ปฏิสัมภิทามรรค_01-3_มหาวรรค

อยู่ในระหว่างปรับสำนวน

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)

[253] ปัญญาในความสำเร็จด้วยการกำหนดรูปกาย (ของตน)และจิต (มีฌานเป็นบาท) เข้าด้วยกัน และด้วยสามารถแห่งการตั้งไว้ซึ่งสุขสัญญาและลหุสัญญา เป็นอิทธิวิธญาณอย่างไร ฯ

ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยสมาธิยิ่งด้วยฉันทะและสังขารเป็นประธาน ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยสมาธิยิ่งด้วยวิริยะและสังขารเป็นประธาน ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยสมาธิยิ่งด้วยจิตและสังขารเป็นประธาน ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยสมาธิยิ่งด้วยวิมังสาและสังขารเป็นประธาน ภิกษุนั้นย่อมอบรมข่มจิต ทำให้เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน ในอิทธิบาท 4 ประการนี้ ครั้นแล้วย่อมตั้งกายไว้ในจิตบ้างตั้งจิตไว้ในกายบ้างน้อมจิตไปด้วยสามารถแห่งกายบ้าง น้อมกายไปด้วยสามารถแห่งจิตบ้าง อธิษฐานจิตด้วยสามารถแห่งกายบ้าง อธิษฐานกายด้วยสามารถแห่งจิตบ้าง ครั้นน้อมจิตไปด้วยสามารถแห่งกาย น้อมกายไปด้วยสามารถแห่งจิตอธิษฐานจิตด้วยสามารถแห่งกาย อธิษฐานกายด้วยสามารถแห่งจิตแล้ว ย่อมหน่วงสุขสัญญาและลหุสัญญาลงในกายอยู่ เธอมีจิตอันอบรมแล้วอย่างนั้นบริสุทธิผ่องแผ้ว ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธญาณ เธอย่อมแสดงฤทธิ์ได้เป็นอันมาก คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินไปบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินไปบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ฯ

ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในความสำเร็จด้วยการกำหนดรูปกาย(ของตน) และจิต (อันมีฌานเป็นบาท) เข้าด้วยกัน และด้วยสามารถแห่งการตั้งไว้ซึ่งสุขสัญญาและลหุสัญญา เป็นอิทธิวิธญาณ ฯ

[254] ปัญญาในการกำหนดเสียงเป็นนิมิตหลายอย่าง หรืออย่างเดียว ด้วยสามารถการแผ่วิตกไป เป็นโสตธาตุวิสุทธิญาณอย่างไร ฯ

ภิกษุในศาสนานี้ เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยสมาธิยิ่งด้วยฉันทะและสังขารอันเป็นประธาน … ภิกษุนั้นย่อมอบรมข่มจิต ทำจิตให้อ่อน ควรแก่การงาน ในอิทธิบาท 4 ประการนี้ครั้นแล้วย่อมมนสิการถึงเสียงเป็นนิมิตแห่งเสียงทั้งหลาย แม้ในที่ไกล แม้ในที่ใกล้ แม้เป็นเสียงหยาบ แม้เป็นเสียงละเอียด แม้เป็นเสียงละเอียดยิ่งนัก ย่อมมนสิการถึงเสียงเป็นนิมิตแห่งเสียงทั้งหลายในทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ในทิศเหนือ ในทิศใต้ แม้ในทิศอาคเนย์ แม้ในทิศพายัพแม้ในทิศอีสาน แม้ในทิศหรดี แม้ในทิศเบื้องต่ำแม้ในทิศเบื้องบน ภิกษุนั้นมีจิตอันอบรมแล้วอย่างนั้น บริสุทธิ์ ผ่องแผ้วย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณอันหมดจดแห่งโสตธาตุ เธอย่อมฟังเสียงได้ทั้ง 2อย่าง คือ ทั้งเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งในที่ไกลและในที่ใกล้ ด้วยทิพโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ ฯ

ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการกำหนดเสียงเป็นนิมิตหลายอย่างหรืออย่างเดียว ด้วยสามารถการแผ่วิตกไป เป็นโสตธาตุวิสุทธิญาณ ฯ

[255] ปัญญาในการกำหนดจริยา คือ วิญญาณหลายอย่างหรืออย่างเดียว ด้วยความแผ่ไปแห่งจิต 3 ประเภท และด้วยสามารถความผ่องใสแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นเจโตปริยญาณอย่างไร ฯ

ภิกษุในศาสนานี้ เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยสมาธิยิ่งด้วยฉันทะและสังขารอันเป็นประธาน … ครั้นแล้วย่อมรู้อย่างนี้ว่า รูปนี้เกิดขึ้นด้วยโสมนัสสินทรีย์ รูปนี้เกิดขึ้นด้วยโทมนัสสินทรีย์ รูปนี้เกิดขึ้นด้วยอุเบกขินทรีย์ภิกษุนั้นมีจิตอันอบรมแล้วอย่างนั้น บริสุทธิ์ ผ่องแผ้วย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจของตนคือ จิตมีราคะก็รู้ว่า จิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่า จิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่า จิตปราศจากโทสะจิตมีโมหะก็รู้ว่า จิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่า จิตปราศจากโมหะจิตหดหู่ก็รู้ว่า จิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่า จิตฟุ้งซ่านจิตเป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ว่า จิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่า จิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่า จิตไม่เป็นสมาธิจิตหลุดพ้นก็รู้ว่า จิตหลุดพ้นหรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่า จิตไม่หลุดพ้น จิตน้อมไปก็รู้ว่า จิตน้อมไป หรือจิตไม่น้อมไปก็รู้ว่า จิตไม่น้อมไป ฯ

ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการกำหนดจริยา คือ วิญญาณหลายอย่างหรืออย่างเดียว ด้วยความแผ่ไปแห่งจิต 3 ประเภท และด้วยสามารถความผ่องใสแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นเจโตปริยญาณ ฯ

[256] ปัญญาในการกำหนดธรรมทั้งหลาย อันเป็นไปตามปัจจัย ด้วยสามารถความแผ่ไปแห่งกรรมหลายอย่างหรืออย่างเดียว เป็นปุพเพนิวาสานุสสติญาณอย่างไร ฯ

ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยสมาธิยิ่งด้วยฉันทะและสังขารอันเป็นประธาน ฯลฯ ครั้นแล้วย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้ก็ย่อมมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะเพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหาเพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ภิกษุนั้นมีจิตอบรมแล้วอย่างนั้น บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้างสิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้างห้าสิบชาติบ้างร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้างตลอดวิวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในชาติโน้นเราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้นได้เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากชาตินั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนี้มีโคตรอย่างนี้มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ ได้เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนี้ ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านี้ ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ฯ

ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการกำหนดธรรมอันเป็นไปตามปัจจัยด้วยสามารถการแผ่ไปแห่งกรรมหลายอย่างหรืออย่างเดียว เป็นปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ฯ

[257] ปัญญาในความเห็นรูปเป็นนิมิตหลายอย่าง หรืออย่างเดียว ด้วยสามารถแสงสว่าง เป็นทิพจักษุญาณอย่างไร ฯ

ภิกษุในศาสนานี้ เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยสมาธิยิ่งด้วยฉันทะและสังขารอันเป็นประธาน ฯลฯ ครั้นแล้วย่อมมนสิการถึงอาโลกสัญญา ตั้งสัญญาว่าเป็นกลางวัน มีใจเปิดเผยไม่มีอะไรหุ้มห่อ เจริญจิตให้มีแสงสว่างว่ากลางวันฉันใด กลางคืนฉันนั้น กลางคืนฉันใดกลางวันฉันนั้น ภิกษุนั้นมีจิตอันอบรมแล้วอย่างนั้น บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณในจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพจักษุอันบริสุทธิล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้หนอประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ฯ

ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในความเห็นรูป เป็นนิมิตหลายอย่างหรืออย่างเดียว ด้วยสามารถแสงสว่าง เป็นทิพจักษุญาณ ฯ

[258] ปัญญาในความเป็นผู้มีความชำนาญในอินทรีย์ 3 ประการ โดยอาการ 64เป็นอาสวักขยญาณอย่างไร ฯ

อินทรีย์ 3 ประการเป็นไฉน คือ อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ 1 อัญญินทรีย์ 1อัญญาตาวินทรีย์ 1 ฯ

อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ย่อมถึงฐานะเท่าไร อัญญินทรีย์ย่อมถึงฐานะเท่าไรอัญญาตาวินทรีย์ย่อมถึงฐานะเท่าไร ฯ

อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ย่อมถึงฐานะ 1 คือ โสดาปัตติมรรค อัญญินทรีย์ย่อมถึงฐานะ 6 คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อัญญาตาวินทรีย์ย่อมถึงฐานะ 1 คืออรหัตตผล ฯ

[259] ในขณะโสดาปัตติมรรค อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์มีสัทธินทรีย์ซึ่งมีความน้อมใจเชื่อเป็นบริวาร วิริยินทรีย์มีการประคองไว้เป็นบริวารสตินทรีย์มีความตั้งมั่นเป็นบริวาร สมาธินทรีย์มีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นบริวาร ปัญญินทรีย์มีความเห็นเป็นบริวาร มนินทรีย์มีความรู้แจ้งเป็นบริวาร โสมนัสสินทรีย์มีความยินดีเป็นบริวาร ชีวิตินทรีย์มีความเป็นอธิบดีในความสืบต่อที่กำลังเป็นไปเป็นบริวาร ธรรมทั้งหลายที่เกิดในขณะโสดาปัตติมรรค นอกจากรูปซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐานเป็นกุศลทั้งหมดนั่นแล ล้วนไม่มีอาสวะ เป็นธรรมเครื่องนำออกเป็นธรรมเครื่องให้ถึงความไม่สั่งสม เป็นโลกุตตระ มีนิพพานเป็นอารมณ์ในขณะโสดาปัตติมรรค อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์มีอินทรีย์ 8 ประการนี้ซึ่งมีสหชาตธรรมเป็นบริวาร มีธรรมอื่น ๆ เป็นบริวาร มีธรรมที่อาศัยกันเป็นบริวารมีธรรมที่ประกอบกันเป็นบริวาร เป็นสหรคต เกิดร่วมกัน เกี่ยวข้องกัน ประกอบด้วยกัน ธรรมเหล่านั้นแลเป็นอาการและเป็นบริวารของอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์นั้น ฯ

[260] ในขณะโสดาปัตติผล อัญญินทรีย์มีสัทธินทรีย์ซึ่งมีความน้อมใจเชื่อเป็นบริวาร … ธรรมทั้งหลายที่เกิดในขณะโสดาปัตติผล ทั้งหมดนั่นแลเป็นอัพยากฤต นอกจากรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานล้วนไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระมีนิพพานเป็นอารมณ์ในขณะโสดาปัตติผล อัญญินทรีย์มีอินทรีย์ 8ประการนี้ซึ่งมีสหชาตธรรมเป็นบริวาร … ธรรมเหล่านั้นแลเป็นอาการและเป็นบริวารของอัญญินทรีย์นั้น ฯ

[261] ในขณะสกทาคามิมรรค ฯลฯ ในขณะสกทคามิผล ฯลฯในขณะอนาคามิมรรค ฯลฯ ในขณะอนาคามิผล ฯลฯ

ในขณะอรหัตตมรรค อัญญินทรีย์มีสัทธินทรีย์ซึ่งมีความน้อมใจเชื่อเป็นบริวาร ฯลฯชีวิตินทรีย์มีความเป็นอธิบดีในความสืบต่อที่กำลังเป็นไปเป็นบริวารธรรมทั้งหลายที่เกิดในขณะอรหัตตมรรค นอกจากรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน ทั้งหมดนั่นแลเป็นกุศลล้วนไม่มีอาสวะ เป็นธรรมเครื่องนำออก เป็นธรรมเครื่องให้ถึงความไม่สั่งสม เป็นโลกุตตระ มีนิพพานเป็นอารมณ์ ในขณะอรหัตตมรรค อัญญินทรีย์ 8 ประการนี้ซึ่งมีสหชาตธรรมเป็นบริวาร … ธรรมเหล่านั้น เป็นอาการและเป็นบริวารของอัญญินทรีย์นั้น ฯ

[262] ในขณะอรหัตตผล อัญญาตาวินทรีย์มีสัทธินทรีย์ ซึ่งมีความน้อมใจเชื่อเป็นบริวาร วิริยินทรีย์มีการประคองไว้เป็นบริวาร สตินทรีย์มีความตั้งมั่นเป็นบริวาร สมาธินทรีย์มีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นบริวาร ปัญญินทรีย์มีความเห็นเป็นบริวาร มนินทรีย์มีความรู้แจ้งเป็นบริวาร โสมนัสสินทรีย์มีความยินดีเป็นบริวาร ชีวิตินทรีย์มีความเป็นอธิบดีในการสืบต่อ ที่กำลังเป็นไป เป็นบริวารธรรมทั้งหลายที่เกิดในขณะอรหัตตผล ทั้งหมดนั่นแลเป็นอัพยากฤตนอกจากรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน ล้วนไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ มีนิพพานเป็นอารมณ์ ในขณะอรหัตตผล อัญญาตาวินทรีย์มีอินทรีย์ 8 ประการนี้ซึ่งมีสหชาตธรรมเป็นบริวารมีธรรมอื่น ๆ เป็นบริวาร มีธรรมที่อาศัยกันเป็นบริวาร มีธรรมที่ประกอบกันเป็นบริวาร เป็นสหรคต เกิดร่วมกัน เกี่ยวข้องกัน ประกอบด้วยกันธรรมเหล่านั้นแลเป็นอาการและเป็นบริวารของอัญญาตาวินทรีย์นั้น อินทรีย์ 8 หมวดเหล่านี้รวมเป็นอาการ 64 ด้วยประการฉะนี้ ฯ

