากันไปบวชอยู่ ณ วัดถูปาราม ในภิกษุ 2 รูปนั้น รูปหนึ่งท่องมาติกาทั้ง 2 ได้อย่างคล่องแคล่ว ครั้นพรรษาครบ 5 ปวารณาออกพรรษาแล้ว ไปอยู่ ณ วัดป่าชื่อปาจีนขัณฑราชี (อยู่ที่ราวป่าระหว่างหุบเขาด้านทิศตะวันออก) อีกรูปหนึ่งอยู่ที่วัดถูปารามนั่นเอง ภิกษุรูปที่อยู่วัดป่าปาจีนขัณฑราชีนั้น อยู่ ณ ที่นั้นนานจนเป็นพระเถระ จึงคิดขึ้นมาได้ว่า "สถานที่นี้เหมาะสำหรับที่จะหลีกเร้นอยู่ ถ้ากระไร เราจะบอกสถานที่นี้แก่พระสหายด้วย" เธอได้ออกจากวัดป่าปาจีนขัณฑราชีนั้น ได้ไปถึงวัดถูปารามโดยลำดับ

ส่วนพระเถระผู้บวชร่วมพรรษากัน ครั้นได้เป็นพระเถระอาคันตุกะกำลังเดินเข้ามา จึงรีบลุกขึ้นไปทำการปฏิสันถาร ช่วยรับบาตรและจีวรทำอาคันตุกวัตรด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี พระเถระผู้อาคันตุกะ ครั้นเข้าไปอยู่ในเสนาสนะแล้ว จึงคิดในใจว่า "บัดนี้พระสหายของเราคงจักส่งเนยใส, น้ำอ้อยหรือเครื่องดื่มมาให้เป็นแน่ เพราะเขาอยู่ในเมืองนี้มานานแล้ว" เมื่อพระอาคันตุเถระไม่ได้อะไรในตอนกลางคืนตามที่คิด ตกมาถึงตอนเช้าจึงคิดอีกว่า "บัดนี้พระสหายของเราคงจักส่งข้าวต้มและของเคี้ยวที่ได้รับจากอุปัฏฐากทั้งหลายมาให้" แต่แล้วก็มิได้เห็นสิ่งของนั้น จึงคิดว่า "ชะรอยจะไม่มีคนมาส่ง เขาคงจักถวายแก่ภิกษุผู้เข้าไปรับเองกระมัง" จึงได้เข้าไปในบ้านพร้อมกับพระสหายนั้นแต่เช้าทีเดียว

พระเถระทั้ง 2 นั้นพากันไปบิณฑบาตที่ถนนสายหนึ่งได้ข้าวต้มประมาณหนึ่งกระบวย แล้วพากันไปนั่งดื่มข้าวต้มที่โรงฉัน ขณะนั้น พระอาคันตุกเถระคิดว่า "ชะรอยข้าวต้มที่เขาถวายประจำจะไม่มี บัดนี้ มนุษย์ทั้งหลายคงจักถวายข้าวสวยอย่างประณีตในเวลาอาหาร" แต่แล้วก็ผิดหวัง แม้ในเวลาอาหารพระอาคันตุกเถระก็ฉันอาหารที่ไปบิณฑบาตได้มาเท่านั้น จึงถามพระเถระผู้สหายว่า "สหาย คุณเลี้ยงชีวิตมาตลอดกาลด้วยทำนองนี้หรือ ?" พระเถระเจ้าถิ่นตอบว่า "ใช่แล้วสหาย" พระอาคันตุกเถระจึงพูดชักชวนว่า "สหาย วัดป่าปาจีนขัณฑราชีผาสุขสบายมาก เรามาไปกันที่โน้นเถอะ"

(หน้าที่ 143)

พระเถระเจ้าถิ่นออกจากเมืองทางประตูด้านทิศทักษิณตรงไปตามทางที่จะไปยังบ้านนายช่างหม้อ ฝ่ายพระอาคันตุกเถระจึงถามว่า "สหาย คุณไปทางนี้ทำไม" พระเถระเจ้าถิ่นตอบว่า "ก็คุณได้กล่าวสรรเสริญวัดป่าปาจีนขัณฑราชีนักมิใช่หรือ ?" พระอาคันตุกเถระย้อนถามว่า "จริงละสหาย แต่ว่าบริขารที่เหลือเฟือของคุณในที่ที่คุณอยู่มานานถึงเพียงนี้ ไม่มีอะไรบ้างดอกหรือ" พระเถระเจ้าถิ่นตอบว่า "มีซิคุณ คือเตียงตั่งอันเป็นของสงฆ์ แต่ของนั้นผมก็ได้เก็บงำเรียบร้อยแล้ว สิ่งอื่นไม่มีอะไร" พระอาคันตุกเถระพูดว่า "สหาย ไม้เท้า ทะนานน้ำมัน รองเท้า และถูงย่ามของผมยังอยู่ที่วัดโน้น" พระเถระเจ้าถิ่นถามขึ้นอย่างแปลกใจว่า "เออ ! คุณมาอยู่เพียงวันเดียวยังเก็บสิ่งของไว้ได้ถึงเท่านี้หรือ ?"

ส่วนพระอาคันตุกเถระตอบตามตรงว่า "ใช่แล้วคุณ" ดังนี้แล้ว เกิดมีจิตเลื่อมใส ในพระเถระเจ้าถิ่นเป็นอย่างมาก จึงไหว้พระเถระพลางกล่าวสรรเสริญว่า "สหาย พระอย่างคุณนี้ย่อมมีที่อยู่เหมือนกับวัดป่าในที่ทั่วไป วัดถูปารามเป็นสถานที่บรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ คุณย่อมได้การฟังธรรมอันเป็นที่สัปปายะที่โลหปราสาท ได้เห็นพระมหาเจดีย์ และได้เห็นพระเถระ กาลนี้ย่อมเป็นไปอยู่เหมือนกับสมัยพุทธกาล ขอให้คุณจงอยู่ ณ ที่วัดถูปารามนี้แหละ" ครั้นแล้วพอถึงวันที่ 2 พระอาคันตุกเถระถือเอาบาตรและจีวรกลับไปยังวัดป่าปาจีนขัณฑราชีแต่ลำพังตนผู้เดียว ฉะนี้

ที่อยู่ย่อมไม่เป็นเครื่องกังวลสำหรับภิกษุผู้มีจิตใจไม่ติดข้องเช่นนี้ เหมือนอย่างพระเถระนี้ ด้วยประการฉะนี้

2. อธิบายกุลปลิโพธ

คำว่า ตระกูล หมายเอาตระกูลญาติหรือตระกูลอุปัฏฐาก ก็แหละ แม้ตระกูลอุปัฏฐากย่อมเป็นเครื่องกังวล แก่ภิกษุบางรูปซึ่งชอบอยู่อย่างคลุกคลีโดยนัยมีอาทิว่า เมื่อตระกูลอุปัฏฐากมีความสุข ภิกษุก็พลอยมีความสุขด้วย ภิกษุผู้ชอบอยู่อย่างคลุกคลีนั้น เมื่อเว้นจากญาติโยมในตระกูลแล้ว แม้เพียงวัดใกล้ ๆก็ไม่ยอมไปฟังธรรม แต่ภิกษุบางรูปแม้มารดาบิดาก็ไม่เป็นเครื่องกังวล ตัวอย่างเช่น ภิกษุหนุ่มหลานของพระเถระผู้อยู่ที่วัดโกรัณฑกวิหาร

(หน้าที่ 144)

เรื่องภิกษุหนุ่ม

ได้ยินว่า ภิกษุหนุ่มรูปนั้นได้ไปยังโรหณชนบทเพื่อประสงค์จะท่องจำพระบาลี ฝ่ายอุบาสิกาผู้เป็นพี่สาวของพระเถระซึ่งเป็นมารดาของเธอ มักถามพระเถระถึงความเป็นไปของเธออยู่เสมอนับแต่เวลาที่เธอได้จากไป พระเถระจึงคิดอยู่ว่า จักไปพาเอาภิกษุหนุ่มมาสักวันหนึ่ง แล้วก็ได้มุ่งหน้าไปสู่โรหณชนบท ฝ่ายภิกษุหนุ่มก็บังเอิญคิดขึ้นว่า "เราอยู่ ณ ที่นี้มานานแล้ว บัดนี้เราจักไปกราบเยี่ยมพระอุปัชฌาย์และทราบข่าวคราวของโยมอุบาสิกาแล้วจึงจักกลับมา" แล้วก็ออกเดินทางจากโรหณชนบท พอดีพระเถระหลวงลุงกับพระหนุ่มหลานชายทั้งสองได้มาพบกันเข้าที่ตรงฝั่งแม่น้ำ พระหนุ่มหลานชายได้ทำอุปัชฌายวัตรแก่พระเถระหลวงลุง ณ โคนไม้แห่งใดแห่งหนึ่ง พระเถระถามว่า "คุณจะไปไหน ?" เธอจึงบอกความประสงค์พระเถระให้ทราบทุกประการ พระเถระพูดกับพระหลานชายว่า "คุณทำถูกแล้ว แม้อุบาสิกาโยมของคุณก็ถามถึงคุณอยู่เสมอ ๆ แม้ฉันเองก็มาเพื่อประสงค์เช่นนี้เหมือนกัน นิมนต์คุณไปเถิด ส่วนฉัน พรรษานี้จะจำพรรษา ณ วัดใดวัดหนึ่งในตำบลนี้" แล้วก็อนุญาติให้ภิกษุหนุ่มนั้นไป ภิกษุหนุ่มได้ไปถึงวัดโกรัณฑกวิหารในวันเข้าพรรษาพอดี และบังเอิญเสนาสนะที่โยมบิดาให้สร้างขึ้นไว้นั่นแลถึงแก่เธอแล้ว

ถัดมาในวันที่สอง โยมบิดาของภิกษุหนุ่มนั้นได้มาถามสงฆ์ว่า "ท่านครับ เสนาสนะของพวกกระผมได้แก่ภิกษุอะไร ?" ครั้นทราบว่าได้แก่ภิกษุหนุ่มผู้อาคันตุกะ จึงเข้าไปพบภิกษุนั้น นมัสการแล้ว บอกข้อปฏิบัติว่า "คุณครับ สำหรับภิกษุผู้อยู่จำพรรษาในเสนาสนะของพวกกระผมย่อมมีธรรมเนียมที่จะต้องปฏิบัติอยู่อย่างหนึ่ง" ภิกษุหนุ่มถามว่า "ธรรมเนียมที่จะต้องปฏิบัตินั้นอย่างไร อุบาสก" โยมบิดาตอบว่า "ภิกษุที่อยู่จำพรรษาในเสนาสนะของพวกกระผมนั้น ต้องไปรับบิณฑบาตที่เรือนของพวกกระผมนั่นเทียว ตลอดไตรมาสสามเดือน" ภิกษุหนุ่มรับปฏิบัติตามด้วยอาการที่นั่งเฉย ฝ่ายอุบาสกกลับไปถึงเรือนแล้วได้แนะนำแก่ภิริยาว่า "พระผู้เป็นเจ้าอาคันตุกะรูปหนึ่งได้เข้าจำพรรษาอยู่ในเสนาสนะของเรา เราจะต้องอุปัฏฐากพระผู้เป็นเจ้าโดยความเคารพ" อุบาสิการับคำว่า สาธุ แล้วก็ได้รับหน้าที่ทำของควรเคี้ยวของควรบริโภคล้วนแต่อย่างปราณีต แม้ภิกษุหนุ่มก็ได้ไปฉันที่เรือนของโยมในเวลาภัตตาหารแต่ไม่มีใครจำเธอได้เลย

(หน้าที่ 145)

ภิกษุหนุ่มได้ไปฉันบิณฑบาตที่เรือนของโยมนั้นครบไตรมาสตามสัญญา ครั้นออกพรรษาแล้วจึงบอกลาว่า "อาตมาจะลาไปละ อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย" ขณะนั้นหมู่ญาติของเธอได้ขอร้องว่า "ท่านครับ พรุ่งนี้จึงค่อยไปเถิด" ในวันที่สองได้นิมนต์เธอให้ฉัน ณ ที่เรือนนั่นเทียว ครั้นแล้วได้บรรจุน้ำมันใส่ให้เต็มขวดถวาย น้ำอ้อยงบหนึ่ง และถวายผ้ายาว 9 กำมือเสร็จแล้วจึงบอกว่า "นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าไปเถิด ขอรับ" ภิกษุหนุ่มทำการอนุโมทนาทาน แล้วได้มุ่งหน้าไปสู่โรหณชนบทต่อไป

ฝ่ายพระอุปัชฌาย์ของเธอ ปวารณาออกพรรษาแล้วก็ได้เดินสวนทางมา บังเอิญได้พบกับพระภิกษุหนุ่มนั้น ณ ที่ที่ได้พบกันครั้งก่อนนั้นพอดี ภิกษุหนุ่มได้ทำอุปัชฌายวัตรแด่พระเถระ ณ ที่โคนไม้แห่งใดแห่งหนึ่ง ทันใดนั้น พระเถระได้ถามเธอว่า "พ่อหน้างามคุณได้พบโยมอุบาสิกาแล้วหรือ" ภิกษุหนุ่มตอบว่า "ขอรับผม กระผมได้พบแล้ว" ครั้นได้บอกความเป็นไปถวายพระเถระให้ทราบทุกประการแล้ว ได้เอาน้ำมันนั้นมาทาเท้าถวายพระเถระ ทำน้ำปานะด้วยน้ำอ้อยงบถวาย แม้ผ้าผืน 9 กำมือนั้น ก็ได้ถวายแก่พระเถระนั่นเทียว นมัสการพระเถระแล้วบอกว่า "ท่านขอรับ โรหณชนบทเท่านั้นเป็นที่สัปปายะสำหรับกระผม" ฉะนั้น แล้วจึงได้กราบลาไป ฝ่ายพระเถระครั้นมาถึงวัดโกรัณฑกวิหารแล้วในวันที่สองก็ได้เข้าไปบ้านโกรัณฑกะ

ฝ่ายอุบาสิกา ตั้งแต่ปวารณาแล้วมาได้ยืนคอยดูทางอยู่เสมอด้วยคิดว่า "พระเถระน้องชายของเราคงจะพาบุตรของเรามาเดี๋ยวนี้" ครั้นได้เห็นพระเถระมาแต่รูปเดียวเท่านั้นก็สำคัญไปว่า "บุตรของเราชะรอยจะถึงแก่มรณภาพเสียแล้ว พระเถระนี้จึงได้มาแต่ลำพังรูปเดียว" แล้วจึงได้ร้องไห้รำพันต่าง ๆ ล้มฟุบลงที่แทบเท้าของพระเถระ พระเถระรู้ทันทีว่า "พระหนุ่มไม่ยอมแสดงตนให้ใคร ๆ ทราบ แล้วหลบไปเสีย เพราะเป็นผู้มีความมักน้อยแน่นอน" จึงปลอบโยนอุบาสิกาพี่สาวให้เบาใจ แล้วเล่าเรื่องความเป็นไปให้ทราบหมดทุกอย่าง พลางล้วงเอาผ้าผืนที่ภิกษุหนุ่มถวายนั้นออกจากถลกบาตรแสดงให้ดูเป็นพยาน

(หน้าที่ 146)

อุบาสิกาเกิดความเลื่อมใสในบุตร ผินหน้าไปทางทิศที่บุตรอยู่แล้วนอนพังพาบลง นมัสการพลางกล่าวสรรเสริญว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าชะรอยจะทรงทำภิกษุผู้มีปฏิปทาเหมือนบุตรของเรานี้เองให้เป็นพยานทางกาย แล้วจึงได้ทรงแสดงปฏิปทาในรถวินีตสูตร, ปฏิปทาในนาลกสูตร, ปฏิปทาในตุวัฏฏกสูตร, และมหาอริยวังสปฏิปทา อันประกาศถึงความสันโดษในปัจจัยสี่และความเป็นผู้ยินดีในการเจริญภาวนา บุตรของเราแม้มาฉันในเรือนของมารดาผู้บังเกิดเกล้าแท้ ๆ ถึงสามเดือน ไม่ปริปากพูดเลยว่า 'อาตมาเป็นบุตร, ท่านเป็นมารดา' บุตรของเราเป็นมนุษย์น่าอัศจรรย์จริง ๆ ฉะนี้"

ภิกษุผู้มีปฏิปทาเห็นปานฉะนี้ ไม่ต้องกล่าวถึงตระกูลอุปัฏฐากอื่นละที่จะมาเป็นเครื่องกังวล แม้แต่มารดาบิดาก็ไม่ต้องเป็นเครื่องกังวลเสียแล้ว ด้วยประการฉะนี้

3. อธิบายลาภปลิโพธ

คำว่า ลาภ หมายเอาปัจจัย 4 ปัจจัย 4 เหล่านั้นเป็นเครื่องกังวลอย่างไร ? ธรรมดาภิกษุผู้มีบุญ ไป ณ ที่ไหน ๆ ย่อมมีพวกมนุษย์พากันถวายปัจจัยซึ่งมีเครื่องบริวารเป็นอันมาก ภิกษุผู้มีบุญเช่นนั้น มัวแต่อนุโมทนาแสดงธรรมโปรดมนุษย์เหล่านั้น ย่อมไม่ได้โอกาสเพื่อที่จะบำเพ็ญสมณธรรม ตั้งแต่รุ่งอรุณจนถึงปฐมยาม (06.00 น. ถึง 22.00 น.) ไม่ขาดจากการเกี่ยวข้องกับมนุษย์เลย พอถึงเช้าวันใหม่ พวกภิกษุผู้ถือการบิณฑบาตที่มักมากด้วยปัจจัยก็มาบอกอีกว่า "ท่านขอรับ อุบาสกคนโน้น อุบาสิกาคนโน้น อำมาตย์คนโน้น ธิดาของอำมาตย์คนโน้น มีความประสงค์ที่จะได้เห็นท่าน" ภิกษุผู้มีบุญนั้นพูดว่า "นี่แน่คุณ ช่วยรับบาตรและจีวรไว้ด้วย" แล้วก็ตระเตรียมที่จะไปอีก ฉะนั้น จึงเป็นผู้ขวนขวาย

(หน้าที่ 147)

ในอันที่จะอนุเคราะห์อุบาสกอุบาสิกาเป็นต้นตลอดกาลเป็นนิจ ปัจจัยเหล่านั้นย่อมเป็นเครื่องกังวลแก่ภิกษุผู้มีบุญนั้นอย่างนี้ ภิกษุผู้มีบุญพึงปลีกตนจากหมู่แล้วไปอยู่ตามลำพังผู้เดียว ณ ที่ที่คนทั้งหลายไม่รู้จัก จึงจักเป็นอันตัดเครื่องกังวลนั้นได้ ด้วยประการฉะนี้

4. อธิบายคณปลิโพธ

คำว่า คณะ ได้แก่คณะที่ศึกษาพระสูตรหรือคณะที่ศึกษาพระอภิธรรม ภิกษุใดมัวแต่สาละวนสอนบาลีหรืออรรถกถาอยู่แก่คณะนั้น ย่อมไม่ได้โอกาสเพื่อจะบำเพ็ญสมณธรรม คณะจึงนับเป็นเครื่องกังวลแก่ภิกษุนั้น พึงตัดเครื่องกังวลนั้นเสีย ดังนี้ ถ้าคัมภีร์ภิกษุเหล่านั้น ท่องจำไปได้แล้วเป็นส่วนมาก ที่ยังเหลือเล็กน้อย ก็พึงสอนคัมภีร์นั้นให้จบเสียก่อนแล้วจึงเข้าป่า บำเพ็ญสมณธรรม แต่ถ้าที่ท่องจำไปแล้วเพียงเล็กน้อย ที่เหลืออยู่มาก พึงเข้าไปหาอาจารย์ผู้สอนคณะรูปอื่น ภายในกำหนดโยชน์หนึ่ง อย่าไปเกินกว่าโยชน์หนึ่ง แล้วขอร้องว่า "ขอท่านได้กรุณาสงเคราะห์ภิกษุนักศึกษาเหล่านั้นด้วยบาลีเป็นต้นด้วยเถิด" เมื่อไม่สามารถจะทำได้อย่างนี้ พึงพูดว่า "เธอทั้งหลาย ฉันมีกิจอย่างหนึ่งอยู่ ขอให้พวกเธอจงพากันไปสู่ที่อันผาสุขตามสะดวกเถิด" ดังนี้แล้วพึงปลีกตนจากคณะไปบำเพ็ญสมณธรรมส่วนตนต่อไป

5. อธิบายกัมมปลิโพธ

คำว่า กัมมะ หมายเอานวกรรมคือการก่อสร้าง ธรรมดาภิกษุผู้ทำการก่อสร้างนั้น จำต้องทราบว่าสิ่งใดที่นายช่างเป็นต้นได้ทำ สิ่งใดที่ยังไม่ได้ทำ จำต้องพยายามขวนขวายในงานส่วนที่ทำเสร็จแล้วและที่ยังไม่เสร็จ ดังนั้น นวกรรมจึงเป็นเครื่องกังวลแก่ภิกษุผู้นวกัมมิกนั้นตลอดไป แม้ภิกษุผู้นวกัมมิกนั้นพึงตัดเครื่องกังวลดังนี้ คือ ถ้านวกรรมนั้นยังเหลือน้อยพึงทำเสียให้เสร็จ ถ้ายังเหลืออยู่มาก หากเป็นนวกรรมของสงฆ์ ก็จงมอบหมายให้แก่สงฆ์ หรือแก่ภิกษุทั้งหลายผู้มีหน้าที่รับภาระแทนสงฆ์ ถ้าเป็นของของตนก็จงมอบให้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้รับภาระของตน เมื่อไม่ได้ภิกษุเช่นนั้น ก็จงตัดใจสละแก่สงฆ์ แล้วพึงบำเพ็ญสมณธรรมเถิด