[263] คำว่า อาสวะ ความว่า อาสวะเหล่านั้นเป็นไฉน อาสวะเหล่านั้น คือกามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ฯ

อาสวะเหล่านั้นย่อมสิ้นไป ณ ที่ไหน ทิฏฐาสวะทั้งสิ้น กามาสวะ ภวาสวะอวิชชาสวะ อันเป็นเหตุให้ไปสู่อบาย ย่อมสิ้นไปเพราะโสดาปัตติมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะโสดาปัตติมรรคนี้ กามาสวะส่วนหยาบ ๆ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ซึ่งตั้งอยู่ร่วมกันกับกามาสวะนั้น ย่อมสิ้นไปเพราะสกทาคามิมรรคอาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะสกทาคามิมรรคนี้ กามาสวะทั้งสิ้น ภวาสวะอวิชชาสวะ ซึ่งตั้งอยู่ร่วมกันกับกามาสวะนั้น ย่อมสิ้นไปเพราะอนาคามิมรรคอาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะอนาคามิมรรคนี้ ภวาสวะ อวิชชาสวะทั้งสิ้น ย่อมสิ้นไปเพราะอรหัตตมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะอรหัตตมรรคนี้ ฯ

ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในความเป็นผู้มีความชำนาญ ในอินทรีย์3 ประการ โดยอาการ 64 เป็นอาสวักขยญาณ ฯ

[264] ปัญญาในอรรถว่าเป็นสิ่งควรกำหนดรู้ เป็นทุกขญาณ ปัญญาในอรรถว่าเป็นสิ่งควรละเป็นสมุทยญาณ ปัญญาในอรรถว่าเป็นสิ่งควรทำให้แจ้ง เป็นนิโรธญาณ ปัญญาในอรรถว่าเป็นสิ่งควรเจริญเป็นมรรคญาณ อย่างไร ฯ

สภาพบีบคั้น สภาพเดือดร้อน สภาพปัจจัยปรุงแต่ง สภาพแปรปรวน สภาพที่ควรกำหนดรู้แห่งทุกข์ สภาพที่ประมวลมา สภาพเป็นเหตุ สภาพที่เกี่ยวข้องสภาพพัวพัน สภาพที่ควรละแห่งสมุทัย สภาพที่สลัดออก สภาพที่สงัดสภาพอันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง สภาพเป็นอมตะสภาพที่ควรทำให้แจ้งแห่งนิโรธสภาพที่นำออก สภาพที่เป็นเหตุ สภาพที่เห็น สภาพที่เป็นอธิบดีสภาพที่ควรเจริญแห่งมรรค ฯ

ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในความกำหนด เป็นทุกขญาณ ปัญญาในความละ เป็นสมุทยญาณ ปัญญาในความทำให้แจ้ง เป็นนิโรธญาณ ปัญญาในความเจริญเป็นมรรคญาณ ฯ

[265] ทุกขญาณ ทุกขสมุทยญาณ ทุกขนิโรธญาณ ทุกขนิโรธคามินี ปฏิปทาญาณ อย่างไร ญาณของท่านผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยมรรคนี้ เป็นทุกขญาณ ทุกขสมุทยญาณ ทุกขนิโรธญาณ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาญาณ ฯ

[266] ในญาณเหล่านั้น ทุกขญาณเป็นไฉน ฯ

ความรู้ทั่ว ความรู้ชัด ความเลือกเฟ้น ความค้นคว้า ความสอดส่องธรรม ความกำหนดดี ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ความเป็นบัณฑิตความเป็นผู้ฉลาด ความเป็นผู้ละเอียด ความแจ่มแจ้ง ความคิด ความพิจารณา ปัญญากว้างขวางดังแผ่นดิน ปัญญาอันทำลายกิเลส ปัญญาอันนำไปรอบ ความเห็นแจ้ง ความรู้ทั่วพร้อม ปัญญาดังปะฏัก ปัญญาเป็นใหญ่ ปัญญาเป็นกำลังปัญญาดังศาตรา ปัญญาดังปราสาท ปัญญาเป็นแสงสว่าง ปัญญาเป็นรัศมี ปัญญารุ่งเรือง ปัญญาดังรัตนะ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฐิที่ปรารภทุกข์เกิดขึ้น นี้ท่านกล่าวว่า ทุกขญาณ ฯ

[267] ฯลฯ ปรารภทุกข์สมุทัย ฯลฯ ปรารภทุกขนิโรธ ฯลฯ ความรู้ทั่ว ความรู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฐิ ที่ปรารภทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาเกิดขึ้น นี้ท่านกล่าวว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาญาณ ฯ

ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ทุกขญาณ ทุกขสมุทยญาณ ทุกขนิโรธญาณทุกขนิโรธคามินีปฏิทาญาณ ฯ

[268] อรรถปฏิสัมภิทาญาณ ธรรมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ อย่างไร ฯ

ญาณในอรรถ เป็นอรรถปฏิสัมภิทา ญาณในธรรม เป็นธรรมปฏิสัมภิทา ญาณในนิรุติเป็นนิรุตติปฏิสัมภิทา ญาณในปฏิภาณ เป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทาปัญญาในความต่างแห่งอรรถ เป็นอรรถปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความต่างแห่งธรรม เป็นธรรมปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความต่างแห่งนิรุติ เป็นนิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความต่างแห่งปฏิภาณ เป็นปฏิภาณ ปฏิสัมภิทาญาณปัญญาในความกำหนดอรรถ เป็นอรรถปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความกำหนดธรรม เป็นธรรมปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความกำหนดนิรุติ เป็นนิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความกำหนดปฏิภาณ เป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความหมายอรรถ เป็นอรรถปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความหมายธรรม เป็นธรรมปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความหมายนิรุติ เป็นนิรุตติปฏิสัมภิทาญาณปัญญาในความหมายปฏิภาณ เป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความเข้าไปหมายอรรถ เป็นอรรถ ปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความเข้าไปหมายธรรม เป็นธรรมปฏิสัมภิทาญาณปัญญาในความเข้าไปหมายนิรุติ เป็นนิรุติปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความเข้าไปหมายปฏิภาณ เป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในประเภทแห่งอรรถ เป็นอรรถปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในประเภทแห่งธรรมเป็นธรรมปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในประเภทแห่งนิรุติ เป็นนิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในประเภทแห่งปฏิภาณ เป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความปรากฏแห่งอรรถ เป็นอรรถปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความปรากฏแห่งธรรม เป็นธรรมปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความปรากฏแห่งนิรุติ เป็นนิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความปรากฏแห่งปฏิภาณ เป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความกระจ่างแห่งอรรถเป็นอรรถปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความกระจ่างแห่งธรรม เป็นธรรมปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความ กระจ่างแห่งนิรุติ เป็นนิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความกระจ่างแห่งปฏิภาณ เป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความรุ่งเรืองแห่งอรรถเป็นอรรถปฏิสัมภิทาญาณปัญญาในความรุ่งเรืองแห่งธรรม เป็นธรรมปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความรุ่งเรืองแห่งนิรุติ เป็นนิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความรุ่งเรืองแห่งปฏิภาณ เป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความประกาศอรรถเป็นอรรถปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความประกาศธรรม เป็นธรรมปฏิสัมภิทาญาณปัญญาในความประกาศนิรุติ เป็นนิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาในความประกาศปฏิภาณเป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ฯ

ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า อรรถปฏิสัมภิทาญาณ ธรรมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ฯ

[269] อินทรียปโรปริยัตตญาณของพระตถาคตเป็นไฉน ฯ

ในอินทรียปโรปริยัตตญาณนี้ พระตถาคตย่อมทรงเห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ มีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ มีอินทรีย์แก่กล้ามีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการชั่วพึงให้รู้แจ้งได้โดยง่าย พึงให้รู้แจ้งได้โดยยากบางพวกมีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย บางพวกมิได้เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย ฯ

[270] คำว่า มีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ มีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ ความว่าบุคคลผู้มีศรัทธา เป็นคนมีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ บุคคล ผู้ไม่มีศรัทธา เป็นคนมีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ บุคคลผู้ปรารภความเพียรเป็นคนมีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ บุคคลผู้เกียจคร้านเป็นคนมีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ บุคคลผู้มีสติตั้งมั่น เป็นคนมีกิเลสธลีน้อยในปัญญาจักษุบุคคลผู้มีสติหลงลืม เป็นคนมีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น เป็นคนมีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ บุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นเป็นคนมีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ บุคคลผู้มีปัญญาเป็นคนมีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ บุคคลผู้มีปัญญาทรามเป็นคนมีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ ฯ

[271] คำว่า มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน ความว่าบุคคลผู้มีศรัทธา เป็นคนมีอินทรีย์แก่กล้า บุคคลผู้ไม่มีศรัทธาเป็นคนมีอินทรีย์อ่อน … บุคคลผู้มีปัญญา เป็นคนมีอินทรีย์แก่กล้าบุคคลผู้มีปัญญาทราม เป็นคนมีอินทรีย์อ่อน ฯ

[272] คำว่า มีอาการดี มีอาการชั่ว ความว่า บุคคลผู้มีศรัทธา เป็นคนมีอาการดีบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา เป็นคนมีอาการชั่ว … บุคคลผู้มีปัญญา เป็นคนมีอาการดี บุคคลผู้มีปัญญาทรามเป็นคนมีอาการชั่ว ฯ

[273] คำว่า พึงให้รู้แจ้งได้โดยง่าย พึงให้รู้แจ้งได้โดยยาก ความว่า บุคคลผู้มีศรัทธาเป็นคนพึงให้รู้แจ้งได้โดยง่าย บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา เป็นคนพึงให้รู้แจ้งได้โดยยาก บุคคลผู้มีปัญญาเป็นคนพึงให้รู้แจ้งได้โดยง่าย บุคคลผู้มีปัญญาทราม เป็นคนพึงให้รู้แจ้งได้โดยยาก ฯ

[274] คำว่า บางพวกมีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย บางพวกมิได้เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย ความว่า บุคคลผู้มีศรัทธา เป็นคนมีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา เป็นคนมิได้เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย บุคคลผู้มีปัญญา เป็นคนมีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย บุคคลผู้มีปัญญาทราม เป็นคนมิได้เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย ฯ

[275] ชื่อว่าโลก คือ ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก โลกคือภพวิบัติ โลกคือสมภพวิบัติ โลกคือภพสมบัติ โลกคือสมภพสมบัติ โลก 1 คือสัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร โลก 2 คือ นามและรูป โลก 3 คือเวทนา 3 โลก 4คืออาหาร 4 โลก 5 คือ อุปาทานขันธ์ 5โลก 6 คือ อายตนะภายใน 6โลก 7 คือ ภูมิเป็นที่ตั้งวิญญาณ 7 โลก 8 คือ โลกธรรม 8โลก 9 คือ ภพเป็นที่อาศัยอยู่ของสัตว์ 9 โลก 10 คือ อายตนะ 10 โลก 12 คือ อายตนะ 12โลก 18 คือ ธาตุ 18 ฯ

[276] ชื่อว่าโทษ คือ กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง อภิสังขารทั้งปวง กรรมอันเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่ภพทั้งปวง เป็นโทษ ความสำคัญในโลกนี้และโทษนี้ว่าเป็นภัยอันแรงกล้า ปรากฏแล้วด้วยประการดังนี้ เหมือนความสำคัญในศัตรูผู้เงื้อดาบเข้ามาจะฆ่าฉะนั้น พระตถาคตย่อมทรงรู้ ทรงเห็น ทรงทราบชัด ทรงแทงตลอดซึ่งอินทรีย์ 5 ประการนี้ ด้วยอาการ 50 นี้ นี้เป็นอินทรียปโรปริยัตตญาณของพระตถาคต ฯ

[277] ญาณในฉันทะเป็นที่มานอน และกิเลสอันนอนเนื่องแห่งสัตว์ทั้งหลาย ของพระตถาคต เป็นไฉน ฯ

ในญาณนี้ พระตถาคตย่อมทรงทราบฉันทะเป็นที่มานอน กิเลสอันนอนเนื่อง จริตอธิมุติ ของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมทรงทราบชัดภัพพสัตว์และอภัพพสัตว์ ฯ

[278] ก็ฉันทะเป็นที่มานอนของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน ฯ

สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้อาศัยทิฐิในภพก็มี อาศัยทิฐิในความปราศจากภพก็มี ดังนี้ว่าโลกเที่ยงบ้าง โลกไม่เที่ยงบ้าง โลกมีที่สุดบ้าง โลกไม่มีที่สุดบ้างชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้นบ้างชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่นบ้าง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกบ้าง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เป็นอีกบ้าง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มีบ้าง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้บ้าง บุคคลไม่ข้องแวะส่วนที่สุดทั้งสองนี้เสียแล้ว เป็นอันได้ขันติอันสมควร ในธรรมทั้งหลายอันอาศัยกันคือความมีสิ่งนี้เป็นปัจจัยเกิดขึ้น ฯ

อนึ่ง พระตถาคตย่อมทรงทราบบุคคลผู้เสพกาม ด้วยยถาภูตญาณ คือทรงทราบบุคคลผู้เสพกามว่า บุคคลนี้เป็นผู้หนักในกาม มีกามเป็นที่อาศัย น้อมใจไปในกาม ทรงทราบบุคคลผู้เสพเนกขัมมะว่า บุคคลนี้เป็นผู้หนักในเนกขัมมะมีเนกขัมมะเป็นที่อาศัย น้อมใจไปในเนกขัมมะทรงทราบบุคคลผู้เสพพยาบาทว่าบุคคลนี้เป็นผู้หนักในพยาบาท มีพยาบาทเป็นที่อาศัย น้อมใจไปในพยาบาททรงทราบบุคคลผู้เสพความไม่พยาบาทว่า บุคคลนี้เป็นผู้หนักในความไม่พยาบาทมีความไม่พยาบาทเป็นที่อาศัย น้อมใจไปในความไม่พยาบาท ทรงทราบบุคคลผู้เสพถีนมิทธะว่าบุคคลนี้เป็นผู้หนักในถีนมิทธะ มีถีนมิทธะเป็นที่อาศัยน้อมใจไปในถีนมิทธะ ทรงทราบบุคคลผู้เสพอาโลกสัญญาว่า บุคคลนี้เป็นผู้หนักในอาโลกสัญญา มีอาโลกสัญญาเป็นที่อาศัย น้อมใจไปในอาโลกสัญญา ฯ

[279] ก็กิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน ฯ

กิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย คือ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย มานานุสัยทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย กามราคานุสัยของหมู่สัตว์ ย่อมนอนเนื่องในอารมณ์อันเป็นที่รักที่ยินดีในโลก ปฏิฆานุสัยของหมู่สัตว์ ย่อมนอนเนื่องในอารมณ์อันไม่เป็นที่รักที่ยินดีในโลก อวิชชาตกไปตามในธรรมสองประการนี้ ดังนี้ มานะ ทิฐิ และวิจิกิจฉาซึ่งตั้งอยู่ร่วมกันกับอวิชชานั้น ก็พึงเห็นดังนั้น นี้เป็นกิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย ฯ

[280] ก็จริตของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร เป็นภูมิน้อยก็ตาม เป็นภูมิมากก็ตาม นี้เป็นจริตของสัตว์ทั้งหลาย ฯ

[281] ก็อธิมุติของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน สัตว์ทั้งหลายมีอธิมุติเลวก็มี มีอธิมุติประณีตก็มี สัตว์ทั้งหลายผู้มีอธิมุติเลว ย่อมสมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กะสัตว์ผู้มีอธิมุติเลวเหมือนกันสัตว์ทั้งหลายผู้มีอธิมุติประณีต ย่อมสมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กะสัตว์ผู้มีอธิมุติประณีตเหมือนกันแม้ในอดีตกาล สัตว์ทั้งหลายผู้มีอธิมุติเลว ก็สมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กะสัตว์ผู้มีอธิมุติเลวเหมือนกันสัตว์ทั้งหลายผู้มีอธิมุติประณีต ก็สมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กะสัตว์ผู้มีอธิมุติประณีตเหมือนกัน แม้ในอนาคตกาล สัตว์ทั้งหลายผู้มีอธิมุติเลว ก็จักสมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กะสัตว์ผู้มีอธิมุติเหมือนกันสัตว์ทั้งหลายผู้มีอธิมุติประณีต ก็จัดสมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กะสัตว์ ผู้มีอธิมุติประณีตเหมือนกันนี้เป็นอธิมุติของสัตว์ทั้งหลาย ฯ

[282] อภัพพสัตว์เป็นไฉน สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้น คือกรรม กิเลส วิบาก เป็นผู้ไม่มีศรัทธาไม่มีฉันทะ มีปัญญาทราม ไม่อาจย่างเข้าสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย เหล่านี้ เป็นอภัพพสัตว์ ฯ

[283] ภัพพสัตว์เป็นไฉน สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้น คือกรรม กิเลส วิบาก เป็นผู้มีศรัทธา มีฉันทะ มีปัญญา อาจย่างเข้าสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลายเหล่านี้เป็นภัพพสัตว์ นี้เป็นญาณในฉันทะเป็นที่มานอน และกิเลสอันนอนเนื่องแห่งสัตว์ทั้งหลาย ของพระตถาคต ฯ

[284] ยมกปาฏิหาริยญาณของพระตถาคตเป็นไฉน ฯ

ในญาณนี้ พระตถาคตย่อมทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ไม่สาธารณะด้วยหมู่พระสาวก คือท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องบน สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง ท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องบนท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง ท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า ท่อไฟพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย ท่อไฟพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา ท่อไฟพุ่งออกจากช่องพระกรรณเบื้องขวาสายน้ำพุ่งออกจากช่องพระกรรณเบื้องซ้ายท่อไฟพุ่งออกจากช่องพระกรรณเบื้องซ้ายสายน้ำพุ่งออกจากช่องพระกรรณเบื้องขวา ท่อไฟพุ่งออกจากช่องพระนาสิกเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากช่องพระนาสิกเบื้องซ้ายท่อไฟพุ่งออกจากช่องพระนาสิกเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากช่องพระนาสิกเบื้องขวา ท่อไฟพุ่งออกจากจะงอยพระอังสาเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากจะงอยพระอังสาเบื้องซ้าย ท่อไฟพุ่งออกจากจะงอยพระอังสาเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากจะงอยพระอังสาเบื้องขวา ท่อไฟพุ่งออกจากพระหัตถ์เบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระหัตถ์เบื้องซ้าย ท่อไฟพุ่งออกจากพระหัตถ์เบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระหัตถ์เบื้องขวา ท่อไฟพุ่งออกจากพระปรัสเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระปรัสเบื้องซ้าย ท่อไฟพุ่งออกจากพระปรัสเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระปรัสเบื้องขวา ท่อไฟพุ่งออกจากพระบาทเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระบาทเบื้องซ้าย ท่อไฟพุ่งออกจากพระบาทเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระบาทเบื้องขวา ท่อไฟพุ่งออกจากพระองคุลี สายน้ำพุ่งออกจากระหว่างพระองคุลีท่อไฟพุ่งออกจากระหว่างพระองคุลี สายน้ำพุ่งออกจากพระองคุลี ท่อไฟพุ่งออกจากพระโลมาเส้นหนึ่ง ๆ สายน้ำพุ่งออกจากพระโลมาเส้นหนึ่ง ๆ ท่อไฟพุ่งออกจากขุมพระโลมา สายน้ำพุ่งออกจากขุมพระโลมา (พระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระสรีรกายด้วยสามารถ) แห่งวรรณ 6 คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาวสีแสด สีเลื่อมประภัสสร พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรม พระพุทธนิมิตประทับยืนประทับนั่ง หรือทรงไสยาสน์ พระผู้มีพระภาคประทับยืน พระพุทธนิมิตเสด็จจงกรม ประทับนั่งหรือทรงไสยาสน์ พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง พระพุทธนิมิตเสด็จจงกรม ประทับยืน หรือทรงไสยาสน์ พระผู้มีพระภาคทรงไสยาสน์พระพุทธนิมิตเสด็จจงกรม ประทับยืน หรือประทับนั่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมประทับนั่ง หรือทรงไสยาสน์ พระพุทธนิมิตประทับยืน พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรม ประทับยืน หรือทรงไสยาสน์ พระพุทธนิมิตประทับนั่ง พระผู้มีพระภาคประทับยืน ประทับนั่งหรือเสด็จจงกรม พระพุทธนิมิตทรงไสยาสน์ นี้เป็นยมกปาฏิหาริยญาณของพระตถาคต ฯ