(หน้าที่ 148)

6. อธิบายอัทธานปลิโพธ

คำว่า อัทธานะ ได้แก่การเดินทาง จริงอยู่ ภิกษุใดมีเด็ก ๆ ที่จะบรรพชาอยู่ในที่บางแห่งก็ดี มีปัจจัยลาภบางอย่างที่ควรจะได้ก็ดี ถ้าเมื่อภิกษุนั้นไม่ได้ทำกิจนั้นให้สำเร็จหรือยังไม่ได้ปัจจัยลาภนั้นมา ก็ไม่สามารถที่จะทำจิตให้หยุดคิดได้ แม้ถึงจะหลบเข้าป่าไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ก็ตาม จิตคิดที่จะไปเพื่อทำกิจนั้นเป็นสิ่งที่จะบรรเทาโดยยาก เพราะฉะนั้น พึงไปทำกิจนั้นให้สำเร็จเสร็จสิ้นก่อน แล้วจึงพยายามขวนขวายในอันที่จะบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป ได้ยินว่า งานบรรพชาเด็ก ๆ ในตระกูลที่ประเทศลังกา เป็นเช่นกับงาน อาวาหมงคลและวิวาหมงคล เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถที่จะเลื่อนวันที่กำหนดไว้แล้วนั้นได้ พึงตัดเครื่องกังวลด้วยการช่วยสงเคราะห์ทำกิจนั้นให้เสร็จสิ้นไป

7. อธิบายญาติปลิโพธ

คำว่า ญาติ ได้แก่บุคคลมีอาทิอย่างนี้คือ ญาติในวัด ได้แก่ พระอาจารย์, พระอุปัชฌาย์, สัทธิวิหาริก, อันเตวาสิก และภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌาย์ร่วมอาจารย์กัน ญาติในบ้าน ได้แก่โยมมารดา, โยมบิดา, และพี่น้องชายพี่น้องหญิง ญาติเหล่านั้นที่เจ็บไข้ได้ป่วย ย่อมเป็นเครื่องกังวลแก่ภิกษุนี้ เพราะฉะนั้น พึงตัดเครื่องกังวลนั้นด้วยการปฏิบัติบำรุงทำญาติเหล่านั้นให้หายเป็นปกติ

ในบรรดาญาติเหล่านั้น สำหรับพระอุปัชฌาย์อาพาธ ถ้าท่านเป็นโรคชนิดที่ไม่หายเร็ว สัทธิวิหาริกพึงอยู่ปรนนิบัติท่านแม้ถึงตลอดชีวิต บรรพชาจารย์, อุปสัมปทาจารย์, สัทธิวิหาริก, อันเตวาสิกผู้ที่ตนเป็นกรรมวาจาอุปสมบทและบรรพชาให้ และภิกษุผู้ร่วมพระอุปัชฌาย์กัน ก็พึงปฏิบัติตลอดชีวิตเช่นกัน ส่วนนิสสยาจารย์, อุทเทสาจารย์, นิสสยันเตวาสิก, อุทเทสันเตวาสิก และภิกษุผู้ร่วมอาจารย์กัน พึงอยู่ปรนนิบัติตลอดเวลาที่นิสัยยังไม่ขาดและอุทเทศคือการท่องจำบาลียังไม่เสร็จสิ้น แต่สำหรับผู้มีความปรารถนาอยู่ แม้จะพึงอยู่ปรนนิบัติให้เลยกว่านั้นไป ก็ได้เหมือนกัน

(หน้าที่ 149)

ในโยมหญิงโยมชาย พึงอยู่ปรนนิบัติเช่นเดียวกับพระอุปัชฌาย์ แม้ว่าท่านเหล่านั้น จะดำรงอยู่ในราชสมบัติและไม่ต้องการซึ่งการปรนนิบัติบำรุงจากบุตร ก็ยังต้องทำอยู่นั่นเอง ถ้าเภสัชของท่านไม่มี พึงให้เภสัชของตนเอง แม้ของตนเองก็ไม่มี พึงเสาะหาด้วยภิกษาจริยาวัตรแล้วให้แก่ท่าน ส่วนพี่ชายน้องชายพี่สาวน้องสาว พึงประกอบเภสัชอันเป็นของของเขาเท่านั้นให้ ถ้าของของเขาไม่มี ก็พึงให้ขอยืมของของตนไปก่อน ภายหลังเมื่อจะได้ก็พึงรับคืน เมื่อจะไม่ได้ก็ไม่ต้องทวง สำหรับสามีของพี่สาวน้องสาวที่ไม่ได้เป็นญาติมาโดยกำเนิดจะประกอบเภสัชให้ก็ดี จะให้เภสัชก็ดี ไม่สมควรทั้งนั้น แต่พึงมอบให้พี่สาวหรือน้องสาว ไปพร้อมกับสั่งว่า จงให้แก่สามีของเธอ แม้ในกรณีของพี่ชายและน้องชายที่มิได้เป็นญาติ ก็พึงปฏิบัติทำนองเดียวกันนี้ ส่วนบุตรธิดาของพี่ชายน้องชายพี่หญิงน้องหญิงนั้น นับเป็นญาติของภิกษุนี้นั่นเทียว เพราะฉะนั้น การที่จะประกอบยาให้เขาเหล่านั้น ย่อมเป็นสิ่งสมควร ฉะนี้

8. อธิบายอาพาธปลิโพธ

คำว่า อาพาธ ได้แก่โรคชนิดใดชนิดหนึ่ง โรคนั้นเมื่อมันเบียดเบียนอยู่ย่อมเป็นเครื่องกังวล เพราะฉะนั้น พึงตัดด้วยการประกอบเภสัชรักษา แต่ถ้าแม้เมื่อประกอบเภสัชรักษาอยู่ชั่วกาลหนึ่งแล้วมันยังไม่หาย แต่นั้นพึงตำหนิอัตภาพว่า "ฉันไม่ใช่ทาสของเธอ ไม่ใช่ผู้เลี้ยงดูเธอ เมื่อฉันขืนเลี้ยงดูเธอต่อไป ก็จะประสบทุกข์ในสังสารวัฏอันไม่ทราบเบื้องต้นและที่สุดเท่านั้น" ฉะนี้แล้วพึงปลีกตนไปบำเพ็ญสมณธรรมเถิด

9. อธิบายคันถปลิโพธ

คำว่า คันถะ หมายเอาการรักษาปริยัติธรรม การรักษาปริยัติธรรมนั้นย่อม เป็นเครื่องกังวลแก่ภิกษุผู้ขวนขวายด้วยการสาธยายและการทรงจำเป็นต้น แต่ย่อมไม่เป็นเครื่องกังวลสำหรับภิกษุผู้ไม่ขวนขวายนอกนี้ ในกรณีที่การรักษาปริยัติธรรมไม่เป็นเครื่องกังวลนั้น มีเรื่องตัวอย่างดังต่อไปนี้ –

(หน้าที่ 150)

เรื่องพระมัชฌิมภาณกเทวเถระ

ได้ยินว่า พระมัชฌิภาณกเทวเถระนั้น ไปยังสำนักของพระมลยวาสิเทวเถระแล้วขอพระกัมมัฏฐาน พระมลยวาสิเทวเถระได้สอบถามว่า "อาวุโส ในทางพระปริยัติธรรมนั้น คุณได้ศึกษามาอย่างไร ?" พระมัชฌิมภาณกเทวเถระตอบว่า "กระผมชำนาญคัมภีร์มัชฌิมนิกายขอรับ" พระมลยวาสิเทวเถระชี้แจงว่า "อาวุโส ชื่อว่าคัมภีร์มัชฌิมนิกายนั้นเป็นสิ่งยากที่จะรักษาอยู่ เมื่อขณะสาธยายมูลปัณณาสกะอยู่นั้น มัชฌิมปัณณาสกะย่อมแทรกมาโดยพลั้งเผลอ เพราะสุตตบทและวาระทั้งหลายคล้าย ๆ กัน เมื่อขณะสาธยายมัชฌิมปัณณาสกะอยู่นั้น อุปริปัณณาสกะย่อมหลงแทรกมา คุณจักมีโอกาสทำกัมมัฏฐานที่ไหน พระมัชฌิมภาณกเทวเถระกล่าวรับรองว่า "ไม่เป็นไร ขอรับ กระผมได้กัมมัฏฐานในสำนักของท่านไปแล้ว จักไม่ดูพระคัมภีร์อีกต่อไป" หลังจากรับเอาพระกัมมัฏฐานไปแล้ว พระเถระมิได้ทำการสาธยายเป็นเวลาถึง 19 พรรษา ครั้นต่อมาพรรษาที่ 20 ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตท่านได้พูดกับภิกษุที่มาหาเพื่อต้องการให้สาธยายว่า "อาวุโสทั้งหลาย ผมไม่ได้ดูพระปริยัติมาถึง 20 พรรษาแล้ว ก็แต่ว่า ผมได้ทำการสั่งสอนมาแล้ว ท่านทั้งหลายลองเริ่มสาธยาย ณ ตรงนี้" ครั้นแล้วพระเถระก็มิได้มีความสงสัยในพยัญชนะเพียงตัวเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ

เรื่องพระนาคเถระ

แม้พระนาคเถระผู้อาศัยอยู่วัดป่ากรุฬิยคีรี ก็ได้ทอดทิ้งพระปริยัติธรรมไปบำเพ็ญสมณธรรมถึง 18 พรรษา ครั้นต่อมาท่านได้แสดงคัมภีร์วัตถุกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเหล่านั้นได้นำไปเทียบเคียงดูกับที่พวกเถระผู้คามวาสีแสดง ก็ปรากฏว่า ที่มาโดยผิดลำดับนั้น แม้เพียงปัญหาข้อเดียวก็มิได้มี

(หน้าที่ 151)

เรื่องพระจูฬาภยเถระ

แม้ที่วัดมหาวิหาร ก็มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อจูฬาภยะ ทรงจำพระไตรปิฏก แต่ไม่ได้ทรงจำคัมภีร์อรรถกถาเลย แล้วได้ให้ตีกลองสุวรรณเภรีประกาศว่า "ข้าพเจ้าจักแสดงพระไตรปิฏก ณ สนามแห่งพุทธบริษัทผู้ทรงจำนิกาย 5" ภิกษุสงฆ์ได้กล่าวเตือนว่า "พระบาลีของพวกอาจารย์ที่ไหนกัน คุณจงแสดงเฉพาะบาลีที่ท่องจำมาจากสำนักอาจารย์ของตนเท่านั้น ที่จะแสดงนอกลู่นอกทางไปนั้น พวกเราจะไม่ยอมเป็นอันขาด"

ฝ่ายพระอุปัชฌาย์ เมื่อพระจูฬาภยเถระนั้นมายังที่อุปัฏฐาก จึงได้สอบถามว่า "อาวุโส เธอให้ตีกลองประกาศหรือ ?" พระจูฬาภยเถระตอบว่า "ใช่แล้ว ขอรับ" พระอุปัชฌาย์ซักว่า "เธอให้ตีกลองประกาศทำไม ?" พระจูฬาภยเถระตอบว่า "กระผมจักแสดงพระปริยัติธรรม ขอรับ" พระอุปัชฌาย์จึงลองตั้งปัญหาถามว่า "นี่แน่อาวุโส อภยะ ธรรมบทนี้อาจารย์ทั้งหลายอธิบายอย่างไร ?" พระจูฬาภยเถระตอบว่า "อธิบายอย่างนี้ขอรับ" พระอุปัชฌาย์ค้านว่า "หึ ! หึ !" พระจูฬาภยเถระได้ตอบโดยปริยายอื่น ๆ อีกถึง 3 ครั้งว่า "อาจารย์ทั้งหลายอธิบายอย่างนี้ ๆ ขอรับ" พระอุปัชฌาย์คัดค้านว่า หึ ! หึ ! หมดทุกปริยาย แล้วกล่าวแนะนำว่า "อาวุโส อภยะ ที่เธอตอบครั้งแรกนั้นถูกแล้ว เป็นกถามรรคของอาจารย์ละ แต่เพราะเหตุที่เธอไม่ได้ท่องจำต่อจากปากของอาจารย์ เธอจึงไม่อาจตั้งหลักอยู่ได้ว่า อาจารย์ทั้งหลายอธิบายอย่างนี้ เธอจงไปเถิด ไปท่องจำในสำนักของพระอาจารย์ทั้งหลายผู้ควรจะสอนเธอได้" พระจูฬาภยเถระถามพระอุปัชฌาย์ว่า "กระผมควรจะไปท่องจำเอา ณ ที่ไหนขอรับ" พระอุปัชฌาย์ได้แนะนำว่า "พระเถระชื่อมหาธัมรักขิตะเป็นผู้ทรงจำพระไตรปิฏกได้อย่างครบถ้วน อยู่ที่วัดตุลาธารปัพพตวิหาร ในโรหณชนบท ฝั่งแม่น้ำฟากโน้น เธอจงไปยังสำนักของท่านนั้นเถิด"

พระจูฬาภยเถระรับคำพระอุปัชฌาย์ว่า "สาธุขอรับ" กราบลาพระอุปัชฌาย์แล้วพร้อมด้วยภิกษุ 500 ได้ตรงไปยังสำนักของพระธรรมรักขิตเถระ ครั้นไปถึงกราบนมัสการแล้วก็ได้นั่งคอยโอกาสอยู่ ขณะนั้น พระเถระจึงทักขึ้นว่า "เธอมาทำไม" พระจูฬาภยเถระตอบว่า "กระผมมาเพื่อฟังธรรม ขอรับ" พระเถระให้โอกาสว่า "อาวุโส อภยะ นักศึกษาทั้งหลายพากันสอบถามผมแต่ในคัมภีร์ทีฆนิกายและมัชฌิมนิกายตลอดกาล ส่วนคัมภีร์ที่เหลือผมไม่ได้ดูมาเป็นเวลาประมาณ 30 พรรษาแล้ว แต่ไม่เป็นไร คุณจงช่วยสอนธรรมในสำนักของผมในเวลากลางคืนก็แล้วกัน ส่วนเวลากลางวันผมจักแสดงธรรมให้คุณฟัง พระอภยเถระรับคำพระเถระว่า "สาธุ ขอรับ" แล้วได้ปฏิบัติตามที่ได้ให้ปฏิญญานั้นทุกประการ

(หน้าที่ 152)

ชาวบ้านทั้งหลายได้ให้สร้างมณฑป (ปะรำ) ขนาดใหญ่ขึ้นที่ตรงประตูบริเวณ แล้วได้พากันมาฟังธรรมทุก ๆ วัน ในเวลากลางคืนพระเถระก็ได้สอนธรรมเหมือนกัน เมื่อพระธัมมรักขิตเถระแสดงธรรมอยู่ในเวลากลางวันนั้น ครั้นทำให้การแสดงธรรมจบลงโดยลำดับแล้ว จึงลงจากตั่งมานั่งบนเสื่อ ณ ที่ใกล้พระอภยเถระแล้วพูดว่า "อาวุโส อภยะ คุณจงสอนกัมมัฏฐานให้แก่ฉันด้วย" พระอภยเถระจึงถามว่า "ท่านพูดอะไรขอรับ กระผมฟังธรรมอยู่ในสำนักของท่านแท้ ๆ มิใช่หรือ ? จักให้กระผมสอนธรรมที่ท่านไม่ทราบอย่างไรได้" ลำดับนั้น พระเถระได้พูดกับพระอภยเถระว่า "ชื่อว่า ทางของผู้บรรลุถึงธรรมแล้วนี้ มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง" ได้ยินว่า เวลานั้นพระอภยเถระนั้นเป็นพระโสดาบันอริยบุคคล เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจึงได้ให้พระกัมมัฏฐานแก่พระมหาธัมรักขิตเถระนั้น ครั้นแล้วก็ได้กลับมาสอนธรรมประจำอยู่ที่โลหะปราสาท ต่อมาท่านได้ทราบข่าวว่า พระเถระปรินิพพานเสียแล้ว ครั้นท่านได้ทราบข่าวดังนั้น จึงบอกศิษย์ว่า คุณช่วยหยิบจีวรมาให้ที ท่านห่มจีวรอย่างเป็นปริมณฑลเพื่อแสดงคารวะแก่พระอาจารย์ แล้วกล่าวสรรเสริญคุณของพระอาจารย์ในท่ามกลางภิกษุทั้งหลายว่า "อาวุโสทั้งหลาย พระอรหัตมรรคเป็นคุณสมควรแก่พระอาจารย์ของเรา พระอาจารย์ของเราเป็นบุคคลที่ซื่อตรง ด้วยไม่มีมารยาสาไถย เป็นบุรุษอาชาไนย พระอาจารย์ของเรานั้นท่านลงจากตั่งมานั่งบนเสื่อ ณ ที่ใกล้เราผู้เป็นธรรมมันเตวาสิกของท่านแล้วพูดว่า "คุณจงสอนพระกัมมัฏฐานให้แก่ฉัน" ฉะนี้ อาวุโสทั้งหลาย พระอรหัตมรรคเป็นคุณอันสมควรแก่พระเถระโดยแท้"

คันถะ คือการรักษาปริยัติธรรม ย่อมไม่เป็นเครื่องกังวลสำหรับภิกษุทั้งหลายผู้มีคุณสมบัติเห็นปานดังนี้ ด้วยประการฉะนี้

(ผุ้ปรับสำนวน: อุคฺคห คือ การท่องจำ, ในที่นี้ พระเถระได้ท่องจำแต่พระไตรปิฎกแล้ว แต่ท่านไม่ได้ท่องจำอรรถกถาตามลำดับทั้งหมด คือ จำบ้าง ไม่จำบ้าง บางอย่างอาศัยความเข้าใจอธิบายเอา ซึ่งแม้จะอธิบายถูกต้อง แต่ก็มีโอกาสที่จะผิดพลาดหรือถูกตำหนิได้. คำว่า เรียน ในภาษาไทยปัจจุบันโดยมาก หมายถึง การอ่านและทำความเข้าใจ ซึ่งไม่ตรงกับคำว่า อุคฺคห ที่ใช้กันในพระไตรปิฎก อรรถกถา ที่ใช้ในความหมายว่า ท่องจำแล้วทำความเข้าใจขณะท่องจำ, ถ้าท่านเจอคำว่า เรียน ในตำราพุทธ ให้ท่านนึกถึงการบริกรรมท่องจำที่ละอักขระๆ พร้อมทั้งทำความเข้าใจในขณะที่ท่องจำด้วย, อย่าคิดเพียงว่า อ่านแล้วเข้าใจก็พอ เพราะความชำนาญต่างกันมาก ซึ่งมีผลต่อการปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธอย่างมากด้วย.)