[285] มหากรุณาสมาปัตติญาณของพระตถาคตเป็นไฉน ฯ

พระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงพิจารณาเห็นอยู่ด้วยอาการเป็นอันมาก จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปในหมู่สัตว์ คือพระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสอันไฟติดโชนแล้ว จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปในหมู่สัตว์ พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสยกพลแล้ว … โลกสันนิวาสเคลื่อนพลแล้ว … โลกสันนิวาสเดินทางผิดแล้ว …โลกอันชรานำเข้าไป มิได้ยั่งยืน … โลกไม่มีที่ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่ … โลกไม่มีอะไรเป็นของตนจำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป … โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่มเป็นทาสแห่งตัณหา … โลกสันนิวาสไม่มีที่ต้านทาน … โลกสันนิวาสไม่มีที่เร้น …โลกสันนิวาสไม่มีที่พึ่ง … โลกสันนิวาสไม่เป็นที่พึ่งของใคร … โลกสันนิวาสฟุ้งซ่าน ไม่สงบ … โลกสันนิวาสมีลูกศร ถูกลูกศรเป็นจำนวนมากเสียบแทงแล้วใครอื่นนอกจากเราผู้จะถอนลูกศรทั้งหลายของโลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี … โลกสันนิวาสมีความมืดตื้อคืออวิชชาปิดกั้นไว้ ถูกใส่เข้าไปยังกรงกิเลส ใครอื่นนอกจาก เราซึ่งจะแสดงธรรมเป็นแสงสว่างแก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี … โลกสันนิวาสตกอยู่ในอำนาจอวิชชา เป็นผู้มืดอันอวิชชาหุ้มห่อไว้ ยุ่งดังเส้นด้าย พันกันเป็นกลุ่มก้อน นุงนังดังหญ้าปล้อง หญ้ามุงกระต่าย ไม่ล่วงพ้นสงสาร คือ อบายทุคติและวินิบาต … โลกสันนิวาสถูกอวิชชามีโทษเป็นพิษแทงติดอยู่แล้ว มีกิเลสเป็นโทษ … โลกสันนิวาสรกชัฏด้วยราคะโทสะและโมหะ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยสางรกชัฏให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี … โลกสันนิวาสถูกกองตัณหาสวมไว้ … โลกสันนิวาสถูกข่ายตัณหาครอบไว้ … โลกสันนิวาสถูกกระแสตัณหาพัดไป … โลกสันนิวาสถูกตัณหาเป็นเครื่องคล้องไว้ … โลกสันนิวาสซ่านไปเพราะตัณหานุสัย … โลกสันนิวาสเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนเพราะตัณหา …โลกสันนิวาสเร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนเพราะตัณหา … โลกสันนิวาสถูกกองทิฐิสวมไว้ … โลกสันนิวาสถูกข่ายทิฐิครอบไว้ … โลกสันนิวาสถูกกระแสทิฐิพัดไป… โลกสันนิวาสถูกทิฐิเป็นเครื่องคล้อง คล้องไว้ … โลกสันนิวาสซ่านไปเพราะทิฏฐานุสัย … โลกสันนิวาสเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนเพราะทิฏฐิ … โลกสันนิวาสเร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนเพราะทิฏฐิ … โลกสันนิวาสไปตามชาติ …โลกสันนิวาสซมซานไปเพราะชรา … โลกสันนิวาสถูกพยาธิครอบงำ …โลกสันนิวาสถูกมรณะห้ำหั่น … โลกสันนิวาสตกอยู่ในกองทุกข์ … โลกสันนิวาสถูกตัณหาซัดไปโลกสันนิวาสถูกกำแพงคือชราแวดล้อมไว้ … โลกสันนิวาสถูกบ่วงมัจจุคล้องไว้ … โลกสันนิวาสถูกผูกไว้ด้วยเครื่องผูกเป็นอันมาก คือเครื่องผูกคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฐิ กิเลส ทุจริตใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยแก้เครื่องผูกให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี … โลกสันนิวาสเดินไปตามทางแคบมาก ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยชี้ทางสว่างให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี … โลกสันนิวาสถูกความกังวลเป็นอันมากพัวพันไว้ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยตัดความกังวลให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี …โลกสันนิวาสตกลงไปในเหวใหญ่ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยฉุดโลกสันนิวาสนั้นให้ขึ้นพ้นจากเหว เป็นไม่มี … โลกสันนิวาสเดินทางกันดารมาก ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยให้โลกสันนิวาสนั้นข้ามพ้นทางกันดารได้ เป็นไม่มี … โลกสันนิวาสเดินทางไปในสังสารวัฏใหญ่ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยให้โลกสันนิวาสนั้นพ้นจากสังสารวัฏได้ เป็นไม่มี … โลกสันนิวาสกลิ้งเกลือกอยู่ในหล่มใหญ่ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยฉุดโลกสันนิวาสนั้น ให้พ้นจากหล่มได้ เป็นไม่มี …โลกสันนิวาสร้อนอยู่บนเครื่องร้อนเป็นอันมากถูกไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำไว้ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยดับไฟเหล่านั้นให้แก่โลกสันนิวาสนั้นได้เป็นไม่มี … โลกสันนิวาสทุรนทุราย เดือดร้อนเป็นนิตย์ไม่มีอะไรต้านทานต้องรับอาชญา ต้องทำตามอาชญา … โลกสันนิวาสถูกผูกด้วยเครื่องผูกในวัฏฏะปรากฏอยู่ที่ตะแลงแกง ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยโลกสันนิวาสนั้นให้หลุดพ้นได้เป็นไม่มี … โลกสันนิวาสไม่มีที่พึ่ง ควรได้รับความกรุณาอย่างยิ่ง ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยต้านทานให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี … โลกสันนิวาสถูกทุกข์เสียบแทงบีบคั้นมานาน … โลกสันนิวาสติดใจกระหายอยู่เป็นนิตย์ … โลกสันนิวาสเป็นโลกบอด ไม่มีจักษุ … โลกสันนิวาสมีนัยน์ตาเสื่อมไป ไม่มีผู้นำ… โลกสันนิวาสแล่นไปสู่ทางผิด หลงทางแล้ว ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยพาโลกสันนิวาสนั้นมาสู่ทางอริยะ เป็นไม่มี … โลกสันนิวาสแล่นไปสู่ห้วงโมหะใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยฉุดโลกสันนิวาสนั้นให้ขึ้นจากห้วงโมหะ เป็นไม่มี …โลกสันนิวาสถูกทิฐิ 2 อย่างกลุ้มรุม … โลกสันนิวาสปฏิบัติผิดด้วยทุจริต 3 อย่าง …โลกสันนิวาสเต็มไปด้วยกิเลสเครื่องประกอบ ถูกกิเลสเครื่องประกอบ 4 อย่างประกอบไว้ … โลกสันนิวาสถูกกิเลสเครื่องร้อยกรอง 4 อย่างร้อยไว้ …โลกสันนิวาสถือมั่นด้วยอุปาทาน 4 … โลกสันนิวาสขึ้นสู่คติ 5 … โลกสันนิวาสกำหนัดอยู่ด้วยกามคุณ 5 … โลกสันนิวาสถูกนิวรณ์ 5 ทับไว้ … โลกสันนิวาสวิวาทกันอยู่ด้วยมูลเหตุวิวาท 6 อย่าง …โลกสันนิวาสกำหนัดอยู่ด้วยกองตัณหา 6 …โลกสันนิวาสถูกทิฐิ 6 กลุ้มรุมแล้ว … โลกสันนิวาสซ่านไปเพราะอนุสัย 7 …โลกสันนิวาสถูกสังโยชน์ 7 เกี่ยวคล้องไว้ … โลกสันนิวาสฟูขึ้นเพราะมานะ 7… โลกสันนิวาสเวียนอยู่เพราะโลกธรรม 8 … โลกสันนิวาสเป็นผู้ดิ่งลงเพราะมิจฉัตตะ 8 …โลกสันนิวาสประทุษร้ายกันเพราะบุรุษโทษ 8 … โลกสันนิวาสมุ่งร้ายกันเพราะอาฆาตวัตถุ 9 … โลกสันนิวาสพองขึ้นเพราะมานะ 9 อย่าง …โลกสันนิวาสกำหนัดอยู่เพราะธรรมอันมีตัณหาเป็นมูล 9 …โลกสันนิวาสย่อมเศร้าหมองเพราะกิเลสวัตถุ 10 … โลกสันนิวาสมุ่งร้ายกันเพราะอาฆาตวัตถุ 10 …โลกสันนิวาสประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ 10 … โลกสันนิวาสถูกสังโยชน์ 10 เกี่ยวคล้องไว้ … โลกสันนิวาสเป็นผู้ดิ่งลงเพราะมิจฉัตตะ 10 … โลกสันนิวาสประกอบด้วยมิจฉาทิฐิมีวัตถุ 10 …โลกสันนิวาสประกอบด้วยสักกายทิฐิมีวัตถุ 10… โลกสันนิวาสต้องเนิ่นช้าเพราะตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้า 108 พระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงพิจารณาเห็นว่า โลกสันนิวาสถูกทิฐิ 62กลุ้มรุมจึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปให้หมู่สัตว์ว่า ส่วนเราเป็นผู้ข้ามได้แล้ว แต่สัตว์โลกยังข้ามไม่ได้ ส่วนเราเป็นผู้พ้นไปแล้ว แต่สัตว์โลกยังไม่พ้นไป ส่วนเราทรมานได้แล้ว แต่สัตว์โลกยังทรมานไม่ได้ ส่วนเราสงบแล้ว แต่สัตว์โลกยังไม่สงบส่วนเราเป็นผู้เบาใจแล้ว แต่สัตว์โลกยังไม่เบาใจ ส่วนเราเป็นผู้ดับรอบแล้วแต่สัตว์โลกยังไม่ดับรอบ ก็เราเป็นผู้ข้ามได้แล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกข้ามได้ด้วยเราเป็นผู้พ้นไปแล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกพ้นไปด้วย เราทรมานได้แล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกทรมานได้ด้วย เราเป็นผู้สงบแล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกสงบด้วยเราเป็นผู้เบาใจแล้วจะช่วยให้สัตว์โลกเบาใจด้วย เราเป็นผู้ดับรอบแล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกดับรอบด้วย พระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงพิจารณาเห็นดังนี้จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปในหมู่สัตว์ นี้เป็นมหากรุณาสมาปัตติญาณของพระตถาคต ฯ

[286] สัพพัญญุตญาณของพระตถาคตเป็นไฉน ฯ

ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สังขตธรรมและอสังขตธรรมทั้งปวง มิได้มีส่วนเหลือ ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้ธรรมส่วนอนาคตทั้งหมด …รู้ธรรมส่วนอดีตทั้งหมด … รู้ธรรมส่วนปัจจุบันทั้งหมด … รู้จักษุและรูปทั้งหมดว่าอย่างนี้ … รู้หูและเสียง ฯลฯ จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและโผฏฐัพพะใจและธรรมารมณ์ทั้งหมดว่าอย่างนี้ ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น ฯ

[287] ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพไม่เที่ยง สภาพเป็นทุกข์ สภาพเป็นอนัตตา ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่าในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น … รู้สภาพไม่เที่ยง สภาพเป็นทุกข์ สภาพเป็นอนัตตาแห่งรูป ตลอดทั้งหมด … รู้สภาพไม่เที่ยง สภาพเป็นทุกข์ สภาพเป็นอนัตตาแห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตลอดทั้งหมด … รู้สภาพไม่เที่ยงสภาพเป็นทุกข์ สภาพเป็นอนัตตาแห่งจักษุ ฯลฯ แห่งชราและมรณะ ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น ฯ

[288] ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ด้วยอภิญญาทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น… รู้สภาพที่ควรกำหนดรู้ด้วยปริญญา … รู้สภาพที่ควรละด้วยปหานะ … รู้สภาพที่ควรเจริญด้วยภาวนา … รู้สภาพที่ควรทำให้แจ้งด้วยสัจฉิกิริยาตลอดทั้งหมด … รู้สภาพที่เป็นกองแห่งขันธ์ตลอดทั้งหมด … รู้สภาพที่ทรงไว้แห่งธาตุตลอดทั้งหมด… รู้สภาพเป็นที่ต่อแห่งอายตนะตลอดทั้งหมด … รู้สภาพที่ปัจจัยปรุงแต่งแห่งสังขตธรรมตลอดทั้งหมด … รู้สภาพที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งแห่งอสังขตธรรมตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณเพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น ฯ