10. อธิบายอิทธิปลิโพธ

คำว่า อิทธิ หมายเอาอิทธิฤทธิ์อันเป็นของปุถุชน ก็แหละ อิทธิฤทธิ์ของปุถุชนนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่รักษาได้ยาก เหมือนทารกที่ยังนอนหงาย และเหมือนข้าวกล้าที่ยังอ่อน ย่อมเสื่อมไปได้ด้วยเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ว่าอิทธิฤทธิ์ปุถุชนนั้นเป็นเครื่องกังวล แก่วิปัสสนาเท่านั้น หาเป็นเครื่องกังวลแก่สมาธิไม่ เพราะต้องผ่านสมาธิมาแล้วจึงจะได้

(หน้าที่ 153)

บรรลุถึงอิทธิฤทธิ์ อธิบายว่า อิทธิฤทธิ์นั้นเป็นเครื่องกังวลแก่วิปัสสนาสำหรับโยคีบุคคลผู้เป็นสมถยานิก มิได้เป็นเครื่องกังวลสำหรับโยคีบุคคลผู้เป็นวิปัสสนายานิก เพราะว่า โดยมากโยคีบุคคลผู้ได้ฌานแล้วย่อมเป็นสมถยานิกทั้งนั้น เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลผู้ต้องการวิปัสสนาจึงต้องตัดอิทธิปลิโพธ ส่วนปลิโพธที่เหลืออีก 9 อย่าง โยคีบุคคลผู้ต้องการสมถะนอกนี้จำต้องตัด ด้วยประการฉะนี้

อรรถาธิบายความอย่างพิสดารในปลิโพธกถา อันเป็นประการแรก ยุติเพียงเท่านี้

แหละในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า พึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้พระกัมมัฏฐาน ฉะนี้ มีอรรถาธิบายโดยพิสดารดังต่อไปนี้ –

กัมมัฏฐานมี 2 อย่างคือ สัพพัตถกกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานที่ปรารถนาเป็นเบื้องต้น ในการบำเพ็ญกัมมัฏฐานทั้งปวง 1 ปาริหาริยกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานที่จำต้องรักษาอยู่เป็นนิจ 1 ใน 2 อย่างนั้น ที่ชื่อว่า สัพพัตถกกัมมัฏฐาน ได้แก่ความมีเมตตาในหมู่ภิกษุเป็นต้น 1 กับมรณสติ คือการระลึกถึงความตาย 1 ฝ่ายเกจิอาจารย์พวกหนึ่ง หมายเอาอสุภสัญญา คือความสำคัญเห็นในแง่ที่ไม่สวยไม่งาม

อธิบายว่า อันภิกษุผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานนั้น ชั้นต้นต้องกำหนดเสียก่อนแล้วจึงเจริญเมตตาไปในหมู่ภิกษุซึ่งอยู่ในเขตว่า ภิกษุที่อยู่ในวัดนี้ทั้งหมด จงมีความสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนกันเลย แต่นั้น พึงเจริญเมตตาไปในเทวดาทั้งหลายที่อยู่ในเขต แต่นั้น พึงเจริญไปในชนผู้เป็นใหญ่ในโคจรคาม คือหมู่บ้านที่ไปรับบิณฑบาต แต่นั้น พึงเจริญไปในสัตว์ทุกชนิด นับแต่มนุษย์ทั้งหลายซึ่งอยู่ในโคจรคามนั้น

โดยเหตุที่ภิกษุผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานนั้นมีเมตตาจิตในหมู่ภิกษุ ชื่อว่าทำให้หมู่ภิกษุที่อยู่ร่วมกันนั้นเกิดมีจิตใจนุ่มนวลในตน แต่นั้น ภิกษุเหล่านั้นก็จะมีการอยู่ร่วมกันอย่างสบายกับภิกษุผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานนั้น โดยเหตุที่เธอมีเมตตาจิตในเทวดาทั้งหลายซึ่งอยู่ในเขต พวกเทวดาผู้ที่เธอทำให้มีจิตใจอันนุ่มนวลแล้วนั้น ก็จะทำหน้าที่รักษาเธอเป็นอย่างดี ด้วยการรักษาอันเป็นธรรม โดยเหตุที่เธอมีเมตตาจิตในชนผู้เป็นใหญ่ในโคจรคาม พวกชนผู้เป็น

(หน้าที่ 154)

ใหญ่ที่เธอทำให้เป็นผู้มีจิตอันนุ่มนวลแล้วนั้น ก็จะช่วยรักษาเครื่องบริขารเป็นอย่างดี ด้วยการรักษาอันเป็นธรรม โดยเหตุที่เธอมีเมตตาจิตในมนุษย์ทั้งหลายในโคจรคามนั้น พวกมนุษย์ทั้งหลายที่เธอทำให้เป็นผู้มีความเลื่อมใสแล้วนั้น ก็จะไม่ข่มเหงเบียดเบียน โดยเหตุที่เธอมีเมตตาจิตในสรรพสัตว์ทุกชนิดนั้น เธอก็จะเป็นผู้มีอันเที่ยวไปไม่เดือดร้อนในที่ทั้งปวง

ก็แหละ เมื่อภิกษุผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานนั้นครุ่นคิดพิจารณาอยู่ด้วยมรณสติว่า เราจะต้องตายอย่างแน่นอน ฉะนี้ เธอก็จะงดเว้นอเนสนาคือการแสวงหาอันไม่สมควรเสีย จะมีความสังเวชสลดใจเพิ่มพูนทวียิ่ง ๆ ขึ้นไป ย่อมจะเป็นผู้มีจิตไม่ท้อถอยในสัมมาปฏิบัติ

แหละเมื่อเธอมีจิตสั่งสมอบรมดีแล้วด้วยอสุภสัญญา แม้อารมณ์อันเป็นทิพย์ก็จะครอบงำจิตด้วยอำนาจแห่งความโลภไม่ได้ ฉะนี้แล

กัมมัฏฐาน 2 อย่างมีเมตตากัมมัฏฐานเป็นต้นนั้น เรียกว่า สัพพัตถกกัมมัฏฐาน เพราะเป็นกัมมัฏฐานที่ต้องการปรารถนาด้วยการอาเสวนะเบื้องต้นในการบำเพ็ญกัมมัฏฐานทั้งปวง ด้วยเป็นกัมมัฏฐานที่มีอุปการะมากดังพรรณนามาอย่างหนึ่ง เพราะเป็นเหตุให้สำเร็จแก่การประกอบภาวนาอันที่ตนประสงค์อย่างหนึ่ง

แหละในบรรดากัมมัฏฐาน 40 ประการนั้น กัมมัฏฐานบทใดเหมาะสมแก่จริยาของโยคีบุคคลใด กัมมัฏฐานบทนั้นเรียกว่า ปาริหายกัมมัฏฐาน เพราะเหตุที่โยคีบุคคลนั้นจะต้องรักษาไว้เป็นนิจอย่างหนึ่ง เพราะเป็นปทัฏฐานแก่ภาวนากรรมขั้นสูง ๆ ขึ้นไปอย่างหนึ่ง

ท่านผู้ใดก็ตามที่ให้กัมมัฏฐานทั้ง 2 อย่างที่กล่าวแล้วนี้ได้ ท่านผู้นี้แหละชื่อว่าผู้สามารถให้พระกัมมัฏฐาน ตามที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ข้างต้นนั้น ผู้ประสงค์จะเจริญกัมมัฏฐานพึงเข้าไปหาท่านผู้เช่นนั้นนั่นเทียว

ส่วนคำว่า กัลยาณมิตร นั้น หมายเอากัลยาณมิตรผู้ที่ดำรงตนอยู่ในฝ่ายข้างดี มีจิตมุ่งในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติประจำตนมีอาทิอย่างนี้ คือ –

(หน้าที่ 155)

คำบริกรรม

ปิโย ครุ ภาวนีโย วตฺตา จ วจนกฺขโม

คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา โน จฏฺฐาเน นิโยชโก

คุณสมบัติอาจารย์กัมมัฏฐานที่เป็นกัลยาณมิตร คือ

1. เป็นที่รัก

2. น่าเคารพ

3. น่าสรรเสริญ

4. มีความสามารถว่ากล่าวตักเตือน

5. อดทนฟังถ้อยคำติติงและสรรเสริญได้

6. สามารถชี้แจงถ้อยคำที่สุขุมลุ่มลึกได้ และ

7. ไม่แนะนำในทางที่ไม่สมควร

อธิบายลักษณะกัลยาณมิตร

อธิบายว่า ท่านผู้เป็นกัลยาณมิตรนั้น ย่อมเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศรัทธา 1 สมบูรณ์ด้วยศีล 1 สมบูรณ์ด้วยสุตะ 1 สมบูรณ์ด้วยจาคะ 1 สมบูรณ์ด้วยวีริยะ 1 สมบูรณ์ด้วยสติ 1 และเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา 1 คือย่อมเชื่อมั่นต่อความตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้าและ เชื่อมั่นต่อกรรมและผลแห่งกรรม ด้วยศรัทธาสมบัติ ไม่ยอมปล่อยวางการแสวงหาประโยชน์ แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายอันเป็นเหตุแห่งสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยศรัทธาสมบัตินั้น ย่อมเป็นที่รักเป็นที่น่าเคารพเป็นที่น่าสรรเสริญ เป็นผู้ทักท้วงตำหนิโทษว่ากล่าว เป็นผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำของสัตว์ทั้งหลายได้ ด้วยศีลสมบัติ เป็นผู้สามารถชี้แจงถ้อยคำอันลุ่มลึก ซึ่งประกอบด้วยสัจธรรม และปฏิจจสมุปปาทธรรมเป็นต้น ด้วยสุตสมบัติ เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ ด้วยจาคสมบัติ เป็นผู้เพียรพยายามในการปฏิบัติทั้งที่เป็นประโยชน์ตน และประโยชน์คนอื่น ด้วยวีริยสมบัติ เป็นผู้มีสติตั้งมั่นในทางดี ด้วยสติสมบัติ เป็นผู้มีจิตใจไม่คิดฟุ้ง มีจิตมั่นคงด้วยสมาธิสมบัติ และรู้แจ้งชัดไม่วิปริตผิดเพี้ยน ด้วยปัญญาสมบัติ ท่านผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเห็นปานนี้นั้น ย่อมสอดส่องมองเห็นคติแห่งกุศลธรรมและอกุศลธรรม ด้วยสติรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และเป็นโทษของสัตว์ทั้งหลายตามเป็นจริง ด้วยปัญญา มีจิตแน่วแน่อยู่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษนั้น ด้วยสมาธิ ช่วยกำสิ่งที่เป็นโทษ พยายามชักจูงแนะนำ สัตว์ทั้งหลายในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ด้วยวีริยะ ฉะนี้

(หน้าที่ 156)

ก็แหละ กัลยาณมิตรผู้สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติทุก ๆ ประการนั้น คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพระบาลีรับรองว่า-

ดูก่อนอานันทะ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากชาติความเกิดได้ ด้วยอาศัยกัลยาณมิตรคือเราตถาคตนั่นเทียว

เพราะเหตุดังนั้น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น การท่องจำเอาพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระผู้มีพระภาคนั้นนั่นแลเป็นประเสริฐที่สุด แต่เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้ว ในบรรดาพระมหาสาวก 80 องค์ องค์ใดยังมีชนมายุอยู่ การท่องจำเอาพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระมหาสาวกองค์นั้น ย่อมเป็นการสมควร เมื่อพระมหาสาวกนั้นไม่มีอยู่แล้ว ก็พึงท่องจำเอาในสำนักของพระอรหันตขีณาสพองค์ที่ได้ฌานจตุกกนัยหรือฌานปัญจกนัย ด้วยพระกัมมัฏฐานบทที่ตนประสงค์จะท่องจำเอานั้น แล้วเจริญวิปัสสนาซึ่งมีฌานเป็นปทัฏฐาน จนได้บรรลุถึงซึ่งความสิ้นสุดแห่งอาสวะกิเลสนั่นเถิด

ถาม –ก็แหละ พระอรหันตขีณาสพนั้น ท่านประกาศตนให้ทราบหรือว่าท่านเป็นพระขีณาสพ ?

ตอบ –จะต้องตอบทำไม เพราะพระอรหันตขีณาสพนั้น ท่านรู้ถึงภาวะที่ผู้จะทำความเพียรแล้วย่อมแสดงตนให้ทราบด้วยความอาจหาญและรื่นเริง โดยชี้ให้เห็นถึงภาวะแห่งการปฏิบัติไม่เป็นโมฆะ พระอัสสคุตตเถระรู้ว่า ภิกษุนี้เป็นผู้จะทำกัมมัฏฐาน ฉะนี้แล้ว ท่านปูลาดแผ่นหนังไว้บนอากาศแล้วนั่งขัดสมาธิอยู่บนแผ่นหนังนั้น บอกพระกัมมัฏฐานแก่ภิกษุผู้ปรารภพระกัมมัฏฐานแล้ว มิใช่หรือ ?

เพราะเหตุฉะนั้น ถ้าโยคีบุคคลได้พระอรหันตขีณาสพ ข้อนั้นนับว่าเป็นบุญ แต่ถ้าหาไม่ได้ พึงท่องจำเอาพระกัมมัฏฐานในสำนักของท่านผู้ทรงคุณสมบัติเหล่านี้ โดยจากก่อนมาหลังคือ พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน ปุถุชนผู้ได้ฌาน ท่านผู้ทรงจำปิฏกทั้งสาม ท่านผู้ทรงจำปิฏกสอง ท่านผู้ทรงจำปิฏกหนึ่ง แม้เมื่อท่านผู้ทรงจำปิฏกหนึ่งก็ไม่มี ท่านผู้ใดมีความชำนาญแม้เพียงสังคีติอันเดียวพร้อมทั้งอรรถกถา และเป็นผู้มีความละอายด้วย

(หน้าที่ 157)

พึงท่องจำเอากัมมัฏฐานในสำนักของท่านผู้นั้นเถิด ด้วยว่าบุคคลผู้มีลักษณะเห็นปานฉะนี้ ชื่อว่าเป็นผู้รักษาประเพณี เป็นอาจารย์ผู้นับถือมติของอาจารย์ ไม่ใช่ผู้ถือมติของตนเองเป็นใหญ่ เพราะเหตุฉะนี้แหละ พระเถระในปางก่อนทั้งหลาย จึงได้กล่าวประกาศไว้ถึง 3 ครั้งว่า ท่านผู้มีความละอายจักรักษา, ท่านผู้มีความละอายจักรักษา, ท่านผู้มีความละอายจักรักษา ฉะนี้

ก็แหละ ในบรรดากัลยาณมิตรเหล่านั้น กัลยาณมิตรที่เป็นพระอรหันตขีณาสพ เป็นอาทิ ที่ข้าพเจ้ากล่าวมาในตอนต้น ท่านย่อมบอกพระกัมมัฏฐานให้ได้เฉพาะแต่แนวทาง ที่ท่านได้บรรลุมาด้วยตนเองเท่านั้น ส่วนกัลยาณมิตรผู้เป็นพหุสูต เพราะเหตุที่พระบาลีและอรรถกถาอันเป็นอุปการะแก่กัมมัฏฐานเป็นสิ่งที่ท่านได้เข้าไปหาพระอาจารย์นั้น ๆ แล้วท่องจำเอาอย่างขาวสะอาด ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยอยู่ ท่านจึงเลือกสรรเอาแต่สุตบทและเหตุอันคล้อยตามสุตบทซึ่งสมควรแก่กัมมัฏฐานนั้น ๆ จากนิกายนี้บ้างโน้นบ้าง แล้วเอามาปรับปรุงให้เป็นที่สะดวกสบายเหมาะสมแก่โยคีบุคคลผู้ที่ท่านจะให้กัมมัฏฐาน แสดงวิธีแห่งกัมมัฏฐานให้เห็นแนวทางอย่างกว้างขวาง เป็นดุจพญาช้างบุกไปในสถานที่รกชัฏ จึงจักบอกกัมมัฏฐาน

เพราะเหตุฉะนั้น โยคีบุคคลพึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้กัมมัฏฐาน ซึ่งมีคุณสมบัติเห็นปานฉะนี้ ทำวัตรปฏิบัติแก่ท่านแล้ว พึงท่องจำเอาพระกัมมัฏฐานเถิด

แหละถ้าโยคีบุคคลได้กัลยาณมิตรนั้นในวัดเดียวกัน ข้อนั้นนับว่าเป็นบุญ แต่ถ้าหาไม่ได้ ท่านอยู่ ณ วัดใดก็พึงไป ณ ที่วัดนั้น และเมื่อไปนั้น อย่าล้างเท้า อย่าทาน้ำมัน อย่าสวมรองเท้า อย่ากั้นร่ม อย่าให้ศิษย์ช่วยถือทนานน้ำมันและน้ำผึ้งน้ำอ้อยเป็นต้น อย่าไปอย่างมีอันเตวาสิกห้อมล้อม แต่พึงไปอย่างนี้ คือ พึงทำคมิกวัตร (วัตรของผู้เตรียมจะไป) ให้เสร็จบริบูรณ์แล้วถือเอาบาตรและจีวรของตนด้วยตนเองไป เมื่อแวะพัก ณ วัดใด ๆ ใน

(หน้าที่ 158)

ระหว่างทาง พึงทำวัตรปฏิบัติ ณ วัดนั้น ๆ ตลอดไป คือในเวลาเข้าไป พึงทำอาคันตุกวัตร ในเวลาจะออกมา พึงทำคมิกวัตร ให้บริบูรณ์ พึงมีเครื่องบริขารเพียงเล็กน้อยและมีความประพฤติอย่างเคร่งครัดที่สุด

ก่อนแต่จะเข้าไปสู่วัดนั้น พึงให้ทำไม้ชำระฟันให้เป็นกัปปิยะสมควรแก่ที่จะใช้ได้เสียแต่ในระหว่างทาง แล้วพึงถือเข้าไป และอย่าได้ไปแวะพัก ณ บริเวณอื่น ด้วยตั้งใจว่าจะแวะพักสักครู่หนึ่ง ล้างเท้าทาน้ำมันเท้าเป็นต้นแล้วจึงจะไปสำนักของอาจารย์ เพราะเหตุไร ? เพราะว่า ถ้าในวัดนั้นจะพึงมีพวกภิกษุที่ไม่ลงคลองกันกับอาจารย์นั้น ภิกษุเหล่านั้น ก็จะพึงซักถามถึงเหตุที่มาแล้ว ประกาศตำหนิติโทษของอาจารย์ให้ฟัง จะพึงก่อกวนให้เกิดความเดือดร้อนใจว่า ฉิบหายแล้วสิ ถ้าคุณมาสู่สำนักของภิกษุองค์นั้น ข้อนี้ก็จะพึงเป็นเหตุให้ต้องกลับไปเสียจากที่นั่นได้ เพราะฉะนั้น พึงถามถึงที่อยู่ของอาจารย์แล้วตรงไปยังที่นั้นเลยทีเดียว

ถ้าแหละ แม้อาจารย์นั้นจะเป็นผู้อ่อนพรรษากว่า ก็อย่าพึงยินดีต่อการช่วยรับบาตรและจีวรเป็นต้น ถ้าท่านแก่พรรษากว่า พึงไปไหว้ท่านแล้วยืนคอยอยู่ก่อน พึงเก็บบาตรและจีวรไว้ตามที่ท่านแนะนำว่า "อาวุโส เก็บบาตรและจีวรเสีย" ถ้าปรารถนาอยากจะดื่มก็จงดื่มตามที่ท่านแนะนำว่า "อาวุโส นิมนต์ดื่มน้ำ" แต่อย่าพึ่งล้างเท้าทันทีตามที่ท่านแนะนำว่า "ล้างเท้าเสีย อาวุโส" เพราะถ้าเป็นน้ำที่พระอาจารย์ตักเอามาเอง ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่เมื่อท่านแนะนำว่า "ล้างเถิด อาวุโส ฉันไม่ได้ตักมาเองดอก คนอื่นเขาตักมา" พึงไปนั่งล้างเท้า ณ โอกาสอันกำบังที่อาจารย์มองไม่เห็น หรือ ณ ส่วนข้างหนึ่งของวิหารอันเป็นที่ว่างเปล่า

(หน้าที่ 159)

ถ้าแหละ ท่านอาจารย์หยิบเอาขวดน้ำมันสำหรับทามาให้ พึงลุกขึ้นรับโดยเคารพด้วยมือทั้งสอง เพราะถ้าไม่รับ ความสำคัญเป็นอย่างอื่นก็จะพึงมีแก่อาจารย์ว่า ภิกษุนี้ทำการสมโภคคือการใช้ร่วมกันให้กำเริบเสียหายตั้งแต่บัดนี้เทียว (รังเกียจการใช้สิ่งของร่วมกัน) แต่ครั้นรับแล้วอย่าพึงทาตั้งต้นแต่เท้าไป เพราะถ้าน้ำมันนั้น เป็นน้ำมันสำหรับทาตัวของพระอาจารย์แล้ว ก็จะเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะฉะนั้น พึงทาศรีษะแล้วทาตามลำดับตัวเป็นต้นก่อน แต่เมื่อท่านแนะนำว่า "อาวุโส ทาเท้าก็ได้ น้ำมันนี้เป็นน้ำมันรักษาอวัยวะทั่วไป" พึงทาที่ศรีษะนิดหน่อยแล้วจึงทาเท้า ครั้นทาเสร็จแล้วพึงบอกว่า "กระผมขออนุญาติเก็บขวดน้ำมันนี้ขอรับ" เมื่อท่านรับเองก็พึงมอบถวายคืน

อย่าเพิ่งกล่าวขอว่า "ขอท่านกรุณาบอกพระกัมมัฏฐานให้แก่กระผมด้วย" ตั้งแต่วันที่มาถึง แต่ถ้าอุปัฏฐากประจำของท่านอาจารย์มี พึงขออนุญาตกะเขาแล้วทำวัตรปฏิบัติแก่ท่านนับตั้งแต่วันที่สองไป ถ้าแม้ขอแล้วแต่เขาไม่ยอมอนุญาตให้ เมื่อได้โอกาสก็พึงทำทันที เมื่อทำวัตรปฏิบัติพึงจัดเอาไม้ชำระฟัน 3 ชนิดเข้าไปวางไว้ คือ ชนิดเล็ก ชนิดกลาง และชนิดใหญ่ พึงตระเตรียมน้ำบ้วนปากและน้ำสรง 2 ชนิด คือ น้ำเย็นและน้ำอุ่น แต่นั้นพึงสังเกตุไว้ ท่านอาจารย์ใช้ชนิดไหนถึง 3 วัน ก็พึงจัดเฉพาะชนิดนั้นตลอดไป เมื่อท่านไม่ถือระเบียบแน่นอน ใช้ตามมีตามเกิด ก็พึงจัดไปไว้ตามที่ได้

ธุระอะไรที่ข้าพเจ้าจะต้องพิจารณามากเล่า วัตรปฏิบัติโดยชอบอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แล้วฉันใด พึงทำวัตรปฏิบัติแม้นั้นให้ครบทุก ๆ อย่าง ซึ่งมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหาขันธกะวินัยปิฏก มีอาทิว่า –

ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกพึงประพฤติปฏิบัติโดยชอบในพระอาจารย์ กิริยาที่ประพฤติปฏิบัติโดยชอบในพระอาจารย์นั้น ดังนี้ พึงลุกขึ้นแต่เช้าแล้วถอดรองเท้าเสีย ห่มจีวรเฉวียงบ่า ถวายไม้ชำระฟัน ถวายน้ำล้างหน้า ปูลาดอาสนะ ถ้ามีข้าวต้มพึงล้างภาชนะให้สะอาดแล้วน้อมข้าวต้มเข้าไปถวาย

(หน้าที่ 160)

เมื่อโยคีบุคคลทำให้ท่านอาจารย์พอใจด้วยวัตรสมบัติอยู่โดยทำนองนี้ ตกถึงเวลาเย็น กราบท่านแล้ว เมื่อท่านอนุญาติให้ไปว่าไปได้ฉะนี้ จึงค่อยไป เมื่อใดท่านถามว่า "เธอมา ณ ที่นี้เพื่อประสงค์สิ่งใดหรือ ?" เมื่อนั้น พึงบอกเหตุที่มาให้ทราบ ถ้าท่านไม่ถามเลย แต่ก็ยินดีต่อวัตรปฏิบัติ ครั้นล่วงเลยมาถึง 10 วันหรือปักษ์หนึ่งแล้ว แม้ถึงท่านจะอนุญาติให้ไป ก็อย่าพึ่งไป พึงขอให้ท่านให้โอกาสแล้ว พึงบอกถึงเหตุที่มา ให้ทราบสักวันหนึ่ง หรือพึงไปหาท่านให้ผิดเวลา เมื่อท่านถามว่า มาทำไม ? พึงฉวยโอกาสบอกถึงเหตุที่มา ถ้าท่านนัดหมายให้มาเช้า ก็พึงเข้าไปเช้าตามนัดนั่นแล

ก็แหละ ถ้าตามเวลาที่นัดหมายนั้น โยคีบุคคลเกิดเสียดท้องด้วยโรคดีกำเริบก็ดี หรืออาหารไม่ย่อยเพราะไฟธาตุอ่อนก็ดี หรือโรคอะไรอย่างอื่นเบียดเบียนก็ดี พึงบอกโรคนั้นให้ท่านอาจารย์ทราบตามความจริง แล้วขอท่านเปลี่ยนเป็นเวลาที่ตนสบาย แล้วพึงเข้าไปหาในเวลานั้น ทั้งนี้เพราะว่า ในเวลาที่ไม่สบายแม้ท่านอาจารย์จะบอกพระกัมมัฏฐานให้ก็ไม่สามารถที่จะมนสิการได้

อรรถาธิบายพิสดารในหัวข้อสังเขปว่า พึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้พระกัมมัฏฐาน ยุติเพียงเท่านี้

บัดนี้ จะอรรถาธิบายในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า อันเหมาะสมแก่จริยาของตน ฉะนี้ต่อไป –

คำว่า จริยา ได้แก่จริยา 6 อย่างคือ

1. ราคจริยา ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจราคะ

2. โทสจริยา ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจโทสะ

3. โมหจริยา ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจโมหะ

4. สัทธาจริยา ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจศรัทธา

5. พุทธจริยา ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจปัญญา

6. วิตักกจริยา ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจวิตก

(หน้าที่ 161)

แต่เกจิอาจารย์ประสงค์เอาจริยาถึง 14 อย่าง โดยบวกจริยา 8 เข้าด้วย ดังนี้คือ จริยาอื่นอีก 4 ด้วยอำนาจการคละกันและต่อกันของราคจริยาเป็นต้น คือราคโทสจริยา 1 ราคโมหจริยา 1 โทสโมหจริยา 1 ราคโทสโมหจริยา 1 และจริยา 4 อย่างอื่นอีกด้วยอำนาจการคละกันและต่อกันของสัทธาจริยาเป็นต้น คือ สัทธาพุทธิจริยา 1 สัทธาวิตักกจริยา 1 พุทธิวิตักกจริยา 1 สัทธาพุทธิวิตักกจริยา 1

แต่เมื่อจะกล่าวประเภทแห่งจริยา ด้วยอำนาจการคละกันและต่อกันอย่างนี้แล้ว จริยาก็จะมีเป็นอเนกประการ โดยยกเอาราคจริยาเป็นต้นมาคละกันกับสัทธาจริยาเป็นต้น ความสำเร็จแห่งอรรถาธิบายที่ประสงค์ก็จะไม่พึงมี เพราะฉะนั้น นักศึกษาพึงเข้าใจแต่โดยสังเขปว่า จริยามีเพียง 6 อย่างเท่านั้น

จริตบุคคล 6 ประเภท

คำว่า จริยา 1 ปกติ 1 ความหนาแน่น 1 โดยใจความเป็นอันเดียวกัน และด้วยอำนาจแห่งมูลจริยา 6 อย่างนั้น บุคคลจึงมี 6 ประเภทเหมือนกัน ดังนี้ –

1. ราคจริตบุคคล คนราคจริต

2. โทสจริตบุคคล คนโทสจริต

3. โมหจริตบุคคล คนโมหจริต

4. สัทธาจริตบุคคล คนศรัทธาจริต

5. พุทธิจริตบุคคล คนพุทธิจริต และ

6. วิตักกจริตบุคคล คนวิตกจริต

อธิบายจริตบุคคล 6 ประเภท

คนราคจริตมีส่วนเข้ากันได้กับคนศรัทธาจริต โดยมีอรรถาธิบายว่า ในสมัยที่กุศลจิตเกิดขึ้น สำหรับคนราคจริตนั้น ศรัทธามีกำลังมาก เพราะศรัทธามีคุณลักษณะใกล้กับราคะ ขยายความว่า ในฝ่ายอกุศล ราคะย่อมทำให้เยื่อใยติดใจในอารมณ์ ไม่ห่อเหี่ยว ฉันใด ในฝ่ายกุศล ศรัทธาก็ทำให้เยื่อใยติดใจในอารมณ์ ไม่ห่อเหี่ยว ฉันนั้น ราคะย่อมแสวงหาวัตถุกาม ฉันใด ศรัทธาก็ย่อมแสวงหาคุณมีศีลเป็นต้น ฉันนั้น และราคะย่อมไม่ละวางซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ฉันใด ศรัทธาก็ไม่ละวางซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฉันนั้น

(หน้าที่ 162)

คนโทสจริตมีส่วนเข้ากันได้กับคนพุทธิจริต โดยมีอรรถาธิบายว่า ในสมัยที่กุศลจิตเกิดขึ้น สำหรับคนโทสจริตนั้น ปัญญามีกำลังมาก เพราะปัญญามีคุณลักษณะใกล้กับโทสะ ขยายความว่า ในฝ่ายอกุศล โทสะไม่เยื่อใย ไม่ติดอารมณ์ ฉันใด ในฝ่ายกุศล ปัญญาก็ไม่เยื่อใย ไม่ติดอารมณ์ ฉันนั้น โทสะย่อมแสวงหาแต่โทษแม้ที่ไม่มีจริง ฉันใด ปัญญาก็ย่อมแสวงหาแต่โทษที่มีจริง ฉันนั้น และโทสะย่อมเป็นไปโดยอาการหลีกเว้นสัตว์ ฉันใด ปัญญาก็ย่อมเป็นไปโดยอาการหลีกเว้นสังขาร ฉันนั้น

แหละ โมหจริตบุคคลมีส่วนเข้ากันได้กับวิตกจริตบุคคล โดยมีอรรถาธิบายว่า เมื่อโมหจริตบุคคลเพียรพยายามเพื่อทำให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นนั้น วิตกผู้ทำอันตราย ย่อมชิงเกิดขึ้นเสียโดยมาก ทั้งนี้ เพราะวิตกมีลักษณะใกล้กับโมหะ ขยายความว่า โมหะเป็นสภาพไม่ตั้งมั่น เพราะเกลื่อนกลาดดาษดาไปในอารมณ์ ฉันใด วิตกก็เป็นสภาพไม่ตั้งมั่น เพราะตริตรึกนึกไปโดยประการต่าง ๆ ฉันนั้น และโมหะเป็นสภาพไหวหวั่นเพราะไม่หยั่งลงมั่นในอารมณ์ ฉันใด วิตกก็เป็นสภาพไหวหวั่น เพราะกำหนดอารมณ์รวดเร็ว ฉันนั้น

อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า จริยาอื่น ๆ ยังมีอีก 3 อย่าง ด้วยอำนาจตัณหา 1 มานะ 1 ทิฏฐิ 1 ใน 3 อย่างนั้น ตัณหาก็ได้แก่ราคะนั่นเอง และมานะก็ประกอบด้วยราคะนั้น เพราะเหตุฉะนี้ ตัณหาและมานะทั้งสองจึงไม่พ้นราคจริตไปได้ ส่วนทิฏฐิจริยาก็บวกเข้าไปในโมหจริยานั่นเอง เพราะทิฏฐิมีโมหะเป็นเหตุให้เกิด

ปัญหา 3 ข้อในจริยา 6 อย่าง

1. จริยา 6 อย่างนี้นั้น มีอะไรเป็นเหตุ

2. จะทราบได้อย่างไรว่า บุคคลนี้ เป็นราคจริต บุคคลนี้ เป็นโทสจริตเป็นต้น จริตใดจริตหนึ่ง

3. บุคคลจริตชนิดไหน มีธรรมเป็นที่สบายอย่างไร

วิสัชนาปัญหา ข้อที่ 1

ในจริยา 6 อย่างนั้น เกจิอาจารย์กล่าวไว้ว่า จริยา 3 อย่างข้างต้น มีกรรมที่ได้สั่งสมมาแต่ชาติก่อนเป็นเหตุ 1 มีธาตุ และโทษเป็นเหตุ 1

(หน้าที่ 163)

อธิบายว่า บุคคลผู้มีการกระทำสิ่งที่น่าเจริญใจและทำกรรมอันดีงามไว้มากในชาติก่อน หรือบุคคลที่จุติจากสวรรค์มาเกิดในโลกนี้ ย่อมเป็นคนราคจริต บุคคลผู้สร้างเวรกรรม คือตัดช่องย่องเบาปล้นฆ่าและพันธนาจองจำไว้มากในชาติก่อน หรือบุคคลที่จุติจากนรกและกำเนิดนาคมาเกิดในโลกนี้ ย่อมเป็นคนโทสจริต บุคคลที่ดื่มน้ำเมามากและขาดการศึกษาการค้นคว้าในชาติก่อน หรือบุคคลที่จุติจากกำเนิดดิรัจฉานมาเกิดในโลกนี้ ย่อมเป็นคนโมหจริต

เกจิอาจารย์กล่าวว่า จริยา 3 ข้างต้น มีกรรมที่สั่งสมมาในชาติก่อนเป็นเหตุ อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้

อนึ่ง เพราะมีธาตุทั้ง 2 คือ ธาตุดินและธาตุน้ำมาก บุคคลจึงเป็นคนโมหจริต เพราะมีธาตุทั้ง 2 คือธาตุไฟและธาตุลมนอกนี้มา บุคคลจึงเป็นคนโทสจริต และเพราะมีธาตุหมดทั้ง 4 ธาตุสม่ำเสมอกัน บุคคลจึงเป็นคนราคจริต ส่วนในข้อว่าด้วยโทษนั้นคือ บุคคลผู้มีเสมหะมากเป็นคนราคจริต บุคคลผู้มีลมมากเป็นคนโมหจริต หรือบุคคลผู้มีเสมหะมากเป็นคนโมหจริต บุคคลผู้มีลมมากเป็นคนราคจริต

เกจิอาจารย์กล่าวว่า จริยา 3 ข้างต้น มีธาตุและโทษเป็นเหตุอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้

มติมหาพุทธโฆสเถระแย้งเกจิอาจารย์

คำของพวกเกจิอาจารย์ทั้งหมดนี้ เป็นคำที่ไม่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะเหตุนี้ บุคคลผู้มีการกระทำสิ่งที่น่าเจริญใจและทำกรรมอันดีงามไว้มากในชาติก่อนก็ดี บุคคลจำพวกที่จุติจากสวรรค์มาเกิดในโลกนี้ก็ดี ไม่ใช่จะเป็นคนราคจริตไปเสียทั้งหมดมิได้ หรือบุคคลจำพวกสร้างเวรกรรมมีการตัดช่องย่องเบาเป็นต้นไว้มากก็ดี บุคคลจำพวกที่จุติจากนรกเป็นต้นมาเกิดในโลกนี้ก็ดี ไม่ใช่จะเป็นคนโทสจริต คนโมหจริตไปเสียทั้งหมดมิได้ และการกำหนดเอาความมากของธาตุทั้ง 4 โดยนัยตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็ไม่เป็นอย่างนั้นทีเดียว และในการกำหนดเอาโทษเล่า ก็กล่าวถึงเพียงคนราคจริตกับคนโมหจริต 2 บุคคลเท่านั้น และแม้คำกำหนดด้วยอำนาจโทษนั้น ก็ผิดกันทั้งเบื้องต้นเบื้องปลาย (เพราะการกำหนดจริยา

(หน้าที่ 164)

ด้วยอำนาจแห่งโทษว่า บุคคลเป็นคนราคจริตเป็นต้นด้วยมีโทษคือเสมหะเป็นต้นมากนั้น พวกเกจิอาจารย์กล่าวว่า บุคคลมีเสมหะมากเป็นคนราคจริตดังนี้แล้วกลับกล่าวว่า บุคคลมีเสมหะมากเป็นคนโมหจริต และว่าบุคคลมีลมมากเป็นคนโมหจริต แล้วยังซ้ำกล่าวว่า บุคคลมีลมมากเป็นคนมีราคจริตอีกเล่า) และในศรัทธาจริยาเป็นต้น ก็มิได้กล่าวถึงเหตุจริยาอะไรเลยแม้แต่อย่างเดียว

มติของท่านอรรถกถาจารย์

ส่วนการวินิจฉัยตามแนวมติของท่านอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย ในอธิการนี้ มีดังนี้ กล่าวคือ ในการระบุเอาส่วนที่มากหนาของเหตุ ท่านอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ดังนี้ - สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นผู้มีโลภะมากหนา เป็นผู้มีโทสะมากหนา เป็นผู้มีโมหะมากหนา เป็นผู้มีอโลภะมากหนา ทั้งนี้โดยนิยามแห่งเหตุ มีโลภะเป็นต้นอันเป็นไปในภพก่อน ดังนี้

อกุศลวาระ 4

1. บุคคลใดในขณะทำกรรม โลภะมีกำลังมากแต่อโลภะมีกำลังน้อย อโทสะ, อโมหะมีกำลังมาก แต่โทสะ, โมหะมีกำลังน้อย อโลภะซึ่งมีกำลังน้อยของบุคคลนั้น ย่อมไม่สามารถครอบงำโลภะได้ ส่วนอโทสะ, อโมหะมีกำลังมาก จึงสามารถครอบงำโทสะ, โมหะได้ เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ชื่อว่าบังเกิดด้วยอำนาจปฏิสนธิวิบากอันกรรมนั้นเผล็ดผลให้ ย่อมเป็นคนขี้โลภ แต่อ่อนโยน ไม่มักโกรธ มีปัญญา มีปรีชาญานแหลมคมดังเพชร

2. อนึ่ง บุคคลใดในขณะทำกรรม โลภะ, โทสะมีกำลังมาก แต่อโลภะ, อโทสะมีกำลังน้อย อโมหะมีกำลังมากแต่โมหะมีกำลังน้อย บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนี้ ย่อมเป็นคนขี้โลภด้วย ขี้โกรธด้วย โดยนัยต้นนั่นเทียว แต่เป็นคนเจ้าปัญญา มีฌานปรีชาแหลมคมดังเพชร เหมือนพระทัตตาภยเถระเป็นตัวอย่าง

(หน้าที่ 165)

3. อนึ่ง บุคคลใดในขณะทำกรรม โลภะ, อโทสะ, โมหะมีกำลังมาก แต่อโลภะ, โทสะ, อโมหะมีกำลังน้อย บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ย่อมเป็นคนขี้โลภด้วย มีปัญญาอ่อนด้วยโดยนัยต้นนั่นเทียว แต่เป็นคนอ่อนโยน ไม่ขี้โกรธ เหมือนพระพากุลเถระเป็นตัวอย่าง

4. อนึ่ง บุคคลใดในขณะทำกรรม โลภะ, โทสะ, โมหะครบทั้ง 3 เหตุมีกำลังมาก แต่อโลภะ, อโทสะ, อโมหะเหตุมีกำลังน้อย บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ย่อมเป็นคนข้โลภด้วย ขี้โกรธด้วย ขี้หลงด้วย โดยนัยต้นนั่นเทียว

กุศลวาระ 4

1. ส่วนบุคคลใดในขณะทำกรรม อโลภะ, โทสะ, โมหะมีกำลังมาก แต่โลภะ, อโทสะ, อโมหะมีกำลังน้อย บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ย่อมเป็นคนไม่โลภ มีกิเลสน้อย แม้จะได้ประสพกับอารมณ์อันเป็นทิพย์ ก็ไม่หวั่นไหวโดยนัยต้นนั่นเทียว แต่ว่าเป็นคนขี้โกรธ และมีปัญญาอ่อน

2. อนึ่ง บุคคลใดในขณะทำกรรม อโลภะ, อโทสะ, โมหะมีกำลังมาก แต่โลภะ, โทสะ, อโมหะมีกำลังน้อย บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ย่อมเป็นคนไม่ขี้โลภ และไม่ขี้โกรธ อ่อนโยน โดยนัยต้นนั่นเทียว แต่เป็นคนมีปัญญาอ่อน

3. อนึ่ง บุคคลใดในขณะทำกรรม อโลภะ, โทสะ, อโมหะมีกำลังมาก แต่โลภะ, อโทสะ, โมหะมีกำลังน้อย บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ย่อมเป็นคนไม่ขี้โลภ และมีปัญญาดี โดยนัยต้นนั่นเทียว แต่เป็นคนขี้โทโสขี้โกรธ

4. อนึ่ง บุคคลใดในขณะทำกรรม อโลภะ, อโทสะ, อโมหะเหตุทั้ง 3 ประการ มีกำลังมาก แต่โลภะ, โทสะ, โมหะมีกำลังอ่อน บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ย่อมเป็นคนไม่ขี้โลภ ไม่ขี้โกรธ และมีปัญญาดี เหมือนพระมหารักขิตเถระ โดยนัยต้นนั่นเทียว

อรรถาธิบายของท่านฎีกาจารย์

อกุศลวาระและกุศลวาระนี้ ท่านฎีกาจารย์ให้อรรถาธิบายไว้ดังนี้- ก็แหละในอรรถกถานั้น ได้วาระ 14 วาระ คือ ในฝ่ายอกุศลได้ 7 วาระ ทั้งนี้ ด้วยอำนาจความมากหนา

(หน้าที่ 166)

แห่งเหตุมีโลภเหตุเป็นต้น โดยจัดเป็นอย่างละหนึ่ง 3 วาระ อย่างละสอง 3 วาระ อย่างละสาม 1 วาระ คือโลภวาระ 1 โทสวาระ 1 โมหวาระ 1 โลภ, โทส, วาระ 1 โลภ, โมหวาระ 1 โทส, โมหวาระ 1 และโลภ, โทส, โมหวาระ 1 ในฝ่ายกุศลได้ 7 วาระเหมือนกันทั้งนี้ ด้วยอำนาจความมากหนาแห่งเหตุมีอโลภเหตุเป็นต้น โดยจัดเป็นอย่างละหนึ่ง 3 วาระ อย่างละสอง 3 วาระ อย่างละสาม 1 วาระ คือ อโลภวาระ 1 อโทสวาระ 1 อโมหวาระ 1 อโลภ, อโทสวาระ 1 อโลภ, อโมหวาระ, 1 อโทส, อโมหวาระ 1 อโลภ, อโทส, อโมหวาระ 1

ใน 14 วาระนั้น ท่านอรรถกถาจารย์แสดงเป็นเพียง 8 วาระเท่านั้น โดยจัดวาระในฝ่ายอกุศลเป็น 3 วาระ ในฝ่ายกุศลเป็น 3 วาระ เข้าไว้ในภายในดังนี้ ในฝ่ายกุศลท่านถือเอาโทสุสสทวาระด้วยวาระที่ 3 ถือเอาโมหุสสทวาระด้วยวาระที่ 2 และถือเอาโทส-โมหุสสทวาระ ด้วยวาระที่ 1 ซึ่งมาในอรรถกถานั้นว่า อโลภ, โทส, อโมห, มีกำลังมาก, อโลภ, อโทส, โมห, มีกำลังมาก อโลภ, โทส, โมห, มีกำลังมาก ในฝ่ายอกุศลก็เหมือนกันท่านถือเอาอโทสุสสทวาระ ด้วยวาระที่ 3 ถือเอาอโมหุสสทวาระด้วยวาระที่ 2 และถืออโทสอโมหุสสทวาระด้วยวาระที่ 1 ซึ่งมาในอรรถกถานั้นว่า โลภ, อโทส, โมห, มีกำลังมาก, โลภ, โทส, อโมห, มีกำลังมาก โลภะอโทส, อโมห, มีกำลังมาก

ก็แหละ ในอรรถกถานั้น บุคคลใดที่ท่านอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า เป็นคนขี้โลภ ดังนี้ บุคคลนั้นเป็นคนราคจริต บุคคลที่ขี้โกรธและบุคคลมีปัญญาอ่อน เป็นคนโทสจริตและคนโมหจริต บุคคลผู้มีปัญญาดี เป็นคนพุทธิจริต บุคคลผู้ไม่โลภไม่โกรธ เป็นคนศรัทธาจริต เพราะมีปกติเลื่อมใสศรัทธา อีกนัยหนึ่ง บุคคลที่บังเกิดมาด้วยกรรมอันมีอโมหะเป็นบริวาร เป็นคนพุทธิจริต ฉันใด บุคคลที่บังเกิดมาด้วยกรรมอันมีศรัทธาที่มีกำลังมากเป็นบริวาร ก็เป็นคนศรัทธาจริต ฉันนั้น บุคคลที่เกิดมาด้วยกรรมซึ่งมีกามวิตกเป็นต้น เป็นบริวาร เป็นคนวิตกจริต บุคคลที่บังเกิดมาด้วยกรรมซึ่งมีความผสมกับโลภะเป็นต้นเป็นบริวาร จัดเป็นคนมีจริตเจือปน