[289] ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้กุศลธรรมตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้น ไม่มีเครื่องกั้น … รู้อกุศลธรรม อัพยากตธรรม กามาวจรธรรม รูปาวจรธรรม อรูปาวจรธรรม โลกุตตรธรรมตลอดทั้งหมด … รู้สภาพที่ทนได้ยากแห่งทุกข์สภาพเป็นเหตุเกิดแห่งสมุทัยสภาพเป็นที่ดับแห่งนิโรธ สภาพเป็นทางแห่งมรรค ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น ฯ

[290] ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพปัญญาอันแตกฉานดีในอรรถแห่งอรรถปฏิสัมภิทา ตลอดทั้งหมด ฯลฯ รู้สภาพปัญญาอันแตกฉานดีในธรรมแห่งธรรมปฏิสัมภิทาสภาพปัญญาอันแตกฉานดีในนิรุตติแห่งนิรุตติปฏิสัมภิทา สภาพปัญญาอันแตกฉานดีในปฏิภาณปฏิสัมภิทา ตลอดทั้งหมด… รู้อินทรียปโรปยัตตญาณ รู้ญาณในฉันทะอันมานอน และกิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย รู้ยมกปาฏิหาริยญาณ รู้มหากรุณาสมาปัตติญาณ ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น ฯ

[291] ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้อารมณ์ที่ได้เห็น ที่ได้ฟัง ที่ได้ทราบ ที่ได้รู้แจ้ง ที่ได้ถึง ที่แสวงหา ที่เที่ยวตามหาด้วยใจแห่งโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก แห่งหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่าในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น ฯ

บทธรรมที่พระตถาคตไม่ทรงเห็นแล้ว ไม่มีในโลกนี้ อนึ่ง 
บทธรรมน้อยหนึ่งที่ควรรู้ พระตถาคตไม่ทรงรู้แล้ว ไม่มี 
พระตถาคตทรงทราบยิ่ง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องนำไปทั้งปวง 
เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงเป็นพระสมันตจักษุ (ผู้ทรง 
เห็นทั่ว)  

[292] คำว่า สมนฺตจกฺขุ ความว่า ชื่อว่าสมันตจักษุ เพราะอรรถว่ากระไร ฯ

พระพุทธญาณ 14 คือ ญาณในทุกข์ 1 ญาณในทุกขสมุทัย 1 ญาณในทุกขนิโรธ 1ญาณในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา 1 ญาณในอรรถปฏิสัมภิทา 1ญาณในธรรมปฏิสัมภิทา 1 ญาณในนิรุตติปฏิสัมภิทา 1 ญาณในปฏิภาณปฏิสัมภิทา 1 ญาณในความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ 1 ญาณในฉันทะเป็นที่มานอนและกิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย 1 ญาณในยมกปาฏิหาริย์ 1ญาณในมหากรุณาสมาบัติ 1 สัพพัญญุตญาณ 1 อนาวรณญาณ 1 บรรดาพระพุทธญาณ 14 ประการนี้พระญาณ 8 ข้างต้น เป็นญาณทั่วไปด้วยพระสาวก พระญาณ 6 ไม่ทั่วไปด้วยพระสาวก ฯ

[293] ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า สภาพที่ทนได้ยากแห่งทุกข์ พระตถาคตทรงทราบแล้วตลอดทั้งหมด ที่มิได้ทรงทราบไม่มี ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้น ไม่มีเครื่องกั้น สภาพที่ทนได้ยากแห่งทุกข์ พระตถาคตทรงเห็นแล้ว ทรงรู้แจ้งแล้ว ทรงทำให้แจ้งแล้ว ทรงถูกต้องแล้วตลอดทั้งหมดด้วยพระปัญญา ที่มิได้ทรงถูกต้องแล้วด้วยพระปัญญาไม่มี …สภาพเป็นเหตุเกิดแห่งสมุทัย สภาพเป็นที่ดับแห่งนิโรธ สภาพเป็นทางแห่งมรรค สภาพปัญญาอันแตกฉานดีในอรรถแห่งอรรถปฏิสัมภิทา สภาพปัญญาอันแตกฉานดีในธรรมแห่งธรรมปฏิสัมภิทาสภาพปัญญาอันแตกฉานดีในนิรุตติแห่งนิรุตติปฏิสัมภิทา สภาพปัญญาอันแตกฉานดีในปฏิภาณแห่งปฏิภาณปฏิสัมภิทา พระตถาคตทรงทราบแล้ว ทรงเห็นแล้ว ทรงรู้แจ้งแล้ว ทรงทำให้แจ้งแล้ว ทรงถูกต้องแล้วตลอดทั้งหมดด้วยด้วยพระปัญญา ที่มิได้ทรงถูกต้องแล้วด้วยพระปัญญาไม่มี…ญาณในความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ ญาณในฉันทะอันมานอนและกิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย ญาณในยมกปาฏิหาริย์ ญาณในมหากรุณาสมาบัติพระตถาคตทรงทราบแล้ว ทรงเห็นแล้ว ทรงรู้แจ้งแล้ว ทรงทำให้แจ้งแล้วทรงถูกต้องแล้วตลอดทั้งหมดด้วยพระปัญญา ที่มิได้ทรงถูกต้องด้วยพระปัญญาไม่มี …ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า อารมณ์ที่ได้เห็น ที่ได้ฟังที่ได้ทราบ ที่ได้รู้แจ้ง ที่ได้ถึงที่แสวงหา ที่เที่ยวตามหาด้วยใจ แห่งโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก แห่งหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์เทวดาและมนุษย์ พระตถาคตทรงทราบแล้ว ทรงเห็นแล้ว ทรงรู้แจ้งแล้ว ทรงทำให้แจ้งแล้ว ทรงถูกต้องแล้วตลอดทั้งหมดด้วยพระปัญญา ที่มิได้ทรงถูกต้องแล้วด้วยพระปัญญาไม่มี ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น ฯ

บทธรรมที่พระตถาคตไม่ทรงเห็นแล้ว ไม่มีในโลกนี้ อนึ่ง
บทธรรมน้อยหนึ่งที่ควรรู้ พระตถาคตไม่ทรงรู้แล้วไม่มี
พระตถาคตทรงทราบยิ่งซึ่งธรรมเป็นเครื่องนำไปทั้งปวง เพราะ
ฉะนั้น พระตถาคตจึงเป็นพระสมันตจักษุ ฉะนี้แล ฯ

จบญาณกถา ฯ

______

เพิ่มเติม