(หน้าที่ 167)

นักศึกษาพึงทราบว่า กรรมอันให้เกิดปฎิสนธิวิบาก ซึ่งมีโลภะเป็นต้นแต่อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นบริวาร นับเป็นเหตุแห่งจริยาทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้

วิปัสนาปัญหา ข้อที่ 2

ก็แหละ ในปัญหาที่ข้าพเจ้าตั้งไว้มีอาทิว่า จะพึงทราบได้อย่างไรว่า บุคคลนี้เป็นคนราคจริต ฉะนี้นั้น มีแนวทางที่จะให้ทราบได้โดยบทประพันธคาถา ดังนี้ –

อิริยาปถโต กิจฺจา โภชนา ทสฺสนาทิโต

ธมฺมปฺปวตฺติโต เจว จริยาโย วิภาวเย

นักศึกษาพึงทราบจริยาทั้งหลายได้โดยประการเหล่านี้ คือ –

1. โดยอิริยาบถ

2. โดยการงาน

3. โดยอาหาร

4. โดยการเห็นเป็นต้น และ

5. โดยความเกิดขึ้นแห่งธรรมะ

1. โดยอิริยาบถ

ในประการเหล่านั้น ข้อว่า โดยอิริยาบถ มีอรรถาธิบายว่า - คนราคจริต เมื่อเดินอย่างปกติ ย่อมเดินไปโดยอาการอันเรียบร้อย ค่อย ๆ วางเท้าลง วางเท้ายกเท้าอย่างสม่ำเสมอ และเท้าของคนราคจริตนั้นเป็นเว้ากลาง คนโทสจริตนั้นย่อมเดินเหมือนเอาปลายเท้าขุดพื้นดินไป วางเท้ายกเท้าเร็ว และเท้าของคนโทสจริตนั้นจิกปลายเท้าลง คนโมหจริตย่อมเดินด้วยกิริยาที่ส่ายไปข้าง ๆ วางเท้ายกเท้าเหมือนคนที่สะดุ้งตกใจ และเท้าของคนโมหจริตนั้นลงส้น ข้อนี้สมด้วยคำที่อรรถาจารย์กล่าวไว้ในอุปบัติแห่งคัณฑิยสูตรว่า

คนขี้กำหนัดเท้าเว้ากลาง คนขี้โกรธเท้าจิกปลายลง คนขี้หลงเท้าลงส้น ส่วนเท้าชนิดนี้นี้ เป็นเท้าของท่านผู้ละกิเลส เหมือนดังหลังคาได้แล้ว

(หน้าที่ 168)

แม้อิริยาบถยืนของคนราคจริต ก็มีอาการหวานตา น่าเลื่อมใส ของคนโทสจริต มีอาการแข็งกระด้าง ของคนโมหจริตมีอาการซุ่มซ่าม แม้ในอิริยาบถนั่งก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้ ส่วนอิริยาบถนอน คนราคจริตไม่รีบร้อน ปูที่นอนอย่างสม่ำเสมอ ค่อย ๆ นอนทอดองค์อวัยวะลงโดยเรียบร้อย นอนหลับด้วยอาการอันน่าเลื่อมใส และเมื่อปลุกให้ตื่นก็ไม่ผลุนผลันลุกขึ้น ขานตอบเบา ๆ เหมือนคนมีความรังเกียจ คนโทสจริตรีบร้อน ปูที่นอนตามแต่จะได้ ทอดกายผลุงลง นอนอย่างเกะกะไม่เรียบร้อย และเมื่อปลุกให้ตื่นก็ผลุนผลันลุกขึ้น ขานตอบเหมือนกับคนโกรธ คนโมหจริต ปูที่นอนไม่ถูกฐานผิดรูป นอนทอดกายส่ายไปข้างโน้นข้างนี้ คว่ำหน้ามาก และเมื่อปลุกให้ตื่น ก็มัวทำเสียงหื้อหื้ออยู่ ลุกขึ้นอย่างเชื่องช้า ส่วนคนศรัทธาจริตเป็นต้น เพราะมีส่วนเข้ากันได้กับคนราคจริตเป็นต้น ฉะนั้น แม้คนศรัทธาจริตเป็นต้นจึงมีอิริยาบถเหมือนกับคนราคจริตเป็นต้นนั่นเทียว

นักศึกษาพึงทราบจริยาทั้งหลายโดยอิริยาบถ เป็นประการแรก ด้วยประการฉะนี้

2. โดยการงาน

ก็แหละ ข้อว่า โดยการงาน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ - ในการงานต่าง ๆ เช่น การปัดกวาดลานวัดเป็นต้น คนราคจริตจับไม้กวาดเรียบร้อย ไม่รีบร้อน ไม่คุ้ยดินทรายให้เกลื่อนกลาด กวาดสะอาดราบเรียบ เหมือนลาดพื้นด้วยเสื่อปอและดอกไม้ คนโทสจริตจับไม้กวาดแน่นมาก ท่าทางรีบร้อน คุ้ยเอาดินทรายขึ้นไปกองไว้สองข้าง กวาดเสียงดังกราก ๆ แต่ไม่สะอาดไม่เรียบราบ คนโมหจริตจับไม้กวาดหลวม ๆ กวาดวนไปวนมาทำให้ดินทรายและหยากเยื่อกลาดเกลื่อน ไม่สะอาด ไม่เรียบร้อย

ในกรณีปัดกวาด ฉันใด แม้ในการงานทั่ว ๆ ไป เช่นการซักจีวร ย้อมจีวร เป็นต้น ก็เหมือนกัน คนราคจริตมักทำอย่างละเอียดลออ เรียบร้อย สม่ำเสมอ และด้วยความตั้งใจ คนโทสจริต มักทำอย่างเคร่งเครียด เข้มแข็ง แต่ไม่สม่ำเสมอ คนโมหจริต มักทำไม่ละเอียดลออ งุ่มง่าม ไม่สม่ำเสมอ และไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ แม้การนุ่งห่มจีวร สำหรับคนราคจริต นุ่งห่มไม่ตึงเกินไม่หลวมเกิน นุ่งห่มปริมณฑล น่าเลื่อมใส สำหรับคนโทสจริต นุ่งห่มตึงเปรี๊ยะ ไม่เป็นปริมณฑล สำหรับคนโมหจริต นุ่งห่มหลวม ๆ

(หน้าที่ 169)

พะรุงพะรัง ส่วนคนศรัทธาจริตเป็นต้น พึงทราบโดยทำนองแห่งคนราคจริตเป็นต้นนั่นเทียว เพราะเป็นผู้มีส่วนเข้ากันได้ กับคนราคจริตเป็นต้นเหล่านั้น

นักศึกษาพึงทราบจริยาทั้งหลายโดยการงาน ด้วยประการฉะนี้

3. โดยอาหาร

ข้อว่า โดยอาหาร นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ - คนราคจริตชอบอาหารที่มีรสหวานจัด และเมื่อบริโภคก็ทำคำข้าวกลมกล่อม ไม่ใหญ่จนเกินไป มีความต้องการรสเป็นสำคัญ บริโภคอย่างไม่รีบร้อน และได้อาหารที่ดี ๆ แล้วจะเป็นอะไรก็ตาม ย่อมดีใจ คนโทสจริตชอบอาหารที่ไม่ประณีต มีรสเปรี้ยว และเมื่อบริโภคก็ทำคำข้าวใหญ่เสียจนเต็มปากไม่ต้องการโอชารส บริโภคอย่างรีบร้อน และได้อาหารที่ไม่ดีแล้วจะเป็นอะไรก็ตาม ย่อมดีใจ คนโมหจริตย่อมไม่ชอบรสอะไรแน่นอน และเมื่อบริโภคก็ทำคำข้าวเล็ก ๆ ไม่กลมกล่อม ทำเมล็ดข้าวหกเรี่ยราดในภาชนะ ริมฝีปากเปื้อนเปรอะ บริโภคอย่างมีจิตฟุ้งซ่าน นึกพล่านไปถึงสิ่งนั้น ๆ ฝ่ายคนศรัทธาจริตเป็นต้นก็พึงทราบโดยทำนองของคนราคจริตเป็นต้นนั่นเทียว เพราะเป็นผู้มีส่วนเข้ากันได้กับคนราคจริตเป็นต้นนั้น

นักศึกษาพึงทราบจริยาทั้งหลายโดยอาหาร ด้วยประการฉะนี้

โดยการเห็นเป็นต้น

ข้อว่า โดยการเห็นเป็นต้น นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้- คนราคจริตเห็นรูปที่น่าเจริญใจแม้นิดหน่อย ก็เกิดพิศวงแลดูเสียนาน ๆ ย่อมข้องติดอยู่ในคุณเพียงเล็กน้อย ไม่ถือโทษแม้ที่เป็นจริง แม้จะหลีกพ้นไปแล้วก็ไม่ประสงค์ที่จะปล่อยวาง หลีกไปทั้ง ๆ ที่มีความอาลัยถึง คนโทสจริตเห็นรูปที่ไม่น่าเจริญใจแม้นิดหน่อยก็เป็นดุจว่าลำบากใจเสียเต็มที ทนแลดูนาน ๆ ไม่ได้ ย่อมเดือดร้อนเป็นทุกข์ในโทษแม้เพียงเล็กน้อย ไม่ถือเอาคุณแม้ที่มีจริง แม้จะหลีกพ้นไปแล้ว ก็ยังปรารถนาที่จะพ้นอยู่นั่นเอง หลีกไปอย่างไม่อาลัยถึง คนโมหจริตเห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมอาศัยคนอื่นกระตุ้นเตือน ครั้นได้ยินคนอื่นเขานินทาก็นินทาตาม ครั้นได้ยินคนอื่นเขาสรรเสริญก็สรรเสริญตาม ส่วนลำพังตนเองเฉย ๆ ด้วยความเฉยเพราะไม่รู้ แม้ในกรณีที่ได้ฟังเสียงเป็นต้นก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้ ส่วนคนศรัทธาจริต

(หน้าที่ 170)

เป็นต้น พึงทราบโดยทำนองของคนราคจริตเป็นต้นนั่นเทียว เพราะเป็นผู้มีส่วนเข้ากันได้กับคนราคจริตเป็นต้นนั้น

นักศึกษาพึงทราบจริยาทั้งหลายโดยการเห็นเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้

5. โดยความเกิดขึ้นแห่งธรรมะ

ข้อว่า โดยความเกิดขึ้นแห่งธรรมะ นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ - อกุศลธรรม มีอาทิอย่างนี้คือ ความเสแสร้ง, ความโอ้อวด, ความถือตัว, ความปรารถนาลามก, ความมักมาก, ความไม่สันโดษ, ความแง่งอน, และความมีเล่ห์เหลี่ยม ย่อมเกิดขึ้นมากแก่คนราคจริต อกุศลธรรมมีอาทิอย่างนี้คือ ความโกรธ, ความผูกโกรธ, ความลบหลู่, ความตีเสมอ, ความริษยา และความตระหนี่ ย่อมเกิดขึ้นมากแก่คนโทสจริต อกุศลธรรมมีอาทิอย่างนี้คือ ความหดหู่, ความเซื่องซึม, ความฟุ้งซ่าน, ความรำคาญใจ, ความสงสัย, ความยึดมั่นถือมั่นด้วยความสำคัญผิด และความไม่ปล่อยวาง ย่อมเกิดขึ้นมากแก่คนโมหจริต

กุศลธรรมมีอาทิอย่างนี้คือ ความเสียสละเด็ดขาด, ความใคร่เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย, ความใคร่ฟังพระสัทธรรม, ความมากไปด้วยปราโมช, ความไม่โอ้อวด, ความไม่มีมารยา และความเลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส ย่อมเกิดขึ้นมากแก่คนศรัทธาจริต กุศลธรรมมีอาทิอย่างนี้ คือ ความเป็นผู้ว่าง่าย, ความเป็นผู้มีมิตรดี, ความรู้จักประมาณในโภชนะอาหาร, ความมีสติสัมปชัญญะ, ความหมั่นประกอบความเพียร, ความเศร้าสลด ในฐานะที่ควรเศร้าสลดและความเริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคายของผู้เศร้าสลดแล้ว ย่อมเกิดขึ้นมากแก่คนพุทธิจริต, อกุศลธรรมมีอาทิอย่างนี้คือ ความมากไปด้วยการพูด, ความยินดีในหมู่คณะ, ความไม่ยินดีในการภาวนากุศลธรรม, ความมีการงานไม่แน่นอน, ความบังหวนควันในเวลากลางคืน, ความลุกโพลงในเวลากลางวัน และความคิดพล่านไปโน่น ๆ นี่ ๆ ย่อมเกิดขึ้นมากแก่คนวิตกจริต

นักศึกษาพึงทราบจริยาทั้งหลายโดยความเกิดขึ้นแห่งธรรมะ ด้วยประการฉะนี้

วินิจฉัยวิสัชนาปัญหาข้อที่ 2

ก็แหละ เพราะวิธีแสดงจริยานี้ ไม่ได้มาในบาลีและอรรถกถาโดยประการทั้งปวง ข้าพเจ้ายกมาแสดงไว้โดยอาศัยมติของอาจารย์อย่างเดียว ฉะนั้น จึงไม่ควรเชื่อถือเอา

(หน้าที่ 171)

โดยเป็นสาระนัก เพราะเหตุว่า อาการทั้งหลายมีอิริยาบถเป็นต้น ของคนราคจริตที่แสดงไว้นั้น แม้จำพวกคนโทสจริตเป็นต้น ผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ก็สามารถทำได้อยู่ และสำหรับบุคคลผู้มีจริตผสมกันเพียงคนเดียว จริยาทั้งหลายมีอิริยาบถเป็นต้นซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ก็เกิดขึ้นไม่ได้

ส่วนวิธีแสดงจริยานี้ใดที่ท่านอรรถกถาจารย์แสดงไว้ในอรรถกถาทั้งหลาย ข้อนั้นเท่านั้นควรเชื่อถือโดยเป็นสาระแท้ สมกับที่ท่านกล่าวไว้ว่า อาจารย์ผู้ได้สำเร็จเจโตปริยญาณ จึงจักรู้จริยาแล้วบอกพระกัมมัฏฐานได้เอง ส่วนอาจารย์นอกนี้ต้องถามอันเตวาสิกผู้จะท่องจำเอาพระกัมมัฏฐานทั้งนั้น

เพราะเหตุฉะนี้ จะพึงทราบได้ว่า บุคคลนี้ เป็นคนราคจริต บุคคลนี้ เป็นคนจริตใดจริตหนึ่งในโทสจริตเป็นต้น ก็ด้วยเจโตปริยญาณ หรือเพราะสอบถามตัวบุคคลผู้นั้นเอง ด้วยประการฉะนี้

วิสัชนาปัญหาข้อที่ 3

ก็แหละ ในปัญหาข้อว่า บุคคลจริตชนิดไหน มีธรรมเป็นที่สบายอย่างไร ฉะนี้นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ –

ธรรมเป็นที่สบายของคนราคจริต

จะอธิบายถึงเสนาสนะสำหรับคนราคจริต เป็นประการแรก

เสนาสนะ ชนิดที่ตั้งอยู่กับพื้นดิน ชายคารอบ ๆ ไม่ล้างเช็ด ไม่ทำกันสาด เป็นกุฏิมุงหญ้า เป็นบรรณศาลาที่มุงบังด้วยใบตองอย่างใดอย่างหนึ่ง เปรอะไปด้วยละอองธุลี เต็มไปด้วยค้างคาวเล็ก ๆ ทะลุปรุโปร่ง และปรักหักพัง สูงเกินไปหรือต่ำเกินไป อยู่ที่ดอนมีความรังเกียจด้วยภัยอันตราย มีทางสกปรก และสูง ๆ ต่ำ ๆ แม้จะมีเตียงและตั่งก็เต็มไปด้วยตัวเรือด รูปร่างไม่ดี สีไม่งาม ที่พอแต่เพียงแลเห็นก็ให้เกิดความรังเกียจ เสนาสนะเช่นนั้นเป็นที่สบายของคนราคจริต

ผ้านุ่งและผ้าห่ม ชนิดที่ขาดแหว่งที่ชาย มีเส้นด้ายสับสนสวนขึ้นสวนลง เช่นเดียวกับขนมร่างแห มีสัมผัสสากเหมือนปอป่าน เป็นผ้าเศร้าหมองและหนัก รักษาลำบากเป็นที่สบายของคนราคจริต

(หน้าที่ 172)

แม้บาตร บาตรดินชนิดที่สีไม่งาม หรือบาตรเหล็กชนิดที่ทำลายความงามเสียด้วยแนวตะเข็บและหมุด เป็นบาตรที่หนัก ทรวดทรงไม่ดี น่าเกลียดเหมือนกระโหลกศรีษะ ย่อมเหมาะสมแก่คนราคจริต

แม้ทางสำหรับไปบิณฑบาต ก็เป็นทางชนิดที่ไม่พอใจ ห่างไกลหมู่บ้านขรุขระ ไม่เรียบร้อย ย่อมเหมาะสมแก่คนราคจริต

แม้หมู่บ้านที่ไปรับบิณฑบาต ก็เป็นหมู่บ้านที่มีคนทั้งหลายเที่ยวไปทำเป็นเหมือนไม่เห็น และที่มีคนทั้งหลายนิมนต์ภิกษุผู้ได้ภิกษาแม้ในตระกูลหนึ่งแล้วให้เข้าไปสู่โรงฉันว่า "นิมนต์มาทางนี้ขอรับ" ครั้นถวายข้าวต้มและข้าวสวยแล้ว เมื่อจะไปก็พากันไปอย่างไม่เหลียวแล คล้าย ๆ กับคนรับจ้างเลี้ยงโค ต้อนโคเข้าในคอกแล้วก็ไม่เหลียวแล ฉะนั้นหมู่บ้านเช่นนั้นเหมาะสมแก่คนราคจริต

แม้พวกคนสำหรับอังคาสปรนนิบัติ ก็เป็นจำพวกทาสหรือกรรมกรที่มีผิวพรรณเศร้าหมองไม่น่าดู เครื่องนุ่งห่มสกปรก เหม็นสาบ น่าสะอิดสะเอียน ที่อังคาสปรนนิบัติโดยอาการไม่เคารพ ทำเหมือนจะเทข้าวต้มและข้าวสวยทิ้ง คนอังคาสปรนนิบัติเช่นนั้น เหมาะสมกับคนราคจริต

แม้ข้าวต้มข้าวสวยและของเคี้ยว ก็เป็นชนิดที่เลว สีสันไม่ดี ที่ทำด้วยข้าวฟ่างข้าวกับแก้และข้าวปลายเกรียนเป็นต้น เปรียงบูด ผักเสี้ยนดองแกงผักเก่า ๆ ชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว พอให้เต็มท้องเท่านั้น เหมาะสมแก่คนราคจริต

แม้อิริยาบถ อิริยายืนหรืออิริยาบถเดิน เหมาะสมแก่คนราคจริต

อารมณ์กัมมัฏฐาน เป็นอารมณ์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ในวรรณกสิณทั้งหลาย มีนีลกสิณเป็นต้น ชนิดที่มีสีไม่สะอาดตา เหมาะสมกับคนราคจริต

นี้คือธรรมที่เป็นที่สบายของคนราคจริต ด้วยประการฉะนี้

ธรรมเป็นที่สบายของคนโทสจริต

เสนาสนะ สำหรับคนโทสจริตนั้น เป็นชนิดที่ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป มีร่มเงาบริบุรณ์ด้วยน้ำใช้น้ำฉัน มีฝา เสาและบันไดที่จัดไว้อย่างเรียบร้อย เขียนภาพลายดอกไม้ลายเครือวัลย์สำเร็จเสร็จสรรพ รุ่งเรืองงามด้วยจิตกรรมนานาชนิด มีพื้นเรียบ เกลี้ยง

(หน้าที่ 173)

เกลา นุ่มนิ่ม มีพวงดอกไม้และผ้าสีอันวิจิตรประดับเพดานอย่างเป็นระเบียบ คล้ายกับวิมานพรหม เครื่องปูลาดและเตียงตั่งจัดแจงแต่งไว้อย่างดี สะอาดน่ารื่นรมย์ มีกลิ่นหอมฟุ้งด้วยเครื่องอบดอกไม้ที่จัดวางไว้เพื่อให้อบ ณ ที่นั้น ๆ ซึ่งพอเห็นเท่านั้นก็ให้เกิดความปีติปราโมช เสนาสนะเห็นปานฉะนี้ เป็นที่สบายของคนโทสจริต

แม้ทางสำหรับเสนาสนะ นั้น ก็เป็นสิ่งปลอดภัยอันตรายทั้งปวง มีพื้นสะอาดและสม่ำเสมอ ประดับตกแต่งเรียบร้อย ย่อมเหมาะสมแก่คนโทสจริต

แม้เครื่องใช้สำหรับเสนาสนะ ในทีนี้ ก็ไม่ต้องมีมากนัก มีเพียงเตียงและตั่งตัวเดียวก็พอ ทั้งนี้เพื่อตัดไม่ให้เป็นที่อาศัยของจำพวกสัตว์ต่าง ๆ เช่นแมลงสาบ เรือด งูและหนูเป็นต้น ย่อมเหมาะสมแก่คนโทสจริต

ผ้านุ่งและผ้าห่ม ก็เป็นประเภทผ้าเมืองจีน ผ้าเมืองโสมาร ผ้าไหมผ้าฝ้ายและผ้าเปลือกไม้อย่างละเอียด ซึ่งเป็นของประณีตชนิดใด ๆ ก็ตาม เอาผ้าชนิดนั้น ๆ มาทำเป็นชั้นเดียวหรือสองชั้น เป็นผ้าเบา ย้อมดี มีสีสะอาด ควรแก่สมณะ ย่อมเหมาะสมแก่คนโทสจริต

บาตร เป็นชนิดบาตรเหล็ก มีทรวดทรงดีเหมือนต่อมน้ำ เกลี้ยงเกลาเหลาหล่อเหมือนแก้วมณี ไม่มีสนิม มีสีสะอาดควรแก่สมณะ ย่อมเหมาะสมแก่คนโทสจริต

ทางสำหรับไปบิณฑบาต เป็นชนิดที่ปลอดภัยอันตราย สม่ำเสมอ น่าเจริญใจ ไม่ไกลไม่ใกล้หมู่บ้านเกินไป ย่อมเหมาะสมแก่คนโทสจริต

แม้หมู่บ้านที่ไปรับบิณฑบาต ก็เป็นหมู่บ้านที่มีคนทั้งหลายคิดว่า พระผู้เป็นเจ้าจักมาเดี๋ยวนี้แล้ว จึงปูอาสนะเตรียมไว้ ณ ประเทศที่สะอาดเกลี้ยงเกลา ลุกรับ ช่วยถือบาตรนิมนต์ให้เข้าไปสู่เรือน นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะที่ปูไว้แล้ว จึงอังคาสเลี้ยงดูด้วยมือของตนโดยความเคารพ หมู่บ้านเช่นนี้ ย่อมเหมาะสมแก่คนโทสจริต

คนปรนนิบัติเลี้ยงดู เป็นคนรูปร่างสวย น่าเลื่อมใส อาบน้ำชำระกายดีแล้วไล้ทาตัวดีแล้ว หอมฟุ้งด้วยกลิ่นธูปกลิ่นเครื่องอบและกลิ่นดอกไม้ ประดับตกแต่งด้วยผ้าและอาภรณ์ที่ย้อมด้วยสีต่าง ๆ ล้วนแต่สะอาดและน่าภูมิใจ มีปกติทำการปรนนิบัติด้วยความเคารพ คนปรนนิบัติเลี้ยงดูเช่นนั้น จึงเป็นที่สบายแก่คนโทสจริต

(หน้าที่ 174)

แม้ข้าวต้มข้าวสวยและของเคี้ยว ก็เป็นชนิดที่มีสีต้องตา ถึงพร้อมด้วยกลิ่นและรส มีโอชาน่าชอบใจ ประณีตโดยประการทั้งปวง และเพียงพอแก่ความต้องการ จึงเหมาะสมแก่คนโทสจริต

แม้อิริยาบถ ก็ต้องเป็นอิริยาบถนอนหรืออิริยาบถนั่ง จึงเหมาะสมแก่คนโทสจริต

อารมณ์กัมมัฏฐาน เป็นอารมณ์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ในวรรณกสิณทั้งหลาย มีนีลกสิณเป็นต้น ซึ่งเป็นชนิดที่มีสีสะอาดหมดจดเป็นอย่างดี

นี้คือธรรมเป็นที่สบายของคนโทสจริต ด้วยประการฉะนี้

ธรรมเป็นที่สบายของคนโมหจริต

สำหรับคนโมหจริตนั้น เสนาสนะต้องหันหน้าสู่ทิศไม่คับแคบ ที่เมื่อนั่งแล้วทิศย่อมปรากฏโล่งสว่าง ในบรรดาอิริยาบถ 4 อิริยาบถเดินจึงจะเหมาะสม ส่วนอารมณ์กัมมัฏฐานขนาดเล็กเท่าตะแกรง หรือเท่าขันโอ ย่อมไม่เหมาะสมแก่คนโมหจริตนั้น เพราะเมื่อโอกาสคับแคบ จิตก็จะถึงความมึนงงยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ดวงกสิณขนาดใหญ่กว้างมากจึงจะเหมาะสม ประการที่เหลือ มีเสนาสนะเป็นต้น ซึ่งควรจะยกมาแสดงสำหรับคนโมหจริต พึงเข้าใจว่ามีลักษณะเช่นเดียวกันกับการที่ได้แสดงไว้แล้วสำหรับคนโทสจริตนั่นแล

นี้คือธรรมเป็นที่สบายแก่คนโมหจริต ด้วยประการฉะนี้

ธรรมเป็นที่สบายของคนศรัทธาจริตเป็นต้น

วิธีที่ได้แสดงมาแล้วในคนโทสจริตแม้ทุก ๆ ประการ จัดเป็นธรรมเป็นที่สบาย สำหรับคนศรัทธาจริตด้วย แหละในบรรดาอารมณ์กัมมัฏฐานทั้งหลาย เฉพาะอนุสสติกัมมัฏฐานจึงจะเหมาะสมแก่คนศรัทธาจริต

สำหรับคนพุทธิจริตนั้น ไม่มีข้อที่จะต้องกล่าวว่า ในบรรดาสัปปายะทั้งหลาย มีเสนาสนะสัปปายะเป็นต้น สิ่งนี้ย่อมเป็นที่สบายแก่พุทธิจริตฉะนี้

สำหรับคนวิตกจริตนั้น เสนาสนะที่โล่งโถงหันหน้าสู่ทิศสว่าง ที่เมื่อนั่งแล้วสวน, ป่า, สระโบกขรณี, ทิวแถบแห่งหมู่บ้าน, นิคมชนบท และภูเขาอันมีสีเขียวชะอุ่ม ย่อมปรากฏ

(หน้าที่ 175)

เห็นเด่นชัด เสนาสนะเช่นนั้นย่อมไม่เหมาะสม เพราะเสนาสนะอันมีลักษณะเช่นนี้นั้น ย่อมเป็นปัจจัยทำให้วิตกวิ่งพล่านไปนั่นเทียว เพราะฉะนั้น วิตกจริตบุคคลพึงอยู่ในเสนาสนะที่ตั้งอยู่ในซอกเขาลึก มีป่ากำบัง เช่นเงื้อมเขาท้องช้างและถ้ำชื่อมหินทะ เป็นต้น แม้อารมณ์กัมมัฏฐานชนิดกว้างใหญ่ก็ไม่เหมาะสมแก่คนวิตกจริต เพราะอารมณ์เช่นนั้นย่อมเป็นปัจจัยทำให้จิตแล่นพล่านไปด้วยอำนาจแห่งวิตก แต่อารมณ์ชนิดเล็กจึงจะเหมาะสม ประการที่เหลือ เหมือนกับที่ได้แสดงมาแล้วสำหรับคนราคจริตนั่นเทียว

นี้คือธรรมเป็นที่สบายสำหรับคนวิตกจริต ด้วยประการฉะนี้

อรรถาธิบายอย่างพิสดาร โดยประเภท, เหตุให้เกิด, วิธีให้รู้ และธรรมเป็นที่สบายของจริยาทั้งหลาย ซึ่งมาในหัวข้อว่า อันเหมาะสมแก่จริตจริยาของตน ยุติเพียงเท่านี้

ส่วนกัมมัฏฐานอันเหมาะสมแก่จริยานั้น ข้าพเจ้ายังจะไม่แสดงให้แจ้งชัดโดยสิ้นเชิงก่อน เพราะกัมมัฏฐานนั้น ๆ จักปรากฏแจ้งชัดด้วยตัวเอง ในอรรถาธิบายพิสดารของหัวข้อถัดไปนี้

เพราะเหตุฉะนั้น ในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ท่องจำเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาพระกัมมัฏฐาน 40 ประการ ฉะนี้นั้น ประการแรกนักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยอาการ 10 อย่าง ดังนี้ คือ-

1. วิธีแสดงจำนวนกัมมัฏฐาน

2. วิธีการนำมาซึ่งอุปจารฌานและอัปปนาฌาน

3. วิธีความต่างกันแห่งฌาน

4. วิธีผ่านองค์ฌานและอารมณ์

5. วิธีควรขยายและไม่ควรขยาย

6. วิธีอารมณ์ของฌาน

7. วิธีภูมิเป็นที่บังเกิด

(หน้าที่ 176)

8. วิธีการถือเอา

9. วิธีความเป็นปัจจัยเกื้อหนุน และ

10. วิธีเหมาะสมแก่จริยา

ในวิธีวินิจฉัย 10 ข้อนั้น ข้อแรกว่า โดยอธิบายวิธีนับจำนวน มีอรรถาธิบายดังนี้ - ก็ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่า ในบรรดาพระกัมมัฏฐาน 40 ประการ ดังนี้ หมายถึง พระกัมมัฏฐาน 40 ประการนั้น (จัดเป็น 7 ประเภท) คือ –

1. กสิณกัมมัฏฐาน 10 อย่าง

2. อสุภกัมมัฏฐาน 10 อย่าง

3. อนุสสติกัมมัฏฐาน 10 อย่าง (ุ6+4)

4. พรหมวิหารกัมมัฏฐาน 4 อย่าง

5. อารุปปกัมมัฏฐาน 4 อย่าง

6. สัญญากัมมัฏฐาน 1 อย่าง และ

7. ววัตถานกัมมัฏฐาน 1 อย่าง

(ใน 7 ประเภทนั้น)

1/7. กสิณกัมมัฏฐาน 10 อย่าง คือ

1. ปถวีกสิณ กสิณสำเร็จด้วยดิน

2. อาโปกสิณ กสิณสำเร็จด้วยน้ำ

3. เตโชกสิณ กสิณสำเร็จด้วยไฟ

4. วาโยกสิณ กสิณสำเร็จด้วยลม

5. นีลกสิณ กสิณสำเร็จด้วยสีเขียว

6. ปีตกสิณ กสิณสำเร็จด้วยสีเหลือง

7. โลหิตกสิณ กสิณสำเร็จด้วยสีแดง

(หน้าที่ 177)

8. โอทาตกสิณ กสิณสำเร็จด้วยสีขาว

9. อาโลกกสิณ กสิณสำเร็จด้วยแสงสว่าง และ

10. ปริจฉินนากาสกสิณ กสิณสำเร็จด้วยช่องว่างซึ่งกำหนดขึ้น

2/7. อสุภกัมมัฏฐาน 10 อย่าง คือ

1. อุทธุมาตกอสุภ ซากศพที่ขึ้นพองน่าเกลียด

2. วินีลกอสุภ ซากศพที่ขึ้นเป็นสีเขียวน่าเกลียด

3. วิปุพพกอสุภ ซากศพที่มีแต่หนองแตกพลักน่าเกลียด

4. วิจฉิททกอสุภ ซากศพที่ถูกตัดเป็นท่อน ๆ น่าเกลียด

5. วิกขายิตกอสุภ ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกระจุยกระจายน่าเกลียด

6. วิกขิตตกอสุภ ซากศพที่ทิ้งไว้เรี่ยราดน่าเกลียด

7. หตวิกขิตตกอสุภ ซากศพที่ถูกสับฟันทิ้งกระจัดกระจายน่าเกลียด

8. โลหิตกอสุภ ซากศพที่มีโลหิตไหลออกน่าเกลียด

9. ปุฬุวกอสุภ ซากศพที่เต็มไปด้วยหนอนน่าเกลียด และ

10. อัฏฐิกอสุภ ซากศพที่เป็นกระดูกน่าเกลียด

3/7. อนุสสติกัมมัฏฐาน 10 อย่าง คือ

1. พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า

2. ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม

3. สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์

4. สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตน

5. จาคานุสสติ ระลึกถึงการบริจาคที่ตนบริจาคแล้ว

6. เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา

7. มรณานุสสติ ระลึกถึงความตาย

8. กายคตาสติ ระลึกถึงร่างกายที่ล้วนแต่ไม่สะอาด

9. อานาปานสติ ระลึกถึงกำหนดลมหายใจเข้าออก และ

10. อุปสมานุสสติ ระลึกถึงนิพพานอันเป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวง

(หน้าที่ 178)

4/7. พรหมวิหารกัมมัฏฐาน 4 อย่าง คือ

1. เมตตา ความรักที่มุ่งช่วยทำประโยชน์

2. กรุณา ความสงสารที่มุ่งช่วยบำบัดทุกข์

3. มุทิตา ความพลอยยินดีต่อสมบัติ และ

4. อุเปกขา ความเป็นกลางไม่เข้าฝ่ายใด

5/7. อารุปปกัมมัฏฐาน 4 อย่าง คือ

1. อากาสานัญจายตนะ อากาศไม่มีที่สุด

2. วิญญาณัญจายตนะ วิญญาณไม่มีที่สุด

3. อากิญจัญญายตนะ ความไม่มีอะไร และ

4. เนวสัญญานาสัญญายตนะ สัญญาละเอียด ซึ่งจะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่

ไม่มีก็ไม่ใช่

6/7. สัญญา 1 อย่าง คือ

อาหาเรปฏิกูลสัญญา ความหมายรู้ในอาหารโดยเป็นสิ่งที่น่าเกียด

7/7. ววัตถาน 1 อย่าง คือ

จตุธาตุววัตถาน การกำหนดแยกร่างกายออกเป็นธาตุ 4

นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยแสดงจำนวน ด้วยประการฉะนี้

ข้อว่า โดยนำมาซึ่งอุปจารฌานและอัปปนาฌาน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้- ก็แหละ ในกัมมัฏฐาน 40 ประการนั้น เฉพาะกัมมัฏฐาน 10 ประการ คือ ยกเว้นกายคตาสติกับอานาปานสติเสีย อนุสสติกัมมัฏฐานที่เหลือ 8 กับอาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถาน 1 นำมาซึ่งอุปจารฌาน กัมมัฏฐานที่เหลือ 30 ประการ นำมาซึ่งอัปปนาฌาน

นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยนำมาซึ่งอุปจารฌานและอัปปนาฌานด้วยประการฉะนี้

(หน้าที่ 179)

ข้อว่า โดยความต่างกันแห่งฌาน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ - แหละในกัมมัฏฐาน 30 ประการที่นำมาซึ่งอัปปนาฌานนั้น กสิณ 10 กับ อานาปานสติ 1 รวมเป็น 11 ประการ ย่อมให้สำเร็จฌานได้ทั้ง 4 ฌาน อสุภ 10 กับ กายคตาสติ 1 รวมเป็น 11 ประการ ย่อมให้สำเร็จเพียงปฐมฌานอย่างเดียว พรหมวิหาร 3 ข้างต้นให้สำเร็จฌาน 3 ข้างต้น พรหมวิหาร ข้อที่ 4 และอรุปปกัมมัฏฐาน 4 ย่อมให้สำเร็จฌานที่ 4

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยความต่างกันแห่งฌานด้วยประการฉะนี้

ข้อว่า โดยผ่านองค์ฌานและอารมณ์ นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ - การผ่านนั้นมี 2 อย่าง คือ การผ่านองค์ฌาน 1 การผ่านอารมณ์ 1 ใน 2 อย่างนั้น การผ่านองค์ฌานย่อมมีได้ในกัมมัฏฐานที่ให้สำเร็จฌาน 3 และฌาน 4 แม้ทั้งหมด ทั้งนี้ เพราะทุติยฌาน เป็นต้นที่ฌานลาภีบุคคลจะพึงได้บรรลุในอารมณ์เดียวกันนั้น ต้องผ่านองค์ฌานทั้งหลาย มีวิตกและวิจารเป็นต้นขึ้นไป ในพรหมวิหารข้อที่ 4 ก็เหมือนกัน เพราะแม้พรหมวิหารข้อที่ 4 นั้น อันฌานลาภีบุคคลจะพึงได้บรรลุ ก็ต้องผ่านโสมนัสเวทนาในอารมณ์ของพรหมวิหาร 3 มีเมตตาเป็นต้นไปเหมือนกัน

ส่วนการผ่านอารมณ์ ย่อมมีได้ในอารุปปกัมมัฏฐาน 4 เพราะอากาสานัญจายตนฌานอันฌานลาภีบุคคลจะพึงได้บรรลุ ก็ต้องผ่านกสิณอันใดอันหนึ่งในบรรดากสิณ 9 อย่างข้างต้น และวิญญานัญจายตนฌานเป็นต้นอันฌานลาภีบุคคลจะพึงได้บรรลุ ก็ต้องผ่านอารมณ์ทั้งหลายมีอากาศเป็นต้นขึ้นไป การผ่านอารมณ์หาได้มีในกัมมัฏฐานที่เหลือนอกจากนี้ไม่

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยผ่านองค์ฌานและอารมณ์ด้วยประการฉะนี้

(หน้าที่ 180)

ข้อว่า โดยควรขยายและไม่ควรขยาย นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้

กัมมัฏฐานที่ควรขยาย

ในกัมมัฏฐาน 40 ประการนั้น กสิณกัมมัฏฐานที่ควรขยายทั้ง 10 ประการนั่นเทียว เพราะว่า โยคีบุคคลแผ่กสิณไปสู่โอกาสได้ประมาณเท่าใด ก็สามารถได้ยินเสียงด้วยทิพโสต เห็นรูปได้ด้วยทิพจักษุและรู้จิตของสัตว์อื่นได้ด้วยจิต ภายในโอกาสประมาณเท่านั้น

กัมมัฏฐานที่ไม่ควรขยาย

ส่วนกายคตาสติ กับ อสุภกัมมัฏฐาน 10 ประการ ไม่ควรขยาย เพราะเหตุไร ? เพราะกัมมัฏฐานเหล่านี้ โยคีบุคคลกำหนดเอาด้วยโอกาสเฉพาะ และเพราะไม่มีอานิสงส์อะไร และข้อที่กัมมัฏฐานเหล่านี้อันโยคีบุคคลกำหนดเอาด้วยโอกาสเฉพาะนั้น จักปรากฏในแผนกแห่งภาวนาของกัมมัฏฐานนั้น ๆ ข้างหน้า แหละเมื่อโยคีบุคคลขยายกัมมัฏฐานเหล่านี้แล้ว ก็เป็นแต่เพียงขยายกองแห่งซากศพเท่านั้น หามีอานิสงส์อะไรแต่ประการใดไม่ แม้ความข้อนี้สมกับที่ท่านกล่าวไว้ในโสปากปัญหาพยากรณ์ว่า ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาค รูปสัญญาปรากฏชัดแล้ว แต่อัฏฐิกสัญญาไม่ปรากฏชัด ก็ในปัญหาพยากรณ์นั้นที่ท่านกล่าวว่าอัฏฐิกสัญญาไม่ปรากฏชัดนั้น ท่านกล่าวด้วยอำนาจที่ไม่ได้ขยายนิมิต

ส่วนพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุแผ่อัฏฐิกสัญญาไปสู่แผ่นดินทั่วสิ้น ฉะนี้นั้น พระองค์ตรัสไว้ด้วยอำนาจอาการที่ปรากฏแก่ภิกษุผู้มีอัฏฐิกสัญญา หาได้ตรัสด้วยการขยายนิมิตไม่ จริงอย่างนั้น ในรัชสมัยของพระเจ้าธรรมาโศกราช ได้มีนกกรวีกเห็นเงาของตนที่ฝาซึ่งทำด้วยกระจกโดยรอบ ๆ ตัวแล้ว มันสำคัญว่ามีนกกรวีกอยู่ในทั่วทุกทิศ จึงได้ร้องออกไปด้วยเสียงอันไพเราะ แม้พระเถระก็เช่นเดียวกัน เพราะท่านได้สำเร็จอัฏฐิกสัญญา จึงเห็นนิมิตปรากฏอยู่ทั่วทุกทิศ เลยเข้าใจว่า แผ่นดินแม้ทั้งหมดเต็มไปด้วยอัฐิ ฉะนี้

(หน้าที่ 181)

หากเกิดปัญหาขึ้นว่า ถ้าเมื่อถือเอาความอย่างนี้แล้ว ภาวะที่อสุภฌานทั้งหลายมี อารมณ์หาประมาณมิได้อันใด ที่พระองค์ทรงแสดงไว้ในธัมมสังคหะ ข้อนั้นก็จะผิดเสียละซี ?

วิสัชนาว่า ข้อนั้นไม่ใช่จะผิดไปเสียเลย เพราะโยคีบุคคลบางคนย่อมถือเอานิมิตในซากศพที่ขึ้นพองหรือในซากศพที่เป็นโครงกระดูกชนิดใหญ่ บางคนก็ถือเอานิมิตในซากศพ เช่นนั้นชนิดเล็ก โดยปริยายนี้ฌานของโยคีบุคคลบางคนจึงมีอารมณ์เล็ก บางคนมีอารมณ์หาประมาณมิได้ อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ฌานมีอารมณ์หาประมาณมิได้ ท่านหมายเอาโยคีบุคคลที่ไม่เห็นโทษในการขยายนิมิตแห่งอสุภกัมมัฏฐานนั้นแล้วขยายกัมมัฏฐานนั้น แต่อย่างไรก็ตาม กายคตาสติกัมมัฏฐานกับอสุภกัมมัฏฐาน 10 ประการ ไม่ควรขยาย เพราะไม่มีอานิสงส์อะไร

มิใช่แต่เท่านี้ แม้กัมมัฏฐานที่เหลือก็ไม่ควรขยายเช่นเดียวกับกายคตาสติ และอสุภกัมมัฏฐานนี้ เพราะเหตุไร ? เพราะว่า ในบรรดากัมมัฏฐานเหล่านั้น นิมิตแห่งอานาปานสติ เมื่อโยคีบุคคลขยาย ก็จะขยายแต่กองแห่งลมเท่านั้น และนิมิตแห่งอานาปานสตินั้น กำหนดเอาด้วยโอกาสเฉพาะ เช่นนิมิตที่ปลายจมูกและริมฝีปากเป็นต้น ฉะนี้ อานาปานสติกัมมัฏฐานจึงไม่ควรขยาย เพราะมีแต่โทษอย่างหนึ่ง เพราะโยคีบุคคลกำหนดเอาด้วยโอกาสเฉพาะอย่างหนึ่ง

พรหมวิหาร 4 มีสัตว์เป็นอารมณ์ เมื่อขยายอารมณ์ของพรหมวิหารเหล่านั้น ก็จะขยายแต่กองแห่งสัตว์เท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์อะไรกับการขยายกองแห่งสัตว์นั้น หามีไม่ เพราะฉะนั้น แม้อารมณ์ของพรหมวิหารเหล่านั้นก็ไม่ควรขยาย ส่วนพระพุทธพจน์ใดที่ทรงแสดงไว้ว่า ภิกษุมีจิตประกอบด้วยเมตตา แผ่เมตตาจิตไปทางทิศหนึ่งอยู่ ฉะนี้นั้น ทรงแสดงด้วยอำนาจการกำหนดถือเอาต่างหาก หาใช่ด้วยอำนาจการขยายนิมิตไม่ จริงอยู่ ภิกษุกำหนดเอาสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในทิศหนึ่งแล้วจึงเจริญเมตตาไปโดยลำดับมีอาทิว่า อาวาสหนึ่ง สองอาวาส ฉะนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุแผ่เมตตาจิตไปทางทิศหนึ่งอยู่ มิใช่ภิกษุขยายนิมิตกัมมัฏฐาน อนึ่ง ในพรหมวิหารภาวนานี้เล่า ก็ไม่มีปฏิภาคนิมิตที่โยคีบุคคลนี้จะพึงขยายด้วย แม้การที่พรหมวิหารฌานมีอารมณ์เล็กน้อยและมีอารมณ์หาประมาณมิได้ในอธิการนี้ พึงทราบด้วยอำนาจการกำหนดเอาสัตว์จำนวนมากเป็นเกณฑ์ต่างหาก

(หน้าที่ 182)

แม้ในอารมณ์ของอารุปปฌาน 4 นั้น อากาศ (หมายเอาอากาสานัญจายตนะ) ก็ไม่ควรขยาย เพราะเป็นกสิณุคฆาฏิมากาศ คืออากาศตรงที่เพิกกสิณออก จริงอยู่ กสิณุคฆาฏิมากาศ (อากาศที่เพิกกสิณออก) นั้น โยคีบุคคลพึงสนใจแต่เพียงว่าเป็นที่ปราศจากกสิณเท่านั้น นอกเหนือไปจากนั้น แม้จะขยายก็ไม่มีประโยชน์อะไร วิญญาณ (หมายเอาวิญญาณัญจายตนะ) ก็ไม่ควรขยาย เพราะเป็นสภาวธรรม จริงอยู่ใคร ๆ ก็ตามไม่สามารถจะขยายสภาวธรรมได้ ความปราศจากวิญญาณ (หมายเอาอากิญจัญญายตนะ) ก็ไม่ควรขยาย เพราะเป็นภาวะสักว่าความไม่มีแห่งวิญญาณ อารมณ์ของเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็ไม่ควรขยาย เพราะเป็นสภาวธรรมเช่นเดียวกัน

กัมมัฏฐานที่เหลืออีก 10 มีพุทธานุสสติเป็นต้น ก็ไม่ควรขยาย ด้วยไม่มีปฏิภาคนิมิต เพราะกัมมัฏฐานที่มีปฏิภาคนิมิตเท่านั้น ที่เป็นกัมมัฏฐานควรจะขยาย และอารมณ์ที่เป็นปฏิภาคนิมิตของกัมมัฏฐาน 10 ประการมีพุทธานุสสติเป็นต้น หามีไม่ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรขยายอารมณ์นั้น

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยควรขยายและไม่ควรขยายด้วยประการฉะนี้

ข้อว่า โดยอารมณ์ของฌาน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ - ก็แหละในกัมมัฏฐาน 40 ประการนั้น กสิณ 10 อสุภ 10 อานาปานสติ 1 กายคตาสติ 1 รวม 22 กัมมัฏฐานนี้ มีอารมณ์เป็นปฏิภาคนิมิต กัมมัฏฐานที่เหลือ 18 มีอารมณ์ไม่เป็นปฏิภาคนิมิต

อนึ่ง ในอนุสสติ 10 ยกเว้นอานาปานสติกับกายคตาสติเสีย อนุสสติที่เหลือ 8 กับอาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถาน 1 วิญญาณัญจายตนะ 1 เนวสัญญานาสัญญายตนะ 1 รวม 12 กัมมัฏฐานนี้ มีอารมณ์เป็นสภาวธรรม กสิณ 10 อสุภ 10 อานาปานสติ 1 กายคตาสติ 1 รวม 22 กัมมัฏฐานนี้ มีอารมณ์เป็นนิมิต กัมมัฏฐานที่เหลือ 6 คือ พรหมวิหาร 4 อากาสานัญจายตนะ 1 อากิญจัญญายตนะ 1 มีอารมณ์ที่พูดไม่ถูก (คือ ไม่ใช่สภาวธรรมและไม่เป็นนิมิต)

(หน้าที่ 183)

อนึ่ง วิปุพพกอสุภ 1 โลหิตกอสุภ 1 ปุฬุวกอสุภ 1 อานาปานสติ 1 อาโปกสิณ 1 เตโชกสิณ 1 วาโยกสิณ 1 และอารมณ์คือดวงแสงแห่งอาทิตย์เป็นต้น ที่ฉายเข้าไปข้างใน โดยทางช่องหน้าต่างเป็นต้น ในอาโลกกสิณนั้น 1 รวม 8 กัมมัฏฐานนี้ มีอารมณ์เคลื่อนไหวได้ แต่ก็เคลื่อนไหวได้ในเบื้องต้นก่อนแต่ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นเท่านั้น ส่วนที่เป็นปฏิภาคนิมิตแล้ว ก็สงบนิ่งเหมือนกัน กัมมัฏฐานที่เหลือจาก 8 กัมมัฏฐานนี้ มีอารมณ์ไม่เคลื่อนไหว

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานในอารมณ์ของฌานด้วยประการฉะนี้

ก็แหละ ในข้อว่า โดยภูมิเป็นที่บังเกิด นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ - อสุภกัมมัฏฐาน 10 กายคตาสติ 1 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 รวม 12 กัมมัฏฐานนี้ ย่อมไม่บังเกิดในเทวโลกชั้นกามาวจร เพราะซากศพและอาหารอันน่าเกลียดไม่มีในเทวโลกชั้นนั้น กัมมัฏฐาน 12 นั้น รวมกับอานาปานสติ 1 เป็น 13 กัมมัฏฐานนี้ ย่อมไม่บังเกิดในพรหมโลก เพราะลมอัสสาสะปัสสาสะไม่มีในพรหมโลก กัมมัฏฐานอื่น ๆ นอกจากอารุปปกัมมัฏฐาน 4 แล้ว ย่อมไม่บังเกิดในอรูปภพ ส่วนในโลกมนุษย์ กัมมัฏฐานบังเกิดได้ครบหมดทั้ง 40 ประการ

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยภูมิเป็นที่บังเกิด ด้วยประการฉะนี้

ในข้อว่า โดยการถือเอา นั้น พึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐาน แม้โดยการถือเอาด้วยวัตถุที่ได้เห็น, ได้ถูกต้อง และที่ได้ยินดังนี้ - ในกัมมัฏฐานเหล่านั้น ยกเว้นวาโยกสิณเสีย กสิณที่เหลือ 9 กับ อสุภ 10 รวมเป็น 19 กัมมัฏฐานนี้ พึงถือเอาได้ด้วยสีที่ได้เห็น อธิบายว่า ในเบื้องต้นต้องแลดูด้วยตาเสียก่อนแล้วจึงถือเอานิมิตของกัมมัฏฐานเหล่านั้นได้ในกายคตาสติ อาการ 5 คือ ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, และหนัง พึงถือเอาได้ด้วยสีที่ได้เห็น อาการที่เหลือ 27 พึงถือเอาได้ด้วยเสียงที่ได้ยิน ดังนั้น อารมณ์ของกายคตาสติกัมมัฏฐาน

(หน้าที่ 184)

พึงถือเอาได้ด้วยสีที่ได้เห็นและเสียงที่ได้ยิน ฉะนี้ อานาปานสติกัมมัฏฐาน พึงถือเอาได้ด้วยการถูกต้อง วาโยกสิณพึงถือเอาได้ด้วยสีที่ได้เห็นและสัมผัสที่ได้ถูกต้อง กัมมัฏฐานที่เหลืออีก 18 พึงถือเอาได้ด้วยเสียงที่ได้ยิน แหละในกัมมัฏฐาน 40 ประการนั้น กัมมัฏฐาน 5 คือ อุเปกขาพรหมวิหาร 1 อารุปปกัมมัฏฐาน 4 อันโยคีบุคคลผู้เริ่มลงมือทำกัมมัฏฐาน จะพึงถือเอาไม่ได้ในทันทีทีเดียว กัมมัฏฐานที่เหลืออีก 35 จึงถือเอาได้โดยทันที

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยการถือเอา ด้วยประการฉะนี้

ข้อว่า โดยความเป็นปัจจัยเกื้อหนุน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ - ก็แหละในบรรดากัมมัฏฐานเหล่านี้ ยกเว้นอากาสกสิณเสีย กสิณที่เหลือ 9 ประการ ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่อารุปปฌานทั้งหลาย กสิณทั้ง 10 ประการ ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่อภิญญาทั้งหลาย พรหมวิหาร 3 (ข้างต้น) ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่พรหมวิหารข้อที่ 4 อารุปปกัมมัฏฐานบทต่ำ ๆ ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่อารุปปกัมมัฏฐานบทสูง ๆ เนวสัญญานาสัญญายตนกัมมัฏฐาน ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่นิโรธสมาบัติ กัมมัฏฐานแม้ทั้งหมด ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่การอยู่เป็นสุข แก่วิปัสนากัมมัฏฐาน และแก่ภวสมบัติทั้งหลาย

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยความเป็นปัจจัยเกื้อหนุน ด้วยประการฉะนี้

ในข้อว่า โดยเหมาะสมแก่จริยา นี้ พึงทราบการวินิจฉัยแม้โดยความเหมาะสม แก่จริยาทั้งหลาย ดังนี้ –

ประการแรก ในกัมมัฏฐาน 40 นั้น กัมมัฏฐาน 11 คือ อสุภ 10 กายคตาสติ 1 ย่อมเหมาะสมแก่คนราคจริต กัมมัฏฐาน 8 คือ พรหมวิหาร 4 วรรณกสิณ 4 เหมาะสมแก่คนโทสจริต อานาปานสติกัมมัฏฐานข้อเดียวเท่านั้น เหมาะสมแก่คนโมหจริตและคนวิตกจริต อนุสสติ 6 ข้างต้น เหมาะสมแก่คนศรัทธาจริต กัมมัฏฐาน 4 คือ มรณสติ 1 อุปสมานุสสติ 1

(หน้าที่ 185)

จตุธาตุววัตถาน 1 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 เหมาะสมแก่คนพุทธิจริต กสิณกัมมัฏฐานที่เหลือ 6 กับอารุปปกัมมัฏฐาน 4 เหมาะสมแก่คนทุกจริต แต่ว่าในกสิณ 10 นั้น กสิณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เล็กขนาดขันโอ ย่อมเหมาะสมแก่คนวิตกจริต ขนาดใหญ่กว่านั้นจนขนาดเท่าจานข้าวเป็นต้น ย่อมเหมาะสมแก่คนโมหจริตเป็นต้น ฉะนี้

นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยความเหมาะสมแก่จริยาในกัมมัฏฐาน 40 นี้ ด้วยประการฉะนี้

สรุปความในจริยา

ก็แหละ ถ้อยแถลงทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้าแสดงไว้ด้วยอำนาจที่เป็นข้าศึกแก่กันโดยตรงอย่างหนึ่ง ด้วยอำนาจเป็นกัมมัฎฐานที่สบายแท้ ๆ อย่างหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี ขึ้นชื่อว่าภาวนาฝ่ายกุศลแล้ว ที่จะไม่กำจัดกิเลสมีราคะเป็นต้น หรือที่จะไม่เป็นอุปการะแก่คุณธรรมมีศรัทธาเป็นต้น เป็นอันไม่มี ข้อนี้สมด้วยคำที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ซึ่งมีในเมฆิยสูตรว่า

พึงเจริญธรรม 4 ประการ ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป คือ พึงเจริญอสุภกัมมัฏฐานทั้งหลายเพื่อประหานเสียซึ่งราคะ พึงเจริญเมตตาเพื่อประหานเสียซึ่งพยาบาท พึงเจริญอานาปานสติเพื่อกำจัดเสียซึ่งมิจฉาวิตก พึงเจริญอนิจจสัญญา เพื่อถอนเสียซึ่งอัสมิมานะ

แม้ในราหุลสุตร พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงพระกัมมัฏฐาน 7 ประการ โปรดพระราหุลเถระเพียงองค์เดียว โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญซึ่งภาวนาอันมีเมตตาเป็นอารมณ์…. เพราะเหตุฉะนี้ นักศึกษาจงอย่าได้ทำความยึดถือเพียงแต่ในถ้อยแถลงที่แสดงไว้ กัมมัฏฐานอย่างโน้นเหมาะสมแก่จริตบุคคลประเภทโน้น พึงค้นคว้าแสวงหาอรรถาธิบายในคัมภีร์ต่าง ๆ ทั่วไปเถิด

การวินิจฉัยกัมมัฏฐานกถาโดยพิสดาร ในหัวข้อสังเขปว่า ท่องจำเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาพระกัมมัฏฐาน 40 ประการ ยุติเพียงเท่านี้

(หน้าที่ 186)

ก็แหละ คำว่า ท่องจำเอา (เรียน) นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ –

อันโยคีบุคคลนั้น พึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้มีลักษณาการตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาในหัวข้อว่า พึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้พระกัมมัฏฐาน ฉะนี้แล้ว พึงถวายตัวแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าหรือแก่พระอาจารย์ แล้วพึงทำตนให้เป็นผู้มีอัชฌาสัยอันสมบูรณ์ และมีอธิมุติอันสมบูรณ์ แล้วพึงขอเอาพระกัมมัฏฐานเถิด

คำถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า

ในการถวายตัวนั้น โยคีบุคคลพึงกล่าวคำถวายตัวแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าว่าดังนี้-

คำบาลี

อิมาหํ ภควา อตฺตภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ

คำไทย

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้า ขอถวายอัตภาพร่างกายอันนี้ แด่พระพุทธองค์

โทษที่ไม่ถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า

จริงอยู่ โยคีบุคคลครั้นไม่ได้ถวายตนอย่างนี้แล้ว เมื่อหลีกไปอยู่ที่เสนาสนะอันเงียบสงัด ครั้นอารมณ์อันน่ากลัวมาปรากฏให้เห็นในคลองแห่งจักษุ ก็ไม่สามารถที่จะยับยั้งตั้งตนได้ จะเลี่ยงหนีไปยังแดนหมู่บ้าน เกิดเป็นผู้คลุกคลีกับพวกคฤหัสถ์ ทำการแสวงหาลาภสักการะอันไม่สมควร ก็จะพึงถึงซึ่งความฉิบหายเสีย

อานิสงส์ถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า

ส่วนโยคีบุคคลผู้ได้ถวายตัวแล้ว ถึงแม้จะมีอารมณ์อันน่ากลัวมาปรากฏให้เห็นในคลองแห่งจักษุ ก็จะไม่เกิดความหวาดกลัวแต่อย่างใด มีแต่จะเกิดความโสมนัสอย่างเดียวโดยที่จะได้เตือนตนว่า พ่อบัณฑิต ก็วันก่อนนั้น เจ้าได้ถวายตัวแด่พระพุทธเจ้าแล้ว

(หน้าที่ 187)

มิใช่หรือ ? เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งจะพึงมีผ้ากาสิกพัสตร์ (ผ้าที่ทำในแว่นแคว้นกาสี) อย่างดีที่สุด เมื่อผ้านั้นถูกหนูหรือพวกแมลงสาบกัด เขาก็จะพึงเกิดความโทมนัสเสียใจ แต่ถ้าเขาจะพึงถวายผ้านั้นแก่ภิกษุผู้ไม่มีจีวรไปเสีย แต่นั้นถึงเขาจะได้เห็นผ้านั้นอันภิกษุเอามาตัดทำให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เขาก็จะพึงเกิดแต่ความโสมนัสอย่างเดียว ฉันใด แม้คำอุปไมยนี้ นักศึกษาก็พึงทราบเหมือนฉันนั้น

คำถวายตัวแก่อาจารย์

โยคีบุคคล แม้เมื่อจะถวายตัวแก่พระอาจารย์ ก็พึงกล่าวคำถวายตัวดังนี้ –

คำบาลี

อิมาหํ ภนฺเต อตฺตภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ

คำไทย

ข้าแต่ท่านอาจารย์ผู้เจริญ กระผมขอมอบถวายอัตภาพร่างกายอันนี้แก่ท่านอาจารย์

โทษที่ไม่ถวายตัวแก่อาจารย์

จริงอยู่ โยคีบุคคลผู้ไม่ได้ถวายตัวอย่างนี้ ย่อมจะเป็นคนอันใคร ๆ ขัดขวางไม่ได้ บางทีก็จะเป็นคนว่ายากไม่เชื่อฟังโอวาท บางทีก็จะเป็นคนตามแต่ใจตนเอง อยากไปไหนก็จะไปโดยไม่บอกลาอาจารย์ก่อน โยคีบุคคลเช่นนี้นั้น อาจารย์ก็จะไม่รับสงเคราะห์ด้วยอามิส หรือด้วยธรรมคือการสั่งสอน จะไม่ให้ศึกษาวิชากัมมัฏฐานอันสุขุมลึกซึ้ง เมื่อเธอไม่ได้รับการสงเคราะห์ 2 ประการนี้แล้ว ก็จะไม่ได้ที่พึ่งในพระศาสนา ไม่ช้าไม่นานก็จะถึงซึ่งความเป็นคนทุศีล หรือเป็นคฤหัสถ์ไปเลย

อานิสงส์ที่ถวายตัวแก่อาจารย์

ส่วนโยคีบุคคลผู้ถวายตัวแล้ว จะไม่เป็นคนอันใคร ๆ ขัดขวางไม่ได้ ไม่เป็นคนตามแต่ใจตนเอง จะเป็นคนว่าง่าย มีความประพฤติติดเนื่องอยู่กับอาจารย์ เมื่อเธอได้รับการสงเคราะห์ 2 ประการจากอาจารย์แล้ว ก็จะถึงซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระศาสนา เหมือนอย่างพวกศิษย์อันเตวาสิกของพระจูฬปิณฑปาติกติสสเถระเป็นตัวอย่าง

(หน้าที่ 188)

เรื่องศิษย์พระติสสเถระ

มีเรื่องเล่าว่า มีภิกษุ 3 รูป ได้มาสู่สำนักพระติสสเถระแล้ว ใน 3 รูปนั้น รูปหนึ่งกล่าวเสนอตัวแก่พระเถระว่า "ท่านขอรับ เมื่อมีใคร ๆ ขอร้องเพื่อประโยชน์ของท่านอาจารย์แล้ว กระผมสามารถที่จะกระโดดลงไปในเหวลึกชั่วร้อยบุรุษ" รูปที่สองกล่าวเสนอตัวว่า "ท่านขอรับ เมื่อมีใคร ๆ ขอร้องเพื่อประโยชน์ของท่านอาจารย์แล้ว กระผมสามารถที่จะเอาร่างกายนี้ฝนที่พื้นหินให้กร่อนไปตั้งแต่ส้นเท้าจนกระทั่งไม่มีร่างกายเหลืออยู่" รูปที่สามกล่าวเสนอตัวแก่่พระเถระว่า "ท่านขอรับ เมื่อมีใคร ๆ ขอร้องเพื่อประโยชน์ของท่านอาจารย์แล้วกระผมสามารถที่จะกลั้นลมอัสสะปัสสาสะทำกาลกิริยาตายได้" ฝ่ายพระเถระพิจารณาเห็นว่า "ภิกษุเหล่านี้เป็นผู้มีความสมควรแล้ว" จึงได้บอกพระกัมมัฎฐานให้ ภิกษุเหล่านั้นดำรงตนอยู่ในโอวาทของพระเถระ ได้บรรลุซึ่งพระอรหัตแม้ทั้ง 3 รูปแล

นี้เป็นอานิสงส์ในการมอบถวายตัว ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวไว้ว่า พึงมอบถวายตัวแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าหรือแก่อาจารย์ ฉะนี้

ก็แหละ ในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วว่า เป็นผู้มีอัชฌาสัยอันสมบูรณ์และมีอธิมุติอันสมบูรณ์ ฉะนี้นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้-

อันโยคีบุคคลนั้น พึงเป็นผู้มีอัชฌาสัยอันสมบูรณ์ โดยอาการ 6 อย่าง ด้วยอำนาจแห่งธรรมมีอโลภะเป็นต้น

อรรถาธิบายของฏีกาจารย์

ในอธิการนี้ ท่านฏีกาจารย์ได้อรรถาธิบายไว้อย่างพิสดารดังนี้ –

ธรรมทั้งหลายมีอโลภะเป็นต้น มีอุปการะมากแก่สัตว์ทั้งหลายและแก่โยคีบุคคลโดยพิเศษ ทั้งนี้เพราะเป็นเหตุกำจัดเสียซึ่งโทษอย่างอนันต์ และเป็นเหตุนำมาซึ่งคุณอย่างมหันต์

(หน้าที่ 189)

เป็นความจริงอย่างนั้น ธรรมทั้งหลายมีอโลภะเป็นต้น ย่อมเป็นไปโดยความเป็นปฏิปักษ์แก่มลทินทั้งหลายมีมลทินคือความตระหนี่เป็นต้น สมจริงตามที่ท่านอรรถกถาจารย์แสดงไว้ในอรรถกถาแห่งอภิธรรม ดังต่อไปนี้ –

อโลภะ เป็นปฏิปักษ์แก่มลทินคือความตระหนี่ อโทสะ เป็นปฏิปักษ์แก่มลทินคือความทุศีล อโมหะ เป็นปฏิปักษ์แก่การไม่ภาวนาในกุศลธรรมทั้งหลาย แหละใน 3 เหตุนั้น อโลภะ เป็นเหตุแห่งทาน อโทสะ เป็นเหตุแห่งศีล อโมหะ เป็นเหตุแห่งภาวนา แหละใน 3 เหตุนั้น บุคคลย่อมถืออย่างไม่ตรึงเครียดด้วย อโลภะ เพราะคนที่โลภแล้ว ย่อมถืออย่างตรึงเครียด บุคคลย่อมถืออย่างไม่หย่อนยานด้วย อโทสะ เพราะคนที่โกรธแล้ว ย่อมถืออย่างหย่อนยาน บุคคลย่อมถืออย่างไม่วิปริตผิดเพี้ยนด้วย อโมหะ เพราะคนที่หลงแล้วย่อมถืออย่างวิปริตผิดเพี้ยน

อีกอย่างหนึ่ง ใน 3 เหตุนั้น บุคคลทรงจำโทษอันมีอยู่ไว้โดยความเป็นโทษและประพฤติเป็นไปในโทษนั้นด้วย อโลภะ เพราะคนที่โลภแล้วย่อมปกปิดโทษไว้ บุคคลทรงจำคุณอันมีอยู่ไว้โดยความเป็นคุณและประพฤติเป็นไปในคุณนั้นด้วย อโทสะ เพราะคนที่โกรธแล้วย่อมลบล้างคุณเสีย บุคคลทรงจำซึ่งสภาวะที่เป็นจริงโดยเป็นสภาวะที่เป็นจริงและประพฤติเป็นไปในสภาวะที่เป็นจริงนั้นด้วย อโมหะ เพราะคนหลงแล้วย่อมยึดถือสิ่งที่เปล่าว่าไม่เปล่าและสิ่งที่ไม่เปล่าว่าเปล่า อนึ่ง ทุกข์เพราะพรากจากสิ่งที่รักย่อมไม่เกิดมีด้วย อโลภะ เป็นเหตุ เพราะคนที่โลภแล้วเป็นแดนเกิดแห่งสิ่งเป็นที่รักด้วย เพราะอดกลั้นไว้ไม่ได้ต่อการ พรากจากสิ่งที่รักด้วย ทุกข์เพราะประจวบกับสิ่งไม่เป็นมี่รักย่อมไม่เกิดมี ด้วย อโทสะ เป็นเหตุ เพราะคนโกรธแล้วเป็นแดนเกิดแห่งสิ่งไม่เป็นที่รักด้วย ทุกข์เพราะไม่ได้สมหวัง ย่อมไม่เกิดมี ด้วย อโมหะ เป็นเหตุ เพราะคนที่ไม่หลงเป็นแดนเกิดแห่งการใคร่ครวญพิจารณาว่าข้อนั้นจะพึงได้ ณ ที่นี้ แต่ที่ไหนเล่า ?

อีกประการหนึ่ง ในเหตุ 3 อย่างนั้น ชาติทุกข์ไม่มี ด้วย อโลภะ เป็นเหตุ เพราะอโลภะเป็นปฏิปักษ์แก่ตัณหา เพราะชาติทุกข์มีตัณหาเป็นมูลราก ชราทุกข์ไม่มีด้วย อโทสะ เป็นเหตุ เพราะความโกรธอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้แก่เร็ว มรณทุกข์ไม่มีด้วย

(หน้าที่ 190)

อโมหะ เป็นเหตุ เพราะความหลงตายเป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ และมรณทุกข์นั้นย่อมไม่มีแก่คนที่ไม่หลง อนึ่ง ความอยู่ร่วมกันอย่างสบาย ย่อมมีแก่คฤหัสถ์ทั้งหลายด้วย อโลภะ เป็นเหตุ ความอยู่ร่วมกันอย่างสบายย่อมมีแก่บรรพชิตทั้งหลายด้วย อโมหะ เป็นเหตุ ส่วนความอยู่ร่วมกันอย่างสบายสำหรับคนทุกเพศ ย่อมมีได้ด้วย อโทสะ เป็นเหตุ

อีกประการหนึ่ง เมื่อว่าโดยพิเศษแล้ว ในเหตุ 3 นั้น ด้วย อโลภเหตุ จึงไม่มีการบังเกิดในเปตติวิสัย จริงอยู่ ส่วนมากสัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าถึงเปตติวิสัยด้วยตัณหา และอโลภะก็เป็นปฏิปักษ์แก่ตัณหาด้วย ด้วย อโทสเหตุ จึงไม่มีการบังเกิดในนรก จริงอยู่สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าถึงนรกอันคล้ายกับโทสะด้วยโทสะเป็นเหตุ เพราะเป็นผู้มีสันดานดุร้าย และอโทสะก็เป็นปฏิปักษ์แก่โทสะด้วย ด้วย อโมหเหตุ จึงไม่มีการบังเกิดในกำเนิดเดรัจฉาน จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าถึงกำเนิดเดรัจฉานอันหลงอยู่ตลอดกาล ด้วยโมหะเป็นเหตุ และอโมหะก็เป็นปฏิปักษ์แก่โมหะด้วย อนึ่ง ใน 3 เหตุนั้น อโลภเหตุ ทำให้ไม่มีการประจวบด้วยอำนาจราคะ อโทสเหตุ ทำให้ไม่มีการพลัดพรากด้วยอำนาจโทสะ อโมหเหตุ ทำให้ไม่มีความไม่เป็นกลางด้วยอำนาจโมหะ

อีกประการหนึ่ง สัญญา 3 เหล่านี้ คือ เนกขัมมสัญญา สัญญาในการออกจากกาม 1 อัพยาปาทสัญญา สัญญาในอันไม่พยาบาท 1 อวิหิงสาสัญญา สัญญาในอันไม่เบียดเบียน 1 และสัญญาอีก 3 เหล่านี้ คือ อสุภสัญญา สัญญาในความไม่งาม 1 อัปปมาณสัญญา สัญญาในอันไม่มีประมาณ 1 ธาตุสัญญา สัญญาในความเป็นธาตุ 1 ย่อมมีได้ด้วยเหตุแม้ทั้ง 3 ประการนี้โดยลำดับ อนึ่ง การงดเว้นซึ่งขอบทางคือกามสุขัลลิกานุโยค ย่อมมีได้ด้วย อโลภะ การงดเว้นซึ่งขอบทางคืออัตตกิลมถานุโยคย่อมมีได้ด้วย อโทสะ การดำเนินไปสู่ข้อปฏิบัติอันเป็นกลาง ย่อมมีได้ด้วย อโมหะ อนึ่ง การทำลายอภิชฌากายคันถะย่อมมีได้ด้วย อโลภะ การทำลายพยาบาทกายคันถะ ย่อมมีได้ด้วย อโทสะ การทำลายคันถะ 2 ที่เหลือ คือ สีลัพพตปรามาส และอิทังสัจจาภินิเวส ย่อมมีได้ด้วย อโมหะ อนึ่ง สตปัฏฐาน 2 ข้อต้น ย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพของกุศลเหตุ 2 ข้างต้น สติปัฏฐาน 2 ข้อหลัง ย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพของกุศลเหตุข้อหลังข้อเดียว

(หน้าที่ 191)

อีกประการหนึ่ง ใน 3 เหตุนั้น อโลภเหตุ ย่อมเป็นปัจจัยแก่ความไม่มีโรค จริงอยู่คนที่ไม่มีโลภย่อมไม่เสพอาหารอันไม่เป็นที่สบาย แม้ที่เร้าให้อยากกิน จึงเป็นผู้ไม่มีโรคด้วยเหตุนั้น อโทสเหตุ ย่อมเป็นปัจจัยแก่ความเป็นหนุ่ม จริงอยู่ คนที่ไม่โกรธ อันไฟคือความโกรธไม่เผาผลาญด้วยอำนาจทำหนังให้เหี่ยวและทำผมให้หงอก ย่อมเป็นหนุ่มอยู่ได้นาน ๆ อโมหเหตุ ย่อมเป็นปัจจัยแก่ความมีอายุยืน จริงอยู่ คนที่ไม่หลง รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์แล้ว ละเว้นเสียซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส้องเสพแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน

อีกประการหนึ่ง ใน 3 เหตุนั้น อโลภะ ย่อมเป็นปัจจัยแก่โภคสมบัติ เพราะเหตุที่คนจะได้โภคสมบัติด้วยการบริจาค อโทสะ เป็นปัจจัยแก่มิตตสมบัติ เพราะเหตุที่คนจะได้มิตรทั้งหลายด้วยเมตตา และเพราะไม่เสื่อมมิตรก็ด้วยเมตตา อโมหะ เป็นปัจจัยแก่อัตตสมบัติ จริงอยู่ คนที่ไม่หลง ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนอย่างเดียว ย่อมทำตนให้สมบูรณ์ อนึ่ง อโลภะ เป็นปัจจัยแก่การอยู่อย่างเทวดา อโทสะ เป็นปัจจัยแก่การอยู่อย่างพรหม อโมหะ เป็นปัจจัยแก่การอยู่อย่างพระอริยเจ้า

อีกประการหนึ่ง ใน 3 เหตุนั้น บุคคลเป็นผู้ดับเสียได้ในสัตว์และสังขารทั้งหลายฝ่ายของตนด้วย อโลภะ เป็นเหตุ เพราะทุกข์ซึ่งเป็นเหตุปรุงแต่งไม่มีเพราะสัตว์และสังขารเหล่านั้นพินาศไป บุคคลเป็นผู้ดับเสียได้ในสัตว์และสังขารทั้งหลายฝ่ายของคนอื่นด้วย อโทสะ เป็นเหตุ เพราะความจองเวรแม้ในคนคู่เวรทั้งหลายไม่มีสำหรับคนที่ไม่โกรธ บุคคลเป็นผู้ดับเสียได้ในสัตว์และสังขารทั้งหลายฝ่ายเป็นกลาง ๆ ด้วย อโมหะ เป็นเหตุ เพราะความปรุงแต่งทั้งปวงไม่มีสำหรับคนที่ไม่หลง

อีกอย่างหนึ่ง การเห็นอนิจจัง ย่อมมีได้ด้วย อโลภะ จริงอยู่ คนที่โลภแล้วย่อมไม่เห็นสังขารทั้งหลายแม้ที่ไม่เที่ยงโดยความเป็นของไม่เที่ยง ด้วยหวังในการส้องเสพอยู่ การเห็นทุกขังย่อมมีได้ด้วย อโทสะ จริงอยู่ คนที่มีอัชฌาสัยไม่โกรธ เป็นผู้ปล่อยวางอาฆาตวัตถุแล้วย่อมเห็นสังขารทั้งหลายโดยความเป็นทุกข์ การเห็นอนัตตาย่อมมีได้ด้วย อโมหะ จริงอยู่ คนที่ไม่หลง เป็นผู้ฉลาดในการถือเอาตามความจริง ย่อมรู้แจ้งขันธ์ 5 อันไม่ได้เป็นผู้นำ อนึ่ง ทรรศนะทั้งหลายมีการเห็นไม่เที่ยงเป็นต้น ย่อมมีได้

(หน้าที่ 192)

ด้วยเหตุทั้งหลายมีอโลภะเป็นต้นเหล่านี้ ฉันใด แม้เหตุทั้งหลายมีอโลภะเป็นต้นเหล่านี้ ก็มีได้ด้วยทรรศนะทั้งหลายมีการเห็นอนิจจังเป็นต้นเช่นเดียวกัน จริงอยู่ อโลภะ ย่อมมีได้ด้วยการเห็นอนิจจัง อโทสะ ย่อมมีได้ด้วยการเห็นทุกขัง อโมหะ ย่อมมีได้ด้วยการเห็นอนัตตา ก็ใครเล่ารู้โดยถูกต้องว่าขันธ์ 5 นี้เป็นทุกข์แล้ว จะพึงยังความรักให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ขันธ์ 5 นั้น หรือรู้สังขารทั้งหลายว่าเป็นทุกข์แล้ว จะพึงยังทุกข์เพราะความโกรธอันคมกล้าที่สุดแม้อื่นอีกให้เกิดขึ้น และรู้ความว่างเปล่าจากตัวตนของสังขารทั้งหลายแล้ว จะพึงยังความหลงงมงายให้เกิดขึ้นอีกต่อไป

ด้วยเหตุดังพรรณนามานี้ ท่านฏีกาจารย์จึงให้อรรถาธิบายคำว่าผู้มีอัฌชาสัยสมบูรณ์ไว้ว่า อัฌชาสัยของบุคคลนี้สมบูรณ์แล้ว ด้วยอำนาจการยังศีลสมบัติเป็นต้นอันเป็นส่วนเบื้องต้นให้สำเร็จ และด้วยความเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่โลกุตตรธรรมทั้งหลาย เหตุนั้น บุคคลนี้จึงชื่อว่า สมฺปนฺนชฺฌาสโย ผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์แล้ว ฉะนี้

อัชฌาสัย 6 ประการ

มีความจริงอยู่ว่า โยคีบุคคลผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์เห็นปานฉะนี้ ย่อมจะบรรลุพระโพธิญาณ 3 ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง สมกับที่ท่านโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า –

อัชฌาสัย 6 ประการ ย่อมเป็นไปด้วยความแก่แห่งโพธิญาณของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย คือ

1. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยไม่โลภ เห็นโทษในความโลภ

2. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยไม่โกรธ เห็นโทษในความโกรธ

3. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยไม่หลง เห็นโทษในความหลง

4. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยในการออกบวช เห็นโทษในฆราวาส

(หน้าที่ 193)

5. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยชอบความสงัด เห็นโทษในการคลุกคลีกับหมู่คณะ และ

6. พระโพธิสัตว์ทังหลาย ผู้มีอัชฌาสัยในพระนิพพาน เห็นโทษในภพและคติทั้งปวง

ก็แหละ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระขีณาสพ พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายจำพวกใดจำพวกหนึ่ง ทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่จะมีมาในอนาคต ทั้งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ทั้งหมดนั้นได้บรรลุแล้วซึ่งคุณวิเศษอันตนและตน พึงบรรลุด้วยอาการทั้งหลาย 6 ประการนี้นั่นเทียว เพราะฉะนั้น อันโยคีบุคคลพึงเป็นผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์ด้วยอาการ 6 ประการเหล่านี้

โยคีผู้มีอธิมุติสมบูรณ์

ก็แหละ อันโยคีบุคคลนั้น พึงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอธิมุติ ด้วยความเป็นผู้น้อมจิตไปเพื่อประโยชน์นั้น อธิบายว่า พึงเป็นผู้น้อมจิตไปในสมาธิ เป็นผู้หนักในสมาธิ เป็นผู้โน้มจิตไปในสมาธิ และพึงเป็นผู้น้อมจิตไปในนิพพาน เป็นผู้หนักในนิพพาน เป็นผู้โน้มจิตไปในนิพพาน

วิธีสอนกัมมัฏฐาน

แหละ เมื่อโยคีบุคคลนั้นซึ่งมีอัชฌาสัยและอธิมุติสมบูรณ์ได้ที่แล้วดังพรรณนามานี้ขอเอากัมมัฏฐาน อันอาจารย์ผู้ได้สำเร็จเจโตปริยญาณ พึงตรวจสอบวารจิตให้ทราบจริยาเสียก่อน สำหรับอาจารย์ที่ไม่ได้สำเร็จเจโตปริยญาณนอกนี้ พึงทราบจริยาโดยสอบถามโยคีบุคคลโดยนัยมีอาทิว่า เธอเป็นคนจริตอะไร หรือธรรมอะไรบ้างรบกวนเธอมาก หรือเมื่อเธอพิจารณาถึงกัมมัฏฐานข้อไหน จึงมีความผาสุกสบาย หรือจิตของเธอน้อมไปในกัมมัฏฐานข้อไหน ครั้นทราบจริยาอย่างนี่แล้ว จึงสอนกัมมัฏฐานอันเหมาะสมแก่จริยาต่อไป

พึงสอนกัมมัฏฐานด้วย 3 วิธี

ก็แหละ อันอาจารย์นั้น เมื่อจะสอนกัมมัฏฐานพึงสอนด้วยวิธี 3 ประการ คือ

  1. สำหรับโยคีบุคคลผู้ชอบท่องจำกัมมัฏฐานอยู่แล้วตามปกติ พึงให้มานั่งท่องจำกรรมฐานปากเปล่าให้ฟังต่อหน้าสัก 1 หรือ 2 ครั้ง,
  2. สำหรับผู้ที่อยู่ประจำในสำนัก พึงบอกกรรมฐานให้ทุก ๆ ครั้งที่เธอมาหา,
  3. สำหรับผู้ที่ท่องจำเอาแล้วประสงค์จะไปปฏิบัติ ณ ที่อื่น พึงสอนอย่าให้ย่อเกินไป อย่าให้ละเอียดเกินไป.

(หน้าที่ 194)

พึงสอนให้ท่องจำลำดับขั้นตอน 9 อย่าง

ในกัมมัฏฐานเหล่านั้น เมื่ออาจารย์จะสอนปถวีกสิณกัมมัฏฐานเป็นประการแรก พึงสอนให้ท่องจำลำดับขั้นตอน 9 เหล่านั้น คือ โทษแห่งกสิณ 4 อย่าง 1 วิธีทำดวงกสิณ 1 วิธีภาวนาซึ่งกสิณที่ทำแล้ว 1 นิมิต 2 อย่าง สมาธิ 2 อย่าง 1 ธรรมเป็นที่สบายและไม่เป็นที่สบาย 7 อย่าง 1 ความเป็นผู้ฉลาดในอัปปนา 10 อย่าง 1 การทำความเพียรให้สม่ำเสมอ 1 วิธีแห่งอัปปนา 1

แม้ในกัมมัฏฐานที่เหลือทั้งหลาย ก็พึงสอนลำดับขั้นตอนอันสมควรแก่กัมมัฏฐานนั้น ๆ ลำดับขั้นตอนทั้งหมดนั้นจักแจ้งชัดในวิธีภาวนาของกัมมัฏฐานทั้งหลายเหล่านั้น

ก็แหละ เมื่ออาจารย์สอนกัมมัฏฐานให้อยู่ด้วยอาการอย่างนี้ โยคีบุคคลนั้นพึงตั้งใจฟัง เพื่อท่องจำเอานิมิตนั้นให้ได้ คือ เอาอาการ 9 อย่างนั้นแต่ละอย่างๆ มาผูกไว้ในใจอย่างนี้ว่า "คำนี้เป็นบทหลัง, คำนี้เป็นบทหน้า, ความหมายของบทนั้นๆ เป็นอย่างนี้, จุดมุ่งหมายของบทนั้นเป็นอย่างนี้, และบทนี้เป็นคำอุปมาอุปไมย" (จดจำได้ชำนาญนึกหัวถึงท้าย นึกท้ายถึงหัว เหมือนในบทธรรมคุณข้อว่า ความงาม 3 ของปริยัติธรรม ได้แสดงไว้)

แหละ เมื่อโยคีบุคคลฟังอยู่โดยความเคารพ ท่องจำเอานิมิตได้อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นอันชื่อว่า ท่องจำเอากัมมัฏฐานด้วยดีแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ การบรรลุคุณวิเศษ ก็จะสำเร็จแก่เธอ เพราะอาศัยการท่องจำเอาด้วยดีแล้วนั้น แต่ย่อมจะไม่สำเร็จแก่โยคีบุคคลผู้ไม่ได้ท่องจำเอาด้วยดีนอกนี้

อรรถาธิบายความแห่งคำว่า (ท่องจำเอา) เรียน นี้ ยุติเพียงเท่านี้

ด้วยอรรถาธิบายเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าบทอันเป็นหัวข้อสังเขปว่า พึงเข้าไปหากัลยาณมิตรแล้ว ท่องจำเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาพระกัมมัฏฐาน 40 ประการ อันเหมาะสมแก่จริตจริยาของตน ดังนี้ อันข้าพเจ้าได้อธิบายให้พิสดารแล้วโดยสิ้นเชิง ด้วยประการฉะนี้แล

กัมมัฏฐานคหณนิทเทส ปริเฉทที่ 3

ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นเพื่อความปราโมชแห่สาธุชน

ยุติลงด้วยประการฉะนี้

ดูเพิ่ม